แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมกันทำหลักสูตรจริยธรรมเพื่อการพลศึกษาทั้งหลาย ในการบรรยายเป็นครั้งที่ ๖ นี้ อาตมาก็จะได้กล่าวตามหัวข้อที่ท่านทั้งหลายกำหนดให้ว่า อานาปานสติภาวนาและการปฏิบัติ
หัวข้อนี้ก็นับว่ามีเหตุผลที่เราจะต้องมี คือเป็นการพูดกันถึงเครื่องมืออันสำคัญของความสำเร็จของมนุษย์เรา ก็คือการรู้จักใช้สิ่งที่เรียกว่าจิตให้เป็นประโยชน์ที่สุด ท่านลองนึกดูให้ดี การใช้จิตให้เป็นประโยชน์ที่สุดนี้มันสำคัญอย่างไร แล้วเรารู้จักกันเท่าไหร่ ดูจะรู้จักน้อยมาก ยิ่งการศึกษายุคปัจจุบันที่เราเรียกกันว่าการศึกษาสุนัขหางด้วนนี้ จะยิ่งไม่มีเอาเสียเลย จะยิ่งไม่รู้จักการใช้จิตให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุดเอาเสียเลย อาตมาจึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผลที่เราจะพูดกันถึงเรื่องนี้หรือศึกษากันในเรื่องนี้
ในชั้นแรกนี้จะพูดถึงคำหรือชื่อของมัน เราเรียกชื่อของการกระทำนี้ว่าจิตตภาวนา คือการอบรมจิตให้เจริญอย่างนี้ก็มี เรียกว่าสมาธิภาวนา การสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ อย่าเข้าใจแคบๆ ว่าเจริญสมาธิ แต่เราเจริญทุกสิ่งที่ควรทำให้เจริญแล้วก็ใช้สมาธินั้นเป็นเครื่องมือ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ได้มากที่สุดแหละ หาความสุขก็ได้ มีฤทธิ์ มีเดชมีปาฏิหาริย์ก็ได้ ให้เป็นอยู่อย่างฉลาดสามารถถูกต้องที่สุดกระทั่งสิ้นอาสวะไปนิพพานก็ได้ ถ้าเราสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ ในพระบาลีมีคำที่ไพเราะอยู่คำหนึ่งเรียกว่าจิตตาโยค อธิจิตฺเต จ อาโยโค จิตตาโยค คือการประกอบการกระทำในการทำจิตให้มันยิ่ง อธิจิตแปลว่าจิตยิ่ง อาโยคะแปลว่าการประกอบหรือการกระทำ มันเป็นการประกอบหรือการกระทำให้จิตนี้เป็นจิตที่ยิ่งคือเป็นจิตที่สูงสุด ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ จิตนี้มันไม่สูงสุด แม้ว่ามันจะทำอะไรได้มากอยู่เหมือนกัน แต่ไม่สูงสุด เราพบระบบที่ทำจิตนี้ให้สูงสุด บางทีท่านก็เรียกกันว่า กัมมัฏฐาน เรียกสมาธิว่ากัมมัฏฐาน
กัมมัฏฐานแปลว่าฐานอันมั่นคงของการงานหรือการกระทำ กรรมแปลว่าการกระทำ ฐานแปลว่าฐานราก สมาธินี้เป็นฐานรากของการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์จะต้องทำ แต่ว่าเด็กๆ ของเราพอได้ยินคำว่ากัมมัฏฐานแล้วมันมองเป็นเรื่องผีสางเทวดาอะไรไปเสียหมด มันไม่รู้ว่ากัมมัฏฐานคือฐานรากอันมั่นคงแห่งการกระทำ เมื่อมนุษย์มันมีการกระทำที่ต้องกระทำ มันต้องมีฐานรากที่ดี ฐานรากที่ดีนั้นก็คือสมาธิ ฉะนั้นเราก็ฝึกสมาธิในฐานะเป็นฐานรากที่ดีของการกระทำที่เราจะกระทำ คำว่ากัมมัฏฐานหมายความอย่างนี้ จะเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็หมายความอย่างนี้ สมถกัมมัฏฐานทำความสงบคือรวบรวมกำลังจิตทั้งหมด ถ้าเรารวบรวมกำลังของจิตทั้งหมดเอามาใช้ได้ แล้วจะไม่เรียกว่าฐานรากอันมั่นคงของการงานได้อย่างไรเล่า ถ้าจะเรียกว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานก็คือการกระทำที่ทำให้เห็นแจ้งในสิ่งทุกสิ่ง อย่าได้ทำผิดๆ กับสิ่งใดเลย ก็ดูเถิด สมาธิมันก็เป็นรากฐานของการงานชนิดนี้ มันก็มีประโยชน์ที่สุด เราจะเรียกกันว่าอย่างไรก็ตามเถิด ความหมายมันก็อยู่ที่วิธีการทำจิตให้เป็นสิ่งที่รับใช้อย่างมีประโยชน์ที่สุด โดยหลักธรรมะส่วนใหญ่นิยมเรียกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแปลว่าการดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงโดยชอบ ดำรงจิตไว้ให้มีความเข้มแข็งมั่นคงโดยชอบ คืออยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง เราอาจจะทำจิตให้มั่นคงแต่ในลักษณะที่ผิดๆ ก็ได้ คือมันผิดเรื่องที่ควรจะทำ มันเป็นมิจฉาไป เป็นมิจฉาสมาธิไป ฉะนั้นคนพาลทำงานของเขาสำเร็จอย่างใหญ่หลวงก็ด้วยมิจฉาสมาธิ คือควรเห็นว่าขึ้นชื่อว่าสมาธิแล้ว มันมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งนั้นแหละ ต้องการให้ผิดก็ได้ ต้องการให้ถูกก็ได้ มันจึงมีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ เดี๋ยวนี้เราต้องการประโยชน์อันแท้จริง เราจึงมีแต่ฝ่ายสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นคุณธรรมสำคัญที่จะทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อบรรลุนิพพานนั้น ยกเอาสัมมาสมาธิเป็นตัวสำคัญ นอกนั้นเป็นอุปกรณ์ของสมาธิทั้งนั้นแหละ สัมมาทิฏฐิก็ดี สังกัปโปก็ดี วาจา กัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ อะไรก็ตาม จัดไว้ในฐานะเป็นบริวารของสิ่งที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ แม้ว่าสัมมาทิฏฐิมันจะมาก่อนก็จริง มันก็เพียงมาก่อนหรือนำหน้า มันก็ยังเป็นบริวารของสมาธิอยู่ดี ฉะนั้นเรามามุ่งหมายที่จะรู้จักตัวการสำคัญของทั้งหมดคือสัมมาสมาธิ
ทีนี้ต่อไปจากสัมมาสมาธิ ยังมีอีก ๒ สัมมา นั้นมันเป็นส่วนผล ไม่ใช่ส่วนการกระทำ ที่เป็นส่วนการกระทำมีอยู่ ๘ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นส่วนการกระทำ ต้องสัมมาๆ สัมมาคือถูกต้อง แล้วพอมาอันสุดท้ายคือสัมมาสมาธินั้นเป็นแกนกลางเป็นใจกลาง เหมือนกับว่ามันเป็นหัวหน้า
ทีนี้ผลต่อไปอีก ๒ สัมมา ก็คือสัมมาญาณะ คือรู้อย่างถูกต้อง แล้วก็สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นอย่างถูกต้อง ดูทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีความถูกต้องอยู่ ๑๐ อย่าง และอันที่ ๘ คือสัมมาสมาธินั่นแหละเป็นตัวสำคัญ เป็นจุดแกนกลางอยู่ที่นั่น
เดี๋ยวนี้เราก็กำลังจะพูดกันถึงเรื่องนั้น คือเรื่องที่ว่าสัมมาสมาธิ แต่จะดูในรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าอานาปานสติ อานาปานสติเป็นสัมมาสมาธิที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นที่ตั้งแห่งสัมมาอื่นๆ ได้ทั้งหมดเลย ฉะนั้นถ้าเราประพฤติระบบอานาปานสตินี้ มันจะเป็นที่ตั้งแห่งสัมมาทุกสัมมาเลยทั้ง ๑๐ สัมมา ฉะนั้นจึงควรที่จะพูดกัน
เอาล่ะ,เป็นอันว่าเราจะพูดถึงอานาปานสติ บางคนอาจจะได้ยินได้ฟังมาว่า อานาปานสตินี้เป็นเรื่องสมาธิอย่างเดียว โดยเอาไปบรรจุไว้ในอนุสสติ ๑๐ ซึ่งมีอานาปานสติรวมอยู่ด้วย ที่จริงมันมากกว่านั้น มันไม่ใช่เป็นเพียงสมาธิอย่างเดียว ฟังให้ดีๆ นะ เมื่อพูดว่าอานาปานสติเป็นการปฏิบัติระบบหนึ่ง การปฏิบัติระบบนี้ไม่ได้เป็นเพียงสมาธิอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นสมาธิโดยสมบูรณ์แบบ มันก็ให้เป็นอะไรไปหมดที่ควรจะเป็นได้ คือเมื่อทำอานาปานสติอยู่ มันมีศีลบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วย เป็นสมาธิสมบูรณ์ด้วย และเป็นปัญญาเป็นความเห็นแจ้งที่สมบูรณ์ด้วย แล้วอันสุดท้ายมันการบรรลุมรรคผลนิพพานด้วย คือชื่อว่านิโรธะ,นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสีอันสุดท้ายนั่น มันเป็นการบรรลุมรรคผล แล้วรู้สึกอยู่ด้วยการว่าบรรลุมรรคผล คือซัดเหวี่ยงความทุกข์ออกไปหมดแล้วโดยคำว่าปฏินิสสัคคะ ฉะนั้นระบบอานาปานาสติจึงเป็นระบบที่กว้างขวางครอบงำหมดเลยในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
ทีนี้ที่อาตมาอยากจะขอให้สนใจให้กว้างออกไปว่า ท่านจะถือว่าระบบอานาปานสตินี้มันเป็นวิธีการดับทุกข์ก็จริง แต่เราอาจจะมองดูได้ในรูปแบบทุกๆ รูปแบบ คือมันจะเป็นวัฒนธรรมก็ได้ คือมนุษย์ได้ค้นจนพบว่าวิธีนี้ดีที่สุด ดับทุกข์ได้ดีที่สุด ก็จัดเป็นวัฒนธรรมได้ หรือจะดูเป็นศิลปะมีความงามที่สุดในการกระทำ ดับทุกข์ได้ด้วยอาการอันงดงาม มันก็เป็นศิลปะ ท่านจะดูมันในแง่ของจิตวิทยาก็ได้ ไม่มีจิตวิทยาไหนที่มันจะมาสู้จิตวิทยาอานาปานสติ เพราะมันดับทุกข์ได้ และมันไม่โกหก มันไม่หลอกลวง มันไม่มีอะไรที่คดๆ งอๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ เราจะดูในแง่ของอะไรที่เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ ก็จะดูได้หรือหาพบได้ในระบบความประพฤติอานาปานาสติ
จะยกตัวอย่างว่า จะดูกันในแง่ของศิลปะ เมื่อคนเรามีสมาธิแล้วก็ทำงานศิลปะได้ดี ศิลปะอะไรที่มันดีและมีประโยชน์นั้น ถ้าทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิแล้วก็จะทำได้ดี ที่เขาคุยกันนักในประเทศญี่ปุ่น เช่นศิลปะของการจัดดอกไม้ คนที่มีจิตเป็นสมาธิกำหนดอารมณ์ของสมาธิ ไม่มีกิเลสรบกวน และมือของเขาก็เสียบดอกไม้ลงไปในแจกันอย่างนี้ เขาก็จะได้รูปแบบรูปหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่ว่าคนที่มันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยกิเลสแล้วก็เสียบดอกไม้ลงไปในแจกัน นี่ศิลปะการจัดดอกไม้ ถ้าทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ และถ้าสูงสุดถึงกับเป็นจิตว่างๆ จิตว่างก็เป็นสมาธิ คือเอาความว่างเป็นอารมณ์ จิตกำหนดความว่างเป็นอารมณ์ เป็นสมาธิสูงสุด มันจัดดอกไม้มันก็แบบหนึ่งแหละ คนกำลังกลัดกลุ้มโมโหโทโสอะไรอยู่มาจัดดอกไม้มันก็ไปอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นจิตที่ว่ามันเป็นอิสระไม่มีอะไรรบกวนบังคับนั้น เรียกว่าจิตที่พึงประสงค์ เราจะทำอะไรให้ดีที่สุด เราต้องทำด้วยจิตที่เป็นอิสระ ถ้ามีอะไรมารบกวน เช่นกิเลสเป็นต้น มันทำไม่ได้ดี ฉะนั้นศิลปะของการฟันดาบนั้นเขาก็สอนกันถึงเรื่องนี้มากที่สุดว่าต้องทำด้วยจิตที่อิสระ เกลี้ยง หรือว่าง
นักฟันดาบคนหนึ่ง เขายังไม่ได้ฝึกฝนอะไรนัก เขาเข้าประกวดการฟันดาบด้วยคิดว่าเราจะเอาที่หนึ่ง หรืออย่างน้อยจะเอาที่สอง แล้วเขาประกวดการฟันดาบได้ที่ต่ำที่สุด เพราะจิตเขาพะวงอยู่แต่ว่าจะเอาที่หนึ่งๆ จิตมันอยู่ที่จะเอาที่หนึ่ง จิตมันไม่ได้มาอยู่ที่ดาบ คือตัวเขาไม่ได้เป็นดาบไปเสียเลย ถ้าเขามีจิตเป็นสมาธิมีจิตว่าง และตัวเขาหรือมือของเขานั้นมันจะเป็นดาบไปเสียเลย เป็นจิตอันเดียวกับดาบ แล้วมันก็ฟันดาบเก่ง
นักฟันดาบคนหนึ่ง ภรรยาของเขามายืนดูอยู่ด้วย แล้วฟันดาบเลวที่สุดเพราะว่ามีภรรยาของเขามายืนดูอยู่ด้วย มันฟุ้งซ่านเหลือประมาณอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจิตที่คิดว่าจะทำอะไรนั้นมันต้องมีสมาธิหรือจิตว่างจนจิตเป็นสิ่งนั้นไปเสียเลย,จิตเป็นสิ่งนั้นไปเสียเลย ไม่มีตัวกูผู้กระทำ หรือกระทำเพื่ออะไรอย่างนี้ก็ไม่ต้องมี แล้วไม่มีตัวกูผู้กระทำ มันปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้กระทำ ตัวเขาเป็นสิ่งนั้นไปเสียเลย เป็นดาบไปเสียเลย แล้วธรรมชาติมันก็กระทำ มันก็ทำดีเกินคาด เรียกว่าเหมือนกับปาฏิหาริย์
เกี่ยวกับข้อนี้มันมีความลับอยู่ว่า สมาธินี้ ตามธรรมชาติมันก็มี มีอยู่โดยธรรมชาติ จนเราพูดได้ว่าถ้ามันมีชีวิต มันมีความรู้สึกแล้ว มันจะต้องมีสมาธิอยู่ตามธรรมชาติเสมอไป แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องมีสมาธิ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่รู้ว่ามันจะทำอะไร มันจะไปที่ไหน มันจะเดินไปไหน มันก็ต้องมีสมาธิที่มันจะรู้ว่ามันจะเดินไปไหน มันก็มีจุดมุ่งหมาย หรือมันจะทำอะไรมันก็ทำด้วยจิตที่มุ่งหมาย นั่นแหละเรียกว่าสมาธิตามธรรมชาติ อย่างเราเคยรู้เรื่องปลาเสือ เป่าน้ำเป็นเม็ดพุ่งไปยังแมลงเม่าที่บินอยู่อย่างนี้ ทำไมมันเป่าถูกเล่า ก็เพราะมันมีสมาธิตามธรรมชาติ หรือว่าสัตว์อะไรมันต้องการจะทำอะไรให้ถูกเป้าหมาย มันจะกัด มันจะขบ มันจะตะปบ มันจะอะไร มันก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสมาธิทั้งนั้น เป็นมาเองตามธรรมชาติโดยไม่ได้มีการฝึกฝน นี่เราจะเรียกว่าสมาธิตามธรรมชาติ
ทีนี้เราต้องการให้ทำดีหรือมากเกินกว่าธรรมชาติ เราจึงต้องพัฒนาสมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาตินี้ให้เป็นสมาธิที่พัฒนาแล้ว และมีความสามารถมีคุณค่าอะไรมากกว่าที่ยังไม่ได้พัฒนา เช่นเด็กๆ เขาจะเล่นอะไรที่ต้องการสมาธิ เขาใช้สมาธิของธรรมชาติทั้งนั้นแหละ เช่นว่า เด็กมันจะเล่นหยอดหลุม ทอยกองให้ลงหลุมให้ถูกเป้าอะไรอย่างนี้ มันก็ใช้สมาธิตามธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัว นี่เป็นเรื่องของสมาธิ จิตเพ่งยังนิมิตหรืออารมณ์ แม้แต่เด็กเขาจะยิงหนังสติ๊ก สมาธิตามธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นเพียงพอ ถ้าเด็กคนไหนมันสามารถทำได้มาก มันก็ยิงได้แม่นมาก นี้เป็นข้อที่ควรจะศึกษาไว้ให้ดีๆ เพราะว่าเราก็เคยเป็นเด็ก และคงจะเคยเล่นหยอดหลุม ทอยกอง ยิงหนังสติ๊กอะไรมาแล้วทั้งนั้น ให้กลับไปสังเกตศึกษาดูอาการนั้นๆ ให้ดีๆ ทีนี้สมาธิที่สูงขึ้นไปที่ประกอบด้วยอยู่สติปัญญา เราก็เคยมาแล้วทั้งนั้นตามธรรมชาติ เช่นเล่นหมากรุกหรือหมากอะไรที่คล้ายกับหมากรุก ด้วยอาศัยสติปัญญาตามธรรมชาติ มันก็เล่นหมากรุกได้ แต่จะไม่ดีเท่ากับที่ว่าได้พัฒนาความเป็นสมาธิหรือสติปัญญาเสียบ้างแล้วตามสมควร ฉะนั้นคนบางคนอาจจะมีสมาธิชนิดนี้มากกว่าคนทั่วไป มันก็มีได้ ไม่ใช่มีไม่ได้ โดยธรรมชาตินั้นเขาอาจจะยิงปืนแม่น เล่นหมากรุกเก่ง หรืออะไรตามแบบของคนที่เขามีสมาธิโดยธรรมชาติมากกว่าคนธรรมดา แต่ทีนี้คนทั่วไปก็ไม่จำเป็นจะต้องยอมแพ้หรอก ไปฝึกสมาธิตามธรรมชาติให้งอกงามขึ้น เป็นสมาธิที่เราปรับปรุงให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เราจะทำได้
ฉะนั้นอาตมาคิดว่าการกีฬาทั้งหลายนี้จะสำเร็จประโยชน์ได้โดยที่นักกีฬานั้นๆ มีสมาธิถึงที่สุด อย่างเช่น นักฟันดาบในตัวอย่างเป็นต้น เขาไม่ฟุ้งซ่านเพราะอะไรมายืนดูอยู่ มองดูอยู่ คู่รักหรือแฟนมามองดูอยู่ เขาก็ยังเล่นได้ดี เพราะว่าเขาไม่ได้มีอะไรเป็นตัวกูผู้เล่น แต่ชีวิตของเขาเป็นตัวการเล่นไปเสียเองอย่างนี้ เด็กๆ ของเราควรจะได้รับโอกาสให้เขาเล่นฝึกสิ่งที่เป็นสมาธิ แม้แต่จะเล่นหยอดหลุม ทอยกองนี้ ถ้าไม่เล่นเป็นการพนันมันก็ดี มันก็มีประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้ไปเปลี่ยนเป็นการพนัน มันก็ให้โทษ เราควรจะส่งเสริมให้เด็กๆ ยุวชนของเราได้เล่นทุกอย่างที่มันพัฒนาความเป็นสมาธิตามธรรมชาติ ให้มาเป็นสมาธิที่มนุษย์พัฒนาแล้วเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์
แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น เพราะเราไม่ได้มุ่งหมายความเจริญทางจิต เรามุ่งหมายความเจริญของกิเลส พวกนักกีฬาทั้งหลายมีกิเลสแต่จะชนะท่าเดียว ฉะนั้นนักกีฬาทั้งหลายไม่ได้มุ่งหมายที่จะใช้ธรรมชาติอันนี้ เขามุ่งหมายจะชนะ เขาหาวิธีคดโกง คดโกงในการกีฬาให้มันชนะได้ก็แล้วกัน เอาชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้ก็แล้วกัน นี่มันเล่นไม่ซื่ออย่างนี้ มันไม่มีธรรมะหรอก เคยพูดมาแล้วว่า แม้แต่กองเชียร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ มันเป็นเรื่องส่งเสริมกิเลสทั้งนั้น มันก็ยิ่งเหินห่างไปจากความถูกต้องตามธรรมชาติ มันก็ส่งเสริมกิเลสเสีย กิเลสเข้ามาเท่าไหร่ จิตใจมันก็สั่นระรัว,สั่นระรัวเท่านั้นแหละ เพราะมันหาสมาธิไม่ได้ในความรู้สึกคิดนึกที่เป็นกิเลส
ทีนี้เราต้องการจะควบคุมมัน สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นเรียกว่าเหมือนกับทุนเดิม ทุนเดิมที่ธรรมชาติให้มา ทีนี้เราก็เอามาพัฒนาคือเพาะ ปลูก ปรับปรุงให้มากที่สุด แล้วก็สามารถจะใช้ทำอะไรที่แปลกออกไปที่สูงขึ้นไปในสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา เพราะมนุษย์จะต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ ยิ่งได้มากหรือได้ดีที่สุดเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดีเท่านั้น ฉะนั้น อะไรที่จะช่วยให้มนุษย์ได้ทำหน้าที่ของตนดีที่สุดถึงที่สุดมันก็ควรทำ ฉะนั้นความที่มีสมาธิของจิตนั่นแหละจะทำให้มนุษย์เราสามารถทำหน้าที่ของมนุษย์ดีที่สุด ที่เราจะเว้นจากอบายมุข เราก็ต้องมีจิตที่เป็นสมาธิคือบังคับได้ เมื่อจิตบังคับได้ มันก็ไม่ต้องไปสูบบุหรี่ ไม่ต้องไปกินเหล้า ไม่ต้องไปทำอบายมุขใดๆ เพราะว่ามันมีสมาธิบังคับจิตได้ จิตมันจะอยากสูบบุหรี่มันก็บังคับได้ จิตมันเงี่ยนบุหรี่มันก็บังคับได้ อะไรๆ มันก็บังคับได้ เพราะความเป็นสมาธิ
ฉะนั้นในส่วนที่ต้องเว้นก็คือส่วนที่เป็นความชั่วทั้งหลาย สามารถจะบังคับควบคุมไว้ได้ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ และก็เว้นได้ในส่วนที่ไม่ควรกระทำ ทีนี้ส่วนที่ควรกระทำ ที่มันขี้เกียจเสีย มันเหลวไหลบิดพลิ้วเสีย ก็บังคับได้ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ บังคับให้ไม่เหลวไหล บังคับให้ทำงานสนุกไปเลย สมาธิมันก็มีประโยชน์ แม้ที่สุดแต่ที่จะทำประโยชน์สังคม ที่จะรักผู้อื่นจะช่วยผู้อื่น ถ้าบังคับจิตไม่ได้มันก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นจิตที่ฝึกฝนไว้ดีแล้วบังคับได้ มันก็ทำได้ มันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอะไรได้ที่จะประพฤติต่อสังคม เพราะว่าเราบังคับจิตได้
นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ในเบื้องต้นว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นมันคืออะไร ถ้าจะพูดเป็นอุปมาก็พูดว่า เงินทุนหรือเงินเดิมพันที่ธรรมชาติเขาให้มาหรือพระเจ้าก็ได้ให้มาสำหรับเราลงทุน เพื่อฝึกฝนเพื่อทำให้มันเข้มแข็งแก่กล้าสามารถและใช้ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ แต่แล้วก็ไม่ค่อยมีใครสนใจสักกี่คนที่จะทำอย่างนี้ มันก็ปล่อยให้กิเลสครอบงำกิเลสพาไปตามอำนาจของกิเลสไม่ต้องบังคับจิต มันก็ใช้สมาธิตามธรรมชาตินั่นแหละเพื่อความผิด เพื่อความเลว เพื่อความเป็นอันธพาล เราใช้สมาธิที่มีอยู่บ้างตามธรรมชาติส่งเสริมความเป็นอันธพาล หรือว่าบางคนจะถึงกับว่าฝึกสมาธิได้ดีอย่างถูกต้องแล้วก็เอาไปใช้เป็นอันธพาล มีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์ ก็เอาเปรียบคนอื่น เมื่อเขามีฤทธิ์มีเดช เขาก็ใช้หากำไร หาความได้เปรียบต่อบุคคลอื่น เหมือนกับที่ว่านักศึกษาที่มีความเฉลียวฉลาดมีสติปัญญา เขาก็ใช้ความฉลาดนั้นในการเอาเปรียบผู้อื่น มันก็ได้มากเหมือนกันถ้าเขาไม่เป็นนักศึกษาบริสุทธิ์ ถ้าเขาเป็นนักศึกษาบริสุทธิ์เขาก็ใช้สิ่งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ มันก็เดินกันคนละทาง ฉะนั้นการบังคับจิตได้นี้มีประโยชน์มาก คือจะทำให้สามารถทำอะไรได้มาก แล้วก็จะใช้ทำอะไรได้มากนั้นไปในทางที่ถูกต้องหรือเป็นประโยชน์โดยส่วนเดียว
นี่ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักเรื่องสมาธิว่ามันเป็นอย่างไร มันมีไว้ทำไม หรือธรรมชาติให้มาทำไม คล้ายๆ กับว่าธรรมชาติมีความรู้สึกคิดนึกเจตนาจะให้สิ่งที่มีประโยชน์ติดมากับมนุษย์ทั้งนั้น ให้มนุษย์รู้จักพัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และใช้ไปในวิถีทางที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าว่าคนบางคนมันขบถต่อธรรมชาติ มันใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้องคือคดโกง ธรรมชาติก็ยังลงโทษให้ได้ ให้มันวินาศ ให้มันฉิบหาย ให้มันเดือดร้อน ไม่มีความสุข ไม่มีความเจริญ ฉะนั้นเราอย่าทำเล่นกับธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติที่เป็นเสมือนกับพระเป็นเจ้า อย่าไปเล่นตลกกับท่าน กฎของธรรมชาตินี้มันจะมีความถูกต้องยุติธรรม จะให้ผลอย่างสาสมเสมอ ดีก็ดีอย่างสาสม ชั่วก็ชั่วอย่างสาสม ฉะนั้นรู้จักดำรงจิตใจไว้ในลักษณะที่มันถูกต้อง คือดำรงจิตให้ถูกต้อง มีความเข้มแข็งแห่งจิตให้มาก จะได้มีปัญญามากๆ แล้วจะได้ดำเนินชีวิตกิจการของเราให้เป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้องโดยส่วนเดียว
ขอให้คำนวณดูสักนิดหนึ่งว่า ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกดำรงตนไว้ดี มีศีลเต็มที่ มีสมาธิเต็มที่ มีปัญญาเต็มที่ และมนุษย์ทุกคนทำหน้าที่ของตนๆ ในโลก ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาเต็มที่ โลกนี้ก็จะเป็นโลกที่ประเสริฐวิเศษสวยงาม ไม่เป็นโลกที่เดือดร้อน เร่าร้อน สกปรก โสมม เหมือนกับโลกปัจจุบันซึ่งคนบังคับจิตไม่ได้ คนปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส หลงใหลไปในสิ่งที่ส่งเสริมกิเลส เขาใช้สติปัญญาเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวงไปเพื่อสร้างเหยื่อของกิเลส เพื่อส่งเสริมกิเลส มันก็เต็มไปด้วยกิเลส ในโลกนี้ก็เต็มไปด้วยกิเลส เพราะมันเต็มไปด้วยเหยื่อของกิเลส แล้วคนทุกคนก็ต้องรับเคราะห์กรรมอันนี้ คืออยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก มันเกิดมาจากกิเลส เพราะว่าเขาบังคับจิตไม่ได้ เขาดำรงจิตไม่ถูกหนทาง เดินไปไม่ถูกหนทาง เอาล่ะ,พอแล้วที่จะพูดถึงว่าเรื่องบังคับจิตให้เป็นสมาธินี้มันคืออะไร
ทีนี้เรามาพูดกันถึง จะบังคับจิตโดยวิธีใดกันต่อไปดีกว่า คือคำว่าสมาธิ หรืออานาปานสติ มีหลักอยู่ว่า ผู้ใดมีจิตเป็นสมาธิ มีจิตตั้งมั่น ผู้นั้นจะทำงานได้สำเร็จตามที่ตัวปรารถนา เช่นว่าต้องการจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเสียก่อน หรือว่าเขาจะเป็นคนอยู่ในโลกนี้ตามธรรมดาสามัญ ทำไร่ ทำนา ค้าขาย เขาต้องมีจิตชนิดที่ว่าควบคุมได้หรือเป็นสมาธิเสียก่อน
ทีนี้เราจะทำกันอย่างไรในการที่จะฝึกฝนจิตที่มันไม่ค่อยจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นถึงที่สุดนั้นให้มันเป็นสมาธิที่สุด หรือจะเรียกว่าระบบฝึกจิต มีอยู่มากมายหลายๆ สิบแบบ แต่ว่าทุกแบบก็มุ่งหมายอย่างเดียวกันหมด คือจะฝึกให้เป็นสมาธิ เราเลือกเอาแบบที่ดีที่สุดมาใช้ ฉะนั้นเท่าที่อาตมาได้พบมา ได้เห็นมา ได้อ่านมา ได้อะไรมานี้ ได้พบว่าระบบที่เรียกว่าอานาปานสตินั่นแหละดีที่สุด อย่างที่ได้พูดมาแล้วว่าพอไปทำเข้า มันก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีมรรคผลนิพพานรวมอยู่ในระบบอานาปานสติทั้งหมด คือทั้ง ๑๖ ขั้นนั้น ฉะนั้นจึงชักชวนให้สนใจระบบอานาปานสติ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ทรงชักชวนสาวกทั้งหลายให้สนใจระบบอานาปานสติ ท่านสรรเสริญระบบอานาปานสติว่าเหนือระบบใด คือมันสะดวก มันสบาย มันเป็นสุขตั้งแต่ต้น มันไม่น่าเกลียดน่ากลัว มันไม่ยุ่งยากลำบากอะไรเลย นี่ระบบอานาปานสติ ภิกษุทั้งหลายจึงนิยมระบบอานาปานสติ เราเดี๋ยวนี้ก็ชักชวนกันให้นิยมระบบอานาปานสติ
ถ้าว่าโดยหลักการใหญ่ๆ แล้ว มันก็เหมือนกันทุกแบบทุกระบบนั่นแหละ แต่บางระบบมันมีอะไรขลุกขลักบ้าง น่าเกลียดน่ากลัวบ้าง หรืออาจจะเขวได้บ้าง เราจึงเลือกเอาที่ว่ามันปลอดภัย ที่พูดว่าทุกระบบมันเหมือนกันนั้นก็คือว่ามันจะช่วยให้เป็นสมาธิได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่มันจะมากหรือจะน้อยหรือไปถึงที่สุดหรือไม่ กัมมัฏฐานบางระบบไปไม่ถึงที่สุด ต้องเปลี่ยน ต้องเลื่อนหรือต้องเปลี่ยน แต่ถ้าว่าระบบอานาปานสติไม่ต้องเปลี่ยน จะทำไปโดยระบบอานาปานสติได้จนถึงบรรลุนิพพาน นี่มันได้เปรียบกันอย่างนี้
ทีนี้ที่ว่าโดยหลักพื้นฐานแล้วมันเหมือนกัน คือว่ามันเป็นการบังคับจิตให้เป็นจิตที่ฝึกฝนดีอบรมดีใช้ประโยชน์ได้ตามที่เราต้องการ อย่างนี้มันเหมือนกันทั้งนั้นแหละ มันมุ่งหมายอย่างนี้เหมือนกันทั้งนั้น ทีนี้มันจะต้องมีอะไรล่ะ จะต้องมีการประพฤติการกระทำอะไร อย่างไร มันก็เหมือนๆ กันอีกแหละ นั่นคือว่าเราจะต้องเตรียม เพื่อการฝึกจิตนี้ ต้องเตรียม เช่น เตรียมร่างกายของเราให้เหมาะสม คือคนที่มีสุขภาพดีจะฝึกจิตได้ง่ายได้ดี ถ้าร่างกายไม่เหมาะสมเจ็บป่วยอะไรอยู่ มันก็ต้องเตรียมร่างกายให้เหมาะสมเท่าที่เราจะเตรียมได้ ถ้ามีโรคอะไรไข้เจ็บขัดขวางอยู่ก็รักษาให้หาย เตรียมร่างกายให้เหมาะสมนั้นเป็นข้อแรก
แล้วก็หาสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเท่าที่จะหาได้ ต้องใช้คำว่าเท่าที่จะหาได้ดีที่สุด เดี๋ยวหาที่ดีไม่ได้ มันก็ไม่เอา มันก็ล้มเลิก เหลวหมด จะหาอย่างจู้จี้พิรี้พิไรนี้มันก็ไม่ถูกหรอก มันหาได้เท่าที่จะหาได้ ไม่ต้องไปอยู่ในป่าในดง แม้อยู่ในหมู่บ้านมันก็ปรับปรุงได้ แม้ว่าจะต้องอยู่ในบ้านเรือน เราก็ยังปรับปรุงบ้านเรือนของเรานี้ให้ส่งเสริมแก่การฝึกสมาธิได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้เสียเลย เรามีที่เหมาะสม มีร่างกายเหมาะสม แล้วก็ไปฝึกสมาธิโดยเฉพาะ นี้เรียกว่าการฝึกโดยเฉพาะ แต่ถ้าว่าเป็นการฝึกพื้นฐานทั่วไปแล้ว ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ อิริยาบถไหนก็ได้ ถ้าว่าจะฝึกจริงๆ ในเวลาที่ฝึกจริงตามระบบนั้นๆ ก็ต้องอยู่ในที่สงบสงัดพอสมควร แล้วก็ต้องนั่งลง เพราะว่าอิริยาบถที่นั่งลงนั้นมันเหมาะสม จะยืนจะเดินอยู่นั้นมันฝึกไม่สะดวก ฉะนั้นเราต้องนั่งลงโดยท่านั่งที่เหมาะสมอีกนั่นแหละ มันเหมือนกับเป็นเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง ท่านั่งบางท่ามันไม่สะดวก มันหายใจไม่สะดวก หรือว่ามันทำให้เมื่อยขบง่าย หรือว่ามันทำให้ล้มเอนล้มลงไปได้
ฉะนั้นเราจึงเลือกท่านั่งที่เหมาะที่สุด และเขาก็ได้เรียกท่านั่งท่านี้ว่านั่งสมาธิกันมาแล้ว ท่านั่งในท่าที่จะทำสมาธิ คือนั่งขัดตะหมาด จะพูดถึงภาษาสักคำหนึ่ง ภาษาไทยนี้เรียกว่า นั่งขัดตะหมาด นะ เข้าใจว่าหลายคนไม่รู้ว่าขัดตะหมาดนั้นมันคืออะไร เมื่ออาตมาไปที่ประเทศพม่า ไปพบความจริงเข้าข้อหนึ่งคือการออกเสียง ที่พม่าเขาออกเสียงตัว ส.เสือ เป็นตัว ต.เต่า ทั้งนั้นแหละ ที่พม่านั้นจะออกเสียงตัว ส.เสือ นั้น เป็นเสียง ต.เต่า สมาธิก็เป็นตมาธิ ตมาธิก็เป็นตะหมาดไป นั่นแหละคำว่านั่งขัดตะหมาดนี้ต้องเป็นเสียงที่ถ่ายมาจากพม่า ตะหมาดก็คือสมาธินั่นเอง เพราะเขาออกเสียงตัว ส.เสือ เป็นตัว ต.เต่า นั่งขัดตะหมาดนั่นแหละคือนั่งสมาธิ นั่งในท่าสมาธิ นั่งในท่าที่สะดวกแก่สมาธิ
ฉะนั้นเรานั่งในท่าขัดสมาธิเถิด จะเหมาะสมที่สุดที่จะหายใจสะดวก และเมื่อจิตเป็นสมาธิ เหลือความรู้สึกน้อย มันก็ไม่ล้ม มันล้มไม่ได้ เพราะนั่งในท่าสมาธิแล้วมันล้มไม่ได้ ถ้านั่งเก้าอี้ห้อยเท้านี้มันล้มได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ มันกลิ้งมันล้มไปได้ ฉะนั้นเรานั่งตามแบบเดิมของเขา เดิมที่ว่าคนแรกทีเดียวเขาค้นพบท่านั่งสมาธินี้คือนั่งขัดสมาธินี้ดีกว่า คงจะพบกันมาหลายพันปี เพราะว่ารูปหินสลักที่ประเทศอียิปต์เขียนไว้ว่าสี่-ห้าพันปี ก็เป็นรูปคนนั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิที่เรียกว่าขัดสมาธิเพชรนั่นแหละ ขาขัดกันโดยเต็มที่ทั้งสองขา ล้มไม่ได้ เขาสันนิษฐานกันว่าเป็นรูปพระหรือรูปนักบวชเหมือนกันในประเทศอียิปต์สมัยโบราณสี่ห้าพันปีมาแล้ว ทีนี้ในอินเดียก็ไม่น้อยกว่านั้น เขารู้จักนั่งในวิธีที่ว่าล้มไม่ได้ มีจิตใจเข้มแข็ง แม้จะไม่ไปทำสมาธิในป่าในดง แต่ถ้าว่านั่งอย่างนี้แล้วมันทำให้จิตใจเข้มแข็ง คนที่นั่งขัดสมาธิจะทำให้มีจิตใจเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นเขาจะนั่งสั่งงาน นั่งบัญชางาน นั่งอะไรมันก็ยังดีกว่าท่านั่งที่ไม่ช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง ฉะนั้นเราจึงเลือกท่านั่งที่ช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้โดยง่าย
ทีนี้เรื่องต่อไปก็คือจะต้องมีสมาธิหรืออารมณ์สำหรับจิตกำหนด ถ้าทำกสิณ ก็ไปเอาวงกสิณสีเขียว สีแดง สีต่างๆ วงสีต่างๆ เป็นอารมณ์ ถ้าจะทำอสุภกัมมัฏฐาน ก็ไปที่ป่าช้า เลือกหาอสุภ ซากศพหลายๆ รูปแบบเป็นอารมณ์ หรือว่าจะไปกำหนดอย่างอื่นก็มีอีกมาก แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการอารมณ์คืออานาปานะ แปลว่าลมหายใจเข้าออก สะดวก เพราะเรามันหายใจอยู่ตลอดเวลา หาที่ไหนก็ได้ เราไปนั่งที่ไหนมันก็มีการหายใจที่นั่น ก็เลยถือเอาการที่ลมวิ่งเข้าวิ่งออกโดยการหายใจนั่นแหละเป็นนิมิตเป็นอารมณ์ มันไม่น่ากลัวและมันมีประโยชน์โดยธรรมชาติ การหายใจให้ยาวหรือหายใจให้เต็มที่นั้นมันเป็นธรรมชาติที่ให้เกิดความสบายแก่จิตใจ ถ้าว่าอึดอัดขัดใจหายใจไม่คล่อง มันก็ไม่มีความสบาย เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตเห็นได้ แม้แต่เด็กทารกตัวเล็กๆ น้อยๆ ถ้ามันอึดอัดขัดใจ มันก็ต้องสะอื้นเสียทีหนึ่งแหละ การที่มันสะอื้นคือมันหายใจให้ยาว เพื่อว่ามันจะเกิดความปรกติขึ้นมาในจิตใจที่มันอึดอัด ฉะนั้นการถอนใจใหญ่ หายใจยาว ถอนใจใหญ่นั้นคือธรรมชาติ มันต้องการจะให้เกิดความปรกติสะดวกสบาย เพราะการถอนหายใจใหญ่ ถอนหายใจยาว
ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ว่า การหายใจยาวเมื่อไหร่ จะเป็นความปรกติแห่งร่างกายหรือจิตใจด้วยเมื่อนั้น จึงเอาหลักอันนี้มาใช้ปฏิบัติว่าหายใจให้ยาวหรือว่าเต็มตามธรรมชาติ อย่าให้มันอึดอัดขัดข้องอยู่ มันก็ได้ประโยชน์แก่ทางร่างกาย คือร่างกายจะดีขึ้นทันที ไม่ต้องเป็นเรื่องธรรมะ ไม่ต้องเป็นเรื่องศาสนา ไม่ต้องเป็นเรื่องสูงๆ ทำนองนั้น เรื่องต่ำๆ ธรรมดานี้ พอเราหายใจยาวเราก็จะสบาย หรือว่ามีอะไรอึดอัดใจนัก เราถอนหายใจยาวหายใจครั้งหนึ่งเราก็สบาย แล้วธรรมชาติมันก็จะจัดให้เอง พอเราอึดอัดขัดใจนักก็จะมีการถอนหายใจยาวเสียครั้งหนึ่ง ก็เกลี้ยงไปทีหนึ่ง จนกว่าความอึดอัดในใจจะมากขึ้น ก็ถอนหายใจยาวเสียครั้งหนึ่ง มันก็สบายไปครั้งหนึ่ง ฉะนั้นการหายใจให้ปรกติคือให้ยาวตามปรกตินั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติสำหรับจะทำจิตใจให้ปรกติ
ฉะนั้นผู้ที่จะฝึกอานาปานสติในชั้นต้นจะต้องการระบบหายใจที่ปรกติ เขาจึงเริ่มหายใจยาวเต็มที่ คือควบคุมให้มันเต็มที่ทั้งเข้าทั้งออก ให้ตามปรกติตามธรรมชาติที่สุดทั้งหายใจเข้าทั้งหายใจออก มันก็เท่ากับระบายความอึดอัดทั้งหลายออกไปหมดสิ้น เหลือแต่ความปรกติ มันก็สะดวกที่จะทำให้เป็นสมาธิ ฉะนั้นเราจึงมีการหายใจเต็มตามปรกติ เต็มตามธรรมชาตินั่นแหละเป็นบทแรก,ลมหายใจยาว ศึกษาลมหายใจยาวว่าเป็นอย่างไร และเพื่อเปรียบเทียบกัน ก็ศึกษาลมหายใจสั้น เพื่อจะรู้ว่า อ้าว,นี้คือไม่ปรกติ ลองไปหายใจสั้นหรือมีเหตุที่ทำให้หายใจสั้นหรือเราแกล้งบังคับให้มันสั้น จะพบทันทีว่านี้ไม่ใช่ปรกติ นี้คือความอึดอัดขัดใจจนลำบาก ก็เลยจะรู้เรื่องธรรมชาติ ธรรมชาติแท้ๆ ของลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น จนกระทั่งสังเกตๆ ไปก็จะรู้ว่า อ้าว,นี้คือสิ่งที่ประคับประคองร่างกายให้ปรกติอยู่ด้วยกัน จนเรารู้ขึ้นมาเองว่า ถ้าลมหายใจปรกติ ร่างกายจะปรกติ ถ้าลมหายใจหยาบ ร่างกายจะหยาบ จะกระวนกระวายนั่นแหละ ถ้าลมหายใจละเอียดหรือยาว ร่างกายก็จะละเอียดหรือสงบ เลยเกิดความรู้ขึ้นมาว่าลมหายใจนี้มันเป็นกายสังขารคือบำรุงปรุงแต่งร่างกายอยู่ ถ้าเราจะบังคับร่างกายให้เป็นอย่างไร เราบังคับทางลมหายใจดีกว่า มันง่ายกว่า ที่เราจะไปบังคับเนื้อหนังโดยตรงนั้นมันยาก เราบังคับทางลมหายใจ แล้วลมหายใจมันไปจัดการกับเนื้อหนังร่างกายเอง ฉะนั้นเราจึงบังคับลมหายใจซึ่งเป็นสิ่งปรุงแต่งร่างกาย
ทีนี้เราก็มีวิธีทำให้ลมหายใจระงับลง ระงับลง ระงับลง คือเป็นสมาธิมากขึ้นโดยเทคนิคเฉพาะที่เขาได้ค้นพบและได้วางไว้ให้ เมื่อปฏิบัติไปตามนั้น ลมหายใจจะละเอียดจะระงับ,จะละเอียดจะระงับ ร่างกายก็พลอยละเอียดระงับ จิตใจก็พลอยละเอียดและระงับ หมายถึงจิตใจที่มันเนื่องกันอยู่กับร่างกายนั้นมันจะพลอยละเอียด ละเอียดระงับไปตามกาย จนถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นสมาธิระดับใดระดับหนึ่ง ในคำแนะนำที่เราเขียนกันขึ้นใช้ที่นี่ก็มีที่ว่ากำหนดด้วยการวิ่งตาม แล้วกำหนดด้วยการเฝ้าดูที่ปลายจะงอยจมูก แล้วก็จุดนั้นแหละจุดที่เฝ้าดู สร้างนิมิตที่เป็นภาพ,มโนภาพ ไม่ใช่ภาพจริง ขึ้นมาที่ตรงนั้นแล้วแต่ว่ามันจะเกิดภาพอะไรให้โดยสะดวก เป็นภาพดวงขาว ดวงเขียว เป็นดวงพระจันทร์ เป็นดวงอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราบังคับจิตเพื่อจะเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสภาพของภาพนั้นแหละให้มันเปลี่ยนได้ตามที่จิตมันน้อมนึกไป เช่นเปลี่ยนขนาดของมันก็ได้ เปลี่ยนสีของมันก็ได้ เปลี่ยนอิริยาบถให้มันเลื่อนไป ลอยมา หยุดอยู่ก็ได้ นี่เรียกว่าจิตละเอียดอ่อนมาก สร้างมโนภาพต่างๆ ได้และบังคับได้ จนแน่วแน่ จนทำให้เกิดความแน่วแน่ขึ้นที่นั่น เรียกว่าเป็นสมาธิเป็นฌาน โดยมีรูปธรรมคือสิ่งที่มีรูปนี้เป็นอารมณ์ นี่เรียกว่านิมิตหรืออารมณ์ ก็คือลมหายใจที่หายใจอยู่จริงๆ ที่ลมกระทบ กระทั่งมโนภาพที่สร้างขึ้นที่ลมกระทบ กระทั่งว่ากำหนดได้แน่วแน่จนจิตจดจ่ออยู่ที่นั่น มีลักษณะของวิตกคือกำหนดอารมณ์ มีลักษณะของวิจารคือรู้สึกต่ออารมณ์ มีความรู้สึกปีติคือพอใจว่าทำได้สำเร็จ มีความรู้สึกว่าเป็นสุขเพราะไม่มีนิวรณ์รบกวน ไม่มีกิเลสรบกวน จิตเข้าสู่สภาพสงบเป็นนิพพานชนิดหนึ่ง นี่เรียกว่าเป็นสุข แล้วก็เอกัคคตาคือสภาพที่จิตอยู่ที่สิ่งๆ เดียว จิตสูงสุดอยู่ที่สิ่งๆ เดียว เรียกว่าเอกัคคตา มุ่งหมายสิ่งใดเป็นอารมณ์มันก็อยู่ที่นั่น ถ้าความรู้สึกเหลืออยู่เพียง ๕ อย่าง คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็เรียกว่าได้สมาธิที่สมบูรณ์แบบขั้นที่ ๑ คือปฐมฌาน ฌานทีแรก จะทำให้เป็นฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็คือให้มันละเอียดกว่านั้น,ละเอียดกว่านั้น,ละเอียดกว่านั้น คือให้ความรู้สึก ๕ อย่างนี้ ลดลงเสีย เหลือเพียง ๓ อย่าง ๒ อย่าง กระทั่งว่าเป็นอุเบกขาไป ฉะนั้นจึงต้องทำให้ได้ในขั้นต้นที่เรียกว่ารูปฌาน มีความรู้สึกเหลืออยู่ ๕ ประการว่าวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องทำ อย่างที่เรียกว่าละเอียดอ่อน มีฝีไม้ลายมือเป็นศิลปะทีเดียว การที่จะบังคับจิตที่มีปรกติฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์หรือกิเลสนี้ แล้วค่อยๆ ประคองๆ ให้มันหยุดเป็นสมาธินี้ มันเป็นงานละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้,เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะการฝึกนั่นเอง ตรงนี้มันมีข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า การฝึกนั่นแหละมันเป็นครู อย่าไปหวังครูที่เป็นบุคคลอาจารย์มาขนาบข้างนั้นให้มากนัก มันจะถูกต้มถูกหลอกเป็นเหยื่อของอาจารย์ เพราะว่าครูอาจารย์ที่แท้จริงนั้นคือการฝึกนั่นเอง ไม่ต้องเอาครูที่เป็นคนๆ นั้นมานั่งคุมอยู่ข้างๆ แล้วก็พูดกันว่าเดี๋ยวจะเป็นบ้าบ้าง อะไรบ้าง ต้องเอาครูมานั่งคุมอยู่ข้างๆ นี่เราไม่เห็นด้วย เพราะที่เรารู้สึกอยู่แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น ครูที่เป็นคนๆ นั้นช่วยไม่ได้หรอก ช่วยไม่ได้กี่มากน้อย การที่ฝึกกระทำนั่นแหละมันเป็นครูของมันเองโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติอยู่ในตัวเอง ครูมันก็บอกได้แนะได้แต่ในเบื้องต้นว่าไปทำอย่างนั้นๆ ก็แล้วกัน แล้วก็ไปทำ ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสบอกแต่เพียงเท่านั้นแหละว่าทำอย่างนั้นๆ นะ ภิกษุนั้นเข้าใจดีแล้วก็ไปอยู่ในป่า แล้วก็ทำไปสองเดือนสามเดือน มาเฝ้าพระพุทธเจ้าแก้ข้อสงสัยกันทีหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปนั่งอยู่ข้างๆ เพื่อจะคุมหรอก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่จะต้องทำอย่างนั้น หรือมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องฝึก เราต้องทำ และรู้ รู้ขึ้นมาเอง เมื่อฝึกเมื่อทำก็รู้มากขึ้นๆ
จะยกตัวอย่างว่า การขี่รถจักรยานนั้น ขี่ไม่เป็น เราจะขี่รถจักรยานให้เป็นนี่ มันไม่มีใครช่วยให้ขี่เป็นได้หรอก ครูหรือเพื่อนจะบอกได้ก็เพียงแต่ว่าทำอย่างนั้นๆ ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้วว่าจับตรงนั้นถีบตรงนั้นเกือบจะไม่ต้องบอกแล้ว ทีนี้ครูที่จะมาช่วยทำให้เราบังคับรถจักรยานให้ตรงให้สมดุลไม่ล้ม ไม่ได้หรอก ครูช่วยทำให้อย่างนั้นไม่ได้ การฝึกนั่นแหละมันจะทำให้ได้ การล้มนั่นแหละมันจะทำให้รู้ได้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะสมดุล เพราะว่าตัวรถจักรยานนั่นแหละมันจะเป็นครู หรือว่าตัวล้ม,ตัวการล้มลงไปถลอกปอกเปิดนั่นแหละมันจะเป็นครู มันจะค่อยๆ รู้ รู้สึกโดยระบบประสาทขึ้นมาเองว่า บังคับอย่างนั้น ทำความป้องกันอย่างนั้นขึ้นมาทุกคราวที่มันล้ม ต่อมามันก็ไม่ล้ม แต่มันก็เปะๆ ปะๆ ไม่น่าดู แล้วก็ไม่มีใครสอนได้ตอนนี้ ระบบประสาทมันค่อยๆ รู้สึกขึ้นมาเองว่าจะบังคับอย่างนั้น,บังคับอย่างนั้นจนว่ารถมันนั้นมันก็ไปเรียบไปเลย ไม่ต้องเปะๆ ปะๆ แล้วมันจะรู้ละเอียดประณีตจนถึงกับว่าปล่อยมือเสียก็ได้ ยังบังคับรถให้แล่นไปตรงได้ นี่ใครสอน คนสอนกันไม่ได้ การกระทำจะสอนหรือสิ่งที่กระทำนั้นจะสอน ความผิดพลาดนั่นแหละจะสอน
เพราะฉะนั้นการฝึกจิตก็เหมือนกันแหละ ฝึกเถิด แล้วมันจะไม่ได้ ฝึกอีกมันก็ไม่ได้ ฝึกอีกมันก็ไม่ได้ แต่ทุกๆ คราวที่ไม่ได้มันจะสอนให้นิดหนึ่งเสมอ,มันจะสอนให้นิดหนึ่งเสมอ แล้วมันก็ค่อยๆ ได้ จนกระทั่งว่าไม่ล้มล่ะทีนี้ แต่มันไปเปะปะไม่น่าดู แล้วมันก็เปะปะๆ น้อยเข้าๆ จนเรียบจนว่าปล่อยมือ ขี่รถจักรยานปล่อยมือได้ เลี้ยวก็ได้ ข้อนี้ไม่ใช่อวด อาตมาทำได้ เมื่อยังเป็นฆราวาส เราชอบขี่รถจักรยานปล่อยมือเลี้ยวได้แสดงอะไรได้ มันเป็นของธรรมดาสามัญที่สุดแหละที่ใครๆ ก็จะทำได้ ถ้าจะยอมฝึก
นี่จะบอกนิดเดียวว่าครูที่เป็นคนนั้นสอนไม่ได้ ครูที่เป็นการกระทำหรือความผิดพลาดนั่นแหละมันจะสอนได้ ฉะนั้นเราจะต้องสังเกตดูให้ดีๆ ว่าเราจะปรับปรุงอย่างไร นับตั้งแต่ว่าเราจะขว้างก้อนหินให้ถูกเป้าหมาย มันก็จะสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง ไปข้างๆ คูๆ บ้าง แล้วเราจะต้องปรับปรุงมือ จิต ประสาทอย่างไร ขยับนิดหน่อยอย่างไร,ขยับนิดหน่อยอย่างไร เรื่อยๆ ไปจนมันจะขว้างตรงถูกทุกทีนั่นแหละ
นี่ความละเอียดอ่อนของการปรับปรุงระบบประสาท อยากจะแนะอย่างนี้ว่า ไปบ้วนน้ำลายให้ลงร่อง ร่องเล็กๆ ที่อยู่ไกลหน่อย คุณไปบ้วนน้ำลายให้ไปลงร่องรูเล็กๆ ที่อยู่ไกลหน่อยให้ลงทุกที นั่นแหละเป็นจุดตั้งต้นของการฝึกสมาธิดีกว่า มันจะต้องบังคับปรับปรุงริมฝีปากหรือก้อนน้ำลายหรืออะไรทุกอย่างอย่างละเอียดและก็พอดีด้วย ถ้ามันพ่นมากไปมันก็ไปไกล ถ้ามันไม่มากมันก็อยู่ฝ่ายนี้ มันไม่ลงรูเล็กๆ ได้ด้วยการบ้วนน้ำลายแต่ที่ไกล นั่นแหละคือการฝึกอันละเอียดอ่อนของระบบประสาท กระทั่งถึงระบบจิตที่เกี่ยวกับการเป็นสมาธิ ฉะนั้นถ้าว่าเคยเล่นหยอดหลุม เคยเล่นทอยกองเมื่อเด็กๆ ก็ไปสังเกตดูใหม่อีกทีว่ามันจะต้องปรับปรุงความรู้สึกอย่างไรจึงจะไม่มากไป จึงจะไม่น้อยไป หรือจะไปขวาไปซ้าย จิตก็เหมือนกันแหละ มันต้องมีการปรับปรุงที่ละเอียดอ่อน ไม่มากไปไม่น้อยไป ถ้ามากไปมันก็ฟุ้งซ่าน ถ้าน้อยไปมันก็ตกต่ำ มันไม่พอดี ฉะนั้นการบังคับจิตให้พอดีที่จะเกาะอยู่กับนิมิตหรืออารมณ์ของสมาธินั้น มันละเอียดอ่อนอย่างนี้
ฉะนั้นจึงบอกว่า การกระทำนั่นแหละจะเป็นครูที่ดี อย่าไปหวังว่าให้บุคคลช่วย อะไรๆ ก็หวังแต่ให้อาจารย์ช่วย ให้ครูช่วย ให้บุคคลด้วยกันช่วย นั่นมันผิด มันผิดกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นเราจะต้องศึกษาออกมาเองจากการกระทำ ให้การกระทำนั่นแหละช่วย แล้วมันจะรู้ขึ้นมาอย่างประหลาดที่สุด จะเก่งขึ้นอย่างประหลาดที่สุด ครูก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่ช่วยไม่ได้ถึงที่สุดที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิ ต้องให้การกระทำนั่นแหละช่วยตัวมันเอง สอนตัวมันเอง ถ้าจะมีครูก็ต้องเป็นครูที่ชำนาญเชี่ยวชาญมาแล้ว ไม่ใช่ครูเด็กๆ หรือครูรับจ้าง
พวกนิกายเซ็นเขาพูดกันว่าผู้ที่จะเป็นครูได้ต้องทำได้มาแล้ว ๒๐ ปี ราวๆ ๒๐ ปี จึงจะเป็นครูได้ จึงจะรอบรู้ไปหมด สามารถจะแนะนำอะไรได้ ฉะนั้นเราจึงหวังให้การกระทำมันสอน ความผิดพลาดนั่นแหละมันจะสอนดี ความที่ทำแล้วไม่ได้ ทำแล้วไม่ถูก ทำแล้วไม่สำเร็จนั่นแหละมันจะสอนดีที่สุด ฉะนั้นคนโบราณเขาจึงพูดว่าผิดมันก็เป็นครู ถูกมันก็เป็นครู ผิดมันก็เป็นครู ฉะนั้นถ้าเรามีหลักอย่างนี้ ไม่เท่าไหร่มันก็ทำถูก ทำผิดก็เป็นครู ทำถูกมันก็เป็นครู มันมีแต่ถูก มีแต่สอนทั้งนั้น เราก็เลยจะทำได้ โดยธรรมชาติหรือธรรมชาตินั่นแหละมันละเอียดอ่อน มันมีอะไรของมันมาเสร็จ เช่น เด็กทารกเพิ่งคลอดออกมา พอสมควรแก่เวลา มันหัดนั่งได้โดยการทรงตัว ไม่ใช่มันนั่งได้เพราะคนคอยจับไว้ มันนั่งได้เพราะมันรู้จักทรงตัว ต่อมาเด็กทารกจะยืนได้เพราะมันมีความรู้ในการทรงตัว ไม่มีใครไปสอนหรือไปช่วยทำให้มันได้หรอก จับให้มันยืนได้ ปล่อยมันก็ล้ม จนกว่ามันจะรู้จักทรงตัวให้ยืนอยู่ได้ และต่อมาเด็กคนนั้นมันจะเดินได้ มันจะก้าวขาได้ รู้จักทรงตัวให้เดินไปได้ ไม่มีใครสอนได้ ธรรมชาติมันจัดมาให้ ให้เด็กทารกนั้นมันรู้จักสังเกต,รู้จักสังเกต รู้จักปรับปรุงน้ำหนักหรือความสมดุลด้วยตัวมันเองจนมันยืนได้และมันเดินได้ ในที่สุดมันวิ่งได้ เรียกว่าธรรมชาติมันให้มาแล้ว ความรู้ที่จะปรับปรุงให้ทุกอย่างมันสมดุลและเป็นไปได้ ก็ขอให้ผู้ที่ฝึกสมาธิทุกๆ คน จงรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่มันให้มาแล้วในลักษณะอย่างนี้ อย่าไปหวังว่าครูอาจารย์จะต้องมานั่งขนาบข้างอยู่จึงจะทำได้ มันเป็นเรื่องพูดลมๆ แล้งๆ
ฉะนั้นเป็นอันว่า เดี๋ยวนี้เราทำสมาธิในขั้นต้นเกี่ยวกับร่างกายได้ กายคือลมหายใจ ส่งเสริมกายคือเนื้อหนัง เราบังคับมันได้ตามที่ต้องการ สงบระงับจนจิตก็เป็นสมาธิ อานาปานสตินี้แบ่งไว้เป็น ๔ หมวด คือหมวดร่างกาย แล้วก็หมวดเวทนา แล้วก็หมวดจิต แล้วก็หมวดธรรมะ ไปหาอ่านดูสิ มีแล้ว พิมพ์ขึ้นเยอะแยะแล้วเรื่องอานาปานสติภาวนา โดยละเอียด ๑๖ ขั้น แบ่งเป็น ๔ หมวด คือหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต และหมวดธรรม คือให้รู้ รู้เรื่อง ๔ เรื่องนี้ คือเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม รวมเป็น ๔ เรื่อง ให้รู้จักเรื่องทั้ง ๔ เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เราต้องรู้จักเรื่องของร่างกายเป็นเรื่องแรก เพราะว่าเรื่องของร่างกายนี้มันเป็นพื้นฐานของเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง อะไรมันก็ต้องอาศัยที่ร่างกาย จิตมันก็อาศัยร่างกาย ทุกเรื่องมันก็อาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ เป็นกำลัง เป็นอะไรสำหรับจะทำ มันต้องรู้เรื่องทางกายก่อนเรื่องอื่นสิ รู้เรื่องทางร่างกายให้ถูกต้องเสียก่อนเป็นเรื่องแรก แล้วเราก็จะสามารถใช้ร่างกายให้ดีที่สุด ให้มันได้ผลดีที่สุด จนใช้ร่างกายนั้นเพื่อประโยชน์แก่เรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เพราะว่าร่างกายนี้เป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง เราฝึกกายจนใช้เป็นพื้นฐานของทุกเรื่องได้
ทีนี้ เรื่องที่ ๒ เวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ นี้เรียกว่าเวทนา นี้เป็นตัวปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ เวทนานี้เป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องทุกเรื่องขึ้นในหมู่มนุษย์ เวทนานี้มันเป็นเหตุให้เกิดเรื่อง เช่นให้เกิดกิเลส เกิดกิเลสทุกชนิด หรือเกิดความสุขเกิดความทุกข์ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ นี่มันเกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่าเวทนา ถ้ามนุษย์ไม่รู้สึกต่อเวทนามันก็ตายแล้ว ถ้ามนุษย์รู้สึกต่อเวทนามันก็จะทำอะไรไปตามอำนาจของเวทนา หรือตามค่านิยมของเวทนา เวทนาเป็นสุขมันก็ทำให้ทำไปอย่าง เวทนาเป็นทุกข์มันก็ให้ทำไปอย่าง เวทนายังไม่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขมันก็ทำไปอย่าง ฉะนั้นเวทนานี้เป็นเหตุให้เกิดความอยากคือตัณหา แล้วก็ทำกรรมนานาชนิดไปตามอำนาจของตัณหา โลกทั้งโลกมันเป็นไปตามตัณหาของมนุษย์ ตัณหาของมนุษย์มาจากเวทนา,มาจากเวทนา ถ้าเรารู้จักควบคุมเวทนาก็เหมือนกับรู้จักควบคุมทุกสิ่งในโลก เพราะทุกสิ่งในโลกมันมีต้นตอไปจากเวทนา สุขเวทนาให้เกิดจากกิเลสประเภทจะเอา เช่นความโลภหรือราคะเป็นต้น ทุกขเวทนาเป็นเหตุให้เกิดกิเลสประเภทที่จะทำลาย เช่นโทสะโกธะ จะทำลายเสีย อทุกขมสุขเวทนาให้เกิดกิเลสประเภทลังเลสงสัยวิตกกังวลไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ กิเลสของมนุษย์มี ๓ พวกเท่านี้ แล้วก็มาจากเวทนา จึงเป็นต้นเหตุให้โลกปั่นป่วน
ถ้าเราควบคุมเวทนาได้เราก็ควบคุมความปั่นป่วนของโลกได้ คือแต่ละคน คนแต่ละคนเขาควบคุมความปั่นป่วนแห่งจิตใจของเขาได้ เมื่อทุกคนควบคุมได้ ทั้งโลกมันก็ควบคุมได้ ฉะนั้นสันติภาพในโลกมันก็เกิดมาจากการที่คนแต่ละคนควบคุมปัญหาของตนได้คือเวทนา ซึ่งเป็นต้นตอแห่งปัญหาทั้งหลาย
ถ้าพูดให้ละเอียดไปกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง ก็เขยิบมาที่ผัสสะ เพราะเวทนามาจากผัสสะ ถ้าเราควบคุมผัสสะได้ มันก็ควบคุมเวทนาได้ ทีนี้ผัสสะมันเร็วเกินไปควบคุมยาก ควบคุมไม่ค่อยจะทัน ฉะนั้นก็ขอให้ควบคุมเวทนาได้ก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้เรา พออะไรมาให้รักก็รัก อะไรมาให้โกรธก็โกรธ อะไรมาให้เกลียดก็เกลียด เพราะว่าเราควบคุมความรู้สึกไม่ได้ ควบคุมเวทนาไม่ได้ พอใจก็รัก ไม่พอใจก็โกรธ สงสัยก็วนเวียนอยู่นั่น ถ้าเราควบคุมความพอใจความไม่พอใจความสงสัยได้ มันก็ไม่มีเรื่องที่จะยุ่งยากลำบากหรือเดือดร้อน เราก็มีจิตปรกติอยู่เสมอ เดี๋ยวนี้เราตกเป็นทาสของเวทนา พูดภาษาธรรมะหน่อยก็ว่าคนธรรมดานี้เป็นทาส ทาสนั้นคือบ่าวหรือขี้ข้านะ ไม่ใช่ธา-ตุ นะ เป็นทาสะ เป็นทาสของเวทนาแล้วแต่เวทนาจะลากจูงไป
ฉะนั้นเรามาศึกษาเรื่องเวทนากันให้ดีจนรู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นต้นเหตุให้เกิดความคิดนึกคือวิตกหรือสัญญา แล้วก็เกิดกิเลสตัณหา เรามาศึกษาเวทนาด้วยการปฏิบัติหมวดที่ ๒ คือเวทนานุปัสสนา รู้จักปีติ รู้จักความสุข รู้จักความที่สองสิ่งนี้ปรุงแต่งจิต และรู้จักควบคุมสองสิ่งนี้ให้ปรุงแต่งจิตแต่ในทางที่ถูกทาง หรือไม่ปรุงเสียเลย,ไม่ปรุงเสียเลยนี่ ถ้าเราต้องการไม่มีปรุง มันคล้ายๆ กับควบคุมโลกทั้งโลก ถ้าควบคุมเวทนาได้ นี้มันอาจจะเกินไปสำหรับคนธรรมดาก็ได้ แต่ที่ไม่เกินสำหรับคนธรรมดาแม้แต่ลูกเด็กๆ นักเรียนเล็กๆ นี้ก็มี คือว่าให้เขาควบคุมเวทนาได้ อย่าเป็นทาสของเวทนา เดี๋ยวนี้เขาเอร็ดอร่อย หลงใหลในความเอร็ดอร่อยทางเพศทางกามคุณทางอะไรจนฉิบหายวินาศไป แม้ที่สุดแต่เขาจะต้องตกเป็นทาสของเวทนายาเสพติด ทิ้งยาเสพติดไม่ได้ ก็เพราะเขาตกเป็นทาสของเวทนา เขาทำทุจริตทุกอย่างเพราะเขาเป็นทาสของเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเด็กๆ ควรจะรู้เท่าทันข้อนี้ อย่าเป็นทาสของเวทนา แล้วจะไม่ทำผิดอะไรเลย ครูบาอาจารย์เอาไปแยกแยะดูว่าจะสอนลูกเด็กๆ ให้เขารู้จักใช้การควบคุมเวทนาให้ได้นี้ให้เป็นประโยชน์แก่เขาให้มากที่สุด
ทีนี้หมวดถัดไป เรียกว่าจิต จิตนั้นเป็นต้นเหตุเป็นผู้นำเป็นอะไร คือสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่าง จิตเป็นผู้นำให้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดทั้งถูก ทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งทุกอย่างแหละ จิตมันเป็นตัวผู้กระทำหรือนำให้กระทำ ฉะนั้นเราต้องรู้เรื่องจิตให้ดี ควบคุมจิตให้ได้ จึงจะมีจิตชนิดที่ว่านำไปแต่ในทางที่ถูกต้อง รู้จักตัวจิตเองเสียก่อน ข้อแรกจิตเป็นอย่างไร แล้วบังคับจิตให้ได้ โดยทำจิตให้ร่าเริงยินดี ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ ทำจิตให้ปล่อยเสียจากอารมณ์ตามหลักเกณฑ์ของอานาปานสตินั้นๆ ซึ่งสรุปความได้สั้นๆ ว่า เราสามารถควบคุมจิต บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจของเราทุกอย่าง ทีนี้ก็มีแต่จะทำถูกต้องโดยจิตชนิดนี้
ทีนี้ข้อสุดท้าย เรียกว่าธรรม คือสัจจะ คือของจริงของธรรมชาติ มันมีกฎของความจริงอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร เราต้องทำให้ถูกต้องตามสัจจะหรือของจริงหรือธรรมชาติเหล่านั้น จึงมีการทำให้รู้ว่าธรรมชาติมีลักษณะอย่างไรบ้าง เช่น อนิจจัง ยึดถือไม่ได้ ยึดถือแล้วมันก็จะเป็นทุกข์ เห็นอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งที่เราไปยึดถือเข้าแล้วมันก็เหมือนกับกัดเอา ถ้าเห็นอนิจจังมันก็เบื่อหรือระอาที่จะยึดถือ จิตไม่ไปหลงยึดถือ ไม่ไปหลงติดในอะไร นี่ก็เรียกว่าจิตมันคลายออกจากความยึดถือ เรียกว่าวิราคะ วิปัสสนาสูงสุดตั้งต้นที่เห็นอนิจจังแล้วคลายความยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือหรือคลายความยึดถือจนกระทั่งไม่ยึดถือ มันก็หยุด หยุดปัญหา หยุดความทุกข์ หยุดอะไรหมด เรียกว่านิโรธ แปลว่าสิ้นสุด คือดับหมดแห่งปัญหาคือความทุกข์ แล้วขั้นสุดท้ายก็รู้ว่า โอ้,เราซัดโยนทิ้งไปหมดแล้ว ความยึดถือ วัตถุแห่งความยึดถือ ทุกข์โทษแห่งความยึดถืออะไรก็ตาม เราซัดขว้างทิ้งไม่ให้กลับมาอีก ซัดออกไปหมดแล้ว นี่จบอานาปานสติ มันต้องให้จุดตั้งต้นที่สุดจนถึงจุดสูงสุดคือนิพพานนั้น และอย่ากลัวว่ามันจะไม่มีที่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเรารู้จักใช้มันก็จะเป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องนิพพานนี้ก็ต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะต้องพูดกันอย่างละเอียดเหมือนกัน ตอนบ่ายนี้คิดว่าจะพูดเรื่องนิพพานในทุกแง่ทุกมุม เพื่อจะได้ไม่เข้าใจว่ามันใช้อะไรไม่ได้ในโลกนี้ หรือสำหรับคนธรรมดานี้ใช้อะไรไม่ได้
เป็นอันว่ามันจบเรื่องอานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นบทเรียนสำหรับฝึกให้รู้ความจริงอันลึกลับของกาย ของเวทนา ของจิต ของสัจจะ ของธรรมชาติที่เรียกว่าธรรมะ เรารู้สิ่งเหล่านี้หมดก็ไม่มีการทำผิดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่มีความทุกข์เลย เรารู้จักจัดเอาเอง เอาตามส่วนที่เราควรจะต้องการหรือตามส่วนที่จะเอาไปสอนลูกเด็กๆ เล็กๆ ให้มันทำเป็นหรือทำถูก
เป็นอันว่าเราพูดกันถึงเรื่องอานาปานสติโดยหลักการเท่าที่เวลามันจะอำนวย เดี๋ยวนี้เวลามันก็หมดแล้ว เท่าที่เวลาจะอำนวย เราพูดอานาปานสติโดยหลักวิชาและโดยวิธีปฏิบัติว่ามันมีอยู่อย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นเป็นของที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่สูงพอใช้ในเรื่องสูงๆ เราจึงต้องพัฒนาสมาธิตามธรรมชาติให้สูงขึ้นมาถึงระดับที่เราควรจะต้องการ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือวิธีอานาปานสตินี้เอง เราควรจะรู้ ควรจะทำได้ และควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็จะไม่เสียทีที่ว่าเราเป็นพุทธบริษัท นี่การบรรยายอานาปานสติโดยหลักเบื้องต้นก็มีอย่างนี้ และเป็นการสมควรแก่เวลา อาตมาก็ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้/