แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ยินดีต้อนรับสาธุชน ภิกษุ ภิกษุณี ทีมาจากประเทศจีนและพวกเราทุกคนที่เป็นคนไทย นี่คือวัดป่าสุคะโต สุคะโตแปลว่าผู้ไปดี มาดี อยู่ดี อะไรมองในแง่ดีหมด เพราะชีวิตของเรามันมีอะไรมากมาย เป็นสามัญลักษณะ ความไม่เที่ยง ความไม่ทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน เราต้องมองสิ่งเหล่านี้เป็นแง่ดี มองความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นแง่ดี เพราะเราจะได้วิวัฒน์พัฒนาตัวเอง ความยากก็ดี จะได้ลุย ๆ เสียหน่อย เข้มเข็ง ความอ่อนแอ จะได้แก่กล้า จึงมีแต่ประโยชน์ ในการใช้ชีวิตของพวกเรา แต่บางคน เอาความยากมาเป็นความอ่อนแอ ไม่กล้าทำ ไม่กล้าสู้ความยาก เอาความทุกข์ เอาความโกรธ โลภ หลง มาเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการดำเนินชีวิตของตนเอง กระทำชั่วไปตามอาการนั้น ๆ เสียท่าไปแล้ เราจะได้วิวัฒน์พัฒนาการตัวเอง เพราะเห็นอันสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เหมือนเราเป็นนักซ่อมแซม สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม การปฏิบัติธรรมเหมือนการซ่อมแซม อาจจะเปรียบเหมือนกับชีวิตของเรานี้ มันถูกชนมา เป็น…ถ้าเป็นรถก็เป็นรถมือสอง เคยเจ็บปวดมาแล้ว มีช้ำมาแล้ว ดีใจ เสียใจ ผิด ถูก ได้ เสีย สุข ทุกข์ ปล่อยแผลในการใช้งานกายใจ ของเรา เมื่อเรามามีสติ มาปฏิบัติธรรม มันเป็นการซ่อมให้มันดีขึ้น ฟิตใหม่ ในความผิดมันจะได้ถูก ในความทุกข์จะได้ไม่ทุกข์ ในความโกรธจะได้ไม่โกรธ ในความยากจะได้ไม่ยาก เรียกว่า…ดีกว่าเก่าก็ได้ แม้ว่าเราใช้อะไรก็ตาม มันอาจจะดีกว่าเก่าถ้าใช้เป็นนะ ถ้าใช้ไม่เป็นแม้ของดีก็เสียหายได้
ในชีวิตของเราเนี้ย แม้นว่ามันมีทุกข์ ความทุกข์นี่แหละ จะพาถึงสู่มรรคสู่ผลนิพพานได้ ความไม่เที่ยงนี่แหละ ที่เราเคยเสียใจร้องไห้ เพราะความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์ อันนี้แหละสำคัญ จะได้ถึงมรรคถึงผล เหมือนปุ๋ยที่มันไม่ดี มันจะได้งอกงามกับต้นไม้ ชีวิตของเรา เช่นกัน ใคร ๆ ก็เหมือนกันหมด อย่าท้อแท้ ในการวิวัฒน์พัฒนาตัวเอง อย่าท้อถอย อย่ายอม มันจะมีการชนะอันยิ่งใหญ่คือชนะตัวเองเนี่ย ไม่ใช่เอาชนะคนอื่น อันนี้ขอท้าทายที่สุดเลย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้จริง ๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เรื่องนี้จริง ๆ ไม่ได้วิเศษที่ตรงไหน เหมือนสามัญชนธรรมดาเหมือนพวกเราทุกชีวิตเนี่ย ก็เหมือนกันหมด จะเป็นคนชาติใด ภาษาใด อันเดียวกัน แต่ว่าสิ่งที่มันต่างกันเพราะเขาเปลี่ยน บางคนความโกรธ แม้เป็นอันเดียวกัน โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย หลงจนตาย แต่ถ้ามีวิวัฒน์พัฒนา พัฒนวิปัสสนาเกิดขึ้น มันก็…เปลี่ยนร้ายเป็นดี มันก็…ภูมิใจ เหมือนกับเรามีฝีมือ การงานอะไรต่าง ๆ อยากแก้ตรงที่มันผิด กระตือรือร้นมาก ถ้าเป็นนายช่างก็อยากแก้ประกาศเลย ขึ้นป้ายเลย ซ่อมแซม ถ้าเป็นช่างตัดผม เป็นช่างตัดเสื้อผ้า เป็นช่างจักสาน อยากแก้ อยากโชว์ฝีมือ ใครทำผิดมานี่ ๆ เป็นความสง่าราศี ตรงนั้นด้วย แก้ความผิดเป็นความถูกต้อง แก้ความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ เป็นความสง่าราศี มีศักดิ์ศรีของชีวิตเรา จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้หรอก ในโลกเนี้ยโดยเฉพาะเรื่องกาย เรื่องใจ ชนะหมด ทำได้หมด เราจึงอย่าทอดธุระเรื่องนี้กัน ยิ่งเป็นหนุ่มเป็นสาวยิ่งดีใหญ่ จะได้มีชัยชนะตั้งแต่ต้น ๆ ชีวิต ยิ่งมีอายุแล้วก็ยิ่งดีใหญ่ แสดงว่ามีบทเรียนเยอะ ๆ ประสบการณ์มากกว่าคนหนุ่มสาว คุยได้ เพราะเราเห็นอะไรหลายอย่างกว่าคนหนุ่มสาว อย่ามาคุยอวดเรา เรื่องทุกข์ก็อย่ามาคุยอวดเรา เราเคยลุยมาแล้ว อะไรที่มันทุกข์ ๆ สุข ๆ นะ ไม่ต้องอวดเรา เพราะเราเคยลุยสนามเรื่องนี้มา แหลกลาญมาแล้ว ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว เป็นเรื่องดีนะ ดีทุกอย่าง ชีวิตของเราถ้าศึกษา…ถ้าไม่ศึกษาไม่ดีอะไรเลย ไม่มีสิ่งใดดีเลยถ้าไม่ศึกษานะ เพราะงั้นเรา…ยกนิ้วเลย คนหนึ่งล่ะ ในโลกเนี่ย เราเป็นหนึ่งล่ะ เทียบไหล่กับทุกอย่างได้ ลูกพ่อนี้แม่นี้ เราคนหนึ่งล่ะ เอาปานนั้นล่ะ อย่าท้อถอย แล้วมันก็ทำได้จริง ๆ เรามีสติเราก็ทำได้ เรามีสติเราก็ทำไม่ได้ อันที่มันไม่ได้นะ มันก็ต้องมีได้ อันที่มันผิดน่ะ มันจะต้องมีถูก อันที่มันทุกข์น่ะ มันจะต้องไม่ทุกข์ อันที่มันหลงมันโกรธ นั่นแหละ มันจะต้องไม่ทุกข์ ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง อันที่มันมีแก่ เจ็บ ตาย นั่นแหละ มันจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อันที่มันมีสุขมีทุกข์ มันจะเหนือสุขเหนือทุกข์ได้ ลองดูสิ พระพูทธเจ้าไม่ได้…เลื่อน ๆ ลอย ตรัสไว้ดีจริง ๆ ปฏิบัติได้ให้ผลได้ ท้าทายอย่างนี้แล้ว หนึ่งวันเจ็ดวัน หนึ่งเดือนเจ็ดเดือน หนึ่งปีเจ็ดปี พิสูจน์กันเนี่ย เรื่องการเจริญสติเนี่ย ถ้าจะดูประวัติพุทธศาสนาต้น ๆ เนี่ย ในช่วงนี้แหละในรอบสองพันห้าร้อยเก้าสิบกว่าปีเนี่ย มันเกิดอะไรขึ้นในช่วงต้น ๆ ภายใน เจ็ดวัน ห้าวัน สิบวัน หนึ่งเดือน ถึงแปดเดือนเนี่ย วันเพ็ญเดือนแปดถึงวันเพ็ญเดือนสามเนี่ย เกิดพระอรหันต์ขีณาสพขึ้นในโลก ตั้งพันกว่ารูป พิสูจน์กันอย่างเนี้ย
เรื่องนี้จะให้มันหนีไปไหน เราก็มีสิทธิเหมือนกัน อย่าให้มันลอยไปไหน ชาติหนึ่งชีวิตของเราที่เกิดมานี้ อันนี้ล่ะเป็น…สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อการนี้โดยตรง…ชีวิตเรา พ่อแม่อุตสาห์เลี้ยงลูก แม่อุตสาห์ตั้งครรภ์ เลี้ยงเรามาก็เพื่อการนี้โดยตรง ให้มันคุ้มค่า จนตอบได้ว่า คุ้มค่าน้ำนมแล้วแม่เอ้ย(ลากเสียง) จน..ภูมิใจพูดออกมาได้อย่างสง่าราศี คุ้มค่าแล้ว คุณพ่อคุณแม่เอ๊ย คุ้มค่าพ่อแม่ที่เกิดเรามาแล้ว ลูกชายของพ่อของแม่คนนี้ ลูกสาวของพ่อของแม่คนนี้ ไม่เสียแรง หลวงตาเคยพูดกับอาจาย์โน้ส ตอนที่เราป่วย พอนอนตื่นขึ้นมา ก็บอกอาจารย์โน้สว่า บอกอาจารย์ตุ้มว่า คงไม่เสียแรงหรอก(อา)จารย์โน้ส(อา)จารย์ตุ้ม มันดีวันดีคืนขึ้น ก็ไม่เสียแรง ที่ดูแลเรา (อา)จารย์ตุ้ม (อา)จารย์โน้ส คุณหมู ไม่เสียแรงหรอก นี่หลวงพ่อว่า พ่อแม่เลี้ยงเรามา ก็ให้พูดกับตัวเองอย่างนี้ แม้นว่าพ่อแม่เราไม่มีแล้ว แต่เรายังภูมิใจว่าเรามี(เป็น)ลูกของพ่อของแม่คนเนี้ย แล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ มีห้านิ้วสิบนิ้ว มีกายมีใจเนี่ย จะต้องละความชั่ว ต้องทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็น…เอกลักษณ์ของเรา แม้นพ่อแม่ไม่มีแล้ว ก็ยังทำดี พ่อแม่ไม่มีแล้วก็ละความชั่ว มีจิตบริสุทธ์อยู่ ถ้าเป็นอุทิศก็อุทิศส่วนบุญกุศลนี้ให้พ่อแม่ตลอดเวลา อยู่กับเรา เลือดเนื้อ กระดูก สรีระ ร่างกายทั้งหมด เป็นของพ่อของแม่ที่ให้เรามา ใครเป็นลูกใครก็ต้องเหมือนคน ๆ นั้น เลือดกรุ๊ปเดียวกัน ใบหน้าใบตา เลือดเนี้ออันเดียวกัน ไม่ได้ห่างไกลกันเลย เราหลงไม่ได้ สงสารพ่อแม่ พ่อแม่ไม่อยากให้เราหลง เราทุกข์ไม่ได้สงสารพ่อแม่ พ่อแม่ไม่อยากให้เราทุกข์ เราโกรธไม่ได้ สงสารพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ต้องการให้เราโกรธ ไม่กล้าทุกข์ ไม่กล้าโกธร ไม่กล้าทำชั่ว นี่คือหัวใจของเรา ไม่ใช่เราคนเดียว ยิ่งพวกเราเนี่ย ก็เห็นอยู่อย่างเนี้ย มีภรรยาสามี มีลูกมีหลาน มีพี่มีน้อง มีเพื่อนบ้าน เพื่อนประเทศ นั่งอยู่เนี่ย มาจากไกล ๆ มาจากจีน มาจากที่ไหนเยอะแยะไปเลย มาบวชเนี่ย เสียสละมาถึงปานนี้ เราก็…จะทิ้งกันได้ทำไม ดูแลกันเนี่ย ช่วยกันเนี่ย อะไรที่มันผิดมันถูกบอกกันเนี่ย แล้วก็ไม่ใช่บอกเฉย ๆ ทำกันอยู่เนี่ย ให้มันดีกว่านี้ไปอีก หลายชีวิตที่ร่วมกัน พี่รู้สองน้องรู้หนึ่ง เหมือนกับสมัยพระพูทธเจ้า ลำพังพระองค์เดียว เมื่อเกิดสาวกขึ้นมา ต่างก็ช่วยพระองค์ การปกครองกัน อะไรต่าง ๆ การดูแล เป็นอธิการในด้านต่าง ๆ เจ้าอธิการในด้านเสนาสนะ แจกเสนาสนะให้ผู้มาอยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เจ้าอธิการอาหาร แจกอาหาร ให้ทั่วถึง ไม่หวง ไม่บริโภคคนเดียว เจ้าอธิการเครื่องนุ่งห่มจีวร แจกให้ทั่วถึงไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งขาดรุ่งริ่ง โบราณท่านว่า ไหน้อย ไหใหญ่ล้น ไหน้อยไม่เต็ม(หัวเราะ) ไหใหญ่ ไหใหญ่ล้น ไหเล็กไม่เต็มเลย เข้าใจมั้ย น้ำตุ่มใหญ่ ๆ โอ่งใหญ่ ๆ …ล้น(ลากเสียง) ฝนตกอะ แต่โอ่งน้อย ๆ ไม่เต็มเลย หกอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าโอ่งใหญ่เต็ม โอ่งเล็กไม่มีน้ำ ก็หมายถึงอะ…ผู้หลักผู้ใหญ่ เอาอะไรมาจนล้นเหลือแต่ผู้น้อยไม่มีอะไรจะกิน อันนี้มันก็ไม่ได้ ต้องให้ทั่วถึง เรียกว่าอธิการ กุฏิใครชำรุดทรุดโทรมเจ้าอธิการซ่อมแซม เจ้าอธิการคลัง…เจ้าอธิการคลังแจกอะไรต่าง ๆ ในส่วนรวม ของใช้ของสอย เป็นสังคมนิยม พระธรรมวินัยเนี่ย ไม่หวงไว้บริโภคคนเดียว เป็นของเราร่วมกัน มีสิทธิใช้เสมอกัน นี่ก็มีคนแก่ ดูแลคนแก่ให้ด้วย คิดซะว่าคนแก่ มาอยู่แออัดกันมาก บางทีวันพระวันศีล ห้องเดียวสี่ห้าคน คนแก่ต้องพิเศษกว่าคนหนุ่มนะ(หัวเราะ) คนแก่ต้องมีพิเศษสักหน่อย ดูแลความสะดวก บางทีคนแก่ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องอาศัยผู้หนุ่ม…คนหนุ่มให้ดูแล อันนี้…สิ่งที่เราอธิการ
ส่วนตัวความชั่วความดี เป็นส่วนตัวเรา ความสุขความทุกข์เป็นส่วนตัวเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นส่วนตัวของใครของเรา จะยอม มันก็ไม่มีใครช่วยเราได้ เราหลง…ถ้าเราไม่รู้ ไม่มีใครช่วยเราได้ เราทุกข์ เราไม่เปลี่ยนทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ ก็ไม่มีใครช่วยเราได้ อันนี้เป็นส่วนตัว จะร้องไห้กัน…ตามกันขนาดไหนก็ช่วยไม่ได้ เหมือนหลวงตานอนตายอยู่ในห้องไอซียู ญาติโยมยืนเกาะกระจกร้องไห้กันอยู่ ก็ช่วยเราไม่ได้ เพราะเราหายใจไม่ได้คนเดียว คนอื่นเขายังหายใจได้อยู่ ปวดท้องเราก็ปวดคนเดียว คนอื่นไม่ใช่ปวดให้เราได้ อันเนี้ย…เป็นเรื่องรีบด่วน เป็นเรื่องรีบด่วนกว่าเรื่องอื่น ชีวิตเราเนี่ย…เหมือนกับน้ำค้างบนยอดหญ้า นิดหน่อย หายใจเข้า ไม่ออก ก็หมดแล้ว หายใจออก ไม่เข้า…ก็หมดแล้ว แล้วยังจะมาประมาทอยู่ยังไง เราศึกษาเรื่องนี้กัน เรื่องอื่นเอาไว้ทีหลังก็ได้ เรื่องอัตตาธิปเตยยะ ปรารภตน…เอาไว้ก่อน เหมือนพระสิทธัตถะปรารภตน เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย ไม่ทอดธุระเรื่องนี้ ไม่ปล่อยทิ้ง ปรารภตน เราจะช่วยเรื่องนี้ได้ยังไง เราจะตอบปัญหานี้ได้ยังไง ถ้าเราไม่รับผิดชอบเรื่องนี้ ใครเล่าจะรับผิดชอบ พระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า พระเจ้าตา พระเจ้ายาย ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ สิทธัตถะจึงเสนอตัวเอง เรียกว่าอัตตาธิปเตยยะ รับผิดชอบครั้งนี้ตั้งแต่ อายุ 16 พรรษา เห็นเรื่องนี้ จนอายุ 29 พรรษา ไม่อดไม่รนทนไม่ได้ แม่ราหุลลูกเกิดใหม่ได้ 7 วัน ก็อดไม่ได้แล้ว ต้องไปเสียก่อน เพื่ออัตตาธิปเตยยะ ปรารภตนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้ หลวงตาก็เคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน สมัยมาอยู่นี่ใหม่ ๆ เป็นดงเลือดก็ว่าได้ ที่นี่อะ เถื่อนมาก ผู้ใหญ่บ้าน กำนันไม่มี ตำรวจ ทหารไม่มี อยู่กันแบบป่าเถื่อน เรามาเห็นเข้าก็ โอ้ย…ถ้าเราไม่อยู่นี่ ไม่รู้ว่าใครจะมาอยู่ ต้องอยู่นี่ล่ะ ก็…เสนอตัวเองนะ ก็อยากจะรู้ว่าอะไรมันจะทำได้หรือไม่ได้ อยากจะทำลองดู อันนี้ก็…อัตตาธิปเตยยะเหมือนกัน แต่มันก็มีเรื่องดี ถ้าอัตตาธิปเตยยะเป็น ธิปไตย อธิปไตย ธรรมมาธิปไตย แต่ถ้ามีอัตตาธิปเตยยะอย่างเดียวไม่ถูกต้อง ต้องมีโลกาธิปเตยยะซ้อนเข้ามาอีก เพื่อโลกไม่ใช่เพื่อส่วนตัว พระสิทธัตถะเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายนี่ ไม่ใช่ส่วนพระองค์ ส่วนคนอื่น จะช่วยคนอื่น แต่ช่วยคนอื่นได้ต้องมารู้เรื่องนี้ก่อน ถ้าจะรู้เรื่องนี้ ใครจะต้องเป็นคนรู้ ต้องเราเป็นคนรู้ก่อน เหมือนกับเราจะช่วยคนตกน้ำ เราต้องว่ายน้ำให้เป็นก่อน เรียกว่าอัตตาธิปเตยยะ โลกกาธิปเตยยะ แล้วเพื่ออะไร…เพื่อธรรม เมื่อมีความแก่ ต้องมีความไม่แก่ เป็นธรรมไหม เมื่อมีความเจ็บก็ต้องมีความไม่เจ็บ เมื่อมีความตาย ต้องมีความไม่ตาย แต่เป็นธรรมไหม ถ้ามีความแก่จะต้องยอมแก่หรือ…ไม่เป็นธรรม มีความทุกข์จะต้องเป็นทุกข์หรือ ยังไม่มีธรรม เมื่อมีทุกข์ก็ต้องมีไม่ทุกข์ ถ้าต้องมีโกรธก็ต้องมีไม่โกรธ ถ้ามีหลงก็ต้องมีไม่หลงแน่นอน มองเป็นคู่ แบบนี้เรียกว่า…เพื่อธรรม
อธิปไตย 3 ในชีวิตของเราให้มันดังก้องอยู่ตลอดเวลา เราจึงเข้ามาลำบากเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อเราเลย ไม่ใช่เพื่อเรา แล้วก็ให้มีอะไรทำ ไม่มีอะไรทำก็ทำส่วนตัว สนุกไปกับความรู้สึกตัว สนุกไปกับความหลง สนุกไปกับความยาก ถ้าไม่มีหลง ไม่มีอะไรยาก แสดงว่าคนนั้นไม่มีอะไรทำเลย ถ้าไม่มีผิด ถ้าไม่มีถูก ก็ไม่ได้ทำอะไร ต้องมีผิด ต้องมีถูก คนจึงจะเป็นคนที่ทำงาน อย่าเอาความผิดมาเป็นสิ่งอุปสรรค อย่าเอาความสุขมาเป็นความสะดวกมักง่าย มันจะมีค่าจริง ๆ มันผิดนั่นล่ะ…มีค่า มันทุกข์นั่นล่ะ…มีค่า จะได้…จะได้ประโยชน์จากมัน การเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง…เนี่ย เราจึง….ให้เห็น มาทำให้เป็น เวลามันหลง รู้ให้เป็น เวลามันโกรธ รู้ให้เป็น เริ่มต้นจากการศึกษาเรื่อง อธิปไตย 3 เปลี่ยนร้ายเป็นดี ขยัน ทำดี ขยันรู้ ก็เริ่มต้นจากความรู้ ตามรอยเพราะพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้ทำอะไรเลย ที่มาได้คำตอบเรื่องนี้ เพียงแต่มามีสติเห็นกายในกาย มันก็มีอยู่จริงกายเนี่ย มีสติไปในกาย ไม่ใช่ของหลอก กายมันก็มีอยู่เนี่ย ยกมือเคลื่อนไหวไปมาอยู่เนี่ย มันก็รู้อยู่เนี่ย มันก็หลงอยู่เนี่ย มีไหม มันหลงไหม มันหลงไปกับอะไร เอากายมาเป็นตัวเป็นตน มีบ้างไหม อะไรที่มันแสดงออกทางกาย ถ้าไม่หลงมีไหม ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย ความหิว หลงไหม เป็นผู้หิว หรือเป็นผู้ปวด เป็นผู้ร้อน เป็นผู้…อะไร เห็น หรือเป็น ถ้าเป็นล่ะ ไม่เห็น ไม่ใช่สติแล้ว ถ้าเห็นนั่นล่ะ สติ เห็นมันร้อน เห็นมันหนาว เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย เห็นมันหิว นั่นแหละ เรียกว่าสติ ไม่ใช่เป็นผู้ร้อน ถ้าเป็นผู้ร้อน เป็นกายในกาย เอากายมาเป็นตัวเป็นตนหลายชั้นเข้าไปอีก เกิดความทุกข์ เกิดความสุข เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ถึงใจโน้นล่ะ
เรามาเริ่มต้นตรงนี้ เนี่ย…พระพุทธองค์ก้าวแรก ก้าวแรกศึกษาเรื่องนี้ เคลื่อนย้ายตรงนี้ เหมือนกับเราเดินทางไปไหนต้องมีก้าวแรก จึงจะออกจากที่ได้ เห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นก้าวออกไปแล้ว ไม่เห็นกายเป็นกาย เห็นกายเป็นสุขเป็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นทุกข์ ยังไม่ก้าวไปไหน นี่เป็นการเริ่มต้นของสิทธัตถะ ศึกษาเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตายเนี่ย แม้พระองค์เคยเป็นเจ้าฟ้าชาย จบมาตั้ง 17 ศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องนี้ เราก็มีความรู้กันทั้งนั้น อยู่ที่นี่ ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรเลย ถ้าไม่มีความรู้อะไร…คงจะเป็นหลวงตาเนี่ย จบแค่…เรียนแค่ 3 ชั้น ป.1 ป.2 ป.4…ป.3 ไม่เรียนเลย อันเนี้ย…พวกท่านทั้งหลายก็รู้กันทุกคนแล้ว แต่อย่าเอาความรู้อันนั้นมาเป็นทิฐิมานะ แต่รู้จริง ๆ แบบพระพุทธเจ้าเนี่ย มาศึกษาเรื่องนี้กัน ของจริงอะ มีกาย สติเห็นกาย เอากายมาเคลื่อนมาไหวให้มันเห็น มันจึงจะเห็น ถ้าไปคิดเอา มันไม่สัมผัส การเห็นนี่เป็นการสัมผัส เอาไปจุ่มไปต่อกัน เอากายไปต่อเอาความรู้สึกตัว เอาความรู้สึกตัวไปต่อเอากาย เห็นกายอยู่เป็นประจำ เห็นกายอยู่เป็นประจำ อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกาย อย่าไปเป็นไปกับมัน ให้เห็นมัน จนเห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา นั่นล่ะ…ก้าวแรกไปแล้ว เอ้า…ไปแล้ว แต่ในกายมันก็ไม่ใช่กายอย่างเดียว มันมีเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ เอ้า…เห็นอีกนั่นแหละ อันเดียวกัน(เสียงสูง) หลักเดียวกัน อันสุข ทุกข์ ที่เป็นเวทนานั้น ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา น้่น…ก้าวที่สอง ไปแล้ว ผ่านกายไปแล้ว ผ่านเวทนาไปแล้ว เวทนาเป็นภาษาธรรม ภาษาอินเดีย เป็นภาษา…คนไทยเรียกว่า สุข ทุกข์…สุข ทุกข์…ภาษาไทย ภาษาอินเดีย บาลี เรียกว่าเวทนา ทุกขเวทนา สุขเวทนา ภาษาไทยเรียกว่า สุข ทุกข์ เท่านั้นเอง เห็นแล้ว ก้าวที่สองแล้ว ผ่านกายไปแล้ว ผ่านเวทนาที่เป็นสุข เป็นทุกข์ไปได้
ใช้สูตรเดียว เฉลยไปได้แล้ว สติ เห็นกายสักว่ากาย เห็นเวทนาสักว่าเวทนา มี…มีบทเรียนแล้วตรงเนี้ย ได้บทเรียนแล้ว ธรรมชาติสอนแล้ว อาการสอนแล้ว เห็นของเท็จ ของจริงแล้ว ต่อไปก็ไปเห็นจิตน่ะ…มันมี(เน้นเสียง)จิตเนี่ย มันคิดอะไรไปโน่น บางทีมันหอบหิ้วเราไป เกาะสีชังน่ะ..ใช่ไหม หอบหิ้วไปกรุงเทพ หอบหิ้วไปอยู่กับลูกกับหลาน มันหอบหิ้วเราไป บางทีจิตเนี่ย แม้มันไม่มีตัวมีตน มันก็มีอำนาจมีความเป็นใหญ่ได้ มีไหมจิตอะ ฮะ…แม่เพียร(โยมที่วัด) มีจิตบ่ นอนอยู่วัดนี่ มันไปนอนนำหลานน้อย ในบ้านโน่นล่ะ
เคยสอนครูคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรมเนี่ย ให้ยกมือสร้างจังหวะ เขาก็บอกว่าหนูเนี่ย…มายกมือสร้างจังหวะมันจะเรียนรู้ได้หรือเปล่าเนี่ย มันคิดถึงลูกเสียแล้ว หนูมีลูก 2 คน แฟนหนูตายไป รถอุบัติเหตุ หนูจะเลี้ยงลูกได้ไหมเนี่ย มานั่งยกมือสร้างจังหวะ ก็บอกว่าไม่ใช่มาคิดเรื่องลูก เวลานี้มาสร้างสติ การเลี้ยงลูกไม่ใช้ความคิด เป็นการกระทำโน่น ไม่ใช่มาคิดอะไร รักลูกก็ไม่ใช่มาคิด รักจนอาลัยอาวรณ์ รักพ่อ รักแม่ รักผัว รักเมีย ก็ไม่ใช่มาคิดจนอาลัยอาวรณ์จนเป็นทุกข์ ถ้ารักลูกก็ต้องทำตัวให้ดี รักพ่อรักแม่ ก็เป็นคนดี รักสามีภรรยาก็ต้องเป็นคนดี รักเพื่อนก็ต้องเป็นคนดี ปฏิบัติให้เป็นคนดี มีน้ำใจดี ไม่ใช่คิด อย่าเอาความรักมาเป็นความคิด เอาความคิดมาเป็นความรักมันไม่มีประโยชน์ ถ้ารักลูกก็ต้องเป็นคนดี เวลานี้ เราไม่ใช่มาคิดถึงลูก มาเจริญสติ เพราะเราอยู่ที่นี่แล้ว ลูกก็อยู่บ้านโน้น มันก็มีแต่ความคิดเฉย ๆ มันทำอะไรไม่ได้ ลูกเรามันก็ไม่รู้จักว่าแม่คิดถึงกันหรอก มันอาจจะสนุกสนาน แต่เราน่ะหลงเอง ไปหลงคิดนะ มันก็คิดอย่างนี้ จิตน่ะ เอ้า…เห็นมันละบัดนี้ เอ้า…จิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ตัวคิดมันมีอยู่สองอย่าง มันลักคิด ไม่อยากคิด มันก็คิด การคิดอีกแบบหนึ่ง…ตั้งใจคิด มันขี้เกียจ…อันตั้งใจคิดเนี่ย ไม่อยากคิดหรอก แต่ลักคิดน่ะ ตัวสำคัญนั่นน่ะ มันขยัน กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว มันขยันคิด กลางคืนว่าฝัน กลางวันว่าคิด มันคลุ้งอยู่ มีอำนาจ ป่าเถื่อน ความคิดแบบนั้นน่ะ ไม่ใช่อาศัยมันได้ บางทีมันคิดขึ้นมา น้ำตาไหลก็มี อันความคิดนั่นน่ะ คิดขึ้นมาแล้วหัวเราะก็มี ร้องไห้ก็มี คิดขึ้นมาแล้วรักก็มี คิดขึ้นมาแล้วชังก็มี ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่อะไรอันตรงไหน สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา อย่าไปเชื่อมัน ให้มีสติกลับมา เวลาอะไรที่มันคิดไป…รู้สึกตัว ถ้าเรารู้สึกตัวขณะที่มันหลงคิด เรียกว่าสอนจิตแล้ว ให้มันกลับมา ไม่ใช่…ไปตะพึดตะพือ มีจิตนี่จะคิดได้ทุกอย่าง ก็ไม่ใช่ อะไรก็คิดได้หมด ไม่ใช่เลย มันผิดประเภท ผิดปรมัตถ์ ผิดสมมุติ เหมือนมีด เอาหั่นผักไปฟันฟืน มันผิดสมมุติบัญญัติ มีดหั่นผักก็ต้องหั่นผัก มีดฟันไม้ก็ต้องฟันไม้ มีดใช้งานต้องใช้งาน เป็นสมมุติบัญญัติ ให้มันถูกต้อง
ความคิดนี่ก็เหมือนกันน่ะ คิดไม่เป็น บางคนมีจิตก็คิดไม่เป็น คิดลงโทษตัวเอง คิดรักคิดชัง ไม่ใช่…ไม่ใช่จิตใจของเรา มันจะพยศ เป็นอันตราย ทำตามความรัก ทำตามความชัง นางโมรายื่นดาบให้โจรฆ่าจันทโครพตายเพราะความรักโจร กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ความคิดที่เป็นโกรธ ความโกรธแม่ จนฆ่าแม่ตาย ความโกรธให้ทำชั่ว ความหลงทำให้ทำชั่ว เพราะเกิดจากความคิดนี่แหละ เห็นจิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ให้มันก้าวออกไป สอนมัน จิตเนี่ย ถ้าไม่สอนมันซุกซน มันดื้อ ถ้ามันดื้อยังพอสอนได้ ถ้ามันด้านนี่สอนไม่ได้ มีทั่วไปคนที่ด้านที่สุดนี่ สอนไม่เอา ในชีวิตเรามันก็มีความดื้ออยู่ ไม่ใช่คนอื่น ดื้อมันด้านอยู่ เวลาโกรธไม่รู้จักอาย หน้าด้าน ด่ากันได้ ท่วมบ้านท่วมเมือง คนหน้าด้าน(หัวเราะ) เคยไหม…เคยหน้าด้านไหม ชี้หน้าด่ากันให้อายคน…มีมั้ย หลวงพ่อเทียนว่า…ถ้าจะให้โกรธ ให้แก้ผ้าอ้อมบ้านยังดีกว่า อันแก้ผ้าอ้อมบ้านก็น่าอายอยู่แล้ว อันโกรธมันน่าอายกว่านั้น(เน้นเสียง) เนี่ย…มันเห็นจิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา…เนี่ย
จะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่เชื่อ จะทำตามพระพุทธเจ้าสอนหรือจะไม่ทำตาม ถ้าทำตามก็มีประโยชน์ พ้นไปได้ เนี่ย…ก้าวที่สาม ก้าวที่สามไปแล้ว ก้าวที่สี่อีก…เห็นธรรมสักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ธรรมคืออารมณ์เกิดกับใจ ครึ้มร้าย ครึ้มดี บางทีก็…เอ่อ…เป็นกุศล ฉลาด…กว่าคนอื่น สำคัญว่าดีกว่าเขา บางทีก็มีความสุข หลงอยู่ในความสุข บางทีก็มีความรู้ หลงอยู่ในความรู้ เป็นจินตญาณไปเลย คิดอะไรรู้ไปเลย นั่นเป็นธรรม…กุศล บางทีก็อกุศล ง่วงเหงาหาวนอนมาครอบงำ จิตมันก็ครอบงำกาย ฟุ้งซ่าน เบื่อหน่าย ยาก ๆ ยุ่ง ๆ หมู่นี้ไม่ดีเลย อารมณ์ไม่ดี อันโน้นอันนี้ นั่นน่ะ…อธรรม ไม่ใช้อารมณ์ อย่าเอาอารมณ์มาเป็นจิต บางคนเอาอารมณ์มาเป็นจิต เอาความโกรธมาเป็นจิต ทำตามความโกรธ ไม่ใช่เลย อารมณ์ไม่ใช่จิต มันสักแต่ว่าธรรมเฉย ๆ บางคนไปเอาความโกรธเป็นจิต เอาความรักเป็นจิต เอาความขี้เกียจเป็นความเบื่อความอะไรต่าง ๆ มาเป็นจิต ถ้ากูได้โกรธแล้ว ตายกูก็ไม่ลืม ถ้ากูได้โกรธแล้วกูไม่ได้ด่ากันไม่ยอม ถ้ากูได้โกรธแล้วกูไม่ได้ฆ่ามันกูไม่ยอม เอาอารมณ์มาเป็นจิตของตัวเอง ทำตามความผิดความคิดของตนเอง ผลที่สุดก็พลาด แก้ไม่ได้ ทำไปแล้ว โมราฆ่าจันทโครพเพื่อจะได้โจรมาเป็นสามีคนใหม่ เป็นคนสวยกว่า เมื่อจันทโครพตายไปแล้ว โจรไม่เอาโมรามาเป็นเมีย โมราก็คิดเสียดายจันทโครพ จะเอาคืนก็ไม่ได้แล้ว ตายไปแล้ว เนี่ย…มันผิดพลาดเพราะความหลงน่ะ อารมณ์นั่นแหละทำให้เราหลง ไม่ใช่จิต มีไหม…ผิดพลาดเพราะจิตมีไหม อะไรที่มัน….บางทีด่ากันทะเลาะกันแล้ว พอหายโกรธ อายกัน อายกันน่ะ บางทีทะเลาะกันแล้ว สามีภรรยาทิ้งกันแล้ว พอหายโกรธกลับคืนมาหากันใหม่ มันเป็นเช่นนั้นอย่างนั้นหรือจิตน่ะ อันนั้นล่ะเรียกว่าอารมณ์ นั่นล่ะว่าธรรมสักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ให้เห็นเนี่ย รื้อโครงสร้างมันเนี่ย โครงเรือนมันอยู่ตรงนี้แน่นอน ให้มันเห็นทั้งสี่อย่างนี้ จะได้เคลียร์ ๆ ซักหน่อย เบา ๆ บาง ๆ ลงไม่เป็นโครงสร้าง แต่ก่อนมันเป็นโครงสร้างมากแน่นหนามาก ตัวตนอยู่ในกาย ตัวตนอยู่ในเวทนา ตัวตนอยู่ในความคิด ตัวตนอยู่ในธรรมนี้ หนามากเลย เป็นปุ-ถุ-ชนไปเลย ปุถุ แปลว่า ผู้หนาเรื่องนี้ ถ้ามารู้เรื่องนี้ จะเป็นกัลยานปุถุชน เบาลงมาอีกซักหน่อย เบา ๆ บาง ๆ พอส่องเห็นอะไรได้ เนี่ยมันไปอย่างเนี้ย เราก็ได้บทเรียนจากสิ่งเหล่านี้ไป จนเห็นรูปเห็นนามเนี่ย มันอยู่ที่นี่ ถ้าเห็นรูป เห็นนามแล้ว กายก็ตาม เวทนาก็ตาม จิตก็ตาม ธรรมก็ตาม ไม่เป็นไปทั้งสี่อย่าง เป็นอาการ เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ต้องเรียกมันหรอกนี่ เป็นอาการ…เป็นอาการของกาย เป็นอาการของจิต ความโกรธเป็นอาการของจิต ความร้อน ความหนาวเป็นอาการของกาย อันเดียวกัน ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เป็นอาการ เป็นธรรมชาติ เป็นสัญญาณภัยของเขา ให้เราช่วยเขา ถ้าเขาทุกข์ก็ให้เขาไม่ทุกข์ด้วย ช่วยเขา ให้มันมั่นใจพึ่งตัวเองได้ สามารถเปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง สามารถเปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ สามารถเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธได้ ช่วยใจ ช่วยกาย อย่าให้เขาทุกข์ เวลามันทุกข์ที่กาย ให้มันเห็นความทุกข์ไม่ใช่กาย เห็นความแก่ไม่ใช่กาย เห็นความเจ็บไม่ใช่กาย ความแก่เป็นต่างหาก ความเจ็บเป็นเรื่องต่างหาก ธรรมชาติของเขา ไม่มีใครแก่ ใครเจ็บ มันจะแยกไป ๆ แยกไป ๆ จนเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปโน่นนะ
มันก็เรื่องนี้แหละ เบื้องต้นก็เรื่องนี้ ท่ามกลางก็เรื่องนี้ ที่สุดก็เรื่องนี้ เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตายเนี่ย พระพุทธเจ้า…สิทธัตถะก็ได้กระแสไป เหมือนเวลานี้ แสงเงินแสงทองทางทิศตะวันออก รุ่งอรุณขึ้นน้อย ๆ คล้าย ๆ อย่างนั้นนะ เห็นน่ะ…เอ้อ…มันเป็นทางไปเนี่ย มันเป็นสูตรอย่างนี้นะ ที่จะรื้อโครงสร้าง จน(เน้นเสียง)ในที่สุดพระองค์ก็…ตรัสออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ดังที่เราสวดเมื่อกี้เนี่ย อาจารย์ทรงศิลป์พาสวดเมื่อกี้เนี่ย ปฐมพุทธภาสิตคาถา ปะฐะมะพุทธะภาสิตะ…ปะฐะมะคือปฐม ปฐมคือครั้งแรก…หนึ่ง ถ้าปฐมคือหนึ่ง เอกะนี่ก็หนึ่ง หนึ่ง ครั้งแรก อย่างเจดีย์นครปฐม ทำไมจึงเรียกนครปฐม เพราะครั้งแรกพุทธศาสนามาประดิษฐานขึ้นที่ประเทศไทย มาสร้างเจดีย์ขึ้นอันแรกที่นครปฐม จังหวัดนครปฐม จึงได้ชื่อว่านครปฐม…ปฐมเจดีย์ เนี่ย..ปฐมภาษิตคืออันแรกที่พระองค์ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เมื่อก่อนนี้เรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นเอนกชาติ กายสังขาร เวทนาสังขาร จิตสังขาร ปรุงแต่งไป วจีสังขารปรุงแต่งไป บัดนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักลงแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อลงแล้ว จิตของเราถึงแล้ว ซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป นั่นน่ะ…มันรื้อออกมา อันความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ไม่ใช่เรื่องจิต รื้อออกแล้ว ตั้งแต่อยู่สุคะโตโน้น(หัวเราะ) จะได้มาไหม..รื้อออกแล้ว(ลากเสียง) ตั้งแต่อยู่สุคะโต (พ.ศ) 2552 โน่น พระพุทธเจ้ารู้เรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 36 ปี…36 พรรษา ยังเป็นหนุ่มอยู่ เรียกว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ทำไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรทำเลย ฉันไม่มีไม่เป็นอะไรกับอะไร…เลย
จะพอได้ไหม…ฮะ จะพอมีกระแสซักหน่อยไหม ฉันไม่มีไม่เป็นอะไรเลยนะ อาจารย์พุทธทาสพูดว่า…ทั้งวันฉันไม่ได้ทำอะไร ทั้ง ๆ ที่งานการเยอะแยะ ท่านภาวนาระลึกทั้งวันฉันไม่ได้ทำอะไรเลย…นะ ไม่ทำอะไรเลยเพราะมันมีแต่ธรรมชาติ การแก่ก็ไม่ใช่ชีวิต การเจ็บก็ไม่ใช่ชีวิต ฉันไม่ได้แก่ ฉันไม่ได้เจ็บ ฉันไม่ได้ตาย พุทธทาสไม่ตายยังอยู่คู่กับโลก
อือ…จนในที่สุดว่าปัจฉิมโอวาท สอนพวกเรา อย่าประมาท สังขารนี่มันไม่เที่ยงนะ มันไหลไป ไหลไป วันนี้ก็ไหลไปอีกแล้ว มันก็ไหลไปเฉพาะกาลเวลา…ไม่ใช่เท่านั้น มันเอาชีวิตเราไปด้วย มันเอาชีวิตเราผ่านไปด้วย อย่าประมาท ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ อย่าประมาทวัยหนุ่มวัยสาว อย่าประมาทในความสะดวกทรัพย์สิน เงินทอง หลงไหลในลาภยศ สรรเสริญเกินไป ถ้าสะดวกเรื่องทรัยพ์สินเงินทองก็เอามา…มาเป็นประโยชน์ในการบรรลุธรรม ถ้าคนจนก็บรรลุธรรมได้ยาก ถ้าไม่สะดวกอะ มัวแต่ยุ่งแต่ยากอยู่ บางทีก็…ถ้าใช้เป็นก็สะดวก บรรลุธรรมได้ทุกโอกาสเช่น เว่ยหล่างตำข้าว ผ่าฟืน เคยตำข้าวไหม ข้าวมันจะมีกระเดื่อง หางกระเดื่องเท่าเนี่ย ต้องเหยียบให้แม่นนะ บางทีไม่มีไฟ กลางคืนตำข้าวอะ มีไหม…ใครเคยตำข้าวไหม หางกระเดื่องมันน้อย ๆ ไม่ใช่ใหญ่เหมือนกระดานพื้นนะ แค่ฝ่าเท้าเนี่ย แล้วก็ไม่มีไฟ ต้องมีสมาธิ เหยียบกระเดื่องให้พอดี หลวงตาเคยตำข้าวนะ เหยียบหางกระเดื่องให้พอดี ถ้าเหยียบไม่ถูกก็…ฝ่าเท้าหลุย(หลุด) หางกระเดื่อง หางกระเดื่องมันคม ๆ มันจะบาดหน้าแข้ง บาดไปเลย ถ้าหลุดไปทางนี้ก็ไม่ได้ หลุดไปทางนี้ก็ไม่ได้ ถ้าไม่ถูกก็ไม่ได้ ต้องเหยียบพอดี ทั้ง ๆ ที่ตาไม่รู้ อาศัยมือดึงหลักขาก็เหยียบลง ๆ ให้พอดี ถ้าแรงเกินไปข้าวก็พุ่งออก บวกครกก็ไม่ใหญ่ สากก็ลงให้ตรง ๆ ถ้าเหยียบหนักทางนี้…มันก็…สากที่ตำข้าวก็ ควด(หลุด/เฉียด)ไปทางนี้ ข้าวก็กระเด็นออก ถ้าเหยียบมาทางนี้ สากมันก็ลงทางนี้ ทางนี้ก็กระเด็นออก ต้องมีสมาธิ เว่ยหล่างตำข้าวนะ…เอ้อ…มีสมาธินะ สนุกดี ไม่ได้คิดเรื่องใด ตำข้าวไป สนุกกับการทำงานไป สนุกการทำงานเบิกบานใจ พร้อมกันไปหลายส่ำมีค่ายิ่ง ได้งาน ได้บรรลุธรรมไป อีกอันหนึ่งก็ผ่าฟืน…เคยผ่าฟืนไหม ฝืนดุ้นใหญ่ ๆ ออกมาเป็นซอยดุ้นเล็ก ๆ ขนาดเนี้ย เอาขวานสับลงไปให้แม่นนะ…สับลงไปให้แม่น ถ้าสับไม่แม่นก็ไม่ถูก จะเอาตรงนี้ให้แม่น…สับตรงเดียวให้แม่น ถ้าสับคนละที่…ไม่แตก ถ้าสับให้ถูกที่เดียวกันเนี่ย ป๊าบลงไป ป๊าบไป ถูกที่เดียวกันซักสองสามทีมันก็แตกออก ซอยออกเป็นดุ้น ถ้าดุ้นใหญ่มันก็เข้าก้นหม้อนึ่งไม่ได้…เข้าก้นหม้อแกงไม่ได้ ต้องท่อนเล็ก ๆ อย่างใหญ่ที่สุดก็เท่าด้ามมีด เอ๊า…นั่นก็มีสมาธิ ไม่ใช่เรื่องเร็วนะ ผ่าฟืนตำข้าวเนี่ย เหมือนคนผู้เฒ่าเข็นฝ้าย กลางคืนไม่ต้องดูอะไร บิดปอ…หลวงตาก็บิดปอ จักตอก ไม่ต้องดู จักตอก เหลาตอก ไม่ต้องดู มันสัมผัสไป มันเรื่องดีนะ
เพราะฉะนั้น การทำงานนี่…อย่าถือว่าเป็นเรื่องทุกข์เรื่องยาก เรามาทำอันนี้ก็จะยิ่งดีนะ มันจะมีความผิดพลาดอยู่ ความยาก ความผิด ความถูก ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมเยอะแยะเลย ปวดขาหน้าแข้ง แต่ว่าตำข้าวยากกว่านี้ เว่ยหล่างตำข้าวยากกว่านี้ เรามานั่งยกมือเนี่ยมันจะยากอะไร เอ้า…วันนี้ก็สมควรแก่เวลา พูดอะไรไปไม่มาก แค่(เน้นเสียง)นี้แหละ