แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราก็ได้มาสาธยายพระสูตรซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่องอนัตตลักขณสูตรว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รูปัง อะนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อะนัตตา สัญญา อะนัตตา สังขารา อะนัตตา วิญญาณัง อะนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ควรถือว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา เป็นคำสอนแต่ถ้าเรายังเป็นภาษาว่าเอาเฉย ๆ ไม่มีการกระทำให้เกิดขึ้นมันก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ การสอนธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้จำเอา สอนให้ไปทำดู การกระทำมันเป็นการสัมผัส การสัมผัสนี่ไม่ลืม แต่การจำมันลืม เช่น ในพระสูตร ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง คือ สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ธรรมอันทำให้งาม 2 อย่าง คือ ขันติ ความอดทน โสรัจจะ ความเสงี่ยม บุคคลหาได้ยาก 2 อย่าง คือ บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน และกตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ทำท่านทำแล้วและตอบแทน นี่จำเอา ตั้งแต่เป็นเณร เรียนนักธรรมชั้นตรี จำได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ไม่ค่อยรู้ ภาษานกแก้วนกขุนทอง พอมาปฏิบัติ สติความระลึกได้มันเป็นการสัมผัส คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก ให้มันเป็นการสัมผัสเอา ให้เห็น ไม่ใช่รู้ รู้เห็น พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น การพบเห็นนี่คือกาย คู้แขนเข้า รู้สึก คู้แขนเข้าจริง ๆ เหยียดแขนออก รู้สึก เหยียดแขนออกจริง ๆ นี่เป็นการพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น การคิดเห็นไม่ใช่สัมผัส แต่การพบเห็นเป็นการสัมผัส เหมือนครูสอน
หลวงตาเคยไปเป็นครูสอนนักเรียนอนุบาล แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง ให้เด็กน้อยดูมือ “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง” ให้เด็กว่าตาม “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง หนึ่งวันได้ไข่กี่ฟอง” “กี่ฟอง ที่มือนี่ เห็นไหม” “เห็น เห็น” “กี่ฟองเนี่ย” “ฟองเดียว” “แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง สองวันได้ไข่กี่ฟอง” “เห็นไหม เห็นไหม มันกี่ฟองละ” “สองฟอง” มันก็เห็น การสอนให้เห็นให้ทำ ไม่ใช่ให้จำ ให้เห็น พบเห็น “ถ้าหลวงตาพูดว่าตา ให้เด็ก ๆ เอามือมาจับตานะ” “ตา” เด็กก็เอามือมาจับตา ไม่ใช่ตาเป็นภาษาพูด “ตา” เอามือมาจับตา “หู” เอามือมาจับหู “จมูก” เด็กเอามือมาจับจมูก เด็กมันเห็นมันสัมผัส อันนี้สอนอนุบาล
พวกเราก็เป็นอนุบาล กาย ทุกคนต้องมีกาย เอามือวางไว้บนเข่า ตะแคงมือข้างขวารู้สึก ยกมือข้างขวารู้สึก มาเคลื่อนมือมาตรงนี้ รู้สึก รู้สึก รู้สึก ภาษารู้สึกไม่ใช่คำพูด มีคำถามไหม ไม่มี มันรู้ สัมผัสเอา นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรียนรู้ เรียนรู้คือเอาตำรามาท่อง ว่าสติคือความระลึกได้มีอยู่ในหนังสือ เรียนธรรมชั้นตรี นวโกวาท เป็นพระสูตร ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง แต่ว่าเราไม่ได้ไปเรียนที่นั่น เอากายเป็นตำรา เอาสติเป็นนักศึกษา ทัสนานุตริยะ เห็น เห็นกาย ไม่ใช่เอาตาดูแต่มันเป็นความรู้สึกตัว นั่นแหละจึงเป็นการปฏิบัติ ถ้าเป็นภาษายังไม่ได้สัมผัส สติเป็นยังไงถ้าเราสัมผัสกับสติ นี่ความรู้ นี่ความรู้ ระหว่างความรู้ มีเกิดอะไรขึ้นตรงนั้น เกิดความหลงก็มี หลงทางไหน หลายอย่าง เราว่าจะสร้างความรู้แต่มันเกิดความหลงขึ้นมา หลงไปทางความคิด หลงไปทางความเจ็บความปวด หลงไปทางความอะไรเยอะแยะ ทางร้อนทางหนาว มันจะหลงไปทางไหนทิศทางใดช่างมัน เราก็ไม่ได้ไปป้องกันให้มันเห็น เมื่อเห็นว่ามันหลงก็ให้กลับมาดูที่กายเคลื่อนไหว เรียกว่ากรรม กรรมฐาน ฝึก เวลามันหลง รู้ ฝึก เวลามันหลงให้เป็นหลงไม่ได้ฝึก ชั่วโมงหนึ่งมีแต่หลงนั่งอยู่หลังขดหลังงอไม่ได้รู้ ไม่ได้ฝึก ไม่เป็น ทำไม่เป็น การฝึกต้องทำให้เป็นไม่ใช่จำ ไม่มีใครสอนเราการทำให้เป็นเราต้องสอนเราเอง การสอนให้รู้เหมือนให้คนอื่นสอน การสอนให้เป็นเราต้องสอนตัวเรา เวลามันหลงรู้เป็นไหม ยาวขนาดไหน ไปไกลไหม เวลามันหลงทีหนึ่งรู้ รู้หรือยัง หรือหลงสองเรื่องแล้วยังไม่รู้ หลงเรื่องหนึ่งเรื่องสุข หลงเรื่องหนึ่งเรื่องทุกข์ สมมติอะไรต่าง ๆ มันเอามาหลง มันติดเปื้อนมา ไปซุกซนอะไรมาเรามาทำกรรมฐานมันก็ไหลไปทางเก่า เคยหลง เคยสุข เคยทุกข์ เคยรัก เคยชัง เคยได้ เคยเสีย เคยผิด เคยถูก มันก็หลงวิ่งไปที่เก่า มันจะเห็นชัดเจนเวลามันไปมันกลับมา มันเป็นภาคปฏิบัติที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ลึกลับ เวลามันหลงรู้ ทีแรกอาจจะหยาบๆ ด้านๆ พอมันรู้ไปทุกครั้งที่มันหลง มันจะจ๊ะเอ๋ได้ สัมผัสดูความหลง สัมผัสดูความรู้ เป็นอย่างไร ผู้รู้ ผู้หลง คือคนเดียวกันจะเห็นเอง มีสติเกิดประสบการณ์ทั้งสองอย่างระหว่างความรู้กับความหลง มันเป็นอย่างไร มันจะเห็นตรงนั้น ตรงกลาง ๆ ตรงที่มันเห็นนั่นนะ อันหนึ่งมันเป็น เป็นสุข อันหนึ่งมันเห็นสุข เป็นทุกข์ อันหนึ่งไม่เห็นทุกข์ เป็นผู้ร้อน เป็นผู้หนาว เป็นผู้ปวด เป็นผู้เมื่อย ถ้ามันเห็นมันจะเห็นมันร้อน เห็นมันหนาว เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย มันเป็น เห็นกับเป็นมันคนละอันกัน สัมผัสดูแล้วเป็นคนละอย่าง สุขเห็นมันสุข ทุกข์เห็นมันทุกข์ ปวดเมื่อยเห็นมันปวดเมื่อย ร้อนหนาวเห็นมันร้อนหนาว ผู้ที่ร้อนผู้ที่หนาวตัวตนที่เป็นผู้ร้อนผู้หนาวในกายไม่มี
แต่ก่อนเอากายมาเป็นตัวตนหลายภพหลายชาติ แต่ละภพแต่ละชาติเกิดเป็นภพเป็นชาติแตกต่างกันไป ความหลงเป็นชาติหนึ่ง ความทุกข์ความสุขเป็นชาติหนึ่ง ความโกรธโลภหลงเป็นชาติหนึ่ง ความรักความชังเป็นชาติหนึ่ง เกิดดับ เกิดดับ เกิดอีกเอากายมาเป็นภพเป็นชาติ เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน โอปปาติกะเกิดผุดขึ้น เวียนว่ายตายเกิดอยู่ที่นั่น เกิดแล้วเกิดอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก สุขแล้วสุขอีก ความสุขความทุกข์ความโกรธที่เกิดจากความหลงมันไม่ใช่ตัวใช่ตน บางทีเราทำตามความโกรธเป็นอย่างไร ทำตามความรักเป็นอย่างไร จริงไหม ความโกรธจริงไหม ภาวะที่เห็นมันโกรธจริงไหม ความทุกข์จริงไหม เห็นมันทุกข์จริงไหม ไม่เป็นผู้ทุกข์จริงไหม มันสุขเห็นมันสุข ไม่ใช่สุขเป็นสุข ไม่ใช่ทุกข์เป็นทุกข์ นี่เรียกว่ากำลังจะอ่านออกได้ แต่ก่อนมันอันเดียว สุขคือกู ทุกข์คือกู อะไรต่าง ๆ เป็นตัวเป็นตนทั้งหมด บัดนี้เห็น มันก็เป็นอย่างนี้กรรมฐาน กรรมฐานเป็นไปในรูปลักษณะแบบนี้ อ่านออกเขียนได้ เห็นอันเดียว เห็นไปเห็นมา เห็นมันหลงเห็นมันรู้พร้อมกัน มาพร้อมกัน ความสุขความไม่สุขมาพร้อมกัน ความทุกข์ความไม่ทุกข์มาพร้อมกัน มันก็ต่างเก่า สัมผัสดูแล้ว ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม เลือกได้ ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในตัวเราบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไป รู้จักมีการกระทำเกิดขึ้น เป็นการทำดีเกิดขึ้น เป็นการละความชั่วเกิดขึ้น เป็นธรรมวิจิตรบริสุทธิ์เกิดขึ้น ในขณะคราวเดียวกัน มีสติมันก็ละความชั่วเกิดขึ้น มีสติมันก็ทำความดีเกิดขึ้น มีสติจิตก็บริสุทธิ์เกิดขึ้น เมื่อละความชั่วก็เป็นศีลขึ้นมา เมื่อทำความดีตั้งใจทำความดีก็เป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อเวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ก็เป็นปัญญาขึ้นมา เป็นสิกขาเป็นไตรสิกขาไปในตัวเสร็จ ไม่ได้ไปสมาทานออกเสียงแต่เป็นภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา เอาสติเป็นนักศึกษา
พระสิทธัตถะศึกษาเรื่องนี้โดยไม่มีหนังสือจนเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา สอนพระ สอนผู้คนจนเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่มีหนังสืออ่าน กุลบุตรกุลธิดามีศรัทธาออกบวช พอบวชให้แล้วก็บอกโน่นโคนไม้ โน่นเรือนว่าง โน่นป่าชัฏ โน่นถ้ำ โน่นภูเขา ไปศึกษาเรื่องนี้ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมวินัยให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิด” ภิกษุผู้บวชก็ไปปฏิบัติธรรม ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น มีสติเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ไม่มีอะไรมากมาย นับดูตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 8 นั่น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นตรงนี้เป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 6 ยังไม่ได้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า พอตรัสรู้เรื่องนี้ขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ขึ้นมาแล้วในโลก พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกในวันเพ็ญเดือน 6 นับจากนี้ไป ถอยไป 2,598 ปี มาแล้ว นับจากวันเพ็ญเดือน 6 มาถึงวันเพ็ญเดือน 8 กระตือรือร้นเรื่องนี้ อาจจะวิ่งเอาเหมือนด่วนๆ ต้องไปบอกใคร ต้องไปบอกใครเรื่องนี้ คิดเห็นอุทกดาบส อาฬารดาบสที่เป็นอาจารย์เป็นคนแรก ก็ไม่มีเสียแล้ว คิดถึงใคร คิดถึงปัญจวัคคีย์ที่พอจะพูดเรื่องนี้เข้าใจเหมือนบัวพ้นน้ำบ้างพอได้แสงแดด ดวงอาทิตย์ก็อาจจะบานได้ 5 คนนี้ แล้วอยู่ที่ไหนละ คงจะไปโน่นแหละที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันโน่น ที่ปลดปล่อยของสัตว์โลก นักบวชทั้งหลาย ฤๅษีชีไพรไปอยู่ที่นั่น ก็เดินไปประมาณ 300 กม. ใช้เวลาเดินอยู่เดือนหนึ่งตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 7 ออกจากศรีมหาโพธิ์เมื่อวันเพ็ญเดือน 7 เดินมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พาราณสีนี่ ในวันเพ็ญเดือน 8 มาเห็นปัญจวัคคีย์พอดี จะพูดเรื่องนี้ “ดูก่อน ปัญจวัคคีย์ ดูก่อน ปัญจวัคคีย์” มาแล้วบัดนี้กำลังมีพระธรรม พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้พร้อมทั้งพระธรรมคำสั่งสอน ตรงนี้มีพระธรรมเกิดขึ้น มาพูดให้ปัญจวัคคีย์ฟัง “ดูก่อน ดูก่อน” อย่างที่เราสาธยายพระสูตรตอนเช้าตอนเย็นทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นเนี่ย มาบอกแต่ปัญจวัคคีย์ไม่ค่อยใส่ใจ หันหน้าหันข้างหันหลังให้อยู่ มีแต่โกณฑัญญาเป็นผู้หันหน้าใส่ ฟังอยู่ โกณฑัญญาตั้งใจฟังในเรื่องกาม เรื่องอนัตตลักขณสูตร เรื่องอริยสัจ 4 ต่อกันไปจนโกณฑัญญาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นในวันนั้น พอสอนโกณฑัญญาเป็นพระอรหันต์แล้ว “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญารู้แล้วหนอ” อัญญาก็บอกว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว” เป็นพระพุทธเจ้าแล้วบัดนี้ สัมมาสัมพุทโธแล้วบัดนี้ สอนคนอื่นให้รู้ตามแล้วบัดนี้ แน่นอนที่สุด การสอนการตรัสรู้ของเรามีเฉลยหนึ่งคนในวันเพ็ญเดือน 8 มีพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก มีพระสงฆ์เกิดขึ้นรูปแรกในวันเพ็ญเดือน 8 คือ โกณฑัญญาพราหมณ์ หรือปัญจวัคคีย์นั่นเอง นี่เรียกว่าสัมมาสัมพุทโธ พิสูจน์ได้ คล้ายๆ กับว่ายกนิ้วให้ ยกนิ้วให้
... เหมือนสูตรที่เราได้เรียนมาจบมานี้มีประโยชน์ สูตรชีวิตของเรามันควรจะจบไม่ใช่หลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย มันควรจะจบ แต่เราไม่ค่อยศึกษากัน มีความรู้แต่ความรู้ใช้ไม่ได้ เช่นรู้ว่าทุกข์ไม่ดีแต่เรายังทุกข์อยู่ โกรธไม่ดีเรายังโกรธอยู่ ไม่มีใครตอบว่าทุกข์ดีมีแต่บอกว่าไม่ดีทั้งนั้น ความโกรธก็ไม่ดีแต่เรายังโกรธอยู่ยังทุกข์อยู่เพราะไม่ฝึกหัด อันความรู้มันใช้ไม่ได้ ต้องฝึกหัดอย่างนี้ไม่มีใครสอนเราได้นอกจากเราสอนตัวเราเอง การฝึกหัดจึงควรที่จะมีสถานที่แบบนี้ เราอยู่ด้วยกันได้ เราอยู่ด้วยกันได้ ไม่ฝืดเคืองเกินไป ไม่วุ่นวายเกินไป ไม่ลำบากเกินไป เราก็มีคำสั่งคำสอนที่ได้ทำมาบ้าง พูดมาบ้าง จำมาบ้าง เอามาบอกกันให้ทำอย่างนี้ การคู้แขนเข้า เหยียดแขนออก เดินจงกรมไปข้างหน้า ถ้าไม่มีที่ตั้งมันจะไม่อยู่ มันจะไหลไปข้างหน้าไหลคืนข้างหลังเพราะชีวิตของเรามันซุกซนมาต้องมีที่ตั้ง เหมือนเข้ากรอบเข้าพิมพ์สักหน่อย เราจะหล่อชีวิตเราอย่าให้มันกระจุยกระจาย เอามากองกันไว้ก่อน ให้มาอยู่ที่นี่มาอยู่ที่กายนี้ เอากายมาเป็นที่ตั้ง มีกายไหมแม่ชีน้อย ทุกคนก็มี
อันกายไม่ใช่แก่ไม่ใช่หนุ่มเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชายคำว่ากายตัวนี้ ไม่ใช่นักบวชไม่ใช่ฆราวาส ไม่ใช่เพศใดวัยใดลัทธิใดนิกายใดทั้งนั้น คือกายเหมือนกัน ถ้าพูดถึงกายก็อันเดียวกันหมด เสมอภาค สามัญลักษณะเสมอกัน เดี๋ยวนี้ก็เย็นหน่อยๆ ไม่ร้อนก็เสมอกัน นั่งนานๆ ก็ปวดก็เมื่อย มีขามีก้นมีเข่ามีอะไรต่างๆ มีหลัง หลวงพ่อใหญ่หลวงพ่อกรม นั่งนานมาจนหลังขดหมดแล้ว พยายามอย่านั่งลงแบบนี้ เอวมันบิดเอาไว้ให้ตรงก่อน หน้าอก คอ ใบหน้า บัณฑิตเขาจะเอาตรงนี้ อย่าโก่ง อย่าเอน อย่าเอียง พระพุทธเจ้าว่าตั้งกายให้ตรง มือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง มีสติลงไป การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก เมื่อมันจะกดลงก็เงยขึ้นมาตั้งต้นใหม่ ใบหน้าตั้งต้นใหม่ หน้าอกตั้งต้นใหม่ เอวตั้งต้นใหม่ ลำคอตั้งต้นใหม่ วางหน้าให้เป็น วางใจให้เป็น หัดทุกอย่าง เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวการหัดนี้ไม่ใช่สูญเปล่า มันบริหารส่วนนี้ หน้าอก ต้นแขน ต้นคอ เอว มันบริหารส่วนนี้ หัวใจ ยิ่งมาหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ ปอดมันจะมีพลัง สูดลมเข้า ผายลมออก มาตั้งใจ ฟอก ฟอก ฟอกเลือดฟอกปอด ปอดเป็นหม้อกรอง รู้จักหม้อกรองไหม ปอดเป็นหม้อกรอง เป่ามัน ลมไม่ใช่จากเครื่องปั๊มลม เอาลมหายใจเป่าหม้อกรองคือปอด หายใจเข้าลึก ๆ บวมขึ้น พองขึ้น ถุงลมในปอดทุกถุงจะพองออก สูดเข้าไปแรง ๆ กลั้นใจไว้ ปล่อยลมออก หมด มันหมดแล้วรึยัง เอาออกอีก ให้มันแฟบลงไปเลย พองขึ้น แฟบลง เหมือนเป่าลูกโป่ง ถ้ามันไม่แฟบไม่พองถุงลมในปอดมันจะไม่มีกำลัง เมื่อถุงลมในปอดไม่มีกำลังเลือดก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นกรรมฐานนี้มันดี๊ดีนะ บริหารส่วนนี้ปอดด้วย จิตใจเปลี่ยนมาเรื่อยก็ตั้งต้นใหม่ เข้าฉากใหม่ ต่อฉากใหม่ ตั้งฉากใหม่ เหมือนนักมวยเขาต่อยกันถ้าเข้าฉากไม่ดีมันก็ไม่มีน้ำหนักไม่มีจังหวะ กลับตัวเรื่อยๆ อมยิ้มไปเรื่อยๆ
บางคนทำกรรมฐานแล้วหน้าบูดๆ หน้าบึ้งๆ เหมือนเป็นทุกข์ หน้าบึ้งๆ เหมือนกับทุกข์ ทุกข์อะไร มันน่าชื่นใจที่เรามารู้ตัวเอง โอ๊ย! ชีวิตของเราเป็นของเราแล้ววันนี้ รู้สึกตัวจะได้ดูแลตัวเอง ปฏิบัติธรรมคือดูแลตัวเอง มันผิดหรือถูกมาดูแลเรานี้ ปฏิบัติธรรมไปทำไม คือมาดูตัวเอง มีสติดูกาย มีสติดูใจ ใจมันไปไหน สอนมัน อย่าไปมาอยู่นี่ อยู่กับเรือนอยู่กับเย้าอยู่กับบ้าน บ้านของใจคือปกตินะ ถ้ามันฟุ้งไปทางอื่นไปรักไปเกลียดไปสุขไปทุกข์ ไม่มีบ้าน คุ้มร้ายคุ้มดีนั่นนะ ให้มันปกติเป็นบ้านของใจ กายก็เคลื่อนไหวให้มาอยู่ด้วยกัน มือเคลื่อนไหวใจรู้อยู่มีสติอยู่ ให้มันอยู่ด้วยกันลองดู ช่วงช้างสะบัดหู ช่วงงูแลบลิ้น มันจะผิดหรือถูก อย่าปล่อยให้กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว กลางคืนว่าฝัน กลางวันว่าคิด อย่างนั้นหรือชีวิตเรา จะเอาชีวิตไปห้อยไปแขวนกับสุขกับทุกข์แค่นั้นหรือ ทำไมไม่อยู่ที่นี่ น่าจะช่วยตัวเองบ้าง ปล่อยให้รัก ปล่อยให้ชัง ปล่อยให้ความโกรธอยู่ข้ามวันข้ามคืน ไม่ถูกต้อง หยุดไม่ได้หรือ รถที่มันวิ่งได้มันต้องหยุดได้ ใจที่มันคิดแล่นไปก็หยุดซะ มารู้ตรงนี้ เป็นกรรมฐานคือที่ตั้ง ที่ตั้งเอาไว้ ถ้าไม่มีที่ตั้งมีรูปแบบมันก็ไม่อยู่ มันคิดไปข้างหน้า มันคิดคืนข้างหลัง 10 ปียังเอามาคิด มาอยู่สุคะโตแล้วยังคิดถึงกรุงเทพที่ไหน มันได้อะไร คิดไปโน่นมันเป็นจริงไหม เรานั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าเรารักพ่อรักแม่ก็ต้องทำตัวให้มันดี ถ้ารักผัวรักเมียก็ทำตัวให้มันดี รักลูกรักเต้าก็ทำตัวให้มันดี รักเพื่อนรักมิตรทำตัวให้มันดี นี่คือความรัก ไม่ทำให้ตัวตนเดือดร้อน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน มาฝึกอย่างนี้ มาเห็น เห็นกาย มีกายมีใจนี้ไม่ปลอดภัย ไปเห็นบ่อยๆ เห็นรูปเห็นนามนะ เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม ถ้าเป็นกายนี้จนง่าย ถ้าร้อนก็เป็นผู้ร้อน ถ้าหนาวเป็นผู้หนาว ถ้าปวดเป็นผู้ปวด ถ้ายังมีกายมีใจ แต่ถ้าดูไปๆ มันเลื่อนชั้น มันเห็นรูปเห็นนาม เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม ถ้าเห็นเป็นรูป สุขไม่เรียกว่าสุข ทุกข์ไม่เรียกว่าทุกข์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่หนาว แต่ก่อนร้อนเป็นร้อน หนาวเป็นหนาว สุขเป็นสุข หิวเป็นหิว ทุกข์เป็นทุกข์ พอเห็นรูปเห็นนามเป็นรูปเป็นนามแล้ว สุขไม่เป็นสุข เห็นมันสุข ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ เห็นมันทุกข์ การเห็นที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนามเป็นอาการ ไม่ใช่เรียกว่าสุขว่าทุกข์แล้วบัดนี้ เป็นอาการ ถ้ามันหิวไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป ขอบคุณความหิว แต่ก่อนความหิวเป็นทุกข์มันมีแต่กายแต่ใจ บัดนี้มาเห็นรูปธรรมนามธรรม ขอบคุณความหิว ถ้าไม่รู้จักหิวมันก็ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เอามาเป็นทุกข์ ความร้อนก็ขอบคุณมัน รูปนี้มันรู้จักร้อน เป็นสัญญาณภัยของรูป มันร้อนเป็น หนาวเป็น หิวเป็น ปวดเป็น มันเป็นธรรมชาติ เป็นอาการของรูป ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่เอามาเป็นทุกข์ เห็นรูปเห็นนามมันเลื่อนฐานะขึ้นมา แต่ก่อนมันเป็น พอมันเห็นรูปธรรมนามธรรม มันเห็น มีดวงตาเกิดขึ้นแล้ว
เห็นรูปเห็นนามเห็นอาการที่มันเกิดขึ้น ไม่ต้องเรียกว่าสุข ไม่ต้องเรียกว่าทุกข์ เบาๆ ไม่หนัก ถ้าสุขมันหนัก ถ้าทุกข์มันหนัก ถ้าเห็นเป็นอาการมันไม่หนัก แล้วก็เห็นรูปธรรมเห็นนามธรรม มันทำดีมันทำชั่ว รูปนี้ทำอย่างนี้มันทำดี อะไรสั่งให้ทำอย่างนี้ นามธรรมสั่งให้ทำอย่างนี้ รูปก็ทำ นามมันทำไม่ได้มันก็เลยใช้รูปถูกต้อง คิดถูกต้อง คิดเป็น ทำเป็น พูดเป็น เอารูปมาทำดี เอานามมาทำดี สำเร็จประโยชน์ ทำดีมันเป็นบุญ ทำชั่วมันเป็นบาป บาปคือทุกข์ บุญคือไม่ทุกข์ รู้จักบุญรู้จักบาป เลือกเป็นบัดนี้ รู้จักบุญรู้จักบาป รูปธรรมนามธรรมเป็นอย่างนี้ ทำดีทำชั่วในรูปในนามนี้มันมีการกระทำเกิดขึ้นเป็นกรรม เราก็เอารูปเอานามมาทำดีได้สำเร็จ มันอยู่กับเราแท้ ๆ เป็นการใช้รูปใช้นาม แต่ก่อนกายใจมันใช้เรา มีแต่มันใช้เรา ไม่อยากคิดก็คิด นอนกลางคืนก็ฝันไป เมื่อเรามาเห็นรูปธรรมนามธรรมแล้วมันก็ใช้กายใช้ใจได้ถูกต้อง ใช้ตาใช้หูถูกต้อง แต่ก่อนเราไม่รู้ รูปทุกข์นามทุกข์ มันบอกเอง มันขุดคุ้ยออกมา หายใจเข้าหายใจออกมันเป็นทุกข์ของรูป ถ้าไม่หายใจเข้ามันเป็นทุกข์ หายใจเข้าไปได้แต่ไม่หายใจออกก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ ไม่กินไม่แกงมันก็เป็นทุกข์ ไม่หลับไม่นอนมันก็เป็นทุกข์ ไม่ยืนเดินนั่งมันก็เป็นทุกข์ เป็นรูปทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ มาเห็นรูปทุกข์ โอ๊ย! น้ำตาซึม ไม่เคยช่วยเหลือรูป บางคนสมัยก่อนยังสูบบุหรี่กินเหล้ามีความโกรธ ไม่รู้จักช่วยรูปช่วยนาม พอมาเห็นทุกข์แล้วก็กระตือรือร้นช่วยรูปช่วยนาม ถ้าเราฝึกหัดแล้วมันจะใช้ได้ ถ้าเราไม่ฝึกนามก็ใช้ไม่ได้ ใจก็ใช้ไม่ได้ กายก็ใช้ไม่ได้ ไม่รู้จะเป็นอย่างไร มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ คุ้มร้ายคุ้มดี ฟูๆ แฟบๆ ไม่มั่นใจตัวเอง แต่ก่อนเห็นกายเห็นใจเป็นอย่างนั่น ไม่รู้ จนง่ายๆ มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ พอเห็นรูปธรรมนามธรรมแล้วมันพึ่งได้ เราจะอยู่ตรงนี้ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นรูปทุกข์นามทุกข์แล้วสงสาร จะไม่เป็นทุกข์ ดูแลมัน ทุกข์ตรงไหนพยายามเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนได้ ถ้าเป็นทุกข์เหมือนกับคว่ำมือ ไม่ทุกข์เหมือนกับหงายมือ เกิดแล้ว เห็นแล้ว โกรธเหมือนคว่ำมือไม่โกรธมันมาด้วยกัน มีสิทธิ มีสิทธิ เหมือนหน้ามือกับหลังมืออย่างนี้ เปลี่ยนอย่างนี้ เปลี่ยนร้ายเป็นดีเรียกว่าปฏิบัติธรรม จะไม่เปลี่ยนหรือพวกเรา มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สู้สัตว์ประเภทอื่นได้ไหม ถ้าไม่ฝึกหัดตัวเองก็ไม่น่าจะเป็นสัตว์ประเสริฐ มันจะประเสริฐตรงนี้คือมันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ได้ มันทุกข์เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ได้ มันโกรธเปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธได้อย่างนี้ นี่ประเสริฐตรงนี้ ไม่โง่ เลื่อนฐานะ เหมือนพวกสัตว์มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นมันไม่รู้จักเปลี่ยนได้ แต่มนุษย์มันเปลี่ยนได้ เป็นสัตว์ประเสริฐ
ถ้าคนตายถ้าตายจากคนนี้กายใจนี้ตายไปไม่มีทางที่จะไปสู่สวรรค์นิพพานได้ สุขๆ ทุกข์ๆ ไปสู่นรกเท่ากับขนโค ไปสู่สวรรค์นิพพานเท่ากับเขาโค ถ้ามนุษย์มันสูงขึ้นมาเห็นรูปเห็นนามแล้วมันไม่มีทางที่จะไปสู่ทุกข์ได้ มันรู้จักช่วย ถ้าผู้มีสติดีจริงๆ ปิดอบายภูมิได้เลย จะไปตกนรกเป็นเปรตเป็นอสุรกายยังไงในเมื่อเราเห็นมันอยู่ เราเห็นมันอยู่เนี่ย เหมือนเราเห็นงูจะให้งูกัดได้อย่างไร เห็นทุกข์จะให้เป็นทุกข์อย่างไร เห็นสุขจะให้เป็นสุขอย่างไร ละสุข ละทุกข์ได้ อิสระ มีแต่เห็น ไม่ว่าอะไรมีแต่เห็น ภาวะที่เห็นไม่เป็นไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดกับรูปกับนามมันเป็นชีวิต ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ภาวะที่เห็น ไม่เป็น มันเป็นชีวิต มันได้ชีวิต เหมือนกับชีวิตอยู่ได้ผอบ ชีวิตอยู่ได้ผอบ เหมือนนอนในมุ้งฟังเสียงยุง เห็นมัน ไม่เอากายมาเป็นสุข ไม่เอากายมาเป็นทุกข์ ไม่เอาใจมาเป็นสุข ไม่เอาใจมาเป็นทุกข์ เอามาเป็นภาวะที่รู้ทั้งหมด เปลี่ยนร้ายเป็นดี ปัญหาเป็นปัญญาได้ แต่ก่อนปัญหาต่าง ๆ มีมาก พอมาเห็นมันเป็นปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขารแท้ ๆ สังขารเป็นปัญญา สังขารเป็นวิสังขาร วิสังขารคือนิพพาน สังขารคือทุกข์ สังขารา ปรมา ทุกขา เป็นทุกข์อย่างนี้ นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คำว่าสุขนี้ก็เป็นสมมติพูดกัน เคยพูดอยู่เสมอว่า สุขแบบหนึ่งสุขเหมือนเกาขี้กลาก สุข พอเราเป็นขี้กลากแล้วทำยังไงถ้ามันคันขึ้นมา เกามัน เกามัน ถ้าไม่เกามันทุกข์ต้องเกามันก่อน ถ้ารักษาขี้กลากหายไม่ต้องเกามันอันนั้นเรียกว่าอะไร จะเรียกว่าสุขเรียกว่าทุกข์ได้ไหม ไม่รู้จะเรียกอะไร ไม่มีอะไรจะเรียกเลยสมมติว่าสุขไปเสีย นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความไม่เป็นไร ความสงบไม่มี ฉะนั้นสุขคือไม่เกาขี้กลาก จะเอาชีวิตเราไปห้อยไปแขวนไว้กับสุขกับทุกข์ทำไม ชีวิตเรา มันเหนือนั้นมีอยู่ อย่างพระพุทธเจ้าสู่ปรินิพพานในฌานสมาบัติ เข้าสู่ปรินิพพานในฌานสมาบัติ อะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น ให้ละสุขละทุกข์ มีสติแล้วแลอยู่ จิตเป็นเอก จิตผุดขึ้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่สุขไม่ทุกข์ ละสุขละทุกข์เสียได้ มีสติแล้วแลอยู่ มีสติแล้วแลอยู่เรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธเข้าสู่มรรคผลนิพพาน ณ ตรงนี้ อันนี้พระพุทธเจ้าได้พูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 6 เมื่อมีพระชนมายุ 35 ปี จนปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 6 เช่นกันที่กุสินารา ที่อายุ ที่พระชนมายุ 80 พรรษา ไม่ใช่วันนี้เป็นนิพพาน พระพุทธเจ้านิพพานมาตั้งแต่โน่นแล้ว ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน วันเดียวกันแล้ว แต่มันมาตรงกันที่นี่อีก เหมือนบางคนเกิดวันไหนตายวันนั้น บางทีก็มีอย่างนั้น คนแก่มักจะพูดคุยกัน ไปดูคนแก่ด้วยกันถามว่า “เกิดวันไหน” “เกิดวันนั้น” “เออ! เดี๋ยวนี้เหลือแต่ลม ไม่มีอะไรแล้ว คงจะหมดลมในวันนั้นพอดี” คนแก่ก็มามองแล้วมักจะเป็นจริงว่าเป็นการแก่เฒ่าธรรมดา ถ้าเป็นอุบัติเหตุก็บอกไม่ได้ นี่คือของจริง เราจะศึกษาอย่างไรชีวิตเรานี้ ขอพิสูจน์เรื่องนี้ ขอท้าทาย มันไม่มีอันว่าทุกข์ มันไม่มีทุกข์หรอก มันไม่มีหลง ถ้าเราศึกษาแล้ว ไปหลงทำไม ไปทุกข์ทำไม ไปโกรธทำไม มันทำได้อยู่ มาหัดเปลี่ยน มาอยู่ด้วยกัน จะเป็นมิตรเป็นเพื่อนไม่พาหลงทิศหลงทาง นี่คือศาสนาในเมืองไทย มีพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็นั่งอยู่นี้ มีคำสอนก็มาพูดให้ฟังอยู่นี้ ไม่ใช่ไปจำเอา ฟังแล้วไปทำดู เวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้นะ อย่าให้หลงเป็นหลง ถ้าหลงเป็นหลงอยู่คือดื้อด้านบอกไม่เอา สอนไม่เอา อย่าดื้อ อายตัวเองบ้าง มันอยู่กับความหลงไม่รู้จักเปลี่ยนเลย ถ้ากูได้โกรธตายไม่ลืม มันด้านเกินไป บางคนดื้อด้าน ถ้ากูได้โกรธกูไม่ด่ามันกูไม่ยอม คนดื้อด้าน อย่าไปด่ากัน เปลี่ยนซะ เปลี่ยนง่ายๆ ถ้ามันโกรธเปลี่ยนไม่โกรธอย่างนี้