แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ก็จะได้บรรยายตามหัวข้อที่กำหนดให้เป็นข้อที่สามว่า เป้าหมายของการศึกษา ข้อแรกที่สุดนั้นจะต้องรู้ว่า การศึกษาคืออะไรโดยแท้จริงเสียก่อน แล้วก็จะรู้ว่าอาจจะใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เมื่อถือเอาสิ่งนั้นเป็นเป้าหมาย คำว่าศึกษาในภาษาไทยนี่หมายถึงการเล่าเรียน คือคำว่าสิกขาในภาษาบาลี แต่เป็นการปฏิบัติ ข้อนี้ก็ควรจะสังเกตกันไว้ ถ้าศึกษาหรือสิกขาของเดิมนั้น เป็นการปฏิบัติโดยตรง คือปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เดี๋ยวนี้คำว่าศึกษาก็มาใช้เป็นการเรียนหนังสือ เรียนวิชาชีพ และก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับการปฏิบัติ สิกขาในพุทธศาสนาคือการปฏิบัติ เพื่อรับปริญญา คือสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ ผลการปฏิบัติสิกขาเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติอย่างนั้นก็เพื่อความรอดจากสิ่งอันไม่พึงปรารถนา สิ่งใดที่เป็นความทุกข์ทรมาน ความยุ่งยากลำบากแก่จิตใจก็เรียกว่าสิ่งอันไม่พึงปรารถนา แก้ไขได้ด้วยการศึกษา
ดังนั้นคำว่าศึกษาก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า ธรรม ซึ่งหมายถึงหน้าที่ การศึกษาก็กลายเป็นการทำหน้าที่ให้ถูกต้องมากกว่าอย่างอื่น เดี๋ยวนี้เอาเป็นว่าเราใช้คำว่าศึกษานี่กว้างลงมาถึงการเรียนหนังสือ แล้วก็เรียนวิชาชีพ แต่ดูจะยังขาดอยู่ที่ไม่ได้เรียนเรื่องเป็นมนุษย์กันอย่างไร ซึ่งควรจะมี และทำได้ด้วยเรื่องจริยธรรมนี่เอง ควรจะจัดให้การศึกษาครบสมบูรณ์ทั้งสามความหมาย หนึ่งเรียนหนังสือ สองเรียนอาชีพ สามเรียนความเป็นมนุษย์กันอย่างไร ตามความพอใจของอาตมา อยากจะเอาความหมายของคำว่า สิกขานี่ให้ลึกลงไปอีก ซึ่งในครั้งแรกต้องรู้ว่า คำว่าสิกขาประกอบอยู่ด้วยคำว่า สะ กับ อิกขะ, สะ กับ อิกขะ รวมกันเป็นสิกขา สำหรับคำว่า สะ นั้นมันแปลว่า เอง ตัวเอง หรือเอง ที่นี้ สะอิกขะ ก็คือการเห็นซึ่งตนเอง แล้วก็เห็นโดยตนเอง แล้วก็เห็นเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ถ้าเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นสมบูรณ์ เห็นซึ่งตนเอง มันหมายความว่าอะไร ๆ ที่มันมีปัญหารวมอยู่ในบุคคลนั้น มันจึงต้องเห็นตัวเองอย่างครบถ้วน แล้วก็ถูกต้องว่ามันเป็นอย่างไร การเห็นนี้ต้องเห็นโดยตนเอง คนอื่นเห็นแทนกันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องภายใน ที่นี้อีกคำหนึ่งก็เห็นเพื่อตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เพื่อดับทุกข์ของตนเอง เรื่องสังคมยังไม่พูด เพราะถือว่าเราพูดกันเฉพาะคำว่าสิกขา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติส่วนตัว แต่เรื่องสังคมไม่เป็นไร ถ้าทุกคนมันดีถูกต้องแล้วสังคมมันก็ดี และถูกต้องไปตาม นี่ขอให้ลองเอาไปพิจารณาดูว่า การศึกษา คือการเห็นซึ่งตนเอง และเห็นโดยตนเอง และเห็นเพื่อตนเอง การเห็นทั้งหมดนี้ด้วยมีสัมมาทิฏฐิอย่างครบถ้วนเกิดขึ้น สัมมาทิฏฐิก็มีความหมายกำกับอยู่แล้วว่า เพื่อดับทุกข์ สัมมาทิฏฐินั้นมันเพื่อดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นใด ดูในนิเทศของสัมมาทิฏฐิ ก็ว่าความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับทุกข์ ความรู้ในทางให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเราจะดูที่ไหน ดูความทุกข์ หรือเหตุให้เกิดทุกข์ จะดูที่ไหน มันก็ดูในตัวเอง ความทุกข์มันก็เกิดอยู่ในตัวเอง เหตุให้เกิดทุกข์ คือกิเลส มันก็เกิดอยู่ในตัวเอง ความดับทุกข์นั้น ที่ไหนมีความทุกข์ที่นั่นน่ะจะมีความดับทุกข์ ถ้ามันมีความทุกข์อยู่ในตัวเอง ความดับทุกข์ก็ต้องหาได้จากในตัวเอง การปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ก็ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งได้อภิปรายกันมามากแล้ว สัมมาทิฏฐินี้มีเพื่อดับทุกข์ได้ตามหลักแห่งอริยสัจสี่
ทีนี้จะดูต่อไปถึงคำว่า การศึกษาที่สมบูรณ์ ข้อนี้นักการศึกษาในโลกเขาก็พูด ๆ กันไว้ตามความคิดเห็นของตัวมากมายหลายรูปแบบ อาตมาอยากจะถือเอาแต่เพียงว่า การศึกษาที่สมบูรณ์ ก็ที่ทำความเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ การศึกษาที่สมบูรณ์ สามารถทำความเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ และก็มีหลักสามประการอย่างที่กล่าวมาแล้ว หรือสามขั้นตอนซึ่งจะกำหนดลงไปว่า การศึกษาที่สมบูรณ์ประกอบอยู่ด้วย หนึ่งความฉลาด หรือสติปัญญาในขั้นพื้นฐานพอตัว พอตัว คือพอแก่ความต้องการ สองมีความรู้เรื่องวิชาชีพ และอาชีพพอตัว จะปฏิบัติได้ ข้อสามมีมนุษยธรรม คือมีความเป็นมนุษย์อย่างถูกต้องและพอตัว มีอยู่สามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียนหนังสือ กลุ่มสองเรียนอาชีพ กลุ่มสามเรียนความเป็นมนุษย์ นี่ไม่เคยมีใครพูดหรือว่าพูดไปแล้วมันก็เป็นของแปลก แต่ที่จริงมันเป็นความจริงเช่นนั้น มันเป็นความจริงเช่นที่ว่า มีความเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ซึ่งเราจะทำได้ด้วยการสอนการอบรมสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม ที่เรากำลังพยายามจะทำหลักสูตร เพียงแต่ฉลาดพื้นฐาน มันก็ไม่พ้นจากความเห็นแก่ตัว และถ้ายิ่งฉลาดมาก ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวลึกซึ้งจนคนอื่นตามไม่ค่อยทัน คำว่าฉลาดด้วยสติปัญญานี่มันมีความหมายได้ทั้งสองทาง เพราะว่ามันฉลาดไปในทางผิดก็ได้ ยิ่งมีปัญญาก็ยิ่งเป็นโจรเป็นผู้ร้ายได้เก่ง ทีนี้ถ้าเรามีความฉลาด หรือสติปัญญาซึ่งควบคุมไว้ด้วยหลักจริยธรรม ด้วยความเป็นมนุษย์ ทีนี้อาชีพหรือวิชาชีพนั้นก็เหมือนกัน เมื่อก้มหน้าสนใจแต่วิชาชีพและอาชีพ มันก็ต้องทำอย่างเห็นแก่ตัว มันก็มีปัญหามากมายเต็มโลกเลย ปัญหาเรื่องความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น มันกำลังเป็นปัญหาเต็มโลกอยู่ การศึกษาส่วนนี้ก็จะควบคุมได้ด้วยการศึกษาจริยธรรมอีกเหมือนกัน จะเรียกว่ามนุษยธรรม ดูจะฟังชัดเจน มนุษยธรรมนั้นแปลว่า ธรรมที่ทำความเป็นมนุษย์ ธรรมะที่ทำความเป็นมนุษย์ เรียกว่ามนุษยธรรม พอตัว พอตัวนี้คือไม่ขาดไม่เกิน มีการศึกษาสามชนิด คือ เพื่อสติปัญญาพื้นฐานก็พอตัว มีวิชาชีพและอาชีพก็พอตัว มีมนุษยธรรม และความเป็นมนุษย์ก็พอตัว
เดี๋ยวนี้เราขาดอย่างที่สาม มีแต่สองอย่างข้างต้น อาตมาเคยเตือน เคยแนะว่ามันจะมีลักษณะเหมือนสุนัขหางด้วน มันไม่น่าดู ก็ปรากฏว่ามีผู้รับฟังและเอาไปวินิจฉัยกันมากเหมือนกัน ในโลกเวลานี้กำลังขาดการศึกษาอย่างที่สาม ก็แปลว่ามีลักษณะเป็นสุนัขหางด้วนกันทั้งโลก การศึกษาอย่างที่สามว่าเป็นมนุษย์กันอย่างไร ให้มีความเป็นมนุษย์ถูกต้อง และก็สูงสุดของความเป็นมนุษย์เท่าที่จะเป็นได้ ทีนี้ในโลกมันขาดการศึกษาข้อที่สามนี่ ซึ่งบางพวกไม่สนใจ บางพวกเห็นว่าไม่จำเป็น แล้วจะมาประชุมกันก็ตกลงกันไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไร หลักธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์น่ะจะเอากันอย่างไร เพราะไม่เห็นประโยชน์ ไม่สนใจนี่ การศึกษาอย่างที่สามจึงไม่มีอยู่ในระบบการศึกษา
ทีนี้มาถึงยุคนี้ โลกยุคนี้ แยกการศึกษาทางจิตทางวิญญาณนี้ออกไปจากการศึกษาเสีย แล้วให้เป็นเรื่องโลกล้วน ๆ ก็ทำตาม ๆ กันไปจนทั่วโลก แยกศาสนาออกจากระบบการศึกษาทั่วไปเสีย หรือที่เรียกกันว่า secularization คำนั้นหมายความว่า ทำให้เป็นเรื่องของชาวบ้านล้วน ๆ เป็นเรื่องชาวบ้านล้วน ๆ ไม่ให้มีธรรมะหรือเกี่ยวกับศาสนามาเจือปนอยู่เลย และเขาหวังว่าไอ้เรื่องศาสนานี่มันเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลที่อยากดี อยากประเสริฐเท่าไรก็ไปขวนขวายเอาเองเฉพาะตน ไม่จำเป็นที่จะต้องมาอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย นี่เขากำลังถือเป็นหลักกันอยู่อย่างนั้น แต่อาตมารู้สึกว่าอย่างนี้จึงบอกให้ฟัง ยิ่งแยกศาสนาออกจากการศึกษาแล้วมันก็ยิ่งไม่มีการศึกษาเรื่องมนุษยธรรม แม้คำว่ามนุษยธรรมมีใช้ในวงการศึกษา แต่ก็ไม่ได้พูดถึงธรรมที่ทำความเป็นมนุษย์ เพียงแต่ศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องมนุษย์ ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ก็เรียกมนุษยธรรม นั่นมันไม่ตรง มันต้องเรียนเรื่องว่าทำให้เป็นมนุษย์กันอย่างไร ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอย่างไร กระทั่งเป็นมนุษย์ให้สูงสุด คำว่ามนุษย์นี่ตามตัวหนังสือก็แปลว่ามีจิตใจสูง แต่เขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องจิตใจสูงจิตใจต่ำ การศึกษาทั่วไปจึงไม่ได้พูดถึงเรื่องความมีจิตใจสูงจึงจะเป็นมนุษย์ ถ้าจิตใจต่ำก็เป็นแต่เพียงคน
โลกกำลังขาดการศึกษาที่สาม คือศึกษาให้รู้ว่าเป็นมนุษย์กันอย่างไร ความเป็นมนุษย์มีแต่ความถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่เรียกว่ามนุษย์หรอก ไอ้ความเป็นมนุษย์นี่ พูดได้เลยว่าเป็นความถูกต้อง ถ้ามันไม่มีความถูกต้องมันไม่เป็นมนุษย์ คือจิตใจมันไม่สูง เดี๋ยวนี้ในโลกมีแต่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้จิตใจต่ำอยู่ด้วย ก็เลยต่ำกันใหญ่ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องคือบ่อเกิดของความถูกต้องทุก ๆ ประการ ลองสังเกตดู ถ้าเป็นมนุษย์ถูกต้อง จะทำอะไร ๆ กี่อย่าง ๆ ถูกต้องไปหมด ที่พูดว่าไอ้ความถูกต้องของความเป็นมนุษย์นั้นน่ะเป็นบ่อเกิดของความถูกต้องทุก ๆ ประการ เดี๋ยวนี้เรามีปัญหามาก ในประเทศไทย หรือในประเทศ นา ๆ ประเทศก็ตามมีปัญหา เพราะความไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาขึ้นมา เรื่องการดำรงชีพไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหาขึ้นมา การสังคมไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหาขึ้นมา การเศรษฐกิจไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหาขึ้นมา การเมืองไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหาขึ้นมา การปกครองไม่ถูกต้อง ก็มีปัญหาขึ้นมา พูดได้อย่างกำปั้นทุบดินว่า ที่มันทำให้เกิดความยุ่งยากในทางอาชีพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองอะไรก็ดี ก็เพราะมันไม่มีความถูกต้อง เรียกว่ามีแต่ผู้ที่เรียนหนังสือ กับเรียนวิชาชีพมาเท่านั้น เป็นผู้จัด เป็นผู้บันดาลให้เป็นไป มันก็ขาดความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีความเป็นมนุษย์ถูกต้อง ก็จะถูกต้องทุก ๆ ประการ
ปัญหาเรื่องนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดความถูกต้องนี้ มีอยู่ กำลังมีอยู่ในโลกอย่างรุนแรง และก็ทำให้เกิดอันตราย หรือวิกฤตการณ์ ความปั่นป่วนหาความสงบสุขไม่ได้ ขึ้นในโลก เช่นว่า คนยากจนกับคนมั่งมีทำความเข้าใจกันไม่ได้ มันขาดการศึกษาที่สาม คือความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง คนมั่งมีจึงกระทำชนิดที่คนจนทนไม่ได้ นี่ลัทธิอย่างนี้ก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดในยุคนี้ คนมั่งมีมีแผนการ มีการกระทำ มีอะไรต่าง ๆ ชนิดที่คนจนทนอยู่ไม่ได้ คนจนก็รวมกลุ่มกันลุกขึ้นต่อสู้ ระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจนหลายวิถีทางโดยตรงโดยอ้อม โดยเปิดเผย โดยเล้นลับอะไรก็ตาม ที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า ฝ่ายนายทุน กับฝ่ายชนกรรมาชีพ ใครเห็นลู่ทางว่ามันจะจบบ้าง เรื่องนี้ มันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที เดี๋ยวนี้พวกชนกรรมาชีพก็จับกลุ่มกันแน่นแฟ้น มีกำลังเพิ่มขึ้น มันก็กลายเป็นคู่แข่งขันกันกับคนมั่งมีคือนายทุน แข่งขันกันไปจนถึงกับว่าใครจะเป็นเจ้าโลก แข่งขันเพื่อเป็นเจ้าโลก ถ้าพวกนายทุนชนะ ก็จัดโลกไปตามความต้องการของนายทุน ถ้าชนกรรมาชีพชนะ ก็จัดโลกไปตามความต้องการของชนกรรมาชีพ การทำความเข้าใจกันไม่ได้นี่ ก็เพราะว่ามีความเห็นแก่ตัว และการที่จะสร้างปัญหาขึ้นเป็นฝ่ายแรก มันก็เพราะความเห็นแก่ตัว ถ้าว่าคนมั่งมี มีคุณธรรมสำหรับคนมั่งมี ที่เรียกว่าธรรมะสำหรับเศรษฐี มันก็จะไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาในโลก จะไม่มีปัญหาอย่างที่กำลังมีอยู่ในโลก ธรรมะของเศรษฐี ก็คือรักลูกน้องบริวารเหมือนลูกเหมือนหลาน ช่วยกันระดมทำการงาน เก็บกินด้วยกัน เหลือเอาไปช่วยคนจน เหลือไปช่วยคนจน ถ้ามีหลักอย่างนี้มันก็เกิดลัทธิคนจนลุกขึ้นต่อสู้ไม่ได้ ทีนี้ยังมีอีกคู่หนึ่งว่าคนฉลาดกับคนโง่ หรือคนแข็งแรงกับคนอ่อนแอ เขาพูดกันไม่ได้ พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยกลายเป็นคู่ปรปักษ์แก่กันและกัน จนมีแผนการทำร้ายทำลายล้างกัน เกิดเป็นวิกฤตการณ์อันถาวร วิกฤตการณ์นี่ก็น่ากลัวมากอยู่แล้ว กลายเป็นวิกฤตการณ์อันถาวร หมายความว่าตลอดไป เรามีความยุ่งยากลำบาก เกิดมาจากการต่อสู้ระหว่างคนสองพวกเหล่านี้
ทีนี้ก็จะพูดถึงรูปแบบของการศึกษา ที่พอจะใช้เป็นหลักได้ ว่าไอ้การศึกษาที่ครบทั้งสามอย่างนั้น มาแยกดูก็จะเห็นว่าเป็นการศึกษาในส่วนที่ละสิ่งที่ต้องละ มีปัญหาอยู่โดยตรง กับการศึกษาส่วนที่สร้างสรรค์ ก็สร้างสรรค์สิ่งที่ควรสร้างขึ้นมาโดยตรง ส่วนที่ยังไม่แน่ ยังมืดมัวสลัวก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ถ้ารับเอามาอย่างหลับหูหลับตา อย่างไม่รู้สึกตัวจนดูก็ไม่ออกว่า เพื่อละ เพื่อสร้างสรรค์อะไร ถ้าจะพูดถึงการศึกษาในรูปแบบที่เป็นการละ เป็นการละ ละให้หมดไป ละอะไรก็ตามใจ มันสำคัญอยู่ที่การละสัญชาตญาณอย่างสัตว์ คนกับสัตว์นี้มันมาด้วยกัน มีสัญชาตญาณเหมือน ๆ กัน ถ้าจะเป็นคนให้มากขึ้นจนกระทั่งเป็นมนุษย์ ต้องละสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นเสีย เช่น นักเรียนยกพวกตีกัน นี่มันก็ทำด้วยสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่อยู่กันเป็นหมู่ ๆ แล้วก็ต่อสู้กัน ระหว่างฝูงกับฝูง นี่เรียกว่าสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ซึ่งไม่มีความคิดนึกว่า ทุกคนเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายแก่กัน หรือพิธีรับน้องใหม่ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ น่าสังเวช มันก็เป็นผลของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ คือว่าถ้ามีสัตว์ตัวหนึ่งใหม่แปลกหน้าเข้ามา สัตว์ทั้งหมดก็จะเข้าไปควบคุม เข้าไปขู่ เข้าไปทำให้ยอมแพ้ ฉะนั้นผู้มาใหม่จึงถูกรังแก ถูกกระทำให้ยอมแพ้ ถ้าสู้ได้ก็สู้กันไปจนวินาศกันไป แต่โดยมากมันก็สู้ไม่ได้ เพราะนี่มันคนเดียว นั่นมันตั้งฝูง การรับน้องใหม่ พิธีรับน้องใหม่ เห็นได้ชัดว่ากระทำอย่างสัญชาตญาณอย่างสัตว์ คือจะต้องข่มผู้มาใหม่ไว้ให้อยู่ในอำนาจเสียก่อน แล้วมันก็เลยมีแผนทำพิธีรับน้องใหม่ชนิดที่ทารุณโหดร้าย เป็นตายไปก็มี นี่ไม่ละสัญชาตญาณอย่างสัตว์แล้วยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในโรงเรียน ในวิทยาลัย หรืออาจจะกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย ทีนี้การศึกษาส่วนที่สร้าง สร้างอะไรดี
การศึกษา ควรจะสร้างสถาบันที่ส่งเสริมรากฐานของมนุษยธรรม ส่งเสริมสถาบันที่ส่งเสริมรากฐานของมนุษยธรรม สถาบันบิดามารดา สถาบันครูบาอาจารย์ สถาบันพระเจ้าพระสงฆ์ สถาบันทางศาสนา เหล่านี้มีอยู่เพื่อเป็นที่ตั้งของมนุษยธรรม คือ ธรรมที่ทำความเป็นมนุษย์ที่ดีที่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง เช่น มีสถาบันบิดามารดา ทุกคนเคารพบิดามารดา ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือตามระเบียบแบบแผน เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เกิดอาการเลวร้ายขึ้นไม่ได้ในระหว่างบุตรกับบิดามารดา เดี๋ยวนี้มันถึงขนาดที่ฆ่าบิดามารดา หรือสถาบันครูบาอาจารย์ ถ้าลูกศิษย์เคารพอย่างถูกต้อง อย่างบริบูรณ์ ก็จะไม่เกิดปัญหาอย่างที่กำลังเกิดอยู่ คือว่าศิษย์ทำตัวเป็นประชาธิปไตยกับครูบาอาจารย์ จนบางแห่งก็เกิดเรื่องใหญ่โต สถาบันพระเจ้าพระสงฆ์ คำ ๆ นี้เป็นคำเก่าที่ใช้กันมา พระเจ้าพระสงฆ์ ก็คือสิ่งที่เป็นที่ยอมรับว่าสูง ว่าประเสริฐ ว่าควรรู้เรื่อง และควรปฏิบัติตาม พระเจ้าพระสงฆ์มีลักษณะเหมือนผู้นำในทางวิญญาณ จะต้องรักษาเอาไว้ให้เป็นสถาบันที่มั่นคง
คำว่าสถาบันนี้ อยากจะขอเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า สถาบันนั้นคือสิ่งที่ตั้งรากแน่นแฟ้นลงในจิตใจ เช่นความรักบิดามารดามีอยู่แน่นแฟ้นในจิตใจเต็มที่แล้ว มันก็เรียกว่ามีสถาบันบิดามารดาอยู่ในจิตใจของลูก ถ้าลูกศิษย์เคารพครูบาอาจารย์เต็มที่เต็มตามความหมายแล้ว ก็เรียกว่าสถาบันครูบาอาจารย์ หรือครูบาอาจารย์เกิดเป็นสถาบันขึ้น แล้วตั้งฝังลงไปในจิตใจของลูกศิษย์เหล่านั้นอย่างครบถ้วน ถ้าประชาชนยังให้ความสำคัญแก่คำว่าพระเจ้าพระสงฆ์ มันก็เกิดเป็นสถาบันขึ้นในจิตใจของประชาชน ทำอะไร ๆ ก็นึกถึงพระเจ้าพระสงฆ์ก่อน จะไม่กล้าทำอะไรที่น่าเกลียดต่อหน้าพระเจ้าพระสงฆ์ ความเคารพแน่นแฟ้นอย่างนี้ ก็เรียกว่ามีสถาบันของพระเจ้าพระสงฆ์ตั้งอยู่ในจิตใจของบุคคลเหล่านั้น
อาตมาจึงเพ่งเล็งถึงข้อนี้ว่า ไอ้ส่วนที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาในการศึกษา คือสถาบันที่ส่งเสริมรากฐานของมนุษยธรรม เด็ก ๆ จะได้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา นี่คือผลของการที่มีสถาบันอันถูกต้องแท้จริง ตั้งอยู่ในจิตใจของประชาชนพลเมือง นี่เป็นการศึกษาส่วนที่เป็นการสร้าง ทีนี้ส่วนที่ยังไม่แน่ ก็มีอยู่เหมือนกันไม่ใช่จะไม่มี เพราะว่าเราไม่เข้าใจ หรือรู้จักการศึกษาระบบอื่น ระบบต่างประเทศ หรือระบบอื่น ก็รับเอามาใช้อย่างไม่รู้จัก หรือบางทีก็อย่างผิดฝาผิดตัวอยู่แท้ ๆ มันน่าจะมีหลักว่าไอ้คนที่มีวัฒนธรรมต่างกัน มีพื้นเพอะไรต่างกันจะใช้การศึกษาร่วมกันนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการที่จะรับเอาระบบศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาก็ต้องดูว่าให้มันเข้ากันได้กับวัฒนธรรมของเรา ระบบชีวิตการเป็นอยู่ หรือแม้ที่สุดแต่รสนิยมในด้านวิญญาณมันจะต้องไม่ผิดฝาผิดตัว ถ้าเอาเข้ามาอย่างผิดฝาผิดตัว มันก็ไม่รู้จะเพื่ออะไรกัน ไว้เป็นพวกที่ยังไม่แน่ว่าจะเอาอย่างไรกัน ทีนี้ก็จะจัดให้มันเป็น(นาทีที่ 35:09)ลูกกรง ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา ที่พึงศึกษา เอาตามที่มีใช้กันอยู่ เรียกกันอยู่ อยากจะพูดว่าควรจะศึกษามนุษยวิทยา หรือมนุษยศาสตร์ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ศึกษาอย่างที่เขาศึกษากันอยู่ เพื่อรับปริญญาเป็นแผ่นกระดาษ
จะศึกษามานุษยวิทยา ก็ศึกษากันถึงแง่ประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา เป็นต้น ศึกษาเรื่องมนุษยศาสตร์ ก็ศึกษาแต่ประวัติศาสตร์ ไม่อาจจะเอาไอ้การศึกษาที่ทำให้คนเป็นมนุษย์มาศึกษาได้ และในที่สุดก็รับปริญญาเป็นแผ่นกระดาษ ไม่เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าปริญญา ปริญญานั้น คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ คือ ความหมดกิเลส คำว่าปริญญานี้แปลว่ารอบรู้ หรือรู้อย่างยิ่ง รอบรู้และควรรอบรู้ ไม่มีอะไรน่ารู้หรือควรรู้ หรือต้องรู้ยิ่งไปกว่าความดับทุกข์ ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะก็คือความดับทุกข์นั่นเอง ไม่มีเรื่องอะไรอื่นที่น่ารู้ยิ่งไปกว่าเรื่องนี้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสิ่งทั้งสามนี้ว่าเป็นปริญญา คือ ความสิ้นแห่งราคะ ความสิ้นแห่งโทสะ ความสิ้นแห่งโมหะ นี่เราจะต้องศึกษามนุษยธรรม เพื่อรับปริญญาของพระพุทธเจ้าให้ได้ เราศึกษากันแต่มนุษยวิทยา มนุษยศาสตร์ เพื่อรับปริญญาเป็นแผ่นกระดาษ เดี๋ยวนี้เราควรจะศึกษาเรื่องมนุษยธรรม ธรรมะที่ทำความเป็นมนุษย์ คนอื่นอาจจะใช้ในความหมายอย่างอื่น แต่อาตมาถือเอาตามตัวหนังสือโดยตรง คำว่ามนุษยธรรมแปลว่าธรรมสำหรับทำความเป็นมนุษย์ เรียนจบได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า คือสิ้นราคะ โทสะ โมหะ และดับความทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง
เดี๋ยวนี้ยังไม่มีระบบอย่างนี้หรือมีก็อย่างขอไปที คนในโลกไม่รู้เรื่องราคะ โทสะ โมหะด้วยซ้ำไป แล้วก็ไม่ต้องการจะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ เขาเห็นเป็นของผิดปกติ ชาวต่างประเทศบางคนที่เคยพบสนทนาด้วย เขาว่าการทำให้สิ้นกิเลสนั้นเป็นเรื่องผิดปกตินะ เป็น abnormal ผิดปกติ มันเหมือนกับคนบ้า หรือเหมือนกับคนที่ไว้ใจไม่ได้ นี่เรียกว่าถูกเข้าใจผิดถึงขนาดนี้ ถ้าเราจะไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง จะได้เป็นสุข กลับถูกมองไปในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งผิดปกติ คือ วิปริตนั่นเอง จึงไม่มีใครสนใจปริญญาของพระพุทธเจ้า คนตามธรรมดารู้สึกว่าไม่สนุก ผู้ฟังทุกคนช่วยตั้งข้อสังเกตตัวเองด้วย คือ การปฏิบัติเพื่อละกิเลสนั่นน่ะ มันแห้งแล้ง จืดชืด ทรมาน ไม่น่าสนุกเลย แม้ที่เล่าเรียนไปบ้างก็ไม่กล้าทำ ไม่อยากทำ สู้อยู่กันอย่างชาวโลก สำมะเลเทเมากันอย่างโชกโชนนั้นดีกว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาดู
อันสุดท้ายอยากจะให้ศึกษาสิ่งที่เคยเรียกกันว่า อัธยาตมวิทยา, อัธยาตมวิทยา เดี๋ยวนี้หายหน้าไปแล้ว หายหน้าหายตาไปแล้ว คำ ๆ นี้หายหน้าหายตาไปแล้ว เมื่อยี่สิบสามสิบปี สี่สิบปีก่อนนู้นมีพูดถึงกันมาก จะหมายความตามตัวหนังสือก็ดีมาก เป็นอธิ-อาตมา-วิทยา เป็นวิทยาสำหรับทำให้เกิดอาตมาที่สูงสุด อธิ แปลว่าอย่างยิ่ง อาตมะ แปลว่าอาตมา คือตัวตนนี่ วิทยาที่สร้างตัวตนชนิดสูงยิ่ง เป็นเรื่องทางจิตใจที่เขาพูดกันอยู่บ้างในสมัยที่ใช้คำนี้กันอยู่ ก็เป็นเรื่องทางจิตใจล้วน ๆ อบรมจิตใจล้วน ๆ มีลักษณะเหมือนกับแยกตัวออกมาเสียจากจากการเรียนหนังสือ และการเรียนวิชาชีพ ยังต้องเรียนอัธยาตมวิทยา วิชาที่จะสร้างตน ตัวตนให้เป็นของยิ่ง เป็นของสูงอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วมันก็น่าสนใจ เพราะเพียงแต่เรียนหนังสือกับวิชาชีพนี่ ตัวตนยังไม่สูงยิ่ง ยังมีความเป็นมนุษย์น้อยอยู่
ทีนี้เมื่อเธอมีความเป็นมนุษย์ถึงที่สุด ก็เรียกว่าตัวตนสูงยิ่ง เลยเรียกวิชาอันนี้ว่าอัธยาตมวิทยา หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว คงจะมีคนเคยคิดที่จะทำการศึกษาให้สมบูรณ์ทั้งสามส่วน และคงเสนอขึ้นมาไม่สำเร็จ การศึกษาสมัยปัจจุบันอยู่ใต้อำนาจการเมือง มันก็จะมาทำให้ผิดไปจากนั้นไม่ได้ ก็ยังเหลืออยู่แต่เรื่องเรียนหนังสือให้ฉลาด กับประกอบอาชีพให้เพียงพอกันทุกคน ไม่มีคนว่างงานก็พอแล้ว นี่ขอให้คิดดูว่าน่าจะปรับปรุงกันให้เข้ารูปแบบอย่างนี้หรือไม่ จะทบทวนอีกทีหนึ่ง ก็คือว่าศึกษาที่มีอยู่นั้น ที่ควรจะมี ศึกษามนุษยวิทยา มนุษยศาสตร์ เพื่อรับปริญญากระดาษเป็นเกียรติยศชื่อเสียงอยู่ในโลก ข้อสองก็ศึกษามนุษยธรรม ปฏิบัติเพื่อรับปริญญาของพระพุทธเจ้า คือ ความสิ้นราคะโทสะโมหะ และศึกษาอัธยาตมวิทยา เพื่อให้มีจิตใจสูง ถ้าว่าจิตใจมันสูงแล้วมันปลอดภัยแน่ อะไร ๆ ที่เป็นเรื่องร้ายจะทำอันตรายคนที่มีจิตใจสูงไม่ได้ ขอได้พิจารณาดู ทีนี้ก็จะเห็นได้ขึ้นมาลาง ๆ แล้วว่าเป้าหมายของการศึกษานั้นน่ะมันคืออะไร นับตั้งแต่การศึกษาในภายในจากภายในเพื่อจะประพฤติกระทำให้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง คำนี้คำเดียวก็เกือบจะพอแล้ว ถ้าทุกคนเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ ทางเอกชนก็ดี ทางสังคมก็ดี ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ก็คือมีสิ่งที่เรียกว่ากิเลส คือ ธรรมะของคนพาล น้อยกระทั่งไม่มีเลย เป้าหมายการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง และจะทำเรื่องทำมาหากินได้ ทำไร่ทำนาก็ถูกต้อง และก็ยังจะเขยิบก้าวหน้าขึ้นไปจากความเป็นมนุษย์ธรรมดาไปเป็นพระอริยเจ้ายังได้ ถ้าความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องมันมี
ทีนี้เป้าหมายของการศึกษามันบริสุทธิ์ มันสะอาด มันสูงอย่างนี้ แต่แล้วก็มีไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เรียกว่าเราไม่สามารถจะทำตามหลักการนี้ หรือหลักวิชานี้ ในที่สุดมันก็ไม่มี ทำไมเราทำตามความมุ่งหมายนี้ไม่ได้ ก็เพราะว่าเหล่าผู้จัดการศึกษานั้นน่ะเราบังคับมันไม่ได้ หรือต้องทำตามนโยบายของวงการที่มีอำนาจซึ่งอยู่เหนือ วงการที่มีอำนาจซึ่งอยู่เหนือ เขาต้องการให้จัดอย่างไรก็จัดอย่างนั้น เราก็ไม่สามารถจะบังคับคนให้หันมาสนใจไอ้เรื่องที่พิเศษถูกต้องนี้ นี่ก็เป็นข้อหนึ่ง คือ เราบังคับไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามความประสงค์ของวงการที่มีอำนาจ
ทีนี้ต่อไปก็ว่าความนิยมของมหาชน คนทั้งหมดไม่ต้องการอย่างนี้ มหาชนทั้งหลายล้วนแต่ต้องการเรื่องโลก เรื่องโลกียะ ซึ่งถือศาสนาได้แล้วก็เป็นดี ศาสนาที่สอนให้ประพฤติทางกาย วาจา ใจอย่างนั้นอย่างนี้ไม่สนใจ สนใจแต่ว่าทำอย่างไรจะได้สิ่งที่ตัวต้องการแล้วก็ดี นี่ศาสนาทุกศาสนาก็ว่าได้ จึงกำลังประสบปัญหายุ่งยาก คือ ความเจริญแผนใหม่ ที่มีของยั่วให้รักให้พอใจมันมีอำนาจมากขึ้น ๆ คนไปต้องการความสนุกสนานสะดวกสบายอย่างนั้น แทนที่จะมาปฏิบัติตามหลักของพระศาสนา ที่เขารู้สึกว่ามันน่าเบื่อหน่าย มันไม่มีรสมีชาติอะไรเลย ข้อนี้ขออย่าได้เข้าใจผิดว่า ธรรมะนี้ถ้าปฏิบัติถึงธรรมะ ถึงตัวธรรมะจริงมันมีรสมีชาติยิ่งกว่าสิ่งใด อย่างที่กล่าวว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสของธรรมะย่อมชนะรสทั้งปวง แต่เขาไม่เข้าถึงธรรมะ ก็เลยไม่รู้รสของธรรมะ เขาเข้าถึงรสของกิเลสอยู่อย่างเพลิดเพลิน ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าไอ้รสของธรรมะนั้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจความเพลิดเพลินได้เหมือนกัน แต่มันต้องกลายเป็นคนที่มีธรรมะเสียก่อนจึงจะรู้สึกในเรื่องนี้ได้
ทีนี้ข้อต่อไปก็ว่า โลกปัจจุบันนี้ถือความจำเป็นในทางการเมืองก่อนสิ่งใด ดังนั้นต้องจัดการศึกษาเพื่อรับใช้การเมือง เพื่อประโยชน์แก่การเมือง อย่างว่าระบบประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ก็ต้องจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ทีนี้ก็ทำไปอย่างหลับหูหลับตา หรือควบคุมกันไม่ได้ ก็เกิดประชาธิปไตยขึ้นในโรงเรียนหลายอย่าง เพิ่มขึ้นจนนักเรียนสไตรค์ครู สไตรค์เพื่อเรียกร้องอย่างนั้น เพื่อเรียกร้องอย่างนี้ นี่ประชาธิปไตยที่มันเลยเถิดหรือมันงมงาย เราส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างหลับหูหลับตา และผลุนผลันเกินไป ถ้าจะเพื่อรับใช้การเมือง จัดการศึกษาชนิดที่ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเลยเถิดเป็นประชาธิปไตยป่าเถื่อน
เอ้า, ทีนี้ดูให้กว้างไกลออกไปอีก การศึกษาที่ทันสมัยเรื่องอาชีพ เรื่องวิชาชีพ เรื่องความก้าวหน้าค้นคว้านี่ มันพุ่งไปหาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมกิเลสเสียหมด ความก้าวหน้าในเรื่องอวกาศ ความก้าวหน้าในเรื่องปรมาณู ในเรื่องอิเลคโทรนิค หรืออะไรที่เป็นความก้าวหน้าใหม่ ๆ มันกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมกิเลสเสียหมด เห็นได้ง่าย ๆ จากของชั้นที่เรียกกันว่าวิเศษ เช่น วิทยุนี่ ใครมันใช้ฟังธรรมะกี่คน เกือบทั้งหมดใช้ฟังเพลง ฟังละคร โทรทัศน์ก็เหมือนกัน ซึ่งแพงมาก วิเศษมากก็ถูกใช้เป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสไปเสียทั้งนั้น ยังของใช้นา ๆ ชนิดประจำบ้านเรือน ก็ถูกใช้เพื่อส่งเสริมกิเลสไปเสียทั้งนั้น และกำลังนิยมที่จะเป็นอย่างนั้น นี่ว่าการศึกษาที่จัดดีที่สุดถึงขั้นเป็นเทคโนโลยีตามสาขานั้น ๆ แล้วก็ใช้เทคโนโลยีนั้นสร้างสิ่งที่ส่งเสริมกิเลส แล้วก็อ้างว่าเพื่อสันติภาพ เพราะเขาถือหลักว่าฆ่าคนอื่นที่เป็นศัตรูให้ตายเสียหมดนั้น คือ สันติภาพ ต่างคนก็ต่างสร้างอาวุธอันร้ายแรง เพื่อจะประหารฝ่ายหนึ่งให้หมดไป และนั่นคือสันติภาพ ไม่มีความหมายว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันเลย นี่การศึกษาแห่งยุคปัจจุบันแม้จะละเอียด ประณีต สุขุมเพียงไรมันยังอยู่ใต้อำนาจวัตถุนิยม วัตถุนิยม ก็คือเอาวัตถุเป็นหลักในการที่จะศึกษาค้นคว้าพูดจาประพฤติกระทำจนได้ผล เอาวัตถุเป็นหลัก เอาวัตถุเป็นใหญ่ บูชารสที่เกิดมาจากวัตถุ ก็คือความเอร็ดอร่อย สนุกสนาน บูชารสที่เกิดมาจากวัตถุจนลืมตัวอย่างนี้จะเรียกว่า วัตถุนิยม เนื่องมาจากเอาวัตถุเป็นหลัก เอาวัตถุเป็นสิ่งสูงสุดอย่างที่มีพูดว่า วัตถุนำจิตใจอย่างนี้เป็นต้น เพราะบูชาวัตถุ ทีนี้การศึกษาที่จัดกันอยู่ในโลกนี้ มันมาเข้าแนวนี้ มาเข้าช่องที่บูชาวัตถุนิยม ทุกสิ่งมันก็เลยหมุนไปเพื่อวัตถุนิยม การเมือง การเศรษฐกิจ การปกครอง การอะไรก็ตาม มันก็มุ่งหมายให้คนได้รับประโยชน์จากวัตถุอย่างเดียว ส่วนรสของธรรมะ ธรรมะที่มีรสอย่างตรงกันข้ามนั้นน่ะ มีไว้ตามธรรมเนียม แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะเกิดการปฏิบัติอย่างเพียงพอ นี่ดูให้ดี ดูให้ดี ดูในข้อที่ว่า เดี๋ยวนี้การศึกษาก็มากมายมหาศาลกว้างขวางลึกซึ้งนะ การศึกษา ศึกษาวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้ง ศึกษามนุษยวิทยากันอย่างลึกซึ้ง ศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างลึกซึ้ง ศึกษาปรัชญากันอย่างลึกซึ้งจนได้ปริญญาเอก จนได้ปริญญาเอกนี่ แต่การศึกษานั้นมันไม่มีเข็มมุ่งไปยังความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ไม่ได้เสาะหาความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เสาะหาแต่เรื่องสำหรับจะเจริญก้าวหน้าทางวัตถุทั้งนั้น
ดังนั้นการศึกษานั้นมันก็ไม่มีผลเป็นการส่งเสริมมนุษยธรรม มนุษยธรรมก็ลดลงเท่ากับที่ไอ้การศึกษาทางวัตถุนั้นมันเพิ่มขึ้น การศึกษาทางวัตถุยิ่งก้าวหน้าเท่าไร เรื่องมนุษยธรรมทางจิตใจก็ลดลงเท่านั้น พูดได้โดยไม่กลัวผิดว่าคนสมัยโบราณสนใจเรื่องนามธรรม เรื่องจิตใจกันมากกว่า เพราะว่าวัตถุธรรมมันก็ไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้มันเป็นยุคอะไรก็ไม่รู้ มันก้าวหน้าทางวัฒนธรรมกันอย่างสุดเหวี่ยง คนก็เลยสนใจ แม้ไม่สนใจก็ต้องสนใจเพราะมันเต็มไปแต่ด้วยสิ่งเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่ยั่วยวนให้มี ให้ใช้ ให้เล่น ให้กิน ให้แล้วแต่ นี่การศึกษาที่เรามีกันอย่างใหญ่หลวงนั้นไม่ส่งเสริมมนุษยธรรมกันเลย เป็นข้าศึกแก่มนุษยธรรมอยู่อย่างลึกซึ้ง แต่ว่าการศึกษาชนิดนี้มันกลับส่งเสริมอหังการ มมังการ การศึกษาที่จัดกันอยู่ทั้งโลกเต็มโลกนี้มันส่งเสริมอหังการ คือ ตัวกู มมังการ คือ ของกู ยิ่งเรียนมากยิ่งมีตัวกูจัด ยิ่งมีของกูจัด จนกระทั่งลืมตัว คำว่าอหังการ มมังการนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ตรัสสอนในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องละ มันเป็นกิเลสที่เคยชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ฝังแน่นในสันดานในความหมายแห่งตัวกูและของกู เช่น เด็กทารกอยู่ในครรภ์ไม่มีความรู้สึกอะไร คลอดออกมาใหม่ ๆ หยก ๆ ก็ยังไม่รู้สึกอะไรที่เป็นตัวกูหรือเป็นของกู แต่ถ้าเด็กทารกนั้นโตขึ้น ๆๆ ได้รับการประคบประหงมให้เอร็ดอร่อยสนุกสนานทางตา ทางหู ทางจมูก แล้วก็มีความอยากต้องการแต่ในสิ่งที่ถูกใจนั้น มีความอยากแล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวกูเป็นผู้อยาก เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ก็เริ่มพูดคำว่ากู หรือของกูเป็นแล้ว และเป็นมากขึ้น ๆ จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ มันก็มีความรู้สึกชนิดตัวกูและของกูมากเต็มที่ มันก็ต้องเห็นแก่ตัวเป็นธรรมดา มันก็ก่อกิเลสตัวล่ำ ๆเช่น โลภะ โทสะ โมหะอะไรกันเรื่อยเลยทีเดียว โลกก็ปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะกิเลส ต้นตอ คือความเห็นแก่ตัว ทุกคนมุ่งหมายที่จะบำรุงเลี้ยงอหังการ มมังการให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ต้องการจะละ เพราะเมื่อใดกิเลสนี้เกิดขึ้น คนมันรู้สึกสนุกเป็นสุข รู้สึกเขื่อง รู้สึกเก่งอะไรขึ้นมา แต่แล้วมันเป็นไปเพื่อทำลายมนุษย์กันเอง นี่รวมความว่าการศึกษาที่เราศึกษากันอยู่อย่างมากมาย ๆๆ น่าเลื่อมใสนั้นน่ะ มันกลายเป็นไม่ส่งเสริมมนุษยธรรม มันกลายเป็นส่งเสริมเรื่องของกิเลส คือ ส่งเสริมอหังการ มมังการในจิตใจของมนุษย์ให้มากขึ้น ๆ กระทั่งลืมตัว ทีนี้ก็ไม่ต้องดูแล้ว ผิดถูกอย่างไรก็ไม่ต้องดูแล้ว ให้เราชนะก็แล้วกัน ให้เราชนะก็แล้วกัน ให้เราชนะนั่นแหละคือความยุติธรรม
สรุปความว่า เราต้องจัดการศึกษาทุกอย่างให้เสริมสร้างมนุษยธรรม ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาแก่ฝ่ายใด จัดการศึกษาทุกอย่างให้เสริมสร้างมนุษยธรรม ให้สร้างเสริมมนุษยธรรม คือสร้างมนุษยธรรมขึ้นมา และเสริมมนุษยธรรมให้ก้าวหน้า ๆไป นับตั้งแต่ว่าละสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วก็มีความคิดนึกอย่างมนุษย์ ก็เป็นมนุษยธรรม ก็ส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาก็คือการพัฒนามนุษยธรรม นี่คำตอบ หัวข้อที่บรรยายนี่ว่า เรื่องเป้าหมายการศึกษา บรรยายจบแล้ว สรุปความได้ว่าเป้าหมายของการศึกษา คือการพัฒนามนุษยธรรมให้มันมาในทาง ทิศทางที่ถูกต้อง คือละอหังการ มมังการ ละความเห็นแก่ตัว กิเลสไม่อาจจะเกิด บุคคลก็จะมีสันติสุข สังคมก็จะมีสันติภาพ นี่คือเป้าหมายของการศึกษาตามความรู้สึกของอาตมา เสนอให้ท่านทั้งหลายพิจารณา เวลาหมดแล้ว การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้