แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อ่า, การบรรยายครั้งนี้ อาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อ ที่เป็นปัญหา กันอยู่ตลอดเวลา ว่า มันมีตัวตน หรือไม่มีตัวตน ถ้าจะถามว่าโดยแท้จริงแล้ว มันมีตัวตน หรือไม่มีตัวตน ปัญหามันมีอยู่ที่ว่าโดยแท้จริงนั้นมันคืออะไร โดยแท้จริง โดยแท้จริงนั้นมันคืออะไร โดยแท้จริงตามที่คนนั้นมันรู้สึก หรือว่าโดยแท้จริงตามที่ธรรมชาติมันเป็นจริง คนทุกคนมีความรู้สึก ของตน ตนรู้สึกอย่างไรไปตามแบบของตน มันก็โดยแท้จริงชนิดของคนนั้น ไม่ใช่โดยแท้จริงที่ถูกสุด ของธรรมชาติ
ฉะนั้นถ้าท่านรู้จักแยกคำว่า แท้จริงหรือโดยแท้จริงนี่ ออกเป็น ๒ อย่างเถิด คือ โดยแท้จริง ตามความรู้สึกของท่าน นี้เรียกว่า สมมุติสัจจะ ถ้าโดยแท้จริง ตามแบบตามกฎของธรรมชาตินั้นมันเป็น โดยแท้จริง ของธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ สรุปความว่ามันมีอยู่ 2 จริง เออ, คือจริงตามที่ท่านรู้สึก นั้นมันอย่างหนึ่ง และมันก็จริงแท้จริงของธรรมชาติ นั้นมันอีกอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้คนเราทุกคน มันมันมีสันดาน ที่จะเชื่อตัวเอง ตัวเองรู้สึกว่าอย่างไร มันก็จะเชื่อแต่ตามที่ตัวเองรู้สึก
ฉะนั้นเราแต่ละคน จึงมีความจริงของเรา ไม่มีความจริง ที่ถูกต้องของธรรมชาติ นี้เรามันจริง ของเรานี้ เราไม่รู้มันจริงด้วยอะไร มันจริงด้วยความโง่ มันเป็นความจริงของความโง่ มันเป็นเป็นความโง่ ที่บัญญัติความจริง ไอ้ความโง่ของเรามันก็บัญญัติความจริงสำหรับคนโง่ ฉะนันเรามีความจริงตามแบบ ของเรา คือ ตามแบบของปุถุชน ในโลกมีกี่คน มันก็โง่เหมือนกันหมด มันก็โง่ ๆ เหมือนกันหมดทั้งโลก ฉะนั้นความจริงที่เป็นสมมุติของคนทั้งโลก มันก็มีอยู่แบบหนึ่งนะ มันคือว่า มีตัวกู นี่ มีตัวกู ไอ้ความรู้สึก ของคนทั้งโลก มันรู้สึกว่ามีตัวกู มีของกู ตามสัญชาตญาณ ที่ยังเป็นความรู้ชั้นต่ำสุด ของสัญชาตญาณ ยังไม่มีปัญญา เจืออยู่เลย สัญชาตญาณนี้มาจากอะไรก็บอกไม่ได้ แต่มันก็มีแล้ว มันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่ อย่างยิ่งแล้ว ในสิ่งที่เรียกว่า มีชีวิต
สัญชาตญาณของทุกสิ่งที่มีชีวิต มันทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกู ถ้าจะพูดมาแต่ดึกดำบรรพโน้น ตั้งแต่ครั้งเมื่อไรก็ไม่รู้นั้น มันก็พูดยาก เอากันที่มองเห็นได้ ง่าย ๆ ดีกว่า พอเราเกิดมาจากท้องแม่ เราไม่มี ความรู้สึกนึกคิดว่าตัวกู หรือของกูเลย นี่ แต่พอว่าไอ้เด็กทารกนี้ มันได้สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางตา ทางจมูก ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตามใจ มันได้สัมผัสสิ่งที่มันถูกกับระบบประสาท ฝ่ายที่เป็น ถูกใจ อร่อย อ่า, ก็ยินดี ประสพกับที่ไม่อร่อยไม่ถูกใจมันก็ยินร้าย ฉะนั้นเด็กทารกนี้จะต้องรู้จัก ยินดียินร้าย ขึ้นมาก่อน จิตใจของเขารู้สึกเพียงว่า นี่อร่อย นี่ไม่อร่อย ถ้าได้กินนมแม่ก็อร่อย ถ้ายุงกัด ก็ไม่ อร่อย มันก็โกรธแล้ว ฉะนั้นเด็กเขาก็รู้จักแยกออกเป็นเรื่อง อร่อยไม่อร่อย เป็นสุขหรือไม่เป็นสุข ยินดีหรือยินร้าย นี่เขาเรียกว่า เวทนา
เด็กต้องรู้จักเวทนาก่อน เวทนาที่เป็นที่พอใจ และก็เวทนาที่ไม่เป็นที่พอใจ อ่า, เวทนานั้นเกิดได้ ตามธรรมชาติ หรือเรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ พอมีความรู้สึกเวทนาแล้ว ไอ้ความรู้สึกอีกอันหนึ่งมันก็งอก ออกมาเอง งอกออกมาจากความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา นั้นนะ คือ ความต้องการ ต้องการที่จะอร่อย และก็ ต้องการที่จะไม่มีที่ไม่อร่อย หรือว่าต้องการที่จะเป็นสุข ต้องการที่จะไม่เป็นทุกข์ นี่ เวทนารู้ว่าอร่อย หรือไม่อร่อยทำให้เกิดความต้องการ เออ, ว่า อร่อยหรือไม่อร่อย น่าน่าเอาหรือไม่น่าเอา น่ารักหรือไม่น่ารัก นี่เรียกว่าต้องการที่น่ารัก ต้องการไม่ต้องการที่ไม่น่ารัก อย่างนี้เรียกว่า ความต้องการ นี่เรียกว่า ที่เกิดความรู้สึกชั้นที่ เป็นความต้องการ ขึ้นมาเป็นอย่างที่ ๒
จากความรู้สึกต้องการไม่ต้องการนี้ มันทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอันเรียกว่า กูนั่นละต้องการ นี่ความรู้สึกที่ว่า กูผู้ต้องการนี้ มาเป็นที่ ๓ เป็นอันดับที่ ๓ ตามธรรมชาติจิตต้องรู้สึก ต้องการ หรือไม ต้องการ เสียก่อนแล้วจึงจะมีความรู้สึกว่ากู ฉัน เรานี่เป็นผู้ต้องการ นี่มันน่าหัว หรือไม่น่าเชื่อ หรือน่าแปลก ก็ได้ เออ, ที่ว่าไอ้ความต้องการเกิดก่อนแล้วผู้ต้องการเกิดทีหลัง มันผิด Logic ทางวัตตุ Logic ทางวัตถุ มันต้องมีผู้ต้องการ แล้วมันจึงจะเกิดความต้องการ
แต่ทางธรรมชาติที่ลึกซึ้ง ชั้นปรมัตถ์นั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าตัวกูมันไม่มีอยู่ก่อน ตัวกูรู้สึกว่าตัวกูนี้มันเป็นผล เกิดมาจากความรู้สึกที่ต้องการ ในความรู้สึกที่ต้องการนี้เกิดมาจากความรู้สึก ที่เป็นเวทนา ส่วนที่เป็นเวทนาอย่างไรนั้นมันรู้สึกได้เอง ตามคุณสมบัติของระบบประสาท ที่มีอยู่ ตามธรรมชาติ ฉะนั้นเด็กทารกของเรา เขาเกิดออกมาแล้ว ไม่มีความรู้สึกตัวกูของกู ไม่มีความรู้สึกอะไร หมดเลย ไม่รู้สึกอะไรหมดเลย แต่มีระบบประสาทติดมาแล้วสำหรับจะรู้สิ่งที่สัมผัส ฉะนั้นเมื่อเขาได้ กินนม อร่อยพอใจ เขาก็พอใจในการกินนมหรือรสของนม เขาก็เกิดความรู้สึกอร่อย ถ้าได้กินของที่ ไม่อร่อย ของที่เผ็ด หรือขม หรืออะไรก็ตาม เขาก็รู้สึกไม่อร่อยบ้าง
เพราะฉะนั้นเขาจึงรู้สึกเป็นคู่ ๆ คู่ ๆ ไปทุกคู่ ที่จะเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ตามที่ชีวิตมันยืดยาวไป ฉะนั้นเด็กทารกจึงรู้สึก เป็นคู่ ๆ ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย สวยไม่สวย หอมไม่หอม นิ่มนวลหรือกระด้าง หรืออะไร เป็นคู่ ๆ คู่ ๆ ไป นี้เขาเรียกว่า มีเวทนา มีเวทนาชนิดนี้นะมันไม่อยู่เฉย มันตามกฎของ อิทัปปัจจยตา มันปรุงของอีกอันหนึ่งออกมาตามลำดับ คือ ตัณหา ตัณหา ความต้องการ ถ้าอร่อยก็ต้องการ ไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อร่อย ก็ต้องการอย่างตรงกันข้าม คิดที่อยากจะทำลายเสีย ถ้ามันได้รับความอร่อยทางหู คือ เสียงที่ไพเราะ มันก็อยากหรือชอบที่จะฟัง ถ้ามันได้รับเสียงที่ไม่ไพเราะ มันก็ไม่อร่อยทางหู มันก็ไม่อยากที่จะฟัง
นี่ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางอะไรก็ตาม มันก็เป็น แยก มันเป็นสิ่งที่แยก มันเป็นที่แยกได้ เป็น ๒ ฝ่าย ความขับกล่อม อบอุ่น ของบิดามารดาและคนเลี้ยง มันก็สร้างให้เกิดความพอใจอยากจะได้ ความหยาบคาย ความกระด้าง ความตรงกันข้ามมันก็ไม่ต้องการ เดี๋ยวนี้เด็กเขารู้จักแยกเวทนา เป็นเวทนา ที่ยั่วให้หลงรัก และเวทนาที่ยั่วให้หลงเกลียดหลงโกรธ เวทนานี้เป็นเพียงความรู้สึกที่ปรุงแต่งขึ้นมา ได้โดยธรรมชาติ ตามกฏของ อิทัปปัจจยตา เรียกว่า เวทนาปรากฏในจิตของเด็กแล้ว ตัณหา คือ ความต้องการ ก็เกิดขึ้นต่อลำดับ ปรากฏขึ้นในจิตของสัตว์
ทีนี้ก็มาถึงอุปาทาน จากความต้องการ ความรู้สึกที่ต้องการอย่างรุนแรงนั้นนะ มันก็คลอดให้เกิด ความรู้สึกอีกขั้นหนึ่งออกมาว่า เรา เราผู้ต้องการ ต้องการที่จะได้มาเป็นของเรา มันต้องมีความรู้สึกเรา เพื่อเรา ของเรา ขึ้นมา พอมาถึงตอนนี้แล้วก็เรียกว่า มันโง่ ถึงขนาดแล้ว มันโง่เต็มขนาดแล้ว เพราะว่าได้ ปรุงเป็นความรู้สึกขณะเป็นตัวเราเป็นของเราแล้ว ใคร ๆ ก็ลองคิดดูเถิด มันจริงไหม ความรู้สึกนั้น จริงไหม มันเป็นความจริงไหม มันเป็นความจริงแท้ที่เกิดขึ้นแก่จิตใจ ของสัตว์ที่ยังไม่รู้อะไร ก็เรียกว่า มันก็เป็นความจริง ของสัตว์ที่ยังไม่รู้อะไร ที่มันรู้สึกเอาเอง มันคิดเอาเอง มันตั้งเอาเอง มันบัญญัติเอาเอง จริงชนิดนี้ มีตัวตน ตัวตนจึงมีจริง ตัวตนจึงเป็นของจริง
ของความจริงระดับนี้ ตัวตนจึงมีอยู่จริงเป็นความจริง ของระดับของจิตใจที่ยังโง่ ความจริง อย่างนี้ เราก็เรียกว่า สมมุติสัจจะ แปลว่ามันรู้สึกเอาเอง มันรู้สึกได้เอง รู้สึกได้ตามธรรมชาติเอง แล้วของ ทุก ๆ คนในโลก เลยตรงกันหมดทั้งโลก ก็เลยเป็นความจริงที่มีอยู่ในโลกด้วยเหมือนกัน แต่เป็นความจริง ที่หลอก เพราะว่าเหตุปัจจัย มันปรุงแต่งขึ้นมา ให้รู้สึกไปอย่างนั้น ซึ่งมีอวิชชา อวิชชาความไม่รู้ หรือความ โง่ เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เมื่อเด็กมันมีผัสสะ ตอนนั้นมันมีอวิชชา มันไม่รู้ มันไม่มีปัญญา รู้เรื่องวิมุต ไม่รู้เรื่อง อะไรหมด ความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจชนิดนั้น มันก็เป็นความจริงของอวิชชา ความจริงของความโง่ แต่โดยเหตุที่ทุกคนในโลกมันโง่อย่างนั้น มันก็เลยเป็นความจริงที่ยอมรับ เป็นความจริงของอวิชชา เพราะว่าอวิชชาสร้างให้รู้สึกว่าอย่างนั้น
ฉะนั้นในโลกนี้ เรามีความจริงอยู่ซีกหนึ่ง คือ ความจริงโดยสมมติของอวิชชา ไม่ถูกกับความจริง ของธรรมชาติ ไอ้ธรรมชาตินั้นมันเป็นของธรรมชาติ ว่านั้นนะมันเป็นอย่างนั้น อย่างที่โง่มาแล้วมันเป็น อย่างนั้น ธรรมชาติมันมาอีกทางหนึ่งว่า เวทนาก็สักว่าเวทนา เดี๋ยวนี้เด็กมีเวทนา จะเป็นสุขเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนา มันก็สักว่าเวทนา ไม่ต่างกันอย่างตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปรัก สุขเวทนา ไม่ควรจะไปเกลียดสุข ทุกขเวทนา เพราะว่ามันเป็นเวทนาเหมือนกัน นี่ความจริงของธรรมชาติ เป็นปรมัตถสัจจะ มันมาอย่างนี้
เมื่อเวทนาสักว่าเวทนา มันก็ไม่ต้องมีตัณหาหรือความอยากเป็น ๒ อย่าง คือ อยากฝ่ายที่ชอบใจ แล้วก็เกลียด ฝ่ายที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เกิดตัณหา เพราะเวทนาเป็นสักว่าเวทนา นี้เมื่อไม่เกิดตัญหา คือ ไม่เกิด ความรู้สึก ที่อยากที่ต้องการ มันก็ไม่คลอดความรู้สึกว่า ตัวกูผู้ต้องการ มันไม่มีผู้ต้องการ มันมีแต่จิตใจที่รู้ ตามความที่เป็นจริงไปเสียทุกอย่าง ทุกอย่าง คือ ไม่มีตัวตน มันมีเวทนาที่สักว่าเวทนา จิตที่ตรัสรู้อย่างนี้ มันก็ไม่เกิดตัณหา มันไม่อยาก เมื่อไม่เกิดความอยาก มันก็ไม่มีผู้อยาก ฉะนั้นในซีกนี้ ของวิชาความรู้อัน แท้จริงนี้ จึงไม่มีตัวตน นี่ก็บอกให้รู้ว่า ตัวตนมันก็จริงของคนโง่ ไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวตน มันก็จริงของคนที่ ไม่โง่ เท่านั้นเอง จึงมีทั้งตัวตน และมีทั้งมิใช่ตัวตน จึงมีทั้งอัตตา มีทั้งอนัตตา
อัตตามีไว้สำหรับคนโง่จะได้ยึดถือ และจะได้เป็นทุกข์ให้ละอายแมว อนัตตามีไว้สำหรับคนฉลาด จะได้ไม่ยึดถือ จะไม่ต้องเป็นทุกข์ให้ละอายแมว ฉะนั้นใครสมัครจะเอาอย่างไหนก็เอาสิ ไม่มีใครว่า ไม่มีใครห้ามได้ ทุกคนมีอิสระตามธรรมชาติ เมื่อไม่อยากจะศึกษา ก็ปล่อยไปตามเดิม น่ารักก็รัก น่าเกลียด ก็เกลียด แล้วมันก็จะได้เกิดตัณหา คือ ความอยาก และจะได้เกิดอุปาทาน ว่าตัวตนเป็นผู้อยาก ต่อไปนี้เรา อย่ามาเถียงกันเลยว่า มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน มันมีทั้ง ๒ อย่าง ตัวตนมีสำหรับคนที่ไม่รู้ เป็นของจริงที่เป็น สมมุติ ไม่ใช่ตัวตน เป็นของจริงสำหรับผู้รู้ เป็นของจริงชั้นปรมัตถ์ เรายังโง่อยู่เป็นปุถุชนอยู่ก็ถือจริงสมมุติ ไปก่อน แล้วมันก็กัดเอา กัดเอาเจ็บปวด แล้วมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ค่อย ๆ ลืมหูลืมตา มารู้ความจริง ชั้นปรมัตถ์
ทีนี้ก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป มีรู้สึก มีความรู้สึกว่าตัวตน สำหรับจะเป็นทุกข์ มีความรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวตนสำหรับจะไม่เป็นทุกข์ มีเพียง ๒ อย่างเท่านี้ นะ ใครชอบอย่างไหนก็เลือกเอาตามชอบใจ แต่พระพุทธเจ้า ท่านพยายามสอน ให้รู้จักความไม่ใช่ตัวตน เพื่อว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่าต้อง เป็นทุกข์เลย เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจึงถือ จงถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ แล้วอยู่อย่างไม่ต้อง เป็นทุกข์เลย เวลาก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้