แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พิธีกร : ธรรมบรรยายแก่คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Puget Sound University ตึก ๔ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๔ เวลา ๕ น. ณ ลานม้าหินที่หน้ากุฏิ
ท่านพุทธทาส : ก่อนอื่นทั้งหมดขอแสดงความยินดีอนุโมทนา ในการที่ท่านทั้งหลายมาในที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ คือแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปประกอบในการดำเนินชีวิตของตนๆ มองอีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยซึ่งกันและกันให้การมีความรู้ เพื่อสร้างสันติภาพขึ้นในโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อันกว้างขวาง ไม่มีจำกัด ก็ถือว่าในความรู้ทางธรรมะนี่เป็นเครื่องดับความทุกข์ หรือจะใช้คำที่ดีกว่านั้นก็ แก้ปัญหาทุกอย่างทุกประการของมนุษย์ในโลก ในส่วนบุคคลธรรมะก็เป็นเหมือนกับยา มีคุณสมบัติเป็น Gentle Healing ... อยู่ตลอดเวลา ณ ส่วนบุคคล (นาทีที่ 2.52)
สำหรับสังคมทั้งโลกเป็นการทำให้เกิดความอยู่ร่วมกันได้ อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ โดยสันติ คือไม่มีข้อขัดแย้ง ทีนี้อีกข้อหนึ่งเป็นข้อพิเศษ ถือว่าเราพยายามที่จะใช้เวลา ๕ น. โลกเวลา ๕ น. นี่ ให้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการศึกษา เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เรียกว่าเป็นเวลาแห่งความเบิกบาน เหมือนดอกไม้ในป่าทุกชนิด มันก็เริ่มบาน ตั้งต้นบานในเวลาอย่างนี้ คือในเวลา ๕ น. จิตใจของมนุษย์นี่ก็เหมือนกันนะ มันมีเวลาที่เริ่มเบิกบานในเวลาอย่างนี้ คือก่อนรุ่งอรุณ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เวลาอย่างนี้ และเชื่อว่าศาสดาในศาสนาอื่นๆ ไม่น้อยก็เถอะ มีความรู้ถึงที่สุดในการเป็นศาสดาในเวลาอย่างนี้ ซึ่งสมมุติเรียกว่าโลกเวลา ๕ น. เป็นเวลาที่เหมาะสม คือว่ามันสดชื่น สดชื่นหรือใหม่ ได้รับการพักผ่อนมาตลอดเวลา ในกลางคืนพอจวนจะรุ่งนี่ก็พร้อมที่จะเบิกบาน พร้อมที่จะทำหน้าที่ที่จะศึกษาอะไรได้ดี นี่เราจึงถือโอกาสที่จะศึกษา จิตยังว่าง ยังเกลี้ยง ยังเติมอะไรลงไปได้มาก พอสว่างขึ้นมาแล้ว เราก็คิดนั่นคิดนี่ ทำนั่นทำนี่ลงไปในจิตที่ว่างอยู่นั่น มันจะยุ่งไปหมด จิตนี้ไม่เหมาะไม่พร้อมที่จะศึกษาเรื่องลึกซึ้ง เช่นเรื่องธรรมะนี้ เรียกเป็นสำนวนอุปมาเปรียบเทียบ เราเรียกมันว่าเวลาที่ถ้วยชายังไม่เต็มด้วยน้ำชา หรือน้ำชายังไม่ล้นถ้วยชา ยังว่างอยู่ ยังเติมอะไรลงไปได้มาก ก็ให้ใช้ประโยชน์เวลานี่ให้เป็นประโยชน์ที่สุด แต่คนโดยมากก็ใช้เวลา ๕ น. นี่เป็นเวลาแสวงหาความสุขจากการนอน ยังไม่ตื่นก็มี ยังหลับต่อไปหลายชั่วโมงก็มี คนธรรมดาเขาไม่ยอมเสียสละไอ้เวลาที่จะนอนเป็นสุขมาเพื่อการศึกษา ถ้าเราอยากศึกษาธรรมะอันละเอียดแล้วก็ขอให้ใช้โลกเวลา ๕ น. นี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า ลองเปรียบเทียบกันดูว่าเวลานี้โลกเวลา ๕ น. พวกหนึ่งกำลังนอนหลับๆเต็มที่ สบายเต็มที่ พวกหนึ่งมาศึกษาๆๆอย่างลึกซึ้ง คนมันต่างมาก ต่างกันกี่มากน้อย เมื่อเป็นธรรมเนียมของพุทธบริษัทมาแต่โบราณ ตื่นก่อน ๕ น. ใช้เวลา ๕ น. สำหรับทำการศึกษา ทำการท่องบ่น หรือปฏิบัติธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัด หรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาอยู่ที่บ้าน ก็ใช้เวลา ๕ น. ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรมะให้เต็มที่
ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ มีหัวข้อว่า พุทธศาสนา หรือ Buddhist Way of Life (นาทีที่ 13.03) เรียกว่า พุทธศาสนากับอุดมคติ Dhamic Socialism (นาทีที 13.12) Socialism อย่างประกอบไปด้วยธรรม Buddhist Way of Life and Dhamic Socialism (นาทีที่ 13.20) เราจะพูดถึงคำว่า “Socialism” กันก่อน จะมองเห็นว่ามันมีหลายชนิด Socialism อย่างของคำหมาก (นาทีที 13.47) นี้จะถือว่าเป็นการแก้แค้นของกรรมกรเท่านั้นเอง มันไม่มีอะไรนอกจากการแก้แค้นของชนชั้นกรรมาชีพหรือกรรมากร นี่ก็ Socialism ของการแก้แค้น
ผู้ซักถาม : แก้แค้นแปลว่า
ท่านพุทธทาส : คือโกรธ แล้วทำไปตามความโกรธ แก้แค้น แก้ความโกรธ
นี้ Socialism ของชาวพุทธต้องมีคำว่า ธรรมิก คำนี้แปลว่า ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ประกอบอยู่ในความถูกต้อง และประพฤติปฏิบัติกระทำไปด้วยความถูกต้องตามหลักธรรมะ ไม่ใช่กระทำไปด้วยความโกรธและแก้แค้น คำว่า ธรรมิก แปลว่า ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เนื่องอยู่กับธรรมะ เป็นไปตามธรรมะ จึงชื่อว่า ธรรมิก ธรรมิกกะ (นาทีที 16.36)
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า สังคมนิยม ตามหลักธรรมะถือว่าธรรมชาติสร้างสัตว์ให้มาอยู่กันเป็นหมู่ๆ ดูนะ ต้นไม้อยู่กันเป็นหมู่ๆ สัตว์เดรัจฉานก็อยู่กันเป็นหมู่ๆ คนก็อยู่กันเป็นหมู่ๆ นั้นต้องมีระบอบที่ถูกต้อง สำหรับที่จะอยู่กันเป็นหมู่ ระบบนั้นเราจะเรียกว่า Socialism ความถูกต้องสำหรับอยู่กันเป็นหมู่ตามที่ธรรมชาติกำหนดให้มา สรุปสั้นๆก็เพื่อประโยชน์แก่สังคม Society ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่บุคคลแต่ละคน Individual เท่านี้ใจความ
ทีนี้เราก็รู้ว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายน่ะ มันมีปัญหาอย่างเดียวกัน จึงต่อสู้กับความทุกข์เพื่อความอยู่รอด แล้วต้องรอดของสังคม ไม่ใช่รอดของบุคคล นี่เป็นหลักของธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ บังคับอยู่อย่างนี้ ทำให้เราต้องมีการปฏิบัติหรือธรรมะเพื่อความอยู่รอดของสังคมที่เจริญก้าวหน้าของสังคม ต้นไม้ทั้งหลายก็ต้องการอยู่รอด สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ต้องการอยู่รอด มนุษย์ก็ต้องการอยู่รอด แต่รอดของสังคม ไม่ใช่รอดของแต่ละตัวๆ ขอให้เน้นที่ความรอดของสังคม ความรอดของสังคม ให้มีธรรมะเพื่อความรอดของสังคม ความรอดของสังคมก็ต้องมีธรรมะ ธรรมะเพื่อความรอดของสังคมก็เรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม ธรรมะเพื่อธรรมิกสังคมนิยม สรุปอยู่ที่คำว่า ไม่เห็นแก่ตัวๆ ใครๆก็เห็นได้เองนะว่า ถ้ามันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันก็ไม่เห็นแก่สังคม แล้วมันก็ไม่เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแต่แก่ตัวเองแล้วก็ไม่เห็นแก่สังคม ไม่เห็นแก่ความถูกต้อง แล้วก็ต้องดึงมาเป็นเห็นแก่สังคม แล้วก็เห็นแก่ความถูกต้อง ต้องเห็นแก่ความถูกต้องมันจึงจะเห็นแก่สังคม นั้นมันก็จะเห็นแก่ตัว เฉพาะตัวๆ
เมื่อถามว่าความไม่เห็นแก่ตัว จะเอามาจากไหน จะเอามาจากไหน เห็นๆกันอยู่ว่าเอามาจากขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศีลธรรม หลักศาสนา สูงขึ้นไปจนถึงพระเจ้า พระเป็นเจ้า ต้องการให้เราไม่เห็นแก่ตัว ต้องการให้รักผู้อื่น รักผู้อื่น นี่ที่มาของความไม่เห็นแก่ตัว นี่พุทธบริษัทไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว ก็มีความรู้ว่ามันไม่มีตัวโดยแท้จริง โดยแท้จริงมันไม่มีตัว ไม่มี Self ไม่มี Ego ไม่มี (นาทีที่ 25.07) ไม่มีคำว่า Self เมื่อมันไม่มีตัวแล้วจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร จึงเกิดความรู้ที่ไม่มีตัวนี้เป็นความรู้ที่สำคัญที่สุด ด้วยคำว่า “ไม่เห็นแก่ตัว” เมื่อไม่เห็นแก่ตัวก็เป็นความรอด เมื่อรู้สึกว่ามีตัว มีตัว Self นั้น ก็เป็น Selfish ขึ้นมา มันมี Selfishness ขึ้นมา ทีนี้มันไม่มีตัวจะเป็นที่ตั้ง มันก็เลยไม่เห็นแก่ตัว จึงไม่เห็นแก่ตัวโดยสมบูรณ์ โดยเด็ดขาด อันนี้คือข้อแรก เมื่อมันไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว มันก็เห็นแก่ผู้อื่นโดยอัตโนมัติๆ ในตัวของมันน่ะ จะเห็นแก่ความถูกต้องโดยอัตโนมัติ เห็นแก่ผู้อื่นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นมันจึงไม่มีปัญหาเรื่องพรหมวิหาร พรหมวิหารทั้ง ๔ ถ้ามันไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้วพรหมวิหารทั้ง ๔ มันก็มีโดยอัตโนมัติ
ขอเน้นถึงใจความจริงๆ ตรงๆ ของคำว่า พรหมวิหาร ซึ่งแปลว่า อยู่อย่างประเสริฐ เป็นอยู่อย่างประเสริฐ ดำรงชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ ทีนี้มาดูว่าประเสริฐอย่างไร
ข้อแรกเรียกว่า เมตตา เมตตาก็คือความเป็นมิตรอันแท้จริง อันบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นมิตรเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ ไม่ใช่เพื่อกามารมณ์ จึงเรียกว่าเป็นความเมตตา หรือความรักอย่างเมตตา คือความรักที่บริสุทธิ์ ไม่ได้หวังในเรื่องทางวัตถุ ทางกามารมณ์ เป็นสิ่งตอบแทน เป็นความรักที่แท้จริงข้อหนึ่ง เมื่อมันไม่มีตัว ไม่มีตัวที่จะรัก ก็ต้องรักผู้อื่นเป็นธรรมดา เมื่อไม่มีตัว มันก็มีเมตตาอย่างแท้จริงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ข้อสอง กรุณา เสียสละเพื่อช่วย เสียสละตน ของตน เพื่อช่วยผู้อื่น เรียกว่าการช่วยที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ช่วยเพื่อเอาชื่อเสียง ไม่ได้ช่วยเพื่อเอาประโยชน์ใดๆตอบแทน แต่มันเป็นการช่วยอันบริสุทธิ์ของจิตที่มันไม่มีความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัว ไอ้การช่วยนั้น มันก็บริสุทธิ์ ที่เรียกว่า กรุณา จะมีได้แท้จริงก็เมื่อไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีตัว ไม่มีความรู้สึกว่าตัว ไม่เห็นแก่ตัว กรุณาๆ ก็ยังมีถึงที่สุดและบริสุทธิ์ ไม่เพื่อชื่อเสียง ไม่เพื่อเอาอะไรตอบแทน
ข้อที่สาม มุทิตาๆ ยินดีด้วยจริงๆ เพราะเป็นเพื่อนกันโดยแท้จริง ไม่เห็นแก่ตัว เป็นเพื่อนกันแท้จริง เมื่อเพื่อนมีความสุข ประสบความสุขก็ยินดีโดยแท้จริง ตามธรรมดามันไม่ยินดีแก่กันและกันได้ เพราะมันริษยา มันริษยาอยู่เป็นปกติ อย่างนี้มันไม่มีตัว ไม่มีตัวที่จะริษยาผู้อื่น ไม่มีตัวที่จะได้รับความริษยา ไอ้ความยินดีแก่กันและกัน มันจึงถึงที่สุด ถึงที่สุด ยินดีแก่กันและกันอย่างบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ใจ แล้วก็ถึงที่สุด นี้เรียกว่า มุทิตา มันก็มาจากความไม่เห็นแก่ตัว
ข้อที่สี่หรือข้อสุดท้าย คือ อุเบกขาๆ แปลกันผิดๆ เข้าใจกันผิดๆ เข้าใจว่า เฉย หรือ หยุด หยุดด้วยประการทั้งปวง คำนี้ตัวหนังสือภาษาบาลี อุเบกขา แปลว่า เพ่งดูๆ จ้องดู เฝ้าดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ เดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้ เอ้า ก็เพ่งดู จ้องดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ แม้แต่ว่าจะเฉยๆ ไม่เฉย ต้องการเพ่งดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ นี่ความหมายของคำว่า อุเบกขา ถ้าเห็นแก่ตัว ก็ไม่ยอมเสียเวลามาคอยดู เฝ้าดู ไปนอนเสียดีกว่า แต่ถ้ามีอุเบกขาโดยถูกต้องแท้จริง คอยจ้องดูเมื่อไรจะช่วยได้ก็จะช่วยทันที แปลว่าอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะช่วย แม้ว่าเดี๋ยวนี้ยังช่วยไม่ได้ก็คอยดูว่าเมื่อไรจะช่วยได้ นี่คืออุเบกขา ผู้เห็นแก่ตัวไม่ทำหรอก ผู้เห็นแก่ตัวไปนอน ไม่ทำหรอก อุเบกขาก็ต้องมาจากความไม่เห็นแก่ตัว ตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็เช่นว่า ขับรถยนต์นี้ เมื่อถนนก็ดีแล้ว ถนนก็ดีแล้ว ทัศนวิสัยก็ดีแล้ว รถยนต์ก็ถูกต้องแล้ว ระบบไฟก็ถูกต้องแล้ว ระบบน้ำมันก็ถูกต้อง ระบบหล่อลื่นก็ถูกต้อง มีความถูกต้องที่รถยนต์หมดแล้ว ผู้ขับรถก็เพียงแต่จับพวงมาลัยอยู่เฉยๆ จับพวงมาลัยอยู่เฉยๆเท่านั้นแหละ มันรวมความถูกต้องทุกอย่างๆไว้หมด จับพวงมาลัยอยู่เฉยๆ รถก็ไปถึงที่ๆ ควรจะไปถึง อุเบกขาที่แท้จริงมันเป็นอย่างนี้ มันรวมความถูกต้องอยู่แล้วปล่อยมันไป ปล่อยมันไปของมันเองเฉยๆ แล้วก็ถึงจุดหมายปลายทางได้ นี่ใช้อุเบกขาให้ถูกต้องโดยไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้วมันก็พร้อมที่จะเฝ้าดู เฝ้าดู แล้วจะช่วยทันที ช่วยทันทีเมื่อต้องช่วย เดี๋ยวนี้พร้อมแล้วก็อยู่เฉยๆ พร้อมแล้วก็อยู่เฉยๆ ก็ไป
ที่กล่าวทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เห็นแก่ตัว มีความเห็นแก่ตัวนั้น เมตตาไม่ได้ มันกรุณาไม่ได้ มันมุทิตาไม่ได้ มันอุเบกขาไม่ได้ ถ้ามันมีความเห็นแก่ตัว พอไม่มีความเห็นแก่ตัว มันมาโดยอัตโนมัติ เมตตาแท้จริง กรุณาแท้จริง มุทิตาแท้จริง อุเบกขาแท้จริง มันเป็นอย่างนั้น มันก็จึงต้องมีความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป
ทีนี้ก็จะได้พูดกันถึงเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว ขอให้ตั้งใจฟังกันให้ดี ลัทธิอื่นโดยมาก ลัทธิศาสนาโดยมาก มันสอนว่ามีตัว มีตัว แล้วก็ต้องระวังตัว ต้องฝึกตัว ฝึกตัว ควบคุมตัว อย่าให้เห็นแก่ตัว บทเรียนก็มาก พระพุทธศาสนามาสอนให้เห็นความจริงของธรรมชาติ ว่าโอ้มันไม่มีตัว ถ้าเห็นความไม่มีตัวของธรรมชาติแล้ว มันก็ไม่เห็นแก่ตัวโดยอัตโนมัติ พุทธบริษัทจึงพยายามศึกษาๆๆ จนเห็นว่า โอ้ มันไม่มีตัวๆ ความรู้ของเรามันนำไปในทางที่ให้เห็นว่าไม่มีตัว เมื่อมันไม่มีตัวแล้วจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร มันก็ไม่เห็นแก่ตัวโดยอัตโนมัติ มาศึกษาข้อที่ว่า ไม่มีตัว ไม่มีตัว กันให้ดีเป็นพิเศษ
ความไม่เห็นแก่ตัวนี้มีอยู่เป็น ๒ ระดับ เป็น ๒ ระดับ คือ ความรู้สึกที่ว่าไม่เห็นแก่ตัว Non-selfish ไม่ Selfish นี่ระดับแรก ถ้ามันสูงขึ้นไปๆ มันก็กลายเป็นไม่มีตัวเอาเสียเลย นี่มันเรียกว่า Selfless ไม่มีตัวเสียเลย มันเป็นพระอรหันต์ เป็นบุคคลสูงสุดในพุทธศาสนา ไอ้ Non-selfish นี้ระดับคนธรรมดาทั่วไป มีสติปัญญาบังคับไว้ไม่ให้เห็นแก่ตัว ความรู้สึกว่ามีตัวมันก็มีอยู่ แต่ถูกบังคับไว้ไม่ออกมา ก็เลยไม่เห็นแก่ตัวได้เหมือนกัน เป็น Non-selfish และต่อมาศึกษาๆๆ จนรู้แจ้งแล้ว โอ้ ตัวไม่มีๆ มันขาดไปจากความรู้สึกในสันดาน ในจิตใจแล้ว นี้ก็แน่นอน เด็ดขาดไปเลย เป็น Selfless แบ่งเป็น ๒ ระดับอย่างนี้แหละ อันหนึ่งเป็น Non-selfish อันหนึ่งเป็น Selfless ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวหรือ Self นี่ มันไม่ได้มีอยู่จริง มันไม่ได้เป็นของจริง ไม่ได้เป็นวัตถุ แล้วก็ไม่ได้เป็นของจริงในความหมายใดๆ มันเกิดมาจากความคิดผิด คิดผิดๆ เป็น Misconcept ออกมาเป็นความรู้สึกว่า Self มันมาจากความคิดผิด ความคิดผิดส่งออกมา เป็นความรู้สึกว่า Self ถ้าไม่มีความคิดผิดนะ ไอ้สิ่งนี้ก็ไม่มี ก็ไม่ออกมา เรามีความคิดให้ถูกต้อง อย่าได้มีไอ้ความคิดผิด ไอ้ Self เป็นเพียงผลของ Misconcept รักษาไว้อย่าให้มี Misconcept มันก็ไม่ต้องมีตัว
ตามหลักพระพุทธศาสนาเราถือว่าชีวิตนี้ประกอบไปด้วยของ ๒ สิ่ง คือร่างกายและก็จิต Body กับ Mind มี ๒ อย่างเท่านั้น ไม่ได้มีสิ่งที่สาม คือ Self มันไม่ได้มี แต่พอโง่เมื่อไร มี แล้วเข้ามาเป็นสิ่งที่สาม แล้วมีอย่างชนิดที่หลอกลวงที่สุด หลอกให้เห็นว่ามีๆ มันจึงมีสิ่งที่สาม คือ Self ระวัง อย่าโง่ อย่าเข้าใจผิด รู้ตามที่เป็นจริงที่ถูกต้องอยู่เสมอว่า โดยที่แท้มันมี ๒ สิ่งเท่านั้น คือร่างกายกับจิตใจ ใน ๒ สิ่งนั้น ๒ ส่วน ส่วนแรกเรียกว่ากาย body ในส่วนที่เป็นกายนี้มันประกอบกันเข้าตามธรรมชาติ แล้วก็มีสิ่งที่เรียกว่าระบบประสาท ทางพุทธศาสนาถือว่าระบบประสาทนี้เป็นเรื่องกายไม่ใช่เรื่องจิต ไม่ใช่เรื่องจิต มันมีระบบประสาทที่คอยรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันก็เกิด เป็นเกิด (นาทีที่ 53.33) สิ่งวิเศษเป็นเรื่องทางใจอันสุดท้าย ระบบประสาทมีอยู่ที่ ๕ ห้าคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ตารู้สึกรูป หูรู้สึกเสียง จมูกรู้สึกกลิ่น ลิ้นรู้สึกรส ผิวกายรู้สึกในสิ่งที่มากระทบกาย มันเป็นเพียงความรู้สึกของระบบประสาท แต่พอระบบประสาทมันส่งไอ้ความรู้สึกนี้ไปที่จิตนี่ จิตมันโง่ๆว่านี่กู ไม่ใช่ความรู้สึกของระบบประสาท มันว่าความรู้สึกของกู นี้คือความลับข้อแรก ข้อสำคัญ จิตมันโง่เอาความรู้สึกของระบบประสาทมาเป็นความรู้สึกของกู
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น กินๆ ของอร่อย คือกิน เป็นของที่อร่อย ระบบประสาทที่ลิ้นมันรู้สึกว่ารู้สึกอย่างนั้น มันรู้สึกว่าอย่างนั้นแหละ คืออร่อย ระบบประสาทที่ลิ้นรู้สึกอร่อย พอมันส่งความรู้สึกอันนี้ไปที่ใจ ไปที่ใจ ใจมันก็กินไปด้วย กูอร่อยๆ ไม่ได้ยอมรับว่าอยู่เพียงระบบประสาทที่ลิ้นว่าอร่อย กูอร่อยๆ ถ้าลองเปรียบเทียบกันดูซิว่า มันต่างกันมากนะ ลิ้นอร่อยกับกูอร่อย ต่างกันมากนะ สร้างปัญหาต่างกันมาก นี้ไอ้คำว่า “กู” ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นมายา เป็นผีหลอก เกิดขึ้นมาจากความโง่ ความโง่ เมื่อระบบประสาททำงาน รู้สึกแล้ว มันโง่ มันกลายเป็นของกูไปเสีย ในชีวิตของมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ ถ้าระบบประสาทลิ้นมันไม่อร่อย มันก็ไม่ได้ทำอะไรใครนี่ มันก็แก้ไขปัญหาอร่อยได้เหมือนกัน แต่ถ้ามันเป็นกูอร่อย หรือกูไม่อร่อย ถ้ากูไม่อร่อย มันก็ลงโทษแม่ครัวพ่อครัว ว่าจะตัดเงินเดือนหรือมันจะทำอะไร พ่อครัวทำไม่อร่อย เปรียบเทียบกันดูซิว่า ระบบประสาทไม่อร่อยก็อย่างหนึ่ง กูไม่อร่อยก็อย่างหนึ่ง แล้วผลมันเกิดขึ้นต่างกันมาก เป็นปฏิกิริยาที่ต่างกันมาก แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ไปเสียทุกอย่างในชีวิตประจำวันของคน
นี้โดยทั่วไปในระบบตา ระบบประสาทที่ตา เรียกว่าตา ระบบประสาทตาเห็นรูป จิตมันไม่คิดไม่รู้สึกอย่างนั้น กูต่างหากเห็นรูป self กูเห็นรูป ระบบประสาทหูได้ยินเสียง มันก็ไม่ว่าๆ ระบบประสาทหู กูมันได้ยินเสียง ระบบประสาทที่จมูกได้กลิ่น ว่ากูมันได้กลิ่น ระบบประสาทที่ลิ้นรู้รส ว่ากูรู้รส ระบบประสาทผิวหนังทั่วไปรับรู้สัมผัส มันว่ากูสัมผัส มันมีกูออกมา มันมีกูออกมา ทั้งที่ว่าเรื่องแท้จริงมันเป็นเรื่องของระบบประสาท เรื่องของร่างกาย
ทีนี้มาดูซิว่า มันมีเมื่อไหร่ ไอ้ Self หรือกูที่เห็นที่ได้ยิน มันมีเมื่อไหร่ มันไม่ได้มีอยู่ มันไม่ได้เกิดอยู่ก่อน มันเพิ่งเกิดเมื่อตาเห็นแล้ว หูได้ยินแล้ว จมูกได้กลิ่นแล้ว ใน Concept ว่ากูมันจึงจะเกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่ากูไม่ได้เกิดอยู่ ไม่ได้เกิดรออยู่สำหรับจะเห็น สำหรับจะทำ หรือสำหรับจะ... มันเพิ่งเกิดทีหลัง เมื่ออวัยวะ ตา หู จมูกนั้นมันได้ทำงานลงไปแล้ว ได้ทำลงไปแล้ว หรือได้รับความรู้สึกจากการกระทำแล้ว กูจึงค่อยเกิดขึ้น ฉะนั้นกูจึงไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นปฏิกิริยาของไอ้ Misconcept ของอวิชชา เมื่อกูเพิ่งเกิดมา กูเพิ่งเกิดมาเมื่อมีการกระทำแล้วมีความรู้สึกแล้ว มิได้เกิดรออยู่เพื่อจะรู้สึก ไม่ใช่ มันเป็นปฏิกิริยาของการกระทำและความรู้สึกทางการกระทำ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า Self นั้น มันไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของจริง เป็น Illusive (นาทีที่ 63.25) เป็นของหลอกทั้งนั้นแหละ เขาเรียกว่ามันเป็นผีหลอก เพิ่งเกิดๆ เมื่อมีการกระทำและมีผลของการกระทำแล้ว แต่คนก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น คนรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญมาก เกิดอยู่ตลอดเวลา รออยู่ตลอดเวลา ลัทธิอื่นนี้ถือว่า Self นี้มีอยู่ตลอดเวลา รออยู่ตลอดเวลา พุทธศาสนาถือว่าเพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ก็มีสิ่งเป็นมายาไม่ใช่ตน สรุปความว่ามันไม่ใช่ตน ไอ้ตัวผู้กระทำนั้นมันไม่ได้มีจริง แต่มันเกิดโง่ขึ้นมาว่ามีเมื่อมีการกระทำๆเสร็จแล้ว
ศาสนาอื่น ลัทธิอื่น โดยเฉพาะลัทธิฮินดู Hinduism เขาสอนว่ามีสิ่งที่เรียกว่าตน ว่าอัตตา ว่าตนนั้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมาทำหน้าที่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เสร็จแล้วมันก็กลับไปรออยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่ามันมีอยู่ตลอดเวลา แล้วเขาจึงสอนว่ามีอัตตา มีอัตตาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพุทธศาสนาว่าไม่ มันไม่มีสิ่งอย่างนั้นนะ ไอ้ความคิดรู้สึกว่าตน ว่าตนนี้มันเพิ่งเกิดเมื่อมีการกระทำ ไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีตัวตนอยู่ตลอดเวลา เป็นเพียงปฏิกิริยาจากการกระทำ เขาจึงสอนว่าไม่มีตนหรืออนัตตาๆ ไม่ใช่ตน มีสิ่งที่มิใช่ตน มันต่างกันอย่างนี้ พวกนี้สอนว่ามีตนอยู่ตลอดเวลา พวกนี้ไม่ได้สอนว่ามีตนอยู่ตลอดเวลา เป็นเพียงความรู้สึกผิดๆ เกิดขึ้นมาจากการกระทำ เพราะมันไม่มีความรู้ เพราะมันโง่ มันมีอวิชชา มันไม่มีความรู้ มันจึงคิดว่าตนๆเป็นผู้กระทำ ทั้งที่แท้มันเป็นการกระทำของระบบประสาท ท่านจงเข้าใจความสัจแท้อันตรงกันข้ามระหว่างลัทธิที่สอนว่ามีตน กับลัทธิที่สอนว่าไม่มีตน ให้เห็นความแตกต่างกันอย่างนี้เสียก่อน
ตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่าเด็กทารกตัวเล็กๆ มันเดินไปชนเก้าอี้ ความโง่ก็เกิดขึ้นว่าไอ้เก้าอี้นั้นก็เป็นตัวตน เป็นตัวตนที่เก้าอี้เป็นตัวตนอีกตัวหนึ่ง แล้วฉันก็เป็นตัวตนของฉัน ไอ้ตัวตนนั้นทำอันตรายฉัน ดังนั้นฉันก็ต้องทำอันตรายตอบ เด็กก็เตะเก้าอี้เลยๆ ความรู้สึกอันนี้มันเป็น Mechanism ของความโง่ตามธรรมชาติของอวิชชา เป็น Mechanismโดยธรรมชาติ มันจึงเกิดความรู้สึกว่าเก้าอี้เป็นตัวตน ฉันเป็นตัวตน ฉันจึงเตะเก้าอี้ นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ในสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีตัวตนเกิดขึ้นมาอย่างที่ไม่ได้มีอยู่จริง ถ้า Concept ที่เรียกว่า Self ไม่เกิดกับเด็ก เด็กก็ไม่เตะเก้าอี้ แต่นี้มันเกิดนี่ ความคิดที่โง่ด้วยอวิชชาว่า Self นี่ เก้าอี้เป็น Self ฉันก็เป็น Self ฉันก็เตะเก้าอี้ ถ้าเขาไม่เกิดความรู้สึกว่า Self เด็กก็ไม่เตะเก้าอี้ เรื่องอื่นก็เหมือนกันๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา จิตก็เอาเป็น Self หมด นี่เป็นบ่อเกิดของความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว มันเตะเก้าอี้ก็เพราะเห็นแก่ตัว มันมาทำอันตรายฉันแล้วฉันจะต้องตาย ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้มันก็เกิดขึ้นมา เมื่อเกิดความเห็นแก่ตัวอย่างนี้แล้วก็รักใครไม่ได้ รักผู้อื่นไม่ได้ เห็นแก่ความถูกต้องไม่ได้ มันก็ต้องฆ่าฟันกัน มันก็ต้องทำร้ายกัน ความเห็นแก่ตัวนี่เป็นเหตุให้ทำร้าย
ทีนี้ปัญหามันมากออกไปอีกแง่หนึ่งคือว่า ถ้ามันมีความคิดว่า Self แล้ว มันมีแต่จะเอาทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ Self นั้นนะ มาเป็น Ourselves เป็นของตนขึ้นมา ตัวตนมีอยู่ก่อน ถ้ามีอะไรมาเกี่ยวข้องก็เป็นของตนขึ้นมา มันรวมเป็นตน นี้แหละของตน ความหมายมันก็มากยิ่งขึ้น มีตัวตน มีครอบครัวของตน มีเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติ ทั้งหลาย ของตนๆ มันรวมกันทั้งสองอย่าง น้ำหนักหรือความหมาย ความเห็นแก่ตนมันก็มากขึ้น ตนและของตน พุทธศาสนาต้องการจะให้รู้ความจริงข้อนี้ว่ามันไม่มีตนและของตน เรามีความรู้ที่จะรู้ว่าไม่มีตนเสียก่อน ถ้าไม่มีตนแล้วไอ้ของตนมันก็มีไม่ได้ เพราะมันไม่มีตน ถ้าเรารู้เรื่องไม่มีตน ไอ้เรื่องของตนมันก็พลอยไม่มีไปด้วย นี้เรามามีการศึกษาให้เห็นชัดว่ามันมิใช่ตน มันเป็นเพียงความคิดโง่ๆ ของอวิชชาว่ามีตน หากความรู้เรื่องว่าไม่มีตนไม่มีตนนี้ เมื่อกล่าวโดยละเอียดๆ ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วเราก็เรียกว่าความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทเมื่อเป็นไปอย่างถูกต้องถึงที่สุดแล้ว มันจะเห็นชัดเองว่าไม่มีตน ความคิดจะมีตนเกิดไม่ได้ เราจึงต้องศึกษาถึงเรื่องถัดไป คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เราจะไม่มีตนได้ก็เพราะมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะ ความจริงเรื่องปฏิจจสมุปบาทจะเรียกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็ได้ ที่เรียกว่าเป็นตัวๆ ทั้งตัวของพุทธศาสนาก็ได้ ถ้าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทรู้ ก็คือรู้พระพุทธศาสนาที่เป็นตัวหรือเป็นหัวใจ ขอให้สนใจ มันจะนำไปสู่ความรู้เรื่องไม่มีอัตตา
ทีนี้เราก็มาศึกษาหัวใจของพุทธศาสนากันเลย
เอบีซีของปฏิจจสมุปบาทตั้งต้นลงที่ว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใครบ้างที่ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใครบ้างไม่รู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่ามันรู้ไม่ถึงที่สุด เดี๋ยวจะต้องรู้กันให้ถึงที่สุด หกอย่างนี้มันมีอยู่ในร่างกายนี้ เราจึงเรียกว่าส่วนที่มันอยู่ข้างใน เป็น Sense Organ สำหรับจะรู้จัก Sense ทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายข้างใน ที่อยู่ฝ่ายข้างนอกที่จะเข้ามากระทบ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อีกหกเหมือนกัน มันเป็นคู่กันกับข้างใน ก็เรียกว่า Sense Object ที่อยู่ข้างนอก เดี๋ยวนี้เรารู้จักทั้งสองอย่างแล้ว ที่ข้างในมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้คือ เอบีซีของเรื่องปฏิจจสมุปบาท เราไม่อาจจะเรียนจากหนังสือ ถ้าเราเรียนจากหนังสือไม่รู้ ก็เรียนจากตัวจริง จากของจริง คือเรียนจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเรียนจากสิ่งที่อยู่ข้างนอกที่เข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันต้องเรียนจากของจริงอย่างนี้ ถ้าจะเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท
เมื่อ Sense Object จากข้างนอกมากระทบกับ Sense Organ ข้างใน อันมาถึงกันเข้าอย่างนี้ ก็เกิดสิ่งใหม่ คือ วิญญาณ หรือ Consciousness มันต้องเห็นชัดเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้จริง Sense Object ข้างนอกมากระทบ Sense Organ ข้างใน มันเกิดสิ่งที่สามขึ้นมาเป็น Consciousness คือ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก หกวิญญาณอย่างนั้นแหละ นี้สามอย่างแล้วนี้ ที่เรียกอายตนะภายใน ภายนอกแล้วก็วิญญาณ สามอย่าง เมื่อสามอย่างนี้ทำงานอยู่ด้วยกัน ทำงานร่วมกันอยู่ด้วยกันแล้วก็เรียกว่า ผัสสะหรือ Contact มันได้ที่ (นาทีที่ 89.26) มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะมี Contact อย่างนี้ มันก็เกิดเวทนา ไอ้ความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา ซึ่งแบ่งออกได้เป็นบวกหรือเป็นลบ เวทนานี้มีอย่างบวกหรือมีอย่างลบ เวทนาที่เป็นบวก คือ พอใจนะ มันก็ทำให้ มันยั่วให้อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไอ้เวทนาที่เป็นลบ ไม่พอใจ มันก็ยั่วให้ฆ่าเสีย ทำลายเสีย ถ้าเรียกสั้นๆว่า ถ้าเป็นบวกมันก็ Put In เป็นลบก็ Put Out มันจึงมีเวทนาอยู่สองชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันของคนเรา สิ่งนี้มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รู้จัก ก็ลองคิดดูเถอะว่าจะเป็นคนโง่สักเท่าไร ต่อไปว่าเมื่อมันมี Feeling อย่างบวก มันก็อยากจะได้ เกิดตัณหา เรียกว่าตัณหา Craving, Desire การอยากจะได้ ถ้ามันเป็น Feeling อย่างลบก็เกิดตัณหา Desire ที่จะทำลายเสีย นี่เรียกว่า Feeling ที่เกิดนิสัย ตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติอย่างที่จะช่วยไม่ได้ คำว่าต้องการ ต้องการ ล้วนๆ ซึ่งมันมีอยู่ ๒ ชนิด ถ้าต้องการด้วยความโง่ ความไม่รู้ความจริง มันก็เรียกว่า Desire บ้าง Craving บ้าง แต่ถ้ามันมีสติปัญญารู้จริง รู้จริง ความต้องการไปตามอำนาจความรู้จริงนี้ไม่เรียกว่า Desire ไม่เรียกว่า Aspiration (นาทีที่ 94.54) หรือเป็นอะไรไปตามนู้น มันตรงกันข้าม แต่ในกรณีธรรมดาของคนทั่วไปมันไม่เกิด Aspiration (นาทีที่ 95.07) มันเกิด Desire, Craving คือว่า Feeling ให้เกิด Desire
ทีนี้ขั้นสำคัญมาถึง ความอยากหรือ Want ที่มีเป็นความอยาก เป็นความรู้สึกอยาก พอความอยากเกิดขึ้นในใจเต็มที่แล้ว ความโง่ก็มา พอมีตัวกูผู้อยาก มีตัวกูผู้อยาก ตัวกูผีหลอก ไม่ใช่ตัวจริงก็เกิดขึ้น เพราะมันมีความอยากแห่งจิต แห่งจิตใจมันอยากๆๆ แล้วก็โง่ทับลงไปว่า กูอยากๆ นี้ไอ้ความหมายแห่ง Self หรือตัวตนมันก็เกิดขึ้นตอนนี้ คือ มันมีความอยากเต็มอยู่ในใจ แล้วก็โง่ไปว่ามีตัวกู กูอยากอย่างนั้น กูอยากอย่างนี้ ถ้าเป็นบวกก็อยากจะเอา ถ้าเป็นลบก็อยากจะฆ่าเสีย Self จึงเกิดขึ้นมาเป็นผีหลอก แต่ว่ามันมีอำนาจเหลือประมาณ ทำอะไรได้ทุกอย่างละ แม้มันจะเป็นเพียง Illusive แต่มันก็มีอำนาจมากเหลือเกิน
เมื่อความรู้สึกโง่ว่าตัวกูเกิดแล้วนะ อุปาทานเกิดแล้ว อุปาทานก็ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะ (นาทีที่ 97.53) ไอ้คำนี้ความหมายแปลยาก มันมีลักษณะเป็นว่า ถ้าเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ มันเป็น Becoming (นาทีที่ 98.07) จนกระทั่ง Existence มันตั้งต้นด้วย Becoming (นาทีที่ 98.14) แล้วเป็น Existence ขึ้นมา อาการนี้เรียกว่า ภาวะ (นาทีที่ 97.18) ความรู้สึกว่าตัวกูเลยเกิดขึ้นแล้วก็ได้ตั้งอยู่นี้เรียกว่า ภาวะ (นาทีที่ 98.25) เรียกสั้นๆ ว่า Existence แห่งตัวกู
เมื่อความรู้สึกว่า ภาวะ (นาทีที่ 99.48) ตัวกูมีอยู่นี้ มันเต็มที่ๆ แล้วมันก็ระเบิดออกมา เรียกว่า “ชาติ” “Birth” ได้เกิดขึ้น ไอ้ตัวกูก็แสดงบทบาท แสดงบทบาท ชาติๆ เกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำอะไรไปตามที่มันโง่ มันก็ต้องมีปัญหา เกิดขึ้นก็ชาติๆนี่เอง เกิดทางวิญญาณ เกิดทาง Spiritual ไม่ใช่เกิดทางท้องแม่ ไม่ใช่เกิดทางครรภ์ของมารดา นี่เกิดอยู่ทุกวัน วันละมากมาย วันละมากมาย ชาติเป็นตัวเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตน เห็นแก่ตนก็เพราะไอ้หมอนี้ เกิดทางท้องมารดา มันเกิดทางวัตถุ ไม่เป็นปัญหาล่ะ ที่เดียวเสร็จแล้ว หมดแล้ว แต่เกิดทาง Mental หรือทาง Spiritual เกิดแล้วเกิดอีกๆทุกวัน วันละหลายครั้ง หลายสิบครั้ง นี้คือตัวปัญหา เกิดตัวกูแล้วมันก็เกิดความเห็นแก่ตัว มันมี Self แล้วมันก็มี Selfish นะ Selfish ก็จะทำเป็นไปในทางที่เรียกว่ากิเลสนะ เห็นแก่ตัว กิเลส เป็นความรัก เป็นความโกรธ เป็นความเกลียด เป็นความกลัว สารพัดกิเลส มันเกิดมาจากความที่โง่ว่ามีตัวกู มีตัวกู
นี้คือความรู้อันสูงสุดเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตั้งแต่ ก ถึง ฮ ตั้งแต่อัลฟ่าถึงโอเมก้า คือมันเกิดอาสนะ แล้วลำดับๆมาจนเกิดตัวกูอย่างที่ว่ามาแล้ว อันนี้ต้องรู้จัก เพราะมันเป็นทางเกิดแห่งตัวตน แล้วมันก็เป็นเหตุให้เห็นแก่ตน ถ้าท่านควบคุมได้ ควบคุมได้ มันก็ไม่มีความเห็นแก่ตน จึงขอร้องให้ศึกษาให้เป็นพิเศษเพื่อควบคุมมันให้ได้ กระแสเกิดแห่งตัวตนนี้ ควบคุมมันให้ได้
ทุกๆคำ ทุกๆเรื่อง มีอยู่ในตัวเรา ชีวิตเรา เรายังไม่เห็น เรายังไม่เห็นก็แย่เหลือเกิน แล้วก็ช่วยไม่ได้ เว้นแต่ว่า Sense Organ, Sense Object, Consciousness, Touching, Feeling, Wanting, Attachment, Existence, ชาติ (นาทีที่ 105.26) มันมีอยู่จริง มีอยู่จริง วันหนึ่งๆหลายสิบรอบๆ หลายร้อยรอบก็ได้ มีอยู่จริง ชีวิตนี้ แต่ไม่รู้จัก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถจะควบคุมความเห็นแก่ตัว ถ้าเราต้องการจะควบคุมความเห็นแก่ตัว เราต้องรู้จักกระแสนี้ Stream of ปฏิจจสมุปบาท แล้วเราจะควบคุมมันได้ เราก็ไม่เห็นแก่ตัวๆ เราสามารถจะมีธรรมิกสังคมนิยมได้เพราะไม่เห็นแก่ตัว มันมีอยู่ ๑๒ คำเท่านั้นแหละๆ ขอให้รู้จัก ให้ควบคุมให้ได้ Sense Organ, Sense Object, Consciousness, Touching, Feeling, Wanting, Attachment, Existence, Birth (นาทีที่ 105.26) ๑๒ คำเท่านั้นแหละ ถ้าควบคุมไอ้ ๑๒ อย่างนี้ได้แล้ว ก็ไม่เกิด Self ไม่เกิด Self ก็ไม่เกิด Selfish หรือ Selfishness ปัญหาก็ไม่มี ฉะนั้นขอร้องว่าถ้าท่านจะศึกษาหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว จงศึกษาเรื่องนี้ คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ๑๒ คำเท่านั้น
ปัญหามันก็มีอยู่ว่าเราจะต้องมีสติปัญญาความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้องมาควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาท อย่าให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ คือให้มันเกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามีความรู้ถูกต้องเพียงพอแล้วเราก็มีสติ My Goodness (นาทีที่ 109.52) เพียงพอ มีสติ มีปัญญา มีสมาธิ มีสัมปชัญญะเพียงพอ เราก็ควบคุมกระแสเหล่านี้ไว้ได้ มันไม่เกิด Self มันไม่เกิด Selfishness แล้วเราก็จะอยู่กันอย่างผาสุก ทุกคนจะอยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย ทุกคนอยู่กันผาสุกเพราะไม่มีความความเห็นแก่ตัวเลย เราฝึกให้มีสติเหล่านี้แล้ว เราก็ควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ มันก็ไม่เกิดเห็นแก่ตัวอีกต่อไป ปัญหายังเหลืออยู่แต่ว่าฝึกอานาปานสติ ที่มาฝึกกันอยู่ทุกเดือนต้นเดือนที่เซ็นเตอร์ ก็ฝึกนี้ ฝึกอานาปานสตินี้ ฝึกสำเร็จก็ควบคุมปฏิจจสมุปบาทได้ เราก็ชนะ Self ไม่มี Selfish ไม่มี Selfishness ไอ้เรื่องอานาปานสติมันยืดยาวไปอีกเรื่องหนึ่ง จะพูดวันนี้ก็คงไม่ได้ ไม่พอ ไม่ทันเวลา ไปหาความรู้เพิ่มเติมเอา ฝึกอานาปานสติได้อีกเรื่องหนึ่งก็จบๆ มีสติควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาท แล้วไม่เกิด Self แล้วก็ไม่เกิด Selfish แล้วเราก็สามารถมี Dhamic Socialism (นาทีที่) เมื่อเราไม่มี Selfishness แล้ว ก็มีพรหมวิหาร ๔ โดยอัตโนมัติ เมื่อทุกคนในโลกมีพรหมวิหาร ๔ แล้วโลกนี้ก็มีแต่สันติภาพ สันติภาพ บุคคลแต่ละคนอยู่ด้วยความเป็นสุขสงบเย็น Peacefulness ไม่เห็นแก่ตัว Useful ต่อบุคคลทั้งหลาย ผลก็เกิดขึ้นเป็น Peacefulness and Usefulness ควบคู่กันไป เรื่องก็จบ เรื่องก็จบ เพราะไม่มีความเห็นแก่ตัว
ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลาย อดทนฟังมา ๒ ชั่วโมงแล้ว เป็นผู้ฟังที่ดี อดทน ๒ ชั่วโมงแล้ว ต้องขอยุติการบรรยายสำหรับวันนี้เพียงเท่านี้ ขอปิดประชุม