แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายประจำวันเสาร์ เป็นครั้งที่ ๘ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ในวันนี้อาตมาก็ยังคงกล่าวเรื่องราวในชุดธรรมชีวีต่อไปตามเดิม แต่ขอเพิ่มบางเรื่องเข้ามาด้วยกันเรียกว่า ธรรมชีวีกับครูผู้สร้างโลก เพราะเป็นการบรรยายตามหัวข้อที่ที่ประชุมกำหนดให้ว่าดังนั้น เป็นอันว่าจะพูดเรื่องธรรมชีวีเกี่ยวกับครูผู้สร้างโลกอย่างไร
คำว่า ครูผู้สร้างโลก บางคนจะรู้สึกว่าคล้ายกับพูดเล่น หรือพูดเล่นลิ้น ข้อนี้ไม่ได้เป็นการพูดเล่น แต่เป็นการพูดจริง จริงถึงที่สุดและท่านก็มองเห็นได้โดยประจักษ์ คือ ครูสร้างวิญญาณของเด็ก แล้วเด็กโตขึ้นก็เป็นคน คนทั้งหมดรวมกันก็คือโลก ครูจึงอยู่ในฐานะสร้างโลกโดยผ่านทางเด็ก ถ้าไม่ใคร่ครวญกันให้ละเอียดสักหน่อยก็จะฟังดูเป็นเรื่องพูดเล่น โลกจะดีหรือจะงดงามน่าอยู่ ก็เพราะโลกเต็มไปด้วยคนดี ความมุ่งหมายของครูก็คือสร้างเด็กให้เป็นคนดี แล้วเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนดี สำหรับคำว่าครู ครูในที่นี้จะต้องระลึกนึกถึงตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าบิดามารดาเป็นครูคนแรก กล่าวเพียงเท่านี้ ทุกคนจะพอมองเห็นว่าบิดามารดาได้ชื่อว่าเป็นครูคนแรกนั้นอย่างไร คือ เกิดมาก็เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนโดยรู้สึกตัวบ้าง โดยไม่รู้สึกตัวบ้างมาตามลำดับ จนเด็กนั้นมีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เท่าที่ควรจะรู้ และยังบ่มนิสัยให้หยาบ ละเอียด ประณีต สุขุมอะไรได้อีกแล้วแต่ว่าบิดามารดา หรือผู้เลี้ยงเด็กนั้นจะมีมารยาท มีกริยาอาการหรือแม้กระทั่งมีวัฒนธรรมอย่างไร นี่เด็กก็ได้รับถ่ายทอดจากครูคนแรก คือ บิดามารดา
คำว่า ครู ในที่นี้จึงรวมไปถึงบิดามารดาซึ่งเป็นครูชั้นต้น ครั้นมาอยู่โรงเรียนก็มีครูชั้นที่สอง คือ ครูที่โรงเรียน แล้วก็ทำงานพร้อมกันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน บิดามารดาก็เป็นครูชั้นต้น ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนก็เป็นครูรับช่วง แล้วก็ยังสอนมาด้วยกัน นี่คือคำว่าครูโดยใจความสั้น ๆ เป็นผู้อบรมสั่งสอนให้เกิดมารยาท เกิดนิสัย เกิดคุณสมบัติต่าง ๆ ทีนี้มาดูกันถึงคำว่าโลก เพราะเราจะพูดเรื่องครูผู้สร้างโลก ไอ้คำว่าโลกนี่มีความหมายซ้อนกันอยู่หลายชั้น กล่าวให้หมดตามที่มีอยู่ในพระคัมภีร์
อันแรกท่านเรียกว่า สังขารโลก คือ สภาวธรรมที่ปรุงแต่งซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา สภาวธรรมคือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นอยู่ตามธรรมชาติ และมันปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลาตามกฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น นี่ท่านก็จัดเป็นโลก ๆ หนึ่ง โลกแห่งการปรุงแต่ง หรือสังขารโลก สังขารโลก ก็แปลว่าโลกแห่งการปรุงแต่ง ต้องหลับตาดูจึงจะเห็น เห็นโลกแห่งการปรุงแต่ง อะไร ๆ มันก็ปรุงแต่งซึ่งกันและกันอยู่ทุกกระเบียดนิ้วทุกปรมาณูในร่างกายเรานี่ ตามที่เรียนมาก็พอจะรู้ได้ว่ามีการปรุงแต่งอยู่ทุก ๆ เซลล์ที่ประกอบกันเป็นร่างกายนี้ แต่ละส่วน ละส่วนก็มีการปรุงแต่งเฉพาะส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรต่าง ๆ ล้วนแต่มีการปรุงแต่ง กระทั่งอารมณ์ภายนอกเข้าไปปรุงแต่งจิตใจในภายใน เกิดเป็นความรู้สึก ความคิด ความนึก ความสำคัญมั่นหมาย ความยึดถือ เป็นต้น นี่ก็เพราะการปรุงแต่ง เราต้องคำนวณ หรือว่าจะต้องดูด้วยตาปัญญาจึงจะเห็นว่ารอบตัวเราเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง อย่างในอากาศโล่ง ๆ ว่าง ๆ นี่ก็มีการปรุงแต่งของแก๊สต่าง ๆ แผ่นดินก็มีการปรุงแต่ง ที่ไหน ๆ ก็มีการปรุงแต่ง นี่เรียกว่าโลกที่หนึ่ง เรียกว่าสังขารโลก โลกแห่งการปรุงแต่ง
ทีนี้โลกที่สอง คือโอกาสโลก ได้แก่แผ่นดินเป็นที่รองรับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แผ่นดิน โลกเป็นที่รองรับอะไรบ้างก็ลองดูเอาเอง ลองมองดูเอาเอง ต้นไม้ ต้นไร่ สัตว์ คน หรือสิ่งก่อสร้าง วัตถุต่าง ๆ มันก็ล้วนแต่ตั้งอยู่บนโลกแผ่นดิน นี่มองดูเฉพาะไอ้ตัวแผ่นดิน หรือที่เรียกว่าเดอะโกล้บ (The Globe) ไม่ใช่เดอะเวิร์ด (The World) เดอะโกล้บนั่นน่ะคือว่าโอกาสโลก โอกาสโลก โลก คือ แผ่นดิน
ทีนี้โลกที่สาม คือ สัตวโลก ได้แก่ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกรวมกันทุกประเภท เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์ครึ่งสัตว์เดรัจฉานครึ่งคน กระทั่งเป็นคนนี้เรียกว่าสัตวโลก ซึ่งจะตรงกับคำว่า The World มากกว่า The Globe เรามีกันถึงสามโลก นี้เรียกว่ามองดูกันโดยหลักที่เรียกว่าปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม คือมองในชั้นลึก คือมองในความหมายอันลึก ส่วนที่จะมองเป็นมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก แบบนั้นนั่นมองอย่างตื้น ๆ และก็มองอย่างค่อนข้างจะสมมติเอามากกว่า แต่ก็เรียกว่าโลกได้เหมือนกัน ท่านบัญญัติใช้มาอย่างนั้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
มนุษย์โลก ก็คือโลกของมนุษย์นี่ เทวโลก ก็คือโลกของเทวดา ซึ่งไม่ใครมองเห็น พรหมโลก คือโลกของเทวดาที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คำอธิบายเรื่องนี้มันตีกันยุ่ง พวกหนึ่งเข้าใจว่าเป็นโลก เป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นวิมาน เป็นอะไรสำหรับเทวดาเหล่านั้นอยู่จริง ๆ แต่ความหมายในภาษาธรรมนั้น ท่านกลับหมายถึงว่า ไอ้คนในโลกนี้ถ้ามันมีจิตใจเหมือนเทวดา ตามหลักของเทวดา มันก็กลายเป็นเทวดา คนชนิดนี้อยู่ที่ไหน ไอ้โลกนั้นก็กลายเป็นเทวโลก หรือว่าคนธรรมดานี่แหล่ะ แต่มีจิตใจอย่างพรหมที่ประกอบไปด้วยพรหมวิหารอย่างเต็มที่ ไอ้คนนั้นแหล่ะเป็นพรหม คนชนิดนี้อยู่ที่ไหน ที่นั่นก็เป็นพรหมโลกอย่างนี้ก็มี แม้เราจะกล่าวอย่างนี้ ก็ครูเป็นผู้สร้างโลกอยู่นั่นเอง เดี๋ยวจะได้วินิจฉัยกัน ครูเป็นผู้สร้างโลก แล้วก็ถือโอกาส ถือเอาหลักสามประการชุดแรกก่อนว่า สังขารโลก โลกแห่งสภาวธรรมที่ปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา โอกาสโลก โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งอาศัยของสิ่งมีชีวิต สัตวโลก คือหมู่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกทุกประเภท จะเกณฑ์ให้ครูสร้างโลกไหนกัน อาตมาคิดว่าจะให้เป็นสร้างทั้งหมดก็ได้ ถ้าครูมีความรู้มากพอ แล้วก็สอนให้มีการปรุงแต่งที่ถูกต้อง ให้คนทุกคนมีการปรุงแต่งที่ถูกต้องทางกายทางวาจาทางใจ เป็นสังขารโลก ครูก็ยังทำได้ แต่ว่ามันอยู่นอกหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นสิ่งที่ทำได้ ว่าแม้ครูจะสร้างสังขารโลกก็ยังทำได้ คือทำให้มีการปรุงแต่งในโลกแต่ชนิดที่ถูกต้อง หรือควรจะมี ควรจะเป็น แล้วก็อยู่กันอย่างเป็นสุข
ทีนี้ก็มาถึงโอกาสโลก คือ แผ่นดินรวมทั้งต้นไม้ต้นไร่ อะไรที่อยู่บนแผ่นดินน่ะ ถ้าครูจะช่วยสร้างโลก แผ่นดินนี่ ก็ยังทำได้ คือสอนให้เด็ก ๆ รู้จักรัก รักษาคุ้มครองแผ่นดิน ไม่ทำลายทรัพยากรของธรรมชาติโดยไม่จำเป็น สร้างรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้น่าดู เดี๋ยวนี้ดูจะไปกันใหญ่แล้ว ไอ้การทำลายทรัพยากรของธรรมชาตินั้น ทำลายกันอย่างไม่มีขอบเขต แล้วก็ไปตายเอาดาบหน้าว่าถ้าบางอย่างมันหมดไปแล้วจะทำอย่างไร เช่นว่าน้ำมันมันหมด จะทำอย่างไรอย่างนี้ ก็ยังคิดไม่ออก ถ้าครูจะสอนให้ทุกคนรู้จักถนอมทรัพยากรของธรรมชาติ หรือทำให้มีการทดแทนกันได้เรื่อย ๆ ไปมันก็เป็นการสร้างแผ่นดินโลกที่ดี ให้มีต้นไม้ที่ร่มรื่นแล้วแผ่นดินก็เป็นแผ่นดินที่ดี สำหรับปลูกพืชผลอะไรก็ทำได้ดี ดังนั้นครูก็มีโอกาสสร้างโลกแผ่นดิน
ทีนี้มาถึงสัตวโลก คือสัตว์ที่เป็นคน ๆ นี่ ถ้าสอนให้เกิดคนที่เป็นอารยะชน เป็นพลเมืองดีได้โดยหลักวิธีสอนจริยธรรมที่กำลังพิจารณากันอยู่ ถ้าครูได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องตามความหมายของคำว่าครู ซึ่งหมายถึงสอนในด้านจิตด้านวิญญาณด้วย เป็นผู้นำในทางวิญญาณ เป็นผู้เปิดประตูให้โล่งโถงออกไปในทางวิญญาณ อย่างนี้ก็คือทำให้สัตว์โลกเป็นมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ กระทั่งเป็นอารยะชน ทำให้พลโลกนี่เต็มไปด้วยคนดี มีธรรมะ มันก็เป็นโลกที่ดี คือ สัตวโลก โลกแห่งหมู่สัตว์ที่ดี ทีนี้ถ้าครูจะสร้างให้เป็นมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกก็ยังได้ คือพร่ำสอนมนุษยธรรม ความถูกต้องแห่งความเป็นมนุษย์มีอยู่อย่างไร สอนให้เขารู้ สอนให้เขาปฏิบัติ สอนให้เขาเป็นอยู่ด้วยหลักปฏิบัติอันนี้ มันก็เกิดมนุษยโลกที่ดี ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา แต่ถ้าสอนกันเพียงหนังสือกับวิชาชีพ ไม่สำเร็จประโยชน์ อาจจะมีคนสวย คนรวย คนเก่งกล้าสามารถ แต่ว่าเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว และการเบียดเบียนซึ่งตามมา ก็ไม่เป็นมนุษยโลกที่น่าปรารถนา เราต้องให้เป็นมนุษยโลกสมชื่อว่ามนุษย์ มนุษยโลก มนุษย์ แปลว่าสัตว์มีใจสูง มนุษยโลก ก็แปลว่าโลกแห่งสัตว์ที่มีใจสูง ที่จะสร้างให้เป็นเทวโลก ก็มีข้อความกล่าวไว้ชัดว่า หิริ และโอตตัปปะ ชื่อว่าเทวธรรม ความละอายต่อความชั่วและความกลัว เกลียดกลัวต่อความชั่ว นั่นเรียกว่าเทวธรรม ผู้ประกอบอยู่ด้วยเทวธรรมนั่นเป็นเทวดา ฟังดูมันไม่ใช่เรื่องเดียวกับว่าเทวดาอยู่ในสวรรค์วิมานเต็มไปด้วยสิ่งเริงรมย์ขนาดหนัก กลายเป็นว่าเทวดานี่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดบาป ไม่ให้เกี่ยวข้องกับบาป มีหิริ และโอตตัปปะในการที่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ไม่ทำสิ่งซึ่งฐานะของตนบ่งว่าไม่กระทำ หรือไม่ต้องกระทำ แล้วก็ทำแต่ในสิ่งที่ควรทำ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีหิริ และโอตตัปปะอย่างแท้จริง เมื่อคนมีหิริ และโอตตัปปะแท้จริง โลกจะเป็นอย่างไรก็ลองคิดดู มันก็ไม่มีใครทำบาป มันก็เป็นโลกที่ไม่มีบาป นี่ครูจะสร้างได้ไหม สร้างเทวโลก โดยเหตุผลมันก็สร้างได้ แต่ว่าโดยข้อเท็จจริงน่ะมันยังลำบาก เพราะว่าบางทีจะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ ไม่นึกถึงเรื่องนี้ ไม่อยู่ในความสนใจก็ได้ การที่จะสร้างให้คนทุกคนในโลกมีหิริ และโอตตัปปะนี้เหลือวิสัยไหม พวกหนึ่งก็จะบอกว่าเหลือวิสัย พวกหนึ่งก็จะบอกว่าถ้าเอากันจริงมันก็จะไม่เหลือวิสัย แต่ว่ามันมีส่วนที่สร้างได้ อย่างอบรมนักเรียนให้มีหิริ และโอตตัปปะนี้ มันก็เหมือนกับสร้างให้เขาเป็นเทพเจ้า เป็นเทวดา และครูก็ทำได้
ทีนี้โลก พรหมโลก พรหมโลก สูงขึ้นไปอีก มันก็ประกอบด้วย พรหมธรรม ธรรมสำหรับพรหม หรือพรหมวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คำว่าพรหมคำนี้ที่เป็นคำธรรมดา เป็นคำนามธรรมดาก็แปลว่า ประเสริฐ ผู้ประเสริฐ หรือซึ่งประเสริฐเป็นคุณศัพท์ แต่เดี๋ยวนี้เขาหมายถึงเทพ เทพเจ้า เทวดาชนิดหนึ่งอยู่ในโลก ๆ หนึ่ง ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าเทวโลก แต่ก็ยอมรับว่าจะไปถึงที่นั่นได้ ก็โดยประพฤติพรหมธรรม ๔ อย่างคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ข้อนี้ควรจะทำความเข้าใจกันให้ดี ๆ ว่าอยู่ที่นี่ ในโลกนี้ ในสภาพอย่างนี้ แต่ทำจิตให้ประกอบด้วยเมตตา รักเพื่อนมนุษย์ถ้วนหน้าอย่างกับรักตัวเอง แล้วกรุณา ช่วยทันที หรือพร้อมที่จะช่วยอยู่เสมอให้ผู้ที่มีความทุกข์ความลำบากได้พ้นจากความทุกข์ ความลำบาก แล้วมุทิตา ยินดีด้วยเมื่อใครได้ดี ได้บุญ ได้ความสุขก็ยินดีด้วย ไม่มีใครริษยาใคร ไม่มีใครที่มีแผนการขัดขวางความเจริญของผู้อื่นเพื่อตัวเองจะได้เจริญ นี่มุทิตานี่กำจัดความริษยาซึ่งเป็นเครื่องทำโลกให้วินาศ ความริษยาเป็นเครื่องทำโลกให้วินาศนี่ก็มีคำกล่าวอยู่ในบาลี ทีนี้ข้อสุดท้ายก็อุเบกขา ในกรณีที่บัดนี้ช่วยไม่ได้ เพราะว่าสัตว์นั้นต้องเป็นไปตามกรรม หรืออะไรก็ตาม นี่ช่วยไม่ได้ ก็รอดูอยู่ว่าเมื่อไหร่มีโอกาสช่วยก็จะช่วยทันที มีการสอนการอธิบายว่าอุเบกขา คือ เฉยเสีย ก็ช่วยไม่ได้ อาตมาว่าไม่ถูก แปลอย่างนั้น ถือหลักอย่างนั้นไม่ถูก อุเบกขาคือเพ่งดูอยู่ว่าเมื่อไหร่จะช่วยได้ ก็เป็นการช่วยทันที ตัวหนังสือมันบอกอย่างนั้น (นาทีที่24.46)อุป แปลว่าเข้าไป อิกข แปลว่าดู คือจ้องดูอยู่ ไม่ใช่เฉยไม่รู้ไม่ชี้ เมื่อไหร่ช่วยได้ก็เป็นการช่วยทันที คือเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ถ้าอย่างนี้ก็มีจิตเป็นพรหมธรรม พรหมธรรม ธรรมสำหรับทำความเป็นพรหม มีมนุษยธรรมสำหรับความเป็นมนุษย์ มีเทวธรรมสำหรับความเป็นเทวดา มีพรหมธรรมสำหรับความเป็นพรหม ครูสร้างได้ สร้างได้ทุกโลกแหละ มันเป็นสัตว์โลกอยู่เป็นพื้นฐาน และอบรมสัตว์โลกนี้ให้กลายเป็นเทพ เป็นพรหมอะไรก็ได้ เรียกว่ามีส่วนที่สร้างได้ ถ้าหากอาศัยหลักพระพุทธศาสนาแล้ว มันก็เป็นการสร้างได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะสร้างโลกชนิดไหนก็สร้างได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เอาว่าจะสร้างมนุษยโลกให้ถูกต้องตามความหมายของมนุษยโลก เขาสอนมนุษยธรรมให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มนุษยธรรมไม่ได้สอนกัน ในทางที่จะเป็นมนุษย์กันอย่างไร สอนเรื่องประวัติศาสตร์ หรือไอ้เรื่องอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความทะนง หลงชาติ หลงตัวเองเสียมากกว่า ยิ่งเรียนมานุษยวิทยากันในลักษณะนั้นแล้ว มันก็ยิ่งไกลจากการที่จะเป็นมนุษยโลก ซึ่งเต็มไปด้วยจิตใจที่สูง สมัครไปในทางสูง สอนให้เป็นเทพเจ้า นี่ก็คืออบรมให้หนักไปด้วยหิริ และโอตตัปปะ พูดอย่างธรรมดา ๆ ก็ได้ คือให้เป็นสุภาบุรุษถึงที่สุด ไม่มีความลับ ไม่ปกปิดความลับ มีแต่ความเปิดเผย ละอาย เกลียดที่จะทำในสิ่งที่ไม่สมควร ถ้าว่าคนได้รับการอบรมกันในลักษณะนี้มันก็เกิดเป็นเทวโลกขึ้นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สำหรับพรหมโลกนั้นก็เหมือนกัน ถ้าอบรมให้เต็มไปด้วยพรหมวิหาร ก็เป็นการที่ทำให้มีพรหมเต็มไปทั้งโลก
ทีนี้ทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้น ข้อนี้ก็ไม่รู้จะโทษใคร ทำกันได้แต่เพียงบางส่วน บางส่วนทำไม่ได้ เพราะว่าเจ้าตัวเขาไม่ยินดีจะเป็นเช่นนั้น หรือว่าเกิดมาเขาไม่รู้ว่ามนุษย์นี้จะไปทางไหนกัน เป็นมนุษย์คืออะไร จะไปทางไหนมันก็ไม่รู้ มันก็หลงติดอยู่แต่กับสิ่งซึ่งเป็นที่น่ารัก น่าพอใจ การบำรุงบำเรอโดยทางวัตถุ โดยทางกามารมณ์ต่าง ๆ แล้วก็ไม่อยากทำอะไรให้มากกว่านี้ ส่วนหลักพุทธศาสนาก็มีอยู่ว่าจิตนี้อบรมได้ จิตใจนี้อบรมได้ เป็นจิตใจที่สูงขึ้นไปได้ หรือว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ ถ้าในชีวิตนี้มันยังมีธรรมะน้อยไป เราก็อาจจะเติมธรรมะลงไปได้ให้มันเป็นชีวิตที่มีธรรมะสมบูรณ์ แต่ว่าโลกสมัยนี้ไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ สนใจแต่ว่าจะมีอำนาจเงิน อำนาจอาวุธ อำนาจทางการเมือง อำนาจอะไรต่าง ๆ สำหรับจะต่อสู้กัน แย่งชิงกันครองโลกมากกว่า สติปัญญาอันมากมายของมนุษย์ถูกใช้ไปทางนั้น ไม่ถูกนำมาใช้ในทางที่จะให้เกิดธรรมะขึ้นมาในโลก จนกระทั่งว่า สร้างมนุษยโลกของมนุษย์ที่แท้จริงก็ยังได้ สร้างเทวโลก โลกที่ดีกว่ามนุษย์ธรรมดาขึ้นไปอีกก็ยังได้ สร้างพรหมโลกที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์โลก ที่เรียกว่าสัตว์โลกน่ะถือว่าสัตว์พวกพรหมเป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด อยู่ด้วยความสงบอันสูงสุดที่เรียกว่า อรูปฌาน ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์อื่น คือไม่มีกามารมณ์ หรือไม่มีอารมณ์อื่นใดที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหวั่นไหว นี่พรหมโลกก็สร้างได้ ถ้าอาศัยหลักพระพุทธศาสนาแล้ว
ก็น่าจะนำไปพิจารณาดูว่า เราจะถือเอาประโยชน์ในการอบรมสั่งสอนเยาวชนนี้ให้ได้มากที่สุดเพียงไร รวมความว่าสร้างได้ทุกโลก ครูสร้างได้ทุกโลก สร้างมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกก็ยิ่งดี สร้างมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เรื่องนี้คนโบราณเขาเชื่อ ครั้งพุทธกาลในอินเดียนี่เขาเชื่อว่าสามารถจะทำให้เด็กในครรภ์นั้นน่ะปลอดภัย ฉลาดอะไรได้ โดยทำให้ถูกกับเรื่อง ก็มีพิธีบริหารครรภ์ ครรภบริหาร สวดมนต์ ให้พรกันโดยพระ โดยพราหมณ์ แล้วมารดาก็ตั้งอยู่ในศีลอุโบสถจนกว่าจะคลอดอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นการสร้างกันมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พอออกจากครรภ์ก็แวดล้อมให้ดีที่สุด ให้เกิดสัมมาทิฎฐิมากขึ้นจนไม่หลงใหลในสิ่งใด แต่เดี๋ยวนี้ตามสภาพที่เป็นจริงนั้นมันตรงกันข้าม พ่อแม่หรือคนเลี้ยงนั่นแหละ ไปสอนไปอบรมให้เด็ก ๆ หลงใหลในของสวยของงาม ของหอม ของเอร็ดอร่อย แล้วก็เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่มีใครสอนให้ลูกเด็ก ๆ สละสิ่งของที่รักที่พอใจให้แก่เพื่อน ก็เลยมีโรคเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น แล้วก็เจริญขึ้น มันก็เลยเป็นปัญหาจนกระทั่งตาย ความเห็นแก่ตัว ยึดถือว่าตัวกูของกูนี่มันก็เจริญ ๆ ๆ ๆ ถึงที่สุดจนเป็นบ้าไปเลย เป็นคนบ้าไปเลย ถึงไม่บ้า ก็มันมีความเห็นแก่ตัวชนิดที่ว่าทำอันตรายแก่บุคคลนั้นเอง และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เด็กได้รับแต่เรื่องให้ ได้รับ ได้รับอบรมแวดล้อมแต่เรื่องสวยงาม เอร็ดอร่อย เพราะความรักของบิดามารดา พอเล่นของเล่นได้ก็ซื้อของเล่นที่แพง ๆ ๆ อย่างไม่น่าซื้อให้เล่น ก็ทำให้เด็กเสียนิสัยว่าจะต้องเล่นของอย่างนั้น จนเกิดนิสัยว่ายิ่งแพงก็ยิ่งดี แล้วก็เลยนิยมเล่นของแพง กินของแพง อวดความมั่งมีของตน นี่เท่ากับว่าสร้างเด็กนั้นผิดเสียแล้ว บิดามารดา ครูบาอาจารย์ไม่ควรจะสร้างเด็กให้เกิดความยึดถือว่า ยิ่งแพงยิ่งดี เป็นต้น ให้รู้อะไรมีประโยชน์อย่างไร อะไรมีประโยชน์อย่างไร แล้วก็หามาได้ หรือใช้ หรือกินในลักษณะที่มันถูก เท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ให้มันแพงเท่าแพง เท่าที่จะทำได้
ทีนี้เป็นหนุ่มสาวก็ไม่ได้มีการอบรมบังคับตนตามหลักอาศรม ๔ พวกพรหมจารีย์ คือ ก่อนสมรสทั้งหลายนี่ เขาต้องเข้าสู่สำนักอบรมการบังคับอินทรีย์ คือ บังคับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ตกไปตามอำนาจของกิเลส คือไม่บูชากามอารมณ์นั่นเอง เป็นเวลานานพอสมควร มันก็เกิดนิสัยที่ไม่เป็นทาสของกามารมณ์ ปัญหาหมดไปเกือบสิ้น ถ้าคนไม่เป็นทาสของกามารมณ์ ปัญหาเลวร้ายต่าง ๆ อย่างที่เกิดอยู่ในบ้านเรานี้ ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวแต่ละวัน ๆ มันจะไม่มี เหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นเกิดมาจากการที่คนตกเป็นทาสของกามารมณ์ มีการฆ่าผู้อื่นบ้าง ฆ่าตัวเองตายบ้าง ฆ่าพ่อแม่บ้าง ฆ่าครอบครัวของตัวบ้าง มันเป็นผลกลับไปกลับมากันอยู่ตรงนั้น แต่มูลเหตุอันแท้จริงก็คือการที่บูชากามารมณ์เป็นพระเจ้า คนหนุ่มคนสาวควรได้รับการสั่งสอนไม่ให้เป็นเช่นนั้น ให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก ให้รู้ว่าการสมรสแต่งงานนั้นไม่ใช่เพื่อกามารมณ์ แต่เพื่อบรรเทาความยากลำบากในหน้าที่แห่งชีวิต ให้ลำบากน้อยลงสักครึ่งหนึ่ง เพราะเดี๋ยวนี้สองคนช่วยกันทำ การสมรสเป็นภรรยาสามี เพื่อช่วยกันลดความยาก ความลำบากในการที่จะเป็นมนุษย์ให้ถูกต้อง และสมบูรณ์เต็มเปี่ยม แต่ไม่มีใครคิดอย่างนี้ ดูเหมือนจะมีกามารมณ์เป็นเบื้องหน้า เลือกคุณสมบัติฝ่ายกามารมณ์เป็นเบื้องหน้า แล้วจึงค่อยเลือกอย่างอื่น ถ้าเลือกเอาคุณธรรมเป็นเบื้องหน้าแล้วความโกลาหลวุ่นวายก็จะไม่มีมากอย่างนี้ การหย่าร้างก็จะไม่มีมากอย่างนี้ นี่เรียกว่าการศึกษาในชั้นที่เป็นพรหมจารีย์
ทีนี้เมื่อเป็นพ่อบ้าน แม่เรือน มีลูก มีหลานแล้ว มันก็จะต้องรู้จักธรรมะที่มาก ที่ลึกยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ภาระมันมากขึ้น เป็นพ่อ เป็นแม่ มีลูก มีหลาน ภาระมันมากขึ้น เขาจะต้องมีความสามารถมากกว่าเมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังเป็นโสด แต่ก็มิค่อยได้รับการอบรม หรือมักจะถือกันเสียว่าพ้นสมัยแล้ว ๆ ที่จริงคนที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนนั่นน่ะ ถ้ามีโอกาสเรียกมาซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับความเป็นพ่อบ้านแม่เรือนให้บ่อย ๆ ก็จะเป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีกว่าที่กำลังเป็นอยู่ในบัดนี้ ซึ่งงมงาย หลงใหล เพ้อเจ้อ ไม่เรียบร้อย ไม่ราบรื่น ไม่สงบเย็น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอาศัยอำนาจอะไรที่จะเรียกคนพ่อบ้านแม่เรือนน่ะมาอบรมทางจิตใจ ให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีได้ ลำพังวัดนี่ก็ ๆ ทำไม่ได้ เดี๋ยวนี้คนเกือบจะไม่เข้าวัด ถ้ายิ่งไปอบรมอย่างนั้นเข้าอีก เขาก็จะรำคาญ จะยิ่งไม่เข้าวัดหนักขึ้นไปอีก วัดยังจะต้องหาอะไรมาเป็นเครื่องล่อให้เพลิดเพลิน มีมหรสพในวัดอย่างนี้ มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนเข้ามาในวัด ถ้ามีขนบธรรมเนียมประเพณีอบรมกันที่บ้านนั่นแหละ ในหมู่บ้านมีสถานอบรม อบรมเรื่องการเป็นพ่อบ้านแม่บ้านที่ดี อบรมเรื่องการละกิเลส วิสัยเพศฆราวาสจะพึงละได้เท่าไร อย่างไร ก็คงจะดีกว่านี้
ทีนี้ก็มาถึงวัยที่เป็นคนแก่ คนชรา นี่เรียกว่า ใครจะเป็นผู้อบรมคนแก่ คนชรา ต้องเป็นคนที่เหนือกว่า ถ้าคนแก่คนชรามีสติปัญญาสมกับที่ได้ผ่านโลกนี้มานาน แล้วก็สามารถจะช่วยชี้แจงบอกเล่าแก่ลูกหลานนั่นแหล่ะดี กลายเป็นผู้ให้การอบรม คนแก่ชราผ่านชีวิตมามาก แล้วก็อบรมลูกหลานให้รู้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นโดยไม่ต้องไปทดลอง หรือจะทดลองก็แต่น้อย คนแก่ก็มีประโยชน์กลายเป็นผู้อบรมลูกหลาน ส่วนคนแก่ที่จะหาทางก้าวหน้าเจริญต่อไปก็อาศัยพระธรรม อาศัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลักสำหรับดำเนินต่อไป ก็คงจะสำเร็จประโยชน์ได้ นี่ถ้าเรามีหลักการที่จะสร้างโลกกันในลักษณะอย่างนี้แล้วก็ โลกนี้จะดีกว่านี้ จะน่าดูกว่านี้ หรือจะไม่วินาศเร็ว ๆ ๆ อย่างนี้ เมื่อพูดถึงครู ก็ต้องนึกถึงครูคนแรก คือ บิดามารดา แล้วครูต่อมา แล้วครูยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วยังมีครูที่มิใช่ในโรงเรียน เป็นครูที่เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ที่อยู่วัดวาอาราม เป็นครูในด้านจิตด้านวิญญาณ ทุกระดับมีความเข้าใจถูกต้องกันดี ร่วมมือกันดี ก็จะสามารถพามนุษย์ทั้งโลกนี่ไปในทางสูงได้ เหนือปัญหาและเหนือความทุกข์ได้จริง นี่คำว่า ผู้สร้างโลก คือ อย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงคำที่ว่า ระบบธรรมชีวี ถ้าเราให้หัวข้อธรรมชีวีกับครูผู้สร้างโลกนี่ ธรรมชีวีมีรายละเอียดดังที่ได้บรรยายมาแล้วในครั้งที่ ๓ ของการบรรยายชุดนี้ ผู้ที่ได้ฟังมาแล้ว ก็ทบทวนได้ แต่โดยใจความสำหรับผู้ยังที่ไม่เคยฟัง ก็จะบอกว่าโดยใจความนั้น ธรรมชีวี แปลว่ามีธรรมะเป็นชีวิต หรือมีเนื้อมีตัวเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ชีวิตนี้เติมธรรมะลงไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะเต็ม อย่าท้อถอย อย่าชะงัก อย่าลังเลในการที่จะเติมธรรมะลงไปในชีวิต ให้เต็มไปด้วยธรรมะ คนนั้นก็จะพลอยได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่เต็ม มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ทั้งเนื้อทั้งตัวประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะคืออะไรโดยใจความ ธรรมะคือหน้าที่เพื่อความดับทุกข์ นี่ก็บอกกันหลายหนแล้วว่า ธรรมะคำนี้ภาษาอินเดียโบราณนู้น แปลว่าหน้าที่ การที่จะแปลคำนี้ว่าธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมันไม่มีเหตุผล มันอยู่ในวงแคบ เพราะคำว่าธรรมะ ธรรมะ นี้เขาใช้พูดกันมาแล้วก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก่อนพระพุทธศาสนาเกิด เขาก็มีคำว่าธรรมะ ธรรมะใช้พูดจากันอยู่แล้ว เขาหมายถึงหน้าที่ ผู้ที่มีปัญญาคนแรก เมื่อพ้น เมื่อมนุษย์พ้นจากความเป็นคนป่ามาพอสมควรแล้ว มีฉลาดมากแล้ว ก็ได้สังเกตเห็นสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ ก็คือหน้าที่ ๆ นั่นเอง นับตั้งแต่หน้าที่ทำนา ทำสวน ล่าสัตว์ ประดิษฐ์ของใช้สิ่งของ สร้างบ้าน สร้างเรือน หาอาหารกิน บำบัดโรค นี่รู้จักหน้าที่ในชั้นนี้ก่อน คือหน้าที่ที่จะแก้ปัญหาทางฝ่ายร่างกายก่อน เขาเรียกว่าธรรมะ เขาแข่งขันกันสอน คนนี้สอนได้มากกว่าลึกกว่า ก็มีคนนับถือยิ่ง ๆ ขึ้นไป ใช้คำว่าธรรมะในความหมายเป็นหน้าที่นี่สอนกันมาเรื่อย จนกระทั่งถึงยุคพุทธกาล ก็มีการใช้คำว่าธรรมะนี่อยู่ในวงแห่งการสอน แต่เรียกว่า ธรรมะ แต่เนื้อนั้น แต่เนื้อหานั้นเป็นหน้าที่ อย่างพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็สอนธรรมะ แต่หน้าที่นั้นสูงขึ้นไปจนถึงกับว่าอยู่เหนืออำนาจของกิเลสพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ศาสดาอื่นที่เป็นคู่แข่งขันกันกับพระพุทธเจ้าเขาก็สอนธรรมะเรียกธรรมะเหมือนกันหมด ไม่ว่าในลัทธิศาสนาไหน คนก็เลือกเอา ชอบธรรมะของใคร ชอบธรรมะของพระสมณโคดม หรือชอบธรรมะของนิครนถ์ นาฏบุตร ยังมีอีกอย่างน้อยต้อง ๖ ศาสดาโน่น ที่ล้วนแต่สอนธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ คำศัพท์ ศัพท์นี้มาจาก(นาทีที่48.20)ธร ธร นี้แปลว่าทรงเข้าไว้ ทรง ทรงไว้ไม่ตกต่ำ ฉะนั้นธรรมะก็คือสิ่งที่ทรงไว้ไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ แล้วนั่นแหละคือหน้าที่ ทุกคนมีหน้าที่ ๆ จะต้องประพฤติธรรมะ คือการดำรงตน หรือทรงตนไว้ไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ ธรรมะแปลว่าหน้าที่เพื่อความดับทุกข์ เพื่อดำรงตนไว้อยู่เหนือความทุกข์ เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง นี่คำว่าธรรมะในความหมายกลางทั่วไปในประเทศอินเดีย นับตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์มาทีเดียว เมื่อคำพูดคำนี้เกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก มันมีความหมายว่า หน้าที่
ทีนี้ในพุทธศาสนานี้ บางทีใช้คำอื่นก็ได้ เช่น คำว่าพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือเพื่อดับทุกข์ ดังนั้นการประพฤติใด ๆ ระบบไหนถ้าเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ก็เรียกว่าธรรมะได้ แต่ต้องไม่ลืมความหมายว่ามันหมายถึงหน้าที่ ๆ ธรรมะคือหน้าที่เพื่อการดับทุกข์ ที่ต้องสอนกันนั้นก็คือว่ามันทำหน้าที่ผิด ๆ มันเข้าใจผิด มันหลงผิด มันก็เลยทำหน้าที่ผิด ๆ เหมือนที่กระทำกันอยู่ ทางด้านหนึ่งก็งมงายกลายเป็นไสยศาสตร์ขึ้นมา คำสอนเรื่องหน้าที่นี่กลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ขึ้นมา ทำไปในลักษณะที่ไม่ต้อง ไม่อาศัยเหตุผล ไม่ต้องการพิสูจน์ ไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ ขอแต่ให้เชื่อตามบทบัญญัติที่กล่าวไว้ ก็เลยกลายไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของขลังของศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้น แต่ง่ายดี เพราะว่ามันเพียงแต่ทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอน เป็นต้น มันก็สำเร็จประโยชน์แล้ว ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากเหมือนกับว่าจะปฏิบัติธรรมะด้วยกาย วาจา ใจ ทีนี้เรื่องไสยศาสตร์มันก็เลยมีขึ้นมาแข่งกันกับธรรมะ หรือจะเรียกว่ามันมาเป็นหน้าที่ทางลัด เหมือนกับที่ว่ารวยลัด เรียนลัด อาศัยวิธีไสยศาสตร์ตามที่กล่าวกันไว้แล้วก็รวยลัด ได้รับประโยชน์โดยรวบรัด รวดเร็ว แล้วก็ลงทุนน้อย อย่างที่เดี๋ยวนี้มันก็ยังมีอยู่มาก ไสยศาสตร์ในโลกนี้ เพราะว่าคนที่มีปัญญาเหมาะสำหรับไสยศาตร์น่ะมันยังมีอยู่
เอ้า, ทีนี้ดูให้ติดต่อกันไปว่า ธรรมะ คือหน้าที่ หน้าที่เพื่อความดับทุกข์ ความดับทุกข์นั้นคือการประพฤติถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือจะแจกออกไปเป็นทางวัตถุ ทางร่างกาย ทางการพูดจา ทางจิต ทางวิญญาณก็ได้ เรียกรวบรัดก็ว่ากาย วาจา ใจ แต่ว่าทางกายนั้นน่ะมันยังหมายถึงวัตถุล้วน ๆ ที่ไม่ได้มีชีวิต เช่น เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านในเรือนนี่มันก็เป็นวัตถุ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องมีความถูกต้องด้วย ทีนี้ทางร่างกาย ร่างกาย หรือการบริหารร่างกายก็ถูกต้องด้วย ทางวาจา การพูดจาซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการสังคม มันก็ต้องถูกต้องด้วย มิฉะนั้นมันเกิดเรื่องเลวร้ายอย่างที่ไม่น่าเกิด ทีนี้ทางจิต ก็คืออบรมจิต ให้จิตมีสมรรถภาพเต็มที่ที่มันควรจะมี จะไปใช้ในทางไหนก็ได้ จะใช้ทางคิดค้นก็ได้ ใช้ทางการงานก็ได้ แม้แต่ใช้ในทางฤทธิเดชปาฏิหาริย์ก็ยังได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย ทำจิตให้เป็นจิตที่มีคุณสมบัติเต็มที่ ตามที่ธรรมชาติกำหนดให้ และก็ตามวิธีที่ได้ค้นพบตามกฎของธรรมชาตินั่นอีก ทีนี้ก็ถูกต้องทางวิญญาณ ถูกต้องทางวิญญาณ คือ ทางสติปัญญา คนมีจิตดี มีสมาธิ มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์จะเป็นมิจฉาทิฎฐิก็ได้ มันคนละเรื่องกัน เรื่องของจิตกับเรื่องของสติปัญญา เป็นคนละเรื่องกัน ในที่สุดก็ถูกต้องหมด ถูกต้องทั้งทางวัตถุ ถูกต้องทั้งทางร่างกาย ถูกต้องทั้งทางการพูดจา ถูกต้องทั้งจิต หรือระบบจิต แล้วก็ถูกต้องอันสุดท้าย ทางสติปัญญา นี่เรียกว่าความถูกต้อง ซึ่งจะเรียกว่าหน้าที่ ๆ นั้นคือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง อย่างอันธพาลจะว่าเอา ข้าพเจ้ามีหน้าที่ปล้นจี้ขโมยแล้วก็จะทำหน้าที่อย่างนี้ นั้นมันคนละเรื่อง ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ก็คือไม่เป็นอันตรายแก่ฝ่ายใด มีแต่ให้เกิดประโยชน์คุณแก่ทุกฝ่าย อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าถูกต้อง นี่ก็ดูอีกนิดหนึ่งก็เห็นได้ทันทีว่า ธรรมะ หรือหน้าที่นั้นคือสิ่งที่ คือสิ่งซึ่งสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ธรรมะ หรือหน้าที่ คือสิ่งที่จะต้องทำสำหรับสิ่งที่มีชีวิต ถ้าไม่มีชีวิตมันก็ไม่มีเป็นตายอะไร มันไม่มีธรรมะอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์อะไรนัก แต่ถ้ามันมีชีวิตนี่มันต้องประพฤติถูกต้อง เพื่อความรอด ทีนี้ความรอดมีอยู่ ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ รอดชีวิต หรือว่ารอดปัญหาทางกาย แต่ว่ารอดชีวิตไม่มีปัญหาทางกาย แต่จิตเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ได้ มีกิเลสหนาแน่นก็ได้ เลยต้องหาความรอดในทางจิตทางวิญญาณอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นความรอดจึงมีอยู่ ๒ ชั้น รอดชีวิต เพราะปฏิบัติต่อชีวิตอย่างถูกต้อง รอดจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะทำลายกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เสียได้
เดี๋ยวนี้คนสนใจกันแต่เรื่องความรอดทางกาย ไม่สนใจเรื่องความรอดทางจิตทางวิญญาณ ทีนี้ความรอดทางกายนี้ก็เตลิดเปิดเปิง ไปเป็นจนเป็นความฟุ้งเฟื้อเหลือเฟือทางกาย ไม่ได้บำรุงร่างกายแต่พอเหมาะพอดี มันจึงเกิดคำพูดว่ากินดีอยู่ดีขึ้นมาแทนคำพูดที่เคยพูดว่ากินอยู่แต่พอดี ถ้าตามหลักพระพุทธศาสนา จะสอนมากเรื่องความพอดี ๆ กินอยู่แต่พอดี เดี๋ยวนี้เกิดคำว่ากินดีอยู่ดีซึ่งไม่มีขีดขั้นข้างบนน่ะกินดีอยู่ดีเท่าไรก็ตามใจน่ะ มันเลยเกินพอดี ก็เลยแข่งขันกันแต่ในเรื่องอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็เลยเต็มไปด้วยปัญหา ผู้ที่มีปัญญาก็ฉวยโอกาสร่ำรวย ผลิตเหยื่อของกิเลสนี้ขึ้นขาย เป็นของเหลือเฟือ เป็นของฟุ่มเฟือย เป็นของไม่จำเป็น แต่ก็ขายได้มากกว่าของจำเป็นเสียอีก เพราะว่ามันมีความยั่วยวนมาก มากขึ้นทุกวัน แทนที่จะสนใจเพียงความรอดอย่างปกตินั้น ไปสนใจไอ้ที่มันเฟ้อยิ่งไปกว่าความรอด คือ กลายเป็นการบำรุงบำเรอ มันหลงผิดไปได้ง่ายในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุ หรือร่างกาย เมื่อเป็นดังนี้เสียแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับจิตมันก็ไม่มีทาง เพราะมันถูกปิดบังมิดหมดเสียด้วยความหลง ความงมงายในทางฝ่ายวัตถุ วัตถุกำลังครองโลก หมายความว่าความลุ่มหลงในวัตถุ บูชาวัตถุ มันเป็นไปแก่กล้ายิ่งกว่าสิ่งใด ปัญหาจึงเกิดขึ้นเต็มไปหมด คือเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น มันอยากได้ หลงใหลจะได้ มันก็เกิดโลภะ ราคะ เมื่อมันไม่ได้อย่างใจ มันก็หลงใหลโกรธ คือโทสะ หรือโกธะ เมื่อมันยังไม่เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็อยู่ด้วยความสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ไม่แน่ว่าจะให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมืดมิดอยู่นั่นเอง ก็กลายเป็นโมหะ โลภะ โทสะ โมหะ มันก็มาก มากขึ้น ๆ การเป็นอยู่อย่างบูชาวัตถุ การเป็นอยู่อย่างบูชาวัตถุ หรือกามารมณ์นั้นไม่มีทางที่จะเป็นธรรมชีวี มันจะกลายเป็นกิเลสชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยกิเลส ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ แล้วก็หาความถูกต้องไม่ได้
หลักของธรรมชีวีโดยสรุปนั้นก็คือว่า มองเห็นอยู่แต่ความถูกต้อง เรารู้สึกความถูกต้องที่มีอยู่ทางวัตถุ ทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางวิญญาณ ที่เกี่ยวกับตัวเองนี้ มีความรู้สึกว่าถูกต้องอยู่ทุก ๆ อิริยาบถ และทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าพูดโดยเวลาก็เรียกว่าทุกวินาที ถ้าพูดโดยพื้นที่ก็ว่าทุกกระเบียดนิ้ว มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวอย่างนี้เรียกว่า มีความถูกต้องเป็นชีวิต ก็คือมีธรรมะเป็นชีวิต แล้วก็เป็นไปเพื่อความรอด ถ้ามันมีความผิด ก็ตรงกันข้ามเป็นอยู่ด้วยกิเลส มันก็ไม่เป็นธรรมชีวี เป็นอธรรมชีวีก็ได้ ผู้ที่จะเป็นธรรมชีวี ตรวจสอบตัวเองดูอย่างง่าย ๆ ว่ามันถูกต้องอยู่ทุกเวลาวินาที ทุกกระเบียดนิ้วด้วยสติสังเกตอยู่ว่า ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาก็มองเห็นความถูกต้อง จะไปล้างหน้า จะไปที่ห้องล้างหน้า ที่ไหนมันก็ถูกต้อง ถูกต้องตามสิ่งที่ควรทำ ถ้าไปอาบน้ำก็ถูกต้อง ไปรับประทานอาหารก็ถูกต้อง ไปทำงานก็ถูกต้อง ทำงานอยู่ก็ถูกต้อง แม้แต่หาเวลาพักสักหน่อยก็ถูกต้อง การที่จะนอนพักบ้างนั้นเป็นการถูกต้อง เพื่อให้มันมีกำลังทำงานได้ ทำงานอยู่ก็ถูกต้อง กลับมาบ้านอีกก็ถูกต้อง ถูกต้องแล้วที่จะต้องทำเช่นนั้น กระทั่งมากินอาหาร มาอาบน้ำอาบท่า ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บางคราวจะต้องทำงานพิเศษ เช่น ช่วยเขาถูบ้าน กวาดบ้าน ล้างจานบ้าง ก็ต้องทำไปด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง ไม่เสียหายอะไร ถ้าพ่อบ้านจะมาช่วยล้างจานบ้าง ก็ทำได้ด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง มันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
ทีนี้สิ่งพึงประสงค์ต่อไปก็คือความพอใจ ต้องมีความถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงมีความพอใจว่า มีความถูกต้องคือมีธรรมะนั่นเอง ธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องคือธรรมะ ความพอใจอย่างนี้ไม่มีกิเลส ไม่เป็นกิเลส เขาเรียกว่า เรียกว่าธรรมปีติ ธรรมปีติ พอใจด้วยธรรมะ ก็เลยกลายเป็นความสุข ตลอดเวลาที่รู้สึกว่าถูกต้องนั้นก็เลยมีความสุข แม้จะนั่งล้างจานอยู่ก็มีความสุขในจิตใจปรกติและเป็นสุข เพราะว่าถูกต้อง และพอใจ แต่คนกิเลสหนาทำอย่างนี้ไม่ได้ ถึงกิเลสไม่สู้หนาก็คงทำไม่ได้ มันต้องมีกิเลสน้อยพอสมควรจึงรู้สึกว่าถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจได้ทุก ๆ อิริยาบถ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้ามันเกิดผลร้ายในทางฝ่ายตรงกันข้าม เช่น การเจ็บปวดป่วยไข้ก็ดี การถูกกล่าวหาร้ายแรงโดยไม่ได้ทำผิดก็ดี เรียกว่าเป็นมันเรื่องใส่ร้าย นี่ก็ถูกต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ให้เสียเวลา มันถูกต้องแล้วที่เกิดมาในโลกนี้มันต้องประสบพบเข้ากับสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นการถูกต้องแล้วตามธรรมชาติที่มีชิวิตอยู่ในโลกนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ ก็ยินดีรับสภาพนั้น ไม่โกรธไม่เป็นทุกข์ ไม่อะไร แก้ไขกันไปตามวิธีที่ถูกต้องอีก แก้ไขสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นไปตามวิธีที่ถูกต้อง ในที่สุดมันก็ลุล่วงไปด้วยดี ความเจ็บไข้มีมาก็ถูกต้องแล้วที่มันต้องเจ็บไข้ตามธรรมชาติ ก็รับเอาเป็นบทเรียนสำหรับแก้ไขไป แก้ไขทางกาย แก้ไขทางใจ จนไอ้ความเจ็บไข้นั้นไม่มีความหมายอะไร หายก็ไม่เป็นไร ตายก็ไม่เป็นไร เพราะว่ามันเป็นของที่จะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่าต้องทำด้วยความถูกต้องจึงจะแก้ไขได้ แล้วส่วนมากมันก็หาย ถ้ามันยังไม่ถึงที่ ที่ควรที่จะตายมันก็หาย ฉะนั้นคำว่าถูกต้องนี่ขอให้ปรับปรุงให้มันมีได้จริง และก็มีได้ตลอดเวลา แล้วเราก็ไม่ขี้เกียจที่จะสังเกต การสังเกตอย่างนี้คือ การทำกัมมัฏฐานอย่างดีเลิศ ทำกัมมัฏฐานอย่างดีเลิศอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถทั้งหลับทั้งตื่น คือคอยเฝ้าดูความถูกต้อง เมื่อได้ศึกษาเรื่องความถูกต้อง เรื่องศีล เรื่องกรรมบถมาพอสมควรแล้ว มันก็รู้แล้วนี่ว่ามันถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ควบคุมให้เป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง มีโอกาสจะรู้สึกว่าถูกต้อง ถ้าผิดก็รีบทำเสียให้ถูกต้อง แก้ไขทันทีเลย เพราะว่ามันเฝ้าดูอยู่ คอยสังเกตอยู่ ก็เลยมีแต่ความถูกต้อง จนในที่สุดยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นผลของความพอใจขั้นสุดท้าย ยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหล่ะเป็นอะไร ลองคิดดู เป็นบุคคลที่หมดปัญหา เป็นบุคคลที่สูงสุด เป็นบุคคลประเภทพระอริยเจ้า เพราะมีธรรมชีวี เพราะเป็นธรรมชีวี มีธรรมอยู่กับชีวิตตลอดเวลา
ทีนี้ถ้าครูจะถือหลักอันนี้ คือ การสร้างเด็ก ๆ นี่ให้มีระบบธรรมชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง มันก็ยิ่งดี แต่ว่าครูเองต้องเป็นธรรมชีวีให้ได้เสียก่อน แล้วครูก็สอนเด็ก ชี้ชวนให้สนใจได้หรือว่าครูอธิบายจนมีความเข้าใจ แล้วครูก็ทำตนเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลธรรมชีวีนี้อยู่ตลอดเวลา ครูเป็นธรรมชีวีทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง และเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก ให้แก่ศิษย์ ครูเลยเป็นธรรมชีวีสองเท่า ส่วนหนึ่งเป็นให้แก่ตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก การสอนด้วยการทำตัวอย่างให้ดูนี้มีน้ำหนักมากกว่าการสอนด้วยปาก หรือสอนแต่ปาก เพราะผู้รับคำสอนจะได้หลักฐานประจักษ์พยานไปตั้งแต่ทีแรก เพื่อความแน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้ไม่เหลือวิสัย แล้วก็ให้ผลเป็นความสุขอันแท้จริง ความพอใจอันเป็นสุขแท้จริงนี้ได้มาโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ไม่ต้องลงทุนซื้อด้วยเงินด้วยทอง มีมาแต่การปฏิบัติถูกต้องจนรู้สึกว่า พอใจและถูกต้อง เลยเรียกว่าความสุขที่แท้จริง เมื่อทำหน้าที่ถูกต้องและพอใจ ก็ได้ความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องเสียเงินสักสตางค์หนึ่งก็ได้
ทีนี้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงกินเงินมาก กินเงินจนเงินเดือนไม่พอใช้ จนต้องคดโกงจนต้อง นั้นไม่ใช่ความสุข เป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แต่ว่าคนที่ไม่รู้ความจริงข้อนี้เห็นเป็นความสุข ดังที่อันธพาลทั้งหลายหลงบูชากามารมณ์เป็นความสุข ก็เลยประกอบกรรมอย่างอันธพาลนั้นน่ะมากมาย เต็มไปหมดในหมู่อันธพาล ทำให้คนทั้งหลายพลอยเดือดร้อนด้วย เด็กเพียงแต่ทำตามครู ทำตามครูก็พอเสียแล้ว เพียงแต่ทำตามครูก็พอเสียแล้ว ฉะนั้นครูจะต้องประพฤติให้เป็นตัวอย่างที่ดี ลูกศิษย์ทำตามครูก็กลายเป็นคนดี เลยกลายเป็นการสร้างโลกใหม่ สร้างโลกใหม่ เด็ก ๆ เป็นธรรมชีวีแล้ว คนโต ๆ ทั้งหลายก็เป็นธรรมชีวี โลกนี้ก็เป็นโลกของธรรมชีวี คือโลกแห่งบุคคลผู้มีธรรมะ เป็นชีวิตที่พูดกัน เรียกกันอีกอย่างว่าโลกพระศรีอาริยเมตไตรยนั่นน่ะ เป็นโลกของพระศรีอาริยเมตไตรย โลกที่ไม่มีปัญหา โลกที่มีแต่ความสงบเย็น โลกที่มีแต่มิตรภาพ ล้วนแต่เป็นคนประกอบไปด้วยธรรมะทั้งนั้น ประกอบไปด้วยธรรมะเสมอกันหมดจนไม่อาจจะเห็นความแตกต่าง อย่างนี้เขาเรียกว่าโลกพระศรีอาริยเมตไตรยนั้นคนเหมือนกันหมดจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร จนกว่าจะกลับมาที่บ้านที่เรือนน่ะจึงจะรู้ว่านี่ภรรยาของตน สามีของตน ลูกของตน ใครของตน ออกไปกลางถนนแล้วเหมือนกันหมดจนจำไม่ได้ เพราะอำนาจประพฤติธรรมถึงที่สุด เป็นโลกของพระศรีอาริยเมตไตรย ไอ้เรื่องของโลกชนิดนี้มีกล่าวไว้ด้วยกันทุกศาสนา ไม่เฉพาะแต่ศาสนาพุทธ แล้วก็หวังที่จะมีโลกสมัยหนึ่งยุคหนึ่งซึ่งประเสริฐวิเศษไปหมด แต่ที่จริงนั้นมันควรจะมองไปในทางที่ว่า เมื่อใดประพฤติธรรมกันทั้งหมด เมื่อนั้นก็เป็นโลกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะสร้างโลกพระศรีอาริยเมตไตรยขึ้นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าทุกคนประพฤติธรรม ถ้าทุกคนประพฤติธรรมด้วยกันทั้งหมดโลกนี้ก็กลายเป็นโลกพระศรีอาริยเมตไตรยในพริบตาเดียวเท่านั้น นี่แผนการนี้ใครกล้าจัดได้ ไม่ทราบ แต่ว่าไอ้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างนั้น ธรรมชีวีเป็นระบบที่จะทำให้โลกนี้เป็นโลกที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีแต่บุคคลที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีแต่การกระทำที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ธรรมะก็เป็นเรื่องหน้าที่ที่ช่วยให้รอด ไม่มีหน้าที่ใดจะสูงไปกว่าหน้าที่ที่ช่วยให้รอด และความรอดนั้นมีทั้งทางกาย และทั้งทางจิต ทางวิญญาณ
อยากจะย้ำอีกว่า โลกที่ประกอบไปด้วยบุคคลเป็นธรรมชีวีนั้นน่ะ มันจะเป็นโลกที่สดใส แจ่มใส เยือกเย็น ๆๆ ไปหมด โอกาสโลก คือ แผ่นดินนี้ก็ไม่ถูกทำลาย ไม่ถูกทำลายอย่างที่ทำลายกันอยู่ สัตวโลก คือ สัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตนี้ ก็จะไม่มีการเบียดเบียน มีสันติสุข มีสันติภาพ แล้วก็เป็นโลกสัตว์ที่เย็น ทีนี้สังขารโลก คือโลกแห่งการปรุงแต่ง ตามกฎของธรรมชาตินั้นก็มีแต่การปรุงแต่ทางฝ่ายดี ฝ่ายถูก ฝ่ายดับทุกข์ เป็นอันว่าสามารถที่จะสร้างโลกทั้งสามขึ้นมาได้อย่างครบถ้วน โลกแผ่นดิน สัตวโลก และสังขารโลก เพราะทุกคนหรือส่วนมากเป็นธรรมชีวี ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ก็ยังได้ เดี๋ยวนี้ในโลกมันจะไม่เป็นธรรมะชีวีเสียทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นธรรมชีวีสักหลายสิบเปอร์เซ็นต์ก็จะดี จะสงบเป็นสันติสุขได้ ถ้าเป็นธรรมชีวีกันได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ต้องพูดถึง หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ทุกชีวิตได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะได้รับ ความเป็นมนุษย์ก็ถึงความเป็นแห่งความเป็นมนุษย์ ตามความหมายที่ว่ามีจิตใจสูง ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่ขาดตกบกพร่องแต่ส่วนใด แต่เดี๋ยวนี้คนเขาก็ไม่รู้เรื่องหรือไม่สนใจว่า เกิดมานี้ต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็เลยไม่สนใจเรื่องธรรมชีวี สนใจแต่เรื่องได้แล้วก็เป็นดี แล้วเรื่องได้นั้นเป็นได้ของกิเลสทั้งนั้นเลย ไม่ใช่เป็นการได้ของ(นาทีที่1.18.28)โกธิ ปัญญา จึงบูชาศาสนาได้แล้วเป็นดี ถือศาสนาได้แล้วเป็นดี ถือศาสนาประโยชน์กันทั้งโลกก็ว่าได้
อาตมาอยากจะกล่าวอย่างนั้น แต่เดี๋ยวจะเห็นเป็นการดูหมิ่นดูถูกผู้อื่นไป เดี๋ยวนี้จะทั้งโลกเสียแล้วที่นับถือศาสนาประโยชน์ ได้แล้วก็เป็นดี การที่เราได้นั่นแหละถูกต้องและยุติธรรม ถ้าผู้อื่นได้ไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรม เป็นอันว่าครูผู้สร้างโลกได้ ครูเป็นผู้สร้างโลกได้ จะได้อย่างดียิ่งก็โดยอาศัยหลักการธรรมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว เมื่อครู หรือครูคนแรก คือ บิดามารดา แล้วครูที่โรงเรียน แล้วครูที่วัด ครูในป่า ทุก ๆ ครูเป็นธรรมชีวี สอนกุลบุตร กุลธิดาให้มีความเป็นธรรมชีวีซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วเรื่องมันก็จบแหละ หวังว่าคงจะเอาไปพิจารณาดู อย่างน้อยก็ให้มองเห็นว่าครูเป็นผู้สร้างโลกโดยแท้จริง จะเป็นครูคนแรก คือ บิดามารดา หรือครูที่โรงเรียน หรือครูที่วัด หรือว่าครูในป่าในดงในถ้ำในภูเขาที่ว่าเป็นครู ๆๆ มีส่วนที่จะสร้างโลกได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่เป็นระบบในการเรียนการสอนที่โรงเรียนนี้ เมื่อได้จัดได้ทำไปอย่างถูกต้องแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสร้างโลกได้ง่าย ได้มาก ได้เร็ว ได้ดีถึงที่สุด แล้วเราก็จะได้ร่วมมือกันทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้ เรียกว่าธรรมะครองโลก ไม่ใช่กิเลสครองโลก เพราะทุกคนมีมนุษยธรรม มีธรรมะของมนุษย์ ธรรมะก็ครองโลก กิเลสก็ไม่มีโอกาส ก็ไม่โผล่มาให้เห็น เรื่องมันก็เต็ม เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ เรียกว่าเป็นโลกที่เต็ม ที่เปี่ยม ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมะ แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาชญากรรม หรืออะไรทำนองนั้นอีกต่อไป การบรรยายครั้งนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย ให้พระคุณเจ้าทั้งหลายสวดบทพระธรรม เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจในการปฏิบัติธรรมะสืบต่อไป