แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมต่อ เพื่อเป็นส่วนประกอบการปฏิบัติธรรม เวลานี้เรามาปฏิบัติธรรม สิ่งที่เราทำให้เป็นสิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราได้ยินเป็นสิ่งที่เราได้ทำ เรียกว่า ประกอบกันเข้า ทำอย่างไร สอนอย่างไร สอนให้ปฏิบัติตามพ่อก่อตามครู บรมครูของเราคือ พระพุทธเจ้า เราก็ทำตามที่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำยังไงจึงได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า กับปุถุชนสามัญชนธรรมดาทำยังไง การเป็นพุทธะ คือ ธรรมะพาให้เป็นเห็นธรรม เห็นธรรม ไม่ใช่กายเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ว่าอย่างนี้
พระพุทธเจ้าทำยังไง ทำยังไงจึงเห็นธรรม มีสติ มีความรู้สึก มีความระลึกได้ มีสติไปในกายเป็นประจำ คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก มีสติ หายใจเข้าหายใจออก มีสติ เวลาใดที่มันหมกมุ่นครุ่นคิด มีสติ ให้เป็นสติ ให้เป็นความรู้สึกระลึกได้ เป็นผู้ดูแลกายใจ ให้สติเป็นใหญ่เรียกว่า “สติอินทรีย์” ถ้าไม่มีสติ มันก็คิดไปข้างหลัง คิดไปข้างหน้า
ดังที่เราสาธยายพระสูตรว่า “บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย” มีเหมือนกัน หนึ่งวัน สองวัน สามปี สี่ปี สิบปี ห้าปี เอาเรื่องเก่า ๆ มาคิด คิดแล้วกลายเป็นสิ่งเศร้าหมอง เป็นสิ่งที่ฟู ๆ แฟบ ๆ ได้ ย้อมใจ เกิดจากความคิดเป็นอารมณ์มาย้อมจิตใจ กลายเป็นจิตใจที่มีอารมณ์เป็นจริตไปก็มี อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็อย่าพะวง ทำอะไรไม่ได้ ปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ ให้มีความรู้สึกตัวเดี๋ยวนี้ ทำดีเดี๋ยวนี้ ละความชั่วได้เดี๋ยวนี้ หากมันวิ่งไปทางอดีต ก็กลับมารู้สึกตัว มีงานคู้แขนเข้า เหยียดแขนออก รู้สึกตัวอยู่นี่ สอนมันซะ เวลานี้ไม่ใช่มานั่งคิดถึงอดีต เรามาปฏิบัติธรรม มาสร้างสติ กลับมาได้ บางทีมันไปอนาคต กลับมาได้ พรุ่งนี้มีอยู่ แต่ไม่เห็นพรุ่งนี้ มีอยู่แต่ไม่มีใครเห็น เราเห็นเดี๋ยวนี้ เวลาวินาทีนี้ มือก็อยู่นี่ กายก็อยู่นี่ ใจอยู่นี่ คู้แขนเข้ารู้สึกได้อยู่นี่ เหยียดแขนออกรู้สึกได้อยู่นี่ นี่คือ “ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ” ให้พอกพูนตัวนี้ขึ้นมา ให้มันมาก แต่ก่อนนี้มันมอมแมม ใช่ไหม มอมแมม ใช้ได้ไหม (หัวเราะ) มันไม่ได้มีความรู้สึกระลึกได้ มันคิดได้ตะพึดตะพือ อะไรก็มาคิด เอามาคิด บางทีเวลานอนยังเอาเรื่องนั่นเรื่องนี่มาคิด จนเป็น จนนอนไม่หลับ บางทีคิดเจ็บปวดกัดตอดตัวเองก็มี ทำให้เจ็บปวดก็มี อย่างนั้นก็ยังคิดอยู่ ยังไปขืนคิดอยู่ จนนอนไม่หลับ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เพราะความคิด นั่นไม่ว่าไม่ใช่ชีวิต ชีวิตไปห้อยไปแขวนกับอะไรไม่รู้ ล้มลุกคลุกคลาน คุ้มร้ายคุ้มดี
บัดนี้ เรามามีสติเนี่ย รู้สึกระลึกได้อย่างเนี่ย สอนมัน เวลานี้เวลานอน ไม่ใช่มาคิด นอนอยู่ก็รู้ได้ ความคิด มันนอนอยู่มันก็คิดได้ ความสุขความทุกข์ นอนอยู่มันก็สุขทุกข์ได้ เราก็รู้ได้ทุกอิริยาบถ ไม่มีสิ่งไหนที่จะเฉลยได้ดีเท่ากับความรู้สึกความระลึกได้เนี่ย เราจึงมาหัดตนสอนตน กำหนด งานวิชากรรมฐาน กลับมา กลับมาหาที่ตั้ง ที่ตั้งเรียกว่า “ฐาน” การกระทำในที่ตั้งมั่นเรียกว่า “กรรม” ให้มันเป็นกรรม ให้มันรู้กับที่ตั้งนี้ไว้ 14 จังหวะ ให้รู้ทุกจังหวะ จังหวะหนึ่งห่างกันไม่เกินวินาที หรือช้ากว่าก็ไม่มาก ให้มันต่อเนื่องอยู่เช่นนี้ เวลาใดที่มันหลงไป กลับมารู้ ถ้าไม่มีคนหลง ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีหลงอยู่ ต้องเปลี่ยนเป็นรู้ ถ้าหลงไม่เปลี่ยนเป็นรู้ ปฏิบัติแบบไหนก็ยังไม่ถูก ธรรมพาให้เราถูก ไม่ใช่วิธีการ เวลามันหลง เปลี่ยนเป็นรู้สึกตัวนะ เวลามันทุกข์เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวซะ เวลามันโกรธเปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวซะ อะไรที่มันเกิดขึ้นจากกายจากใจ เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวทั้งหมดเนี่ย เอาให้สุดฝีมือเนี่ย มันจะหนีไปไหนได้ มันก็มั่นใจทุกคนถ้าทำอย่างนี้ ไม่ต้องมีคำถาม ให้เห็นเอง พบเอง ไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ ตอบได้ ได้เปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง หนึ่งครั้ง มันหลงอีก เปลี่ยนเป็นไม่หลงอีก สองครั้ง มันทุกข์อีก เปลี่ยนเป็นไม่ทุกข์อีก อะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นที่ไม่ใช่สติ เปลี่ยนมันเป็นสติเนี่ย เรียกว่าธรรมนำชีวิต
สติ คือความรู้สึก ความระลึกได้ วิธีไหนก็ตาม อย่าเอาเรื่องเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก มันจะผิด ก็ถ้าผิดเป็นผิด ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ ผิดทั้งนั้น วิธีไหนก็ไม่ถูกต้อง ถ้ามันทุกข์ รู้สึกตัว ไม่ทุกข์ซะ มันโกรธ รู้สึกตัวซะ ไม่โกรธซะ มันหลงรู้สึกตัวไม่หลงซะ เปลี่ยนได้อย่างนี้เรียกว่า วิธีไหนก็ถูกต้อง อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ รูปแบบของเราที่ทำอยู่นี้ ไม่ใช่มาเรียนรู้ยกมือเข้า ยกมือออก เป็นการฝึกหัดให้มีสติเฉย ๆ ถ้าหัดเป็นแล้ว ไม่ทำก็ได้ จะทำก็ได้ แต่เราต้องสอนก่อน ทำให้ดู อยู่ให้เห็น พูดให้ฟัง อย่างนี้เรียกว่า ฝึกตนสอนตน อย่าไปเชื่อใคร อย่าไปเชื่อคำเล่าลือ อย่าไปเชื่อคำนินทา อย่าไปเชื่อคำสรรเสริญ มาดูซิ มาดู จงมาดู ว่าธรรมพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดี ตรัสไว้ดีแล้ว
พระธรรมคืออะไร ความหลงไม่จริง ความไม่หลงจริง ตรัสไว้อย่างนี้ ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์จริง ตรัสไว้อย่างนี้ ปฏิบัติตามธรรม มันหลงอย่าทำตามหลง มันหลงปฏิบัติตามธรรม คือไม่หลง นี่เรียกว่า ตรัสไว้ดีอย่างนี้ ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน หมื่นทั้งหมื่น ไม่ถูกต้องเลยหลงน่ะ โกรธไม่ถูกต้อง ทุกข์ไม่ถูกต้อง เราใช้ชีวิตอย่างไร ชีวิตเรามาถึงปูนนี้ ระหว่างความหลงกับความไม่หลง อะไรมากกว่ากัน น่ากระตือรือร้นตรงนี้มาก ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เวลามันหลง เปลี่ยนไม่หลงได้ ทุกชีวิต อย่าปล่อยทิ้ง ทิ้งไปไม่ได้ ถ้าหลงก็เสียไปเลย ถ้าโกรธก็เสียไปเลย ถ้าทุกข์ก็เสียไปเลย ทดลองไม่ได้ ไม่ใช่ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เครื่องทดลอง ชีวิตของเราเนี่ย เป็นสิ่งที่เรารักษา ดูแลให้มันคุ้ม มีสติเป็นเจ้าของ มีสัมปชัญญะเป็นเจ้าของเป็นผู้ดูแล ไม่มีอะไรที่ไม่ผ่านความรู้สึกความระลึกได้ ถ้าเรามีนะ ถ้าเราไม่มีความรู้สึก ไม่มีความระลึกได้ ก็เถื่อน กายก็เถื่อน ใจก็เถื่อน สำส่อน โสเภณีกาย โสเภณีจิตใจ คิดอะไรก็คิดได้ หมกมุ่น
อุทธัจจกุกกุจจะ อุทกคืออะไร คลื่น รู้จักไหม อุทกกะ อุทกคือ อุทกภัย น้ำท่วมนครศรีธรรมราช เสียหาย อุทกคือ คลื่น ไม่เรียบ กุกกุจจะ กุกกุจคืออะไร กุกกุจจะ คืออะไร คิด เหมือนไก่เขี่ย เรียกว่าไก่เขี่ย ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร วุ่นไปหมดเลย จนเอามือเกาหัว ลูบหัว ไม่รู้มันคิดอะไร อุทธัจจกุกกุจจะนี่ มันสำส่อน มันไม่ใช่เช่นนั้น จิตใจของเรา ถ้าเราไม่หัดก็เป็นอย่างนั่นแหละ ไม่ว่าอารมณ์มาครอบงำ ดึงไป ดึงไปโน่น ดึงไปนี่ อารมณ์ไม่ใช่ใจ ถ้าเราไม่รู้ก็นึกว่าเป็นใจซะ บางทีทำตามอารมณ์ เสียเปรียบอารมณ์ เวลามันโกรธ ทำตามความโกรธ ความโกรธไม่ใช่ใจ ใจไม่ได้โกรธ มันเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ มันเป็นคลื่น เหมือนทะเล คลื่นไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่คลื่น มันต้องเรียบ จิตใจนี่มันประภัสสร ปกติ เหมือนผ้าขาวสะอาด นั่งอยู่นี่ ขาวเพียบอยู่เนี่ย บริสุทธิ์ แลเหมือนจริง สีขาวมัน มันเหมาะ มันก็เปื้อนได้ เป็นสีอื่นได้ อย่าไปเอาอารมณ์มาเป็นใจ รับใช้อารมณ์ ทำตามอารมณ์ เสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความทุกข์ บางทีมันร้ายกว่าเสือ ทำลายคน อารมณ์เนี่ย ทำลายตัวเองก็ได้ ทำลายคนอื่นก็ได้ ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตไม่เป็นอะไร จึงมาดูแลนี่ มันเป็นเรื่องดีนะ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ปล่อยให้ความหลงครองชีวิตเรา ก็คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ มีใจก็พึ่งจิตใจไม่ได้ ไม่มั่นใจ บางทีคุ้มร้ายคุ้มดี กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลว ไม่ถูกสอน ไม่เคยอบรมสั่งสอนตัวเอง ปล่อยทิ้ง กลายเป็นอันอื่นไป บางทีก็ไม่ดูแลมากก็เป็นจริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต ออกหน้าออกตา ความหลงออกรับ ตาเห็นรูปหลงออกรับ พอใจไม่พอใจ หูได้ยินเสียง พอใจไม่พอใจ ออกรับ แม่นว่า ความหลงออกรับ เป็นโมหจริต ไม่มีสติปัญญา
การมีสติ รู้แล้ว มันคิดเห็นมันคิด คิด มีสองลักษณะ ไม่ใช่ ไม่ได้ตั้งใจคิด มันคิดขึ้นมาเอง อันนั้น ชัดเจนแม่นยำ ได้สอน ที่ความคิดที่ไม่ตั้งใจ ไปแก้ได้เปลี่ยนได้รู้ จากความหลงเป็นความรู้ คิดที่ตั้งใจ ก็ไม่จำเป็นเวลานี้ ไม่ใช่มาตั้งใจคิดอะไร มาฝึกกรรมฐาน อบรม พระธรรมนำชีวิต ให้มันได้ชีวิตใหม่ ๆ ต่อยอดใหม่ ๆ ต่อยอดใหม่สักหน่อย มันกลายพันธุ์มามากแล้ว ยอดเดิม ๆ มันเป็นอื่นไปแล้ว เลือกคัด ถอดออกมา เหมือนเราเลือกข้าวปลูกข้าวพันธุ์ เอาทั้งหมดว่าต้องถอดออก ถอดออก มันก็ได้พันธุ์ใหม่ขึ้นมา ยอดใหม่ จากหลงกลายเป็นความไม่หลง เรียกว่า ยอดใหม่ ถ้ามีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ เป็นยอดใหม่ ถ้ามีโกรธก็ไม่โกรธ เป็นยอดใหม่ ๆ มันจึงจะเป็นปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรม คือ เปลี่ยนร้ายเป็นดี ถ้ามันไม่มีร้าย ไม่มีทุกข์มีโทษ ก็นั่นแหละจำลองมรรคผลนิพพานเหนือชีวิตแล้ว เราจึงมา บางทีมันไม่เป็นไปเอง มันใช้สะเปะสะปะมา ชีวิตของเราเนี่ย มันก็เปรอะเปื้อนปนเปื้อน จากจิตเดิมแท้ ก็เป็นอันใหม่ไปเสียแล้ว เราจึงมาทำซะ มันทำไม่ยาก ทำได้ทุกชีวิต ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เชิญมาดู เชิญมาดู มือวางไว้บนเข่า รู้สึกไหม สัมผัสดูซิ มืออยู่ไหน รู้สึกระลึกได้ไหม ใครเป็นคนรู้ มีคำถามคนอื่นไหม ระหว่างมือเราวางอยู่บนเข่านั้น ตะแคงมือขึ้นรู้ได้ไหม ยกมือขึ้นรู้ไหม มันสัมผัสกับความรู้สึก ให้มันรู้ รู้สึก ๆ รู้สึกอยู่เนี่ย ก็มัน อะไรที่มันเกิดขึ้นมาระหว่างที่เราสร้างสตินี่ มันจะเห็น เกิดการพบเห็น เอ้า! มันหลง เห็นหลง กลับมาหาที่ตั้ง
ปฏิบัติ คือกลับมาหาที่ตั้ง อย่าไป เป็นศอกเป็นวาก็อย่าไป หลงไปทางก็คิดถึงบ้านแล้ว ถึงที่ไหนแล้ว กลับมาไว ๆ กลับมาไวเท่าไหร่ยิ่งดี เวลานี้รู้สึกตัวอยู่นี่ กลับมาซะ อาศัยนิมิต อาศัยรูปแบบกรรมฐาน นิมิตเป็นที่ดึงเอาไว้ ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิด หัดใหม่ ๆ เหมือนเราไปเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ เอานิมิตเป็นที่ตั้ง ก.ไก่ ต้องเห็นอยู่ในกระดาน ก็เขียนตามลงไป เห็นบ่อย ๆ เห็นบ่อย ๆ ดูบ่อย ๆ เขียนบ่อย ๆ ก็เขียนเป็น แล้วก็บันทึกได้ เป็นสัญญาได้ ไม่ต้องเรียนอีกแล้ว ก.ไก่ มีอยู่ในชีวิตของเรา อ่านได้ เขียนได้ รู้ความหมาย เรารู้สึกตัว รู้สึกตัวนี่ มันก็บันทึก มันซึมเข้าไป มันมี ไม่เสียไปไหน ก็เหมือนความคิดที่มันไหล เหมือนน้ำที่มันไหล เราโยนกระสอบทรายใส่กระสอบหนึ่ง มันยังไม่เห็นกระสอบทรายพ้นน้ำ แต่กระสอบทรายไม่หนีไปไหน อยู่ในนั้นแหละ อยู่ในท้องน้ำนั่นล่ะ โยนลงไปอีก โยนลงไปหลายสอบ หลายสอบ หลายสอบ มันก็พ้นน้ำขึ้นมา กลายเป็นเขื่อนได้ จากสติ ทีละน้อย ละน้อยเนี่ย จนเป็นมหาสติ วินาทีละรู้ สองวินาทีก็ได้สองรู้ ชั่วโมงหนึ่ง สามพันหกร้อยวินาที ถ้าชั่วโมงหนึ่ง ก็ได้รู้ทุกวินาที ก็ได้ตั้งสามพันหกร้อยรู้ มหารู้เกิดขึ้นได้แน่นอน
เมื่อมีความรู้เกิดขึ้น ความหลงก็น้อยไป มันเป็นอย่างนี้ อันหนึ่งมันมีขึ้น อันหนึ่งมันหมดไป เหมือนกับแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดก็หมดไป ความมืดมีมาก แสงสว่างก็ไม่มี มันก็เป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้ เราจึงทำ ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิด เป็นการกระทำ มารู้ มารู้ มารู้เนี่ย มันจะเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง เมื่อมีสติอยู่นี้ ก็ละความชั่ว เมื่อมีสติความรู้สึกอยู่นี่ ก็ทำความดี เมื่อมีสติรู้สึกอยู่นี่ จิตก็บริสุทธิ์ เป็นไปเอง ละความชั่ว เป็นศีลขึ้นมาแล้ว ปกติแล้ว มีสติก็ทำความดี มีสติตั้งใจอยู่นี่ สมาธิ ใส่ใจที่รู้อยู่ทุกอิริยาบถ นี่แหละสมาธิ คือใส่ใจรู้อยู่ หนึ่งรู้ สองรู้ สามรู้ หรือเดินจงกรมแต่ละก้าวรู้ ๆ การใส่ใจที่จะรู้นี่เรียกว่าสมาธิ ไม่ใช่นั่งหลับตา ไม่ใช่ไปนั่งหลับตา หลับตายังไม่มีสมาธินะ หมกมุ่นครุ่นคิดไปก็มีน่ะ สมาธิคือใส่ใจเรื่องหนึ่งเรื่องใด เดินจงกรมก็มีสติอยู่กับการเดิน การใส่ใจที่รู้เสมอนี่เรียกว่าสมาธิ เวลาใดไม่ใช่ความรู้มันหลงไป เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เรียกว่าปัญญา ปัญญาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิดเหตุผล
ปัญญาพุทธะนะ เหตุผลเป็นอันหนึ่ง เหตุผลยังไม่ใช่สัจธรรม อาจจะฆ่ากันตายเพราะเหตุเพราะผลนะ แต่สัจธรรมคือปัญญานี่ มันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง นี่แหละคือปัญญา เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูกน่ะ ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นหลง เห็นทุกข์ จึงเป็นพระพุทธเจ้า เห็นทุกข์จึงปลอดภัยความทุกข์ ถ้าไม่เห็นมันก็ไม่พ้นภัย เหมือนเราเห็นงูจึงพ้นจากงู เห็นอะไรก็พ้นจากจุดอันนั้น
ตาภายใน คือ สติสัมปชัญญะเนี่ย มันรอบ ไม่ใช่ไม่เหมือนกับตาเนื้อ อย่าไปเชื่อใคร เชื่อการกระทำ ทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้ขึ้นมา นั่นแหละศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว โอ้! ไม่เคยดูแลตัวเองเลย ๓๐ ปีน้อ! ไม่เคยดูแลชีวิตของตัวเอง กายก็ปล่อยทิ้ง จิตใจก็ปล่อยทิ้ง ความไม่เห็นเนี่ย กระตือรือร้นนี่ ช่วยตัวเอง สงสารตัวเองเกิดมึงตายไปหนอเนี่ย ไม่ได้ช่วยมันเลย เลิกสูบบุหรี่ เลิกหลง เลิกโกรธ เลิกเคือง คนที่เคยโกรธก็หายไป ถ้ามีสติ คนที่เคยหลงใหลอะไรก็หายไป กลายเป็นมิตรภาพในชีวิตไปเลย ได้ชีวิตชีวาขึ้นมา
ชีวิตนี่ไม่เป็นอะไร แต่ก่อนไม่ได้ชีวิตเลย เป็นซังกะตาย มีแต่รูปแต่นาม รูปนามก็ใช้ผิด ๆ เวลามันอะไรก็มีความพอใจไม่พอใจ เกิดความรักความเกลียดชัง คน ๆ เดียว สมมติบัญญัติว่าชอบ สิ่งอันเดียวสมมติบัญญัติว่าชอบ สิ่งอันเดียวสมมติบัญญัติว่าไม่ชอบ เอาสมมติบัญญัติ พาให้เป็นใหญ่ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ ไม่มีปรมัตถ์ในหัวใจ ความหลงเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่หลงเป็นปรมัตถสัจจะ ความโกรธเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถสัจจะ ไม่เคยเห็นเลย บัดนี้กระตือรือร้น เห็นคู่มาพร้อมกัน ความหลงมาพร้อมกันกับความไม่หลง ความทุกข์มาพร้อมกันกับความไม่ทุกข์ ความโกรธมาพร้อมกันกับความไม่โกรธ ความแก่มาพร้อมกันกับความไม่แก่ ความเจ็บมาพร้อมกันกับความไม่เจ็บ อะไรอีกต่อไปล่ะ หาเอาเอง ความตายมาพร้อมกันกับความไม่ตาย ดูซิมันจะเป็นเช่นไร เป็นสัมมาทิฐิ
เริ่มต้นตั้งแต่เห็น รู้สึกระลึกได้ เห็น เห็นทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากทุกข์ นั่นไปแล้ว เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ พ้นจากความโกรธ เห็นความเจ็บไม่เป็นผู้เจ็บ พ้นจากความเจ็บ เห็นนี่มันปลอดภัย ถ้าเป็นนี่ไม่ปลอดภัย มันหลงเป็นผู้หลง เห็นมันหลง เริ่มเป็นแล้วบัดหนิ ก้าวแรก เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง ง่าย ๆ ถ้าเป็นผู้หลงนี่ ยากนะ ทุกขาปฏิปทานะ
ถ้าหลงเป็นผู้หลง เป็นทุกขาปฏิปทา ไม่บรรลุธรรมนะ ถ้าหลง ล่ะ อื้ม! ไม่น่าจะหลงอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยากให้มันหลงมันก็หลง ไปกันใหญ่แล้ว สติไม่ได้เป็นอย่างนั้น สติเห็นหลง ก็ยิ้ม ๆ อื้ม! นี่คือหลง เห็นมันหลง เลยไม่เป็นผู้หลง พ้นจากความหลง ไม่มีคำว่าผิด ไม่มีคำว่าถูก มีแต่เห็น สตินะ มีแต่เห็น มันถูกก็เห็นมันถูก มันผิดก็เห็นมันผิด มันสงบก็เห็นมันสงบ มันไม่สงบก็เห็นมันไม่สงบ นี่แหละ คือองค์มรรค ภาวะที่เห็น ภาวะที่ดูเนี่ย มันก็เหนือการเป็นทุกอย่างไปแล้ว จะอยู่เหนือโลกไปแล้ว อีกไม่นานนะ เหนือโลกไปแน่นอนเลย สุขเห็นมันสุขไม่เป็นผู้สุข นั่น! ทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันไม่มีรสชาติในความทุกข์ความสุข จะว่ายังไง จะว่าเหนือโลกหรือไม่ แล้วแต่จะเรียกนะ ก็เลยขอเรียกว่า เหนือโลก สุขก็สุขเป็นสุขอยู่กับโลก ทุกข์เป็นทุกข์อยู่กับโลก ผิดเป็นผิดอยู่กับโลก
สติ จะพาให้เราอยู่เหนือ สูงขึ้นไป มีสติ เป็นสิ่งที่พาให้สูงขึ้นไป ไม่มีค่า ไม่มีรสชาติ หลงเห็นมันหลง รู้เห็นมันรู้ สงบเห็นมันสงบ ไม่สงบเห็นมันไม่สงบ มันรู้เห็นมันรู้ ไม่รู้เห็นมันไม่รู้ มีสติอยู่เนี่ย มันจะเป็นตัวเห็นอะไรง่าย ๆ ถ้ามีสตินะ ถ้าเป็นอย่างนี้นะ สิ่งที่ยากก็ง่ายขึ้นมา เหมือนกลิ้งครกลงเขา ถ้าเป็นเหมือนกลิ้งครกขึ้นเขา
ปฏิบัติธรรมนะ มันมีความยากความง่ายนะ เห็นเนี่ยง่าย ๆ นะ ถ้าเป็นนี่ยากนะ ถ้าเป็น ผิด ไม่อยากให้ผิดมันก็ผิด ให้ผิดเป็นความไม่ถูกต้อง เป็น “อัตตกิลมถานุโยค” เคร่งขรึมเกินไป คร่ำเครียดน่ะ บางทีมันง่วง บางทีมันง่วง เปลี่ยนความง่วงเป็นความไม่ง่วง เป็นเรื่องยาก ไม่อยากให้มันง่วงมันก็ง่วง เอาความง่วงเป็นปัญหา ไม่เอาความง่วงเป็นปัญญา มันก็เลยเป็น อัตตกิลมถานุโยค ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ยาก ไม่ใช่ไปทรมานอะไรกัน เอาผิดเป็นผิด เอาถูกเป็นถูกน่ะ อัตตกิลมถานุโยค ถ้าหลงเป็นหลง ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ เป็น “กามสุขัลลิกา” อ่อนแอเกินไป ไม่รู้จักดูแลรักษาตัวเอง “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ เห็น เห็นตรงนี้เป็นตา เป็นตา เห็นไม่เป็นน่ะ ตั้งแต่ต้นไปเลย ไปง่าย ง่ายมาก เหมือนน้ำไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ลุ่มลึกเหมือนฝั่งทะเล ลุ่มลึกลงไปเรื่อย ๆ ไป เอียงไปไหลไป เห็นไม่เป็น พ้นจากภาวะที่เป็น เอียงไปสู่มรรคสู่ผล เป็นกระแสแห่งพระนิพพาน
การมีสติจริง ๆ เป็นกระแสแห่งพระนิพพาน ได้กระแสแล้ว ได้กระแสอย่างไร พอมันหลง ได้เห็นไม่หลง นั่นแหละ กระแสริบหรี่น้อย ๆ แม้จะเป็นแสงหิ่งห้อย แสงอะไรก็ตาม ริบหรี่นั่นแหละ นั่นกระแส เวลามันหลงเห็นไม่หลง เวลามันทุกข์เห็นไม่ทุกข์ เวลามันโกรธเห็นไม่โกรธ มีหวัง มีหวัง เปลี่ยนดู เปลี่ยนดู ทีละทวนสักหน่อย ทวนสักหน่อย บางทีมันมีอารมณ์มา มาเกิดกับเวลาปฏิบัตินะ กามราคะ ปฏิฆะ พยาบาท บางทีมันฉายมา ฟิล์มเก่า ๆ มันฉายออกมา มันเคยฉาย มันเคยท่องเที่ยวในชีวิตของเรา มันมาใช้ชีวิตของเรามากแล้ว มันเลย มันเลยมาโชว์ พยาบาทก็มี เกิดขึ้นมา ว่าจะมาปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เดือดร้อนขึ้นมาก็มี คิดถึงคนนั่น ทำไมทำกับเราอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนี้ บางทีมันพูดออกมา บางทีก็คิดเป็นเรื่อง เป็นปัญหาค้างคาจิตใจ
กำลังปฏิบัติอยู่ เข้าไปถาม “เป็นไงหนู”
“หนูมีลูกสองคนน่ะ หนูจะเลี้ยงลูกได้ไหมเนี่ย จะมาปฏิบัติอยู่”
(หัวเราะ) ไม่ใช่มาคิดถึงเลี้ยงลูก ให้มาเจริญสตินะ ถ้าสามีเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตไป มีลูกสองคนเป็นทุกข์ ว่าจะเลี้ยงลูกไหวไหมเนี่ย พอสามีจากไปก็ คิดหนัก มาคิดเรื่อง ๆ ลูก เวลามาปฏิบัติหอบเอาลูกสองคนมาด้วย มันค้างคาจิตใจ อารมณ์ค้าง เดี๋ยวนี้ไม่ใช่มาคิดเรื่อง เรื่องลูก มาปฏิบัติ
มาปฏิบัติ บางทีก็มีพยาบาทเกิดขึ้นบางผู้บางคน เราก็เคยมี ไม่มีใครที่ไม่เคยทำให้เราได้เจ็บปวดเป็นทุกข์ ทุกคนมีมาเหมือนกัน มีคนอื่นทำให้เจ็บปวดเป็นทุกข์ก็มี มีคนอื่นทำให้เป็นสุขก็มี เหมือนกัน เกือบจะทุกคนก็ว่าได้ บางทีก็พูดถึงสามีมีปัญหา ติดเหล้า น้ำตาซึม ทำไงสามีจึงจะมาปฏิบัติ ติดเหล้าก็พอสู้ได้ แต่ต่อมาก็มีผู้หญิงอีกคนหนึ่ง แล้วก็ลำบากใจเป็นทุกข์ นี่ก็มีเหมือนกันนะ คนอื่นทำให้เป็นทุกข์ก็มีนะ ให้คนอื่นเขาเอาศรมาเสียบจิตใจของตน เป็นทุกข์คนอื่นทำไม เรื่องเขาทำไม่ดีเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก เราทำดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องของคนละคนกัน แม้คนอื่นเขาทำ ที่ทำเช่นนั้น มันก็เป็นอนิจจัง มันห้ามไม่ได้ แต่เราต้องรู้ ว่าคนประเภทนี้ว่าคนอนิจจัง พึ่งไม่ได้ เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนคนอย่างนั้น เลยวางใจ มามีสติซะ ไม่ต้องไปหาคำตอบจากความคิดเหตุผลไปแก้ ทำยังไง ทำยังไง มาเข้ากรรมฐานฝึกหัดไป ให้รู้สึกตัวไป อย่างนี้นะหนูนะ อย่าไปคิดเรื่องนั้น เราทำนี่ไป รู้สึกตัวไปก่อน รู้สึกตัวไปก่อน บางทีไม่ได้แก้ ไม่ได้แก้เอง มันหมดไปเอง เคยทุกข์เรื่องคนอื่น เคยมีปัญหาเรื่องคนอื่น มันจะแก้ไปเอง เห็นความเท็จความจริง เป็นเช่นนั้น ห้ามไม่ได้ เขาจะด่า เขาจะว่าเรา ห้ามไม่ได้ แต่เราห้ามเราได้ มันคนละอันกัน คนอื่นพาให้เราล้มเหลว เราไม่ล้มเหลว การงานทำให้เราล้มเหลว เราไม่ล้มเหลว
เคยพูดอย่างนี้สมัยหนึ่ง เคยดูแลรักษาป่าไม้อย่างจริงจัง ดูแลรักษาป่าอย่างจริงจัง พัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง สมัยบ้าน สมัยแผ่นดินทองแผ่นดินธรรม ไม่ให้มีเหล้ามีบุหรี่ ล้มเหลวหมด ตั้งสหกรณ์หมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว ล้มเหลวหมด งานการล้มเหลว รักษาป่า ป่าก็หมด รักษาสัตว์ สัตว์ก็หมด สอนไม่ให้คนกินเหล้า คนยังกินเหล้า สอนให้คนร่วมกันสามัคคีสร้างชุมชม ก็ล้มเหลว มีปัญหาเรื่องกรรมการ เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนฝากไว้คนอื่น งานล้มเหลว แต่สิ่งที่ไม่ล้มเหลว คือชีวิตเรา ไม่ใช่ความผิดของเรา ป่ามันหมดไม่ใช่ความผิดของเรา สัตว์สาราสิ่งหมด ไม่ใช่ความผิดของเรา คนติดเหล้าติดบุหรี่ ไม่ใช่ความผิดของเรา เราบอกแล้ว เราทำแล้ว ทำสุดฝีมือแล้ว เราก็วางใจ ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เวลามันเกิดโลกร้อนขึ้นมา ไม่ใช่ความผิดของเรา อะไรที่มันเดือดร้อนขึ้นมา ไม่ใช่ความผิดของเรา ป่าไม้ร้องไห้ แผ่นดินเป็นอัมพาต อากาศเป็นพิษ แม่น้ำล้มป่วย ไม่ใช่ความผิดของเรา เราสุดความสามารถแล้ว ก็เลยวาง นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราไม่ประมาท
เราอยู่ด้วยกันนี้ บอกแล้วนะ แม่ชีน้อย ความหลงไม่จริงนะ ความไม่หลงจริงกว่านะ ความโกรธไม่จริงนะ ความไม่โกรธจริงนะ อย่าทำตามความไม่จริงเด้อ ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง ได้ยินไหม เอาไปปฏิบัติ ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ ถือว่าไม่ใช่ความผิดของเรานะ ไม่ใช่ความผิดของที่นี่นะ ที่นี่สอนอย่างนี้นะ ถ้าไม่เปลี่ยนอย่างนี้ ไม่ใช่มาอยู่ที่นี่นะ ยังสูบบุหรี่อยู่ ก็ไม่ใช่มาอยู่ที่นี่นะ ยังหลงอยู่ ก็ไม่ใช่มา มาเอาที่นี่นะ ที่นี่เขาไม่หลงนะ ที่นี่เขาไม่ทุกข์นะ ที่นี่เขาไม่โกรธนะ ว่าอย่างนี้ได้ไหม เอ้า! ความหลงครั้งสุดท้ายนะ ความโกรธเป็นครั้งสุดท้ายนะ ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้ายได้ ไม่ใช่จะหลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย ถ้ายังโกรธ ยังหลง ยังทุกข์อยู่ ล้าสมัยแล้ว เราเป็นผู้นำน่ะ พระธรรมนำชีวิต จริยธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นการพัฒนาสังคม พวกท่านทั้งหลายเป็นผู้นำชุมชน รับผิดชอบประเทศชาติก็ว่าได้ ให้เริ่มต้นนับหนึ่งจากเรานี่แหละ
หนึ่งแหละเราเนี่ย นับหนึ่งก่อน ถ้านับหนึ่งจากเรานี่ ก็มีสอง มีสามไป หนึ่งตรงไหน มีสติ เรานั่งอยู่นี่เท่าไหร่ เกือบจะสองร้อยกว่าชีวิต ใช่ไหม มองไปทางโน้นซิแม่ชี (หัวเราะ) ถ้าเรามีสติ เป็นคน ๆ เดียวกันทันที ลองดูซิ ทำให้เรานั่งอยู่นี่เป็นคน ๆ เดียวกัน มีสติกำลังรู้สึกตัวอยู่นี่ ทุกคนมีสติ ยกมือขึ้น ยกมือไป เอามือมา มีสตินี่ ทำให้เราเป็นคน ๆ เดียวกัน ทันทีเลย อัศจรรย์นะ เป็นเรื่องอัศจรรย์ ให้ปฏิบัติ ให้ผลได้ ตามความสมควร รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ เป็นปัจจัตตังของคนนั่นเอง ทำได้อย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ ดีขึ้นกว่าเก่า
การดีขึ้นกว่าเก่า เรียกว่าวิปัสสนา ล่วงพ้นภาวะเก่า ๆ ล่วงพ้นภาวะเก่า ๆ จริง ๆ เคยหลงไม่หลง เป็นสิ่งที่ตอบได้ในชีวิตจริง ๆ เคยทุกข์ไม่ทุกข์ เคยโกรธไม่โกรธ มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกระลึกได้อยู่กับโลก แม้โลกเขาจะนินทาสรรเสริญ เราก็ไม่หวั่นไหว เรารู้แล้ว เรารู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว ไม่เป็นไปกับสิ่งที่โลก เราไม่ได้ตรงนี้ ในโลก ไม่มีที่ให้ตั้ง ไม่มีที่ให้วาง ไม่ให้ค่า กับรสของโลก เพราะเราไม่เป็นอะไร ไม่มีสิ่งไหนที่บัญญัติให้เราเป็นอะไรได้ เราไม่เป็นอะไรอยู่แล้ว อย่างนี้นะ ดังนั้น พิสูจน์กันดู อย่าไปเชื่อใคร ปฏิบัติดูเป็นเช่นใด เวลารู้สึกตัวเป็นเช่นใด ต่างกันกับความหลงไหม เวลามันหลงเปลี่ยนเป็นความรู้ ทำ ไปทำบ้างไหม ถ้าไม่เคยก็ลองทดลองดู จะได้คำตอบ จะเห็นช่องทาง จะล่วงพ้นภาวะเก่า เรียกว่าวิปัสสนา เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรานี่
เมื่อได้วิปัสสนาเกิดขึ้น ก็ได้เห็นกระแสพระนิพพาน ไม่จน ไม่จน อาจจะก่อนตายหนึ่ง ห้าวินาที อาจจะทำได้ เพราะเห็นกระแสบ้างแล้ว ไม่มืดแปดด้าน เคยทำอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้ ตกบันไดพลอยกระโจน พ่วงเอาได้ ถ้าเราไม่เคยฝึกหัด มืดนะ เห็นไม่เป็น อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายเรามีแน่นอน เกิดแก่เจ็บตาย ในความไม่เที่ยง ในความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน แต่ก่อนเราเป็นทุกข์ความไม่เที่ยง เราเป็นทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์พาให้เราเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์พาให้เราไม่เป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงเคยเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงพาให้เราไม่เป็นทุกข์ มันเปลี่ยนอย่างนี้ มันเปลี่ยนอย่างนี้ ไม่ใช่ยอมรับ ไม่ใช่ยอมรับ มันมีทางออก เหมือนพระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในพระสูตร เห็นความไม่เที่ยง เป็นพระนิพพานได้ เป็นเช่นนั้นเอง เห็นความเป็นทุกข์เป็นพระนิพพาน เห็นความไม่ใช่ตัวใช่ตนเป็นพระนิพพาน เปลี่ยนร้ายเป็นดีอย่างนี้ เอาสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นพระพุทธเจ้า เห็นทุกข์เป็นการเห็นอันประเสริฐ ถ้าไม่เห็นทุกข์ไม่พ้นทุกข์ ทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้นะ แต่ปุถุชนเอาทุกข์มาเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าเอาทุกข์มาเป็นปัญญา ปัญหาเป็นปัญญา อย่างเนี้ย