แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โฆษก : จะแจ้งให้ทราบลำดับพิธี ที่จะดำเนินการต่อไปดังต่อไปนี้ พิธีเริ่มด้วย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี หรือหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วหลวงพ่อนำกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย ต่อจากนั้นหลวงพ่อจะมานั่งที่สำหรับประธาน เสร็จแล้ว พันโทสามารถ สมเศรษฐ์ กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จัดการประชุมในคราวครั้งนี้ จะได้อ่านรายงานถวายท่านหลวงพ่อพุทธทาส ต่อจากนั้นหลวงพ่อท่านจะให้โอวาท และปิดการประชุมครับ มีลำดับพิธีย่อในวันนี้ก็มีเพียงเท่านี้นะครับ (....คนที่กำลังมา...)
(บทสวดมนต์ นาทีที่ 0:02:11-0:3:30 )
พันโทสามารถ สมเศรษฐ์ : กราบนมัสการ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ กระผมในนามของกองทัพภาคที่ ๔ และกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติภาค ๔ รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงที่พระเดชพระคุณได้เมตตาสละเวลามาเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส และพระนักพัฒนา
ก่อนอื่น กระผมขอย้ำว่า ตามที่พระสังฆาธิการได้ให้ความร่วมมือในการมาเข้าประชุมในครั้งนี้ เป็นการสนองมติมหาเถรสมาคม และเป็นการสนองความประสงค์ของโครงการนี้ของทางราชการเป็นอย่างดี กระผมถือว่าเป็นศุภนิมิตที่โครงการนี้ต้องได้ประสบผลสำเร็จ และมีความยินดีที่ทางพระสังฆาธิการได้ให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้น เมื่อได้มีการประชุมกันเช่นนี้แล้วก็ขออนุโมทนา และหวังว่าทุกท่านคงจะให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ก็เพื่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติของเราสืบต่อไป
บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ใคร่ขออาราธนาพระเดชพระคุณได้กรุณาให้โอวาท และปิดการประชุมเพื่อเป็นศิริมงคลแก่พระสังฆาธิการที่มาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ต่อไป กราบนมัสการ
ท่านพุทธทาส: เพื่อนสหธรรมิกที่ได้มาร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ กระผมขอแสดงความเคารพในความเสียสละพยายามมาด้วยความลำบาก เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายของประเทศชาติ ดังที่ได้มีผู้อธิบายให้ทราบแล้วว่ามีอยู่อย่างไร นี้เป็นเรื่องที่ต้องกล่าวไว้ให้เป็นหลัก-ลืมเสียมิได้ กระผมเชื่อว่าถ้าแม้ว่าสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จมา หรือได้เห็นการกระทำนี้ ก็คงจะทรงอนุโมทนา มันไม่ได้เป็นการผิดธรรมวินัยอะไร แต่เป็นการใช้ธรรมวินัยให้เป็นประโยชน์ เพื่อความคงอยู่ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นฐานรองรับพระศาสนา จึงเป็นอันว่า เราทุกคนควรจะมีธรรมปิติ คือ ความพอใจในการที่ได้กระทำนี้ด้วยกันจงทุกคน
ทีนี้ ก็อยากจะขอถือโอกาสเจียดเวลาพูดเรื่องส่วนตนสักเล็กน้อย ในฐานะที่เป็นชาวบ้านผู้ต้อนรับ รู้สึกว่ามีความบกพร่องอยู่บางประการ ถ้าทำให้ได้รับความลำบากบ้างก็ขอได้โปรดให้อภัย และขอได้โปรดถือเอาว่านั่นเป็นการเสียสละด้วย เสียสละเพื่อการประชุม หรือทำกิจอันนี้ให้ลุล่วงไป แล้วก็ขอทำความเข้าใจในการที่มีการประชุมในลักษณะเช่นนี้ คือ เรียกได้ง่ายๆว่า นั่งกลางดิน ข้อนี้เป็นความนิยมของที่นี่มานานแล้ว และอยากจะขอเสนอแนะให้พิจารณา และถ้าเห็นด้วยก็ขอได้ยึดถือหลักการอันนี้ไปประพฤติปฏิบัติด้วย
ที่เรามานั่งประชุมกลางดินนี้ ขอให้ถือว่านั่งประชุมกันในที่ศักดิ์สิทธิ์ ในที่อันศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ไม่มีอะไรจะสูงสุดกว่า เพราะว่าแผ่นดินนี้เป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ไม่ได้บนเตียง บนตั่งอะไรด้วยซ้ำไป และพระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน นั่งประทับกลางดิน มีหญ้ารองบางๆเท่านั้นเอง ทรงตรัสรู้กลางดิน ทีนี้ ถ้าสอน-ส่วนใหญ่ก็ที่ไหนก็ได้ มันจึงเป็นเรื่องกลางดินโดยมาก แทบจะกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกนั้นกำเนิดขึ้นมากลางดิน บนแผ่นดิน ที่อยู่ที่อาศัยของพระองค์ก็เป็นพื้นดินตามซากโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ เป็นวิหารพื้นดิน ไม่ได้ชั้นเดียวด้วยซ้ำไป วิหารพื้นดิน และท่านก็อยู่กลางดิน ในที่สุด ท่านก็นิพพานกลางดิน กล่าวโดยย่อๆ ๕ ประการว่า
บัดนี้ เราก็ได้มานั่งประชุมกันบนดิน บนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมาย กำชับความหมาย อาหยัด นาทีที่ 10.22 ความตั้งใจของเราเหนือพื้นแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสนองพระคุณของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ขออย่าได้โปรดเห็นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่สมเกียรติ หรือไม่เหมาะสมแต่ประการใดเลย ยิ่งเป็นการเหมาะสมที่เราได้มานั่งทำจิตของเราบนที่ที่เป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ สอน อยู่ และนิพพานดังที่กล่าวแล้ว และขอให้จงจำเหตุการณ์อันนี้ในวันนี้ว่า ได้นั่งประชุมกันกลางดิน มีความหมายเป็นพิเศษอย่างนี้ ถ้าประชุมกันบนตึกใหญ่สวยงามหรูหราไปด้วยเครื่องประดับประดา ความรู้สึกอย่างนี้จะไม่เกิด จะไม่เป็นเครื่องบูชาพระคุณของพระองค์ได้มากเหมือนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขอได้โปรดจดจำการที่ได้นั่งลงบนดินในสวนโมกข์ในวันนี้ วานนี้ ไว้ในจิตใจด้วย ให้ถือว่าได้นั่งทำบนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ มีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เป็นประจักษ์พยาน ให้รักษาถ้อยคำทั้งหลาย คำพูด หรือความตั้งใจ เจตนาใดๆที่เราได้พูดกันนั้นไว้อย่างมั่นคง ให้หนักแน่น มั่นคงเหมือนแผ่นดิน เป็นที่รองรับสิ่งทั้งปวงด้วย นี่เป็นเรื่องออกจะส่วนตัว แต่กระผมก็ต้องขอความกรุณากล่าวด้วย เพราะเวลาอำนวยให้บ้าง
ทีนี้ ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่เรียกเมื่อตะกี้ว่า โอวาท คำว่า โอวาท นี้จะไม่มีอะไรกันมากนักแล้ว นอกจากจะสรุปใจความสำคัญ และวิถีทางที่จะประพฤติปฏิบัติสิ่งนั้นๆให้ลุล่วงไปด้วยดีนั่นแหละมากกว่า คล้ายๆประมวลสิ่งที่ได้พูดจากันมาแล้วทุกๆท่าน เอามาทำให้มันเป็นเรื่องเล็กๆเรื่องเดียว มีประเด็นเดียว มีความหมายเดียว และก็ประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายอันนั้น
การประชุมนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติดังที่ได้กล่าวแล้ว และมองเห็นร่วมกันว่ามันเป็นปัญหาที่กำลังมีอยู่แก่ประเทศชาติ คือ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการปกครอง ปัญหาเกี่ยวกับจิตวิทยาของสังคม และขอแถมปัญหา ปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวพาดพิงกันอยู่กับศาสนา อย่างน้อยก็ในระหว่างศาสนา เป็นปัญหา ๕ ประการอย่างนี้ กระผมขอถวายความคิดเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปได้ ด้วยเหตุที่เราเข้าใจความหมายอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ระบุออกไปก็ว่า ถ้าประชาชนทุกคนรู้จักความหมายแท้จริงของคำว่า ธรรมะ เท่านั้น ปัญหาต่างๆจะหมดไป ปัญหาการเมืองก็หมายความว่า คนในโลกไม่รู้จัก ธรรมะ การศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ยิ่งสอนยิ่งทำให้เห็นแก่ตัว ถ้าพูดไปมันก็เหมือนกับด่า แต่มันก็ต้องพูดว่าการศึกษาที่จัดอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ทุกชาติ ทุกประเทศ ทั้งโลกนั้น ยิ่งจัดยิ่งสอนยิ่งทำไปเท่าไร ยิ่งทำให้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ของตัว แล้วก็ก้าวหน้าไปในทางที่จะเอาเปรียบผู้อื่นให้มากที่สุด เพราะว่าจะแย่งกันครองโลก การศึกษาตกเป็นทาสรับใช้การเมืองอย่างนี้ และก็ไม่มีความหวังอะไรว่าโลกนี้มันจะสงบได้ ปัญหาทางภายในที่เป็นการปกครอง ประชาชนยังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ก็ยังเห็นแก่ตัว ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคน ทุกคน ทุกคน ด่าไม่ด่าก็คิดเอาเอง ยังมีความห็นแก่ตัวมันก็ทำอะไรไปในทางที่เป็นความเห็นแก่ตัว มันก็ไม่ประสบสันติสุข สันติภาพใดๆ เพราะมันทำไปตามอำนาจของ กิเลส
ทีนี้ จะดูปัญหาทางเศรษฐกิจ คนมันก็ไม่มี ธรรมะ มันก็ทำไปตามอำนาจประโยชน์ที่เป็นการเห็นแก่ตัว คือ เอาเปรียบคดโกงโดยทุกวิถีทาง ถ้ามี ธรรมะ แล้วปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจของประเทศชาติก็จะดีกว่านี้มาก
ทีนี้ ปัญหาทางจิตวิทยาของสังคมนี้ก็เนื่องเกี่ยวกับ ธรรมะ อยู่มากเหมือนกัน เพราะเมื่อจิตใจไม่ประกอบด้วย ธรรมะ พฤติของจิตก็เก้ๆกังๆไปในลักษณะที่ปราศจาก ธรรมะ มันคอยแต่จะเฉออกจากนอกทางของ ธรรมะ เมื่อเฉทางจิตใจแล้ว ทางกาย ทางวาจาไม่ต้องสงสัย ต้องให้มีความรู้เรื่อง ธรรมะ อย่างถูกต้องและจิตใจไม่เฉ
ข้อสุดท้ายที่ว่า เรื่องระหว่างศาสนานั้น มันก็มีความจริงอยู่มาก แต่การที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ขออย่าลืมหลักพระพุทธภาษิตที่จะเป็นสูตรแรกที่สุดของพระไตรปิฎก คือ พรหมชาลสูตร นั่นแหละ วินัยปิฎก นั้นมาใส่ลงข้างหน้าของเดิม คือ ทีฆนิกาย นั้นเป็นของเก่าของแรก ในสูตรแรกของ พระสุตตันตปิฎก คือ พรหมชาลสูตร นั้นมีหลักว่า ถ้าเราโกรธเสียแล้ว เราก็จะมืดไม่เห็น อรรถ ไม่เห็น ธรรมะ แม้ที่เขาทำมา หรือที่เราจะทำตอบ รวมความว่า โกรธไม่ได้เรื่องนี้ โกรธไม่ได้ ถ้าโกรธแล้วจะมืด ถ้ามืดแล้วจะไม่เห็น ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักเรา ไม่รู้จักทุกทิศทุกทางอย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนให้ชนะความไม่ดีด้วยความดี ชนะความร้ายด้วยความดี นี่ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญ จะต้องมีในโอกาสข้างหน้า
เป็นอันว่า ปัญหา ๕ ประการนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ / ธรรมะ คำเดียวเท่านั้น ธรรมะ คำเดียวเท่านั้น ปัญหาจะหมดไป เดี๋ยวนี้ ถ้าผมจะพูดว่าเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายยังไม่รู้จักความหมายของคำว่า ธรรมะ อย่างถูกต้อง อย่างนี้จะเป็นการสบประมาทไหม? จะเป็นการสบประมาทไปกี่มากน้อย? ถูกแล้วมันอาจจะถูกต้องตามตัวหนังสือ แต่มันไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือแม้แต่โดยประวัติศาสตร์ของคำพูดคำพิเศษคำนี้ ซึ่งได้เกิดขึ้นมาบนโลกอย่างไร? ขอตัดลัดสั้นๆว่า ขอได้โปรดพยายามให้คนเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ / ธรรมะ นี้จนพอใจที่จะมี ธรรมะ ข้อนี้ก็ได้แก่ ข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่ว่า คำว่า ธรรมะ / ธรรมะ นี้ มันแปล หรือ มันหมายถึง สิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ ปทานุกรมเมืองไทยไม่เคยแปล ธรรมะ ว่า หน้าที่ แต่ถ้าปทานุกรมอินเดีย แม้สำหรับเด็กๆลูกเด็กๆ ธรรมะ ก็คือ Duty ปทานุกรมผู้ใหญ่ ธรรมะ ก็ Duty ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ / ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ หน้าที่ / หน้าที่ของใคร? ใครที่จะต้องมีหน้าที่ก็คือ สิ่งที่มีชีวิตนั่นเอง สิ่งใดมีชีวิต สิ่งนั้นต้องทำหน้าที่ หน้าที่ คือ สิ่งที่จำเป็นที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ถ้าไม่ทำมันตาย มันตายนะ เราไม่กินอาหาร เราไม่บริหารร่างกาย เราไม่ทำอะไรอย่างถูกต้องตามเรื่องของชีวิต-มันก็ตาย และถ้าว่ามันอยู่ ไม่ตาย ถ้าไม่ตายเพราะมี ธรรมะ ขนาดรอดชีวิตแล้ว แต่มันขาด ธรรมะ ในขั้นที่ ๒ มันก็ต้องเป็นทุกข์ มันต้องอยู่ด้วยความทุกข์ มันต้องอยู่ด้วยการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ คือ เป็น โลกียะ มันเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ มันไม่เป็น โลกุตตระ คือ จะออกไปเสียจากกองทุกข์
หน้าที่ / หน้าที่ ขอได้โปรดจำไว้ว่า หน้าที่ หน้าที่นั่นแหละ คือ คำแปลของคำว่า ธรรมะ คำว่า ธรรมะ / ธรรมะ นี้จะแปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมันถูกน้อย น้อย ถูกน้อยเกินไป เพราะว่า คำว่า หน้าที่ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ คำนี้มีใช้พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก่อนพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นมาในโลก ประชาชนในโลกที่มีสติปัญญาถึงขนาดแล้ว มีคำว่า ธรรมะ / ธรรมะ นี้ใช้พูดจากันอยู่แล้วในวงการพูดจา แต่ก็หมายถึง หน้าที่ เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าเมื่อมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์นั้น ยุคป่าเถื่อนโน้นนั้น พอเจริญขึ้นมาเสียหน่อย พอรู้จักสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่นี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เขาก็เรียกชื่อมันว่า ธรรมะ / ธรรมะ คือ หน้าที่ แล้วก็บอกผู้อื่นให้รู้ว่า ธรรมะ คือ หน้าที่อย่างนั้น อย่างนั้น ใครมีสติปัญญาอย่างไรก็อธิบายหน้าที่ไปตามคิดเห็นของตน มันก็เกิดไปหลายก๊กหลายสาขา ล้วนแต่สอน ธรรมะ ทั้งนั้น แต่หมายถึง หน้าที่ และเขาก็ไม่ได้ใช้คำว่า ศาสนา - คำว่า ศาสนา ยังไม่มีใช้ ก็ใช้คำว่า ธรรมะ / ธรรมะ คือ หน้าที่ ลัทธินิกายไหน ศาสนาไหนที่จะสอน ธรรมะ ก็คือ สอนหน้าที่ที่จะดับทุกข์นั่นเอง หน้าที่นั้นเพื่อรอดชีวิต และหน้าที่เพื่อให้ดับทุกข์ นี่ ก็สอนหน้าที่จนเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา หรือเกิดบัณฑิต-นักปราชญ์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา คำๆนี้ก็ไม่ถูกเพิกถอน ยังคงใช้ต่อมาว่า ธรรมะ / ธรรมะ / ธรรมะ พระพุทธเจ้าสอนต่อมาว่า ธรรมะ ก็คือ สอนหน้าที่ที่จะต้องทำนั่นเอง ขอให้มองกันที่จุดนี้ พระพุทธเจ้าสอน ธรรมะ สอน ธรรมะ นั้นมันคือเรื่องอะไร? มันเรื่องหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความรอด นั่นแหละ คือ หน้าที่ ถ้าไม่ทำ-มันตาย หรือมันรอดอยู่อย่างทนทรมาน จึงต้องรู้จักหน้าที่ ผู้อื่นก็สอนตามผู้อื่น แต่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าก็สอนหน้าที่ไปตามหลักของพุทธศาสนา ครั้นปฏิบัติแล้ว-มันรอด
ความข้อนี้โปรดเข้าใจว่า มันเหมือนกันทุกศาสนา หรือ ทุกศาสนามันสอนเรื่องความรอดทั้งนั้นแหละ ไปเอาศาสนาทุกศาสนามาพิจารณาดูใคร่ครวญ จะพบคำๆนี้ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทาง คือ ความรอด แต่ว่ามันรอดไม่เหมือนกัน มันไม่ได้สอนให้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความรอดมันจึงต่างกัน ความรอดตามแบบพุทธศาสนาก็เป็นตามแบบพุทธศาสนา ความรอดแบบอื่นก็เป็นความรอดของแบบอื่น แต่มันหมายถึงความรอดเหมือนกัน นี่ก็แปลว่า มนุษย์ทั้งหมดทั้งสิ้นในสากลจักรวาลนี้ให้ความสำคัญแก่ความรอดมาก ทุกคนต้องการความรอด เพราะฉะนั้น ศาสนาทุกศาสนาจึงสอนเรื่องความรอดตามแบบแห่งลัทธิศาสนาของตน ของตน พุทธศาสนาก็สอนเรื่องความรอดตามแบบของพุทธศาสนา จนถึงรอดสุด คือ พระนิพพาน รอดจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่มี ตัณหา ใดๆเหลืออยู่ นั่นแหละคือ ความรอด ทีนี้ เรามาเรียกเสียว่า ศาสนาบ้าง พุทธศาสนาบ้าง เรียกคำอื่นไม่ใช้คำว่า ธรรมะ ในพระบาลีไปค้นดูเถิดในทุกสูตรนั้น ถ้าว่าเขาประชาชนเขาพูดถามว่าถือศาสนาอะไร? แล้วเขาจะถามว่าถือ ธรรมะ ของใคร? ชอบใจ ธรรมะ ของใคร? ธรรมะ ยังใช้อยู่ คำนี้ยังใช้อยู่ในฐานะเป็นคำสอนเรื่องหน้าที่ พระศาสดาต่างๆในอินเดียสมัยพระพุทธกาล ท่านเข้าใจ ธรรมะของ พระสมณโคดม หรือท่านชอบใจ ธรรมะ ของ นิครนถนาฏบุตร หรือชอบใจ ธรรมะ ของ สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นต้น
ธรรมะ คือ คำอธิบายเรื่องหน้าที่เพื่อความรอดตามหลักเกณฑ์แห่งลัทธินั้นๆ หรือ เดียรถีย์ นั้นๆ คำว่า เดียรถีย์ แปลว่า เจ้าลัทธิ เดียรถีย์ นี้คือ พุทธศาสนา เดียรถีย์ อื่น คือ ลัทธิอื่นนอกจากพุทธศาสนา ในบาลีจะมีเต็มไปด้วยคำว่า เดียรถีย์ อื่น คือหมายถึง ลัทธิต่างๆนอกจากพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็เป็น เดียรถีย์ กับเขาด้วยอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ต้องออกชื่อเพราะรู้กันว่าเรา ในหมู่ของเรา ในพวกของเรา คือ ลัทธิของเรา ถ้าลัทธิอื่นจึงจะใช้คำว่า อื่น เข้ามา จึงมีคำว่า อัญญเดียรถีย - เดียรถีย์อื่น เพราะฉะนั้น ก็แปลว่า ทุกศาสนานั้นสอนวิธีรอดตามแบบของตน ของตน จะทำอย่างไรได้ มันจำเป็นที่สุดที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันไปไกลกัน อยู่ไกลกันเหลือประมาณ พูดกันไม่รู้ ไม่พูดกันอย่างเดียว ไม่พูดอย่างเดียวกัน ไม่รู้เรื่องอย่างเดียวกันได้ ก็ต้องพูดไปตามเหมาะสมของภูมิประเทศ และยุคสมัยที่มันแตกต่างกันมาก แตกต่างกันนาน และเพราะเหตุที่ประชาชนมีวัฒนธรรม มีพื้นเพแห่งจิตใจต่างกันมาก คำสอนก็เกิดขึ้นต่างๆกันมาก แปลว่า ให้เหมาะ ให้พอ ให้ครบสำหรับคนทุกชนิดในโลก
เพราะฉะนั้น ขอบใจมัน ที่มันมีศาสนามากชนิดพอแก่ความต่าง ต่าง ต่างกันของคนในโลก อย่าถือใครเป็นศัตรู อย่าถือใครเป็นมิตรเลย มันต้องมีครบทุกชนิด ทุกอุปนิสัยของคนในโลก ทีนี้ ปัญหาก็เหลืออยู่แต่ว่าเราจะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไรเมื่อมีศาสนาต่างกัน? เราจะเตรียมพร้อมเพื่อจะทะเลาะ กัน หรือว่าเราจะเตรียมพร้อมเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน? ปัญหาทางศาสนาในปัจจุบันนี้มันมีอยู่ว่า เราจะทำความเข้าใจระหว่างศาสนากันอย่างไร? ไม่ใช่ว่าเราจะทำลายล้างศาสนาผู้อื่นอย่างไร? ไม่ใช่เราจะหาแง่-เงื่อนมาบอกให้รู้ว่าศาสนาของเราดีกว่าศาสนาของผู้อื่นอย่างไร? ถ้าพูดว่าศาสนานี้ดีกว่าศาสนาไหนนับเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุด ขออภัยถ้าได้พูดว่าศาสนานี้ดีกว่าศาสนาไหนเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุด เพราะว่าศาสนาของคนโง่ต้องไปอย่างหนึ่ง ศาสนาของคนฉลาดต้องไปอย่างหนึ่ง ศาสนาของคนกลางๆต้องไปอีกอย่างหนึ่ง เอาศาสนาฉลาดไปให้คนโง่มันคือบ้าที่สุด ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าจะเอาศาสนาให้แก่มนุษย์จำพวกโง่ ก็ต้องเอาที่ต่ำกว่า ที่มันง่ายกว่า ถ้าจะไปพูดกับคนที่มีสติปัญญา จึงจะเอาสิ่งที่มันสูงกว่า หรือดีกว่า เพราะฉะนั้น แต่ละศาสนาก็เหมาะกับคนระดับหนึ่ง คนระดับหนึ่ง คนระดับหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะมีกี่ระดับในโลกนี้ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าศาสนาไหนที่มันดีกว่าศาสนาไหนเลย มีแต่จะคิดหาว่าศาสนาไหนเหมาะสำหรับคนจำพวกไหนเท่านั้น ครั้นรู้ว่าเขาจำเป็นต้องถือศาสนานั้น อย่างนั้นแล้ว ก็อย่าไปวัด อย่าไปเปรียบเทียบให้มันเกิดการทะเลาะวิวาท เพียงแต่คอยสอดส่องว่าเราจะทำความเข้าใจกันได้อย่างไรในระหว่างผู้ที่ถือศาสนาต่างกัน?
เดี๋ยวนี้เป็นไปไม่ได้แล้วที่ว่าจะให้มีเพียงศาสนาเดียวในโลก-มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องของโลกมันต้องเป็นอย่างนั้น และโดยเฉพาะภายในประเทศก็เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศนั้นอนุญาตให้ถือศาสนาได้ตามความชอบใจกันทั้งนั้น ฉะนั้น คนในประเทศเดียวกันจึงถือศาสนาต่างๆๆกัน มันจึงไม่มีหน้าที่ที่จะมาทะเลาะกันว่าใครดีกว่าใคร? มันมีหน้าที่เพียงแต่ให้รู้ว่าเราจะทำความเข้าใจกันอย่างไร? กิเลส มีอำนาจมากกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก กิเลส จะต้องการให้ผัว-เมียถือศาสนาต่างกัน ผัว-เมียกันแท้ๆก็ยังต้องถือศาสนาต่างกัน เพราะว่า กิเลส มันชักนำไป เดี๋ยวมันก็ทะเลาะกันตาย กัดกันตาย-ผัวกับเมีย ถ้ามันไม่ทำความเข้าใจกันให้ได้ในระหว่างผัวกับเมียที่ถือศาสนาต่างกัน ถือ ธรรมะ ต่างกัน ถือวิธีรอดต่างกัน เพราะฉะนั้น เขาจะต้องปรับปรุงให้มันเข้ากันได้ สงเคราะห์กันไปได้ ให้รอด ให้รอดได้ นี่คือ ปัญหาเกี่ยวกับการถือศาสนาต่างกัน คนทั้งโลกจะต้องมีศาสนามากมาย ในประเทศเดียวก็ต้องมีศาสนามากมาย ในครอบครัวเดียวยังมีหลายศาสนา กระทั่งว่าผัว-เมียคู่เดียวยังต้องต่างศาสนา จะมาทะเลาะว่าใครถูกใครผิดนั้นมันก็กัดกันเท่านั้นเอง คือ มันไม่อาจจะตกลงกันได้ ต้องทำความเข้าใจว่า ในข้อนี้จะดับทุกข์กันอย่างไร? ในข้อนี้จะดับทุกข์กันอย่างไร? ในข้อนี้จะดับทุกข์กันอย่างไร? ถ้ามันดับทุกข์ได้แล้วก็ถูกทั้งนั้นแหละ ผมขอยืนยันอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจะเชื่อหรือไม่เชื่อผมว่าที่ว่าถูกหรือผิดนั้น อย่าเอาอื่นเป็นประมาณ ถ้ามันดับทุกข์ได้-มันถูก ถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้แล้ว-มันไม่ถูก ให้ครูบาอาจารย์คนไหนว่ามันก็ไม่ถูก แม้จะมีในพระไตรปิฎก-มันก็ไม่ถูก ถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้มันไม่ใช่ของถูก เพราะฉะนั้น จึงมาประนีประนอมกันดับทุกข์ให้ได้ เอานั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ในหมู่ชนที่อยู่กันเป็นหมู่ เป็นคณะ
ทีนี้ ก็เวลาจะหมดเสียแล้ว จะให้พอดีกับเวลา ที่ว่าไม่เข้าใจความหมายของคำๆเดียว คือ ธรรมะ คือ ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมะ ว่าแปลว่า หน้าที่ / ธรรมะ แปลว่า หน้าที่อย่างที่พูดมาแล้ว ตั้งแต่มนุษย์แบบป่าเถื่อนคนแรกเริ่มสังเกตเห็นหน้าที่ และเรียกว่ามันว่า หน้าที่ หน้าที่ ซึ่งเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาอินเดียดึกดำบรรพ์โบราณโน้นก็คือคำว่า ธรรมะ นั้นเอง เพราะฉะนั้น คำว่า ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ คำว่า หน้าที่ในภาษาไทย แปลว่า ธรรมะ ถ้าแปล ธรรมะ ว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นถูกนิดเดียว เพราะคำนี้มันเกิดใช้ก่อนอยู่พระพุทธเจ้าเกิด และใครๆก็ใช้ทั่วกันไปหมด ไม่ว่า ธรรมะ ของใคร เพราะฉะนั้น จึงเอาความหมายเดิมที่แรกเกิดขึ้นมาในโลก คือ หน้าที่ / หน้าที่ พ่อมีหน้าที่อย่างไร? แม่มีหน้าที่อย่างไร? ลูกมีหน้าที่อย่างไร? ใครมีหน้าที่อย่างไร? เรามีหน้าที่ในทางนี้ ทางโน้น ทางนั้นอย่างไร? ทำถูกหน้าที่ให้มี ธรรมะ / ธรรมะ เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าหน้าที่แล้วเป็น ธรรมะ เสมอกันหมด คือ ถ้าเรารู้ว่าหน้าที่เป็น ธรรมะ เราก็พอใจ ยินดีที่จะทำหน้าที่มากกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้คนทำหน้าที่เพราะเห็นแก่เงินเดือน ค่าจ้างทั้งนั้นแหละ ไม่ได้ทำหน้าที่เพราะเห็นแก่ ธรรมะ ดังนั้น เขาจึงไม่พอใจ ไม่อิ่มอกอิ่มใจเมื่อทำหน้าที่ซึ่งมันเหนื่อย ถ้าเขาเห็นว่า-รู้สึกเห็นแจ่มแจ้งว่า หน้าที่นี้ คือ ธรรมะ เขาก็ยินดีที่จะเหนื่อยเพราะมันเป็น ธรรมะ มันชื่นอกชื่นใจ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำหน้าที่อย่างชื่นอกชื่นใจหรอก มันทำหน้าที่เพราะจำเป็นต้องทำทั้งนั้นแหละ เพื่อเอาเงินเดือนทั้งนั้นแหละ มันไม่มี ธรรมะ แต่ถ้ามันเปลี่ยนเสียว่า หน้าที่นี้ คือ ธรรมะ หน้าที่นี้ คือ ธรรมะ และทำด้วยความพอใจ ทำด้วยความพอใจอะไรๆจะเกิดขึ้นถ้าทุกคน ทุกคนทำหน้าที่ของตนด้วยความพอใจ อะไรจะเกิดขึ้นขอให้คิดดูเถิด มันก็คือ เป็นสุขเมื่อ ธรรมะ - เป็นสุขเมื่อทำหน้าที่ มันเป็นสุขเมื่อกำลังทำหน้าที่ เหงื่อไหลอาบตัวอยู่มันเป็นสุข เพราะมันเป็น ธรรมะ เป็น ธรรมะ สูงสุด มีเกียรติสูงสุด มันทำงานเหงื่อไหลอยู่มันพอใจ มันเป็นสุข และมันก็เป็นสุขชนิดที่ไม่ต้องใช้เงินสักสตางค์เดียว สุขเกิดมาจากความพอใจว่าได้ปฏิบัติ ธรรมะ เป็นสุขที่แท้จริง ไม่หลอกลวง และไม่ต้องใช้เงินแม้แต่สตางค์เดียว
และทีนี้ ยิ่งกว่านั้นก็คือ มันทำงานสนุก และถ้าจิตใจมันบูชา ธรรมะ มองเห็นค่าของ ธรรมะ ก็ทำอย่างสนุกสนาน ทำอย่างเป็นสนุกไปเลย มันก็มีผลงานมาก มีผลงานมาก กระผมถือหลักอันนี้มาแต่แรก อย่าเห็นเป็นการอวดโอ้อะไรว่าผมถือหลักอันนี้ ว่าทำงานให้สนุก ทำงานให้สนุกเพราะมันเป็น ธรรมะ หนังสือทั้งหมดในตึกนั้นนะ นอกจากตู้พระไตรปิฎก ๒ ตู้นั้นแล้ว-ผมทำคนเดียว ไปดูเถิด นั่นแหละเป็นพยานหลักฐานว่า การงานนั้นทำให้สนุกได้นะ ถ้าว่าไม่มีความสนุก ความพอใจแล้วจะทำงานมากเท่านั้นไม่ได้ ใครๆมาเห็นก็สั่นหัวไม่เชื่อว่านี่ทำคนเดียว บอกว่านี่คือทำคนเดียว ทำไมจึงทำได้? เพราะมันทำสนุก เพราะมันเป็นของที่ทำให้สนุกได้ ถ้าประชาชนของเราถือหลักอย่างนี้ คือว่า งานเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ ก็ทำงานมากกว่านี้มาก ไม่นอนบิดขี้เกียจ ไม่เลี่ยงงาน ไม่คอยเป็นอันธพาลปล้นจี้ เพราะมันไม่ต้องการจะทำงาน เพราะว่างานมันไม่สนุก เพราะฉะนั้น เคล็ดอุบายมันจึงมีนิดเดียว ถ้าทำให้งานสนุกได้แล้วจะแก้ปัญหาหมดเลย ถ้าสามารถทำให้คนทุกคนในโลกทำงานให้สนุกได้แล้ว-ปัญหาทุกอย่างจะหมดไป ปัญหาการเมืองไม่มี เศรษฐกิจไม่มี อะไรก็ไม่มี เพราะมันมีผลงานล้นไปหมด มันมีผลงานล้นไปหมด และเงินก็ไม่รู้จะเอาไปไหน เพราะมันเป็นสุขเสียแล้วเมื่อทำการงาน
นี่ ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องว่า ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ พอทำแล้วให้รู้สึกว่าเป็น ธรรมะ และก็พอใจ-เป็นสุข เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง เป็นสุขแท้จริง ไม่ต้องใช้เงินบาทเดียว ทีนี้ ผลงานออกมาก็เป็นเงินมันก็เหลือกองอยู่เบ้อเริ่มไม่รู้จะเอาไปไหนอีก เพราะว่าความสุขแท้จริงมันได้มาแล้วจากการทำหน้าที่ในฐานะที่เป็น ธรรมะ เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนี้นี่ มันไม่ได้คิดว่าทำหน้าที่นี้เพื่อ ธรรมะ แต่มันคิดว่าทำเพื่อเงิน ไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง นี่เป็นคำ ๒ คำที่จะต้องไปอธิบายให้ลูกเด็กๆนั้นเข้าใจดี
คำหนึ่ง คือ ความสุขที่แท้จริง
คำหนึ่ง คือ ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง
ไม่ใช่ของสิ่งเดียวกัน ความสุขที่แท้จริง-มันไม่ต้องใช้เงินเลย มันเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ คือ ธรรมะ แต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงต้องเอาเงินที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยนั้น ไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเป็น กามารมณ์ เป็น อบายมุข เป็น อาบ อบ นวด อย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ถ้ามันเป็นสุข พอใจในการทำหน้าที่ มันจะอิ่มด้วยความสุขแล้วมันจะไปอาบ อบ นวดให้บ้าทำไมเล่า? นี่มันเป็นความสุขที่สงบเย็นอยู่ในตัวการกระทำแล้วเมื่อกระทำนั่นเอง
เพราะฉะนั้น เราพยายามสอนให้ประชาชนทุกคนรู้สึกพอใจเมื่อทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่แล้วพอใจ พอใจก็เป็นสุข มันก็เป็นสุขเท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้น ขอให้พอใจในการทำหน้าที่ เทวดาก็ต้องทำหน้าที่ ต้องทำหน้าที่อย่างพอใจ ราชา มหากษัตริย์ก็ต้องทำหน้าที่ทำให้พอใจ ชาวไร่ ชาวนาก็ต้องทำหน้าที่ชาวไร่ ชาวนา ก็เป็น ธรรมะ ของชาวนา พ่อค้าก็ทำหน้าที่พ่อค้า พ่อค้าก็เป็น ธรรมะ ของพ่อค้า กรรมกรก็ทำหน้าที่ของกรรมกรก็เป็น ธรรมะ ของกรรมกร แม้กระทั่งขอทานนั่งขอทานอยู่ ก็มี ธรรมะ ของคนขอทาน ให้มันเป็นคนขอทานที่ถูกต้องเท่านั้นแหละ อย่าเป็นขอทานอันธพาล มันก็มี ธรรมะ ของคนขอทานอยู่ตลอดเวลาที่มันนั่งขอทาน ไม่เท่าไรมันก็จะพ้นจากสภาพขอทานเพราะ ธรรมะ ช่วย
นี่ เมื่อพูดถึงคำว่าช่วย ช่วย แล้วก็ขอให้ดูให้ดีเถิดว่า สิ่งที่ช่วยมนุษย์ได้จริง คือ หน้าที่ที่เขาทำ สิ่งที่จะช่วยใครได้จริง ก็คือ หน้าที่ที่เขากระทำ ถ้าเขาเป็นกรรมกรทำหน้าที่กรรมกรอยู่ตลอดเวลา จะแจวเรือจ้าง จะกวาดถนน จะล้างท่อถนน ทำอยู่ตลอดเวลา หน้าที่นั้นจะเป็นพระเจ้าที่ช่วยเขาให้พ้นจากความเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เขาไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ได้รักที่จะทำหน้าที่ บิดพลิ้ว คดโกงต่อหน้าที่อยู่เรื่อยไป-มันก็ไม่ช่วยสิ เพราะฉะนั้น หน้าที่ หน้าที่ ก็คือ พระเจ้า พระเป็นเจ้าที่จะช่วยเราได้แท้จริง
อีก ๕ นาทีจะหมดแล้วเวลา เพราะฉะนั้น ขอให้ถือเป็นหลักว่า ที่ไหนมีการทำหน้าที่ - ที่นั่นมี ธรรมะ นี่ โปรดพิจารณาหลักอันนี้และไปใช้ให้ถูกทุกหนทุกแห่ง ที่ไหนมีการทำหน้าที่- ที่นั้นมี ธรรมะ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่แล้ว-ในโบสถ์นั้นแหละก็ไม่มี ธรรมะ เลย ถ้าไม่มีการทำหน้าที่แล้ว-ในโบสถ์นั่นแหละไม่มี ธรรมะ เลย มีแต่นั่งสั่นเซียมซี มีแต่นั่งขอร้องนั่นนี่ ไม่มีการทำหน้าที่ ในโบสถ์นั้นจะไม่มี ธรรมะ เลย ธรรมะ มันไปมีอยู่ที่ไถนาอยู่กลางนาโครมๆ หรือทำสวนอยู่ในสวนโครมๆ หรือทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่นั่นมันมี ธรรมะ คือ มันมีการทำหน้าที่ เมื่อคนรักหน้าที่ บูชาหน้าที่อย่างนี้แล้ว ทำงานสนุกก็จะทำได้มากจนเหลือกินเหลือใช้ ผลเป็นเงินที่ได้มาก็ไม่ต้องกินไม่ต้องใช้เพราะมันมีความสุขเสียแล้วเมื่อทำหน้าที่ ไปแยกแยะ ไปจาระไนหน้าที่ ตามอาชีพการงานของคนทุกคน ตามขั้นตอนของวัย ของเด็ก ของผู้ใหญ่ ของคนแก่ หน้าที่ของพ่อ ของแม่ ของลูก ของหลาน ให้ทำให้ถูกตามหน้าที่ทุกๆอย่างแล้วก็มี ธรรมะ ในที่สุด ให้บอกตัวเองได้ว่า ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง แม้จะตื่นขึ้นมาล้างหน้าก็พอใจเป็นสุข เมื่อล้างหน้าก็ได้ทำหน้าที่คือ ธรรมะ อย่างถูกต้อง เมื่ออาบน้ำก็เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา เมื่อแต่งตัวนุ่งผ้าก็เป็นสุขตลอดเวลา เมื่อกินอาหารก็เป็นสุขตลอดเวลา เมื่อถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะก็เป็นสุขตลอดเวลาเพราะทำด้วยสติ-สัมปชัญญะ คนธรรมดาไม่ได้ทำด้วยสติ-สัมปชัญญะ จึงไม่รู้สึกเป็นสุขเมื่อทำกิจประจำวันอย่างนี้ แต่ผู้มี ธรรมะ ทำด้วยสติ-สัมปชัญญะในการทำหน้าที่ เลยเป็นสุข เป็นสุขทุกๆอิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนไปทำงาน กลับจากทำงานไปนอนอีกก็ยกมือคิดบัญชีดูว่าทั้งวันนี้ทำอะไร โอ้ ทั้งวันนี้มีความถูกต้อง ทำความดี ทำความถูกต้องตลอดเวลา ยกมือไหว้ตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองว่าทำดี ถูกต้อง เป็น ธรรมะ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เป็นสวรรค์ เป็นสวรรค์แท้จริงแล้วจึงค่อยนอน ถ้าพอค่ำลงคิดบัญชีแล้ว โอ๊ย มีแต่สิ่งน่าเกลียดน่าชังทั้งนั้นชีวิตของกู นี่มันก็ตกนรก ตกนรก ตกนรกแท้จริง เพราะฉะนั้น ประชาชนไม่ต้องตกนรกแต่จะมีสวรรค์ตลอดเวลาด้วยการทำ ให้บอกตัวเองได้ว่าเราทำความถูกต้องในหน้าที่อยู่ตลอดเวลา หน้าที่ คือ ธรรมะ
ดังนั้น ผมไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่าคำๆเดียวว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ โปรดนำไปใช้สั่งสอน ถ้าเห็นด้วยนะ ถ้าเห็นด้วยตามนี้โปรดนำไปใช้สั่งสอนประชาชนทั่วไป ให้ทำงานให้เป็นสนุก และเป็นสุขเมื่อกำลังทำหน้าที่ เป็นสุขเสียเมื่อกำลังทำหน้าที่ ถ้าเอาเงินที่ได้จากงานไปซื้อเหล้าเมายานั้นไม่ใช่ความสุข นั้นเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง มันจะทำลายเขา เขาจงเป็นสุข พอใจ อิ่มอก อิ่มใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ เขาเอาควาย เอาวัว เอาไถมาถึงนาจะไถนา ไหว้มันเสียทีหนึ่งก่อนแล้วจึงผูกเทียมไถ เพราะว่ามันเป็นการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เป็นอุปกรณ์อันสำคัญในการทำหน้าที่ ไหว้ควาย ไหว้ไถเสียก่อนแล้วจึงจับไถไป ใครจะทำหน้าที่อะไรก็ขอให้ไหว้อุปกรณ์เครื่องมือนั้นเสียทีหนึ่งก่อนเถิด มันจะน้อมมาเพื่อการเป็นอย่างนี้ คือ สนุกในการทำงาน
และเวลาเหลือนาทีเดียวแล้วตามที่กำหนดไว้ ผมก็ขอแสดงความเคารพ ขอแสดงความขอบพระคุณ ผมขอบพระคุณนะที่มาใช้สถานที่นี้ให้มีประโยชน์นะ ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบพระคุณผมนะ ผมจะขอขอบพระคุณว่าได้มาช่วยกันใช้สถานที่นี้ให้เป็นประโยชน์ ขอขอบพระคุณ และก็ขอแสดงความยินดีที่เราได้ร่วมมือกัน สัมพันธ์กันทำงาน ทำหน้าที่ ซึ่งเป็นประโยชน์เพื่อความมั่นคงแก่ประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นความมั่นคงแก่พระศาสนาสืบต่อไป ให้เราอยู่เป็นที่พึ่งของมนุษย์ตลอดกาลปาวสาน
ผมขอปิดประชุมด้วยเวลาตรงเปะ
....... มีอะไรเล่าท่านผู้กำกับการ? แล้วท่านจะทำอย่างไรนี่? จะให้ท่านทำอย่างไร?
ขอแสดงความขอบพระคุณ ไม่ต้องร่ำลาเป็นรายตัวหรอก มันเหนื่อยกันมากเกินจำเป็น ถือเป็นการลา เป็นการส่งอะไรเสร็จอยู่ในตัว
โฆษก : พิธีปิดการประชุมก็ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้วนะครับ หากพระคุณเจ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางยังไม่เรียบร้อย ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่กองดำเนินการด้วยครับ