แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาและท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมดอาตมาขอโอกาสแสดงความยินดีอนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือแสวงหาความรู้ทางธรรมะเพื่อไปใช้ประกอบกิจการงานในหน้าที่ของตน ของตน ให้มีความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไป เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและควรอนุโมทนา อยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าธรรมะกันเป็นสิ่งแรก คือสิ่งที่ท่านทั้งหลายมาเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องธรรมะนี้ ว่ามันคืออะไรกันแน่ เป็นคำที่กำกวม ยากที่จะบัญญัติให้ชัดแน่ลงไป และเพราะว่ามันมีความหมายกว้างเกินไป หมายถึงทุกสิ่ง ถ้าจะพูดโดยภาษา ด้วยเฉพาะภาษาบาลี คำว่าธรรมะมันหมายทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร โดยอาศัยหลักของธรรมชาติ ธรรมะเป็นคำพูดคำเดียวกับคำว่าธรรมชาติ ในภาษาบาลีที่พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติ ใช้คำว่าธรรม ธรรมะเพียงคำเดียวเท่านั้น คำว่าธรรมะกับคำว่าธรรมชาติมันเป็นคำเดียวกันไป ทีนี้ก็ควรจะรู้หรือเหตุผลหรือที่มาของความเป็นอย่างนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในภาษาบาลีนั้น มันตั้งรากฐานอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ หรือเป็นตัวธรรมชาติแต่ว่าในทุกแง่ทุกมุมแห่งความหมาย ดังนั้นจึงแบ่งไปได้เป็น ๔ หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน หมวดแรกก็คือไอ้ตัวธรรมชาตินั่นเอง เป็นตัวธรรมะที่เราจะต้องรู้จัก ตัวธรรมชาติทุกอย่างในสากลจักรวาล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม คือทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ เป็นธรรมชาติหมด แล้วก็ไม่มีอะไรที่ยกเก็บไว้เป็นเหนือธรรมชาติ การศึกษาสมัยใหม่ก็ยังมีพูดถึงว่ามันยังมีเหนือธรรมชาติ ตามใจ แต่ในภาษาบาลีหรือภาษาธรรมะจัดเป็นธรรมชาติหมด ที่ปัจจุบันนี้เขาจัดเป็นธรรมชาติหรือเหนือธรรมชาติ นี้ภาษาธรรมะนี้จัดเป็นธรรมชาติหมด จึงมีคำว่าธรรมชาติคำเดียวหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ทีนี้หมวดที่ ๒ กฎของธรรมชาติ นี่หมายความว่าในสิ่งที่เป็นธรรมชาตินั่นนะ มันมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ กฎของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมธรรมชาติ ไอ้ตัวกฎนี้มันก็ยังเรียกว่าธรรมะ ธรรมะอยู่แหละ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติอยู่ไกลกันออกไป กว้างขวาง ลึกลับ บางอย่างยังไม่รู้จัก ทีนี้ความหมายที่ ๓ หมายถึงหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หรือว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ก็ได้ คือตัวธรรมะเป็นความหมายที่ ๓ ความหมายที่ ๓ นี้สำคัญมาก เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิตโดยตรง ความหมายที่ ๔ เหมือนกับแถมพก ผลได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติผิด ก็ได้รับผลสำควรและยุติธรรม นี่เรียกว่าผลจากหน้าที่ เมื่อแบ่งออกเป็น ๔ ความหมายอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลายลองคำนวณดูเถอะว่า มันมีอะไรเหลือหละ มันจะมีอะไรเหลืออยู่ที่ไม่ใช่ธรรมชาติหรือไม่รวมอยู่ในคำว่าธรรมชาติ ความหมายที่ ๑ ตัวธรรมชาตินั่นเอง ความหมายที่ ๒ ตัวของกฎของธรรมชาติที่ควบคุมธรรมชาติเหล่านั้นอยู่ ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ หน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นั่นก็หมายเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต แม้ไม่มีชีวิตมันก็มีการปฏิบัติอย่างไม่มีชีวิต ๔.ก็ผลหรือปฏิกิริยาก็ได้ที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ นี่รู้จักคำว่าธรรมะ ธรรมโดยภาษา และภาษาบาลีที่ใช้สำหรับพุทธศาสนาโดยเฉพาะ มีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ มีผู้พยายามที่จะแปลคำ ๆ นี้ออกไปเป็นภาษาของตน ของตน ไม่เคยประสบความสำเร็จ เมื่อพุทธศาสนาเข้าไปในประเทศอังกฤษใหม่ๆ นักศึกษาหรือนักปรัชญารวมหัวกันจะแปลคำนี้จะเป็นภาษาอังกฤษ ว่าได้ข่าวว่าแปลได้ถึง ๓๘ คำ นั้นมันยังไม่หมดความหมาย ยังไม่หมดความหมายของคำว่าธรรม ธรรมคำเดียว เพียรพยายาม ในที่สุดก็ยอมแพ้แล้วก็ว่าไม่ต้องแปล ใช้คำว่าธรรม ธรรมะนี้ไปตามเดิม ดังนั้นใน Dictionary หรือใน Vocabulary ภาษาอังกฤษมันก็มีคำว่าธรรมะอยู่รวมอยู่ด้วย และคำอื่นๆที่มันเนื่องกับธรรมะพลอยติดเข้าไปด้วย เช่นคำว่า Dharmic แปลว่าประกอบด้วยธรรมะหรือเนื่องด้วยธรรมะอย่างนี้เป็นต้น เข้าไปอยู่ในภาคภาษาอังกฤษแล้ว นี่ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่ามีคนเข้าใจในง่ายหวัดๆ ต่อคำว่าธรรมะ แล้วก็พูดกันอย่างไม่ตรง ไม่ตรง เช่นในโรงเรียนครูจะสอนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แทนที่จะถูกมันกลายเป็นผิดไปเสียเลย เพราะว่าในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล ศาสดาไหน ลัทธิไหนก็ตามใจ สอนธรรมะทั้งนั้นแหละ จนต้องเรียกว่าธรรมะของพระสมณโคดม ธรรมะของนิครนถนาฏบุตร ธรรมะของสัญชัยเวลัฏฐบุตร แล้วแต่จะมันมีกี่ศาสดา ธรรมะไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แปลว่าหน้าที่แห่งความรอดนั่นแหละ ในความหมายที่ ๓ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ด้วย มันสำคัญอยู่ที่ความหมายไหน ความหมายไหนเป็นความรอดหรือความตาย มันอยู่ที่คำว่าหน้าที่ หน้าที่ ดังนั้นทุกๆ ศาสดาต่างแข่งขันกันอธิบายหรือสอนเรื่องหน้าที่รอด หน้าที่แห่งความรอดตามความคิดของตน ๆ จึงมีหลายศาสดาและหลายศาสนา ในทีนี้เราพูดกันเฉพาะในฝ่ายพระพุทธศาสนา คือธรรมะตามที่บอกกล่าวสั่งสอนให้โดยพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่าสมณโคดม ที่เราเรียนในพุทธประวัติ ท่านทั้งหลายก็ลองใคร่ครวญดูเอง จับความหมายของคำ ๆ นี้ให้ชัดเจน รัดกุม ถูกต้อง พอใจ เรามักจะใช้คำว่าหน้าที่อันถูกต้องแก่ความรอด หน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความรอดนั่นแหละเท่านี้ควรจะพอ คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หน้าที่อันใดไปประพฤติกระทำเข้าแล้วมันเกิดความรอดนั่นแหละคือธรรมะ แต่ว่าไอ้ความรอดนี้มันก็มีหลายระดับ ก็รอดได้ทุกระดับ รอดชีวิตก็ได้ รอดจากความทุกข์คือปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็ได้ ไอ้รอดจากชีวิตนั่นแหละสำคัญ เราจะเสียชีวิตถ้ามันหมด หมดเรื่อง แต่ว่าถ้ามีชีวิตแต่เต็มด้วยปัญหาก็ไม่ไหวเหมือนกัน ในที่นี้อยากจะใช้คำว่าปัญหา ชีวิตที่ปราศจากปัญหานั่นถูกต้องที่สุด เพราะว่าไอ้ความสุข ความสุขมันก็ยังเป็นปัญหา ไอ้ความทุกข์มันเป็นปัญหาแหละ แม้แต่ความสุข ความสุข มันยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสุข ตามแบบของความสุข คำว่าปัญหามันดูเถอะ มันมีความหมายในลักษณะเป็น Question เป็น Question คือสิ่งที่ต้องถามก็มี มันมีลักษณะเป็น Problem รบกวนให้ยุ่งยากไปหมดก็มีนี่ ใช้คำว่าปัญหามันกินความกว้างยิ่งกว่าจะใช้คำว่าความทุกข์ รอดจากความทุกข์ยังไม่เกลี้ยงเกลาหมดจดเท่ากับว่ารอดจากปัญหาทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้วมันทนไม่ได้แหละ ถ้ามีแล้วทนไม่ได้ มันรบกวนทนไม่ได้ ต้องหมดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มันก็ไม่ต้องถามใครอีกต่อไป ว่าเรื่องนี้ว่าอย่างไร เรื่องนี้ทำอย่างไร ไม่ต้องถามอีกต่อไป นี่มันหมดทั้ง Question มันหมดทั้ง Problem มันหมดทั้งอะไรอีกยุ่งยากลำบากทุกอย่าง ธรรมะคือสิ่งที่ช่วยให้ความรอด ธรรมะคือสิ่งที่ช่วยให้เกิดความรอดคือหลุดพ้นจากปัญหา ภาษาวัดก็ใช้คำว่าหลุดพ้น หลุดพ้นจากปัญหา ปัญหาคือสิ่งที่ผูกพันไว้กับความยุ่งยากลำบากทั้งในแง่บวกทั้งในแง่ลบ บางคนบูชาบวก บูชาบวกจนเป็นบ้าไปเลย หารู้ไม่ว่าไอ้แง่บวกมันก็เป็นปัญหา ดังนั้นอย่าอย่าหลงใหลในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้มันมากนัก Positive ก็ดี Negative ก็ดี มันมีปัญหาเท่ากันตามแบบของมัน ของมัน ฉะนั้นเราต้องเอาชนะปัญหาเหล่านี้ให้ได้คือไม่มีปัญหา พอไม่มีปัญหามันก็เกิดอาการผินหน้า (นาทีที่ 15:05) ปรารถนาขึ้นมาทันที คือชีวิตนี้สะอาด สว่าง สงบ เย็น เพราะมันหมดปัญหา เราใช้คำอุปมาใหม่ๆ เพื่อให้ฟังง่ายว่าชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ พวกฝรั่งที่มากันทุกเดือน ชอบ ชอบใช้คำนี้ สนใจคำนี้ ให้ถือเป็นจุดสนใจ เพราะว่าเขาเคยพบแต่ชีวิตที่กัดเจ้าของ พบชีวิตที่ล้วนแต่กัดเจ้าของ พอมามองเห็นหรือเข้าใจจิต ไอ้ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของก็ พอใจ พอใจ ตั้งเป็นจุดหมายของการศึกษา ของการปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา ชีวิตที่กัดเจ้าของมันดูเอาเองไม่ต้องใครบอก เดี๋ยวความรักกัดบ้าไป เดี๋ยวความโกรธกัด เอ้า,ไปบ้าไปพัก เดี๋ยวความเกลียดกัดก็บ้าไปพักหนึ่ง ความกลัวกัดก็หมดความสุข ความตื่นเต้น ตื่นเต้น อะไรที่ทำให้ตื่นเต้นจนฟุ้งซ่าน นี่มันก็เหมือนกับกัดเหมือนกัน วิตกกังวลอนาคตนี่ก็กัด อาลัยอาวรณ์อดีตที่แล้วมาแต่หลังมันก็กัด อิจฉาริษยามันก็กัด ความหวงมันก็กัด ความหึงในที่สุดมันก็กัด ลองคิดดูเถอะว่าไอ้ที่จะกัดมันมีกี่มากน้อย มันมีมากมายหลาย ถ้าไม่มีไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่กัด มันก็สบาย เราเรียกว่าชีวิตที่หลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นปัญหาคือรบกวน จะเรียกตามชอบใจเอาใหม่เองก็ได้ ก็ได้เหมือนกัน อยากจะแนะว่ามันควรจะมีคำสัก ๒ คำ ชีวิต ก. แล้วก็ชีวิต ข. ชีวิต ก. คือมันเกิน เกินด้วยความโง่ ชีวิต ข. มันก็ขาด ขาดก็ด้วยความโง่อีกเหมือนกันแหละ ถ้ามันมีความโง่แล้วชีวิตนี้มันต้องขาดๆ เกินๆ เกินก็ดูเถอะมันหมดเปลืองอย่างน่าใจหาย ไอ้ขาดนี้มันก็คล้ายกับบ้าๆ บอๆ ทนทุกข์ทรมานแวดล้อมไปด้วยสิ่งรบกวน ดังนั้นชีวิตที่ดีก็คือชีวิตที่ไม่ขาด ไม่เกิน ก็ต้องเรียกว่าชีวิตที่ถูกต้อง จะเรียกว่าชีวิต ข. อะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่เคยเรียก เรามุ่งกันแต่ว่ามันมีอย่างหนึ่งมันขาดคือมันปิด ทางขาด มันปิดเป็นทางเกิน ฟังแล้วความสงบสุขไม่ได้ ต้องพอดี พอดี เป็นหลักในพระพุทธศาสนาที่ว่ามัชฌิมาปฏิปทา ชีวิตที่เป็นกลาง แต่ว่าคำว่ากลางในที่นี้ มีความหมายพิเศษคืออยู่เหนือ เหนือบวก เหนือลบ เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ เหนือขาด เหนือเกิน แต่มันถูกต้องและพอดี คำว่าถูกต้องนั่นแหละเหมาะสมที่สุด ง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ และรับประกันได้มากกว่าอย่างใด ถ้ามันถูกต้อง ถูกต้องแล้วมันไม่มีปัญหา ฉะนั้นมันก็ไปมีปัญหาตรงถ้อยคำหรือความหมาย ถูกต้องโดยหลักเกณฑ์อะไรที่จะเรียกว่าถูกต้อง ถูกต้องโดยหลักเกณฑ์ของไอ้วิทยาศาสตร์มันก็ไปอย่างหนึ่ง ถูกต้องหลักเกณฑ์ของปรัชญา Philosophy เรียก Philosophy ดีกว่าเรียกว่าปรัชญา เพราะมันไปใช้คำพูดของเขาผิด Philosophy ที่พวกฝรั่งยังเรียกกันอยู่นั้น วิธีการคิดอย่าง Philosophy ถูกต้องตามนั้นก็ไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องเนื่องด้วยเหตุผลมากเกินไป แล้วคาดคะเนมากเกินไป ถูกต้องตามไอ้ Logic ไอ้นี่มันก็เหตุผลที่ว่าซึ่งน่า เกินไปก็ไม่เอาเหมือนกัน เพราะว่ามันมีหลักเกณฑ์กันอย่างอื่น และมันมีวิธีตั้งสมมุติฐาน สมมุติอะไรขึ้นมา ก็ไม่เอาถูกต้องตามวิธีคิดแบบนั้น แต่เอาถูกต้อง ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ความถูกต้องตรงที่ว่ามันไม่ทำอันตรายผู้ใด และมันมีแต่ให้ประโยชน์อย่างเดียว จึงจะเรียกว่าถูกต้อง ถ้ามันยังทำให้เกิดปัญหา เดือดร้อนเบียดเบียนอะไรกันอยู่ มันไม่ถูกต้อง ถ้ามีแต่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์นั่นแหละ นั่นแหละเรียกว่าถูกต้อง ควรตัดสินกันแน่ลงไปว่าถูกต้องอย่างคือนี้ ถ้ามีการปฏิบัติอย่างถูกต้องมันก็ได้ผลเป็นอย่างนี้ ถ้ามีการเล่าเรียนอย่างถูกต้องมันก็เป็นไปเพื่อผลอย่างนี้ เพื่อปฏิบัติอย่างนี้ ดังนั้นธรรมะโดยสรุปแล้วก็คือหน้าที่ที่ถูกต้องเพื่อความรอด จะเอาทั้งตัวธรรมชาติหรือตัวกฎของธรรมชาติ มันยังไม่ตรง มันต้องเอาที่ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอันถูกต้อง ยกเอาคำว่าหน้าที่อันถูกต้องเป็นใจความสำคัญ หรือถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ มีผลออกมาเป็นความไม่มีทุกข์ ไม่มีใครเดือดร้อน ได้รับประโยชน์สุขด้วยกันทุกฝ่ายนี่คือความถูกต้องที่มุ่งหมายในพระพุทธศาสนา คำว่าถูกต้อง ถูกต้อง หรือจะเป็นบาลีว่า สัมมัตตะ สัมมัตตะ สัมมะ สัมมา ว่าซึ่งถูกต้องเป็น Adjective สัมมัตตะ แปลว่าความถูกต้องเป็น Nouns จะเรียกว่าสัมมา หรือจะเรียกว่า สัมมัตตะ ก็ได้หมายถึงความถูกต้อง ถ้าถูกต้องแล้วก็หมายความว่าหมดปัญหา ถ้าปัญหายังเหลืออยู่ยังไม่ถูกต้อง หรือยังไม่ถึงขนาด ไม่เต็มขนาดแห่งความถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจงรู้ความถูกต้องตามหลักของธรรมะ สามารถขจัดปัญหาได้โดยประการทั้งปวง แล้วธรรมะนี้เราไม่ได้ฝากไว้กับเหตุผลหรือสิ่งแวดล้อมหรืออะไรอื่น เรายึดเอาไอ้ความจริงที่มันแสดงอยู่ที่ตัวคำพูดและการกระทำ ข้อนี้แหละสำคัญมาก สำคัญมาก จะเชื่อที่ตรงไหน จะยึดถือเอาเป็นหลักเกณฑ์ที่ตรงไหน ถ้าเอาตามพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองที่เรียกว่ากาลามสูตร ได้เป็น เป็นอะไร เป็นประเสริฐหรือวิเศษที่สุด หลักเกณฑ์กาลามสูตร ๑๐ ประการ ขอให้พยายามหามาศึกษาให้เข้าใจดีที่สุด ให้ตรงกับที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ที่นี่ก็มีเป็นแผ่นพับอยู่แผ่นหนึ่งเรื่องกาลามสูตร โดยใจความมันเหนือหรือเลิศกว่าศาสนาใดๆ เพราะว่าศาสนาโดยมากเขาให้เชื่อพระศาสดา ให้เชื่อพระเป็นเจ้าหรือให้เชื่อในพิธีรีตอง ส่วนพุทธศาสนานี้ นับมาตั้งแต่ว่าไม่เชื่อตามที่สอน สอน สอน สืบ สืบ สืบกันมา เราไม่ต้องเชื่อตามนั้น เรามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ไม่เชื่อเพราะเหตุว่าเขาปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติกันมาอย่างนี้นี่ เราก็ยังไม่เชื่อ เราจะมีเหตุผลที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ไม่เชื่อเพราะเห็นว่า เอ้า , ลือ เล่าลือกันกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือโลก ก็ยังไม่เชื่อก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และว่ามันมีที่อ้างอยู่ในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์ของพระศาสนา พระไตรปิฎก มีอ้างอยู่ในพระคัมภีร์ ก็ยังไม่เชื่อจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง ไม่เชื่อเพราะว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางตรรกะ ตรรกะ ที่ตรงภาษาฝรั่งว่า Logic ความคิดตามวิธีอย่าง Logic สอนให้เชื่อ ยังจะต้องเอาไว้รอพิสูจน์ เหตุผล ผล ผลของการคิดตามวิธีของนัยยะ คือ Philosophy นั่นแหละก็ยังไม่เชื่อ ยังต้องเอาไว้วิพากษ์วิจารณ์หาความจริงอย่างหนึ่ง ทีนี้มันก็ ๖ อย่างแล้ว นี้ ๗. ก็ไม่เชื่อเรียกว่าตามอาการ หรือว่าเชื่ออย่าง Common sense ก็ได้ เชื่อตามอาการของ Common sense ที่ใช้กันโดยมาก ก็ยังต้องดูสิมันผิดหรือถูกของมันนี่ มันจะเชื่อโดยเหตุว่าเอา Common sense มันออกมาอย่างนี้แล้วก็ถูกอย่างนี้ก็ไม่เอา ก็ไม่เชื่อโดยเหตุว่ามันทนได้ต่อการเพ่งพินิจพิจารณาของเรา ทนได้ต่อการวิจัยวิจารณ์ด้านความคิดของเรา ก็ยังไม่เอา ๘. ทีนี้ ๙. ไม่เชื่อว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ ก็ยังไม่เอายังเก็บไว้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสุดท้ายไม่เชื่อเพราะเหตุว่าสมณะนั้น ผู้กล่าวผู้สอนเป็นพระศาสดาของเรานี่ ก็ยังไม่เอา มันมีศาสนาไหนให้เสรีภาพอย่างนี้ มันไม่มีนอกจากพุทธศาสนา ทำไม ทำไมและให้เชื่ออะไร เอาสิฟังได้ตามที่เขาพูดมาหรือว่าออกผลมาอย่างนี้ก็ได้ แต่เราจะต้องมองดูถึงเหตุผลอีกในตัวมันเองที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง คำพูดที่พูดออกไปเป็นหลักธรรมะประโยคหนึ่งๆ ประโยคหนึ่งๆ จะมีเหตุผลแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ถ้าเราเห็นเหตุผลอันนั้นเป็นไปในทางดับทุกข์ได้แล้วจึงจะเชื่อ ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อด้วยการคิดคำนวณอย่างอื่น แต่เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเองว่ามันเป็นอย่างนั้นได้ เช่นประโยคว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นี้ กิเลสและตันหาเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราไม่ต้องเชื่อผู้พูด แม้ผู้พูดเป็นพระพุทธเจ้าเอง แต่จะมองเห็นอยู่ที่ตัวกิเลสให้เกิดความทุกข์ ถ้ารู้จักกิเลสดีก็เห็นได้ทันทีว่ากิเลสนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ มันเป็นเหตุผลตามธรรมชาติซึ่งแสดงอยู่ที่คำพูดนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องเชื่อด้วยอาการ ๑๐ อย่างที่เรียกว่ากาลามสูตร แต่ก็ฟังเขาพูดก็ฟังก็คิดเถอะ ในที่สุดก็พบว่าเหตุผลนั่นมันอยู่ที่ มันแสดงอยู่ที่นั่น อย่างนี้เรียกว่าเชื่อพระธรรม เชื่อธรรมะที่แสดงอยู่ที่นั่น เช่นว่าคนล่วงความทุกข์ได้เพราะความเพียรประโยคนี้ก็พูดกันแล้ว ฉันไม่เชื่อใคร ฉันต้องเห็นชัดๆ อยู่ว่าความเพียรมันล่วง สามารถให้ก้าวล่วงความทุกข์ได้จริง เรียกว่าเชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในคำพูดประโยคนั้นแล้วก็อย่างได้นี้จะได้ อย่างนี้เป็นหลักหรือเป็นวิธีการพุทธศาสนา ความทุกข์เป็นอย่างนั้น ความสุขเป็นอย่างนั้น เหตุเป็นอย่างนั้น ผลเป็นอย่างนั้นล้วนแต่แสดงอยู่ที่นั่นโดยไม่ต้องเชื่อ ถ้าเขาพูดตามๆ กันมาอย่างนั้น เขาปฏิบัติตาม ๆ กันมาอย่างนั้น เขาเล่าลือกันอยู่กระฉ่อนอย่างนั้น หรือคำพูดนั้นมีที่อ้างในพระคัมภีร์ หรือว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางตรรกะ หรือทาง Logic หรือมันถูกต้องตามเหตุผลนัยยะหรือทาง Philosophy หรือมันเข้ากับ Common sense หรือมันว่าทนได้ต่อการคิดนึกเพ่งพินิจของเรา หรือว่าผู้พูดน่าเชื่อเหลือเกินในลักษณะน่าเชื่อ หรือก็ไม่เชื่อแม้แต่ว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา ไม่ค่อยมีใครเอามาสอนแต่มันมีอยู่อย่างนั้น ตั้งนานมาแล้วครั้งสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณท่านเปิดเผยพระไตรปิฎก ท่านก็เคยเอาสูตรนี้มาให้คิด ให้สอนกันเหมือนกัน แต่แล้วมันก็เงียบไป เดี๋ยวนี้พอเอามาสอนหรือเอามาพูดเข้า เขาก็หาว่าเป็นฝ่ายทำลาย ฝ่ายทำลายหมด เพราะมันไม่รู้ จะเรียกว่าเพราะมันโง่ก็ได้ ฉะนั้นเราควรรู้ว่าหลักของพระพุทธศาสนานี้ เปิดกว้างเสรีภาพถึงขนาดนี้ ช่วยจำเอาไว้ด้วย การที่จะเชื่ออะไรที่คำพูดคำสอนในทางศาสนานั้น ไม่ต้องเชื่อโดยเหตุ ๑๐ ประการนั้น แต่เชื่อโดยเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง ถ้าเป็นสิ่งที่ลองดูได้ก็ยิ่งดีสิ เช่นเกลือเค็มก็กินเข้าไปดูมันก็เค็ม ก็ไม่ต้องเชื่อใครอย่างนี้มันก็ยิ่งดีคือลองปฏิบัติดู นี่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้เข้าใจว่าหลักของพระพุทธศาสนานั้นต้องการให้เป็นอิสระทางสติปัญญา ไม่เป็นทาสทางสติปัญญา ไม่เป็นทาส ไม่เป็นขี้ข้าทางสติปัญญาของใคร เรากล้าพูดได้ว่าแม้แต่ของพระพุทธเจ้านั่น พออาตมามาพูดอย่างนี้ก็ถูกด่า ก็ด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง มัน มันเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้าหรือว่าเป็นการจ้วงจาบ หรือว่าเป็นการหลอกลวงคน ย้อมแมวขาย คำพูดเหล่านี้มันมีอยู่อย่างนี้ ทุกๆๆ ตัวอักษรไปดู ท่องจำให้ได้ทั้งที่เป็นตัวบาลีและเป็นตัวไทย ภาษาไทย มา อนุสฺ มา ปรมฺปราย มา อิติกิราย มา ปิฏกสมฺปทาเนน มา ตกฺกเหตุ มา นยเหตุ มา อาการปริวิตกฺเกน มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา มา ภพฺพรูปตาย มา สมโณ โน ครูติ ๑๐ อย่าง ศาสนาไหนกล้าเปิดอย่างนี้ ล้วนแต่บังคับต้องเชื่อทันทีตั้งแต่วันย่างเท้าเข้ามาสู่ศาสนานั้น ต้องเชื่อและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น นี่ความที่ว่าธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นความจริงของธรรมชาติ ท้าทายต่อการพิสูจน์ทดลอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เรื่องของธรรมชาติและนำมาเปิดเผย มาสั่งสอน ไม่ใช่พระองค์บัญญัติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันมีกฎเกณฑ์อย่างนั้น ความทุกข์จะเกิดอย่างนี้ ความสุขจะเกิดอย่างนี้ เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วก็นำมาสอน ท่านมีอิสรเสรีภาพที่จะมองเห็นความจริงนั้นแล้วจึงค่อยปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้านี้ท่านมีวิธีตรัสสอน ตรัสสอนโดยหลัก ๓ ประการ คือตรัสสอนโดยลักษณะที่ว่ามันเป็นของประหลาดหรือของใหม่ หรือของไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ท่านนำมาสอนนั้นท่านจะรู้สึกว่าไม่เคยได้ยินได้ฟัง แล้วก็มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องเชื่อผู้พูด มันมีเหตุผล แล้วข้อที่ ๓ มีปาฏิหาริย์คือว่าสามารถปฏิบัติให้สำเร็จได้ ไม่เหนือวิสัยไม่ใช่แต่พูดๆๆๆ อย่างเดียวแล้วปฏิบัติไม่ได้ ๑. มีความแปลกใหม่ ๒. มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง และก็ ๓. มีปาฏิหาริย์ มีความเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติ ให้เป็นอย่างนั้นได้ พระบาลีมันเรียกว่ามีปาฏิหาริย์ Possibility นั่นแหละ ตรงคำว่ามันมีปาฏิหาริย์ คือหมายความว่ามีความเป็นได้ดังที่กล่าวนี้ ท่านจะตรัส คำตรัสที่มีลักษณะ ๓ ประการนี้ มันจึงมีคำว่าเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง เหตุผลอยู่ในตัวคำตรัสนั้นเอง คุณไปเอาประโยคไหนที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ามาดู มันมีเหตุผลแสดงความเป็นอย่างนั้นอยู่ในตัวคำพูดนั่นแหละ ไปศึกษาให้เข้าใจ เข้าใจ เข้าใจ แล้วปฏิบัติตามนั้นให้ได้ มันก็ได้ผลตามที่ต้องการ นี้มันออกจะยืดยาวแล้วสำหรับคำว่าธรรมะ ธรรมะ คืออะไร มานี่เพื่อจะศึกษาหาความรู้ทางธรรมะไปประกอบหน้าที่การงานของตนให้มีความถูกต้องก้าวหน้าดีงามถึงที่สุด จะเป็นการงานในระหว่างเรียนอยู่ก็ดี จะเป็นการงานในเรียนแล้วทำการงานตามหลักการนั้นๆ ก็ดี กระทั่งการงานที่จะดำรงชีวิตดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้องราบรื่นกว่าจะสิ้นชีวิตก็ดี ก็เรียกว่ามันมีหน้าที่การงานของชีวิต แล้วเราก็มีธรรมะเป็นเครื่องประคับประคองในการดำเนินชีวิตให้มันถูกต้อง นี่เรียกว่ามันมีเหตุผลพอ พอดู (นาทีที่ 37.40 ) ที่ว่าจะต้องเสียเวลาทนความยากลำบากมาเพื่อศึกษาธรรมะ แต่ขอให้เข้าใจรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในลักษณะที่กล่าวมาแล้วนี้จริงๆ อย่าเพียงแต่ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไปพูดอย่างนี้ในอินเดียก็จะถูกโห่เอา เพราะว่าพระศาสดาของลัทธิไหน ศาสนาไหนก็สอนธรรมะทั้งนั้นแหละ คือหน้าที่ที่จะช่วยให้รอด เขาก็สอนตามแบบของเขาตามความคิดของเขา มันจึงมีหลายศาสนาหรือหลายลัทธิ ประกวดแข่งขันกันว่าอย่างนี้ถูก อย่างนี้ถูก อย่างอื่นผิด คือต้องปฏิบัติอย่างนี้จึงจะเกิดความรอด เราเอาว่าหน้าที่ที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความรอดจากปัญหาทั้งปวง ขอให้เอาไปเป็นหลักเกณฑ์ที่ว่าจะต้องยึดถืออย่างนี้ ธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปยึดถือในตัวบุคคลผู้พูดหรือมีที่อ้างในพระคัมภีร์ซึ่งพวกฝรั่งมันก็ยังบ้ากันนัก อะไร ๆ ก็ต้อง Couch (นาทีที่ 39:00 ฟังไม่ออก) ที่มาของพระคัมภีร์มาของพระคัมภีร์มาใส่ให้เห็นนี้ยังโง่มาก พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้เชื่อว่ามันมีอ้างที่อ้างอยู่ในพระคัมภีร์ แต่ให้ดูที่มันมีเหตุผลอยู่ที่ตัวคำพูดนั้นเอง นี่คือธรรมะ หรือสิ่งที่ท่านทั้งหลายมาแสวงหา ที่นี้ก็ขอแถมพกหน่อยว่าเวลาศึกษาธรรมะนะ ต้องเป็นเวลาที่จิตใจเหมาะสม พูดง่ายๆก็ว่าจิตใจเป็นสมาธิ นั้นเราจึงเลือกเอาเวลาอย่างนี้ เวลา ๕.๐๐ น. โลกเวลา ๕.๐๐น. เป็นเวลาที่เหมาะสม เป็นเวลาที่ตื่น ตื่นจากหลับของสิ่งที่มีชีวิต ดูไก่ ไก่ขันจ้าไปหมด มันตื่นขึ้นมาจากหลับ ดอกไม้ในป่านี่ก็เริ่มบานในเวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในเวลาอย่างนี้ โลกเวลา ๕.๐๐ น. ใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เพราะมันเวลาที่ตื่นหรือเบิกบาน เสียสละหน่อยเถิด ไอ้ความสบายด้วยการนอนในเวลานี้ เอามาใช้เพื่อการศึกษาแล้วก็ มันมีผลมากกว่า และมันเหมาะสมกว่าที่จะใช้นอน หัดตื่นเวลา ๕.๐๐ น. แล้วก็หยิบเอาเรื่องธรรมะซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งกว้างขวางอย่างที่ว่ามาแล้ว คิดนึก ตรึกตราวิจัยวิจารณ์ พอตื่นขึ้นมาก็จับปากกาเขียนได้ทันทีเลย ไม่ต้องไปล้างหน้าหรอก ถ้าจิตมันเป็นสมาธิไม่ต้องรอล้างหน้า เอาไว้ล้างหน้าเวลาอาบน้ำ ไม่ต้องไปอวดใครเวลานี้ พอตื่นจากหลับก็จับหยิบดินสอปากกาเขียนได้ทันที ธรรมะข้อไหนเข้ามาปรากฏแล้วก็ช่วยเขียนไว้ทันที วิพากษ์วิจารณ์ไปเลย ทำอย่างนี้ไม่เท่าไรก็จะคุ้นเคยกับธรรมะ จะแตกฉานในธรรมะ จะง่ายในการศึกษาธรรมะ เสียสละเวลานอนสบาย จะได้มาเพิ่มโลกให้เราอีก ๑ ชั่วโมงเต็มๆ ชั่วโมงที่มีค่าสูงสุดด้วย เราได้เวลาชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ ชั่วโมง ถ้าเอาไปนอนเสียมันก็ ๒๔ ชั่วโมง เดี๋ยวนี้ใช้ให้สูงสุดเสีย ๑ ชั่วโมงนี่กำไร และกำไรอย่างมากเสียด้วย ลองดู เหมาะสมกับที่ธรรมะเป็นสิ่งลึกซึ้งของธรรมชาติ ลึกซึ้งไม่มีอะไรลึกซึ้งเท่า ใช้เวลาที่จิตใจเหมาะสมที่สุดต้อนรับ ใช้โลกเวลา ๕.๐๐ น. ให้เป็นประโยชน์ เป็นการสมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ศึกษาหรือค้นคว้าธรรมะ
เอ้า, ทีนี้ก็อยากจะพูดเรื่องที่ว่ามันเนื่องกัน เนื่องกันอยู่กับการศึกษาธรรมะ คือว่าการศึกษาธรรมะนี้มันเป็นเรื่องพัฒนาจิต พัฒนาชีวิต ท่านจะใช้คำว่าจิตก็ได้ จะใช้คำว่าชีวิตก็ได้แล้วแต่จะมองเห็นอันไหน ว่าเป็นตัวยืนโรงอยู่ แต่ถ้าใช้คำว่าตนหรืออัตตาหรือตัวตนแล้วต้องรู้ความหมายที่ถูกต้อง ตนซึ่งมิไม่ใช่ตน ตนจึงเป็นเพียงจิตหรือเราเรียกอย่างหนึ่งว่าชีวิต ถ้าเรียกว่าตัวตน ตัวตน มันก็เป็นเรื่องของฝ่ายฮินดู ฝ่ายลัทธิที่มีตัวตนหรือฮินดู พุทธศาสนาไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนชนิดนั้น มีแต่จิตกับร่างกาย ก็พัฒนาทั้งร่างกายพัฒนาทั้งจิตให้มีความก้าวหน้า ในทางความรู้ก็ก้าวหน้า ในทางปฏิบัติก็ก้าวหน้า ในทางผลที่จะได้รับก็ก้าวหน้า อย่างนี้เรียกว่าพัฒนาชีวิต แล้วก็ให้มันมีความหมายที่ถูกต้องของคำว่าพัฒนา คือได้รับประโยชน์สูงสุดแท้จริงจึงจะเป็นผลดีของการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแต่ว่ามีความรู้หาเงินได้มากๆ แล้วสำรวย สำราญ สำเริงให้สุดเหวี่ยงนี้จะเรียกว่าการพัฒนา อย่างนั้นไม่ใช่ความมุ่งหมายของธรรมะ ธรรมะมุ่งหมายไปสู่ความสงบเย็น สงบเย็น ไม่มีไฟใดๆ แล้วก็ที่สมมุติอุปมาเหมือนกับชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้สงบเย็น สงบเย็น สงบเย็น ของตัวเอง ของชีวิตเอง เราเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย กว้างขวางออกไป นี่เรียกว่าพัฒนา เรา ถ้าพูดว่าเราอย่างนี้ก็พูดอย่างสมมุติที่ชาวบ้านเขาพูดหรือคนทั่วไปในโลกเขาพูด ที่จริงตัวเรา เรา เรานี่เป็นคำพูดที่ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ไอ้ตัวตนจริง มันใช้คำพูดสมมุติ แต่ว่ารู้เรื่องกันดีแล้วว่าหมายถึงอะไร พัฒนาตัวเองนั่นแหละก็คือพัฒนาชีวิต พัฒนาจิต ให้ ให้สูงสุด ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดที่จะพึงได้ มันควรจะได้อะไรเท่าไร ขอให้มันได้ถึงที่สุดระดับนั้นแหละก็เรียกว่าใช้ได้ เราจะมุ่งแต่เพียงว่าเย็น ชีวิตเย็นและก็เป็นประโยชน์ ถ้าเกินนี้ไป มันก็ มันก็จะเป็นบ้ากระมัง คือมันเกินไป มันก็เหนื่อยเปล่า ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ มันมีเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตย แม้ใครจะคิดเป็นทำนองว่า โอ้ย,ฉันไม่รับผิดชอบ ฉันไม่ได้สัญญากับใครว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไร แล้วฉันก็ไม่ได้เกิดมาด้วย ด้วยตัวเอง แม่เขาเกิดมานี่ มันก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เอ้า,จะคิดอย่างนี้ก็ได้ เสรีภาพมีให้คิดอย่างนี้ แต่เราก็ดูๆ ผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ไม่รับผิดชอบในชีวิตที่ได้เกิดมาแล้ว จะเป็นอะไรก็ตามใจฉัน ตามสะดวกของฉัน จะคิดอย่างนี้ก็ได้ ก็ลองดู ก็ลองดูไป ไม่มีใครว่า แต่นี่เรานิยมคิดกันว่าเกิดมาแล้วอย่างนี้มันต้องได้ ไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มันควรจะได้นั่น ขอให้จำคำนี้ไว้เถอะว่ามันต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้ แม้จะลำบากบ้าง อย่าคิดว่าฉันไม่ได้สัญญามา ฉันมีเสรีภาพที่จะไม่ต้องทำตามนั้น เอาก็ได้เหมือนกัน ก็ลองดู คุณก็ลองดู แล้วมันจะได้อะไรมันก็จะบอก บอกตัวเอง ในที่สุดมันจะนำไปสู่ภาวะเกิดเสียชาติเกิด เกิดมาแล้วเหมือนกับไม่ได้เกิด หรือเกิดมาแล้วกลับเป็นอันตราย เป็นผลร้ายแก่สังคม ดังนั้นเราต้องเกิดมาเพื่อได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ และก็ต้องแยกว่าทั้งเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่น ในภาษาธรรมะเรียกว่าผู้อื่น ภาษาเราเดี๋ยวนี้เรียกว่าสังคม ทั้งตัวเองและสังคมได้รับประโยชน์มันก็ใช้ได้ แต่สังคมนี้ก็เป็นเรื่องไม่ใช่เล็กน้อยนะ เพราะว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ แม้ว่าเขาจะยอมจะจัดจะให้เราอยู่คนเดียวในโลก เอ้า,อยู่คนเดียวในโลก ยกทั้งโลกให้แกคนเดียว ก็อยู่ไม่ได้ มันก็ตาย มันต้องอยู่กันอย่างครบถ้วนพร้อมหน้ามันจะจึงอยู่ได้ จึงมีส่วนที่จะต้องนึกถึงผู้อื่นไว้ด้วยเสมอ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ สิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ไว้เป็น ๓ ชนิด ประโยชน์ตนเองชนิดหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นชนิดหนึ่ง แล้วก็ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันโดยแยกกันไม่ได้ แยกออกจากกันไม่ได้นั่นอีกชนิดหนึ่ง อัตตะประโยชน์ อัตตะ ตน อัตตะประโยชน์ ประโยชน์ตน ปรัตถะ ปรัตถะประโยชน์ ก็ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะประโยชน์ ประโยชน์ ๒ ฝ่ายที่มันผูกพันกันเนื่องกัน ทำให้สำเร็จประโยชน์ทั้ง ๓ แล้วก็ไม่มีเครื่องมืออื่น นอกจากธรรมะเป็นเครื่องพัฒนา พัฒนา ฉะนั้นเราจึงนึกถึงการพัฒนาชีวิตให้ได้รับประโยชน์ถึงที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ มันเกินไปไม่ได้หรอก มันได้เท่าที่ชีวิตมันจะเป็นไปได้ แต่แล้วมันก็ไม่ใช่เล็กน้อยเหมือนกัน มันต้องมีเรื่องรู้ เรื่องเรียน เรื่องรู้มากๆ โดยมากมันไม่ได้พัฒนาไปจนถึงที่สุด มันไปตายด้านอยู่ตรงที่มันน่ารัก น่าพอใจ น่าหลงใหล น่ามัวเมา แล้วมันก็จบกันเท่านั้น มันก็หันหลังไปในทางไม่พัฒนานั่น ถ้าพัฒนามันไปข้างฝ่ายเจริญถึงที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นมันกลับถอยหลังไปหาความเสื่อม แล้วก็จบลงด้วยความเสื่อม แม้คำว่าพัฒนา พัฒนานี้ ก็มีคำธรรมะหลายๆ คำอย่างเราจะมองเห็นตามธรรมดาสามัญในเรื่องทางวัตถุนั้น ต้องมีการเพาะเมล็ดให้มันงอกออกมา เมล็ดของธรรมะที่เป็นการพัฒนาคือความถูกต้อง เพาะเมล็ด Growing เพาะ Growth เกิดขึ้นมาเป็นหน่ออ่อน แล้วก็บำรุงส่งเสริม บำรุงส่งเสริม ก็เป็นพัฒนาในขั้นที่ว่าเป็น Develop Develop ต่อจาก Growing เมื่อ Develop ถึงขนาด ถึงขนาดแล้วมันจะ Transform คือเปลี่ยนรูป เปลี่ยนรูป มันจะต้องพัฒนาขึ้นไปจนถึงขนาดเปลี่ยนรูปแล้วจึงเข้าไปจัดการกับมัน ให้การเปลี่ยนรูปนั้นมันถูกต้อง Administration Administration ทำกันที่ตรงนี้แหละ มันต้องทำกันมาจนถึงสิ่งนั้นสามารถเปลี่ยนรูป มันจึงจะทำให้เป็นไปตามที่เราต้องการ หรือเรียกว่าบริหาร บริหารนั้นให้มันเป็นไปตามที่เราต้องการได้ ฉะนั้นต้องมีการเพาะเมล็ดให้มันงอก แล้วก็มีการพัฒนาให้มัน Develop แล้วให้มันสามารถเปลี่ยนรูป เปลี่ยนรูปไปตามที่มันจะเปลี่ยนได้ แล้วเราก็จัดให้การเปลี่ยนรูปนั้น เปลี่ยนไปถูกตรงตามที่เราต้องการ ถ้าทำสำเร็จได้ตามนี้ ไอ้การพัฒนานั้นมันก็สำเร็จได้ จะพัฒนาวัตถุสิ่งของก็ได้ จะพัฒนาจิตใจ เรื่องทางจิตใจโดยเฉพาะก็ได้ ขอให้ทำให้มันถูกต้องเต็มเปี่ยมชัดเจนแน่นอนเป็นลำดับ ลำดับ ลำดับมา เพาะเมล็ดแล้วก็งอกงามแล้วก็เปลี่ยนรูป เราก็จัดให้ตรงตามที่เราต้องการ ทางธรรมะก็เป็นอย่างนั้น จับจุดสำคัญของธรรมะมาศึกษา เราก็รู้ เราก็จำได้ เราก็คิดให้เข้าใจ เข้าใจแล้วก็วิจัยวิจารณ์ วิจัยวิจารณ์ให้มันถึงที่สุด แล้วก็จึงเอาไปปฏิบัติ ซึ่งตัวปฏิบัติที่ทำให้เกิดการพัฒนา มันมีขั้นตอน ขั้นตอน แม้จะเรียกว่า ศึกษา ศึกษา มันก็มีขั้นตอน ไม่ใช่เพียงแต่จำได้หรือจดไว้ในสมุด คำว่า สิกฺขา ในบาลี คำว่า ศิกฺษา ในภาษาสันสกฤต หรือคำว่าศึกษาในภาษาไทย คำเดียวกันแหละ เพียงแต่ออกเสียงเพี้ยนไปตามเรื่องของภาษา มันแยกออกเป็นได้ ๒ ว่าสะ สะมันแปลว่าเอง อิขะ มันแปลว่าเห็น เห็นแจ้ง เห็นเอง สิขาหรือศึกษาก็แปลว่าเห็นเอง มันต้องมีการกระทำในชั้นแรกนะ ดูตัวเอง ดูตัวเอง แล้วก็ดูด้วยตนเอง ดูตัวเองดูด้วยตนเอง มันก็ดูเข้าไปในตัวเอง เข้าไปในตัวเอง ไม่ใช่ข้างนอก เพราะปัญหามันอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิต จะต้องดูตัวเองด้วยตนเองเข้าไปในตัวเอง อันแรกที่สุดก็ดู พอหลังจากดูก็เห็น ถ้าดูไม่เป็นก็ไม่เห็น ถ้าดูเป็นก็เห็น หลังจากดูมันก็เห็น บางทีก็เห็นแล้ว บางทีก็ไม่รู้จักเพราะมันยังโง่ ปัญญามันไม่พอมันไม่รู้จัก เห็นต้องรู้จัก ดู เห็น รู้จัก พอรู้จักแล้วก็วิจัยวิจารณ์ วิจัยวิจารณ์ วิจัยวิจารณ์ไอ้สิ่งที่รู้จัก ก็จะพบความจริงว่าเราควรจะทำกับสิ่งนี้อย่างไร นี่ผลของวิจัยวิจารณ์ ทำให้เราสามารถปฏิบัติได้ตามนั้น คือตามที่เราต้องการนั่นแหละ นี่เรียกว่าการศึกษาเป็นอุปกรณ์แห่งการพัฒนา ถ้าเราศึกษาดี ศึกษาถูกต้อง ไอ้การพัฒนามันก็ง่าย ดังนั้นขอให้บวกผสมกันเข้าไป การศึกษาเป็นอุปกรณ์หรือเป็นเบื้องต้นของการพัฒนา มันจะพัฒนาได้ ได้ผลถูกต้อง ไอ้คำว่าวัฒ วัฒนา พัฒนาในภาษาบาลีเดิม ของเดิม เขาไม่ได้เล็งถึงการถูกต้อง เล็งถึงว่าให้มันมากขึ้น มากขึ้น ผมบนหัวรกก็เรียกว่ามันพัฒนา หญ้ามันรกก็เรียกมันพัฒนา วัฒนา วัฒนา แปลว่ามากขึ้น แต่ถ้าว่าจะรกไปในทางถูกต้องดีมีประโยชน์หน้าชื่นใจนั้น มันมีคำอื่นเช่นคำว่า ภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ภาษาอังกฤษคำว่า Progress มาจากภาษาลาติน ไอ้คำนั้นมันแปลว่ามากเหมือนกัน บ้าก็ได้ คำว่า Progress แปลว่าบ้าก็ได้ คือมันมากอย่างไม่มีการควบคุมก็เป็นบ้า แต่เดี๋ยวนี้เอามาใช้ในแง่ดีว่า Progressive นี่แง่ดี แง่ดีถูกต้อง มาขอใช้ฟรีๆ อย่างเดียวกับคำว่าพัฒนาของภาษาบาลี ยืมมาใช้ในความหมายฝ่ายดีโดยส่วนเดียว แต่คำพูดแท้ๆ ของมัน เพียงแต่ว่ามากขึ้น มากขึ้น บ้าก็ได้ จนเป็นบ้าก็ได้ ดังนั้นจงระวังให้ดีว่าพัฒนา พัฒนา พัฒนานี้ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องเป็นเรื่องบ้า คือมันจะเกิน แล้วมันจะเป็นบ้า จะ Progress หรือจะพัฒ วัฒ วัฒนานี้ก็ต้องดูว่ามันถูกต้อง มันต้องมีความถูกต้อง ยิ่งต้องระวังเรื่องความถูกต้องอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าศึกษาเรื่องความถูกต้อง มันมีแต่ประโยชน์ มันไม่มีโทษ มันจะต้องถูกต้องกี่อย่าง กี่ชนิดก็ให้มันถูกต้องหมด ถ้าเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ของเรื่องอริยสัจก็ถูกต้องถึง ๘ ประการ โดยทั่วไปเราเอาความถูกต้องเพียง ๓ ประการว่าถูกต้องในการเรียนรู้ ถูกต้องในการปฏิบัติ และก็ถูกต้องในการรับผลหรือใช้ผลของการได้รับให้มันถูกต้อง ถ้ารู้ไม่ถูกต้องมันก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้องมันก็ไม่เกิดผลอะไร ออกผลมาแล้วก็ต้องใช้มันให้ถูกต้อง ใช้ไปในทางผิดมันก็ผิด ที่ท่านหาเงินมาได้เอาไปใช้เชือดคอตัวเองกันเสียก็มากมาย คือไปใช้เป็นอบายมุขคือเป็นอะไรมันก็ล้วนแต่ทำลายตัวเอง และก็ใช้ผลของการปฏิบัติมันไม่ถูกต้อง การศึกษาก็ถูกต้อง การปฏิบัติก็ถูกต้อง การได้ผลของการปฏิบัติ มันก็ถูกต้อง สิ่งที่ถูกพัฒนา ควรพัฒนา อยากจะระบุไปยังสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ถ้าไปใช้คำว่าตัวตน ตัวตน มันมีคำหมายคำที่กำกวม เดี๋ยวมันล้มละลาย ตัวตนมันไม่มีอยู่จริง ตัวตนมันเป็นของหลอก มันเป็นความโง่ สร้างมันขึ้นมาบน Instinct Instinct หรือสัญชาติญาณ มันจะมีความรู้สึกว่าตัวตน ตัวตน คือเป็นจุดศูนย์รวมของที่จะรักษาหรือเจริญงอกงาม ที่นี้อวิชชาความไม่รู้เข้าไปสวมทับจนเลยเถิด จนกลายเป็นเห็นแก่ตน เป็น Selfish ถ้ามันเป็น Self เฉยๆมันยังไม่ร้ายกาจ พอเป็น Selfish แล้วก็จะวินาศระวังให้ดี พัฒนาจิตดีกว่า พัฒนาจิตให้ถูกต้อง จิตที่ถูกต้องนั้นนะเป็นจุดศูนย์กลาง มีความมั่นคง มีความมั่น มั่นคง แล้วก็มีความสะอาดหรือไม่สกปรก ไม่ผิด ไม่พลาด แล้วก็มีความไวในหน้าที่ พอสะอาดกันก่อนไม่มีความสกปรกทางจิต และจิตทั้งหมดรวมกำลัง เป็นรวมกำลังอันจุดเดียวมันก็แรง แล้วการรวมกำลังนั้นต้องไวในหน้าที่คือเป็น Active ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาเป็นท่อนไม้ มีความเป็นสมาธิในพุทธศาสนานั้นก็ว่าทำจิตให้สะอาด ทำจิตให้รวมกำลัง และทำจิตให้ Active ภาษาบาลีเรียกว่า กัมมะนียะ กัมมะนียะ แปลว่าสมควรแก่หน้าที่ ตรงกับคำว่า Active แต่คำว่า กัมมะนียะ ท่านทั้งหลายคงจะไม่คุ้นหูหรือจะไม่เคยได้ยินก็ได้ ปริสุทโธ มันสะอาด สมาหิโต มันตั้งมั่นคือรวมกำลัง กัมมนีโย มันไวต่อหน้าที่ ถ้าได้อย่างนี้แล้วก็มีหวังสำเร็จ แต่ว่าเนื่องจากร่างกายมันเป็นสิ่งที่อาศัยของจิต รองรับจิต ดังนั้นก็ต้องพัฒนากายให้เหมาะสมด้วยจึงจะพัฒนาจิตได้ดี ครั้นพัฒนาจิตได้ดีถึงอย่างนี้แล้วไม่ต้องสงสัย สติปัญญามันก็จะถูกพัฒนาให้ดีโดยง่าย มันจึงพัฒนาหมดทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางสติปัญญา ทาง Physical ก็ถูกต้อง ทาง Mental ก็ถูกต้อง ทาง Spiritual ก็ถูกต้อง มันถูกต้องทั้ง ๓ ชั้นอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าพัฒนาจิต พัฒนาชีวิตก็ได้ ถ้าจะพูดว่าพัฒนาชีวิตมันก็มีคำที่จะต้องพูดกันหลายที ชีวิตคืออะไรนี้ ชีวิตในความหมายทางวิทยาศาสตร์ ทางวัตถุมันก็เรื่องอะไร Protoplasm ในเซลล์ ๆ หนึ่งยังสดอยู่ยังไม่เน่ายังไม่เหี่ยวก็เพราะมีชีวิต ก็เป็นเรื่องของวัตถุล้วน ๆ ส่วนเล็กที่ยังไม่ต้องการจะทำอะไร ความสดอยู่ของ Protoplasm ที่มีอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ยังมีอยู่ ที่เรียกว่าชีวิตยังมีอยู่ มันจะทำอะไรได้หละ มันไม่ค่อยเกี่ยวกับธรรมะอะไร ว่าชีวิตในทางสูงขึ้นมาที่จะเป็นความจำเป็นแก่มนุษย์ก็คือว่าจิตนั่นแหละคือชีวิต มันรวมอยู่ที่จิต ความสุข ความทุกข์ ร่างกาย อัตภาพมันมารวมอยู่ที่คำว่าจิต ดังนั้นชีวิตในที่นี้ก็ให้เล็งเอาจิตก็แล้วกัน พัฒนาชีวิตก็คือพัฒนาจิต ถ้าสูงไปกว่านั้นอีกมันก็หมายถึงระบบการครองชีวิต Living put นาทีที่ 1:02:33 ระบบการครองชีวิตนั่นคือชีวิต ทางวิทยาศาสตร์ลึกลงไปเอาที่เซลล์หนึ่งๆ มัน มันยังไม่ใช่เรื่องของเรา สูงขึ้นมาเป็นเรื่องของคนทั่วๆไปก็เอาที่ตัวจิตเป็นตัวชีวิต สูงให้มันสมบูรณ์ สมบูรณ์ก็คือว่าระบบการครองชีวิตนั่นแหละคือชีวิต การดำรงชีวิตนั่นแหละคือชีวิต ต้องได้รับการพัฒนา รับการพัฒนาให้มันถูกต้อง เป็นระบบ ระบบไป เมื่อถูกต้องก็หมายความว่าไม่มีปัญหา เราไม่พูดอะไรมาก ไม่พูดเหตุผลนั่นนี่ ถูกต้อง ถูกต้องก็คือไม่มีปัญหา
พัฒนาชีวิต พัฒนากันสักเท่าไร ข้อนี้มันก็ว่ามันไม่จำกัดเพราะว่าจิตนี้มันพัฒนาได้สูงสุดไกลไปกว่าความจำเป็นก็ได้ ถ้าธรรมะสูงสุดก็ว่าเพียงพระนิพพาน พัฒนาถึงนิพพานก็สุด ดีกว่านั้นก็ไม่เอา ไม่ ไม่ ไกลไปกว่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นพัฒนาในลักษณะที่ว่าไม่ปัญหา หมดปัญหา ทีนี้ท่านทั้งหลายเอาไปปรับเอาเอง เราศึกษาเล่าเรียน เสร็จแล้วออกไปทำงาน หาเงิน และจะใช้เงินอย่างไร นั่นแหละไปปรับปรุงเอาเอง เมื่อเรียนก็สนุก เพราะรู้จักใช้ธรรมะในการเรียนเป็นเหตุให้เรียนสนุก เรียนสนุก มีความสุขในการเรียน จนเพลิดเพลินมัวเมาไปกับการเรียน ไม่ไปทำความเลว เหลวไหลที่ไหน พัฒนาจิตมีความสุขสนุกในการเล่าเรียน เอ้า,ครั้นเรียนเสร็จแล้วจิตมีความสุข สนุก ในการทำหน้าที่การงาน ถ้าจิตมันมีความสุขในหน้าที่การงานรับรองได้มันไม่ไปกินเหล้าเมายา ไม่ไปเป็นโรคซึ่งชนิดที่หมาก็ไม่เป็น โรคเอดส์ โรคแอดส์นั้นนะ หมาก็ไม่เป็นแต่คนมันเป็น เพราะมันไม่รู้จักพัฒนาจิตให้คงอยู่ในความถูกต้อง แล้วทีนี้มันก็จะมีอะไรหละ มีผลของงานมาแล้ว พอใช้ให้มันถูกต้อง ใช้ให้มันถูกต้อง ก็เลยถูกต้องทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น และก็มีความหมายที่ว่าไม่ก. ไม่ข. คือไม่เกินและไม่ขาดแต่พอดี หรือจะใช้ผิดไปในทางเกิน เกินคือไม่ควรกระทำ แต่ให้ขาด ขาดไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรกระทำ ข้อนี้ระมัดระวังให้ดีๆ และอย่าให้มีการขาดและมีการเกิน สนุกในการเล่าเรียน พอเลิกการเรียนมาทำการงานก็สนุกในการทำการงาน ทำการงานได้ผลมาก็สนุกในการใช้ผลงานให้เป็นประโยชน์ที่สุด ให้มีค่าที่สุด ทุกบาท ทุกสตางค์เลย ใช้คำว่าทุกสตางค์ดีกว่า ใช้ผลงานให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด ดังนี้เราเรียกว่าพัฒนา พัฒนา จิตนี้มันพัฒนาได้ในลักษณะที่ว่าเป็นสุข ไม่ใช่ว่าพัฒนาจิตแล้วต้องเกือบตาย ทรมานมันเกือบตาย หรือไปนั่งอดอยากเกือบตาย หรือว่าลำบากจนทำไม่ได้ การพัฒนาจิตโดยเฉพาะวิถีทางสมาธิและวิปัสสนานี้ ถ้าทำถูกต้องจะสนุก จะสนุก จะสนุกไปทุกขั้น ทุกขั้น สำเร็จประโยชน์ในการพัฒนา แม้จะอยู่ในลักษณะที่บังคับ บางคราวก็บังคับ ก็บังคับอย่างสนุก บางคราวต้องทรมานมันด้วย ถ้าทรมานมันอย่างสนุก แม้ว่าจะพัฒนาก็เป็นการสนุก การปฏิบัติในระบบอาณาปานสติที่เราใช้เป็นหลักสูตรอยู่ที่นี่ ได้เลือกมาดีแล้ว ในบรรดาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้กี่อย่าง กี่อย่างก็พิจารณาแล้ว คัดเลือกดีแล้วระบบนี้ดีที่สุด คือเรียกว่าระบบอาณาปานสติหรือจะเรียกว่าสติปัฏฐานก็ได้ แต่ความหมายมันกว้างมันไม่ชัดเจน ถ้าเรียกว่าอาณาปานสติก็ถูกต้องชัดเจน มันตรงตัว ตรงจุดลงไปที่ลมหายใจและร่างกายซึ่งมันเป็นของคู่กัน เราใช้สอนที่นี่เป็นระบบอาณาปานสติเพียงระบบเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอาณาปานสติสมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐานก็สมบูรณ์ สติปัฏฐานสมบูรณ์แล้วโพชฌงค์ธรรมะเครื่องตรัสรู้ก็สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้วมรรคมีองค์ ๘ ก็สมบูรณ์ มรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์แล้ว ก็ตรัสรู้ มันส่งเสริมกันอย่างนี้ ระบบอาณาปานสติครบสำหรับพัฒนากาย พัฒนาจิต และพัฒนาสติปัญญา สนใจก็หาหนังสือคู่มือนั้นไปอ่านดู มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้รับความสนใจมากที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าไม่มีใครเคยเอาออกมาเผยแผ่ ถ้าจะพัฒนากันให้ถึงที่สุด เราก็พัฒนาระบบอาณาปานสติ จะมีชีวิตจิตใจที่เหมาะสมที่จะอยู่ในโลกนี้ ให้ชนะอยู่ในโลกนี้มีความผาสุกและชนะ และก็มีความสามารถที่จะก้าวขึ้นไปเหนือโลก ไปสู่โลกุตตระบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยติดต่อกัน ระบบอาณาปานสติเป็นอย่างนี้ ถือเป็นหลักสูตรสำหรับการพัฒนา นี้เรียกโดยชื่อมันก็มีหลายๆ อย่างในรูปแบบของอริยสัจก็ได้ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ โพธิปักขิยธรรมก็ได้ แม้ที่สุดแต่จะเรียกว่าไตรสิกขา ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความถูกต้องทางระบบวัตถุหรือระบบกายเรียกว่าศีล ความถูกต้องทางระบบจิตเรียกว่าสมาธิ ความถูกต้องทางสติปัญญาเรียกว่าปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกว่าหลักเกณฑ์ของการพัฒนา ที่เรียกว่าโพชฌังค์ โพชฌงคนั่นแหละมีความหมายดีที่สุด เอาไปใช้ได้แม้ที่ในเรื่องโลกๆ แม้จะขึ้นไปเหนือโลกก็ยังใช้ระบบนี้ ลองขวนขวายศึกษาให้ดีจะมีประโยชน์ เรียกว่าโพชฌงค์ โพชฌังค หรือภาษาบาลีว่า โพชฌงค์ ๗
ข้อที่ ๑. ระลึกอย่างครบถ้วนว่ามันมีอะไรบ้าง วิชา ความรู้ การงานอะไรนี้ มีกี่แขนงระลึกมา ระลึกมา ระลึกมา ระลึกมา ให้มันมา มา มาให้มันพร้อมหน้า ทีนี้ก็เลือก เลือกว่าอันไหนที่จะเหมาะกับเรา ความสามารถของเรา กาลเทศะของเรา อะไรของเรา ก็จะเลือกเอาสิ่งนั้น เหมือนว่าเข้าไปในสวนดอกไม้ ดูทุกๆ ชนิด ดูทุกๆอย่าง แล้วก็ตัดสินใจวันนี้จะเลือกเก็บดอกไม้ไหน ดอกไม้ชนิดไหนเอาไปเป็นประโยชน์ ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เรียนแล้ว เรียนแล้ว ก็รู้ว่ามันมีกี่อย่าง กี่อย่าง หรือว่าวิชาที่เราเรียนมาได้จบการศึกษา ระบบอุดมศึกษาแล้ว มันจะมีกี่อย่างที่สามารถจะทำได้ ก็เลือกที่สามารถจะทำได้ดี นี้เรียกว่าธรรมะวิจัย ที่ ๑. เรียกว่าสติ สติ ระลึกมาให้หมด องค์ที่ ๒. เรียกว่าธรรมะวิจัยคือวิจัยวิจารณ์จนพบสิ่งที่ควรกระทำที่สุดเห็นชัดเจนเลย ทีนี้ขั้นที่ ๓. วิริยะทุ่มเทกำลังลงไป คือความพากเพียรพยายามไม่เห็นแก่เหนื่อย และก็มีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นอะไรอยู่รวมอยู่ในคำว่าวิริยะ วิริยะ ไม่ใช่พากเพียรอย่างเดียวมันต้องเชื่อ เชื่อ แน่ใจและกล้าหาญ วิริยะ วิริยะ นี่สำคัญเหมือนกัน มันมีกำลัง เมื่อวิริยะแล้วมันต้องมีสิ่งหล่อเลี้ยง เดี๋ยวมันหมดแรง ก็คือปีติ ปีติคือพอใจ พอใจ ว่าได้กระทำถูกต้องแล้ว ได้เลือกถูกต้องแล้ว ได้กระทำถูกต้องแล้ว กำลังเป็นไปอย่างดีแล้วก็เรียกว่าปีติ บางทีก็เรียกว่าสันโดษ แต่พอเรียกว่าสันโดษเข้าใจผิดหมด คนแปลกันว่าพอแล้ว สันโดษนะพอแล้ว สันโดษพอใจว่าพอแล้ว ไม่ถูก นั่นมันเป็นคำสันโดษบ้า สันโดษที่แท้มันคือพอใจที่ได้มาแล้ว พอใจที่ได้มาแล้ว และก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้นเพราะมันยังได้อีกได้ มันก็เป็นกำลังสำหรับให้ทำต่อไปให้ได้สิ่งที่ยังไม่ได้ ไม่ใช่ว่าได้มาเท่านี้แล้วพอใจก็หยุด นั่นสันโดษบ้า สันโดษที่แท้จริงมันพิสูจน์ว่าได้อย่างนี้แล้วมัน มันยังมีทางที่จะได้อย่างนี้อีก แล้วมันก็ทำต่อไป เช่นว่าชาวนามันไถนารอยไถหนึ่งเสร็จแล้ว มันก็พอใจ พอใจ พอใจที่ได้แล้ว มันก็ไถต่อไปอีกจนครบจนทั่วทั้งนา ทั้งแปลงนา ขุดดิน ๒ – ๓ ครั้งก็พอใจ โอ้, มีผลอย่างนี้ ก็มีกำลังใจที่จะขุดต่อไปจนเสร็จ อย่างนี้เรียกว่าพอใจก็ได้ สันโดษก็ได้ ต้องมีสิ่งนี้หล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยง มันจึงจะทำไม่เหนื่อย ทำงานไม่เหนื่อย เหงื่อไหลท่วมตัวมันก็ทำงานไม่ ไม่รู้สึกเหนื่อย กลางแดดเปรี้ยงๆ มันก็ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะไอ้ความพอใจนี้มันหล่อเลี้ยงเอาไว้ วิริยะจึงเป็นไปอย่างยิ่ง พอใจ พอใจ เมื่อมันเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นความพากเพียรอยู่ด้วยความพอใจเป็นไปอย่างนี้ ไม่เท่าไร ไม่เท่าไร มันจะเข้ารูป มันจะลงรูป มันจะเข้ารูป ก่อนนี้มันเกะกะ เกะกะ ไม่เข้ารูป เดี๋ยวนี้มันจะลงรูป ทุกๆ สิ่ง ทุกๆอย่าง ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในหน้าที่การงาน มันจะเข้ารูปแล้วจับตัวกันมั่นคง มัน Setter มันSetter ลงไปได้ มันเข้ารูป มันลงรูป นี่เรียกว่า ปัสสัทธิ ปัสสัทธิ แปลว่าสงบ ระงับ ก่อนนั้นมันมีแต่ต่อสู้ดิ้นรน นั่นบ้าง นี่บ้าง มันมีขัดแย้งดิ้นรน เหมือนกับจับสัตว์ในป่ามาผูกก็เลยจะฝึกมัน มันก็ดิ้น ดิ้น ดิ้น ดิ้น ถ้ามีการฝึกกันถูกต้อง ถูกต้อง ไอ้สัตว์ป่านั้นจะสงบ สงบ สงบ ระงับแล้วจะเชื่อฟัง เรียกว่ามันเข้ารูป เดี๋ยวนี้จิตใจก็ดี การงานก็ดี ความพากเพียรก็ดี อะไรก็ดีเข้ารูป ระงับลงเป็นการเข้ารูปส่อความสำเร็จ ก็ทุ่มเทกำลังจิตทั้งหมดอีกที สมาธิ ทุ่มเทกำลังจิตทั้งหมดในความเข้ารูป สมาธิทุ่มเทอย่างนี้แล้วก็มันจบที่ต้องกระทำ ก็เรียกว่าอุเบกขา ขั้นสุดท้ายเรียกว่าอุเบกขา เพ่งดูไอ้ความที่มันความก้าวหน้า ความเข้ารูปมันก้าวหน้าเป็นไปจนกว่าจะถึงที่สุด อุเบกขาไม่ใช่ว่านั่งหลับแล้วเฉยๆไม่รู้ไม่ชี้ เขาสอนกันผิดๆ อุเบกขาไม่รับผิดชอบไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ใช่อย่างนั้น อุเบกขามันเพ่งดูอยู่ว่าเมื่อไรมันจะสำเร็จ ดูความถูกต้องที่เดินไป เดินไป เดินไปจนกว่าจะถึงความสำเร็จ แล้วก็ไม่ต้องไปหิว ไปหิวมึงจงสำเร็จ ต้องเสร็จไม่หิว เป็นบ้าไปเสียอีก ทำให้ถูกต้องและดูความถูกต้องดำเนินไปจนสำเร็จ เหมือนกับว่าเราขับรถยนต์ ถนนก็ดีแล้ว ถนนก็ดีแล้ว ทัศนะวิสัยก็ดีแล้ว ดินฟ้าอากาศก็ดีแล้ว รถยนต์ของเราก็ถูกต้องแล้ว ระบบหล่อลื่นก็ถูกต้องแล้ว ระบบไฟก็ถูกต้อง ระบบอะไรก็ถูกต้อง มันถูกต้องกันไปหมด ดังนั้นคนขับก็เพียงแต่จับพวงมาลัยไว้เฉยๆ มันก็ถึงจุดหมายปลายทาง อุเบกขามันคืออย่างนั้น คือควบคุมความถูกต้องอยู่เฉยๆ แต่แล้วมันก็ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่อุเบกขาเฉยอย่างนอนหลับไม่รู้ไม่ชี้ มักจะสอนกันอย่างนั้น เมตตาสงสาร กรุณาช่วยเหลือ อุเบกขายินดี มุทิตายินดีด้วย พอช่วยไม่ได้เป็นกรรมของมันก็ช่างหัวมันเลิกกันอย่างนั้นอุเบกขาไม่ถูก อุเบกขาต้องคอยดูต่อไปว่าเมื่อไรจะช่วยได้ และก็พร้อมที่จะช่วย อุป อิกฺข แปลว่าเข้าไปเพ่งดูอยู่เฉยๆ คือเพ่งจ้องเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมือนแม่ไก่ฟักลูกนี้ มันทำให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง แล้วลูกไก่มันก็ออกมา แม่ไก่ไม่ต้องโพนทะนาว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา แม่ไก่บ้า ดังนั้นเราก็เหมือนกันแหละทำให้มันถูกต้อง ทำให้มันถูกต้อง แล้วก็ควบคุมความถูกต้องไว้อย่าง นิ่งเงียบ นิ่งเงียบ เป็นความนิ่งเงียบที่มีความหมาย ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยาก นี่เรียกว่าโพชฌงค์ องค์แห่งความสำเร็จในการตรัสรู้ธรรมะ ขอยืมมา ทำนา การทำนาไม่ใช่ตรัสรู้ จะทำนา และในองค์ทั้ง ๗ นั่นแหละ มันเลือกดูว่าอะไรเป็นอย่างไร ก็เลือกได้แน่ว่าทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ธรรมะวิจัยจะเป็นการเลือกวิธี หรือเลือกข้าวพันธุ์ หรือเลือกอะไรก็ตาม แม้กระทั่งเลือกอาชีพ เลือกได้แล้วก็วิจัยใช่มันว่าทำอย่างไร แล้วก็ทุ่มเทกำลังทำลงไป ทุมเทหมดแล้วก็หล่อเลี้ยงไว้ด้วยความพอใจ พอใจ พอใจ ทุก ทุกอิริยาบถที่ทำ มันจะเข้ารูปลงรูป เข้ารูปลงรูปเพื่อจะเจริญงอกงามต่อไป พอเข้ารูปลงรูปแล้วระดมหมดกันเลยที่นี้ กำลังเท่าไรจะระดมไปได้ก็ระดมหมด แล้วก็มีอุเบกขา ดูความถูกต้องดำเนินไป ดำเนินไปจนถึงที่สุด จะยืมมาใช้ในการเรียนหนังสือก็ได้ ในการเลือกการงานที่จะทำการงานก็ได้ ไม่ว่าอะไรมันใช้หลักเกณฑ์อันนี้ได้ ที่เขาสรุปไว้สั้นที่สุดเรียกว่าอิทธิบาท ๔ ย่นให้มันเหลือสัก ๔ คือว่าฉันทะ พอใจ พอใจ เลือกถูกแล้วก็พอใจที่จะทำเรื่องนี้ แล้วก็วิริยะพากเพียร จิตตะเอาใจใส่ วิมังสาเพิ่มพูนสติปัญญาในเรื่องนี้อยู่เสมอ ไอ้ฉันทะตัวนั้นสำคัญ ถ้าไม่มีฉันทะมันไม่ทำอะไรคนเรา คนเราทำอะไรไปตามฉันทะคือความพอใจ ถ้าความพอใจผิดก็ทำผิด พอใจถูกต้องมันก็ถูกต้อง กำลังของฉันทะนี่ควรจะมีมากๆ เหมือนกับความหิวชนิดหนึ่ง Appetite Appetite เอามาใช้ได้ในของเรื่องสติปัญญา ของเรื่องของจิตใจมี Appetite คือหิวที่จะทำให้มันได้ นี่เรียกคือฉันทะ ฉันทะ โดยหลักอิทธิบาท ๔ นี้ก็ดี โดยหลักโพชฌงค์ ๗ ที่กล่าวมาแล้วก็ดี เป็นการพัฒนา เป็นตัวการพัฒนา มีการก้าวไปแห่งการพัฒนา วัตถุก็ได้ จิตใจก็ได้ สติปัญญาก็ได้ พัฒนาไปโดยเหตุนี้
ที่นี้ก็จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัว ตัวตนที่ค้างไว้เมื่อตะกี้นี้ว่า เราจะหลงในตัว รักตัว พัฒนาตัว มันก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ามันเจ็บปวด มันเหน็ดเหนื่อย มันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยอวิชชา ไอ้ตัว ตัวตน ตัวกู นี่มันสร้างขึ้นด้วยอวิชชาบวกกับสัญชาตญาณ แล้วเราเคยชินในความรู้สึกอันนี้มาแต่อ้อนแต่ออกจากท้องมารดานั้น ออกมาจากท้องมารดาไม่มีความรู้สึกว่าตัว แต่พอได้กินนมแม่อร่อยขึ้นมา ก็กูอร่อยขึ้นมา ตัวกูเพิ่งเกิด หรือไม่อร่อยก็กูไม่อร่อยก็โกรธ ตัวกูมันเพิ่งเกิด ใครๆ ก็แวดล้อมให้เกิดความรู้สึกว่ากูหรือว่าตัวกู แล้วบอกเด็กๆ ว่าของหนูทั้งนั้น อะไรๆ ก็ของหนู พ่อ แม่ พ่อของหนู แม่ของหนู ตุ๊กตาของหนูๆ ของหนูๆ มันก็เกิดเป็นตัวกูหรือของกูขึ้นมา แล้วมันก็เป็นธรรมดาสัญชาตญาณ ตามันเห็นรูป มันควรจะเป็นระบบตาเห็นรูป แต่มันว่ากูเห็นรูป ระบบหูได้ยินเสียงมันก็กูได้ยินรูปออกมาเป็นตัวกูเสียอีก จมูกได้กลิ่นก็กูมันได้กลิ่น หรือลิ้นมันได้รสมันก็กูก็ได้รส ผิวหนังได้รับสัมผัสก็กูสัมผัส คนเราเปรียบเทียบกันดูสิว่าถ้าระบบประสาท มันทำหน้าที่กับว่ากูทำหน้าที่นะ มันต่างกันกี่มากน้อย เอ้า, อย่างว่าลิ้นมันรู้สึกไม่อร่อย มันไม่อร่อยที่ลิ้นที่ระบบประสาทลิ้น มันก็แก้ไขได้จะเติมอะไรให้มันปรับปรุงรสให้มันถูกปากก็ได้ ไม่มีเรื่อง แต่ถ้ากูๆ ไม่อร่อยนี่ มันมีเรื่องมาก มันจะเล่นงานแม่ครัว มันจะไล่แม่ครัวหรือมันจะทำหลายๆ อย่างที่อาละวาด เป็นเพราะว่ากูมันไม่อร่อย ถ้าเพียงแต่ลิ้นไม่อร่อย มันเรื่องนิดเดียว อย่ามีตัวกู อย่ามีตัวกู ตัวกูนี้มันมาจากอวิชชา ถ้าเป็นเพียงสัญชาตญาณมันกูเฉยๆ มันไม่เห็นแก่ตัวกู พออวิชชาเข้าไปเกี่ยวข้องมันก็เกิดการเห็นแก่ตัวกูนี่มันผิดแล้ว มันเริ่มผิดไปทิศทางหนึ่งแล้ว มันไม่ตรงไปตามธรรมชาติแล้ว ถ้ามีเพียงตัวก็ไม่เป็นไร ถ้าเห็นแก่ตัวแล้วมันก็เป็นปัญหา หมดธรรมะแล้ว หมดธรรมะแล้ว ไม่มีธรรมะเหลือ พอเห็นแก่ตัว มันก็เห็นแต่กิเลส เห็นแต่ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานของตัวไม่เห็นแก่ธรรมะ ไม่เห็นแก่ธรรมะคิดดูเถอะ ธรรมะหายไปไหนหมด ดังนั้นความเห็นแก่ตัวกูนี่ทำลายตัวกูนะ และก็ทำลายสังคม ทำลายโลก ขอฝากให้ช่วยจำไว้ด้วยเสียเวลานิดหน่อย พูดกันเรื่องนี้นะ ความเห็นแก่ตัวมันกำลังแรงขึ้นในโลก แรงขึ้นในโลก คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นในโลก และโลกก็ปั่นป่วนไปตามนั้น สมัยหิน สมัยไม่นุ่งผ้า เห็นแก่ตัวน้อย เพราะไม่รู้จักจะเห็นแก่ตัวมันยังโง่ ปัญหามันก็น้อย ต่อมาเห็นแก่ตัวมากขึ้น รู้จักคด รู้จักโกง รู้จักเอาเปรียบเอ้า, ก็มีปัญหา ต้องมีศีลธรรม ต้องมีศาสนา ต้องมีอะไรควบคุม เกิดขึ้นเพราะความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวมันก็มากขึ้นเพราะว่าเขาผลิตไอ้ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ผลิตความส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง คำมันค่อนข้างจะหยาบคาย ภาษาศาสนาเรียกว่าความสุขทางเนื้อหนัง ไม่ใช่ทางจิตใจ หลงใหลความสุขทางเนื้อหนังเกิดขึ้น เพราะว่าไอ้โรงอุตสาหกรรมทั้งหลายมันผลิตสิ่งหล่อเลี้ยงความสุขทางเนื้อหนังใหม่ๆ ออกมาขายเรื่อย ขายเรื่อย ขายเรื่อย โฆษณาเก่ง โฆษณาเก่ง มีอยู่แล้วก็ต้องซื้อใหม่ นี่ความเห็นแก่ตัวมันเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จนเป็นความเห็นแก่ตัวของหมู่คณะ ของประเทศ ของโลกไปเลย มีความเห็นแก่ตัวเต็มโลก มันก็เต็มไปด้วยการเบียดเบียน คนเห็นแก่ตัวคนเดียวมันก็ขี้เกียจ แล้วโลกมันจะพัฒนาได้อย่างไร คนเห็นแก่ตัวมันอิจฉาริษยา คนเห็นแก่ตัวมันเอาเปรียบ คนเห็นแก่ตัวมันจองหอง คนเห็นแก่ตัวมันไม่กตัญญู มันไม่ซื่อสัตย์ มันไม่มีอะไรจริง มันเห็นแก่กิเลสของมัน นี่ก็ดูความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็ถูกลวงไปให้ทำผิด มีอะไรมายั่วนิดหน่อยมันก็ทำไปตามนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หรือว่าอบายมุข มันเสพติด เสพติด เสพติด เพราะความเห็นแก่ตัวในชั้นต้นคือมันโง่เขลาแม้เล็กน้อย มันพาไป ไปเป็นทาสยาเสพติด แล้วมันก็ได้ไปเป็นโรคที่สุนัขก็ไม่เป็น โรคเอดส์โรคอะไรก็ไม่รู้ ที่มันเป็นปัญหาทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ความเห็นแก่ตัวมันพาคนโง่เข้าไปหา จนได้รับมาเป็นของขวัญ โรคที่สุนัขก็ไม่เป็นคนเอามาเป็น และเป็นปัญหาแก่ครอบครัว บุตร ภรรยา อะไรเพราะว่าเอาโรคเอดส์มา คนเห็นแก่ตัวก็ทำลาย ทำลายธรรมชาติ ทำลายป่า ทำลายสิ่งที่เขาสร้างไว้ดี มันจะมีดีที่ตรงไหน แล้วมันก็คิดรวยลัด ไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย มันก็ปล้นจี้ขโมยรวยลัด สอง สามนาที ที่ไอ้เรื่องรวยลัด ปล้นธนาคาร จี้ธนาคาร ฆ่าคนตายง่ายๆ รวยลัดทั้งนั้น นี่มันเห็นแก่ตัว จนในที่สุดมันได้เป็นบ้า ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า หรือว่ามันได้ฆ่าตัวเองตาย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าตัวเอง ประชดตัวเองตายก็เลิกกัน นี่ความเห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม ยิ่งกว่าตรงกันข้าม ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ตรงกันข้ามจากธรรมะ ธรรมะมันเป็นไปเพื่อความถูกต้อง ความเห็นแก่ตัวมันเป็นไปเพื่อความเลวร้าย เห็นแก่ธรรมะมันก็ปลอดภัย เห็นแก่ตัวมันก็ฉิบหาย นี่คนเห็นแก่ตัวที่เป็นชั้นบุคคล มันก็เขยิบขึ้นเป็นของหมู่ของคณะ ของหมู่ของคณะมันก็แค่ทำปัญหา อย่างเลือกผู้แทนนี่ มันก็จ้างให้เลือก คนเห็นแก่ตัวมันก็รับจ้างเลือก ถ้าไม่เห็นแก่ตัวไม่มีใครรับจ้างเลือกผู้แทน และก็ไม่มีใครจ้างให้เลือกผู้แทน เดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องของหมู่ของคณะ เป็นของประเทศ แต่ละประเทศมันก็จะทำลายประเทศอื่นเพื่อจะเอามาเป็นของตัว เป็นครึ่งโลก แบ่งกันเป็นซีกโลกรบกันเพื่อจะทำลายฝ่ายตรงกันข้ามเอามาเป็นของตัว สร้างอาวุธเลวร้ายไว้ทำลายโลกเมื่อไรก็ได้ แต่มันยังมีความกลัวปะทะ ประทัง ประวิงไว้ ยังไม่ใช้ เมื่อไรมันหมดความอดกลั้นอดทนมันก็ใช้ โลกนี้มันก็วินาศเพราะความความเห็นแก่ตัว ขอให้ที่พูดนี้เพื่อจะขอร้องสักอย่างหนึ่งว่า ระวัง ระวัง ระวังที่สุดอย่าให้ความเห็นแก่ตัวเข้ามาครอบงำเลย มันจะเลวร้าย มันเลวร้ายไม่มีที่เปรียบ ครูเห็นแก่ตัวลูกศิษย์ก็ฉิบหายหมดแหละ ครูเห็นแก่ตัวทำนาบนหลังลูกศิษย์ หมอเห็นแก่ตัวทำนาบนหลังคนเจ็บ ไม่หมอมีแต่พ่อค้า ตุลาการเห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังจำเลย พระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังทายกทายิกา ไม่มีแง่ดีที่ตรงไหน เห็นแก่ตัวแล้วก็ประกอบอาชญากรรมทั้งนั้น สร้างคุกตารางเท่าไรก็ไม่พอ สร้างตำรวจเท่าไรก็ไม่พอที่จะจัดการกับคนเหล่านี้ สร้างเรือนจำ สร้างตำรวจ สร้างศาล สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไร เท่าไรก็ไม่พอ คิดดูเล่นๆ สรุปความกันสิ่งที่ไม่ไหว เกี่ยวข้องไม่ได้โดยประการทั้งปวง สักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ อย่าเอากับมันเลยเรื่องเห็นแก่ตัว เพราะมันไม่ใช่ธรรมะ เอาความเห็นแก่ตัวออกไปเสียก็เป็นธรรมะ ธรรมะ ธรรมะขึ้นมา ก็เป็นไปในทางถูกต้องได้รับผลพอดี ทำงานก็สนุก มีเงินใช้ก็ใช้ไปในทางถูกต้อง อย่าใช้เงินให้ไปเป็นทาสของกิเลส อุตส่าห์หามาด้วยความเหนื่อยยากลำบาก แต่พอใช้ก็ใช้เป็นทาสของกิเลส คือบำรุงบำเรอกิเลสด้วยความเห็นแก่ตัว ทุกศาสนาแต่ไหนแต่ไรมาสอนเรื่องไม่ให้เห็นแก่ตัว เพียงแต่มันเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เกิดในมุมโลกนั้น มุมโลกนี้ หลายๆ ศาสนาล้วนแต่เพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ มนุษย์มันไม่เชื่อฟัง ถ้าว่ามนุษย์ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว ไม่งั้นไม่ต้องมีศาสนา ศาสนาไม่ต้องเกิด ศาสนาเกิดเพราะมนุษย์มันเห็นแก่ตัว มันเบียดเบียน มันเอาเปรียบ มันเบียดเบียนอย่างนี้ก็เบียดเบียน ธรรมชาติเองบังคับให้มนุษย์ต้องค้นคว้าหาวิธีป้องกัน มันจึงทำให้เกิดผู้รู้ว่าต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้คือพระศาสดาหรือผู้บัญญัติกฎหมายขึ้นมา เพราะมนุษย์มันเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มีผู้เห็นแก่ตัว กฎหมายก็ไม่จำเป็นเอาไปโยนทะเลเสียก็ได้ ไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีตำรวจ ถ้าไม่มีใครที่เห็นแก่ตัว มันไม่เกิดคดีทั้งทางเพ่งและทางอาญา ทางอาญาเป็นแล้วไม่ทำแล้ว ทางเพ่งมันไม่มีใครเอาเปรียบใครคิดเอาเปรียบใคร ใครมาล่วงเกินก็ให้อภัย ผู้ไม่เห็นแก่ตัวมันไม่อาฆาตมาดร้าย มันให้อภัยเสีย ก็เลยไม่มีอาญา ไม่มีคดีทั้งทางเพ่งและทางอาญา ถ้าไม่เห็นแก่ตัว โลกมันไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเต็มไปด้วยคดีทั้งทางเพ่งและทางอาญา ทำไปด้วยความเห็นแก่ตัว คู่โจทก์จำเลยก็เห็นแก่ตัว ทนายความก็เห็นแก่ตัว หาวิธีการทุกๆ อย่างเพื่อเอาชนะโดยไม่เป็นธรรม ถ้าผู้พิพากษาเห็นแก่ตัวขึ้นมาอีกหมด หมดทั้งชุดเลย นี่ความเห็นแก่ตัวมันเลวร้ายถึงขนาดนี้ มันตรงกันข้ามกับธรรมะ ท่านทั้งหลายมาแสวงหาธรรมะ หาความรู้ทางธรรมะ จงรู้ไว้โดยประจักษ์ว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรค ตรงกันข้ามก็คือความเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวเมื่อไรธรรมะก็หายไปเท่านั้น ธรรมะเข้ามาความเห็นแก่ตัวก็หายไปเท่านั้น ฉะนั้นจงอย่าเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นมายา เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาดเถิด คำว่าตัวมันเป็นคำพูดที่กำกวม เพราะมันเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้สำคัญว่าตัว มีดบาดนิ้วนิดหนึ่งมันก็ว่ามีดบาดกู อวิชชามันทำให้เห็นว่ามีดบาดกู ไม่ทำให้รู้มีดบาดที่นิ้วเล็กๆ หนามตำเท้านิดก็ว่าหนามตำกู นี่ไอ้ตัวกู ตัวกูนี้ มันมาจากอวิชชามัน มันมากเกินความเป็นจริง อย่าไปเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ธรรมะ มันก็ไม่เห็นแก่ตัว
ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้ประสพความสำเร็จในการมีธรรมะ คือรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ใช้ธรรมะให้ถูกต้อง ถูกต้อง ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกโอกาส แล้วก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นแน่นอน จึงขอร้องหรือวิงวอนว่าท่านจงสนใจธรรมะให้ถูกต้อง ให้ถูกตัวจริง ให้พอดี พอดี ให้ไม่ขาด ให้ไม่เกิน แล้วก็ใช้ธรรมะนี้เป็นเครื่องดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิต เป็นธรรมะชีวี ธรรมะชีวี แปลว่ามีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือเป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง มันก็ไม่มีวิกฤตการใดๆ ครอบครัวก็จะไม่มีวิกฤตการใด ๆ สังคมก็จะไม่มีวิกฤตการใดๆ ประเทศชาติก็จะไม่มีวิกฤตการใดๆ กระทั่งว่าทั้งโลกมันก็จะไม่มีวิกฤตการใดๆ ถ้าว่าเราทุกคนดำรงตนอยู่ในความถูกต้องที่เรียกธรรมะ ขอให้ความประสงค์ข้อนี้ของท่านทั้งหลาย จงได้ประสพความสำเร็จมีความก้าวหน้า ก้าวหน้า ไปในหนทางแห่งธรรมะ มีความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ .... ขอยุติการบรรยาย