แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ด้วยความเคารพต่อหมู่สงฆ์ เจริญในธรรมแก่สาธุชนทุก ๆท่าน เมื่อวันนี้หลวงตาขอได้มีโอกาสมาพบกันกับพวกเราที่นี่อีกเป็นครั้งที่สอง ที่สามแล้ว การมาฟังเทศน์ฟังการพูดในวันนี้ไม่ใช่มาฟังเอาความรู้อะไรหรอก หลวงตาไม่ใช่เป็นผู้มีความรู้ แต่มีประสบการณ์กับการปฏิบัติธรรม เอากายเอาใจเป็นตำราไม่ใช่ความรู้เลย ไม่สามารถที่จะสอนให้ท่าน ได้รู้ได้ เห็นได้ เพียงแต่ขอให้ข้อสังเกตว่ามันเป็นไปได้ ทำยังไง การศึกษาเรื่องชีวิตของเรานี้ ทุกคนก็คงจะรู้กันมาบ้างแล้วในวิชาพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มากมาย เช่น ทรงแสดงว่าผู้ใดมีสติต่อเนื่องหนึ่งวันถึงเจ็ดวัน อย่างกลางหนึ่งเดือนถึงเจ็ดเดือน อย่างช้าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี มีอานิสงส์สองประการ หนึ่งเป็นพระอนาคามีบุคคลในชาตินี้ สองเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ เหมือนมีใครพิสูจน์เรื่องนี้บ้าง ไม่ใช่ไปเรียนรู้เจริญสติทำยังไง ไม่ใช่มาพูดเรื่องการบรรยาย บรรยายไม่เป็น ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่นักปาฐกถา แล้วก็ดูตัวเองไม่เหมาะ ถ้าจะให้เหมาะจริงก็ต้องพูดขณะที่เราปฏิบัติ ไปสอบอารมณ์ไปให้ความคิดแนะนำตอนที่กำลังทำอยู่
เวทีที่ชำนาญในเรื่องนี้คือวัดป่าสุคะโต พูดทุกวันตอนเช้าตอนเย็น คนที่ฟัง ก็ฟังสิ่งที่เขาได้ทำและสิ่งที่เขาได้ยิน ได้ยินเราพูด เขาก็เอาไปทำ สิ่งที่เขาได้ทำเขาก็ได้ยิน สิ่งที่เขาได้ยินเขาก็เอาไปทำดู มันก็เป็นแนวร่วม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะพอดีกัน สิ่งที่เขาได้ยินเขาเอาไปทำดู สิ่งที่เขาทำเขาได้ยินมา มันก็สมดุลกัน จึงเป็นเวทีที่เหมาะที่สุด ในที่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านทั้งหลายไม่ได้รู้อะไรเลย คงปฏิบัติธรรมกันมาบ้าง ได้เห็นที่นี่ได้รู้ที่นี่บ้างพอสมควร ในซอยอารีย์ บ้านคุณใหม่ในที่นี้ ชุมชนของคนเมืองหลวงนี่ ที่นี่เป็นแหล่งที่น่าอุ่นใจที่สุด เขาขอเป็นมิตรเป็นเพื่อนในการศึกษาปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะภาคปฏิบัติ จะไม่พาหลงทิศหลงทาง จึงเอาไปทำดู โดยหลักการกระทำพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ ให้มีสติดูกายเห็นกาย ให้เห็น ต้องเห็น ถ้าไม่ดูไม่เข้าไปเห็น แม้มันมีอยู่ถ้าเราไม่ดูก็ไม่เห็น จึงสร้างภาวะที่ดูเกิดขึ้น ภาวะที่ดูนี่ ถ้าจะพูดตามหลักปรมัตถ์ ไม่ต้องสร้าง ใช้มันไปเลย มันมีอยู่แล้ว เช่น ความรู้สึกตัว ใครก็มี สัตว์ทุกประเภทมีอยู่ แต่มีสติธรรมดา สัตว์เดรัจฉานมันก็มีสติเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่เป็นภาวะที่ดู มันไปตามเหตุปัจจัยของภาวะของสัตว์ รู้จักหลบภัยตามประสาของเขา แต่ภาวะที่ดูเนี่ย ที่เห็นเนี่ย มันเป็นไม่ใช่การธรรมดา เช่น เห็นความหลง ก็มีความรู้ขณะที่มันหลง อย่าให้มันหลงฟรีๆ ความหลงเป็นประโยชน์ ทำให้ความรู้ขึ้นมาได้ แต่ความหลง เราหลงกี่ครั้งกี่หน มีประโยชน์ไหม หรือว่ามันเคยชินไปเสียแล้ว เป็นนิสัยโมหะจริตไปแล้ว ง่ายที่จะหลง มันก็ไม่เกิดประโยชน์จากความหลงเลย แทนที่เราจะมีประโยชน์
ประโยชน์อันเกิดจากความหลงเนี่ย มันยอดเยี่ยมมาก ประโยชน์อันเกิดจากความทุกข์ก็ยอดเยี่ยมที่สุดเลย มีคน(...) มองเห็นรึยัง เวลามันทุกข์กับอะไรก็อยู่ตรงนั้นมันก็รู้ ไม่ใช่ไปทุกข์ เวลามันสุขอะไรอยู่ตรงนั้นด้วย มันก็รู้ รู้สุข รู้ทุกข์ ตัวนี่ ตัวรู้ซื่อ ๆ ตัวเนี่ยมีค่ามาก ระวัง ไม่ใช่เอารสนะ เวลามันสุขมันก็มีรสชาติของความสุขไป เวลามันทุกข์มันก็มีรสชาติของความทุกข์ รสอันนั้นก็เลยใหญ่โต ก็เป็นรสของโลกไป ความสุขความทุกข์เป็นรสของโลก อันธรรมะนี่มันซื่อ ๆ ตัวรู้ซื่อ ๆ ตัวเนี่ยไม่มีค่า ไม่ให้ค่ามันเลย ความหลงก็ไม่ให้ค่ามันเลย หัวเราะยิ้มในใจเห็นความหลงเห็นความทุกข์ที่มันแสดงออกมาทางกายทางใจเรา เป็นอาการต่าง ๆแปดหมื่นสี่พันอย่าง สารพัดอย่าง สนุกดี สนุกเห็นของจริง ของจริงนี่มันไม่จริง เช่น ความทุกข์มันไม่จริงแต่มันมีอยู่ ใครก็เห็นได้ความทุกข์เนี่ยมันไม่จริงหรอก แต่เราไปเสียเวลากับมัน เพราะเราไปเป็นกับเขาแล้ว ไปเป็นสุขเป็นทุกข์ไปแล้ว ความทุกข์ของเรายิ่งใหญ่ความสุขของเรายิ่งใหญ่ รักสุขเกลียดทุกข์ ทุกคน แต่ว่าหนีมันไม่พ้น
ถ้าเรามาเห็นมันซื่อ ๆเนี่ยมันจะมีค่ามากเลย ภาวะที่รู้ซื่อ ๆตัวนี้ให้ค่า มันไม่มี มันเหลือศูนย์ ความสุขก็เหลือศูนย์ ความทุกข์ก็เหลือศูนย์ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นไม่มีค่าเลย แล้วนี่มันมีค่า ความสุขก็มีค่า เราก็ต้องแสวงหาความสุข ไปซื้อไปหามา ด้วยราคา ด้วยเงินด้วยทอง ด้วยเวลา มันก็ไม่จริงเสมอไป ในความสุขมีความทุกข์อยู่ในนั้นด้วย ในความรัก ความชัง มีความไม่รักไม่ชังอยู่ในนั้นด้วย ตรงกันข้ามมีความรักก็ฆ่ากันเพราะความรักได้ บัดนี้ภาษาของการปฏิบัติคือ “ ปฏิ ” คือกลับมา มาให้ค่ามันซื่อ ๆ เวลาเราปฏิบัติเนี่ยลองทำอย่างนี้ดู ถ้าเราไม่ให้ค่ามัน สักครั้งหนึ่งสองครั้ง มันก็ไม่กล้าโชว์ เหมือนเราไปดูการแสดงกล พอเรารู้จักกลวิธีของเขา เราไม่ให้ค่าการแสดงเขา เขาก็แสดงต่อเราไม่ได้ แต่ก่อนเราหัวเราะ เราร้องไห้เพราะการแสดงของเขา เพราะเราไม่รู้ พอเรามารู้แล้ว โอ๊ยมันไม่มีค่า มันก็ไม่แสดงล่ะมันอาย ในโลกนี้มันอายของจริง ความสุขไม่ใช่ของจริง ความเห็นซื่อ ๆ จริงกว่า ความทุกข์ไม่จริง ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ นี้จริงกว่า ลองทำอย่างนี้ลองดู ประสบการณ์เรื่องนี้ลองดู
ความภาวะที่รู้ซื่อ ๆ เนี่ย มันเจริญไปเรื่อย ๆไม่ใช่ซื่อ ๆ ธรรมดา มันกลายเป็นญาณ เป็นปัญญาไปด้วยเป็นอย่างนี้การปฏิบัติธรรมจากประสบการณ์กับการปฏิบัติเกิดขึ้นจากตัวเรา ใครเป็นคนสอน ธรรมชาติมันสอน ธรรมชาติมันสอนเรา ได้บทเรียนจากธรรมชาติที่มันสอนเรา มันเป็นของจริง ถ้ามันทุกข์ในความรู้สึกซื่อ ๆ ไม่มีตรงนั้น อันความรู้ซื่อ ๆ กับความทุกข์ อะไรเป็นประโยชน์ต่อเรา อะไรเป็นธรรมต่อเรา ไม่ใช่ไปถามใครที่ไหนเราต้องตอบเอง ไม่มีคนอื่นตอบให้ เราก็ได้คำตอบไปเรื่อย ๆ สมน้ำหน้าความทุกข์ สมน้ำหน้าความหลง ไม่กลัวเลย มันทุกข์เท่าไหร่ก็สมน้ำหน้ามันไม่ให้ค่ามันเลย มันจิ๊บจ๊อย ไม่มีอะไร ไม่มีการแสดงโชว์ มันก็โชว์นะ ความทุกข์มันโชว์ ความวิตกกังวล ความเศร้าหมองมันโชว์มาก จนทำให้เราหลงบางทีเป็นญาณ หอบกระเป๋ากลับบ้าน เบื่อหน่ายอะไรต่าง ๆ สารพัดอย่าง มันโชว์ความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่านความลังเลสงสัย อะไรสารพัดอย่าง เวลาเราปฏิบัติเนี่ย เวลาเรามีสติ เนี่ย อันที่ไม่มีสติโชว์ที่สุดเลย วิธีใดที่จะทำให้หลงมันโชว์ออกมา จากความคิดบ้าง จากอาการต่าง ๆ ของกาย ของใจบ้าง มันโชว์ออกมา เราก็เห็น เราก็รู้เห็นมัน
ถ้าเราเห็นแล้วก็ภาวะที่เห็นเนี่ย ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ มันเจริญไป ภาวะที่ไม่เป็นกับอะไร มันเจริญ ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว ก็มันเบา มันทำถูก เมื่อมันทำถูก มันเบาแล้วก็เห็นความภาวะที่ไม่เป็นอะไร มันเป็นธรรมต่อร่างกาย จิตใจเรา เลือกได้ ชีวิตที่เลือกได้ในบทเรียนจากตัวเรา แต่ก่อนเราไม่รู้จักเลือก เอาตะพึดตะพือไป สุขก็เอา ทุกข์ก็เอา แต่พอมาดูเข้าจริง ๆ มันเลือกได้ สนุกดี เป็นชีวิตที่เลือกได้ ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ นี่คือของจริง
พระพุทธเจ้าจึงประกาศว่าพระธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ว่าทำดีเขาก็ดี ทำชั่วเขาก็ชั่ว ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เชิญมาดู น้อมมาใส่ตัว น้อมมาใส่ เราลองดู อะไรที่น้อมมา เวลามันหลง น้อมความรู้สึกตัวเข้ามาหาเรา ใช้ แล้วไม่จน อย่าไปจนความหลง อย่าไปจนความทุกข์ ไม่ต้องเสียเวลากับภาวะอย่างนั้น เรามีทางออก เราเห็นทาง เหมือนเรามีตา “หน้ารอบ” ภาวะที่รู้เห็นตรงนี้มันเป็น “หน้ารอบ” เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวก ว่า ผู้มีสติเป็น “หน้ารอบ”เหมือนมีสติเป็นวินัยที่ไม่เผย เรียกว่า “ขีณาสพ” คือพระอรหันต์ผู้มีสติเป็น “หน้ารอบ” ไม่ใช่วัดกันด้วยชาติ ชั้น วรรณะ รูปแบบ อันเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นมาในชีวิตเรา อันนี้เป็นของทุกคน ไม่ยกเว้นกัน
ความรู้สึกตัวที่มีอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ กับความรู้สึกตัวที่มีไว้กับพระพุทธเจ้า สองสามพันปีอันเดียวกัน ความรู้สึกตัวอยู่กับนักบวช ความรู้สึกตัวอยู่กับฆราวาสอันเดียวกัน อยู่กับเพศใดภาวะอันใดอันเดียวกัน ไม่ต่างกันเลย เราจึงมั่นใจมากในการสัมผัสของจริงที่มีอยู่กับเราแท้ ๆ เป็นมนุษย์สมบัติ มีสิทธิเราก็ใช้สิทธิของเรา เวลามันหลงก็ใช้สิทธิความรู้ซื่อ ๆ เข้าไป เวลามันทุกข์ก็มีสิทธิรู้ซื่อ ๆ เข้าไป เวลามันโกรธก็มีสิทธิรู้ซื่อ ๆ เข้าไป ต้องใช้สิทธิ์บ้าง อย่าปล่อยปละละเลยเป็น “ธรรมาธิปไตย” แต่นี่เราไม่ค่อยใช้สิทธิของเราปล่อยให้มันสุข ปล่อยให้มันทุกข์ไป จนเป็นร่องเป็นรอย จนเป็นจริตนิสัย มันก็ไม่มีประโยชน์ หลงร้อยครั้งพันหนไม่รู้ไม่มีค่าอะไรเลย ทุกข์ร้อยครั้งพันหนไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าเรามาศึกษาเอาบทเรียนจากสิ่งเหล่านี้ มันได้บทเรียนเยอะแยะ
เรามาดูตามปฐมโพธิการ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อะไรเกิดขึ้นขณะที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เช่นเรามาได้ยินว่ามีมาร กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร สังขารมาร ที่มารบกวน มันหมายถึงอันใด ไม่ใช่ไปสนุกสบาย มิตตมารที่มันมาขวางกั้นทำให้ได้หลง ไม่รู้ ลืมไป กิเลสมารอะไรล่ะ มันก็มีได้กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฐิ เกิดขึ้น ขณะที่เราทำความดีก็มีมารเหมือนกัน แล้วก็รู้ว่า เออ เวลานี้เราไม่ใช่มาคิดหาเหตุหาผลเวลานี้เรามาสร้างตัวรู้ ใช้ตัวรู้สึกตัวเข้าไป อันไหนก็ตามใช้ความรู้สึกตัวเข้าไป ไม่มีค่าสำหรับอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นกิเลสก็ดี ตัณหาก็ดี ราคะก็ดี อุปทานต่าง ๆก็ดี
ขันธมาร คือ ในกองขันธ์ก็แสดงโชว์ มีเวทนา มีสัญญา สังขาร วิญญาณในขันธ์ทั้ง 5 ที่มันแสดงออกมาทำให้เราหลงตนไปด้วย เหมือนจะเป็นจะตายเข้า ทั้งร้อนทั้งปวดทั้งเมื่อยร่างทำท่าเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวตายขึ้นมา อะไรก็ทำให้กลัวขึ้นมาขณะที่มันแสดงออก เราก็รู้ซื่อ ๆ เข้าไป ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ เข้าไป มันก็ไปถึงภาวะที่ซื่อ ๆ เข้าไป ไม่มีค่าอีกแล้ว ต้องเดินตรงนี้ไป ก้าวจากตรงนี้ไป ที่จะเป็นการเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตายมันต้องมีเกรด ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไปปฏิบัติธรรมะก็ต้องมีเกรดเหมือนกัน เหมือนการศึกษาทางโลกเขา เกรดดีมันก็เข้าในรั้วมหาวิทยาลัยได้ การปฏิบัติธรรม ถ้าเกรดมันดี ก็เข้าประตูแห่งพระอริยบุคลได้ง่ายๆ ไม่ยากเกินไป เกรดคืออะไร มันดีตรงไหน มันตก มันผ่านตรงไหน ถ้ามันหลงก็รู้ซะ ผ่านแล้ว อย่าให้ความหลงมาขวางกั้น ถ้ามันทุกข์ก็รู้ซะ คำว่าทุกข์เนี่ยพาให้เราถึงความรู้ มันก็เกรดมันดีอยู่แล้ว มันทุกข์ทีไรก็รู้ทุกที มันก็ผ่านได้ทุกที เป็นการสอบผ่าน เป็นใครเป็นคนให้ อันทางผ่านอย่างนี้ ไม่มีใครให้เรา เป็นตัวเราเอง ที่ทำให้ตัวเราเอง รู้ว่ามันผ่านไป ความหลงมันผ่านไป มันไปสู่ความรู้ได้ ความทุกข์มันผ่านไป ไปสู่ความรู้ได้ มันเป็นอย่างนี้ของจริงมันต้องเป็นอย่างนี้
ถ้าสิ่งไหนไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่ของจริง มันไม่เป็นคู่ ต้องมีแน่นอน เช่น พระสิทธัตถะ มองการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มองเป็นคู่ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีไม่เกิดแน่นอน เมื่อมีเกิดเมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่แน่นอน เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บแน่นอน เมื่อมีตายต้องมีไม่ตายแน่นอน มองอย่างนี้ไม่ใช่มองแบบจนต่ออาการต่าง ๆที่มันเกิดขึ้นกับตัวเอง กับคนอื่น หาคำตอบ เมื่อมาหาคำตอบอย่างนี้ อาการที่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก็มองตรงกันข้ามได้ทันที ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรานี้ จงดูในตรงกันข้าม ให้มันดี ๆ ใส่ใจดี ๆ ตรงนี้ อย่าปล่อยปละละเลย อย่าให้มันฟรี มันหลงฟรีๆ มันทุกข์ฟรีๆ มันสุขฟรีๆ ไม่ได้ มันเอาไปฟรี ไม่ต้องให้ไปเป็นอย่างนั้น เราเอาค่ามัน เอาประโยชน์จากมัน ประโยชน์ที่มันเกิดจากตัวมันเองมันมีอยู่ เหมือนปุ๋ย เหมือนเป็นของสกปรกแต่ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อพืชต่าง ๆ
ธรรมะบางอย่าง ความทุกข์แท้ๆ ก็ทำให้เกิดบรรลุธรรมได้ ความหลงแท้ๆ ทำให้เป็นการบรรลุธรรมได้ อะไรก็ตามที่มันเป็นคู่กันน่ะ มองดี ๆ เวลาเราศึกษาธรรมะ การศึกษาธรรมะไม่ใช่ไปนั่งอยู่ในวัดในวา ถ้าได้หลักอย่างที่หลวงตาพูดนี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ยิ่งเราเป็น ทำงานทำการรับผิดชอบครอบครัว ทำงานทำหน้าที่ มันย่อมเกิดแน่นอนในด้านต่าง ๆ ยิ่งเกี่ยวข้องคนอื่น ยิ่งดีใหญ่ ๆ จะได้เห็นตัวเองมากขึ้น เป็นการสะท้อนออกมา แค่นี้ก็โกรธหรือ แค่นี้ก็ทุกข์แล้วหรือ จะได้ดูได้แลให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นปัญหา อย่าเป็นอุปสรรคในเพื่อนร่วมงานเลย เอามาเป็นปัญญา รู้จักคน รู้จักฐานะ อฐานะอย่างไร ใครเป็นคนตอบ เราตอบเอง ไม่มีใครรู้เราเท่ากับตัวเรา เขาว่าเราเขานินทาเรา เราก็รู้ตัวเรากว่า เขาว่า เขาสรรเสริญเรา เราก็รู้กว่าเขาสรรเสริญ ไม่มีใครรู้ตัวเราเท่าตัวเราหรอกในโลกนี้ จึงมั่นใจเถอะ ในการศึกษาของจริงเนี่ยอย่าจน มองเป็นคู่ไปเรื่อย ๆไป อย่าไปจนต่อโลกเกินไป นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์มากเกินไป เปลี่ยนมันมาเป็นธรรมดา มาดูซื่อ ๆ ลองดูซิ ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ เนี่ย มันไม่ใช่ซื่อ ๆ ธรรมดา มันเป็นมรรคเป็นผลด้วย การรู้ซื่อ ๆ มันมีค่ากว่าสิ่งใด ที่เราให้ค่าหลายๆ อย่าง เช่น เรารู้ ภาวะรู้เป็นคุณธรรมอันสูงสุด อย่าไปไม่ใช่ซื่อ ๆ แบบซื่อบื้อนะ ไม่ใช่ซื่อ ๆ แบบซื่อว่าไม่รู้ไม่ชี้อะไรอย่างนั้นก็ไม่ถูก
เช่น สมัยหนึ่งหลวงตาอยู่วัดสุคะโตไปปาฏิโมกข์ที่หอไตร ขึ้นไปบนหลังเขา พอปาฏิโมกข์เสร็จเดินลงมาผ่านศาลาไก่ ก็มีพระเพื่อนกันลงมาหลายๆ รูปผ่านมาศาลาไก่ หลวงตาก็ยังไม่ได้ผ่านศาลาไก่แต่ว่าได้ยินเสียงไก่มันร้อง กระต๊าก กระต๊าก กระต๊ากแซวกันอยู่ ก็เลยได้ยินเสียงไก่ก็สนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เดินมาเห็นกามันกินไข่ไก่ในรังอยู่ ก็ไล่กาออกจากรังไก่แล้วถามพระที่เดินไปก่อน “ท่านรู้ไหมที่เดินผ่านศาลาไก่เมื่อกี้นี่มีอะไรเกิดขึ้น” “ก็ไม่มีอะไร ก็เดินมาเฉย ๆ” “แล้วไก่ร้องกะต๊าก กะต๊ากได้ยินไหม” “ได้ยินอยู่ แต่ไม่ได้สนใจ” อันนั้น “ซื่อบื้อ” ไม่ใช่ไม่ได้ยินมันได้ยินอยู่ แต่ไม่ใช่สนใจ ไม่ใช่ ไปมีสติตรงนั้นด้วย ตามสภาวะที่เสียงมันจะมีสติ มีอะไรเกิดขึ้น พอแก้ไขได้ไหมอันนั้นเป็นภายนอก แต่ภายในเรานี้หนา ควรใส่ใจให้มากที่สุดเลย ถ้าหากมันหลงก็ให้ความหลงมาเป็นความรู้ซะ แก้ไขอย่างนี้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไป มันจะเจริญไปเรื่อย ๆ ทำอะไรง่ายที่จะหลง ถ้าเรามาให้ค่ามันซื่อ ๆ ก็ง่ายที่จะรู้เข้าไป เอาไปมาตัวรู้ซื่อ ๆ ออกหน้าออกตาไปเลย จะเป็นยังไงล่ะตอนนั้น มันก็สะดวกเป็นโอกาสสะดวกก็สะดวก ภาวะที่ซื่อ ๆ เนี่ย ก่อนที่มันสะดวกมันก็ต้องมีปัญหา เหมือนกับจราจรกรุงเทพเรา รถตรงไหนมันจราจรติดขัดผู้ว่า กทม. ก็แก้ไขให้เกิดความสะดวกขึ้นมา มันมีปัญหาตรงไหนแก้ไขตรงนั้นให้มันหมดปัญหาไป อันนี้เป็นวัตถุภายนอก ก็ย่อมทำได้ ไม่ได้ว่า แต่ว่าภายในของเรามันทำได้ทุกอย่างแหละนะ ขอให้ทำอย่างนี้ก็แล้วกันนะ อย่าจน
ทำได้ทุกอย่างให้เป็นความดี เปลี่ยนร้ายเป็นดีได้ ในใช้ชีวิตของเราเนี่ยเปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ได้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปอยู่วัด เปลี่ยนร้ายเป็นดี อยู่ที่ไหนก็ทำได้ มันไม่ดีเปลี่ยนให้มันดีได้ โดยเฉพาะจิตใจเนี่ยเปลี่ยนได้ทุกกรณีเลยนะ เอาไว้ก่อนเถอะใจเนี่ย เอาไว้ก่อน อย่าปล่อยไปจม ไปหมัก ไปเปรอะไปเปื้อนกับสิ่งไหนเอาไว้ก่อน เอาจิตใจไว้ก่อนให้เป็นใหญ่ไว้ก่อน เป็นใหญ่ในทางดี สำเร็จด้วยใจที่ดีเอาไว้ก่อน ถึงเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเอาใจไว้ก่อน เพราะเราหัดมานาน เราหัดมาชำนาญแล้ว พอถึงคราวแล้วก็เป็นกีฬาไปเลย เหมือนคนเป็นนักกีฬา เหมือนคนในวิชาการต่าง ๆ ท่านนั่งอยู่นี้อาจจะชำนาญในทุกสาขาอาชีพเป็นหมอก็มี เป็นนักกีฬาเป็นอะไรก็มี แต่ถึงคราวที่ท่านมีประสบการณ์ ท่านจะโชว์ฝีมือทันที
อย่างหลวงตาเจ็บป่วยเนี่ย ไม่รู้ใครเป็นหมอพอไปดูแล้ว โอ้ หมอคือคนนี้ พอเค้ามาดูเราเขาชี้ทันทีโรคอันนี้มันอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เขาโชว์ศิลปะวิชาที่รู้มาเป็นศาสตร์แห่งการเป็นหมอวิทยาศาสตร์ขึ้นมา รักษาหาย แต่ถ้าดูกันให้ ไม่รู้ แต่ตัวการฝึกตัวเองเนี่ย อยู่นี่ไม่เป็นไร ถึงคราวมันเกิดอะไรขึ้นมันโชว์ มันเป็นกีฬาของการศึกษาชีวิตของธรรมะเนี่ย การเจ็บก็เป็นกีฬาอันนึง การตายก็เป็นกีฬาอันนั้น แทนที่เราจะเจ็บเฉยๆ ไม่ใช่เฉยๆ เสียแล้ว เป็นกีฬาตรงนั้นด้วย การที่เราจะตายก็เป็นกีฬาตรงนั้นด้วย เพราะเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้การฝึกฝนอย่างนี้ ไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องช่วยตัวเองเรื่องนี้หนา การช่วยตัวเองช่วยตรงไหน ช่วยตรงที่มันไม่ปกติ ที่ไม่ใช่ความรู้ หัดบ้างฝึกหัดบ้าง เก็บตกบ้าง นอกรูปแบบก็ยิ่งดีใหญ่ ถ้าเรามีรูปแบบก็ดี เวลาว่างๆ ก็ฝึกหัดบ้าง มีพระอาจารย์มีครูบาอาจารย์สอนเราอยู่ก็ไปฝึกหัดบ้างหลายวิธีการในเมืองไทยเรา แต่เมืองไหน วิธีใดก็ไม่หนีจากสติปัฏฐาน 4 คือ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม มีอยู่กับเรา มันโชว์ มันจะหลงตรงนี้มากกว่าที่อื่น ก็ตรงนี้เป็นด่านที่กักให้คนหลงไม่น้อยทีเดียว หลงกาย มีภพ มีชาติ อยู่ในกาย เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกู เป็นตัว เป็นตนในกาย เยอะแยะไปหมดเลย เอาให้ดีตรงนี้ ถ้าเวลาในกายมันแสดงออกมาถ้ามันหลงเรารู้ทันทีเลย ไม่เสียเวลากับภาวะที่มันเกิดอะไรขึ้นกับกาย จนสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นภพเป็นชาติอยู่ในกาย
กายนั้นแสดงออกหลายอย่างหลายรูปแบบ เช่น เวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ ความร้อน ความหนาว ความหิว มันแสดงเรื่องกายขึ้นมากลายเป็นเวทนาไป จากกายธรรมดาไปสู่เวทนาได้ มันต่อไปได้ เราก็หลงตรงนั้น เราก็รู้ตรงนั้นอีก แต่ภาวะที่รู้เนี่ย ภาวะที่ทำอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้ก็พระพุทธเจ้าเคยเฉลยไว้แล้ว กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เอามาทำในใจ
เวทนาที่มันเกิดขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หลวงตาคิดว่ามันดัน เราก็รู้มันน่ะ มันไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ อันสุขทุกข์ที่เกิดจากกาย ก็มันก็เป็นเวทนา จริงแบบเวทนา มันไม่จริงแบบเรา ขอบคุณที่มันมีเวทนา มันร้อนเป็นมันหนาวเป็น มันหิวเป็น มันปวดเป็น ยุงกัดมันเจ็บเป็น เรียกว่า เวทนา ขอบคุณ จนเปรียบมาเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ใช่เลย ขอบคุณเขาที่เขาเจ็บเป็นมันหิวเป็น ไม่ใช่มาเป็นสุข ไม่ใช่มาเป็นทุกข์ เวลามันหิวมันเอามาเป็นทุกข์ เวลาอิ่มเอามาเป็นสุข ไม่ใช่เลย เป็นธรรมชาติธรรมดาของเวทนา ถ้าเราไปหลง ถ้าเราไม่หลงตรงนี้ มันจะเกิดฉลาดตรงนี้ มันเรียบไปแล้วไม่มีคลื่นไม่มีหลุมไม่มีบ่อ มันเรียบทำให้เรียบได้ ถ้ามันมีคลื่น มีสุขมีทุกข์ ว่ามีคลื่นอยู่ เหมือนทางขึ้นเขา มันจะขึ้นหน้าผาไม่ได้ถ้าไม่ทำให้มันเรียบเข้ามา ที่วัดหลวงตาอยู่เป็นคลื่นเขา เขาต้องทำให้มันเรียบถึงจะขึ้นได้
การปฏิบัติธรรมนี่ก็เหมือนกันไม่ใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ต้องลาดๆเอาไว้ ธรรมะถ้ามันสุขก็ไม่ใช่อยู่กับความสุข เป็นเวทนา เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา ไม่ใช่ เวทนาสักว่าเวทนา มันราบลงไปแล้ว ทีใดที่มันเกิดเวทนา เป็นราบไป ถ้าไม่หัดตรงนี้ ก็เป็นคลื่น เป็นหลุม เป็นบ่อขึ้นยากผ่านยาก เสียเวลาอยู่กับเวทนามากทีเดียว บางทีเสียเงินเสียทอง ไปปล้น ไปจี้ ไปลัก ไปขโมย ไปข่มขืนเอาก็มี ในเวทนาทั้งหลาย ถ้าเรามารู้มัน เวทนาก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา สร้างความเห็นไว้ก่อน แม้ยังไม่ลงตัว ก็มีความเห็นเอาไว้ กรุยทางเอาไว้ รู้ตรงนั้นด้วย เรารู้ตรงมันไม่รู้ มันก็เป็นทาง
เหมือนทางเดินจงกรมเรา ไปเที่ยวแรกก็ไม่ค่อยมีรอยหรอก เป็นใบตองเป็นดินธรรมดา เรากลับไปกลับมาสักสองรอบสามรอบมันก็เป็นทางขึ้นมาได้ กลายเป็นทางเดินจงกรม เห็นชัดเวลาเราเดินบ่อย ๆ บางทีก็เห็น ฉันใดก็ดีการฝึกตนเนี่ยมันก็มีทางไป ทางแห่งความรู้สึกตัว เหยียบไปทุกทิศทุกทาง ตรงไหนที่มันไม่เป็นทางก็เหยียบมันตรงนั้น มันหลงมันสุขก็เหยียบมันตรงที่มันสุข มันทุกข์ก็เหยียบมันตรงที่มันทุกข์ มันโกรธมันวิตกกังวลเศร้าหมองเหยียบมันลงไป ความง่วงเหงาหาวนอนมันเกิดตรงไหนเหยียบมันลงไปให้มันเป็นรอยแห่งความรู้สึกตัว มันจะเป็นรอยอยู่ทั่วไปเลย จากที่รกรุงรังกลายเป็นโล่งเป็นเตียน รอยแห่งความรู้ตัวเต็มไปหมดเรียกว่า “มหาสติปัฏฐาน” แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ลองทำให้สุดฝีมือลองดู นะ ขอท้าทายเรื่องนี้ ขอรับผิดชอบเรื่องนี้ ว่าเป็นไปได้
พระธรรมคำสอนเป็นไปเพื่อความดับทุกข์เป็นไปเพื่อความสงบเป็นไปเพื่อปรินิพพานได้จริง ๆ ถ้าเรามาฝึกตรงนี้ไม่ใช่ไปซื้อไปหามา อ้อนวอนไม่สำเร็จเลยต้องกระทำลงไป เช่น เราหลงเนี่ยใครทำให้เราหลง แม้คนอื่นทำเหรออะไรที่มันเกิดความหลง เราหลงเอง เวลาเราหลงเราไปถามใครไหม มันก็ไม่มีคำถาม เรารู้ เวลาเรารู้เราไปขอใครมาช่วยเหลือเรา ไม่มีการขอจากใครมาช่วย เรารู้เอง เวลาเรารู้สึกตัว ในเวลามันหลงความรู้สึกตัวก็ไปแทนความหลงได้ เพราะความหลงไม่จริง ความรู้สึกตัวจริงกว่า ชัดเจนกว่า ใช้ได้กว่า เป็นธรรมกว่า เลือกเป็น
แม้แต่จิตที่มันคิด มีเหมือนกัน จากที่เราดูกายอย่างเดียว ดูกายเห็นจิตดูคิดเห็นธรรม มันโชว์มาหลายอย่าง ผ่านให้ตะพึดตะพือไป จิตที่มันคิด พูดแล้วหลายครั้งหลายหน คิดที่ไม่ได้ตั้งใจ คิดแบบตั้งใจก็มีเหมือนกัน ดูรู้มันเท่านั้น เวลานี้ไม่ใช่เวลานั่งคิดหาเหตุหาผล เรามาเจริญสติเรามาดูความรู้สึกตัว ไม่ใช่มาคิดหาคำตอบจากความคิดไม่ถูกต้อง
อันความคิดมันคิดได้แต่มันไม่จริง มันรู้ได้ ใครก็รู้จากความคิด เช่น ความโกรธใครก็รู้ว่าไม่ดี ความทุกข์ใครก็รู้ว่าไม่ดี แต่มันยังทุกข์เพราะมันไม่ใช่การพบเห็น ปฏิบัติธรรมมันต้องเป็นการพบเห็นไม่ใช่คิดเห็น การคิดเห็นมันไกลอยู่ แต่การพบเห็นเนี่ย เห็นเดี๋ยวนี้ต่อหน้าต่อตา” จ๊ะเอ๋กัน จ๊ะเอ๋ความทุกข์ จ๊ะเอ๋กับความคิด จ๊ะเอ๋กับความหลงมันต่อหน้าต่อตาเห็นกับตา จับตามาดู มีคำตอบสัก 2-3 ที เรียกว่า “จ๊ะเอ๋” พูดภาษาแบบประสบการณ์นะไม่ใช่พูดภาษาวิชาการนะ คำว่าจ๊ะเอ๋เนี่ย คนหนึ่งอยู่ อยู่เฝ้าอยู่ ดูอยู่ คนอื่นผ่านมาก็เห็น ต่อหน้าต่อตาจับได้ไล่ทัน มันเท็จจริงอย่างไร เรียกว่าพบเห็น การพบเห็นมันใกล้ๆ เดี๋ยวนี้ การคิดเห็นมันไกลเกินไปอาจจะเป็น สองวัน สามวันหรือเดือน 1 ที่ผ่านไป ปีใหม่ที่ยังไม่มาถึง คิดไปได้ แต่การพบเห็นมันเป็นของจริง ของจริงมีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ ของจริงมีเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เมื่อวานนี้ ปัจจุบันเท่านั้นเป็นของจริง ทำได้แก้ได้
การศึกษากรรมฐานเป็นปัจจุบันเป็น “ปัจจัตตัง” มันหลงก็เดี๋ยวนี้ เวลามันหลงมันรู้เดี๋ยวนี้ “ปัจจัตตัง” ทันที เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เดี๋ยวนี้เป็น”ปัจจัตตัง” ไม่มีคำถามใคร เป็นของผู้ทำ นี่คือของจริงที่เราต้องศึกษากัน อย่าไปทำอะไรกันมากมาย ตั้งใจศึกษาชีวิตของตัวเอง ต้องศึกษาตรงนี้เป็นศาสตร์แห่งความตื่น ศาสตร์แห่งความรู้ ไม่ใช่ศาสตร์อันนอกจากกายจากใจไป ให้มันจบตรงนี้ก็จบไปหลายอย่าง ถ้าศาสตร์ตรงนี้จบ อันอื่นก็สะดวกไป เป็นวงจรของชีวิตไป จะอยู่ในโลกอย่างสง่างาม จึงขอชวนพวกเราให้แสวงตรงนี้หน่อย ปักหลักตรงนี้หน่อย ศึกษาตรงนี้หน่อย มีฐานตรงนี้บ้าง ตั้งฐานกันตรงนี้
หลวงตาให้กรรมฐานแก่นักปฏิบัติกรรมฐานเข้ม 40 วันที่วัด 7 วันแรกให้ฐาน ตั้งฐานไว้ก่อน อย่าหนีจากฐานไปไหน คือ ทำยังไง ให้ดู ภาวะที่ดูเนี่ยเป็นฐาน อะไรเกิดขึ้นเราดู อย่าเข้าไปเป็นกับมัน มันรู้ก็อย่าเป็นผู้รู้ มันสุขก็อย่าเป็นผู้สุข มันทุกข์ก็อย่าเป็นผู้ทุกข์ มันหลงก็อย่าเป็นผู้หลง มันง่วงเหงาหาวนอนก็อย่าเป็นผู้ง่วงเหงาหาวนอน ให้ดูมันตะพึดตะพือไปนี่ นี่ฐานมัน อย่าหลุดออกไป บางที่มันเกิดความรู้ขึ้นมา ก็อย่าเป็นผู้รู้ไป จนลืมตัวไปเป็นจินตญาณไปกลายเป็นวิปัสสนูไปได้ ก็ดูมันเรื่อยไป เป็นฐาน
ฐานหมายถึงเป็นที่ตั้งที่วางเป็นหลัก เหมือนบ้านเรามีฐานหลัก และฐานหลักแน่นหนามั่นคงก็อยู่ได้ ฐานชีวิตของเราคือกรรมฐานเนี่ยมันเป็นที่ตั้งของการกระทำ เอาตั้งไว้ ตั้งไว้ที่ความรู้เฉยๆ ตั้งไว้ที่กายบ้างเอากายเป็นที่ตั้ง หัดใหม่ๆ ต้องมีที่ตั้ง ตามรูปแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเข้าว่า การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก มีสติ มีสัมปชัญญะ การมองไปข้างหน้า อาการเดินไปข้างหน้า การถอยกลับมาข้างหลัง มีสติ มีสัมปชัญญะ ความพอใจ ความไม่พอใจ มีสติสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเนี่ย แล้วจึงมาทำเป็นรูปแบบขึ้นมาหลายวิธีการที่เราสอนกันอยู่ในประเทศไทย เราจึงมาชวนเรื่องนี้กันแล้วก็เหมาะที่สุด จึงมีสถานที่ปฏิบัติธรรมรองรับพวกเรา อย่าจนเรื่องนี่กัน มีที่รับผิดชอบเรื่องนี้กันอยู่ทั่วประเทศ เราจึงไม่ควรจะจนกัน ถ้าไม่มีที่ใดที่ไปก็ศึกษากับตัวเองได้ บทเรียนจากตัวเองมีเยอะแยะไปเลย นะ บางทีความทุกข์ทำให้เราเกิดศรัทธาได้ ความทุกข์แท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพุทธเจ้าได้
หลายชีวิตพระอรหันต์สมัยก่อน ความทุกข์เกิดเป็นพุทธะเกิดเป็นพระอรหันต์ได้ เช่น ยสกุลบุตรเนี่ย ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ วุ่นวายเหลือเกิน วุ่นวายเหลือเกิน ตอนนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ จากเดือนพฤษภาไปถึงเดือนกรกฎา เดือนกว่าๆ มาเจอคำพูดของคนพาราณสี “ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ วุ่นวายเหลือเกิน วุ่นวายเหลือเกิน” พระพุทธเจ้าอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กำลังจงกรมอยู่ตอนใกล้รุ่งได้ยินเสียงคนร้อง “ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ” พระพุทธเจ้าสวนนำออกไป “ที่นี่ไม่ทุกข์เลย ที่นี่ไม่วุ่นวาย มาที่นี่เถิด” บุคคลเหล่านั้นได้ยินคำพูดสวนมาก็เดินเข้าไปถาม เห็นพระพุทธเจ้าไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็เลยไปฟังธรรม ได้เป็นพระอรหันต์จากการทุกข์แท้ๆ มันเกิดศรัทธาหาทางออก อย่าเพิ่งไปตัดสินใจด้วยตนเอง บางทีมีคนเป็นเพื่อนทางนี้กันอยู่เยอะแยะ อย่าปล่อยให้ทุกข์คนเดียว หลงคนเดียวโกรธคนเดียว ให้คนอื่นรู้ด้วยมีทางได้
แม้แต่การเจ็บป่วยเนี่ย เดี๋ยวนี้เรามีโครงการช่วยคนเจ็บ 5 นาทีทองก่อนใจจะขาด พวกเราจึงรวมกันขึ้นมาจากพระสงฆ์เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหมอแพทย์พยาบาล ทำโครงการช่วยคนก่อนใจจะขาด 5 นาที เรียกว่า “ 5 นาทีทองก่อนใจจะขาด”
หลวงตาเคยไปช่วยคนอยู่สหรัฐอเมริการ่วมกับมหายาน ไปช่วยกันมันมีผลประโยชน์บ้าง ก็นำมาพากันตั้งกลุ่มกันขึ้นมา มาช่วยลองดูแล้วก็มีประโยชน์ ไม่มีอะไรสอนก็ไปสวดพุทธคุณ ธัมมคุณ ให้ผู้ป่วยฟัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอาศัยสรณะนี้แล้วข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ สวดกันสัก 4-5 คน ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอาศัยสรณะนี้แล้วข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ คนป่วยมันกำลังมีเวทนาแก่กล้าคิดหน้าคิดหลังมืดแปดด้าน เมื่อได้ยินคำสวดคำพูดเช่นนี้ขึ้นมา ปรากฏว่าคนป่วยแต่ก่อนหน้าหิ้วขึ้นจะตายอยู่แล้ว พอเราสวดไป สวดไป หน้ามันก็หย่อนลง หย่อนลง ยกมือพนมมือขึ้นมา มันก็ช่วยได้ 5 นาทีทอง แทนที่มันจะทุกข์ลงขนาดนั้น พอได้ยินคำสวดก็ขึ้นมา มีศรัทธาขึ้นมาฟัง เราก็พูดไป
ไปสวดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาอยู่เมืองบอสตัน ไปสวดภาษามหายาน เขาก็ “อะมีโตโพ อะมีโตโพ อะมีโตโพ”(อมิตาภพุทธะ) ภาษาใช่ไหม ใครเคยสวด “อมิตตาภพุทธมหายาน” เขาถือ อมิตตาภพุทธเป็นใหญ่ที่สุดเลย มากกว่าพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป ถ้าผู้ใดตายไปได้ไปอยู่กับพระมิตตาภพุทธ ง่ายที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย ใกล้กว่าที่จะบำเพ็ญตนไปเลย คนมหายานจึงพยายามที่จะเข้าถึง อมิตตาภพุทธ ให้ได้ เขามีเครื่องเล็ก ๆ เท่าแม่หัวแม่มือก็สวมในถุงกระเป๋าเสื้อ “อะมีโตโพ อะมีโตโพ อะมีโตโพ” เวลาขับรถก็ “อะมีโตโพ อะมีโตโพ” ได้ยินแต่เสียง “อามิตตาพุทธ”อยู่ เพราะเขาขนาดนั้นน่ะคนใกล้จะตายก็ไปสวดกับเขา หลวงตาก็ไปสวดกับเขา เขาใส่เสื้อใหญ่กลมเหมือนกับอะไรต่าง ๆ น่ะ ใส่ชุดเขามีขลิกด้วย มีเกาะด้วย เคาะไปด้วย คนป่วยก็ดีเหลือเกิน นะ เอามาใช้เมืองไทยเราก็ได้
หลวงตายังรู้เรื่องนี้กันพอสมควรเพราะอะไร เพราะเคยเจ็บสุดๆมาแล้ว เคยตายมาแล้วจริง ๆ อยากเป็นเพื่อนคนตาย คนเจ็บมากที่สุดเวลาเนี่ย มันเป็นไปได้ไหม เวลาเขาเจ็บ มองก็ไม่เจ็บได้ ลืมมันก็ได้ ความเจ็บนี่ลองดูสิ บางทีมันตกกระไดพลอยกระโจน มันจนเต็มที่แล้วเมื่อเราเป็นพวกมัน ๆออกมาได้นะ จึงว่าเหนือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
หลวงตานี่เป็นก้อนเนื้อตับอ่อน ปวดท้องมากที่สุดเลย ทำไง ไม่ได้ไปอยู่กับอาการเจ็บป่วย จะอยู่ตรงไหน เราอยู่ของเราเอง เคยมาแล้วเคยฝึกมาแล้ว เคยฝึกกรรมฐานมา 40 กว่าปี ถึงคราวจะเจ็บมันใช้ได้แล้วสิ มันเป็น “ปัจจัตตัง” ไม่ใช่ 40 ปีก่อน ดีกว่า บางทีเราก็ถ้าไม่เคยฝึกก็มีการสวดให้ฟังบ้าง ตกกระไดพลอยกระโจน ไม่ปล่อยให้ตัวเองเจ็บปวดได้เหมือนกัน อันนี้เช่นพระพุทธเจ้าไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ ได้นิพพานก่อนใจจะขาดห้านาทีเป็นไปได้ เพราะงั้นเราจึงมาช่วยกันเถอะเวลานี้มาช่วยกันก่อนให้เห็นทางไว้สักหน่อยก่อน
อ้าว วันนี้เรามาฟังหลวงตาพูด เรื่องชีวิตของเรา มันตรงกันข้ามได้ยินแล้วก็เอาไปทำเล่นๆไป ถึงคราวมันจนมาอาจจะใช้ได้นะ เมื่อมีความเกิดมันก็มีความไม่เกิด เมื่อมีความแก่มีความไม่แก่ เมื่อมีความเจ็บมันมีความไม่เจ็บ เมื่อมีความตายมันไม่มีความไม่ตายแน่นอน ออกไปเลย หนีไปเลย เอามันทิ้งไปเลย มันก็ทิ้งได้จริง ๆ นะ มันอยู่ได้ หายใจไม่ได้ อยากจะโชว์เรื่องนี้เพราะประสบการณ์มา
พูดที่ไหนก็พูดเรื่องนี้กัน มันพอใจที่จะพูดกันเพราะว่ามันเห็นกันทุกคนเนี่ย โอ๊ยทำไงหนอคนไม่มีกรรมฐานนี่ ถ้าไม่มีหลักตรงนี้เขาจะอยู่ยังไง เขาหายใจไม่ได้นะ ปวดท้องเขาอยู่ยังไงหนอ อ้าวเราต้องไปสอนเขา เราก็สอนอยู่แล้ว ถ้าสอนมากกว่านี้คิดถึงก่อนที่จะมารู้นี่ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้เราได้ฟังเอาไว้ หัดทำในใจบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้างไม่เป็นไร ถึงคราวมันจนมาได้ประโยชน์เยอะแยะไปก็มี อันนี้คือของจริงชีวิตเรา มันไม่ใช่ปล่อยตัวให้เจ็บให้ปวดให้จนต่อความเจ็บ ความตาย ไม่ใช่เลย
ชีวิตของคนเราก็พัฒนาได้ จนเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยกรุยทางตั้งแต่รู้ซื่อ ๆ นี้ไป เอาภาวะที่รู้ซื่อ ๆ นี้ไปเลย ไม่มีค่าอะไร ความเจ็บก็ไม่มีค่า ความแก่ความตายไม่มีค่า มันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เช่น เมื่อคราวก่อนหลวงตาเคยมาสวดให้ฟังที่นี่ว่า “สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารไม่เที่ยง” สังขารมันไม่เที่ยงจริง ๆ เป็นกายสังขาร เป็นจิตตะสังขารไม่เที่ยง “เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน” ในความไม่เที่ยงมันมีพระนิพพานอยู่ ในความไม่ทุกข์มันมีพระนิพพานอยู่ ในความไม่ใช่ตัวตนที่เราเคยเป็นทุกข์มันมีนิพพานอยู่เที่ยงด้วย อย่างนี้ จะจนทำไมพวกเรา มองอย่างนี้ ทางออกของเราเยอะแยะ ฟังเอาไว้ ว่ามีคนพูดเรื่องนี้อยู่เวลานี้ มีคำสอนมีหลักฐานมีจริง ๆ ในเรื่องนี้กัน อย่าให้มันหมดไปเอามาพูดเรามาสวดกันมาสอนกันว่าท้าทายสักหน่อยว่าความจริงนี่เรื่องนี้มันมีอยู่จริง ๆ
พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมาบอกมาสอนพวกเรา ยังเป็นปัจจุบันอยู่ ยังไม่หนีไปไหนความไม่เที่ยงก็อยู่กับเราอยู่ ความเป็นทุกข์ก็อยู่กับเราอยู่ ความไม่ใช่ตัวตนก็อยู่กับเราอยู่ เราไปกลัวทำไม เราใช้ประโยชน์จากมันเลยนะ ดี ดี๊ดี เห็นความหลงนี่ดี โอ๊ยชื่นใจ เห็นความทุกข์ก็ชื่นใจ เห็นความสุข ความรัก ความชังชื่นใจ เห็นความง่วงเหงาหาวนอนเศร้าหมองจิตใจชื่นใจจริง ๆ ไม่ใช่เอามาเป็นเรื่องเศร้าหมอง เราเอามาเป็นเครื่องเศร้าหมองก็ไม่ถูกเลย ผิดที่สุดเลย เอามาเป็นเรื่องเรืองปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ความรอบรู้ในกองสังขาร สารพัดอย่าง สังขารคือมันแสดงออก สิ่งใด ๆ ในสังขารชี้หน้ามันลงไปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เหมือนช่างหม้อ พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนช่างหม้อให้ตัวสังขารนี่ปั้นหม้อขึ้นมา สวยบ้างไม่สวยบ้าง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่แตกทั้งนั้น อันใดที่เกิดจากสังขารไม่เที่ยงทั้งหมดเลย ชี้หน้ามันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่าให้มันเป็นใหญ่ทำไม ไปแขวนกับมันทำไม เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับสังขารกับเครื่องปรุงแต่งพอใจไม่พอใจ เสียเปรียบสังขาร เสียเปรียบความทุกข์ เสียเปรียบความโกรธมามากพอแล้ว เอาประโยชน์เถอะพวกเรา พอมันทุกข์ทีไรมันชื่นใจ จะได้เห็นหน้าเห็นตามันเป็นอย่างนี้ หน้าตาของความทุกข์ หน้าตาของความเป็นซื่อตรง ๆ มันตรงกันอย่างนี้ มองอย่างนี้มองแบบผู้ยิ่งใหญ่ เราจะให้ค่ามันซะหน่อยก็
หลวงตาเคยอุปมาอุปไมย มีพระปฏิบัติธรรม เขาปฏิบัติธรรมมาหลายปี เขานึกว่าเขาหมดกิเลสตัณหาไป พอดีเขาเกิดราคะขึ้นมา เขาเสียใจ ๆ เศร้าหมองมาหาหลวงตา “ผมปฏิบัติธรรมมา ผมว่าผมหมดภาวะเช่นนี้แล้ว ทำไมมันเกิดขึ้นมา ผลจากการปฏิบัติธรรมของผมมันไม่ได้ผล” เสียใจมาหาเรา เราก็บอกว่า โอ้ย ยากอะไร กิเลสเหมือนหมาตัวหนึ่ง สติของเราเหมือนช้างตัวหนึ่ง หมามันเห่าช้างไปกลัวทำไม มีบ้างหวั่นไหว ทำไมล่ะ พอหลวงตาพูดขึ้นมาก็ยิ้ม เอาสู้อีกสู้อีก คนอื่นฟังเอา ได้ทีเลย โอ้ย หมาเห่าช้างใช่ไหม กิเลสเหมือนหมาตัวหนึ่ง สติสัมปชัญญะของเรา ปัญญาของเราเหมือนช้าง หมาเห่าช้างจะไปหวั่นไหวอะไร จิ๊บจ๊อยทีเดียวเลย ไม่ใช่ยิ่งใหญ่ คิดว่ากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ไม่ใช่ทั้งนั้นเลย สำหรับคนที่ไม่รู้
คนที่รู้แล้วมีประโยชน์มาก เยอะแยะไปเลย ผลประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ หนีความง่วงเหงาหาวนอน นิวรณ์ธรรมต่าง ๆ ที่เป็นทางขวางกั้นไม่ให้พระอริยบุคคลเบื้องต้นเกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่า “สังโยชน์” ถ้ามองดูจริง ๆ แล้ว หลวงตาก็เปรียบเทียบว่า อ้าว สังโยชน์เนี่ยเหมือนแมลงตัวหนึ่ง สติสัมปชัญญะเหมือนนกอินทรีย์ นกอินทรีย์ต้องกินแมลง ไม่ใช่แมลงกินนกอินทรีย์ มองถึงสังโยชน์ทั้งหลายเหมือนแมลงตัวหนึ่ง มันก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอื่นได้ มันใหญ่กว่าสติอินทรีย์ตัวนี้มันยิ่งใหญ่ที่สุดเลย เป็นใหญ่ที่สุดเลย ใหญ่กว่าตาหู ถ้าเราให้โอกาส เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยให้โอกาสแก่สติอินทรีย์เท่าไหร่ ให้ตาให้หูเป็นใหญ่ ให้จมูกลิ้นกายใจเป็นใหญ่ แต่ต่อไปเราสร้างสติอินทรีย์ขึ้นมาให้มันเป็นใหญ่ ลองดูซิ มันจะมีคุณภาพอะไรลองดูสักหน่อยดูซิ อะไร ๆ ก็ตาม ให้สติออกหน้าออกตา ให้สติเป็นเจ้าของกาย เป็นเจ้าของใจ ลองดูก่อน อย่าให้ความหลงมันออกหน้าออกตา อะไรก่อนพูดจะคิดจะทำมีสติเสียก่อน หัดซะก่อน เอาไปเอามามันก็เป็นไปเอง ง่าย
ถ้าหัดใหม่ๆ ก็ต้องทวนกระแสสักหน่อย อาจจะหลงก่อนรู้ก็ได้ ตัวหลงตัวรู้มันคู่กัน จึงพยายามที่จะตั้งต้นให้ดี ๆ จากการฝึกฝนตนเองนะ นี่ก็คือพูดเรื่องปฏิบัติ ทุกคนก็เคยปฏิบัติกันมาบ้าง แม้ไม่เคยปฏิบัติก็ยิ่งดีใหญ่ ดี จะได้เห็น จะได้รู้ จะได้ไปทำดู เอาการกระทำเป็นการฝึกฝนตนเอง เรียนรู้จากตัวเอง จึงได้คำตอบจากตัวเอง เป็นบทเรียนจากตัวเอง เป็นปัญญา ที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่ปัญญาทั่ว ๆไป
พุทธะเนี่ยเกิดปัญญาจากการรอบรู้จากกองสังขาร อันนี้เป็นการชี้แนะแนวทาง ยืนยันว่ามันเป็นไปได้อย่างนี้ อย่าไปเสียเวลากับทางอื่นเลย มาเริ่มต้นจากเหยียบตรงนี้ไป ถ้าเราจะให้เป็นทาง เราต้องเหยียบเป็นทางไปก่อน สร้างตัวรู้ ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ ไปก่อน ให้มันเต็มตัวไปเลย มันจะกลายเป็นทางที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าเราไม่สร้างตัวนี้มันก็รกรุงรัง มองไม่เห็น เห็นแต่ความหลงออกหน้าออกตา ความทุกข์ออกหน้าออกตา ความวิตกกังวลออกหน้าออกตา เป็นปัญหาเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเรา ถ้ามีความรู้ซื่อ ๆ ตัวนี้เข้าไป มันก็ง่ายๆ ชีวิตจะเรียบง่ายไม่หนัก ๆ ถ้าเป็นน่ะมันหนัก ถ้าดูมันเบา ถ้าดูมันเบา เหมือนรถที่มันใช้เกียร์หนักที่สุด มันก็ทรุดโทรมได้ง่าย
เพราะฉะนั้นหลวงตาพูดแล้วพูดอีกว่า บ้านหลวงตาอยู่บนหลังเขาเนี่ย รถที่มันขึ้นเขาชาวบ้านที่อยู่บนนั้น รถโดยสารที่เขาซื้อมาใหม่ 10 ปีแล้วนะโทรมหมดเลย เวลาลงก็ใช้เกียร์หนัก เวลาขึ้นก็ใช้เกียร์หนัก มันก็หนักมันก็โทรมง่าย ไม่เหมือนรถกรุงเทพมหานคร อันชีวิตของเราถ้ามันหนักมันก็ไม่ทนทานนะ ตอนนี้ในการแพทย์เขาพูดว่าถ้าคนหนักมาก อาจจะแก่ชราช่วงอายุ 25 ปีไป ไม่ใช่อายุ 70-80 ปี ถ้ามันหนักมาก 25 ปีก็แก่แล้ว เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามมันเบาๆ ความรู้ซื่อมันเบาๆ ลองสัมผัสดูสิ อะไรก็ซื่อ ๆ ลองดู ทำซื่อ ๆ อะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นจะไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำงานทำการก็ซื่อ ๆไป ใครจะนินทาก็ทำซื่อ ๆไป ซื่อ ๆมันถูกต้องมันจะเบาๆ เพราะกายลหุตาเบากาย จิตลหุตา เบาจิต เป็นเช่นนี้เอง
ผลของการศึกษาปฏิบัติฝึกหัดตัวเองมันมีอานิสงส์มากนะ ดังพระพุทธเจ้าแสดงไว้ 1). เป็นพระอนาคามีในชาตินี้ 2). เป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินี้ อรหันต์ไม่ใช่ใครที่ไหน ถ้าจะเป็นจิตก็จิตไม่กระเพื่อม อรหันต์เขาหมายถึงจิตนะ ไม่ฟูขึ้นไม่แฟบลง ปกติ บ้านของจิตคือปกติ ไม่ใช่รูปโกนผมห่มผ้าเหลือง ไม่ใช่รูปอะไรที่ไหน เขาวัดกันด้วยจิตใจ ปกติอย่างนี้ ปกติคือบ้านของใจ ถ้าใจไม่มีปกติเอาใจพลัดบ้านไปแล้ว ภาวะซื่อ ๆ มันต้องเป็นใจปกติได้ หลวงตาอาจเสียงในนี้ลิ้นแข็ง คงจะลาเราได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่อยากไปโชว์ที่ไหนแล้ว มันแก่แล้ว หมดสภาพลงแล้ว เหมาะที่จะมาบรรยายที่นี่ไหม ให้คุณใหม่พิจารณาดู อยากอยู่ตามประสาคนแก่ เดี๋ยวนี้อยู่วัดก็ไม่ใด้ทำอะไรแล้ว อาศัยเพื่อน เพราะฉะงั้นก็อย่าไปเอาผิดเอาถูกเกินไป เอาตัวเองนั่นแหละมากที่สุดนะ
งั้นก็ด้วยจิตใสใจศรัทธาของเราทั้งหลายที่ตั้งใจ มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาภาคปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกฝนตนเอง นำไปใช้นำไปฝึกลองดู เวลานี้ไม่ใช่หลวงตามาพูดให้จำเอา มาพูดแล้วเอาไปทำดู ว่าจะเกิดกุศลขึ้นมา ขอจงเป็นพลวปัจจัย ค้ำจุนหนุนส่งให้ทั้งทุกท่าน จงมีความสุขกายสบายใจปราศจากทุกข์โศกโรคภัยอันตรายทั้งปวง มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ประกอบกิจการงานชอบด้วยศีลธรรมให้สำเร็จตามความประสงค์ ได้มีโอกาสเข้าถึงพระคุณธรรมเบื้องสูง ในศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติปัจจุบันนี้ด้วยกันทุกคน และได้ช่วยคนอื่นให้รู้ตามให้เกิดความสุขถ้วนหน้าทุกคน ทุกคนด้วยเทอญ