แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อืม ฟังธรรมเด้อ รับรองว่าไม่โกหกมดเท็จ พิสูจน์ได้ คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสัจธรรมเนี่ย ไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ เวลาใดที่เรารู้สึกตัว เราต้องถามใครไหมว่าเรารู้สึกตัวหรือเปล่า เป็นปัจจัตตัง เป็นของใคร ของเรา เวลาใดที่มันหลงไป เราถามใครไหมว่าเราหลงหรือเปล่า อะไรก็ตามที่มันเกิดกับกายกับใจเนี่ย ไม่มีคำถาม ถ้าความโกรธ ต้องไปถามใครไหมว่า ฉันโกรธหรือเปล่า ถ้าฉันไม่โกรธ ต้องไปถามใครไหมว่า ฉันไม่โกรธหรือเปล่า เป็นปัจจัตตัง รู้เอาเอง เราเจริญสติ เช่น เรารู้สึกตัว มือของเราวางไว้บนเข่า ต้องไปถามใครไหมว่า มือของเราวางอยู่บนเข่า ไม่มีคำถาม มีแต่ตัวเองรู้สึกเอาเอง นี่เป็นหลักสากล ใครก็ตามถ้ามีความรู้สึกตัว อยู่กับกาย พลิกมือเคลื่อนไหวไปมา ก็เป็นของผู้นั้น ไม่ใช่เป็นของใคร ไม่ใช่เป็นลัทธิ นิกาย ชาติ ภาษา หรืออะไร ๆ ก็ตาม ถ้าสร้างความรู้สึกตัว ก็เป็นความรู้สึกตัว ผู้หญิงก็คือความรู้สึกตัว ผู้ชายก็คือความรู้สึกตัว นักบวช หรือฆราวาส ญาติโยม ก็คือความรู้สึกตัว คนหนุ่ม คนแก่ ก็คือความรู้สึกตัว ชาติใด ลัทธิใด คือความรู้สึกตัว เป็นสากลของธรรม เนี่ยความเป็นสากลของธรรม ไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ แล้วก็เลยเรียกวิชานี้ว่า “วิชาภาวนา” วิชาภาวนาเป็นวิชาที่พัฒนาชีวิตอย่างยอดเยี่ยม
ภาวนาคืออะไร คือ เปลี่ยนความผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนความหลงให้เป็นความไม่หลง ภาวนาคือ ทำให้ความรู้สึกตัวมากขึ้น ๆ เป็นหลักต้น ๆ เราเพียรพยายามที่จะรู้สึกตัว ขยันรู้ การขยันรู้ ท่านเรียกว่า “ภาวนา” ไม่ใช่ไปบริกรรม พุทโธ สัมมา อะระหัง ยุบหนอ พองหนอ ไม่ต้องว่า เอากายไปต่อ เอากายไปสัมผัสเอา กับคำว่ารู้สึกตัว เอาจิตเอาใจไปต่อเอา กับคำว่ารู้สึกตัว ไม่มีคำพูด ไม่มีรูปแบบอะไร ให้เข้าไปถึงกายตรง ๆ ให้เข้าไปถึงจิตใจตรง ๆ ให้กายได้ต่อกับความรู้สึกตัว จนกายมันคุ้นกับความรู้สึกตัว ให้จิตให้ใจไปต่อเอาความรู้สึกตัว จนจิตใจมันคุ้นกับความรู้สึกตัว เอาไป เอามา ความรู้สึกตัว จะเป็นกายเป็นจิตก็ดี มันก็คือความรู้สึกตัว มันติดแล้ว มันเป็นแล้ว เพราะความรู้สึกตัวเป็นใหญ่แล้ว เป็นอินทรีย์ เขาเรียกว่า “สติอินทรีย์” ความรู้สึกตัวเป็นใหญ่ ครองกายครองใจ แต่ว่าก่อนที่จะมีความรู้สึกตัวเป็นใหญ่ เราก็ต้องสร้าง บางทีมันมีความหลงเป็นใหญ่มานานแล้ว
ถ้าจะถามพวกก็ว่า ตั้งแต่เกิดมาถึงวันนี้ ความรู้สึกตัวกับความหลงอะไรมันมากกว่ากัน ทุกคนก็ตอบเอาเอง แล้วถ้าเราจะพิสูจน์ตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะเพียรพยายามที่จะสร้างความรู้สึกตัว อะไรก็ตาม การใช้ชีวิตประจำวัน เพิ่มความรู้สึกตัวเข้าไป เพิ่มความรู้สึกตัวเข้าไป แล้วท่านก็จะได้สัมผัสกับความรู้สึกตัว เมื่อเวลาเราได้สัมผัสกับความรู้สึกตัว เวลาใดที่มันหลงก็ต่างกันนะ ความรู้สึกตัวกับความหลงต่างกัน ถ้าผู้ที่มีความรู้สึกตัวแล้ว เขาจะไม่เอาความหลงหรอก เขาเลือกเป็นแล้ว เขาว่าไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความชอบ ความรู้สึกตัวต่างหากเป็นความชอบ เป็นความชอบธรรม เข้ากันกับกาย เข้ากันกับจิตได้ดี เหมือนน้ำกับน้ำ ถ้าความหลงมันก็เข้ากันกับกายไม่ได้ เข้ากันกับจิตใจไม่ได้ เป็นปัญหา สัมผัสดูแล้วไม่ต้องไปถามใคร เวลาใดมีความรู้สึกตัว เวลาใดมีความหลง มันเป็นอย่างไร แต่ถ้าคนที่ไม่เคยมีความรู้สึกตัว เขาจะไม่รู้หรอกว่ามันต่างกันอย่างไร เขาก็พลัดไปอยู่กับความหลงได้ ก็ปรุงๆแต่งๆ หรือหาเรื่องที่จะให้มันหลง เรื่อยไป อย่างนี้
อย่างวิธีที่เราฝึกหัดเนี่ย มันเป็นหลักของสากลแห่งธรรม เป็นสากลแห่งธรรม ถ้าเราพลิกมือรู้สึกตัว ก็เป็นผู้ที่รู้สึกตัวไปแล้ว แต่ถ้าเราทั้งหมดนั่งอยู่นี้ มีความรู้สึกตัว ทุกชีวิตก็เป็นคนคนเดียวกัน แต่ถ้าเรามีความหลงก็เป็นคนละคนไปแล้ว เมื่อมันเป็นคนละคนก็ เรื่องมันก็มีปัญหา คนหนึ่งคิดไปอย่างหนึ่ง คนหนึ่งหลงไปอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกตัวเนี่ย เราจงมาพิสูจน์เรื่องนี้กัน แล้วสิ่งที่เรารู้ก็มีจริง ๆ เช่น กาย เช่น มือนี่ มันก็มีจริง ๆ มันเป็นวัตถุที่สัมผัสได้ เป็นปัจจัตตัง ทำไมเราถึงต้องมาสร้างเป็นรูปแบบ เป็นจังหวะ ก็เพราะว่าชีวิตของเรามันไหล มันไหลไปข้างหน้า มันไหลคืนข้างหลัง มันเป็นมานานแล้ว โบราณท่านจึงว่า “กลางคืนว่าฝัน กลางวันว่าคิด” ไหลไปข้างหน้า มันไหลคืนข้างหลัง ไม่มีปัจจุบันเป็นที่อยู่ บางทีโบราณท่านจึงว่า “คนหนุ่มคิดไปข้างหน้า คนชราคิดคืนข้างหลัง” หมกมุ่นครุ่นคิด อยู่กับความคิด ให้ความคิดผลักไส กลางคืนว่าฝัน กลางวันจึงว่าคิด เราจึงพยายามถึงจะให้มันมีหลัก ให้มันเป็นปัจจุบัน ถ้าไม่ตั้งไว้แบบนี้ มันไม่เป็นปัจจุบัน มันไม่ได้หัด ไม่รู้จะหัดตรงไหน เช่น จิตมันก็ไม่มีตัวมีตน แต่ว่ากายนี่มันก็ไม่ใช่ มันเป็นใหญ่ จิตต่างหากที่มันเป็นใหญ่ แล้วแต่เขาจะสั่งการสั่งงานอย่างไร เราก็จะหัดจิต จิตก็ไม่มีตัวมีตน เราจะหัดอย่างไร เราจึงเอาความรู้สึกตัวมาวางไว้ที่กาย ให้รู้สึก ให้รู้สึก พอมันคิดไปก็ให้รู้จักกลับมา ถ้าเราตั้งตัวรู้สึกไว้เป็นทุน เป็นเจ้าเรือนแล้ว พอมันหลงคิดไป เราก็รู้สึกตัว เราก็กลับมาเป็น กลับมาที่เวลาใดที่มันคิดไป กลับมาเป็นทุกครั้ง คิดครั้งหนึ่ง ก็รู้สึกตัวครั้งหนึ่ง คิด ตัวคิดที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นน่ะ ตัวลักคิด ตัวลักคิดที่ไม่ได้ตั้งใจเนี่ย เป็นตัวสมุทัย เป็นตัวสังขาร มันอยู่ไม่เป็น สังขารมันขยัน เพราะเป็นอาชีพของเขา ท่านจึงเปรียบสังขารเหมือนนายช่างปั้นหม้อ นายช่างปั้นหม้อ ปั้นอยู่งั้นแหละ แต่ว่าปั้นแล้วหม้อจะเป็นลูกใหญ่ ลูกเล็ก ลูกสวย ลูกไม่สวย ก็แตกทั้งนั้น ผลิตผลของสังขาร ที่เกิดจากการปรุงๆแต่งๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่ใช่ตัวตน ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันชื่อว่าสังขารแล้ว มันก็ไม่เที่ยงแน่นอน มันก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่ใช่ตัวตน เช่น ความโกรธ ความทุกข์ มันไม่มีตัวมีตนอะไร มันเป็นสังขาร มันเกิดขึ้นมา แล้วมันก็หมดไป มันก็ไหลไป มันก็หมดไป เป็นภพเป็นชาติ เกิดดับเกิดดับ มันเป็นอย่างนั้นชีวิตเรา เราจึงต้องมาหัดตรงนี้ ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัวนาน ๆ ลองดู มันจะเป็นอย่างไรก็พิสูจน์กันตรงนี้ อย่างน้อยเราก็เห็นความคิด ได้กลับมาอยู่กับนิมิตที่เราตั้งไว้
การสอนตัวเอง การสอนกายก็ดี การสอนจิตก็ดี ตรงนี้แหละ ตรงที่มันคิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลัง ก็กลับมาตั้งอยู่กับปัจจุบัน กลับมาตั้งอยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ไปพร้อม ๆ กัน ตะแคงมือก็รู้ตะแคงมือ พร้อมกัน ยกก็รู้ยก มันก็เลยเป็นของจริง เป็นปัจจุบัน เห็นกับตา เห็นกับใจ ทำกับมือ จะหยุดความคิด ก็หยุดได้กับมือของเรา ต่อไปจะหยุดความทุกข์ หยุดความโกรธ หยุดความโลภ หยุดความหลง หยุดการปรุงๆแต่งๆได้ เรียกว่า “คุม” ความรู้สึกตัวเป็นตัวคุมกำเนิดของสังขาร การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือ สมุทัย พอทุกข์แล้วก็สมุทัย นิโรธ มรรค มันก็อยู่ในวงนี้แหละ เราทำอย่างนั้น แล้วก็เห็นทันที เวลาใดที่มันหลงไปเรากลับมา เราเห็นความหลงของเรา หลายครั้งหลายครา ถ้ามันเห็นต่อหน้าต่อตากับความหลง แล้วความหลงจะหลอกได้ยังไง เหมือนเราเห็นคนที่หลอกโกหกเรา เราเห็นเงื่อนไขที่เขาหลอกเรา จะต้องไปปล่อยให้เขาหลอกอยู่นั่น มีไม่ได้ เป็นไม่ได้ ถ้าใครถูกหลอก เราก็ต้องเข็ดหลาบ การที่ถูกหลอกมันก็ต้องได้บทเรียน การที่สังขารทั้งหลายที่มันหลอกเราได้ เราก็ได้บทเรียนจากสิ่งนั้น เวลามันหลงเนี่ย ได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ ได้เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เนี่ยบทเรียนที่ ที่หาไม่มี ต้องได้จากตัวเรา ไม่ใช่พิสูจน์อะไร ไม่เหมือนศึกษาทางโลก ไม่ใช่ว่าจะเอาวัตถุอื่นมาพิสูจน์ มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ใครก็รู้ ว่ามันไม่ดี ความทุกข์ใครก็รู้ ว่ามันไม่ดี แต่เราไม่เห็นแจ้ง เราจึงเพียรพยายามที่จะรู้สึกตัว รู้สึกตัวไว้ เวลาใดที่มันหลงคิด หลงไปอะไรก็ตาม กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว
การกลับมารู้สึกตัวเนี่ย ตัวนี้แหละภาวนา คือพัฒนา กลับมาบ่อย ๆ กลับมาบ่อย ๆ ตัวนี้เป็นตัวพัฒนา ทำให้ดีขึ้น ทำให้เจริญขึ้น ท่านเรียกว่า “ภาวิตา พหุลีกตา สังวัตตันติ” ทำให้มาก เจริญให้มาก ให้รู้สึก กลับมา กลับมา กลับมา มันเห็นอันเก่า เห็นอันเก่า เห็นอันเก่า อาจจะเป็นความหลงเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ บางทีหลงทีแรกมันก็ มันก็ไม่ทันหรอก หลงไปหลงมา หลงกับความคิด หลงมากขึ้น มากขึ้น มันเราก็รู้มากเข้า มากเข้า มันทันควัน หรือว่า จ๊ะเอ๋กัน คนหนึ่งจะออกประตู คนหนึ่งก็เฝ้าประตูอยู่นั่นแล้ว จ๊ะเอ๋กัน ของจริงก็ต้องเป็นของจริง ของไม่จริงก็ต้องเป็นของไม่จริง ความหลงไม่เป็นของจริง ความไม่หลงเป็นของจริง สัมผัสดูแล้ว ไม่ต้องไปถามใคร เมื่อมันเป็นอย่างนั้นมันจ๊ะเอ๋กัน มันก็หมดท่าแล้ว ความหลงมันหมดค่า หมดพิษสง หมดอำนาจ เป็นไปทำนองนั้น การปฏิบัติธรรม แต่ว่าถ้าจะพูดเป็นภาษา ก็มีภาษา ท่านเรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” ล้วงพ้นภาวะเก่า วิปัสสนาญาณ คือ ล่วงพ้นภาวะเก่า ๆ ภาวะเดิม ๆ มันไม่เหมือนเดิม พิสูจน์ได้ มันต้องพิสูจน์ได้ มันต่างเก่าอยู่ เช่น บอกใครต่อใครว่า มันปวด แต่ก่อนเป็นผู้ปวด บัดนี้เห็นมันปวด ต่างเก่าไหม เป็นผู้ปวดกับเห็นมันปวดมันต่างกัน มันหิว เป็นผู้หิว หรือเห็นมันหิว นักภาวนาจะดูออก เห็นมันหิว เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ มันต่างเก่า เมื่อเห็นมันแล้ว มันก็พ้น หลุดพ้นได้ง่าย เมื่อไม่เห็นก็พ้นไม่ได้เลย ดังนั้นจึงต่างเก่า จนพระพุทธเจ้าจึงว่าเห็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ ก็เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเห็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ เห็นวิธีที่จะทำเหตุนั่นให้ไม่ทุกข์ เรียกว่า มรรค เมื่อทำองค์มรรคแล้วมันก็พ้นนิโรธ พ้นไป พ้นจากอะไร พ้นจากทุกข์ พ้นจากโกรธ พ้นจากปัญหา มันก็เป็นปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขารเนี่ยมันเป็นปัญญา สังขาร คือ กายสังขาร จิตสังขาร เราก็เห็นหมด เข้าแถวให้เราดู แล้วมันก็มีอารมณ์ มีสูตร ดั่งที่พูดให้ฟังวันก่อน ๆ ว่า กายานุปัสสนาเป็นสูตรของกาย เวทนานุปัสสนามันก็มีอยู่ในกาย กายนี้ต้องร้อนเป็น หนาวเป็น หิวเป็น ปวดเป็น อะไรต่าง ๆ เราเรียกว่าเป็นสูตรของเขา เห็นความเท็จ ของจริง ของเขา ก็เลยเป็นปัญญา แต่ก่อนเอามาเป็นสุข เอามาเป็นทุกข์ เอามาเป็นเรื่องชอบ เอามาเป็นเรื่องไม่ชอบ เอามาเป็นเรื่องยินดี ยินร้าย ของอย่างเดียวชอบ ของอย่างเดียวไม่ชอบ อย่างนั้น พอมาเห็นแจ้งแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเห็นแจ้ง มันเข้าไม่ถึงความชอบ ไม่ชอบ มันเห็นมันก็จบแล้ว พบเห็น มันจบไปแล้ว การพบเห็นมันเห็นต่อหน้าต่อตา มันจบไปแล้ว เขาว่ายินดี เขาว่ายินร้าย มันจะไม่มี ไม่มีถึงกับเป็นอุปาทานไปยึดเอา ไปยึดเอา แล้วก็ติด อุปาทานแปลว่า ยึดไว้ ติด มันติดอะไรมาชีวิตของเรา มีแต่รอยเปรอะ รอยเปื้อน หรือรอยชน รอยช้ำ อะไรต่าง ๆ ถ้าเป็นรถก็เป็นรถมือสอง ถูกชนมามาก ถูกช้ำมามาก มีแผล ความรักมีแผล ความชังมีแผล ความผิดความถูกมีแผล ความโลภ ความโกรธ ความหลง บางคนก็เป็นจริตนิสัย ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต การมาเจริญสตินี่เหมือนกับมาซ่อม ซ่อมชีวิตให้มันดี ให้มันมาตรฐาน เข้าอู่ซ่อม พอมันหลงทีไรรู้สึกตัวซ่อมขึ้นมา หลงไปทางไหน รู้สึกตัว ซ่อมแล้ว ซ่อมแล้ว แล้วก็โดยเฉพาะจิตใจเนี่ยเป็นของที่พัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างยอดเยี่ยม เหมือนกับเมื่อเช้านี้หลวงพ่อพูดว่า “บ้านของจิต คือ ภาวะความปกติ ไม่เหมือนบ้านของกาย” บ้านของกายต้องซ่อมอยู่เรื่อย ๆ เช่น ศาลาหลังนี้ โดยเฉพาะที่ปลูกในวัดสุคะโตเนี่ย สี่สิบสามสิบปีนี่ เวลานี้ก็ต้องซ่อมกันเนี่ย ใช้งานมานานก็ต้องผุพัง ก็ต้องซ่อม ซ่อมไปซ่อมมา มันก็เสื่อม มันก็ไม่มีคุณภาพ ก็ทรุดโทรม แต่บ้านของจิต คือ ภาวะความปกตินี่ ไม่ต้องซ่อม
ถ้าจิตที่ฝึกมาดีแล้ว “จิตตฺสฺส นียติ โลโก จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้วเป็นประโยชน์ จึงว่าพึ่งพาอาศัยได้ แต่ถ้าเราไม่ฝึกนี่ ออกหน้าออกตา รับ รับอะไรทุกอย่าง ออกไปรับ อะไรก็ถึงจิต พอฝึกดีแล้วมันก็ไม่ถึง มันมีบ้านมีที่อยู่เป็นปกติ เป็นปกติ เป็นบ้านของจิต อยู่บนรถเมล์ ที่ทำงาน ที่ไหนก็ตาม มันก็อยู่กับภาวะความปกติ ชีวิตที่มีบ้าน ที่มีปกติเป็นชีวิตจิตใจ มันก็พึ่งได้ พึ่งได้ คนอื่นก็พึ่งได้ ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป เราก็พึ่งเราได้ แต่ถ้าเราไม่มีชีวิตเข้าถึงภาวะความปกติ เราก็ไม่มั่นใจชีวิตจิตใจของเรา ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คุ้มร้าย คุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ บางคนก็จะพูดว่า ฉันไม่มั่นใจฉัน ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร มันอันตราย ทำไมจึงปล่อยปละละเลย ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น มันก็อยู่กับเรา ทำไมไม่ฝึกหัด ไปอยู่ตรงไหนกัน ไปเลอะเทอะ ไปเลวทรามอะไรที่ไหนจนพึ่งจิตไม่ได้ ปล่อยปละละเลย เราจึงจำเป็นต้องฝึก ทำไมต้องฝึก ก็เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าเราไม่ฝึกก็เป็นพิษนะ