แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ปาฐกถาธรรมในรายการพุทธธรรมนำสุขในครั้งนี้ อาตมาก็จะกล่าวโดยหัวข้อ ว่าบวชอยู่ที่บ้านสืบต่อไปอีก เพราะมีได้หลายวิธี สำหรับในวันนี้จะได้กล่าวถึงการบวชอยู่ที่บ้านโดยอาศัยหลักแห่งสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นธรรมประเสริฐพิเศษ มีอานิสงส์ไพศาล ขอให้ตั้งใจฟังให้เป็นอย่างดีที่สุด
สัปปุริสธรรมก็แปลว่าธรรมะหรือภาวะปกติของผู้ที่เป็นสัตตบุรุษ สัตตบุรุษก็คือผู้ที่มีชีวิตสงบเย็น มีความสงบ ทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางทิฐิ ทางปัญญา ทางทุกๆอย่าง ล้วนแต่เป็นความสงบแล้วก็เรียกว่าสัตตบุรุษ ก็เลยกลายเป็นคนเย็นเพราะสงบ มันไม่ร้อน มันไม่ฟุ้งซ่าน มันไม่พลุ่งพล่าน เลยเป็นชีวิตที่เยือกเย็น สัตตบุรุษประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ๗ ประการ ซึ่งจะได้กล่าวเป็นลำดับไป โดยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์แห่งสติปัญญา ไม่งมงายเป็นต้น
ข้อที่ ๑ สัตตบุรุษรู้จักเหตุ เหตุแห่งสิ่งที่จะต้องละ เหตุแห่งสิ่งที่ต้องทำให้มีโดยแท้จริง ครั้นรู้จักเหตุแห่งสิ่งที่จะต้องละแล้วก็สามารถละได้ แม้จะเป็นการละยากเพียงใด รู้จักเหตุของสิ่งที่จะต้องทำให้มี รู้แล้วก็จะสามารถทำให้มีขึ้นมาได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบากอย่างไร การรู้จักเหตุมีประโยชน์อย่างนี้เป็นข้อแรก คนเราถ้าไม่งมงาย ถ้าไม่ถือไสยศาสตร์ ก็จะถือหลักธรรมะซึ่งเหมือนกับหลักวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้ข้อแรก ทีแรกก็คือการรู้จักเหตุของสิ่งที่จะต้องละ และเหตุของสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดมีโดยแท้จริง
ข้อที่ ๒ รู้จักผล พึงปรารถนาแต่ผลชอบแก่เหตุ ผลที่ไม่ควรปรารถนาไม่ปรารถนา ผลที่ควรปรารถนาก็คือผลที่มีแต่ประโยชน์คุณโดยส่วนเดียว ไม่มีโทษ ปราศจากผลที่งมงายตามแบบของไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ให้ผลอย่างไสยศาสตร์ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องงมงาย ในที่สุดก็ไม่ต้องทำอะไร ได้แต่นั่งอ้อนวอนบวงสรวงกันอยู่เท่านั้น ผลอย่างนั้นไม่ควรจะปรารถนาเลย
๓. รู้จักตนเอง รู้จักตนเอง ข้อนี้ฟังแปลกดี ทุกคนมักจะอวดดีว่าตนรู้จักตนเอง แต่ยากที่จะรู้จักตนเอง มันรู้จักด้วยความโง่ มันก็รู้จักแต่ความโง่ของตน ไม่รู้จักตนที่แท้จริง จนทำอะไรไม่สมควรแก่ตนอยู่บ่อยๆ รู้จักตนก็ต้องรู้จักตนเองว่าอยู่ใสถานะอย่างไร ในแง่ของสังคมตัวเรามีฐานะอย่างไร ในแง่แห่งอัตวิสัยของตนเอง ตัวเองมีฐานะอยู่อย่างไร รู้จักตนให้ครบถ้วนอย่างนี้แล้ว ดำรงตนอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง
ข้อที่ ๔ รู้จักประมาณ คือความถูกต้อง ความเหมาะสม ความพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ซึ่งพูดกันว่าอยู่ดีกินดี นั่นมักจะเกินประมาณเพราะว่ากิเลสเป็นผู้ตัดสินว่ากินดีอยู่ดี ตามอำนาจของกิเลส ต้องอยู่ดีกินดีตามสติปัญญา เรียกว่ากินอยู่แต่พอดี มีความถูกต้อง มีความเหมาะสม มีความพอดีในการกินอยู่ ถ้ากินดีอยู่ดีมันก็ไม่มีขอบเขต มันก็เลื่อนเรื่อยไปจนเกินขอบเขต จนอยู่ในฐานะที่เกิน มันก็ต้องลำบาก ต้องประสบกับความลำบาก เพราะมันไม่สมกัน มันรักษากันไว้ไม่ได้
ข้อที่ ๕ รู้จักเวลา รู้จักเวลาที่เหมาะสม เหมาะสมที่จะกระทำ อะไรจะกระทำเมื่อไหร่ รู้จักเวลาที่เหมาะสม กระทำถูกต้องแล้วมันก็ออกผลตามเวลา ไม่โง่มานั่งบ่นเพ้อว่าให้มันออกผล เหมือนคนซื้อล็อตเตอรรี่มาแล้วมานั่งบ่นเพ้อว่าเมื่อไหร่จะถูก เมื่อไหร่จะออก มันไม่รู้จักเวลา ถ้ามันรอไปถึงวันออกมันก็ออก ก็ไปตรวจสอบได้ มันก็รู้ เรียกว่าอย่าให้เวลามาเป็นเครื่องกัดกินหัวใจ อย่าให้เวลาบีบคั้นจิตใจ อย่าให้เวลาเป็นเครื่องทรมานตนเอง ในการที่จะกระทำก็ดี ในการที่จะรับผลของการกระทำก็ดี นี่เป็นเรื่องสำคัญ เวลาเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ลึกลับ มีอำนาจเหนือบุคคล เพราะมันเนื่องอยู่กับกิเลส บังคับเวลานั้นหมายถึงบังคับกิเลสด้วย เพราะว่าเวลามันเกิดขึ้นมาจากความต้องการของกิเลสแล้วก็ไม่ทันอกทันใจ ถ้าบังคับกิเลสไม่ให้ต้องการได้ หยุดความต้องการได้ เวลามันก็หยุดด้วยเหมือนกัน คือไม่ทรมานจิตใจ
ข้อที่ ๖ เรียกว่ารู้จักบริษัท บริษัทคำนี้แปลว่ากลุ่มชน บริษัทแล้วมานั่งกันเป็นวงรอบ ๆ นั่นแหละเรียกว่าบริษัท สังคมทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นแหละเรียกได้ว่าเป็นบริษัท แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆหลายๆกลุ่มก็เรียกว่าบริษัทน้อยๆ เพ่งเล็งทั้งหมดก็เป็นบริษัทใหญ่ สังคมที่ตนรวมอยู่กับเขาด้วยคนหนึ่ง หรือว่าสังคมอื่นออกไปที่ตนจะต้องติดต่อ เกี่ยวกับสังคมมันก็มีอยู่ ๒ ความหมายคือตนอยู่ในสังคมนั้นด้วย ก็ต้องประพฤติถูกต้องต่อสังคมนั้น สังคมอื่นที่ตนจะต้องเข้าไปติดต่อเกี่ยวข้อง ก็จะต้องรู้จักสังคมอื่นนั้นให้ดี ให้การเข้าไปติดต่อเกี่ยวข้องนั้นสำเร็จเกิดประโยชน์เต็มตามที่ตนประสงค์ นี่เป็นเรื่องความรอบรู้เชี่ยวชาญแตกฉานเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์
นี่ข้อสุดท้ายข้อ ๗ รู้จักบุคคล รู้จักบุคคลแต่ละคน ๆ รู้จักตนเองนั้นมีอยู่แล้วในข้อที่ ๓ เดี๋ยวนี้รู้จักบุคคลในข้อที่ ๗ นี้คือรู้จักบุคคลแต่ละคนๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องด้วย โดยเหตุที่คนเราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคล ดังนั้นจะต้องรู้จักบุคคลแต่ละคนให้ดี เพื่อจะเกี่ยวข้องได้อย่างสำเร็จประโยชน์ แล้วก็ทุกชนิด ทุกทิศทาง อย่างที่ทรงแสดงไว้เป็นเรื่องทิศทั้ง ๖ ว่าข้างหน้าคือบิดามารดา ข้างหลังคือบุตรภรรยา ข้างซ้ายคือมิตรสหาย ข้างขวาคือครูบาอาจารย์ ข้างบนคือพระเจ้าพระสงฆ์ ข้างล่างคือคนใช้ กรรมกร แต่ละทิศละทาง รู้จักบุคคลแต่ละคนให้ถูกต้องแล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ในการที่จะติดต่อกับบุคคลนั้นก็ดี ในการที่จะร่วมทำงานร่วมกันกับบุคคลนั้นๆ ก็ดี แม้ที่สุดแต่ใช้เขาให้ทำตามประโยชน์ตามความประสงค์ของตนก็ดี ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ทั้งนั้น
การอยู่ด้วยคุณธรรม ๗ ประการนี้ ของสัตตบุรุษนี้เป็นการอยู่ที่เฉลียวฉลาด ผาสุขอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการปิดกั้นอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สนใจเป็นพิเศษ ว่าเราอยู่ด้วยความถูกต้องในทุกอย่างทุกประการ ทุกทิศ ทุกทาง ทุกขนาด ทุกระดับ ทุกลักษณะ เรามีชีวิตการเป็นอยู่ที่ประกอบด้วยความถูกต้อง สิ่งที่เรียกว่าความถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเป็นความผิดพลาดแล้ว มันเป็นโทษ เป็นอันตราย ถ้ามันเป็นความถูกต้องแล้ว มันเป็นผลดี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นอานิสงค์ที่จะช่วยให้รอด เราจงทำความในใจให้ดีที่สุด ให้รู้สึกในความถูกต้องทั้ง ๗ ประการอย่างที่กล่าวมา แล้วก็จะได้รับผลจากความถูกต้องทั้ง ๗ ประการนั้น
กล่าวได้ว่ามีความถูกต้องนั่นแหละ เป็นพระเจ้าอันสูงสุด พระเจ้าที่จะช่วยให้รอด นั่นคือความถูกต้อง การที่มีพระเจ้าเป็นอย่างบุคคลนั้นไม่แน่นอนเหมือนกับมีพระเจ้าเป็นธรรม คือเป็นความถูกต้อง จงตั้งใจประพฤติกระทำให้มีแต่ความถูกต้อง และความถูกต้องนั่นแหละจะเป็นพระเจ้าที่จะช่วยทุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลานาที ทุกหนทุกแห่ง เป็นผู้ที่อยู่ด้วยความมีโชคดี ยืมคำของไสยศาสตร์มาใช้ว่าโชคดี โชคร้าย ถ้าอยู่ด้วยความถูกต้องแล้ว ก็เป็นการอยู่อย่างมีโชคดี การกระทำนั่นแหละเป็นการบ่งให้มีโชคดีหรือโชคร้าย ถ้าทำไม่ถูกก็เป็นโชคร้าย ถ้าทำถูกก็เป็นโชคดี ดังนั้นเราจงมีความระมัดระวังสังวรณ์ ระลึกได้อยู่เสมอไป แล้วก็กระทำลงไปจริงๆในสิ่งที่ระลึกได้แล้วว่าเป็นความถูกต้อง เป็นความถูกต้อง ให้มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลา จะทำอะไรสักนิดหนึ่งก็ขอให้มีความตั้งอกตั้งใจระมัดระวัง ให้มีความถูกต้อง แม้ที่สุดแต่จะถ่ายอุจจาระ จะถ่ายปัสสาวะก็จะต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ ให้มีความถูกต้องเต็มที่ที่สุดที่จะมีได้ ก็จะเป็นผู้ชื่อว่าประพฤติธรรม ประพฤติความถูกต้อง ทุกๆอย่างมีความถูกต้องไปหมดแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยก็จะต้องมีความสุขความเจริญงอกงามตามทางของมนุษย์โดยไม่ต้องสงสัย ขอยุติการบรรยายในครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้.