แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย เราได้พูดกันถึงเรื่อง ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาคือหัวใจของความเป็นพุทธบริษัทมา 2 วันแล้ว ในวันแรกก็พูดเรื่องของคำว่า "ธรรม" ธรรมเป็นคำเดียว วันถัดมาก็พูดถึงเรื่องธรรม ธรรมที่สูงสุดคือเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นเป็นได้เพราะรู้อริยสัจ ความรู้ หนึ่งรู้เรื่องอริยสัจ ตื่นจากหลับคือตื่นจากความไม่รู้เรื่องอริยสัจ ความเบิกบาน เบิกบานเพราะรู้อริยสัจ นี่ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีๆ มันเป็นเรื่องสูงสุดของเรื่องที่จะต้องรู้ และปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติ ถ้ามิเช่นนั้นมันก็เป็นเรื่องเรียกว่าตรงกันข้ามคือเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ไป ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ถ้ามันอยู่ในอำนาจของเหตุผลมันก็เป็นเรื่องพุทธศาสตร์ ถ้ามันไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลหรือไม่ใช่เหตุผลเอาตามความเชื่อเอาตามความกลัวมันก็เป็นเรื่องของไสยศาสตร์
ขอให้พยายามชำระความเป็นพุทธบริษัทของตนให้ถูกต้อง ให้สะอาดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ด้วยความรู้เรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" ดังที่ได้พูดมาโดยรายละเอียดแล้ว ยังเหลืออยู่ก็จะพูดเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ในแง่ของขันธ์ทั้ง 5 ในแง่ของอริยสัจ4 ต่อไปเพื่อความสมบูรณ์ ในชั้นแรกเราสรุปประโยชน์ของความรู้เรื่องนี้ว่าทำให้บุคคลบรรลุพระนิพพาน ทำให้สังคมมีสันติภาพแล้วทำให้ผู้อยู่ที่นี่ยังต้องอยู่ต่อสู้ ต่อไปนี้มีความเฉลียวฉลาดสามารถดำเนินชีวิตให้ราบรื่น ให้ราบรื่น เดี๋ยวนี้มันจะโทษใครก็ไม่ได้ก็เรียกว่ามันเป็นเหตุการณ์ของมนุษย์ในบางแห่ง คือบางคราวมันก็ไม่รู้เรื่อง“ปฏิจจสมุปบาท" เพราะมีอะไรเข้ามาแทรกแซงจนกลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์
แม้แต่อาการที่มันจะเกิดเชื่อถือในไสยศาสตร์ขึ้นมามันก็เป็นเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"เหมือนกัน เพราะว่ามันไม่ได้เรียนไม่รู้ พอไม่รู้ก็คว้าไปๆโดยไม่รู้ คว้าไปโดยไม่รู้ก็ไปตามความเชื่อหรือตามความกลัว มันก็ได้พบสิ่งที่บรรเทาความทุกข์ ความกลัวหรือความหนักอกหนักใจก็ยึดถือเอา นั่นมันก็เป็นอาการของ"ปฏิจจสมุปบาท"ในการที่ใครสักคนหนึ่งจะไปถือไสยศาสตร์ ส่วนที่ยังคงอยู่ในพุทธศาสตร์มันก็ยิ่งเจริญไปในทางที่มองเห็นเหตุผล เหตุผล เหตุผล เหตุผล ปฏิบัติอยู่อย่างนี้เรื่อยไปไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ อาการอันนี้มันก็เป็น "ปฏิจจสมุปบาท" ขอร้องให้ช่วยกันปลูกฝังเรื่องนี้ให้ลูกเด็กๆนี้เขาเข้าใจ แล้วเขาก็จะได้เป็นพุทธบริษัทที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็ดีถึงขนาดเอาตัวรอดได้ เขาสอบไล่ตกก็เพราะ"ปฏิจจสมุปบาท"ในรูปแบบหนึ่ง แล้วสอบไล่ได้ก็เป็นเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ในอีกแบบหนึ่ง ถึงเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็เป็นเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท" มันไม่มีอะไรนอกไปกว่านั้น
แม้ว่าเรื่องเกิดสิวขึ้นที่ใบหน้าสักเม็ดนึงมันก็เป็นเรื่องของ"ปฏิจจสมุปบาท" ด้วยมูลเหตุของมันหลายอย่างหลายประการ เรื่องอาหารไม่ปกติมันก็เกิดสิวได้ เรื่องเชื้อไม่สะอาดเข้าไปมันก็เกิดสิวได้ แล้วคนรักสวยรักงามเหล่านั้นก็เครียดกระฟัดกระเฟียดไปเลยมันไม่รู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท" นี่ข้อนี้สำคัญมากเพราะมันไม่มีอะไรที่มันไม่ใช่เรื่องของ"ปฏิจจสมุปบาท"ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าในเรื่องสังคม สังคมก็เป็นอย่างนั้นมีอวิชชาเป็นเครื่องนำ แล้วสังคมนั้นก็เต็มด้วยปัญหาหาความสงบสุขไม่ได้ มัวแก้กันแต่ที่ปลายเหตุมันก็ยิ่งไม่ได้เพราะมันไม่รู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท" มันจึงไม่รู้ว่าต้นเหตุมันอยู่ที่ตรงไหน ขอให้สนใจซะว่ามันเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา จะทำให้เป็นพุทธบริษัทที่เลิศ ที่สุดยอดไปสู่พระนิพพาน หรือว่าจะอยู่ที่นี่ยังไม่ไปนิพพาน ก็อยู่อย่างมีความเยือกเย็นในความหมายของพระนิพพาน
สังคมก็เหมือนกันถ้ามันไม่มีหลักเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ที่ถูกต้อง มันก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว แล้วมันก็เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนหมดไม่มีอะไรเหลือ ถ้ามันรู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"มันก็ไม่เห็นแก่ตัวเพราะมันเห็นความเป็นอนัตตา อย่างที่ว่ามาแล้วเมื่อวานนี้ โดยรายละเอียดเห็นไปถึง 9 ตาก็ยิ่งปลอดภัยใหญ่ ปลอดภัยแน่นอน เห็นอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา แล้วจบลงด้วย อตัมมยตา คงที่อะไรดึงไปไม่ได้ มูลเหตุที่ไม่เข้าใจเห็นเป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ อะไรก็ไม่รู้ แล้วเอามาสอนกันก็สอนกันโดยอย่างไม่เข้าใจ หรืออธิบายผิดๆไปในทางเป็นตัวตนไปเสียก็มี นี่ขอบอกตามที่เป็นจริงไม่ใช่ว่าจะดูหมิ่นดูถูกใคร"ปฏิจจสมุปบาท"ในที่บางแห่งสอนเป็นตัวตนข้ามภพข้ามชาติไปเสียก็มี ไปหาอ่านดู อย่างนั้นมันสอนโดยคนที่มีอัตตาอาจารย์นั้น เป็นคนมีอัตตาเชื่อลัทธิอื่นมาอย่างแน่นแฟ้น มันก็มีอยู่ในคัมภีร์บางคัมภีร์เหมือนกัน เอาล่ะเป็นอันว่าขอให้สรุปความในที่นี้ว่า แน่ใจ แน่ใจ แน่ใจ ในผลของ"ปฏิจจสมุปบาท"ที่รู้แล้วเป็นไปเพื่อนิพพานในส่วนบุคคล
เมื่อรู้แล้วมีความสงบสุขสันติภาพในส่วนสังคมหรือในส่วนของโลกๆหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างที่เรียกว่าไม่มีอะไรน่าหัวเราะ ไม่มีอะไรน่าติเตียน ชาวโลกเขาไม่ได้สนใจมันก็มีปัญหาเรื่อยไป แต่ชาวพุทธนี่ควรจะทำได้ดีกว่านั้น จึงขอให้พยายามศึกษาให้เข้าใจจนได้ นี่ครั้งที่แล้วมาก็ได้พูดเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท"อย่าง"ปฏิจจสมุปบาท"คือแจกออกไปถึง 11 หัวข้อหรืออย่างน้อยก็ 9 หัวข้อ มีอวิชชา ทำให้เกิดการปรุงแต่ง การปรุงแต่งนั้นก็ปรุงแต่งวิญญาณธาตุตามธรรมชาติให้เป็นวิญญาณสำหรับจะรู้สึกนึกคิดในจิตในใจ พอได้จิตใจอย่างนี้มามาคู่กันกับร่างกายก็เกิดนามรูป นามรูปมีก็หมายความว่า มันมีอายตนะทั้ง6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คู่กับอายตนะภายนอก เมื่อมีอายตนะทั้ง6 มันก็มีผัสสะ พอมีผัสสะมันก็มีเวทนา มีเวทนามันก็มีตัณหา มีตัณหาก็เกิดอุปาทาน มีอุปาทานก็มีภพมีชาติ เพราะมีชาติก็มีความทุกข์ทุกประการทุกอย่าง
นี่ก็เป็นหลัก"ปฏิจจสมุปบาท"โดยสมบูรณ์โดยพิสดารโดยชื่อของ"ปฏิจจสมุปบาท" แต่ถ้ามันยืดยาวนักเข้าใจไม่ได้เรื่องอวิชชาปรุงแต่ง สังขารๆ ปรุงแต่งวิญญาณ ก็ตัดทิ้งไปเสีย ยังไม่ถึงใจยังไม่สนใจ สนใจแต่เท่าที่เด็กๆจะรู้จักได้ ลูกเด็กๆของเราจะรู้จักได้โดยการตั้งต้นเป็น ก-ขอ ก-กา เพราะเรามีอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เด็กๆก็ควรจะรู้จักสิ่งเหล่านี้อย่างดี เขารู้จักอะไรมากมายที่ลำบากยุ่งยากกว่านี้จนสอบไล่ได้เป็นปริญญาอันนั้นมันยากกว่านี้มากทีเดียวรู้จักว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็เกิดวิญญาณ
บางอย่างวิญญาณอายตนะภายในอายตนะภายนอกทำงานร่วมกันอยู่นี้เรียกว่าผัสสะ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ต้องจัดว่าโง่ ถ้าพ่อมันโง่มันก็ไม่อาจจะจัดให้ลูกเข้าใจในความหมายของคำ 3 คำ มันมีตาข้างใน มีรูปข้างนอก พอถึงกันเข้าก็เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา มันเป็นเรื่องธรรมดาๆทำไมจึงจะไม่รู้เรื่อง ทั้ง3 อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ตัว จักษุวิญญาณเห็นรูปโดยอาศัยดวงตาหรือประสาทตาเป็นเครื่องมือ มี 3 อย่างเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ การกระทบในภายในเมื่อสัมผัสกับภายนอก มีผัสสะ ผัสสะกระทบอย่างนี้แล้ว มันก็ต้องเกิดความรู้สึกเป็นเวทนา ให้ลูกเด็กๆมองเห็นว่าเมื่อเห็นรูปอย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้ผัสสะอย่างนี้ ก็เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ หรือไม่รู้ว่าอะไรนี่ก็เรียกว่ามันมีเวทนา เวทนา
ถ้าเวทนาแล้วก็ทำไปตามเวทนา แน่นอนเวทนาอย่างไรก็ทำไปตามนั้น เวทนาเป็นสุขก็อยากได้ อยากมี อยากเอา อยากสะสม เวทนาที่เป็นทุกข์ก็อยากจะฆ่า อยากจะทำลาย อยากจะกลัว อยากจะเป็นทุกข์ เวทนาที่ยังไม่แน่ว่าเป็นอะไรมันก็สนใจอยู่นั้นเข้าใจไม่ได้ มันก็โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิม มันก็คือโมหะ เพียงแต่ว่าเวทนามันก็ให้เกิดกิเลสได้ครบถ้วนอยู่แล้ว เวทนามันให้เกิดความอยากเรียกว่าตัณหา ตัณหา อยาก อยาก อยากด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ ไม่มีวิชชาโดยประการทั้งปวงมีแต่อวิชชา ก็เกิดโง่ต่อไปว่ามีตัวกูผู้อยาก ตัวกูผู้อยาก แล้วก็อุปาทาน ตัวกูก็อยากให้ความรู้สึกเป็นจุดตั้งต้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วครรภ์มันก็แก่ แก่ แก่โดยอาการที่เรียกว่าภพหรือภาวะภพ เมื่อภพมันแก่ แก่ แก่มันก็คลอดเป็นชาติ ตัวกูของกูไอ้ตัวผีหลอกมันก็เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ มันก็คว้าเอาทุกสิ่งเป็นตัวตนเป็นของตนมันก็ได้เกิดทุกข์ทั้งปวง อาตมาขอร้องว่ายอมเสียเวลาจะกี่เดือนกี่ปีก็สุดแท้แต่ ทำให้ลูกเด็กๆเขาเข้าใจเรื่องนี้ได้แล้วจะประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุด มันก็ฝังเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะลงไปไปในจิตในวิญญาณของเขาแน่นอนๆ เขาจะเป็นพุทธบริษัทที่ดีที่ถูกต้องแล้วก็ได้รับผลของพระพุทธศาสนา มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แล้วจะเอาอะไรกันอีกล่ะ
วิชาความรู้อย่างอื่นไปเรียนกันเป็นปริญญายาวเป็นหางสักกิโล มันก็ไม่ดับทุกข์เพราะมันไม่ได้เรียนเรื่องดับทุกข์ แต่ถ้าเรียนพุทธศาสนามันเรียนเรื่องดับทุกข์โดยตรง ความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร ดับอย่างไร แม้แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย นี่จึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด พระองค์ เองออกบวชก็เพราะเรื่องนี้ พอตรัสรู้ใหม่ก็ทบทวนแต่เรื่องนี้ ทบทวนๆนั่งทบทวนไม่ต้องกินข้าวกินปลาตามที่คัมภีร์กล่าวไว้ และพยายามแต่สอน สอน สอน สอน ใครได้รู้ก็เป็นผู้รู้ตามก็ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานเพราะเรื่องนี้ แล้วก็ตรัสว่าผู้ใดเห็น"ปฏิจจสมุปบาท"ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นฉัน เห็น"ปฏิจจสมุปบาท"เห็นพระพุทธองค์ที่เป็นเนื้อในไม่ใช่ร่างกายภายนอกคือพระสิทธัตถะ พระสิทธัตถะนั้นเป็นร่างกายภายนอก ถ้าให้เรียกกันตรงๆก็เรียกว่าเปลือกของพระพุทธเจ้าพระสิทธัตตะนั่น พระพุทธเจ้าโดยแท้จริงคือสติปัญญาที่รู้ "ปฏิจจสมุปบาท"จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
รู้ความจริงของธรรมชาติอย่างนี้ มันก็เป็นคนที่เหนือปัญหา มันทำให้ไม่มีลักษณะตื่นเต้นตาเหลือก คนโดยมากตื่นเต้นตาเหลือก อะไรมาในแง่บวกมันก็ยินดี ยินดีตาเหลือก อะไรมาในแง่ร้ายมันก็กลัวเกลียดกลัวตาเหลือก คนโง่เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น แล้วมันจะเอาสติปัญญาไหนมาใคร่ครวญเพราะมันโง่จนตาเหลือเสียแล้ว มันก็เห็นความจริงอะไรไม่ได้ มันทำให้เกิดเป็นคนมีนิสัย มีนิสัยมองแต่ในด้านดีหรือมองแต่ในด้านร้าย มันเป็นนิสัยอะไรมาก็มองในแง่ดี อีกพวกหนึ่งอะไรมาก็มองในแง่ร้าย เป็นภาษาจิตวิทยามองแต่ในแง่ดีไม่มองในแง่ร้ายเป็นOptimistic มองในแง่ดีก็โง่ไปในแง่ดี เป็นPessimistic เป็นแง่ร้ายก็โง่ไปในแง่ร้าย
ก็มัวแต่ร้ายดี ร้ายดี ร้ายดีอยู่อย่างนี้ ทำอะไรไม่ถูกก็เลยไปหาไสยศาสตร์ อยากอวดดีเหมือนพวกฝรั่ง เอวังมันก็ยังมีไสยศาสตร์ที่หวังดีหวังร้ายจนเป็นปัญหา และชักจะนิยมว่าผู้ที่อยู่เหนือความรู้สึกอย่างนี้เป็นมหาบุรุษก็รู้สึกกันขึ้นมา งั้นเรามีพระพุทธศาสนาที่จะช่วยเป็นอย่างนี้ได้อยู่แล้วทำไมไม่รับเอา ทำไมไม่จัดให้สำเร็จประโยชน์ อาตมาจึงรบเร้าๆขอร้องให้ศึกษาเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท" และก็แนะนำให้มีการสอนการอธิบายเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ที่นานาชาติ ที่สัมมนานานาชาติเน้นสอนเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน ชัดเจนเหมือนกับเรื่องทุกข์ธรรมดาๆ แล้วก็ปฏิบัติควบคุมมันให้ได้นั่นคืออานาปานสติ ถ้ามีอานาปานสติแล้วก็จะรู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"อย่างชัดเจนอย่างแจ่มแจ้ง เรียกว่าควบคุมได้ ควบคุมได้ไม่ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดทุกข์ ไปรวมจุดที่เห็นว่าอนัตตา อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนแล้วก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตน
ไม่เกิดความเห็นแก่ตนก็ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วปัญหาอะไรจะเกิด มันก็เป็นโลกพระศรีอริยเมตไตรย์ขึ้นมาทันที มีแต่ความไม่เห็นแก่ตน ขอให้จำคำนี้ไว้เถอะไม่เห็นแก่ตน มันทำผิดอะไรไม่ได้ มันทำผิดอะไรไม่ได้ ความผิดทั้งหลายที่เป็นคดีอาญาก็ดี คดีแพ่งก็ดีมาจากความเห็นแก่ตนทั้งนั้นแหล่ะ ที่เป็นคดีอาชญานั้นมันเลวเกินไปมันฆ่าฟันมันทำร้าย ที่เป็นคดีแพ่งก็คดโกงหาทางคดโกงหาทางหลบหลีก หาทางซ่อนเร้นด้วยความคดโกง มันไม่ยอมให้อภัยโดยประการทั้งปวง มันก็เลยเป็นคดีขึ้นมาต่อสู้กัน พอโกรธแค้นกันหนักก็กลายเป็นคดีอาญาฆ่าฟันกันเลยมีมูลเหตุมาจากคดีแพ่ง นี่เพราะมันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ถ้าไม่เห็นแก่ตัวสิ่งเหล่านี้มันก็ไม่มี มันก็ไม่มีทั้งคดีแพ่ง ไม่มีทั้งคดีอาญา เลยเอากฎหมายไปทิ้งทะเลเสียให้หมด เลิกโรง เลิกศาล เลิกตำรวจ เลิกคุก เลิกเรือนจำ เลิกโรงพยาบาลบ้า เลิกได้หมดเลย
ถ้าว่ามันไม่เห็นแก่ตัวขอให้คิดดู อย่าฟังเป็นเรื่องพูดเพ้อเจ้อ ค่อยมองเห็นชัดเจน ชัดเจนว่าปัญหามันอยู่ที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวมันเกิดมาจากความรู้สึกว่ามีตัว มีตัว มีตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ (ไม่ได้ถอดฟังไม่ชัด นาที 0.24.19.0-0.24.20.7) พอเห็นว่าไม่มีตัวมันก็ไม่อาจจะเห็นแก่ตัวเพราะว่ามันไม่มีตัว นี่คือการบรรลุถึงคุณธรรมเบื้องสูงจนกระทั่งเรียกว่าพระนิพพาน มันต้องเรียนรู้ เรียนรู้ความจริงของมัน ถ้าเรายังไม่รู้เราก็เดาเอาเองตามความรู้สึก เด็กๆเปิดหลังนาฬิกาพกดูเห็นกระดิกได้มันคิดว่ามีชีวิต นาฬิกานั้นมีชีวิตมันโง่ขนาดนั้น กว่ามันจะรู้สึกว่านาฬิกาไม่มีชีวิต แล้วพอดีมีคำพูดสนับสนุนนาฬิกาตาย นาฬิกาเดิน นี่มันก็ยิ่งส่งเสริมให้นาฬิกามีชีวิต ถ้าไปเป็นช่างแก้นาฬิกาก็ว่ายังไง ช่างแก้นาฬิกาไม่เห็นว่ามันชีวิตตรงไหน ถ้าคนป่ามาเห็นรถยนต์วิ่งไปได้ คลานไปได้ หยุดได้ มันก็ว่า "เฮ้อ นี่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีชีวิต" นั่นเป็นเพราะความไม่รู้ มันจึงรู้สึกว่ามีชีวิตและก็มีตัวตน ตัวตน มันอาจจะโกรธหรือรักสิ่งเหล่านั้นได้
ความมีตัวตนนี้มันเกิดขึ้นมาโดยไม่ทันรู้สึก แล้วก็เกิดกิเลสอย่างว่า นั้นคนโง่จึงทำอันตรายวัตถุ เครื่องใช้ ข้าวของ เอากำลังฟัดให้มันแตก ทำลาย มันเตะ โดยที่มันไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีตัวตน มันก็กระทำ กระทำอย่างกับว่ามีตัวตน ถ้าคุณโกรธอะไรขึ้นมากระแทกสิ่งนั้นแตกไปเลยนี่ นั่นแหล่ะคือคนโง่ ไม่รู้ "ปฏิจจสมุปบาท" สมมุติว่ารถยนต์คันหนึ่งเอามาศึกษาดู มันก็มีเป็นระบบ ระบบ ระบบไว้ไม่ได้มีตัวตนที่ตรงไหน ระบบโครงสร้างตัวถังมันก็ระบบหนึ่ง ระบบไอ้ล้อที่มันทำให้มันเคลื่อนได้มันก็ระบบหนึ่ง ระบบหล่อลื่นถ้าไม่มีหล่อลื่นมันวิ่งไม่ได้นะ นั่นก็ระบบหนึ่ง แล้วเครื่องจักร เครื่องจักรก็มีระบบหนึ่ง ควบคุมกันเข้าแล้วมันก็เหมือนกับมีชีวิต ที่ทำให้คนป่าเห็นว่ามีชีวิต รถยนต์มีชีวิต เครื่องบินมีชีวิตบินได้ นี่เพราะความรู้สึกว่ามีตัวตน มีตัวตนมันจึงรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าเขาเป็นช่างแก้รถยนต์ เขารู้ทุกชิ้นทุกกระเบียดนิ้ว ก็รู้สึกเองไม่ต้องมีใครสอนเขามันไม่ใช่ตัวตน แล้วมันไม่ได้มีชีวิต นี่เปรียบเทียบดูว่ามันไกลกันเท่าไหร่ ถ้าว่ามันยังโง่เขลาอยู่ นาฬิกามีชีวิตเดินได้ตายได้ รถยนต์ก็มีชีวิตก็วิ่งได้ หยุดได้ คลานได้ เรือบินก็มีชีวิต
นี่เรียกว่าความรู้มันเดินผิดทาง เห็นเป็นตัวตน ตัวตนแล้วก็จัดหรือทำไปอย่างที่เรียกว่ามันมีตัวตน มันหลงรัก มันหลงโกรธ หรือมันหลงเกลียดอะไรได้ ขัดใจขึ้นมาก็เตะๆ เตะเก้าอี้ก็ได้ คนโง่มันทำได้ถ้ามันขัดใจขึ้นมา เอาเป็นว่ารู้จักความจริงของสิ่งทั้งปวง ที่มันปรุงแต่งกัน ปรุงแต่งกัน เกิดเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์รู้สึกอย่างนี้แล้วเราก็ไม่หลง ไม่หลงในความเป็นอย่างนั้น แต่รู้ว่ามันเกิดมาอย่างไรมันเป็นไปอย่างไร จะควบคุมมันอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์ไม่เกิดโทษ นี่เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"มีประโยชน์มหาศาลอย่างนี้ ทีนี้เมื่อพูดกันอย่างโดยพิสดารคือ"ปฏิจจสมุปบาท"โดย"ปฏิจจสมุปบาท"เป็น 9 อาการหรือ 11 อาการอย่างที่ว่ามาแล้ว นี่จะพูดในแง่อื่นที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
สำหรับ"ปฏิจจสมุปบาท" 11 อาการหรือ 9 อาการยังเข้าใจพูดได้ถูกต้องเสมอไปมีสติ มีอายตนะ แล้วก็มีวิญญาณ แล้วก็มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ อย่างนี้มันเป็นคำ คำอะไรก็ไม่รู้เรื่องยังไงก็ไม่รู้ ศึกษาจนรู้มันอย่างนี้เอง อย่างนี้เอง อย่างนี้เอง เหมือนนายช่างรู้จักนาฬิกาดีรู้จักรถยนต์ดี สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขใช้ได้ดี ยอมเสียเวลาเถอะรู้จัก"ปฏิจจสมุปบาท"ทุกอาการ ศึกษาให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ช่วยตัวเองด้วยให้ครูบาอาจารย์ช่วยด้วยให้รู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ให้จนได้ ทีนี้เมื่อเรื่อง 9 อาการหรือ 11 อาการเป็นชุดหนึ่งไปต่างหากแล้ว ก็อยากจะพูดถึงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมันเล็กเข้ามามันสั้นเข้ามาแล้วมันเป็นชีวิตประจำวันเรียกว่า"ขันธ์ 5" คนสมัยนี้เขาไม่อยากได้ยินคำว่า"ขันธ์ 5"ด้วยซ้ำไป เพราะว่ามันเป็นเรื่องครึขระสำหรับยายแก่ตามศาลาวัด ฉันมีปริญญายาวเป็นหาง ฉันจะมาเรียนเรื่อง"ขันธ์ 5"ให้เสียเวลาทำไม ขอสนใจเรื่อง'"ขันธ์ 5" คือ "ปฏิจจสมุปบาท" ที่ย่อลงมาให้เหลือ 5 อาการ แล้วเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จำกันเสียเดี๋ยวนี้ไม่ต้องฝากไว้เวลาอื่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง 5 อาการหรือ 5 สิ่งนี้มันมีอยู่ที่ชีวิตประจำวันหรือมันประกอบกันเข้าเป็นอัตภาพเป็นคนๆเป็นเราๆ เป็นคนๆ เป็นเราๆนี้มันประกอบไปด้วย 5 อาการนี้
อย่างแรกเรียกว่ารูปคือส่วนกาย ควรจะรู้จักกายร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูกทุกอย่างมันก็เป็นส่วนร่างกาย มันก็มี"ปฏิจจสมุปบาท"ของมันเองเหมือนกันนะ การที่จะมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนังขึ้นมาก็มีการปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่งจนเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังขึ้นมา แต่ทั้งหมดพวกนี้เรียกว่ารูปหรือรูปขันธ์ รูปขันธ์ ส่วนรูปกองรูป ประเภทรูป ฝ่ายที่เป็นรูป รู้จักร่างกายกันให้ดีๆจะรู้จักขันธ์ที่ 1คือรูปขันธ์ และเพราะมีรูปขันธ์นั่นแหล่ะคือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมอยู่ด้วยนั่นแหล่ะ ก็มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา อย่างที่พูดมาแล้วในเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท"ยาว ก็มีอายตนะมันก็มีวิญญาณ มันก็มีผัสสะ มันก็มีเวทนา แล้วข้ามไปพูดถึงขันธ์ที่ 2 เป็นเวทนาขันธ์ไปเลย ไม่พูดถึงวิญญาณขันธ์ตอนนี้ ไม่พูดถึงผัสสะตอนนี้ ไปพูดถึงเวทนา เวทนาคือสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ตลอดวัน พอใจไม่พอใจ สบายใจไม่สบายใจ รู้สึกสดชื่นแจ่มใส รู้สึกหงุดหงิดอะไรก็ตามนี่เป็นเวทนา มันก็มี "ปฏิจจสมุปบาท"ของมันเหมือนกัน แต่มันปรุงแต่งให้มันเป็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่าเวทนาขันธ์
เรื่องมันใหญ่โตมันมโหฬารแต่เราไม่รู้จักมันกลายเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องไม่มีความหมายไปเสีย ตัวคนทุกคนเป็นทาสของเวทนา ล้วนในโลกนี้มันมีเวทนา บางคนก็เป็นทาสของเวทนาขวนขวายทำทุกอย่างเพื่อสุขเวทนา อุตส่าห์เล่าเรียนอุตส่าห์หาเงินอุตส่าห์ทำการงานก็เพื่อเวทนาทั้งนั้น แล้วมันก็ครอบงำเราอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวรู้สึกสดชื่นแจ่มใส เดี๋ยวรู้สึกซูบซีดเหี่ยวแห้งไป นี่คือเวทนา เวทนาในชีวิตประจำวันแปลว่าไอ้ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมาเพราะมีร่างกาย เพราะมีร่างกาย เพราะมันมีอายตนะแล้วมันมีส่วนที่เป็นร่างกาย ทีนี้เมื่อมีเวทนา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว มันก็มีสัญญา สัญญาคือสำคัญมั่นหมาย สำคัญมั่นหมาย ไปในเวทนานั้น เวทนานี้มีค่าไม่มีค่า เป็นเวทนาสูงสุด เป็นเวทนาจากผู้หญิง เป็นเวทนาจากผู้ชาย เป็นเวทนาสารพัดอย่างเรียกว่าสัญญา สัญญา
หนักเข้ามันก็จำได้หมายรู้ว่าเป็นอะไร ก็มาสัมผัสแค่เท่านั้นมันก็รู้ได้เอง ว่ามันเป็นเวทนาอะไร นี่เรียกว่าสัญญา สัญญา สำคัญมั่นหมายในเวทนานั้นว่าเป็นอะไรแล้วมันก็เกิดความคิดที่จะกระทำเกี่ยวกับเวทนานั้นๆ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์แปลว่าปรุงแต่ง ปรุงแต่งก็คือการประกอบกรรม การกระทำกรรมเป็นการปรุงแต่งไปตามที่สัญญาว่าอย่างไร สัญญาน่ารักน่าพอใจมันก็ปรุงแต่งไปในทางที่จะเอา ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเพศด้วยแล้วมันก็ยิ่งมีแรงมาก มันก็ประกอบกรรมมันรุนแรงมาก จนถึงกับเป็นเรื่องทั้งหมดของชีวิตจิตใจอย่างนี้ก็ได้ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ ทีนี้ก็มาถึงขันธ์ที่ 5 เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ในเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"อันยืดยาวนั้น เอาเวทนา เอาวิญญาณขันธ์ไปไว้ตอนต้น ในเรื่องขันธ์ 5 เอาเรื่องวิญญาณขันธ์ไปไว้ปลายสุดเป็นขันธ์ที่ 5
นี้มันมีเหตุผลในที่เรียงลำดับต่างกัน "ปฏิจจสมุปบาท" เรียงไปตามลำดับอาการที่เกิดขึ้นจริง มันก็มีวิญญาณขันธ์มาก่อน แต่แล้วมันก็เกิดวิญญาณขันธ์อีกหลายหน วิญญาณขันธ์ในอายตนะ วิญญาณขันธ์ในเวทนา วิญญาณขันธ์ในความคิดนึกอะไรต่างๆ เพราะวิญญาณนั้นทำหน้าที่หลายหน จัดไว้เป็นตัวสำคัญที่สุด เอาไว้เป็นตัวที่ 5 ถ้าใครถามท่านว่า “นี่ไมเอาไว้เป็นตัวที่ 5” เพราะมันมีความสำคัญมากมันเกิดหลายหน ในรอบวงหนึ่งมันเกิดได้หลายหน ถ้าใน"ปฏิจจสมุปบาท"แล้วกล่าวมาตามลำดับอาการเอาไว้ เอาไว้ต้นๆก็ได้ก็ถูกแล้ว นี่ขันธ์ 5 มันประกอบกันอยู่เป็นอัตภาพ
คนเราคนหนึ่งมีร่างกายและจิตใจ ส่วนที่เป็นร่างกายรวมกันเป็น 1 ขันธ์ขันธ์เดียว ส่วนที่เป็นเรื่องของจิตใจแบ่งแยกออกเป็น 4 ส่วนหรือ 4 ขันธ์เพราะมันต่างกันมาก เวทนาความรู้สึก สัญญาความสำคัญมั่นหมายไปตามความรู้สึก สังขารปรุงแต่งสร้างสรรค์ไปตามความรู้สึก วิญญาณขันธ์รู้จัก รู้จัก รู้จัก รู้จักทุกๆขณะที่มันมีวิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณในอายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณในเวทนาและวิญญาณในความรู้สึกคิดนึกของตน การรู้จักขันธ์ 5 นั้นคือการรู้จักตัวเอง รู้จักตัวตน เมื่อรู้จักก็สามารถจัดการให้เป็นไปได้ตามที่ถูกที่ควร ถ้าไม่รู้จักมันก็เป็นความเดาๆผิดๆพลาดๆหันเหไปตามความกลัวหรือตามความชั่วมันก็ไปเป็นไสยศาสตร์อีกนั่นแหล่ะ ถ้ามันไม่เป็นเรื่องของ"ปฏิจจสมุปบาท"มันก็เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ มีจิต มีวิญญาณ ชนิดว่ามันเป็นตัวเป็นตน ไม่รู้จักดับไม่รู้จักอะไรอย่างนี้ เข้าโลงกี่ครั้งมันก็ยังเป็นตัวตนตัวเดิม
คำสอนนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นคำสอนฝ่ายฮินดูหรือฝ่ายพราหมณ์ที่เค้าสอนอยู่ก่อน สอนอยู่ก่อนพุทธศาสนาเกิด แล้วก็พึงรู้ไว้ด้วยว่าศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์มันมาสอนที่นี่ที่แหลมทอง ประเทศแหลมทองทั้งหมดนี้ก่อนพุทธศาสนา ดังนั้นมหาชนในแหลมทองนี่มันรับเอาฮินดูหรือพราหมณ์เข้าไว้เต็มที่ มีความเชื่อเรื่องตัวตนอย่างนั้นอย่างนั้น มันจึงมีตัวตนตามแบบของฮินดูฝังแน่นอยู่ในจิตใจมีตัวกู ของกู เกิดแล้ว เกิดอีก เกิดแล้ว เกิดอีก หาบหามผลกรรมอีนุงอินังกันไปนั่นแหล่ะ พระพุทธศานาเกิดพระพุทธเจ้าเกิดทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัวตน ละใจไปวิญญาณไปเกิดมันก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ฉันไม่พูดว่าวิญญาณนี้ไปเกิด วิญญาณนี้เกิดเพราะการกระทบทางอายตนะชั่วขณะ ชั่วขณะ ชั่วขณะ ไม่มีวิญญาณถาวรอย่างแบบที่สอนกันอยู่ก่อน นี่วิญญาณ วิญญาณมี 2 ความหมายวิญญาณอย่างแบบฮินดู วิญญาณในศาสนาพราหมณ์มันก็มีตัวตน ตัวตนถาวรตัวตนไปตามแบบนั้นเกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีกเป็นคนๆเดียวกัน แต่ถ้าวิญญาณในพุทธศาสนามันมีเมื่อการกระทบกันอายตนะเกิดความรู้ขึ้นมามันมีตั้ง 6 คู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องทางใจมีมากที่สุดเลยมันกระทบแล้วเกิดความรู้สึกต่างๆสารพัดอย่าง อย่าเอาเลยทั้ง 5 ให้มันเป็นขันธ์ตามธรรมชาติอย่าเอามาเป็นตัวตน อย่าเอารูปมาเป็นตัวตน อย่าเอาเวทนามาเป็นตัวตน อย่าเอาสัญญามาเป็นตัวตน อย่าเอาสังขารมาเป็นตัวตน อย่าเอาวิญญาณมาเป็นตัวตน แต่ว่าปฏิบัติให้ถูกต้องทันควันที่สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา เกิดรูปขันธ์ขึ้นมา เกิดร่างกายทำงานทำหน้าที่ควบคุมให้ถูกต้องอย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา
เมื่อเวทนาทำหน้าที่ก็อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา สัญญาทำหน้าที่ก็อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา สังขารทำหน้าที่ก็อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา วิญญาณทำหน้าที่ก็อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา และอย่าไปหลงให้วิญญาณเป็นตัวตน เป็นตัวตน ตัวตน ไปยึดมั่นเป็นตัวตนจนเป็นบ้าเป็นหลังไป รู้แต่ว่าเป็นผลของการกระทบทางอายตนะ ควบคุมให้ได้ ควบคุมให้ได้ อย่าให้มันเดินทางผิด มันเดินแต่ในทางถูกให้มันสร้างสรรค์ประโยชน์ที่ควรจะสร้างควรจะได้รับ ให้มันเป็นวิญญาณที่ฉลาดขึ้นทุกที เป็นเวทนาที่ฉลาดขึ้นทุกที ฉลาดขึ้นทุกที มีความรู้มากขึ้นทุกที แล้วก็มีขันธ์ 5 ที่จะเป็นไปเพื่อการบรรลุพระนิพพาน อย่างขันธ์ 5 นั้นมันเป็นนิพพานไม่ได้หรอกแต่เป็นพาหนะเป็นยานพาหนะเป็นที่ตั้ง ที่จะประพฤติปฏิบัติให้เกิดความรู้ต่อพระนิพพานคือความไม่มีความทุกข์นั้นโดยประการทั้งปวง
จงสนใจขันธ์คำว่า5 คือ"ปฏิจจสมุปบาท"โดยย่อ มันก็ศึกษาง่ายขึ้นมากเอาเพียง 5 อย่าง เมื่อไหร่เป็นรูปขันธ์ก็คือเมื่อร่างกายทำหน้าที่ ร่างกายทำหน้าที่เมื่อใดก็เป็นรูปขันธ์เมื่อนั้น เมื่อใดเป็นเวทนาจิตที่รู้สึกสิ่งที่มากระทบว่ามีความรู้สึกอย่างไร เป็นสุขเป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนี่เรียกว่าเวทนา ถ้าไปหลงสุขมันก็กิเลสเกิดอย่าง ไปหลงทุกข์ก็เกิดอีกอย่าง ไปหลงไม่ทุกข์ไม่สุขมันก็เกิดอีกอย่าง รู้ตามที่เป็นจริงว่าควรจัดการกับมันอย่างไร เวทนานี้ นี้ นี้ นี้ ควรจะจัดการกับมันอย่างไรๆ ก็เรียกว่าหมดปัญหาอันเกี่ยวกับเวทนา ที่สัญญาสำคัญมั่นหมายไปตามความจำ สัญญาว่าตัวตนสัญญาว่าของตน สัญญาว่าสุข สัญญาว่าทุกข์ สัญญาว่าได้ สัญญาว่าเสีย สัญญาว่าผัว สัญญาว่าเมีย สัญญาว่าสารพัดอย่าง มันก็คงไม่ได้ดีอย่าให้มันกัดเอา ถ้าสำคัญมั่นหมายผิดหรือเกินขนาดเดี๋ยวมันจะกัดเอา มันเป็นตัวตนของตนขึ้นมามันเกิดกิเลสเกิดการกระทำที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เล่นนะสัญญานี่ แล้วก็ให้มันเกิดสังขารที่ถูกต้องคือเป็นไปในทางกุศล
ความคิดปรุงแต่งที่จะกระทำนั้นกระทำนี้มันเป็นไปได้ทั้ง"กุศล"ทั้ง"อกุศล"ทั้ง “อัพยากฤต” ถ้าว่ากุศล กุศลนั้นมันแปลว่าตัดไอ้สิ่งที่ควรจะตัด เค้าอธิบายกันว่า กุศะ กุศะหญ้าคา ที่จริงไม่ถูกหรอก "กุศะ"คือหญ้าชนิดที่รกรุงรังที่สุดเป็นพิษเป็นอันตรายที่สุด "ละ"มันแปลว่าตัด การกระทำใดที่มันตัดสิ่งเลวร้ายสิ่งนั้นเรียกว่า"กุศล" การกระทำใดมันไม่ตัด ไม่ตัดสิ่งที่เลวร้ายกลับทำเพิ่มพูนให้มากขึ้น การกระทำนั้นเรียกว่า"อกุศล" ส่วนการกระทำบางอย่างให้มันสูงขึ้นไปเหนือการตัดเหนือการไม่ตัดนี่เรียกว่า"อัพยากฤต" "อัพยากฤต"แปลว่าพูดไม่ได้ว่าเป็นอะไรซึ่งไม่มีใครบัญญัติว่าเป็นอะไร คือไม่บัญญัติว่ากุศลหรืออกุศล ฉะนั้นเข้าใจคำว่า "กุศล" ให้ดี ถ้า"กุศล"แปลว่ามันตัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา กุศะ-หญ้า ละ-ตัด ตัดหญ้า หญ้าที่เป็นพิษเป็นอันตราย แล้วเอาความว่าตัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็แล้วกัน นี่คำพูดอย่างนี้มันพูดมาแต่โบราณกาลก่อนพระพุทธเจ้า เค้ามองเห็นอย่างไรเค้าก็พูดบัญญัติเป็นคำขึ้นมาแล้วก็ใช้ตามๆกันมา "กุศล"ตัดปัญหา "อกุศล"ไม่ตัดปัญหา "อัพยากฤต"พูดไม่ได้ว่าตัดหรือไม่ตัด เข้าใจคำทั้ง 3 นี้ให้ดีๆ เดี๋ยวนี้เรามักจะเข้าใจว่า "กุศล"คือบุญได้อะไรตามที่ปรารถนาทุกอย่างทุกประการเป็นกุศลละโว้ย ถูกล็อตเตอรี่อย่างนี้เป็นต้น แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น "กุศล"มันจะตัดสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในชีวิต "อกุศล"มันไม่ตัดแล้วมันจะเพิ่มให้ "อัพยากฤต"นั้นมันเหนือการตัดเหนือการไม่ตัด
สังขารขันธ์ คือ ความคิดนึกที่จะกระทำ จะปรุงแต่งไปตามอำนาจของสัญญาแบ่งได้เป็น 3 ประการอย่างนี้ เราควรจะรู้สึกตัวว่าตัวเรากำลังมีอะไร มีสังขารชนิดไหน มีการปรุงแต่งชนิดไหน ถ้าความคิดของเรามันเป็นไปเพื่อการตัดปัญหาตัดความทุกข์ตัดความยุ่งยากแล้วให้รู้เถิดว่าความคิดนั้นเป็นกุศล กุศลาธรรมาสิ่งที่เป็นกุศล ถ้ามันไม่ตัดมันกลับเพิ่มให้รกรุงรังให้มากขึ้นเป็นอกุศลเป็นบาปเป็นอกุศล มันไม่ตัดปัญหามันไม่ตัดสิ่งที่จะให้เกิดทุกข์ ถ้ามันดีกว่านั้นเป็นสัญญาที่สูงไปกว่านั้นมันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีบวกไม่มีลบ มันก็ไม่มีตัวตน มันก็ไม่ต้องตัดมันก็อยู่เหนือการตัดไม่มีการตัดคือไม่เรียกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือมันอยู่เหนือไปเสีย เหนือกุศลเหนืออกุศลไปเสีย นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์
คำว่า"สังขาระ"หรือ"สังขาร"คำพูดแท้จริงความหมายคำพูดแท้จริงมันแปลว่าปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้เกิดของใหม่เรียกว่าสังขาร แต่ชาวบ้านเราๆนี่มันก็ร่างกายนี่แหล่ะสังขาร นั่นมันถูกนิดเดียว ถูกนิดเดียว สังขารร่างกายนี้คือสังขารถูกนิดเดียว ถูกนิดเดียว ถูกแล้วร่างกายนี้คือการปรุงแต่ง แต่คำว่าสังขารหมายถึงปรุงแต่งทุกอย่างไม่ว่าปรุงแต่งอะไรให้เกิดของใหม่ขึ้นมาแล้วเรียกว่าสังขาร ด้วยข้อใหญ่ใจความก็คือปรุงแต่งทางความคิดซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส มันก็ปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสให้เกิด"ปฏิจจสมุปบาท"นี่เรียกว่าสังขารขันธ์การปรุงแต่ง บาลีมีว่า "สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา" สังขารเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง "เตสํ วูปสโม สุโข"การระงับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีการปรุงแต่งที่ไหนก็เป็นการยุ่งยากลำบากและเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มีความยุ่งยากลำบากและเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราทำอะไรก็อย่าโง่เป็นตัวตนมันจะเกิดเป็นสังขารขึ้นมา ถ้าไม่โง่ให้มีตัวตนมันก็ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า"สังขาร"การปรุงแต่ง ที่เค้าสอนกันมันไม่ครบแล้วก็รู้กันตามธรรมเนียมว่าสังขารคือร่างกาย ดับสังขารคือตาย นี่ไม่รู้ดับสังขารคือไม่ตายก็ได้คือไม่รู้ ถ้าอยากจะรู้โดยละเอียดภาษาก็รู้ว่า สังขารนั้นแปลว่าสิ่งที่ปรุงแต่งสิ่งอื่นนี่ความหมายมันปรุงแต่งสิ่งอื่น แล้วสองมันถูกสิ่งอื่นปรุงแต่งและสามมันคือการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง การปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร
สิ่งที่ปรุงเค้าก็เรียกว่าสังขาร สิ่งที่ถูกเค้าปรุงมันก็เป็นสังขาร มันมีอยู่พร้อมกัน ถ้ามีการปรุงแต่งมันก็ต้องมีสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ถ้ามีสิ่งที่ถูกปรุงแล้วปรุงแต่งมันก็มีการปรุงแต่งขึ้น ถ้าจะศึกษาให้ละเอียดชัดเจนมันต้องแบ่งออกเป็น 3 ความหมายว่าถูกผู้ปรุงแต่งเค้าเป็นกัตตุ ถูกเค้าปรุงแต่งนี้เป็นกรรม แล้วก็การปรุงแต่งนี้ก็เป็นภาวะๆ สังขารมีความหมายอย่างนั้น อย่าเข้าใจว่ามีแต่เพียงร่างกาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกันนะ มันปรุงแต่งอะไรก็ได้ อาศัยร่างกายนี้มันปรุงแต่งให้เกิดอะไรก็ได้ แล้วร่างกายนี้เองมันก็ถูกอะไรปรุงแต่งขึ้นมา การปรุงแต่งมันก็อยู่ที่ร่างกายนี้แหล่ะ มันก็ถูกเหมือนกันนะ แต่เด็กๆเขาไม่เข้าใจอย่างนั้นเอาสังขารคือร่างกาย ดับสังขารคือตายเข้าโลง ดับสังขารคือไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ตายก็ได้หรือตายก็ได้แล้วแต่ ดับสังขารเสียดับการปรุงแต่งเสียไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มีกิเลสไม่มีอะไรยุ่งยาก มันก็เป็นความสุข "เตสํ วูปสโม สุโข"ดับสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเสียเป็นสุข
นี่สังขารขันธ์เป็นขันธ์ที่ 4 ในขันธ์ทั้ง 5 รูป1 เวทนา 2 สัญญา 3 สังขาร 4 วิญญาณ 5 วิญญาณ วิญญาณนี้ก็ความหมายมันยุ่งยากถ้าจะเรียนทางภาษาธรรมะมันก็ยิ่งยาก ตัวหนังสือแปลว่ารู้แจ้ง "วิ"แปลว่าแจ้ง วิญญาณแปลว่ารู้แจ้ง ก็มันเป็นเพียงรู้จักเท่านั้น วิญญาณเห็นอะไรดูอะไรเป็นเพียงรู้จักไม่ได้รู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้งมันจะไม่หลงว่าเป็นอัตตาตัวตน มันไม่หลงว่าเที่ยงว่าสุขว่าตัวตน เดี๋ยวนี้มันเพียงรู้จักว่าเป็นอะไร นี้เป็นดอกไม้ นี้เป็นใบไม้ นี้เป็นกระถาง นี้เป็นไมโครโฟน เป็นเพียงแต่รู้จัก รู้จัก นี่ก็เป็นวิญญาณเรียกว่าวิญญาณ นี่ถ้าว่ารู้ยิ่งขึ้นไปอีก รู้ยิ่งขึ้นไปอีกทางจิตใจ ในทางจิตใจ ก็รู้จักยิ่งขึ้นไปอีกก็เรียกว่าวิญญาณ แล้วมีความหมายหนึ่งซึ่งสูงมากขึ้นเขาเอามาพูดจากันในบาลีมีที่มาสองสามแห่ง วิญญาณคือสิ่งที่ต้องรู้จัก ถ้าอย่างนี้หมายถึงพระนิพพาน พระนิพพานคือสิ่งที่จะต้องรู้จักในอันดับสุดท้ายหรือสูงสุดคำว่าวิญญาณอย่างนี้หมายถึงนิพพาน
วิญญาณต่ำๆวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมันก็มีความรู้จัก รู้จักยิ่งๆขึ้นไปว่ามันเป็นอะไรหรือรู้จักแยกแยะใคร่ครวญโดยรายละเอียดยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็มีความหมายอีกทีหนึ่งว่าสิ่งที่ควรรู้จักอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดยิ่งไปกว่าสิ่งนั้นคือพระนิพพาน มีคำอธิบายยืดยาวในฐานะที่เป็นพระนิพพานแต่ไม่ค่อยเอามาใช้พูดกันคำนี้ แต่มันก็มีความหมายอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าวิญญาณที่ทำให้เกิดเวทนา เกิดเวทนาแล้วเกิดสัญญา สังขารกลายเป็นขันธ์ 5 เมื่อเรามีสติเสียตั้งแต่ในขณะที่วิญญาณกระทบแล้วมันก็อาจมีสติในขณะที่มันเป็นผัสสะคือเวทนามาตามลำดับ สติ สตินั้นหมายความว่าปัญญาที่มาทันเวลาแห่งการกระทบ มีการกระทบทางตา ทางหูเป็นต้น แล้วสติความรู้สึก รู้สึกที่ถูกต้องมาทันเวลา มันเหมือนกับเครื่องขนส่ง ขนส่งไปพาเอาปัญญามาทันเวลา เพื่อจะต่อสู้กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดอยู่นี้ นี่เรียกว่าสติมันจะช่วยควบคุมให้เกิดความถูกต้องในทางวิญญาณ ในทางผัสสะ ในทางเวทนาเรื่อยๆไป เราจะมีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อฝึกอานาปานสติ ซึ่งจะพูดกันพอรู้เรื่อง
ถ้าปราศจากสติมันก็เหมือนหลับตา ผูกตาแล้วปล่อยให้เดิน ถ้ามีสติมันก็รู้จักรู้โดยประจักษ์รู้แจ้งว่าอะไรๆอะไรๆอย่างไรๆ เท่าไหร่ ที่ไหน เมื่อไหร่มันก็รู้ นี่มันมีสติ ที่จริงสิ่งที่มีชีวิตแล้วมันมีสติอยู่แล้วทั้งนั้นแหล่ะ ตามธรรมชาติมันมีสติอยู่แล้วทั้งนั้นแต่มันน้อยนักมันไม่พอ มันน้อยไม่พอที่จะแก้ปัญหา ดังนั้นเราจะต้องเพิ่มกำลังแห่งสติ เพิ่มกำลังแห่งสติ ด้วยการฝึกฝนเป็นพิเศษ มันก็มีสติมากแล้วก็มีสติเร็วที่สุด นี่มันจะแก้ปัญหาอันจะเกิดขึ้นมาโดยทางวิญญาณ ทางผัสสะ ทางเวทนาได้ ดูเองเถิดว่าไอ้ขันธ์ 5 เป็นเรื่องของใคร เป็นเรื่องของคนแท้ๆ เป็นเรื่องของคนแท้ๆ ทั้ง100 เปอร์เซ็นต์ แต่คนไม่รู้มันก็ไม่รู้ต้องเรียกว่าเป็นคนโง่ มันไม่รู้เรื่องที่เป็นเรื่องของคน มันไม่รู้ที่จะทำยังไง ถ้ารู้มันก็จะรู้จักขันธ์ 5 แล้วมันก็จะควบคุมได้เช่นเดียวกับเรารู้เรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท"อันยืดยาว แล้วเราก็ควบคุมได้ไม่ให้เป็นทุกข์
ถ้าเรารู้จักขันธ์ 5 เราก็ควบคุมได้ไม่ให้เป็นทุกข์ เป็นปกติ เป็นปกติไม่หัวเราะไม่ร้องไห้ ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่เครียดโดยประการทั้งปวง ไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้มันก็มีอาการเครียด เครียดนี้มีได้ทั้งทางบวกและทั้งทางลบ เค้าพูดกันแต่เรื่องเครียดทางลบ อาตมาบอกว่าไม่ แม้เรื่องบวกมันก็เครียด เรื่องดีใจมันก็เครียด เรื่องเสียใจมันก็เครียด แต่มันเครียดคนละอย่าง ไม่ได้อย่างใจเสียใจทนทรมานอยู่รออยู่มันก็เครียด ถ้าได้อย่างถูกใจมันก็เอามาเครียด มันหยุดไม่ลงมันเครียดมันดีใจ มันดีใจ มันดีใจ มันนอนไม่หลับกินข้าวไม่ลงอยู่นั้นแหล่ะ มันก็เครียดอย่างบวก มันเครียดได้คนเราทั้งบวกและทั้งลบ จึงเป็นอันว่ามันเครียดทั้งดีใจและมันเครียดทั้งเสียใจเพราะมันไม่รู้เรื่องนี้
ถ้าเรารู้เรื่องนี้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ทั้ง 5 แล้วมันจะไม่มีการเครียดเลยสบายดี นี่เรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ทั้ง 5 คือย่อลงมาจาก"ปฏิจจสมุปบาท"เต็มรูป นี่มันมีเพียง 5 หัวข้อที่จะต้องศึกษา ปฏิบัติ "ปฏิจจสมุปบาท"ใหญ่ก็มี 11 หัวข้อบ้าง 9 หัวข้อบ้างแล้วแต่จะอธิบายส่วนไหนอย่างไร
นี่เป็นเรื่องที่ 2 ของ"ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ทั้ง 5 เรื่องที่ 1"ปฏิจจสมุปบาท"ของ "ปฏิจจสมุปบาท"เอง เรื่องที่ 2"ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ทั้ง 5 ที่นี้อาตมาจะขอแถมพกเป็นเรื่องที่ 3"ปฏิจจสมุปบาท"ของอริยสัจทั้ง 4 ชื่อนี้เคยได้ยินกันแล้วเคยได้ยินกันมากแพร่หลาย อริยสัจ 4 อริยสัจ 4 แต่ไม่ค่อยรู้ตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอะไร อริยสัจ 4 นี้พูดแต่เพียง 4 มันก็เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"นั่นแหล่ะ แต่เอามาพูดเป็น 4 ความหมายคือ 4 แง่มุม ถ้า"ปฏิจจสมุปบาท"เต็มที่มัน 11 ความหมายมัน 11 แง่มุมหรือ 9 แง่มุม พอ"ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ 5 มันก็เหลือ 5 แง่มุม พอมาเป็น"ปฏิจจสมุปบาท"ของอริยสัจ 4 มันก็เหลือเพียง 4 แง่มุม พูดล่วงหน้าพูดบอกล่วงหน้าไว้ก่อนก็ได้ว่าเรื่องอริยสัจโดยย่อคืออริยสัจ 4 อริยสัจโดยสมบูรณ์แบบโดยสูงสุดนั้นคืออริยสัจ"ปฏิจจสมุปบาท" คุณจะเรียกเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ว่าเป็นเรื่องอริยสัจใหญ่ก็ได้ และอริยสัจ 4 นี้เป็นอริยสัจเล็กคุณก็เอาไปตีความหมาย ถ้าเล็กไปอีกก็จะเหลือ 2 ความหมายอริยสัจจะเหลือ 2 ความหมาย ทุกข์ก็ดับทุกข์ อริยสัจจะเหลือ 2 ความหมาย ทุกข์ก็ดับทุกข์ จะพูดขยายออกไป ทุกข์เหตุให้เกิดทุกข์ มันได้ 2 ดับทุกข์แล้ววิธีดับทุกข์อีก 2 เลยเป็น 4
เราจะต้องรู้อย่างสัมพันธ์กัน ความทุกข์คืออย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ถ้าความดับทุกข์ไม่มีทุกข์นั้นคืออะไร แล้ววิธีใดที่จะทำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั้น นี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับเรื่องขันธ์ 5 ถ้าจัดไว้ไม่ถูกตามวิธีมันก็เกิดทุกข์ ขันธ์นั้นแหล่ะเป็นทุกข์เป็นภาระหนัก ถ้าจัดมันถูกวิธีมันก็ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นภาระหนัก เมื่อไม่ถูกวิธีเป็นภาระหนักก็แปลว่าไอ้ชีวิตนี้แบกของหนักอยู่ตลอดเวลา
บาลีเรียกว่า"ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา" ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ หนักเพราะมันยึดถือว่าตัวกูของกูมันก็หนักอยู่บนจิตใจ ถ้าไม่เอามายึดถือไว้มันก็ไม่หนัก แต่เดี๋ยวนี้ปกติธรรมดาสามัญแล้วเอามายึดถือไว้ในจิตใจว่าเป็นตัวกู ของกู นี่ขันธ์ทั้ง 5 จึงเป็นของหนัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่า บุคคล บุคคลโดยสมมุติ บุคคล บุคคลนั้นแหล่ะเป็นผู้แบกของหนัก เพราะถ้ามันไม่โง่มันจะไม่มีบุคคล มันมีธรรมชาติมีธาตุตามธรรมชาติไม่มีบุคคล พอไม่มีบุคคลมันก็ไม่มีการแบกของหนัก
"ภารา ทานํ ทุกฺขํ โลเก" แบกของหนักนั้นเป็นทุกข์แบกขันธ์ทั้ง 5 ว่าเป็นตัวกู เป็นของกูมันเป็นทุกข์
"ภารานิกฺเขปนํ สุขํ" โยนทิ้งไปเสียทั้งหมดมันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อโยนทิ้งไปแล้วชุดหนึ่งแล้วอยากเอาชุดใหม่มาถือไว้อีก ไม่ยึดถือไม่แบกของหนักมันก็เป็นความสุข เป็นพระนิพพานคือหมดการแบกของหนัก ชีวิตคนธรรมดาแบกของหนักเพราะเต็มไปด้วยตัวกู ของกู นี่เรียกว่าขันธ์ทั้ง 5 มันมีความหมายอย่างนี้
ทีนี้เราก็รู้โอ้ทั้ง 5 ขันธ์แต่ละขันธ์ ละขันธ์ มีเหตุปัจจัยของมันเอง มีกระแสแห่ง"ปฏิจจสมุปบาท"ของมันเอง มาอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังสารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง เมื่อมีตัวตนมันก็หนักเพราะมันต้องยึดถือมันจึงจะมีตัวตน ถ้าไม่ยึดถือมันไม่มีตัวตน มีการยึดถือที่ไหนมันก็เป็นของหนักที่นั่น เหมือนมือนี่ถ้าไม่ถืออะไรมันก็ไม่หนัก แต่ถ้ามือไปจับถืออะไรไว้มันก็หนัก ถือสักนิดหนึ่งของสักนิดหนึ่งมันก็หนัก แม้แต่มือเปล่ามันก็ยังหนักเพราะถ้ามันชูมือไว้อย่างนี้มันต้องยกมือขึ้นไว้อย่างนี้ มือเปล่ามันก็ยังหนักเลย ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักอย่างนี้ เพราะอย่างนี้มันจึงเป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์เพราะมันเป็นการแบกของหนัก ที่เหตุให้เกิดทุกข์นั้นคือความอยากนั่นเอง มันอยากแบกของหนักมันอยากจะทำตามความหมายคุณค่าของสิ่งที่มากระทบ น่ารักน่าพอใจมันก็อยากไปแบบหนึ่งเรียกว่า"กามตัณหา"มันจะเอา ถ้าไม่ถูกรักไม่พอใจมันก็อยากไปแบบหนึ่ง เป็น"วิภวตัณหา" ถ้าถูกใจมันก็อยากเป็น 2 รูปแบบคือ กามตัณหาอยากเอา ภวตัณหาอยากมีอยากเป็น ถ้าไม่ถูกใจมันก็เป็นวิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากเอา ไม่อยากเป็น ไอ้สิ่งที่เราไม่อยาก ไม่อยากมันมาเป็นมันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน
วิธีกว่ามันจะเกิดความรู้สึกอยาก หรือรัก พอใจ ต้องการนั้นมันก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมาเป็นทอดๆ นั่นแหล่ะ"ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ 5 ในความหมายที่ว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ที่นี้ที่4 การดับทุกข์ ดับทุกข์ "ทุกขนิโรธ"ดับทุกข์นี้ก็คือทำไม่ให้มันเป็นทุกข์ คำพูดมันว่าดับทุกข์แต่ตัวจริงมันคือทำไม่ให้เป็นทุกข์ อย่าปล่อยให้ความทุกข์เกิดแล้วจึงดับมันแย่ อย่าปล่อยให้มันเกิดทุกข์ ทำให้มันเกิดทุกข์แล้วมันสบาย เหมือนกับไฟเราอย่าทำให้มันเกิดไม่ต้องดับให้ยุ่ง แต่ถ้ามันเกิดแล้วไปดับมันยุ่งมันเผาเลย นี้ทำไม่ให้เกิดนั่นแหล่ะคือดับในทีนี้ ไม่เกิดตัณหามันก็ไม่เกิดทุกข์เพราะเราอย่าให้มันเกิดตัณหามันก็ไม่เกิดทุกข์ นี่เรียกว่าตัดที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ขอพูดย้ำอีกทีหนึ่งว่าคนโง่มันมัวแต่ดับที่ปลายเหตุ ไปดับที่ปลายเหตุคนฉลาดมันดับที่ต้นเหตุ เหมือนกับรักษาโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่งมันแก้ไปตามอาการที่ปลายเหตุ เช่นปวดศีรษะกินยาแก้ปวดศีรษะ แต่ถ้าหมอที่เก่งกว่านั้นก็ตัดที่ต้นเหตุอะไรเป็นเหตุให้ปวดศีรษะ มันก็ไปจัดการที่ตรงนั้น มันก็ทำได้มากกว่า ตัดที่ต้นเหตุนั่นแหล่ะเป็นวิสัยของพุทธบริษัทหรือของพระพุทธศาสนา
หัวใจของพุทธศาสนาธรรมทั้งปวงมีเหตุ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุและการสิ้นไปดับไปแห่งเหตุนั้น นี้เขาเรียกกันว่า “คาถาพระอัสสชิหรือหัวใจของพระพุทธศาสนา” มันจะเป็นคำพูดครั้งไหนที่ไหนก็พูดยากนะ ไม่ทราบว่าจะเป็นของฝ่ายตะวันตกของพวกยิวหรือตรงกลางของอินเดียหรือตะวันออกของจีนก็ได้ มันมีคำพูดที่น่าสนใจที่สุดว่า"ไปมัวดับที่ปลายเหตุนั้น มันเป็นลูกหมา ถ้าดับที่ต้นเหตุเป็นลูกราชสีห์ ลูกเสือ" ก็พูดกันมาแต่โบราณอย่างนี้ ถ้าใครเอาไม้ไปแหย่หมาหมามันก็กัดที่ปลายไม้ที่ไปแหย่ หมามันทำได้เท่านั้น แต่ถ้าเอาไม้ไปแหย่เสือแหย่ราชสีห์มันไม่มัวกัดที่ปลายไม้หรอก มันกระโจนไปที่คนถือไม้โน่น นั่นแหล่ะต่างกันมาก "มัวแก้ที่ปลายเหตุเป็นลูกหมา ไปแก้ที่ต้นเหตุเป็นลูกราชสีห์" เราจงจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ จำไว้ให้ดีๆจะได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ไม่ให้ทุกข์เกิด ไม่ใช่ว่าทุกข์เกิดแล้วจึงดับ แต่คำพูดมันจำเป็นต้องพูดว่า "การดับทุกข์นั้นคือการทำไม่ให้ทุกข์เกิด"
ถามว่าทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์เกิด คำตอบสั้นนิดเดียวจำไว้ดีๆว่า"การกระทำที่ถูกต้อง"หรือจะใช้คำว่า"การเป็นอยู่ที่ถูกต้อง"ก็ได้ 8 ความหมายหรือ 8 องค์ประกอบการกระทำที่ถูกต้อง 8 ความหมายเรียกว่า "อริยมรรคมีองค์ 8" คือมรรคาหรือหนทางอันถูกต้องมีองค์8 ถ้าดำเนินตนอยู่ในมรรคาที่ถูกต้องมีองค์8แล้วความทุกข์เกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้แล้วไม่ต้องดับ ก็ไม่ต้องมีความทุกข์เพราะความทุกข์มันเกิดไม่ได้ สนใจแต่เรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นเป็นหัวใจในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติใดๆที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะรวมถึงคือความถูกต้องมีองค์ 8 ประการ ถูกต้องๆหมายความว่ามีผลดีแก่ทุกคนหรือทุกฝ่าย ถ้ามันมีผลร้ายแก่ใครนั้นไม่ถูกต้อง การศึกษาที่ในอินเดียมันก็มีไม่ใช่ไม่มี ในโลกปัจจุบันมันก็มีเรียกว่าศึกษาทางLogic Logicมีกฎเกณฑ์มากอย่างนั้นเรียกว่าถูกต้อง การศึกษาทางPhilosophy Philosophyก็มีกฎเกณฑ์มากอย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง อย่างนี้เรียกว่าไม่ถูกต้อง ป่วยการๆอย่าไปเอามันเลย เอาตามหลักพุทธศาสนาว่าถ้ามันไม่ให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์แก่ใครแล้วก็เรียกว่าถูกต้อง ถ้ามันได้เกิดปัญหาหรือความทุกข์แก่คนใดแม้เพียงคนเดียวมันไม่ถูกต้อง นี่คือถูกต้องๆคือ สัมมา สัมมาแปลว่าถูกต้อง
ถ้าจะเป็นสัมมาถูกต้องนั้นมันก็มีกฎเกณฑ์อยู่ 4 ประการคือเป็นไปเพื่อวิเวกจากสิ่งรบกวน เป็นไปเพื่อวิราคะไม่กำหนัดยินดีในสิ่งใด เป็นไปเพื่อนิโรธะคือดับสิ่งที่ปรุงแต่งเสียนิโรธะ แล้วก็“โวสฺสคฺคปริณามี” มันมีแต่น้อมไปเพื่อเสียสละน้อมไปเพื่อหลุดพ้นน้อมไปเพื่อเสียสละ นี่ความหมายของคำว่าถูกต้องมีอยู่ 4 ประการ ที่จริงมันก็มีได้มากกว่านั้นถ้าจะอธิบาย 4 ประการนี้มันก็พอเสียแล้ว "วิเวกนิสฺสิตํ" เป็นไปเพื่อวิเวก "วิราคนิสฺสิตํ” เป็นไปเพื่อไม่ยึดไม่กำหนัดยินดี"นิโรธนิสฺสิตํ" เป็นไปเพื่อความดับ "โวสฺสคฺคปริณามี"น้อมไปเพื่อโวสสัคคะคือสละสิ่งที่เป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ถ้ามันมีลักษณะอย่างนี้จะเรียกว่า"สัมมา" "สัมมา"คือธรรมะที่ดับทุกข์ได้ ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อลักษณะอย่างนี้ใช้ไม่ได้มันไม่ดับทุกข์หรอก เรื่องศีลก็ดี ทานก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ถ้าไม่เป็นไปในลักษณะ 4 อย่างนี้ใช้ไม่ได้ สติ ปัญญา สมาธิอะไรก็ตามถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อ 4อย่างนี้ใช้ไม่ได้ มันไม่ใช่สัมมา มันจึงไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้า"สัมมา"ต้องประกอบไปด้วย 4 ลักษณะนี้จำไว้ดีๆมันเป็นหลักที่สำคัญที่สุดแต่ก็ไม่ค่อยมีใครจะสนใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสทั่วไปมีมากมายในพระบาลีในพระไตรปิฎก อะไรๆที่จะดับทุกข์ได้จะใช้ประโยชน์ได้นั้นต้อง เป็นไปเพื่อวิเวก เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิโรธะ เป็นไปเพื่อโวสสัคคะปริณามี
วิเวกจากสิ่งรบกวน วิราคะไม่กำหนัดยินดีในสิ่งใด นิโรธะดับไม่ปรุงๆดับๆแล้วก็น้อมไปเพื่อสละเพื่อสลัดเพื่อสละเพื่อปล่อยวางจนว่างจนหมด จนหมดการปรุงแต่งหมดทุกอย่าง เดี๋ยวนี้เราหาเงิน หาเงิน รวยมากมายแต่มันไม่ได้เป็นไปเพื่อ 4 อย่างนี้ หาเงินมาส่งเสริมอะไรตามความต้องการของเรา เราไม่ได้เอามาใช้เพื่อวิเวก เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธะ เพื่อโวสสัคคะปริณามี เงินของเรามันไม่ดับทุกข์เลย เงินของเรากลับสร้างความทุกข์เพิ่มให้แก่เรา เพราะว่าเงินของเรามันไม่ได้เป็นไปเพื่อ 4 อย่างนี้ วิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะปริณามี มันจึงทำอะไร ทำอะไร ตั้งใจจะหาเงิน จะมีเงิน จะมีทรัพย์สมบัติ มีอำนาจ วาสนา บารมีอะไร ถ้าจะให้ดับทุกข์มันก็จะต้องเป็นไปเพื่อ 4 อย่างนี้ เพื่อจะหลีกจากสิ่งรบกวน เพื่อจะไม่กำหนัดยินดีสิ่งใดเพื่อจะดับสิ่งที่ปรุงแต่ง แล้วก็จะน้อมไปเพื่อพระนิพพาน ถึงในประเทศอินเดียมันก็มีมากเหมือนกันแหล่ะที่ว่าถูกต้องๆมันมีเรื่องใน (ไม่ได้ถอดฟังไม่ชัด นาที 1.15.22.00 - 1.15.26.4) เยอะแยะไปหมดทำนองPhilosophyทำนองLogicมีแยะเหมือนกันแหล่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่เอาหรอกไอ้ความรู้เหล่านั้น ท่านก็เอาเรื่อง สัมมา สัมมา สัมมาถูกต้อง ถูกต้องคือ วิเวก คือวิราคะ คือนิโรธะ คือโวสสัคคะปริณามี นี่เราจะมีอะไรบ้างที่มันเป็นไปเพื่อถูกต้อง
ข้อ 1 มีความเห็นถูกต้อง เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะจำได้ด้วยซ้ำไปมรรคมีองค์ 8 หนึ่งสัมมาทิฏฐิ มีความเห็น ความเห็นของจิตถูกต้อง มันก็เท่ากับว่ามีความรู้ถูกต้อง มีความเชื่อถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ถูกต้อง มีอุดมคติวางไว้ถูกต้อง นี่คือสัมมาทิฏฐิมาก่อนเลย เป็นเครื่องนำทางเหมือนกับเครื่องนำทางมาก่อนเลย เหมือนกับแผนที่ที่ดีที่สุดมาก่อนเลยเป็นสัมมาทิฏฐิ ความรู้ ความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ อุดมคติที่ถูกต้อง เมื่อความเห็นมันถูกต้องมันก็มีอะไรต่อๆไปถูกต้อง เพราะมันมีการนำที่ถูกต้อง ดังนั้นมันจึงมี สัมมาสังกัปปะ ความต้องการที่ถูกต้อง เขาแปลกันว่าความดำริที่ถูกต้อง ไอ้ความดำริมันดำริไปตามความต้องการ ตัวหนังสือแท้ๆมันเรียกว่า สังกัปปะ ดำริไปตามความต้องการก็คือตัวความต้องการ ความต้องการมันก็ถูกต้องเพราะเรามีความรู้ว่าอะไรถูกต้องอยู่แล้วนี่ พอความต้องการเกิดมันก็ต้องการอย่างถูกต้อง พอต้องการถูกต้องมันก็ใช้ได้แหล่ะ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ตัณหา ตามศาลาวัดแม้ในกรุงเทพฯมักจะพูดกันว่าถ้าต้องการนั้นเป็นตัณหา ถ้าต้องการนั้นเป็นโลภะนั่นมันหลับตาพูด มันต้องการด้วยกิเลสตัณหามันจึงจะเป็นโลภะเป็นตัณหา ถ้าต้องการด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องความต้องการนั้นไม่ใช่โลภะไม่ใช่ตัณหา แต่เรียกว่าสังกัปปะ
มีคำภาษาอังกฤษที่ดีที่ใช้กันอยู่คู่หนึ่งถ้าสนใจก็ได้เพราะถ้ามันจะต้องพูดกับฝรั่งบ้าง ว่าความอยาก ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นมันก็คืออยากด้วยความโง่เรียกว่า "Desire"ก็มี เรียกว่า"Craving"ก็มี นี่มันอยากด้วยความโง่"Desire, Craving" แต่ถ้ามันอยากด้วยสติปัญญามันต้องการจะเดินไปตามทางของสติปัญญามีคำอีกคำหนึ่งเรียกว่า"Aspiration" นี่คือความประสงค์ที่ถูกต้องขึ้นไป ดีขึ้นไป เพื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ คำนั้นมันแปลว่าความต้องการที่จะพ้นจากความทุกข์ ความอยากอันนี้ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่โลภะเป็นสังกัปปะ ในบาลีเรียกว่า"สังกัปปะ" มี"สัมมาทิฏฐิ"แล้วก็มี"สังกัปปะ" เมื่อความดำริ ต้องการมันถูกต้อง มันก็ถูกต้องต่อไปอีก ว่า"สัมมาวาจา" มันมีการพูดจาที่ถูกต้อง คำพูดก็ถูกต้อง วิธีพูดก็ถูกต้อง ก็ถูกต้องที่เกี่ยวกับการพูด แล้วก็มีความถูกต้องทางการกระทำเรียกว่า"สัมมากัมมันตะ" ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่กระทำอะไรต่างๆเหล่านี้ที่ผิดพลาดเลวทราม แล้วก็มีการดำรงชีวิตอันถูกต้อง เรียกว่า"สัมมาอาชีวะ" จะหามากิน จะหามาใช้ จะมีไว้ จะใช้ จะจ่าย จะทำอะไรให้มันถูกต้องเรียกว่า"สัมมาอาชีวะ"
ต่อไปก็เป็นเรื่องทางจิตก็มี"สัมมาวายามะ"ความพากเพียรที่ถูกต้อง พากเพียรอยู่อย่างถูกต้อง พากเพียรด้วยชีวิตจิตใจทั้งหมดอย่างถูกต้อง แล้วก็มี "สัมมาสติ" "สัมมาสติ"สติถูกต้อง สติที่ไม่ถูกต้องมันไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ มันจะเป็นไปเพื่อหาประโยชน์ เพื่ออะไรที่มากกว่า ถ้ามันถูกต้องมันต้องเป็นไปเพื่อดับทุกข์นี่เรียกว่า "สัมมาสติ" "สัมมาสติ" อันสุดท้ายเรียกว่า"สัมมาสมาธิ"ความตั้งใจมั่น ดำรงจิตมั่นอยู่อย่างถูกต้องรวมเป็น 8 องค์ ทำงานร่วมกันเป็น Teamwork ไม่แยกกัน ทุกคนมีหน้าที่พอดี หน้าที่พอดีของตน ถ้าจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ให้ยกเอา สัมมาสมาธิ เป็นหลักเป็นประธานให้ 7 องค์ข้างต้นนั้นเป็นอุปกรณ์ร่วมกับสมาธิ อย่างนี้เรียกว่า อริยะสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ แล้วก็มีบริขาร 7 ที่ 7 องค์ที่ข้างหน้านั้นเป็นบริขารของสัมมาสมาธิ ถ้าได้สัมมาสมาธิมีบริขันธ์ 7 อย่างนี้แล้วมันตัดปัญหาคือมันให้เกิด วิปัสสนา
ตัดปัญหาตัดความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะมันเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรต่างๆหมดครบถ้วนแล้วมันก็ตัดปัญหา นี่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 มีองค์ 8 ทำหน้าที่เป็นอย่าง Teamwork ยกสัมมาสมาธิเป็นประธานนอกนั้นช่วยสนับสนุนสัมมาสมาธิตามหน้าที่ของตนๆก็ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง นี่เป็นอริยสัจข้อที่ 4 ท่านจะเห็นได้เองว่าโอ้มันเป็น"ปฏิจจสมุปบาท"อยู่ในตัว ที่จะมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ มันมีลักษณะหรือวิธีการแห่ง"ปฏิจจสมุปบาท"อยู่ในตัวคือทำให้มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมามากขึ้นไป มากขึ้นไปเรียกว่า"สัมมา 8 ประการ" ทั้งหมดนี้เป็นส่วนเหตุ ที่นี้ต่อไปถ้ามีส่วนผลมีอีก 2 ประการคือสัมมาวายามะ สัมมาวิมุตติ มียานะขนของ สัมมาสมาธิมีบริวาร 7 มียานะเกิดขึ้นแล้วก็มีสัมมาวิมุตติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง นั้นเป็นผลที่ 2 เป็นเหตุเสีย 8 แต่เมื่อเราพูดกันโดยวิธีปฏิบัติมันพูดกันแต่เหตุ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเอามาตรัสเสีย 8 เรียกว่ามรรคมีองค์ 8 ส่วน 2นั้นเก็บไว้เป็นผล ถ้าจะพูดให้ครบก็ต้องเรียกว่า"สัมมัตตะ 10"คือความถูกต้อง 10 ประการนั่นแหล่ะตัวของพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ทั้งส่วนเหตุและสมบูรณ์ทั้งส่วนผล ถ้าเป็นเพียง 8 ประการมันก็สมบูรณ์เพียงส่วนเหตุ 2ประการเติมเข้ามันส่วนผล มันก็ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ตัวพระพุทธศาสนามีใจความสำคัญอยู่ที่ว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ไปทุกๆส่วนที่มันเป็นตัวเรื่องราวหรือเป็นตัวปัญหา อย่างนี้เราเรียกว่าอริยสัจ4 แต่ละอย่างละอย่างมีลักษณะ"ปฏิจจสมุปบาท"เหมือนกัน
ความทุกข์จะเกิดขึ้นมันก็มี"ปฏิจจสมุปบาท"ให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์จะปรากฏออกมาความดับทุกข์จะเกิดขึ้นก็มีลักษณะ"ปฏิจจสมุปบาท"เหมือนกัน คือทำให้ความดับทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาปรากฏขึ้นมาโดยอาการแห่ง"ปฏิจจสมุปบาท" เรามีการศึกษาดีมีการปฏิบัติดี ในที่สุดมันก็มีความดับทุกข์เกิดขึ้นมา นี่เรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" นี้เราจะตัดต้นเหตุของความทุกข์เราก็ปฏิบัติตามหลักของ"ปฏิจจสมุปบาท" ที่แปลว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันมีลำดับอย่างไร ลำดับอย่างไร ตัดมันเสียทุกขั้นตอนตัดมูลเหตุทุกขั้นตอนเป็นลูกราชสีห์อย่าเป็นลูกหมานะ ตัดต้นเหตุทุกขั้นตอนทุกขั้นตอนมันก็ดับทุกข์ได้ นี้พอมาถึงอริยมรรคมีองค์ 8 ยังไงก็เป็น"ปฏิจจสมุปบาท"อย่างยิ่ง ได้เป็นแก่กันและกันด้วยส่งเสริมกันและกันด้วย เป็นในตัวเองด้วยส่งเสริมแก่กันและกันด้วย ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 จึงเป็น"ปฏิจจสมุปบาท"ฝ่ายที่ดับทุกข์ควรจะเรียกว่า"ปฏิจจนิโรธ" แต่ไม่มีใครเคยเรียก เรียกว่า"ปฏิจจสมุปบาท"คือทำให้ความดับทุกข์เกิดขึ้นมา ความดับทุกข์เกิดขึ้นมาเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท"ฝ่ายดับทุกข์ นี่คือ"ปฏิจจสมุปบาท"ส่วนอริยสัจ4
"ปฏิจจสมุปบาท"เพื่อ"ปฏิจจสมุปบาท"ก็ว่ามาแล้ว "ปฏิจจสมุปบาท"ของขันธ์ทั้ง5ก็ว่ามาแล้ว ทีนี้ "ปฏิจจสมุปบาท"ของอริยสัจ4ก็ได้ว่ามาแล้วสิ้นสุดลง ปัญหาเหลือต่อไปก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะควบคุมกระแสแห่ง"ปฏิจจสมุปบาท"ได้ เหตุปัจจัยมันปรุงแต่งกันแล้วมันก็ไหลไป ไหลไปเหมือนกับน้ำไหลเรียกว่ากระแส แต่ว่ากระแสนี้มันไหลไปสู่ความทุกข์ มันไหลออกไปสู่มหาสมุทรแห่งความทุกข์กระแส "ปฏิจจสมุปบาท" ทำอย่างไรจะควบคุมได้ ทำอย่างไรจะควบคุมได้ ก็ต้องมีความรู้มีเครื่องมือมีอะไรเป็นพิเศษ จะควบคุมได้ก็คือสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิที่เคยพูดมาเรื่อยๆ เอามาแต่ไหน
สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เอามาแต่ไหน เอามาแต่การฝึกฝนปฏิบัติอานาปานสติ ดังนั้นจึงต้องขอพูดเรื่องอานาปานสติสักหน่อยตามสมควร การปฏิบัติจิตตภาวนา จิตตาโยคะอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจิต มันก็เป็นไปเพื่อดับทุกข์คือทำจิตให้เจริญ ทำจิตให้สูง ทำจิตให้แจ่มแจ้ง สว่างไสว อบรมจิตให้เป็นอย่างนั้นแล้วมันก็จะดับทุกข์ ตามธรรมดาตามปกติสามัญนี้มันไม่แจ่มแจ้งไม่สว่างไสว มันเป็นไปแต่ตามสัญชาตญาณ สัญชาตญาณ Instinctของสิ่งที่มีชีวิตมันก็งมๆงายๆไปตามเรื่องของมัน มันมีความอยาก มีความอยาก ก็ดิ้นรนไปตามความอยากแล้วมันก็เกิดปัญหาขึ้นมาเป็นความทุกข์ ฉันจะต้องควบคุมอันนี้แหล่ะ ควบคุม Instinctหรือสัญชาตญาณให้มันเดินให้มันถูกต้อง เครื่องมือก็คือปฏิบัติอานาปานสติจะเกิดธรรมะขึ้นมากมายมหาศาล ปฏิบัติอานาปานสติแล้วจะเกิดธรรมะขึ้นมามากมายมหาศาลนับไม่ไหวหรอก
แต่ขอเอาเพียง 4 อย่างที่สำคัญๆที่สุดคือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เรียงลำดับอย่างนี้มันง่ายดี คือมีสติระลึกได้ทันควันทันทีเร็วทันทีแล้วก็ไปเอาปัญญามา ปัญญามีมากมายมหาศาลครบทุกชนิดได้สะสมไว้ไปเอามาชนิดเดียวชนิดหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาปัญญาชนิดนี้มามันก็กลายรูปร่างเป็นสัมปชัญญะคือพร้อมๆเสมอ สามารถเก่งกาจพร้อมเต็มที่แล้วเป็นสัมปชัญญะ นี่รู้ว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้มันตัดปัญหา ปัญญาที่สัมปชัญญะมันตัดปัญหา ทีนี้ปัญหาเหลืออยู่บางทีมันมีกำลังอ่อน ปัญญานั้นมันมีกำลังอ่อนต้องเพิ่มให้ด้วยสมาธิ สมาธิคือน้ำหนักเข้าใจข้อนี้ดีๆว่าลำพังปัญญาแท้ๆมันไม่ตัดเพราะมันเป็นเพียงความคมมันต้องมีน้ำหนักกดลงไป ความคมมันจึงจะตัดคุณมีเครื่องตัดที่คมยิ่งกว่ามีดโกน แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันไม่ตัด ลำพังปัญญามันตัดไม่ได้มันต้องมีสมาธิ ที่เป็นน้ำหนักสำหรับกดลงไปปัญญามันจึงจะตัด แล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือทำให้มันพร้อมให้มันมีความพร้อมที่จะเกิดการตัดแล้วก็มีเครื่องตัดคือปัญญา แล้วก็มีสมาธิคือน้ำหนักหรือกำลังให้ความคมมันตัดลงไป นี่ 4 อย่างนี้มันแก้ปัญหาได้หมดทั้งอย่างลวกๆต่ำๆเตี้ยๆและอย่างกลางอย่างสูงไปสู่พระนิพพาน มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ท่านต้องสะสมปัญญาไว้ให้มากพอสำหรับสติจะเลือกเอาไปทำประโยชน์ ต้องศึกษาให้ครบทุกแง่ทุกมุมที่ว่ามาแล้วโดยเฉพาะเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"
ศึกษาให้ครบทุกแง่ทุกมุมเหมือนเราจะมีอาวุธ เรามีอาวุธไว้ทุกอย่างในบ้านเรือนของเรา พอเกิดเหตุการณ์อะไรร้ายขึ้นมาก็เลือกอาวุธที่เหมาะสมที่จะไปกำจัดมันเสีย ไม่ใช่ใช้อาวุธทุกอย่างไม่ใช่ ต้องใช้อย่างที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับว่าเรามีหยูกยาไว้ในตู้ยาครบทุกอย่าง แต่พอจะกินกินอย่างเดียวไม่ได้กินทั้งหมดหรอก คือเลือกเอาที่มันถูกมันตรงกับโรคแล้วก็กินแล้วก็หายโรค แต่ว่าเราต้องมีไว้ครบทุกอย่าง ครบในอัตราที่ว่าพอสมควรไม่ใช่ครบเป็นบ้าเป็นหลังครบไม่มีจุดจบใช้ไม่ได้ มันครบอย่างมีจุดจบครบถ้วนเรื่องอริยสัจ4 เรื่องขันธ์5 เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"นี่ครบแล้วก็เลือกเอาส่วนที่มันจะไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะว่าเรื่องมันจะเกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นสารพัดอย่าง ถ้าเรามีครบทุกอย่างมันก็มีสติไปเอามา สติเลือกด้วยไปเอามาด้วยแล้วมาเร็วๆด้วยมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญญาก็เปลี่ยนชื่อ ที่เคยเรียกว่าปัญญา ปัญญา เปลี่ยนชื่อเป็นสัมปชัญญะ
ปัญญาแปลว่ารู้ทั่ว สัมปชัญญะแปลว่ารู้ทั่วพร้อม สัมแปลว่าพร้อม ปะแปลว่าทั่ว ชัญญาแปลว่ารู้ ก็คือปัญญานั่นเองมันเข้มข้นเฉียบแหลมขึ้นมานั่นเรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี้จะทำหน้าที่ต่อสู้หรือว่าตัดหรือว่าทำลาย ถ้ากำลังอ่อนก็มีสมาธิเพิ่มกำลัง ดังนั้นเราจึงจะต้องทำให้มีครบชุด มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ อาตมารู้สึกว่าเท่านี้พอกินแต่ขอให้มีถูกต้องและสมบูรณ์ ไม่ต้องครบทุกอย่างสารพัดอย่าง 84,000 ธรรมขันธ์ไม่ต้องหรอก ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลักว่า"ฉันรู้ทุกอย่างตรัสรู้ แต่เอามาสอนพวกเธอเฉพาะที่จำเป็น มีปริมาณนิดเดียวเหมือนกับว่าใบไม้ทั้งป่ามากมายเท่าไหร่ แต่ฉันนำมาสอนพวกเธอเท่ากับใบไม้กำมือเดียว" คุณเทียบเคียงกันดูเถิด เคียงในวัดนี้ใบไม้ทั้งวัดนี้ไม่ต้องทั้งโลกหรอก เยอะแยะแต่เอามาใช้ประโยชน์กำมือเดียว นั่นเป็นเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท" เรื่องที่เป็นจุดเป็นหัวใจแก่นสารของทุกๆเรื่องมันรวมอยู่ที่นั่น นั้นเราจึงทำให้มีความรู้เรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"เป็นปัญญารอบด้านเป็นปัญญาทุกทิศทุกทาง หมายความว่าจะเข้ามาด้านไหนก็ได้ จะเกิดปัญหาอย่างไรก็ได้เรามีพร้อม
ศึกษาปัญญาหรือว่าเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"ไว้ให้พร้อมก็เกิดเหตุการณ์ สมาธิไปเอามาเรียนรู้เฉพาะส่วนนั้น เฉพาะส่วนที่เอามาเป็นสัมปชัญญะ แล้วก็เผชิญกับเหตุการณ์ร้ายที่มันเกิดขึ้น สมาธิคอยเพิ่มกำลัง เพิ่มกำลัง เพิ่มกำลังไม่ลดกำลัง ไม่ให้ถอยกำลังมันก็ชนะศัตรูที่จะเอาสติปัญญาสัมปชัญญะสมาธิมาจากไหน ก็ฝึกอานาปานสติ โดยรายละเอียดมันมีมากหนังสือคู่มือก็เคยทำขึ้นแล้วไปศึกษาเอา แต่เดี๋ยวนี้จะพูดเฉพาะหัวใจ 2 อัน ขอพูดถึงให้ตลอดว่าตั้งแต่ต้นมานั้น มนุษย์มันเริ่มรู้จักใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่สมัยคนป่า สมัยโน้นมนุษย์รู้จักใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น พอเราอึดอัดขัดใจขึ้นมาถอนหายใจยาวเสียเฮือกหนึ่งความอึดอัดขัดใจก็หายไป อย่างนี้ลูกเด็กๆลูกทารกเด็กๆเพิ่งคลอดมันก็ทำเป็น ลูกทารกมันอึดอัดขัดใจมันก็ถอนใจยาวเฮือกๆ ถอนหายใจ ถอนหายใจยาวแล้วมันก็หลับต่อไปอีกอึดอัดได้ต่อไปอีก
นี่การหายใจชนิดที่ถูกวิธีมันก็กำจัดไอ้ความรู้สึกเลวร้ายที่กำลังมีอยู่ในจิตใจ หรือพอเราเหนื่อยๆ เหนื่อยขึ้นมาเราหายใจยาวๆเติมเต็มความต้องการเราก็หายเหนื่อย แล้วพอรำคาญอะไรขึ้นมาเกลียดอะไรขึ้นมาอึดอัดๆ อึดอัดอะไรขึ้นมาหายใจยาวๆ หายใจยาวๆ มันก็หายไปนี่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ที่มันปรุงแต่งไปให้มากกว่านั้นมันเป็นเทคนิคขึ้นมาว่าต้องหายใจอย่างนั้น หายใจอย่างนั้น หายใจอย่างนั้น มีลักษณะหรือเทคนิคขึ้นมามันก็ยิ่งดี เราจึงมีระบบควบคุมลมหายใจ สมัยดึกดำบรรพ์เราได้ยินได้อ่านได้ฟังว่าแม้แต่พวกฤๅษีมุนีที่ไม่ใช่พุทธศาสนามันก็ทำได้ พวกยักษ์พวกมารมันก็ทำได้ “เสร็จแล้วก็ลุกขึ้น สามทีเจ็บทั่วอินทรีย์ก็สร่างหาย” รู้ไหมหนังสืออะไร ถ้าคุณความจำไม่เลวเกินไปมันหนังสือรามเกียรติ์ มันเป็นกุมภกรรณ มันถูกทุบถูกตีจนลุกไม่ไหวแล้ว มันทำอานาปานสติ แล้วลุกขึ้นลูบตัวเอง 3 ที ลุกขึ้นรบต่อไปได้อีกเค้าเรียกอานาปานสติ
มันก็เกิดเป็นความรู้เป็นความลับสูงสุดขึ้นมาเป็นระบบ(ไม่ได้ถอดชำนาญคำศัพท์ สืบค้นไม่พบ นาทีที่1.38.30.6 - 1.38.41.1)แปลว่าควบคุมลมหายใจ มันมีวิธีต่างกัน ต่างกัน ต่างกันตามแบบนั้นแบบนี้ ครูนั้นอาจารย์นี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ว่าต้องการจะทำอะไร แต่แล้วมันก็จับเอาด้วยการควบคุมลมหายใจฝึกลมหายใจมันก็ได้ จะใช้ไปอย่างฤทธิเดชปาฏิหาริย์มันก็ได้ ใช้อย่างดับทุกข์อันละเอียดสุขุมในจิตใจมันก็ได้ ใช้บังคับให้เลือดไหลน้อยลงก็ได้ เลือดมันออกมากเพราะเป็นบาดแผลทำอานาปานสติดีๆมันจะไหลออกน้อยไหลออกช้าลงอย่างนี้มันก็ยังได้ ประโยชน์มันมากมายมหาศาลรอบด้านเพราะว่ามันเป็นหัวใจของชีวิต คำว่า ปราณ ปราณหมายถึงชีวิต ตัวแท้ๆของมันก็หมายถึงลมหายใจ ไม่มีลมหายใจมันก็คือตายคือหมดปราณ นี่คือทำให้ปราณเข้มแข็งขึ้นมาสดชื่นขึ้นมามันต้องมีสติมีกำลัง เราควบคุมลมหายใจถูกวิธีแล้วมันก็เกิดกำลังทั้งทางกายทั้งทางจิต ทั้งทางสติปัญญา ทางกายคือกำลังเข้มแข็งขึ้นมา ทางจิตก็มีจิตที่ถูกต้องเข้มแข็งขึ้นมา ทางสติปัญญาก็ถูกต้องถึงสุดที่แก้ปัญหา
นี่ผลของอานาปานสติแล้วก็สืบต่อกันมา สืบต่อกันมา เป็นวิชาความรู้ที่ประเสริฐวิเศษ ในเรื่องพุทธประวัติท่านก็เคยอ่านว่าพระสิทธัตถะยังเป็นลูกเด็กๆอายุ 7, 8 ปีนั้น ไปแรกนาขวัญไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ทำอานาปานสติหยุดเงาของดวงอาทิตย์ได้ นี่แสดงว่ามันต้องแพร่หลายมาก ต้องแพร่หลายมากจนใครๆก็รู้จักทำตามมากตามน้อยตามมีตามได้ เป็นที่นิยมกันมากทีเดียว นี่ก็เอามาใช้ต่อมาก็เอามาใช้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วก็ใช้อานาปานสติ ท่านตรัสว่า"เมื่ออยู่ด้วย อรณวิหารธรรมอานาปานสติก็ได้ตรัสรู้อนุสัมมาสัมโพธิญาณ" ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติซึ่งมันเจืออยู่ด้วย"ปฏิจจสมุปบาท" มันมีความหมายเป็นการกระทำ"ปฏิจจสมุปบาท"โดยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือมันก็เลยตรัสรู้ แล้วก็สั่งสอนไว้อย่างมากมาย มากมายเรียกว่า"อานาปานสติ" ต่อมามีคำเรียกเปลี่ยนไปว่า "สติปัฏฐาน"
คำว่า"อานาปานสติ"นี้แพร่หลายมาก ได้มาสอนกันถึงแผ่นดินแหลมทองหนังสือเก่าๆ เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงอะไรก็ตามหลายๆหนังสือ จะเอ่ยถึง อานาปา, อานาปา เรียกสั้นๆว่า"อานาปา"ไม่ค่อยเรียกว่า"สติปัฏฐาน" แต่มายุคนี้เกิดคำว่า"สติปัฏฐาน"ขึ้นมาแข่งหรือแทนที่ เราคงยังยึดถือคำเดิมของพระพุทธเจ้าว่า"อานาปานสติ, อานาปานสติ" มีสติกำหนดธรรมะที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจ ถ้าถามว่ากำหนดอะไรไม่ใช่กำหนดลมหายใจอย่างเดียว กำหนดธรรมะที่ควรกำหนด แต่ว่าจุดตั้งต้นลมหายใจนั่นแหล่ะเป็นธรรมะที่ควรกำหนด จึงกำหนดลมหายใจยาวลมหายใจสั้น แล้วต่อมาก็กำหนดความจริงต่อไปเป็นข้อ ข้อ ข้อ ข้อ ไปเรียกว่าธรรมะที่ควรกำหนด กำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจ มันจึงจะสมบูรณ์ถึงที่สุด กำหนดเล่นๆมันไม่ได้ผล กำหนดทุกครั้งที่มีการหายใจ พึงกำหนดความที่ร่างกายกายเนื้อกายลมสัมพันธ์กันอยู่ กำหนดให้กายลมระงับไปกายเนื้อก็ระงับ กำหนดเวทนา กำหนดอะไรก็ตาม ก็กำหนดสิ่งนั้นแต่ว่ากำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจมีความรู้สึกต่อลมหายใจที่เข้าออกทุกครั้ง
มันเหมือนกับว่าเครื่องจักร เครื่องจักร คุณก็คงจะรู้เครื่องจักรทุกเครื่องจักรมันจะมีส่วนหนึ่งเล็กๆที่เรียกว่า"Governor" Governorที่ควบคุมความสม่ำเสมอของเครื่องจักร เครื่องจักรจะอยู่ในสภาพอย่างไรจะโหลดหรือไม่โหลดจะอะไรก็ตามมันจะมี Governorควบคุมเป็นปกติสม่ำเสมอ การเจริญอานาปานสติก็เหมือนกันจะกำหนดอะไรก็ตามใจ กำหนดอะไรก็ตามใจ มันมีความรู้สึกต่อการหายใจเข้าออก มีลักษณะเป็นGovernor ควบคุมให้การกำหนดนั้นสม่ำเสมอ สม่ำเสมอ กำหนดกายก็ได้ กำหนดเวทนาก็ได้ กำหนดจิตก็ได้ กำหนดธรรมะก็ได้ กำหนดธรรมะ กำหนดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเรื่อยไปจนถึงที่สุด เอาความสม่ำเสมออยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก เข้า-ออก เข้า-ออกสม่ำเสมอ รักษาความสม่ำเสมอนี้ไว้ได้ด้วยการหายใจ นี้จึงกล่าวได้ว่ากำหนดธรรมะที่ควรกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจ อย่าพูดผิดๆว่ากำหนดลมหายใจอย่างเดียวนั้นพูดผิดๆ
กำหนดธรรมะที่มีประโยชน์ที่ดับทุกข์ได้อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจ นี้เรียกว่า"อานาปานสติ" แบ่งออกเป็น 4 หมวด หมวดกายกำหนดกาย หมวดเวทนากำหนดเวทนา หมวดจิตกำหนดจิต หมวดธรรมะกำหนดธรรมะ กายมันเป็นที่ตั้งแห่งทุกสิ่งต้องจัดให้มันถูกต้อง จัดให้มันเหมาะสมให้มันมีความเหมาะสมก็ปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องกาย ลมหายใจสั้นลมหายใจยาวสัมพันธ์กันอยู่กับเนื้อหนังร่างกาย ทำให้สงบระงับลงไปทั้งสอง ทั้งสอง ทั้งสองกายกายลมก็ได้กายเนื้อก็ได้ ต้องสงบระงับไป แล้วชีวิตนี้ร่างกายนี้ก็จะมีความเหมาะสมสำหรับจะเป็นสุขทันทีก็ได้ สำหรับจะเจริญก้าวหน้าต่อไปในทางจิตตภาวนาอันสูงต่อไปก็ได้ นี่เรียกว่าหมวดกายทำให้ได้
แล้วก็มาถึงหมวดเวทนาคือความรู้สึกที่เป็นนายเหนือหัว คำมันหยาบไป เวทนาเป็นนายเหนือหัวคนทุกคนไม่ยกเว้นใคร คนทุกคนต้องการเวทนาที่ถูกใจเวทนาที่ถูกใจ กามารมณ์ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้มันต้องการใช้เวทนา เวทนาเป็นนายเหนือหัวไสหัวคนไปเล่าเรียนไปศึกษาไปทำการงาน ไปสะสมทรัพย์ ไปสะสมอำนาจวาสนาบารมี นั่นอำนาจของเวทนา ถ้าควบคุมไม่ได้มันเป็นอย่างนั้น แต่ควบคุมได้มึงมาอยู่ใต้อำนาจของกู ควบคุมเวทนาไม่ให้ไสหัวออกไปได้ ไม่ให้ปรุงแต่งไปได้ให้มันไม่มีการปรุงแต่งได้ก็ยิ่งดี ถ้าจะมีการปรุงแต่งก็ปรุงแต่งในทางที่ถูกต้อง คุณก็เอาเวทนามาศึกษามากำหนดดูทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก จนชนะเวทนาควบคุมเวทนาได้ตามต้องการ
ทีนี้จะให้ดีขึ้นไปอีกมันอยู่ที่ต้นตอ ต้นตอคือจิตเป็นต้นตอของสิ่งทั้งปวง จะควบคุมต้นตอของสิ่งทั้งปวงให้ได้ก็คือควบคุมจิต ในชั้นแรกก็คือศึกษาดูจิตทุกชนิด ทุกชนิด ทุกชนิด ทุกชนิดแล้วมาเลือกเอาว่าจะเอาชนิดไหน เรารู้อยู่แก่ใจก็รู้อยู่แก่ใจที่ไม่เคยรู้ที่ไม่เคยปฏิบัติจะวิมุตติจิตไม่เคยวิมุตติจิตก็ควบคุมก็คำนวณไปจากจิตที่ไม่วิมุตตินั่น จิตที่ทนทุกข์ทรมานอยู่นั่น คำนวณดูถ้าไม่มีสิ่งทนทุกข์ทรมานเหล่านี้จะเป็นอย่างไร นี่ก็จะพอรู้จักวิมุตติจิตได้ก็พอใจก็ทำไปเพื่อวิมุตติจิต นี่เห็นไหมจิตที่หลุดพ้น จิตที่ประเสริฐ จิตที่สูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่าเรายังไม่ได้ไม่ถึงแต่เราทำความพอใจเกิดขึ้นได้ โดยคำนวณตรงกันข้ามจากที่เรารู้จักคือฝ่ายทุกข์ เรารู้จักฝ่ายทุกข์แล้วเราคำนวณฝ่ายที่ไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวง จิตก็น้อมไปเพื่อจะไม่มีทุกข์ แล้วก็ฝึกจิตให้มันเลือกให้ถูกทางแล้วก็บังคับฝึก บังคับฝึกให้มันปราโมทย์ยินดีร่าเริงได้ เจริญได้ตามที่ต้องการ ให้มันเป็นสมาธิหนักแน่น หนักแน่นยิ่งถึงที่สุด แล้วก็ให้มันปล่อย ปล่อยสิ่งที่มันยึดถืออยู่
เป็นสมาธินั้นก็คือบริสุทธิ์ สะอาดดี แล้วก็รวมกำลังทั้งหมดเป็นจุดเดียว ก็เกิดความพร้อมในหน้าที่การงาน คือพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อันสูงสุด คือทำสมาธิวิปัสสนายิ่งขึ้นไปนี่เรียกว่า"กรรมณียะ "(นาที่ที่ 1.48.40.1-1.48.53.3) มีสมาธิคือความบริสุทธิ์ มี"สมาหิตตะ"(นาทีที่ 1.48.54.9-1.48.56.7)คือตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว มี กรรมณียะ(นาที่ที่ 1.48.58.1-1.49.02.1) มีActiveness ที่ทั้งโลกเขานิยมกันนัก มีActivenessที่ไหนก็มีความสำเร็จที่นั่น นี่ควบคุมจิตได้ถึงขนาดนี้ เดี๋ยวนี้จิตเป็นผู้รับใช้เราแล้ว ก่อนมันบังคับไสหัวเรา เดี๋ยวนี้เราจะบังคับจิตบ้างจะใช้จิต เอาจิตมาบังคับให้กำหนดในสิ่งที่ควรกำหนด
หมวดที่ 4 คือธรรมะ ธรรมะ ธรรมะในที่นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ธรรมะนั้นมีมากมายมหาศาลนั้นมันกำหนดไม่ไหว แต่กำหนดธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ สิ่งที่ไม่เที่ยงแล้วไปโง่มันเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์โง่ไปให้เป็นสุข สิ่งที่เป็นอนัตตาไปโง่ให้เป็นอัตตา บังคับจิตให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ ศึกษาเหล่านี้จนรู้ตามที่เป็นจริง แล้วก็ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน นี่เรียกว่าชนะไอ้สิ่งที่เคยหลอกลวงว่าตัวตน เดี๋ยวนี้จะไม่ยึดถือว่าตัวตนอีกต่อไป ก็เป็นการชนะสิ้นเชิง สิ่งที่มีอยู่ในโลกทุกๆสิ่งมันหลอกลวงให้เราไปหลงรัก หลงยึดถือ หลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ ทุกอย่างเป็นความหลง หมดความหลงก็เรียกว่ารู้จักมันดี รู้จักสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นความไม่เที่ยงเป็นต้นของมันแล้วก็คลายความยึดถือเรียกว่า"วิราคะ" เมื่อคลายๆ คลายๆ คลายๆมันก็หมดเรียกว่า"นิโรธะ"จบเรื่อง ดับความทุกข์ไม่มีส่วนเหลือทั้งโดยเหตุ และทั้งโดยผล แล้วก็รู้เป็นการส่งท้ายที่ว่าโอ้เดี๋ยวนี้พ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ปฏินิสสัคคะฉันโยนคืนสิ่งที่ไม่ควรอยู่กับฉันออกไปหมดแล้วนี่เรียกกันว่าธรรมดา ถ้าเรียกอย่างสุภาพก็เรียก"ปัจจเวกขณ์" พิจารณาความหลุดพ้นของตน ของตน ที่แท้ก็คือดูชัยชนะของตน ที่มีชัยชนะถึงที่สุดอย่างนี้เรียกว่า"อานาปานสติ4 หมวด” ศึกษาคู่มือเต็มที่อ่านสัก 10 เที่ยวแล้วพยายามปฏิบัติ แล้วก็ได้รับคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ที่มีหน้าที่สั่งสอนเพิ่มเติมอยู่ทั้ง 2 ทาง ศึกษาโดยคู่มือก็ได้แต่ต้องช่วยได้รับความช่วยเหลือของครูบาอาจารย์ที่ดีที่ถูกต้องก็จะประสพความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติ แล้วเราก็จะมีธรรมะสูงสุด 4 อย่างคือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ คืออาตมาตั้งชื่อเอาเองตามพอใจว่าธรรมะ 4 เกลอ มีธรรมะทั้ง 4 นี้เป็นเครื่องช่วยเรียกว่า"ธรรมะ 4 เกลอ" จะควบคุมกระแสแห่ง"ปฏิจจสมุปบาท"ได้ ความทุกข์ไม่เกิดเกิดแต่ความไม่ทุกข์ เกิดแต่ความดับทุกข์คือเป็นไปเพื่อพระนิพพานเรื่องมันก็จบ
สรุปความว่ารู้จัก"ปฏิจจสมุปบาท"ว่าเป็นกระแสร้ายกาจนำไปสู่ความทุกข์ ศึกษาวิธีที่จะสกัดกั้นกระแสเหล่านั้นคืออานาปานสติ ไม่ให้มันไหลไปสู่ความทุกข์ถ้ามันจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ให้เกิดแต่ที่เป็นไปเพื่อไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าอานาปานสติใช้เป็นคู่กัน ความรู้ ความรู้ ความรู้คือ"ปฏิจจสมุปบาท" การปฏิบัติ การปฏิบัติ การปฏิบัตินี้คืออานาปานสติ แล้วผลของมันก็คือพระนิพพาน
เวลาหมดแล้วขอแสดงความขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดีมาตลอดเวลา 2 ชั่วโมง ขออนุโมทนา อนุโมทนา ในความตั้งใจดีตั้งใจจริงของการมาสู่สถานที่นี้เพื่อศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะ เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ส่วนตน แล้วอย่าใจจืดใจดำช่วยสั่งสอนให้แพร่หลายต่อไป สั่งสอนลูกหลานหรือใครก็ตามให้มันรู้ยิ่งๆขึ้นไปนั่นเป็นพระพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ทรงประสงค์ไว้ให้พุทธบริษัทช่วยกันทำให้ความรู้เรื่องดับทุกข์นี้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งหลาย ทั้งโลก ทั้งเทวโลก ปรโลก พรหมโลก นั่นเป็นพระพุทธประสงค์ เราดับทุกข์ของตัวเองได้แล้ว เราทำผู้อื่นให้ดับทุกข์ได้ด้วยนั่นสนองพระพุทธประสงค์ เป็นการปฏิบัติด้วยปฏิบัติบูชาแด่พระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประสงค์ เรื่องมันก็จบ เกิดมาทีหนึ่งได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ท่านทั้งหลายมีความตั้งใจอย่างนี้อาตมาขออนุโมทนา อนุโมทนา อนุโมทนา และขอแสดงความหวังในที่สุดนี้ว่า ความประสงค์ของท่านทั้งหลายจะเป็นไปตามความประสงค์ทุกๆประการ มีความก้าวหน้าในทางของพระนิพพานอยู่ทุกวันทุกคืนเทอญ ขอยุติการประชุม