แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บรรยายเกี่ยวกับองค์มรรคจบไปแล้ว ทีนี้ก็จะได้บรรยายเรื่องนานาชนิดเกี่ยวกับจริยธรรม ตามหัวข้อที่ได้มอบให้อาตมาชุดหนึ่ง เรื่องแรกของชุดนั้นก็มีหัวข้อว่า เป้าหมายของชีวิต และสังคม นี่มีปัญหานิดหน่อย เป้าหมายของชีวิตมันก็เป็นเรื่องบุคคล และก็ของสังคม คือ ส่วนรวม ก็แปลว่า ให้พูดเรื่องเป้าหมายของบุคคล และเป้าหมายของสังคม เข้าใจว่าอย่างนี้
เป้าหมายชีวิตบุคคล และเป้าหมายของสังคม มันตอบสั้น ๆ ได้เลย เป้าหมายของชีวิต ก็คือสันติสุขของบุคคล เป้าหมายของสังคม ก็คือสันติภาพของสังคมนั่นเอง มีผู้พูดกันบ่อย ๆ ว่าพุทธศาสนาไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสังคม มีพูดแต่เรื่องการหลุดพ้นของบุคคลเกือบทั้งนั้น ข้อนี้ก็ขอยืนยันว่ามันจริง ในพระคัมภีร์นั้นมีเรื่องความรอดส่วนบุคคล ส่วนสังคมนั้นมีบ้าง ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย แม้ที่สุดแต่เรื่องสำหรับฆราวาสล้วน ๆ ก็ยังมีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่มาก จึงไม่ควรถือว่าพูดแต่เรื่องบุคคล และก็มักจะเข้าใจผิดต่อพุทธศาสนาว่าสอนให้หนีเอาตัวรอดผู้เดียว ข้อนี้ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
ถ้าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านมุ่งหมายอย่างที่ตรัสไว้เองว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ คิดดูสิว่าจะมีสังคมไหนที่ใหญ่ยิ่งไปกว่าทั้งเทวดา และมนุษย์ ทรงตรัสว่าธรรมวินัยนี้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ ท่านทั้งหลายจงสืบธรรมวินัยนี้ไว้เพื่อประโยชน์ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ มันสังคมหมดน่ะ ทั้งเทวดา และมนุษย์ เราจะถือว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องสอนให้เอาตัวรอดคนเดียว แม้ในหมู่ไทย คนไทยชาวพุทธน่ะก็ชอบพูดอย่างนั้นว่า หนีไปเพื่อเอาตัวรอดคนเดียว ถ้าใครไปบวช อย่างนี้มันก็เรียกว่าไม่ถูกต้อง หรือมันหลับตาพูดเกินไป บางคนซัดไปถึงกับว่าพระพุทธเจ้าหนีออกบวช เป็นการทิ้งสังคม คือ ทิ้งความรับผิดชอบอีกมากอย่าง นี่ ขอเลิกพูดกันที การที่บุคคลคนหนึ่งออกไปบวช ก็เพื่อจะให้รู้ความดับทุกข์ และสามารถจะช่วยผู้อื่นให้ดับทุกข์ได้ด้วย ถ้าตนรู้แล้ว ถ้าไม่บวชมันก็งัวเงีย ไม่มีความรู้ที่จะช่วยผู้ใด ดังนั้นตัวเองต้องทำได้เสียก่อน เหมือนกับคนว่ายน้ำได้เสียก่อน จึงจะช่วยคนตกน้ำได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้นขออย่าได้พูด เมื่อใครออกไปบวชว่าหนีเอาตัวรอด มีลักษณะเป็นคำประณาม ๆ อยู่นิดหน่อย คือ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว นี้ไม่ใช่เจตนารมณ์ของพุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องการจะทำประโยชน์ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ เช่น ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำประโยชน์ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ เป็นพระอรหันต์แล้วก็ทำหน้าที่ของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ เป็นอันว่าเราไม่มีข้อขัดแย้งกันในส่วนนี้ ที่...ข้อที่พูดถึงเรื่องสังคมน้อยไปก็เพราะข้อเท็จจริงอันหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งหลายทราบได้เอง โดยไม่ต้องใครมาบอกอีก
ถ้าบุคคลมันดีแล้วสังคมมันจะเลวได้อย่างไร เพราะสังคมมันประกอบขึ้นด้วยบุคคลแต่ละคน ๆ สนใจให้บุคคลแต่ละคนน่ะดีก็แล้วกันล่ะ สังคมมันก็ดีแน่ และอาจจะหวังไปตามลำดับ ในเมื่อบุคคลดี บุคคลมันดี แล้วก็บุคคลดี แล้วครอบครัวก็ดี ทั้งครอบครัวมันประกอบขึ้นด้วยบุคคล ครอบครัวทุกครอบครัวดี หมู่บ้าน ๆ นั้นก็ดี ทีนี้เมื่อหมู่บ้านทุกหมู่บ้านดี บ้านเมือง จังหวัดมันก็ดี เมื่อทุกจังหวัด ทุกบ้านเมืองมันดี ประเทศชาติก็ดีเอง ใช้คำว่า เอง ดีกว่า
ดังนั้นท่านจึงพูดเจาะจงบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคม ทีนี้เป้าหมายของชีวิต และสังคม ก็คือ บุคคลมีสันติสุข แล้วก็สังคมก็มีสันติภาพ สรุปความได้อย่างนี้ ทีนี้พิจารณากันถึงเรื่องฝ่ายบุคคล คือ คำว่าบุคคลดี ดีในที่นี้ หมายถึง อยู่ในความถูกต้องตามหลักอริยมรรค ที่เราได้บรรยาย อภิปรายกันมาแล้วอย่างเพียงพอ หรือจะใช้คำสั้นว่า ไตรสิกขา ก็ได้ มันก็คือ อริยมรรคนั่นเอง สิกขาสาม ออกไปเป็น มรรคมีองค์แปด มรรคมีองค์แปด ย่นเข้าเป็นสิกขาสาม ทีนี้ผลที่จะเกิดขึ้นเป็นบุคคลดี มีได้ทั้งอย่างในโลก และเหนือโลก โลกิยะ แปลว่า อยู่ในโลก โลกุตระตระ แปลว่า อยู่เหนือโลก บุคคลดีที่เป็นอย่างวิสัยโลก คือ ผู้ที่เป็นอยู่ด้วยความรู้สึกว่า มีตัวตน มีภาระของตน แล้วก็มีตัวตนสำหรับเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ ก็ต้องตรัสอย่างหนึ่ง ตรัสไว้อย่างหนึ่ง ในฆราวาสธรรม ก็มุ่งหมายให้มีทรัพย์สมบัติพอตัว ให้มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว ให้มีเพื่อนที่ดี กัลยาณมิตรที่ดีพอตัว นั่นล่ะ ลองคิดดูเถิด ถ้าเป็นอย่างในโลกก็ไปได้เท่านั้นล่ะ ถ้าเป็นอย่างเหนือโลก ก็ไปจนถึงไม่มีตัวตน เป็นคำสอนชุดไม่มีตัวตน แล้วก็ไปถึงนิพพาน
ทีนี้ ก็จะพูดกันสักหน่อยหนึ่งว่า ที่อยู่ในโลกแล้วก็ดี ดีอย่างบุคคลดีในโลกนั้น เอาเครื่องวัดกันที่เขามีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง และมิตรสหายที่ดีพอตัว ๆ ข้อนี้ก็สำเร็จได้ด้วยฆราวาสธรรม ๔ ประการ และธรรมะประกอบ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น บุคคลจะลุเป้าหมายอย่างวิสัยโลกได้ โดยมีธรรมะสำหรับคฤหัสถ์สำหรับปฏิบัติ ก็หลายหมวด หลายข้ออยู่เหมือนกัน ดูได้ในหนังสือแบบเรียน ถ้าเอามาเจียระไนอีกมันก็เสียเวลา แต่อยากจะชี้แนะหมวดที่สำคัญที่สุดสักหมวดหนึ่ง คือ หมวดที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม นี่เป็นคำที่ตรัสไว้ พระองค์ได้ตรัสฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาสไว้เป็น ๔ อย่าง คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ซึ่งในหลวงได้ประกาศให้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติเมื่อไม่นานมานี้ นั้นเรียกว่า ฆราวาสธรรม ทีนี้ ความหมายของคำ ๆ นี้ อาจจะมองกันไม่ครบถ้วน อยากจะพูดให้เข้าใจเสียเลยว่า ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมะสำหรับฆราวาส ธรรมะสำหรับฆราวาส นี่สำหรับฆราวาสจะเป็นอย่างไร ก็สำหรับฆราวาสจะได้บรรลุถึงผลที่ดีที่สุดสำหรับเป็นฆราวาส หรือช่วยให้เป็นฆราวาสดีที่สุด และสำหรับฆราวาสจะใช้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อยกตัวเองให้พ้นจากความเป็นฆราวาส เช่น เป็นพระอรหันต์ ก็ได้ แต่ข้อนี้ไม่ค่อยพูดกัน ตัวหนังสือก็อำนวยให้พูดอย่างนั้น ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส แต่สำหรับเป็นฆราวาสที่ดีที่สุด และสำหรับพ้นจากความเป็นฆราวาส ถ้าเป็นพุทธบริษัทแท้จริง ย่อมต้องการจะพ้นจากความเป็นฆราวาส คือ เป็นอริยบุคคล กระทั่งเป็นผู้หมดกิเลส เป็นต้น
ฆราวาสธรรม ๔ นั้นน่ะ ขอให้ช่วยสนใจ มันจะแก้ปัญหาทุกปัญหา คือ ให้ละสิ่งที่ควรละได้หมด และทำให้เกิด ให้มี ให้เจริญในสิ่งที่ควรทำให้เกิด ให้มี ให้เจริญ ก็ได้หมดเหมือนกัน อยากจะให้รู้จักธรรมะข้อนี้ และใช้สำเร็จประโยชน์เต็มตามความจริง ตามค่าของธรรมหมวดนี้ ๔ คำจำง่าย ๆ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี่เป็นธรรมที่เหมาะสำหรับฆราวาส และยังมีพระพุทธภาษิตเนื่องกันกับธรรมะ ๔ ประการนี้อีกบทหนึ่ง แต่ไม่ค่อยเอามาพูดกัน คือ บทที่ว่า อิงฺฆ อญฺเญปิ ปุจฺฉสฺสุ ปุถู สมณพฺราหฺมเณ ยทิ สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตฺยา ภิยฺโยธ วิชฺชตีติ พระพุทธเจ้าตรัสท้าให้ไปถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเป็นอันมากดูเถิดว่า สำหรับฆราวาสแล้ว มีธรรมะไหนยิ่งไปกว่าธรรมะ ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ดังนั้นควรจะถือเอาประโยชน์จากความเป็นฆราวาส คือ ฆราวาสที่ดีเต็มที่ของความเป็นฆราวาส และเป็นฆราวาสที่เลื่อนชั้นพ้นไปจากความเป็นฆราวาส ไปเป็นอริยบุคคลจนเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นส่วนของโลกุตตระ คือ เหนือโลก
อิทธิบาท ๔ นั่นน่ะ ก็เป็นธรรมะเครื่องมือ เครื่องมือต่อไปอีก จะพยายามทำอะไรสักอย่าง ให้สร้างอิทธิบาท เพื่อกิจการอันนั้นให้เต็มที่ ฉันทะ คือ พอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะ ความเพียรทำ จิตตะ เอาใจใส่ทำ วิมังสา สอดส่องทำ สอดส่องกระทำ อยากจะกระทำ แล้วก็พากเพียรกระทำ แล้วก็เอาใจใส่กระทำ แล้วก็สอดส่องกระทำ มันก็สำเร็จ ธรรมะเหล่านี้ควรจะทราบไว้ว่า มันเป็นธรรมะประเภทเครื่องมือ เช่น เราอยากจะมีศีล ก็ต้องมีสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ในการทำให้มีศีล คือ มีจริงใจที่จะมีศีล บังคับตัวเองให้มีศีล แล้วก็อดกลั้นอดทนจากความลำบากบ้างเนื่องจากการมีศีล แล้วก็จาคะ คือ เสียสละ หลังจากอดทนแล้วก็มีการเสียสละออกไป ๆ ให้มันต้องอดทนน้อยเข้า มันก็เลยไม่มีทุกข์มากเกินไป การประพฤติพรหมจรรย์ตามหลักพระพุทธศาสนา ถูกกล่าวหาว่าเคร่งเครียด เป็นทุกข์ทรมานอีกแบบหนึ่ง ข้อนี้ไม่จริง ไม่ควรจะกล่าวหาถึงขนาดนั้น แต่ควรจะพูดตามที่เป็นจริงว่า ถ้าทำให้ถูกต้องตามวิธีของพุทธศาสนาแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ก็มีความสุขสบายพร้อมกันไปในตัวการปฏิบัติ เพราะมีหลักที่ดี และเพียงพอ มันก็เป็นเทคนิคอันสมบูรณ์อยู่ในเรื่องนั้น คือ มีสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ไม่ว่าเรื่องอะไรจะกลายเป็นเรื่องง่าย คือ ทำได้สะดวกสบายไปหมด เหมือนกับมีอิทธิบาททั้ง ๔ เป็นต้น ช่วยประกอบแต่ละขั้นตอน ๆ ทุกขั้นตอนอีกทีหนึ่ง นี่เรียกว่า ประสบความสำเร็จในส่วนชีวิตส่วนบุคคล ทำบุคคลนั้นให้มีสันติสุขอย่างบุคคล
ทีนี้ ที่เป็นอย่างโลกุตตระ หรือเหนือโลก โลกุตระ แปลว่า เหนือโลก คำว่าเหนือโลกนั่น ถ้าไม่ได้ศึกษาความหมายมาบ้างแล้วมันก็เข้าใจไม่ได้ มันจะเข้าใจตามภาษาคนพูดว่า ขึ้นไปเหนือโลก ขึ้นไปเหนือโลก พ้นอวกาศไป พ้นไปอีก แล้วก็เป็นเหนือโลก ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น คำว่าเหนือโลกนั่น อยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เหนือโลกได้ คือ สิ่งแวดล้อมทั้งหลายเรียกว่าโลก สิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรียกว่าอารมณ์มากระทบ ๖ อายตนะนี้แล้ว ก็เรียกว่าโลกมันมากระทบ แล้วสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลมากในการที่จะทำให้ยินดีก็ได้ ยินร้ายก็ได้ คือ ทำให้ชอบก็ได้ ไม่ชอบก็ได้ การที่ต้องยินดียินร้าย ชอบไม่ชอบ รัก โกรธ เกลียด กลัวอยู่นี่มันเป็นสิ่งที่เสียหายเลวร้าย เพราะว่าเราอยู่ใต้โลก เราอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ พูดให้ชัดก็ว่า เราอยู่ใต้อิทธิพลของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเข้ามาแล้วก็บังคับขับไสให้เป็นไปตามอวิชชา ความโง่ ความเขลา จนเกิดกิเลส แล้วก็ทำกรรมอันเป็นทุกข ถึงแม้ว่าจะเข้ามาเป็นที่พอใจ น่ารัก น่าพอใจ มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล จนถึงเกิดกิเลสแบบอันเป็นทุกข์ แม้ว่าจะเข้ามาในลักษณะที่ไม่น่าพอใจ น่าเกลียด มันก็ทำให้เกิดกิเลส และเป็นทุกข์ นี่เพราะเรามีจิตใจต่ำ อยู่ภายใต้อิทธิพลของทุกอย่างในโลก ถ้ามีจิตใจอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ นั่นแหละ คือ เหนือโลก ดังนั้น นั่งอยู่ที่นี่ก็ได้ กำลังทำอะไรอยู่ก็ได้ ถ้าทำได้ แม้อยู่ในคุกในตะรางก็ทำได้ จิตใจอยู่เหนืออำนาจบีบคั้นของอารมณ์ต่าง ๆ ๖ ทางน่ะที่มากระทบ หมายความว่า เหนือโลกกันที่นี่ คือ ร่างกายยังคงอยู่ในโลก แต่จิตใจอยู่เหนืออิทธิพลของโลก เป็นพระอรหันต์นั้นคือถึงที่สุด ถึงที่สุด
มีจิตอยู่เหนือความต้องการ เหนือความหวัง เหนือความอยาก เหนือทุก ๆ อย่างแหละ มันก็ผิดจากพวกเรา พวกเราทำอะไรก็ทำด้วยความอยาก ทำด้วยความต้องการ ทำด้วยความหวัง มันก็เหนื่อยใจด้วย เหนื่อยกายด้วย ถ้าเป็นผู้อยู่เหนือโลกแล้วมันมีธรรมะอันหนึ่ง ไม่ต้องทำการงานด้วยความอยาก ความต้องการ หรือความหวัง แต่ว่าทำด้วยสติปัญญา รู้หน้าที่ สติปัญญามันรู้หน้าที่ที่ควรจะทำ และอีกอย่างหนึ่ง คนมีชีวิตนี่มันอยู่นิ่งไม่ได้ คนที่มีชีวิตมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วปัญญามีพอก็ทำให้รู้จักเลือกว่า เราควรจะทำอะไร ดังนั้นพระอรหันต์หลาย ๆ องค์ก็ทำอะไรไม่เหมือนกัน แต่ว่าท่านทำตามที่ควรจะทำเสมอ เพราะไม่มีตัวเอง ไม่มีที่ตั้งแห่งประโยชน์ของตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็ทำ เรียกว่า ทำตามหน้าที่ของตนที่อยู่ในฐานะอย่างไร ทำแล้วก็เลิกกัน ไม่ได้หวังจะเอาผลอะไรตอบแทนมา นี่เราทำตามหน้าที่เหมือนเครื่องจักร ก็ได้ผลแก่ผู้ที่อยู่ข้างเคียง ข้อนี้เป็นได้ก็ต่อเมื่อเห็นธรรมะสูงสุด คือ สุดท้าย ที่เรียกว่า สุญญตา หรือ ตถาตา จิตรู้ถึง เข้าถึง แจ่มแจ้งในคำว่า สุญญตา คือ สิ่งทุกสิ่งว่างจากความหมายแห่งตัวตน ที่ว่าว่าง สุญญตา ความว่าง ว่างจากความหมายแห่งความเป็นบุคคล ไม่ต้องถือว่าเป็นบุคคล ไม่อาจจะถือว่าเป็นบุคคล ถ้ามองเห็นสิ่งทุกสิ่งในลักษณะอย่างนี้ ก็เรียกว่า ผู้นั้นเห็นสุญญตา เห็นสุญญตาคือความว่าง แล้วก็จะเป็นอย่างว่า จะอยู่เหนือโลกทันที โลกทั้งโลกมันเป็นของว่างไป ว่างจากความหมายแห่งตัวตนที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ผู้ที่เห็นสุญญตา ก็เลยไม่มีปัญหาอะไร แต่แล้วยังเคลื่อนไหวอย่างที่ว่า คือธรรมชาติมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันจะต้องทำ ทีนี้ มีปัญญาบริสุทธิ์ สะอาด ปัญญานั้นมันก็เลือกทำตามที่ควรจะทำ พระอรหันต์จึงทำการงานด้วยเหมือนกัน แล้วแต่ท่านคิดว่าควรจะทำอะไร เดี๋ยวนี้มีจิตอยู่เหนือความต้องการ จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา หรือรู้ในหน้าที่ ดังนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ชัด ๆ ว่า พระอรหันต์ทำกรรมไม่ได้ การกระทำของพระอรหันต์นั้นจัดเป็นกรรมไม่ได้ เพราะไม่มีเจตนา ก็เป็นกิริยาเหมือนของเครื่องจักร เดี๋ยวนี้ มีจิตอยู่เหนือความต้องการ เหนือความยึดถือว่าตัวตน มันก็เป็นอย่างนั้นเอง คำว่า ตถตา น่ะ ตถตา นี่เป็นคำที่ฟังแล้วเหมือนกับพูดเล่นว่า เช่นนั้นเอง ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง ท่านเห็นไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองในทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ
เห็นของสวยก็เช่นนั้นเอง เลยไม่ครอบงำหัวใจท่าน เห็นของไม่สวยมันก็เช่นนั้นเอง มันไม่ครอบงำหัวใจท่านให้หงุดหงิด พบกันเข้ากับสิ่งสวย หรือไพเราะ หรือหอมหวน หรืออร่อย อะไรก็ตาม ก็เช่นนั้นเองไปหมด เลยไม่เกิดความยินดี หรือความยินร้ายในสิ่งเหล่านั้น ที่แปลกไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ จะไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ เราคนธรรมดานี่มีอะไรให้น่าอัศจรรย์ จนแตกตื่น จนแห่กันไปดู ที่เดี๋ยวนี้ ที่กำลังฮิต ก็เรื่องไส บาบา น่าอัศจรรย์ จะแห่กันไปดู แต่ถ้าเป็นผู้มองเห็นตถตาแล้ว มันก็เหมือนกับสิ่งอื่นทุกสิ่ง ไม่มีอะไรที่น่าประหลาด หรือน่าอัศจรรย์ จนเป็นของอัศจรรย์ แม้ของฝีมือ ชนิดเป็นฝีมือการแกะสลัก การอะไรต่าง ๆ บางชิ้นบางอันเป็นของน่าอัศจรรย์ แต่ว่าเป็นเช่นนั้นเอง สำหรับผู้ที่มีจิตใจหลุดพ้นแล้ว ใครมีความแตกตื่นอัศจรรย์ในสิ่งใด จนยุ่งยากไปหมดน่ะ ก็ขอให้ขจัดออกไปเสียด้วยความรู้เรื่อง ตถตา หรือสุญญตา ก็ได้เหมือนกัน ไอ้คำมันต่างกันแต่ความหมายมันไปทำนองเดียวกัน มันว่างจากตัวตน มันเป็นเช่นนั้นเอง มันว่างจากตัวตนของมัน หรือของใคร แล้วมันเป็นเช่นนั้นเองตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา แล้วก็เลยอยู่ในโลกนี้ โดยที่ไม่ต้องมีความรัก ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเกลียด ไม่มีความกลัว ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่คิดยึดครองอะไร ไม่หมายมั่นให้สิ่งใดเป็นไปในอำนาจของตน มันก็เลยเฉยได้
เดี๋ยวนี้ ความตกต่ำเสื่อมทรามทางธรรมชนิดนี้มันมากขึ้น คือ ศีลธรรมมันหายไป จนอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง ที่เห็นได้จากหนังสือพิมพ์ เรื่องที่ไม่ควรจะฆ่ามันก็ยังฆ่ากัน นี่เรียกว่า มันไม่ประสีประสาต่อสิ่งที่เรียกว่า เช่นนั้นเอง เสียเลย เห็นสุญญตา เห็นตถตา แล้วก็ไม่มีอะไรจะทำให้เป็นทุกข์ได้ มีจิตเข้มแข็งพอจะเห็นตถตา ที่เจ็บป่วย เอ้า, เจ็บ เจ็บ เป็นแผลเจ็บ มันก็ตถตา มันไม่เจ็บเหมือนกับไอ้บุถุชนที่รู้สึกว่ากูเจ็บ เป็นพระอรหันต์ ไม่มีตัวกูสำหรับจะเจ็บ มันก็เป็นแต่เพียงการรู้สึกของระบบประสาท ของระบบประสาทล้วน ๆ มันรู้สึก แต่ความหมายที่ว่าเป็นตัวกูเจ็บนั้นมันไม่มี ดังนั้นมันจึงเจ็บน้อย ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ความรู้สึกครั้งแรกน่ะเหมือนกับลูกศรดอกเล็ก ๆ ไม่มียาพิษอะไรมาถูกเข้าแล้ว ทีนี้มันเกิดอุปาทานรับเอาเป็นตัวกู เป็นความเจ็บของกู กลัวตายอย่างยิ่ง นี่เป็นลูกศรดอกที่สอง คือ ใหญ่มาก แล้วก็อาบยาพิษด้วย มีลูกศรอยู่ 2 ชนิดอย่างนี้ ที่มากระทบเราแต่ละวัน ๆ แต่ละคน ๆ ดังนั้น ถ้ารู้สึกเพียงว่าอันแรกนั่นก็เป็นเพียงธรรมชาติปรากฏแก่ระบบประสาท ก็เช่นนั้นเอง มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองว่า ในโลกมันมีอย่างนี้ ประสาทมันมีหน้าที่ต้องรู้สึกอย่างนี้ เมื่อมีอะไรมาเชือด มาเฉือนเข้า มันก็รู้สึกอย่างนั้น ๆ อย่าให้เลยขึ้นมาเป็นตัวกู หรือเป็นของกู นี่เรียกว่าถูกแต่ลูกศรดอกเล็ก ๆ ไม่มียาพิษ ทึ้งออกก็หมดเรื่อง แต่ถ้าว่ามันมีอวิชชาปรุงแต่งความคิด เป็นตัวกูจะตายขึ้นมา หรือว่าคิดเอาเองก็แล้วแต่จะคิดน่ะ แล้วสันนิษฐานว่ามันต้องมียาพิษ ต้องร้ายแรง ต้องอะไรต่าง ๆ แล้วมันก็กลายเป็นดอกศรอีกชนิดหนึ่ง คือ ทั้งใหญ่ ทั้งอาบยาพิษ คือ ให้ความทุกข์ทรมาน
คำว่า ความทุกข์ มันต้องมาจากความยึดถือว่า ตัวกู ของกู ถ้าอะไรเกิดขึ้นแก่ร่างกาย ยกให้เป็นของร่างกาย จิตอย่าเผลออย่าโง่ไปเอามาเป็นตัวกู ของกู มันก็ไม่มีความหมายอะไร นี่เราจะเห็นได้ว่า มันคนละชนิดทีเดียวล่ะ ผู้อยู่ในโลก อะไรมากระทบนิดหนึ่งก็เป็นเรื่องเป็นราวหมด ทั้งในทางดีทางร้าย ถ้าเห็นธรรมะ ตถตา สุญญตาแล้ว ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรใหญ่ ไม่มีอะไรเล็ก ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรชั่ว ไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย ไม่มีอะไรกำไร ไม่มีอะไรขาดทุน คือ มันไม่มีทั้งหมดเลย เพราะมันไม่มีตัวกู มันไม่มีตัวกูซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีคำพูดในบาลีน่ะ ไม่แน่ใจ แต่ว่าในอรรถกถาในหนังสืออันนั้นมีแน่ เช่นว่า พระอรหันต์ไม่หัวเราะอย่างนี้ ไม่มีอะไรทำให้พระอรหันต์หัวเราะได้ เพราะมันเห็นเป็นเช่นนั้นเองไปหมด ไม่มีอะไรมาทำให้พระอรหันต์สะดุ้งกลัววิ่งหนีได้ ลองเปรียบเทียบดูว่า มันต่างกันอย่างไร ในโลก กับเหนือโลก มันต่างกันอย่างนี้ ผู้มีจิตใจอยู่ในโลกก็รับอารมณ์เอามายินดียินร้าย เป็นตัวเป็นตน เป็นทุกข์ทรมาน ผู้ที่มีจิตอยู่เหนือโลก เห็นเช่นนั้นเองแก่ทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วมันก็ไม่เกิดความรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้น ไม่น่าขัน ไม่รู้สึกว่าน่าขันในอะไร พระอรหันต์จึงมีอะไร ๆ แปลกกว่าคนธรรมดา เช่น ไม่หัวเราะ เป็นต้น เช่น ไม่ฝัน เป็นต้น
สรุปความก็คือว่า ถ้าอยู่เหนือโลกแล้วก็ทุกข์ไม่เป็น มันทุกข์ไม่เป็น คือ ทุกข์กับเขาไม่เป็น เขาเป็นทุกข์กันเถอะ แต่เราเป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น เพราะมีจิตใจที่อยู่เหนือโลก อย่างนี้เรียกว่าบุคคลดีในขั้นโลกุตตระ ซึ่งบุคคลดีในขั้นโลกิยะน่ะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ยังไม่เป็น ยังไม่เป็นอย่างนี้ ยังมีสิ่งที่รัก ที่ยึดถือ ที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว ดังนั้นเขาจึงหัวเราะบ้าง จึงร้องไห้บ้าง แล้วแต่กรณี แต่ผู้ที่มีจิตใจอยู่เหนือโลกแล้ว ไม่อาจจะหัวเราะ ไม่มีอะไรทำให้หัวเราะได้ ไม่มีอะไรมาทำให้ร้องไห้ได้ นี่ พูดเพียงเท่านี้ก็จะพอแล้ว อาจจะเล็งเอาความหมายได้เอง นี่เรียกว่า ผู้ที่ทุกข์ไม่เป็น เป็นทุกข์ไม่เป็นอีกต่อไป แม้จะมีความเจ็บปวด มีความอะไรเหมือน ๆ ผู้อื่น แต่ก็เป็นเพียงผิวนอก ที่ระบบประสาท และความรู้สึกทางฝ่ายวัตถุร่างกาย เรียกว่า อย่างมากก็ถูกลูกศรดอกเล็ก ๆ ไม่มียาพิษอะไร เท่านั้นเอง เรียกว่า ถูกลูกศรดอกที่หนึ่ง แล้วก็ไม่ถูกลูกศรดอกที่สอง ซึ่งทำให้เป็นทุกข์จนตาย หรือเจียนตาย นี่คือบุคคลดี มีสันติสุขส่วนบุคคล สันติสุขอย่างอยู่ในโลก ก็อย่างที่ว่าแหละ เพลิดเพลินยินดีไปด้วยทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง มิตรสหายอะไรต่าง ๆ ถ้าว่าชั้นเหนือโลก มันก็เป็นอย่างว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องรัก ต้องเกลียด ต้องยินดียินร้าย เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง หรือว่างจากตัวตนอยู่ตลอดเวลา
ในข้อนี้ท่านใช้คำว่าโลกว่าง หรือโลกทั้งโลก คุณจะเอาอะไรมาพิจารณากันกี่อย่างในโลกนี้ ทั้งหมดเลยล่ะ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผืนแผ่นดิน โลก สัตว์ คน ต้นไม้ ทุกอย่างน่ะมันว่าง ว่างจากตัวตน กระทั่งในตัวผู้นั้นเองก็มีความว่างจากตัวตน เห็นความว่างจากตัวตน มันก็คงที่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มันเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง คือ ความว่างนั่นเอง นี่เรียกว่า อย่างเหนือโลก เหนือโลก ก็ต้องที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ถ้าวิสัยโลกมันก็กำลังขลุกกันอยู่กับโลกอย่างพ่ายแพ้ ถ้าเหนือโลกก็กำลังขลุกอยู่กับโลก แต่อย่างไม่มีพ่ายแพ้ อยู่เหนือเสมอ นี่บุคคลดีทั้งอย่างวิสัยโลก และอย่างวิสัยเหนือโลก เรียกว่า สันติสุขส่วนบุคคล คือ ตอบคำถามข้อแรกที่ว่า เป้าหมายของชีวิตน่ะ จะใช้คำว่าบุคคลก็ได้ ในที่นี้หมายถึง ชีวิตแต่ละชีวิต มีความหมาย มีความมุ่งหมายที่จะให้ขึ้นมาถึงชั้นนี้ ชั้นที่เป็นทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป แต่ว่าเรามักจะพูดกันผิด ๆ แล้วก็ว่าเอาเอง อย่างโลกเป็นอย่างนี้ อย่างโลกุตตระเป็นอย่างอื่น อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องหลังจากตายแล้ว ต้องไปอยู่ที่โลกอื่น ไปอยู่โลกอื่นมันก็เป็นโลกนั้นอีกแหละ ถ้ามันต้องเหนือโลก คือ ไม่มีโลก ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีโลกที่นั่น นี่เรื่องสันติสุขส่วนบุคคล พูดกันสิ้นไปแล้ว
ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องสันติภาพของสังคม เราใช้คำว่า สันติภาพ มันเข้าใจง่ายสำหรับสังคม สันติสุขใช้สำหรับบุคคล สันติภาพใช้สำหรับสังคม ทีนี้ ก็พิจารณากันไปตามลำดับว่า สังคม สังคม มันคืออะไร อยากจะให้คำนิยามว่า บุคคลที่สองจากตัวเราขึ้นไปนั้นน่ะ คือ สังคม ถ้าจะเป็นบิดามารดา บุตรภรรยา อะไรเป็นบุคคลที่สองออกไปเรื่อย ๆ ๆ จนถึง ก็ต้องทุกคนในโลกนั่นน่ะเป็นสังคม พุทธศาสนามุ่งหมายช่วยทั้งโลก ช่วยทั้งสากล จักรวาล ทั้งเทวดาและมนุษย์ ก็เรียกว่ามีเจตนารมณ์เพื่อสังคมอย่างเต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่พูดถึงหลักศาสนา พูดถึงไอ้หลักธรรมชาติ ๆ ธรรมดานี่ เราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ หรือว่าไม่มีพ่อแม่เกิดให้ ก็ไม่มีตัวตนอย่างนี้ออกมา ดังนั้นมันจึงต้องอาศัยผู้อื่น ต้องอาศัยผู้อื่นซึ่งเป็นบุคคลที่สองขึ้นไป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่จะเห็นแก่สังคมนี่ อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรู้สึกว่า เราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ถ้าสมมติว่าเขาจะยกโลกทั้งหมดนี้ให้เราคนเดียว และให้เราอยู่คนเดียว เราก็อยู่ไม่ได้ เป็นบ้าตาย จึงต้องมีเพื่อนกันอยู่ด้วย ที่เรียกว่า สังคม ดังนั้นจึงต้องดำเนินชีวิตสังคม แล้วก็มองดูให้ละเอียดลงไปอีกก็จะพบว่า ทุกคนมีปัญหาเหมือนกัน ทุกคนมีปัญหาเหมือนกัน ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ปัญหาที่เกิดมาจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่มาคอยสนองความต้องการของเรา ทุกคนมีปัญหาอย่างนี้ ลูกเล็กเด็กแดงก็มีปัญหาอย่างนี้ หนุ่มสาวก็มีอย่างนี้ คนแก่คนเฒ่าก็มีปัญหาเหมือนกันที่ว่า ลำบากอยู่ด้วยเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั่นน่ะ ดังนั้นจึงใช้คำว่า เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันเสียเลย เมื่อทุกคนเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องที่หัวอกเดียวกัน มีปัญหาอย่างเดียวกัน มันก็ควรจะวิ่งเข้าหากัน หาวิธีบรรเทาความทุกข์เหล่านั้น เราจึงต้องอยู่กันอย่างสังคม
หลักธรรมะง่าย ๆ ที่เรียกว่า ทิศทั้ง ๖ ทิศทั้ง ๖ ไปหาดูจากหนังสือแบบเรียนนักธรรมง่าย ๆ นั่นแหละ คือ ภาวะของสังคมในลักษณะที่พระพุทธเจ้าตรัส มองไปข้างหน้าก็คือบิดามารดา พี่ ป้า น้าอา มองไปข้างหน้านั่นน่ะสังคม มองไปข้างหลัง บุตร ภรรยา ลูก หลาน เหลน มองข้างหลัง สังคมข้างหลัง สังคมข้างซ้าย เบื้องซ้ายนั่นคือ มิตรสหายทั้งหลายทั้งหมด นี่สังคมทางซ้ายมือ นี่ขวามือก็ครูบาอาจารย์ ผู้นำทางวิญญาณ ทีนี้ก็สังคมข้างบน ก็คือ พระเจ้า พระสงฆ์ พระศาสนา ทีนี้สังคมข้างใต้ ข้างล่าง ก็คนที่เขาด้อยกว่า ต่ำกว่า ถ้าเป็นสมัยโบราณ ก็เรียกว่า ทาส หรือกรรมกรทาสนั่น นั่นน่ะสังคมข้างใต้ แบ่งไปตามทิศได้ ๖ ทิศ ข้อนี้ฟังดูคล้าย ๆ กับจะไม่มีความสำคัญอะไรนัก แต่ขอให้สังเกตศึกษาว่ามีความสำคัญที่สุด คือว่า เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแก่สังคมทั้ง ๖ ทิศ มันสำคัญอยู่ทั้ง ๖ ทิศ ทิศเบื้องหน้า บิดามารดา ทิศเบื้องหลัง บุตรภรรยา ทิศเบื้องซ้าย มิตรสหาย ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์ ทิศเบื้องบน พระเจ้า พระสงฆ์ สมณชีพราหมณ์ ทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ แล้วก็ทิศเบื้องล่างก็คือ คนที่เขาอยู่ในฐานะต่ำกว่า จะโดยอะไรก็ตาม เขาอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อย นี่, ใครประพฤติถูกต้องครบทั้ง ๖ ทิศแล้ว ก็เรียกว่า ไม่บกพร่องในทางสังคม ไม่มีความบกพร่องในทางสังคม และต่างฝ่ายต่างก็ตอบแทนแก่กันอย่างถูกต้องนะ เช่น ทิศเบื้องหน้า บิดามารดา เราเป็นลูกก็ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้อง ทิศข้างหลัง บุตรภรรยา ก็ทำหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้อง มิตรกับมิตร หน้าที่อย่างถูกต้อง ครูบาอาจารย์กับศิษย์ ก็มีหน้าที่ทำกันถูกต้อง ข้างบน สมณและพราหมณ์ ก็มีการทำหน้าที่ต่อกันและกันอย่างถูกต้อง ข้างล่าง คนที่ต่ำกว่า ก็ทำหน้าที่ต่อกันและกันอย่างถูกต้อง
นี่ คือหลักเกี่ยวกับสังคม ตามหลักพระพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ต้องเรียนอย่างที่ฝรั่งเรียน เรียนเรื่องสังคมศาสตร์เป็นปี ๆ พูดกี่วัน ๆ ก็ไม่รู้จบน่ะ มันยังเอาอะไรไม่ได้ ยังเป็นเรื่องชนิดที่ยังต้องพิสูจน์กันอยู่อีกต่อไป แต่ถ้าเอาตามหลักพุทธศาสนาแล้วก็ ๖ ทิศทางนี้ มีหน้าที่อย่างนั้นต่อกัน มีหน้าที่อย่างนั้นต่อกัน ทำให้ดีเถอะ แล้วก็จะเป็นการประพฤติถูกต่อสังคม นี่ ก็อย่าลืมนึกว่า สังคมนี้ประกอบขึ้นด้วยบุคคลนะ แต่ละคน ๆ ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง เป็นบุคคลดี เป็นบุคคลดี แล้วก็มีครอบครัวดี มีหมู่บ้านดี มีบ้านเมืองดี มีประเทศดี กระทั่งมีโลกทั้งโลกแหละมันดี เพราะว่าหน่วยประชาชนในโลก แต่ละหน่วย ๆ นั้นมันดี เพียงแต่ทุกคนดีนั้นมันจะแก้ปัญหาได้หมด ทั้งของบุคคล และของสังคม ถ้าได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้าเขาถามว่า ไอ้ที่ว่าดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นคืออะไร ก็ตอบอย่างนี้ อย่างกำปั้นทุบดินว่า คือสันติสุขส่วนบุคคล และสันติภาพส่วนสังคม นั่น สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เกิดมาทีหนึ่งอย่าให้เสียทีที่เกิดมา ขอให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
เอ้า, ทีนี้พิจารณาคำนี้กันต่อไปอีกหน่อย สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ ถ้ามองในแง่การกระทำ ก็กระทำเพื่อให้ได้สันติสุขส่วนบุคคล และสันติภาพส่วนสังคม ให้ทั้งบุคคล และสังคมมีภาวะอยู่เหนือกิเลส และเหนือความทุกข์ กิเลสกับความทุกข์นีเขาเป็นเกลอกัน ถ้ามีกิเลสแล้วก็มีความทุกข์ ดังนั้นให้อยู่เหนืออำนาจของกิเลส แล้วมันก็อยู่เหนืออำนาจของความทุกข์เป็นธรรมดา นี่เรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อยู่เหนือกิเลส เหนือทุกข์ แล้วบุคคลก็จะมีสันติสุข สังคมก็จะมีสันติภาพ ถ้ามันเหนือกิเลส หมายความว่า มันหมดแม่บทของกิเลส คือ อวิชชา ไม่มีอวิชชาแล้วมันคลอดกิเลสใด ๆ ออกมาไม่ได้ กิเลสทั้งหลายมันออกลูกมาจากอวิชชา ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่างเห็นอะไรน่ารักมาก็รัก อะไรน่าเกลียดมาก็เกลียด อะไรน่ากลัวมาก็กลัว อย่างนั้น คือ ไม่เห็นตามที่เป็นจริง ก็เลยต้องกระโดดโลดเต้น หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง ตามอารมณ์ที่มากระทบ
ทีนี้ก็เรียกได้อย่างหนึ่งว่า ไม่มีตัวตนที่จะยึดถือ ภาวะนั้น ภาวะที่กล่าวนั้น คือ ไม่มีความรู้สึกตัวตนหรือของตน สำหรับจะยึดถือในสัตว์ บุคคล หรือสังขารใด ๆ ไม่มีตัวตนที่จะยึดถือ นี่คงจะฟังยากสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าคนทั่วไปมีตัวตนที่กำลังยึดถืออยู่ เป็นตัวตนบ้าง เป็นของตนบ้าง เขาทำเพื่อให้ได้ตัวตนที่ถูกใจ ของตนที่ถูกใจ อย่างนั้นมันจมอยู่ในโลก ดีที่สุดอย่างโลก ๆ นี่ถ้าจะเหนือโลก มันก็ไม่มีอะไรที่ยึดถือไว้ว่า เป็นตัวตน ไม่มีตัวตนที่จะยึดถือ จิตว่างจากกิเลสทั้งปวง ว่างจากอวิชชา ว่างจากตัณหา อุปาทาน ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ อย่างที่พูดถึงวันก่อนว่า เป็นปริญญาในพระพุทธศาสนา ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ คือ ปริญญาในพุทธศาสนา
ทีนี้ เขาก็ทำสิ่งที่ควรทำด้วยความผลักดันของธรรมะ ไม่มีตัวตนที่เป็นกิเลส ซึ่งเป็นเหตุผลักดันให้ทำแล้วเดี๋ยวนี้ แต่มีธรรมะมาเป็นเครื่องผลักดัน เชื้อเชิญให้กระทำ เพราะว่าก่อนแต่จะถึงที่สุดเช่นนี้ ก่อนแต่ที่จะเป็นพระอรหันต์นี้ ก็ได้ฝึกฝนอบรมศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา กรุณา ทุกอย่างทุกชนิดมาอย่างเต็มที่ แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว อำนาจ หรืออิทธิพลของสิ่งที่เคยประพฤติปฏิบัติมามันก็ยังเหลืออยู่ เช่น เมตตา เป็นต้น พระอรหันต์ไม่ต้องมีตัวตนสำหรับจะทำการงานเพื่อจะได้นั่น ได้นี่ แต่ท่านมีเมตตาเหลืออยู่ในจิตใจแหละ ว่าอย่างนั้น ไม่มีเจตนาจะทำเพื่อตนเอง แต่อาศัยอำนาจของเมตตานี่ มันนำหน้า เหมือนเมื่อเราพายเรือเร็ว ๆ จนเรือวิ่งฉิว แล้วทีนี้ยกพายขึ้นเสีย เรือก็ยังคงวิ่งต่อไปโน่นแหละ ด้วยอำนาจแห่งโมเมนตัม /momentumในตัวมัน มันก็ยังวิ่งไปได้อีก นี่ พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว ไม่มีแรงแห่งกิเลสผลักดันแล้ว แต่มันยังมีโมเมนตัมเหลือมาจากธรรมะที่เคยอบรม เช่น ปัญญาบ้าง เมตตาบ้าง กรุณาบ้าง อันนั้นน่ะผลักไสให้ไป แต่ว่าไม่ใช่ด้วยเจตนากระทำ ไม่ได้กระทำเพื่อตัวอย่างนี้ก็เลยไม่เรียกว่า ทำกรรม
พระอรหันต์จึงเป็นผู้ไม่กระทำกรรม กรรมใหม่ก็ไม่ทำ กรรมเก่าก็สิ้นแล้ว ทำหน้าที่ตามหน้าที่ นี่ ธรรมชาติเป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้จัดให้ทำ ไม่ใช่มีตัวตนที่ต้องรู้สึก หรือว่าสำนึกในหน้าที่ ถ้าอย่างนั้นมันเป็นตัวตน หน้าที่ของคนมีตัวตน ก็ต้องทำสิ แม้เหนื่อย หรือไม่น่าทำก็ต้องทำ เพราะมันบังคับให้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยเฉพาะของผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้วน่ะ มันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ก็ยังคงทำไปได้ตามสมควร หรือพอเหมาะพอดี คำว่า ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ นั้นก็เป็นธรรมะสูงสุด เรามีแต่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ตัวเรา หรือแก่ของเรา ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้นน่ะมันสูงขึ้นไป ทีนี้ความไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ นี่ มีอยู่จริง มีอยู่ในจิตใจจริง รู้สึกได้จริง ไม่ต้องมาคำนวณโดยวิธีนั่นนี่ว่าคนนี้จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่อย่างนั้นน่ะ คือ มันไม่รู้เรื่องพระอรหันต์กันทั้งสองคน มันก็มาวินิจฉัยว่าเป็นพระอรหันต์หรือไม่ หรือจะแต่งตั้งคนอื่นให้เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นเรื่องไม่ไหว เป็นเรื่องที่มีไม่ได้ ผู้ที่มีจิตใจเหนือโลก เหนือกิเลสนี่ มันรู้ได้เอง ด้วยตนเอง เห็นอยู่ด้วยตนเอง รู้สึกอยู่ด้วยตนเอง เรียกว่า สันฐิติโก ถ้ากิเลสยังไม่หมด ก็รู้ได้ด้วยตนเองอย่างสันฐิติโกว่า กิเลสนั้นยังอยู่อย่างนี้ ๆ ถ้ากิเลสไม่มี ก็รู้ได้ด้วยตนเองว่า กิเลสไม่มี หรือถ้ามีแต่บางอย่าง อย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีอย่างนั้นอย่างนี้ อีกอย่างโน้นหายไปแล้ว มันรู้ได้ด้วยตนเองอย่างนี้ เรียกว่า ผู้ที่อยู่เหนือกิเลส และเหนือทุกข์
ทีนี้ ก็เปรียบเทียบกันดูสำหรับคำว่าสวรรค์ สวรรค์ เพราะเป็นที่ต้องการมากที่สุด แม้ในหมู่พุทธบริษัทก็ต้องการสวรรค์ คือ ที่สมบูรณ์ไปด้วยกามารมณ์อันเป็นทิพย์ นี่, สวรรค์อย่างนี้ เต็มไปด้วยตัวตน เต็มไปด้วยกิเลส สำหรับจะบังคับผู้นั้นให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส สวรรค์จึงยังคงเป็นเพียงของเด็กเล่น ไอ้ของเล่นสวย ๆ หรือของกินอร่อย ๆ นี่ เราใช้ยั่วเด็กให้ทำอะไรก็ได้ ทีนี้ก็มีเรื่องสวรรค์ที่จะกระตุ้นให้คนทำความดีตามแบบนั้น ๆ นั้น ๆ แล้วก็มีผลเพียงได้เสวยกามารมณ์อันเป็นทิพย์ ยิ่งเพิ่มพูนกิเลสมากยิ่งกว่ากามารมณ์ธรรมดา นั่นน่ะ ไอ้กามารมณ์ตามธรรมดาในโลกนี้มันก็ส่งเสริมกิเลสเหลือประมาณแล้ว ถ้ากามารมณ์อันเป็นทิพย์ได้อย่างใจยิ่งขึ้นไปอีก มันก็ต้องส่งเสริมความเห็นแก่ตัว หรือกิเลส มันก็จะมีความทุกข์อย่างละเอียด ยึดถือไอ้สิ่งที่ถูกใจอย่างยิ่งนั้นไว้ด้วยความยึดถือ เป็นของหนักอกหนักใจ แล้วก็ไม่ดับทุกข์อะไรได้ ดังนั้น บนสวรรค์จึงหาการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้ยาก แต่มีมากในหมู่มนุษย์ที่กำลังเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ รู้จักทุกข์ ดิ้นรนเพื่อจะดับทุกข์ สวรรค์น่ะยกไว้ให้เป็นของเด็กเล่น หรือของคนปัญญาอ่อน เพื่อจะได้ยึดเหนี่ยวไปก่อน ยึดเหนี่ยวไปก่อน ไต่ไปก่อน เพื่อออกไปสู่นิพพาน
นิพพานไม่ใช่เป็นของสำหรับเด็กเล่น หรือของคนปัญญาอ่อน แต่เป็นของพระอริยเจ้า ผู้มีสติปัญญา นิพพานนี้แปลว่า เย็น เย็นก็คือไม่มีของร้อน เมื่อมันไม่มีของร้อน ก็เรียกว่า เย็น คือ ไม่มีความทุกข์เลย แม้ที่สุดแต่รู้สึกเย็นอกเย็นใจในบางเวลา นี่ ก็สงเคราะห์เข้าไปในนิพพาน เป็นนิพพานน้อย ๆ นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วขณะ ๆ แต่พอมีกิเลสเกิดขึ้นในใจ ก็ร้อนเป็นไฟ ก็หมดนิพพาน นี้ถ้ากิเลสมันหมดเหตุหมดปัจจัยหรือมันว่างไปสักระยะหนึ่ง ก็เป็นนิพพานน้อย ๆ อีกแหละ นี่ขอให้มองเห็น เมื่อไรกิเลสมิได้มีในจิตใจ เมื่อนั้นเป็นอย่างไร กิเลสนั้นคือไฟ เมื่อไม่มีไฟ มันก็มีความเย็น ก็เย็น ๆ ร้อน ๆ เย็น ๆ ร้อน ๆ กันไปเรื่อย ขณะที่มีกิเลสก็ร้อน ว่างจากกิเลสก็เย็น สำหรับบุคคลนั้น เย็นเด็ดขาดได้เมื่อเป็นพระอรหันต์ ที่เย็นไม่เด็ดขาดยังมีร้อนแทรกแซงบ้าง นี่ก็คือบุคคลที่ต่ำลงมาจากพระอรหันต์ กระทั่งถึงบุถุชนเต็มขั้นนี่ มันจะมีร้อนมากกว่าเย็น มันมีเวลาที่ร้อนมากกว่าเย็น แต่ถึงอย่างไรก็ดี เพราะกิเลสนี่ มันไม่ใช่เป็นของตายตัวไปอย่างพื้นฐานน่ะ มันเกิดดับ เกิดดับ ดังนั้นบางคราวมันบังเอิญได้อารมณ์บางอย่าง กิเลสไม่เกิดเองก็มี ว่างจากกิเลสมันก็เย็น นี้เรียกว่าเย็นชนิดนี้ควรจะรู้จัก เพราะว่าเรารอดตาย ไม่เป็นบ้า หรืออะไรอยู่นี่ ก็เพราะนิพพานชนิดนี้แหละ คือ ระยะที่มันว่างจากกิเลส มันพอมีอยู่บ้าง มันพอมีอยู่บ้าง ทุกคนจงพิจารณาดูตนเอง ไม่ว่าใครสักคนหนึ่ง แม้แต่คนที่โง่ที่สุด มันก็ยังมีระยะที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นเผาผลาญจิตใจ นั่นน่ะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตไว้ ถ้ากิเลสเกิดขึ้น แผดเผาจิตใจอยู่ตลอดเวลา มันก็ย่างไฟอยู่ตลอดเวลา นี่มันก็ไหม้เกรียม มันอยู่ไม่ได้
ฉะนั้นขอให้เราสนใจเวลาที่จิตโปร่ง สบาย เกลี้ยง เย็น หยุด กันไว้บ้าง มันจะเป็นเค้าเงื่อนให้ได้รู้จักนิพพานที่แท้จริงได้ง่ายเข้า มันมีแต่ว่านิพพานที่แท้จริง แล้วมันก็เด็ดขาด ไม่เปลี่ยนแปลง นี่นิพพานชั่วขณะชั่วคราวนี้ มันเปลี่ยนแปลง แต่รสชาติมันเหมือนกันแหละ หรือความว่างจากกิเลส กิเลสไม่เกิดเวลาไหน มันก็มีความเย็นในรสชาติของนิพพานเท่านั้น แล้วกิเลสส่วนใดดับไป ไฟชนิดนั้นก็ไม่มีมาอีก จนกว่ากิเลสมันจะดับทุกชนิด
อย่าเข้าใจผิดว่านิพพานนั้นต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติ เดี๋ยวนี้ ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ นี่ คนนี้มันไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ ทุกวันแต่ละวัน มันก็อยู่ได้อาศัยพระนิพพานชั่วคราว จงขยายให้นิพพานชั่วคราวนั้นให้ยาวออกไป ให้ยาวออกไป ให้มันมีมากขึ้น ๆ ในวันหนึ่ง ในเวลาที่จิตสงบเย็นให้มันมีมากขึ้น ๆ นั่นน่ะ คือ การขยายนิพพานออกไป ถ้าฉลาด หรือเอาจริง มันก็ทำได้ทันในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชีวิตอื่น ไอ้ชีวิตอื่นนั้นมันเป็นสิ่งที่รับประกันไม่ได้ แล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เดี๋ยวนี้เรามันเป็นทุกข์กันอยู่ที่นี่ มันก็ต้องดับทุกข์กันที่นี่ จงขอบคุณธรรมชาติที่จัดให้มีนิพพานชั่วคราวนี้ เกิดขึ้นได้ในจิตใจของบุคคลเป็นขณะ ๆ ๆ ตามมากตามน้อย เช่น เวลาไหนที่จิตโปร่ง ไม่มีกิเลสเลย นั่นแหละ จงศึกษาเถิดว่าภาวะนั้นน่ะเป็นความหมายแห่งนิพพาน แม้จะเป็นของน้อย ๆ เป็นของชั่วขณะ คือ เล็ก ๆ ก็ยังมีความหมายแห่งนิพพาน เราจะต้องรู้บุญคุณของนิพพาน อย่าเข้าใจผิดต่อนิพพานว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา หรือว่ามันยังอีกไกลนัก นั่นน่ะจะทำให้ตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนข้อนี้ เอ้า, ทีนี้ก็หมดแล้ว
สรุปความว่า เป้าหมายของชีวิต คือ สันติสุขส่วนบุคคล เป้าหมายของสังคม คือ สันติภาพของสังคม เป้าหมายที่พึงปรารถนานี้สำเร็จได้ โดยมันขึ้นอยู่กับการมีจริยธรรมอย่างถูกต้อง คำว่าจริยธรรมสามารถขยายความหมายจนไปถึงปฏิบัติเพื่อนิพพาน ถ้ามีจริยธรรมอย่างถูกต้อง ก็จะได้รับผลทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม ที่เรียกว่าสันติสุขของบุคคล มันก็ต้องมีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อความเป็นอย่างนั้น ที่ว่าสันติภาพของสังคม มันก็ต้องเป็นสังคมที่มีการประพฤติถูกต้อง เพื่อความเป็นอย่างนั้น ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับการมีจริยธรรมอย่างถูกต้อง จริยธรรม หรือจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ เดี๋ยวนี้เรากำลังเรียกชื่อว่าจริยธรรม และกำลังขวนขวายศึกษาเพื่อจะวางแนว วางโครง วางหลักสูตร ก็ขอให้กระทำในใจมุ่งหมายถึงผลสุดท้ายของความมีจริยธรรมไว้ว่าเป็นเครื่องชักจูง จะทำให้มีกำลังใจมาก ทำสนุก กล้าหาญ ร่าเริงในการกระทำ เข้าใจว่างานที่จะทำก็คงจะสำเร็จได้ มีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง แล้วก็จะหมดปัญหา ฟังดูคล้ายกับพูดเล่น คือ คำที่พระองค์ตรัสว่า ตรัสเมื่อจวน ๆ จะปรินิพพานแล้วว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องแล้ว โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องแล้ว โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ใช้คำง่าย ๆ ใช้คำว่าถูกต้อง เป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็คือจริยธรรม ที่เราหมายเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าดำเนินชีวิตอยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นน่ะ คือ การเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตรัสว่า อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุ ํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส
พูดกับคน ๆ หนึ่งชื่อสุภัททะว่า สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้น่ะ คือ ทั้งหมดเหล่านี้ จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำนี้ไม่ได้หมายความว่า ใช้เฉพาะที่นั่น และครั้งนั้น คำตรัสนี้เป็นหลักทั่วไป ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ขอให้มีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ระบบจริยธรรมทั้งหลายก็ไม่นอกออกไปจากการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ถูกต้อง ๘ ประการ นั่นแหละ เป็นที่สรุปรวมความถูกต้อง ขอให้สนใจจริยธรรมในชื่อต่าง ๆ ที่ถอดเอามาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ เราจะถอดออกมาสักร้อย หรือสองร้อยชื่อก็ทำได้ มันก็ยิ่งละเอียดออกไป แต่กลัวว่ามันจะมากนัก เพียง ๕๐ กว่าชื่อนี่ก็ดูชักจะเวียนหัวแล้ว
การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ มีเวลา ๒๐ นาที ใครจะมีถามอะไร
ผู้ถาม : ทิศ ๖ นี่ กษัตริย์นี่อยู่ทิศไหน
อาจารย์ : เออ ถามเอาเองสิ พระราชามหากษัตริย์อยู่ทิศไหน มันต้องสงเคราะห์ เทียบเคียง เมื่อสิ่งใดไม่ได้ตรัสไว้เฉพาะอย่างนั้น ๆ และเกิดปัญหาขึ้นมาว่า จะจัดไว้พวกไหนก็ต้องอาศัยการเทียบเคียง ทิศข้างหน้าก็ไม่ใช่บิดามารดา ทิศข้างหลังก็ไม่ใช่บุตรภรรยา ทางซ้ายก็ไม่ใช่มิตร เบื้องขวาไม่ใช่ครูอาจารย์ ทิศเบื้องบนน่ะ คือเป็นผู้ที่เคารพ ถือตามสมมติว่าอยู่เบื้องบน ก็ควรจะจัดกษัตริย์ไว้ให้อยู่ข้างบน เบื้องบน ตามรัฐธรรมนูญ
ผู้ถาม : เดี๋ยวนี้ มันมีนิติบุคคลด้วย เช่นว่า รัฐบาล
อาจารย์ : ถ้ามันผูกพันกันเป็นสมาคม เป็นสถาบันไหนก็ต้องรวมด้วยหมวดนั้น ถ้าอยู่ในฐานะเบื้องสูง ฐานะเบื้องสูง คณะรัฐบาลนี่เอามาเป็นเพื่อนก็ได้ เอามาเป็นมิตรสหายก็ได้
ผู้ถาม : ติดใจถ้อยคำ คำที่ว่าถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบ จะเอามาทำหลักสูตรนี้ ก็จะจับใจความจากตรงนี้ว่า สำหรับเด็ก ๆ ที่จะเป็นอยู่โดยชอบ แล้วก็เอามาขยายความ
อาจารย์ : ก็เราจัดหลักสูตรให้ไง ก็จัดหลักสูตรให้เขาสิว่า อย่างไรเรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ แล้วมันก็ไม่พ้นจากแนวมรรคมีองค์ ๘ ประการ เด็กนั้นจะต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง มีความพากเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ก็เป็นไปตามข้อความในอรรถกถา หรือหนังสือนอกพระไตรปิฎกก็มีพูดถึงพระอรหันต์อายุ ๑๕ ขวบ อายุ ๗ ขวบก็ยังมีกระมัง พระอรหันต์เด็ก แต่มีน้อยมาก
ผู้ถาม : เสียงผู้ถามหญิงไม่ชัด (นาทีที่ 1:16:48 – 1:16:53)มีความสงสัยว่า...
อาจารย์ : ไอ้คำที่ตรัส เมื่อกำลังจะปรินิพพาน เราต้องถือว่าเป็นคำที่สำคัญที่สุดล่ะ ไม่อย่างนั้นไม่ตรัส เพราะจะนิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว นี่ก็เป็นคำที่ตรัสเมื่อจวน ๆ จะปรินิพพาน ซึ่งตรัสเป็นคำสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม นี่คำสุดท้าย คำสั่งพินัยกรรม อย่าไปเข้าใจเอาเองว่า โอ้,มันยาก มันลึกลับ ยังมืดมิดไม่รู้จะกระทำอย่างไร ที่จริงท่านตรัสไว้ชัด คือทำอย่างนี้ ๆ อยู่อย่างถูกต้อง หรืออยู่โดยชอบ คือ อยู่ตามความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันแล้วเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี่คือตัวพุทธศาสนา ถ้าเอาเนื้อเอาตัวกันจริง ๆ ไม่ใช่คำพูดน่ะ คือ ให้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ประการ แล้วก็เรียกว่า ทาง หนทาง
ดูเหมือนคำว่า ทาง ทางนี้จะใช้กันทุกศาสนา พระเยซูก็ตรัสว่าเราแหละคือทาง เราแหละคือทาง ฉันนั่นแหละคือทาง ขอให้มาด้วยกัน เต๋า คำนี้ก็แปลว่าทาง ทางหลุดพ้นจากความทุกข์ และปัญหาทั้งปวง ดังนั้น คำว่าทาง ทางนี้มีความสำคัญมาก จงทำให้มันเป็นแนวทางที่ถูกต้องชัดเจน ส่งมอบให้แก่ลูกเด็ก ๆ ให้เขาเดินอยู่แต่ในทาง ถ้าเดินนอกทาง จะเสื่อมเสีย เดินอยู่แต่ในทางก็จะใกล้จุดหมายปลายทางเข้าไปทุกที ช่วยกันโฆษณาเรื่องมรรคนี่ เป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา เรื่องอื่น ๆ มันก็รวมอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ เช่น เรื่องปฏิจสมุปบาท เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรมันก็รวมอยู่ในคำว่าสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ไอ้เรื่องที่เข้าใจยากเยอะแยะนั่นน่ะ มันก็รวมอยู่ในองค์มรรคองค์ใดองค์หนึ่งเสมอ ถ้าเอามรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักแล้ว มันอธิบายครอบพุทธศาสนาได้ทั้ง ๘๔,000 ธรรมขันธ์ และโลกเหนือโลกอีกคำ ช่วยเข้าใจให้ถูกต้อง มันไม่ใช่ทางวัตถุ ทางกาย คือ จะขึ้นไป ๆ เดี๋ยวนี้แม้จะขึ้นไป ๆ มันก็ไม่พบไอ้ที่ที่จะอยู่ได้ แต่ว่าอยู่ในโลกแล้วอิทธิพลของสิ่งทั้งปวงในโลกครอบงำไม่ได้ นี่เหนือโลก มีจิตใจอยู่เหนือโลก จิตใจเห็นตถตาแล้วคงที่จนไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความรู้สึกของจิตใจได้ ตถตา มันเห็นชัดอยู่อย่างนั้นเสมอ ที่จะมาปรุงให้เป็นกิเลส รัก โกรธ เกลียด กลัวนั้นมันทำไม่ได้ ไม่มีอะไรน่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัว น่าขบขัน น่าอัศจรรย์ น่าทุกอย่างเหมือนกับที่เรามี ๆ กันอยู่ จะไม่ตื่นข่าวอะไรหมด ถ้าเห็นตถตา ไอ้ข่าวก็เป็นเช่นนั้นเอง ต้นตอของข่าวก็เป็นเช่นนั้นเอง อะไรที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง เลยคงที่ ที่เราพูดเรื่องอย่างนี้กับเด็ก ๆ ในที่บางแห่ง เขาว่าบ้า ใช้ไม่ได้ พูดเรื่องที่มันสูงเกินไปกว่าที่จะมาพูดกับเด็ก ๆ แต่จริง ๆ ถ้าทำให้เด็กเข้าใจได้มันก็จะง่ายในการที่จะเป็นเด็กดีมีศีลธรรม ไอ้เด็ก ๆ ที่เล็ก ๆ ก็ควรจะมีโอกาสท่องบทว่า เราทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้มันสูงที่สุดแล้ว
เอ้า, ปิดประชุม