แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องของคนก็คือเรื่องของศาสนา เรื่องของคนก็คือเรื่องของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ถ้าเราศึกษาเรื่องของตัวเราให้มันจบ เราก็จะไม่มีปัญหาในการศึกษาหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเรา ที่จะเป็นการเริ่มต้น ก็เคยได้พูดอยู่เสมอว่าก็คือการที่มาปฏิบัติธรรมทำกรรมฐานเจริญสติ อุปมาเหมือนกับเรามากินยาอายุวัฒนะ หรือกินโอสถที่จะรักษาโรคให้มันหายเราเจ็บหัวปวดท้องเป็นโรคภัยไข้เจ็บเราก็กินยาทานยา หน้าที่เราก็เคยกินยาและทานยา ส่วนยานั่นมันจะไปทำลายสิ่งที่ตรงกันข้ามเกิดโรคภัยไข้เจ็บตัวโรคที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเราทำกับมันไม่ได้ทุกมื้อ โดยวัตถุสิ่งใดเหมือนกับเราไปซ่อมเครื่องยนต์กลไก อาศัยการกินยาทานยาเข้าไป หน้าที่ของยาก็เข้าไปรักษาโรคอันนั้น ตามตำรับตำราของเขาก็ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหาย หายได้ ปลอดภัยจากโรค จะมีความสุขความปกติ การที่เรามาเจริญสตินี้ก็เช่นกันนั่นล่ะ สติตัวนี้สติสัมปชัญญะตัวนี้เป็นยาคุมกำเนิดของทุกข์ทั้งปวง เวลาเรามีสติ หรือสร้างสติเข้าไปมากๆ จนเป็นธรรมชาติเป็นกฎของธรรมชาติ เข้าไปเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นธรรมชาติของรูป เห็นธรรมชาติของนาม เห็นอาการของรูป เห็นอาการของนามธรรม เหมือนกับเราเห็นแหล่งโจร เห็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเรา มันก็ตรงกันข้าม เช่น ความโกรธ ความโลภความหลง นี่มันจะหมดไป เราไม่ได้ไปอด เราไม่ได้ไปทน เอาความโกรธความโลภความหลงหมดออกไป หรือเบาบางลงจิตใจที่เป็นเจ้าสังขารชอบปรุงชอบแต่ง ครุ่นคิด เศร้าหมอง วิตกกังวล สะดุ้งผวา สิ่งเหล่านั้นจะหมดไป เมื่อสิ่งเหล่านั้นหมดไป หรือจางคลายลงเป็นวิราคะ สังขารก็ไม่มีอำนาจความโกรธความโลภความหลงมาบังคับจิตใจไสส่งให้เราเป็นทุกข์ไม่มี มีก็น้อยที่สุด ก็เหมือนกับเรา โลกของเรากำลังจะหาย วันดีคืนดีเราก็รู้ว่าเราหายเจ็บไข้ได้ป่วยหรือยัง เราก็รู้แต่ตัวเราเอง รู้แต่ตัวเราเอง โรคภัยไข้เจ็บหมดไปแค่ไหนเพียงไรสุขภาพก็ดีขึ้น เดินได้ทานอาหารได้นอนได้ถ่ายได้ดีวันดีคืน ฉันใดก็ดีการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน โรคก็คือภาวะที่ทำให้เราเกิดทุกข์ เริ่มให้เราลังเลสงสัย ให้รู้ว่าเกิดมาทำไม บุญคืออะไร บาปคืออะไร ศาสนาคืออะไร พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์คืออันใด มรรคผลนิพพานคืออันใดเราไม่รู้ แต่พอเรามีสติเข้าไปมากๆ ทำลายสังขารเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร ทำลายอกุศลและทำเป็นกุศลธรรม ทำลายอกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม ทำลายความเห็นผิดกลายให้เป็นความเห็นถูกขึ้นมา มันก็เป็นรุ่งอรุณเหมือนกับแสงเงินแสงทองขณะนี้ มองชีวิตก็ชัดเจนขึ้น รู้เรื่อง รู้ราว รู้ตัวเองได้คำตอบมากขึ้นๆ บุคคลที่มีลักษณะอย่างนั้น ใครจะเป็นผู้รับรอง ไม่มีใครเป็นผู้รับรอง รู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตังๆ สิ่งไหนหมดออกไปก็รู้ว่ามันหมด สิ่งไหนที่ไม่เคยมีมันเกิดมีขึ้นมา ใจสะอาด ใจบริสุทธิ์ ใจสงบเยือกเย็น เกิดมีขึ้นมา เราไม่เคยได้สัมผัสกับลักษณะเช่นนี้มาก่อน เกิดมีขึ้นแก่ตัวเรา เราก็รู้แก่ตัวเราเอง รู้เองเห็นเองจริงๆ มีอานิสงส์จริงๆ หายโรคภัยไข้เจ็บได้จริงๆ ก็มีความเชื่อมั่น โอ้ การที่มาเจริญสติปัฏฐานเราสร้างอันนี้ แต่สิ่งนั้นมันทำไมหมดไป มันก็เป็นธรรมชาติ ไม่นึกว่ามันจะทำให้ความโกรธความโลภความหลงหมดไป แต่ความเป็นจริงมันหมดไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเราทำถูกที่ถูกทาง ถ้าความโกรธความโลภความหลงหรือสังขารทั้งหลายหรือนี่ไม่หมดจากชีวิตจิตใจเรา คนนั้นไม่สุขแน่นอน จะมีเงินมีทองจะมีอะไรก็ตาม ถ้ายังมีสังขารเป็นเจ้าการ เป็นผู้มีอำนาจชอบปรุงชอบแต่งครุ่นคิด ไม่มีความยับยั้งชั่งจิตไม่มีสุข ไม่มีความสุข ชีวิตของเราทั้งชาติไม่มีความสุข แต่พอทำลายความโกรธความโลภความหลงหมดไป ไม่ต้องหาความสุขมันมีมาเอง เวลาเราซักผ้าถ้าความสกปรกหมดไป ความสะอาดมันก็มีขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ มันเป็นของตรงกันข้าม มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นนี่สิ่งที่จะทำให้เรามีคุณมีค่า เราก็มาเริ่มต้นกัน มาเจริญสติสัมปชัญญะเจริญสติสัมปชัญญะให้มันมีมากๆ กินลงไปสร้างลงไป ทำให้มีขึ้นมากๆลองดู มันจะเป็นอย่างไรไม่ต้องไปคิดก่อน ไม่ต้องไปรู้ก่อน ไม่ต้องไปเป็นก่อน ให้กรรมตัวนี้จำแนกไป เหมือนกับเราเป็นเด็กเล็กสมัยก่อนพ่อแม่ให้เล่าให้เรียนก็ไม่ต้องไปคิดว่ามันจะเป็นอะไรจะได้อะไร ไม่ต้องไปคิด หน้าที่เราก็เล่าเรียนร่ำเรียนไป ก็เกิดความรู้ขึ้นมาก็คิดได้เขียนออก อ่านออกเขียนได้ ก็แตกฉานไปเอง เหมือนกับศิลปกรรมหัตถกรรม ที่เราศึกษาเล่าเรียนมา วิชาการใดสาขาใด ถ้าเราได้ทำวิชาที่เราเล่าเรียนมาก็ทำได้ ให้ได้สำเร็จประโยชน์ การเจริญสตินี่ การเจริญสติสัมปชัญญะมันเป็นเครื่องดับทุกข์ก็ว่าได้ ทุกข์นี่เราบางคนก็อาจจะบอกว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมไม่ได้หรือ ไม่เห็นมีทุกข์อะไร ไม่เห็นมีปัญหาเรื่องใด ก็อยู่ดีมีสุขอยู่ๆ ไม่เห็นมีทุกข์ที่ไหน บางทีเราอยู่กับความทุกข์ไม่เห็นทุกข์ อยู่กับความคิดไม่เห็นคิด
ถ้าเรามาดูจริงๆ มันก็มีปัญหาอยู่นั่นแหละ เช่นตาหูจมูกลิ้นกายใจรูปรสกลิ่นเสียง เช่นใจบางทีก็ไม่มั่นไม่คง คุ้มร้ายคุ้มดี บางทีก็โกรธบางทีก็หลง บางทีก็คิด สิ่งเล็กๆน้อยๆที่มันยังไม่แสดงออก แต่ถ้าเมื่อใดที่มันแสดงออกเต็มที่เราจะเอาไม่อยู่ เราจึงว่ายามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่มันเกิดขึ้นมาเราจะไปสู้มันไม่ได้ ถ้ามันใหญ่โตขึ้นมาเราสู้ไม่ได้ เรารบไม่เป็นๆ บางทีเราพลัดพรากจากของรักของชอบชอบใจปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เกิดความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจจะเป็นยังไงเมื่อใดมันไม่บอก เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาถึงเราก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาญาณที่จะเข้าไปสู้ๆ บางทีจิตใจเราไม่เหมือนเก่า วันนี้ก็คิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ก็คิดอย่างหนึ่ง ตอนเช้าตอนสาย สิ่งที่เราเกี่ยวข้องจะเป็นวัตถุสิ่งของสิ่งแวดล้อมไรต่างๆ มันมั่นคงหรือเปล่า นี่อย่าประมาท เพราะฉะนั้นต้องศึกษาต้องปฏิบัติธรรม ให้รู้ก่อนมันซะ ให้เห็นก่อนมัน เมื่อใดที่มันแสดงออกเราก็รู้ก่อนมันแล้ว เมื่อมันแสดงออก เออ รู้แล้ว จะเป็นลาภเป็นยศเป็นสรรเสริญเป็นนินทาเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นได้เป็นเสีย ซึ่งเป็นสมบัติของโลกนี่ แต่ถ้าเรารู้ก่อนเมื่อสิ่งนั้นมันแสดงออกมา ก็รับได้ตอบได้ให้คำตอบได้ไม่จนตรอก แต่นี่เราจน ไม่ได้จนทรัพย์สินเงินทอง ไม่ได้จนหมู่มิตรเพื่อนฝูงที่อยู่อาศัย แต่เรามีความจนอันหนึ่งคือจนต่ออารมณ์ๆ อารมณ์มาสั่งงานให้เราได้ สั่งให้คิดชั่วโมงสองชั่วโมงวางไม่เป็นเย็นไม่ได้ สั่งให้โกรธ สั่งให้หลง อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้แสดงว่าเรายังไม่มีอิสระ ยังเป็นทาสของสิ่งต่างๆอยู่ ยังไม่ได้ไถ่ถอนไม่เป็นอิสรภาพ ยังตกเป็นทาสของสิ่งเล็ดรอดของอารมณ์อยู่ ถ้าอย่างนี้ไม่ปลอดภัยๆ เราจึงมาศึกษา มาปฏิบัติ ที่พูดว่าความโกรธความโลภความหลงเพราะว่าความโลภบางคนจะเข้าใจว่าทำมาค้าขายได้เงินได้ทองมากๆ กอบโกยเอาเงินเอาทอง ไม่รู้จักเพียงไม่รู้จักพอ ถือเอาเพียงวัตถุอย่างเดียวเป็นความโลภ แม้นว่าเราทำมาด้วยความบริสุทธิ์เป็นสัมมาอาชีพ ก็ยังไปเข้าใจว่าเป็นความโลภ สมมุติว่าเราเล่าเราเรียนจบปริญญาตรี อยากได้ปริญญาโท ก็ตั้งใจเรียนจนได้ปริญญาโท ตั้งใจเรียนจนได้ปริญญาเอก ตั้งใจเรียนจนได้ด็อกเตอร์ ก็ถือว่าเป็นความโลภ อันนั้นไม่ถูกๆ ความโลภคือมันเบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนคนอื่น จะเป็นวัตถุก็เบียดเบียนตนเองเบียดเบียนคนอื่น จะเป็นนามธรรมก็เบียดเบียนตนเองเบียดเบียนคนอื่น ส่วนมากความโลภที่มุ่งเข้าไปสู่ก็คือนามธรรม โลภเอาอารมณ์ สมมุติความโกรธเราไม่รู้จักวาง เค้าว่าแต่เราๆ กูไม่ยอมๆ กูจะต้องทำมันให้ได้ เอาความโกรธมาอยู่ด้วยข้ามวันข้ามคืน ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง วางไม่เป็น หยุดไม่เป็น นี่เรียกว่าความโลภ ทั้งๆที่เราไม่ได้ไปโลภเอาวัตถุอันอื่น แต่มันโลภด้วยอารมณ์ โลภอารมณ์วางไม่เป็น เค้าว่าแต่เราๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องแก้กันต้องทำให้มัน เอาอารมณ์นั้นมาอยู่ด้วยหลายวัน นี่ความโลภไม่เย็นไม่หยุด ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง ถ้าเราไปทำมาหากินโดยสุจริตทำมาค้าขายเล่าเรียนจนได้เครื่องตอบแทนมีเงินมีทองนี่ไม่ใช่ความโลภ ไม่ได้เบียดเบียนใคร เป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรม กิเลสบางคนก็ไปเข้าใจว่ามีลูกมีเมียมีทรัพย์มีสินมีไร่มีนาทอดทิ้งไม่ได้ละไม่ได้ หาว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลส กิเลสไม่ใช่เป็นวัตถุสิ่งของ กิเลสหมายถึงเครื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ถ้าสิ่งเหล่านั้นนั่นจะเป็นวัตถุกามคุณเฉยๆ แลเกี่ยวข้องกับมันเป็นไม่เป็นกิเลส มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดวก เช่น เรามีรถ มีเรือ มีความรู้หากินง่าย มีสติปัญญา มีความสะดวกแก่ตัวเอง ไม่ใช่เป็นกิเลส กิเลสก็คือเครื่องเศร้าหมอง ทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง อันใดที่ทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง อาจจะเป็นวัตถุที่เราไปสมมติบัญญัติคิดขึ้นมา ก็กลายเป็นกิเลส ถ้าเป็นวัตถุเฉยๆไม่ได้สมมุติไม่ได้บัญญัติ ไม่ได้มีอุปาทานไม่ได้เข้าไปยึดไปเกี่ยวข้อง ก็วางเป็นหยุดเป็นละ หรือว่าปล่อยวางเป็น ถ้าว่าปล่อยวางนี่ไม่ใช่ทอดทิ้งนะ ถ้าทอดทิ้งนี่เป็นเรื่องนึง ศาสนานี่หลักธรรมคำสอนไม่ได้สอนให้เราทอดทิ้ง มีลูกมีเมียมีทรัพย์มีศีลมีหมู่มิตรเพื่อนฝูงไม่ได้สอนให้ทอดทิ้ง สอนให้ทอดทิ้งมันไม่ถูก สอนให้ปล่อยวาง มีอยู่รับผิดชอบอยู่ แต่ว่ารู้จักปล่อยรู้จักวาง วางในที่นี้หมายถึงทางด้านจิตใจให้รู้จักวาง อย่าไปยึดอะไรจนวิตกจนสะดุ้งจนผวา วิตกกังวล ทำใจให้มันเป็น อันนี้ไม่ได้สอนให้ทอดทิ้ง มีลูกมีหลานมีเพื่อนมีมิตรมีบุตรภรรยาสามี ให้รู้จักวาง ให้รู้จักพอ อย่าให้มันหนัก อย่าวิตกกังวล คนหนึ่งที่ท่ามะไฟหวานเป็นเอามากๆ บางทีวิตกกังวลกลัวลูกจะหนี กลัวลูกของฉันจะเป็นอย่างไร สามีของฉันนั้นไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับฉันตลอดไปหรือเปล่า หลวงพ่อจะมีวิธีอันใดที่จะพูดให้เขาเข้าใจ ให้ลูกให้สามีได้อยู่กับฉันตลอดชีวิตตลอดภพตลอดชาติจนเป็นประสาท วันหนึ่งหลวงพ่อกำลังแสดงธรรมตอนเช้ามืดตี 5 ก็เดินขึ้นไปหาหลวงพ่อที่กุฏิ ซึ่งหลวงพ่อไม่เคยมีคนเช่นนั้นขึ้นมา ก็เป็นเรื่องแปลก ก็นั่งอยู่กับอาจารย์บุญธรรมเนี่ยที่นั่งอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็เลยหยุดพูดเรื่องอะไร เค้าก็เข้าไปหาอาจารย์บุญธรรมเนี่ย หลวงพ่อก็ฟัง หลวงพ่อก็เลยหยุดพูดก็ถาม อะไรล่ะ ก็เลยกลับมาหาหลวงพ่อ มาพูดกับหลวงพ่อพูดว่าฉันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร พ่อของเด็กนี่ไม่รู้ว่าจะอยู่กับฉันได้หรือเปล่า ลูกของฉันไม่รู้จะอยู่กับฉันได้หรือเปล่า ฉันเป็นทุกข์ หลวงพ่อจงแผ่เมตตาให้สามีของดิฉันได้เข้าใจดิฉันได้อยู่กับฉัน คิดวิตกกังวลเป็นประสาทๆ บางวันนี่ปรุงแต่งขึ้นมาทำให้ระแวงว่าสามีของเขาจะไปมีเมียเป็นคนใหม่ มีแฟนเป็นคนใหม่ ก็ทะเลาะวิวาทกันไป นั้นไม่รู้จักปล่อยจักวาง ยิ่งยึดยิ่งถือยิ่งมืดยิ่งหม่นเข้าไป ยิ่งวิตกกังวลยิ่งสะดุ้งยิ่งผวายิ่งปรุงยิ่งแต่งมากขึ้นๆ
เพราะฉะนั้นเนี่ยแม้นว่าความคิดหรือตัวสังขารนิดๆหน่อยๆ อย่าให้โอกาสแก่มัน อย่าให้โอกาส มีสติก็ไปเข้าไปรู้ ล้าง เช็ด ถู ประหารเลยทีเดียว เรียกว่าปริญญาก็ได้ ปัญญาในทางธรรมก็เรียกว่า ญาตปริญญากำหนดรู้ด้วยการรู้ ติรณปริญญากำหนดรู้ด้วยการแจกแจง โอ อันนั้นคือความคิด นั่งอยู่นี่คือรูป เชื่อมันไม่ได้ความคิดนะ มันคิดเรื่องใดขึ้นมาจะเชื่อมันทั้งหมดไม่ได้ ถ้ารู้จักทักท้วงความคิดของตนเอง เรียกว่าญาตติรณปริญญา แจกแจง นั่งอยู่นี่เป็นรูปธรรมคิดอยู่นั่นคิดไปนู่น เป็นนามธรรม รู้จักตัวสติเป็นผู้ดูเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็น นี่เรียกว่าติรณปริญญา ปหานปริญญารู้จักละเสีย ให้เร็วให้ไวที่สุด เหมือนกับไฟที่มันตกใส่ขาใส่เนื้อใส่หนังของเรา ปัดออกให้ไว เช็ดออกให้ไว แต่ไม่ได้ไหม้ตัวเรา ถ้าเราประมาทปล่อยให้มันไหม้มันเจ็บเป็นแผลรักษาหลายวัน อันเจ้าสังขารคือความคิดปรุงแต่งจนนอนฝันจนสะดุ้ง ระวังให้ดี ต้องมีสติเข้าไปกำกับทันที อย่าประมาทต่อไปมันจะด้าน คิดไปคิดไปจนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจัง จนปรุงจนแต่งจนมีอุปาทานเข้าไปยึดเอา พอเกิดอะไรขึ้นมาก็หลงภพหลงชาติหลงตัวหลงตนเข้าไป เพราฉะนั้นนี่มีสติสัมปชัญญะ ดูกายดูใจ สิ่งที่กำหนดรู้ก็รู้ สิ่งที่แจกแจงก็แจกแจงออกไป สิ่งที่ปหานสิ่งที่ละก็ละให้ไวให้เร็วด้วยวิธีที่เราปฏิบัติธรรมการเจริญสติ หลวงพ่อใหญ่หลวงพ่อเทียนเคยพูด ดูตัด ดูตัด พอเห็นแล้วก็ตัด นั่นน่ะที่จริงเขาว่าตัดก็คือมีสติเข้าไปรู้ สิ่งเหล่านั้นก็หมดลงๆ คล้ายๆกับว่าตัด พอมีสติความคิดมันก็หยุด พอมีสติความคิดมันหยุด ความคิดเกิดขึ้นมามีสติความคิดมันหยุด มันก็ยังไม่ถึงความโกรธ เพราะความโกรธมันเป็นผลงานของความคิด ความโลภมันเป็นผลงานของความคิด ความหลงมันเป็นผลงานของความคิด กิเลสตัณหาราคะโทสะเป็นผลงานของความคิด ตัวคิดเนี่ยเป็นเจ้าการ เป็นตัวสังขาร เป็นผู้ก่อหวอดขึ้นมาเป็นตัวคิด ความคิดนี่ก็เคยพูดอยู่เสมอว่ามีสองอย่าง อันหนึ่งมันรักคิด ไม่อยากคิดมันก็คิด นี่ตัวการ อันหนึ่งคือตั้งใจคิด คิดมันจบเป็น ไม่มีใครอยากคิดถ้าตั้งใจคิด ไม่มีใครอยากคิดอยากจะมอบให้คนนั่นคิด ให้คนนั้นแหละคิด ฉันไม่คิดหรอกให้คนนั้นแหละคิด คิดเรื่องงานเรื่องการ คิดเรื่องเทคโนโลยี คิดเรื่องเทคนิคต่างๆ การทำงานการอะไรต่างๆ แต่ตัวรักคิดนี่ขยันมาก ไม่อยากคิดมันก็คิดไหลไป นี่ตัวสังขาร วันเมื่อวันวานพระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้น พูดออกมาคำแรกว่านี่หรือ (อะเนกะทาติสังสารัง สันทาติสังอะเนติสัง) แต่ก่อนเรายังไม่พบดาวหยั่งรู้ เราก็ได้วิ่งท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ ใช้กับความคิด นั่งก็คิด นอนก็คิดไป บัดนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำอะไรให้เราไม่ได้อีก โรงเรือนของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงสภาพที่ไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป เป็นคำพูดออกมาเป็นคำอุทาน ไม่ได้ไม่มีใครฟัง เป็นอุทานออกมาจากจิตใจของพุทธองค์ เพราะเห็นสิ่งเหล่านี้แหละ เพราะฉะนั้นนี่สิ่งที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็คืออะไร เจริญสตินี่แหละ มาสร้างสติ มาสร้างสัมปชัญญะตัวนี้ ดูกายดูใจซึ่งเป็นต้นตอของสิ่งทุกสิ่ง จะเป็นโกรธความโลภความหลง จะเป็นกุศล จะเป็นอกุศลก็ตั้งต้นที่กายที่ใจ ถ้าเราไม่รู้แล้วแต่ว่ามันจะเป็นอย่างไง แล้วแต่เหตุปัจจัยว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้มันก็ไม่มีสิทธิ์ เพราะเราเพราะกายใจมีเจ้าของ ทีนี้กายของเราไม่มีเจ้าของ จิตใจไม่มีเจ้าของ เป็นของเถื่อนเป็นสาธารณะอยู่ แล้วแต่อะไรจะมาสั่งเอาทั้งนั้น สั่งให้โกรธก็โกรธ สั่งให้หลงก็หลง สั่งให้รักก็รัก สั่งให้ฆ่าก็ฆ่า สั่งให้ด่าก็ด่า ปลอดภัยหรือเปล่า เราเป็นอย่างนั้นปลอดภัยหรือเปล่า น่าเชื่อตัวเองหรือเปล่า นั่นเรียกว่าสาธารณะ เหมือนกับคนไม่มีเจ้าของ บ้านไม่มีเจ้าของ เป็นคนจรจัด เค้ามาใช้อะไรก็เป็น ถ้าเป็นก็เรียกว่าโสเภณี ไม่มีเจ้าของใครจะหิ้วไปไหนก็ได้ จิตใจเป็นโสเภณี ไม่มีเจ้าของ เขาจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ไปอยู่กับความโกรธข้ามวันข้ามคืนก็ได้ ไปอยู่กับความทุกข์ข้ามวันข้ามคืนก็ได้ ไปอยู่กับความรักข้ามวันข้ามคืนก็ได้ ไม่มีอิสระ เพราะฉะนั้นต้องมีเจ้าของ สิ่งใดมีเจ้าของสิ่งนั้นจะอยู่ในสภาพปกติ บ้านมีเจ้าของบ้านหลังนั้นก็มีสภาพปกติ เรือกสวนไร่นามีเจ้าของ รถเรือมีเจ้าของก็อยู่ในความปกติ เพราะฉะนั้นเรามาสร้างเจ้าของมาสร้างหลักของชีวิต คือว่าเจริญมีสติดูกายดูใจของเราเนี่ย ให้เห็นดูสิว่าอะไรจะมา อะไรจะมา ทักท้วง
เราก็เฝ้าดู เรามีสติดูกายเหมือนกับคนเฝ้าบ้าน เรามีสติดูใจก็เหมือนกับคนเฝ้าบ้าน มันจะเสียหายอย่างไร ความคิดเกิดขึ้นมาเราเห็นความคิด อารมณ์เกิดขึ้นมาเราเห็นอารมณ์ เมื่อเราเห็นมันจะทำอะไรได้ เหมือนกับเรามีตาเราเห็นว่ามันจะทำอะไรได้ เราอยู่บ้านใครจะขึ้นมาทำอะไรได้ บ้านเราก็อยู่ในสภาพของความปกติ รู้จักรับรู้จักไล่ รู้จักเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆถูกต้อง เพราะฉะนั้นนี่การเจริญสติสัมปชัญญะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา เป็นจุดเริ่มต้นของการถลุงการย่อยการแยก มันเป็นธรรมชาติอย่างยิ่งที่เราจะต้องเว้นไม่ได้ แม้นว่าเราจะทำได้นิดๆหน่อยๆก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่ทำ ทำวันนี้มันไม่รู้ว่าวันนี้พรุ่งนี้หรือปีนี้ปีหน้าอาจจะรู้ได้ หัดให้เป็นนิสัยเป็นปัจจัยเอาไว้ ให้ได้เคยให้ได้ชิน บางทีเราจนกรอบมาอาจจะคว้าหาก็ได้ แต่บางคนไม่เคยได้ศึกษาไม่เคยได้ปฏิบัติ ไม่มีทุน ไม่มีมรดก เป็นคนจน ถ้าเราสร้างขึ้นมาเป็นมรดก อาจะตกกระไดพลอยโจนก็ได้สักครั้งหนึ่ง ก็ดูสิเจ้าชายสิทธัตถะ พออายุเกิดมาไม่นานพาไปแลกนาขวัญ ตั้งอยู่ให้อยู่ในร่มหว้าต้นชมพูใหญ่ตามประวัตินะ ขณะนั้นเพราะว่าบางคนมันเป็นอัจฉริยะมนุษย์มาตั้งแต่เด็กๆก็มี ก็นั่งอยู่ในความสงบเย็น ลืมร้อนลืมหนาวไปแดดออกก็ไม่รู้จักร้อน ก็ภาษาเราก็เลยพูดไปว่าร่มหว้าใหญ่ไม่คลาดเคลื่อนไปที่ไหน แม้แต่พระอาทิตย์จะอัสดงเอียงลงร่มหว้าก็ยังอยู่ อันนั้นเป็นไปไม่ได้ หมายความว่าคนที่มีสมาธิ ไม่รู้จักร้อนไม่รู้จักหนาว ทำงานไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย ลืมวันลืมเดือน ทำไรลงไปถ้ามีสมาธิดีๆ ลืมไป มีอันเดียวเป็นเอกกิจเป็นอันเดียวไปเลย ลืมเหน็ดเหนื่อย ถ้าคนทำไรที่ใจไม่ค่อยเป็นสมาธิ เหนื่อยเหน็ดเหนื่อยมาก จากนั้นมาจนได้อายุ 29 มาบวช มาปฏิบัติธรรม มาทรมานตัวเองเป็นอัตตกิลมถานุโยค บำเพ็ญตนให้ลำบาก จนหนังหุ้มกระดูกจับดูทางท้องถูกด้านหลัง จับด้านหลังถูกด้านท้อง เพราะมันไม่มีเนื้อมีแต่กระดูกกับหนังห่อหุ้ม แต่จิตใจมันยังโกรธปัญจวัคคีย์อยู่ เอ เรามาทรมานกาย แต่ใจทำไมมันยังโกรธ ไม่ยินดี ยังยินดียังยินร้ายต่อปัญจวัคคีย์ ยังคิดถึงพิมพาราหุล คิดถึงอะไรต่างๆวิตกกังวล เอ อาจจะไม่ใช่เสียแล้ว ไหนเราลองทำดูตั้งแต่สมัยก่อน สมัยก่อนเราเป็นเด็ก เราไปบำเพ็ญทางจิต เห็นมันสงบดี เอ เราหันมาเล่นงานกับจิตใจเราดูจะเป็นยังไง เห็นว่าไม่ได้เรื่องเสียแล้ว จะมาทรมานตัวเองมันเปล่าสูญเปล่า แต่ใจนี่ไม่ได้แตะต้องกับมันเลย ไหนเราลองไปกินข้าวให้มีกำลัง แล้วจะมาบำเพ็ญทางจิตดู นี่เรียกว่าคนมีมรดก มีทุน มีทุนเดิม เคยทำไว้ เคยได้สัมผัสดูก็หันเข้าไปจับหลักเก่าๆตั้ง 20 กว่าปีมาทดลอง ก็เกิดผลขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะดูกายดูใจ เฝ้าดูกายเฝ้าดูจิตใจทักท้วงความคิด จนความคิดอาย จนความคิดมันอายไม่กล้าที่จะคิด ตกใจมันรักคิดทีไร แต่ถ้าเราอยู่กับความคิดจนด้านเฉยๆความคิดเล่นงานทางไหนก็นั่งยิ้ม เหมือนเขาว่าคนเมาเหล้า ไฟไหม้บ้านก็นอนยิ้มอยู่ได้ แต่คนมีสติจริงๆเห็นความคิดเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก น่ากลัวมาก หยาบคายที่สุด คนอื่นเขาว่าความคิดเป็นเรื่องละเอียดแต่กายนี่เป็นเรื่องหยาบ หลวงพ่อว่าไม่ใช่ ความคิดนี่แหละเป็นเรื่องหยาบคายที่สุด น่ากลัว หลวงพ่อเห็นอย่างนั้นจริงๆ กายไปน่ากลัวทำไม ถ้าความคิดไม่สั่งมันทำอะไรเป็นบ้าง คนเราไม่เข้าใจ ความคิดนี่แหละเป็นเจ้าการที่สุด น่ากลัวที่สุด แต่เราเคยกลัวความคิดไหม ให้ความคิดเล่นงานสองวันสามวันมีไหม นั่งเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น นั่นแหละคนประมาท (ปะมาโทมัดจะโนปะทัง) ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ระวังให้ดี เพราฉะนั้นผู้ที่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้นแหละ ที่จะเห็นความคิดนะ หลวงพ่อไม่มีอันใด ไม่มีอันใดที่จะรู้วิเศษ ที่จะมาพูดให้พวกเราฟัง พวกท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่มีความรู้มากกว่าหลวงพ่อ