แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรามาสายตรงๆ ซะหน่อย ถ้าสายอ้อมมันก็เนิ่นช้า ประเด็นที่เราต้องศึกษาในชีวิตของเรา ศึกษาเรื่องชีวิตล้วนๆ เหมือนเราเดินทาง อย่าฝะหร่งฝรั่งเกินไป ไม่ต้องรบแนวหน้า ไม่ต้องปลูกข้าวปลูกป่า เตรียมเครื่องเสบียงติดตัวไปพอที่จะได้อยู่ได้กินเล็กๆ น้อยๆ ไป การศึกษาชีวิตของเรานี่ก็รีบด่วนสักหน่อย มัวแต่ต้องแวะอะไรอยู่ก็ไม่ได้ ลังเลสงสัยหาคำตอบจากคำถาม หาคำถามจากคำตอบ บางทีคำที่ถามเรายังไม่ได้ทำ ผู้ที่ตอบเลยยังไม่มี จะตอบได้ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ฟัง อย่างตายแล้วไปไหน นั่นแหละ ตายแล้วเกิดอีกหรือตายแล้วสูญ แล้วเกิดไปไหน แล้วสูญแล้วไปอย่างไรทำอย่างไร ผู้ที่ตอบก็ตอบให้ ผู้ที่ได้คำตอบก็ไม่มีประโยชน์อะไร บางอย่างมันต้องสัมผัสเอา ไม่ใช่เกิดคำถาม สัจธรรมไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ คนอื่นตอบให้ไม่ได้ อย่างเราสร้างกรรมฐานนี่ มือเราอยู่ตรงไหน มือวางไว้เข่า มือก็อยู่บนเข่า เราเห็น แต่มีใครมาทักท้วง “มือของคุณอยู่ข้างหลัง” มันก็ไม่รู้ เพราะเรารู้เราเอง ตะแคงขึ้นเราก็รู้เอง มันหลงเราก็รู้ มันหลงจังๆ ต่อหน้าต่อตา มันก็รู้จังๆ ต่อหน้าต่อตา ตาต่อตา
ความจริงก็ต้องเป็นความจริง ความไม่จริงก็ต้องเป็นความไม่จริงเสมอไป แต่บางทีเราไม่ให้มันชัดเจนเรื่องนี้ หลงแล้วหลงอีก แล้วจะเอายังไงพวกเรานี่ ปีใหม่แล้ว 2552 แล้ว มันจะเหมือนเดิมอยู่หรือ ออกศึกษาจริงๆ ดู พวกเราจะขอเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่นี่ ตายด้วยกันลองดู อยากจะท้าทายเสียแล้ว มันนานเกินไป ชีวิตของเรานี่น่าเสียดาย ไปหลงอยู่นานแต่ล่วงข้ามหมายถึงอีกปีหนึ่งต่อไปเท่าไหร่ จะทุกข์อยู่เท่าไหร่ อะไรที่มันเกิดความหลง อะไรที่มันเกิดความทุกข์ ก็มีแต่ไปยอมรับมันง่าย หลงทีไรก็ง้ายง่าย ทุกทีก็ง่ายพร้อมจะรับ โกรธทีไรก็ง่ายพร้อมจะรับ รับความทุกข์ รับความโกรธ รับความโลภ รับความหลง ถนอมเหลือเกินความทุกข์ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นพิษเป็นภัยต่อเรา
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือว่าทำไมมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย สิทธัตถะเป็นสามัญชนไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร แต่เป็นสมมติวรรณะตามสมมติของโลก แต่จริงๆ เหมือนกันกับเรา เห็นเรื่องนี้ คิดเรื่องนี้ ไม่มีใครตอบได้ สิทธัตถะถือว่าเป็นการบ้าน ถือว่าเป็นการบ้าน ยอมศึกษา เห็นคนเกิด เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นสมณะ เห็นต่อหน้าต่อตา คนเกิดก็เป็นอย่างไร คนแก่เป็นอย่างไร คนเจ็บเป็นอย่างไร คนตายเป็นอย่างไร เห็น แล้วมีใครสนุกสนานเพราะความตายความเจ็บ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เราก็เหมือนกันน่ะจะทำอย่างไร แม้เรายังไม่ถึงเวลานั้นก็ตัดสินใจไว้แล้ว มันตัดสินไว้แล้ว วันนี้เราก็แก่ไปอีกวันหนึ่งแล้ว สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้มันเกิดจากอะไร สิทธัตถะจึงออกศึกษา ยึดเอาสมณะนักบวชเพราะเป็นนักรบที่พร้อมที่สุดเพื่อศึกษาเรื่องนี้ อยู่ในปราสาทสามฤดู พระราชวัง สาวสนมกำนัลใน ทรัพย์สินศฤงคาร ไม่เหมาะที่จะศึกษาเรื่องนี้ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์จัดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าสุทโธทนะมุ่งประเด็นไว้จะให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ จึงเสียสละ แม้แต่มีพิมพาเมียรักก็ต้องเอามาร่วมกัน เพื่อทำความดี ไม่ใช่ทิ้งความรัก ให้ความรักพาทำความดี
เรารักลูก รักเมีย รักพ่อ รักแม่ จึงทำความดี เรารักเพื่อนมิตร รักประเทศ เราจึงมาทำความดี ไม่ใช่ความรักอยู่ในหัวใจ อาลัยอาวรณ์ ห่วงใย ไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่ความรัก ถ้ารักลูก รักเมีย รักพ่อ รักแม่ ต้องขยันหมั่นเพียรทำความดี ทำงานทำการ หาเลี้ยงชีวิต เก็บหอมรอมริบ รู้จักใช้ รู้จักจ่าย อะไรที่มันเป็นความเสียหายให้เว้นละไป อันนี้สิทธัตถะออกศึกษาเรื่องนี้ หอบความรักไปด้วย รักใคร รักคนทั่วโลก คนทั่วโลกจะต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เราจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ นี่คือความรักอันยิ่งใหญ่ เอาคู่สองคู่ พิมพา-สิทธัตถะ เอาความรัก เอาเถอะ เอาเถอะ ถ้านี่เป็นความรักอันสุดยอด หากความรักเพียงเรา 2 คนมันคับแคบ ให้มันเป็นของยิ่งใหญ่ไป ไปอยู่ที่เป็นนักบวชก็คิดถึงความรัก เราสัญญาจะมาทำรับผิดชอบเรื่องนี้ เถลไถลไม่ได้
แม้ถึงเวลาที่ศึกษาจนเอากาย เอารูปนี้ทรมาน นอนเสี้ยน นอนหนาม ไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ ไม่หายใจ เพื่อหาคำตอบเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย ล้มลุกคลุกคลานนานถึง 6 ปี สู้ ไม่ใช่สู้โดยตนเอง เคียงบ่าเคียงไหล่ความรัก สัญญากับพิมพา 2 คน ล้มเหลวไม่ได้ ตายเป็นตาย ตายเพราะความรัก รักมนุษย์ จนถึงปีที่ 6 หมดท่า ปัญจวัคคีย์ได้จับลุกจับนั่ง ไปไม่รอด ซัดๆ เซๆ น่ะ ลงตามลุ่มน้ำเนรัญชรา จากดงคสิริตอนเหนือของเนรัญชรา หลวงตาเคยไปดู ไปดูถ้ำดงคสิรินะ ไม่ใช่เหมือนหอไตรนะถ้ำดงคสิริ (หัวเราะ) ที่สิทธัตถะถึงเป็นโอรสาธิราชไปอยู่ที่นั่น ปีนหน้าผาขึ้นไป เจ้าคุณมหาไหลต้องให้แขกหิ้วปีกขึ้น สู้เราก็ไม่ได้ เราไม่ต้องให้ใครหิ้วปีก เดินขึ้น เซซัดเซโซมาถึงเนินบ้านหน้าบ้านของคนที่ถวายมธุปายาสคนแรกน่ะนางสุชาดา มานั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ นั่งอยู่ใต้ต้นนิโครธนะ ต้นนิโครธก็เหมือนต้นหน้าศาลาโรงทานน่ะเห็นไหม ฮั่นแหละ (นั่นแหละ) หลวงตาเป็นคนปลูกล่ะน่ะ มีฝีมือนะ เออ มีใครบ้างปลูกต้นไม้ได้ขนาดนี้ อยู่เนี่ยมีไหม (หัวเราะ) สร้างศาลาเสร็จใหม่ เอาต้นนิโครธมาปลูก
ทีแรก (สิทธัตถะ) ก็นั่งอยู่นั่นน่ะต้นนิโครธน่ะ ฝั่งตะวันออกเนรัญชรา คนสมัยก่อนนึกว่าเทพเจ้า สุชาดานึกว่าเทพเจ้าเอาของมาบูชา ไม่ต้องเล่ารายละเอียด ก็ได้กำลังวังชาขึ้นมา ทีแรกลงอาบน้ำเนรัญชราขึ้นไม่ได้ แต่ก่อนเนรัญชราไม่ราบลุ่มเหมือนนี่ ทุกวันนี้เป็นทรายไปหมดแล้ว ต้นไม้หมดเหมือนกับลำปะทาวเรานี่ แต่ก่อนลำปะทาวนี่ถ้าไม่ลงท่า ลงไม่ได้ ต้องแขวนรากไม้ปีนขึ้นไป จึงเรียกบ้านแถวนี้เรียกว่าท่าทางเกวียน ท่าเว่อ ท่ามะไฟหวาน ท่ากอก ท่าหินโงม นั้นลงได้เท่านั้น ถ้าไม่มี เดี๋ยวนี้ลงได้ทั่วไป อีก 30 ปีลำปะทาวก็เหลือแต่หาดทราย
นั่งอยู่นั่น อาบน้ำขึ้นไม่ได้ ต้องให้เด็กเลี้ยงควายมาช่วยพยุงขึ้น ปัญจวัคคีย์เขาพยุงขึ้น พิสูจน์ด้วยตัวเอง ทดลองแล้วว่าไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ เป็นไปไม่ได้ ไม่หลับไม่นอนนี่เป็นไปไม่ได้ ต้องมากินข้าวหาเรี่ยวหาแรงเพื่อจะทำบำเพ็ญทางจิต นั่งอยู่ที่ไหน ๖ ปียังคิดถึงพิมพา ราหุล ยังคิดถึงปราสาทสามฤดู ห่วงหน้าห่วงหลัง มันเป็นไร แม้แต่กายมันจนจะช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นช่วย มันยังโกรธปัญจวัคคีย์ เอ๊ะ มันตั้งใจแน่นอน เอาล่ะ ถ้าจะเอาใจ การที่บำเพ็ญทางใจนี่ต้องมีเรี่ยวมีแรงสักหน่อย ต่อสู้อีก ก็กินข้าวแล้วก็ไม่เหมาะ เด็กเลี้ยงควายมากเกินไป เนรัญชราไปดูทุกวันนี้แถวนั้นมีสวนกะหล่ำปลีเต็มไปหมดเลย ทุ่งนาก็เดินข้ามเนรัญชรามาพุทธคยาฝั่งตะวันตก มีโสตถิยพราหมณ์เดินมาผ่านกันไป ไปเกี่ยวหญ้า เห็นท่าทางลักษณะน่าเคารพเลยถวายหญ้าคา ไม่มีอะไร สิทธัตถะก็รับเอามาปูนั่งศรีมหาโพธิ ตั้งใจแล้วว่าขอนั่งครั้งสุดท้าย ดูซิ สามัญชนน่ะอะไรมันเก่งขนาดนั้น (หัวเราะ) เราจะไม่กราบไหว้ยังไงศาสดาของเรา จะนั่งครั้งสุดท้าย จะไม่ลุกเลย ตายเป็นตาย ตายเป็นตาย ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมชั้นใดชั้นหนึ่ง เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ แต่ที่นั่งน่ะพิงต้นโพธิ์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
หลวงตาเข้าไปกราบ เขาสร้างลูกกรงไว้ เขาไม่ให้คนเข้าถึงต้นศรีมหาโพธิ์ เพราะคนไปขูดเอาเกล็ดเอาอะไรไป มันจะตาย แขกเลยสร้างกรงเหล็กไว้ มีแขกนั่งเฝ้าประตูอยู่ ก็อยากจะเข้าไปใกล้ๆ เผลอๆ ก็เอารูปีให้แขกเปิดให้เราหน่อย (หัวเราะ) แขกก็เปิดให้ เราเข้าไปกราบ กราบต้นศรีมหาโพธิ์ กราบแท่นศิลาอาสน์เลย โอ้ ลึกซึ้งนะ ก็นั่งอยู่หน่อยหนึ่ง ใบโพธิ์หล่นลงมาใส่ตัก เอ้อ เลยหยิบเอา หยิบเอาลงมา มาวัดป่าสุคะโตนะ “ได่ใบโพธิ์มาบ่ หลวงพ่อซั่น” “ห่วยได่มาแล่ว ว่ะ เอาให้เลย” บางคนก็เอาอย่างนั้นน่ะ จนไม่ลุกจะจริงๆ ถ้าไม่บรรลุธรรมจะไม่ลุกจากที่นี่ บำเพ็ญทางจิตนี่แต่ก่อนมันอ้อมเกินไป มันมีใครมีจิตเนี่ย เอ้า มันคิดอะไร รู้มัน รู้มัน ในพระสูตรก็ตรัสไว้เนี่ย ยกมือสร้างจังหวะ ในมือพระองค์อาจจะอยู่นิ่งบ้าง อาจจะไม่อยู่นิ่งบ้าง เห็นไหมพระพุทธรูปปางต่างๆ ไม่ใช่นั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียว ตาเวลาปางตรัสรู้นี่ไม่ค่อยหลับนะลืมตา ทุกวันนี้เราพากันหลับ หลับตาจนนั่งสัปหงก ไม่เคลื่อนไม่ไหว 8 ชั่วโมงเอาอยู่
พระพุทธเจ้านี่ สิทธัตถะเมื่อบำเพ็ญพรตเนี่ย ธรรมดาสังเกตดูเคลื่อนมือมา แต่ก่อนอาจจะอยู่ตรงนี้ ต่อมาอาจจะอยู่ตรงนี้ จึงมีคำตรัสไว้ การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก รู้สึกตัว ถ้าไม่มีส่วนประกอบมีการสัมผัสกับกายจริงๆ มันไม่ใช่สติ เราคิดเอา คิดเอา รู้แล้ว รู้แล้ว ไม่ใช่ ต้องสัมผัสกายข้างในจริงๆ รู้ก็รู้จริงๆ มือของเราอยู่ตรงนี้ก็รู้จริงๆ เคลื่อนมานี้ก็รู้จริงๆ จ๊ะเอ๋กับความรู้ ความหลง ระหว่างรู้ ระหว่างหลง สองต่อสอง ไม่มีใครไม่เห็นความหลง ไม่มีใครทำความรู้ไม่ได้ ทำได้ทุกคน ระหว่างความรู้สึกตัว ระหว่างที่มันหลง พอดีกันเลย มันหลงทีไรรู้สึกตัว แต่ก่อนมันหลงไม่เคยรู้เลย บางทีคิดถึงพิมพา ปราสาท เปรียบเทียบ กลัวตาย ต้องมีแน่นอน ภาษาธรรมเขาเรียกว่า “มาร” กิเลสมารก็ยังมี เคยมีครอบมีครัว มีลูก มีเมีย ย่อมคิดถึงลูกถึงเมีย การสมสู่ การอยู่ใกล้ชิด การสนิทสนม การมองหน้า การหัวเราะ การมีความสุขร่วมกัน คิดถึง เอ้า กลับมา รู้มันใช่ไหม เออ บางทีห่วงใย กลัวตาย นั่งอยู่ก็ไม่มีหลังคาแบบนี้ กลัวตาย ฝนตกบ้าง ลมพัดบ้าง บางทีสัตว์เลื้อยคลานมาบ้าง งูจงอางเลื้อยมาเห็นไหม งูเห่าเลื้อยมานั่นน่ะมันกลัวตาย ไม่มีหลังคา ไม่มีอะไร นั่งหญ้าคาที่โสตถิยะพราหมณ์ให้มาเท่านั้นแหละ ไม่มีเบาะนั่งแบบนี้ ก็คิดไป บางทีก็สังขารถ้านั่งนานก็ปวดก็เมื่อย กายสังขารไม่มีใครไม่ปวดขาหน้าแข้ง นั่งนานก็หลังขดหลังงอ
กรรมฐานนี่ระวังให้ดีถ้านั่งไม่เป็นน่ะ ต้องปรับตัวใหม่ ตั้งต้นใหม่เรื่อย จะให้เป็นอิริยาบถเก่าๆ อิริยาบถเก่ามันพร่า เปลี่ยน ยืดตัว ยืดหน้าอก ยืดต้นคอ วางใบหน้า ใบหน้าเนี่ยอย่าก้มอย่ามองอย่างนี้ ให้มันได้ฉาก แล้วก็มองไปข้างหน้าห่างจากเข่าไปประมาณความสูงเท่าตัว วางสายตาได้นาน ถ้าวางไม่ถูก วางสายตาไม่ค่อยได้นานแล้วก็เถลไถล ก็ยืดหน้าอกขึ้น มันจะหดลงก็ยืดขึ้น
ถ้ามีที่นั่งเหมือนพระพุทธเจ้า พิงอาจจะพิงต้นศรีมหาโพธิ์ ไม่มีเสาอย่างนี้นะ เดี๋ยวนี้เขามีที่นั่งอย่างดีเลยไปหามา ถ้าจะเป็นต่อสู้เรื่องนี่หามาใช้ อย่างต่างประเทศเขาพวกนักกรรมฐานเขาจะมีเบาะไม่เหมือนเบาะบ้านเรา หลวงตาว่าอยากจะได้อยู่เหมือนกัน เป็นเบาะกลมๆ พอดีกับก้น พอนั่งลงมันจะทำให้หลังตรง ไม่ใช่เบาะแบบนี้ เบาะแบบนี้เสมอวางน่องกับก้นเสมอกัน ต้องให้ก้นสูงกว่าน่องสักหน่อยหย่อนลงนั่งได้น้านนาน หลวงตาไปนั่งแข่งกับฝรั่ง เฮ้ย มันนั่งได้นาน เบาะกลมๆ สูงสักหน่อย นั่งลงได้ก้นพอดี หย่อนน่องลงนะนั่งได้นาน พวกเรานี่นั่งบางทีก็หลังขดหลังงอ ลองนั่งดีๆ ซิ ไม่ใช่เบาะแบบนี้ เบาะกลมๆ มนๆ เหมือนกับหมอนอะไร หมอนอะไร หมอนไข่บึ้งติ แต่สูงใหญ่กว่านั้น มันทำวิจิตรพิสดารกว่านี้ โดยมากเป็นผ้าสีกรัก สีดำ วางเป็นกองท่วมหัวเลย ใครมาก็หยิบมานั่ง
แต่ก่อนจะนั่งฟังเทศน์นี่ปฏิบัติธรรมต้องเอาเงินดอลลาร์ใส่กล่อง ขึ้นมาก็มอง ฝรั่งนะ ขึ้นมาก็มองหากล่องพกดอลลาร์ใส่ ถ้าไม่ใส่กล่องแล้วเขาไม่นั่ง หลวงตาอ๊ายอาย เวลาเขามานั่งฟังเทศน์นี่ต้องใส่กล่อง ขอร้องว่าไม่ให้ทำ รู้สึกว่าไม่ชอบ อายเขา เหมือนกับมารับจ้าง แต่เงินที่เขาได้ไม่ใช่เอาให้เราดอก เขาก็เก็บเอาค่าเครื่องบินไปกลับของเรา (หัวเราะ) แล้วเขาก็คิดอย่างนั้น “ไม่ได้ ไม่ทำไม่ได้” เขาบอกอย่างนั้น บางทีก็ได้กำไรนะ ค่าเที่ยวบินแสนสองแสนเนี่ย (หัวเราะ) พวกเรานี่ได้ยินเข้า หมอศันสนีย์ว่าเก็บคนละสองสามร้อย โอ้โห อายเหมือนกันนะ ยิ่งพวกเราพูดว่าขาดทุนได้กำไร หยุดเลย เราพูดเลยไม่ได้เด็ดขาด มันไม่ใช่ชีวิตจิตใจของเรา โอ๊ย มันจนน่ะ จนจริงๆ นะ ให้หลวงตาบอกมา
มีจนอยู่เหมือนกันที่นี่ แต่ก่อนฮ้ง ฮ้งคนเชียงรายมาอยู่ด้วย อ้อๆ แอ้ๆ พูดไม่ออก มาอยู่ด้วย “อาหารมื้อสุดท้ายแล้ว พรุ่งนี้จะได้อะไรกิน” ยังไม่เคยได้ยินเขาพูดคำนี้เลย แม่ชีไม่มาบอก ให้มันขนาดนั้นจริงๆ นะ ไม่มีอะไรทำอีกพรุ่งนี้หมดแล้ว ข้าวก็หมด พริกเขืออะไรหมดแล้ว หลวงตาก็ไป ไปบอกโยม เอ้า หาข้าวให้สักหน่อย หาพริก หาปลาร้าให้สักหน่อย ให้เกลือ เขาเก็บมาให้หาบมา ไม่มีรถเหมือนทุกวัน พอดีเขาบอกกลุ่มศึกษา ที่สุคะโตอาหารขาดแคลน เขาก็แพ็คของมา เอาขึ้นรถมาหายไปกล่องนึง มาลงหน้าผาแบกให้คนแบกขึ้นมา ตอนเอาลงไม่รู้หายไปไหน แบกหายไปกล่อง อันที่หายมันโปรตีนเกษตร แต่ก่อนเราก็ฉันแบบนั้นนะ เอาโปรตีนเกษตรมาลาบมาอะไร ไม่เห็นมีสักทีเดี๋ยวนี้นะ แต่ก่อนฉันประจำ บางทีแม่ชีเหนื่อย เอ้า หลวงพ่อเสถียรเป็นพ่อครัว ชาวบ้านติฉินนินทา ทำไมให้พระปรุงอาหาร ทำไมโยมไม่ทำ เห็นบ่ล่ะ หลวงพ่อเสถียรปรุงอาหาร คุณสมชายด้วย พระก็ช่วยกัน เอ้าๆ เถลไถลไปแล้วเรื่องกินแล้ว (หัวเราะ)
เนี่ยปฏิบัติธรรมน่ะต้องเอาจริงๆ นะ อย่ามัวแต่ถาม คนมีความรู้อะไรต้องถาม บางทีสัจธรรมไม่มีคำถาม ต้องทำลงไป สัมผัสลงไป เห็นความหลง เห็นความรู้ เห็นความทุกข์มันแสดง กายมันแสดง แสดงความทุกข์ อย่างเราสวดน่ะพระสูตรอนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายเช่นนี้เป็นส่วนมาก สาวกทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้เป็นส่วนมาก คือ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง เอ้า รูปมันแสดงออก รูปคือมหาภูตรูป มันเที่ยงเมื่อไหร่ มันก็ไหลไป เห็นต่อหน้าต่อตา เวทนาเกิดขึ้น เอ้า มันก็ไม่เที่ยง มันมี แล้วสิ่งนั้นเกิดขึ้นเรารู้หรือว่าเราเป็นไปกับมัน ถ้าไม่ศึกษาไม่เห็นตรงนี้ มันจะไม่จบเลย ความหลงก็อยู่ตลอดไปข้ามปีมาแล้ว มีไหมความโกรธตามมาไหม ปี 52 เนี่ย ก็เอาเถอะพวกเรานะ เอาจังใด๋หนา ไม่น่าจะเป็นไป มันทำไมจึงหลง จึงโกรธกัน มีประโยชน์อะไร มันก็ทำได้นี่นะ
เมื่อมันหลงทีไรรู้ซะเนาะตรงนี้ จึงจะเป็นการกระทำที่จำแนกชีวิตเราได้ ไม่ต้องทำไม ทำไม พอมันหลงปั๊บก็ไม่มีทำไม ให้รู้สึกตัว พอมันคิดอะไร รู้สึกตัว อะไรก็ตามรู้สึกตัว รู้สึกตัวเสียก่อน จนความรู้สึกตัวเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เป็นเจ้าของกาย เป็นเจ้าของใจ เดี๋ยวนี้กายไม่มีเจ้าของ ใจไม่มีเจ้าของ ส่ำส่อน ป่าเถื่อน อะไรหอบหิ้วไปไหนก็ได้ เราปล่อยปละละเลยตัวเรา มาเอากันจริงๆ จังๆ กันเถอะ โสตาย (ภาษาอีสานหมายถึงสู้ไม่กลัวตาย สู้ถวายหัว) โสตายเหมือนพระพุทธเจ้าลองดู 36 ปีโสตายแล้ว โสตาย อันนี้พวกเราไม่ขนาดนั้นดอก มาเป็นกัลยาณมิตรเป็นเพื่อนกัน
มีอะไรก็มาถามมาศึกษา บางทีคำถามไม่ต้องถาม ไม่ต้องถาม ทำไปก่อน เคยเกิดกับตัวเองเหมือนกันขณะที่ปฏิบัติ บางทีมันคิดจะถามหลวงพ่อเทียน แต่หลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้อยู่ คิดจะถาม เอ้า ไม่ต้องถาม ทำไป ทำไป ทำไป รู้ไป รู้ไป เอ้า รู้ไป รู้ไป บุกเบิกไป อะไรเกิดขึ้นรู้สึกตัว อะไรเกิดขึ้นรู้สึกตัว ทำไป๊ ทำไป มันก็คิดจะถาม มันไม่ต้องถามเสียแล้ว ไม่ต้องถาม มันเฉลยไปในตัว มันแล้วไปในตัว คำที่จะถามบางทีมันไม่ใช่คำถาม มันเป็นคำตอบ เช่น มันทุกข์นี่ ไม่ต้องว่าทำไมจึงทุกข์ ไม่ต้องมีคำถาม เพราะทุกข์มันก็ไม่มีทุกข์อยู่ในที่นั่น มันมาด้วยกัน มันหลงก็ไม่มีหลงอยู่ที่นั่น มันไม่มีอะไรที่จะทำให้หลงทำให้ทุกข์เลย เพราะมันเห็นต่อหน้าต่อตา เราก็เก่งน่ะเหมือนเรามีความรู้ ความรู้อันอื่นก็ไม่ใช่รู้เรื่องกายเรื่องใจ รู้เรื่องรูปเรื่องนาม รู้เรื่องอื่นมากเท่าไหร่ก็ยังหลงยังทุกข์อยู่ แต่ว่ารู้เรื่องนี้มันรื้อถอนไป มันรื้อถอนไปเลยแหละ
ปัญหาที่ทำให้หลงเรื่องกายเรื่องใจไม่มีแล้ว จบกันเสียที ปีใหม่แล้วจบกันเสียทีพวกเรา เป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ ให้เป็นชีวิตล้วนๆ ไม่ต้องเป็นภาระต่อตนเองและคนอื่น มีใจนี้ก็ง้ายง่ายใจ พอแล้ว มีกายก็พอแล้ว ที่จะเอาชนะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ใช่วิธีใดๆ เป็นตัวในตัวมันเอง เมื่อมันหลงก็ไม่หลงได้ เมื่อมันโกรธก็ไม่โกรธได้ เมื่อมันเจ็บก็ไม่เจ็บได้ มันชำนาญ ดี๊ดีนะเพราะเราเคยเจ็บเคยตายมา ไม่มีอะไรที่จะสนุกสนานไปกว่าการชนะตัวเอง ชนะความหลงนี่ โอ๊ย ยกให้มันเลย
ตอนเข้าห้องไอซียูน่ะ อาจารย์อเนก อาจารย์สมหมาย ไปยืนอยู่ข้างหน้าคงจะเป็นห่วง พูดไม่ได้เพียงแต่ยกมือขึ้น ยกโป้ขึ้นเลยนอนอยู่ในห้องไอซียู (หัวเราะ) เอ๊ะ มันทำได้ยังไงเราบ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) ยกโป้ขึ้นเลย มันเขี่ยนะ คล้ายๆ ว่าชนะใช่ไหม ไม่ใช่แพ้นะยกโป้นะ ขนาดนอนอยู่นะ แล้วสายโยงสายยางเต็มปากไปเลย ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องถาม เข้าใจไหมยกโป้นี่ คือมันแน่วแน่แหละ (หัวเราะ) โอ๊ยๆ ไม่มี มันน่าภูมิใจ มันเป็นไปได้ ไม่ต้องหลง ไม่ต้องทุกข์ แล้วความทุกข์มันขี่ช้างขี่ม้ามาไหม ความหลงมันมีศาสตราวุธ มีระเบิด มี M16 ไหม ทำไมรับใช้มัน เอาให้มันสมน้ำหน้ามันแล้ว ยังมาหยิบเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก มันพอใจ
ถ้าจะลงตรงนี้ทำวัตรน่ะสวดมนต์น่ะ ไปลงตรงกรวดน้ำมันเบ๊าเบา มันเบ๊าเบา มันอ้อนวอน นั้นลงตรงที่มันชัดเจน ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของเรา บุคคลแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว ทั้งไม่หยิบเอาของหนักขึ้นมาอีกต่อไป จิตของเราพ้นไปแห่งการปรุงแต่งแล้ว จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ถ้าไม่มีเทินได้ก็ดีน่ะดีนี่ ถ้าเทินมันอ้อนวอน
เพราะฉะนั้นลงบทสวดมนต์ บทขอพรน่ะ โอ้ย มันแม่นยำเลย ถ้ากรวดน้ำนี่น่าจะเป็นพิธีกรรมในสาธารณะทั่วๆ ไป มีคนเยอะๆ กรวดน้ำทำบุญตักบาตร มีเด็ก มีผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนแก่ หาความสุขจากการพูด ในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็เข้าพิมพ์เหมือนกัน ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน บทแผ่เมตตานี่ก็ดี๊ดี มันจะได้ล้างบาป จิตใส่ใจตาม อย่าว่าแต่ปาก กรวดน้ำก็อย่าว่าแต่ปากเป็นพิธี มีธรรมลงไปแล้ว มีอาหารถวายแล้ว มีขันน้ำในมือ เขาเตรียมจะกรวดน้ำ ก็กรวดให้เขา บางทีโยมถือแก้วน้ำไว้ หลวงพ่อใหญ่ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง “เอ๊า ผมเลยไม่ได้กรวดน้ำเลย” การกรวดน้ำต้องเมื่อไหร่ ต้องเมื่อ ยะถา วาริวะหา ต้องบอกใหม่ เอาใหม่ซี เห็นเขาจะถือขันน้ำต้อง ยะถา สักหน่อย ไม่ใช่เขาถือขันน้ำ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง มันก็ไม่กลมกลืนกันใช่ไหม
บางทีเราไปสวดมนต์ เราอยู่ในวัดนี่บางทีไม่มีพิธีอะไร ก็อย่าว่าอะไรมากเกินไป ถ้ามีพิธีงานพิธีต่างๆ ศาสนพิธีเอาลงไปเพื่อให้มันกลมกลืนกับบรรยากาศ เรานี้จะต้องลิขิตชีวิตของเขาเพื่ออะไร เพื่อเราเอง เพื่อผู้อื่น แล้วกรวดน้ำ ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด มีห้วงน้ำเหมือนกับน้ำนี้ น้ำใจของเราเป็นอันเดียวกัน น้ำชี น้ำมูล น้ำพรม น้ำพอง เอามารวมกันเป็นน้ำใจของเราขณะนั้นให้มันเป็นอันเดียวกัน อุทิศได้บุญเหมือนกัน สำเร็จด้วยใจ เพื่อเอาวัตถุสิ่งของมาเป็นส่วน คนที่ไม่ปฏิบัติธรรมเขาจะรวมเอามา มีน้ำในมือก็กรวดให้เขา
ภาษาอันเรื่องนี้สมัยก่อนพุทธเจ้าไม่ได้ว่าหรอก แต่ว่าพวกพราหมณ์ทั้งหลายเขาตำหนิ แล้วเวลาที่เขาพวกลัทธิอื่น พวกสัญชัย พวกอชิต(เกส)กัมพล อะไรต่างๆ ครูทั้งหกเขาว่าไม่ดี พระพุทธเจ้านี่ไปที่ไหนไม่ว่าอะไร เขาก็ตำหนิพระพุทธเจ้าเลยว่า ยะถา สัพพี แต่แปลแล้วดีกว่าเขาเสียอีก เขาก็ต้องอ้อนวอนให้อันนั่นอันนี่มาช่วย พระพุทธเจ้ามักจะบอก ทำดี คิดดี เอาใจเอาน้ำมา เอาน้ำใจลงไปนี่ อธิบายน้ำนี่เอามีดไปปาดขีดน้ำดูมันไม่มีรอย ถ้าใจของคนเราเหมือนน้ำกระทบกระเทือนแล้วดีง่ายๆ ถ้าจิตใจนี่เหมือนหินเป็นรอยรักรอยโกรธ ไม่ดี จึงเอาน้ำเป็นกระแส ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้นี้ ไม่ใช่ ภะวะตุสัพ บางทีเราก็ต้องดูกาลเทศะ อันนี้ก็ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ให้มันกลมกลืนกัน
ศาสนวัตถุ มีโบสถ์ มีศาลา ศาสนาเรามีหลายอย่างประกอบกันเข้า ส่วนศาสนธรรมสายตรงมาเลยไม่ต้องมีอะไร ถ้าไปกรวดน้ำ ถ้าไปสวดมนต์ไหว้พระแบบเราทำนี่ ไปอยู่ที่บางอย่างไม่เหมาะ หลวงตาไปสอนธรรมที่กับฝรั่งไม่มีสวดมนต์ พอถึงเวลาแป๊บก็มานั่งยกมือสร้างจังหวะไป เขาไม่รู้เรื่องหรอก บางทีเราเทศนาญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันในที่นี้เพื่อมาฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นบุญเป็นกุศล จะได้บุญได้กุศลเป็นความดีน่าสรรเสริญ ไม่รู้เรื่อง เขาไม่ฟัง บางทีเขาไม่บอกให้เราสอนหรอก เขามาบอกเรา บางทียืนจกกระเป๋าต่อหน้า “อย่าสอนเรานะ จะให้ทำอะไรบอกเรามา พาเราทำ” ก็ลุกขึ้นพามันเดิน เดินเฉียงกัน บางทีเอามือมันมา จับมือมันมา บางทีเข้าไม่ถูก Shit! บางทีเข้าไม่ถูก No! มันไม่ให้สัมผัส เออนี่บางทีต้องเข้าสายตรงๆ ไม่ใช่ไปพาสวดโน่นสวดนี่ เขาสายตรงยกเลย เขาชอบแบบนี้ บางทีเขามาขู่เรา “คุณรู้อะไรมา หรือมาสอนที่นี่อะไร” “เราก็รู้ตัวเอง” “คุณรู้ตัวเอง เขารู้อย่างไร” ให้เขานั่ง “คุณเคยรู้อย่างนี้ไหม” “No No No No” “ชั่วโมงนึงรู้ไหม” “No” “คุณไปรู้อะไรล่ะ” “เคยไปโลกพระจันทร์มาแล้ว เพิ่งมารู้ตัวเองแล้ว”
คนเอเชียเขารู้เรื่องนี้ ศาสดาทั้งหลายเกิดที่เอเชีย ไม่ได้เกิดยุโรปอเมริกา ไม่มีศาสดาองค์ไหนเกิดยุโรปอเมริกา เกิดเอเชียทั้งนั้น คนเอเชียเขารู้ตัวเอง รู้ตัวเอง รู้สึกตัวนะ ของจริงไปกลัวทำไม ทุกคนมีกายมีใจ ทุกคนมีความทุกข์ มีความโกรธ ความหลง ความโลภ ความรัก ความชัง ไม่มีไม่ได้เลย มีแต่ความเมตตากรุณามันจะไม่ดีเหรอ อันนั้นเราน่ะเอาเถอะ ปีใหม่มีชีวิตใหม่ๆ น่ะมันทำได้นะ พยายาม พยายามที่ก่อกำเนิดเกิดแห่งความดีคือมีสติ อันอื่นเราจะรู้มามากแต่ว่าการรู้ความรู้สึกตัวเนี่ยให้เป็นเอกเสียหน่อย วิชาเอกของมนุษย์ พระพุทธเจ้านี่สิทธัตถะน่ะจบมาทั้ง ๑๗ ศาสตร์ ไม่รู้อะไรเลย หัวเราะ ร้องไห้ ทั้งๆ อยู่มีปราสาทสามฤดู กังวลนอนไม่หลับ สาวๆ สนมกำนัลในไพร่ฟ้าบริวารยังทุกข์ ยังเดือดร้อน
อย่างพระอนุรุทธะกับพระมหานามะ นั่นก็พระพี่ชาย 2 คนเป็นกษัตริย์ น้องชายของพระเจ้าสุทโธทนะรับกษัตริย์แทน สิทธัตถะออกบวช เมื่ออนุรุทธะมีมหานามะลูกชาย ๒ คน จะให้ครองราชย์ อนุรุทธะ “โอ๊ย ไม่เอาดอก”มหานามะ “เอาเสียน้อง” มหานามะก็ไม่อยากเอา ผลสุดท้ายพี่ชายก็มีอำนาจแล้วต้องเอาน่ะ ให้น้องชายเอาอนุรุทธะ พอเอาแล้วก็มอบให้พี่ชายอีก กลับมาบวช มาบวชแล้วสุขหนอ สุขหนอ สุขหนอ สุขหนอ ร้องกลางคืนเวลานอนน่ะ อยู่ใต้ร่มไม้ อยู่ในปราสาทไม่เคยร้องอย่างนี้เลยว่าสุขหนอ สุขหนอ อนุรุทธะพูดออกมาแล้วพระสงฆ์ทั้งหลายได้ยินนึกว่าเป็นไร มากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกไป “เธอพูดอะไร สุขหนอ สุขหนอ” “ข้าพระองค์เคยเป็นกษัตริย์ครองบ้านครองเมือง กังวลเรื่องไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ กลัวจะเกิดศึกสงคราม อยู่ไม่เป็นสุข กังวล พอมาบวชแล้ว โอ๊ย ไม่มีอะไร มันออกมาเองสุขหนอ สุขหนอ” พระพุทธเจ้าเลยรู้เรื่องนี้เข้าไป
อันนี้เป็นชีวิตที่เกิดกับอนุรุทธะ เป็นเอตทัคคะในทางฌาน สมอง ปัญญา ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานต้องถามอนุรุทธะ “พระพุทธเจ้าถึงไหนแล้วตอนนี้” อยู่ในฌานนั้น ฌานนี้ ฌานนี้ อนุรุทธะก็มองไป “พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่ตรงไหน” ปรินิพพานที่ฌานที่ 4 ฌานที่ 5 ต่อกัน ไม่ใช่ตายที่กุสินาราระหว่าง(...) นิพพานอันนั่นสิ้นชีพ เขาเรียกว่าที่สิ้นชีพของสิทธัตถะ ถ้าไปถามแขกก็ว่าเขาไม่เรียกว่าที่ปรินิพพานนะ เขาเรียกว่าที่สิ้นชีพของสิทธัตถะ แต่พวกเราเรียกว่าที่ปรินิพพานคือไม่ใช่ตายแบบนั้นคือหมดตรงนั้น นิพพานคือหมดทั้งธาตุทั้งอะไรหมดนะ กิเลส ตัณหาอะไรต่างๆ นิพพานจริงๆ มันหมดตั้งแต่อายุ 36 ปี อยู่ที่ศรีมหาโพธิ์โน้น แต่นั่นปรินิพพานอยู่ที่กุสินารานะ นี่ตรงนี้ตรงใจของเรา ตรงสติของเรา ตรงการเปลี่ยนความเจ็บ-ไม่เจ็บ ความแก่-ไม่แก่ ความตาย-ไม่ตาย เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีตายต้องมีไม่ตาย นิพพานตรงนี้
เราจะทำไม่ได้หรือ เวลามันโกรธไม่โกรธได้ไหม หัดตรงนี้กันเสีย เวลามันหลงไม่หลงได้ไหม มีสิทธิไหมไม่หลงน่ะ มีสิทธิที่จะไม่หลงไหม เวลามันโกรธมีสิทธิไม่ให้โกรธไหม ถ้าความโกรธดับไปก็นิพพานน้อยๆ ความหลงดับไปนิพพานน้อยๆ นิพพานชิมลองไปก่อน ต่อไปถาวรเลย คำว่าทุกข์ไม่มีเลย