แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอกาสแก่เพื่อนภิกษุสงฆ์ทุกรูป เจริญในธรรมจงมีแก่นักปฏิบัติธรรมทุกคน ในช่วงขณะที่ทำวัตรเสร็จ ก็มีการปรารภธรรมสู่กันฟัง ซึ่งในช่วงนี้พวกเรากลุ่มศึกษาปฏิบัติธรรม เข้ามาจัดภาควิชาปฏิบัติธรรม ในช่วงวันวิสาขบูชา เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นการบูชา ในวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เราก็ปรารภงานกรรมฐานขึ้น ซึ่งเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ว่าปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ ให้มันสมบูรณ์แบบ ในเรื่องของการศึกษาพุทธศาสนา ส่วนปริยัติ ก็พวกเราก็ได้เรียนกันมามากพอสมควร บางท่านอาจจะจบ อ่านตำรับตำรามากมาย รู้อะไรหลายอย่าง แต่ความรู้ที่ได้จากตำรับตำรา อันนั้นก็อาจจะเป็นความรู้ที่จำ อาจจะไม่ใช่ความรู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง เพราะฉะนั้นเราจึงมาเน้นถึงหลักการปฏิบัติ ให้ได้สัมผัสกับปฏิจริง ๆ
คำว่าปฏิบัติ คือโต้ คือตอบ กับธรรมชาติที่มันจะเกิดจะมีขึ้น อย่างวิธีที่เราทำอยู่นี่ก็ เราก็มาเจริญสติปัฏฐาน 4 คือมีสติเห็นกาย เห็นกายที่มันเคลื่อนมันไหว ให้มีสติอยู่กับกาย ให้มันเห็นกายอยู่เรื่อย ๆ อย่าให้มันเห็นอันอื่น ทีแรกให้เห็นกายก่อน เรื่องใจอย่าไปรับรู้รับเห็นอะไรให้มันมากนัก ส่วนใหญ่เรามามุ่งดูที่กาย กายมันเคลื่อนไหวส่วนใด เราก็รู้มัน โดยเฉพาะวิธีการที่เราทำ เราสร้างรูปแบบของการเคลื่อนไหว เพื่อให้สติมันเป็นระเบียบ ขณะที่พลิกมือก็ให้มันรู้ ยกมือก็ให้มันรู้ เคลื่อนมือให้มันรู้สึกตัว ให้มันเป็นระเบียบ ลองดู มันจะรับรู้เรื่องนี้ไหม มันจะดื้อไหม หรือมันจะรู้เรื่องอื่น ก็ให้มันรู้ ให้มันรู้ให้มันเห็นมัน ผู้ที่ทำใหม่ ๆ มันก็อาจจะไม่รู้เรื่องกาย แทนที่มันจะรู้เรื่องกายที่เราสร้างให้มันรู้ มันก็จะดันไปรู้เรื่องอื่น บางทีก็ความง่วงเหงาหาวนอน ที่มันมาตัด ความคิดที่มันมาตัด มาดึง มาฉวยให้หนีจากกาย (ไม่)ให้เห็นกาย มันจะผลักให้ไปเห็นอันอื่น เราก็พยายามสู้กับมัน ดึงมันกลับมาอยู่ที่กาย มันจะยาก มันจะง่ายขนาดไหน บางท่านอาจจะรู้จะเห็นบ้างสำหรับวันนี้ ผู้ที่ทำมากก็เห็นมาก เห็นหลายอย่าง ผู้ที่ไม่ทำก็อาจจะยังไม่เห็น เหมือนกับว่าเอาหลักปฏิบัติ ให้ได้สัมผัสกับความเห็น ความผิด ความถูก ความหลง ความไม่หลงจริง ๆ
ขณะใดที่เรามีสติอยู่กับกายที่มันเคลื่อนไหว มันเป็นยังไง เรื่องมันมากไหม เราก็จะรู้เองเห็นเอง ขณะใดที่มันคิดหนีไปทางอื่น มันหลงไปทางอื่น มันเป็นยังไง มันสับสนไหม เราก็จะรู้เอง เห็นความหลง เห็นความไม่หลง เห็นความง่วง เห็นความขี้เกียจ เห็นความขยัน บัดนี้แหละ จะต้องเห็นสิ่งเหล่านี้แน่นอน บางทีก็เห็นความคิดของตัวเอง ซึ่งเราไม่เคยดูความคิดของตัวเอง บางทีก็เห็นกาย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องดูให้เห็น เราไม่เคยดูกาย เราอาจจะเห็นกายที่มันเคลื่อนมันไหว เมื่อเห็นไปนาน ๆ ก็จะได้คำตอบ ว่าตัวเห็นตัวดูเป็นตัวหนึ่ง ตัวเคลื่อนตัวไหวนี่เป็นตัวหนึ่ง ตัวคิดตัวนึกเป็นตัวหนึ่ง ตัวสุขตัวทุกข์เป็นตัวหนึ่ง บางทีเราก็จะตอบมันได้ ชี้หน้ามันถูก เห็นอาการต่าง ๆ ที่มันจะมาให้เราเห็น
ทีนี้วิธีที่จะให้มีหลักฐานจริง ๆ นั้น คือหมายความว่า เราพยายามมอบความเป็นใหญ่ ให้แก่สติสัมปชัญญะ ทั้งหมดที่เรามีชีวิตอยู่นี่ เรื่องของกายก็ดี เรื่องของใจก็ดี เรื่องของตาของหู รูป รส กลิ่น เสียง ก็ดี ขอให้มอบให้กับสติสัมปชัญญะก่อน จะพูดสิ่งใด จะทำสิ่งใด จะคิดเรื่องใด ให้ผ่านสติเสียก่อน หัดให้มีเจ้าของเสียก่อน เหมือนกับว่าไปให้ลา มาให้บอกเสียก่อน อย่าให้เป็นอิสระ หัดให้มีเจ้าของผู้ที่ทักท้วง เหมือนกับเราเฝ้าบ้าน มีเจ้าของบ้าน อะไรมาทางไหนก็ต้องดูให้เห็น จะคิดเรื่องใดก็ต้องให้เห็น ให้รู้ให้เห็น เห็นความคิดของตัวเองเนี่ย เรียกว่าหัดให้เป็นผู้ดู เป็นเจ้าของบ้านผู้เฝ้าบ้าน มอบความเป็นใหญ่ให้แก่สติสัมปชัญญะ อย่าไปมอบความเป็นใหญ่ให้อย่างอื่น ๓ วัน ที่เรามาอยู่ที่นี่ เรามอบความเป็นใหญ่ให้สติสัมปชัญญะ อะไรก็ให้ผ่านนี่ก่อน อย่าเข้าอย่าออกทางอื่น ให้เข้าให้ออกทางนี้ เหมือนกับบ้านที่มีประตู มีระเบียบ มีรั้ว เหมือนกับวัดเรากำลังล้อมรั้วทำรั้วอยู่ รั้วนี่ทำไมจึงทำรั้ว เพราะหัดให้มีระเบียบ คนไม่มีระเบียบ ถ้าไม่มีรั้วไม่รู้จัก มันก็ล่วงเกิน ลุกล้ำไป เดินลัดลานหญ้าบ้าง เข้าออกไม่ถูกที่บ้าง เขาทำถนนหนทางก็เหมือนกัน เขาทำเกาะ เขาทำกำแพง ถนนที่เป็นเกาะเพื่อหัดให้รถมีระเบียบ มีกฎการจราจรที่ดี พอมีเกาะก็สอนให้คนรู้จักระเบียบ หัดตัวเองนี่ก็เหมือนกัน หัดให้มีระเบียบ อาศัยวิธีการ เช่น กายที่มันเคลื่อนไหว เราพยายามให้ผ่านให้มันเห็นเสียก่อน รู้เห็นทางนี้ก่อน มอบความเป็นใหญ่ให้ทางนี้ เหมือนกับเรามอบความเป็นใหญ่ให้พ่อให้แม่ เราจะไปไหนต้องบอกพ่อบอกแม่ก่อน จะเข้าจะออกต้องบอกพ่อบอกแม่ก่อน พ่อครับผมจะไปโน่น แม่ครับผมจะไปนี่ ถ้าจะไปก็บอก พอมาแล้วก็บอกแม่ครับผมกลับแล้ว พ่อครับผมกลับแล้ว พ่อแม่รับรู้รับเห็นเราทุกโอกาส พ่อแม่ก็ติดตามรู้เรื่องของเรา เราจะไปไหนมาไหน คนอื่นถามก็บอก เมื่อเช้านี้มันยังบอก เมื่อเย็นนี้มันก็บอก ก่อนจะนอนมันยังบอก ก็ตามกันทัน รู้เห็นกันทัน จะหนีไปไหนก็ไม่พ้น แม้แต่ของที่มันจะเสียหาย ถ้าเราลำดับถูก หรือตำรวจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะจับผู้ร้าย ถ้าเขาลำดับถูก สะกดรอยถูกก็ตามทัน จับได้ไล่ทัน
ฉันใดก็ดีการเจริญสติที่เราทำอยู่นี่ หลวงพ่ออยากจะชวนให้พวกเราทั้งหลาย มอบความเป็นใหญ่ ให้แก่สติสัมปชัญญะ อย่าไปมอบความเป็นใหญ่ให้อย่างอื่น ลองดูจริง ๆ เอาความจริงมาว่ากัน อย่างเช่นวันนี้นี่ เรามอบความเป็นใหญ่ให้อะไร ไปเสียเวลาอยู่กับอันใดมาก ไปคิดเรื่องใด ไปอยู่ที่ไหน หลงเรื่องอันใด มอบความเป็นใหญ่ให้แก่ความคิด ความสุข ความทุกข์ เคยชินเรื่องใดมา ตกเป็นทาสเรื่องอันใดมา เคยย้อมอันใดมา จิตใจมันติดอันใดมา เราก็ทอดสะพานให้อย่างนั้นอยู่ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นใหญ่ อย่างความคิดนี่ คนที่คิดมากเจริญในความคิด ความคิดก็เป็นใหญ่ จะแยกออกหนีจากมันมาก็ยาก
เพราะฉะนั้นเนี่ย ทำใหม่ ๆ ก็ยากเป็นธรรมดา แต่เราอย่าไปท้อถอย อย่าไปท้อถอย ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดที่เราหัดไม่ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีมันสมอง รับรู้รับเห็นเรื่องใด เจริญเรื่องใดรู้เรื่องนั้น จะคิดเรื่องดีก็ดี คิดเรื่องชั่วก็ชั่ว วันนี้เราจึงมาฝึกหัด ให้เราฝึกหัดตัวเอง จึงมีการพูดกันน้อย เพราะตามโครงการในช่วงนี้ ภาควิสาขะนี้ เพื่อชวนให้เราได้มาศึกษา ลงสนามกันจริง ๆ โต้ตอบกันจริง ๆ ทักท้วงกันจริง ๆ ใครจะเกิดปัญหาขึ้น ก็อย่าเป็นผู้ใจเสาะ ไปสู้มันเสียก่อน อย่าให้มันต่อยเราฝ่ายเดียว เราต่อยมันบ้าง อย่าไปยอมจน อย่าไปจำนนกับมันง่ายเกินไป สู้มันดู สมมติความง่วงอันนี้ สู้มันดู อุบายอันใดขนออกมา จัดสรรออกมา มีเยอะแยะ หาเอาเอง ไม่ต้องไปถามหลวงพ่อ ไม่ต้องไปถามใคร หาเอาเอง ความรู้ที่เกิดจากจัดสรรตัวเองเนี่ย มันมีประสบการณ์อย่างดียอดเยี่ยม ไม่ต้องไปถามใคร เป็นเสนาวจิกาอยู่เรื่อย คอยแต่จะถามคนอื่น ไม่ดี ไม่ดี ต้องเก่ง เป็นคนเก่ง เป็นคนที่ไม่ยอมจำนน ไม่ยอมจนกรอก หาทางออกให้แก่ตัวเองจนได้ มันมีอยู่ คนเรา มันมีทิศทางอยู่ มันหาทางออกอยู่ ไม่ว่าเราจะทำอันใด กิจการงานเรื่องใดก็ตาม ถ้าเราหัดใช้มันสมองสักหน่อย ใช้อุบายสักหน่อย บางอย่าง มันมีช่องทางเยอะแยะ มีช่องทางเยอะแยะมากมายก่ายกอง
เพราะฉะนั้น ในภาคนี้เราจึงให้ลองสนามกัน ฝึกฝนอบรมเจริญสติ เราบอกแล้ววิธี วิธีการนั้นเราบอกไว้แล้ว ยอดเยี่ยมที่สุด แน่นอนที่สุด ตรงที่สุด เพราะกายก็เป็นกายจริง ๆ อันนี้มือวางอยู่เข่า ก็มือจริง ๆ วางอยู่หัวเข่าจริง ๆ ใครจะว่ามือหลวงพ่ออยู่ที่อื่น หลวงพ่อก็ไม่เชื่อ วางอยู่เข่านี้ ตะแคงขึ้นหลวงพ่อก็เห็น หลับตาดูก็เห็น เห็นจริง ๆ ตะแคงแล้วมือนี้ มันมีประสาท มีสมอง มีความรู้สึกได้จริง ๆ ว่ามือมันตะแคงตั้งอยู่บนเข่า ของจริงมาว่ากัน ไม่ใช่สอนในกระดาน ไม่ใช่สอนแบบภาษานกแก้วนกขุนทอง ให้เห็นของจริง เดี๋ยวนี้มือหลวงพ่อวางอยู่ที่เข่า ตั้งไว้อยู่บนเข่า ยกขึ้นหลวงพ่อก็เห็นว่ามันยกขึ้น จริงทีเดียวไม่ใช่วางอยู่เข่า ใครจะมาบอกว่ามือหลวงพ่อข้างขวาวางอยู่เข่า หลวงพ่อก็ไม่เชื่อแล้ว ก็เห็นอยู่ เห็นของจริง มาวางไว้ที่ตักนี่ก็เห็นอยู่ เคลื่อนขึ้นมานี่ก็รู้อยู่ ยกออกไปอย่างนี้ก็รู้อยู่ จริง จริง ๆ ๆ จริงทีเดียว เป็นของที่รู้ได้เห็นได้ วางลงก็รู้ คว่ำลงก็รู้ เนี่ยเป็นหลัก หลักของจริง เป็นสัจจะ เราเอาความจริงมาสอนกัน ให้รู้ ให้เห็นจริง ๆ เมื่อมันหนีไปจากนี่ก็รู้ มันจะหลุดจากความรู้สึกที่มือไปไหน ความคิดจะดึงไปหรือ เอามันกลับมา ดึงมันกลับมา มันไปได้มันต้องกลับได้ กลับมา เมื่อมันไปมันเป็นยังไง เราก็รู้ คนอื่นไม่รู้ ความคิดนี่ไม่มีใครรู้นอกจากตัวเราเอง เห็นความคิด กลับมาแล้ว กลับมาแล้ว ก็รู้ว่ากลับมา กลับมาให้ได้ ไถ่มาให้ได้ ไถ่ถอนตัวเองให้ได้ ให้อยู่ที่นี้ ตอนนี้เราหัดให้เธออยู่ตรงนี้ ให้เธอมีระเบียบ อย่าออกไปทางอื่น ก็ให้มันตาม ตามอยู่นี้ มืออยู่นี่ ตาลืมดูก็เห็น ไม่ดูก็เห็น จริงทีเดียว ให้มันเห็นอย่างนี้เรียกว่า “กายานุปัสสนา” มีสติเห็นกายจริง ๆ กายก็เป็นดุ้นเป็นก้อนจริง ๆ สติก็รับรู้รับเห็นจริง ๆ เอาของจริงมาพูดกัน
ผู้ที่ทำใหม่ ๆ อย่าพึ่งไปเล่นกับความคิด ความคิดนั้น ถ้าจะพูดว่ามันหยาบ มันก็หยาบ ถ้าจะพูดว่ามันละเอียดก็ละเอียด แต่ทำใหม่ ๆ อย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน ให้มันรู้กายมาก ๆ ก่อน ง่ายที่จะรู้กาย แม้แต่กระพริบตามันก็รู้ ก็มันเคย มันเคยชิน ถ้าเคลื่อนไหวอยากรู้ส่วนใดมันรู้จัก มันมีระเบียบ เพราะมันหัดได้ มันมีสัญญา มันมีมันสมอง มันท่องมันจำ มันรับรู้มันเคยชิน มันหัดได้จริง ๆ ต่อไปไม่อยากรู้มันก็รู้ล่ะ ถ้ามันหัดเป็นแล้วนะ มันก็ลำดับไปเอง ไม่มีโอกาสหลง ง่ายที่จะรู้ ไม่ได้ตั้งใจมันก็รู้เพราะมันเป็น สอนให้รู้น่ะมันง่าย แต่สอนให้เป็นนี่มัน ไม่มีใครที่จะสอนได้ นอกจากตัวเราเอง สอนให้รู้ใครก็สอนได้ สอนให้เป็นตัวเราต้องสอนตัวเราเอง เป็นปัจจัตตัง รู้เองเห็นเอง
เพราะฉะนั้น ในชั่วโมงที่เราอยู่ จงเพียรพยายาม ให้มันชวนรู้ชวนเห็นอยู่นี้ เรื่องกายให้มันเห็นอยู่ มันคิดทีไรก็เห็นมัน กลับมาให้ไว อย่าไปหย่อนกับมัน กับความคิดน่ะ อย่าไปย่อหย่อน คิดหน่อย ๆ ไม่เป็นไร คิดโน่นคิดนี้ บางทีมันก็มีรสชาติ คิดสองหมัดสามหมัดไปเรื่อย ๆ ไป ถ้าเคยชินมันก็ง่าย กลับให้ไว ทักให้ไวโต้ให้ไว ทักท้วงให้ไว มันก็ไกลขึ้นบ้าง ไล่ให้ไว ๆ ไล่แรง ๆ ไล่ไว ๆ มันก็เข็ดก็หลาบ ก็เหมือนไก่ขึ้นบ้าน คนขึ้นบ้าน อะไรที่มันจะขึ้นมาบนบ้านเรา ไล่ให้ไว ๆ พอมันได้ยินเสียงไล่เราทีไร มันก็หลบทันที หลบทันที หลบทันที มันก็จำได้ ก็เหมือนกับเราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย หลวงพ่อเคยเป็นเด็กเลี้ยงควาย เรียกมันบ่อย ๆ มันก็จำได้ ควายแท้ ๆ ทำไมมันจึงจำได้ ไอ้ตู้ ไอ้เผือก ไอ้ขาว ไอ้เหลือง อะไรก็เรียกมันบ่อย ๆ สองวันสามวันเรียกชื่อบ่อย ๆ พอเรียกทีไรมันก็หยุดทันที บอกให้เดินมันก็เดิน บอกให้หยุดมันก็หยุด เพราะเราเรียกมันบ่อย ๆ
ตัวสตินี่ก็เหมือนกันน่ะ รู้มันชัด ๆ มันคิดขึ้นมาก็รู้ทันที กลับทันที คิดทีไรกลับได้ทันที ความคิดมันจะสอนให้ไม่คิด ความผิดมันจะสอนไม่ให้ผิด ความทุกข์มันจะสอนให้ไม่ทุกข์ เป็นอย่างนั้นจริง ๆ อย่าปฏิเสธ เวลาใดก็ตามความทุกข์มันจะบังคับให้ไม่ทุกข์ มีหลายคนที่ถ้าพูดแล้วนะ ได้บรรลุธรรมขณะที่ทุกข์มาก ๆ จะร้องห่มจะร้องไห้ ใจมันจะขาดรอน ๆ มันทุกข์มาก พอดีสู้ไปสู้มาความทุกข์หลุดออก เบา เปลี่ยน หน้ามือเป็นหลังมือนี่ก็มี นั้นอย่าไปจำนน ดูให้ดี อะไรมันเกิดขึ้นกับตัวเรา อย่าหมดเนื้อหมดตัวง่าย มองให้เห็น อย่าไปจำนนง่าย ๆ ดู แต่ว่าทักท้วง ทักท้วงโต้ตอบ หยุดดูมันสักหน่อย มันอะไร เรื่องอะไร เราอยู่ดี ๆ มันคิดเรื่องอะไรขึ้นมา ตั้งใจจะมา ๓วัน พอทำไป ทำไป เฮ้ย! อยู่ไม่ไหว ต้องลาคุณสมเกียรติกลับบ้านก่อน มันเรื่องอะไร ทักท้วงมันดู เป็นความคิดหรือเป็นอะไรกันแน่ มันจริงไหม ที่มันจะหอบเสื่อหอบหมอนกลับบ้าน พับผ้าใส่กระเป๋ากลับบ้าน มันเรื่องอะไร ดูให้ดี ๆ บางทีหลวงพ่อเคย เคยไล่จนมาหลายคน เคยพูดให้ฟังหลายที กลับมันให้ได้
คราวหนึ่งไปเชียงใหม่ด้วยกัน มีพระไปด้วยกัน ๓ รูป ทีแรกจองตั๋วรถทัวร์ รถปรับอากาศ พอดีรถปรับอากาศมันเต็ม ก็เลยไปรถธรรมดา พอเพื่อนขึ้นนั่งรถ อากาศมันก็ร้อน เพื่อนก็บ่นว่า ไม่ไหว ไม่ไหว แย่ ๆ ไม่ไหว ไม่ไหว แย่ ๆ ตาย ๆ ๆ ผมก็พูดในใจ ไม่แย่ ไม่แย่ ไหว ๆ ๆ ไม่ตาย ไม่ตาย แต่พูดอยู่ในใจ มันกลับกัน มันสวนทางกัน เขาบอกว่า ไม่ไหว ไม่ไหว แย่ ๆ ร้อน ๆ ตาย ๆ เราก็พูดอยู่ในใจ ไม่ร้อน ไม่แย่ ไม่แย่ ไม่เป็นไร ไม่ตาย ไม่ตาย มันรู้สึกอย่างนี้ มันสวนกัน
เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นมา อย่างคราหนึ่งก็มีหลวงตาองค์หนึ่ง ตั้งใจจะมาปฏิบัติ เดือนสองเดือน พอมาอยู่ได้วันสองวันเอาแล้ว คิดวุ่นวายไปหมด ยุ่งยากไปหมด จะลากลับบ้าน พับผ้าพับผ่อนใส่บาตร สะพายบาตรมาลากลับบ้าน มันเรื่องอะไร ผมบอกให้หลวงพ่อดูความคิด ก่อนที่หลวงพ่อจะมาลานี่ อะไรมันพามา ความคิดมันพามา เห็นไหมความคิดน่ะ มันคิดอะไรเราเชื่อมันหมดหรือ ผมบอกว่าให้ดูความคิด มันคิดเรื่องใดจะเชื่อมันหรือ หมดเนื้อหมดตัวเพราะความคิดหรือ ดูมันได้ไหม ตัวคิดเป็นตัวหนึ่ง ตัวดูคิดตัวเห็นคิดเป็นตัวหนึ่ง ให้เป็นผู้ดูมัน ให้เป็นผู้เห็นความคิด ดูให้ดี ๆ เห็นไหม เห็นไหม ยังไม่เห็น ยังเป็นทุกข์อยู่ พอจี้เข้าไปไล่เข้าไป ไปเห็นความคิดจริง ๆ เอาไปเอามา เลยพายบาตรกลับกุฏิ ไม่ต้องกลับบ้าน มันหลอก บางทีมันยกเมฆมาความคิดนี่ จะเป็นจะตายให้ได้ บางทีมันครั่นเนื้อครั่นตัวทำท่าจะเจ็บจะป่วย เป็นคนละเรื่อง เป็นอาการ กายเป็นอาการของกาย อาการของกายมีเยอะแยะ ความร้อน ความหนาว ความหิว อย่าไปหมดเนื้อหมดตัวเพราะความร้อน ความหนาว ความหิว อย่าไปหมดเนื้อหมดตัวเพราะความเจ็บความปวด เรื่องของกาย เรื่องของใจก็มีเยอะแยะ ความสุข ความทุกข์ ความยินดียินร้าย ความวิตกกังวล อย่าไปเชื่อมันทั้งหมด เห็นมัน เห็นอาการของมัน อาการนี่ไม่ใช่ตัวใช่ตน มีมากมายก่ายกอง เราเห็นมันหมด มันจะไปหลบไปซ่อนอยู่ที่ตรงไหน เห็นมันหมด หลอกเราไม่ได้ เหมือนกับเราลืมตาอยู่นี่ นี่ก็หลวงพ่อกรม นี่ก็ท่านอเนก นี่ก็หลายรูป จำกันได้ นั่นก็เห็นโยมบุญเยี่ยม ใครต่อใคร เห็นหมด สุวิดาอะไรเห็นหมด หลอกไม่ได้ ไม่ใช่สุวิดา ไม่ใช่โยมบุญเยี่ยม หลอกหลวงพ่อไม่ได้ เพราะหลวงพ่อเห็นอยู่ มีตาลืมอยู่แท้ ๆ ทำไมจะมาหลอกกัน สติตาภายในก็เหมือนกัน นี่คือตัวคิด มันไม่ใช่ตัวตนที่ไหน นี่คือตัวสุข ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน นี่คือตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตนที่ไหน หลวงพ่อชี้หน้ามันได้ ชี้หน้ามันได้ยี่สิบกว่าปี สิ่งเหล่านี้มาหลอกไม่ได้ ความสุข ความทุกข์ ความร้อน ความหนาว ความหิว ความดีใจ ความเสียใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลง รู้จักมันชัดเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้มาทีไรก็ตอกมันได้ ชี้หน้ามันได้ มันอายจนไม่กล้ามา ไม่กล้ามา มันหลบ คนรู้จักกันมันก็ไม่กล้ามา เพราะมันชั่ว มันก็เหมือนกับคน
เพราะฉะนั้น ดูมัน หัดลืมตาดูมันซะ ให้เห็นมัน อะไรมันจะเกิดขึ้นมา ดูให้ดี ๆ ถ้ามันไม่เห็นส่วนอื่น ก็ให้มันเห็นกายที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี่ เห็นกายที่มันเคลื่อนไหวอยู่ มันไม่เห็นก็สร้างให้มันเห็นขึ้นมา เราสร้างเอาจริง ๆ สร้างให้มันมี มันสร้างได้ ของมันมีอยู่นี่ มันสร้างเอาได้ แต่เราไม่ค่อยสร้าง ไปทอดสะพานให้อย่างอื่น ปล่อยให้ความคิดเอาไปกิน ให้ความสุข ความทุกข์ ความฟุ้งซ่านเอาไปกิน ไม่ได้ให้เกิดทางนี้ ไม่ได้ให้กำเนิดทางนี้ ไปให้กำเนิดอย่างอื่น อะไรมันก็มาก เพราะฉะนั้นเนี่ย โอกาสที่เรามาศึกษาดูเนี่ย ๓ วัน ไม่ใช่เรื่องน้อยนะ เป็นกาลเวลาพอสมควรถ้าเราทำถูก น่ะ ถ้าเราทำเล่นก็ได้เล่น ๆ ต้องทำจริง ๆ แต่ว่าทำจริงไม่ใช่อยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่ขวนขวายเอาจนหน้าดำคร่ำเครียด ไม่ใช่อย่างนั้น ทำจริงคือทำเรื่อย ๆ ไม่ต้องอยากรู้อยากเห็น ทำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ทำใจสบาย ๆ มันจะรู้ก็เป็นเรื่องของมัน มันไม่รู้ก็เป็นเรื่องของมัน เราจะทำอยู่นี่ล่ะ เคลื่อนไหวอยู่นี่ นั่งอยู่นี่ รู้อยู่นี่ เห็นอยู่นี้ อาจจะไม่ต้องเคลื่อนไหวบ่อยก็ได้ นั่งอยู่เฉย ๆ ก็หัดรับรู้ส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจกะพริบตา อาจจะกระดิกนิ้วเล่น ๆ รู้รอบอยู่ตรงนี้ ไม่รู้เรื่องอื่น ทำอย่างนี้ไป มันจะหนีไปไหน เรือล่มในหนองทองมันจะไปไหน ก็อยู่นี่ล่ะ
ที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแสดงมาเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ เอาความจริงมาพูดสู่กันฟัง จะต้องเห็นจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ล่ะ ไปให้ไปทำดู ให้ไปศึกษาดู ให้มอบกายถวายชีวิต มอบความเป็นใหญ่ให้เรื่องนี้ ลองดู อุทิศชีวิตทั้งหมดให้แก่สติสัมปชัญญะ อะไรก็ตามให้ผ่านตรงนี้ก่อน จะเข้าก็เข้าตรงนี้ จะออกก็ออกที่จุดนี้ เรียกว่ามอบความเป็นใหญ่ ไปลามาบอก จะรับรู้เรื่องอะไร จะใช้ชีวิตเรื่องอันใด ให้มีความรู้สึกระลึกได้ก่อน มาทางนี้ก่อน อย่าไปทางอื่นง่ายเกินไป ให้โอกาส ให้เดินทางนี้ ให้รู้สึกระลึกได้ เอาไปเอามา เมื่อเราสร้างตัวนี่ สร้างสติ ต่อไปสติจะสร้างเรา สติจะสร้างเราเอง ไม่อยากรู้ก็รู้ ไม่อยากเห็นก็เห็น มันเป็นกฎของธรรมชาติ
ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอความรู้ยิ่งเห็นจริง ในสัจธรรมคำสอน ที่อยู่กับตัวเราทุกคน จงได้ประสบพบเห็น ในโอกาสอันเร็วไวนี้ ด้วยกันทุก ๆ คนเทอญ