แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
รูปแบบของการสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรมเนี่ย ให้มีความรู้สึกไปพร้อม ๆ กัน กายเราก็มีลักษณะที่พลิกมือ คว่ำมือ ยกมือ มันก็มี ให้มันรู้ อย่าไปรู้ตอนอื่น ให้มันรู้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้มันเป็นระเบียบเฉพาะเรื่องเฉพาะราว เรามาหัดตรงนี้กัน ไม่ยาก เหงื่อไม่ไหลหรอก ไม่เหมือนกับเราทำไร่ทำนา ทำงานการอันอื่น แต่ว่าการเจริญสตินี่ เป็นของง่าย ๆ เป็นของเบา ๆ อย่าไปทุ่มเทอย่าไปเพ่ง เครียด ใจร้อน ใจดี ๆ เอาไว้ก่อน หายใจโล่ง ๆ เอาไว้ แล้วก็ตั้งสติเอาไว้กับกายเคลื่อนไหวไปมา บางทีมันอาจจะไม่มีสติ มันอาจจะหลงคิด มันอาจจะง่วงนอน อาจจะปวดขา ปวดหลัง ปวดเอว อันนั้นก็มันก็มาบอก คล้ายมันบอกให้เรารู้ว่า มันคืออะไร ความง่วงมันก็บอกว่านี้คือความง่วง ความคิดมันก็บอกว่านี่ความคิด มันไม่ใช่สติ ความปวดความเมื่อยมันก็บอกเราว่านี่คือความปวดความเมื่อย คืออาการที่มันเกิดขึ้นกับกาย คล้าย ๆ มันบอกเรา เราก็ดูเอา เห็นเอา เห็นบ่อย ๆ ก็ชี้ได้เลยว่า นี่คือความง่วง ภาษาธรรมเรียกว่านิวรณ์ธรรม เป็นของที่กั้นคิด ไม่ใช่เป็นมิตรของเรา เราก็หาวิธีที่จะเปลี่ยนความง่วงให้เป็นความรู้สึกตัว ให้เป็นความรู้สึกตัว แล้วมันก็เปลี่ยนได้ แม้นมันเกิดแล้วเกิดอีก เราก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นกัน ว่าเราจะต้องตั้งตรงนี้ จะต้องสร้างตรงนี้ เปลี่ยนมาเป็นอันนี้ เปลี่ยนความรู้สึกตัวนี่ อะไร ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรานี่ เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวได้ทั้งหมด มันเป็นของสากล มันไม่เหมือนอย่างอื่น ไม่เหมือนวัตถุอย่างอื่น ถ้าความหนาวก็ต้องห่มผ้า ความร้อนก็ต้องอาบน้ำ ความหิวก็ต้องกินข้าว อันนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ว่าสิ่งที่เราสร้างอยู่นี่อันเดียวเท่านั้นเปลี่ยนไปตะพึดตะพือ เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวตะพึดตะพือ แต่ว่าเปลี่ยนให้มันตรงกันข้าม ถ้ามันหลงก็เปลี่ยนเป็นตัวรู้ อย่างนี้ ถ้ามันทุกข์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นตัวรู้อย่างนี้ ถ้ามันปวดมันเมื่อยก็ต้องเปลี่ยนเป็นตัวรู้สึกตัวอย่างนี้ ถ้ามันง่วงเหงาหาวนอน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวอย่างนี้ เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวได้ทั้งหมด สิ่งที่มันแสดงออกทางกายทางจิต แม้แต่ตามันเห็นรูปก็เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว หูได้ยินเสียงก็เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว อะไร ๆ ทั้งหมดนั่นแหละเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัว หัดให้มันกลับมาตรงนี้ กลับมาตรงนี้ ทางนี้ เที่ยวทางตรงนี้ เดินตรงนี้ เหมือนกับทางที่เราเดินจงกรม ทีแรกก็ไม่มีทาง แต่เราเหยียบไป ก้าวสองก้าว รอยเท้าของเราที่เหยียบไปเหยียบมา กลับไปกลับมามันก็กลายเป็นทาง โล่งเตียน แสดงถึงเป็นหนทาง กับที่ไม่ใช่ทาง การก้าวไปก็สะดวก การเหยียบไปครั้งแรกก็จะไม่ค่อยเป็นทางเท่าไหร่ แต่ว่าเดินกลับไปกลับมามันก็เป็นทาง
การปฏิบัติธรรม การเปลี่ยนอะไร ๆ มาเป็นความรู้สึกตัวเนี่ย ความรู้สึกตัวจะเป็นร่องรอยของทาง ชีวิตของเรา ชีวิตของเราต้องดำเนินไปในทางนี้ แต่เวลาใดมันหลง มันจะเปลี่ยนของมันไปเอง ถ้ามันได้ทางแล้ว ขอให้ฝึกหัดให้มันได้ทางเสียก่อน ลำดับลำนำให้มันได้ทางเสียก่อน เอากายเป็นนิมิตไปก่อน กายก็เอามาเป็นวัตถุ เอามาเป็นรูปแบบ เอามาเป็นจังหวะ ให้มันตามทางไปเสียก่อน 14 จังหวะ ตามไป 14 ครั้ง หัดทีแรกก็ลำดับลำนำสักหน่อย ต่อไป ๆ มันก็ง่ายหรอก อาจจะไม่เป็นจังหวะก็ได้ ต่อไป ต่อไปไม่ต้องอะไรเลยก็ได้ มันเป็นตัวรู้ไปหมดแล้ว ชีวิตเรา เราได้ใช้มันแล้ว ใช้ตัวรู้แล้ว พอมันมีมากเหลือเกินจนเป็นมหารู้ในชีวิตของเรา เรื่องกายเรื่องใจทั้งหมดเป็นสมบัติของความรู้สึกตัวทั้งหมด ตอนนั้นล่ะมันจะเกิดอะไรขึ้น นั่นแหละ เหตุอยู่ตรงไหน มันก็ต้องมีผลอยู่ตรงนั้น ผลจากความรู้สึกตัวเนี่ยกลายเป็นวิปัสสนาญาณ รู้แจ้ง เกิดเรืองทางปัญญา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว แต่ว่าตอนนั้นอาศัยคำพูดคำบรรยายไม่ได้ ตัวของเราเองจะเป็นปัจจัตตัง รู้เอาเอง ว่าแต่เราสร้างความรู้สึกตัว แต่ถ้าเราสร้างความรู้สึกตัวได้แล้ว เริ่มต้นได้แล้ว จับหลักได้แล้ว อะไรที่มันไม่ใช่ความรู้สึกตัว มันหลง มันไม่เอาความหลง ประสาอะไรกับความโกรธ ความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเศร้าหมอง มันหยาบคาย มันหยาบคาย ไม่ต้องไปอดไปทน ถ้ามีความรู้สึกตัวดีแล้วเนี่ย มันก็หมดไปเอง เหมือนกับความมืดที่อยู่รอบตัวเรา พอมีแสงสว่าง ความมืดมันก็หมดไปเอง ชีวิตของเราทั้งหมดมีตัวรู้กับตัวหลงเท่านั้น ถ้ามีตัวรู้ ตัวหลงก็ไม่มี ถ้าไม่มีตัวหลงแล้ว ความวิตกกังวล เศร้าหมอง ความโลภ ความโกรธ มันเกิดขึ้นไม่ได้ ต้นตอของอกุศลทั้งหลายมันเกิดจากความหลง เพราะฉะนั้น เรามาจัดสรรชีวิตของเราให้เกิดความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องไปทำอะไรหลายอย่าง มาสร้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัว วัสดุอุปกรณ์ก็มี ออกมาผิด ออก ออกมาผิด ออก ออกมาผิด ออก ให้มันเกิดความรู้สึกตัวต่อ ๆ กันไป ต่อ ๆ กันไป ยาวไป มากไป นี่ ไม่ยาก แต่บางคนเอาไปคิดเป็นเรื่องยาก พอจะสร้างสติก็เอาจริงเอาจัง จะเอาให้ได้ เพ่งเอาไป แล้วก็กลายเป็นความเครียด กลายเป็นความเบื่อ กลายเป็นการเข็ดหลาบไปเลย ไม่ใช่ไปจริงจังอะไร รู้เบา ๆ รู้เบา ๆ รู้ซื่อ ๆ ไม่ต้องไปใช้สมอง ใช้เหตุใช้ผล วัตถุที่ทำให้เกิดความรู้ก็มีอยู่ ทำเบา ๆ รู้เบา ๆ ให้มันแม่น ๆ รู้สึกตัว รู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว อย่าไปหาคำตอบว่าฉันรู้หรือเปล่า ถูกหรือเปล่า ผิดหรือเปล่า อย่าเพิ่งตอบว่าผิดว่าถูก เอาทิ้งไปเลยความผิดความถูก ความได้ความเสียเอาทิ้งไปเลย เพียงแต่เรารู้สึกตัว รู้สึกตัว มันผิดก็รู้สึกตัวเนี่ย มันถูกก็รู้สึกตัวเนี่ย มันสุขก็รู้สึกตัวเนี่ย มันทุกข์ก็รู้สึกตัวเนี่ย มันเกิดอะไรก็รู้สึกตัวเนี่ย รู้สึกตัว รู้สึกตัวไป
ความรู้สึกตัวนี่แหละ มันจะเป็นตัวเฉลย มันจะเป็นตัวเฉลยชีวิตทั้งหมดเลย เราไม่ต้องไปหาเหตุหาผล มันหาเหตุหาผล ความรู้สึกตัว เหตุผลยังไม่ใช่สัจธรรมหรอก ความรู้สึกตัว รู้สึกตัว อาจจะรู้ไม่จริงก็ได้ทีแรก อาจจะครึ่งรู้ครึ่งหลงก็ช่างหัวมัน หลงไปบ้าง กลับมารู้ หลงไปบ้างกลับมารู้ มันจะเก่งตอนที่เรากลับมารู้นี่แหละ ไม่ได้เก่งตอนที่เรานั่งนาน ๆ เราเดินนาน ๆ เราไม่หลับไม่นอน อันนั้นไม่ใช่ มันจะเก่งต่อเมื่อเรากลับมารู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัว จะนั่ง จะนอน จะยืน เดิน อะไรก็ได้ ไปไหนมาไหนก็ได้ ถ้าเรามีความรู้สึกตัว เมื่อมันไม่ใช่ความรู้สึกตัว ก็เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวอย่างนี้แหละ ทั้งหมดเลยเนี่ยเอาเป็นตัวปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือการกลับมา ปฏิ คือ กลับมา ตั้งไว้ เช่น เรามีสติตั้งไว้ที่กายของเรา มันอยากจะหลงไปทางอื่นก็กลับมาตั้งไว้ มันหลงไปอีกก็กลับมาตั้งไว้อีก ถ้ากลับได้กลับมาหลายเที่ยวหลายครั้งหลายหน มันจะเอียงมาทางนี้ ง่ายที่จะไม่หลงต่อไป ทีแรกง่ายที่จะหลง ถ้าเรากลับมาบ่อย ๆ กลับมาบ่อย ๆ มันก็ง่ายที่จะไม่หลง มันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ธรรมชาติกฎของธรรมชาติมันยิ่งใหญ่ มันยิ่งใหญ่ ความรู้สึกตัว ความหลงตัว มันอยู่กับการกระทำของเรา อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้ เราทำได้ มันอยู่กับความรู้สึกตัว เอาความรู้สึกตัวให้เป็นใหญ่ เข้าข้างความรู้สึกตัว สร้างความรู้สึกตัวเอาไว้ วิธีที่เราปฏิบัตินี่ จึงมีความมั่นใจมากๆ ถ้ายกมือเป็น รู้สึกตัวเป็นน่ะ นั่นแหละ เป็นมรดก เป็นสมบัติของเราแล้ว มีมือสองมือ มีแขนสองแขนเนี่ย เอามาวางไว้บนเข่า ก็มีเข่า พลิกมือขึ้น ข้างขวาข้างซ้าย รู้ได้ทุกคน รู้ได้ทุกคน เพราะฉะนั้น มันไม่รู้ก็พยายามให้มันรู้ เพียรตรงนี้ เพียรรู้ ขยันรู้ เรียกว่าความเพียร การขยันรู้เรียกว่าภาวนา ภาษาวัด ๆ เรียกว่าภาวนา ภาวนาก็คือขยันรู้ แล้วมันก็ขยันได้ 14 จังหวะ คือ ความขยันที่ชอบธรรมในการปฏิบัติธรรม ในการเจริญสติ 14 จังหวะ พอดี๊ พอดีกับจังหวะที่รู้พอดี ไม่ไว ไม่ช้า การยกมือแต่ละครั้ง ไม่ไว ไม้ช้า พอดี ๆ เป็นลำดับลำนำ จังหวะพอดี วรรคพอดี รู้เอา ๆ มันมีความพอดี กับ 14 จังหวะ กับก้าวเดิน ความรู้สึกตัวกับการก้าวแต่ละก้าว พอดี ๆ ไม่ทำให้เนิ่นช้า ไม่ทำให้ถี่จนเกินไป ลักษณะของการเดิน แต่ละชีวิตอาจจะห่าง ถี่ ต่างกัน คนหนุ่มๆ อาจจะแข็งแกร่ง อาจจะเดินฉึบ ๆ ได้ดี สำหรับคนแก่อาจจะเดินฉับ ๆ ตามกำลังความถ่วงตัว ก็เอาไปตามจังหวะของความพอดีของแต่ละคน ไม่ต้องไปถามว่าทำไวดี ทำช้าดี เดินช้าหรือเดินไวมันดี ไม่ต้องถาม เอาความพอดีของตนเอง มันมีอยู่กับเราแล้ว
การยกมือสร้างจังหวะ บางทีจังหวะถี่ก็มี จังหวะถี่ จังหวะไว มันใช้ตอนไหน อาจจะใช้ตอนที่มันง่วงเหงาหาวนอน อาจจะใช้ตอนที่มันคิดเพ้อฝันไปทางอื่น ก็เรียกกลับมา ให้มันทุ่มน้ำหนักลงไป ให้มันได้รู้สึกตัว ปลุกให้มันรู้สึกตัว การเดินก็เหมือนกัน บางทีมันก็เดินช้า ๆ ก็ได้ เพราะมันรู้สึกตัวดี บางทีมันเลือน ๆ ราง ๆ ก็จับเข้าไป จับเข้าไป แบบตบเท้าเข้าไป อย่าแบบเนิบเนิ่น แบบตบเท้าเข้าไป ฉับ ๆ เข้าไป ใส่ใจลงไป ใส่สติลงไป ใส่ความเพียรลงไป มีศรัทธาลงไป มีความอดทนลงไป หลาย ๆ อย่างเสริมกำลังเข้าไป เสริมกำลังเข้าไป อย่าเดียวดายการปฏิบัติธรรม อย่างน้อยก็ต้องเอาเยี่ยงอย่างกัน อย่างน้อยเราก็คิด คิดถึงพระพุทธเจ้า พระศาสดาของเรา พระองค์ก็ทำอย่างนี้ อย่างน้อยก็เหล่าพระสาวกพระอรหันต์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ก็เพราะทำอย่างนี้ เวลานี้ ก็ยังมีครูบาอาจารย์ มีผู้มาพูดให้ได้ยินกับหูเรา มีผู้มาบอกให้ เราก็เห็นท่านบอกท่านสอน ยกมือให้เราดู เดิน พาเราเดินให้เราดู อย่างน้อยเราก็มีเพื่อนใกล้เคียงที่อยู่ที่นี่ หลายชีวิต เราไม่เดียวดาย หลายอย่าง เราก็มีศรัทธาว่ามีจริง พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง บาปบุญมีจริง แล้วเราก็สัมผัสดูความรู้สึกตัวก็มีจริง ๆ สัมผัสดูกับความหลงก็มีจริง ๆ ความหลงกับความรู้มันก็ต่างกันจริง ๆ แล้วเราก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ก็เปลี่ยนได้จริง ๆ แล้วความรู้สึกตัวก็เป็นธรรมจริง ๆ ความหลงก็ไม่เป็นธรรมจริง ๆ หรือบางทีมันโกรธ สัมผัสลองดู แล้วความไม่โกรธก็สัมผัสลองดู แล้วก็เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ ลองดู แล้วเราก็เปลี่ยนได้จริง ๆ ความไม่โกรธก็เป็นธรรมจริง ๆ ความโกรธก็ไม่เป็นธรรมจริง ๆ และมันไม่มีคำถามจริง ๆ มันก็เป็นของรู้ได้ด้วยตนเองจริง ๆ คือสัจธรรม สัจธรรมคืออย่างนี้ อาจจะไม่มีคำถาม เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นสัมผัสเอา บุญก็คือความรู้ตัวเอง จนไม่หลงกับเรื่องของตัวเอง ไม่ให้กายไม่ให้ใจมันหลอกได้ ไม่หลง รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เวลาใดมันหลงไม่ให้ความหลงมันหลอก มีความรู้สึกตัว ความหลงก็หายวับไปเลย ไม่เสียเวลาไปกับความหลง ไม่เสียเวลาไปกับความโกรธ ไม่เสียเวลาไปกับความสุขความทุกข์ มีแต่ความรู้สึกตัว ได้ใช้ทันที ความรู้สึกตัวก็เป็นประโยชน์ต่อกายต่อใจเราทันที เรียบง่ายทันที เบาทันที วางทันที หยุดทันที หมดไปทันที ไม่ใช่เรื่องการทดลอง มันเป็นการสัมผัสสัมพันธ์ การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องชีวิตของเราล้วน ๆ ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน อย่ามาเอาความหนุ่มความสาว อย่ามาเอาความแก่ความเฒ่ามาอวดมาอ้าง อย่ามาเอาเพศลัทธินิกายมาอ้าง โอ้ย หลวงพ่อเป็นพระ หลวงพ่อก็ทำได้ พวกฉันเป็นฆราวาสญาติโยม พวกฉันก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่เด็ดขาด ไม่ถูกเด็ดขาด เป็นการกล่าวตู่พระธรรม ความรู้สึกตัวเนี่ย อยู่กับพระก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับฆราวาสญาติโยมก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับคนหนุ่มก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับคนแก่ก็คือความรู้สึกตัว อยู่กับเพศหญิงเพศชายก็คือความรู้สึกตัว เหมือนกัน อยู่ในบ้านคือความรู้สึกตัว กับนั่งอยู่ในวัดคือความรู้สึกตัว เดินอยู่บนถนนหนทางถ้ามีความรู้สึกตัว ก็คือความรู้สึกตัว ถ้าเราทุกคนมีความรู้สึกตัว เราก็เป็นคนคนเดียวกัน เมื่อเรามีความรู้สึกตัวเราก็ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เหมือนกัน เหมือนกัน มันจริงขนาดนี้แหละ สัจธรรมมันต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปขอ อาศัยไปขอ มาสร้างเอาด้วยตัวของเราเอง มีศรัทธามานั่งอยู่ที่นี่แล้ว พร้อมแล้ว มีรูปธรรมมีนามธรรมเป็นสมบัติของเราแล้ว เรามาอาศัยกาลเวลา กิจการงานแบบนี้เพื่อให้เกิดพลัง ถ้าเราทำคนเดียวอาจจะวับ ๆ แวม ๆ ไม่อบอุ่นๆ ถ้าไม่เก่งจริง ๆ ก็ตั้งต้นได้ยาก ถ้าตั้งต้นคนเดียว ตั้งต้นได้ยาก มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นแหละที่ตั้งต้นเรื่องนี้ได้ พวกเราก็ตามได้เลยบัดนี้
ถ้าเรามาตั้งทำกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมามันก็คึกคักหน่อยนึง หลวงพ่อก็คึกคัก แต่ก่อนไม่คึกคัก ยังไม่เห็นญาติเห็นโยม เดี๋ยวนี้คึกคักขึ้นมา โยมคึกคักขึ้นหน่อยรึเปล่าก็ไม่รู้ หือ โยม หรืออ่อนแอไปเลย คึกคักสักหน่อยได้ไหม นี่ มันเสริมพลังนะ มันมีศรัทธา มันมีความเพียร มันมีบรรยากาศ บรรยากาศวันนี้ ไม่ใช่วันนี้วันเดียว มันมีไปอีกหลายวันในชีวิตของเรา เราทำความเพียรวันนี้ มันจะมีอีก วันข้างหน้าต่อไปอีก ถ้าเราทำความชั่ววันนี้ มันจะมีวันข้างหน้าในความชั่วไปอีก ความชั่วต่อให้เกิดความชั่วเรื่อยไป ความหลงก็ต่อให้เกิดความหลงเรื่อยไป ความโกรธก็ต่อให้ความโกรธเรื่อยไป บัดนี้เรามาต่อองค์ความรู้ ความรู้มันก็ต่อองค์ความรู้เรื่อยไป มันต่อติดแล้วมันก็งอกไปเลยนะ แต่นี่มันยังต่อไม่ติด มันยังตึงครึ่งหลงครึ่งรู้ ถ้าต่อให้มันติดแล้วมันไปของมันเอง กี่วันกี่ปีมันก็รู้อยู่ตรงนั้นล่ะ รู้อันเดียว ความรู้อันนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน เพราะมันถูกแบ่งถูกแยก แต่ความรู้วันข้างหน้า ถึงเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ถึงเวลาเราจนจริง ๆ น่ะมันจะช่วยเราได้ เวลานี้เรายังมีทางออกทางอื่น เช่นเวทนา เวทนามันเกิดขึ้นกับเรา เราอาศัยอิริยาบถเปลี่ยนมันได้ แต่เวทนาขณะที่มันเกิดขึ้นกับเรา เราไม่มีอิริยาบถน่ะ ตอนนั้นเราจะเก่งตอนนั้นด้วย อิริยาบถเนี่ยทำให้เราไม่เห็นเวทนาชัดเจน ไม่ได้บรรลุธรรม ถ้าเวลาใดที่ไม่มีอิริยาบถแล้ว ทุกข์ก็ทุกข์นอนอยู่กับหมอนกับเสื่อแล้ว เราจะอยู่ยังไง ตอนนั้นแหละเราจะเก่ง เพราะเราฝึกไว้แล้ว เดี๋ยวนี้อิริยาบถมันบังเวทนา ไม่ทำให้เราเห็นเวทนาชัดเจน ไม่ได้ชี้หน้าเวทนา เวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา สักวันหนึ่งเราจะต้องพูดคำนี้ออกมาได้ กายก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา วางปั๊วะป๊ะไปเลย เดินไปอย่างเบาหวิวไปเลย บัดนี้ ไม่มีอะไรขวางกั้น เดี๋ยวนี้มันยังขวางหน้าเราอยู่ มีตนอยู่ในกาย ปวดก็เรา ร้อนก็เรา หนาวก็เรา คือกาย เอามาเป็นตัวเป็นตน เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเรื่องของกาย เสียเวลากับเรื่องของกาย หยุด ยั้ง ขัดขวาง เรื่องของกาย พอเราทำไป ทำไป แล้วจะเห็นว่ากายนี้เป็นกายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นสักว่ากายที่มันเกิดเป็นรูปธรรมเป็นนามธรรมขึ้นมา เราก็อาศัยรูปกายเหมือนพ่วงเหมือนแพ พ่วงแพมันก็ผุก็พังมันก็เน่า ถึงคราวที่มันผุมันพังมันเน่าเปรอะปะรักษาเท่าไรมันก็ไม่หยุด เราก็ขึ้นฝั่งได้เลย เราไม่ต้องไปแบกไปตาม เอาไว้ตรงนี้ เหมือนเรานั่งบนเรือ ถึงคราวที่เรือเราพัง เราก็ขึ้นฝั่ง อาศัยเป็นพ่วงแพเพื่อข้ามฝั่งข้ามพ้น เวทนาก็เหมือนกัน จะเห็นมันสุขมันทุกข์ก็คือเรา พอเราเห็นไปเห็นไป มันไม่ใช่เรา เวทนาสักว่าเวทนา มันไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เราเสียเวลาเพราะเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์ อันนี้พอเราเห็นก็ อ๋อ เวทนาหนอ บางทีเวทนาบางอย่างต้องขอบคุณ ขอบคุณเขา เราได้บรรลุธรรมเพราะเวทนา ขอบคุณเขา ไม่เอามาเป็นสุข ไม่เอามาเป็นทุกข์ เอามาเป็นการบรรลุธรรม เอามาเป็นการบรรลุธรรม มาเป็นการช่วยเขา ถ้าเขาไม่มีเวทนาเขาก็ไม่ใช่รูปใช่กาย เป็นร้อนเป็นหนาว ปวดเมื่อย หิวอย่างนี้ น่าขอบคุณเขา ถ้านั่งอยู่นาน ๆ ไม่รู้จักปวด ก็ไม่ใช่กายไม่ใช่รูป มันไม่ใช่รูป ถ้าไม่รู้จักร้อนจักหนาว ไม่รู้จักหิวมันก็ไม่ใช่รูป เขาแสดงออกถึง เป็นการสัญญาณภัยของเขา เพื่อเขาจะอยู่รอด เราก็ได้ปัญญา แต่ก่อนเรามาเป็นสุขเป็นทุกข์ บัดนี้ เอามาเป็นปัญญา เวทนาสักว่าเวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
ต่อไปถ้าเราเก่งมาก ๆ อาจจะไม่ร้อง โอ๊ย ไม่ไหว ไม่ไหว ช่วยด้วย ๆ ช่วยด้วย ๆ ร้องด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วย ร้องด้วยความเจ็บปวด ไปกันหมดเนื้อหมดตัว บัดนี้เราไม่หมดเนื้อหมดตัว เราเห็น เราเห็นนี่ เอ้อ นี่กาย นี่เวทนา ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจของเราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็เห็น ไม่ใช่ตัวตนอยู่ตรงนั้น ตัวตนอยู่ในสุขในทุกข์ไม่มี มีแต่ปัญญา เห็นไปเห็นมา เห็นเป็นรูปเป็นนามไป เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ทางกายก็ดี ทางเวทนาก็ดี ทางจิตก็ดี ทางธรรมก็ดี เป็นรูปธรรม นามธรรม ย่อลงให้เรา มันไม่ใช่อะไรที่ไหน ที่แท้มันคือรูปนั่นแหละ มันคือรูปคือนาม มันรู้จักปวดเป็น มันรู้จักเจ็บเป็น มันรู้จักร้อนมันรู้จักหนาว เพราะมันเป็นรูปเป็นนาม มันเป็นรูปเป็นนาม เป็นเรื่องของรูปของนาม ถ้ามันไม่มีรูปมีนามมันก็ไม่มีความดีความชั่ว มันก็ไปสวรรค์นิพพานไม่ได้ ทำดีไม่เป็น ละความชั่วไม่เป็น มันมีรูปมีนาม มันถึงละความชั่วมาทำความดี มันมีรูปมีนามจึงช่วยกันเป็น ช่วยกันได้ ช่วยให้หมดทุกข์ หมดโรค หมดภัยได้ เพราะมันมีรูปมีนาม ขนส่งกันได้ พูดออกไป สอนออกไป ทำออกไป คิดออกไป อาศัยรูปนามมาทำความดี ถ้าเห็นแล้วบัดนี้ แต่ถ้ายังไม่เห็นเนี่ย รูปนามมันก็ทำความชั่ว เอารูปไปทำชั่ว เอานามไปทำชั่ว ก็เป็นผลกระทบต่อกันและกัน มีปัญหาจนสร้างตัวบทกฎหมาย สร้างคุกสร้างตาราง เพราะคนไม่รู้รูปไม่รู้นาม เอารูปไปทำชั่ว เอานามไปทำชั่ว บัดนี้พอเรามารู้จัก เราก็โอ้ จะใช้รูปนี้ทำแต่ความดี จะใช้นามทำแต่ความดี อย่างนี้นะ นี่ปฏิบัติมันไปอย่างนี้ ไม่ใช่ไปเห็นอะไรที่ไหนนอกจากตัวเรา ไม่ใช่นะ เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายที่เรามี สตินี่แหละ อย่างน้อยเราก็เห็นความรู้ความหลง นี่ ตรงนี้ หันหน้าหันตามาตรง ๆ อย่างนี้ มีสายตาก็มองตรง ๆ ปฏิบัติตรง ๆ ปฏิบัติดี คือทำอย่างนี้แหละ ตรงเข้ามาตรงนี้ รู้อย่างนี้ รู้อย่างนี้ อย่าไปรู้อันอื่น ไปเห็นเทวดาอยู่ก้อนเมฆนู่น ไม่ใช่ เทวดาก็เกิดขึ้นจากที่เรามีสติ ละอายความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่ต้องอายอันอื่น อายตัวเอง อายความคิดตัวเอง อายความหลง โอย ความหลงมันสกปรก เอาความรู้ไปใส่ ล้างออกไป ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับอันใดเลย ถ้ามีความรู้สึกตัว หมดจดสะอาดหมดจด ไม่กล้าคิดชั่ว ทำไมไม่คิดชั่ว เพราะไม่หลง ทำไมไม่หลง เพราะรู้สึกตัว ทำไมมีความรู้สึก เพราะได้สร้างความรู้สึกตัว พอเราสร้างความรู้สึกตัว เราก็มีความรู้สึกตัว ความหลงก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา ก็เป็นเทวดา ไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ละอายบาป เทวธรรมมันก็เกิดขึ้นในบ้านในเมืองในกายในใจเรานี่แหละ ได้บุญก็ได้ตรงนี้ เอากายมาผลิตเป็นบุญ เอาใจมาผลิตเป็นบุญ กายก็สุจริต ใจก็สุจริต ทำแต่ความดี เมื่อมีแต่ความดี ทุกคนทำแต่ความดี คนในประเทศไทยเราเนี่ย 60 กว่าล้านคนเนี่ย เอากายมาทำความดี เอาใจมาทำความดี มันก็สงบร่มเย็น พริบตาเดียว ไม่ใช่ไปสร้างตัวบทกฎหมาย เลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าจริง ๆ มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี่แหละ ทุกคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ สิ่งไหนมันเป็นโทษเป็นภัย สิ่งไหนที่มันเป็นทุกข์ ไม่สร้างขึ้นแก่ตัวเอง และไม่สร้างให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วย นี่คือสัจธรรม คือตัวศาสนา ศาสนาก็ไม่สามารถที่จะแยกไปจากชีวิตของเราได้ ชีวิตของเรานี้เป็นตัวศาสนา เป็นตัวเผยแผ่ศาสนา ไปทำดีให้ลูกให้หลานเห็น ไปพูดดีให้ลูกให้หลานได้ยิน ไปใช้ความคิดความอ่านดี ๆ อยู่กับลูกกับหลาน นักสอนศาสนาคือพ่อคือแม่ คือเราทุกคน เรามาศึกษา เรามาปฏิบัติ เราได้ประโยชน์ เราได้เกิดอย่างนี้ๆก็ไปบอก ทำให้เขาดู อยู่ให้เขาเห็น พูดให้เขาฟังอย่างนั้น