แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นี่เป็นเรื่องที่จะพูดสู่กันฟัง 84,000 อย่าง ที่อยู่ในกายในใจเรานี้ ที่มีโทษและมีประโยชน์ ที่ถูกและผิด ถ้าเราไม่ศึกษาเราไม่รู้ ไม่มีใครบอกเรา เราไม่เคยทำให้แจ้ง มันก็มีปัญหา แต่ถ้าเราได้ศึกษา ได้ประกอบ ได้ดูได้เห็น สิ่งที่เป็นปัญหา ก็หมดปัญหาไป เป็นปัญญาไป สิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษรู้แจ้ง ก็เกิดประโยชน์ ปลอดภัยจากการใช้ชีวิตของเราไปได้ มีสิ่งที่ผิดที่ถูก สิ่งที่สุขที่ทุกข์ กับการใช้ชีวิตของตนเกี่ยวกับภายในภายนอก ภายในคือร่างกายจิตใจเรา มีตา มีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอกคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ต่าง ๆ เราก็อยู่กับโลกแบบนี้ มีรสชาติตามสมมุติบัญญัติของโลก ต้องปฏิบัติธรรม คือ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสุขผ่านทุกข์ ไม่เป็น อย่าไปจน ต้องผ่านให้ได้ หลบหลีกให้ถูก เหมือนกับเราหลบภัยอันตรายทั้งหลาย ถ้าไม่รู้จักหลบหลีกมันก็เป็นอันตราย “หลีกช้างสิบวา หลีกคนบ้าร้อยเส้น” โบราณท่านสอน “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” แล้วก็สอนตน การหลบการหลีกนี้ไม่มีใครช่วยเราได้เท่ากับตัวเราเอง เราก็ใช้ให้เป็น การใช้กาย ใช้ใจ การใช้สมมุติ ใช้บัญญัติ ใช้วัตถุต่าง ๆ ใช้ให้เป็น วัตถุที่มีค่า ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ วัตถุที่เป็นโทษ ก็ไม่ต้องใช้ให้เกิดโทษ หลบหลีก เช่น เรามีเงิน ใช้ไม่เป็น ก็มีโทษ มีเงินไปซื้อเหล้ากิน ไปซื้อบุหรี่สูบ เกิดโทษเกิดภัยแก่เราเอง มีเงินไปซื้อข้าวปลาอาหารมากิน ก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเราและคนอื่นได้เหมือนกัน เงิน ทอง ธนบัตร เป็นสมมุติบัญญัติ ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย ถ้าใช้ผิด ก็เป็นโทษ เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ อะไรก็ตาม ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นโทษ ใช้กายไม่เป็นก็เกิดโทษ ใช้ใจไม่เป็นก็เกิดโทษ
ปฏิบัติธรรม คือ มาหัดใช้กายใจของเรา ให้เกิดประโยชน์ ความหลงแท้ ๆ มาเป็นประโยชน์ ความทุกข์แท้ ๆ มาเป็นประโยชน์ อะไรที่เป็นปัญหา เอามาเป็นปัญญา ถ้าใช้ไม่เป็น ก็เถรตรง เถรตรง ทุกข์ก็เป็นทุกข์เรื่อยไป รับบาป โง่ ไม่รู้จัก โกรธก็เป็นโกรธเรื่อยไป เอามาเป็นทุกข์ ใช้ไม่เป็น เอาความทุกข์ มาเป็นมรรคผลนิพพานได้ เอาความทุกข์มาเป็นทุกข์ได้ หัดใช้ นินทาสรรเสริญมี การได้การเสียมี สุขทุกข์มี ผิดถูกมี เห็นต่อหน้าต่อตาเราอยู่ เราก็ใช้ให้เป็น มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้อยู่ด้วยกันนั้น ถ้าไม่มีโอกาสหลงก็ไม่มีโอกาสรู้ ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่มีโอกาสรู้ เอามาเป็นประโยชน์แบบนี้ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นด้วยประการเช่นนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็เรื่องนี้ ถ้าเราใช้ไม่เป็นก็พลาดไป ความหลงก็ฟรีไป หลงจนตาย ความทุกข์ก็ฟรีไป ทุกข์จนตาย ความโกรธก็โกรธไป โกรธจนตาย ยิ่งพอกพูนขึ้น เป็นนิสัยเป็นจริต เกิดนิด ๆ หน่อย ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม้ขีดก้านเดียว เกิดเป็นไฟลุกไหม้ทั้งเมืองได้ อารมณ์ของเรานี้ ร้ายกว่าเสือ ทำลายชีวิตของผู้คนมามาก เสือว่ามันร้ายไม่เห็นกัดใคร แต่มีไม่มาก เมื่อไม่นานมานี้ พระก็อยู่ในป่า ธุดงค์ในป่า มีเสือชุม มีหมีมาก มีหมีมีเสือ เอาพระไปในป่าต้องตามหา ใช้เฮลิคอปเตอร์ ตามหา หมดกันเป็นล้าน ๆ ปัญหาที่พระเข้าไปอยู่ในป่า กว่าจะหาพบ มันเดินไม่ได้ เสือเอาไป หมีเอาไป นี่ก็เรียกว่ามีมากนิดหน่อย แต่ว่าอารมณ์ของคนนี้ มีแทบทุกวัน มีอยู่กับทุกคน หนีไม่พ้น เราไม่ได้เข้าป่าก็ไม่ถูกเสือกัด
อารมณ์ของเรานี้มันไม่ได้อยู่ที่ไหนที่ป่า มันอยู่ที่เรา อยู่ที่ใจเรา คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ บางทีก็หลบไม่เป็น หลีกไม่เป็น ยอมรับ เป็นทาสของความหลงความโกรธความทุกข์ไป แม้แต่ความคิดก็ทุกข์แล้ว นอนไม่หลับแล้ว กินไม่ได้แล้ว ไม่ได้อยู่ในป่าในดงที่ใดอยู่กับใจของเรา อารมณ์มันเป็นคู่ของจิตแต่ไม่ใช่จิต เราก็นึกว่าเราซะ ไปยึดเอา เพราะไม่รู้ ไม่ได้ศึกษา แต่เรามาศึกษามาดูให้เห็นมันเนี่ย ก่อนที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต้องมีตา เหมือนเรามีตา ถ้าจะเห็นอะไรต้องลืมตาดู วิญญาณทางตา ตาไม่บอด คนเราก็เหมือนกัน มีสภาพที่รู้ ตาภายในของเรา เราจึงมาลืมตา การลืมตา คือนี่แหละ มีสติสัมปชัญญะเนี่ย ดูรอบ ๆ ให้มันเกิดขึ้นจากภาวะที่เห็น เห็นกาย เป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจุบัน ไม่ฟรี ยกมือขึ้นก็รู้ เห็น อะไรที่เกิด เวลาที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ก็รู้เท่ารู้ทัน เพราะเรามีตาอยู่แล้ว เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ให้ใช้หลักนี้ไป อย่าหลบหลีก มันหลงเป็น มันทุกข์เป็น มันสุขเป็น ไม่ใช่หลบหลีกหนีไปอยู่ที่ใด นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์มี ในกายในใจเรานี้ อย่าหลบหลีก เปลี่ยนเป็นนั่นแหละ
เหตุเกิดที่ใดแก้ตรงนั้น ความหลงอยู่ที่ใจแก้ความหลง ความหลงอยู่ที่ตาแก้ความหลง ให้มีความรู้สึกตัวแก้ได้ทั้งหมด พระพุทธเจ้าสมัยประกาศพุทธศาสนาใหม่ ๆ มีแต่คนด่า ไม่มีใครยกมือไหว้เลย มีแต่ด่า แล้วก็ปรามาส ไม่ค่อยเชื่อ ไม่ค่อยศรัทธา จนพระอานนท์เป็นผู้ติดตาม เป็นปุถุชนจะเดือดร้อน ชวนพระพุทธเจ้า “กลับบ้านเราเถิด กลับบ้านเราเถอะ อยู่ไหนมีแต่คนด่า”
“เราจะไปไหนล่ะอานนท์”
“ไปโน่น กรุงกบิลพัสดุ์ บ้านพ่อเราโน่น”
“ถ้าไปบ้านพ่อเรามีคนด่าจะไปไหนอีก เหตุเกิดที่ใดต้องแก้ที่นั่น ที่ไหนคนไม่นินทาสรรเสริญไม่มี มีอยู่ทุกแห่ง แม้แต่ในตัวเราก็มี สุข ๆ ทุกข์ ๆ ก็ต้องแก้เหตุ”
“เย ธัมมา เหตุปัปพวา” เปลี่ยนที่เหตุ มันหลงเปลี่ยนเป็นรู้เนี่ย ทำได้ ไม่ใช่ไม่มีใครทำไม่ได้ ถ้าใส่ใจสักหน่อย เพียรสักหน่อย เพียรประกอบ
เวลาเราปรารภความเพียร ให้พอใจ มีสติ ขยัน อย่าเห็นแก่นอน อย่าเห็นแก่เล่น อย่าปล่อยให้ใจเลื่อนลอย ให้มีขอบเขต หัดให้มีขอบเขต ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด ไม่ควรพูดอย่าไปพูด ไม่ควรทำอย่าไปทำ ฝึกตนสอนตนอย่างเนี่ย ปฏิบัติธรรม มันจะค่อยดีค่อยเห็นแจ้งขึ้นมา หลงที่ใดรู้ที่นั่น เอ้า! เอาไปเอามามันชำนาญในความรู้ แต่ก่อนน่ะสู้ความหลงไม่ได้ ความหลงพาไป
หนานถังพี่น้องชาวจีนพอนัดสี่โมงเย็น สอนธรรมะทุกวัน “ใครมีอะไร มีปัญหาอะไร ไหน” ก็พากันเงียบอยู่ “ถ้ามีอะไร มันหลงไหม ง่วงนอนไหม”
แล้วก็ว่า “มี”
“ถ้าง่วงนอนทำไง ไปเมืองจีนกี่เที่ยวแล้ว กลับบ้านกี่เที่ยวแล้ว หลงไหม”
ก็บอกว่า “หลง”
“เอาความโกรธมาด้วยไหม เอาความรักมาด้วยไหม เอาคนที่รักมาด้วยไหม เอาคนที่โกรธมาด้วยไหม”
ก็ว่า “มีเหมือนกัน”
แต่เวลามันหลงตรงไหนก็เปลี่ยนเป็นรู้ตรงนั้น จึงจะเรียกว่า “ปฏิบัติ” ถ้าเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกไม่เป็น เรียกว่า “ไม่ใช่นักปฏิบัติ” ปฏิเสธไม่ได้ คนเรา บางทีเราสอนคนล่ะ ให้เป็นนักปฏิบัติเขาบอกว่าเขาไม่ใช่เป็นนักปฏิบัติ เราก็หมดปัญญา เขาปฏิเสธ สุขก็คือเขาสุข ทุกข์ก็คือเขาทุกข์ มันหนา เรียกว่า “ปุถุ” “ปุถุชน” ถ้ากัลยาณปุถุชน พอฟังกันได้ น้อมใจฟังดูสักหน่อย อาจจะถูกต้อง อาจจะไม่ถูกต้อง ก็ประกอบลองดู เนี่ย! จากเป็นปุถุชน ปุถุ มันหนา มีหูก็ฟัง มีตาก็ดู มีหูฟัง มีใจก็สัมผัสอารมณ์ลองดู แล้วก็อารมณ์ร้าย อารมณ์ดี ให้เห็นแจ้ง อย่าหลงความสุข อย่าหลงความทุกข์ ใจสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ให้เห็น เนี่ยปฏิบัติธรรม
เห็น มาดู พระพุทธเจ้าพูดแต่เรื่องเห็นอย่างเนี่ย ไม่ใช่เรื่องอะไร เห็นธรรม เห็นความหลงเห็นความรู้ ใช้ได้ ถ้าเป็นผู้หลงเป็นผู้รู้ใช้ไม่ได้ เห็นมันสุขเห็นมันทุกข์ใช้ได้ ถ้าเป็นผู้สุขเป็นผู้ทุกข์ใช้ไม่ได้ เถรตรง สุขที่ใดก็สุขตรงนั้น ทุกข์ที่ใดก็ทุกข์ที่นั่น นั่นไม่ใช่เห็นธรรม ไม่ได้ประโยชน์จากความสุขความทุกข์ มันผิดก็รู้เห็นมันผิด มีกันทุกคน อยู่ดี ๆ แกว่งเท้าหาเสี้ยน หาเหาใส่หัว หาเรื่อง กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลว ใช้ไม่ได้ อยู่แบบมีเจ้าของ อย่าเถื่อน กายเถื่อนใจเถื่อน ให้เขาหอบหิ้วไป กลางคืนว่าฝันกลางวันว่าคิด เวลานอนก็ไม่ได้นอน มัวแต่ฝัน สิ้นเปลืองพลังงาน เนี่ยแล้วจะทำไง จะปฏิเสธได้ยังไง ถ้าไม่สอนตัวเอง ถ้าไม่ฝึกหัดตัวเอง แล้วก็เป็นโทษต่อตัวเอง
ถ้าฝึกหัดตัวเองได้ก็เป็นประโยชน์ จากคนเป็นมนุษย์ จากมนุษย์เป็นเทวธรรม เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นพระ สูงสุด ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ต่ำลงไป เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน เป็นภูมิที่ไม่เจริญ มีในโลกนี้เหมือนกัน คนชั่วก็ได้รับผลความชั่วติดคุกติดตาราง ประหารชีวิต จนไม่มีแผ่นดินอยู่ก็มี อย่างอดีตรัฐบาลไทย ต้องหนีไปอยู่ประเทศอื่น มีทรัพย์สมบัติมหาศาล แต่ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษได้ มีไม่เป็น แต่ว่ามันก็มีอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับเราทุกอย่าง มีตัวบทกฎหมาย มีความถูกความผิด ถ้าไม่มีความถูกความผิดเราก็อยู่กันลำบาก มีศีล มีวินัย
แม้แต่สัตว์ก็มีระเบียบมีวินัย มีหัวหน้า เคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควายฝูงใหญ่ หลายตัว มันก็มีหัวหน้า เรียกว่า “จ่าฝูง” เวลาเราไล่มันลงห้วยข้ามห้วย มันก็ดู ดูท่าที่มันข้าม ที่มันลง มันก็มองไปดูท่าที่มันขึ้น ถ้าน้ำไหลเชี่ยว เราจะทำไง มันก็ดู แล้วมันมองทางลงไม่ปลอดภัย ตัวมันอาจจะลงได้ แต่ลูกน้อยหลานเล็กมันก็มี มันก็มองถึง หมู่ฝูงของมัน มันไม่ยอมลง จะไล่ยังไงก็ไม่ลง มันวิ่งผ่านมาถึงค่อนถึงไม้เรียวเรา ตีมันก็ยังหนีไป เราไม่รู้มัน แต่มันรู้ แล้วมันพอจะลงได้ มันพอจะขึ้นได้ลูกน้อยของมัน มันก็ข้ามไปได้ บางทีจะไปออกจากคอก ถ้าหัวหน้าไม่ออก จ่าฝูงไม่พาออก ลูกน้อยมันก็ไม่ออก ถ้าจะเอาเข้าคอกจ่าฝูงไม่เดินหน้า มันก็ไม่เข้า มันมีหัวหน้าเหมือนกัน เวลามันไปล้ำเขตคนอื่น จ่าฝูงอีกตัวหนึ่งคือ ควายถึก ต้องป้องไว้ไม่ให้ข้ามไปเขตเขา ถ้าไปเขตเขา ถือว่าผิดระเบียบของสัตว์ป่า เขาก็มีระเบียบเหมือนกัน
แต่ก่อนนี้หลวงตาอยู่กับศาลาไก่ ศาลาไก่มีไก่ป่า เยอะแยะ มันก็มีอยู่สองฝูง ฝูงหนึ่งทางทิศใต้ ฝูงหนึ่งทางทิศเหนือศาลา เวลาเราเอาข้าวให้มันกิน มันก็ เวลาหว่านไปทางทิศเหนือ ทางทิศใต้ก็ไม่กล้าไป กล้าไปแล้ว ฝูงจ่าทางทิศเหนือก็ไล่กลับมา ตัวเล็กก็ไล่กับตัวใหญ่ได้ เขายอม ผิดพลาด ถ้าผม ถ้าหว่านไปทางทิศใต้ ทางทิศเหนือก็ไปกินไม่ได้ ถ้าไปก็เขาก็ไล่กลับมา ต้องยอมเขา ตัวเล็ก ๆ ก็ยอม ตัวใหญ่ก็ยอมตัวเล็กได้ จะทำไงถึงจะให้กินด้วยกัน ให้มันสมานสามัคคีกัน ฮ้า! ก็หว่านไปทางด้านทิศตะวันออก (หัวเราะ) พอหว่านไปด้านทิศตะวันออก มันก็รู้นะ มันก็ไปกิน กินด้วยกัน ฮา! นี่ บางทีเขามีระเบียบไก่ป่าให้ขันได้ตัวเดียว ในป่าแต่ละจ่า ขันได้ตัวเดียว ถ้าตัวไหนขันขึ้นมา ถ้าตัวจ่าฝูงก็จะต้องวิ่งตามเสียงไป มันใครมาดังอยู่นี่ พอเห็นแล้วก็ไล่ตีกันเลย (หัวเราะ) ไล่ตีกันเลย บางทีฆ่ากันตายนะไก่เนี่ย ไก่ป่าน่ะฆ่ากันตายเลย ไล่กันทั้งวันนะ นั่นเขามีระเบียบ ขันได้ตัวเดียว ที่เป็นจ่าฝูง ตัวอื่นห้ามขัน จึงมีพรานป่า ไปต่อไก่ ถ้าเห็นไก่ตัวไหนขัน เก่ง ๆ ถี่ ๆ อยู่ แสดงว่ามันกำลังขึ้น มีอำนาจ เก่งกล้า สามารถขันตลอดเวลา ต้องเอาไก่ต่อไป ไก่ต่อก็ต้องขันเหมือนกัน เอาไปดักไว้ในที่เขตไก่ป่าที่มันมีจ่าฝูงที่มันขันอยู่ พอไก่ต่อไปผูกไว้ เขาก็ดักแฮ้วเอาไว้รอบ ๆ ใช่ไหม เวลาไก่ต่อมันขันขึ้นมา ไก่ป่าที่เป็นเจ้าของอยู่ ใครมาดังที่นี่วะ ดีมาจากไหน เหมือนแจ้งนักเลงในเขตต่าง ๆ ก็วิ่งไปหา เขาวิ่งไปไก่ต่อก็ขันท้าอยู่ ไก่ป่าก็โกรธอย่างหนักวิ่งเข้าไปใส่ จะไล่ให้หนีออกจากที่นี่ แต่วิ่งเข้าไปไม่ระมัดระวังไปติดบ่วงเข้า ถูกบ่วงเขา เขาพาลเอาไปฆ่ากินตาย (หัวเราะ) นี่ก็เหมือนกัน นั่นก็มันจึงมี ต่อไก่ ต่อนก ต่อช้างขึ้นมา เพราะมันเป็นเขตของใครของมัน
เหมือนเรามีบ้านเรือน คนไปล้ำที่ของเรา เราก็ไล่ออกได้ สิทธินี้เรียกว่า มันก็มีขอบเขตแบบนี้ ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่ามนุษย์ แต่บางทีก็มนุษย์นี่เถื่อนกว่าสัตว์ ลุอำนาจ ไม่เคารพสิทธิของคนอื่นก็มี ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันทั้งประเทศ มีเงินมีทอง มีอำนาจอะไรจะไปใช้ทั้งหมดก็ไม่ได้ ต้องเป็นธรรม มีความธรรมให้เกิดขึ้น ในตัวเราก็มีความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรม หาความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเราให้ได้ และเมื่อเรามีความเป็นธรรม คนอื่นก็เกิดความเป็นธรรมได้ ถ้าเราไม่มีความเป็นธรรม คนอื่นก็เป็นโทษได้
เช่นมันหลงนี่ไม่เป็นธรรม กับตัวเรา ความรู้เป็นธรรมกว่า ความทุกข์ไม่เป็นธรรมต่อเรา ความไม่ทุกข์เป็นธรรมกว่า ความโกรธไม่เป็นธรรมต่อเรา ความไม่โกรธเป็นธรรมกว่า นี่หาอย่างนี้ สร้างธรรมะอย่างนี้ เกิดขึ้นกับเรา ทุกคนต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ถ้าจะให้ถูกกฎหมายบังคับ มันก็ไม่จบไม่สิ้น ยังมีคนตะครุบปล้นคุกกันอยู่ คนมีเงินมีทองก็จะต้องตัดสินจำคุก นี่มันเป็นความเป็นธรรม มีอยู่ในหมู่มนุษย์เรา ถ้าบางคนก็สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น หาเรื่อง
จะเล่านิทานให้ฟัง ฟังไหม เราเคยได้ยินกันมามากพอสมควร นิทานเรื่องนี้มันมีมานานแล้ว เช่น สุรา สรรพมิตร มาจากใคร เคยได้ยินไหม นายพรานสุระ เขาชื่อสุระ ก็เป็นพรานล่าสัตว์ หายิงสัตว์ป่า แต่ไปทุกครั้งทุกคราว สัตว์ป่าก็เงียบ หายาก กว่าจะล่าได้สักตัวหนึ่ง บางทีก็ไม่ได้เลย แต่วันนั้นเข้าไป เสียงนกร้อง เจี๊ยวจ๊าว เจี๊ยวจ๊าว พรานป่าเข้าไปจะไปยิงนก นกก็ร้อง เป็นฝูงเป็นหมู่ หยอกล้อกันตีกัน ทุกครั้งที่พรานเข้าไป นกจะต้องวิ่งหนี แต่วันนั้นนกก็ไม่วิ่ง บินไปไหนยังหยอกล้อกัน ร้องทำเพลงกันอยู่เป็นฝูง เป็นฝูง กระรอกกระแตก็ยังมี ลิงค่างก็มี อยู่ในต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น นายพรานสุระก็ยิงเอา นก เหยี่ยว กระรอก มาปิ้ง นั่งกินอยู่ แล้วก็ นกก็ยังไม่หนีไปไหน ก็เลย กินปิ้งนกแล้ว เอ้! นกมันอะไร มันทำไมไม่หนี ผิดปกติ สังเกตไปสังเกตมา ก็มีน้ำอยู่ในข้างคบต้นไม้ น้ำมันขังอยู่ เห็นนกไปกิน ลิงค่างไปกิน นอนเรี่ยราดอยู่ อาจจะเป็นเพราะน้ำนี่ละมั้ง ทำให้มันสนุกสนานแบบนี้ นายพรานสุระก็ขึ้นไป ไปเอาน้ำ เอากระบอกไปตักน้ำกินลองดู พอกินแล้วมันก็เมาใช่ไหม เพราะน้ำนั้น พวกนก พวกอะไร คาบพริกไทย ดีปลี อะไรมา กินมา ขับมาถ่ายใส่ มันก็ถูกหมักถูกแช่ก็เป็นสุรา ยังไม่ได้ดอง ถ้าดองเรียกว่าเมรัย ถ้ายังไม่ดองหรือกลั่นเรียกว่าสุรา สุราเมระยะ มัชชะ เคยได้ยินไหม ถ้ายังไม่กลั่นมันก็เป็นสุรา ถ้ากลั่นแล้วเป็นเมรัย นายพรานสุระก็ไปเอามากิน กินแล้วก็เมา ถือปิ้งนกพ้วนอยู่คนเดียว สนุกสนานดี (หัวเราะ) เคยเห็นคนเมาเหล้าไหม ก็นายพรานสุระก็เมาแบบนั้น ไม่รู้จักอาย ฟ้อนอยู่คนเดียวในป่าหรือดง เอ๊ะ! มันสนุกปานนี้นะ น่าจะเอาไปให้ใครหนอกินเป็นเพื่อนกันนะ เลยคิดได้เลยกินสุราเมาเต็มที่ กินน้ำหมักในคาคบต้นไม้ กินแล้วมันเมา คิดถึงพระเจ้าสรรพมิตร ที่เป็นพระราชา เอ้อ! น่าจะเอาไปฝากพระราชาบ้าง มันสนุกสนานปานนี้ นายพรานสุระก็ตักเอาไปใส่กระบอก จะไปถวายพระเจ้าสรรพมิตรให้ดื่มน้ำด้วยกัน พระเจ้าสรรพมิตรก็ พรานสุระก็ประกาศน้ำอย่างนั้นอย่างนี้ พระเจ้าสรรพมิตรก็เลยคิดอยากลองดู พรานสุระกล่าวถึงสรรพคุณ ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ เห็นว่าควรจะเป็นพระราชาเสวยก่อน เพราะมันดีจึงคิดถึงพระองค์ นำมาฝาก พระเจ้าสรรพมิตรกำลังจะดื่ม ก็บังเกิดเทพธิดาหวั่นไหว ผู้มีความถูกต้อง เห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ถือขวดกระบอกน้ำเหมือนนายพราน เอาไปถวาย ถือขึ้นประกาศ น้ำนี้วิเศษจริงเว้ย ใครดื่มเข้าไป เห็นการร้องรำทำเพลงแก้ผ้า ไม่รู้จักอาย น้ำนี้วิเศษจริงเอ้ย ใครดื่มเข้าไป เมาแล้ว ปู่กับลูกสะใภ้กอดเกี้ยวพาราสีกันได้ไม่รู้จักอาย น้ำนี้วิเศษจริงเอ้ย ลูกเขยกับแม่ยาย ถ้าดื่มเข้าไป สามารถสมสู่ กอดเกี้ยวพาราสีกันได้ไม่รู้จักอาย น้ำนี้วิเศษจริงเอ้ย ถ้าดื่มได้เมาลงไปแล้ว ไฟไหม้บ้านก็ไม่รู้จักรักษา นอนอยู่สนุกสนาน น้ำนี้วิเศษจริงเอ้ย เห็นการฆ่ากันตีกัน หนักเข้า ฆ่าเขาตีกันไม่รู้จักอาย แม้แต่พระสงฆ์เจ้าก็ฆ่าได้ พระราชาได้ฟังแล้ว โอ้! มันคุณของสุรามันขนาดนี้หรือ ไปบอกให้ไพร่ฟ้าประชาชนเอาน้ำไปฝังให้ลึกชั่ว เจ็ดชั่วคน มันวิเศษขนาดนี้ มันอันตราย จึงเอาไปฝังไว้ พระเจ้าสรรพมิตรฝังไปแล้ว ไม่ได้ดื่มแล้ว แต่เราทุกวันนี้ก็ยังมาดื่มกันอยู่ ใช่ไหม สรรพมิตรคือใคร ? พระเจ้าสรรพมิตรคือ กรมสรรพสามิตผู้เก็บภาษี ขึ้นภาษี (หัวเราะ) บังคับการขายเหล้าขายสิ่งเสพติด ไม่ได้ ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลวงตาเคยแก้ปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน นานมาแล้ว แต่ก่อนขึ้นรถไป เดินทางไกล เวลารถจอด กินข้าวกลางทาง จะมีร้องเพลงเหล้าจ๋า เหล้าจ๋า เมียตายไม่เสียดายเท่าเหล้าหก ก็เอาเข้ารถเลย (หัวเราะ) ไม่กล้าลงรถเลย (หัวเราะ) ก็เรียกร้องไปยังพวกผู้ใหญ่ว่าเพลงนี้ทำไมมาเปิดสาธารณะขนาดนี้ ไม่สมควร เหมือนเหล้ากับศาสนา เราสอนไม่ให้คนกินเหล้า มีศีลสมาธิปัญญา แล้วก็ยังกินกันอยู่ ป่านนี้ก็ยังเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นจึงมีแบบนี้ ไม่ได้แล้ว เราต้องมารับผิดชอบตัวเอง
ปฏิบัติธรรมเนี่ย มันจะรื้อความชั่วออก ให้มันมีนินทา ไม่ต้องกลัว ให้มีสรรเสริญไม่ต้องกลัว สุขทุกข์ไม่ต้องกลัว ลุยมันเลย เข้มแข็งในความอ่อนแอ อย่ายอมแพ้ อย่าให้อารมณ์หอบหิ้วไป ปฏิบัติธรรมต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ มันโกรธผ่านความโกรธได้ ทุกครั้ง มันทุกข์ผ่านความทุกข์ได้ทุกครั้ง มันหลงผ่านความหลงได้ทุกครั้ง มันจะแก่กล้าขึ้นมา ง่าย ๆ ยิ้ม ๆ ถ้าเราไม่ผ่านตรงนี้ ไปไม่รอด เสียชาติ หลงจนตาย ทุกข์จนตาย ไม่ใช่ชีวิตของเรา เราจึงต้องปฏิบัติเนี่ย มันมีอยู่ในเรานี่แหละ ให้มันผ่าน ผ่านหลงเป็นรู้ ผ่านทุกข์เป็นไม่ทุกข์เนี่ยไป เป็น “ชิตังเม” ชนะ ชนะตัวเองเนี่ยเป็นชนะอันประเสริฐอย่างเนี้ย เรียกว่าปฏิบัติธรรม แล้วจะมาเรียกว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เราควรสละสิทธิ์ ยอมความโกรธ ยอมทุกข์ ยอมทำชั่ว ไม่กล้าทำความดี มันมีที่ไหน เสียชาติ เราอย่าปฏิเสธเรื่องนี้กัน ต้องรับผิดชอบชีวิตของตนทุกคน ถ้าไม่รับผิดชอบก็เป็นโทษ ต่อตัวเองและคนอื่นได้ จำเป็นมาก ๆ เนี่ย คือบุญ บุญสร้างบุญ บุญอันนี้ที่เกิดคนดีขึ้นมาค้ำจุนโลก ถ้าคนไม่ดีมันก็เป็นบาปต่อโลก ก็จึงมาช่วยกันมาสอนมาบอก มาบอกมาเล่าให้กันฟัง มาดูให้เห็นกับตา ให้ได้ยินกับหู สิ่งที่เราได้ยินเรามาทำดู ทำแล้วมันเห็น เห็นแล้วก็แจ้ง เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ มันสนุกน้า! เรื่องนี้ ไม่ใช่เบื่อหน่ายนะ
ฉันทะ พอใจ ปรารภความเพียร อย่าเห็นแก่นอนมากนัก “ฉันทัง ชะเนติ, วายะมะติ, วิริยัง อาระภะติ, จิตตัง ปัคคันหาติ ปะทะหะติ” มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ทำให้สำเร็จ ธรรมที่ทำให้สำเร็จ ทำอะไรก็สำเร็จถ้ามีหลักธรรมสี่ข้อนี้ “ฉันทะ” พอใจในการกระทำ เพียรประกอบอยู่เสมอ เอาใจใส่อยู่เสมอ ดูหน้าดูหลังให้ดี มันหลงกับความรู้อะไรมันผิด ที่ว่า “วิมังสา” ขับเคี่ยวอยู่ อย่าเป็นเอาทั้งหมด เหมือนกินผลไม้ทั้งเปลือก กินมังคุดเนี่ย ก็ต้องกินตั้งแต่เนื้อในมัน เปลือกอย่าไปกิน มันขม ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เลือกได้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ หัดเลือก เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” สอดส่อง ค่อยรับไป บางทีก็ปฏิเสธ เห็นแจ้ง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นสักแต่ว่า อย่าเอามาเป็นตัวเป็นตน แม้แต่อาหารที่เราฉัน แต่ก่อนเป็นเณรน่ะ ถ้าเรียน “ยะถาปัจยังฯ” ไม่ได้ กลายเป็นควายตู้ กลัวควายตู้ ไม่อยากกลายเป็นควายตู้ ควายตู้มันคืออะไร คอยไถนาให้เขา ถ้าไม่ได้ “ยะถาปัจจะยังฯ” เวลาใดเณรตีกลอง เสียงกลองจะร้องว่า “ยะถาปัจจะยังฯ ยะถาปัจจะยังฯ” เพราะมันเป็นควายตู้ มันเป็นเณร มันไม่ท่อง ให้ท่อง “ยะถาปัจจะยังฯ” เวลาไปบิณฑบาตต้องว่า “ยะถาปัจจะยังฯ” ใหม่ ๆ “ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง, ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง จีวะรัง, ตะทุปะภุญชะโกจะ ปุคคะโล, ธาตุมัตตะโก, นิสสัตโต, นิชชีโว, สุญโญ, สัพพานิ ปะนะ อิมานิ จีวะรานิ อะชิคุจฉะนียานิ, อิมัง ปูติกายัง ปัตตวา, อะติวิยะ ชิคุจฉะนียานิ ชายันติ” (หัวเราะ) ไม่ใช่มองดูคนใส่บาตรนะ พระหนุ่มเณรน้อย บางทีเห็นหญิงสาวใส่บาตร มองหน้าเขา นั่นมันเป็นบาปแล้ว ต้องมองเป็น “ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานังฯ” ผู้รับบิณฑบาตก็สักว่าธาตุ ผู้ใส่บาตรก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น อาหารที่เขาใส่มานี่เป็นของบริสุทธิ์ มาแต่เดิมอยู่ แต่เมื่อถูกกับเราแล้วก็เน่าอยู่เป็นนิจ เป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน ใช่ไหม ฉะนั้นก็ “ยะถาปัจจะยังฯ” มันจะไม่หลง ถ้าเราจะไปหลงมันหิวมันอร่อย มันเป็นสักว่าธาตุ เห็นมัน รู้มัน เหนือมัน อันเนี่ย มันก็ดีนะระเบียบต่าง ๆ วินัยต่าง ๆ แต่ว่าเราเป็นเถรตรง อาจจะไม่รู้ ว่าเอาพิธีรีตองเป็นศีลพรตไป บางคนถึงกับเอาข้าวมาเสก “ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะฯ” เอามากินข้าว (หัวเราะ) อันนั้นไม่ใช่นะ ท่องให้ มันเห็นภายในใจของเรา ยังมีนะ หลวงตาแก่ ๆ บางองค์จับเข้ามา (...) แล้วก็กินข้าว ไม่ใช่ศีลพรตแบบนั้น ภายในถึงใจเราเนี่ย ให้มันอย่าเห็นเป็นตัวเป็นตนมากนัก อันนี้เรียกว่าไม่เป็นบาป อย่าหลง มันหลงได้ทุกกรณีนะ ในชีวิตของเรา หิวก็หลง อิ่มก็หลง รสดีก็หลง รสไม่ดีก็หลง อันชอบไม่ชอบล่ะ คือตัวหลง จ๊ะเอ๋กันทีแรกเลย
ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ถอนออกมา เห็นมัน เห็นมันเนี่ย มันจะไปอย่างงดงาม ถ้าเป็นผู้ชอบ เป็นผู้ไม่พอใจ มันก็ไปเฉยไม่ได้ ยังอยู่ในหลักเก่าอยู่ เกิดมามืดก็ไปมืด ถ้าเกิดมามืดไปสว่าง เห็นหลงเป็นรู้ไป มันสว่างไปข้างหน้า ไปข้างหน้า