แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการปฏิบัติ ท่านได้ยินได้ฟัง ท่านเอาไปทำดู สิ่งที่เราได้ทำ กระทำตามสิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราได้ยินเราก็เอาไปทำ ให้มันเป็นส่วนประกอบ ให้มันสมดุล ถึงจะเป็นการปฏิบัติ เราพยายามที่จะทำเรื่องหลายๆเรื่องให้เป็นเรื่องเดียว สรุปลองมาทำเรื่องเดียว เป็นหลายๆเรื่อง เช่น ชีวิตของเรา ตั้งแต่ว่ากิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 84,000 เรื่อง ถ้าเรามาคิด ได้ยินอย่างนี้ เราก็ท้อใจ บางทีก็ไม่กล้าที่จะทำอะไร มอบให้เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าไป การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายก็เป็นเรื่องของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย คนละเรื่องกับพวกเรา อันนี้มันไม่ใช่ 84,000 เรื่อง
สรุปลงมาแล้วก็เรื่องของกายของใจเรานี่แหละ เรื่องของกายของใจเรานี้ก็มีมากมาย อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เราเกิดสุขเกิดทุกข์ ก็เรื่องของกายของใจ เกิดโกรธ เกิดโลภ เกิดหลง เกิดปัญหาต่าง ๆ ก็เรื่องของกายของใจ เราจึงมาดูว่ามันคืออะไรกันแน่ เราจะมาเจริญสติ ดูซิ ว่ามันคืออะไร ไม่ต้องไปใช้สมอง ไม่ต้องไปใช้ความคิด เหตุผลอันใด เพียงแต่เรามารู้สึกตัว รู้สึกตัวกับอิริยาบถที่เราเจตนา เป็นรูปแบบ เป็นนิมิต ว่าแต่ให้สติมันอยู่ตรงนี้ ให้มันรู้อย่างนี้ ให้มันรู้อย่างนี้ ถ้าสติมันได้ดู ได้รู้ ได้เห็นเรื่องเดียวนาน ๆ มันจะเกิดอะไรขึ้นหละ ตรงนั้นนั่นแหละ เราสร้างความรู้ มันน่าจะเกิดความหลง ความหลงมันคืออะไร เราก็ไม่ได้หลงไปตามความหลง ความหลงเราก็เอามาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกตัว ทำได้ไหม? ทำได้ไหม? เราทำดู เราทำดู โอ้มันทำได้ มันทำได้ ไหนว่าจะทำไม่ได้ คิดยุ่งคิดยากไป พอทำลงไป มันก็ทำได้ พอมันหลงทีไรก็รู้สึกตัว รู้สึกตัว อ้าว ความหลงก็ไม่ไปถึงไหน ไปแค่คืบแค่ศอก แล้วก็กลับมาได้ แต่ก่อนมาหลงไปนาน จนเกิดอาการปรุงๆแต่งๆ บัดนี้พอมันหลงปั๊บ เรารู้ทัน กลับมาทัน ความหลงก็ไปไม่ได้ เมื่อความหลงมันไปไม่ได้ ก็มีแต่ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัว ให้เรามาสร้างตัวนี้ วิธีที่จะทำให้เกิดความรู้สึกตัว เราก็หามา ได้มากมายหลายอย่าง เป็นวัสดุอุปกรณ์เป็นความรู้สึกตัว เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับใจนี่แหละ หามา แล้วรูปแบบจริง ๆ ซึ่งเป็นหลักเป็นฐานให้มันสมกับชื่อว่า วิชากรรมฐาน แปลว่า มีที่ตั้งแห่งการกระทำ ให้เราเรียกว่า กรรมฐานนั่นเป็นที่ตั้งแห่งการกระทำ อะไรตั้ง อะไรทำอะไร เอาสติมาตั้งไว้ที่กาย ดังที่ อ.สมสิน อ.ตุ้ม ได้สาธิตให้เราดู เอามาตั้งไว้ที่กาย ส่วนไหนเป็นกาย หลายอย่าง
การยกมือสร้างจังหวะก็เป็นกาย การเดินจงกรมก็เป็นกาย การหายใจ การกระพริบตา การกลืนน้ำลาย คู้เหยียด เคลื่อนไหว ทั้งหมดเข้ามาเป็นวัสดุอุปกรณ์ให้เกิดความรู้สึกตัว เจตนาที่เราทำมันก็เป็นหลักอยู่แล้ว ยกมือสร้างจังหวะ 14 จังหวะ เคลื่อนไหวไปมา เนี่ยมันเป็นหลักสูตร มันเป็นสูตร สูตรจะย่อยก็มี เหมือนเราเรียนสูตรคูณ เราขยายไปเป็น บวก ลบ คูณ หารได้
หลักของการเจริญสติที่เราเรียกว่า กายานุปัสสนา เอาดุ้นๆ ก้อนๆ มาทำ ไม่ต้องมีอะไรที่มันลึกลับซับซ้อน รู้ซื่อๆ รู้ตรงๆ ให้มันรู้ซื่อๆ ถ้าเป็นสติจริงๆ มันจะซื่อๆ ตรงๆ ไม่มีอะไรที่ไปบังคับ ขับไส มันรู้อยู่ตื้นๆ ไม่ลึก ไม่ลึกลับ เพียงพลิกมือขึ้นก็รู้ตื้นๆ ไม่ลึกลับ มันลึกซึ้ง พอพลิกมือก็รู้ปั๊บ เนี่ยลึกซึ้ง ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปเอาเหตุ เอาผล ฉันรู้หรือเปล่า มือของฉันวางอยู่บนเข่า ฉันรู้หรือเปล่า ไม่มีคำถาม ว่ามือของเราอยู่ตรงไหน เราก็รู้เอง เราพลิกมือขึ้นเราก็รู้ว่ามือเราพลิกรึยัง ไม่มีคำถาม เรายกมือ เรายกมือรึยังหนอ มือเราเนี่ย ไม่มีคำถาม มันรู้ซื่อ ๆ รู้ มันก็รู้แล้ว มันก็รู้แล้ว พลิกมือขึ้นมันก็รู้แล้ว ยกมือขึ้นมันก็รู้แล้ว เอามือขึ้นมาอย่างนี้ มันก็รู้แล้ว มี 14 รู้ มันบอกว่ารู้แล้ว รู้แล้ว มันก็รู้ มันก็จบไป มันเป็นความรู้แล้ว มันเป็นความรู้แล้ว
ถ้าทำเท่านี้ ทำเท่านี้ เริ่มต้นจากจุดนี้ หรือบางทีมันอาจจะไม่รู้ บางทีอาจจะเกิดความหลง อาจจะเกิดความง่วง หลงไปทางไหน กลับมาได้ทั้งนั้น ความรู้สึกตัวเป็นตัวหลัก เป็นตัวเฉลย มันหลงไปไหน มันก็กลับมาหาความรู้สึกตัว พอมีความรู้สึกตัว ความหลงมันก็หมดไป หยุดไป แม้ว่ามันจะเกิดอีก เกิดอีก ก็รู้อีก ไม่เสียหาย อย่าไปกลัวความหลง อย่าไปถือว่ามันผิด ไม่มีอะไรผิด ตัวกรรมฐานจริงๆ มีแต่เห็น อย่าไปเอาผิด อย่าไปเอาถูก มันไม่มีผิด มันไม่มีถูก มีแต่เห็นตะพึดตะพือไป มันรู้ก็เห็นมันรู้ มันหลงก็เห็นมันหลง ตัวเห็นหลงเห็นรู้นั่นแหละ เรียกว่า สติ
แล้วก็มีการกระทำ คือเจตนาใส่ใจทำอยู่ เรียกว่า กรรม ต้องทำให้มันต่อเนื่อง ให้มันเป็นกรรม กรรมจึงจะจำแนกให้เป็นผลได้ ถ้าไม่มีกรรม มัวไปเอาเหตุ เอาผล มันก็เป็นความคิด มันไม่ใช่เป็นของจริง ผลมันจะจำแนกไปเอง ว่าแต่เราทำกรรมตรงนี้ ทำสบายๆ ทำเบาๆ วางๆ คลายๆ เรื่องของกายก็คลายๆ อย่าไปกด อย่าไปตึง เพราะความรู้สึกตัวเป็นความพอดีๆ ไม่ตึง ไม่เครียด ไม่หย่อน ถ้ารู้สึกตัว ถ้ามีอะไรไปซ้อน ก็เอาความรู้สึกตัวเข้าไป อาจจะเครียด อาจจะง่วงได้ง่าย อาจจะหนัก นั่งอาจจะได้ไม่ค่อยนาน ก็จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน ถ้าทำเบาๆ ง่ายๆ มันอยู่ได้นาน การนั่งก็นั่งได้นาน มันเบาๆ ความรู้สึกตัวมันเบาๆ ทำเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา ความรู้สึกตัวทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่ว่ารู้แล้ว พอรู้แล้ว มันจบแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ บางทีของที่มันเบาๆ เราไปทำให้มันหนัก ของที่ทำง่ายๆ เราไปทำให้ยาก
บางคนพอปฏิบัติก็เครียดไปเลย อยากรู้ อยากรู้ อ้าวไปเอาความอยากมาประกอบกันอีกแล้ว กลัวมันจะผิด อ้าว ไปกลัวผิดอีกแล้ว อยากได้ถูก อ้าว ความอยากได้ถูกก็เกิดขึ้นมาอีกแล้ว พอมันหลงไป อ้าว ไม่อยากให้มันหลง หรือว่าผิดแล้ว อ้าว ไปผิดไปถูก ไปหลงไปรู้อยู่ มันไม่ใช่ ตัวปฏิบัติ คือตัวรู้สึกตัว ตัดไปเลย รู้สึกตัว รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวมันง่ายๆ ไม่ลึกลับซับซ้อนอะไร ใครก็รู้ได้ เป็นของนำหน้า เป็นของโชว์ พอรู้สึกตัว เป็นของที่โชว์ ที่เห็นได้ง่าย ไม่ต้องเปิดหา ไม่ต้องใช้คำว่าหา มันมีอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับเราไปหาของที่มันหายไป ของที่มันมีอยู่แล้ว ทำโชว์ขึ้นมา ยกให้มันโชว์ขึ้นมา รู้สึกตัว รู้สึกตัว มันเห็นได้ชัดกว่าอย่างอื่น
ความหลงถึงยากกว่าความรู้สึกตัวด้วยซ้ำไป เพราะความรู้สึกตัวมันง่ายๆ เป็นของคู่กับกาย กับจิตจริงๆ แล้วความรู้สึกตัวไปช่วยเราอยู่ ไม่หนีไปไหน แต่บางทีเราไม่ให้โอกาสความรู้สึกตัวเฉยๆดอก เราให้โอกาสความหลงมากเฉยๆ บัดนี้ 7 วันนี่ เรามาให้โอกาส ให้ความรู้สึกตัว เท่าที่เราจะให้โอกาสได้ และก็พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้ความรู้สึกตัวมันงอกงาม อาจจะมีการสำรวมลงบ้าง อายตนะทั้งหลายสำรวมลงไปอยู่ที่การเคลื่อนไหว ประตูเดียว ถ้ามันจะเห็นทางตา ไม่จำเป็นก็ต้องอย่าไปดูมัน ถ้ามันจะหลงไปทางหู ไม่จำเป็นก็อย่าไปฟังมัน ฟังแล้วก็อย่าไปใส่ใจ เอาถูก เอาผิด กับตา กับหู กับรูป กับรส กับกลิ่น กับเสียง ตัดมา มาดูมารู้สึกตัวกับกายไปก่อน ให้โอกาสเข้าข้างความรู้สึกตัวให้มากๆ เข้าข้างความรู้สึกตัวให้มากๆ ให้ออกหน้าออกตาให้เป็นใหญ่ในชีวิตเรา แต่ก่อนความหลงอาจจะเป็นใหญ่ บัดนี้ให้ความรู้สึกตัวเป็นใหญ่ แม้นอะไรจะเกิดขึ้นต้องกลับมารู้สึกตัวก่อนจึงค่อยไปต่อ จึงค่อยไปสุข จึงค่อยไปทุกข์
ถ้าด่วนไปสุขไปทุกข์ ด่วนไปผิดไปถูก มันสุดโต่งไปทางหนึ่ง ถ้ากลับมาหาความรู้สึกตัว มันจะเหนือสุข เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือผิดเหนือถูกทันที เป็นของที่สากล ให้ความรู้สึกตัวเท่าที่เราจะออกหน้าได้ สมมติว่าเรานั่งอยู่ เราคิดจะลุก ตัวคิดจะลุกมันเกิดจากความคิด ก็อย่าทำตามความคิด แม้มันคิดจะลุก ก็ใช่แล้ว แต่นั่น อย่าลุกตามความคิด ความคิดมันสั่ง ก็อย่าไปทำตามความคิด ให้รู้สึกตัวเสียก่อน บางทีมันคิดจะลุก ไม่ต้องลุกในเวลามันคิด ดูดี ๆเสียก่อน กลับมารู้สึกกายเสียก่อน ถ้าจะลุก ก็ลุกด้วยความรู้สึกตัว ในเวลาเราเดินจงกรมอยู่ ถ้าคิดจะนั่ง ก็อย่าไปนั่งตามความคิดไวจนเกินไป เราจะตามหลังเขา เขาจะออกหน้าตะพึดตะพือไป ความคิดนั่นหนะ ก็เวลามันคิดจะนั่งก็ไม่ต้องนั่ง รู้สึกตัวเสียก่อน ดูดีๆก่อนอย่าเพิ่งทำตาม
ถ้าเราจะนั่ง นั่งตามความรู้สึกของเรา นั่งตามความรู้สึกของเรา เรียกว่า หัดให้สติเป็นใหญ่ เชื่อฟัง เหมือนเราทำงานทำการมีหัวหน้า เรายังไม่ชำนิชำนาญ ให้หัวหน้าพาทำ ให้ครูอาจารย์พาทำ ให้ครูอาจารย์สั่ง ให้ครูอาจารย์สอน อาจจะผิดน้อย ถ้าเราทำไปเลย อาจจะผิดมากกว่าถูก เราจึงฝึกอย่างนี้ การฝึกตัวเองการฝึกชีวิตของเรา ถ้าไม่จำเป็นก็ไต้องพูด ถ้าจะพูด ต้องมีสติ รู้สึกตัวหัดช้า ๆไปก่อน อย่าด่วนหุนหันพลันแล่น การฝึกตน การสอนตน มันจะเห็นของจริง เห็นเงื่อนไข ถ้าทำแบบลวกๆลาบๆ มันจะไม่เห็นของจริง เช่น เห็นกาย เห็นเป็นรูป มันบอกให้เราเห็นอยู่แต่เราไม่ใส่ใจ เช่น ความหลงเนี่ย ความหลง เราไม่เห็นความหลงจริงๆ ความหลงก็หลอกให้เราหลงอยู่เรื่อยๆ ความทุกข์ เราไม่เห็นความทุกข์จริงๆ
ความทุกข์ก็หลอกให้เราทุกข์อยู่เรื่อยๆ ความโกรธ เราก็ไม่เห็นความโกรธจริงๆ ความโกรธก็หลอกให้เราเห็นความโกรธเรื่อยๆ วันนี้เรามาดูเข้า ดูเข้า โอ้ ความหลงมันเป็นอันหนึ่งกับความรู้สึกตัว ต่างกันอยู่ มันต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ความหลงกับความรู้เนี่ย ดูดีๆ แล้วผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่มีจิตใจแยบคาย ความหลงเป็นประโยชน์มาก แต่ผู้ที่ไม่มีจิตใจแยบคาย ความหลงก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ความหลงก็เพื่อสร้างความหลง ความทุกข์ก็เพื่อสร้างความทุกข์ ไปเรื่อยๆ ตะพึดตะพือไป
ถ้าเรามีสติอันแยบคายดีๆ ความหลงเป็นเหตุให้เกิดความรู้ เลยสบายเลยทีนี้ ความหลงเป็นเหตุให้เกิดความรู้ มันหลงทีไรรู้สึกตัว ไม่เสียหาย ไม่ได้ไปกับมันเลย เพราะมันต่างกันอยู่ ดูไปดูมา ดูไปดูมา เพราะมันหลงถึงได้รู้ ความหลงก็หมดไป หายไป ธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ ความหลงไม่เป็นธรรมดอก ความรู้สึกตัวเป็นธรรมกว่า ไม่ได้ ความหลงมันใช้ไม่ได้เลย ถ้าดูดีๆ ถ้าเราแยบคายดีๆนะ หลงสักสองสามครั้งก็รู้แล้ว รู้เท่าแล้ว รู้ทันแล้ว ถ้าเราไม่แยบคายหลงร้อยครั้งพันหน ก็ยังหลงอยู่นั่นแหละ ความหลงยังลอยนวล
เหมือนเขาเขียนภาพไป ฝาผนังศาลา เขาเขียนคำว่ากิเลส กิเลสเขียนเป็นรูปหมาตัวหนึ่ง เขาอ่านดูแล้วว่าเป็นกิเลส แต่มันเป็นรูปหมาตัวหนึ่ง เขาเขียนศิลปะ เขาเขียนกิเลสเหมือนกัน เป็นรูปหมาตัวหนึ่ง อย่าปล่อยให้กิเลสมันลอยนวล หมายถึงความหลง ถ้ามันหลงเนี่ย ดีมีประโยชน์ เพราะเราจะได้รู้สึกตัว ดูดีๆ ซิ หลงเอย หลงกาย เห็นความหลง เห็นความคิด เห็นรูป เห็นนาม เห็นความหลง เห็นเป็นอาการ ความหลงดูไปดูมา ความโกรธดูไปดูมา ความทุกข์ดูไปดูมา ความร้อนความหนาวดูไปดูมา ความปวดความเมื่อยดูไปดูมา ความสุขความทุกข์ดูไปดูมา โอ้ มันเป็นอาการ เป็นอาการของกายของใจแค่นั้นเอง แล้วก็ไม่มีน้ำหนักอะไร ถ้าเราดูดี ๆนะ ไม่มีน้ำหนัก แต่ก่อนความหลงมีน้ำหนัก ฟัดเรา ส่งเราไปสุดเหวี่ยง กลายไปเป็นความโกรธ ความทุกข์ ความยินดี ยินร้ายนั่นนะ
แต่ถ้าเรามีจิตใจแยบคายดูดีๆ นะ สร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ เหมือนกับน้ำที่มันนิ่ง ปลามันบ้อนก็เห็นทันที (ปลาบ้อน หมายถึง อาการที่ปลาผุดขึ้นเหนือน้ำเพื่อหายใจ : ผู้ตรวจทานไฟล์เสียง) ถ้าสิ่งแวดล้อมดีนะ แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีเหมือนน้ำที่มีคลื่น ปลามันบ้อนก็ไม่เห็น ให้รู้ว่าปลามันบ้อนเป็นยังไง มันเป็นคลื่นเหมือนกันทั้งหมด คนที่มีสติ คนที่มีเจตนา คนที่เฝ้าดูอยู่ มันจะทำให้นิ่ง มันจะทำให้เงียบได้ แม้จะอยู่ในสิ่งไม่ดี มันก็ดีได้ นะ มันดีได้ มันตัดไปได้ ความรู้สึกตัวมันสร้างสรรค์ขึ้นมา มันเปลี่ยนได้ ความวุ่นวายมันเปลี่ยนให้ความปกติ ความสับสนมันเปลี่ยนให้สิ่งที่เป็นระเบียบได้ ลองหัดทำดู ทำสบายๆ เห็นความหลงทีไร โอ้มันชื่นใจ มั่นใจ เพราะว่าหลงปั๊บ มั่นใจ
เหมือนคนทำงาน เขาทำงาน ที่เขามีประสบการณ์ก็เพราะมันผิดพลาด คนทำงานที่มีการผิดพลาด เขาเรียกว่าประสบการณ์ คนขับรถที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้อันนั้นเรียกว่า เขาขับรถเป็น เช่น ขับรถไป ขับรถไป มีคนวิ่งตัดหน้า เขาใช้วิชาขับรถของเขา ออกมา เหยียบเบรก กดแตร หักหลบจังหวะพอดีๆพ้นได้ นั่นแหละ เขาขับรถเป็นแล้ว ตรงนั้นแหละ เขาขับรถเป็น ไม่ใช่ขับรถวิ่งตามถนนเฉยๆ ยังไม่มีประสบการณ์ ถ้าคราวที่มันผิดพลาด เขาแก้ได้ นั่นแหละ โอกาสที่เขาขับรถชำนิชำนาญ ขาเขาก็ไปเหยียบเบรก มือเขาก็ไปจับพวงมาลัย กดแตร เขาขนออกมา ความรู้ที่จะเป็นสัญญาณให้พ้นไป เขาขนออกมา
หรือว่าเหมือนกับหมอ ที่เขาตรวจโรค เขาเห็นโรค วินิจฉัยของโรค เมื่อเขาพบเห็นโรค สมมติฐานของโรค เขาก็ดีดนิ้วมือได้ เห็นแล้ว รู้แล้วๆ เหมือนเราก็ อุปมาเหมือนหลวงพ่อปวดฟัน ไปหาหมอ หมอ ทำไมฟันถึงปวด อยู่ดี ๆมันปวดเนี่ย มันเป็นอะไร ไปหาหมอ เค้าก็ดู หมอก็ดู โอ้ รู้แล้วๆ หลวงพ่อ ฟันมันเป็นรูจนถึงรากแล้วนะเนี่ย มันมีอะไรมาปิดรูแล้วเนี่ย เขาก็เขี่ยออก มันก็หายปวด เขาเห็น เขาเห็นสมมติฐาน เขาดูออก
ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มันก็มีเหตุ มีปัจจัยของเขาอยู่ ไม่ใช่จะทุกข์ตะพึดตะพือไป ไม่ใช่จะสุขตะพึดตะพือไป ไม่ใช่จะโกรธตะพึดตะพือไป ไม่ใช่จะหลงตะพึดตะพือไป มันหลงถึงตรงไหน ความไม่หลงก็ถึงตรงนั้น ไปไม่ไกล มันโกรธอยู่ตรงไหน ความไม่โกรธมันก็อยู่ตรงนั้น ความทุกข์อยู่ตรงไหน ความไม่ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ดูดีๆ ของมันอยู่ด้วยกัน ในชีวิตเรามันมีคู่ มอง มองแบบมีคู่ พอมันโกรธ ก็มองแบบไม่โกรธ ก็มีอยู่ มันหลง ก็มองแบบไม่หลง ก็มีอยู่ มันทุกข์ ก็มองแบบไม่ทุกข์ ก็มีอยู่ มองเป็นคู่ มีหวังๆ ไม่ใช่สิ้นหวัง บางคนปล่อยให้อกหัก ไม่ใช่ ปล่อยให้เสียใจ เอาชีวิตไปห้อย ไปแขวนไว้กับสิ่งอื่น วัตถุอื่น มันไม่ใช่
ชีวิตเรามันมีหลักแหล่งอยู่ ถ้าคนสร้างสตินะ เข้าข้างความรู้สึกตัวเอาไว้ เข้าข้างความรู้สึกตัวเอาไว้ จะเป็นชีวิตที่มั่นคงดี ความรู้สึกตัวมันเฉลย รู้สึกตัวเมื่อไหร่มันเฉลยเมื่อนั่น มันเป็นเฉลยปัญหาทั้งหมด ปัญหาของกาย ปัญหาของใจ ความรู้สึกตัวถ้ามันแก่กล้ามันก็จะเฉลยได้หมดเลย เป็นตัวเฉลย ให้เหลือศูนย์ ความโกรธเฉลยไปเฉลยมาเหลือศูนย์ หาค่าบ่มี ความโกรธ แต่ถ้าเราไม่เฉลย ความโกรธก็มีค่า ความทุกข์ก็มีค่า ความโลภ ความหลงก็มีค่า ความรู้สึกตัวเฉลย หมดค่าเลย เหลือศูนย์ ไม่มีค่า แม้แต่จะโกรธ ก็โกรธไม่ได้ มันไม่มีค่าอะไร ไม่ถูกต้องเลย ถ้ารู้สึกตัว มันเหลือศูนย์แล้ว เหลือศูนย์แล้ว ชีวิตที่มันเหลือศูนย์ ตั้งต้นจากศูนย์ มันจึงถูกต้อง
เหมือนเราไปเติมน้ำมัน ถ้าคอมพิวเตอร์หน้าจอปั๊มน้ำมันเขาไม่มีศูนย์ตั้งแล้ว แสดงว่าไม่ถูกต้อง ปั๊มนั้น ใช้ไม่ได้ ตอนไปเติมปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ที่ไปทุ่งกะมัง พอเติมปั๊บ 600 บาท เราดูตัวเลข หลวงพ่อก็เลยบอกเขาหยุด ทำไมเป็นอย่างนี้ ป่าวๆ หลวงพ่อ ตัวเลขมันตั้งไป 200 แล้วหนูจะลบให้ หนูจะลบให้เขาว่าอย่างนี้ ถ้าเราไม่ดูก็ เขาก็บวก 200 ไปเลย เป็น 600 บาท แทนที่จะเสียเงิน 400 บาท เสียเงินเป็น 600 บาท ทำไมปั๊มคุณเป็นอย่างนี้ มันเสีย มันเสีย มันไม่ได้ตั้งที่ศูนย์ มันก็เลยผิดเพี้ยนไป
เพราะฉะนั้น ชีวิตเราก็เหมือนกัน มันมีค่าอะไร ความโกรธ ก็มีค่า ความทุกข์ก็มีค่า ถ้าเราทำให้มันถูกต้อง มันไม่มีค่า ไม่มีค่าจริงๆ ความโกรธ ความทุกข์ ความรัก ความชัง ไม่มีค่า มันเป็นอาการ ปกติมีค่ากว่า ปกติยังเป็นค่า ชีวิตเราไปทำตามความโกรธ โดดตึกตายบ้าง แขวนคอตายบ้าง ฆ่าตัวตาย อกหัก เสียอก เสียใจเพราะมันมีค่า แล้วของไม่มีค่าก็ไปทำให้มันมีค่าขึ้นมา แล้วก็ผิดพลาดอยู่แค่นี้ มันไม่มีจริง ๆ
เหมือนกับหมอดิลกพูดนะว่า มันไม่มีค่า เราไปนึกว่าเป็นตัวเป็นตนจริงๆ มันไม่ใช่นะ ลองดูดีๆ ดูกายเคลื่อนไหวไปมา อ้อ มันมีตัวรู้ ตัวรู้มันเห็น พอมันคิดปั๊บ มันก็เห็น อ้อ มันหลง เห็นปั๊บ พอมันคิด มีค่ามาก ไปไกล ไปยินดี ไปยินร้าย ไปชอบ ไปไม่ชอบ ไปยึดเอา ให้ค่ามันพอมาดูอีกที เอ้า ความคิด มันเกิดขึ้นเพราะหลง ถ้าไม่หลงก็คิดไม่ได้ มันรู้สึกตัว มันรู้เหตุนั่นแหละ คิดมันมี 2 อย่าง อันหนึ่งตั้งใจคิด อันตั้งใจคิดไม่ค่อยอยากคิดดอก
เหมือนกับไปเป็นการบ้าน เหมือนครูให้การบ้านเด็กนักเรียน ให้ไปคิดเรื่องนี้ดู ไม่อยากคิด ทิ้งไว้นั่นแหละ แต่คิดแบบหนึ่ง ความรักคิด ที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวนี้เป็นตัวขยัน เค้าเรียกว่าสมุทัย หรือว่า สังขาร ขยันตัวนี้ ไม่อยากคิดมันก็คิด เวลานอนมันก็หาเรื่องไปคิด คิดโน่นคิดนี่ ออกไปเป็นเรื่องเป็นราว คิดไป ทั้งที่มันไม่ใช่ของจริงอะไร ก็ปล่อยมันลอยนวลอยู่ 1 ชั่วโมงบ้าง 2 ชั่วโมงบ้าง คิดไปๆ อ้าวกัดตอดตัวเอง น้ำตาไหล เครียดขึ้นมา นอนไม่หลับ แล้วมันมีตัวเป็นตนเองมั้ยหละ ความคิดหนะ เราเคยดูมันมั้ย ไม่เคยเห็นเลย หลวงพ่อ 30 ปี อายุ 30 ปี ไม่รู้เลยเรื่องเนี่ย นอนอยู่เฉย ๆก็โกรธ ใครมาดุ มาด่า โกรธเพราะความคิดตัวเอง เป็นทุกข์ก็ความคิดตัวเอง มีมั้ยโยม ไม่มีใครมาว่าเลย คิดขึ้นมา อ้าว น้ำตาไหลเลย นอนไม่หลับเลย บางที เป็นโจรเป็นผู้ร้ายก็มี ต้องฆ่ามัน ไม่ยอมๆๆ กำหมัด กัดฟัน คิดขึ้นมา โอ้ย หลวงพ่อมาพบหลวงพ่อเทียน ให้ดูความคิด อย่าเข้าไปในความคิด หลวงพ่อเทียนบอก อย่าเข้าไปในความคิด ถ้าเห็นมันคิด พอมันคิดก็กลับมา พอมาทำดูจริง ๆ มันตรงนี้แน่นอน
พอมีสติเหมือนกับแสงสว่าง ความคิดเหมือนกับความมืด ความมืดกับแสงสว่างมาอยู่ด้วยกัน แต่ว่า เมื่อมีแสงสว่างนาน 1 ชั่วโมง ความมืดก็ไม่มี 1 ชั่วโมง แสงสว่าง 2 ชั่วโมง ความมืดก็ไม่มีตั้ง 2 ชั่วโมง แสงสว่างมี 24 ชั่วโมง ความมืดก็ไม่มี 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นความมืดในชีวิต หมายถึงความหลง อ้าวลองดู มันเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ เมื่อไม่มีโอกาสหลง มีแต่ตัวรู้ครอง ความหลงก็หมดเชื่อได้นะ เหมือนข้าวปลูกที่เราเอาไว้ทำพันธุ์ เมื่อมันไม่ได้กลิ่นไอของฝน เก็บไว้ในยุ้งในฉาง 2 ปี 3 ปี ไม่เอาสัมผัสกับดิน กับน้ำ มันก็หมดเชื้อได้เหมือนกัน เอาไปหว่าน ไม่งอกเลย ใช่มั้ยโยม เม็ดถั่วเม็ดงาก็เหมือนกัน ถ้าเก็บไว้นานเกินไป เอาไปเพาะไปหว่าน ไม่เกิด ไม่ออกหน่อ ไม่งอกเลย
ตัวรูป ตัวโกรธ ตัวหลง ตัวทุกข์เนี่ยก็เหมือนกัน มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล ไม่ใช่อะไรทั้งหมด อยู่กับการกระทำ ให้เรารู้สึกตัว 1 วัน 2 วัน รู้สึกตัว 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงไป ทำตามที่พระพุทธเจ้าท้าทายเอาไว้ พระพุทธเจ้าท้าทายเอาไว้ว่า ผู้ใดมีสติอย่างต่อเนื่อง 1 วันถึง 7 วันอย่างไวที่สุด, อย่างกลาง 1 เดือนถึง 7 เดือน, อย่างช้าที่สุด 1 ปีถึง 7 ปี จะเกิดอานิสงค์ 2 ประการ หนึ่งคือเป็นพระอนาคามีบุคคล สองเป็นพระอรหันต์ หมายถึงจิตนะ อนาคามีบุคคล หมายถึง ผู้มีจิตรอบเดียว มีรอบอันเดียว ภพเดียว ไม่มีสองภพ สามภพ เช่น หลงไปได้เลย ไม่หลงอีก โกรธไปได้เลย ไม่โกรธอีกเลย มีมั้ย เราโกรธเรื่องเนี่ย โกรธครั้งเดียว ไม่โกรธอีกเลย มีไหม หรือว่า โกรธหลายครั้งเรื่องเดียว เอามาคิดอยู่ โกรธอีกใช่ไหม โอ้ยนั่นไม่ใช่พระอนาคามี พระอนาคามีไปรอบเดียว แม้มีก็นิดหน่อย เบาบาง
ถ้าเป็นความโกรธก็ 25 เปอร์เซ็นต์ เบาไหม 25 เปอร์เซ็นต์ ปุถุชน 100 เปอร์เซ็นต์ โสดาบัน 75 เปอร์เซ็นต์ สกิทาคามี 50 เปอร์เซ็นต์ อนาคามี 25 เปอร์เซ็นต์ เบาไหม ถ้าเป็นความร้อนก็ 25 องศา ใช่ไหม ต้มอะไรไม่สุก ถ้าเป็นความหนาวก็ไม่หนาวมาก ถ้าเป็นความร้อนก็ไม่ร้อนมาก ไม่ถึงกับทำให้เสียหาย รอบเดียวไปได้เลย พ้นไปเลย รอบเดียวพ้นไปเลย ผ่านไปตะพึดตะพือ ผ่านไป
เรื่องเดียวทุกข์แล้วทุกข์อีก โกรธแล้วโกรธอีก หลงแล้วหลงอีก ใช่ไหม มันได้อะไรละ โกรธเรื่องนี้ ได้อะไร ทุกวันนี้นะ เขาเห็นจุดอ่อนของคน สงครามเย็น เขาจะทำให้คนโกรธ เขาจะทำให้คนทุกข์ คนโกรธ ถ้าใครทำให้คนโกรธได้ ถือว่าเขาสำเร็จ ถ้าเขากำลังโกรธบ่อยๆ ทุกข์อยู่บ่อยๆ ก็มีหวังอายุไม่ยืน ตายง่าย ทำไงมันโกรธบ่อยๆ ทำไงมันโกรธบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็ตายหรอก เขาว่ากันอย่างนี้เลยนะ เราโกรธเพราะคนอื่นทำให้เราโกรธ มันเสียเปรียบ เสียเปรียบมาก เขาน่ะไม่ได้คิดอะไร เขาทำให้เราโกรธ เขาทำให้เราทุกข์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ปุถุชนเนี่ย ร้อยทั้งร้อย เป็นทุกข์เพราะคนอื่น เป็นทุกข์เพราะวัตถุอื่นสิ่งอื่นทำให้เราเป็นทุกข์ ตัวเรานี่ ก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่หรอก แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ บัดนี้ เรามาดู มารู้ มาเห็น มันไม่ใช่ คนอื่นไม่เกี่ยวเลย อยู่กับเรา ถ้าเรารู้สึกตัว เราจะมั่นใจมาก มั่นใจ เนี่ยเราอยู่ของเรา เรารู้อยู่แล้ว เรารู้เราเห็นมันอยู่แล้ว ของที่เห็นอยู่เนี่ย มันจะทำอะไรให้เราได้ เราจะมาสร้างความรู้สึกตัว