แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาและท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้คือมาหาความรู้เรื่องเกี่ยวกับธรรมะเพื่อไปใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่การงานของตนของตนให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นมันประหลาดหรือมหัศจรรย์และยังมีความเร้นลับที่ยังไม่ทราบกันอยู่อีกเป็นอันมาก แต่ที่อยากจะให้ทราบให้ชัดเจนแน่นอนที่สุดก็คือว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงอยู่ในธุรกิจวิทยาการทั้งหลายทุกอย่างทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร แล้วจะมีธุรกิจอย่างไรก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเข้าไปเจืออยู่ เพราะคำว่าธรรมะมันมีความหมายกว้างทุกอย่างนั่นเอง และจะมีการศึกษาในลักษณะวิทยาการ จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเข้าไปปรากฏอยู่อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง คำว่าธรรมะ มะนี่ประหลาด ดังนั้นจึงมีเหตุผลที่จะแสดงยินดีแก่ท่านทั้งหลายที่มาแสวงหาธรรมะ เพื่อประโยชน์แก่กิจกรรมอันเป็นหน้าที่ของตนของตน และอยากจะขอร้อง แนะนำอะไรก็แล้วแต่ว่า ท่านควรจะจดจำเอาไปให้ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ไม่จดไม่จำไว้อย่างจริงจังมันก็จะไม่มีเหลืออยู่ มันจะไปอยู่ใน มันควรจะไปอยู่ในสมุดบันทึกประจำตัวหรือสิ่งงดงาม ใช้เป็นประโยชน์เปิดดูได้ทันที มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่บรรยายนี้เป็นหลักสำคัญๆ ของธรรมะนั่นจะตกอยู่กลาดเกลื่อนที่ตรงนี้ เกะกะจนไม่มีทางเดิน หลักธรรมะที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้มันจะตกเกะกะอยู่เกลื่อนอยู่แถวนี้จนไม่มีทางเดิน สังเกตดูว่าไม่ได้จดหรือไม่ได้จำกันไปกี่มากน้อย ถ้าอย่างนี้ก็คงจะต้องฟังกันจนตาย ถ้าไม่ทำให้เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ นี่จะกลายไปเหมือนกับว่าเป็นกบใต้กอบัวอยู่นั่นแหละ มันไม่ได้รับประโยชน์กลิ่นหอมของดอกบัว ภิกษุสามเณรที่นี่บางคนก็เป็นอย่างนั้นน่ะไม่ได้มีแต่คนอื่น แม้ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ที่นี่บางคนก็มีลักษณะอย่างนี้ที่เรียกว่ากบใต้กอบัว วิเคราะห์ให้ระวังให้ดี ให้มันเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้สมค่าของมัน สมค่าของมันถึงจะมีประโยชน์ และกิจการของท่านทั้งหลายก็จะประสบความสำเร็จและมีความเจริญก้าวหน้า ที่นี้ก็อยากจะปรารภถึงเรื่องเวลา ที่เราจะมาพูดกันในเวลาอย่างนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์สุขของการนอน มันนอนก็ไม่อยากมาฝืนมา นี่มันก็น่ากลัวเหมือนกัน เป็นเวลาที่คนโดยมากกำลังพอใจในการนอน นอนจนเที่ยงจนสาย อันที่จริงนั้นเวลาอย่างนี้ ตีห้าควรจะใช้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยหลักของธรรมชาติเป็นเวลาที่เบิกบานหรือกำลังจะเบิกบานของสิ่งที่มีการเบิกบานเช่นดอกไม้ทั้งหลาย โดยมากมันก็จะเริ่มเบิกบานในเวลานี้ จิตใจก็เหมือนกันแหละมันก็เบิกบานในเวลาอย่างนี้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสรู้ในเวลาอย่างนี้ คือเวลาหัวรุ่ง เป็นเวลาที่เบิกบานถึงจุดสูงสุดของจิตใจ คือง่ายต่อการที่จะรู้ เลยกลายเป็นเวลาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือเวลาอย่างนี้ จึงเป็นโลกอีกชนิดหนึ่ง ขออภัยที่ต้องใช้คำหยาบที่คนโง่ไม่รู้จัก เป็นโลกอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนโง่ไม่รู้จักเพราะเขานอนอยู่ และก็ยังนอนอยู่จนเที่ยงจนสายตลอดชีวิต และเขาไม่ได้มาชิมรสของโลกชนิดนี้ว่าสดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นอย่างไร พร้อมที่จะเบิกบานอย่างไร มันเป็นโลกที่เขาไม่ได้เคยชิมจนกว่าเขาจะตื่นนอนมาทำอะไรๆ กันในเวลาอย่างนี้เสียบ้าง เขาจะรู้จักโลกอีกชนิดหนึ่งซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้สำเร็จดีกว่า อย่างน้อยก็ว่าได้ชื่นชมกับมัน จะมีอาการเบิกบานสำเริงสำราญเหมือนดอกบาน ดอกไม้บานยามเช้ากันบ้าง ถ้าไปนอนเสียก็ไม่เคยได้รับรสอันนี้ มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่ไม่เหมือนกันหรอก แต่ว่าคนโง่จะสังเกตไม่เห็นเพราะว่าเวลาวันคืน วันคืน วันคืนอย่างเดียว แต่มันไม่เหมือนกันหรอกบางเวลามันเหนื่อยอ่อน บางเวลามันสดชื่นแจ่มใส บางเวลามันสว่างไสวและรุ่งเรืองช่วยจัดมันให้สำเร็จประโยชน์ แต่สำหรับอาตมาคิดว่าที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือว่ามันเป็นเวลาที่ว่างอยู่ มันจะบรรจุอะไรลงไปโดยง่ายเพราะว่าเราพักผ่อนมาตลอดคืน พอตื่นขึ้นมาก็เหมือนกับภาชนะที่ยังว่างอยู่ยังใส่อะไรลงไปได้ ถ้ามันสว่างแล้วมีกิจการงานนั่นนี่แล้วมันก็บรรจุลงไปจนเต็ม มันก็เหมือนกับว่าถ้วยน้ำชาที่มันเต็มแล้วมันเติมไปอีกไม่ได้ นี่เรียกว่าสิ่งที่จะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ คือว่ามันยังว่างอยู่ก็เป็นโอกาสที่จะเติมเติมเติมอะไรลงไปใหม่ๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตและศึกษา ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตและศึกษาชื่นชมโลกชนิดนี้ ใช้โลกอย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ในเวลาอย่างนี้
ทีนี้ก็จะพูดถึงหัวข้อที่จะบรรยาย อาตมาก็ตั้งเอาเองตามพอใจหลังจากที่ได้ยินได้ฟังคำปรารภอะไรบางอย่างมาแล้วก็เห็นว่า ควรจะมีหัวข้อว่า ชีวิตะบริหาร ชีวิตบริหาร อ่านให้มันถูกต้องก็ชีวิตะบริหาร ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษาบริหารธุรกิจ วิชาบริหารด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งที่จะบริหารโดยกว้างขวางใหญ่โตลึกซึ้งกว่านั้นก็คือตัวชีวิต ทำตัวชีวิตเป็นธุรกิจซะเลยนั่นแหละจึงจะเอาประโยชน์ได้สำเร็จอย่างมากมาย ชีวิตนี้ต้องบริหาร ธรรมชาติให้มาเป็นเพียงต้นทุน ต้นทุนเท่านั้นแหละมาหากำไรเอาเองเถิด ไม่ใช่เรียกภาษาการพนันก็มันเป็นเดิมพัน เอาไปลงทุนเล่นการพนันหาประโยชน์เอาให้มากที่สุดตามที่จะมากได้ และชีวิตนี้มันก็คล้ายการพนันมันมีแพ้มีชนะระวังให้ดี มันแพ้ล้มละลายจนถึงฆ่าตัวเองมามากมาย พอชนะก็ร่ำรวยมีการบริหารชีวิตอย่างถูกต้อง ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะต้องถือว่าธรรมชาติให้มา หรือจะเชื่อว่าพระเจ้าให้มาก็แล้วแต่เถอะ แต่ทางชาวพุทธนี้ถือว่าธรรมชาติให้มา ก็เป็นหน้าที่ของผู้นั้นจะต้องบริหารให้มันเป็นประโยชน์ ถ้าไม่รับผิดชอบ ปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงว่าฉันไม่ได้ต้องการเกิดมา ไม่รู้ใครทำให้ฉันเกิดมาอย่างนี้ ไม่รับผิดชอบอันนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ละชีวิตนั้นจะเป็นหมันจะไร้ค่า จะไม่มีประโยชน์อะไร มันจะต้องรับผิดชอบทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา แต่บัดนี้มันเกิดมาแล้วจะไปฆ่าตัวตายเสียอีกมันก็ยิ่งโง่ แล้วต้องใช้สิ่งนี้แหละให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เข้าใจความหมายของคำว่าประโยชน์ให้ถูกต้อง อย่าเป็นแต่เพียงเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องสนุกสนานสรวลเสเฮฮาอย่างที่เป็นกันโดยมาก นั้นมันเป็นประโยชน์ของคนที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิต สิ่งที่เรียกว่าชีวิตควรจะต้องได้รับอะไรมากไปกว่านั้น ไม่เพียงแต่ว่ามีเงินมีทองใช้เหลือเฟือ สนุกสนานสรวลเสเฮฮา ได้ผ่านการสมรสอันมีเกียรติหรูหราที่สุดอย่างที่หวังกันอยู่ อย่างนี้มันเล็กเกินไปสำหรับธรรมะ แต่อาจจะใหญ่โตสำหรับชาวบ้าน บริหารชีวิตที่เรียกว่าชีวิตะบริหาร เราจะมาเสียเวลากันสักหน่อยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำแต่ละคำ แต่ละคำ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งก็ดูจะคุ้มค่า อยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าปริหาระหรือบริหาร บริหารมันนับตั้งแต่ทำให้มันรอดอยู่ได้และให้มันเจริญงอกงามไปตามลำดับกว่าจะถึงประโยชน์อันสุดท้าย ปริมันแปลว่า รอบ รอบ รอบโดยรอบ หาระหรือหะระแปลว่านำไป นำไป นำไป ก็ได้ความว่านำไปอย่างถูกต้อง อย่างถูกต้อง ถูกต้องและก็อย่างครบถ้วน ครบถ้วน ครบถ้วน ไม่ใช่(นาทีที่ 0.15.04) จุดจะนำกำลังถึงจุดปลายทางที่ควรจะได้รับ นี่คำว่าบริหารจะเป็นการบริหารหมู่คณะ บริหารสิ่งของ บริหารกิจการงาน บริหารอะไรก็มันก็จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง นี่มองในแง่ของคำว่าบริหาร ทีนี้มันยังยังมีคำที่เนื่องกันที่ควรจะทราบ คือเป็นคำบาลีมีใช้อยู่ในพระคัมภีร์ก็อีกคำหนึ่งก็ว่า สังโวหาร สังโวหาร หรือว่าสังโวหาระ โวหาระนี่เรารู้จักกันแต่เรื่องพูดจาเก่ง ทีนี้สังโวหาระมีความหมายเป็นเรื่องทำให้เกิดผลกำไรมากถึงที่สุดซึ่งได้แก่การค้าขาย สังโวหาระในภาษาบาลีแปลว่าการค้าขาย ถึงแม้แต่คำว่า โวหาระ โวหาระ ที่ใช้พูดจากันในถิ่นที่ต่างๆ ใครมีโวหารดีคนนั้นก็กอบโกยประโยชน์ได้มากเต็มเม็ด ไม่ใช่เป็นความกันใครมีโวหารดีก็ชนะความ สังโวหาระก็คือเครื่องมือสำหรับจะนำมาซึ่งกำไร กำไร เดี๋ยวนี้ก็ได้กล่าวแล้วว่าชีวิตนี้ธรรมชาติให้มาเป็นเดิมพันสำหรับพัฒนาเอาเอง ก็มาทำสังโวหาระ ทำการค้าโดยวิธีทางจิตทางวิญญาณให้ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุดเป็นสังโวหาระ ถ้าเป็นทางโลกก็ประสบความสำเร็จอย่างโลกๆ ที่เป็นทางธรรมะก็สำเร็จสูงขึ้นไปในทางธรรม แล้วแต่เราจะเอาอย่างไหนหรือเอาทั้ง 2 อย่าง ก็มันมีผลมีกำไรสูงสุดทั้ง 2 อย่าง ทางโลกก็มีเงินมีทองมีทรัพย์สมบัติมีหลักทรัพย์มีเงินสบาย มีแต่ทางโลกมันก็หมดไป แต่ทางธรรมมันยังหลือ เพราะแม้ว่าจะทำได้อย่างนั้นก็ยังมีความทุกข์บางอย่างเหลืออยู่มากในจิตใจถึงจะไปกระทำอีกทางคือทางธรรม มันสูงสุดจนพ้นปัญหาอยู่เหนือปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าสมบูรณ์ ทำการค้าขายถูกต้องสำเร็จสมบูรณ์ ทั้งฝ่ายร่างกาย ทั้งฝ่ายจิตใจ ดังนั้นคำว่าสังโวหาระก็ควรจะเข้าใจหรือนำมาใช้ ที่จริงมาศึกษาธรรม มาปฏิบัติธรรม มันก็ทำให้ชีวิตนี้มีประโยชน์สูงสุดนั่นแหละ มันเป็นการค้าขายในทางจิตทางวิญญาณอย่างถูกต้องอย่างซื่อตรง ไม่ใช่คดโกงเหมือนการค้าขายของชาวบ้าน
เอ้าทีนี้ก็มาถึงคำว่าชีวิตกันบ้าง ชีวิตคืออะไร เด็กๆ มันก็ตอบถูกในโรงเรียนชั้นเล็กๆ ก็ตอบถูก ครูก็บอกว่า ชีวิตคือความเป็นอยู่ความที่ยังไม่ตายก็ได้ ก็ได้เหมือนกันความที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตาย ต้องมีการพัฒนา พัฒนา พัฒนา ในชีวิตนี้มันมีความหมายลึกซึ้งตามลำดับ ตามที่ว่าจะรู้จักมันเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น รู้จักเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ในทุกแง่ทุกมุมว่าชีวิตนั้นคืออะไร ก็โดยสรุปแล้วชีวิตตัวชีวิตนั้นเป็นที่รองรับทุกสิ่ง ถ้าไม่มีชีวิตก็จะทำไปทำไม พอมีชีวิตทำอะไรๆ ก็ได้สำเร็จประโยชน์แก่ชีวิต ชีวิตจึงเป็นที่รองรับที่รวบรวมเป็นรากฐานของทุกสิ่ง มันมารวมลงอยู่ในตัวชีวิต ที่เราจะต้องดูว่าทำอย่างไรมันจึงจะเป็นสิ่งที่สามารถรวบรวมรองรับที่ตั้งที่อาศัยของสิ่งทุกสิ่ง รู้จักคำว่าชีวิตกันให้สมบูรณ์ แต่ชีวิตในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับธรรมะ ไม่เกี่ยวกับจิตใจอะไร ความสดอยู่ ความสดโซโตพลาซึ่มซึ่งมีอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ ในเซลล์แต่ละเซลล์มีเยื่อเยื่อเยื่อหุ้มที่เรียกว่าโซโตพลาซึ่ม ถ้าอันนั้นสดอยู่นั่นเรียกว่าชีวิตยังอยู่ ชีวิตยังอยู่ ถ้าอันนั้นเสียหายหน้าตายไปมันก็ไม่มีชีวิต ชีวิตรากฐานที่สดอยู่ที่ไอ้เซลล์แต่ละเซลล์มันมีความสดอยู่ก็ยังเป็นอยู่ยังไม่ตาย พูดอย่างนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรในทางธรรมะหรอก แต่มันก็มีประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์หรือการอะไรมันก็ไปตามเรื่อง มันก็มีประโยชน์เหมือนกันไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะเป็นประโยชน์สำหรับที่จะศึกษาธรรมะในที่นี้ สำหรับนักศึกษาธรรมะมันก็จะเล็งไปที่ไอ้ตัวชีวิต ตัวชีวิตที่เราเรียกกันว่าอัตตะภาพ อัตตะภาพ คำนี้มันหลอกลวงมันคดโกง คำว่าอัตตะ อัตตา ไปยืมของศาสนาอื่นมาใช้ อัตตะภาพ ภาวะหรือความมีอยู่แห่งอัตตา ถ้าพูดอย่างนี้เป็นฮินดูเป็นพราหมณ์อะไรไปเลย นั้นความที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสิ่งที่เรียกว่าชีวิต หลายๆ สิ่งประกอบกันเข้าเป็นชีวิตรวมกันที่เราเรียกว่าไอ้ตัวชีวิต แต่ภาษาที่ใช้กันอยู่จนเป็นที่เข้าใจกันแล้วก็เรียกว่าอัตตะภาพ เป็นภาษาสันสกฤตของฝ่ายฮินดูฝ่ายพราหมณ์ฝ่ายโน้น เพราะเหตุไรเพราะเรารับที่นั้นมาสู่เมืองไทยแผ่นดินทองแหลมทองนี้ก่อน ทางวัฒนธรรม ทางภาษา ทางอะไรต่างๆ มันเข้ามาก่อนพุทธศาสนา ดังนั้นลัทธิที่สอนเรามีอัตตามีตัวตนนี้มันเข้ามาอยู่ก่อนสอนอยู่ก่อนอย่างหนักแน่น ใช้คำว่าอัตตา ใช้คำว่าอาตมากันสนิทไปเลยทั้งที่ไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นภาษาของพวก(นาทีที่ 0.22.42.5)..... รู้กันอยู่ก่อนและก็มาที่นี่ก่อนภาษาไทย มีรกรากเป็นภาษาสันสกฤตของลัทธิศาสนาที่มีตัวตน เอาหละเราจะยอมเรียกว่าอัตตะภาพ อัตตะภาพ เอาแต่ความหมายว่า โครงร่างทั้งหมดที่ประกอบกันด้วยร่างกายและจิตใจ ๒ อย่างเท่านี้พอ อย่ามีอย่างที่ ๓ อัตตา อาตมาอะไรก็เหมือนกัน ๒ อย่างพอร่างกายกับจิตใจ สัมพันธ์กันอยู่อย่างถูกต้องเพราะมีส่วนประกอบของแต่ละอย่างละอย่างครบถ้วนดี มันก็เพียงพอที่จะทำอะไรได้นี่เรียกว่าอัตตะภาพ ตัวชีวิตก็คือตัวอัตตะภาพ กลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบอยู่ด้วยกายกับใจ เคลื่อนไหวได้ไปตามที่ควรจะทำจะมี อย่างนี้ก็ได้ นี่ก็เป็นชีวิตในความหมายที่อาจจะใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทีนี้ตัวชีวิตนั้นมันต้องมีวิถีทางดำเนินแห่งชีวิต จึงอยากจะขอให้ใช้ความหมายนี้แหละเป็นความหมายของคำว่าชีวิต แต่มันตัวการดำเนินชีวิต เวย์ เดอะเวย์ เวย์ที่แปลว่าหนทาง เวย์ออฟไลฟ์ (way of life) นี่น่ะคือตัวไลฟ์ อย่าไปโง่แยกออกเป็นคนละอย่าง ไลฟ์ที่ไม่มีเวย์มันก็ใช้อะไรไม่ได้ มันต้องมีเวย์มีวิถีทางดำเนิน ไอ้ตัววิถีทางดำเนินนั่นแหละคือตัวชีวิต คำนี้ในบาลีเรียกว่า อาชีวะ อาชีวะ ซึ่งเป็นสัมมาอาชีวะเป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งในอริยมรรค มีองค์ ๘ สัมมาอาชีโว ก็เขียนตรงๆ ว่าอาชีพ อาชีพ แล้วก็สอนกันแต่เพียงวิธีหาเลี้ยงชีวิต ทำอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ อาชีพนั้นไม่ควร อาชีพนี้ควรอย่างนี้มันไม่พอ มันต้องเติมความหมายต่อไป วิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตหรือการดำรงอยู่แห่งชีวิตก็ได้ วิถีทางแห่งการดำรงอยู่หรือดำเนินไปแห่งชีวิตนั่นแหละคือตัวชีวิต ท่านจงสนใจศึกษามันในแง่ที่ว่าเป็นวิถีทางคือการปฏิบัติที่จะเรียกว่าเป็นการดำเนินไปก็ได้ไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือว่าให้มันคงอยู่มันก็ดำเนินของมันเองได้ วิถีทางดำเนินแห่งชีวิตนี่แหละคือตัวชีวิต ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับเรา ไอ้ชีวิตวิทยาศาสตร์ ความสดของโซโตพลาส แต่ละเซลล์นั้นไม่มีปัญหาสำหรับเรา มันทำของมันเองได้ พวกนักวิทยาศาสตร์เอาไปใช้วิชาความรู้ตามใจเขา ทีนี้สภาพร่างกายนี้ก็เป็นอุปกรณ์สำหรับจะต้องดำเนินจะใช้ในการดำเนินต้องเขียนไว้ให้ถูกต้อง เหมือนสำหรับจะลากรถ ทำม้าให้ดีๆ ถูกต้องแข็งแรงมันก็ลากรถไปได้ การที่รถดำเนินไปได้นั้นมันคือตัวสิ่งที่เราต้องการ ดำเนินชีวิตไปให้ถูกต้องสำเร็จประโยชนถึงที่สุดตามที่ควรจะเป็น นี้เราก็เรียกว่า เวย์ออฟไลฟ์ (way of life) ฝรั่งก็เข้าใจชีวิตในฐานะที่เป็นเวย์ออฟไลฟ์ (way of life) เราก็เหมือนกันมันเป็นความรู้สากลของสิ่งที่มีชีวิต สรุปความว่าไอ้ตัววัตถุทั้งหลายแท้ๆ ก็เป็นตัวชีวิต อัตตะภาพร่างกายทั้งหมดรวมกันก็เป็นชีวิตและวิธีการดำเนินไป ดำเนินไปนี้ก็เป็นตัวชีวิต ตัวชีวิตที่สำคัญที่จำเป็นที่จะต้องรู้จัก คอยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตกันอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมและก็มีการดำเนินไปอย่างถูกต้องครบถ้วน
อ้าวทีนี้ก็จะเหลืออีกคำหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ บทนิยามของคำคำนี้ที่ว่ามันมีอยู่อย่างไรคือคำว่าธรรมในภาษาไทย หรือธรรมะในภาษาบาลี ทรามะในภาษาสันสกฤต คำเดียวกัน ในภาษาไทยเราเรียกว่าธรรม หรือนิยมเรียกธรรมะกัน คืออะไร ธรรมะคืออะไร เด็กๆ เล็กๆ ก็ได้รับคำสั่งสอนแต่เพียงว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่พูดในเมืองไทยอย่างนี้ก็ใช้ได้แต่ในเมืองไทยและมันไม่ถูกต้องเลยและมันถูกนิดเดียว ก็ธรรม ธรรมในภาษาบาลีเขาใช้กับทุกศาสนา ทุกศาสนาคำสอนของศาสดาแต่ละศาสดา มีกี่ศาสดา สิ่งที่ศาสดานั้นสอนเรียกว่าธรรม สอนธรรม แล้วก็จะถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใครหรือของพระศาสดาองค์ไหน ก็หมายความว่าถือศาสนาของศาสดาองค์นั้น แต่ตัวคำว่าธรรมไม่ได้แปลว่าคำสอน คำอื่นแปลว่าคำสอนเช่นคำว่าศาสนาก็ยังแปลว่าคำสอน ท่านชอบใจศาสนาของใครก็คือท่านชอบใจการสอนคำสอนของใคร ธรรมะไม่ได้แปลว่าคำสอน แต่ธรรมะเป็นสิ่งที่เอามาสอน สิ่งที่เอามาสอนน่ะธรรมะ ลัทธิต่างๆ กันก็สอนต่างๆ กัน ธรรมะจึงมีต่างๆ กันตามลัทธิศาสนานั้นๆ ไม่เหมือนกัน อย่างนี้เราจะเอาความหมายของคำว่าธรรมะธรรมะโดยเฉพาะ ก็คือสิ่งที่ต้องรู้ต้องเรียนต้องปฏิบัติแหละ แต่สำหรับพุทธศาสนานี้มีความหมายจำกัดว่า ระบบการปฏิบัติ ไม่ใช่ตัวคำสอน ระบบตัวการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ใช่คำสอน คำสอนเรียนรู้จดจดจำจำ ระบบการปฏิบัตินี้ต้องกระทำ ทำไมใช่ว่าระบบเพราะมันต้องทำพร้อมๆ กันหลายอย่างมันไม่ใช่อย่างเดียวมันทำเป็นระบบ จึงใช้ว่าระบบปฏิบัติ นี่นี่ประธานของคำของเรื่องของเรื่องและที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องไม่ใช่ธรรมะมันต้องถูกต้อง คำว่าถูกต้องควรมีประโยชน์มันมีแต่คุณไม่มีโทษนั้นน่ะเรียกว่าถูกต้อง ถูกต้องทางลอจิค ถูกต้องทางฟิลอสโซฟี่ ถูกต้องทางอะไรอย่างนี้อย่าเอามาพูดป่วยการ มันถูกต้องตามทางธรรมคือมันเป็นประโยชน์ เราระบุไปเลยว่าถูกต้องแก่ความรอด ถูกต้องสำหรับความรอด ถูกต้องแก่ความรอด นี่ความหมายที่เรียกออกไปว่าถูกต้อง แล้วก็ถูกต้องแก่ความรอด ทีนี้คำว่าความรอดขยายความว่าทั้งทางกายและทางจิตใจ รอดทางกายไม่ไหว หมาก็รอดได้ไม่ต้องมีความรู้อะไร และทางกายและทางจิตใจ รอดทั้งทางกายและจิตใจ และขยายความออกไปว่าทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ชีวิตมันมีขั้นตอนเราออกมาจากท้องมารดาเป็นขั้นเป็นตอนไปจนกว่าจะเข้าโลง ออกมาเป็นทารก เป็นเด็กเป็นเด็ก โตเป็นเด็กวัยรุ่นเป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่าคนชราเข้าโลงไป ถูกต้องแก่ความรอดทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทุกขั้นตอนรอด รอด รอด รอด
ทีนี้ปิดท้ายด้วยคำว่าทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น ลองไปใคร่ครวญดู ธรรมะคืออะไร ธรรมะคืออะไร ลัทธิอื่นเขาก็มุ่งหมายอย่างนี้เป็นเหมือนกันแหละแต่เพราะความเห็นมันต่างกันมันจึงสอนไม่เหมือนกันว่าไอ้ทางรอดนั้นเป็นอย่างไร ทางรอดของศาสนานี้เป็นอย่างนี้ แต่ทางรอดของศาสนาอื่นก็เป็นอย่างอื่น เดี๋ยวนี้เรามาพูดกันเฉพาะพุทธศาสนาว่าธรรมะธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องเล่าเรียนโดยศึกษาเท่านั้น มันเล็งไปถึงระบบปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นระบบ มันต้องมีการศึกษานั้นแน่นอนแต่ควบกัน จะมีการศึกษามันก็ตรงตรงอยู่ในคำว่าระบบปฏิบัติ เพราะว่าถ้าไม่มีการศึกษามันก็ปฏิบัติไม่ถูก แม้จะทำเอาเองทำเอาเองก็ยังเรียกว่าการศึกษา แต่ตัวหนังสือมันหมายถึงธรรมะ นี่การทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติ เราจึงตัดลัดสั้นๆ มาว่าได้แก่ระบบการปฏิบัติ และก็ที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นี่มันมีประเด็นที่ประกอบอยู่ทั้ง ๖ หรือ ๗ ประเด็น นี้คือคำว่าธรรมะ ธรรมะ ท่านทั้งหลายมาศึกษาธรรมะก็ขอให้ถือเอาความหมายของคำว่าธรรมะให้ถูกต้องกันในลักษณะอย่างนี้ ไปคิดดูเองว่ามีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล ใช้เป็นที่พึ่งได้หรือไม่ จะใช้เป็นวิถีทางดำเนินแห่งชีวิต หรือบริหารชีวิตได้หรือไม่ นัยว่าธรรมะมีความหมายอย่างนี้ คือมีบทนิยามอย่างนี้ ทีนี้จิตใจอยู่ตรงไหนเป็นใจความสำคัญ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งชีวิตทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ประเด็นที่สำคัญที่สุดของคำว่าธรรมะก็คือความถูกต้อง เพราะว่าธรรมะมีหน้าที่ตรงผู้ปฏิบัติว่านี่เสียหาย ไม่พลัดตกจมไปในความทุกข์ มันต้องมีความถูกต้อง คำว่าถูกต้องมันจึงเป็นความหมายที่สำคัญทรงตัวเองอยู่ได้ มันจะทรงตัวเองอยู่ได้มันก็ต้องมีความถูกต้องมันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติมันก็ต้องมีความถูกต้อง เราจึงถือเอาความหมายของคำว่าถูกต้องถูกต้องนี่มันจึงเป็นความหมายหลัก มีความถูกต้องแล้วก็เป็นธรรมะคงที่อยู่ในความถูกต้องก็คงที่อยู่ในธรรมะ ถ้าคงที่อยู่ในธรรมะหรือความถูกต้องได้มันก็เป็นความรอด มีผลทุกอย่างไปตามที่ควรจะปรารถนาคือมันดูกันในเรื่องความถูกต้องให้ชัด จะละเอียดลงไปอีกว่ามันก็มีอยู่หลายแง่หลายมุมเหมือนกัน คือจะต้องดูให้เห็นและเข้าใจและปฏิบัติมันให้ได้ อันแรกให้มันถูกต้องทางวัตถุหรือทางร่างกาย กายก็อาศัยวัตถุ วัตถุก็อาศัยกาย เอามาเป็นพวกเดียวกันได้ แต่ว่าในบ้านเรือนของเราเราก็มีวัตถุ บ้านเรือนเครื่องใช้ไม้สอยวัตถุทุกอย่างที่ใช้สอยอันเนื่องอยู่ด้วยกายมันก็ถูกต้องด้วยกันกับกาย ถูกต้องทางกายและทางวัตถุ จงจัดให้มีความถูกต้องทั้งทางร่างกายและทางวัตถุมันก็จะหมดปัญหาไปตอนหนึ่ง ทีนี้มาถูกต้องทางจิต คือมีจิตไม่วิปริตไม่บ้าบ้าบ้าบอบอ ไม่จิตสั่นจิตเสื่อม ไม่ปัญญาอ่อน มีจิตถูกต้องเข้มแข็งเต็มตามความหมายของคำว่าจิต สุดท้ายจะมีสมาธิซึ่งกำลังเข้มแข็ง เป็นกำลังเข้มแข็งของสิ่งที่เรียกว่าจิตมีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิต นี่เราก็มีความถูกต้องทางจิต เราจะใช้เป็นพื้นฐานต่อไปใช้เป็นความถูกต้องที่สามคือถูกต้องทางวิญญาณ วิญญาณคำนี้พูดเอาเองเป็นพิเศษ เพราะมันไม่มีคำอื่นจะพูด คือทางสติปัญญา ภาษาฝรั่งเขามีคำสติจะพูดเรียกว่า สปิริช่วล (spiritual) สปิริช่วลในทางวัตถุฟิสิคอล (physical) ทางจิตเป็นต้น แล้วก็ทางวิญญาณ ทางวิชาความรู้ ทางความคิดเห็นนี่เรียกว่า สปิริช่วล และขอยืมมาใช้แปลว่าทางวิญญาณคือทางสติปัญญาของจิต ไอ้คำว่าสปิริตนี้มันใช้หลายอย่าง แปลว่าผีก็ได้ แปลว่าเหล้าก็ได้ แต่ในที่นี้หมายถึงวิญญาณคือศูนย์กลาง เป็นศูนย์กลางของสิ่งทั้งหลาย และหมายถึงสติปัญญา ทิฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ อุดมคติอะไรต่างๆ นี่ มันมารวมอยู่ที่คำว่า สปิริช่วลหรือวิญญาณ เราจะต้องมีความถูกต้องทางกาย ทางวัตถุ มันก็เป็นเรื่องทางโลก ทางเปลือกอยู่มาก และก็มาถูกต้องทางจิตที่จะใช้ให้เป็นความถูกต้องทางโลกและทางธรรม เมื่อมีความถูกต้องทางวิญญาณเป็นทางธรรมะล้วนๆ เป็นทางธรรมะล้วนๆ นี่สิ่งที่เรียกว่าความถูกต้อง ระบบปฏิบัติเพื่อความถูกต้องแก่ความรอดนั้น มันต้องมีความถูกต้องทั้งทางกายหรือวัตถุ หรือทางจิต หรือทางวิญญาณ คือทางสติปัญญา จิตกับสติปัญญานั้นแยกกันได้ แม้ว่าสติปัญญามันก็อาศัยจิต แต่จิตน่ะอาศัยร่างกาย แต่ ๓ อันนี้มันแยกกันไม่ได้น่ะโดยพฤตินัย นี้เรามาแยกกันได้โดยทางกุจจะ แต่ทางคว่ามเป็นอยู่ที่แท้จริงมันไม่อาจจะแยกกันได้ มีกายหรือมีจิตได้ มีจิตได้ก็มีสติปัญญาได้ แต่เพื่อความง่ายในการศึกษาและการจัดการปฏิบัติก็แยกออกไปเป็นเรื่องทางกาย เป็นเรื่องทางจิต เป็นเรื่องทางวิญญาณ ทีนี้ถ้าจะดูต่อไปว่ามันอยู่ในรูปของอะไร มันอยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าอะไรไอ้ความถูกต้องนี่ คือเราอาจจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือ นำมาใช้เป็นเครื่องมือ พอได้นำมาใช้กันแล้วแล้วก็เรียกชื่อกันแล้ว เราจะไปตั้งชื่อใหม่ก็คงจะลำบากไม่มีใครเข้าใจ เราต้องใช้ชื่อตามที่เขาเรียกกันอยู่แล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขอให้ลืมไปลืมชื่อที่เขาเรียกกันอยู่แล้ว ในทางวัฒนธรรม ทางศีลธรรม และทางศาสนา ทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องโลกเรื่องทางวัตถุอยู่มาก เพราะว่าวัฒนธรรมฝรั่งเขาใช้คำว่าคัลเจอร์ (culture) คัลเจอร์ คำว่าคัลเจอร์นี้ทีแรกที่สุดตอนโน้นเป็นชื่อของไถที่ใช้ไถนา ไถที่ใช้ไถนาเรียกคัลเจอร์ ก็ถือเอาว่าพอมนุษย์เริ่มรู้จักไถนาก็เริ่มมีอันนี้ มีวัฒนธรรมหรือความเจริญ มีคำว่าไถสำหรับไถนาและคำเดียวคำว่าวัฒนธรรม ก่อนนี้คนเราเป็นคนป่า เป็นคนป่าแทบจะไม่นุ่งผ้า วัฒนธรรมมันก็ไม่รู้จักทำ ทำนา ทำไร่เพราะว่าพอสว่างขึ้นก็ไปเก็บสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติจากในป่าโดยเฉพาะข้าวสาลี ผลหมากรากไม้อะไรก็ตามเก็บที่มันมีอยู่ในป่าแล้วก็เอามากินแต่ละวันแต่ละวัน ถึงขนาดว่าเก็บเช้ากินเช้า เก็บเย็นกินเย็น นี่นั้นคนมันมากเข้ามันไม่พอ มันก็มีคนเอาเปรียบไปเก็บเช้ากินเย็น มิหนำซ้ำเก็บวันนี้ไว้กินพรุ่งนี้ ยิ่งกว่านั้นเก็บวันนี้ไว้กินตลอดสัปดาห์ ตลอดเดือน มันมีการเอาเปรียบขึ้นมาอย่างนี้ มันก็มีอาการขาดแคลน อาการไม่พอเริ่มขึ้น ประกอบกับคนมันมากขึ้น มากขึ้นมันก็ไม่พอ มันจำเป็นก็เลยหาทางออกว่าทำอย่างไร มันก็ต้องปลูก จะปล่อยให้ข้าวสาลีเกิดเองอยู่ในป่าแล้วไปเก็บมากินประจำวันมันทำไม่ได้แล้ว มันก็ต้องเริ่มปลูก การปลูกมันคงจะลำบากมากก็จนกว่ามันจะรู้จักไถดินไถนา นี่เป็นอันแรกเรียกไถนั่นแหละว่าวัฒนธรรมหรือคัลเจอร์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้หยุดชะงักอยู่เพียงเท่านั้นมันสูงขึ้นสูงขึ้นในทุกแขนงในทุกแง่ในทุกมุมในทุกๆอย่าง จึงกินรอบตัวไปทุกอย่างไม่ว่าอะไรที่เป็นความก้าวหน้าผิดแปลกไปจากเดิมนั้นก็เรียกว่าวัฒนธรรม วัฒนธรรมในทางการกินอยู่ ในทางการแต่งเนื้อแต่งตัวนุ่งห่ม วัฒนธรรมในบ้านเรือนอาศัยมีหยูกยาไข้เจ็บ วัฒนธรรมทางจิตใจกระทั่งทางศาสนาก็เป็นวัฒนธรรม ก็มัน(นาทีที่ 0.43.52)ไฟท์น่ะไฟท์ จนแยกออกไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องความเจริญก้าวหน้ากว่าธรรมชาตินี้เป็นวัฒนธรรม นี่เราก็เรียนรู้มากขึ้นแล้วเราก็สามารถเลือกเก็บเอา เลือกเก็บเอา เลือกเก็บเอา คำนี้สำคัญนะ เลือกเก็บเอาให้ถูกต้องและใช้ในการบริหารชีวิต บริหารการงาน บริหารอะไรก็ตาม แล้วก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องแรกก็คือวัฒนธรรม
ต่อมามนุษย์ได้พบสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม เพราะว่าอยู่กันแต่ลำพังวัฒนธรรมนั้นน่ะมันไม่ได้คุ้มครอง หรือมันไม่มีการปกครอง ต่างคนต่างมือยาวสาวเอาได้ หรือเอาเปรียบคดโกงเบียดเบียน ใครมีมากก็ไปปล้นไปจี้ไปขโมย วัฒนธรรมเพียงเท่านั้นไม่พอจะต้องมีศีลธรรม ศีลธรรม เมื่อวัฒนธรรมมันบริหารได้เพียงวัตถุวัตถุ ศีลธรรมมันก็บริหารได้ทั้งร่างกาย ทั้งวาจา ทั้งการกระทำทางกาย ทางวาจา คำนี้มีความหมายกว้าง และถ้าถือเอาตามตัวหนังสือมันแปลว่า ปกติ ปกติ ไม่มีความปกติก็ไม่มีศีละ ศีละแปลว่าปกติ คำเดียวกับคำว่าก้อนหิน ก้อนหินนี่คำปกติ ข้อความตามพระบาลีว่าเมื่อมนุษย์ไปอยู่กันเป็นสังคมแล้ว มันก็มีปัญหานี้ คือเบียดเบียน เอาเปรียบ คดโกง แย่งชิง ก็เกิดความฉลาดขึ้นมาในหมู่มนุษย์ว่า เรามาตกลงกันดีกว่า เลือกมนุษย์คนใดคนหนึ่งซึ่งแข็งแรงทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทางจิตใจ สมมติคนนี้ให้เป็นหัวหน้ามีความหมายแต่เพียงว่าให้เขาควบคุมควบคุม ให้ลงโทษผู้กระทำผิด ให้รางวัลผู้กระทำถูก ให้เขาแนะนำสั่งสอนชี้แจงชักจูงอะไรต่างๆ คนแรกนี่ได้สมมติขึ้นมาเป็นหัวหน้า เรียกเป็นเกียรติยศสูงสุดว่า สมมติราชองค์แรกในโลก นั่นแหละศีลธรรมมันได้เริ่มตั้งต้นขึ้นมาในรูปนี้ ซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นศาสนาในชั้นสูงสุด ชั้นแรกก็มีศีลธรรม ศีลธรรม มีหัวหน้า มีอาจารย์หรือมีผู้นำทางการกระทำ การเป็นอยู่อะไรขึ้นมา ระบบศีลธรรมจึงมีมาก มีมากแล้วก็พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบใหญ่โตมหาศาลเหมือนกันเราก็ควรจะพูดถึงกันบ้างเหมือนกัน นี่เรามีวัฒนธรรมแล้วเราก็มีศีลธรรม วัฒนธรรมเป็นเรื่องทางวัตถุ ทางโลก ศีลธรรมก็เป็นเรื่องทางกาย ทางวาจาที่สูงขึ้นมา จนกระทั่งสูงสุดเป็นเรื่องทางศาสนา ทางศาสนาก็เป็นเรื่องจิตหรือสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับจิตที่มันสูงขึ้นไปละเอียดเร้นลับเร้นลับ มีระบบศาสนาช่วยแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งสูงสุดของมนุษย์เรา ทีนี้การจะบริหารชีวิตดูซิต้องอาศัยระบบทางวัฒนธรรมก็มี ระบบทางศีลธรรมก็มี ระบบทางศาสนาก็มี พอจะแยกได้ว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องค่อนข้างทางวัตถุ ศีลธรรมก็มาค่อนข้างชีวิต ร่างกาย ศาสนธรรมก็เป็นเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ นี่เรียกว่าทุ่มเครื่องมือที่สำหรับจะบริหาร จะบริหารอะไรก็ตามใจแต่ต้องมีหลักเกณฑ์ว่ามันเป็นวัฒนธรรมอย่างไร มันเป็นศีลธรรมอย่างไร มันเป็นศาสนธรรมอย่างไร และท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจ สงสัยอยู่ว่าจะจำไหวไหม มันจะตกเกะกะอยู่ที่นี่ไม่มีทางเดินไหม ไปศึกษากันให้ดีและก็จดจำบันทึกย่อสั้นๆ ลงไว้สำหรับช่วยเหลือความจำ เพราะว่าเรื่องมันมากขึ้นทุกทีจนจำไม่ไหวจึงต้องใช้การจด บริหาร บริหารด้วยวัฒนธรรม ด้วยศีลธรรม ด้วยศาสนธรรม เรามาแยกดูกันอีกทีหนึ่ง
คำว่าบริหาร บริหารนี่ ก็ทำให้ถูกต้องจนนำผลที่ปรารถนามาได้ เราจะมองลึกลงไปถึงการบริหารที่เป็นการเตรียมบริหารนั่นเอง เราไม่มีเครื่องบริหาร เราก็ต้องมีการบริหารเพื่อให้เกิดเครื่องมือสำหรับบริหาร ก็พูดสั้นๆ ว่าการบริหารชนิดที่สำหรับจะบริหาร สร้างสิ่งที่จะเป็นการบริหารให้เกิด หรือให้เกิดสิ่งที่จะเป็นการบริหาร เช่น การบริหารเตรียม บริหารชั้นเตรียม คือเตรียมสิ่งที่จะใช้ในการบริหาร ท่านต้องมีวิชาความรู้พื้นฐานที่ถูกต้อง เตรียมเพื่อการบริหารโดยตรง เป็นการบริหารเตรียมเพื่อให้เกิดการบริหารโดยตรง เหมือนกับเราเรียนอนุบาล เตรียมเพื่อประถมกับมัธยม บริหารเตรียมเพื่อเตรียมบริหาร แล้วทีนี้ก็มาถึงขั้นตัวบริหาร บริหารลงไปตรงๆ เช่น การบริหารประโยชน์ในทางโลกโลก เพื่อชีวิตเพื่อร่างกายอยู่ได้ อย่างที่ท่านเรียกว่าบริหารธุรกิจ เรื่องร่างกาย เรื่องวัตถุ เรื่องชีวิตอยู่ได้ นี่เป็นการบริหารในส่วนโลก คือบริหารทางกาย จนมีคนเรามันไม่ได้มีเท่านั้น มันยังมีเรื่องลึกกว่านั้นคือเรื่องทางจิตใจ แม้ว่าจะบริหารสำเร็จร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีเป็นอะไรมันก็ยังมีเรื่องทุกข์ทางจิตใจ จึงต้องมีการบริหารที่ลึกไปกว่านั้นอีก นั่นคือบริหารในทางธรรม ในทางธรรมะ บริหารสำเร็จแต่ในเรื่องทางโลกมันไม่พอมันยังมีปัญหาทางจิตใจอยู่ ต้องบริหารทางจิตใจปีหนึ่งจึงจะจบและได้เป็น ๓ ขั้นตอนว่าบริหารเพื่อเตรียมบริหารนี่กันได้ บริหารเพื่อเตรียมการบริหารล่ะได้ ต้องบริหารเพื่อประโยชน์ฝ่ายโลกโลก ฝ่ายวัตถุ แล้วก็บริหารเพื่อประโยชน์ทางฝ่ายจิตใจทางฝ่ายธรรมะไปทางหลักธรรม ผลมันต่างกันมาก แต่อย่างไรก็ดีมันเนื่องกัน ไอ้การอย่างนี้มันจะแยกกันได้เป็นอย่างๆ แต่โดยแท้จริงแล้วมันก็เนื่องกัน โดยพฤตินัยมันก็เนื่องกัน โดยนิตินัยเราก็แยกพูดเป็นอย่างๆได้ ท่านทั้งหลายจงรู้จักสิ่งที่เรียกบริหารที่เรียกว่าบริหาร บริหาร บริหารนี้ติดต่อกันอย่างนี้ แล้วก็นำมาใช้บริหารชีวิตโดยตรง ซึ่งมันจะรวมธุรกิจอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นเอง ในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นเอง ทีนี้เราต้องการหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา เมื่อมาที่นี่ต้องการศึกษาหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคโดยเฉพาะของการบริหารธุรกิจทั้งที่เราเรียน อาตมาไม่มีความรู้แม้สักนิดเดียว ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคของการบริหารธุรกิจโดยตรงนี่ไม่มีความรู้ที่จะพูด แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องของการบริหารชีวิตที่เป็นที่ตั้งของการบริหารธุรกิจหรืออะไรก็ตามนี่มันก็พอจะมีพอที่จะพูดได้ว่าเป็นอย่างไร คือธรรมะที่จะเป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือ เป็นอะไรของการบริหารเพราะหลักธรรมะนี่มีมหาศาล พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างมหาศาล เลือกได้ไม่รู้จักหมด ไม่รู้จักจบจักสิ้น เลือกไปให้เหมาะกับเรื่อง บางหมวดก็กว้าง บางหมวดก็แคบเข้ามา บางหมวดก็เฉพาะเรื่องเฉพาะเรื่องมันก็มีเหมือนกัน และถ้าโดยหลักใหญ่ๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่พอจะมองเห็นได้ในความถูกต้องที่ว่ามาแล้วเมื่อตะกี้ทางวัฒนธรรม ทางศีลธรรม ทางศาสนธรรม เดี๋ยวนี้ก็พูดกันทางศาสนธรรมโดยตรงโดยตรงเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา มีความถูกต้องทางกายทางวาจาเรียกว่า ศีลสิกขา ถูกต้องทางจิตใจเรียกว่า สมาธิสิกขา ถูกต้องทางปัญญาเรียกว่า ปัญญาสิกขา คงจะคุ้นหูท่านทั้งหลายมาแล้วเป็นอย่างมากว่า ศีล สมาธิ และปัญญา มันการถูกต้องทางภายนอกทางชั้นต้น ทางกาย ทางวาจาและทางวัตถุอยู่ด้วย ก็เรียกว่าเรื่องศีลเรื่องศีล เรื่องวัตถุถูกต้อง เรื่องกายถูกต้อง เรื่องวาจาถูกต้องก็เรียกว่าศีล ทีนี้เรื่องจิต เรื่องจิตเกี่ยวกับจิตมันก็ความหมายถูกต้องก็เรียกว่าเรื่องสมาธิ ตั้งแต่รู้ว่าจิตเป็นอย่างไรเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรเรียกว่าเรื่องสมาธิ ทีนี้เรื่องปัญญา ปัญญา จิตมีปัญญา ก็เรียกประโยชน์ สมาธิกับปัญญานี่มันเป็นเพื่อน เพื่อนเกลอกันแยกกันไม่ได้ มันไม่อาจจะมีเพียงอย่างเดียว แต่สมาธินี่มันเหมือนกับความคม และจิตสมาธิมันเหมือนกับน้ำหนัก ปัญญาเหมือนกับความคม ในทางวัตถุแท้ๆ เราจะเห็นว่าแม้จะมีความคมกริบยิ่งกว่ามีดโกน แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันไม่ต่างจากความคมก็เป็นหมัน ความคมต้องอาศัยน้ำหนักสำหรับจะกดลงไปเพื่อจะตัด ปัญญาเป็นความคม สมาธิเป็นน้ำหนัก เมื่อมีกันทั้งสองอย่างจึงจะมีการตัดตัดตัดตัดปัญหา ตัดสิ่งไม่พึงปรารถนา เริ่มมีความถูกต้องทางจิตใจก่อน น้ำหนักเป็นที่ตั้งแห่งปัญญา นี้มีปัญญามีความคมคมคมคมจึงตัดปัญหาสุดท้าย เราจึงต้องมีทั้งสมาธิและปัญญา แยกออกไปเป็นเรื่องเรื่องที่เบ็ดเตล็ดเบ็ดเตล็ดอย่างอื่นได้อีกมากมาย และถ้ารวมความแล้วมันก็ได้เป็น ๓ อย่างอย่างนี้ มีศีลถูกต้องทางภายนอก ทางวัตถุ ทางกาย ทางวาจาก็ทำ มีสมาธิถูกต้องทางจิตใจ มีปัญญาถูกต้องทางสติ ปัญญาด้วยเป็นความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจ ความเลื่อมใส ไม่ใช่ความยึดเป็นหลัก เป็นอุดมคติอันสูงสุด และเมื่อมองอีกทีหนึ่งก็เอาไอ้เรื่องศีลนั่นมาเป็นเรื่องบริวารของสมาธิและปัญญาเสียก็ได้ ศีลเปรียบเหมือนที่ตั้งที่อาศัยเหมือนแผ่นดินสำหรับเหยียบกันนั่นแหละ ก็หมายความว่า สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีมันเหยียบอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าศีล ถ้ามีศีลถูกต้องสมาธิก็จะดี ปัญญาก็จะดี ศีลมาเป็นบริวารของสมาธิและปัญญาเสียก็ได้มันก็เหลือ ๒ แต่เพื่อความสมบูรณ์แยกออกไปเป็นเรื่องฐานล่าง ศีลก็มีเป็น ๓ แต่ว่าตัวการ ตัวงานก็ที่ทำการทำงานสำเร็จประโยชน์แท้จริงมันคือตัวสมาธิและตัวปัญญา เป็นเรื่องที่ไม่แยกกัน คือปัญญาไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีสมาธิ สมาธิก็ไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเสียเลยก็สมาธิไม่เป็น ถ้ามันไม่มีสมาธิเสียเลยปัญญามันก็ทำหน้าที่ไม่ได้ ทำการงานไม่ได้มันเป็นเพียงความคม คือไม่มีอะไรคมได้ นั้นเราจึงใช้สมาธิและปัญญาให้เป็นของแฝดคู่กันไปเรื่องก็จะสำเร็จประโยชน์ นี่คือเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา เราปรับปรุงธรรมะก็คือปรับปรุงศีล ปรับปรุงสมาธิ ปรับปรุงปัญญา รวมกันแล้วเรียกว่าระบบแห่งการปฏิบัติทั้งระบบ อย่างให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ศีลแยกออกเป็นอีกกี่อย่างก็ได้ สมาธิแยกออกเป็นอีกกี่อย่างก็ได้ ปัญญาก็เหมือนกันมากมายมหาศาล ตั้งแต่ชื่อที่เป็นประธาน ก็ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญารวมกันเป็นธรรมะที่จะต้องศึกษา จะต้องปฏิบัติ จะต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ แล้วเอาไปใช้ในการบริหารจิตให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์จะพึงกระทำได้
สำหรับทีนี้อาตมาอยากจะให้ได้ยินได้ฟังธรรมะที่ใช้ในการบริหารบางอย่างบางประการต่อไปนี้ ศีล สมาธิ ปัญญานี้เป็นหลักทั่วไปเป็นหลักพื้นฐานเป็นหลักทั่วไป มองเองก็จะเห็นเองไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อตัวหนังสือคัมภีร์อะไรก็ได้ เป็นตัวศีลก็รู้จักศีล เป็นตัวสมาธิก็รู้จักสมาธิ มีปัญญาก็รู้จักตัวปัญญา ไม่ต้องเชื่อใครไม่ต้องเชื่อ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ต้องเชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ไม่ต้องเชื่อว่าสมณะผู้พูดนี้เป็นครูของเรา ถ้ามันมีสิ่งที่ให้เห็นอยู่ที่ตัวธรรมะนั่นเอง ดูที่ตัวธรรมะก็จะเห็นสิ่งนั้น และก็จะเห็น1พระพุทธเจ้าว่าพูดถูกหรือควรเชื่อพร้อมกันไปกับ(นาทีที่ 1.07)... ธรรมะหมวดหนึ่งที่สำคัญมากควรจะเป็นพื้นฐานสำหรับการบริหารทั่วไปก็คือหมวดที่เรียกกันว่า สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินมาแล้ว เคยจดไปแล้ว สัปปุริสธรรม ๗ ประการ แต่ถ้ายังไม่เคยก็ขอร้องให้สนใจ ขอร้องให้จดจำเพราะว่าให้ทำความเข้าใจมากที่สุดแล้วจะใช้เป็นประโยชน์ได้ สะ สะนี่มาจากสัตบุรุษ ส่วนธรรมะของสัตบุรุษ ธรรมะของผู้สงบเป็นธรรมะของผู้หมดปัญหา ธรรมะของผู้มีความสงบสุขในสัตบุรุษ สัปปุริสธรรม ธรรมะของสัตบุรุษ ๗ ประการนั้นคือ รู้จัก รู้จัก เข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเหตุ ธรรมัญญูรู้จักเหตุ สิ่งทั้งปวงมีเหตุ มันจะอยู่ลอยๆ ไม่ได้มันมีเหตุ เราจะต้องรู้จักเหตุและสิ่งที่เรียกว่าเหตุของสิ่งทั้งปวง รู้จักเหตุ ข้อที่ ๒ รู้จักผล เพราะว่ามันเป็นธรรมดาที่เหตุจะต้องเกิดผล จึงต้องรู้จักค;ามสัมพันธ์กันอย่างที่แยกกันไม่ได้ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าเหตุและผล ทีนี้สิ่งที่ ๓ เรียกว่าตน อัตตายืมคำมาใช้ คำชาวบ้านเรียกว่าอัตตาว่าตน ต้องรู้จักตนเอง ตนเองที่จะเป็นตัวจักรของเรื่องเจ้าของงานจะศึกษา จะปฏิบัติ จะใช้เหตุใช้ผลเรียกว่kรู้จักตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักตน สำหรับอันที่ ๔ เรียกว่าประมาณ มัตตา มัตตะ หรือมัตรา หรือมาตรา คำเดียวกัน มารู้จักประมาณคือความถูกต้องพอดี ถูกต้องพอดีเป็นอย่างไร เกินอัตราก็ไม่ได้ ต่ำกว่าอัตราก็ไม่ได้ มันต้องถูกต้องพอดีเรียกว่ารู้จักประมาณ ประมาณ คือมัตตะ มัตตะ เป็นบาลี มาตราออกมาเป็นภาษาไทย บางทีเราก็จะเรียกว่าอัตรา อัตราก็ได้ คือรู้จักประมาณที่ถูกต้อง พอดี อย่าให้มันขาด อย่าให้มันเกิน อย่างนี้คนไม่ค่อยรู้จักพอดีไปบ้าเกินเลยมีปัญหา
ทีนี้สิ่งถัดไปที่ ๕ คือเวลา กาละเวลา รู้จักเวลา อะไรทำให้ถูกเวลา อย่าให้ผิดเวลา ทำผิดเวลาไม่ได้ประโยชน์อะไร ถูกตามเวลาจะได้ประโยชน์ นี่เท่ากับคำว่าฤดูกาลที่ควรทำ แท้ที่จริงคำว่าเวลา เวลา มีความหมายลึกกว่านั้นมาก ลึกกว่านั้นมาก เวลานี่ร้ายกาจกัดกินสัตว์ให้เดือดร้อนเพราะเวลา ไม่ทันเวลาก็เดือดร้อนมันไม่เท่ากับว่าเวลามันกัดกินหัวใจ เวลาคือระยะการตั้งแต่ว่ามีการปรารถนาจนกว่าจะได้ตามปรารถนา ปรารถนาแล้วกว่าจะได้ตามปรารถนาตอนนั้นเรียกว่าเวลากัดกินหัวใจมีความทุกข์ ถ้ารู้จักเวลาถึงขนาดนี้แล้วกำจัดเวลาเสียได้ก็เป็นพระอรหันต์นิพพานไปเลย เอาหละไม่ต้องการถึงขนาดนั้น ต้องการมาทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกตามเวลา เวลาไม่ใช่เพียงนาฬิกาเดินบอกชั่วโมง หรือโลกหมุนบอกวันคืนเดือนปี เวลาที่แท้จริงมันกัดคนน่ะคือว่าความต้องการไม่สำเร็จตามประสงค์ที่มีอยู่นั่นแหละมันเวลานี้มันกัดหัวใจ ถ้าเราไม่มีความต้องการ ไม่มีตัณหา ก็ไม่มีเวลา เวลาไม่กัดเรา เรากัดเวลาเสียอีก เวลาที่จะต้องศึกษาว่าเป็นเด็กทำอย่างไร เป็นวัยรุ่นทำอย่างไร เป็นพ่อบ้านแม่เรือนทำอย่างไร คนแก่คนเฒ่าทำอย่างไร นี้ก็เรียกว่าถูกต้องตามเวลา แต่ทำไร่ไถนาค้าขายทำอะไรประโยชน์แล้วก็ถูกต้องตามเวลา ทีนี้สิ่งถัดไปที่ ๖ ก็คือ สังคม ในภาษาบาลีเรียกว่า บริษัท เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าสังคม ตัวคน กลุ่มคน กลุ่มบุคคลที่รวมกันอยู่ มากๆ จะต้องรู้จักสังคมมัน มัน มันไม่ดี ถ้าไปติดต่อให้ได้สำเร็จประโยชน์นี้เรียกว่า รู้จักสังคม มันเป็นวิชาแขนงหนึ่งซึ่งต้องศึกษากันบ้างเรียกว่าสังคมศึกษา เรื่องสุดท้ายเรียกว่าบุคคล เอกชน เอกชน แต่ละคน ต้องรู้จักให้ดี เข้าไปติดต่อกับเอกชนต้องรู้จักเอกชนนั้นให้ดีจึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักโดยถูกต้องมันจะพูดกันไม่รู้เรื่อง ทีนี้จะนำไปตามตามประสงค์ที่ต้องการไม่ได้มันพูดกันไม่รู้เรื่อง มันขัดกันเสียเรื่อยไป ต้องรู้จักให้ชัดว่าบุคคลนี้มันเป็นอย่างไร จะแนะนำชักจูงบุคคลนี้ควรจะทำอย่างไร มีจิตวิทยาสูงสุดและก็นำเอาไปได้ จิตวิทยาของนักโฆษณาการค้าขายนี่มันก็พูดเป็นยายแก่ขี้เหนียวยอมซื้อตู้เย็น ก็มันรู้จักจิตวิทยาสำหรับบุคคล เอ้าอันที่ ๑ เรื่องเหตุ อันที่ ๒ เรื่องผล อันที่ ๓ เรื่องตนเอง อันที่ ๔ เรื่องประมาณพอดี อันที่ ๕ เรื่องเวลาที่ถูกต้อง อันที่ ๖ เรื่องสังคมที่ต้องรู้จัก อันที่ ๗ เอกชนเอกชนที่จะต้องรู้จักทักกันอย่างแจ่มแจ้ง ท่องได้ง่ายๆ เหตุผลตนประมาณกาลบริษัทบุคคล พูดได้อย่างเดียว เหตุผลตนประมาณกาลบริษัทบุคคล เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล กาละ บริษัทคือสังคมใช้คำเดียวกันและก็บุคคล เหตุผลตนประมาณกาลบริษัทบุคคล อันนี้ต้องคล่องปากก็มันมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็จะต้องร่าย ร่ายสูตรนี้ มันยังผิดที่ตรงไหน มันถูกต้องแล้วหรือยัง นี่หมวดธรรมะนี้สูงสุด ใช้ในเรื่องโลกโลกบริหารชีวิต บริหารร่างกาย บริหารธุรกิจสำเร็จประโยชน์ในโลกก็ได้ ใช้เพื่อไปนิพพานก็ได้ ทำให้มันถูกต้องตามหลักเหล่านี้มันก็เจริญในทางธรรมะก็ได้ จะเดินในทางโลกก็ได้ แต่ว่าถ้าในทางธรรมะแล้วจะขอเสนอแนะอีกหมวดหนึ่งซึ่งเรียกว่าหมวดโพชฌงค์ อันนี้สูงสุดเลยสูงสุดตั้งแต่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โพชฌงค์ องค์ประกอบสำหรับตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่เราจะเอามาใช้ในเรื่องทั่วไป เรียงระดับหรือลดระดับลงมาเช่นเดียวกับศีล สมาธิ ปัญญาใช้ในเรื่องไปนิพพานก็ได้ ใช้อยู่ในโลกก็ได้ มรรคมีองค์ ๘ ประการใช้ไปนิพพานจะอยู่ในโลกนี้ก็ได้ นี่โพชฌงค์มันสูงไปเลยไม่มาพูดเรื่องมรรค โพชฌงค์องค์แห่งการตรัสรู้มีหัวใจ ข้อที่ ๑ คือมีสติ ๑ คือสติ ระลึกได้ถึงทุกสิ่ง ถึงทุกสิ่งที่ควรระลึกและควรรู้จัก ข้อนี้ก็หมายความว่าถ้าศึกษาวิชาความรู้หลายๆ แขนง หลายๆ แขนงที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นก็ดี ท่านสามารถเจริญเรื่องอะไรก็ได้ ระลึกเรื่องอะไรก็ได้ แง่ไหนก็ได้ส่วนไหนก็ได้ เรียกว่าถ้ามีสติระลึกได้ในทุกแขนงความรู้ที่จะต้องเกี่ยวข้อง หรือว่าธรรมะทุกอย่างที่จะต้องเกี่ยวข้องกันศึกษามาดีแล้ว นี่ข้อที่ ๒ เรียกว่า ธรรมวิทยะ ธรรมะวิจัย ธรรมวิทยะนี่เป็นคำเก่าโบราณเป็นพันๆ ปี ไม่ใช่คำเพิ่งตั้งขึ้นในยุคนี้ ธรรมวิทยะ ธรรมะวิจัย เลือก เลือก เลือกเฉพาะที่มันตรงกับเรื่องนี้ ถูกต้องกับเรื่องนี้ มันมาถูกต้องกับเหตุผลตนประมาณกาลบริษัทบุคคลมันถูกต้อง เลือก เลือก เลือกให้ถูกต้องอย่างนี้เรียกว่าธรรมวิทยะ และครั้นเลือกได้แล้วมันก็ถึงข้อที่ ๓ คือ วิริยะ ทุ่มเทกำลังความเพียรทั้งหมดลงไป ใช้กำลังทุ่มเทลงไปในสิ่งที่ได้เลือกดีแล้ว ทีนี้มาต่อไปต่อว่ามีปีติ พอใจหล่อเลี้ยงกำลังนั้นอย่าให้เหนื่อย อย่าให้ถอยหลัง ปีตินี่แม้เราเลือกถูกต้องแล้ว เราทำถูกต้องแล้ว ถ้ามีปีติมันพอแล้ว มองเห็นความสำเร็จอยู่รำไรแล้ว ปีติมันก็มาก ปีติที่เราเลือกดีแล้วได้ดีแล้วอะไรก็ได้ ปีตินี้ก็จะหล่อเลี้ยงวิริยะ เพราะวิริยะนี้ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องเหน็ดเหนื่อย (นาทีที่ 1.13.25)เหงื่อเป็นน้ำ... ก็ปีติมาหล่อเลี้ยงมีปีติหล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยง พอใจในการที่ได้กระทำ ถ้าว่าทำได้อย่างนี้คือวิริยะความพากเพียรถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยปีติ ไม่เท่าไร ไม่เท่าไรมันจะเข้ารูปเข้ารอย เรียกว่า ปัฏฐิ ตัวหนังสือแปลว่าสงบระงับลงเพราะว่ามันเข้ารูปเข้ารอย ถ้ามันยังไม่เข้ารูปเข้ารอย มันมันระงับไม่ได้ มันไม่ปัฏฐิ การงานก็ดี การศึกษาก็ดี การปฏิบัติธรรมะก็ดี ถ้ามันถูกต้องแล้วมันถึงจะเข้ารูปเข้ารอยแล้วมันจึงจะเป็นสงบระงับ เรียกว่า ปัฏฐิ ปัฏฐิ ปัฏฐิเข้ารูปเข้ารอย เข้ารูปเข้ารอยก็ระดมกันใหญ่เต็มที่ด้วยสมาธิ สมาธิ กำลังสมาธิทั้งหมดเทลงไปในการเข้ารูปเข้ารอย การเข้ารูปเข้ารอยก็ให้ถึงที่สุด เมื่อเทสมาธิลงไปในความเข้ารูปเข้ารอยมันเรียกว่าถูกต้องแล้วก็คุมไว้ ด้วย คุมไว้กว่ามันจะถึงที่สุดเรียกว่า อุเบกขา อุเบกขาแปลว่าเพ่งดู ไม่ใช่ดูเฉยๆ มันเพ่งดูด้วยสติสัมปัชชัญญะ ด้วยปัญญาคือควบคุมสมาธิให้อยู่ในความถูกต้อง ให้มันดำเนินไป ดำเนินไปตามความถูกต้องมันก็ได้รับผล ๗ ประการนี้เรียกว่า โพชฌงค์ ใช้อย่างโลกโลก ในการบริหาร ธุรกิจของคุณก็ได้ลองดู ๗ ประการนี้คุณใช้มันเลยให้ถูกต้อง ในที่สุดแม้ที่แต่ทำไร่ ทำนาง่ายๆ ของชาวประชาชนก็ใช้ได้ ๗ ประการนี้แหละ มีความรู้เพียงพอเลือกมาดีแล้วว่าจะทำอะไร แล้วก็มีวิริยะ ทำไปปีติหล่อเลี้ยงไว้เข้ารูปเข้ารอย แล้วก็เทสมาธิกำลังทั้งหมดลงไป แล้วก็นั่งดูว่ามันจะออกผลมาอย่างไร และทำนาทำสวน ทำถูกต้องดีแล้วก็คอยเฝ้าดูมันออกผลมา อย่างนี้เรียกว่า โพชฌงค์ มันเหลือเหลือเหลือกินเหลือใช้ ถ้าว่าคุณมีสัปปุริสธรรม ๗ พร้อมกับโพชฌงค์ ๗ มันก็เหลือกินเหลือใช้ในการจะมีธรรมะ ในการบริหารชีวิตก็ดี ในการบริหารหน้าที่การงานโดยเฉพาะเฉพาะที่เรียกว่าธุรกิจ ทีนี้ในการที่จะปฏิบัติธรรมะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ดีพอ พอมันพอ มันเหลือพอ
เอาหละอาตมาก็ได้ชี้แจงเรื่องบริหารชีวิตซึ่งรวมการบริหารธุรกิจอยู่ในชื่อนั้นด้วย ตั้งใจจะพูดอีกหมวดหนึ่งซึ่งใหญ่โตมากเรียกว่าจริยธรรมสากล แล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไรเดี๋ยวนี้หมดแรงจะพูดแล้วขอยุติเรื่องเอาไว้ ก็ต้องขอยุติการบรรยาย เดี๋ยวนี้ไม่มีแรงจะพูดแล้ว ขอทบทวนว่าจงบริหารชีวิตให้ถูกต้องแล้วมันจะบริหารทุกอย่าง ธรรมะประเสริฐสุดก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทีแยกออกเป็นมีสัปปุริสธรรม ๗ ก็ได้ เป็นโพชฌงค์ ๗ ก็ได้ ใช้ให้ถูกต้องแล้วก็จะเป็นการบริหารทุกสิ่งทุกประการ ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะประสบความสำเร็จในการธรรมะเหล่านี้ตามที่ควร มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนอยู่ทุกทิพาราตรีกันเทอญ ขอยุติการบรรยายเพราะไม่มีแรงจะพูดเสียแล้ว