แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกันนะ การฟังธรรมก็คือการรู้เรื่องของตัวเรานี้ เรื่องที่เกิดกับตัวเราคือกายกับใจ เรามาปฏิบัติธรรม ก็คือมาฝึกทัศนคติเรื่องกายเรื่องใจ ตามหลักกรรมฐาน หัดมีสติภายในกายตั้งไว้ก่อน เพื่อการเตรียมพร้อมที่จะได้เปลี่ยนทัศนคติ ที่เกิดกับกายกับใจ ตั้งไว้ก่อนอาศัยกายอาศัยใจ เป็นที่ตั้งของความรู้สึกตัว เท่านั้น อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ก็ให้เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัว เพื่อได้ว่าฝึกหัดตัวเอง ทุกคนต้องฝึกหัดอย่างนี้ การฝึกหัดกายใจนี้ มีสติเป็นที่ตั้ง ไม่มีอะไรอ้างอิงโดยเหตุผลความคิด หรือ เพศ วัย ลัทธิ กาลเวลา ไม่มีอ้าง แม้แต่เจ็บไข้ได้ป่วย หูหนวกตาบอด ก็สามารถฝึกได้ เพราะกายใจมีให้เราฝึกอยู่ แม้แต่เราเจ็บเจียนตายก็ยังฝึกได้ ให้มีความรู้สึกตัวเป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นความเจ็บก็ได้รู้สึกตัว แม้แต่เจ็บขึ้นมาอย่าให้ความเจ็บทางใจ ให้แทรกความรู้สึกตัวลงไป การฝึกต้องฝึกอย่างนี้ ยิ่งเราจะไม่เจ็บไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ยิ่งดี หรือเคยสุข เคยทุกข์ เคยมีปัญหา ก็ยิ่งดี จะได้เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ มาก ประสบการณ์มาก บทเรียนจะมีมาก และทุกคนก็มักจะมีสิ่งที่การใช้กายใช้ใจ ผิดพลาดมาหลายอย่าง ใช้ไปทุกรูปแบบ ตั้งความสุขความทุกข์ ความรัก ความชัง ความพอใจไม่พอใจ ความโกรธ โลภ หลง เกลียด ตัณหา ราคะ อุปทาน ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน อันนี้ก็ต้องเชิดลงไปให้ได้ โดยเอาสติตั้งไว้ ก่อนที่กาย ที่จิตใจ เมื่อการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เหมือนนักรบที่มีอาวุธที่มีสมรภูมิรบที่ดี เพื่อตอบข้าศึกศัตรูที่จะมารุกรานประเทศชาตินี่ เราก็มีวิชากรรมฐาน มีวิชาที่เตรียมพร้อม
มีสติภายในกายเป็นประจำ คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก สามารถทำได้หยาบ ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้มีการกระตุ้น ให้เกิดความรู้ได้ง่าย การเอาลมหายใจ อาจจะไม่เพียงพอ อันอื่นมันจะรุนแรงกว่าการเอาลมหายใจมาเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตัว บางทีเราก็หายใจ มารู้สึกตัวว่าเราหายใจ เมื่อความโกรธ โลภ หลงเกิดขึ้น ก็ไม่มีความรู้สึกตัวว่าหายใจ มักจะไปรับใช้ความโกรธ โลภ หลง ความสุข ความทุกข์ ความพอใจไม่พอใจ
เราจึงมาฝึกหัดให้เป็นดุ้นเป็นก้อน เหมือนเราจับเครื่องไม้เครื่องมือ ให้ชำนิชำนาญ เอากายมาเป็นเครื่องมือ ให้เกิดความรู้สึกตัว ความคิดที่เกิดขึ้นจากจิต เอามาเป็นความรู้สึกตัว ทันทีทันใด เมื่อมันเกิดสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัว ให้เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัว ทุกครั้งที่มันเกิดเรื่องอื่นขึ้นมา ให้เปลี่ยน นี้แสดงว่าฝึกตน สอนตน แก้ไขตน เตือนตน มีสติ พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง เธอจงแก้ไขตนด้วยตน เธอจงมีสติทุกเมื่อ นี่เรียกว่าอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
บัดนี้เราก็มาหัดกัน 1 วัน 7 วัน 10วัน 1เดือน 1ปี 7เดือน 7ปี พิสูจน์ดูเรื่องนี้ อาจจะไม่นานถึงป่านนั้นก็ได้ มันก็มีเรื่องเก่า ๆ ที่ทำให้เราประสบพบเห็นอยู่เสมอ เกิดจากกายกับเรื่องเก่า ที่เคยเกิดมาแล้ว เกิดจากใจก็เป็นเรื่องเก่าที่เคยเกิดมาแล้ว เราจะเห็นเรื่องเก่าๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็ได้บทเรียนที่ดี เพราะความรู้สึกตัวเป็นเกณฑ์ชี้วัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำถามจากใจใคร ๆ มีแต่ตอบเอาเอง ซึ่งความทุกข์ ความรู้สึกตัว ความโกรธ ความรู้สึกตัว ความหลง หรือความรู้สึกตัว สัมผัสดูอย่างนี้เรียกว่า ภาวนา ไปต่อเอา ไปพบเห็นเอา ไม่ใช่แบบคิดเห็น ให้เป็นการพบเห็น ถ้าคิดเห็น ไม่ใช่ของจริง เป็นจินตญาณ ไม่ใช่เป็นปัญญาญาณ รู้เหมือนกันแต่มันเป็นจินตญาณ การคิดเห็น กับการพบเห็น มันต่างกันอยู่
วิธีปฏิบัติฝึกสติมันจะเกิดการพบเห็น เมื่อมันพบเห็นแล้ว มันก็มีประสบการณ์ บทเรียน ต่างกันมากกับการคิดเห็น นี่เรียกว่าฝึกตนสอนตน ภาษาพระพุทธเจ้าว่า กรรมฐาน ภาวนา เราอาจจะได้เห็น แต่ว่าเคยได้สัมผัส แต่ว่ากรรมฐานคือที่ตั้งของการกระทำ ภาวนา ก็ตั้งไว้ ขยันตั้งไว้ รู้บ่อย ๆ ขยันรู้ 14 จังหวะ รู้ทุกวินาที มันก็เพียงพอ รู้ทุกวินาที ความรู้ทุกวินาทีที่มีอยู่ในกาย อาจจะเกิดความชำนาญได้ไว คืนหนึ่งก็อาจจะชำนาญก็ได้ เช่นพระอรหันต์บางรูป แต่ก่อนเป็นปุถุชน ตั้งแต่ย่ำค่ำเป็นปุถุชน พอฝึกไปๆ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าใส่ใจ ให้ตามหลักของกรรมฐาน ภาวนา วิปัสสนา เป็นไปเอง ก็มีเบื้องต้น มีท่ามกลาง มีที่สุด กรรมฐานเป็นเบื้องต้น ภาวนาเป็นท่ามกลาง วิปัสสนาเป็นที่สุด มันเป็นขั้นตอน ทุกสิ่งๆเกิดจากการกระทำอย่างนี้ มันก็เกิดผลอย่างนี้
เหมือนชาวนาชาวไร่ ในเนื้อนา คนทำนาต้องมีเนื้อนา ที่นา ที่นาก็ต้องมีน้ำ มีน้ำก็ต้องมีข้าวปลูกข้าวพันธ์ ปลูกลงไปที่นาที่เตรียมพร้อม มีเจ้าของรักษา ปล่อยน้ำเข้า ปล่อยน้ำออก เปิดน้ำเข้า ปล่อยน้ำออก ถ้ามันท่วมมากปล่อยออก ถ้ามันจะแห้งปล่อยน้ำเข้าไป เจ้าของนาเป็นอย่างนี้กันทุกคน ไม่มีใครปฏิเสธ เมื่อมีการกระทำเกิดขึ้น เพราะรู้จักงานการ รู้จักหน้าที่ มีน้ำให้เห็นที่หน้านา มีต้นข้าวปลูกไว้ ถ้าน้ำมากมันก็ท่วม ถ้าน้ำแห้งหญ้าก็เกิด ต้นข้าวก็ยังไม่งาม ชาวนาไม่มีใครบอก คนที่ทำนารู้เอง มีการกระทำเองไม่ปล่อยทิ้ง ไม่ทอดทิ้ง ฉันใดก็ดีกรรมฐานก็เหมือนกัน กรรมฐาน ภาวนา วิปัสสนา เหมือนคนทำนา เวลาสติเป็นเจ้าของ เจ้าของกายเจ้าของใจ กายใจปลูกสติลงไปในกายในใจนั้น ก็ได้ปลูกลงไปแล้วจริงๆ ความเกียจคร้าน ขี้เกียจก็หยุด ขยันก็ทำ ไม่ใช่นักปฏิบัติ เหมือนคนทำนา ขี้เกียจก็หยุด อ้างว่าร้อนนัก อ้างว่าหนาวนัก อ้างว่าหิวนัก อ้างว่าเหนื่อยนัก อ้างว่ายังเช้าอยู่ ชาวนาที่เห็นนาน้ำท่วม เห็นนาน้ำแล้งไม่มีการอ้างอย่างนี้ ถ้าอ้างอย่างนี้ก็เสียหายแก่พืช ข้าวที่เราปลูกไว้ ทุกคนต้องรีบ พอวิ่งก็วิ่ง ไปทำนาเหมือนกัน นอนอยู่บ้านเห็นทุ่งนา น้ำท่วมตรงไหน น้ำขาดที่ใด เพราะการสัมผัสต้องรู้เห็นทุกที่ ในที่นาของตน รู้รอบ รู้รอบๆ คนฝึกกรรมฐานก็รู้รอบๆ กายใจของตนอยู่เสมอ ตรงไหนที่ประมาท ที่เคยผิด ยิ่งใส่ใจ ความผิดความถูกเกิดขึ้นให้เห็น แก้ความผิดเป็นความถูกต้อง มันก็เป็นการงานชอบขึ้นมา กรรมฐานก็เหมือนกัน เกิดความขยันเกิดความชำนาญ เกิดเป็นศาสตร์เป็นศิลป์ที่ว่าประสบการณ์บทเรียนที่ดี ง่ายขึ้น ฝึกใหม่ๆก็อาจจะยาก พอฝึกไป ๆ งานมันจะบอก เมื่องานมันบอก ก็เกิดความขยัน เกิดความชำนาญ เกิดการพัฒนาได้ง่าย เช่น เวลามันหลง แต่ก่อนอาจจะไม่อยากให้หลง ไม่พอใจในความหลง เช่นความฟุ้งซ่าน ไม่อยากจะให้มันเกิดอย่างนั้น อาจจะเครียด คิดมากอาจจะเครียดได้ ปวดหัว ง่วงนอน ไปห้ามความคิด สู้กับความคิด ฝึกให้รู้ เคลื่อนไหว ก็สู้ความง่วงไม่ได้ ก็ร้องเองว่าทำไม่ได้ ทำยาก ทีแรกมักจะเป็นอย่างนั้น มักจะอ้างเอายากเอาง่าย เอาผิด เอาถูก เป็นโจทย์ตัวเอง อ้างอยู่เสมอ ก็ฝึกไปบ่อยๆ ไม่ได้อ้าง อยากให้มันหลง อยากให้มันฟุ้งซ่าน อยากให้มันโกรธ อยากให้มันทุกข์ เพื่อจะได้ฝึก มักจะยิ้มๆ ที่ฝึกหัดไปอาจจะยิ้ม เห็นความผิด ที่จะต้องได้แก้ไข เหมือนนายช่างซ่อมรถ ช่างสร้างบ้าน ผิดตรงไหนขยันตรงนั้น ชำนาญตรงนั้น เขาเห็นสิ่งที่ผิดเขาก็ยิ้ม เหมือนไปปะยางรถ มันรั่ว เขาก็ต้องหาวิธีที่จะเห็นรูรั่วของยางรถ พอเขาเห็นแล้ว เขาก็ยิ้ม พอใจมากที่จะได้แก้ตรงที่มันผิด สิ่งที่เขาทำ เขาก็ใช้ได้ เขาเป็นนายช่าง เขาชำนาญ ชำนาญจนฟังเสียงรถก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสตร์เป็นศิลป์ไปเอง
การฝึกตนสอนตนก็เช่นกัน หัวเราะความโกรธได้ หัวเราะความทุกข์ได้ ยิ้มได้เมื่อภัยมี ไม่เอามาเป็นทุกข์ ทุกข์ไม่เอามาเป็นทุกข์ ทุกข์เอามาไม่เป็นทุกข์ โกรธไม่เอามาเป็นโกรธ โกรธเอามาไม่เป็นความโกรธ เปลี่ยนได้อย่างนี้ มันยิ่งกว่าการทำอย่างอื่น อยู่ในคราวเดียวกัน ในความหลงก็มีความไม่หลง ในความโกรธก็มีความไม่โกรธ มาให้เราได้ใช้ สะดวกกว่าการทำอย่างอื่น ทำอย่างอื่นต้องมีวัตถุที่หนึ่งที่สองมาใช้มาช่วย บุคคลที่หนึ่งที่สองมาช่วยจึงทำได้ แล้วก็ทำได้ด้วย แต่ว่าสิ่งที่เกิดกับกายกับใจนี้ ไม่มีบุคคลที่หนึ่งที่สอง วัตถุหนึ่งสองมาให้เราใช้ เราใช้ในตัวเอง
กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี มันใหญ่มาก พอเราเห็นแล้วว่าไม่ใหญ่ขนาดนั้น ไม่ยากขนาดนั้น แต่จะยอมรับจนถือว่าเราเป็นปุถุชน กิเลสมากทำไม่ได้ ถาม จะทำอะไร ทำยากไหม ถามอยู่อย่างนี้ พอทำลงไปมันยากหน่อย ก็ทำไม่ได้ๆ เป็นอย่างนี้เรียกว่า ทำอะไรไม่สำเร็จ พอถาม ถ้ายากก็ไม่อยากจะทำ ถ้าง่ายก็อยากจะทำ ไม่ใช่นักทำงาน นักทำงานจริงๆ สมัครลงไป เหมือนคนมาช่วยงานเป็นจิตอาสา สมัยเป็นพระหนุ่มไปอยู่สวนโมกข์ ไชยา กับอาจารย์พุทธทาส เราอาจจะเป็นแม่ของงานบางอย่าง พระที่อยู่สวนโมกข์มาถาม อยากทำงาน มีงานไหนให้ทำ เตรียมพร้อม ผ้าอาบน้ำมัดเอวมา เตรียมพร้อมที่จะทำงาน มือว่างๆไม่มีอะไร มีงานอะไรให้ทำไหม ก็บอกว่ามี ก็พาไปทำ ก็ตั้งใจทำ โดยความสมัครใจ กลับก็มาก็ทำได้ สนุกไปเลย เหนื่อยไม่อ้าง หนักไม่อ้าง เอาจนได้ นี่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมในตัวเรามันดี อันนี้มาทำกรรมฐานนี่ เป็นงานที่เกิดกับเราแท้ๆ งานชอบ งานถูกต้อง ไปแก้ความไม่ถูกต้องให้กับกายกับใจ มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าเราอาศัยกายอาศัยใจเป็นที่ตั้งความรู้สึกตัว มันไม่ใช่จะทำอยู่เช่นนี้ มันก็งอกงามขึ้นมา ให้มีอานิสงส์เกิดขึ้น
ชาวนาปลูกข้าวในที่นาของตนก็ได้เม็ดข้าวมากิน ได้ประโยชน์ ไม่ขาดไม่ยากไม่จน คนขยันหาเงินหาทรัพย์ได้ไม่ยากจน คนเกียจคร้านก็ย่อมนอนเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ยังเป็นอันอื่น มีที่นาต้องอาศัยน้ำฝน อาศัยตากแดด หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จึงได้เม็ดข้าว โอ๊ย ฉันทำมานี้ เรามาฝึกตัวเราแท้ๆ กายก็อยู่นี้ เอามายกมือขึ้นรู้สึกตัว คว่ำมือรู้สึกตัว มันก็ไม่ยากปานนั้น นั่งอยู่ก็ทำได้ นอนอยู่ก็ทำได้ เดินอยู่ก็ทำได้ ยืนอยู่ก็ทำได้ แต่ก็อยู่ในร่มในเงา มีที่นั่ง มีที่นอน แล้วมีอะไรที่สะดวก มรดกของเราที่ได้รับมา ก็สะดวกเรื่องนี้เพื่อการนี้ ทำแล้วเป็นไง สอน ศาสนาวัตถุเพื่อสะดวกให้เราใช้ ศาสนพิธีเพื่อสะดวกให้เราได้ฝึกหัด ทำวัตรสวดมนต์ ศาสนาบุคคลก็มีเพื่อนมีมิตร มีตัวบุคคล มีคำพูดที่รู้ ที่สื่อภาษารู้จัก มีอยู่ ศาสนบุคคล มีภิกษุ มีสามเณร มีอาสกอุบาสิกา เดี๋ยวนี้เรามานั่งอยู่นี้ไม่ต่ำกว่าร้อยคน นี่คือศาสนบุคคล เป็นคำพูดทุกคนได้ยิน บอกงานบอกการว่าให้มีสติไปในกาย เอาคำสอนพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มาสอน สะพานเช่นนี้ไม่ขาดสาย ยังมีคนบอกคนสอนมาตลอด 2600ปีมาแล้ว สามารถพิสูจน์ได้ เป็นอกาลิกธรรม ไม่มีกาลเวลา ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
ฝึกเรื่องนี้ ผู้ปฏิบัติก็รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ ควรเห็นตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ เป็นจัตตังของผู้ปฏิบัติ สัมผัสรู้เองเห็นเอง เพราะเป็นอย่างนี้ จึงยืนหยัดอยู่บนความจริงอยู่อย่างนี้ คำสอน ทนต่อการพิสูจน์ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นสากลของโลกไปแล้ว ทุกคนยอมรับ กรรมเท่านั้นที่เป็นสิ่งจำแนกสัตว์ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ทำดีก็ว่าได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว หัดให้ทุกข์ก็เกิดความทุกข์ ใช้กายใช้ใจไม่เป็น ต้องมาหัดกันบ้าง ปล่อยให้กายทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ติดเหล้าติดบุหรี่ติดสิ่งเสพติด กลายเป็นคนดุร้าย มือเอาไปทำชั่ว วาจาพูดชั่ว จิตไปคิดชั่ว ก็ไม่เคยหัดและเป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่น ถ้าเราหัดก็เอากายมาทำความดี เอาใจมาคิดดี เอาวาจามาพูดดี ก่อความดี ก็เกิดขึ้น มีประโยชน์ ชี้ผิดชี้ถูก บอกผิดบอกถูก ช่วยกันให้คนที่มีความผิดให้คำนึงความถูก ขอให้เขามีสติบ้าง มีพ่อแม่มีครูบาอาจารย์ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในโลกนี้ สิ่งที่เราทุกข์ ครูของเราไม่ทุกข์ สิ่งที่เราโกรธ ครูของเราไม่โกรธ แล้วก็มีจริงๆ ชีวิตของเรานี้ต้องเกิด ต้องเจ็บ ต้องตาย การมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า มีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ทำอย่างไร จะยอมจำนนในความทุกข์ จะต้องดีใจก็หัวเราะ เสียใจก็ร้องให้อยู่เช่นนี้หรือ เหนือกว่านี้ไม่ได้หรือ ให้ความดีใจ มาเป็นสุข ให้ความเสียใจมาเป็นทุกข์ มันก็เกิดอยู่ที่ใจนั่นเอง บัดนี้รู้สึกตัวซะ พระพุทธเจ้าก็บอกตั้งแต่เบื้องต้น มีสติภายในกายเป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะถอนความพอใจ และความไม่พอใจออกมา รู้สึกตัว อย่างนี้ โลกมันเป็นอย่างนี้ อยู่เหนือโลกก็เหนืออย่างนี้ ฝึกตนก็ฝึกอย่างนี้ ถอนความพอใจความไม่พอใจ ไม่ใช่ตัวเรา ถอนออกมา รู้สึกตัวซะ เพื่อจะอยู่เหนือโลก เกิดขึ้นกับกายก็ถอนออกมา เกิดขึ้นกับใจก็ถอนออกมา มารู้สึกตัว ให้ฝึกอย่างนี้ จะได้เหนือการเกิดการเจ็บการตาย ความไม่แก่ ไม่เจ็บไม่ตายไปทางนี้ ชีวิตเราไม่ใช่ไปห้อยไปแขวนกับความคิด ให้ความคิดมาเป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็ไม่ถูกต้อง รับใช้ความคิดเป็นทาสความคิด มันก็คิดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เคยรักกลับกลายเป็นคนเกลียดชังได้ ความคิดนี่ ความคิดที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่าอวิชชา ให้ความคิดไปรับใช้อวิชชา คือความไม่รู้ คิดผิดก็ยังคิดได้ คิดขึ้นมาเป็นทุกข์ก็ยังคิดอยู่ คิดขึ้นมานอนไม่หลับก็ยังคิดอยู่ คิดขึ้นมาน้ำตาไหลก็ยังคิดอยู่ ไม่หัดตัวเอง หยุดความคิดก็ไม่เป็น ไม่มีสติ แทนที่มีสติอยู่ก็ไม่ใช้ แต่รับใช้ความสุขความทุกข์ที่เกิดจากความคิดอยู่เช่นนั้น ความคิดเป็นตบะของจิต เป็นสิ่งที่ย้อมจิต ความคิดเนี่ย ใช้ไม่เป็นก็เปรอะเปื้อนได้ เสียธรรมชาติ แต่ก่อนนี้จิตบริสุทธิ์ ใช้ไม่เป็นก็เปรอะเปื้อน พระพุทธเจ้าว่า ภิกษุทั้งหลายจิตของเรานี้ประภัสสรผ่องใสมาแต่เดิม แต่กลับใช้ไม่เป็น จรมาเปรอะเปื้อนจิต ทำให้เศร้าเหมอง เราไม่รู้ เอาความเศร้าหมองมาเป็นจิต เช่นความโกรธ ว่าเราโกรธ ทำตามความโกรธ เอาความโกรธมาเป็นตัวเป็นตน มีมือมีปาก แสดงออก โทสะร้ายกาจ จับศัตราวุธเข่นฆ่ากัน และทำร้าย ก็ไม่ยอม ถ้าโกรธขึ้นมาไม่ยอม ต้องทำตามความโกรธให้ได้ มันก็เดือดร้อน
เราจึงมาร่วมกันเถอะ นับหนึ่งจากตัวเรานี้ มาฝึกเรื่องนี้ ความเดือดร้อนได้เกิดขึ้นกับมนุษย์ กับโลกนี้ มีกองทัพมีอาวุธ มีตัวบทกฎหมาย มันเอาไม่อยู่ ต้องมาฝึกตนสอนตน ถ้าเรามีสติภายในกาย ถอนความพอใจ และความไม่พอใจออกมา ทุกคนทำอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมีกองทัพไม่ต้องมีอาวุธ ไม่มีคุกมีตาราง ทุกคนแก้ไขตนเองอยู่ ดูแลตัวเองอยู่ ฝึกตน สอนตนอยู่ ไม่ปล่อยให้ความชั่วเกิดขึ้นที่กายที่ใจ พวกเราจึงมีอาชีพเรื่องนี้ สิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตแบบนี้ อาศัยธรรมวินัย ปฏิบัติตามธรรมวินัย ก็มีผู้เห็นด้วย จึงมีศาสนา มีพุทธบริษัท หุ้นส่วนร่วมกัน สร้างวัดสร้างวา อวดลูกอวดหลานทำบุญให้ทาน เราก็อยู่ได้ เพราะการให้ชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่นก็ยังอยู่ได้ ยังไม่ตาย ชีวิตของเราเนื่องด้วยคนอื่น นี่คือพุทธบริษัท และเราก็ทำเรื่องนี้ มีวัดวาอารามเป็นของทุกคน สุทินนังเครื่องใช้ไม้สอยเป็นของทุกคน สุทินนังถวายแก่พระสงฆ์ คือส่วนรวม ขอพระสงฆ์จงรับ เพื่อให้ได้ใช้ส่วนรวม สงฆะ สังฆะเป็นส่วนรวม หมู่คณะมีธรรมวินัย มีสิทธิใช้ได้ทุกคนทุกชีวิต ประเทศไทย ศาสนาพุทธแบบไทยๆ วัดอารามแบบไทยๆ พระสงฆ์แบบไทยๆ วัฒนธรรมแบบไทยๆ ธรรมวินัยก็ประกาศว่า ผู้ที่ยังไม่มาขอให้มาสู่อาวาสของเรา ไม่ใช่ของกู มาแล้วให้อยู่เป็นสุข ธรรมวินัยประกาศอยู่เช่นนี้ ขึ้นป้ายบอกทางมาจากชัยภูมิก็ได้ มีแผนที่ ขอให้มาสู่อาวาส มาแล้วอยู่เป็นสุข จะบอกแต่ความไม่ดีให้หัดความดี จะได้พึ่งพาอาศัยกันได้ นี่คือธรรมวินัย รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ