แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เป็นส่วนประกอบในการศึกษาปฏิบัติ ซึ่งพวกเรากำลังทำอยู่ เป้าหมายใหญ่ก็มาประกอบเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดที่ถูก นอกจากในตัวมันเอง เช่น ความหลงก็ต้องมีความรู้เป็นส่วนประกอบ ความหลงเป็นส่วนประกอบให้เกิดความรู้ การได้ยินได้ฟัง เป็นส่วนประกอบให้เราได้รู้ทิศรู้ทางได้เอาไปปฏิบัติ การปฏิบัติคือการเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก ทุกรูปแบบที่มันเกิดอยู่กับกายกับใจเรานี้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ มันจึงจะงอกงาม จึงสำเร็จได้ เมื่อเปลี่ยนความผิดเป็นความถูก ทุกรูปทุกแบบ ที่มันเกิดจากกายจากใจเรา ความผิดมันอาจจะหมดไป ความถูกก็งอกงามขึ้นมา เป็นหลักธรรมชาติ ของความเป็นจริงเป็นเช่นนั้น ถ้าเราไม่มีการปฏิบัติ มีการกระทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่สำเร็จซักที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ต้องเป็นส่วนประกอบ การทำงานปฎิบัติธรรม คือการทำตามรูปแบบของกรรมฐาน มีการกระทำเกิดขึ้น เป็นที่ตั้งเอาไว้ เป็นเจ้าถิ่นเจ้าบ้านเจ้าเรือนเอาไว้ เจ้าของก็ต้องมีกายมีใจ เรื่องรู้สึกตัวก็เป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของจิตใจเอาไว้ ถ้ามีสติเป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของจิตใจ มันก็จะมีความเป็นธรรม ได้สัมผัสกับความเป็นธรรม เมื่อสัมผัสกับความเป็นธรรม ก็จะได้เรียนรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมที่มันเกิดกับกายกับใจ ว่ามันตั้งไว้ถูก ก็จะเลือกเป็น สัมผัส บทเรียนจากการสัมผัส การสัมผัสนี่ มีความรู้สึกตัวเป็นที่ตั้ง ให้สัมผัสกับความรู้สึกตัวไปในกาย โดยวิชากรรมฐานเคลื่อนไหว ตามบรรพะของการฝึกหัดที่พระพุทธเจ้าได้หัดมา จนถึงเป็นพระพุทธเจ้า ก็กลายเป็นที่ตั้งของความรู้สึกตัว ทุกรูปทุกแบบ เรียกว่าบรรพะ สัมปชัญญะบรรพะการเคลื่อนไหว จิตตะบรรพะ การเคลื่อนไหวของจิตมาเป็นความรู้สึกตัว อานาปาบรรพะการเคลื่อนไหวของลมหายใจ มาเป็นความรู้สึกตัว ในชีวิตเราที่ผ่านมาไม่ค่อยเอาสิ่งเหล่านี้ มาสร้างความรู้สึกตัว มันก็ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์จากบรรพะต่าง ๆ เดินฟรี หายใจฟรี คิดฟรี ๆ ป่าเถื่อน ที่มันเกิดขึ้น กับกายกับใจเรา เท่าไหร่มาแล้ว หลงกี่ล้านอสงไขยหลง โกรธกี่ล้านอสงไขยโกรธ ไม่เคยรู้สึกตัว มันก็อยู่เช่นนั้น อาจจะงอกงามขึ้น ในความผิด ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นที่กายที่ใจ ยิ่งสิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ยิ่งจะงามไวเป็นตัวเป็นตน เต็มไปหมดเลย เพราะไม่เคยฝึกหัด ถ้าเราฝึกหัดเข้า ก็จะทำเรื่องความรู้สึกตัวเต็มไปหมด แทนที่ความไม่ถูกต้อง ความไม่ถูกต้องก็อยู่ไม่ได้เลย การสัมผัสเช่นนี้เรียกว่าปฎิบัติธรรมเอาไปต่อเอา และมีการกระทำลงไปจริง ๆ สัมผัสจริง ๆ ในคราวเดียวกันตรงกันข้าม เวลามันหลงก็ไม่หลงตรงกันข้าม เวลามันทุกข์ก็ไม่ทุกข์ตรงกันข้ามในความรู้สึกตัว ไม่ใช่ไปอดไปทน ทิ้งเงื่อนไข กลับมารู้สึกตัวที่ตั้งไว้ที่กายเป็นบรรพะ ก็จะชำนิชำนาญมากขึ้น ๆ เพราะฝึกตนสอนตนแก้ไขตนมีสติ หลาย ๆ อย่างเป็นรูปเป็นแบบเป็นสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งได้ยินได้ฟัง จากผู้รู้ผู้คอยฝึก ได้สาธยายพระสูตรที่เป็นความถูกต้องที่สุด พระสูตรที่เราได้ขยาย ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า มีครูอาจารย์ได้ร้อยกรองมาให้เราได้สาธยายเป็นสูตร เหมาะสมในการใช้เป็นกิจกรรมทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มันก็สะดวกหลายอย่าง ไม่ใช่ลำบาก เราไม่ได้ไปคิดหา ไม่มีความรู้ มีคนสร้างให้แล้ว เป็นแผนที่ พูดออกมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง คิดออกมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ได้ทุกรูปแบบ ฝึกตนสอนตน คิดอย่างไรประกอบด้วยเมตตาลองดู ออกหน้า มีเมตตาออกหน้า พูดสิ่งใดมีเมตตาออกหน้า ทำสิ่งใดมีเมตตาออกหน้า ความมีสติมันก็เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าไม่มีสติ รู้สึกตัว ก็มีแต่โทโสโมโห ความหลงออกหน้าออกตา ตาเห็นรูปพอใจไม่พอใจ หูได้ยินเสียงไม่พอใจพอใจ ยินดียินร้าย ไปทางนั้นซะ มันก็เดินทางมาผิดตลอด
คิดเฉย ๆ ก็เป็นทุกข์ได้ คิดเฉย ๆ ก็เป็นสุขได้ คิดเฉย ๆ ก็เป็นกิเลสตัณหาได้ เพราะไม่เคยฝึก ให้มันคิดสำส่อน โสเภณีจิต จิตสำส่อน คิดได้ทุกรูปทุกแบบ ไม่รู้จักกาละเทศะ ไม่รู้จักอายความคิด เป็นชีวิตที่หน้าด้าน ไปอายแต่คนอื่น ไม่อายตัวเองที่มันเกิดความชั่วในกายในใจนี้ ถ้าไปอายคนอื่น ทำดีไม่สำเร็จ ละชั่วไม่สำเร็จ ถ้ามีสติมันจะละอาย รู้มั้ย สติมันตั้งไว้แล้ว เจ้าของแล้ว เป็นธรรมที่สุดแล้ว ถูกต้องที่สุดแล้ว มารูปแบบไหนมันก็ละอาย เมื่อมันอาย มันก็ทำไม่ลง คิดไม่ลง เปรอะเปื้อน โดยเฉพาะความคิดนี่ เป็นกรรมตัวใหญ่ เป็นหมายเลขหนึ่ง ถ้าเป็นจำเลยก็หมายเลขหนึ่ง เราไม่ค่อยใส่ใจ เพราะมันมีสติไม่เห็น ไปคุมแต่กายวาจา ได้แต่โทษ ก็เอาแต่กายแต่วาจา ไม่ปรับโทษเรื่องใจ รากฐานจริง ๆ ที่ออกทางกายทางวาจา มาจากใจ คือมันคิด ทวารของใจคือมันคิด นี่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ถ้าไม่ฝึกตนสอนตนไม่เรียนรู้เรื่องกรรมฐานตามทางพระพุทธเจ้า ได้เกิดอุบัติขึ้นในโลกคือกรรมฐาน เรียนรู้แต่เรื่องอื่น ติฉินปรับกันทางกาย เป็นทุกข์เป็นโทษติดคุกติดตารางก็ปรับกันทางกายทางวาจา เอากายเป็นโทษหนัก เอาวาจาเป็นโทษหนัก ที่จริงออกมาจากใจ เป็นเหมือนกับ เป็นพวกเหมือนกับใบไม้ เป็นพวกที่ไหนก็ปลิดใบไม้ออก ฆ่าทิ้งซะ พวกเกิดที่ไหนก็เหมือนกับใบไม้ ปลิดใบไม้ ควบคุมแต่ใบไม้ ที่จริงมันมีรากมีต้นอยู่หรอก มันจึงเกิดใบขึ้นมาเรื่อย ๆ ความชั่วความดี ถ้าไม่ฝึกจิตใจ ไม่มีสติเห็นจิต มีสติเท่านั้นที่เห็นจิตที่มันคิด คนอื่นไม่เห็นเราเห็น นี่วิชากรรมฐานจึงเป็นวิชาที่เปิดเผย เหมือนกับหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดออก บอกทิศทางแห่งคนหลงทาง ส่องแสงสว่างในที่มืด สติเป็นอย่างนี้ ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพราง ในกายในใจเรานี่ มันเห็นทุกรูปทุกแบบ เมื่อเห็นมันก็ทิ้งไม่ได้ถ้ามีสตินะ มันทิ้งไม่ได้ ถ้าเห็นผิดก็ทิ้งความผิดในกายในใจไม่ได้ ถ้าเห็นความถูกก็จะทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องประกอบขึ้นมา ให้ได้สัมผัส มันก็เหมือนกับเก็บเอาความถูกต้อง ทิ้งความผิดออกไปทุกรูปทุกแบบ ถ้าฝึกกรรมฐาน ได้ทิ้งอะไร ได้เห็นอะไร ประสบการณ์เรื่องที่ดี ไม่ดีเกิดขึ้นมาในใจมากมาย เกิดความขยันหมั่นเพียรในรสชาติแห่งพระธรรมขึ้นมา จนไม่รู้จักหลับจักนอนหละ ไม่ใช่ยากไม่ใช่ลำบาก มันกระตือรือร้นเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ทำอะไรก็ต้องสำเร็จสิ่งนั้น เมื่อความไม่ดีมันสำเร็จลงไป ทำได้ทิ้งลงไปแล้วความดีเกิดไปแทน ผู้ปฏิบัติก็ต้องเห็นเองรู้เอง เป็นปัจจัตตังของผู้ปฏิบัติ ความเท็จความจริงไม่ต้องมีคำถาม เกิดขึ้นที่กายที่ใจเรานี้ ไม่มีที่ไหน ตัวใครตัวมันต้องทำกันเอง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาปฏิบัติพึงทำด้วยตนเอง ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ควรน้อมตัวเราเข้าไป โดยเฉพาะเราเป็นนักบวชมีโอกาสเต็มที่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาชีพนี้โดยตรง น้อมเข้ามาเรา น้อมเราเข้าไป สัมผัสทุกโอกาส สิ่งแวดล้อมก็ช่วย เราหลาย ๆ อย่าง ในตัวเราก็มี นอกตัวเราก็มี สร้างขึ้นมาได้ในตัวเรานี้ ทางกายทางวาจาทางใจ ทางใจก็คิดเป็น พุทธานุสสติคิดถึงพระพุทธเจ้า ธัมมานุสสติคิดถึงธรรม คิดถึงทานถึงศีล คิดถึงแม้กระทั่งความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นโจทย์ที่ฟ้องเราอยู่ ประมาทไม่ได้ แม้แต่ความหลงก็เป็นโจทย์ตัวหนึ่ง ความโกรธความโลภกิเลสตัณหาก็เป็นโจทย์ ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ถูกวงล้อมอยู่ เหมือนกับคนอยู่ในกลางไฟ ไฟไหม้ล้อมมันทำยังไง คอยดับไฟ ดับไฟคนเดียว มัวแต่รุกไปข้างหน้า ข้างหลังมันเกิดขึ้นมาอีก จะทำยังไง แล้วก็จะยอมอยู่ที่นั่นไม่ได้ ยอมเจ็บปวดนิดหน่อย ก็กระโดดไปทางที่มันไฟไม่มา ไฟที่มันไหม้ไปข้างหน้า ยังมีป่าจะกระโดดไปทางนั้น ก็มองเห็นที่เป็นทาง ไฟที่มันไหม้มาแล้ว มันมีแต่เราอยู่ข้างหน้าไฟ โดดไปข้างหลังไฟ เจ็บปวดนิดหน่อย ขนตาร่วงไป แต่มันก็ไม่ตาย เป็นคนมีความทุกข์ ยอมทุกข์ สวนทางมันลองดู ออกไปทางนั้นแหละ ปฏิบัติต้องสวนทาง ต้องแกร่งกล้า ถลาไกล กระโดดได้ไกลกว่าเวลาอื่น เวลาหนักหนา เวลามันทุกข์เกิดขึ้นกระโดดได้ไกลกว่า
นี่ชีวิตผู้ปฏิบัติ กล้าทั้งสนุกสนาน คนแกร่งกล้าคนมีศรัทธา ต้องแกร่งกล้า มีความเพียรต้องแกร่งกล้า ถลาได้ไกล เชื่อมั่น เวลาเราปฏิบัติไม่มีอะไรน่ากลัวเลย มองอะไรริบหรี่ กิเลสเหมือนหมาตัวหนึ่งก็ว่าได้ นิวรณ์เหมือนแมลงตัวหนึ่ง สติเหมือนนกอินทรีย์ กิเลสเหมือนหมา สติเหมือนช้าง มองแบบยิ่งใหญ่ คนมีสตินะ มีกรรมฐานเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ปล่อยตัวเองง่วงเหงาหาวนอน เข้มแข็งตรงนั้นขึ้นมา ตรงไหนจุดอ่อนมันเข้มแข็ง นักปฏิบัติจริง ๆ นะ วิปัสสนาจริง ๆ น่ะ มันถึงบางอ้อ อื้มๆๆๆ มันเข็มแข็งก็อื้ม คำว่าอื้ม นี่มันเข้มแข็ง มันมีอำนาจ
เราจึงฝึกตนสอนตน ตามสิ่งแวดล้อม ดำเนินไปประกอบด้วย เวลามันหลง ประกอบความไม่หลง ในคราวเดียวกัน เวลามันทุกข์ประกอบความไม่ทุกข์ เวลามันเกิดอะไรขึ้นมา ประกอบความรู้สึกตัว รู้สึกตัวไป ภาวะที่รู้สึกตัวนี่มันพลิกทุกอย่าง ในสิ่งที่มันคิดเกิดแก่กายแก่ใจเรานี้ เรียนรู้ไป เพื่อที่จะเป็น ทำเป็น ถ้าไม่เรียนรู้ ไม่ปฏิบัติทำไม่เป็น เวลามันหลงกลับมารู้สึกตัวนี่ เรียนรู้แบบนี้ เหมือนกับพูดให้เขาฟังว่า เรียนจากผู้รู้ ตัวรู้ ตัวรู้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง อยู่ในตัวเรานี้ เรียนจากภาวะที่รู้ ที่มันอยู่ในตัวเรานี่ ประกอบมันขึ้นมา มันมีจริง ๆ ความรู้สึกตัวนี่ คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา
เหมือนนกสาลิกา 2 ตัว ลมพัดไปตกอยู่ในฤาษี ฤาษีเลี้ยงไว้ ฤาษีก็พาสวดมนต์แผ่เมตตา สัพเพสัตตา นกก็ได้ยิน เมื่อนกสาลิกาได้ยินก็พูดออกมา เมตตากรุณาช่วยเหลือ ว่าตามฤาษีไป ก็เลยว่าเป็น แสดงด้วยกิริยามารยาทไปแบบฤาษี เพราะมันอยู่ใกล้ชิดสิ่งแวดล้อมก็แสดงออก การอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ มันก็ไม่มีอะไร พูดไม่เป็น ไม่เหมือนกับนกตัวหนึ่งไปตกอยู่กับหมู่โจร โจรมันก็บอกว่าฆ่ามัน ตีมัน กูเหยียบมัน กูแทงมัน กูยิงมัน กูตีมัน เถียงกัน แบ่งปันทรัพย์กัน นกน้อยได้ยินก็แสดงออก เวลามัน โจรมันพูดกัน ฆ่ามัน กูเหยียบมัน ก็แสดงด้วยการฆ่าตีลงไปยิงลงไปแทงลงไป นกสาลิกาน้อยได้ยิน ก็มาหัดตัวเอง กลายเป็นดุร้ายไป เห็นคนมาทัก มันก็เป็นโจรไปได้ แต่ตัวนกสาลิกายู่กับฤาษีนี่ พูดออกมามีแต่เมตตากรุณา นี่สิ่งแวดล้อม มันสอนตัวเรา ถ้าเราเรียนรู้จากความไม่ดี พอมันโกรธก็โกรธแสดงความเป็นโจร ถ้ามันทุกข์ก็ทุกข์แสดงความเป็นโจร ในตัวเรานี่ ทุกข์แบบนั้นก็เป็นแบบนั้น ถ้ามันก่อขึ้นมาก็รู้สึกตัวซะ ความโกรธทำให้เกิดความอ่อนน้อม เมตตากรุณากันได้น่าสงสาร คนที่มาด่าเรา เขาไม่รู้เขาจึงด่าเรา มองข้างหลังของเรา มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นคนที่น่าจะให้อภัยเป็นคนที่ควรจะช่วยเหลือ ไม่ถือสาหาเรื่อง คนแบบนี้ ก็คิดเมตตาในตัวนั้นทันที แทนที่จะโกรธเขา คิดจะช่วยเขา เหมือนพระพุทธเจ้าช่วยองคุลีมาล องคุลีมาลถือดาบไล่ฟันอยู่ หยุด หยุด พระพุทธเจ้าไม่ได้โกรธ เพราะเชื่อว่าองคุลีมาลเข้าใจผิดซะแล้ว เราไม่เคยทำบาปทำกรรมให้ใคร ทำไมจะมาไล่เรา เข้าใจผิดเลย เราหยุดแล้ว เราหยุดแล้ว เธอยังไม่ได้หยุด เธอยังไม่ได้หยุด หยุดอะไรมันวิ่งอยู่ หยุดอะไรมันวิ่งอยู่ เราหยุดทำบาปทำกรรมทำชั่วแล้ว เธอยังถือดาบไล่ฟันเราอยู่ เธอยังไม่หยุด นี่ยังคิดจะช่วยเหลือแล้ว ไม่ใช่ว่าไปโกรธเขา ไปสอนขนาดนั้น องคุลีมาลก็ได้ยินขึ้นมา โอย ก่อนนี้ไม่ได้ยินคำพูดอย่างนี้หนอ ถ้าได้ยินแบบนี้ก็วิ่งไม่ออกแล้ว ทิ้งดาบลง ก็มาคิดว่า เออได้ยินแต่ว่า สิทธัตถะโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะออกบวชแล้วตรัสรู้ จะเป็นรูปนี้ล่ะมั้ง สมณะรูปนี้ล่ะมั้ง คิดไป ก็ร้องห่มร้องไห้เสียใจ กลายเป็นคนดีขึ้นมา
มาฝึกตนสอนตน มันเปลี่ยนได้คนละมุมกัน การฝึกตนสอนตนนี่นะ ประโยชน์จากความไม่ดีเป็นความดี ได้ประโยชน์จากความผิดเป็นความถูก อยู่ที่ไหน อยู่ในตัวเรานี่ ตำรานี่อยู่ในนี้ พระพุทธเจ้าศึกษาเล่มนี้ ไม่มีครูอาจารย์ใดเลย อยู่ในตัวเรานี่ถ้ามีสตินะ พวกเราจึงมาเป็นเพื่อนกันในเรื่องนี้ มีอะไรก็ไถ่ถามกัน เป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน ถ้าทำอย่างนี้ไม่ผิดแน่นอน มีอะไรเกิดขึ้นมา อาจจะเป็นบทเรียนที่ได้จากตัวเองมากที่สุด บทเรียนจากคนอื่นนั้นประกอบไปด้วย บทเรียนที่เกิดจากตัวเรานี่ ตัวเราสอนตัวเราดีกว่าคนอื่นสอน เป็นอย่างนี้ปฏิบัติธรรม อ้าว พอสมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน