แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปฏิบัติจิตอยู่วัดตามกาลเวลา แล้วเราก็มีกายมีจิตใจ มีอวัยวะต่าง ๆ ของรูป ของนาม ได้ใช้กาย ใช้ใจ ได้ใช้รูป ใช้นามนี้ ให้ปฏิบัติตามเวลาให้ถูกต้อง เวลานี้ได้สาธยายพระสูตรสวดมนต์ไหว้พระอันเป็นเรื่องของจิตใจ พวกเราก็ได้ทำเสร็จแล้ว จิตใจก็ไปสู่คุณภาพ มีคุณภาพ ได้แสดงออก จิตใส่ใจตาม อันเป็นสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้สัมผัสเราได้แสดงออก ได้หายใจเข้าได้หายใจออก ได้มีสติ เปล่งเสียงออกไปในคำสั่งสอนที่เป็นความถูกต้อง ปฏิบัติดีแล้ว เราก็ได้ดูตัวเอง ปฏิบัติตรงแล้ว ได้ทำแล้ว ปฏิบัติออกจากทุกข์แล้ว ได้ทำแล้ว ปฏิบัติเป็นสถาบัน ได้ทำอย่างนี้ตลอดเวลาสม่ำเสมอ นี่เห็นสิ่งแวดล้อมที่เราได้แสดงออกถึงจิตถึงใจ สอนเรื่องกายสอนเรื่องใจ หายใจเข้าหายใจออกแต่ละบทแต่ละวรรคพอดี ๆ ปอดก็ได้บริหารทำให้ปอดมีพลัง เมื่อปอดมีพลังเข้มแข็งก็ฟอกเลือดฟอกลมได้ดีก็มีสุขภาพ อย่างนี้อ่ะ มีประโยชน์ทั้งนั้น อีกสักชั่วโมงข้างหน้าเกี่ยวกับลำไส้อาจจะออกโยคะหรือจงกรม เคลื่อนไหวทำให้ขับถ่ายได้ชั่วโมงข้างหน้าเป็นลำไส้เป็นกระเพาะ ต่อไปก็จะเกิดความหิวอาหารตามหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ก็ทำให้มีประโยชน์มากขึ้น เราก็ได้ใช้ความถูกต้องให้เกิดขึ้นกับร่างกายจิตใจของเรา
เราได้เจริญสติสัมปชัญญะสัมผัสเข้าถึงกายถึงใจ ได้สอนกายและสอนจิตใจในคราวเดียวกัน กายก็ให้เกิดความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวได้คุ้มครองกาย เวลาใดที่จิตที่มันคิด ภวังค์ของจิตที่มันคิดก็ได้รู้สึกตัว ก็ได้สอนจิต ต้นตอของกรรมทั้งหลายเกิดจากความคิด เราได้ทำหน้าที่ตรงนี้พอดี ๆ ได้เห็นความคิด ความคิดอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่ควรจะตั้งใจคิดสิ่งใดเวลานี้ วางไว้ก่อน ให้เอากายเอาใจมาทำหน้าที่ให้เกิดความรู้สึกตัวไปเสียก่อน เรียกว่าประกอบกรรมดี
กรรมเป็นต้นกำเนิดของบาปของบุญ ถ้าทำดีมันก็ดีได้ ถ้าทำไม่ดีมันก็ไม่ดี เราจึงมาเริ่มต้นที่ตรงนี้กัน เมื่อกายเมื่อใจถูกสอนก็จะเกิดคุณภาพขึ้นมา เวลามันคิดได้รู้สึกตัว อะไรที่มันคิดเกิดจากจิตที่มันคิดนี้เป็นความรู้สึกตัว หลายครั้งหลายหนเข้าไป จิตใจก็คุ้นเคย ไม่ได้คิดเถื่อนๆ แต่ก่อนอะไรก็คิดได้ พอมามีสติก็อาย คิดไม่ได้ เวลาคิดทีใดที่ไม่ถูกต้องก็ตกใจถือว่าตัวเองมีความผิด ได้สอนจิต ได้เปลี่ยนใหม่ เรียกว่าปฏิบัติใหม่ ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องเกิดจากจิตครั้งแล้วครั้งเล่า ได้เห็นความคิดที่เป็นต้นกำเนิดของกรรมทั้งหลาย ได้ทำตรงนี้ ประตูแห่งบาปแห่งบุญอยู่ตรงนี้ ได้ปิดประตูบาปได้เปิดประตูบุญก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่สมบูรณ์ได้สอนกายสอนใจ
แต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยได้รู้สึกตัวตรงนี้กัน ได้ใช้ความคิดได้ทุกอย่างจนเป็นจริตนิสัยไปไหลไปทางอื่นง่ายๆ กลางคืนก็ว่าฝัน กลางวันก็ว่าคิด กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว พอมาเห็นเหตุเห็นต้นตอของมันนี้มันก็สนุกสอน สนุกสอนจิต เห็นความไม่ถูกต้องเกิดจากจิตเยอะแยะ ก็ได้สอนทุกครั้งที่มันผิดในคราวเดียวกันนั้น เช่น ความคิดที่พาให้เป็นทุกข์ ความคิดพาให้เกิดความพอใจ ความคิดพาให้เกิดความไม่พอใจ ได้เกิดความรู้ขึ้นซะ ความพอใจความไม่พอใจก็ไม่มีสิทธิที่จะมาใช้จิตได้ จิตไม่เคยไปรับใช้กับสิ่งเหล่านั้น ฝึกไม่กลับไปถึงนั้น หยุดไว้ก่อน เหมือนพ่อแม่ดูแลลูกเวลาอันตรายเกิดขึ้นพ่อแม่จะคว้าเอาไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน ก็เลยจิตถูกสั่งสอนอยู่เช่นนี้บ่อย ๆ ต่อไปๆ จิตมันจะดูจิตเอง มีสติดูจิต มีจิตดูจิต ต่อไปจะเป็นอย่างนั้นในตัวมันเอง กายดูกาย จิตดูจิตเป็นอัตโนมัติ ก็อาจจะง่ายขึ้น ใหม่ๆก็ทวนกระแสสักหน่อย มันไหล พอทวนกระแสมันก็จะอยู่ เหมือนกับรถขึ้นมอขึ้นที่สูง ทวนสักหน่อย พอมันขึ้นสูงได้ก็ง่ายๆ แล้วบัดนี้ รู้ง่ายกว่าหลง
ถ้าฝึกไป ๆ มันเป็นไปได้ จิตของคนเรานี้มันฝึกได้มันสอนได้ แม้แต่โจรผู้ร้ายอย่างองคุลีมาลก็ยังสอนได้ หลายๆ ชีวิตที่ถูกสอนเรื่องความผิดให้เป็นความถูกเช่นนี้มันเปลี่ยนได้ทุกคนทุกชีวิต เราก็สอนตรงนี้กัน มีกรรมฐานที่ตั้งไว้ มีที่ตั้ง มีการกระทำอยู่เช่นนี้ ได้เห็นของเท็จของจริงในคราวเดียวกันที่เกิดกับกายกับใจของเราเนี่ย มันก็มั่นใจ มั่นใจในการใช้กาย มั่นใจในการใช้จิตใจ แต่ก่อนไม่เคยมั่นใจเลย ไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คุ้มร้ายคุ้มดี มีใจก็พึ่งไม่ได้ มีกายก็ทำอย่างอื่น เวลามันเกิดอะไรขึ้นก็รับใช้มันตะพึดตะพือ เหมือนเสือหกปากในร่างกายนี้ในโลกนี้ แต่ละปากกินอาหารไม่เหมือนกัน ต้องหาอาหารให้มันกินทุกปาก ร่างกายมันก็มีตามีหูมีรูปมีรสมีกลิ่นมีเสียง หูก็ชอบรสอาหารแบบหนึ่ง ปากก็ชอบอาหารแบบหนึ่ง จมูกก็ชอบอาหารแบบหนึ่ง กายก็ชอบอาหารแบบหนึ่ง จิตใจก็ชอบแล้วแต่จะบัญญัติเอาสมมติเอา สิ่งที่เคยชอบก็ไม่ชอบก็มี กลับกลอกหลอกลวงเก่ง จิตใจเหมือนลิงอยู่นิ่งไม่เป็น ถ้าไม่ถูกสอนนะเหมือนลิง ตาก็เหมือนงู หูก็เหมือนนก จมูกเหมือนสุนัขป่า กายก็เหมือนสุนัขอยู่ในแดนบ้าน ลิ้นก็เหมือนจระเข้ แสวงหาคนละทางกัน พอมีสติจะเป็นอันเดียวกันแล้วบัดนี้ สติเป็นใหญ่ เป็นอินทรีย์ตัวใหญ่ ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู ไม่ใช่จมูก ลิ้น กาย ใจ สติอินทรีย์นี้ใหญ่สามารถคุ้มครองได้ ไม่ใช่ตาเป็นใหญ่ ต้องการความรู้สึกตัวเหมือนว่าสติเป็นเจ้าของกาย เจ้าของจิตใจ เอาตาเอาหูเอาจมูกลิ้นกายใจมารับใช้เป็นความคิด
ถ้าสติเป็นใหญ่แล้วก็จับความคิดมาคิดมาใช้ แต่ก่อนนั้นความคิดมันใช้เรา ไม่อยากคิดมันก็คิด คิดจนนอนไม่หลับ ความคิดพาให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ร้อยทั้งร้อย ความคิดพาให้เป็นสุขได้ ความคิดพาให้เป็นทุกข์ได้ เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับความคิด ความคิดก็ไม่ใช่คิดเรื่องเดียวสุขเรื่องเดียว แล้วแต่บัญญัติเอา สมมติเอา ความสุขความทุกข์แต่ละคน สมมติบัญญัติต่างกันไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ แม้แต่ความไม่ดีก็ยังบัญญัติทำตามพอใจ ทำตามความไม่ดีไม่ถูกต้อง ถ้ากูได้โกรธกูไม่ได้ด่ามันกูไม่ยอม ด่ากันจนได้ นี่บัญญัติเอาอย่างนี้ ถ้ากูได้โกรธกูไม่ฆ่ามันกูไม่ยอม กูต้องฆ่ามันให้ได้ ทำตามความโกรธ ทำตามความผิด มีเยอะแยะ ทำตามความรัก ทำตามความเกลียดชัง รับใช้ทุกอย่างกายใจไปทำตาม
ทุกอย่างถ้ามันเกิดสมมติบัญญัติขึ้นมา ตัวรูปนี้นามนี้มันเป็นวัตถุอาการ วัตถุอาการตามองเห็นรูปก็เป็นอาการเห็น ก็มีสมมติที่ต้องแล่นด้วย ถ้าเห็นรูปก็เกิดความพอใจและไม่พอใจก็มีเหมือนกัน หูได้ยินเสียงก็บัญญัติอีกว่าพอใจไม่พอใจ มันก็ใช้ผิดๆ ไป เอาความพอใจไม่พอใจเป็นสมมติบัญญัติถม เป็นตัวเป็นตนไปซะ บัดนี้เห็นความจริงเห็นปรมัตถ์ เช่น ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง ความโกรธไม่ถูกต้อง ความไม่โกรธถูกต้อง นี่ปรมัตถ์มันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่สมมติบัญญัติเป็นปรมัตถ์สัจจะ มันมีอยู่ทุกที่ทุกทาง ไอ้ความทุกข์มันก็ไม่มีความทุกข์ ไอ้ความโกรธมันก็ไม่มีความโกรธ ถ้ารู้ปรมัตถ์เห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง เห็นวัตถุอาการที่มันอยู่กับรูปนามตามความเป็นจริง เห็นสมมติเห็นบัญญัติตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับว่ามีธรรมนูญของชีวิต ไม่ใช่ไปอวดอ้างธรรมนูญเหมือนกับการเมือง ตีความจะไปตีได้อย่างไงธรรมนูญจริง ๆ นี้ เรียกว่าความทุกข์ไม่ถูกต้อง ความไม่ทุกข์ถูกต้อง แค่นี้จบไปแล้ว ไม่ใช่อธิบาย ในความทุกข์มีความไม่ทุกข์อธิบายอย่างไร ต้องเป็นผู้ที่สัมผัสเราถึงจะบอกได้ สัมผัสเอาเอง เป็นปัจจัตตัง แต่ละคน แต่ละชีวิต ไม่ใช่เอาสมมติไปชี้ไปแจง หาเรื่องที่จะให้ความผิดเป็นความถูก หาเรื่องให้ความถูกเป็นความผิดได้ แล้วแต่มารยาสาไถยของใคร มารยาสาไถยของใครจะบัญญัติเอา อธิบายให้เห็นเหตุเห็นผล เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม สัจธรรมไม่ใช้เหตุใช้ผล เหนือเหตุเหนือผล อธิบายไม่ได้ เช่น รสหวาน อธิบายความหวาน อธิบายไม่ได้ รสเค็ม อธิบายความเค็มมันอธิบายไม่ได้ รสพระธรรมมันก็เหมือนอย่างนี้อธิบายไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงบอกตรัสไว้ว่าอันพรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะยอดโอชาแห่งโครส ที่เราสวดพระสูตรเมื่อกี้นี้ พรหมจรรย์คือรสชาติของผู้ที่จบพรหมจรรย์ ไม่มีรสชาติในความพอใจความไม่พอใจ มันมีรสพระธรรม รสพรหมจรรย์เกิดขึ้น เหมือนยอดโอชาแห่งโครส มัณฑะ พรหมจรรย์นี้มันน่าดื่มเหมือนมัณฑะยอดโอชาแห่งโครส มีเงินมีทองซื้อเอาไม่ได้ สัมผัสด้วยชีวิตจิตใจจริง ๆ
เสียดายคนที่มีทุกข์ความไม่ทุกข์ก็มีอยู่กับเขานั้น คนที่โกรธความไม่โกรธก็มีอยู่กับเขานั้น แต่เขาไม่รับเอา เขาไม่เคยฝึกหัด ไปทางโน้นซะ ถ้าไม่รู้จักกลับมา มาสอนมันก็ทำไม่เป็น ถ้าสอนให้รู้ก็อาจจะรู้ได้ ความโกรธไม่ดีนะ ความไม่โกรธดีกว่า ถ้ารู้ว่าความโกรธมันไม่ดีก็ยังพากันโกรธ ความทุกข์มันไม่ดีก็ยังพากันทุกข์ เพราะมันสอนกันไม่ได้ ให้สัมผัสเอา บทสัมผัสที่ดีที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือเนี่ยคือผัสสะเนี่ย เวลามันคิดรู้สึกตัวเนี่ย เวลามันทุกข์ก็รู้สึกตัวยิ่งดีมาก เวลามันโกรธก็รู้สึกตัวยิ่งดีมากแต่ต้องฝึกไว้ก่อน ถ้าจะไปหยุดตอนที่มันโกรธแล้วมันเอาไม่ค่อยจะอยู่ จึงหัดไว้ก่อน ฝึกไว้เป็นความมั่นแน่วแน่ไว้ก่อน เหมือนข้าศึกกับกำลังพลปราบให้ได้ก่อน เหมือนนักชกนักกีฬาที่จะขึ้นเวทีลงสนามต้องฝึกไว้ก่อน จะได้แสดงนักกีฬาออกมา ไม่ว่าอะไรเป็นนายแพทย์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝึกไว้ก่อน รู้ไว้ก่อน แล้วเวลาอะไรเกิดขึ้นก็รู้ได้ใช้ได้ทันทีตัดสินใจทันด่วนทันเวลาทั้งการกระทำก็สะดวก ทั้งความรู้ก็ตัดสินใจ กำลังพลมันพร้อม ข้าศึกก็เห็น ปราบได้ทุก ๆ ครั้ง เช่น ความคิดเป็นข้าศึก กำลังพลคือความรู้สึกตัว ไว ยิงแม่น แม่น ไว ปราบได้ ข้าศึกจำนวนมากกำลังพลน้อย ๆ ก็ปราบได้ นี่คือสะดวก ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติเป็นสถาบัน มันคืออย่างนี้ มันปราบได้ เรียกว่าธรรมะกำมือเดียว
มีสติ รู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัวเนี่ยทีแรกฝึกความรู้สึกตัวเนี่ยมันไม่ใช่ความรู้สึกตัวต่อไปๆ กลายเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ความรู้สึกตัวมันก็ละความชั่ว ความรู้สึกตัวมันก็ทำความดี ถ้ามีความรู้สึกตัวจิตก็บริสุทธิ์ นั่นแหละศีล นั่นแหละสมาธิ นั่นแหละปัญญา ศีลกำจัดความชั่ว สมาธิกำจัดความชั่ว ปัญญากำจัดความชั่ว คืออันนี้ เป็นพลังสนับสนุนกัน ตัวศีลมีสมาธิก็มี สมาธิมีปัญญาก็มี เพราะมีปัญญาศีลก็มี เพราะมีศีลสมาธิก็มี สนับสนุนเหมือนกงจักร ไม่ใช่เข้าแถวกัน เป็นวงกลมเป็นกงจักร อะไรก่อนอะไรหลังมันตอบไม่ได้ มันมาเป็นกงพร้อมกัน หมุนไปพร้อมกัน ไม่ใช่อันเดียว เหมือนเข้าแถวเดินแถวไต่คันนา ไม่ใช่แบบนั้น มันหมุนเรียกว่าธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร หมุนไปทิศใดมันก็ราบเรียบไป เหมือนใบรถแทรกเตอร์ใบมีดรถแทรกเตอร์ ใบมีดรถเกรด เวลาใบมีดลงสู่พื้นที่ใดก็เรียบไปอย่างนี้ แล้วจะเอายังไงชีวิตเราก็มาใช้เรื่องนี้ มันมีค่าจริง ๆ แบ่งปันกันไม่ได้ กรรมใครกรรมเรา ทำเอาเอง
ผู้ปฏิบัติก็ย่อมศึกษาด้วยตนเองทั้งนั้น ให้คนอื่นทำให้ไม่ได้ หลงเองต้องรู้เอง โกรธเองต้องรู้เอง แล้วไม่ทำตรงนี้ก็ไม่ได้แล้ว เวลาเรามาปฏิบัติกรรมฐานมันเห็นตรงนี้กัน มันให้เห็นอยู่นี่ เปิดตัวออกมา มาทำนี่ เหมือนกับของปิดเปิดออกแล้ว ของที่คว่ำหงายขึ้นแล้ว เห็นทุกคนว่ามีสติเหมือนตาภายในเป็นหน้ารอบ เกิดจากกายก็เห็น เกิดจากจิตใจก็เห็น ได้สอนกาย ได้สอนใจ สอนที่ผิดให้เป็นความถูกต้องหลายเรื่องหลายอย่าง ความถูกบางอย่างก็แล้วไป บางอย่างก็หลายรอบ ความผิดหลายรอบ ถ้าไม่เก่งถ้าไม่มีพลังพอก็หลายรอบ ถ้าพลังพอพร้อม มีพระอนาคามีรอบเดียวก็หมดไปแล้ว ถ้าพระโสดาบัน พระสกิทาคามีก็หลายรอบจึงหมดไป อุคฆฏิตัญญูบุคคล ผู้เข้มคม เข้มแข็ง กล้ากำลังกระโดดถึงสุดยอดทีเดียวก็มี บางคนก็ต้องปีนป่ายไป เช่น ปัญจวัคคีย์ ฟังธรรมพระพุทธเจ้า นั่งอยู่ด้วยกัน แต่โกณฑัญญะบรรลุธรรมก่อน วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ สุดท้าย แล้วแต่กำลังความเพียรของบุรุษของคนใด มีจิตใส่ใจตามแค่ไหนเพียงไร ทำในใจ ทำในใจ เข้าถึงใจทุกครั้ง สัมผัสได้ที่ใจ เวลามันหลงรู้นั่นเข้าสู่ทางใจแล้ว ได้รับความผิดเป็นความถูกแล้วทุกครั้งที่มันผิดนี่
วิชากรรมฐานมันศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ จึงไม่รู้จะสอนกันอะไรอีก ให้สัมผัสเอง ได้เห็น ทำกับมือสัมผัสได้กับมือ เห็นกับตาจับมาดู เหมือนกับจับกุมมือมาดูด้วย จูงแขนจูงมือมาดู ชี้ให้ดูตรงนี้เนี่ย มันเหมือนกับเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อเทียนสอนอยู่โน่น แต่เรามาดูตัวเองมาก็เหมือนจับมือมาดู อย่าเข้าไปในความคิด ให้เห็นมันคิด อย่าเป็นผู้เข้าไปในความคิด เวลามันทุกข์ก็อย่าเข้าไปในความทุกข์ เห็นมันทุกข์เนี่ย เหมือนคนเห็นคลื่นน้ำ ยืนอยู่บนฝั่ง เรายืนอยู่บนฝั่ง คลื่นมันมา คลื่นใหญ่ ๆ มันจะท่วมหัวเรา พอมาเจอฝั่งมันก็เงียบหายไป เราไม่ลงไปเล่นกับมัน มันมีจริง คลื่นมันก็มีจริงแต่เรามาอยู่บนฝั่งคือผู้ดูนี้เป็นผู้อยู่บนฝั่ง ถ้าผู้เป็นก็เข้าไปเล่นกับมันให้คลื่นซัดขึ้นซัดลง สุขก็ฟูขึ้น ทุกข์ก็แฟ่บลงเช่นนั้น เรียกว่าไปอยู่กับความสุขไปอยู่กับความทุกข์ ฝึกหัดดู ขึ้นฝั่งดูมันเนี่ย ไม่ต้องไปสู้อะไรเลย ง่ายๆ อย่างนี้กรรมฐานน่ะ
สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ มาดู อย่าเข้าไปเป็นกับมัน มีสติดูกายเคลื่อนไหว เมื่อดูก็เห็น เห็นใจมันคิด ถ้าเห็นก็ไม่เข้าไปเป็นกับมัน มันมีให้เห็นอยู่แต่ไม่เป็น นี่แหละคือไม่ต้อนรับ ไม่ให้ที่อยู่อาศัย ไม่ให้ค่า อะไรเกิดขึ้นไม่ต้อนรับ ไม่มีที่ให้อาศัย ไม่ให้ค่า เรียกว่าบริสุทธิ์ได้ ไม่เปรอะเปื้อน จะให้ไม่เป็นพรหมจรรย์ได้ยังไงไม่เปรอะเปื้อนนะ เห็นเนี่ยไม่เปรอะเปื้อนนะนี่ประพฤติพรหมจรรย์นี่แหละองค์มรรค ให้เห็นนี่แหละองค์มรรค คือดูเนี่ย เห็นแล้วไม่เป็นเนี่ย มันง่าย ๆ อย่างนี้ น่าจะกระตือรือร้น โอ้ย! ทำง่ายๆ อย่างนี้ก็บอกคนอื่นให้รู้ตามได้เนี่ย เห็นทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์พ้นจากความทุกข์อย่างนี้ เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธพ้นจากความโกรธ มาอะไรก็พ้นไปหมดเลยเนี่ย โอ้ย มันง่ายอย่างนี้ คิดถึงพ่อถึงแม่ อยากไปบอกพ่อไปบอกแม่ พ่อก็ตายไปแล้วเหลือแต่แม่นี่ นึกว่าจะ พอไปสอนแล้วก็ยากกันแล้วบัดเนี่ย เอาความคิดเป็นพระ พูดให้ฟังมันคิดไปโน้นมันกลัวอะไรเกิดขึ้นมา ความกลัวก็เห็นมันกลัว ไม่ใช่เป็นผู้กลัว เห็นมันคิดอะไรต่าง ๆ มันต้องเกิดจากความคิดแน่นอน เราจึงมามีสติเป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของจิตใจนี้ ทำอย่างไรถึงจะมาเป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของใจ เมื่อสติเป็นเจ้าของมันก็คุ้มครอง เมื่อคุ้มครองก็ป้องกันข้าศึกที่จะมารบทำลาย ก็มันก็ชนะ ไม่มีคำว่าแพ้ ถ้ามีพลังดี ๆ มีสติดี ๆ แต่ก็ต้องฝึกเอาไว้ มาหัดให้มีสติดูกายเคลื่อนไหวไปก่อนให้รู้สึกตัวเหมือนกับเป็นเจ้าของยึดไปก่อน ยึดเกาะไว้ก่อน อะไรเกิดขึ้นมากลับมารู้สึกตัวไว้ก่อน อย่าหาคำตอบจากความคิด ให้เป็นการกระทำจริง ๆ
นี่ขอเป็นมิตรเป็นเพื่อน ขอเป็นส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติ จากชีวิตหนึ่งมาทำอันเดียวกันแท้ๆเนี่ย นี้ไม่ใช่คิดนา อ่านตำราที่ได้มาสอน ทุกคนก็ยกมือพลิกมือก็รู้ได้ ยกมือขึ้นก็รู้ได้นี่ เอามือมาเคลื่อนไหวนี้ก็รู้ได้ คู้แขนเข้ารู้ได้ เหยียดแขนออกก็รู้ได้อย่างเนี่ย มันทำได้อย่างนี้จึงบอกให้ถึงถ้าทำได้ ทุกคนทำได้ ถ้ามีมือ เคลื่อนมาดูให้รู้ก็รู้นั่นแหละ ถ้ามีกายเคลื่อนไหวให้รู้นั่นแหละ เป็นเมล็ดพันธุ์โพธิก็ว่าได้ เรามาเพาะมันงอกงามขึ้นมา ให้งอกงามขึ้นมา หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก ได้ความรู้เหมือนกัน เวลามันคิดไปรู้สึก แต่ก่อนมันคิดฟรี ๆ นะ บัดนี้ให้รู้สึกตัวเนี่ย การเคลื่อนไหวของจิตที่มันคิดน่ะ ได้ทุกอย่างเลย กลับมารู้สึกตัวนะ นั่นละนะได้ยินบ่แม่เพียร(ชื่อโยมที่นั่งฟัง) เอาจบแค่นี้