แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คณะครูกล่าวเปิด : ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง พวกกระผมได้นำคณะครูอาจารย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจากหลายจังหวัด ทั้งในกรุงเทพมหานคร ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคกลางตอนบน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๘๑ คน มากราบนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ และในโอกาสนี้ก็ขอเมตตาจากท่านได้โปรดแสดงธรรมเพื่อสดับสติปัญญา และเป็นสิ่งควบคุมความประพฤติ การตั้งอยู่ในธรรมะโดยชอบของพวกกระผม เพื่อจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานทั้งหลาย เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นหลักยึดมั่นที่จะทำตัวให้ถูกต้องเหมาะสมตลอดไป กระผมขอกราบอาราธนา
เริ่มถอดความ นั่งตามสบายเถอะ นั่งขัดสมาธิก็ได้ไม่เป็นไรหรอก ที่จริงนั่งตามแบบอินเดีย ต้นตอวัฒนธรรมไทย เขานั่งขัดสมาธิชูเข่าสูงๆ ชูเข่าขึ้นมาสูงๆนี้ นั่นแหละคือเคารพแหละ คือทั่วไปในลังกาก็ยังนั่งอย่างนั้นแหละ ถ้านั่งอย่างนี้มันจะปวดเมื่อยขึ้นมาเดี๋ยวฟังไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้นั่งตามสบาย นั่งขัดสมาธิตามสบาย เดี๋ยวนี้ที่ในอินเดียก็ยังนั่งกันอย่างนี้ ชูเข่าขึ้นมาสูงแล้วขัดสมาธิ พวกแขกนั่งขัดสมาธิต่ำลงไปไม่เป็นหรอก เข่ามันสูงขึ้นมา มันเลยถืออย่างนี้เลย เราวันนี้ก็จำเป็นจะต้องนั่งตามแบบสะดวกสบาย อย่าให้ฝืน แบบไทยดีกว่าแบบแขกแต่ว่าถ้านานนักมันก็ฝืน ทีแรกคิดว่าจะพูดกันที่ลานหินโค้งกลางทราย แต่แล้วมันไม่สะดวกเพราะฝน มานั่งพื้นแข็งๆอย่างนี้ก็ต้องหาวิธีช่วยตัวเอง แล้วก็ขอให้ถือว่าตามแบบบรรพบุรุษ สมัยพระพุทธเจ้าท่านก็นั่ง ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน สงฆ์ก็ประชุมกันกลางดินกลางหญ้า เรียกว่าพระพุทธศาสนากำเนิดกลางดิน นี่มารุ่นบรรพบุรุษปู่ย่าตาทวดของเราท่านก็นั่งศาลา ไม่มีเก้าอี้อะไรทั้งนั้นแหละ คิดแต่ว่าย้อนกลับไปหาไอ้ยุคนั้นกันอีกทีก็ได้ จึงหวังว่าไอ้เรื่องการนั่งนี่คงจะไม่มีปัญหา แล้วก็จะได้สนองความประสงค์ตามที่ขอร้อง
ท่านผู้มีภาระหน้าที่ในการดำเนินการศึกษาทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมดอาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ บางทีจะขอขอบคุณด้วย เพราะว่าช่วยให้กิจกรรมของอาตมาหรือของสถานที่นี้เป็นไปตามความประสงค์ยิ่งขึ้น ที่ว่าขอแสดงความยินดีนั้น ก็คือยินดีในการได้พบปะผู้ที่มีความประสงค์และการกระทำที่ร่วมกัน ข้อนี้อยากจะขอให้นึกไว้เสมอว่า พวกครูบาอาจารย์นั้นมีความประสงค์แห่งการงานอย่างเดียวกับภิกษุสงฆ์หรือคณะสงฆ์หรือพระพุทธเจ้า คือทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชน เราก็เรียกพระพุทธเจ้ากันว่าพระบรมครู เราก็เป็นครูก็ควรจะมีสังกัดโดยทางจิตใจขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู ทรงมีพระพุทธประสงค์ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ตัวบาลีในคัมภีร์นั้นใช้คำว่า “มหาชน” ก็แปลกดีเหมือนกัน แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ พระองค์ตรัสว่าตถาคตเกิดขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ธรรมวินัยคือศาสนานี้อยู่ในโลกนี้เพื่อประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ แล้วก็เธอทั้งหลายจงสืบอายุธรรมวินัยนี้ไว้ในโลกนี้เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ นั่นแหละคือพระพุทธประสงค์ การที่เราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์มันก็ร่วมความประสงค์ ร่วมกิจการ ร่วมการกระทำ อาตมามอบกายถวายชีวิต จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพื่อสนองพระพุทธประสงค์ในการทำงานนี้ เมื่อได้พบท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงได้รู้สึกยินดีว่าได้พบกัน ในบรรดาผู้ที่มีวัตถุประสงค์และการกระทำที่กำลังกระทำอยู่นั้นเหมือนกัน จึงขอแสดงความยินดี ทีนี้ที่ขอให้พูดเรื่องอะไรบ้างนี่ก็ต้องขอโอกาสพูดตามที่จะเห็นควรของตัวเอง โดยที่ท่านทั้งหลายก็มีหน้าที่ ภาระโดยตรงในการจัดการศึกษา ดำเนินการศึกษา การศึกษานี้ก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ตรงนี้ขอแทรกหน่อยว่าคำว่าเทวดานั้น เราหมายถึงผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง มนุษย์คือมีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง เทวดาไม่รู้จักเหงื่อ มนุษย์ยังรู้จักเหงื่อ แต่ทั้งพวกที่รู้จักเหงื่อและไม่รู้จักเหงื่อยังมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งต้องแก้ด้วยการศึกษา ใช้คำๆเดียวกันร่วมกันว่า “การศึกษา” ทั้งเรื่องของเทวดาและเรื่องของมนุษย์ ทั้งเรื่องทางกาย ทางวัตถุ ทางจิตใจ ทางวิญญาณ ใช้คำว่าการศึกษาเหมือนกันหมด นี่เราเป็นผู้ที่ร่วมงานกันอย่างนี้ อาตมาก็เลยคิดว่าไอ้เรื่องที่จะพูดนี่ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่กิจการที่เราจะทำนั่นเอง ที่เราทุกคนจะทำก็เลยนึกออกว่าจะพูดเรื่อง “แง่มุมบางประการของการศึกษาที่ควรพิจารณา” หรือการศึกษาบางแง่มุม หรือบางแง่มุมที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ควรพิจารณา คำว่า “ศึกษา” นี่จะถูกกว่า จะไม่อ้างตัวเองถึงกับว่าเป็นผู้สั่งสอน แต่เรามาร่วมกันศึกษาหารือ แล้วก็จะต้องพูดด้วยเรื่องที่ไม่ซ้ำซากกับที่ทราบกันอยู่แล้ว ในลักษณะที่จะเอาเรื่องเอามะพร้าวไปขายสวนนั่นน่ะจะไม่มี แล้วก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำชนิดที่เรียกว่าล้างสมองหรืออะไรทำนองนั้น เพราะสมองเป็นสิ่งที่ใครล้างกันไม่ได้ มันมีแต่ว่าทุกคนมันจะต้องล้างของตัวเอง อาตมาก็จะกล่าวไปตามที่รู้สึกจากการสังเกตอยู่ตลอดเวลาเป็นเวลาหลายสิบปีด้วยเหมือนกัน แล้วก็จะพูดตามที่รู้สึกด้วย ขออภัยถ้าว่ามันรุนแรงไปบ้าง แล้วก็พูดในส่วนที่รู้สึกว่าพอจะพูดได้ อย่างอาตมาเป็นคนอ้วนอย่างนี้ ถ้าไปสอนเรื่องลดความอ้วนคงไม่มีใครเชื่อ แต่ถ้าว่าจะสอนเรื่องทำให้อ้วน คงจะมีหลายคนเชื่อ งั้นก็จะพูดไปตามที่ว่ามีความรู้สึกที่เคยรู้สึกมาแล้ว รวบรวมสะสมไว้แล้วว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรได้บ้าง นั่นแหละก็จะเอามาพูด เพื่องานในหน้าที่ของเราที่เรียกว่าร่วมกัน อาตมามักจะพูดเลยไปบ้างในส่วนที่เป็นอุดมคติจนคนเขาเบื่อก็มี เพราะบางทีมันเลยอุดมคติไปเสียก็มี เอาแต่ว่าอย่างไรจะมีประโยชน์ก็ชวนกันให้คิดนึกรู้สึก เก็บเอาไปใช้เป็นประโยชน์ บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องชวนง่วงนอนก็ได้ นี่ขอบอกไว้ล่วงหน้า แต่มันก็มีส่วนที่จะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ขอให้กระทำในส่วนนั้นน่ะ
ทีนี้อยากจะพูดถึงเค้าโครงของเรื่องที่จะพูด ก็บอกแล้วว่าเกี่ยวกับการศึกษา แต่มันมีอะไรบางอย่างที่อยากจะให้ทราบกันไว้ในหมู่พวกเราที่เป็นพุทธบริษัท เราคุ้นกับเรื่องธรรมะ โดยเฉพาะเรื่อง “อริยสัจ ๔ ประการ” ดังนั้นเราจึงคุ้นเคยกับหลักการหรือรูปโครงที่จะพูดอะไรไปตามเรื่องอริยสัจ ข้อนี้ก็อยากจะขอร้องว่าช่วยนำไปพิจารณาดู อาจจะเป็นประโยชน์ทั่วไปก็ได้ ที่พูดว่าตามหลักของอริยสัจ เราจะมีเค้าโครงของเรื่องเป็น ๔ เรื่อง ว่าเรื่องนั้นคืออย่างไร แล้วก็เรื่องนั้นมันมาจากอะไร แล้วก็เรื่องนั้นมันเพื่อผลอะไรต่อไป แล้วว่าจะสำเร็จได้โดยวิธีใด นี่มันเป็นแบบ เป็นรูปแบบของ logic อยู่ แต่ด้วยเหตุที่มันเป็น logic ที่ถอดมาจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ควรจะเหมาะสำหรับเรา สำหรับพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ถ้าเราจะศึกษาเรื่องอะไร เราก็ตั้งปัญหาว่าเรื่องนั้นอย่างไร เรื่องนั้นจากอะไรเนื่องมาจากอะไร แล้วเรื่องนั้นเพื่อผลข้างหน้าอะไร อย่างไร แล้วเรื่องนั้นจะสำเร็จได้โดยวิธีใด คงจะจำกันได้ง่ายๆสั้นๆว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด จะศึกษาเรื่องอะไรแม้แต่เรื่องทางวัตถุก็เถอะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องทางจิตใจ ถ้าเราตั้งปัญหาที่จะศึกษาว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใดแล้วมันจะเพียงพอ จะถึงที่สุดหรือไม่นี่ไม่ขอพูด ขอพูดแต่ว่ามันเพียงพอ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ดังนั้นอาตมาก็จะพูดเรื่องการศึกษา ถึงเรื่องการศึกษาที่อยากจะพูดน่ะโดยเค้าโครง ๔ ประการนี้ ตัวเรื่องการศึกษามันคืออะไรหรืออย่างไร แล้วมันเนื่องมาจากอะไรมันจึงเกิดการศึกษาขึ้นมาในโลก แล้วการศึกษานั้นมันเพื่อผลอะไรต่อไป แล้วการศึกษานั้นจะสำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้โดยวิธีใด เป็นอันว่าไอ้เรื่องแรกหรือประเด็นแรกที่จะพูดก็คือเรื่อง “ตัวการศึกษา” นั้นเอง อาตมาบอกแล้วว่าไม่กล้าเอามะพร้าวมาขายสวน ฉะนั้นเรื่องที่เรียนกันอยู่แล้ว เรียนกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่าการศึกษาคืออะไรนั้นไม่พูด หรือจะพูดว่าการศึกษาคืออะไรตามทรรศนะของพุทธบริษัท หรือจะเรียกว่าที่ใช้กันอยู่ในขอบเขตของพุทธบริษัทที่จะค้นหามาได้จากพระคัมภีร์ทั้งหลาย เท่าที่เห็นว่าจะไม่ซ้ำกับที่เคยทราบมาแล้ว หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ แต่ชั้นแรกที่สุดนี้จะพูดโดยกว้างๆเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่เสียสักเล็กน้อยก่อนว่าไอ้การศึกษานี่มันควรจะแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ ๒ สมัย หรือว่า ๒ เจตนารมณ์ก็ได้ คือมันมีอยู่ ๒ การศึกษาเพื่อให้ได้สิ่งที่เรากำลังขาดอยู่หรือโลกกำลังขาดอยู่ กับการศึกษาที่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เกินหรือเฟ้อ มองดูครั้งพุทธกาลถอยหลังไปอีกทางโน้นแล้วเราศึกษาเพื่อให้ได้สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตที่มันยังขาดอยู่ มันยังไม่ได้ เราก็พยายามศึกษากันเพื่อให้ได้ ขึ้นมาถึงสมัยนี้ ไอ้สิ่งจำเป็นแก่ชีวิตในระดับนั้นน่ะมันได้แล้ว แต่ความต้องการของมนุษย์ขยายออกไปในส่วนเกิน ที่เรียกว่ามันไม่จำเป็นแก่ชีวิตแหละ แล้วก็โดยไม่รู้สึกตัวด้วย การศึกษามันก็เปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปยังเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เกิน ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ต้องวินิจฉัยกันในที่นี้ แต่ขอให้ดูก็แล้วกันว่าไอ้โลกปัจจุบันนี้มุ่งหน้าไปยังปัจจัยที่เป็นส่วนเกินไม่ใช่เท่าที่จำเป็นแก่ชีวิต แล้วก็เราก็ไม่รู้สึกตัวว่าเราได้เลื่อนขึ้นมาจนถึงระดับที่ว่าเป็นอยู่ด้วยส่วนเกิน สิ่งที่มนุษย์ยุคนู้นไม่มีใช้ ไม่มีกิน ไม่มีอะไรด้วยน่ะ เดี๋ยวนี้กลายเป็นสิ่งที่ได้แล้ว แล้วก็ได้จนเกิน ขออภัยที่ยกตัวอย่างกันง่ายๆว่า ตัวอย่างว่าเดี๋ยวนี้คนในโลกนี้จะต้องกินน้ำแข็งกันวันหนึ่งกี่ล้านๆตันคิดดูสิ ปู่ย่าตายายก็ไม่เคยกิน ยิ่งยุคสมัยโน้นคนป่าด้วยแล้วก็ไม่รู้จักน้ำแข็ง ฉะนั้นความรู้ที่จะทำน้ำแข็งกินหรือจัดการเกี่ยวกับน้ำแข็งมันก็ไม่มี ปัญหามันก็ไม่มี แม้แต่เรื่องที่มันไม่น่าจะมาพูด กระดาษม้วนที่ใช้ในส้วมน่ะมันต้องผลิตขึ้นมาปีละกี่ล้านๆตันล่ะ ซึ่งครั้งกระโน้นเขาไม่ได้รู้จัก เขาไม่ได้ใช้เลยแม้แต่แผ่นเดียว เขาใช้น้ำใช้อะไรไปตามเรื่อง เดี๋ยวนี้เราต้องเสียเวลาผลิตกระดาษม้วนใช้ในห้องส้วมอย่างเดียวปีละกี่ล้านๆตัน พอไม่ได้ก็ร้องโวยวายกันหมด นี่คงจะรู้สึกอยู่แก่ใจแล้ว พอไม่มีกระดาษม้วนหรือไม่มีน้ำแข็งอะไรทีเอะอะโวยวายกันไปหมด คล้ายๆกับว่าจะตายแล้ว เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นโลกกันคนละยุค ยุคที่เรายังขาดสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต แล้วมาถึงยุคที่เรามีกันแต่ส่วนเกิน เกินกว่าความจำเป็นของชีวิต นี่เราจะให้การศึกษาชนิดไหนกันเล่า นี่ขอครูบาอาจารย์ทั้งหลายคิดดูเถอะ เรากำลังมีการศึกษาชนิดที่ช่วยให้ได้มาซึ่งส่วนขาด หรือว่าช่วยให้ได้มาซึ่งส่วนเกิน แล้วทั้งโลกนี่มันจัดการศึกษากันไปในรูปไหน ก็รู้ๆ ก็พอจะรู้กันอยู่ว่าทั้งโลกน่ะระบบการศึกษามุ่งหมายให้ไปในทางไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนขาดหรือให้ได้มาซึ่งส่วนเกิน ที่เรียกว่าการศึกษาก้าวหน้าน่ะดูจะเป็นเรื่องส่วนเกิน ไปคิดดู แล้วเขาก็วางระบบการศึกษารวมกันเป็นสากล อย่างไปเรียนเมืองนอกเมืองนา เขาจัดระบบการศึกษาของเขาเพื่อส่วนที่ยังขาดหรือส่วนที่ยังเกิน หรือตั้งปัญหาว่าเขาจัดการศึกษาเพื่อประเทศที่ยังด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่เต็มพัฒนา พวกฝรั่งเขาจัดตัวเองว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยพัฒนา เขาก็จัดการศึกษาสำหรับประเทศที่เต็มพัฒนา เมื่อเราเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาไปรับการศึกษาอย่างนั้นมามันก็ไม่ถูกฝาถูกตัว คงจะมีปัญหาเกิดขึ้น นี่เราจะต้องดูว่าเขาจะจัดการศึกษากันอย่างไร เขาจะมาวางระบบการศึกษาเพื่อประเทศด้อยพัฒนา เขาคงไม่ทำแน่ เขาคงทำเพื่อประเทศเต็มพัฒนาอย่างเขาเป็นมาตรฐาน เราจะเอามาทำกันอย่างไร นี่เราจะต้องคิดดูว่าถ้าเรามันไม่ถูกฝาถูกตัวมันอาจจะเกิดการสูญเปล่าก็ได้ แต่แล้วอาตมายังมองมากไปกว่านั้นว่าไอ้ทั้งโลกน่ะมันดูจะไม่มีหรอกประเทศที่เต็มพัฒนา มันด้อยพัฒนากันไปทั้งนั้น ถ้าไม่ทางร่างกายก็ทางจิตใจ ถ้าไม่ทางจิตใจก็ทางสติปัญญา เพราะว่าโลกนี่มันฟ้องตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันก็เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ ถ้าว่าโลกมันพัฒนาจริง ไอ้วิกฤตการณ์ทั้งหลาย ไอ้เรื่องเลวร้ายทั้งหลายที่เรากำลังอิดหนาระอาใจกันอยู่นี้มันไม่ควรจะมี เดี๋ยวนี้มันเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็สงคราม ซึ่งมีไปทั่วทุกหัวระแหงน่ะ ที่มันซ่อนอยู่ใต้ดินไม่ขึ้นมาให้เห็นก็มีอยู่มากมาย นั่นน่ะวิกฤตการณ์ของโลกรวมกันมันก็มีอยู่ เห็นชัดๆว่าทำไมการศึกษามันจึงขจัดออกไปไม่ได้ ที่เป็นเรื่องปลีกย่อยก็ดูเถอะว่าทำไมจึงต้องเพิ่มโรงเรียน ทำไมจึงต้องเพิ่มโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรคจิต ทำไมต้องเพิ่มโรงพัก ตำรวจ ทำไมต้องเพิ่มตำรวจ ทำไมต้องเพิ่มศาล เพิ่มอัยการ เพิ่มคุก เพิ่มตะราง ดูมันจะเพิ่มมากเสียกว่าเปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มพลโลก นี่ควรจะดูว่าการศึกษาพอหรือไม่พอ หรือว่าทั้งโลกมันมีพัฒนาแล้วหรือด้อยพัฒนากันอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณากันดู อาตมามองในแง่นี้แล้วนึกเอาเอง ตัดสินเอาเองอย่างอิสระว่าการศึกษามันไม่ถูกต้อง การศึกษาในโลกนี้มันยังไม่เพียงพอ ไม่อาจจะต่อสู้กับกิเลสใหม่ๆในโลกที่เกิดขึ้นเพราะความเจริญในทางวัตถุ ความเจริญทางวัตถุมันวิ่ง การศึกษานี้มันเดินหรือมันคลานมากกว่า มันก็ตามไปควบคุมไม่ทัน ฉะนั้นการศึกษามันก็อยู่นอก แล้วมันก็ไม่สามารถจะควบคุมโลก โลกมันก็อยู่นอกอำนาจการควบคุมของการศึกษา เราจึงมีโลกอย่างวิกฤตการณ์ ฉะนั้นเราจงคิดถึงข้อนี้แล้วพยายามทำให้ถูกฝาถูกตัวกันเท่าที่จะมีได้ แล้วอย่าปล่อยให้เด็กๆของเราหลงในส่วนเกินเร็วเกินไป การศึกษามันตามไม่ทัน เอากันเพียงว่าเท่าที่จำเป็นอย่างไรสำหรับมนุษย์ ก็ให้มันได้มาโดยสมบูรณ์ไม่สูญเปล่า เดี๋ยวนี้เด็กของเรากำลังถูกปล่อยปละหรือว่าถูกสนับสนุนด้วยซ้ำไปให้หลงใหลในส่วนเกิน ไม่รู้ว่าพอดีนั้นอย่างไร กินดีอยู่ดีมีความหมายอย่างไร กินอยู่แต่พอดีมีความหมายอย่างไร ขอให้ไปสังเกตดูว่าเด็กที่สร้างปัญหา เด็กนักเรียนที่สร้างปัญหาขึ้นในโรงเรียนไหนก็ตาม เป็นเด็กบูชาส่วนเกินทั้งนั้น โดยเฉพาะก็ความเกินทางวัตถุ แล้วก็ต้องเนื่องกันด้วยเรื่องกามารมณ์ซึ่งมันเป็นเรื่องเกินของเด็กๆ สรุปความว่าการศึกษาต้องพอดีกับปัญหาของคน หรือว่าเหมาะสมกับปัญหาของคน นี่เรียกว่าการศึกษามีปัญหา คือว่ามันมีอยู่ ๒ ชนิดอย่างที่กล่าวแล้วว่าศึกษาเพื่อสิ่งที่เรายังขาดอยู่ หรือว่าศึกษาเพื่อสิ่งที่มันจะเกินยิ่งๆขึ้นไป
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงตัวเรื่องของคำว่า “ศึกษา” คำว่าศึกษา ต้องให้อภัยว่าอาตมานี่เป็นคนวัด ศึกษาอย่างชาววัด ศึกษาอย่างเนื่องอยู่กับภาษาบาลี จนเกิดเป็นนิสัยในหมู่คนที่ศึกษาอย่างนี้ว่าถ้าจะพิจารณาอะไรก็จะต้องพิจารณาโดยตัวพยัญชนะหรือโดยตัวหนังสือกันก่อนเสมอไป ซึ่งอาจจะรำคาญสำหรับผู้ที่ไม่เคยชินอย่างนี้ก็ได้ ขอบอกให้ทราบว่าพวกเราในวัดนี่ พอจะพิจารณาเรื่องอะไร ก็จะหยิบเรื่องนั้นโดยคำพูดนั่นน่ะศึกษากันโดยพยัญชนะก่อน แล้วค่อยศึกษากันโดยเนื้อความหรือความหมายทีหลัง ทีนี้สำหรับคำว่า “ศึกษา” หรือ “สิกขา” แล้วแต่จะใช้รูปศัพท์สันสกฤตหรือบาลี แต่มันเป็นคำเดียวกัน ศึกษาหรือสิกขาแล้วแต่จะออกเสียงอย่างบาลีหรือสันสกฤต ตัวหนังสือยังเป็นอย่างเดียวกัน เอาตามภาษาบาลีเป็นหลักก็ว่าสิกขา สิกขา แยกได้เป็น ๓ ชนิดแหละคือมาจาก “สะ” กับ “อิกขะ” ก็ได้ มาจาก “สักกะ” กับ “อิกขะ” ก็ได้ มาจาก “สห” กับ “อิกขะ” ก็ได้ ไอ้ตัว “ส” ตัวเดียว ตัว “ส” ตัวเดียวนั้นมันเป็น “สะ” ก็ได้ “สักกะ” ก็ได้ “สห” ก็ได้ ถ้าถือว่าตัว “ส” นี่เป็น “สะ” ก็แปลว่าครบถ้วน ทีนี้ “อิกขะ” มันแปลว่าเห็น เห็นด้วยตานี่ นี้ “สะ” “อิกขะ” ก็แปลว่าเห็นอย่างครบถ้วนนี่หรือทำให้เห็นอย่างครบถ้วน นี่เรียกว่าสิกขาหรือศึกษา ถ้า “สะ” มันมาจาก “สะกะ” นี้มันแปลว่าเอง ด้วยตนเอง หรือในตัวเอง ทีนี้ “สะ” กับ “อิกขะ” รวมกันก็เป็นเห็นด้วยตนเอง ในตัวเอง โดยตนเอง หรือเห็นเอง ถ้าถือว่า “สะ” มันมาจาก “สห” มันก็แปลว่าร่วมกัน มีหลายอย่างที่ต้องทำร่วมกัน หรือศึกษาร่วมกันหลายๆอย่าง ฉะนั้นคำว่าสิกขาโดยตัวหนังสือแท้ๆที่เป็นภาษาบาลีก็จะต้องได้ความตามศัพท์ รูปศัพท์หรือรากศัพท์นั้นว่าศึกษาคือเห็นอย่างครบถ้วน คือเห็นเอง แล้วก็เห็นด้วยกัน ครบถ้วนนี่ก็ครบถ้วนตามที่มนุษย์ควรจะต้องการแหละ ถ้า “เอง” นี่ก็หมายความว่ามันต้องเอาเรื่องของตัวเองสิเป็นหลัก จะไปเอาเรื่องของคนอื่นเป็นหลักมันไม่ได้ จะให้คนอื่นศึกษาแทนมันก็ไม่ได้ มันก็ต้องศึกษาด้วยตัวเอง นี่เรามักจะไม่ค้นคว้าด้วยตนเองหรือว่าไปอาศัยการศึกษาของผู้อื่นมากเกินไปมันก็ไม่ถูก คล้ายๆว่าเป็น “สห” คือร่วมกัน ต้องปัญหาทุกเรื่องมาร่วมกัน มารวมกันสำหรับให้แก้ปัญหานั้นๆ หลายทิศทางก็ได้ หลายบุคคลก็ได้ หลายที่มาก็ต้องมาร่วมกัน ถ้าครบอย่างนี้แล้วก็จะเรียกว่าเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์โดยตัวพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ ทีนี้โดยความหมายต่อไปอีกก็จะดูกันโดยความหมายคือ “โดยอัตถะ” ภาษาบาลีก็มีอยู่คำคู่ว่าโดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ แล้วก็โดยอัตถะคือโดยความหมาย อันนี้มีมาก อันนี้มีมากซึ่งจะต้องแยกพิจารณากันไปตามลำดับ ตามที่เห็นว่าสมควร ถ้าเราจะพิจารณากันที่กิริยาอาการ เราจะพบว่าการศึกษานั้นเป็นการพัฒนาสัญชาตญาณให้กลายเป็น “ภาวิตญาณ” สัญชาตญาณคงไม่ต้องอธิบายเพราะเป็นคำชินหูแก่ท่านทั้งหลายอยู่แล้วที่มันเกิดเองเป็นได้เองตามธรรมชาติ ไอ้ภาวิตญาณนี้ถอดออกมาเองจากภาษาบาลีคือญาณหรือความรู้ที่ได้พัฒนาแล้ว “ภาวิตะ” มันแปลว่าพัฒนาแล้ว ทำให้เจริญแล้ว สัญชาตญาณน่ะเป็นธรรมชาติเกินไป บางทีก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ บางทีก็เป็นอันตราย ต้องพัฒนาให้เป็น ภาวิตญาณขึ้นมา ขอให้ช่วยจำคำนี้ไว้ด้วยเพื่อความสะดวก ว่ามันเป็นคำที่ตรงกันข้ามจากสัญชาตญาณ เป็นญาณที่ทำให้เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว ดังนั้นการศึกษาก็คือวิธีการพัฒนาสัญชาตญาณให้กลายเป็นภาวิตญาณที่ใช้ประโยชน์ได้เต็มนั่นเอง ด้วยวิธีการแล้วแต่ว่ามันจะต้องทำกันอย่างไร จะเป็นเรื่องทางวัตถุหรือทางจิตใจหรือมันก็คล้ายๆกัน มันต้องค้นคว้าในข้อแรก พอรู้เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับข้อนั้นแล้วก็ต้องลองกระทำ นี่ถ้าตามหลักธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ พอลองกระทำแล้วมันก็จะพบว่าถูกต้อง มันก็กระทำยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็มีการพิสูจน์ความถูกต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา จะเจริญกรรมฐานวิปัสสนาหรืออะไรก็ต้องใช้หลักเกณฑ์อย่างนี้ มันมีการวัดผลขั้นสุดท้ายว่ามันได้ผลตามที่เราจะต้องประสงค์ นี่ก็คือวิธีการที่จะพัฒนาจากสัญชาตญาณให้เป็นภาวิตญาณ ทีนี้ถ้าเราจะมองดูกันที่ลักษณะ ตัวลักษณะของการศึกษา จะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่จะทำให้เกิดความฉลาด แล้วรู้จักใช้ความฉลาด ความฉลาดที่ใช้ไม่ได้หรือไม่รู้จักใช้นั่นมันก็เท่ากับไม่มี เราพัฒนาความฉลาดขึ้นมาได้นี่มันก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่มันยังยากในขั้นต่อไปว่าต้องใช้ความฉลาดนั้นให้สำเร็จประโยชน์ด้วย เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศเพราะว่าใช้ความฉลาดไม่ถูกกับสันติภาพ ใช้ความฉลาดไปในทางเป็นวิกฤตการณ์เสียมากกว่า นี่จะต้องทำให้ฉลาดและรู้จักใช้ความฉลาด มันก็เพื่อหลักที่สำคัญที่สุดที่พระพุทธศาสนามีไว้ให้ ก็เรียกว่าคิดถูกต้อง พูดจาถูกต้อง กระทำถูกต้อง มรรคมีองค์ ๘ น่ะมันย่อได้เพียง ๓ คำนี้ว่ามันมีความคิดถูกต้อง มันมีการพูดจาถูกต้อง แล้วก็มีการกระทำนั้นถูกต้อง ใช้คำว่า “สัมมา” สัมมานี่คำนี้แปลยากแหละ แต่ว่าถูกต้องหรือที่เราจะเรียกในภาษาไทยธรรมดาๆว่ามันคิดเป็น แล้วมันพูดเป็น แล้วมันกระทำเป็น คำว่า “เป็น” นี้ศักดิ์สิทธิ์นะ อาตมาท้าให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ เอาสิ ฝรั่งเคยพยายามจะแปลคำว่าเป็นนี่แปลไม่ได้หรอก กินเป็น ทำเป็น อะไรเป็นนี่ คำว่าเป็นอย่างนี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ในภาษาบาลีก็เรียกว่าสัมมา สัมมา ความคิดเห็นถูกต้อง ความปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง ระลึกถูกต้อง ตั้งใจมั่นถูกต้อง ล้วนแต่มีความหมายว่ามันคิดเป็นน่ะ ๓ อันแรก และ ๒ อันแรกมันคิดเป็น ๓ อันตรง กลางมันว่าพูดเป็น ๓ อันสุดท้ายมันว่าทำเป็น จนเกิดผลเป็นนิพพาน นี่ถ้าเราดูลักษณะแล้วมันก็จะต้องฉลาด แล้วรู้จักใช้ความฉลาดจนเกิดความถูกต้อง ใน ๘ ประการนั้น สรุปแล้วเหลือเพียง ๓ ว่ามันคิดเป็น มันพูดเป็น แล้วมันทำเป็น นี้เราจะเรียกว่ามันเป็นลักษณะของการศึกษา
เอ้า, ทีนี้จะดูกันในแง่ของ “อุปมา” อันนี้ต้องขอบอกให้ทราบกันไว้ทั่วๆไปก่อนว่าอุปมานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านชอบมากที่สุด ท่านจะตรัสอะไรสักอย่างแล้วท่านจะต้องมีอุปมาให้ด้วยเสมอเพราะว่าอุปมานั้นมันจำง่ายกว่า “อุปไมย” ไอ้เนื้อเรื่องแท้ๆนั้นน่ะเป็นอุปไมยน่ะมันจำยาก ยิ่งเด็กๆน่ะจำยาก ถ้าพูดให้เป็นอุปมาเสียแล้วมันก็ง่าย ดังนั้นท่านจึงนิยมใช้อุปมากับทุกเรื่องทุกกรณีที่ท่านจะตรัสสอน นี่ก็เป็นองค์ประกอบอันหนึ่งที่เราจะต้องใช้สำหรับเพื่อศึกษาอะไร จะต้องรู้จักอุปมา อุปมาของสิ่งนั้น สิ่งนั้นจะควรอุปมาด้วยอะไรก็ว่าไป นี่ถ้าว่าการศึกษาก็จะต้องมีอุปมาพอสังเกตได้ง่ายๆตามลำดับว่ามันเหมือนกับลูกสัตว์ที่มันเกิดมาตาปิด แล้วมันค่อยๆลืมตา สัตว์โดยมากนี่มันเกิดมาตามันปิด ปิดอยู่ทั้งนั้นแหละ มันหลายวันมันจึงค่อยๆลืมตา อาการนี้แหละที่ว่าว่ามันเป็นการศึกษา ถ้ามันไม่ลืมตา ไอ้ลูกสัตว์เหล่านั้นมันจะไม่รู้อะไรได้ ฉะนั้นการศึกษาควรจะเปรียบได้กับว่าในชั้นแรกที่สุดคือการที่ลูกสัตว์มันค่อยๆลืมตา เพราะมันเกิดมาปิดตา แล้วมันก็ดู มันมีตาเปิดแล้วมันก็ดู มันจึงรู้จัก จึงมองเห็น ก็รู้จักไอ้สิ่งแวดล้อมทุกอย่างแหละ เห็นจะรู้จักสิ่งแวดล้อมทุกอย่างเลย จะรู้จักตัวเอง รู้จักชีวิต รู้จักโลก รู้จักอะไรทุกอย่างสูงขึ้นไปในทางจิตใจ นี่ก็เรียกว่ามันลืมตาดวงใน หลักธรรมะเรามีตา ๒ ดวงเสมอ คือตาธรรมดา ตาเนื้อนี่ แล้วมันก็จะต้องมีตาใน ที่เรียกว่าตาปัญญา มันต้องเปิดตาทั้ง ๒ ตาแหละ ทั้งตาเนื้อนี้กับตาปัญญา อีกทางหนึ่งมองดูในแง่ที่ว่ามันต้องทำลูกตานั้นน่ะให้แจ่มใส แม้ว่ามันมีลูกตาแต่ถ้ามันมีฝ้ามีอะไรมันก็มองไม่เห็น ฉะนั้นต้องมีการเช็ดแว่นตาให้ใสสะอาดอย่างที่เรามีน้ำยามีกระดาษเช็ดแว่นตาใสสะอาด แล้วเราจึงจะดู การทำสมาธิเหมือนกับการเช็ดแว่นตา การทำวิปัสสนาเหมือนกับการดูด้วยแว่นตาที่เช็ดสะอาดแล้ว การศึกษาของเราก็ควรจะมีอย่างนั้นแหละ กลุ่มหนึ่งภาคหนึ่งมันเป็นเหมือนกับการเช็ดแว่นตา นี่หมายความว่ามันลืมตาแล้วนะ ลูกสัตว์มันเปิดตา แล้วมันก็ทำตาให้สะอาดโดยการเช็ดแว่นตา แล้วมันจะต้องใช้ไอ้ตาที่ใช้ได้นั้นน่ะอีกทีหนึ่งดู ถ้ามันไม่ใช้ในการดูมันก็ไม่เห็นอะไร มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ล้มละลายหมด มันก็เท่ากับไม่มีตา ฉะนั้นขอให้เราพยายามใช้ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตานี่กันให้ถูกต้องตั้งแต่ว่าเปิดตา เช็ดแว่นตา แล้วก็เอาตาดู ถ้าภาษาธรรมะท่านก็จะพูดกันว่าหงายของที่คว่ำอยู่ว่ามันมีอะไร หรือว่าเปิดของที่ปิดอยู่ให้รู้ว่าใต้นั้นมันมีอะไร หรือว่าจุดตะเกียงไว้ในที่มืด ใครมีตามันก็จะได้รับประโยชน์ ถ้ามันมืดแล้วไม่ได้จุดตะเกียงไว้มันก็ไม่มีประโยชน์ นี่เราต้องจัดให้การศึกษาของเรานี่เป็นเหมือนกับว่าหงายของที่คว่ำอยู่หรือว่าเปิดของที่ปิดอยู่ หรือว่าจุดตะเกียงวางไว้ในที่มืด คนมีตามันก็จะได้เห็นได้ประโยชน์ รวมความว่าทำให้เกิดมีตาที่ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็ใช้ประโยชน์นั้นให้สำเร็จประโยชน์ นี่เรียกว่าอุปมา อุปมา อุปมาของสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา เมื่อถือเอาตามเรื่องราว ตามความหมาย ตามหลักในภาษาบาลีก็ต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อมีตา ดูต่อไปก็จะต้องดูที่วัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา เพราะว่าถ้ามีตาเราก็ต้องดูที่อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแหละตามเรื่องที่มันจะต้องดู ทีนี้พอมีตา ตาใสดีแล้ว ใช้ประโยชน์ได้แล้วก็จะต้องดูหรือส่องลงไปยังที่สิ่งที่มันจะต้องดู สิ่งแรกที่สุดก็ดูสิ่งที่แวดล้อมชีวิตอยู่ หรือว่าดูเข้าไปที่ตัวชีวิตนั้นเอง ตัวชีวิตนั้นเอง ก็ดูลึกลงไปถึงธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็ดูถึงการกระทำชนิดที่มันถูกต้องหรือสำเร็จประโยชน์ได้ เรามีตาที่ไม่ได้ดูหรือดูไม่เป็น มันก็ไม่พบไอ้การกระทำหรือวิธีกระทำชนิดที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ได้ จึงขอให้ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ทุกขั้นตอนอย่างนี้
ทีนี้อันสุดท้ายจะดูถึง “จุดมุ่งหมาย” ของการศึกษา จุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษา เมื่อพูดตามหลักธรรมะในทางพระศาสนา ก็เพื่อจะรอดจากปัญหาทุกอย่างทุกประการ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอุปสรรคเป็นอันตรายเป็นเครื่องขัดขวางอะไร ตลอดทั้งเป็นทุกข์ยากลำบากเราจะเรียกด้วยคำเพียงคำเดียวว่ามันเป็นปัญหา ความมุ่งหมายของการศึกษาก็จะเพื่อรอดเสียจากปัญหาทั้งปวง ออกมาเสียจากอำนาจของสิ่งที่เป็นปัญหา เหมือนอย่างตะกี้นี้ก็บอกแล้วว่าจะพัฒนาสัญชาตญาณอย่างสัตว์ให้มาเป็นภาวิตญาณอย่างมนุษย์ เดี๋ยวนี้การศึกษาก็เพื่อจะออกมาเสียจากสัญชาตญาณ จากอำนาจของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ มิเช่นนั้นเราก็จะทำอะไรคิดอะไรพูดอะไรอย่างสัตว์ แล้วเราจะออกมาเสียจากอำนาจของสิ่งหลอกลวงในโลก ในโลกนี้มันมีสิ่งหลอกลวง โดยเฉพาะมันมีเสน่ห์ทำให้หลง เราจะออกมาเสียจากความหลอกลวงของสิ่งที่มีเสน่ห์เพราะการศึกษานั่นเอง ถ้ามิเช่นนั้นเราจะหลงในสิ่งที่หลอกลวงเหล่านั้น เราก็จะกลายเป็นคนรับจ้างกิเลส ถ้าเป็นคำแปลกบ้างหรือเป็นอุปมาเกินไปก็ไปคิดดูก็แล้วกันว่า ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้น เราจะเป็นลูกจ้างของกิเลส แล้วแต่กิเลสมันจะใช้เราให้ทำอะไร ยิ่งกว่านั้นก็เป็นทาสของกิเลส ถ้าเป็นทาสของกิเลสแล้วมันก็สุดเหวี่ยงแล้ว มันต้องใช้คำหยาบคายว่าแล้วแต่กิเลสมันจะไสหัวเราให้ไปทำอะไร นี่มันก็หมดความเป็นมนุษย์แหละ เราจะต้องหวังการศึกษาถึงขนาดที่ว่ามันจะช่วยให้เราคงมีความเป็นมนุษย์ รอดพ้นจากอำนาจของสิ่งที่จะมาทำให้เราสูญเสียความเป็นมนุษย์ นี่จะเรียกว่ามีอยู่หลายลำดับก็ได้ คือว่ามุ่งหมายจะให้มีความเป็นคนกันก่อน เรียนรู้เท่าที่จะเป็นคนกันได้ ไปเรียนหนังสือเรียนวิชาชีพมันก็เป็นคนได้ นี่มันไม่พอ มันต้องเป็นมนุษย์ คือเรียนธรรมะสำหรับเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง ทีนี้มันยังมีอีกขั้นนะซึ่งท่านจะฟังไม่ออกก็ได้ว่าเพื่อไม่เป็นอะไรเลย เพื่อไม่เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลอะไรเลย เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุนิพพาน อย่างนี้ต้องเรียนธรรมะชั้นสูงสุด ชั้นสูงสุด เรียนอย่างแรกเพื่อเป็นคน เรียนหนังสือเรียนอาชีพ ชั้นที่ ๒ เรียนเพื่อเป็นมนุษย์ ก็เรียนธรรมะ เรียนจริยธรรม เรียนอะไรต่างๆที่ให้มันมีความสูงทางมรรยาท ทางจิตใจ ทางสติปัญญา ไม่หลงอย่างคน ถ้าเป็นมนุษย์จะไม่หลงอย่างคน เป็นคนเป็นง่าย เป็นมนุษย์มันลำบากหน่อย นี่ถ้าเป็นมนุษย์แล้วมันก็ยังไม่พ้นจากทุกข์หรอกเพราะมันต้องหลงยึดถือในตัวตนของมนุษย์ ก็เลยไม่เป็นอะไรเลย นั่นน่ะตอนที่เข้าใจยากที่สุดของพุทธศาสนาเรื่องอนิจจัง เรื่องอนัตตา คำว่ามิใช่ตนน่ะมันหมายความว่าอย่างนี้ ไม่ยึดถือตัวเองว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นอะไรก็ตาม เป็นไปตามธรรมชาติ ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติไม่มีความทุกข์เลย ถ้าเป็นคนก็จะมีความทุกข์อย่างคน ถ้าเป็นมนุษย์ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ ถ้าเป็นเทวดาก็มีความทุกข์อย่างเทวดา เป็นอะไรก็จะมีความทุกข์ตามแบบนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีความรู้สึกว่าฉันเป็นอะไรเสียเลยดีกว่า คือมันว่าง มันก็ว่างจากปัญหา ว่างจากความทุกข์ ว่างจากความเป็นคน ตัวตน สัตว์ บุคคลอะไรมันก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นอะไรสูงสุดของพุทธศาสนา ถ้าจะพูดให้เป็นการศึกษามันก็เป็นการศึกษาระดับโลกุตระ นิพพานไปเลย ซึ่งเรายังไม่ได้ไปกันไกลถึงขนาดนั้นในวงการศึกษาในโลกในระดับนี้ เอาเป็นเพียงว่าให้เป็นคน ให้หมดปัญหาของคน แล้วมันยังมีปัญหาในระดับสูงคือจิตใจไม่สูง ยังเห็นแก่ตัว เป็นคนนี่ยังเห็นแก่ตัวโดยทั่วๆไป ถ้าเป็นมนุษย์จิตใจสูงเหนือกิเลส กิเลสย่ำยีไม่ได้ นี่ก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกนี่มันเป็นแต่เพียงคน ไม่ช่วยให้เป็นมนุษย์มีจิตใจสูง ยิ่งการศึกษายุคที่ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระเจ้า ละทิ้งสิ่งที่เคยนับถือมาแต่ก่อนแล้วมันก็ลดลงมาเหลือแต่ว่าเอากันเป็นแต่เพียงคน มีกินมีใช้สบายไปอย่างคน สูงสุดอยู่ที่กฎหมาย ประพฤติตามกฎหมาย แต่ถ้านอกกฎหมายแล้วก็ประพฤติได้ตามชอบใจ มันจึงมีกิเลสมายึดครองคนเหล่านั้น จึงเป็นได้แต่เพียงคนไม่เป็นมนุษย์ ต้องศึกษาธรรมะที่จะควบคุมกิเลสอีกทีมันจึงจะเป็นมนุษย์ ข้อนี้เรียกว่าไม่สนใจ ผู้จัดการศึกษาในโลกไม่สนใจที่จะให้การศึกษาถึงขนาดที่เป็นมนุษย์ในความหมายนี้ สนใจกันแต่เพียงคนๆ ก็เลยเป็นกันแต่เพียงคน มันก็มีปัญหาอย่างคนไม่รู้จักสิ้นสุด ที่เรามีการศึกษาระดับสูงๆกันมากมายแล้ว แต่ในโลกนี้ก็ยังเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ เพราะว่ายังเป็นกันแต่เพียงคนไม่เป็นถึงมนุษย์นั่นเอง ที่เรียกว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษานี่ให้มันพ้นจากสัตว์ สัญชาตญาณอย่างสัตว์น่ะมาเป็นคน พ้นจากความเป็นคนมาเป็นมนุษย์มีจิตใจสูง ถึงจะเป็นเทวดาเป็นอะไรก็เรียกว่ารวมอยู่ในจิตใจสูง ต่อไปอีกก็คือไม่เป็นอะไรเลย เข้าใจว่าผู้มีการศึกษาหรือหลักการศึกษาอย่างปัจจุบันนี้คงไม่ยอมรับนะ ไม่ยอมรับข้อที่ว่าเราจะไม่เป็นอะไรเลย มันเป็นได้แต่ในหมู่พุทธบริษัทที่รู้เรื่องนี้ถึงที่สุดเท่านั้น แต่อาตมาก็มาพูดแหละเพราะมันมีอยู่นี่ คือมันดักอยู่ข้างหน้า หรือถ้าไม่รู้ถึงชั้นนี้มันก็ไม่สมบูรณ์ ก็ขอให้ทนฟังกันหน่อยเพื่อไปคิดดู
ทีนี้ก็อันสุดท้ายก็จะเรียกว่า “ขอบเขต” ขอบเขตที่จะต้องศึกษา ถ้ามันเลยเถิดไปมันก็บ้าเปล่าๆแหละ ถ้ามันไม่ถึงขนาดมันก็ใช้อะไรไม่ได้ ฉะนั้นเราจะรู้อะไรก็รู้ให้พอดีที่มันแก้ปัญหาได้ รู้ให้พอดีเท่าที่มันแก้ปัญหาได้ รู้เกินนั้นก็ไม่จำเป็น บางทีก็รู้ไม่ได้ ไปพยายามรู้มันก็เหนื่อยเปล่า ให้ประพฤติปฏิบัติได้ ใช้แก้ปัญหาได้ มันก็พอ ส่วนที่จะไปรู้ว่าไอ้ตัวจริงแท้อย่างยิ่งของมันนั้นคืออะไร ไม่ต้องรู้หรอก แล้วก็รู้ไม่ได้ด้วย แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่สอนเลยไปถึงขนาดนั้น ท่านสอนอยู่ตรงที่ว่ามันดับทุกข์ได้ ถ้ามันดับทุกข์ได้นั้นน่ะ จริงมันอยู่ที่ดับทุกข์ได้ โดยที่ไม่ต้องรู้มากไปกว่านั้นหรอกว่าไอ้สิ่งนั้นๆมันเป็นอะไร ส่วนประกอบของมันอย่างไร เราไม่ต้องไปรู้ก็ได้ เหมือนกับว่าไอ้เรารู้จักทำนากิน มีข้าวกิน แล้วมันก็ได้ ชาวนาไม่ต้องไปเรียนรู้ว่าไอ้ดิน หรือเมล็ดข้าว หรือไอ้ธาตุในเมล็ดข้าว กระทั่งรู้ไปถึงทุกๆปรมาณูของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นเมล็ดข้าวนี้มันก็รู้ไม่ได้ ถึงรู้มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร รู้แต่ทำนาให้ได้ข้าวมาอย่างมากที่สุด ดีที่สุดก็พอแล้ว นี่เราให้รู้ตรงที่ใช้ปฏิบัติได้ เข้าใจว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายคงจะรู้เรื่องเหล่านี้อยู่แล้วก็ได้ เช่นว่าเรื่องไฟฟ้าอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ว่าไฟฟ้าโดยแท้จริงนั้นคืออะไรหรอก ถึงไอ้นักไฟฟ้าตังยงมันก็บอกไม่ได้ว่าไอ้ตัวไฟฟ้าแท้ๆ ตัวมันแท้ๆคืออะไรมันก็ไม่รู้ แต่มันรู้วิธีที่จะทำให้ไอ้สิ่งเหล่านั้นปรากฏออกแล้วก็ใช้ประโยชน์ได้ เดี๋ยวนี้เราใช้ประโยชน์เกี่ยวกับไฟฟ้านี่ได้มากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน แต่ไฟฟ้าตัวจริงแท้คืออะไรก็ไม่มีใครตอบได้ แต่เรารู้เพียงพอที่ว่าทำอย่างนี้ได้ผลอย่างนี้ ทำอย่างนี้ได้ผลอย่างนี้ แล้วก็ทำแล้วให้ออกไปไกลๆ ไกลออกไปจนดูเครื่องไฟฟ้าสมัยนี้สิ มันวิเศษ ฉลาด น่าอัศจรรย์ ทำได้มากอย่างนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าไอ้ตัวไฟฟ้าแท้ๆมันคืออะไร อย่างนี้เป็นต้น สมัยนี้อธิบายอย่าง สมัยต่อมาอธิบายอย่าง ดูไปจนถึงตัวปรมาณูตัวอะตอมน่ะ ตัวอะตอม ไอ้นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนยุติว่าเป็นคลื่นหรือเป็น wave นักวิทยาศาสตร์ลัทธิไอ้ทฤษฎี Quantum มันว่าไม่ใช่ๆ ไม่ใช่คลื่น มันเป็นอนุภาค เป็นตัวอนุภาค เป็น particle อันหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คลื่นไม่ใช่ไหลไม่ใช่อะไร แต่แล้วมันก็ใช้ ใช้ปรมาณูนั้นเป็นประโยชน์ได้ ทำระเบิดปรมาณูฆ่ากันตายคราวละล้านก็ได้ ทั้งที่ไม่ต้องรู้ว่าตัวอะตอมตัวปรมาณูนั้นมันคืออะไรโดยแท้จริง พวกหนึ่งว่าเป็นคลื่นเป็น wave พวกหนึ่งว่าเป็นอนุภาค เป็นตัวที่ไม่ใช่คลื่นไม่ใช่ไหล แต่แล้วทุกคนก็ใช้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายแหละมันเอาปรมาณูมาใช้เป็นประโยชน์มหาศาลได้ นี่ข้อที่ไม่รู้ว่าไอ้ตัวอะตอมคืออะไรนั่นมันก็ไม่จำเป็น รู้แต่ว่าจะเอามาใช้อย่างไรเป็นประโยชน์มหาศาลได้อย่างไร นี่เรื่องการศึกษามันก็พอกันอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามที่ควรจะได้ก็พอแล้ว จะไปให้ถึงว่ารู้จริงว่าตัวนั้นคืออะไรมันก็ตาย ก็ตายเสียก่อนหรือมันก็ไม่รู้ ถึงแม้จะรู้มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นจากที่รู้อยู่แล้ว จนจะเฟ้ออยู่แล้ว จนจะเกินอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้สนใจที่จะให้วิชาความรู้แก่ลูกเด็กๆของเราในลักษณะที่ว่ามันจะใช้ประโยชน์ได้ตามที่มันควรจะมี ไม่ต้องไปเน้นถึงว่ามันคืออะไร คืออะไร คืออะไรให้มากเกินจำเป็น มันจะเสียเวลากันทั้ง ๒ ฝ่าย ฉะนั้นรู้ข้อที่ใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรให้จริงกันที่ส่วนนั้นก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ถึงตัวมันแท้ๆว่ามันคืออะไร ถ้าไปจริงส่วนนั้นมันก็ยังรู้ไม่ได้ ยังรู้ไม่ได้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้ารู้ไม่ได้ ยังรู้ไม่ได้แล้วไม่ยอมทำอะไร แล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสอุปมาไว้ว่าไอ้คนๆหนึ่งมันถูกยิง แล้วมันไม่ยอมให้รักษา ไม่ให้หมอรักษา ไม่ให้ใครรักษาเพราะว่ามันยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ยิง ยิงด้วยธนูชนิดไหน ยิงด้วยลูกศรอย่างไร อาบยาพิษอะไร ยิงมาจากทิศทางไหน ถ้าเรายังไม่รู้เรื่องเหล่านี้เราไม่ยอมให้รักษา มันก็ตายเปล่าสิ ในที่สุดก็ไม่รู้ไม่ต้องรู้ เรื่องเหล่านั้นไม่ต้องรู้ รักษาให้มันหายก็แล้วกัน นี่ว่าไอ้ขอบเขตที่มันจะต้องศึกษามันควรจะมีพอสมควรหรือมันถูกต้องที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติ รู้ไอ้เรื่องของจริงๆ แต่มันจริงเพียงที่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริงก็พอ จะไปรู้ตัวมันนั้นให้จริงถึงที่สุดมันยังรู้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องรู้ ความทุกข์นี่ ปฏิบัติอย่างไรดับทุกข์ได้จริง จริงอยู่ที่ตรงนั้นก็พอแล้ว รู้จักความทุกข์เพียงเท่านั้นก็พอ ดับทุกข์ได้แล้วมันก็พอ ถ้าไกลไปจากนั้นอีกมันก็ไปเถียงกัน เช่นเถียงว่าปรมาณูนี้เป็น wave หรือว่าเป็น particle อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นครูบาอาจารย์ก็เน้นมาก เน้นให้มากในข้อที่ว่าให้เด็กเขาได้รับประโยชน์โดยใช้ความรู้นั้นให้มันถูกต้อง เราก็จะเป็นครูผู้มีพระคุณแก่เขา
นี่อาตมาเรียกว่าตัวการศึกษาที่จะต้องรู้จักเท่าที่ควรจะรู้จัก หรือเท่าที่จะใช้แก้ปัญหาได้ อย่างที่พูดมาแล้วว่าถ้าดูโดยพยัญชนะตามตัวหนังสือน่ะมันก็ว่าเห็นครบ เห็นเอง เห็นด้วยกันหมดทุกอย่างเรียกว่าสิกขาหรือศึกษา กิริยาอาการของการศึกษาคือพัฒนาสัญชาตญาณให้เปลี่ยนเป็นภาวิตญาณ ก็ดูลักษณะก็คือทำให้เกิดความฉลาด แล้วใช้ความฉลาดนั้นให้ถูกต้องให้ครบถ้วน ถ้าดูโดยอุปมาก็เหมือนกับว่าไอ้ลูกตาสัตว์ มันคลอดออกมาตามันปิด มันต้องเปิด เปิดแล้วมันต้องใช้ตานั้นน่ะให้มันได้ มันต้องมีการปรับปรุงที่ตาให้ดี ให้แจ่มใส ให้เห็นอะไรได้ แล้วก็ให้ชะล้างให้ขัดเช็ดให้สะอาดยิ่งๆขึ้นไป แล้วให้มันรู้อะไร ดูอะไรเห็นถึงที่สุด ทีนี้ดูเข้าไปที่สิ่งที่มันแวดล้อมรอบๆตัว วัตถุที่จะดู ดูสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดูตัวดูชีวิตดูธรรมชาติ ดูไอ้ต้นตอแห่งปัญหาที่จะมาจากทิศทางใด แล้วก็มุ่งหมายว่าจะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป ให้อยู่ในขอบเขตเท่าที่จะจำเป็น ไม่มากเกินไปจนตายเปล่าแล้วก็ไม่รู้ หรือว่ารู้แล้วก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องการเป็นคนก็ให้ได้เป็นคน ต้องการให้เป็นมนุษย์ก็ให้ได้เป็นมนุษย์ ต้องการให้เหนือนั้นขึ้นไปคือไม่เป็นอะไรเลย เป็นนิพพานไปเลย ก็ขอให้ได้เป็นนิพพานไปเลย นี่เรียกว่าการศึกษาคืออะไรหรืออย่างไร
นี่ข้อต่อไปประเด็นเรื่องที่ ๒ ก็ว่า “สมุทัยของการศึกษา”