แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนที่ ๑ ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การพูดกันครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมะสามารถแก้ปัญหาของโลกได้ทั้งหมด การพูดอย่างนี้คนบางพวกเขาไม่เห็นด้วย เพราะเขาไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั่นเอง เขาให้ความหมายแก่คำว่า “ธรรมะ” จำกัดอยู่ในวงแคบๆ บางคนจะถือว่า ธรรมะอยู่ที่วัด อยู่แต่ที่วัด หรือธรรมะมีแต่เฉพาะคนที่ถือศีลกินเจ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร อาตมาอยากจะสรุปความให้เขาเข้าใจกันเสียทีว่า
ธรรมะนั้น คือ ความถูกต้องของสิ่งที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ ธรรมะนั้นคือความถูกต้องของสิ่งที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติทำไม ปฏิบัติเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ถ้าเป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกต้อง มันก็เกิดปัญหา และตัวเขาเองก็จะต้องตายในที่สุด มนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ไม่ถูกต้องนั้น จะต้องตายในที่สุด
ถ้าเรามีความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ ข้อแรกที่สุดก็คือเราไม่ตาย แล้วเราก็เจริญๆๆ ไปตามแบบของมนุษย์จนถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์เราเจริญได้ จะเจริญได้ เจริญนี้หมายความว่าอย่างไร เจริญคำนี้หมายความว่า มีประโยชน์ เป็นประโยชน์ อยู่ด้วยประโยชน์ มากขึ้นๆ เรียกว่า เจริญ
มนุษย์เกิดมาสำหรับก้าวหน้า เจริญในความเป็นมนุษย์จนถึงที่สุด เรียกว่า ไม่มีความทุกข์เลย มนุษย์ที่ยังมีความทุกข์อยู่ นี้เรียกว่า ยังไม่เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องหรือสมบูรณ์ มนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์เลย เรียกว่า มนุษย์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว เป็นยอดของมนุษย์แล้ว ในภาษาธรรมะก็เรียกกันว่า เป็นพระอรหันต์ เป็นปุถุชน ตรงกันข้ามคือมีความทุกข์เต็มที่ แล้วก็เป็นอริยชนมีความทุกข์น้อยลงๆๆ จนกระทั่งยอดสุดของอริยชนไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย แล้วเราก็เรียกว่า เป็นพระอรหันต์
การที่มนุษย์จะมีความถูกต้องและจะเจริญได้อย่างนี้ ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ จึงขยายความออกไปว่า ธรรมะสามารถจะแก้ปัญหาหรือขจัดปัญหาของมนุษย์ได้ทุกปัญหา มนุษย์จะต้องมีปัญหาเรื่องเลี้ยงชีวิต จะต้องทำมาหากินนั้นแหละ นี้ปัญหาแรก ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมะก็จะเลี้ยงชีวิตผิดด้วยการทำมาหากินที่ผิด แล้วความผิดนั้นจะลงโทษมนุษย์นั้น จะเรียกว่า กัดเอามนุษย์คนนั้นก็ได้ การกระทำผิดนั้นน่ะ มันจะกัดผู้ที่กระทำให้เจ็บปวด เราเรียกกันว่า ความทุกข์
นี้เราจะต้องมีความถูกต้องในระดับแรก คือ การดำรงชีวิตอยู่ การมีชีวิตอยู่นั้นมันเป็นพื้นฐาน ถ้าว่ามันไม่มีชีวิตแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือที่จะทำอะไร นั้นการที่จะเป็นอะไร จะทำอะไรได้ มันก็ต้องมีชีวิตกันเสียก่อน เขาจึงเรียกว่าชีวิตเป็นพื้นฐาน นั้นชีวิตนี้มันจะคืออะไร ก็ยากที่จะเอามาให้ดูได้ และขอให้ทุกคนถือเอาความหมายตามที่รู้อยู่เองว่า ชีวิตนี้คืออะไร การมีชีวิตก็คือไม่ตาย ไม่ตายมันก็ต้องมีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่การมีชีวิต เช่น มีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สอย มีการบำบัดโรค นี้เป็นอย่างน้อย
สำหรับชีวิตจะไม่ตาย การทำให้ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ เรียกว่า ธรรมะ ทั้งนั้น ถูกต้องในเรื่องทำมาหากิน ถูกต้องในเรื่องนุ่งห่ม ถูกต้องในเรื่องใช้สอย ถูกต้องในเรื่องบำบัดโรค นี่เรียกว่า ธรรมะ ทั้งนั้น ขอให้ท่านฟังดูให้ดีๆ
เอาละเป็นอันว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัด ไม่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน การนุ่งห่ม การเป็นอยู่ การรักษาโรค รอดชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ ทีนี้จะทำอะไรต่อไป ก็จะนึกถึงว่า เราและเพื่อนของเราจะอยู่กันโดยสันติสุข นั้นเราก็ร่วมมือกันประพฤติประโยชน์ต่อกันและกัน แต่ละคนประพฤติประโยชน์ของตนให้ได้เสียก่อน ถ้าเราต้องการเงิน เราก็มีเงินตามที่ควรจะมี เราต้องการชื่อเสียง ความดีก็หาได้ตามที่ควรจะมี เราต้องการเพื่อนฝูงพวกพ้องบริวาร ความรัก ไมตรี เมตตา เราก็หาได้ตามที่ควรจะมี เรามีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีอำนาจ มีเพื่อนฝูงให้กำลัง ให้ความช่วยเหลือ เราก็มี นี้เราช่วยกันทำให้สังคมของเราอยู่กันเป็นผาสุก ไม่เบียดเบียนกัน อย่างที่ท่านกล่าวไว้เป็นหลัก ว่าทุกคนนอนหลับสนิทไม่มีภัย ไม่มีอันตราย แล้วก็รักษาตัวพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วก็ทำการงานสนุกสนาน เพราะว่าการงานเป็นที่ตั้งแห่งชีวิต เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ รวมทั้งการงานที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และการงานที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคนด้วย
นี้เราก็เป็นสุข เพราะเรามีความรู้สึกว่าถูกต้อง เพราะเรามีความรู้สึกพอใจในความถูกต้องของเรา ความพอใจนั้นแหละคือความสุข ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีความถูกต้อง เราก็พอใจในความถูกต้อง แล้วเราก็เป็นสุขเพราะความพอใจ แม้ที่สุดแต่เราพอใจว่า เรามีสุขภาพดี มีสุขภาพดี เราก็พอใจในความมีสุขภาพดี แล้วเราก็เป็นสุขเพราะความพอใจว่าเรามีสุขภาพดี นั้นขอท่านทั้งหลายทุกคนจงได้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ตนพอใจตนเองได้ ให้ตนพอใจในการกระทำของตนเองได้ ให้ตนพอใจในสิ่งที่เป็นผลที่ตนกระทำขึ้นมาได้ นี้พอใจอย่างนี้มันก็มีความสุขอยู่ในตัวความพอใจนั้นเอง
ความสุขอย่างอื่นเป็นเรื่องหลอกลวง เรื่องเอร็ดอร่อย สนุกสนานทางกามารมณ์นั้นน่ะ มันเป็นเรื่องหลอกลวง มันพอใจของกิเลส มันพอใจแก่กิเลส มันพอใจเพื่อกิเลส ไม่ใช่พอใจเพื่อเรา คำว่า “เรา” ในที่นี้ หมายถึง ความถูกต้อง ชีวิตที่มีความถูกต้องควรจะเคารพนับถือว่าเป็นตัวเรา ส่วนเรื่องของกิเลสนั้นเป็นความชั่วที่จะทำลายเรา
นั้นเรื่องกามารมณ์เป็นเรื่องพอใจของกิเลส ไม่ใช่เรื่องพอใจของเรา ถ้าเราจะต้องมีอะไรที่สวยงาม เอร็ดอร่อยก็อย่าพอใจในรูปแบบของกิเลส นั้นถ้าเราจะกินของอร่อยบ้าง ก็รู้อันนี้ว่าเป็นของอร่อยแล้วก็กิน ก็ไม่หลงใหล ถ้ากินแล้วหลงใหลก็เป็นเรื่องพอใจของกิเลส มันก็กลายเป็นเรื่องของกิเลสไปสิ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เศร้าหมอง ไม่สะอาด แล้วมันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์เป็นร้อน ก็หาความสงบสุขไม่ได้ แยกตัวเราที่ถูกต้องออกมาเสียจากตัวเราที่หลอกลวง คือ ตัวเราของกิเลส
เมื่อกี้พูดกันว่า ตัวกูของกูในที่นี้หมายถึงตัวของกิเลส เพราะมันเดือดอยู่ด้วยความยึดถือ ความหลงใหล ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวต่างๆ นานา เต็มอัตราที่เราพูดออกมาว่าตัวกู หรือของกู แล้วความถูกต้องของธรรมชาติ ของธรรมะแล้วก็คือความสงบความปกติ ไม่มีความกดดันออกมาเป็นตัวกูของกู มันอยู่เฉยๆ จะเรียกว่า ตัวเราก็ได้ แต่เพียงแต่พูดกันเข้าใจจะเรียกว่า ตัวเรา ตัวฉันก็ได้ แต่อย่าให้เดือดพล่านเป็นตัวกู ถ้าจะให้ดีแล้วก็อย่ามีตัวเราก็ยิ่งดี คือ มีแต่ธรรมชาติที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และร่างกายและจิตใจนี้ก็จะมีแต่ความสงบสุข
ที่จริงที่เราเรียกว่าตัวตน ตัวกูนี้ มันก็มีร่างกายกับจิตใจรวมกันอยู่ ถ้ามีความถูกต้องทั้งทางร่างกายและจิตใจ มันก็ไม่มีปัญหา ร่างกายนั้นและจิตใจนั้นรวมกันอยู่อย่างสงบเย็น ในความหมายของคำว่า “นิพพาน” นิพพานแปลว่าเย็น อย่าให้เกิดกิเลสที่โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นของร้อน เพราะชีวิตนี้ก็เป็นของเย็น เรียกว่า ชีวิตนี้มันอยู่กับนิพพาน นั้นแหละคือความถูกต้องถึงที่สุด ปุถุชนหาความเย็นไม่ได้ ปุถุชนคนธรรมดาหาความเย็นไม่ได้ เพราะเขาชอบกิเลส ชอบใช้กิเลส ชอบมีกิเลส ชอบอร่อยด้วยกิเลส อร่อยเพื่อกิเลส แสวงหาด้วยกิเลส มันก็เป็นของร้อน เป็นชีวิตร้อน เรียกว่า เป็นปุถุชน
อาตมาเข้าใจว่าเคยรู้รสกันดีมาแล้วทั้งนั้น และกำลังรู้รสของความร้อนของความเป็นปุถุชนอยู่ นี้เรียกว่า คนเบียดเบียนตนเอง มันโง่สักเท่าไร คนเบียดเบียนตนเอง ทำตนเองให้เร่าร้อนนี้ มันโง่สักเท่าไร มันทำไม ไม่ทำตัวเองให้เย็น โดยการดับไฟของกิเลสเสีย หรือเรื่องที่มาหลอกให้รักก็อย่ารัก เรื่องที่มาหลอกให้เกลียดก็อย่าเกลียด เรื่องที่มาหลอกให้โกรธก็อย่าโกรธ เรื่องที่มาหลอกให้กลัว เป็นต้น ก็อย่ากลัว ทำไมจึงใช้คำว่า “หลอก” เพราะว่ามันไม่ใช่ของจริง มันเป็นสิ่งที่มาทำให้เราโง่หลงไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว อันที่จริงมันเป็นธรรมชาติที่เป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ แล้วเรามันโง่ เราไม่รู้ เราก็เข้าใจผิด เราก็หลง เพราะเราหลงจึงเรียกว่าถูกหลอก เพราะว่าโดยแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเราไม่ต้องรัก ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเกลียด ไม่ต้องกลัว ไม่จำเป็นอะไรเลย แต่เรามันโง่ เราจึงถูกหลอกที่เห็นว่าน่ารักก็รัก ที่เห็นว่าน่าเกลียดก็เกลียด น่าโกรธก็โกรธ น่ากลัวก็กลัว ยังมีอะไรอีกมากมายที่ทำให้จิตใจนี้มันร้อน นั้นเรียกว่าความไม่ถูกต้อง ไปโง่หลง เพื่อรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสคือความร้อน มันเรียกว่า ความไม่ถูกต้อง
ความไม่ถูกต้องก็คืออธรรม ไม่ใช่ธรรม เพราะว่าธรรมคือความถูกต้อง นี้อาตมาได้บอกท่านทั้งหลายวันนี้เพียงพอแล้วว่า ธรรมะคือความถูกต้อง เมื่อมีความถูกต้องก็แก้ความผิดพลาดได้ ธรรมะแก้ปัญหาได้ทุกชนิด เพราะธรรมะเป็นความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ขอให้ถือธรรมะในฐานะเป็นความถูกต้องจำเป็นที่ชีวิตจะต้องมี เพื่อไม่ตาย ก็เพื่อจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงที่สุดที่ชีวิตมันจะมีอยู่ได้ เวลาก็หมดแล้วขอยุติการพูดครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้
ตอนที่ ๒ ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การพูดกันในครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมะคือเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะเป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นธรรมชาติที่ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ โดยกฎของธรรมชาติ ไม่มีใครสร้างขึ้นได้ ไม่มีใครบังคับได้ ธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติ ซึ่งผู้สร้างขึ้นแล้วก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติตายตัว เป็นเช่นนั้นเอง ถ้าจะแจกให้ละเอียดออกไปก็เรียกว่า มีอยู่ ๔ ความหมาย ธรรมะคือตัวธรรมชาตินั้นแหละ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติที่สิงอยู่ในธรรมชาติทั้งปวง ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ประการสุดท้าย ธรรมะก็คือผลที่ทำให้เกิดขึ้นมาด้วยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
เมื่อมันเป็นธรรมชาติก็เห็นได้ว่า ครอบงำทุกสิ่ง เพราะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ท่านผู้ใดมีสติปัญญาอย่างไรลองชี้ให้ๆ ดูสักทีว่า อะไรๆ อะไรบ้างที่มันไม่ใช่ธรรมชาติและไม่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกสิ่งมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเป็นธรรมชาติ นั้นอะไรบ้างที่มนุษย์รู้จักกันอยู่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มนุษย์ก็รู้จักธรรมชาติเพียงเท่านี้ มันก็เรียกว่า รู้จักเพียงธรรมชาติครึ่งเดียว คือ ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนธรรมชาติที่เหนือไปกว่านั้นคือไม่เกิดขึ้น ไม่ตั้งอยู่ ไม่ดับไปนี้ ไม่รู้จักเสียเลยกันว่า รู้ธรรมชาติครึ่งเดียว ธรรมชาตินี้ครอบคลุมหมด ทั้งฝ่ายที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และฝ่ายที่ไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ฝ่ายที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนี้ ทำให้เกิดหน้าที่ยุ่งยาก ลำบากเหน็ดเหนื่อยในการบริหาร ถ้ามันไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือ ไม่เปลี่ยนแปลง มันก็ไม่ๆ มีหน้าที่ มันก็ไม่มีความยุ่งยาก ลำบากในการบริหาร เดี๋ยวนี้จิตใจของมนุษย์ธรรมดานี้ รู้จักหรือเข้าถึงแต่ธรรมชาติที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนธรรมชาติที่ตรงกันข้ามนั้นยังไม่เข้าถึง ยังยากที่จะเข้าถึง มันเข้าถึงได้แต่มนุษย์ที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ คือ เป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นเอง ปุถุชน คนธรรมดา ยังต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างที่เรียกว่าจะเป็นทุกข์ทรมาน ไปดูเอาเองเถิด
เรามีเรื่องบริหารมากมายเหลือเกินกับสิ่งที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จนเป็นบ้าไปก็มี จนตายไปก็มี เพราะว่าต่อสู้ไม่สำเร็จ เพราะเขาไม่รู้จักเรื่องของธรรมชาตินี้โดยสมบูรณ์ เขาจึงมีความรู้เรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรื่องผลจากหน้าที่อย่างดี รู้อย่างดี ใช้เป็นหลักในการต่อสู้กับธรรมชาติ เพื่อการเป็นอยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้ารู้วิธีมันก็เกือบจะไม่มีความยากลำบากอะไรนัก ถ้าไม่รู้วิธี มันยากลำบากตรงที่มันไม่ถูกกับเรื่อง มันไม่ถูกกับเรื่อง มันก็เกิดผลตรงกันข้ามเรื่อยไป ไม่ประสบความสำเร็จ
เรารู้วิธีก็หมายความว่า เราศึกษาธรรมชาติจนรู้ว่า มันมีกฎเกณฑ์ของมันอย่างไร แล้วประพฤติให้ถูกกฎเกณฑ์ของมัน อย่างเช่นว่า เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีเรื่องของมันอย่างไร เราต้องประพฤติให้ถูกต้อง เราต้องควบคุมมันให้ได้ ให้อยู่ในทางที่ถูกต้อง เรียก ให้มันมีความถูกต้อง เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ลำบากเพราะการที่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเราทำผิดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผลก็ออกมาเป็นกิเลสทั้งนั้นเลย เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเป็นกิเลสชื่ออย่างอื่น ล้วนแต่เป็นไฟเผาให้ร้อนไปเสียทั้งนั้น ถ้าใครมีความร้อนใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็ดูให้ดีเถิด จะเห็นว่า ท่านได้ทำผิดเข้าแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และโดยมากมันก็เป็นไปทางใจ เพราะทางใจนี้มันง่าย มันเป็นไปได้ง่าย เป็นไปได้เร็ว เป็นไปได้กว้างขวาง เป็นไปได้ในที่ทุกแห่ง ทางตา ถ้ามันมืด ตาเราไม่เห็น ก็ไม่มีเรื่องอะไร แต่ทางใจ แม้มืด ๆ ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน มันก็เกิดคิดได้ โดยความจำ สัญญา มีความจำเรื่องต่างๆ ไว้ได้ เอามาเป็นอารมณ์ใหม่ มันก็มีอารมณ์ทางใจมากเหลือเกิน เราคิดไม่ถูก จิตก็เดินไปไม่ถูก ก็เดินไปผิด ก็เดินไปผิด จนเกิดความรู้สึกที่ผิดๆ มีการคิดผิด มันก็มีผลของความผิดคือกิเลส โง่ไปรักเขาก็มี ไปเกลียดเขาก็มี ไปโกรธเขาก็มี ไปกลัวเขาก็มี วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงกันไปตามเรื่อง นี่เรียกว่า มันผิดแล้ว
นั้นเรามีหน้าที่ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ๆ รีบด่วนอย่างยิ่งที่จะเข้าใจเรื่องนี้ว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราไม่มีทางที่จะต่อสู้ ไม่มีทางที่จะต่อสู้ เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น โดยไม่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เราถือธรรมชาติว่ามีกฎเกณฑ์ที่เฉียบขาดสูงสุดที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องเชื่อฟัง เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีชีวิตนั้นมันออกมาจากธรรมชาติ ธรรมชาติมันสร้างมา ธรรมชาติมันควบคุมอยู่ แล้วมันก็เป็นตัวธรรมชาติอยู่ตลอดไป ถึงธรรมชาติก็อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ ธรรมชาติเหล่านั้นจึงไม่มีทางที่จะดื้อดึงต่อกฎของธรรมชาติ เราจึงต้องศึกษาให้รู้กฎของธรรมชาติให้ครบถ้วนว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อสิ่งนี้เข้ามาทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี เรียกว่า มันเข้ามา แล้วจิตใจนี้จะต้องต้อนรับอย่างไร จึงจะไม่เกิดเป็นไฟลุกขึ้นมาเผาจิตใจ โดยหลักทั่วไปของธรรมะแล้วก็คือว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ ก็จะมาเป็นของเรา มาเป็นตามจิต ตามความต้องการของเราไม่ได้ แล้วเราก็ต้องให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไรก็ใช้ไปสิ แต่ที่จะมาเป็นของเรานั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นเองตามกฎของธรรมชาติ
คำกล่าวที่น่าสนใจก็มีอยู่ เช่น คำกล่าวที่ว่า มันเหมือนกับของยืม พระพุทธเจ้าก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ไอ้ทุกสิ่งที่มันมาเป็นเรา เกี่ยวข้องกับเรา เราสมมตินะว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา เราว่าเอาเอง เราว่าเอาเองด้วยความโง่ของเรา ว่าสิ่งนี้ตัวเรา สิ่งนี้ของเรา นี่เราว่าเอาเองด้วยความโง่ของเรา ที่แท้มันเป็นของธรรมชาติ ผู้ที่รู้จึงมองเห็นรู้สึกว่ามันเหมือนกับของยืม ต้องคืนเจ้าของ ตามสมมตินี้ ของที่ยืมมามันต้องคืนเจ้าของ ในสภาวะที่ถูกต้อง จะทำให้ผิดพลาดไปจากนั้นไม่ได้ นั้นอะไรๆ ที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตก็ดี หรือตัวชีวิตเองก็ดี มันล้วนแต่เป็นของยืม ให้ยืมมาจากธรรมชาติซึ่งมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่
เราต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เจ้าของที่แท้จริง เขาสั่งไว้อย่างไร เราต้องทำอย่างนั้น และเราก็ไม่ทะเลาะกับเจ้าของ คือ กฎของธรรมชาติ มันก็ไม่มีเรื่อง เพราะไม่ทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะกัน เราสู้ไม่ได้ เราเป็นฝ่ายแพ้ทุกที เราต้องเป็นทุกข์ทุกที นั้นเราต้องรู้จักธรรมชาติ ทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไม่ต้องใช้คำว่า “ง้องอนอ้อนวอน” อะไรนักก็ได้ ไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ ขอแต่ว่าให้มันถูกต้องตรงตามกฎของธรรมชาติ ความพยายาม การที่พยายามให้ถูกตรงตามกฎของธรรมชาตินั้นแหละ มันเป็นการง้องอนอ้อนวอนขอร้องให้โปรดปรานอยู่ในตัวแล้ว
นั้นเอาแต่เพียงว่าเรามีความรู้ดีที่สุด ทำให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วธรรมชาติก็จะไม่ทำให้เราเจ็บปวด มาเป็นทุกข์อะไร ไอ้ชีวิตนี้มันมีอย่างนี้เอง มันมีชีวิตที่มีจิต มีความรู้สึก มีกายเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึก แล้วมันก็มีเครื่องติดต่อเกี่ยวข้องกับภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันอย่าเห็นอะไรให้มากไปกว่าว่ามันเป็นเครื่องติดต่อกับสิ่งภายนอก เราจึงไม่หลงบูชาความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ เพราะว่าธรรมชาติให้ยืมมาสำหรับเป็นเครื่องใช้ติดต่อกับสิ่งภายนอก ให้มาร่วมมือกับสิ่งภายใน ช่วยกันให้ชีวิตตั้งอยู่ได้ก็พอแล้ว ถ้าเราทำเกินนั้น เรียกว่า เราเป็นคนโกหกหลอกลวงคดโกงกบฏต่อเจ้าของเดิม นั้นมันก็ต้องถูกลงโทษจึงเป็นทุกข์ นั้นเราอย่าทำให้ผิดจากกฎเกณฑ์กติกาของเจ้าของเดิม คือ กฎของธรรมชาติว่าให้ยืมสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตนี้มาอย่างไร ให้ยืมสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ของชีวิตนี้มาอย่างไร ให้ยืมมาสำหรับใช้กันอย่างไร จึงจะไม่เกิดเรื่อง ต้องทำให้ถูกตามนั้นแล้วมันก็ไม่เกิดเรื่อง แล้วก็ไม่เกิดความทุกข์ เรียกว่า ไม่เกิดกิเลส คือ ไฟที่เผาให้ร้อน แล้วเกิดการกระทำที่เรียกว่า กรรมที่เผาตัวเองให้ร้อน มันก็เป็นชีวิตที่เย็น เรียกว่า ไอ้ชีวิตตัวนั้นนะมันโชคดี ที่มันเกิดมาไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน มันสมมติเรียกว่ามันโชคดี แต่ที่จริงมันไม่ใช่โชคดี โชคร้ายอะไรหรอก มันอยู่ที่ทำถูกหรือทำผิด มันกระทำถูกหรือกระทำผิด ถ้ามันกระทำผิดต่อกฎของธรรมชาติ เจ้าของเดิมแท้ก็ไม่ร้อน ไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันทำผิดต่อกฎของธรรมชาติ คือ มันกบฏเจ้าของเดิมแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์และเดือดร้อน
เดี๋ยวนี้เราคนไหนบ้างที่เห็นว่า ไอ้ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของเรา เรามักถือว่าทั้งหมดนี้เป็นของเรา และเป็นตัวเราเสียด้วย นี่เรียกว่ามันคดโกง มันกบฏต่อธรรมชาติ เอาซึ่งหน้าเลย คดโกงซึ่งหน้าเลย บิดพลิ้วกันซึ่งหน้าเลย ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู ว่าเป็นตัวฉัน ว่าเป็นของฉัน ไอ้ความรู้สึกเป็นตัวฉัน ของฉัน ตัวกู ของกูนั้นนะ คือว่าไอ้การกบฏ มันก็เป็นเรื่องกัด กัดคนนั้นน่ะ กัดคนที่กบฏน่ะ การกบฏนี้ มันก็กัดเอาคนที่กบฏ มันก็ได้นั่งร้องไห้อยู่บ้าง เป็นบ้า เป็นฆ่าตัวตายบ้าง อะไรบ้าง นี่เพราะว่ามันลุกล้ำกฎของธรรมชาติ ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นของตัว อย่างที่ไม่ใช่เป็นของยืม ถ้าเห็นว่าเป็นของยืมมายึดถือว่าเป็นของตัว ใช้แล้วได้รับประโยชน์แล้วกว่าร่างกายนี้ ชีวิตนี้จะแตกดับ เรื่องมันก็หมดกัน
ไอ้ที่เรามามองเห็นว่าไม่ใช่ของเรา ของธรรมชาตินั้นแหละ คือ การคืนเจ้าของอยู่อย่างถูกต้อง คืนให้เจ้าของอย่างถูกต้อง ไม่ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นตัวกู ของกู รู้ความจริงสูงสุดว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง ของธรรมชาติอย่างนั้นเอง คืนให้เจ้าของเสียเถิด อย่าคดโกงเอามาเป็นตัวกู ของกู นี่เรียกว่า เราประพฤติถูกต้องต่อกฎของธรรมชาติ
ธรรมะ คือ เรื่องของธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรื่องผลที่ได้รับจากการปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ของธรรมชาติ ซึ่งขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทุกคนเข้าใจให้ดีๆ แล้วต่อไปนี้ก็อย่าได้เป็นคนคดโกง เจ้าของอันแท้จริงคือธรรมชาติ ทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ยอมอำนวยด้วยดีว่าเป็นอย่างนั้น ใช้เป็นประโยชน์อย่างไรก็ได้ แต่อย่าคดโกงกรรมสิทธิ์ว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู นี้เรียกว่า ปฏิบัติเพื่อไม่ต้องมีความทุกข์อยู่ในโลกนี้ เวลาก็หมดแล้วขอยุติไว้แต่เพียงนี้ก่อน
ตอนที่ ๓ ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้อาตมาจะกล่าวถึง สิ่งที่เรียกว่า หัวใจของธรรมะ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา หรือจะเรียกเลยไปถึงว่าเป็นหัวใจของธรรมชาติ หัวใจของกฎของธรรมชาติก็ได้ นี่ก็เป็นหลักเกณฑ์หรือคำกล่าว ชั้นที่เป็นหัวใจ คือ มีความสำคัญมาก สำคัญจนว่า ถ้าใครไม่รู้ คนๆ นั้นจะลำบาก คือไม่สามารถจะถือเอาพระธรรม หรือ ถือเอาความจริงของธรรมชาติมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องได้
ทุกคนได้ยินได้ฟังมาแล้วว่าตามธรรมชาติ ฝ่ายธรรมดาสามัญนี้เรียกว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่เรียกว่ามันไม่เที่ยง การที่มันไม่เที่ยงนั้นนะ มันน่าเกลียด เรียกว่า ความทุกข์ หรือเข้าไปยึดถือเอาแล้วมันจะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น ความที่เป็นของไม่เที่ยงและเป็นทุกข์นี้ เรียกว่า ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนของใคร ไม่ใช่เป็นตัวตนของมัน หรือ ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา เพราะว่ามันมีกฎของมันเองว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เรื่อยแล้ว เรียกว่า เห็นหัวใจของธรรมะ เห็นหัวใจของธรรมชาติทั้งปวง
อาการที่มันเป็นอย่างนั้น เราเรียกกันสั้นๆ ตามพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า “ตถตา” ตถตา แปลว่า อย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง มันควรจะหัวเราะแล้วก็ได้ ที่ได้ยินได้ฟังว่า ไอ้หัวใจของธรรมะนั้น คือ คำว่า “เช่นนั้นเอง” เช่นนั้นเอง ฟังดูเป็นของเล่น เป็นของพูดเล่น เด็กๆ ก็พูดได้ นี่ต้องเรียกว่า เด็กๆ ก็พูดได้ ยอมรับว่าเด็กๆ ก็พูดได้ เช่นนั้นเอง เสร็จแล้วคนแก่หัวหงอกก็ปฏิบัติไม่ได้ มันยากที่ตรงนี้ต่างหาก ถ้ายอมว่าสิ่งทั้งปวงเช่นนั้นเอง ดูมันมี ไม่มีใครยอม ล้วนแต่มีคนที่จะดึงมาตามความต้องการของกู จงมาๆ เป็นตามความต้องการของกู ไม่ได้กูไม่ยอม กูก็ต่อสู้ กูก็ต่อสู้จนตัวตายไปเองก็มี ต่อสู้ไม่ได้ก็ยอมฆ่าตัวตายก็มี อะไรๆ ก็มาเป็นไปตามที่กูต้องการ เงินทองของกู บุตร ภรรยา สามีของกู ทรัพย์สมบัติของกู เกียรติยศชื่อเสียงของกู การพ่ายแพ้ของกู การชนะของกู กำไรของกู ขาดทุนของกู ล้วนแต่มีความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่ามันต้องเป็นไปตามที่กูต้องการ นี่คือคนที่ไม่รู้จัก “เช่นนั้นเอง”
เขาไม่ได้ทำตนให้เข้ากันกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเขาต้องการแต่จะให้มันเป็นตัวกู ของกูเสียเรื่อยไป แล้วมันจะทำได้ที่ไหน กฎของธรรมชาติมันยอมให้แต่เพียงว่า เป็นเช่นนั้นเองตามกฎของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไอ้ที่มันไม่เกิดขึ้น ไม่ตั้งอยู่ ไม่ดับไปนั้นน่ะ มันสูงเกินไปจนคนธรรมดาเข้าไม่ถึง นั้นมันก็มีอยู่ ถ้าจิตอบรมดีจนเข้าถึงไอ้สิ่งที่ไม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้นมันก็หมดปัญหาแน่นอน จิตมันไม่ต้องการอะไร เมื่อมันไม่ต้องการอะไร มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทำให้มาตรงตามความต้องการของกู เพราะว่ากูไม่มีความต้องการ แล้วจะมีอะไรที่ต้องทำให้ตรงกับความต้องการของกู มันก็เลยไม่มีปัญหา ไม่ผิดหวัง ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อน เรียกว่า อย่ามีความโง่หลงว่าตัวกู แล้วตัวกูต้องการอะไร ต้องการอะไร ให้เป็นไปตามความต้องการของกู นี้เรียกว่า ระบบของความโง่ ของความหลง เกิดขึ้นแล้วก็มืด พอมืดก็สร้างกิเลสผิดๆ ความคิด ความเข้าใจที่ผิดๆ เราเรียกว่า กิเลส ผิดแล้วมันจะเรียบร้อยราบรื่นไม่ได้ มันก็ต้องเกะกะ ขัดขวางกัน ขัดแย้งกัน มันก็จะต้องมีผลเป็นความทุกข์ เป็นความเร่าร้อน
เราปุถุชนคนธรรมดาไม่รู้จักกฎเกณฑ์ข้อนี้ตามที่เป็นจริง ก็เลยขัดขวางโดยไม่รู้ตัว ขัดขวางกับกฎเกณฑ์อันนี้โดยไม่รู้ตัว เรียกว่า ทะเลาะวิวาทกับธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้สึกตัว ธรรมชาติมันไม่เป็นอะไรได้หรอก มันไม่มีความทุกข์อะไรได้หรอก แต่เรานี่ที่ไปทะเลาะกับธรรมชาติที่เจ็บปวดเหลือประมาณ เป็นทุกข์เหลือประมาณ ก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ จึงต้องทนทุกข์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สอนให้ท่องกันไว้ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา มีกรรมเป็นของตน ต้องเป็นไปตามกรรมเป็นธรรมดา มันก็เหมือนกับสอนให้นกแก้วนกขุนทองว่า สวดมนต์กันทุกวันน่ะ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าอะไร นี่เพราะว่าเรามันไปทำให้มีปัญหาขัดแย้งกันขึ้นมากับธรรมชาติ จนเรียกว่า มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา มีความผิดหวังอยู่ตลอดเวลา เป็นไปตามกรรม รับผลกรรมอยู่ตลอดเวลา นี้เพราะว่าเรามันโง่ ยึดถืออยู่เพียงเท่านี้ ไม่รู้ว่านั่นมันเป็นการกระทำผิด ไปยึดเอาความเกิดเป็นของกู ความแก่เป็นของกู ความตายเป็นของกู ความอะไรๆ ก็ล้วนแต่ของกู แล้วมันก็กัดเอา เพราะว่ามันไม่อาจจะเป็นของใครได้ มันเป็นของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นว่ามีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นปัญหาอยู่ ก็ให้รู้เสียด้วยว่า มันมีทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้ ถ้าเราได้ใช้วิธีการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ผู้ที่มีความเกิดเป็นธรรมดานั้นนะ จะพ้นจากความเกิดได้ ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่มีความแก่เป็นธรรมดานั้น จะพ้นจากความแก่ได้ ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่มีความเจ็บเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความเจ็บได้ ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่มีความตายเป็นธรรมดานั้น ก็จะพ้นจากความตายได้ ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้นนั้น จะไม่ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร หรือว่าผู้ที่จะต้องเป็นไปตามกรรมนั้น จะไม่ต้องเป็นไปตามกรรม ถ้าได้เราเป็นกัลยาณมิตร
ข้อความเหล่านี้ใครเคยได้ยินบ้าง ใครเคยได้ฟังบ้าง เพราะว่าเขาไม่เอามาพูดกัน เขาเอามาพูดกันแต่ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา เราไม่พ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเจ็บไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นความตายไปได้ ดูเหมือนจะเอามาพูดให้มันโง่เอง ไม่พูดเสียดีกว่า
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเพียงเท่านั้น ท่านสอนว่าให้เห็นอย่างนั้นก่อนว่า มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา แล้วท่านสอนต่อไปว่า ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้วก็จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา นี้มันยากอยู่ที่ตรงนี้ เรายอมแพ้เหมือนกับว่าเราจะต้องมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้ แล้วมันก็กลัดหนอง เป็นทุกข์ระทมอยู่ในใจ ไม่สามารถจะเอาความทุกข์ชนิดนี้ออกไปเสียได้ ทำไมจึงมีคำพูดว่า พระอรหันต์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั้นแหละ พระอรหันต์ท่านได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร แล้วท่านก็ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ทำไมพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรที่ตรงไหน พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรที่มาบอก มาสอน มารู้ มาชี้แจง มาเปิดเผยให้รู้ว่า มันไม่มีตัวกู มันไม่มีของกู มันไม่มีตัวกู มันมีแต่ธรรมชาติ มีแต่นามรูปที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีแต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกู ถ้ารู้อย่างนี้ มันก็ไม่มีความเกิดของกู ไม่มีความแก่ของกู ไม่มีความเจ็บของกู ไม่มีความตายของกู ไม่มีกรรมของกู มันล้วนแต่เป็นของธรรมชาติ ถึงแม้ว่าร่างกายนี้มันจะเกิด แก่ เจ็บ ตายก็ช่างหัวมัน ร่างกายมันจะเกิด แก่ เจ็บ ตายก็ช่างหัวมันสิ ให้มันเป็นของร่างกายอย่าเอามาเป็นของกู พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรสูงสุดตรงที่ท่านสอนให้รู้ว่า มันไม่มีตัวตน มันไม่มีของตน ร่างกาย ชีวิต จิตใจนี้มันไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ของตน ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของตน มันจึงไม่มีตัวตนที่จะเป็นเจ้าของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
พระอรหันต์ท่านก็แก่ลงทุกวัน ร่างกายของท่าน พระอรหันต์นะ ร่างกายของท่านก็แก่ลงทุกวัน พระอรหันต์นั้น บางวันท่านก็เจ็บไข้ แล้วในที่สุด ร่างกายของท่านก็จะแตกตาย แต่ท่านไม่มีความรู้สึกว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความเจ็บของเรา ความตายของเรา มันเป็นของธรรมชาติเหล่านั้น มันเป็นของรูป มันเป็นของนาม มันเป็นของขันธ์ ของธาตุ ของอายตนะ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกฎที่ว่า มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีตัวฉันที่ไหน
เราได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ได้รู้แจ่มแจ้งกระจ่างว่าไม่มีตัวเรา มันก็เลิกกัน ไม่มีปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราไม่ได้ทำกรรมอะไรไว้ เพราะว่าไม่มีตัวเรา ถ้าร่างกายจิตใจ ด้วยความโง่ มันได้ทำอะไรเป็นกรรมชั่ว มันก็เป็นของไอ้ร่างกายที่โง่ จิตใจที่โง่ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร เพราะว่าไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา แล้วเราก็ไม่ได้รักอะไร ไม่ได้เกลียดอะไร ไม่หวังอะไร เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะผิดหวัง เพราะว่าไม่มีตัวเราที่หวังอะไรไว้ เรื่องมันก็มีเท่านี้
สรุปความว่าได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรแล้ว เราก็อยู่เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายเพราะไม่มีเรา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ว่า มันไม่มีเรานี่ ความเป็นกัลยาณมิตรเป็นมิตรที่ประเสริฐที่สุดของพระพุทธเจ้าก็อยู่ตรงที่ท่านมาสอนให้รู้ว่า มันไม่มีตัวเรา แล้วเรามันก็โง่เอง เรามันบรมโง่เอง เราไม่ยอมเข้าใจ เราไม่ยอมเชื่อพระพุทธเจ้าว่า ไม่มีตัวเรา นี้เราก็ยังคงมีตัวเราต่อไปตามเดิม มันก็เลยไม่ต้อง ไม่ต้องพ้นจากทุกข์กัน มีตัวกูที่เป็นมายา รับเอาความเกิด แก่ เจ็บ ตายที่เป็นมายา มาเป็นของกู แล้วมันก็มีความทุกข์อยู่อย่างเป็นมายาด้วยกัน มันเรียกว่าเป็นมายาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อาการอย่างนั้นน่าเกลียดที่สุด เรียกว่า ความทุกข์ รู้ไว้เสียเถิดว่า คำว่า “ทุกข์” ทุกข์นี้น่าเกลียดอย่างยิ่ง น่าเกลียดอย่างยิ่ง เพราะว่ามันขบกัดเจ็บปวดจนทรมานอยู่ นี้เราอยู่ในสภาพที่น่าเกลียดอย่างยิ่ง ก็คือเรามีความทุกข์จนละอายแมวละอายหมา ขออภัยนะพูดหยาบๆ อย่างนี้มันก็ฟังง่าย มันประหยัดดี แมวหมาไม่ได้เป็นทุกข์อย่างคน คนมีความทุกข์มากเกินไปอย่างน่าละอายแมวละอายหมา เลี้ยงแมวเลี้ยงหมาไว้เป็นอาจารย์กันเสียบ้าง ไว้เตือนสติว่าอย่าทุกข์ให้มันมากไปกว่าแมวและหมา
นี้คือข้อที่ว่า ธรรมะ มีหัวใจสรุปเป็นคำสั้นๆ ว่า มันเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ของธรรมชาติอย่าเอามาเป็นตัวกู ของกู อย่าเอามาเป็นตัวตนของตน อย่าเอามาเป็นตัวเราของเราเลย ให้มันเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติอยู่ตลอดไป เรียกว่า ท่านทั้งหลายเข้าถึงหัวใจของพระธรรมแล้ว พระธรรมก็คุ้มครองไว้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เวลาก็หมดแล้วขอยุติการบรรยายนี้ไว้เพียงเท่านี้
ตอนที่ ๔ ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งนี้อาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อที่เป็นปัญหากันอยู่ตลอดเวลาว่า มันมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ถ้าจะถามว่าโดยแท้จริงแล้วมันมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ปัญหามันมีอยู่ที่ว่าโดยแท้จริงนั้นมันคืออะไร โดยแท้จริงๆ นั้นมันคืออะไร โดยแท้จริงตามที่คนนั้นมันรู้สึก หรือว่าโดยแท้จริงตามที่ธรรมชาติมันเป็นจริง คนทุกคนมีความรู้สึกของตน ตนรู้สึกอย่างไรไปตามแบบของตน มันก็โดยแท้จริงชนิดของคนนั้น ไม่ใช่โดยแท้จริงที่สูงสุดของธรรมชาติ
นั้นถ้ารู้จักแยกคำว่า “แท้จริง” หรือโดยแท้จริงนี้ ออกเป็น ๒ อย่างเถิด คือ โดยแท้จริงตามความรู้สึกของท่าน ที่เรียกว่า สมมติสัจจะ แต่โดยแท้จริงตามแบบตามกฎของธรรมชาตินั้นมันเป็นโดยแท้จริงของธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ สรุปความว่ามันมีอยู่ ๒ จริง นั้นคือ จริงตามที่ท่านรู้สึกนั้นมันอย่างหนึ่ง แล้วมันก็จริงแท้จริงตามแบบของธรรมชาตินั้นมันอีกอย่างหนึ่ง
แต่เดี๋ยวนี้คนเราทุกคน มันมีสันดานที่จะเชื่อตัวเอง ตัวเองรู้สึกว่าอย่างไร มันก็จะเชื่อแต่ตามที่ตัวเองรู้สึก นั้นเราแต่ละคนจึงมีความจริงของเรา ไม่มีความจริงที่ถูกต้องของธรรมชาติ นี้เราน่ะมันจริงของเรา เราไม่รู้ว่ามันจริงด้วยอะไร มันจริงโดยความโง่ มันเป็นความจริงของความโง่ มันเป็นความโง่ที่บัญญัติความจริง ไอ้ความโง่ของเรา มันก็บัญญัติความจริงสำหรับคนโง่ นั้นเราก็มีความจริงตามแบบของเรา คือ ตามแบบของปุถุชน ในโลกมีกี่คน มันก็โง่เหมือนกันหมด มันก็โง่ๆ เหมือนกันหมดทั้งโลก
นั้นความจริงที่เป็นสมมติของคนทั้งโลก มันก็มีอยู่แบบหนึ่งนะ มันคือว่ามีตัวกู มีตัวกู ความรู้สึกของคนทั้งโลก มันรู้สึกว่ามีตัวกู มีของกู ตามสัญชาตญาณที่ยังเป็นความรู้ชั้นต่ำสุดของสัญชาตญาณ ยังไม่มีปัญญาเจืออยู่เลย สัญชาตญาณนี้มาจากอะไร ก็บอกไม่ได้ แต่มันก็มีแล้ว มันมีอยู่แล้วมีอยู่อย่างยิ่งแล้วในสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิต สัญชาตญาณของทุกสิ่งที่มีชีวิต มันทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกู ถ้าจะพูดมาแต่ดึกดำบรรพ์โน้น ตั้งแต่ครั้งเมื่อไรก็ไม่รู้นั้น นั้นก็พูดยาก
เอากันที่มองเห็นได้ ง่ายๆ ดีกว่า พอเราเกิดมาจากท้องแม่ เราไม่มีความคิดนึกรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูเลย แต่พอว่าไอ้เด็กทารกนี้มันได้สัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตามใจ มันได้สัมผัสสิ่งที่มันถูกกับระบบประสาทฝ่ายที่เป็นถูกใจ อร่อยก็ยินดี ประสบกับที่ไม่อร่อยไม่ถูกใจ มันก็ยินร้ายนั้นเด็กทารกนี้จะต้องรู้จักยินดี ยินร้ายขึ้นมาก่อน จิตใจของเขารู้สึกเพียงว่านี้อร่อยนี้ไม่อร่อย ถ้าได้กินนมแม่ก็อร่อย ถ้ายุงกัดก็ไม่อร่อย มันก็โกรธแล้ว นั้นเด็กเขาก็รู้จักแยกออกเป็นเรื่อง อร่อยหรือไม่อร่อย เป็นสุขหรือไม่เป็นสุข ยินดีหรือยินร้าย นี้ก็เรียกว่า เวทนา เด็กต้องรู้จักเวทนาก่อน
เวทนาที่เป็นที่พอใจ และก็เวทนาที่ไม่เป็นที่พอใจ แต่ความรู้สึกที่เวทนานั้นเกิดได้ตามธรรมชาติ เรียกว่า สัญชาตญาณก็ได้ ถ้ามีความรู้สึกประเภทเวทนาแล้ว ไอ้ความรู้สึกอีกอันหนึ่งมันก็งอกออกมาเอง งอกออกมาจากความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา นั้นนะ คือ ความต้องการ ต้องการที่จะอร่อย แล้วก็ต้องการที่จะไม่มีที่ไม่อร่อย หรือว่าต้องการที่เป็นสุข ต้องการที่จะไม่เป็นทุกข์ นี่เวทนารู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ทำให้เกิดความต้องการว่าอร่อยหรือไม่อร่อย น่าๆ เอาหรือไม่น่าเอา น่ารักหรือไม่น่ารัก นี้ก็ต้องการที่น่ารัก ต้องการ ไม่ต้องการที่ไม่น่ารัก อย่างนี้เรียกว่า ความต้องการ นี้เรียกว่าเกิดความรู้สึกชั้นที่เป็นความต้องการขึ้นมาเป็นอย่างที่สอง จากความรู้สึกต้องการไม่ต้องการนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่า กูนั้นแหละต้องการ นี้ความรู้สึกว่า กู กูต้องการนี้มาเป็นอันที่สาม เป็นอันดับที่สาม
ตามธรรมชาติจิตต้องรู้สึกต้องการ หรือไม่ต้องการเสียก่อน แล้วจึงจะมีความรู้สึกว่ากู ฉัน เรานี้แหละเป็นผู้ต้องการ นี้มันน่าหัว หรือไม่น่าเชื่อ หรือน่าแปลกก็ได้ ที่ว่าไอ้ความต้องการเกิดก่อนแล้วผู้ต้องการเกิดทีหลัง มันผิด logic ทางวัตถุ logic ทางวัตถุ มันต้องมีผู้ต้องการแล้วมันจึงจะเกิดความต้องการ แต่ทางธรรมชาตินั้นลึกซึ้ง ชั้นปรมัตถ์นั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าตัวกูมันไม่มีอยู่ก่อน ตัวกูรู้สึกว่าตัวกูนี้มันเป็นผลเกิดมาจากความรู้สึกที่ต้องการ ในความรู้สึกที่ต้องการนี้มันเกิดจากความรู้สึกที่เป็นเวทนา ส่วนที่เป็นเวทนาอย่างไรนั้น มันรู้สึกได้เองตามคุณสมบัติของระบบประสาทที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนเด็กทารกของเรา เขาเกิดออกมาแล้วไม่มีความรู้สึกตัวกู ของกู ไม่มีความรู้สึกอะไรหมดเลย ไม่รู้สึกอะไรหมดเลย แต่มีระบบประสาทติดมาแล้วสำหรับจะรู้สิ่งที่สัมผัส นั้นเมื่อเขาได้สัมผัส ได้กินนมอร่อย พอใจ เขาก็พอใจในการกินนมหรือรสของนม เขาก็เกิดความรู้สึกอร่อย ถ้าเขาได้กินของที่ไม่อร่อย ของที่เผ็ดหรือขมหรืออะไรก็ตาม เขาก็รู้สึกไม่อร่อยบ้าง นั้นเขาจึงรู้สึกเป็นคู่ๆๆๆ ไปทุกคู่ที่จะเพิ่มขึ้นๆๆ ตามที่ชีวิตมันยืดยาวไป เด็กทารกจึงรู้สึกเป็นคู่ๆ ว่าอร่อย ไม่อร่อย สวย ไม่สวย หอม ไม่หอม นิ่มนวลหรือกระด้าง แล้วก็เป็นคู่ๆๆๆ ไป ก็เรียกว่า มีเวทนา นี่เวทนาชนิดนี้มันไม่อยู่เฉยหรอก มันตามกฎของอิทัปปัจจยตา
มันปรุงของจิตอันหนึ่งออกมาตามลำดับ คือ ปัญหา ตัณหา ความต้องการ ถ้าอร่อยก็ต้องการไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อร่อยก็ต้องการอย่างตรงกันข้ามที่จะอยากจะทำลายเสีย ถ้ามันได้รับความอร่อยทางหู คือ เสียงที่ไพเราะ มันก็อยาก หรือ ชอบที่จะฟัง ถ้ามันได้รับเสียงที่ไม่ไพเราะ มันก็ไม่อร่อยทางหู มันก็ไม่อยากที่จะฟัง นี่ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางอะไรก็ตามนะ มันก็เป็นแยก เป็นสิ่งที่แยกได้เป็นสองฝ่าย ความขับกล่อม อบอุ่นของบิดา มารดาหรือคนเลี้ยง มันก็สร้างให้เกิดความพอใจอยากจะได้ ความหยาบคาย ความกระด้าง ความตรงกันข้าม มันก็ไม่ต้องการ เดี๋ยวนี้เด็กเขารู้จักแยกเวทนา เป็นเวทนาที่ยั่วให้หลงรัก และ เวทนาที่ยั่วให้หลงเกลียด หลงโกรธ เวทนานี้เป็นเพียงความรู้สึกที่ปรุงแต่งขึ้นมาได้โดยธรรมชาติตามกฎของอิทัปปัจจยตา หรือเรียกว่า เวทนาปรากฏในจิตของเด็กแล้ว
ปัญหาคือความต้องการก็เกิดขึ้นต่อลำดับ ปรากฏขึ้นในจิตของสัตว์ ทีนี้ก็มาถึงอุปาทาน จากความต้องการ จากความรู้สึกที่ต้องการอย่างรุนแรงนั้นนะ มันก็คลอดให้เกิดความรู้สึกอีกขั้นหนึ่งออกมาว่า เราๆ ผู้ต้องการๆ ที่จะได้มาเป็นของเรา มันต้องมีความรู้สึกเรา เพื่อเรา ของเราขึ้นมา พอมาถึงตอนนี้แล้วก็เรียกว่า มันโง่ถึงขนาดแล้ว มันโง่เต็มขนาดแล้ว เพราะว่าได้ปรุงเป็นความรู้สึกขนาดเป็นตัวเรา เป็นของเราแล้ว นั้นใครๆ ก็ลองคิดดูเถิด มันจริงไหม ความรู้สึกนั้นจริงไหม ความรู้สึกมันจริงไหม อันนี่มันเป็นความจริงแท้ที่ เกิดขึ้นแก่จิตใจของสัตว์ที่ยังไม่รู้อะไร ก็เรียกว่ามันก็เป็นความจริงของสัตว์ที่ยังไม่รู้อะไร ที่มันรู้สึกเอาเอง มันคิดเอาเอง มันตั้งเอาเอง มันบัญญัติเอาเอง จริงชนิดนี้มีตัวตน ตัวตนจึงมีจริง ตัวตนจึงเป็นของจริง ของความจริงระดับนี้ ตัวตนจึงมีอยู่จริงเป็นความจริง ของระดับแห่งจิตใจที่ยังโง่ ความจริงอย่างนี้เราก็เรียกว่า สมมติสัจจะ เพราะว่ามันรู้สึกเอาเอง มันรู้สึกได้เอง รู้สึกได้ตามธรรมชาติเอง และของทุกๆ คนในโลกเลยตรงกันหมดทั้งโลก ก็เลยเป็นความจริงที่มีอยู่ในโลกด้วยเหมือนกัน แต่เป็นความจริงที่หลอกเพราะว่าเหตุปัจจัยมันปรุงแต่งขึ้นมาให้รู้สึกไปอย่างนั้น ซึ่งมีอวิชชาๆ ความไม่รู้หรือความโง่ เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เมื่อเด็กมันมีผัสสะ ตอนนั้นมันมีอวิชชา มันไม่รู้ มันไม่มีปัญญารู้เรื่องวิมุตติไม่รู้เรื่องอะไรหมด ไอ้ความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจชนิดนั้น มันก็เป็นความจริงของอวิชชา ความจริงของความโง่ แต่โดยเหตุที่ทุกคนในโลก มันโง่อย่างนั้น มันก็เลยเป็นความจริงที่ยอมรับ เป็นความจริงของอวิชชา เพราะว่าอวิชชาสร้างให้รู้สึกว่าอย่างนั้น นั้นในโลกนี้เรามีความจริงอยู่ซีกหนึ่ง คือ ความจริงโดยสมมติของอวิชชา ไม่ถูกกับความจริงของธรรมชาติ ไอ้ธรรมชาตินั้นมันเป็นของธรรมชาติ อย่างว่านั้น มันเป็นอย่างนั้นอย่างที่ว่าโง่มาแล้วน่ะมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันมาอีกทางหนึ่งว่า เวทนาก็สักว่าเวทนา เดี๋ยวนี้เด็กมีเวทนา จะเป็นสุขกับเวทนา หรือเป็นทุกข์กับเวทนา มันก็สักว่าเวทนาไม่ต่างกันอย่างตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปรักสุขเวทนา ไม่ควรจะไปเกลียดสุขและทุกขเวทนา เพราะว่ามันเป็นเวทนาเหมือนกัน นี้ความจริงของธรรมชาติเป็นปรมัตถสัจจะ มันมาอย่างนี้
ในเมื่อเวทนาสักว่าเวทนา มันก็ไม่ต้องมีตัณหาหรือความอยากเป็นสองอย่าง คือ อยากฝ่ายที่ชอบใจ แล้วก็เกลียดฝ่ายที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เกิดปัญหา เพราะเวทนาก็สักว่าเวทนา นี้เมื่อไม่เกิดตัณหา คือไม่เกิดความรู้สึกที่อยากที่ต้องการ มันก็ไม่คลอดความรู้สึกว่าตัวกูผู้ต้องการ มันไม่มีผู้ต้องการ มันมีแต่จิตใจที่รู้ตามที่เป็นจริง ไปเสียทุกอย่างทุกอย่าง คือ ไม่มีตัวตน มันมีเวทนาที่สักว่าเวทนา จิตที่ตรัสรู้อย่างนี้ มันก็ไม่เกิดปัญหา มันไม่อยาก เมื่อไม่เกิดความอยาก มันก็ไม่มีผู้อยาก นั้นในซีกนี้ของวิชชา ความรู้อันแท้จริงนี้จึงไม่มีตัวตน นี้ก็บอกให้รู้ว่าตัวตนมันก็จริงของคนโง่ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน มันก็จริงของคนที่ไม่โง่เท่านั้นเอง จึงมีทั้งตัวตนและมีทั้งมิใช่ตัวตน จึงมีทั้งอัตตา มีทั้งอนัตตา
อัตตามีไว้สำหรับคนโง่จะได้ยึดถือ และจะได้เป็นทุกข์ให้ละอายแมว อนัตตามีไว้สำหรับคนฉลาด จะไม่ต้องยึดถือ จะไม่ต้องเป็นทุกข์ให้ละอายแมว นั้นใครสมัครจะเอาอย่างไหนก็เอาสิ ไม่มีใครว่า ไม่มีใครห้ามได้ ทุกคนมีอิสระตามธรรมชาติ เมื่อไม่อยากจะศึกษาก็ปล่อยไปตามเดิม น่ารักก็รัก น่าเกลียดก็เกลียด แล้วมันก็จะได้เกิดตัณหาคือความอยาก แล้วก็จะได้เกิดอุปาทาน ว่าตัวตนเป็นผู้อยาก ต่อไปนี้เราอย่ามาเถียงกันเลยว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน มันมีทั้งสองอย่าง ตัวตนมีสำหรับคนที่ไม่รู้ เป็นของจริงที่เป็นสมมติ ไม่ใช่ตัวตนเป็นของจริงสำหรับผู้รู้ เป็นของจริงชั้นปรมัตถ์ เรายังโง่อยู่เป็นปุถุชนอยู่ก็ถือจริงสมมติไปก่อน แล้วมันก็กัดเอาๆ เจ็บปวด แล้วมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ค่อยๆ ลืมหูลืมตา มารู้ความจริงชั้นปรมัตถ์ ทีนี้ก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป มีรู้สึก มีความรู้สึกว่าตัวตนสำหรับจะเป็นทุกข์ มีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนสำหรับจะไม่เป็นทุกข์ มีเพียงสองอย่างเท่านี้ ใครชอบอย่างไหนก็เลือกเอาตามชอบใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านพยายามสอนให้รู้จักความไม่ใช่ตัวตน เพื่อว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่าต้องเป็นทุกข์เลย เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จงถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ แล้วอยู่อย่างไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เวลาก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียง