แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาศัยการฟัง เรียนลัดๆ เพื่อจะได้ไม่สุ่มหา ที่นี่เราฝึกกรรมฐาน ไม่ใช่การเรียนรู้ ฝึกหัดทำให้เป็น ฝึกหัดอะไร อะไรเป็นกรรมฐาน กรรมคือการกระทำ ฐานคือที่ตั้ง ทำอะไร ตั้งอะไร เอาสติมาตั้งไว้ที่กายเรียกว่าฐาน แล้วก็มีการกระทำ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่ไปในกาย รู้คืออะไร รู้สึกตัวคืออะไร ไม่ใช่คิดรู้ สัมผัส เป็นการสัมผัส ทว่าความรู้สึกเนี่ย เอาสติไปต่อเอากับกาย ให้กายรู้สึก ให้ใจรู้สึก รู้กายอาจจะไปเห็นจิตใจ เพราะใจมันมีการเคลื่อนไหวเหมือนกัน การเคลื่อนไหวของกายคือยืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหวของใจคือคิดนึก สุข ทุกข์ อะไรต่างๆ มันจะแสดง เราก็อย่าไปตั้งไว้ที่ใจ ให้มาตั้งที่กาย มันเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับใจให้รู้สึก แล้วกลับมาหาที่ตั้ง มีกายเป็นที่ตั้ง กายมันเป็นรูป มันเป็นดุ้นสัมผัสได้ ใจไม่มีดุ้นมีก้อน จะรู้ต่อเมื่อมันคิดขึ้นมา มันสุขมันทุกข์ขึ้นมา
ถ้าไปอาศัยจิตใจให้มีที่ตั้ง มันตั้งไม่อยู่ เหมือนกับร่มเงาและก้อนเมฆ ก้อนเมฆมันก็ไหลไปเรื่อย บางทีก็หมดไป บางทีก็ตั้งขึ้นใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจเหมือนกับร่มเงาในก้อนเมฆ ความสุขก็เหมือนพึ่งร่มเงา ความสุขที่เกิดจากใจเหมือนพึ่งร่มเงาก้อนเมฆ เย็นนิดหน่อย แล้วก็ร้อนอีก ไม่จีรังยั่งยืน สุขกี่ครั้ง ทุกข์กี่ครั้งเกิดกับใจ มันหมายถึงเงา ความร้อนก็ไม่รู้ นึกว่าเราซะ สุขทุกข์เป็นเรื่องของใจ ใจให้สุขก็สุข ที่ใจให้ทุกข์ก็ทุกข์ สุขทุกข์หลอกเราอยู่ ไม่รู้จะจบเมื่อไร บางทีมันมีมากขึ้นเสียด้วย
เราจึงไม่ไปเอาใจเป็นที่ตั้ง แต่เราสอนมัน เวลามันคิดไปให้กลับมา ตั้งไว้ที่กายสัมผัส สัมผัสความรู้สึกตัวที่กาย เอากายมาสัมผัสความรู้สึกตัว มีรสชาติยังไง ระหว่างความรู้กับความหลง มันก็ย่อมมีหลง บางทีก็ไม่เคย อย่างเคลื่อนไหว เราก็ทำยังไง เอาตามแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำยังไง คู้แขนเข้ารู้สึกตัว คู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว มีการเหยียดแขน คู้แขน เคลื่อนไหว ไม่ใช่คิดเอา สัมผัสมันคิดรู้คือตัวมัน เคลื่อนไหวรู้สึกตัว ถ้าไม่เคลื่อนไหว ก็ไม่ต้องรู้ อยู่เฉยๆ ถ้าอยู่เฉยๆ มันก็ไม่เจริญ เราถึงขยันรู้ ขยันเคลื่อนไหว ขยันเคลื่อนไหว ให้มันรู้บ่อยๆ ให้มากรู้
โดยเฉพาะรูปแบบของกรรมฐานที่หลวงพ่อเทียนเอามาสอน สิบสี่รู้ วินาทีหนึ่งเราจะรู้ทีหนึ่ง สองวินาทีก็รู้สองครั้ง สามวินาที สี่วินาที สิบสี่จังหวะ รู้ตั้งสิบสี่ครั้ง ภายในวินาทีละรู้ มันก็จะมีมากขึ้น อะไรที่มันไม่ใช่ความรู้ เปลี่ยนมาเป็นความรู้ไปทั้งหมด หัดให้มันเป็น แต่ก่อนเราไม่เคยหัดตรงนี้ ถ้ามันหลง หลงก็เป็นหลง ถ้ามันทุกข์ ทุกข์ก็เป็นทุกข์ ถ้ามันโกรธ โกรธก็เป็นโกรธ มันรักมันเกลียดชัง ก็เป็นรักเป็นเกลียดชังไป ไม่จบไม่สิ้น
บัดนี้เรามาหัด ถ้ามันหลงเป็นรู้ซะ เหมือนหลังมือเหมือนหน้ามือ เปลี่ยนลองดู หลงเหมือนหลังมือ ปิดไปแล้วไม่เห็น ตั้งหงายขึ้นเหมือนหน้ามือ รู้ พระพุทธเจ้าบอกว่า หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ถ้าหลงเป็นยังไง รู้เป็นยังไง สัมผัสดู อะไรมันถูกต้อง อย่ามัวแต่ไปคิดหาเหตุหาผล ระหว่างความรู้ระหว่างความหลงเนี่ย ไม่ต้องใช้มันสมอง ไม่ต้องใช้ความคิด ใครจะมีสติปัญญาอย่างไรมา ไม่เอามาใช้เลย ให้สัมผัส ถ้าจะเอาความรู้มาเกี่ยวข้อง เหตุผลมาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ พระสิทธัตถะรู้มา 17 ศาสตร์ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็เอาเหตุเอาผล บางทีนั่งอยู่ต้นโพธิ์ คิดถึงพิมพา พิมพาก็เป็นอัครมเหสีที่รัก ราหุลก็เป็นลูกชายที่รัก เพิ่งประสูติได้ 7 วัน เรามาอยู่นี่ทำไม เหตุผลมันก็ต้องดี ถ้าไปหาลูกหาเมียก็จะดี ต้องมานั่งอยู่คนเดียวนี่ มีประโยชน์อะไร ถ้าเอาเหตุเอาผลนั่งไม่ลง ต้องไปแล้ว กบิลพัสตร์แล้ว นั่นไม่ใช่ ถ้าเอาเหตุเอาผลเอาความคิด มีทั้งนั้น ใครก็คิดได้ ผิดถูกคิดได้ แต่ความผิดความถูกไปจากความคิด ใครๆ ก็เป็น
บัดนี้ไม่เอาเหตุเอาผลนั้นมาตัดสินใจ เอาการกระทำเนี่ย เมื่อมันคิดไป กลับมา อย่าไปตามความคิด ถ้าเราทำตามความคิดทั้งหมด มันก็ไม่ได้ทั้งหมด แล้วแต่มันคิดอะไร ความรักกลายเป็นความเกลียดชัง ความเกลียดชังกลายเป็นความรักได้ ความพอใจความไม่พอใจ เป็นอย่างนั้น เรียกว่าอารมณ์ ไม่แน่ไม่จริงไม่ใช่ตัวใช่ตน ความคิดไปกลับมา มันคิดไปกี่ครั้ง กลับมาเท่านั้น คิด 1 ครั้ง รู้ 1 ครั้ง คิด 2 ครั้ง รู้ 2 ครั้ง 100 ครั้ง 1000 หน รู้กลับมา 100 ครั้ง 1000 หน มันจะเกิดอะไรขึ้น ระหว่างความคิดระหว่างความรู้ อะไรมันถูกต้อง ความหลงความรู้ อะไรมันถูกต้อง อะไรเป็นธรรมต่อชีวิตเรา สัมผัสดู ไม่ต้องมีคำถามให้สัมผัสเอา ถ้าเหตุผลถามได้ทุกคน ตอบได้ทุกคน คนฆ่ากันตายเพราะว่ามีเหตุมีผล ทิ้งลูกทิ้งเมียเพราะเหตุเพราะผล เหตุผลถ้าไม่ใช่เรื่องดีทั้งหมด เหตุผลนะเป็นเรื่องร้ายก็มี เรื่องดีก็มี เหตุผลไม่ใช่เกิดจากความคิด มันเกิดจากอะไรที่มาก่อน
ศรัทธาอย่างเนี่ย ศรัทธานะ เชื่อ เชื่อเฉยๆ ไม่พอ ต้องมีความเพียรทำสิ่งที่เชื่อนั่น เมื่อเชื่อสิ่งใด ต้องทำสิ่งนั้นดู มีความเพียรเข้าไป เกี่ยวกับศรัทธา เมื่อเชื่อแล้ว ต้องมีใจใส่อยู่เสมอ หนึ่งศรัทธา สองมีความเพียร สามมีจิตใจใส่อยู่เสมอ ทำสิ่งนั้นคิดสิ่งนั้น เมื่อมีใจใส่ก็ เวลามันหลงจากศรัทธา หลงจากความเพียร หลงจากใส่ใจ มันหลงผิดเท่านั้นเอง เรียกว่าเปลี่ยนมาที่เก่า เขาเรียกว่า ธัมมวิจยะสอดส่อง เปลี่ยนมันมาให้ที่ๆ เก่า ให้มีศรัทธาให้มีความเพียร มีจิตใจใส่ เรียกว่าเปลี่ยน เปลี่ยนกัน นอกจากศรัทธา นอกจากความเพียร นอกจากจิตใจเนี่ย มาเป็นอันเดิม จึงจะสำเร็จ ไม่ใช่ศรัทธาลอย ๆ เราเชื่อสิ่งใด ต้องทำสิ่งนั้น ต้องประกอบสิ่งนั้น ใส่ใจสิ่งนั้น อย่าทอดอย่าทิ้ง เบื้องหลังศรัทธาเรารักกัน สามีภรรยา ศรัทธา เชื่อกัน มั่นใจ เมื่อมีศรัทธาแล้วก็เพียรประกอบในความรักในความพอใจอยู่เสมอ เอาใจใส่อยู่เสมอ อย่าทอดอย่าทิ้ง เวลามันคิดไปทางอื่น จะเกลียดกัน เปลี่ยนมา อ้าว บ้าแล้ว เรียกว่าเปลี่ยนร้ายเป็นดี ให้มาเป็นอันเดียว สำเร็จ การครองบ้านครองเรือน ครองสามีภรรยา ครองการครองงานสำเร็จ
นี่ก็เหมือนกัน เรามีเห็นว่าความหลงไม่ถูกต้อง ความรู้ถูกต้อง ก็ต้องขยันรู้ไว้ เวลามันหลงเปลี่ยนหลงทันที อย่าให้มันหลงเป็นหลง มันจะทำเป็น ทีแรกก็หัด หัดไปหัดมา ต่อไปไม่ต้องหัด เพราะมันเป็นแล้ว การมันหลงมันรู้มันเคยแล้ว ความหลงเป็นความรู้ ความทุกข์เป็นความรู้ ความโกรธเป็นความรู้ อะไรก็ไม่ใช่ อะไรที่มันนอกจากความรู้ไป ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เปลี่ยนมาเป็นรู้ทั้งหมด เมื่อรู้มากๆ เข้า ระหว่างรู้ระหว่างหลง มันมีสองอันเท่านี้ ระหว่างรู้ระหว่างหลง ถ้าหลงน้อยลงความรู้ก็เพิ่มขึ้น จนความหลงไม่มีเชื้องอกขึ้นมาได้ มีแต่ความรู้ขึ้นไป เป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในกายเป็นใหญ่ในจิตใจ เดี๋ยวนี้ความหลงกับความรู้ในกายในใจเรา อะไรมันเป็นใหญ่กว่ากัน
ชีวิตเรามาถึงวันนี้ ระหว่างหลงกับรู้ อันไหนมันมากกว่ากัน ตอบเอา นาทีหนึ่งวินาทีหนึ่งชั่วโมงหนึ่ง อยากรู้ก็ทำ ลองดู เดินจงกรมสัก 30 นาที 30 นาที ก็ก้าวหนึ่งก็วินาทีหนึ่ง รู้ทุกก้าว มันจะมีไหม มันจะมีความรู้ 30 วินาทีไหม หนึ่งนาทีนะ มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมันเคยหลง พวกเราจึงหัดตรงนี้ ถ้าหัดให้เป็นแล้ว มันไม่หลง มันเป็น เหมือนเราเรียนหนังสือ เมื่อเราเรียนรู้ มันแล้วก็ไม่ลืม ไม่ใช่เรื่องจำ มันเป็นการสัมผัส แต่ก่อน ก ไก่ อยู่กระดาน เดี๋ยวนี้ ก ไก่ ไม่ได้อยู่กระดาน พอจะเขียน ก ไก่ ก็เห็นแล้ว เห็นภาพแล้ว เอามาเขียนได้ และภาพที่รู้ ก็เหมือนกัน มันไม่มีว่าจะไปเขียน ก ไก่ เป็นอันอื่น มันเขียนไม่ได้ ชีวิตเรามันต้องมีความรู้เท่านั้น เป็นใหญ่ จึงจะเป็นธรรม อันนี้ต้องตอบเอาเอง ไม่ต้องมีคำถาม สัจธรรมไม่ใช่มีคำถามมีแต่คำตอบ คนอื่นตอบให้ไม่ได้ เราต้องตอบเอง นี่คือสัจธรรม
ผู้ปฎิบัติก็ย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ ควรเห็นตามควรแต่ผู้ปฎิบัติ คนที่หลงก็ได้ความหลงเรื่อยไปจนตาย คนที่ไม่เคยเปลี่ยน ก็เกิดความทุกข์เรื่อยไปจนตาย หลงจนตาย ทุกข์จนตาย โกรธจนตาย วันนี้ถ้ามันหลง พรุ่งนี้ก็ต้องหลง ชั่วโมงนี้ถ้ามันหลงชั่วโมงหน้าก็ต้องหลง ถ้าชั่วโมงนี้ไม่หลงชั่วโมงหน้าก็ไม่หลง มันก็ต้องเริ่มต้นแบบนี้กัน ไม่มีใครช่วยกันได้ ตัวใครตัวมัน เรื่องนี้เป็นส่วนตัว พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องปฎิบัติด้วยตนเอง ให้กันไม่ได้ แทนกันไม่ได้ สามีภรรยารักกัน ก็แทนกันไม่ได้ พ่อแม่รักลูกก็แทนลูกไม่ได้ ลูกรักพ่อแม่ก็แทนพ่อแม่ไม่ได้ สัจธรรมเป็นอย่างนี้ ของใครของเรา เราโกรธก็โกรธตัวเอง เราทุกข์ก็ทุกข์เอง เราจะไม่ให้โกรธก็ต้องแก้เอาเอง เราจะไม่ให้ทุกข์ก็ต้องแก้เอาเอง บางทีเราไม่แก้ แม้คนอื่นไปห้าม ก็ไม่ยอม อย่าโกรธต่อเพื่อน อย่าโกรธต่อ ไม่โกรธไม่ได้ ไม่โกรธไม่ได้ ไม่ยอม มันทำแบบนี้เราต้องโกรธมัน ต้องโกรธให้ได้ กูต้องด่ามันให้ได้ ต้องด่ามันให้ได้ กูต้องฆ่ามันให้ได้ ไปใหญ่เลย จะให้ใครบอกก็ไม่ได้ มีกฎหมายมีโทษอาญา ติดคุกติดตะราง ก็ยอม ถ้ามันโกรธ ลุอำนาจความโกรธได้ เราจึงมาเห็นเอาเอง มันโกรธเป็นไง ความไม่โกรธเป็นไง มันต่างกันอยู่ ความทุกข์เป็นไง ความไม่ทุกข์เป็นไง ต่างกันอยู่ ลองสัมผัสดู
ชีวิตเราต้องสัมผัส ไม่ใช่เรียนรู้ การสัมผัสเนี่ยต้องหัดตัวเอง มาเริ่มต้นจากสภาพที่รู้ เราก็จะเจอความหลงคู่กันพอดี ระหว่างรู้ระหว่างหลงคู่กันพอดี เวลามันหลงเปลี่ยนเป็นรู้ เวลามันหลงเปลี่ยนเป็นรู้ จึงจะเรียกว่าปฎิบัติธรรม ถ้าหลงเป็นหลงไม่ใช่ปฎิบัติธรรม ปฎิบัติธรรมคือเปลี่ยนร้ายเป็นดี อะไรที่ไม่ดีเปลี่ยนเป็นดี ทุกข์มันไม่ดี ใครก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่เราเคยเปลี่ยนไหม เวลามันทุกข์นะ เปลี่ยนทันทีมีไหม บางทีความทุกข์นอนอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืน ไม่ยอมเปลี่ยน ยิ่งพอใจในความทุกข์ คิดเรื่องทุกข์ คิดได้คิดดี ไม่ยอมปล่อยวาง
นี่ บัดนี้เวลามันทุกข์ขึ้นมาเปลี่ยนเลย ถ้ามันหลงขึ้นมาเปลี่ยนเลย ถ้ามันโกรธขึ้นมาเปลี่ยนเลย ทันที มันมีคู่อยู่ ให้เปลี่ยนทันที แล้วก็ขยันรู้ อย่านานเกินไป ความรู้นะ เหมือนเราลำนำท่อง ท่องหนังสือ ถ้านานๆ ก็ท่องทีหนึ่ง ก็ลืมง่ายไม่ติด ถ้าท่องติดต่อกันมันก็ติดง่าย เหมือนกับเราทำงาน ทำอะไร ต่อกันๆ ติดง่าย คล่องตัว
สมัยก่อนเคยเป็นเณรท่องหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี นวโกวาทวินัยบัญญัติ อนุศาสน์ 8 อย่าง นิสสัย 4 อกรณียกิจ 4 ปัจจัยเครื่องอาศัย ตั้งแต่เป็นเณรยังจำได้อยู่ ท่องสวดมนตร์ ท่องทำวัตร แต่ถ้าเราไม่เป็น ก็หัดจับหนังสือ ถ้ามันติดแล้ว มันต้องจับหนังสือ บางทีมันเห็นหน้าด้วย บทนั้นอยู่หน้าไหน โอวาทปาติโมกข์ มีผู้นำขึ้นต้น โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย เราก็ว่า ถ้าขึ้นโอวาทปาติโมกข์ ก็หมายถึงบทนั้น ถ้าขึ้นติลักขณาทิคาถา ก็หมายถึงบทนั้น ขึ้นจังหวะแบบหนึ่งก็ต้องสวดอีกแบบหนึ่ง พิธีสวดมนตร์น่ะ มันมีการนำต้นเสียง เราก็ขึ้นว่า หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะ เส เราก็ต้อง นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ, นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ มันคนละทำนองกัน ถ้าเขาไม่ขึ้นแบบนั้น เขาก็ นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ, นโม ตัสสะ ว่าไป เรามันชำนาญ (หัวเราะ) ถ้าเราขึ้นแบบ หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ต้องว่า นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ถ้าเขาขึ้นแบบหนึ่ง นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต ก็ต้องว่าอีกแบบนึง คนขึ้นก็ว่า นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ, นโม ตัสสะ ภะคะวะโต (หัวเราะ)อันนี้ก็เรียกว่าทำนองร้องแก้ว ทำนองสัง โยชน์ นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ, นโม ตัสสะ ภะคะวะโต ว่ากันไปคนละทำนอง ทำไม ต้องมีเวลา ถ้างานด่วนงานพิธี พิธีเขาน้อยๆ โดยเฉพาะทุกวันนี้ เวลาเขาน้อย แต่งตัวไปทำงานมาใส่บาตร ก็ต้องว่าร้องแก้ว ไวๆ สักหน่อย พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะ ถ้าว่า มาสังโยชน์ก็ พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง(หัวเราะ) มันติดได้ เหมือนคอมพิวเตอร์
ชีวิตของเรานะมันติดอะไรมา ติดจริตนิสัยแบบไหน ราคะจริต น่าที่จะราคะ มีกิเกสตัณหามากมาย โทสะจริต อะไรเอาโทสะออกหน้า พอใจไม่พอใจ โมหะจริต มีแต่ความหลงออกหน้า พุทธะจริต มีความรู้สึกออกหน้า ฟังหูไว้หู ดูสิ มันติดเหมือนกัน เดี๋ยวนี้อะไรออกหน้า ชีวิตของเรา เห็นรูปพอใจ เห็นรูปไม่พอใจ จริตบางคนนะ เห็นรูปเกิดไรขึ้น ได้ยินเสียงเกิดไรขึ้น มันเปลี่ยนจิตใจของเราได้ไหม ถ้าคนมีจริตแบบไหนมันก็ไปแบบนั้น มันมีนิสัยน่ะ ถ้าเราหัดก็เห็นกายเห็นรูปสักว่ารูป ได้ยินเสียงสักว่าเสียง ได้กลิ่นสักว่ากลิ่น ไม่เป็นไร เค้านินทาไม่เป็นไร ช่างหัวมัน บางคนถ้าเขานินทาว่า “หามึงว่ากูเหรอเนี่ย” ง่ายที่จะก็เกิดโทโสโมโห ทำไมๆ เงี่ยหูฟัง ถ้าเขาด่าเรา ใจก็ร้อนขึ้นมา ถ้าคนไม่ฝึกหัด ถ้าเขาด่าเรา กลับมาดูตัวเอง ไม่มีใครเห็นตัวเราเท่ากับตัวเรา เขานินทา กลับมาดูตัวเอง ถ้าไม่เป็นเหมือนอย่างเขาพูด ก็ปลื้มใจ ขอบคุณเขา เขาไม่รู้ เขาจึงพูดอย่างนั้น ถ้าเขารู้เขาไม่พูด คนไม่รู้เป็นคนที่น่าให้อภัยมากๆ ไม่ควรถือสาหาเรื่องเรา ไม่เป็นไรๆ เย็น ถ้าไม่เป็น ก็ไม่ยอม ไม่เย็นแล้ว พอไม่ยอม ร้อนขึ้นมา ถ้าว่าไม่เป็นไร เย็น มันต่างกัน ถ้าไม่หัดแล้วจะพึ่งอะไร ถ้าเราไม่หัดตรงนั้น เอาใจไว้ที่พึ่งได้ไหม ไม่ได้ ดีใจก็พึ่งใจไม่ได้ คุ้มร้ายคุ้มดี ฟูๆ แฟบๆ บางคนก็กลัว ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่รู้จะเป็นยังไง มีเหมือนกัน ทำไมไม่มั่นใจ เพราะใจของเรา ทำไมไม่มั่นใจ เอาใจไปห้อยไปแขวนกับอะไร เอาจิตใจไปห้อยไปแขวนกับความรักความชังนะ ไม่ใช่ มันต้องเหนือ ต้องเป็นใจ อยู่ตรงนี้ ตรงไม่เป็นอะไร จิตใจต้องไม่เป็นอะไรกับอะไร มันหัดได้ แล้วจะต้องมีแก่มีเจ็บมีตาย อะไรก็จะไปรวมอยู่ที่ใจ อะไรก็ใจ รับออกหน้าออกตา ใจถ้าเราไม่ฝึก มันก็จะออกหน้าออกตา สุขๆทุกข์ๆ ถ้าเราฝึกมันไม่เป็นไร มันไม่เป็นไร เหนือโลก คนนินทา ไม่เป็นไร เขาสรรเสริญไม่เป็นไร มาตรฐาน
ถ้าใจไม่ฝึก คนนินทา เสียใจ โกรธ เขาสรรเสริญ ดีใจ หัวเราะ ฟูแฟบ ไม่ใช่ใจ เค้าเรียกอารมณ์ ฟูขึ้นดีใจหัวเราะ แฟบลงเสียใจร้องไห้ อันนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ใจ อย่าเอาอารมณ์เป็นใจ อารมณ์มันใช่ใจ บางคนไปเอาอารมณ์เป็นใจตัวเอง ถ้ากูได้โกรธตายก็ไม่ลืม เอาความโกรธเป็นใจ เอาเป็นกูไปเลย มีไหม ชีน้อยมีไหม (ถามพร้อมหัวเราะ) ถ้ากูได้โกรธ ตายกูลืมนะ ถ้ากูได้โกรธนะ กูไม่พูดกับผัวมันเลยนะ โกรธให้แม่ไม่พูดกับแม่ โกรธให้สามีไม่พูดกับสามี มีประโยชน์อะไร แล้วโกรธเลยละ เป็นสุขเป็นทุกข์ โกรธ นอนหลับไหมถ้าโกรธ กินข้าวได้ไหม อันนั้นก็ยังเอาไว้ยึด ยึดไว้ๆ เขาว่ากะเรา เขาว่ากะไร ใจฟูไปแล้ว ใจก็ไม่เป็นไร ปกติ มาตรฐาน เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน เพราะเราฝึกไว้ดีแล้ว มีสติรู้ ไม่มีคนหิ้วไป เดี๋ยวนี้ใจเราเขาหิ้วไปไหนก็ได้ นั่งอยู่สุคะโต เขาหิ้วไปโน้น ไปเสียแล้ว เวลานอนก็ไปกับเขาซะ เวลานอนหาเรื่องมาคิด คิดจนนอนไม่หลับ บางทีสุขทุกข์เกิดจากความคิดน้อยๆ เท่านี้ก็สุขได้ทุกข์ได้ คิดขึ้นมาน้ำตาไหล คิดเฉยๆ นะ คิดขึ้นมาแล้วโกรธ มีเหมือนกัน
แค่นั้นเหรอชีวิตเรา เปราะบางขนาดนั้น อะไรที่เป็นแก่นสาร ถ้าถึงคราวเกิดแก่เจ็บตาย ทำยังไง ต้องมีแน่นอน ถ้าไม่เริ่มต้นน่ะ มันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้เนี่ย มันก็ต้องไม่มีทางเปลี่ยน หลงเป็นหลง ทุกข์เป็นทุกข์ ถ้าเราเปลี่ยนแล้ว ทุกข์ไม่เป็นทุกข์นะ เป็นปัญญา ปัญหาเป็นปัญญา ถ้าเราไม่ฝึกหัด ปัญหาเป็นปัญหาเรื่อยไป ถ้าเราหัดนะ ปัญหาเป็นปัญญา ความทุกข์เป็นปัญญาไปแล้ว พระพุทธเจ้าเห็นทุกข์จึงเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเห็นทุกข์เป็นพระพุทธเจ้า ปุถุชนเห็นทุกข์เป็นทุกข์ ใช่ไหม ทุกข์เป็นทุกข์ ปุถุชน พระพุทธเจ้าทุกข์เป็นปัญญา พระพุทธเจ้าเห็นทุกข์แท้ๆ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ของจริงนี่ ทุกข์อันประเสริฐแล้ว สวดพระสูตรให้ฟังเสียหน่อยได้ไหม ติลักขณาทิคาถา ได้ไหม พนมมือขึ้น ว่าตาม พระสูตรนี่ ไม่ต้องอ่านก็ได้ มีอยู่ใน จำได้ “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั่นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นนิพพาน” มีไหม เปิดดู มิใช่หลวงตาว่า (หัวเราะ) ปุถุชนเอาทุกข์เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าเอาทุกข์เป็นนิพพาน จะว่ายังไง ทุกคนทำได้นะ ลองดูสิ หือ เมื่อเราเห็นงูเนี่ย เห็นงูจะให้งูกัดเหรอ เห็นงูก็พ้นจากงู มันจึงเห็นนะ นี่ เรามาหัดตัวนี้ ยกมือสร้าง เดี๋ยวอาจารย์ทรงศิลป์ พระอาจารย์ท่านจะสอน เปลี่ยนอย่างเนี่ย หน้ามือเป็นหลังมือ มันทุกข์ไม่ทุกข์ มันโกรธไม่โกรธ มันหลงไม่หลง ตรงนี้แน่นอน