แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ถาม : จะทำ พูด คิด อะไรให้ปรึกษา พระพุทธเจ้าก่อน หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เพื่อสำรวมสติ สัมปชัญญะ มาระลึกให้ครบถ้วน ว่าถูกหรือไม่ถูก ควรหรือไม่ควร จะได้กระทำให้ถูกต้องบริบูรณ์ ไม่ผิดพลาด ได้ทั้งนั้นแหละ
ผู้ถาม : เมื่อชำระร่างกาย อย่าลืมชำระล้างใจ หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า กลัวจะโง่ รู้จักแต่ร่างกายด้านเดียว ควรจะรู้จักด้านจิตใจด้วย ทำพร้อมกันไปก็ได้
ผู้ถาม : เราลุ่มหลงวัตถุ เพราะมองไม่ทะลุสัจจะ เราจะอยู่เหนือวัตถุ เมื่อมองทะลุสัจจะ สัจจะคืออะไร จะมองทะลุได้อย่างไรครับ
พุทธทาส : สัจจะคือของจริงทั่วไป ไม่ต้องมองทะลุสัจจะ มองถึงสัจจะก็พอ ควรรู้ ควรมี ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องมี ก็รู้ได้จริงก็แล้วกัน
ผู้ถาม : พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เด็กคนนั้นคิดว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นพระพุทธเจ้า เขารู้เพียงเท่านั้น เลยไม่รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริง
ผู้ถาม : ใบลานบังพระธรรม หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เขายึดถือเอาตัวใบลานว่าเป็นพระธรรม กราบ กราบ ไหว้ ไหว้ บนบานในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสีย ไม่รู้ว่าความหมายของคำที่มีอยู่ในใบลานต่างหากเป็นพระธรรม
ผู้ถาม : ลูกชาวบ้านบังพระสงฆ์ หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เอามาแทนพระสงฆ์เสีย เอาพระสงฆ์ไว้เพียงแค่คนที่บวช หรือลูกชาวบ้านที่ได้บวช ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่รู้ความหมายแท้จริงของคำว่า พระสงฆ์
ผู้ถาม : ขอทานก็เป็นเศรษฐีได้ หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เขาพอใจ อิ่มอก อิ่มใจในสิ่งที่มี ได้เต็มเปี่ยม เศรษฐีไม่ได้มีมากอย่างไร ยังหิวอยู่ ก็สู้ขอทานไม่ได้ นี่ขอทานเป็นเศรษฐี อิ่มใจกว่าเศรษฐีได้อย่างนี้
ผู้ถาม : จิตที่คิดจะให้ สบายกว่า จิตที่คิดจะเอา หมายความว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า จิตที่คิดจะให้นั้น เบา สบาย มันไม่มีกิเลส ตัณหา ส่วนจิตที่คิดจะเอานั้น มันเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา มันจึงหนัก
ผู้ถาม : กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฎิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า เป็นอยู่อย่างสันโดษ ง่ายที่สุด กินอย่างต่ำ ทำอย่างสูง แล้วก็เป็นเกลอกับธรรมชาติอย่างยิ่งด้วย
ผู้ถาม : โรงมหรสพทางวิญญาณ ของสวนโมกข์ คืออะไร และเพื่ออะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า จะได้มีสิ่งประเล้าประโลมใจ ในทางวิญญาณ คนเราขาดสิ่งประเล้าประโลมใจไม่ได้ แต่นี้เราก็เลือกเอามาให้เฉพาะสิ่งที่ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว
ผู้ถาม : โรคทางวิญญาณ คืออะไรครับ
พุทธทาส : คือ ความไม่มีสติ ปัญญา หรือมีสติ ปัญญาผิดๆ ก็มืดมน ทำอะไรผิดไปหมด ไม่สามารถจะได้รับประโยชน์จากความมีชีวิต
ผู้ถาม : สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรม ก็กำหู หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : ข้อนี้ไม่ต้องตอบ มันเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่แล้ว มีปรากฏอยู่ทั่วไปแล้ว ทำไมจะต้องให้ตอบคำถามอย่างนี้เล่า มันเอาแต่ไหว้ ไม่ประพฤติธรรมตามคำแนะนำสั่งสอน
ผู้ถาม : ที่ว่าคนทั้งโลก อยู่ในสภาพ เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : มันไม่สนใจ หรือว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องดู แล้วมันก็ไม่ดู มีสิ่งอื่นปน มากั้นอยู่ในความสนใจ
ผู้ถาม : ยึดสิ่งใด สิ่งนั้นแหละมันกัด หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า การยึดนั้น มันหนักอก หนักใจ พอยึดเข้ามันก็หนักอก หนักใจ พอหนักอก หนักใจ นั้นก็คือความทุกข์ พอยึดสิ่งใด มันก็มีหนักอก หนักใจ เพราะการยึดนั้น
ผู้ถาม : เหงื่อ คือสัญลักษณ์อย่างยิ่ง ของความมีธรรมะ หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า มันได้ทำหน้าที่ถึงขนาดที่ควรจะทำ มันแสดงว่าไม่เหลวไหล มันแสดงว่าได้ทำสิ่งที่จะช่วยตัวเองให้รอดแล้ว
ผู้ถาม : การทำงาน คือการประพฤติธรรม คืออะไรครับ
พุทธทาส : คือ กระทำสิ่งที่ช่วยให้รอด สิ่งใดช่วยให้รอด สิ่งนั้นเรียกว่า ธรรม การทำงานคือการทำสิ่งที่ช่วยให้รอด จึงเรียกว่าเป็นการประพฤติธรรม
ผู้ถาม : ความมืดสีขาว คืออะไรครับ
พุทธทาส : สีขาว เมื่อเข้าตาแล้วทำให้ไม่เห็นสิ่งอื่นใด หรือหมายความว่า ความฉลาดอย่างโง่ ฉลาดจนโง่นั่น มันปิดบังความจริงเสียทั้งหมด
ผู้ถาม : นรก สวรรค์ อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า จะสบาย หรือจะไม่สบาย มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละ เป็นต้นเหตุ ตามที่มันทำผิดหรือทำถูก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ถาม : ยิ่งทำดี ยิ่งจะมีนรกมาก หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความ สำหรับคนที่ยึดดี บ้าดี หลงดี ยิ่งดีก็ยิ่งมีหนักอก หนักใจมาก เหมือนกับความดี มาสุมกระบาลของมัน มันก็เหมือนกับมีนรก
ผู้ถาม : จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า ในขณะทำงาน ไม่ครุ่นคิดด้วยความยึดว่า ตัวกู ของกู เพื่อตัวกู เพื่อของกู แต่จิตว่าง โปร่ง เต็มไปด้วยสติปัญญา ทำด้วยถูกต้องที่สุด
ผู้ถาม : ในสุญญตา มีกรุณาเต็มสุดใจ แต่ผู้ให้และผู้รับกลับไม่มี หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า ในสุญญตานั้น ไม่มีความเห็นแก่ตน ไม่มีความเห็นแก่ตน มันก็ต้องเห็นแก่ผู้อื่น มันก็เป็นความกรุณาอยู่ในตัวมันเอง เพราะมันไม่เห็นแก่ตน ไม่เห็นแก่ตน มันไม่มีอัตตาของตน มันก็ต้องมีความกรุณา
ผู้ถาม : ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า ไปเอา หรือไปเป็น เข้าแล้ว มันเป็นความหนักทั้งนั้น ไม่ต้องไปหมายมั่น ว่าเอา หรือเป็น เพียงแต่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเรื่อยๆ ไปก็พอแล้ว
ผู้ถาม : อยู่ให้เหมือนลิ้นอยู่ในปากงู คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : เหมือนลิ้นงู อยู่ในปากงู ไม่เคยถูกเขี้ยวงู เราอยู่ในโลกสมัยนี้ เหมือนกับอยู่ระหว่างเขี้ยวของโลก ระวังอย่าให้ถูก
ผู้ถาม : ตายก่อนตาย คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า หมดความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกูเสีย หากก่อนแต่ร่างกายตาย คือ กิเลสตาย ก่อนร่างกายตาย
ผู้ถาม : เช่นนั้นเอง คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : เช่นนั้นเอง คือ เป็นไปตามกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ทุกสิ่ง ทุกแห่ง ทุกเวลา ไม่มีความเป็นอย่างอื่น อย่างนี้เรียกว่า มันเช่นนั้นเอง
ผู้ถาม : ดับไม่เหลือ คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : ดับไม่เหลือ คือ ดับไม่ให้มีเชื้อ สำหรับจะเกิดงอกงามขึ้นมาใหม่อีกต่อไป ถ้าเชื้อเหลือ มันก็งอกใหม่อีก
ผู้ถาม : นิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า กิเลสไม่ปรากฏในใจเมื่อใด ก็มีนิพพานเมื่อนั้น ที่นั่น เดี๋ยวนั้น อย่าให้มีกิเลสเกิดขึ้นในใจ ก็เป็นนิพพาน ที่นี่ และเดี๋ยวนี้
ผู้ถาม : ตายให้เป็น ตายอย่างไรครับ
พุทธทาส : คือตายอย่างไม่มีความทุกข์ ตายอย่างไม่มีใครตาย มีแต่สังขารเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ของมันเท่านั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าตายชนิดที่ไม่มีใครตาย ก็ตายให้เป็น ตายอย่างมีศีล
ผู้ถาม : ได้ให้เป็น หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : คือได้ชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ เมื่อได้ก็ไม่กัด เอามาไว้ ก็ไม่กัด ใช้กิน ใช้อะไร ก็ มันไม่กัด ได้มาอย่างนี้เรียกว่า ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ผู้ถาม : เป็นให้เป็น คือเป็นอย่างไรครับ
พุทธทาส : คือไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา เนื่องจากการเป็น เป็นนั่น เป็นนี่ เป็นโน่น นั้นก็เป็นไปโดยสมมติ อย่าให้มันมาครอบงำจิตใจ ถึงกับโง่ ไปด้วยความเป็นนั่นเอง
ผู้ถาม : เวลากินคน กินได้อย่างไรครับ
พุทธทาส : อย่างแรกก็ทำให้แก่ลงไป อย่างที่สอง มันกัดหัวใจของคนที่มีความอยากซึ่งเป็นเหตุให้ เกิดเวลา ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีเวลา พอมีความอยากก็กัดหัวใจคน
ผู้ถาม : จิต คืออะไร ครับ
พุทธทาส : จิต คือธาตุชนิดหนึ่งที่รู้สึก คิดนึกได้ แต่มันก็ต้องอาศัยวัตถุเป็นที่รองรับ จิตเป็นสิ่งที่ต้องคู่กับวัตถุ สำหรับจะรู้สึก คิด นึกอะไรได้ ในการมีชีวิต
ผู้ถาม : ที่ว่า ควบคุมเวทนาได้ ก็ควบคุมโลกได้ หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่าโลกมีอะไรทุกอย่างสารพัดอย่าง ซึ่งให้เกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เบียดเบียนจิตใจมนุษย์ให้เป็นไปตามอำนาจของเวทนา ควบคุมเวทนาได้ ก็คือควบคุมทุกอย่างได้ นั่นเอง
ผู้ถาม : ทางสายกลาง คืออย่างไรครับ
พุทธทาส : ทางสายกลาง คือไม่บวก ไม่ลบ ทางสายกลาง คือไม่บวก ไม่ลบ ไม่แห้ง ไม่เปียก หมายความว่าไม่เป็นทุกข์ทรมาน แล้วก็ไม่ปล่อยไปตามกิเลสมากเกินไป เป็นไปตามอิทัปปัจจยตา
ผู้ถาม : ทำไมจึงว่า ความจนไม่ใช่เหตุแห่งปัญหา
พุทธทาส : เพราะมีเหตุแห่งความจน ความจน ไม่ได้เป็นตัวผลโดยส่วนเดียว มันยังมีเหตุแห่งความจน หากคนจนที่ดี ก็ไม่สร้างปัญหา
ผู้ถาม : ทำไมคนจึงเกิดมาไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากันครับ
พุทธทาส : ก็เพราะเหตุปัจจัยที่แวดล้อมให้เกิด หรือเกิดมาแล้วแวดล้อมไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ดังนั้น คนเหล่านั้นจึงเกิดมาในลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เท่ากัน
ผู้ถาม : ความเกิดที่น่ากลัว คืออะไรครับ
พุทธทาส : คือความเกิดแห่งอวิชชา อุปาทาน ทำให้เกิดเป็นตัวกู เป็นของกู แล้วมันก็กัดเอาจิตใจ ความเกิดชนิดนี้น่ากลัวที่สุด
ผู้ถาม : ทำไมคนจึงกลัวการตาย มากกว่ากลัวการเกิด ครับ
พุทธทาส : ก็เพราะมันรู้จักแค่นั้น มันรู้จัก ว่าความตายน่ากลัว ความเกิดที่เป็นเหตุให้มีความตายมันไม่รู้จัก มันก็กลัวแต่ความตาย มันไม่กลัวความเกิด
ผู้ถาม : ชีวิต คืออะไรครับ
พุทธทาส : ชีวิต คือ ความเป็นอยู่ หรือมีอยู่ สำหรับที่จะเป็นมนุษย์ เป็นคน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เราเรียกชีวิต ว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาดีกว่า
ผู้ถาม : ชีวิต มาจากไหนครับ
พุทธทาส : ชีวิต มาจากเหตุปัจจัยแห่งชีวิตชนิดนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นชีวิตในทางวัตถุ หรือเป็นชีวิตในทางจิต ทางวิญญาณ ตอบง่ายๆ ก็มาจากธาตุทั้งหก
ผู้ถาม : ทำไมชีวิตจึงลำบากนัก ครับ
พุทธทาส : ชีวิตเป็นสิ่งที่ลำบาก สำหรับคนที่ยึดถือเอาชีวิตเป็นของตนเท่านั้น ไม่ยึดถือเอาชีวิตเป็นของตนแล้ว ก็ไม่มีความยุ่งยากลำบากอะไร ลำบากเพราะมันโง่
ผู้ถาม : ทางของชีวิตในพุทธศาสนา คืออะไรครับ
พุทธทาส : ทางแห่งชีวิตในพุทธศาสนา คือความถูกต้องสำหรับชีวิตที่จะพัฒนาไปอย่างไร พัฒนาให้สูงขึ้นไปจนถึงความหมดกิเลส
ผู้ถาม : จุดมุ่งหมายของชีวิต ควรจะเพื่ออะไรครับ
พุทธทาส : จุดมุ่งหมายของชีวิต ควรจะเพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่ชีวิตนั้นควรจะได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาแล้วก็มีชีวิต
ผู้ถาม : ที่ว่า สมาธิใช้แก้ไขปัญหาชีวิตได้ จริงหรือครับ
พุทธทาส : สมาธิแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ แก้ได้ก็ต้องด้วยปัญญา ปัญญานั้นก็มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี แต่การแก้ปัญหาจริงๆนั้นแก้ด้วยปัญญา
ผู้ถาม : ที่ว่า ชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว หมายความว่าอะไรครับ
พุทธทาส : หมายความว่า การดำรงชีวิตนั้น มันต้องสมบูรณ์ด้วยปัญญา และด้วยกำลัง จึงเปรียบเหมือนกับควายสองตัว ตัวหนึ่งเป็นปัญญา ตัวหนึ่งเป็นกำลัง
ผู้ถาม : เหตุใดจึงเปรียบกับควาย ครับ
พุทธทาส : เพราะชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่ต้องมีอะไรลาก เหมือนกับของที่ต้องลาก หรือเป็นการลาก คือการประพฤติ กระทำ ปรุงแต่ง นั่นเอง
ผู้ถาม : จริงหรือที่ว่า ความสุขนั้นไม่มี ครับ
พุทธทาส : ความสุขมี สำหรับคนหลง ถ้าไม่หลง ก็ไม่มี เพราะว่า มันมีแต่ความไม่มีทุกข์ แม้สุข ก็เป็นของหนักแก่บุคคลผู้ยึดถือ
ผู้ถาม : แล้วจะอยู่ไปทำไมครับ
พุทธทาส : อยู่สำหรับคนที่อยากอยู่ คนทั่วไปมันก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ ส่วนผู้รู้นั้น ไม่รู้สึกว่าอยู่ หรืออยากอยู่
ผู้ถาม : งามอยู่ที่ผี คืออะไรครับ
พุทธทาส : คือ ลักษณะที่แท้จริงที่ไม่หลอกลวงใคร ลักษณะแห่งซากผีนั้น เป็นของจริงเปิดเผย ไม่หลอกลวงใครว่ามันจริงอย่างนี้ เพราะว่าผีตายแล้วมันหลอกลวงใครไม่ได้ ถึงเรียกว่างาม
ผู้ถาม : ดีอยู่ที่ละ คืออะไรครับ
พุทธทาส : ดีอยู่ที่จะได้หมดตัวตน ละไป ละไป ละไป มันก็หมดตัวตน ฉะนั้น การละนั่นแหละ เป็นเหตุให้นำไปสู่ความดับแห่งสิ่งที่ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง
ผู้ถาม : พระอยู่ที่จริง คืออะไรครับ
พุทธทาส : ประเสริฐ อยู่ที่เป็นของจริง ประเสริฐ อยู่ที่เป็นความจริง เป็นสิ่งที่อิงอาศัยได้ จึงเรียกว่า พระ คือความประเสริฐ
ผู้ถาม : นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เป็นอย่างไร ครับ
พุทธทาส : นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย คือ หมดความโง่ว่าตัวตนเสียก่อนตาย ดับความรู้สึกว่าตัวตนเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ก็เลยกลายเป็นตายก่อนตาย