แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน มีแต่เรื่องธรรมะนี่แหละ…เล่า ถ้าขาดธรรมะก็ไม่ค่อยดี อะไรผิดอะไรถูก ควรที่จะบอกกัน พูดกัน บางทีเรารู้อยู่แต่ไม่เอาไปทำ ก็…ความรู้ใช้ไม่ได้ ต้องมีการกระทำบ้าง อย่างเราสวดอุทิศ หนนี้อุทิศให้บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ใช้คำพูด เราต้องออกไปทำ อุทิศให้คือทำเผื่อ พ่อแม่เราจะไม่มีแล้วแต่เราทำเผื่อความดี เราก็ไปทำความดี เอาชีวิตเราไปทำความดี เอาชีวิตเราไปละความชั่ว สูรย์จันทร์และราชา สูรย์จันทร์คือพระอาทิตย์ดวงจันทร์ เคารพพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ทำไง อย่าให้เกิดโลกร้อน ที่มันทำให้เป็นเรือนกระจก ทุกวันนี้บางทีเขาไม่ถือถุงพลาสติกไปซื้อของ เขาเอาถุงผ้าไป ถ้าไปซื้อของ เอาถุงผ้าไป ถือกลับมา ก็ซักไว้ ไม่เอาถุงพลาสติก มาถึงบ้าน เพื่อให้ไม่เป็นภาระ ถึงจะราชา พอเกิดเพดานเรือนกระจก ก็โลกก็ร้อนขึ้น อุทิศให้ปวงสัตว์ อย่าทำให้ตนเองเดือดร้อน อย่าทำคนอื่นเดือดร้อน เอาไปทำ อย่ามีตัณหาอุปาทาน ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เมื่อตัวเองเดือดร้อน ก็แสดงออกในความเดือดร้อนแก่สิ่งอื่นวัตถุอื่น เราก็ต้องขัดเกลา นี่เรียกว่าเอาไปทำ ไม่ใช่พูด สวดมนต์เย็นสวดมนต์เช้า เคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ จงเคารพพระธรรม
พระธรรมคืออะไร ความชั่วก็คือธรรม ความดีคือธรรม เคารพพระธรรมก็อย่าทำชั่ว ห่างไกลออกไป หลวงพ่อเทียนสอนพวกเราว่า ความชั่วเหมือนขี้ไก่ ขี้หมา คูถ(อุจจาระ)ต่าง ๆ อย่าเข้าไปเหยียบ มันจะติดเอา เมื่อมันติดเอามันก็…สังคมรังเกียจ คนนี้เป็นคนชั่วเลวทราม…อย่างนี้ อย่าเข้าไปใกล้…นรก หลีกช้างสิบวา หลีกคนบ้าร้อยเส้น เคารพพระธรรมอันหนึ่ง ที่ธรรมเป็นกุศลน้อมมาใส่เรา แสดงออกทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ น้อมเข้ามา ให้มีในเรา เรื่องความรู้สึกตัวให้มีในเรา เมตตากรุณาให้มีในเรา อย่าโทโสโมโห นี่เรียกว่าเคารพ ไม่ใช่ไป…มัวแต่กราบแต่ไหว้ ไม่เคยปฏิบัติ ทุกวันนี้ สมัยนี้เอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมแล้วกำหู ไม่ค่อยทำกัน มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชีวิตเราแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อสรรพสิ่งกลายเป็นโทษไป
เราจึงมีการศึกษา ให้รู้จัก รู้แจ้ง ศึกษาเรียกว่าสิกขา สิกขาคือ ศีล คือสมาธิ คือปัญญา ศีลก็เกิดอยู่ที่กาย สมาธิเกิดอยู่ที่ใจ ปัญญาเกิดอยู่ที่กาย ที่ใจ ศีลกำจัด ความชั่วอย่างหยาบ ๆ ทำลายความโลภความโกรธความหลงลงได้บ้าง เบาบางลง สมาธิกำจัด ความชั่วอย่างกลาง ๆ ไม่มีทิฐิมานะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส ไม่เอาตนเป็นใหญ่จนถึงกับ…ไปจัดการกับคนอื่น อย่ามีตนจนเกินไป ทำลายตนลงบ้าง ถ้ามีตนก็…สุข ๆ ทุกข์ ๆ เห็นความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เรียกว่าสมาธิ ปัญญาก็รอบรู้ในกองสังขารคือกายคือใจนี้ ฉลาด มันโกรธก็ฉลาด เห็นความโกรธฉลาด ไม่ใช่โง่ เห็นความทุกข์ฉลาด ออกจากทุกข์ให้เป็น เห็นความหลงก็ฉลาดออกจากความหลงให้เป็น ความพอใจ…ไม่พอใจยินดียินร้าย ฉลาด…อย่าโง่ ไปให้พ้น…จากมือของมาร จอมมารทั้งหลาย หมู่มารทั้งหลาย พวกเนี่ยทำให้เราเสียเวลา เรียกว่าปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ ไม่มีศีลไม่มีสมาธิไม่มีปัญญาเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ เราก็ได้ศึกษาตรงนี้ ได้คำตอบตรงนี้ได้ข้อมูลตรงนี้ เรียกว่าศึกษา มันก็มีเท่านี้แหละ ปัญหาต่าง ๆ เกิดที่กายที่ใจ การแก้ปัญหาก็แก้ที่กายที่ใจ มาศึกษาให้ดูให้เห็น เห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันก็…ไม่ใช่เห็นเป็นดุ้นเป็นก้อน กระจายออก อะไรมันจะเกิดเป็นดุ้นเป็นก้อน ศึกษา ถลุงออก สำรวมในปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ สำรวมลงบ้างอย่าให้กระจุยกระจายเกินไป ไม่ยินดียินร้ายในอะไร เห็นรูปฟังเสียง ดมกลิ่นลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อารมณ์เกิดกับใจ…สำรวมไว้บ้าง อย่าผรุสวาจา ผรุส…ยอมรับยอมปฏิเสธแทนไป ให้เป็นกลาง ๆ เอาไว้ เรียกว่าสำรวม อย่าเชื่อง่าย ตาเห็นรูปก็อย่าเพิ่งตัดสินใจ พอใจ ไม่พอใจ หูได้ยินเสียงก็อย่าเพิ่งด่วนไปพอใจไม่พอใจ สำรวมลงก่อน เรียกปาฏิโมกข์ เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อพระองค์อนุญาต อะไรที่ไม่ใช่…คุณประโยชน์ก็…เว้นซะ อะไรที่ไม่เป็นโทษก็…ทำตามไป เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันไป มาเห็นกายตามความเป็นจริง มาเห็นเวทนา เกิดกับกาย ตามความความเป็นจริง มาเห็นจิตที่มันเกิดขึ้น คิดหน้าคิดหลัง ท่องเที่ยวไปตามความเป็นจริง อย่าเอากายอย่าเอาจิตมาเป็นตัวสุขตัวทุกข์ เอามาให้การศึกษาเรา อย่าให้มันหลอกได้ สุขทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ มันหลอกเราเฉย ๆ ทุกข์กี่ครั้งก็ยังทุกข์อยู่ น่าจะฉลาดสักหน่อย โกรธกี่ครั้งน่าจะฉลาด ก็ให้หลอกอยู่ตลอดชีวิต ฉลาดตรงนี้ด้วย เห็นกายเห็น…เนี่ย…เวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ความเศร้าหมอง ความหมดจด มันเลือกได้ จนเห็นเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม มันกว้างขวางไม่จน ถ้าเห็นกายเห็นใจ มันจน มันแคบ มันมัดมือชกเรา ถ้าเห็นเป็นรูป เป็นนามนั่น มันกว้างขวาง เหมือนคนอยู่ในห้อง ถ้าไม่รู้เรื่องรูปเรื่องนาม ถ้าร้อนก็ร้อน ออกไปเดินรอบขอบสระดูมันคนละอันกันอยู่ในห้องนี้ ถ้าเดินอยู่ในห้องนี้ ในตึกนี้ ในศาลาหลังนี้ ในอาคารหลังนี้ ไม่เห็นข้างนอก ไม่เห็นข้างใน ในความสุขความทุกข์ มันอยู่ด้านในเกินไป น่าจะออกจากความสุขความทุกข์บ้าง เพราะว่ามันกว้างขวาง ถ้าเห็นเป็นรูป เป็นนามมันกว้างขวาง ถ้าเห็นเป็นกายเป็นใจมันคับแคบ หนีไม่ได้ หลีกหนีไม่ได้ ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วอะ…เปิดออก รู้แจ้งโลก เห็นรูปที่มันเป็นรูป มหาภูตรูป เป็นรูปที่อาศัยทำความดี เป็นรูปที่อาศัยละความชั่ว เห็นนาม…เป็นนามที่อาศัยละความชั่ว เป็นนามที่อาศัยให้ทำความดีได้สำเร็จ ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นกายเฉย ๆ เนี่ย มันเห็นทาง มันไม่พบทาง เรามีสติศึกษาก็เห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง เลยไม่ต้องเรียกว่ากาย ไม่ต้องเรียกว่าใจ เรียกว่าเป็นรูป เห็นกายเป็นรูป เวทนาไม่ใช่เรียกเวทนา เป็นอาการของรูป ไม่ใช่…เป็นตัวเป็นตน ถ้าเราไม่เห็นรูปเห็นนามเอาเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ ว่าตัวว่าตนเลยไม่เห็นทางซะ เมื่อเห็นรูปเห็นนามก็เห็นเป็นอาการ ของกาย ของจิต เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของเขา ไม่มีตัวมีตนอยู่ในรูปในนาม ตัดใจออก ถลุงออก เรียกว่าสิกขา สิกขาคือถลุง คือย่อยออก ไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน แต่ก่อนมันเป็นดุ้น ดีใจก็ดีใจไปเลย เสียใจก็เสียใจไปเลย สุขก็สุขไปเลย ทุกข์ก็ทุกข์ไปเลย พอมาเห็นแล้ว มันก็ไม่ใช่แล้ว เราเห็นมันแล้ว ไม่เข้าไปเป็นกับมัน มันคนละอันกัน เมื่อถอนออกมา รื้อถอนออกมา ถ้าแต่ก่อนมันเหมือนหน้าผา ชนความทุกข์ก็ ทุกข์ทันที ชนความสุขก็สุขทันที พอเห็นแล้วก็เห็น มันก็ลาดลงมาสักหน่อย ไม่ไปชนหน้าผา มีทางหลบทางหลีก เหมือนทางขึ้นเขา ทางที่จะขึ้นเขาได้ต้องลาดไว้ ถ้าเราลาดขึ้นมาได้ ชีวิตของเราที่จะผ่านสุขผ่านทุกข์ได้ ต้องลาด ๆ ไว้ มีสติ มีสัมปชัญญะ ดูหน้าดูหลังก่อน อย่าเพิ่งด่วนรับ อย่าเพิ่งด่วนปฏิเสธ เรียกว่าลาดไว้ ให้เอียงไป ไหลไปสู่มรรคสู่ผล ความสุขไม่เป็นสุข ความทุกข์ไม่เป็นทุกข์ มีแต่เห็น(เน้นเสียง)เข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนี้ ไม่ใช่ตัวใช่ตนเลย ไม่เอามาเป็นตัวเป็นตน เอามาเป็นสติปัญญา มันก็เบาบางลง ในที่สุดก็…พบทาง ชัดเจน เพราะเห็นแล้ว ถ้าเห็นก็พ้นภัย ถ้าไม่เห็นก็ยังมีภัยอยู่ ถ้าเห็นแล้วก็ไม่มีภัย หลุดพ้นขณะที่เห็นน้ำ เหมือนตาที่เราเห็นทาง เห็นงูก็ไม่ให้งูกัด เห็นหลุมก็ไม่ตกหลุม เห็นตอก็ไม่สะดุดตอ การเห็นเนี่ยมันปลอดภัย อันนั้นมันจะเป็นการเห็นรูป ที่เป็นดุ้นเป็นก้อน
ตาเนื้อเห็นสิ่งที่เป็นดุ้นเป็นก้อน ส่วนตาในคือสติสัมปชัญญะเห็นเป็นนามด้วย ทั้งรูปด้วย กายมันก็มีจริง สัมผัสร้อนหนาวมีจริง แต่ความร้อนความหนาว ไม่ใช่เรื่องของกาย เป็นอาการ ไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นอาการเกิดขึ้นกับกาย กายถ้าไม่มีความร้อนความหนาว มันก็ไม่ใช่กาย ถ้ามันร้อนมันหนาว เรียกว่ากายทำหน้าที่เป็นสัญญาณภัยของกาย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ บรรเทาเบาบาง กำหนดรู้ด้วยการรู้ กำหนดรู้ด้วยการบรรเทา กำหนดรู้ด้วยการละออกไป บางอย่างก็บรรเทา บางอย่างก็ละ บางอย่างก็รู้เฉย ๆ ละไม่ได้ เช่นเราหายใจเข้าหายใจออกนี่…ละไม่ได้ ต้องหายใจ กำหนดรู้ ด้วยการรู้ไป ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนก็ละไม่ได้ เมื่อตราบใดยังมีกายอยู่ก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง เมื่อตราบใดยังมีกายอยู่ก็ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ เมื่อตราบใดยังมีกายอยู่ก็ตกอยู่ในความไม่ใช่ตัวตน ละไม่ได้สิ่งนี้ ไม่มีใครเป็นใหญ่ได้ในกายใน…ในรูปนี้ มันก็…ไม่ฟังเสียงใครนะ ถึงเวลาร้อนก็ร้อน เวลาหนาวก็หนาว แล้วแต่เหตุปัจจัยของกายที่เกิดขึ้นกับภายนอกภายใน เราก็ดู…ก็ฉลาด กำหนดรู้ด้วยการละ…คือใจ คือนามธรรม บรรเทาไม่ได้ ถ้ามันโกรธ จะบรรเทาความ โกรธด้วยการด่ากัน ฆ่ากัน เพื่อจะให้หายโกรธ มัน…มันแบบนั้นไม่ได้ ต้องละทันที ละทันทีเหมือนไฟตกใส่ขาเราปัดออกทันที ไม่ต้องช้า เมื่อเราเหยียบไฟก็…ยกเท้าออกทันที ถ้าไฟถูกเรา ก็ปัดออกทันที อย่าไปถามหาไฟมาจากไหน ทำไม…ใครทำให้เรา...ไฟมาตกหาเรา ถามหาคนที่ทำให้ไฟมาถึงเรา มันก็ไหม้เรา ปวด เจ็บปวดอยู่นาที สองนาที สิบนาที วันหนึ่ง คืนหนึ่งก็มี ไม่รู้จักเอาออก เราก็เป็นทุกข์ ไม่ใช่หาเหตุหาผล อันความโกรธความทุกข์นี่ เหตุผลมันใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทันที เปลี่ยนออกทันที รู้จักเปลี่ยนร้ายเป็นดี เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ให้เป็นนักธรรม
มันก็เกิดอยู่ที่กายที่ใจเรานี้ ไม่ได้ไป…หาที่ใด เกิดทุกข์อยู่ที่ใจ ก็เอาใจนั่นแหละเป็นเรื่องไม่ทุกข์ เกิดทุกข์อยู่ที่กาย ก็เอากายนั่นแหละเป็นเรื่องไม่ทุกข์ ไม่ใช่วัตถุอื่นภายนอก เมื่อความร้อน…ที่กาย ก็ไม่ต้องไปหาเอาความเย็นที่เป็นสุข ร้อนไม่เป็นทุกข์ก็ได้ ให้กายให้ใจช่วยกัน ร่วมมือกัน สามัคคีกัน อย่าเบียดเบียนกัน กายร้อน ใจมันเย็น…บ้าง อย่างนี้ก็ช่วยกัน สามัคคีกัน ถ้าเราไม่เห็นรูปเห็นนาม ก็…ขัดแย้งกัน กายร้อน ใจก็ร้อน ซ้ำเติมกันลงไป
กายเป็นทุกข์ ใจก็เป็นทุกข์ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อกัน เป็นโทษต่อกัน ทั้งสองอย่าง ถ้าถูกสอนก็ถูกสอนทั้งสองทาง ถูกทั้งกายด้วย ถูกทั้งใจด้วย สำหรับพระอริยบุคคลเนี่ย ถูกเฉพาะเรื่องกาย ทางใจนี่ไม่ต้องถูกอะไรเลยตลอดชีวิต ไม่ว่าสุขว่าทุกข์เกิดกับใจไม่มีเลย มีแต่ธรรมชาติ อย่างนี้มันก็ปลอดภัยไม่มีภัย ก็อยู่เหนือการเกิดแก่เจ็บตายได้ ถ้าฝึกหัดไป ถ้าเราไม่ฝึกหัด ใจเป็นทุกข์ก่อน ถึงใจก่อน สุขก็ที่ใจก่อน ทุกข์ก็ที่ใจก่อน รองรับทุกอย่าง จากใจดี ๆ จะกลายเป็นใจที่…เสียศูนย์ไปหมดเลย เหมือนมีด มีดเป็นมีดดี ๆ เอาไปใช้ตะพึดตะพือ ก็เสียความเป็นมีดได้ จิตใจเราก็เหมือนกัน แต่ก่อนบริสุทธิ์อยู่ พอใช้สะเปะสะปะไปก็…เปรอะเปื้อนแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตของเรานี้…ประภัสสรผ่องใสมาแต่เดิม แต่สิ่งที่จรมา ทำให้จิตมันเศร้าหมอง ปะภัสสะระมิทัง ภิกขะเว จิตตัง ตญจะ โข อาคัน ตุเกหิ อุปักกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง เนี่ยภาษาคาถา แต่ถ้าเราจะแปลว่า ใจนี้…ประภัสสรผ่องใสเหมือนผ้าขาวสะอาด แต่สิ่งที่มาทำให้ผ้าเปรอะเปื้อนมันไม่ใช่ผ้า มันเป็นอาคันตุกะ มันจรมา ไปเปรอะไปเปื้อนกันไปมา ไปคิดสิ่งใดมา ไปย้อมสิ่งใดมา มันก็เปรอะเปื้อนไป แต่อันเปื้อนไม่ใช่ผ้า ซักได้อยู่ เปลี่ยนได้อยู่ สังขารา ปรมา ทุกขา ความเปื้อน เป็น…สิ่งที่มาเปรอะเปื้อน วิสังขาร ปรมัง สุขัง เอาออกได้อยู่ เอาออกได้อยู่
ถ้าเปลี่ยนความเปื้อนเป็นความไม่เปื้อน เป็นความสุขเป็นความชอบแท้ เราจึงอย่าให้มันมาเปื้อนได้ง่าย ๆ เกินไป เรารู้จักชำระออก จาคะออก ไม่มีที่ตั้ง จนไม่มีอะไร มีแต่เห็นไม่เป็นอะไร ถ้ามันชำนิชำนาญขึ้นก็…ไม่เป็นอะไรกับอะไร สุขก็ไม่เป็น ทุกข์ก็ไม่เป็น ไม่เป็นอะไรกับอะไร เป็นเรื่องของจิตใจ เมื่อไม่เป็นอะไรกับอะไรเนี่ยสูงสุดของชีวิต เพียงเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ใช่ใจ อาจจะยังตกต่ำอยู่ ลุกขึ้นมาจนไม่เป็นอะไรกับอะไรเลย
เหมือนเว่ยหล่าง…ก็…โศลกของอาจารย์…ว่า จิตใจนี้เหมือนกระจกเงา หมั่นเช็ดหมั่นถูอยู่เสมอ เว่ยหล่างบอกว่า…เมื่อไม่มีกระจกเงา ฝุ่นจะมาเกาะที่ใด
อันนี้สูงสุด มันจึงไม่มี ไม่เป็นอะไร…อย่างนี้ ต้องฝึกหัด ไปฝึกหัดอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับกาลเวลา ไม่เกี่ยวกับเพศ วัย ลัทธิ นิกายอะไรเลย มันคือกายคือใจเรานี้ จึงเป็นหลักสากลที่สุด มีสิทธิ ทุกชีวิต เอ้านะ ก็…ให้ได้ยินได้ฟังเอาไว้ ก็ให้ได้…รู้จักทิศทางเอาไว้ แม้ทำไม่ได้ก็โน้นละเด้อ(ลากเสียง) ให้เป็นนิมิตเป็นกระแส เรียกกระแสแห่งมรรคผลนิพพาน รู้จักทิศทางเอาไว้ แล้วก็เพียรพยายามไป ทัสสนานุตริยะ เห็นกระแส เห็นแล้วว่า ความหลุดพ้น ความไม่มีอะไร ในใจมีอยู่ เรียกว่า ทัสสนานุตริยะ เห็น(เน้นเสียง) แต่ยังไม่ไป แล้วก็มี ปฏิปทานุตตริยะ ก็เพียรพยายามก้าวไป หัดปล่อยหัดวาง หัดหยุดหัดเย็น วิมุตตานุตตริยะ ทำให้หมดไปได้ อันเนี่ย…นะ ก็ค่อยเลื่อนฐานะไปอย่างนี้ เรียกว่า ปฏิบัติธรรม