แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อเป็นพหูสูตได้ยินได้ฟังมาก มีอานิสงส์เป็นมงคล ทำในใจด้วยทำทางกายด้วย ดูแลตัวเองให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ เป็นดวงตาภายใน เป็นหน้ารอบ อย่าปล่อยตัวเองทิ้ง เพราะมันมีทางออกหลายทาง ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีรูป มีรส มีกลิ่น มีเสียง มีสัมผัส มีอารมณ์ เหมือนกับจับปูใส่กระด้งก็ว่าได้ ถ้าเรามีสติก็ไม่ยาก ไม่ได้ไปจับตรงไหน เพียงจะรู้อยู่ที่กาย มันก็เป็นที่รวมลง มันก็รู้ทั้งหมด ง่าย ๆ โดยเฉพาะกายกับใจ
เหมือนกับคำสอนของเณรน้อย สอน ๆ ใคร...ฮื้อ.. โปฐิละ โปฐิละ (หัวเราะ) เณรน้อยสอนโปฐิละ เป็นผู้ที่จบพระไตรปิฎก ไปที่ไหนอ่านแต่พระสูตรต่าง ๆ “ เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา” ไม่มีใครอยากจะคบ เอาพระสูตรไปข่มขู่เพื่อนมิตร จนถึงกับคำพูดคนโบราณว่า “เก้าสิฆ่าสิบสิฆ่า ให้เอาแก่นคะยูงตี อย่าเอาบาลีมาต่อยตีต่างค้อน” เอาแต่บาลีมาฆ่ามาตี มันก็ไม่ ไม่สู้ สู้ไม่ได้ เอาแก่นพยุงหมายถึงเอาแก่นแท้มาบอกกัน “ เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง” หมายถึงพระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่โน่นที่นี่ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่เคยบอกว่าเนี่ย มีสติดูกายดูใจเนี่ย ไม่เคยบอกกัน ก็ไม่มีใครอยากจะศึกษาด้วย
โปฐิละจนไปขอเรียนกรรมฐานจากเณร เณรก็บอกว่า มีเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในจอมปลวก จอมปลวกมีรู 6 รู ทำไงถึงจับจอมปลวก ทำไงถึงจับเหี้ยได้ เหี้ยคือความร้าย ความไม่ดี เขาไม่เรียกว่าเหี้ย ถ้าเขาเรียกเขาเรียกว่าตัวเงินตัวทอง เขาว่าเหี้ยมันเลวร้าย โปฐิละก็บอกว่า ถ้าจับเหี้ยได้ก็ต้องปิด 5 รู แล้วขุดไปตามรูเดียวก็จับเหี้ยได้ ก็ได้ยินอย่างนี้โปฐิละก็รู้จัก ไม่ใช่เอาบาลีแล้วบัดเนี่ย เอาลักษณะที่การกระทำลงไป มีสติดู เห็นสิ่งที่มันออกง่าย ออกไว ออกเข้า เข้าง่าย ออกไว คือภาวะทางความคิด ทางตาก็คอยมีแต่วัตถุที่เกิด มีหูก็ได้มีวัตถุที่เกิดมีเสียง จมูกก็มีแต่กลิ่นที่มันมีจึงได้กลิ่น ลิ้นก็มีเฉพาะที่มันมีเหตุมีสัมผัสรส มันก็ยังมีปัจจัยอื่น แต่ว่าความคิดเนี่ยมันไว คิดได้ทุกอย่าง ไม่มีที่อื่นใดที่จะไปดูแลเรื่องนี้ได้ จึงปิดรูตรงนี้ได้ ขุดตรงนี้ได้ ถ้ามันคิดทีไรก็ไปกับความคิด แล้วเลยออกไปทางนั้นอยู่เรื่อย มันไม่ออกทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่าไรนัก มันออกทางหู จมูก ลิ้น กาย เท่าใด มันออกทางใจเป็นส่วนใหญ่
ปฏิบัติธรรมที่จะได้บรรลุธรรม มันก็เห็นเรื่องความคิดนี่เป็น เป็นประตูที่สำคัญ จนพูดกับตัวเองว่า ต่อไปนี้จะเป็นสุขเป็นทุกข์ ความคิดจะไม่มีอีกแล้ว เพราะเห็นแล้ว ต้นตอมันอยู่ตรงนี้ สมุทัยอยู่ตรงนี้ สังขารอยู่ตรงนี้ อวิชชาอยู่ตรงนี้ เป็นเกิดความคิดขึ้นมาได้หลายรูปแบบ เราจะมีสติมาดูตรง ๆ ตรงนี้กัน ใครก็เห็นความคิด ไม่มีใครไม่เห็น มีกันทุกคนความคิด ความหลงเกิดจากความคิด ความสุขความทุกข์เกิดจากความคิด กิเลสตัณหาเกิดจากความคิด ความคิดเนี่ย มันคิดเนี่ยว่ามันหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่คิด ความรู้สึกตัวเป็นการคุมกำเนิดของความหลง เมื่อไม่หลงมันก็ไม่คิด มันเกิดทางความคิด อันอื่นก็ยุบไปเลยเหมือนถอนรากแก้ว ง่าย ๆ จึงมีวิธีแบบนี้ วิธีปฏิบัติธรรมแบบนี้ ความคิดไม่ได้อยู่กับการเฒ่า การแก่ อยู่กับเพศกับวัย ลัทธินิกายใด อยู่กับชีวิตทุกชีวิต
คือความคิดเนี่ย มันเกิดจากจิตใจเนี่ย มันเป็นนามธรรม รูปธรรมมันเป็นมือสองของเขา เป็นบ่าวเป็นทาส ความคิดเป็นนายของกาย ความคิดเป็นนายของรูปเรียกว่า “นามธรรม” ทั้งๆ ที่ไม่มีตัวมีตน มันก็เป็นใหญ่ มีอำนาจ สำเร็จได้ด้วยใจ ความชั่วก็สำเร็จได้ ผิดศีลผิดธรรมด้วยใจเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีใครปรับโทษ เป็นแต่ความคิด ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นโทษ ภาษาโลกเขา ถ้าจะผิดศีลต้องทำที่กาย ต้องเป็นคำพูด แต่ไม่ได้ปรับที่ใจที่มันคิด ก่อนที่มันจะพูด ก่อนที่มันจะทำ เกิดจากความคิดก่อน ไม่มีใครปรับ การต้องอาบัติก็ไม่มีใครปรับตรงนี้ จะต้องเห็นวัตถุที่ผิดอาบัติพร้อมด้วยวัตถุ พร้อมด้วยบุคคล พร้อมด้วยเวลา เรียกว่า “อธิกรณ์” ต่อหน้าสงฆ์ ได้ยินว่าเธอพูดอย่างนั้น ได้ยินว่าเธอพูดอย่างนี้ ได้เห็นเธอทำอย่างนั้น ได้เห็นเธอทำอย่างนี้ โจทก์ได้ อันได้คำว่าได้เห็นเธอคิดอย่างนั้น ได้เห็นเธอคิดอย่างนี้ ไม่มีใครพูด ปรับไม่ได้ แต่ทางปฏิบัติเขาปรับกัน พวกเราปรับกัน ปรับตัวเอง เข็ดหลาบ มีสติมันเห็น เห็นที่มันลักคิดทีไรมันสกปรก ถ้าเป็นศีลก็ด่างแล้ว พร้อยแล้ว รักษาตรงนี้น่ะ มันจึงเป็นความถูกต้องขึ้นมา เป็นวิชชา เพราะก็มันรู้ตรงนี้แล้ว มันก็ไม่มีสังขาร เมื่อไม่มีสังขารก็ไม่มีวิญญาณ เมื่อไม่มีวิญญาณก็ไม่มีนามรูป เมื่อไม่มีนามรูปไม่เกิดผัสสะ ก็ไม่เกิดเวทนา ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ มันก็ย้อนกลับเข้าที่ สู่ธรรมชาติ
ถ้ามันมีอวิชชา คือไม่รู้ ว่ามีสังขาร เมื่อมีสังขารก็มีวิญญาณ วิญญาณก็มีนามรูป เมื่อมีนามรูปก็มีอายตนะ เมื่อมีอายตนะก็มีผัสสะ เมื่อมีผัสสะก็มีเวทนา เมื่อมีเวทนาก็มีตัณหา อุปาทาน ว่าตัวว่าตน ถือเป็นภพ เป็นชาติ ก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพในชาติ เมื่อมีภพชาติอยู่ในรูปนามรูปอย่างนี้ ก็เกิดเป็นรูปนามขึ้นมา เป็นกายเป็นใจขึ้นมา เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เป็นตัวกูของกู เป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมา มันไม่ยาก ทำมือเปล่า ไม่ต้องมีเครื่องมืออะไร นี่ทำได้ทุกคน เราจึงทำแบบนี้กัน มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ
การปฏิบัติธรรมไม่เกี่ยวกับบุญวาสนาอะไร ถ้าบุญต้องที่สะดวก ก็ไม่แตกไม่วาย สายบัวไม่เน่า ไม่เปรอะเปื้อนอะไรมาก ทำได้อยู่ ถ้าตลาดวายสายบัวเน่า ทำอะไรก็ไม่ได้ จะมีความคิดก็ไม่รู้ จะมีสติก็ไม่รู้ ยกมือก็ไม่รู้ ก็มีเหมือนกันบางคน เพราะมันเปรอะเปื้อนมาก ใช้ผิดมา ใช้ชีวิตผิดๆ มา เมื่อมันผิดก็เป็นดินพอกหางหมู ไม่มีแรงที่จะไปถลุงออกได้ เราจึงอย่าไปให้ตลาดวายสายบัวเน่า เอามาใช้ให้เกิดความรู้ ใช้ชีวิตให้เกิดความรู้ เรียกว่า ยังไม่เน่า ยังไม่วาย ยังขายได้อยู่ มีความอยากรู้เมื่อไรก็รู้ได้ อันที่เรียกว่าสุข ๆ ๆ ๆ นั่นน่ะเป็นภาษาคน ไม่มีภาษาอะไรเทียบ พูดแบบภาษาคนที่เรียกว่าสุข ที่จริงไม่ต้องเรียกว่าสุข เพราะทุกข์หมดไปทุกเส้นขน
เหมือนหลวงตาพูดว่า รักษาขี้กลากให้หายไปแล้ว ไม่ต้องเกา ภาษาโลก ถ้าเขาเกาเขาเรียกว่าสุข เกาทางตา เกาทางหู เกาทางจมูก เกาทางลิ้น เกาทางกาย เกาทางใจ เท่าไรก็ไม่พอ “ กิ๋นหวอมๆ ผอมจ้อค่อ” ถมไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อ มันเกาทางตา เกาทางหู เกาทางจมูก เกาทางลิ้น เกาทางกาย เกาทางใจ เมื่อมันมีขี้กลาก ก็ต้องใช้ปัจจัย ซอก ๆ ๆ หามา อาหาร ถ้าเป็นอาหาร ก็เป็นอาหาร 6 ทาง จะเลี้ยงไหวหรือ ตาก็เอาไปกิน หูก็เอาไปกิน จมูกก็เอาไปกิน ลิ้นก็เอาไปกิน กายเอาไปกิน ใจเอาไปกิน หาสิ่งที่ชอบเลี้ยง อันนั่นเรียกว่าเอมอิ่มในเรื่องที่เขาชอบ ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง เขาว่าเขามีความสุขเหมือนกับขี้กลาก ถ้ารักษาขี้กลากอันนี้หาย ไม่ต้องเกา หมายถึงน่ะ มันหายไปแล้ว ไม่ต้องเกา จะเรียกว่าสุขก็ไม่ได้ จะเรียกว่าทุกข์ก็ไม่ได้ อันนี้มันเป็นสู่ธรรมชาติยิ่งใหญ่ ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าทุกอย่าง คืนสู่ธรรมชาติ
มันเลยไม่เป็นอะไรกับอะไร ไม่หวั่นไหว นี่คือที่เรียกว่าความสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์หมดไปทุกเส้นขน มีเกิดขึ้นกับการกระทำแบบนี้ ไม่มีวิธีใด ซื้อหาก็ไม่ได้ต้องศึกษาเอาเอง ตัวเองศึกษาปฏิบัติด้วยตนเอง ขอก็ไม่ได้ อ้อนวอนไม่ได้ ต้องมีการกระทำ เรียกว่ากรรมฐานแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มี ถ้าจะเรียกว่าอหังการมันก็ไม่มี บางทีก็ บางคนก็เบื่อหน่าย มาอยู่กับความสงบ อยู่ไม่เป็น เพราะมันเคยมีรสชาติ ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง พอมารู้สึกตัวก็อาจจะถูกรบกวน หน้าเป็นทุกข์ กังวล คร่ำเครียดเพราะไม่เคยชิน มันเคยแต่การสัมผัส เมื่อไม่สัมผัสอะไรก็ไม่เคยชิน อยู่ไม่ได้ ก็มีเหมือนกันบางชีวิต บางชีวิตก็พยายามหัด มีแต่ติดบุหรี่ก็อยู่ไม่ได้ ห้ามไม่สูบบุหรี่ก็ไม่เอาแล้ว เพราะมันติดมา มันมีอาหารแบบนั้น พอติดเสียงมา ก็มีอาหารแบบนั้น อยู่นิ่งไม่เป็น บริโภคมาก เดี๋ยวนี้ยิ่งบริโภคมาก หลายทางหลายปาก บางทีโทรศัพท์มือถือ เอาหูเอาเครื่องฟังใส่หูห้อยคอพะรุงพะรังตลอดเวลา ในโทรศัพท์ก็ต้องมีเสียงเพลง เสียงอะไรตลอดเวลา อยู่บนรถ บนเรือ อยู่บนเครื่องบินก็ยังมีเครื่องฟังใส่หู เวลาเราขึ้นเครื่องบิน ก็จะเอาซาวเบาท์มาให้ ใช่มั้ย เขาเรียก “ซาวเบาท์” หรือเรียกอะไร(หัวเราะ) และก็มีแจ็คอยู่เนี่ย อยู่ที่มือเนี่ย เสียบซาวเบาท์เข้าไปแจ็คที่พนักพิงที่มือนี่ ถ้าอยากจะให้มันดัง ก็เอามือกดหมุนวอลลุ่มมัน มันก็เกิดเสียง มันเปลี่ยนได้ ถ้าอยากเห็นรูปก็กดดูจอทีวี คอมพิวเตอร์ บนพนักหน้า อยากดูอะไร ดูหนังเรื่องใด กดเอา อยากเห็นเครื่องบิน บินไปทางไหนกดเอา ผ่านประเทศใดกดเอา อยู่ไม่เป็นเพราะมันติด พอมาให้สงบ แบบนี้มันไม่เอา มันก็เลยเกิดความฟุ้งซ่าน คร่ำเครียด ง่วงเหงาหาวนอน เพราะมันยังไม่เคย
เวลาจับสัตว์มาหัด ไม่เคยจับ ไม่เคยถูกเชือก มันไม่ชินเชือก มันก็ดิ้น ถ้าจะเปรียบเหมือนจิตใจของเราเหมือนวัวถึกน่ะ วัวถึก รู้จักวัวถึก โคถึกมั้ย โคโตดโคถึกน่ะ มีแต่มันจับได้อยู่ มีที่จับอยู่ ก็หลอกล่อจนจับ พอจับได้มันก็ดิ้น มันดิ้น ดิ้น มันวิ่งแรง เราก็สู้ไม่ได้ อันที่จับมันก็น่ะสู้มันไม่ได้ มันแรง ก็ต้องปล่อยมันไปก่อน หย่อนๆไปก่อน หย่อนไป อย่าเพิ่งไปสู้ หย่อนไปแล้วมันดิ้นไปพอสมควร แล้วค่อยดึง ค่อยดึงขึ้นมา หลายครั้งหลายหน มันก็รู้จักรสชาติของการดึง มันก็หัดไปในตัว มันไปทีไรก็หย่อนไป เราก็ดึงกลับมา ก็มันดึงกันเวลามันไป ดึงอย่างแรงน่ะ อาจจะเกิดอะไรขึ้นมา คร่ำเครียดได้ง่าย
การที่เราปฏิบัติ ตึงเพื่อจะหย่อน หย่อนเพื่อจะตึง เวลามันตึงมากก็หย่อนไป เหมือนคนเล่นว่าว ถ้าเล่นเป็นว่าวจะไม่ตก เวลาลมพัดแรง ว่าวมันกินลมแรง ก็โดดมาก ถ้ามันโดดมาก ๆ ก็ต้องหย่อนไปสักหน่อย ถ้าไม่หย่อนมัน เชือกมันขาด ถ้ามันหย่อนมาก ก็ต้องสาวเชือกเข้ามา มันจะตกให้มันรับลม จิตใจของเรา ถ้าเราฝึกก็มีแบบนี้เหมือนกัน ตึงเพื่อหย่อน หย่อนเพื่อตึง เวลามันคิดหลงไป ความหย่อนคืออะไร ตามใจ ไม่เป็นไร ผิดแล้วแก้ใหม่ มีสติคืนมา ไม่เอามาถึงใจที่มันไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบในที่มันหลง มันตึงเกินไป ชอบในสิ่งที่ไม่หลง มันก็หย่อนเกินไป มันชอบ มันไม่ชอบ ไม่ใช่แบบนั้น มันผิด มันถูก ไม่ใช่แบบนั้น เพราะว่าเล่นคือ เห็นมันผิด เห็นมันถูก ผู้ที่เล่นน่ะ มัน ๆ จะหัดอะไรได้ง่าย ถ้าทำแบบเนี่ย
สอน ถ้าเป็นสอนสัตว์ สอนวัว สอนควาย ก็เอาแบบนี้กัน เหมือนหลวงตาพูดว่า สอนม้าที่มันวิ่งเก็บลู่วิ่งไม่เป็น มันวิ่งผิดก็ไปเฆี่ยนมัน มันก็ระวังเกินไป ความผิดก็ดิ้นแรง กลัวจะถูกเฆี่ยน พยศตรงนั้น เราก็พยศตรงเวลามันผิด เอาผิดเป็นผิด มันก็พยศ ยากเป็นยากไปแล้ว เป็นไม่ชอบไปแล้ว ถ้าถูกเป็นถูก ก็เป็นความชอบไปแล้ว เป็นไปอีกด้านหนึ่ง เป็นบวกเป็นลบ ผู้ฝึกตน สอนตน ต้องรู้จักศิลปะซักหน่อย ต้องยิ้มไว้เสมอ ปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอทุก ๆ ช่วง เป็นตา เป็นหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อมีความพร้อมไปพร้อม ๆ กัน
บางทีก็ปรับกายที่ท่านั่ง ปรับใบหน้า ปรับบั้นเอว ทำใจมีศรัทธา มีความเพียร มีความอดทน มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ อย่าให้ความสุขเป็นความสุข อย่าให้ความทุกข์เป็นความทุกข์ มันหวั่นไหว ไม่มีสมาธิ สมาธิจริง ๆ สุขไม่เป็นสุข ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ท่านั่ง สมาธิหมายถึงสติปัญญาไปแล้ว ไม่ใช่อิริยาบถของรูป ไม่ใช่ท่านั่ง ท่ายืนก็ได้ ท่าเดินก็ได้ ท่านอนก็ได้ สมาธิเนี่ย ไม่เป็นอะไร มันสุขก็เห็นมันสุข ไม่เป็นผู้สุข นี่เรียกว่าสมาธิ มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ นี่เรียกว่าสมาธิ มั่นคงไม่หวั่นไหวเฉพาะเรื่อง ไม่ทำให้ความสุขเป็นสุข ไม่ทำให้ทุกข์เป็นทุกข์ ถ้าสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ใช่สมาธิ สมาธิที่เป็นตัวถลุงที่เกิดปัญญา กำจัดกิเลส มันเป็นสมาธิแบบนี้ ไม่ใช่สมาธินั่งหลับตา ไม่ใช่แบบนั้น สมาธิที่ไปสู่มรรคสู่ผล สมาธิที่เป็นสิกขา ที่เป็นศีล กำจัดกิเลส ไม่เป็นสมาธิแบบนี้ ฝึกตนสอนตนคือทำแบบนี้ ไม่ใช่ตั้งใจจนจะให้มันผิด ไม่ให้มันอยากให้มันถูก บางทีก็มีปัญหาความถูก บางทีก็มีปัญหาความผิด เสียดาย เวลามันสงบก็เสียดายความสงบ วันหลังไม่สงบ ชั่วโมงหน้าไม่สงบ เสียดายเกิดฟุ้งซ่าน บางทีทำไปมันสงบเกิดกิเลสตัณหาขึ้นมา หาว่าเราไม่ค่อยมีผล เป็นทุกข์ ให้ความผิดเป็นทุกข์ ให้ความสุขเป็นสุข ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมอ่ะ โดยเฉพาะสติปัฏฐานเนี่ย
พระพุทธเจ้าก็ขีดเส้นไว้อย่างรอบคอบแล้ว ถ้าจะมีความสุขความทุกข์ ก็สักว่าสุขสักว่าทุกข์ ไม่ใช่ตัวใช่ตน ก็บอกแล้ว ไอ้เรายังดื้อ เอาสุขเป็นสุข เอาทุกข์เป็นทุกข์อยู่ ถ้าใครยังเอาสุขเป็นสุข เอาทุกข์เป็นทุกข์ แปลว่าเป็นคนดื้ออยู่ ถ้าเห็นมันไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ ถอนความสุข ความพอใจ ความไม่พอใจออกมา สุขทุกข์เป็นโลก ยังไม่หนีจากโลก โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข ต่อไปเราจะชำนาญ ถ้าเราหัดน่ะมันทำได้ สุขไม่เป็นสุข สุขเป็นรู้ไป ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นรู้ไป อยากฝึกตนสอนตนอย่างเนี่ย จึงจะเรียกว่ากรรมฐานมันศักดิ์สิทธิ์แบบเนี่ย จนทำให้สุขไม่เป็นสุข ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ ว่าศักดิ์สิทธิ์ จึงอยู่เหนือ จึงจะเป็นการเหนือการเกิด แก่เจ็บ ตาย เหนือโลก คือภาวะอันนี้ ไม่หนีไปไหน ใคร ๆ ก็หัดได้ ไม่ต่างกัน สุขก็เหมือนกัน ทุกข์ก็เหมือนกัน แต่ความไม่สุข ความไม่ทุกข์เนี่ย ภาวะนี้ก็หัดได้ มีได้เหมือนกัน เอาหลายๆ อย่างมาประกอบ มันมีศรัทธาบ้าง เวลามันสุขมันทุกข์ มีศรัทธาที่จะไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มี อย่าไปศรัทธาความสุข อย่าไปรังเกียจความทุกข์ ศรัทธาจริง ๆ ไม่ใช่อยู่แบบนั้น ศรัทธาสัมปยุต ศรัทธาวิปยุต ศรัทธาวิปยุต ศรัทธาหัวเต่า ถ้าดีก็เอา ถ้าไม่ดีก็ไม่เอา อันนั้นศรัทธาแบบนั้นศรัทธาหัวเต่า ผุดเข้าผุดออก บางครั้งก็หน้าบูดหน้าบึ้ง บางครั้งก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ถามดู ทำไมจึงเป็นยังไง หมู่นี้ไม่ค่อยดี อารมณ์ไม่ค่อยดีไม่ใช่แบบนั้น ไม่มีศรัทธาต่อภาวะที่เห็น นั่นล่ะ มันจะได้แก้ไข เห็นแล้ว เห็น ๆ ช่องเห็นทิศเห็นทาง ที่มันทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์ ง่าย ๆ กว่าสุขกว่าทุกข์ สุขทุกข์มันมีรสชาติ อันภาวะที่เห็นเนี่ยมันง่าย ๆ เรียบ ๆ มันเรียบ ๆ มันเรียบ ๆ
ถ้าจะเป็นทางก็ทางเรียบ เรียบกว่าสุข เรียบกว่าทุกข์ ทุกข์มันยังมีคลื่น สุขยังมีคลื่น กระทบกระเทือนเท่า ๆ กัน พลังงานหมดไปเท่า ๆ กัน หัวเราะกับร้องไห้เหนื่อยเท่า ๆ กัน ใช่มั้ย หัวเราะจนเหนื่อย ร้องไห้จนเหนื่อย พลังงานหมดเท่า ๆ กัน แล้วมันไม่จริงน่ะ ความสุขก็ไม่จริง ความทุกข์ก็ไม่จริงหรอก อันความไม่เป็นอะไรมันจริงกว่า ไม่หมดพลังงาน เรียกว่ารากฐานของ ของชีวิตก็ว่าได้ มีอยู่กับเรานี่แหละ ลองดูดี ๆ เงี่ยหูฟัง สัมผัส สัมผัสดี ๆ สัมผัสความสุข สัมผัสความทุกข์ สัมผัสความไม่สุข สัมผัสความไม่ทุกข์ ลองดู ให้เห็นลองดู ภาวะที่เห็นคือ ภาวะที่รู้เนี่ยแหละ รู้สึกตัวเรา แต่ภาวะที่รู้สึกตัวมันจะกลายเป็นภาวะที่ดู ทีแรกก็เป็นภาวะที่รู้ รู้เสียงเข้ารู้สึก เสียงออกรู้สึก ทำไป ๆ จะดู เช่น หายใจเข้าว่า “พุท” หายใจออกว่า “โธ” “พุท...โธ” ต่อไปไม่ ไม่ได้ว่าเลยมันจะเป็นภาวะที่รู้เข้าไป ภาวะที่รู้ตัวนี้ก็เป็นภาวะที่ดูเข้าไป ไม่มีใครว่า “พุทโธ... พุทโธ” อยู่ตลอด เวลาฝึกใหม่ มันก็พูดไปกับ “พุทโธ” เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตที่เกาะจับไปนิดๆ หน่อยๆ เบื้องต้น ถ้ามันเป็นแล้วมันชำนาญก็ไม่ต้องจับ เราจึงมีโอกาสเป็นได้ เหมือนเราเคยทำวัตร แต่ก่อนก็จับหนังสือ ถ้าทำไปๆ นานก็ไม่ต้องจับ เพราะว่ามันติดแล้ว มันเป็นแล้ว มันบอกว่าพุทก็ต้องมีโธอยู่ข้างหน้า ไม่มีอะไรอยู่ข้างหน้า อยู่จนชิน ชินทางนี้ ชำนาญ ชำนาญในทาง ชำนาญเฉพาะทาง ทำไมจึงชำนาญ เพราะเคย เคยผิด มันจึงชำนาญในความไม่ผิด ถ้าเคยผิด ไม่เคยทำให้มันไม่ผิด สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ชำนาญในความไม่สุขไม่ทุกข์ ตรงนี้ต้องหัดกัน อย่าให้โอกาสมันผ่านไป เวลามันทุกข์ มันได้บทเรียน เวลามันสุข มันได้บทเรียน เวลามันโกรธ มันก็ได้บทเรียน เวลามันหลง มันก็ได้บทเรียน บทเรียนจากเหตุ จึงมีเหตุ ก็มีผล
พระสารีบุตรบรรลุธรรมเท่านี้ เห็น เห็นทุกข์เนี่ย “เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา” ทุกสิ่งทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ เยสํ เหตุ ตถาคโต จะแก้ก็แก้ที่เหตุ พระตถาคตเจ้าสอนอย่างนี้ เท่านี่ก็ได้บรรลุธรรม มันโกรธนั่นแหละเหตุที่มันไม่โกรธ อย่าให้ความโกรธเป็นความโกรธ มันทุกข์นั่นเหตุที่ไม่ทุกข์ อย่าให้ความทุกข์เป็นความทุกข์ ได้ประโยชน์ มันหลงนั่นแหละเหตุที่ทำให้เกิดความไม่หลง มันมี มีไปเป็นตลอดสาย จนเหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย ถ้าเราเดินก้าวแรก ไปโน่น อย่างหลวงตาพูดเมื่อวานว่า “มงกุฎธรรมชำนาญตรงกระโดด” แต่ก่อนกระโดดไม่เป็น ติด..โอ้...มีศรัทธาแกล้วกล้า กระโดดถึงอะไร จุดยอด กอดพระธรรมด้วยหทัย จุดยอดกอดพระธรรมด้วยหทัย มันกระโดดไม่เป็นอะไร เวลามันหลงไม่หลง กระโดดไปแล้วง่าย ๆ ถ้าหลงเป็นหลงเฉื่อยชา เพราะไม่หัดตน สอนตน เราก็เลยอ้างตลอดเวลา เอาความยากอ้าง เอาความง่ายอ้าง เอาความเบื่อ เอาความขยัน ให้ความขยันพาทำ ให้ความขี้เกียจพาหยุด ไม่ใช่ทำความเพียร
นั่นการทำความเพียรต้องมีสติเท่านั้น สติเหมือนกับหว่านลงไปเรื่อย ๆ ลูบไปเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าความเพียร ไม่ใช่แค่ความขยัน ไม่ใช่ความขี้เกียจ เราจึงเก็บลูก ลูกตายให้ได้ นักเล่นกีฬาต้องเก็บลูกตายให้ได้ ลูกตายคือหลง คือทุกข์ คือสุข อย่าให้สุขเป็นสุข ถ้าสุขเป็นสุขมันตาย เก็บให้ได้ตรงนี้ เหมือนเล่นตะกร้อ เล่นกีฬา ถ้าใครเก่งตรงนี้น่ะ ก็เรียกว่าเป็นแชมป์ได้ เป็นแชมป์ทั้งชีวิตเราเนี่ย ถ้าหลงรู้ ถ้าสุขทุกข์รู้ เป็นกีฬายอดเยี่ยม ศิลปะ เป็นศาสตร์ เป็นศิลป์ ทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์ ฝึกได้ทุกชีวิต เป็นเพื่อนกัน เพื่อนเราก็ไปกันหมดแล้วน่ะ พวกเราอย่าเพิ่งไปไหนเน้อ อยู่ด้วยกันก่อน อุ่นใจน่ะ เดี๋ยวก็จะไปโน่นไปนี่อีกล่ะ
เวลานี้หลวงตาก็แก่ อาศัยมาก ๆ น่ะ ให้มาปฏิบัติธรรมกันนี่แหละ ถ้าเราหลงเป็นไม่หลงน่ะ อาศัยได้ ถ้าใครทุกข์เป็นไม่ทุกข์ อาศัยกันได้ ถ้าใครโกรธเป็นไม่โกรธอาศัยได้ ถ้าโกรธเป็นโกรธ ทุกข์เป็นทุกข์ อาศัยไม่ค่อยได้หรอก ตัวของเขาเองก็อาศัยตัวเขาเองไม่ได้ แล้วแต่จะเป็นไง ก็มีใจ ก็พึ่งใจก็ไม่ได้ คน..อนัตตาใช่ไหม สามี...อนัตตา ภรรยา...อนัตตา อยู่กัน เหมือนกับอยู่ปากเหว คอยจะหลุดอยู่เรื่อย เพราะเป็นอนัตตา ถ้าเป็นอนัตตามี 2 แบบนะ ไม่อยากพูดภาษาบาลี เป็นคนไม่ ไม่มั่นคง คุ้มร้ายคุ้มดีจะเรียกว่าอะไร “สัพเพ สังขารา อนัตตาติ” มันไม่ใช่ตัวตน เขายังเป็นตัวเป็นตนแบบนั้น หลงเป็นหลง โกรธเป็นโกรธ ถ้ากูได้โกรธ ถ้ากูได้นั่นก็เป็นอนัตตา เขาไม่โกรธ เขาไม่โกรธเขาไม่มีแล้ว เขาไปเป็นผู้โกรธแล้ว เขาเป็นผู้ทุกข์ ก็เลยพึ่งไม่ค่อยได้ ถ้าจะพึ่งกันได้ นี่เรียกว่า “กัลยาณมิตร” เนี่ย กัลยาณมิตร เนี่ย หลงเป็นรู้ ถ้าเราอยู่กุฏิหลังนั้น แม่ชีอยู่หลังนี้ แม่ชีอยู่นั่น ญาติโยมอยู่ตรงนั้น พระสงฆ์อยู่ที่นั่น เวลาทุกท่านทุกรูปเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เป็นกัลยาณมิตรกัน มาอยู่ด้วยกันก็จะพึ่งกันได้ ถ้าทุกข์เป็นไม่ทุกข์ กัลยาณมิตรเหมือนกัน เราก็เหมือนกัน ท่านก็เหมือนเรา เราก็เหมือนท่าน ต่างคนต่างเปลี่ยน เปลี่ยนร้ายเป็นดี เรียกว่า “กัลยาณมิตร” จะไม่มีวันที่จะแตกร้าว สามัคคีกัน นี่คือความรัก พระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรักแบบนี้ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรักแบบนี้ ภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี ญาติโยม เป็นยอดนักรักแบบนี้ เอาไปมาเป็นคน ๆ เดียวกัน พากันไปถึงมรรคถึงผลทั้งหมดของพรหมจรรย์เลยทีเดียว ถ้าเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนสุขเป็นไม่สุขน่ะ ไปทางเดียวกันแท้ๆ ไปเอาเอง ต่างคนต่างไป ก็ไปอย่างเดียวกัน ตรงนี้น่ะ วันนี้น่ะ สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน