แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ บรรยายไปตามหัวข้อที่กำหนดให้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๒ มีชื่อว่า การปฏิบัติงาน คือการปฏิบัติธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้ผล เป็นเรื่องที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางการเมือง ทางการปกครอง หรือส่วนบุคคลก็ตามได้โดยเฉพาะสำหรับยุวชน สำหรับเด็ก ๆ นี่ ถ้าได้เพาะนิสัยอันนี้ให้ฝังแน่นอยู่ในสันดาน เขาก็จะชอบทำงาน ทำงานสนุก ทำงานสนุกจนไม่ต้องไปเล่น ต้องถึงอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้เขาสนุกไม่ได้ในเรื่องการทำงาน ก็ช่วยกันหาวิธีที่จะให้ได้สืบต่อไป ที่เคยพูดนั้น พูดสั้น ๆ ว่าการทำงาน ไม่ได้พูดว่าการปฏิบัติงาน ได้พูดมาหลายครั้งเต็มทีว่าการทำงาน คือการปฏิบัติธรรม แต่ก็พอจะแทนกันได้ การปฏิบัติงาน คือการปฏิบัติธรรม คำว่าปฏิบัติงานนี่ดูมันเฉพาะ หรือค่อนข้างแคบ ต้องการให้กว้างหมดไม่มีเหลือ การทำงานในหน้าที่ หรือนอกหน้าที่ ปฏิบัติตามระเบียบไปหมดเลย ต้องใช้คำว่าการทำงาน จะได้หมายถึงทุกสิ่งที่ควรกระทำ ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงคำว่างาน หรือการงาน หรือหน้าที่ หน้าที่ ก่อนเป็นเรื่องแรก เพราะเดี๋ยวนี้ตามความรู้สึกของคนทั่วไป แม้ที่เป็นพุทธบริษัท มักจะถือว่าธรรมะอยู่ที่วัด การงานอยู่ที่บ้าน ทำกันคนละที อย่างนี้ไม่ ไม่ถูกตามความจริง หรือความจริงของธรรมชาติ เพราะเราไม่ได้ศึกษาคำว่าธรรมนั้นให้มันเพียงพอว่าหมายถึงอะไร
คำว่า”ธรรม”ในภาษาอินเดียมันตรงกับคำว่าหน้าที่ในภาษาไทย ปทานุกรมสำหรับเด็ก ๆ ใช้ คำว่าธรรม แปลว่า DUTY เท่านั้นแหละ ไม่ได้พูดว่าอะไรของใคร แล้วไม่ต้องจำกัดว่าของศาสดาองค์ของใคร หน้าที่ควรทำนั้นแหละ คือธรรม คือธรรมะ เข้าใจว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก็เพราะมนุษย์คนแรกนั้นได้สังเกตเห็นว่า โอ้, มันมีสิ่งที่ต้องทำ ควรทำ แล้วเขาก็ได้พูดขึ้นถึงเรื่องนี้ หรือสั่งสอนอบรมกันเรื่องนี้ คือให้ทำหน้าที่ ธรรมะตามภาษาบาลียุคหลังก็แปลว่า สิ่งที่ส่งผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ แล้วมันก็ตรงกันเผงกับคำว่าหน้าที่ ถ้ามีการทำหน้าที่ก็ไม่ตกลงไปในกองทุกข์ ใช้คำว่าธรรมในความหมายว่า หน้าที่เรื่อยมา เรื่อยมา กี่ยุคกี่สมัยก็สุดแท้ จนกว่าจะถึงยุคพุทธกาล ก็ใช้คำว่า ธรรม ธรรมเฉย ๆ ต่อไปอีก จะเป็นธรรมของลัทธิไหน ก็เรียกว่าธรรมทั้งนั้นน่ะ เพราะประชาชนจะพบปะ แล้วก็ไต่ถามกันก็จะไต่ถามว่า ท่านชอบธรรมะของใคร ชอบธรรมของพระสมนะโคดม หรือของนิครนถ์นาฏบุตร (นาทีที่ 6.25) มักกลิโกศาน ทุก ๆ ลัทธิ ศาสดาที่มีสอนอยู่ในนั้น เขาก็ต้องถามว่าชอบธรรมะของใคร นี่ก็แสดงว่ามีใช้กันกว้างขวางออกไปจนถึงกับให้เป็นหน้าที่ฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ครั้งแรกยุคดึกดำบรรพ์โน้น คงจะหมายถึงหน้าที่ทางกาย การงานทางกายมากกว่า แล้วเมื่อมันเจริญมา เจริญมา ๆ มันก็กลายเป็นหน้าที่ทางใจด้วย ทีนี้ก็มาเป็นเรื่องลึกซึ้ง ๆๆ จนกลายเป็นเรื่องลึกลับไป บางแขนงก็แตกแยกออกไปเป็นหน้าที่อย่างไสยศาสตร์ พวกที่เชื่อไสยศาสตร์ ก็มีหน้าที่อย่างไสยศาสตร์ ต้องทำพิธี หรือประกอบอะไรตามแบบของไสยศาสตร์ เขาจึงจะรู้สึกว่าเขาได้ปฏิบัติหน้าที่ คำว่าธรรมก็เลยเตลิดเปิดเปิงออกไปนอกขอบเขต หรือความประสงค์เดิม กลายเป็นธรรมชนิดไสยศาสตร์ไปก็มี คำว่าธรรม ธรรมนี่แหละช่วยสนใจกันให้มากเป็นพิเศษให้ครบทุกแง่ทุกมุม คำว่าธรรม ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้ เคยนับดูพวกฝรั่งเขาจะแปลคำว่าธรรมนี่ แปลกันสุดความสามารถของตน ของตนทั้งนั้นได้ตั้ง ๓๐ กว่าคำ มันก็ยังไม่หมดความหมายของคำว่าธรรม เราใช้คำว่าธรรมต่อไปก็แล้วกัน ทีนี้มองในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใด ก็เพราะว่าหน้าที่มันช่วยให้รอด ช่วยสังเกตดูให้ดีเถอะ พระผู้ช่วยให้รอด คือพระเจ้าบนสวรรค์ หรือพระเจ้าหน้าที่ที่เราทำเองอยู่ทุกวัน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สิ่งที่เรียกว่าธรรม มีคำกล่าวว่ารู้ทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่นำมาสอนเฉพาะเรื่องที่ดับทุกข์โดยตรงเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เอาสั่งสอนก็มีแต่เรื่องดับทุกข์เท่านั้น ถ้านอกนั้นไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ก็ไม่ต้องพูด แม้จะเป็นความจริงของอะไรก็ตาม พระพุทธเจ้าเคารพธรรม ปรากฎอยู่ในพุทธประวัติ แม้ที่ตรัสเล่าเองก็ตรัสเล่าอย่างนั้นว่า ตรัสรู้แล้วจะเคารพใคร คิดไปคิดมาในที่สุดก็ว่าเคารพธรรมที่ตรัสรู้นั่นเอง เพราะว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นมันแสดงถึงหน้าที่สูงสุด ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ และบรรลุนิพาน ซึ่งจบกันเท่านั้น มันไปกว่านั้นอีกไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงเคารพธรรม แล้วก็ประกาศเป็นคาถาขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี พระพุทธเจ้าในอนาคตก็ดี พระพุทธเจ้าในปัจจุบันก็ดี ทุกพระองค์เคารพธรรม พวกเราเคารพธรรมกันถึงขนาดนั้นหรือเปล่า แล้วเมื่อยิ่งได้ยินบอกกันเดี๋ยวนี้ว่า ธรรมะ คือหน้าที่ ธรรมคือหน้าที่ดูจะไม่มีใครเคารพกันสักกี่มากน้อย เคารพหน้าที่ คือเคารพธรรมะ เคารพธรรมะ คือเคารพหน้าที่ เคารพด้วยการทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หน้าที่มันจะช่วยผู้ทำหน้าที่ให้รอด จึงต้องทำกันทุกระดับ นับตั้งแต่คนขอทานขึ้นมา เป็นคนขอทาน เป็นกรรมกร กระทั่งถึงมหาจักรพรรดิ์ จนกระทั่งถึงเทวดา พรหม เป็นต้น มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ เพื่อความดับทุกข์ของตน ของตน
นี่เราเป็นคน ไม่มีทางจะยกเว้น เราเกิดในโลกนี้ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้น เพราะว่ามันมีโอกาส หรือมันมีความสะดวกเหมาะสมที่จะประพฤติธรรม ถ้าไปเกิดเป็นเทวดาตามที่ว่ากัน ก็มัวเมาอยู่ในกามารมณ์ที่เป็นของทิพย์ คงจะลืมปฏิบัติธรรม พอจะตายลงไม่รู้จะไปสุขคติที่ไหน ในที่สุด ออกความเห็นตกลงกันว่าเทวดาตาย จุติ ก็มาเกิดเป็นสุขติในมนุษย์โลก เพราะในโลกมนุษย์นี่มันมีธรรมะ หรือว่าพระรัตนตรัย หาได้ง่าย ศึกษา หรือปฏิบัติเกี่ยวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ง่าย มนุษย์โลกจึงเป็นสุขคติของพวกเทวดา กลับกันอยู่กับที่พวกเราเดี๋ยวนี้ว่า สุขคติของมนุษย์อยู่ที่เมืองสวรรค์ หรือเมืองเทวดา ข้อนี้ช่วยสังเกตพิจารณากันให้ดีด้วย คำว่าสุขคติ ๆ นี่มันเล่นตลกกันอย่างนี้ พวกเทวดาว่าอยู่ที่เมืองมนุษย์ พวกมนุษย์ว่าอยู่ที่เมืองเทวดา แต่ว่าเราไม่มีปัญหาอย่างนี้ มีปัญหาแต่ว่ารู้จักหน้าที่ ที่จะต้องกระทำเพื่อให้ความเป็นมนุษย์ได้รับประโยชน์เต็มที่ หรือสูงสุดเท่านั้นก็พอ กล่าวได้เป็นหลักว่าทุกชีวิตต้องปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นคนก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของคน ที่เป็นสัตว์ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของสัตว์ ที่เป็นพืชพรรณพฤกษาชาติทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของพืชพันธ์พฤกษาทั้งหลาย ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่มันก็คือตาย หรือว่าอยู่อย่างมีความทุกข์เจียนตาย เกือบตาย นี่ดูเถิดว่าธรรมะนั่นมันมีความหมายอย่างไรกับคำว่า หน้าที่น่ะมันตรงกันหรือไม่ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ช่วยให้ไม่ต้องตาย ลองไม่กินอาหาร ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะแม้แต่หน้าที่เช่นนี้ ต่ำ ๆ อย่างนี้ลองไม่ทำสิ มันก็ตาย ดังนั้นจึงต้องมีการทำหน้าที่ให้ครบ ให้ถูกต้อง และครบถ้วน ต้องใช้คำว่าถูกต้องด้วย ครบถ้วนด้วย ตามหน้าที่ แล้วก็หน้าที่สูงสุดสำหรับมนุษย์ ก็คือเพื่อจะบรรลุนิพพานนั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้เอาคำว่านิพพานไปไว้ไกลเกินไป อีกกี่หมื่นชาติแสนชาติ แล้วก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ปรารถนาเหมือนกับว่าเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นนครที่จะไปอยู่อาศัยได้ อย่างนี้มันก็ไม่เข้ารูป การงาน หรือหน้าที่ต้องกระทำ ยอดสุดของการงานก็คือ กัมมัฏฐาน ที่จะทำให้บรรลุนิพพานนั่นแหละ คือการงานสูงสุด
ในมรรคมีองค์แปดเรียกว่า ที่เรียกว่า สัมมากัมมันตะ คือการงานที่ถูกต้อง ที่ช่วยให้เกิดการดับทุกข์ เรามนุษย์น่ะยังทำงานอย่างคดโกง ก็คิดเป็น มีมันสมองที่คิดเป็น แล้วก็คิดโกงเวลาโกงการงานโกงเพื่อนมนุษย์ มีความรู้สึกว่าไม่ต้องทำงาน แต่ได้เงินเดือนนั่นแหละดี นี่มันทุจริตถึงขนาดนี้ ทำงานแต่น้อย ได้เงินเดือนมาก ๆ นั่นแหละดี ถ้าทำอย่างนี้มันก็ผิดกฎของธรรมชาติ จะต้องทำงานเต็มที่ ไก่แม่ลูกอ่อน สัตว์เดรัจฉาน มันลงออกหากินกันตั้งแต่ไม่ทันสว่าง แล้วแม่ไก่ก็เขี่ย เขี่ยตลอดวันเลย มีหยุดพักนิด ๆๆๆ ระหว่างที่ให้ลูกพักผ่อน นิด ๆๆ มีหยุดพักนิด ๆ แต่ว่าทำงานตลอดวัน หมายถึงแม่ไก่ที่นี่นะ ถ้าที่อื่นคุณไปดูเอาเอง นี่มันน่าละอายไก่ ที่มันทำงานได้ตลอดวัน แล้วก็ไม่โกงเวลา ไม่(นาทีที่18.25)บ่ายเบี่ยงการงานไม่ฉ้อฉลเรื่องเวลาทำงาน อย่างนี้เรียกว่าทำงานตามหน้าที่ เต็มตามหน้าที่ เป็นไปตามหน้าที่ ทีนี้ดูให้ต่ำลงไปกว่านั้นอีก ก็คือต้นไม้ต้นไร่ทั้งหลายนี่ มันทำหน้าที่ตลอดเวลา อย่างที่เคยได้ฟังกันมาว่า กลางวันคลายออกซิเจนตลอดวัน กลางคืนคลายคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดคืน ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ก็หมายความว่ามันทำงาน ๒๔ ชั่วโมงในการดูดน้ำขึ้นไป ดูดแร่ธาตุขึ้นไป ในการปรุงอาหารที่ใบเมื่อมีแสงแดดส่งเลี้ยง กลับมาเลี้ยงลำต้น ขยายเติบโตออกไป แล้วก็วนอยู่อย่างนี้ กลายเป็นพูดได้ว่า ต้นไม้ทำงาน ๒๔ ชั่วโมง แต่มนุษย์ทำ ๘ ชั่วโมงก็คัดค้านแล้ว ประท้วงแล้ว ก็เพราะว่ามนุษย์มีมันสมองที่คิดไปในทางที่จะเอาเปรียบ หรือลัดสั้น หรืออะไร จึงเกิดการบกพร่องในการงาน
คำว่าหน้าที่ หน้าที่นี้หมายถึงหน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับจะให้รอดชีวิตอยู่ได้ และให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปจนกว่าจะถึงระดับสูงสุด ไม่รวมหน้าที่ของอันธพาล เดี๋ยวคนอันธพาลอาชญากรทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีหน้าที่ขโมยปล้นจี้ ข้าพเจ้าก็ทำหน้าที่ ถ้าอย่างนี้ไม่เรียกว่าหน้าที่ หรือหน้าที่นั้นไม่ถูกต้อง คำว่าถูกต้องตามหลักธรรมะ ไม่ยุ่งยากไม่ยุ่งยากลำบาก ไม่อธิบายยากเหมือนวิธีของ Philosophy หรือ logic อะไรต่าง ๆ คำว่าถูกต้องของหลักธรรมะนี่คือว่า มันพิสูจน์ความมีประโยชน์แก่ทุกคน สิ่งที่ทำมีประโยชน์แก่ทุกคน แล้วไม่ให้โทษไม่ทำความเสียหายกระทบกระทั่งแก่ผู้ใด หรือแก่ทุกคน นั่นแหละคือความถูกต้อง ใช้คำว่าสัมมาเหมือนกัน สัมมัตตะ สัมมา ความถูกต้อง หรือภาวะแห่งความถูกต้อง เมื่อมีหลักอย่างนี้มันอันธพาลไม่ได้ จะเอาเหตุผลไหนมาแก้ตัว สำหรับไปปล้นไปจี้ ไปขโมย ไปทำอะไรต่าง ๆ
ที่นี้คำว่าธรรม คำนี้ถ้าจะดูกันทีเดียวให้หมด ก็ต้องนึกถึงคำว่าธรรม ๔ ความหมาย ธรรมะ ๔ ความหมาย ธรรมะ คือตัวธรรมชาติ ธรรมะ คือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และธรรมะ คือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ อธิบายอย่างนี้ หรือให้คำกำจัดความอย่างนี้แล้วก็หมด จะหมดเรื่องของธรรมะ แต่ทีนี้มาดูหน้าที่อีกชั้นหนึ่งนะ หน้าที่ที่เราจะต้องมีต่อธรรมะ ๔ ความหมายความหมายแรก ธรรมะ คือธรรมชาติ เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง ต้องเกี่ยวข้อง นอกตัวเราก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ในตัวเราก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ตัวธรรมชาติล้วน ๆ นี้ เราต้องเกี่ยวข้อง มีความถูกต้องในการเกี่ยวข้องกัน และธรรมะ คือกฎของธรรมชาตินี้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้ ต้องรู้ ธรรมะ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้น เรามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และธรรมะ คือผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เรามีหน้าที่ที่จะต้องมี หรือใช้มันอย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ก็ใช้ผลงานผิด ใช้เงินที่เป็นผลงานเพื่อส่งเสริมกิเลสทั้งนั้น สถานที่ที่ส่งเสริมกิเลสก็มีมาก แล้วคนทำงานก็เอาผลงาน คือเงินนั้นน่ะไปซื้อหาสิ่งเหล่านั้น นี้เรียกว่าเขาทำผิด ผิดหน้าที่ แต่ใน ๔ ความหมายนี้ ความหมายที่ ๓ นั่นแหละสำคัญ และมันมีคำว่าหน้าที่อยู่แล้ว
คำว่าหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ชีวิตทุกชนิดจะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็รอดตาย แล้วก็ถ้าทำต่อไปอีก มันก็รอดจากความทุกข์ทุก ๆ ชนิด แม้ที่สุดแต่ปัญหาสักนิดหนึ่งก็ไม่มี เป็นผู้อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งทั้งปวงในโลก เรียกว่า ความหลุดพ้น หน้าที่ คือสิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติ พูดอย่างนี้ชัดกว่า แล้วก็ไม่ต้องเป็นความหมายทางศาสนาอะไรมากมายนัก เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติก็ยังได้ หน้าที่ คือสิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติ พูดเพียงเท่านี้ก็พอ ถ้าจะขยายความออกไปว่า ถ้าไม่ปฏิบัติมันจะตาย หรือมันเกือบตาย หรือมันอยู่ด้วยความทนทรมานเหมือนกับอยู่ในนรก ดังนั้นพูดได้เลยว่าที่ไหนมีการปฏิบัติหน้าที่ ที่นั้นมีธรรมะ หรือจะกล่าวว่าที่ไหนมีธรรมมะ มันกล่าวได้แต่เฉพาะที่ที่มันปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในโบสถ์ หรือกลางทุ่งนา สามารถที่จะมีธรรมะ หรือไม่มีธรรมะแล้วแต่กรณี โบสถ์บางโบสถ์มีแต่สั่นเซียมซี บนบานขอร้องอย่างเดียว นั่นไม่ใช่หน้าที่ แล้วในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ มีแต่อะไรก็ไม่รู้ มีแต่ธรรมะไสยศาสตร์ การบนบานขอร้องอ้อนวอนให้สิ่งอื่นช่วย แม้จะกระทำแก่พระพุทธรูปก็ไม่พ้นจากความเป็นไสยศาสตร์ นี่ระวังให้ดีว่ามันแน่นอนว่าที่ไหนมีการทำหน้าที่ ที่นั้นมีธรรมะ ไม่จำกัดว่าในโบสถ์ หรือกลางทุ่งนา ถ้าชาวนาเขาทำงานขยันขันแข็งตัวเป็นเกลียวด้วยความพอใจในการงาน ที่ในนานั้นแหละมีธรรมะ ในโบสถ์อย่างที่ว่านั้นก็ไม่มีธรรมะ มักจะมีแต่พิธีรีตองเสียมากกว่า
เราจะพยายามอธิบายให้ลูกเด็ก ๆ หรือนักเรียนทั้งหลายรู้จักสิ่งนี้ไปเสียตั้งแต่บัดนี้ เมื่อเขาทำหน้าที่อะไร ลูกเด็ก ๆ ทำหน้าที่อะไร เราว่าปฏิบัติธรรมะ ดีมาก มีแต่ความเจริญ เช่นเด็กจะช่วยกวาดบ้าน จะช่วยถูพื้นเรือน จะช่วยล้างจาน จะช่วยหยิบฟืน จะช่วยตักน้ำ ก็ขอให้ทำให้เขามีความรู้สึกว่าคือการปฏิบัติธรรมะ ก็จะทำหน้าที่ตามที่จะทำได้ และเมื่อรู้สึกว่าปฏิบัติธรรมะนั้น ต้องรู้สึกถึงขนาดที่เกิดความพอใจ แล้วธรรมแต่ชื่อไม่รู้ว่าอะไร มันก็เกิดความพอใจไม่ได้ ก็ต้องบอกให้รู้ว่าธรรมะ ๆ นี้คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด แม้ลูกเด็ก ๆ ก็เหมือนกัน เขาจะต้องทำหน้าที่ช่วยให้รอด ให้ตัวเองรอด เขาทำหน้าที่เมื่อไร ก็สรรเสริญเยินยอให้เขามีกำลังใจทำยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเขาจะต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด จึงจะมีธรรมะมาก เช่นว่าจะช่วยล้างจาน เขาก็จะล้างจานให้ดีที่สุดเท่าที่จะล้างได้ และก็มีธรรมะมาก หรือแม้ที่เขาจะทำกิจส่วนตัว จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ เขาก็ต้องทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้ ไม่ใช่ว่า ไม่รับรู้ใจลอยทำไปอย่างนั้น บางทีทำเพราะเสียไม่ได้ จะต้องอบรมกันให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
แม้แต่การนอนก็เป็นหน้าที่ เพราะว่าถ้าไม่นอนน่ะมันตาย หรือมันไม่มีแรงจะทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องนอนตามเวลาที่ควรนอน เวลาทำงานก็เป็นธรรมะ เวลานอนก็เป็นธรรมะ หลับอยู่ก็เป็นธรรมะ เพราะมันเป็นความถูกต้องสำหรับจะให้รอดชีวิตอยู่ ดังนั้นก็ต้องนอนให้ดี ๆ นอนให้ดี ๆ อย่างในหลักธรรมนี่ว่า นอนเหมือนราชสีห์ คือมีสติสัมปชัญญะพร้อมจะลุกขึ้นเสมอ อย่านอนอย่างสุนัข ที่ไหนมีการทำหน้าที่ที่นั้นมีธรรมะ ที่ไหนมีการทำหน้าที่มากก็มีธรรมะมาก ทำหน้าที่สูงก็มีธรรมะสูง แล้วธรรมะมันไปสูงอยู่ที่กัมมัฏฐาน ๆ คำว่า กัมมัฏฐานนี่ดูจะไม่ต้องแปล รู้แล้วหมายถึงอะไร แต่ให้ดูที่การทำที่เรียกกัมมัฏฐานน่ะ มันทำหน้าที่สูงสุด หรือชั้นสุดท้ายเพื่อจะอยู่เหนือโลก การงานโดยทั่วไปก็เพื่อจะอยู่ในโลกเป็นผาสุก การงานสูงสุด ระดับสูงสุดก็ทำเพื่อให้อยู่เหนืออิทธิพลของทุกสิ่งในโลก ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะมาครอบงำย่ำยีได้ นี่เรียกว่าทำหน้าที่ชั้นสูงสุด ถือเอาได้ตามหลักพระบาลีว่า ชีวิตทุกชีวิตมีหน้าที่ต้องทำหน้าที่โดยเฉพาะคนนี่ ทุกคนต้องทำหน้าที่ แต่ท่านเรียกด้วยคำที่ประหลาดอีกแหละ คำว่าหน้าที่ ๆ ในที่นั้นหมายถึงพรมจรรย์ พรหมจรรรย์ แปลว่าการประพฤติอย่างประเสริฐอ่ะ พรหมจรรย์ คนทุกคนเกิดมามีหน้าที่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้รอดจากความทุกข์ จนกว่าจะหมดความทุกข์เป็นพระอรหันต์ จึงจะเรียกว่าจบพรหมจรรย์
ดังนั้นแม้คนอันธพาลต่ำต้อยที่สุด ก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ หรือปฏิบัติธรรมะ หรือปฏิบัติหน้าที่ เมื่อปฏิบัติแล้วมันก็มีความหมายเหมือนกัน แม้ว่าหน้าที่นั้นมันต่ำสุด ล้างท่อถนน กวาดถนน แจวเรื่องจ้างอะไรก็ตาม มันจะต่ำเท่าไรก็ช่างมัน แต่มันเป็นธรรมะ คือหน้าที่ในความหมายเท่ากัน จะเป็นเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์ แม้ที่สุดแต่ว่าเทวดาบนสวรรค์ ถ้ามีเหมือนกับที่พูดกันนั้นมันก็ยังต้องทำหน้าที่ เพราะว่าหน้าที่นั้นมันช่วยให้รอดจากปัญหาที่กำลังประสบอยู่ เช่น กรรมกรชั้นต่ำทำหน้าที่ของตนดีที่สุด ไม่เท่าไรมันก็พ้นจากความต้องเป็นกรรมกร ถ้าเขาไม่ทำให้ดีที่สุด แล้วได้ผลของงานมา ก็เอาไปหล่อเลี้ยงกิเลสให้ยิ่งขึ้นไป คือเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น อย่างนี้มันก็ไม่รู้จักจบ ถ้ากรรมกรทั้งหลายทำหน้าที่อย่างถูกต้องแท้จริง มันก็จะพ้นจากสภาพกรรมกร คนขอทานนั่งขอทานอย่างถูกต้อง ไม่เท่าไรอ่ะจะพ้นจากความเป็นคนขอทาน นี่ก็พอที่จะเป็นเหตุผลสำหรับการที่จะกล่าวว่า ธรรมะ คือสิ่งที่ช่วยให้รอด ถ้าเป็นเทวดาก็มีปัญหาอย่างเทวดา ก็ต้องปฏิบัติธรรมะเพื่อให้พ้นจากปัญหาเหล่านั้น เป็นพรหมก็เหมือนกัน
เรื่องนี้เข้าใจไขว้เขวกันอยู่ คนทั่วไปมักจะถือว่า ไปเป็นเทวดา ไปเป็นพรหมแล้วจะมีความทุกข์น้อยด้วย ข้อนี้ดูตามเรื่องแล้วไม่เป็นไปได้ เพราะว่าในเมืองเทวดานั้นมีเหยื่อของกามารมณ์มากเกินไป จนลุ่มหลงกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ค่อยจะปฏิบัติธรรม ทีนี้พรหม ๆ นี่ ตามที่กล่าวไว้ในพระบาลี คือพวกที่มีสักกายะมากที่สุด และกลัวความตายมากที่สุด ก็เลยจัดให้พรหมอยู่กันเป็นกัป ๆ พรหม ๆ องค์หนึ่งมีอายุยืนเป็นกัป ๆ เพราะมันกลัวความตายมากที่สุด คำว่าสักกายะหมายถึงความรู้สึกว่าเป็นตัว เป็นตัวตนของตน สักกายะนี่ พรหมมีมากที่สุด เพราะมันอยู่ในสภาพที่สะดวกสบายน่าพอใจ มันก็เลยไม่อยากตาย แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นมากที่สุด สมมุติว่าเอามาพร้อม ๆ กัน สัตว์เดรัจฉานด้วยก็ได้ มนุษย์ทุกชั้นทุกสถานนะแห่งการดำรงชีวิต กระทั่งเป็นมนุษย์สูงสุด แต่ไม่ใช่พระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์นะ กระทั่งถึงเทวดา และพรหมด้วย เอามาประชุมกันแล้วกล่าวขึ้นว่า สักกายะนิโรธ สักกายะนิโรธ ดับเสียซึ่งสักกายะ คือตัวตน พวกพรหมสะดุ้งมากกว่าพวกไหนหมด ตามข้อความในพระบาลี ไม่อยากได้ยินคำว่าดับเสียซึ่งตัวตน ฉะนั้นจะถือว่าเป็นเทวดา เป็นพรหมแล้วกิเลสมันน้อย อย่างนี้มันถือไม่ได้ ต้องดูว่ามันเป็นทุกข์เพราะเหตุอะไร แล้วสิ่งนั้นมันมีน้อยมีมากที่ไหนโดยสามัญสำนึกเราก็พอจะเดาได้ คาดคะเนได้ว่า คนที่สบาย สบายไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่อยากตาย ยิ่งกว่าคนที่ทรมานลำบากทุกข์ยากอยู่ มันอยากจะตายในบางคราวนั่นน่ะ
ดังนั้นสิ่งที่บำรุงส่งเสริมความรู้สึกทางกามารมณ์ก็ดี ทางเกียรติยศชื่อเสียงอะไรก็ดี มันทำให้คนไม่อยากตาย แต่ว่าทุกคน ทุกระดับชั้นนั้นมีหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติธรรมะ เพื่อจะดับเสียซึ่งความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น อยากจะให้พิจารณากันให้ดี ๆ บันทึกลงไปด้วย ทั้งเด็ก ทั้งหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ เด็กนี่หมายถึงเด็กในครรภ์ แล้วก็เด็กนอกครรภ์ แล้วก็เด็กพอพอเดินได้นั่งได้ แล้วก็เด็กวัยรุ่น ทั้งหมดนี้ต้องมีหน้าที่ หรือธรรมะให้ตรงตามวัย บางคนอาจจะสงสัยว่าเด็กในครรภ์มันจะมีหน้าที่ได้อย่างไร ข้อนี้ก็ต้องเป็นภาระหน้าที่ของมารดาที่อุ้มครรภ์ มารดาที่อุ้มครรภ์จะต้องทำหน้าที่ถูกต้อง ไม่กินของแสลงอย่างนี้ แล้วก็อยู่ด้วยจิตใจที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ที่พบในบาลีบ่อย ๆ พอตั้งครรภ์ก็สมาทานศีลอุโบสถตลอดไปอย่างนี้ มันเป็นการเตรียมเด็กในท้องให้เป็นเด็กที่ดีที่สุดทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านธรรมชาติทั้งหลาย นั้นจึงว่าแม้เด็กในครรภ์ก็ต้องทำให้มีหน้าที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นผลดีแก่เด็กในครรภ์ พอเด็กคลอดออกมาแล้วนั้นก็รู้กันอยู่ แต่ทีนี้มันสำคัญอยู่ที่ว่าการอบรมสั่งสอนแวดล้อมอยู่อย่างถูกต้อง หรือไม่ ถ้าในครอบครัวนั้นมีตัวอย่างที่ดี เด็ก ๆ มันก็ถอดแบบนั้น เช่นว่าไม่พูดคำหยาบ เด็กก็ไม่พูดคำหยาบ ไม่ขี้เหนียวเกินไป เด็กก็ไม่ขี้เหนียวเกินไป วัฒนธรรมประจำบ้านเรือนที่ถอดรูปออกไปจากพุทธศาสนา จนปฏิบัติเป็นของธรรมดา ๆ ไม่เรียกว่าศาสนา นั่นแหละช่วยได้มาก เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ของเราคลอดออกมาไม่ได้รับการแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมเหล่านั้น แต่ได้รับการแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมอย่างอื่นซึ่งทำให้เกิดกิเลส พอใจกิเลส ตามใจกิเลส เช่น เด็ก ๆ ซื้อตุ๊กตาที่แพงที่สุดให้ เครื่องเล่นที่แพงที่สุดให้ อย่างนี้มันทำให้เด็กนี้เป็นอย่างไร ให้มันโง่ หรือให้ฉลาด มันอยู่ที่ว่าผู้แวดล้อมอบรมจะสร้างนิสัยเด็กขึ้นมาอย่างไร ควรจะอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม เด็กมีหน้าที่อย่างถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งความเป็นเด็ก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์คลอดออกมากระทั่งเติบโตเป็นวัยรุ่น
ทีนี้ก็มาถึงขั้นผู้ใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว แต่งงานมีบ้านมีเรือนกลายเป็นพ่อแม่ นี่ก็ต้องมีหน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับคนหนุ่มสาว อยู่ในกฎเกณฑ์ของธรรมะ ไม่ปล่อยให้มันเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ดังนั้นคนหนุ่มสาวก็จำเป็นที่จะต้องรู้ธรรมะในหน้าที่ของตน ในระดับของตนตามสมควร เดี๋ยวนี้ในโรงเรียนไหนก็ไม่สอน ในมหาวิทยาลัยไหนก็ไม่สอนเรื่องธรรมะ คือเป็นมนุษย์กันอย่างไรนี่ไม่สอน สอนแต่หนังสือสอนแต่วิชาชีพจนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา ผูกขาดขูดรีดใครก็ได้ เพราะมันไม่มีธรรมะ เมื่อสมรสแต่งงานแล้ว หน้าที่ก็เปลี่ยนไปอีก เปลี่ยนไปสำหรับจะสืบพันธ์ แล้วก็เลี้ยงดูพืชพันธ์ อบรมทารกนั้นให้ถูกต้อง หน้าที่ธรรมดาทำมาหากินอะไรก็มีอยู่ แต่เพิ่มหน้าที่ที่จะต้องสืบพันธุ์ และเลี้ยงดูผลิตผลที่เกิดมาจากกการสืบพันธุ์ คำว่าสืบพันธุ์นี้อย่าเอาไปปนกับคำว่ากามารมณ์ กามารมณ์เป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเรื่องเสพติด เป็นเรื่องบ้าวูบเดียว แต่ถ้าเป็นการสืบพันธุ์แล้วมันยืดยาวถาวร จนกว่าทารกนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกต้องขึ้นมาได้ พ่อบ้านแม่เรือนจึงมีธรรมะเพิ่มขึ้นอีกมาก แล้วก็ต้องเลยเป็นภาระหนัก เป็นภาระที่หนัก เป็นตอนที่มีภาระหนักที่สุด
ทีนี้ก็มาถึงคนแก่ คนแก่จนหง่อม ก็เปลี่ยนหน้าที่ มันจะต้องเปลี่ยนหน้าที่ เพราะมันไม่มีแรงที่จะทำอะไรเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องมีหน้าที่ให้เหมาะกัน สำหรับลูกหลานจะได้เลี้ยงดูให้รอดชีวิตอยู่ได้ คนแก่นี้ว่าที่จริง ควรจะเป็นผู้แนะนำสั่งสอนลูกหลานโดยไม่ต้องไปทำไร่ทำนา หรือทำงานอะไรอีก เพราะมันทำไม่ได้แล้ว แต่มีหน้าที่ที่จะเป็นที่ปรึกษาทางจิต ทางวิญญาณของลูกหลาน ของคนที่มันอายุน้อยกว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ คนแก่ก็สมบูรณ์ไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน
ดังนั้นขอให้ถือว่าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ออกมาจากครรภ์ เติบโตจนแก่ชรา ไม่ว่างเว้นจากหน้าที่ มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามสถานะนั้น ๆ และหน้าที่นี้ก็คือธรรมะ ดังนั้นมันก็กล่าวได้ว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติจนตลอดชีวิต นับตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะเข้าโลง จะแบ่งเป็นกี่ขั้นตอน มันก็เป็นสิ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้ครบถ้วน ถูกต้องครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันใช้ไม่ได้ มันต้องถูกต้องจริง ๆ และดับทุกข์ได้จริง และให้ครบทุกอย่างสำหรับจะดับทุกข์ทุกอย่างที่มันมี เพราะว่าความทุกข์มันไม่ใช่มีอย่างเดียว มีอย่างสลับซับซ้อนมากมายหลายอย่าง
ทีนี้จะทำหน้าที่อย่างไรตั้งแต่เด็กจนกว่าจะเข้าโลง ตามธรรมดาหมู่คนที่มีวัฒนธรรม ก็อบรมสั่งสอนลูกให้รู้หน้าที่ลูก บิดามารดา หน้าที่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์ ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้ลูกมักจะไม่รู้ความหมายของคำว่าบิดามารดา มันจึงเกิดการล้อเลียนกันว่า ลูกเป็นผู้มีบุญคุณแก่บิดามารดา ลูกบังเกิดเกล้าให้แก่บิดามารดา ในบางคน เพราะว่าบิดารมารดาทำอะไรไม่ได้ ลูกมีหน้ามีตา มีเงินเดือนแพง มีอะไรมาเลี้ยงดูบิดามารดา มองกลับกันอย่างนี้ กลายเป็นลูกมีบุญคุณต่อบิดามารดา แล้วก็เตลิดเปิดเปิงกันใหญ่ หน้าที่ต่อครูบาอาจารย์นี่ เข้าใจว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายย่อมรู้ดีว่า เด็ก ๆ เขาไม่ได้ให้ความหมายแก่คำว่าครูบาอาจารย์ในฐานะเป็นปูชนียะบุคคลต้องเคารพ ต้องเชื่อฟัง และมีพระคุณอย่างยิ่ง เหมือนที่ได้บรรยายแล้วในวันก่อนเรื่องคำว่า ครู นี่กำลังเป็นปัญหานะ เรื่องเด็ก ๆ ไม่รู้ความหมายของคำว่าบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นมากขึ้นทุกที เป็นมากขึ้นทุกทีจนปกครองกันลำบาก คำว่าพระเจ้าพระสงฆ์เป็นคำโบราณ ใช้เรียกกันมาแต่โบราณว่า พระเจ้าพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ คนสมัยนี้ก็ไม่หวังผลอย่างนั้นเสียแล้ว หวังผลแต่จะให้บอกเบอร์ หรือรดน้ำมนต์ ความหมายของพระเจ้าพระสงฆ์มันเลยเปลี่ยนไปหมด ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามสถานะแห่งตน จะแบ่งเป็นวรรณะก็ได้ไม่เสียหายอะไรแต่แบ่งโดยหน้าที่ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรโดยหน้าที่ อย่าแบ่งโดยกำเนิดเกิดมาจากนั่นแล้วก็เป็นนั่น อย่างนั้นไม่ถูก แล้วเลิกเสียก็ได้ ใครก็ได้ถ้าทำหน้าที่ นักรบนักปกครองก็เรียกว่าวรรณะกษัตริย์ ใครทำหน้าที่นำทางวิญญาณก็เรียกว่าพราหมณ์ หรือครูบาอาจารย์ ทำหน้าที่ประกอบการงานเป็นกำลังแก่สังคมแก่บ้านเมือง อย่างนี้เรียกว่าไวศยะ หรือแพศย์ แล้วที่ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้นก็เป็นกรรมกร ศูทร วรรณะ ๔ โดยหน้าที่ บางคนเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านเลิก พระเจ้าไม่ได้เลิกวรรณะ ๔ โดยหน้าที่ แต่เลิกวรรณะ ๔ โดยกำเนิด โดยกำเนิด จึงรับคนทุกข์วรรณะเข้ามาบวชได้ และเมื่อเข้ามาทำหน้าที่ถูกต้อง เขาก็เป็นอะไรต่อไปตามที่มันจะต้องเป็น หรือควรจะเป็น นี่วรรณะเป็นเครื่องหมายของระดับแห่งหน้าที่ มันเลิกไม่ได้ หรือจะพูดอย่างอื่นก็ยังพูดได้อีกเยอะแยะ อย่างแมวจับหนู เพราะมันมีทำหน้าที่จับหนู จึงเรียกว่าแมว ก็ต้องเรียกว่ามันทำหน้าที่ตามวรรณะของแมว ถ้าสุนัขทำหน้าที่อย่างอื่นก็เป็นสุนัข หรือสัตว์อย่างอื่น วัวควายก็ทำหน้าที่ตามหน้าที่ มันก็เป็นวัวควายอย่างถูกต้อง การที่จะมีธรรมะคุ้มครองตนได้นั้น ต้องมีการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
ถ้าจะสรุปความสั้น ๆ หน้าที่นั้นแยกเป็นสองหน้าที่ หน้าที่การบริหารชีวิต การบริหารชีวิตนี่ให้รอดให้อยู่เป็นสุข และหน้าที่ที่สูงขึ้นมาก็คือการใช้ชีวิตนั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราจึงต้องสนใจเรื่องทำมาหากิน เรื่องให้ชีวิตรอดอยู่ได้ แล้วก็สนใจว่าทำอะไร ทำอย่างไรจึงจะเจริญงอกงามก้าวหน้าให้ขึ้นไปอยู่เหนือความทุกข์ทุก ๆ ประการ มันเป็นหน้าที่หลักเพียง ๒ ข้อก็พอ แต่หน้าที่ย่อยแจกไปเถอะ ได้กี่สิบอย่างกี่ร้อยอย่างตามเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกัน แม้แต่การบริโภคผลงานให้ถูกต้องนี่ก็เป็นหน้าที่ เช่นได้ผลงานเป็นเงินเป็นทองมาจะทำอย่างไร ก็ต้องทำให้มันถูกต้อง เดี๋ยวนี้เขาไปทำอบายมุขกันหมด หมดจนเป็นหนี้ เป็นหนี้จนต้องโกง มันก็ห่างไกลกันคนละเรื่องทีเดียว ทีนี้ข้อที่จะพูดต่อไปอีกก็คือว่าทำหน้าที่ให้สนุก หน้าที่นี้ทำให้เป็นทุกข์ก็ได้ ทำให้เป็นสุข หรือสนุกก็ได้ แล้วแต่ความคิดนึกรู้สึกที่อบรมมาแต่เดิม แต่โดยเนื้อแท้นั้นหน้าที่ หรือการงานนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ เช่น รู้ว่าเป็นธรรมะที่จะช่วยให้รอด ธรรมะเป็นผู้ช่วยให้รอด หน้าที่เป็นผู้ช่วยให้รอด หน้าที่เป็นพระเจ้าผู้ช่วยให้รอด ทีนี้ก็ประพฤติให้ตรงตามความประสงค์ของพระเจ้า คือทำหน้าที่ให้มันถูกต้อง พยายามทำอย่างยิ่ง คือการอ้อนวอนให้พระเจ้าช่วย ทำงานให้สนุก สนุก เพราะรู้ว่านี่คือธรรมะ นี่คือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ นี่คือเกียรติยศสูงสุดของมนุษย์ นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอดให้หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง จึงเคารพธรรมะ หรือเคารพหน้าที่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกองค์เคารพธรรมะ คือเคารพหน้าที่ ถ้าพอรู้จักว่าหน้าที่ คืออย่างนี้ มันก็ชอบหน้าที่ ก็ชอบทำงาน การทำงานนั้นมันก็กลายเป็นของให้ความสุขสนุกไปตั้งแต่เมื่อทำงาน คือกำลังทำงานอยู่ ต้องมีความรู้สึกที่เป็นสุข เพราะมีความรู้สึกที่ถูกต้องว่านี่คือหน้าที่ นี่คือธรรมะ นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด ให้ชีวิตรอด และเจริญ ถ้าอบรมกันอย่างนี้ตั้งแต่ลูกเด็ก ๆ เล็ก ๆ เข้าใจว่ามันคงจะดีขึ้น คือจะเป็นคนที่ทำงานสนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน เมื่อมันเป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงานอยู่แล้วมันก็ไม่ต้องไปหาความหลอกลวง เช่น กามารมณ์ เป็นต้น ซึ่งมันก็เป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเท่านั้น มันไม่ใช่ความสุขอะไรที่ไหน ถ้าให้ลูกเด็ก ๆ รู้จักความแตกต่างระหว่างความเพลิดเพลิน กับความสงบสุขได้จะดีที่สุด
ทีนี้เขายังเอา คน คนเอาไปปนกัน แล้วมักจะเอียงไปในทางความเพลิดเพลิน สนุกสนานว่าเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนจึงตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนทำงานหาเงินมาก ๆ แล้วก็ไปซื้อหาความเพลิดเพลินเหล่านั้น เงินก็หมดไอ้ความสุขที่แท้จริงก็ไม่ได้ แต่ถ้าว่ารู้เรื่องธรรมะ คือหน้าที่ พอได้ทำก็รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ช่วยให้รอด ก็เป็นสุข เป็นสุข พอใจ เป็นสุขแล้วพอใจ บอกตัวเองว่าเป็นสุข และพอใจ ก็เลยไม่รู้จะไปหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงอะไรที่ไหนกันอีก มันก็ไม่ลุ่มหลงในเรื่องกามารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในโลกเวลานี้ที่ทำให้คนเงินไม่พอใช้ คือความเพลิดเพลินมันหลอกลวง ไม่ใช่ความสุขอันถูกต้องแท้จริง ถือไว้เป็นหลักได้เลยว่าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ยิ่งใช้เงินเท่าไรยิ่งเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเท่านั้น ช่วยทำให้เป็นที่เข้าใจในหมู่เด็ก ๆ เสียแต่บัดนี้ ความสุขที่แท้จริงจะไม่ใช้เงินเลย ถ้าใช้เงินเท่าไรก็เป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเท่านั้น ความสุขที่แท้จริงมันเกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้ปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะอยู่กับตน รู้สึกเป็นสุขอิ่มอกอิ่มใจอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน มันก็ไม่หิวกระหายทางกามารมณ์ ผลงานที่เป็นเงินเป็นทองก็ไม่ต้องใช้เพื่อซื้อกามารมณ์ มันก็เหลืออยู่
สรุปความว่า ถ้ามีความสุขที่แท้จริงแล้วเงินจะเหลืออีกเยอะแยะ เพราะมันไม่ต้องใช้เงิน เพราะมันซื้อด้วยเงินไม่ได้ ถ้าว่าเขาเอาความเพลิดเพลินหลอกลวงเป็นความสุข ก็ตกเป็นเหยื่อของกิเลส เป็นบ่าวของกิเลส ก็ทนไปทำไป ได้เงินมาเท่าไรก็ไม่พอใช้สำหรับจะหล่อเลี้ยงกิเลส ก็ตกนรกทั้งเป็น ถึงกับวุ่นวายสูญเสียความรู้สึกที่ถูกต้อง ต้องฆ่าตัวตายกันเพราะเหตุนี้ นี่เรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์เป็นมูลเหตุแห่งอาชญากรรมซึ่งมากมายเหลือเกิน ความสุขที่แท้จริงให้เงิน ความทุกข์ที่หลอกลวงต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ถ้าใครเงินเดือนไม่พอใช้อยู่เดี๋ยวนี้ไปดูให้ดีว่าได้ใช้เงินไปในลักษณะอย่างไร เพื่อความเพลิดเพลินอันหลอกลวงใช่ หรือไม่ อย่าอบรมเด็ก ๆ ให้มีนิสัยชอบความเพลิดเพลินอันหลอกลวง คือตามใจ เอาใจแต่เรื่องสนุกสนาน เอร็ดอร่อย สวยงามอะไรก็ตาม เท่ากับว่าได้ทำลายชีวิตวิญญาณของเด็ก ๆ เหล่านั้นเสียเกือบหมดแล้ว เพราะทำให้เด็ก ๆ ลุ่มหลงไปในเรื่องที่ไม่ใช่ความสุข ในฐานะที่เป็นความสุข ความรู้ชนิดนี้น่าจะมีการสอนกันไปตั้งแต่ชั้นอนุบาล ให้รู้จักแยกความสุขที่แท้จริง กับความเพลิดเพลินอันหลอกลวง
เอาล่ะ, จะพูดอีกสักนิดหนึ่ง สักข้อหนึ่ง หมด จะหมดเวลาอยู่แล้ว
การปฏิบัติธรรมะ หมายความว่าถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และให้ผลคือ ความสุข ความสงบใจ และเป็นที่พอใจแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ มันต้องศึกษากันบ้างว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก อะไรชั่วดี แล้วก็เลือกทำอยู่แต่ฝ่ายที่ถูกต้อง หรือฝ่ายที่ดีตลอดเวลา และสถานที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ อยากจะยกตัวอย่างสักอย่างหนึ่ง จะเคอะ หรือไม่เคอะก็ลองคิดดูเองว่า พอตื่นนอนขึ้นมามีสติทำความรู้สึกว่า มีความถูกต้องแล้วก็พอใจ เพราะการได้นอนคืนหนึ่งนั้น คือความถูกต้อง แล้วก็รู้สึกพอใจ การที่ได้นอนนั้นมันถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ สำหรับพักผ่อน และมีเรี่ยวแรงสำหรับทำงานในวันต่อไป พอตื่นนอนขึ้นมามีสติ รู้สึกความถูกต้อง แล้วก็บอกว่าพอใจ พอใจ ถ้าถือพระเจ้า เขาก็ขอบคุณพระเจ้า แต่ในพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าชนิดที่จะต้องขอบคุณ มีแต่พระเจ้าชนิดที่ธรรมะ ที่เป็นธรรมะ ก็พอใจ และขอบคุณด้วยก็ได้ ทีนี้พอจะลุกไปล้างหน้าก็ลุกไปด้วยความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้วที่จะไปล้างหน้า แล้วก็พอใจในการที่จะเดินไปล้างหน้า เมื่อล้างหน้าอยู่ ก็มีความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจ พอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ทีนี้จนเสร็จล้างหน้า จะไปห้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ถูกต้องแล้วอีกนั่นแหละ ถูกต้องแล้วอยู่ในใจ ก็เข้าไปในห้องปัสสาวะ แล้วก็ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะด้วยความรู้สึกที่ว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว และพอใจ ทีนี้เสร็จกิจ เสร็จการถ่ายอุจจาระปัสสาวะแล้วก็รู้สึกว่าถูกต้อง และพอใจ ทีนี้ก็จะไปห้องรับประทานอาหาร จะเดินไปห้องรับประทานอาหาร ก็มีความรู้สึกที่ว่าถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ เพราะว่ามันถูกต้องแล้วที่จะต้องกินอาหาร เมื่อกินอาหารอยู่ ก็รู้สึกว่าถูกต้อง เมื่อกำลังกินอาหารมีความถูกต้องหลาย ๆ อย่างนะที่จะต้องระวังรักษา ก็ทำได้จนถูกต้อง และเป็นที่พอใจกว่าจะกินอาหารเสร็จ จิตใจชนิดนี้จะทำให้กินอาหารได้ดี กินอาหารได้ถูกต้องด้วย เสร็จกินอาหาร ก็พอใจ ถูกต้องและพอใจ ทีนี้จะไปทำงาน จะแต่งตัวไปทำงาน กำลังแต่งตัวอยู่นั่นก็ถูกต้อง และพอใจ ถูกต้อง และพอใจ จนกระทั่งลงบันไดเรือนไป ก็ถูกต้อง และพอใจ ไปขึ้นรถ ไปทำงานก็ถูกต้อง และพอใจ เพราะว่าเราได้ทำสิ่งเหล่านี้ถูกต้อง เข้าไปในห้องทำงานก็เตรียมพร้อมที่จะทำให้มันถูกต้อง สำรวมจิตใจให้ดีที่สุด เหมือนกับตั้งนะโมเสียก่อนอย่างนั้นแหละ เพื่อจิตใจเหมาะสมที่สุดที่จะทำการงาน และทำการงานด้วยความรู้สึกที่ถูกต้อง และพอใจ นึกถึงพระธรรมไว้เรื่อยไป คุ้มครองไม่ให้ทุจริต ทำงานอย่างถูกต้อง และพอใจตลอดเวลากว่าจะเลิกงาน จะเลิกงานก็ถูกต้อง และพอใจอีก ทีนี้ก็ถูกต้อง และพอใจ กลับมาบ้าน มาทำอะไร เข้ารูปเดิมว่าถูกต้อง และพอใจ พูดได้ว่าเราทำถูกต้อง และพอใจได้ทุก ๆ วินาทีก็ได้ ทุกกระเบียดนิ้วของการเคลื่อนไหวก็ได้ มีความถูกต้อง และพอใจทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้วของการเคลื่อนไหว แล้วปัญหาอะไรจะมีล่ะ คิดดู ในที่สุดก็พอใจตัวเอง เหมือนกับได้เป็นเทพเจ้า หรือเป็นพรหม มีความพอใจในตัวเองขนาดนั้น และอยู่ด้วยธรรมะชนิดนี้
ธรรมะ คือความถูกต้องชนิดนี้ มันมีความหมายแห่งนิพพานรวมอยู่ด้วยเสร็จ คือเย็นอกเย็นใจ นิพพานในความหมายเบื้องต้น เบื้องต่ำที่สุดนั้นก็แปลว่าเย็น นับตั้งแต่เย็นอกเย็นใจตามธรรมดาสามัญก็สงเคราะห์อยู่ในนิพพาน จนกระทั่งเย็น เพราะหมดกิเลส หมดกิเลส สิ้นกิเลส ได้รับปริญญาในพุทธศาสนา คือสิ้นราคะสิ้นโทสะ สิ้นโมหะนี่จัดเป็นปริญญาในพุทธศาสนา (นาทีที่01.07.29-01.07.46ไฟล์มีปัญหาสะดุด) (นาทีที่01.07.5เริ่มใหม่) (10.09.53-1.10.11เสียงหายโผล่มาซ้ำกับช่วงต้น เลยขอตัดต่อเรียงใหม่) มันก็ยิ่งเย็น ชีวิตได้พบสิ่งสูงสุดคือความเย็น และจะจัดสิ่งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็ไม่เสียชาติที่เกิดมา นี่แหละการงาน คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม คือการทำหน้าที่ หน้าที่ คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เป็นสิ่งที่จะต้องทำสำหรับชีวิตทุกชนิด มนุษย์เราก็ทำหน้าที่ หน้าที่ของความเป็นมนุษย์ จนมีความรู้สึกว่าถูกต้อง พอใจ จนกระทั่งยกมือไหว้ตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อใดไหว้ตัวเองได้เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ เมื่อใดเกลียดน้ำหน้าตัวเองเมื่อนั้นเป็นนรก ไม่ต้องแจงรายชื่อ เมื่อใดมีการกระทำที่ถูกต้อง และพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ อันนั้นเป็นสวรรค์ สวรรค์จริง ๆ สวรรค์ที่นี่ สวรรค์เดี๋ยวนี้ เป็นสวรรค์ชนิด สันทิฏฐิโก รู้สึกอยู่แก่ใจด้วยตนเอง มีอยู่ในใจจริง ๆ ไม่จำกัดกาลเวลา เป็นฤดูกาลอะไร แล้วก็มีอยู่ในภายในใจจริง ๆ พอที่จะว่า เอหิปัสสิโก มาดู มาดู ฉันมีอย่างนี้ ฉันมีอย่างนี้ มาดู มาดู และก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะรู้สึกได้เฉพาะของตนโดยแท้จริง พูดแล้วก็จะไม่เชื่อ เพราะว่าศึกษามาต่างกัน ให้ความหมายต่างกันว่า นิพพานอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องทำความดีอีกหลายหมื่นชาติจึงจะได้นิพพาน และอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะได้อะไรบ้างก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเขาว่าดีที่สุด มีความสุขที่สุด ก็เลยเหมาเอาความสุขอันหลอกลวงนั้นแหละเป็นความหมายของนิพพาน ถ้าอย่างนี้ล่ะก็เดินสวนทางกันแน่ ความที่ไม่มีความร้อนรบกวนนั้นแหละ คือพระนิพพาน ร้อนเพราะกิเลส ร้อนเพราะความทุกข์ ร้อนเพราะปัญหานา ๆ ประการ นี่มันร้อน ร้อนมันก็ไม่เป็นนิพพาน ไม่เป็นชีวิตเย็น ศึกษาให้รอบรู้ ปฏิบัติให้ครบถ้วน ให้ชีวิตมันเย็น มันก็มีความเป็นนิพพานหล่อเลี้ยงชีวิตนั้นอยู่ แล้วค่อย ๆ ทำไป ค่อย ๆ ทำไปให้เวลาที่มันเย็นยาวออก ยาวออก คือมากขึ้น แล้วก็จะเย็นตลอดไปได้เป็นนิพพานจริง
ในชั้นนี้ขอให้ชิมรสนิพพานสำหรับลอง นิพพานสำหรับชิมลองนี่ ทำกันไปก่อน คือให้เย็นอกเย็นใจอยู่ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่ก็รู้สึกว่า ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ นั่นก็เป็นการทำให้ชีวิตมันเย็น เป็นนิพพานตัวอย่าง นิพพานชิมลอง นิพพานชั่วขณะ แล้วก็ทำให้มันมากขึ้นจนมันเย็นได้ตลอดไป หรือเย็นมากถึงที่สุด ก็เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ได้ที่นี่ ในชาติปัจจุบันนี้ ถ้ามีความหวังตั้งไว้อย่างนี้ ก็มีความหวังว่าจะต้องสำเร็จตามนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเอานิพพานไปฝากไว้อีกหลายหมื่นชาติแล้วมันก็ไม่ต้องพูดกัน เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะต้องทำอะไร เราจงเพ่งลงไปที่ความไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ไม่มีความทุกข์ปรากฏ ไม่มีปัญหาใด ๆ รบกวนใจ เพราะเรากระทำมันถูกต้องหมดแล้ว อานิสงส์ของหน้าที่ ช่วยได้อย่างนี้ อานิสงส์ของธรรมะช่วยได้อย่างนี้ เพราะว่าไม่บกพร่องในหน้าที่
สรุปความว่า เมื่อใดทำหน้าที่ เมื่อนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ มีการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เมื่อนั้นมีการปฏิบัติธรรม แล้วก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจอย่างที่กล่าวมาแล้ว ใครอยากจะลองดูก็ลองได้ คือจับให้มีความรู้สึกถูกต้อง และพอใจในทุก ๆ อิริยาบถ แต่ครั้งแรกมันคงจะขลุกขลักบ้าง แต่ถ้าได้ทำไป ทำไปจนคุ้นเคยแล้วก็ไม่ยากอะไร สามารถจะเรียกร้องเอาความพอใจในความเย็นนั้นมารู้สึกอยู่เสมอ การทำอย่างนี้ ถ้าจะจัดให้เป็น กัมมัตฐาน, กัมมัตฐาน มันก็ได้แก่ กัมมัตฐาน ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกในอนุสติว่า อุปสมานุสติ, อุปสมานุสติ เป็นชื่อหนึ่งในอนุสติ ๑๐ เราประกอบอนุสติ อุปสมานุสติ นี้อยู่เสมอก็สามารถจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ เรื่องก็จะจบ
นี่คือคำบรรยายในหัวข้อที่สองว่า การปฏิบัติงาน คือการปฏิบัติธรรม มีลักษณะอย่างไร มีผลอย่างไรก็ขอให้เอาไปใคร่ครวญศึกษาดูให้แจ่มแจ้งชัดเจน และจัดให้มีโอกาสได้ประพฤติกระทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนชนิดไหน จะเป็นขอทานก็ได้ ทำความรู้สึกว่าถูกต้อง และพอใจ เมื่อนั่งขอทานก็ได้ ถ้าคนเขาไม่ให้ เขาด่า ก็ทำความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว พอใจ เพราะว่ามันเป็นอย่างนี้เอง ในโลกนี้ ถ้าว่าคนโดยมากเขาก็ให้ ให้ก็ถูกต้อง ที่รับมาพอใจ ทำจนกระทั่งไม่ต้องนั่งขอทาน ขอให้ตั้งต้นมาตั้งแต่คนขอทานทีเดียว ที่ว่าจะเลื่อนชั้นขึ้นมาสำหรับความเป็นมนุษย์ขั้นสูงสุด ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดได้ด้วยกันทุกคน พุทธศาสนามีหลักเกณฑ์อย่างนี้ แต่พูดไว้ด้วยถ้อยคำมากมาย ยากที่จะจัดความหมายทั้งหมดมารวมเป็นอันเดียวกันได้ ทีนี้อาตมาก็ช่วยทำช่วยเก็บใจความ หรือความหมายของทุกข้อ ทุกประเด็นในพระธรรม ในพระไตรปิฎก มาพูดให้เป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างนี้ว่าการปฏิบัติธรรม คือการทำหน้าที่ การทำหน้าที่ คือการปฏิบัติธรรม เวลาหมดแล้วขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ที่ร้องนี่ก็คือมันทำหน้าที่ มันมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างนั้น มันมีหน้าที่ที่จะต้อง