แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การทำวัตรนี้เป็นบุพภาคของทุกอย่างที่จะต้องทำเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งจะต้องเข้าใจแล้วก็ถือไว้ปฏิบัติ จนตลอดชีวิตด้วย เรียกว่าทำวัตรนั่นมันหมายถึงว่าเป็น วัตรปฏิบัติที่ต้องทำ แล้วก็ไม่จำกัดเวลา จนกระทั่งว่าให้คนเราทุกคนอยู่ด้วยการทำวัตรนี้ อุกาสะ วันทามิ ภันเต นี้ แสดงความเคารพในบุคคลผู้ควรเคารพ สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต ขอโทษซึ่งกันและกัน สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง เป็นต้นนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนความดีซึ่งกันและกัน คือแสดงความเป็นกันเองถึงที่สุด ก็รวมความว่ามีความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพหนึ่ง แล้วก็ขอโทษซึ่งกันและกันตามโอกาส ตามสมควร แล้วก็มีความเป็นกันเอง ถึงขนาดแลกเปลี่ยนบุญกุศลกันชนิดหนึ่ง ก็เป็น ๓ อย่าง ถ้ามีในบ้านเรือนใด ครอบครัวใด สังคมใด บ้านเรือนนั้น ครอบครัวนั้น สังคมนั้นจะมีความสงบสุข ทั้งในโอกาสเบื้องต้นนี้ก็ให้จำไว้ด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จะลาสิกขาออกไป อย่าได้เข้าใจว่าทิ้งไว้ในวัด ฉะนั้นขอให้พาติดตัวไปจนตลอดชีวิตด้วย คือเคารพแล้วก็อดโทษ แลกเปลี่ยนความดีแก่กันและกัน ไอ้คำว่าเคารพนั่นมันมีความหมายกว้าง คือเคารพผู้ที่สูงกว่าก็อย่างหนึ่ง เคารพผู้ที่เสมอกันก็อย่างหนึ่ง เคารพผู้ที่ต่ำกว่าก็ อย่างหนึ่ง ที่ต่ำกว่าแม้แต่เด็ก ๆ เราต้องเคารพเขาอย่างที่เขาเป็นเด็ก จะดูหมิ่นไม่ได้คือว่าไม่มีคำว่าดูหมิ่นแก่บุคคลใด ๆ เลย เคารพคือเอื้อเฟื้อ ทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่จะพึงกระทำแก่บุคคลนั้น ๆ ทุกชั้นไป ก็เรียกว่าเคารพ ที่ต่ำกว่าให้สงสาร ที่เสมอ กัน ก็ให้กลมเกลียวกัน ที่สูงกว่าก็ให้แสดงอาการเคารพนับถือ ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเคารพ เคารพอย่างผู้สูงกว่า เคารพอย่างเพื่อน เคารพอย่างที่เขาอยู่ใน อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่า น่าสงสาร ส่วนเรื่องอดโทษนั้น มันเกี่ยวกับความกระด้าง ด้วยมานะ ด้วยตัวตน ด้วยตัวกู ด้วยของกู คนเป็นพระอรหันต์ไม่ได้เพราะว่ามันมีความกระด้างด้วยตัวกูของกู ฉะนั้นการอดโทษทุกคราวไป มันช่วยขูดเกลาความกระด้างด้วยตัวกูของกูให้มันเบาบางลงไป มีการขอโทษ มีการอดโทษอยู่เสมอ จะช่วยขูดเกลากิเลสประเภทนี้ ประเภทมานะทิฐิ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างสูงอยู่ในตัว ด้วยการอดโทษ ขอโทษ เราก็ต้องขอ ถ้าเขาขอกับเรา เราก็ต้องอดโทษ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีการขอโทษและอดโทษ นี้เป็นอย่างที่ ๒ ที่ว่าเมื่อตะกี้ นี้อย่างที่ ๓ มันมีสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยน นับตั้งแต่วัตถุสิ่งของ กระทั่งความดี กระทั่งบุญกุศล ยิ่ง ยิ่งให้ไป ยิ่งมีมากขึ้น ไอ้ของนี้มันพิเศษยิ่งให้ไป ยิ่งไม่หมดคือยิ่งมากขึ้น จงพยายามให้ หรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คือให้ทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งสิ่งที่ควรจะให้ นี่คือการทำวัตร มีความมุ่งหมาย ๓ ประการ ถือเป็นหลักปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา แล้วพอจะกระทำอะไรแก่บุคคลใดหรือสถานที่ใด ก็ยิ่งแสดงอาการทำวัตรนี่ออกมาให้ปรากฏ ฉะนั้นถ้าบุตรธิดามีการกระทำอย่างที่เรียกว่าทำวัตรนี่ (0:10:16-0:10:28 เสียงพูดเบา ๆ เป็นภาษาใต้) ถ้าว่าในครอบครัวใด มันมีการกระทำชนิดที่เรียกว่าทำวัตร คือเคารพซึ่งกันและกัน นับตั้งแต่พี่น้องขึ้นไป จนถึงบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย แล้วอดโทษซึ่งกันและกัน แล้วก็แลกเปลี่ยนสิ่งที่ควรแลกเปลี่ยนแก่กันและกัน มันก็เป็นความเจริญ นี้เรียกว่าทำวัตร นี่เสร็จไปแล้ว เป็นบุพภาคของการลาสิกขาบทในวันนี้ ทีนี้ก็จะพูดเรื่องการลาสิกขาบทให้เข้าใจก่อน ถึงแม้ว่าจะเข้าใจอยู่บ้างแล้วก็ต้องเอามาเตือนกันให้เข้าใจโดยสมบูรณ์ เพราะว่าการกระทำที่ดี ที่ถูกต้องนั้น มันต้องกระทำด้วยความรู้สึก ด้วยจิตใจ ไม่ใช่ทำแต่ท่าทางหรือพิธี โดยเฉพาะการลาสิกขานี้เกี่ยวกับวินัยด้วย ต้องทำในใจถูกต้อง จึงจะเป็นการลาสิกขา ถ้าไม่อย่างนั้นมันก้าวก่าย มันยุ่งกันไปหมด มันไม่ถูกต้องตามวินัย มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูก ไม่เป็นการลาสิกขา แล้วก็ทำไปทั้งที่มันไม่ถูก แล้วก็ไม่มีผลดีทั้งทางธรรมะ ทั้งทางวินัย คำว่าลาสึกนั้น มันพูดกันอย่างมักง่าย ไม่ควรจะพูดว่าลาสึก มันสึกหรอเปล่า ๆ แล้วคนที่โง่ถึงขนาดนั้นมันก็สึกหรอจริง ๆ ด้วย มันสึกออกไปกลายเป็นสึกหรอ ไปเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ต้องพูดให้เต็มถ้อยเต็มคำว่าลาสิกขา ไอ้สิกขากับศึกษามันคำเดียวกัน จึงพูดสั้น ๆ ว่าลาสึก แทนที่จะพูดว่าลาศึกษามันก็ไม่พูด จนมันเปลี่ยนคำเป็นลาสึก ชนิดสึกหรอไป นี่ก็เรียกว่างมงาย ฉะนั้นเราจะลาสิกขา ก็ว่าลาระเบียบวินัยการปฏิบัติอย่างภิกษุ แล้วก็ไปมีสิกขาอย่างฆราวาสที่ครองเรือน นี่คือลาสิกขา ถ้าพูดให้ถูก มันก็คือเปลี่ยนสิกขา แต่ว่าก่อนที่จะเปลี่ยนสิกขานี้ เราก็ต้องละ หรือลา หรือคืน บอกคืนสิกขาอย่างภิกษุกันเสียก่อน ไปรับสิกขาอย่างชาวบ้าน เพราะฉะนั้นคำพูดนั้นจึงมีว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ต้องว่าให้ถูกถ้อยคำว่า ปัจจักขามิ แปลว่าข้าพเจ้าบอกคืนซึ่งสิกขา มันหมายถึงสิกขาอย่างภิกษุ ขอให้จำข้าพเจ้าว่าเป็นคฤหัสถ์ ลาสิกขา ปากว่า กายก็ทำ ทางร่างกายก็กระทำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการนุ่งห่ม การเป็นอยู่ แล้วปากก็บอกออกไปชัดถ้อยชัดคำ แล้วจิตก็ต้องทำเหมือนกับที่ปากพูด พระวินัยบัญญัติไว้ว่าการลาสิกขาสำเร็จอยู่ที่จิตใจที่บอกคืนสิกขา เลิกละสิกขาอย่างภิกษุ มันไม่ได้ถูกจับสึกหรืออะไร ถ้า ถ้าจิตมันไม่สึก เขาไม่ถือว่า ว่าสึก วินัยไม่ถือว่าสึก เว้นไว้แต่ว่ามันจะทำเสียหมด ในส่วนของวินัยของภิกษุ อย่างนั้นเป็นสึกโดย โดยอัตโนมัติในตัว ทีนี้เราไม่มีเรื่องอย่างนั้น แล้วเราก็มีความตั้งใจที่แน่นอนอยู่แล้วว่าจะอยู่ในสิกขาของภิกษุ ตลอดเวลาเท่านั้น ๆ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้ตั้งใจแน่ ถ้าใจมันไม่ได้ตั้งอย่างนั้นก็ต้องตั้งกันเสียเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ในการที่จะอยู่เป็นภิกษุ ปัญหามีอยู่แก่ผู้ที่ไม่อยากจะสึกแต่ต้องสึก นี่มันทำยาก นี้ถ้าเรามีการกำหนด มีการตั้งใจ มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ทีแรกแล้ว มันก็เป็นอันว่าง่าย ในการที่จะทำจิตใจเพื่อการลาสิกขาแต่แล้วก็ต้องทำ ฉะนั้นก็รู้ เข้าใจเรื่องการลาสิกขา เพื่อการลาสิกขาที่ถูกต้องต่อไป การลาสิกขานี้ไม่ ไม่ต้องทำเป็นสังฆกรรม ไม่ต้องประชุมสงฆ์ ไม่ต้องอะไรก็ได้ ไม่มีวินัยบัญญัติไว้ เพราะว่ามันเป็นการลาออกไป ไม่มีเรื่องที่จะไปร่วมกิจกรรมอะไรกับคณะสงฆ์ จึงไม่ต้องประชุมสงฆ์อย่างเมื่อวันบวช วันบวชต้องร่วมประชุมสงฆ์ ต้องทำอย่างในความรับผิดชอบของสงฆ์ ส่วนลาสิกขานี้เมื่อประกาศตัวเองออกไปแล้ว มันก็เป็นอันว่ารู้กัน เราจึงไม่ทำอย่างเมื่อวันบวช ในเรื่องของการประชุมสงฆ์ มันทำเป็นเรื่องส่วนตัวกับอุปัชฌาย์ อาจารย์ก็ได้ เป็นเรื่องที่สมบูรณ์ตามวินัย ตามธรรม แล้วถ้าใครมีธรรมเนียมทำให้มันยุ่งยากมากกว่านี้ ก็ ก็ทำกันเหมือนกัน ก็ไม่มีผลอะไรที่แท้จริง นอกจากว่ามันเป็นเครื่องพิธีเอิกเกริกขึ้น เพราะเขาชอบ นี้เราก็ไม่ต้องทำ ทำแต่ที่มันเป็นความมุ่งหมาย เป็นเนื้อหาสาระของเรื่องคือจะลาสิกขาอย่างภิกษุไปเป็นฆราวาส ทีนี้สำหรับเรื่องการกล่าวคำบอกคืนสิกขานี้ มันก็ต้อง ต้องว่า นะโม เป็นแบบฉบับของพุทธบริษัท ทำอะไรก็ต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นี้ก็ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต นี้คือเรานึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน โดยหลักที่ว่าจะทำอะไรต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอ อย่าพูดแต่ปาก ให้ ให้ใจมันนึกถึง มันก็มีสติสัมปชัญญะ ในสิ่งที่ตัวกระทำ มันก็เลยถูก ไม่ผิด มันเป็นเรื่องทำถูก เพราะมันนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน แม้แต่การลาสิกขาเราก็ยังนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน มีสติสัมปชัญญะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรที่มันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า นี้ทำในใจเสียให้ถูกว่าบอกคืนแต่สิกขา มิได้บอกคืนพระพุทธเจ้า มิได้บอกคืนพระธรรม มิได้บอกคืนพระสงฆ์ อย่าไปเข้าใจว่าเราบอกคืนสิกขานี้เป็นการบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียชั่วคราวก่อน แล้วค่อยไปรับกันใหม่ต่อเมื่อสึกแล้ว อย่างนี้มันไม่ถูก ให้เข้าใจว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นไม่มีการบอกคืน เป็นพระ เป็นเณร มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่าไร พอจะลาสิกขาเป็นฆราวาสก็ยังคงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น แต่ที่เขาให้รับศีลใหม่ รับอะไรใหม่นี้มันเป็นพิธี มันเป็นพิธีของเมืองไทย ที่มันออกจะเฟ้อ แต่ก็ไม่เป็นไรให้ถือเสียว่าเป็นการกระทำที่ย้ำ ที่ย้ำให้มันมากขึ้น เหมือนกับย้ำตะปูให้มันแน่นมากขึ้น อย่าเข้าใจหรือว่ามีจิตใจเลื่อนลอยว่าบอกคืนหมด ไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็ตั้งต้นกันใหม่ ฉะนั้นไอ้การลาสิกขานี้มีความหมายอย่างนี้ อย่าบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือศาสนาหรือพระธรรม บอกคืนเฉพาะระเบียบสำหรับภิกษุ เพราะว่าเราไม่ ไม่มีโอกาส ไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อไป บอกคืนเพียงในส่วนนั้น ก็เพื่อจะรับสิกขาที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติได้ และทีนี้เมื่อเข้าใจในเรื่องของการลาสิกขาแล้วก็ดำเนินต่อไปได้ คุกเข่า เข้ามาใกล้ ๆ กล่าวคำนมัสการพระพุทธเจ้าคือว่า นะโม สัก ๓ หน แล้วก็ว่าคำกล่าวคืนสิกขาอย่างน้อยสัก ๓ หน ถ้าไม่แน่ใจก็ว่ามากกว่านั้นก็ได้ จนกว่าจะแน่ใจแล้วก็ค่อยกราบลงไป (0:22:04-0:22:28 สวดมนต์) ทีนี้ก็ว่าคำกล่าวคืนสิกขา ด้วยจิตใจด้วย เมื่อแน่ใจแล้วกราบ สิกขัง ปัจจะขามิ ว่าไป (0:22:38-0:23:04 สวดมนต์) กราบ เมื่อแน่ใจแล้วก็กราบ เอ้า, เดี๋ยวนี้ เราได้กล่าวคืนสิกขา กราบ ๓ หน อย่างภิกษุแล้ว พร้อมด้วยไตรทวาร ดังนั้นเราจึงไม่มีสิทธิ หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะที่เป็นเครื่องหมายของบรรพชิตอีกต่อไป นี่เราก็ต้องเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม รับศีล ๘ หรือรับศีล ๕ อาราธนาเอาตามต้องการ (0:24:00-0:25:05 เสียงสนทนาและบทสวดมนต์) ดี เข้าใจได้เร็ว ศึกษาได้เร็วเรื่องอะระหัง เรื่องมิ เรื่องมะ เรื่องมะยัง ดี มันจะมีความรู้ มันก็เป็นประโยชน์ จำไว้ตลอดเวลาด้วย ทีนี้ก็ตั้งใจรับศีล ๘ ซึ่งเป็นศีลของฆราวาส เรียกว่าเราถอยไปตามลำดับ ไม่ถอนกรูดเดียวไปถึงศีล ๕ (0:25:50-0:30:42 บทสวดมนต์สลับกับเสียงสนทนา) ทีนี้ก็นั่งฟังต่อไปอีกหน่อย ให้สำเร็จประโยชน์ เดี๋ยวนี้การลาสิกขาบทอย่างภิกษุก็สำเร็จแล้ว ก็ยังเหลือแต่ว่าทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการเป็นภิกษุชั่วคราวนี้บ้าง ที่จริงเรื่องนี้ก็ได้พูดไว้หลายแห่งแล้ว แต่ก็ยังจะต้องเตือนกันอยู่บ่อย ๆ เพราะว่ามักจะลืม เรื่องที่เราได้รับรู้ในเวลาบวชแทบทุกเรื่อง หรือว่าจะว่าทุกเรื่องก็ว่าได้ มันมีประโยชน์หรือมันจำเป็นแก่การที่จะเป็นฆราวาส แต่แล้วคนมันไม่รู้จักใช้ มันไม่รู้จักเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็เหมือนกับว่ามันคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกัน เมื่อไม่รู้จัก มันก็ไม่เอาไป มันก็ทิ้งไว้ที่วัด ฉะนั้นถ้ารู้จักก็เอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ทุกเรื่อง เลือกหลักธรรมะสูงสุด มันก็เป็นเรื่องหนทางของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องรู้จักไว้ สำหรับเดินทางจนตลอดชีวิต นี่ก็เรื่องที่เราพูดกันถึงเรื่องธรรมะทั้งหมด กระทั่งเรื่องมรรคผลนิพพาน ก็เป็นเรื่องหนทางที่ต้องเดินถูกทาง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะ จะดับจิต จะสิ้นชีวิตกันชาติหนึ่งนี้ มันก็ต้องมีความแจ่มแจ้งในข้อนี้ เป็นเรื่องรู้หนทาง ถ้าเชื่ออย่างที่ว่าเกิดใหม่ มันก็เป็นอันว่า มันไปเกิดถูกต้องแหละ คือว่ามันดีขึ้น แต่นี้ไม่สำคัญเท่าที่ว่าตลอดเวลานี้ เวลานี้ เรามันเดินถูกทาง นี่เรียกว่าพูดอย่างตีคลุมไปทั้งหมด นี้เรื่องที่สำคัญที่สุดคือคำว่าบวช คือคำว่าบังคับตัวเอง นี้ระหว่างบวชเราก็ฝึกการบังคับตัวเองตลอดเวลา แล้วเธอก็เป็นผู้หนึ่งที่บังคับได้ดี เต็มตามที่เขากำหนดไว้ ไม่บกพร่อง นี้ก็เป็นการแน่นอนว่าจะได้ประโยชน์ ไม่มักง่าย ไม่สะเพร่า ไม่ดูหมิ่นว่าเป็นของเล็กน้อย เป็นผู้บังคับตัวเองถึงที่สุด มีสติสัมปชัญญะถึงที่สุด นี่ถ้าอันนี้ติดไปก็หมายความว่าได้สิ่งที่เป็นความมุ่งหมายที่สุดของการบรรพชาอุปสมบท แม้ว่าจะเป็นการบรรพชาเพียงชั่วขณะ มันก็ได้รับประโยชน์ที่สุด เพราะว่ามันมีอยู่ ๒ แบบ อย่างที่เคยพูดแล้ว ผู้ที่จะหาความสุขในบั้นปลายแห่งชีวิตก็บวชกันไปตลอดเลย ผู้ที่ยังเป็นหนุ่มอยู่ก็จะศึกษาส่วนดีของการบรรพชานี่ เอาไปใช้ มันก็ไปรวมอยู่ที่การประพฤติชนิดที่บังคับตัวเอง แล้วเรื่องนี้เราก็อธิบายกันมากแล้ว ก็ไม่ต้องพูดอีก มันยังเหลืออยู่แต่ว่าเอาไปใช้ให้ได้ แล้วทีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เขามีไว้ ก็เรียกว่าได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นผู้ที่บวชแล้ว เรียนแล้ว บวชแล้วตามธรรมเนียมของพุทธบริษัทชาวไทย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ต้องไม่มีข้อแก้ตัว ทำอะไรผิดต้องรับผิดชอบ จะแก้ตัวว่ายังไม่ได้บวช ไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้นี่ไม่มีทางแล้ว เพราะว่าเราได้บวชแล้ว เขาวางไว้เป็นธรรมเนียมอย่างนี้ เราก็ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะมันไม่มีทางจะแก้ตัว ทำอะไรผิดไม่ได้แล้ว เพราะว่าได้บวชได้เรียนแล้ว ต้องมีความไม่ประมาทมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่าให้เขาตำหนิได้ ว่าได้บวชแล้ว มันเสียทีที่ได้บวชแล้วอย่างนี้ เป็นต้น นี่ประโยชน์ที่ว่ามันได้บวชแล้ว แล้วยังจะยอมให้สักอย่างหนึ่งว่า เรื่องก่อนบวชนั้นเลิกกันก็ได้ จะไม่คิดบัญชีกันแล้ว ว่าผิด ถูก มาก น้อยเท่าไร เป็นบวก เป็นลบอย่างไรก็ยกเลิกกันได้ ขอให้ตั้งต้นใหม่ในลักษณะที่ผิดไม่ได้อีกต่อไป นับตั้งแต่วันที่เราสึกออกไปเป็นฆราวาสนี่ ตั้งต้นแบบของฆราวาสกันใหม่ ซึ่งผิดไม่ได้อีกต่อไป ให้มีแต่ถูก ให้มีแต่บวก อย่ามีลบ แล้วมันก็จะดีด้วยกันทุกฝ่าย สำหรับเราก็จะได้มองเห็นแต่ความถูกต้อง เมื่อเป็นเด็กโน้น มันยังไม่รู้ มันก็มีความผิดบ้าง แล้วก็ให้อภัยได้ เลิกกันได้ แต่พอบวชแล้วมันตั้งต้นใหม่ ไม่มีเรื่องที่จะแก้ตัวอย่างนั้น ฉะนั้นขอให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไปนี่ เราต้องไม่มีทำอะไรผิด จะต้องกลัวให้มาก ต้องละอายให้มาก อย่าให้มันมีการทำอะไรผิด นี่ประโยชน์ของการบวช ถ้าบวชกันจริง ๆ มันก็ได้อย่างนี้ ยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดอีกเยอะแยะ ก็เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ รู้นั่น รู้นี่ แม้แต่รู้คำบาลี นี้ก็อย่าทิ้งเสีย เอาไว้ว่าเล่นสนุก ๆ แทนร้องเพลงก็ยังได้ ว่าคำบาลีตอนไหนเขาว่ากันอย่างไร ไหว้พระสวดมนต์อย่างไร ว่าให้ดี มันก็ไพเราะเหมือนกัน แม้ที่สุดแต่เรื่องอาราธนาศีล อาราธนาธรรม อาราธนาปริตร นี่ก็ต้องว่าได้ ในฐานะที่เป็นผู้บวชแล้ว รู้จักเปลี่ยน มยัง เป็น อะหัง อะหัง เป็น มยัง รู้จักเปลี่ยน มิ เป็น มะ มะ เป็น มิ นี่ก็เรียกรู้ไวยากรณ์ภาษาบาลี มันได้ความรู้ทางอักษรศาสตร์เพิ่มขึ้น ยิ่งเราอยู่ในโลกสมัยนี้ ต้องมีความรู้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้นบวชครั้งหนึ่งอย่างน้อยก็รู้บาลี ๙ คำ ๑๐ คำ ๒๐ คำ อาจจะถึงร้อย ๆ คำก็ได้ถ้าสนใจ เดี๋ยวนี้อย่างน้อยเราก็รู้ว่า ถ้าคนเดียวก็ต้องว่า อะหัง ถ้าหลายคนต้องว่า มยัง กริยาของศัพท์ก็ต้องเปลี่ยนไปตามวัจนะ อะหัง เป็น มิ มยัง เป็น มะ ก็จำไว้ทีละนิดละหน่อย ไม่ ไม่ต้องหนักอกหนักใจ มันยังอีกมากความรู้บาลี แต่เราจำไปทีละคำสองคำ มันก็ค่อยรู้เอง แบบเดียวกับรู้ภาษาไทย ได้เท่าไรก็มีประโยชน์เท่านั้น นี้บางคนไม่อย่างนั้น พอสึกแล้วมันทิ้งหมด ทิ้งอะไรที่เคยรู้เคยอะไรเมื่อบวช ทิ้งไป ทิ้งไป ทิ้งไปจนไม่มีอะไรเหลือ กระทั่งได้ใจความสำคัญ คือการบังคับตัวเองนี้ก็ไม่มีเหลือ ก็ไปกินเหล้าเมายา ทำอะไรที่เสียหายหมด มันก็เหมือนกับไม่ได้บวช นี้เราไม่เอาอย่างนั้น เราจะต้องให้ได้รับประโยชน์มากกว่าที่ยังไม่ได้บวช หลายเท่าทีเดียว ทั้งในแง่ของไอ้วิชาความรู้ ทั้งในแง่ของการประพฤติ การปฏิบัติ ทั้งเรื่องทางโลก ๆ ทั้งเรื่องทางธรรมะชั้นสูงสุด ก็มีรู้และมีปฏิบัติเท่าที่จะทำได้ นี่คือประโยชน์อันใหญ่หลวงที่ได้รับจากการบวช เหมือนที่เราพูดกันเมื่อวันบวชว่าให้ได้รับอานิสงส์กันทุกฝ่าย ผู้บวชก็ได้รับ ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย มีบิดา มารดา เป็นต้น ก็ได้รับ แล้วส่วนรวมทั้งหมดคือศาสนาหรือโลกทั้งโลกก็พลอยได้รับ เพราะการบวชของเรา ที่เราจะบวชอย่างสืบอายุพระศาสนา แม้ว่าสึกไปแล้ว เราก็ยังสืบอายุพระศาสนาตามวิถีทางของคฤหัสถ์ ของฆราวาส ที่จะสืบอายุพระศาสนาได้อย่างไร เดี๋ยวนี้มันชักจะปนกันยุ่งแล้ว พระที่ดีกว่าฆราวาสก็มี ฆราวาสที่ดีกว่าพระที่เลว ๆ ก็มี มันปนกันยุ่ง มันไม่มีความสำคัญอยู่ที่คำว่าพระหรือฆราวาสมากขึ้นทุกที มันมีความสำคัญที่ว่าปฏิบัติกันหรือไม่ปฏิบัติ ถ้าฆราวาสปฏิบัติ มันก็เป็นผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เหมือนกัน ศาสนามีอยู่เพราะมีผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าศาสนามีอยู่เพราะมีผู้เล่าเรียนอย่างเดียว เล่าเรียนอย่างเดียวไม่มีการปฏิบัติ ก็มีศาสนาที่ตายด้าน เหมือนกับเมล็ดพืชที่ไม่ได้เพาะ ไม่ได้หว่าน เก็บไว้จนเสียไป เพาะไม่ขึ้น ศาสนามันมีชีวิตอยู่เพราะว่ามันมีผู้ปฏิบัติ เท่านั้นแหละพอ ส่วนผลของการปฏิบัตินั้น มันมีเอง เราไม่ต้องไปนึกให้มันมี มันก็มี มันก็ปฏิบัติก็แล้วกัน ปฏิบัติให้มันแสดงอยู่ว่า อ้าว, ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ศาสนามันเป็นอย่างนี้ ในโลกนี้มันยังมีอยู่ ก็มีธรรมะอยู่ในโลกนี้ มันก็เลยเป็นประโยชน์แก่โลกนี้ นี่คือการสืบอายุพระศาสนา ได้บุญที่แท้จริงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แม้ว่าเราเป็นฆราวาสแล้ว ถ้าว่าเราตั้งตัวอยู่อย่างนี้ เราก็ได้บุญ เพราะว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนาอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งหายใจเข้าออกโดยไม่รู้สึกตัว นี่ก็เรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ มันดีอย่างนี้ เพราะว่าได้บวช ได้เรียน จึงสามารถตั้งตนไว้ชอบ นี่คือประโยชน์ของการบวช มีเท่านี้เอง เป็นคำพูดไม่กี่คำ แต่ว่ารายละเอียดมันมาก ทีนี้บวชแล้วมันก็ทำถูก ไม่บวชมันก็ยากที่จะทำถูก หรือจะทำถูกมันก็ลำบาก มันเสียเวลามาก สู้บวชไม่ได้ เสียเวลาเล็กน้อยมันก็รู้ได้มาก เพราะมันตั้งใจทำกันจริง ๆ เขาจึงใช้คำใหม่เรียกผู้บวชแล้วนั้นว่าเป็นบัณฑิต วัฒนธรรมทางภาษานี้รับมาจากอินเดีย ที่อินเดียถ้าเขาไปทำอะไรสำเร็จมาในอาศรม ในสำนักศึกษาอะไรอันหนึ่งเต็มตามหลักสูตรแล้ว เขาก็เรียกว่าบัณฑิต เช่น คนหนุ่มไปอยู่ในอาศรมกับพวกฤษี ศึกษาเล่าเรียนจบสำหรับจะมาเป็นฆราวาส แล้วเขาก็เรียกว่าบัณฑิต ทีนี่ประเทศไทยเรารับเอาไอ้ประเพณีนี้มา ก็เรียกไอ้คนที่บวชในพุทธศาสนาเสร็จแล้วนี้ว่าเป็นบัณฑิต มันก็ดีเหมือนกัน ก็ถูก บัณฑิตแปลว่าผู้มีปัญญา รักษาตัวรอด บัณฑะ (บัน-ดะ) แปลว่าปัญญา รักษาตัวรอด บัณฑิตะ (บัน-ดิ-ตะ) แปลว่าผู้มีปัญญา รักษาตัวรอด (0:46:22 ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกต้องหรือไม่) ไม่ต้องมีใครตั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีมันตั้ง มันอุปโลกน์ให้ มันหลีกไม่พ้น เดี๋ยวนี้เราเป็นบัณฑิตโดยขนบธรรมเนียมประเพณี เราก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามความหมายของคำว่าบัณฑิต คือผู้ที่บวชแล้ว มีความรู้ในพุทธศาสนาแล้วสึกออกมา ฉะนั้นเราเป็นบัณฑิต ในทางฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายจิตใจด้วย ไอ้บัณฑิตในมหาวิทยาลัยทางโลกมันก็เรื่องหนึ่งต่างหาก มันคนละเรื่อง นี้มันเป็นเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ ก็ต้องเป็นบัณฑิตให้ได้เหมือนกัน นี้คนมันเหลวไหล สึกออกไปแล้ว มันเลวกว่าเดิม เขาเรียกว่าทิด บัณฑิตนี้มันออกเสียงเป็น บัน-ทิด เอาบันออกเสียเหลือแต่ทิด สำหรับคนบวชไม่ได้อะไร ภาษาไทยออกเสียง ฑ ว่า ทอ มันเลยเป็น บัน-ทิด เดี๋ยวนี้เขาก็อ่านถูกกันทุกคนแล้ว อ่านว่า บัน-ดิด มาเป็นบัณฑิตกันดีกว่า อย่าเป็นบันทิด ก็จะเหลือแต่ทิด บวชแล้วงมงาย ให้มันสำเร็จประโยชน์ว่าไอ้บัณฑิตทาง ทางโลกมันก็เป็นด้วย แล้วก็บัณฑิตทางธรรมนี้ก็เป็นด้วย มันก็เป็นบัณฑิตที่แท้จริง ข้อนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันอุปโลกน์โดยประเพณีด้วย และโดยธรรมชาติมันก็ต้องการอย่างนั้น มันบังคับให้เป็นอย่างนั้น ถ้าใครหลีกเลี่ยงมันก็ผิดกฎของธรรมชาติ มันจะยุ่ง ฉะนั้นต้องรับเอาตามที่มันควรจะเป็น เรามีความเป็นบัณฑิต ตามตัวหนังสือแปลว่ามีปัญญา เครื่องรักษาตัวรอด เอาสิ ก็เอามันให้รอด รอดทางฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกายก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง รอดทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง เขาก็มีธรรมเนียมต่อไปอีกว่า ไอ้รอดทางฝ่ายร่างกาย ฝ่ายโลก ๆ นี้ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย เช่น มีชีวิตอยู่ได้โดยสะดวก วางหลักสูตรไว้ว่าต้องสมบูรณ์ด้วยสิ่ง ๓ อย่างคือ ทรัพย์ สมบัติ แล้วก็เกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็ไอ้ไมตรี เขาใช้คำว่าไมตรี ที่แท้ก็คือความมีสังคมดี ไมตรีนี้คือความมีสังคมดี มีทรัพย์สมบัติให้พอตัวที่ควรจะมี แล้วก็มีเกียติยศชื่อเสียงให้พอตัวเท่าที่ควรจะมี แล้วก็มีฐานะในทางสังคม เรียกว่าไมตรีนี้ ดี เรื่องทรัพย์ เรื่องเกียรตินี้ ไม่ต้องพูดแล้ว รู้กัน กันเต็มหู ขอแต่ให้มันเป็นมาอย่างถูกต้อง ไม่ ไม่ทำอันตรายผู้นั้น ผู้ใดหาทรัพย์ หาเกียรติยศมาไม่ถูกต้อง มันจะทำอันตรายผู้นั้นโดยแน่นอน ทีนี้เรื่องไมตรีนี้มันเป็นที่รักของคนรอบด้าน มีเงินแล้วคนเขาไม่รักไม่นับถือก็มี หรือมีเกียรติ คนเขาเห็นว่ามีเกียรติ แต่เขาไม่รักไม่นับถือก็มี ฉะนั้นคนมีเงินกับคนมีเกียรตินี่ยังไม่แน่ ต้องเป็นคนที่มีสิ่งที่เรียกว่าไมตรีเมื่อตะกี้นี้ คือคนรักนับถือ มีเงินน้อย มีเกียรติน้อย หรือแทบว่าจะไม่มีในทางโลก ๆ แต่คนเขารัก เขานับถือ เขาบูชา นี่คือข้อที่ ๓ ต้องมีอันนี้ด้วยจึงจะเรียกว่าครบสำหรับการอยู่ในโลก มีทรัพย์ มียศ มีไมตรี ในข้อสุดท้ายนี้หมายความว่าคนรัก ไอ้คนที่เลวกว่าเราก็เรารักเรา คนที่เสมอกันกับเราก็รักเรา คนที่สูงกว่าเราก็รักเรา นั่น ต้องการอย่างนั้น นี้เป็นหลักสูตรที่จะต้องทำต่อไปข้างหน้าหลังจากการสึกแล้ว ให้มีทรัพย์ ยศ และไมตรีที่ถูกต้องและเพียงพอด้วย นี่เรื่องฝ่ายโลก ๆ นี่เรื่องที่ ๒ เรื่องธรรมะฝ่ายจิตใจ เราต้องไม่มีความทุกข์ ถ้ามันมีความทุกข์แล้วก็ต้องเรียกว่ามันทำผิดแล้ว ต้องถือว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีความทุกข์ ฉะนั้นอะไรที่มันเคยทุกข์ที่เขาเป็นทุกข์กัน เราไม่ทุกข์ เราเฉยอยู่ได้ แล้วเราแก้ไขไปตามเรื่อง ถึงจะมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอย่างไรเข้ามา มันก็ไม่ต้องทุกข์ แก้ไขไปตามเรื่อง เราเรียนรู้ เรื่องว่ามันเป็นอนิจจัง เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์นั้น อย่าไปมีความทุกข์กับมัน แก้ไขให้มันเป็นสภาพที่ไม่มีความทุกข์อยู่เรื่อย นี่เรื่องธรรมะ คือว่าต้องไม่ทุกข์ มีจิตใจชนิดที่ทุกข์กับเขาไม่เป็น มันก็ได้ที่สุด ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันก็มีอย่างนี้ บวชแล้วก็รู้เรื่องนี้ แล้วก็ทำให้ได้ นี้เป็นเรื่องที่ต้องเตือนกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจะลาสิกขา เมื่อจะออกไปจากอาศรมของการฝึกเป็นบัณฑิต ออกไปจากอาศรมของการฝึก ต้องรับผิดชอบในข้อนี้ คือทำให้ถูกต้องทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ ทั้งส่วนตัวและส่วนสังคมด้วย รายละเอียดรู้ได้เอง เพราะว่าเป็นคนฉลาด เป็นคนรู้จักคิด นึก สังเกต เมื่อไม่ลืมไอ้หัวข้อหรืออุปเทศของเรื่องแล้วก็ ไม่เป็นไร รายละเอียดก็รู้ได้เฉพาะกรณี เฉพาะเวลา เฉพาะเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า นี้วันนี้ขอให้ถือว่า เวลา ๖ โมง นี้เราตั้งต้นใหม่ของบทเรียน ของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ให้มันมีแต่เรื่องถูกต้องเรื่อยไป ทั้งเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก เรื่องที่ต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง และนอกจากนั้นยังจะต้องเตรียมตัวสำหรับเป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย จะต้องช่วยเหลือเพื่อนที่เขาจะบวชเรียนกันต่อไปด้วย ถ้ามีครอบครัว มีอะไรต่อไปในอนาคต ก็ต้องรู้จักช่วยให้เขาเดินถูกทางที่สุดด้วย มันก็มีเท่านี้ เรื่องของคนเราที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี้เป็นหัวใจ เป็นความจริง ไม่ใช่ ไม่ใช่ไอ้เรื่องสักว่าพิธีรีตอง ทีนี้ก็อยากจะพูดนิดหน่อยถึงเรื่องพิธีรีตอง ซึ่งจะเรียกว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะในโลกของคนโง่ต้องมีพิธีรีตอง ในโลกของคนฉลาดไม่ต้องมีพิธีรีตอง ก็ไปรู้เอาเองว่าคนในโลกนี้มันโง่มาก หรือว่ามันฉลาดมาก นี้เรา แม้ว่าเราจะรู้ว่าพิธีรีตองนี้ยังไม่ ไม่ ไม่จำเป็นแก่เรา แต่เราอย่าไปทำยุ่ง เพราะมันมีไว้สำหรับคนโง่ อย่าไปทำลายไอ้ ไอ้ที่พึ่งของคนโง่ ถ้าเธอฉลาด เธออย่าไปทำลายที่พึ่งของคนโง่ เราก็เข้ากันได้ สนิทสนมกันไปเลยไอ้เรื่องพิธีรีตอง บางทีมันจำเป็นจะต้องมี สำหรับคนที่มันยังไม่ฉลาด หรือมันยังเป็นเด็กอยู่ มันจำเป็น แล้วเราอย่าไปขัดคอ อย่าไปเพิกถอนอะไรเข้า ไอ้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องประเพณี พิธีรีตอง เราผสมโรงกับเขาได้โดยที่จิตไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น นี้เราก็ไม่เสียหายอะไร เราก็ได้ประโยชน์ว่ามีคนเป็นเพื่อน เป็นพวกรักใคร่ นับถือ แล้วคนเหล่านั้นเขาก็ได้ประโยชน์จากพิธีรีตองนั้น ๆ เพราะว่าเขายังจำเป็นจะต้องอาศัยพิธีรีตองอยู่ พิธีรีตองเป็นเครื่องปลอดภัยสำหรับคนโง่ สำหรับคนฉลาดนั้น มันเกือบจะไม่มีความหมายอะไร นอกจากว่ามันเป็นเครื่องมือสำหรับคบค้ากับคนโง่ ฉะนั้นอย่าไป อย่าไปอวดดี ต้องพูดกันตรง ๆ ว่าอย่าไปอวดดี ไปกระทบกระทั่งกับประเพณีพิธีรีตอง หรือจะไปกระทบกระทั่งกับศาสนาอื่นที่เขามีอย่างอื่น ที่เขาถืออย่างอื่น อย่าไปกระทบกระทั่ง พยายามทำให้มันกลมกลืนกันไปได้ โดยที่ไม่มีใครเสียหายเลย เราก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเรามันรู้สึกอยู่ เราจะโง่ได้อย่างไร แม้ว่าจะต้องแสดงบทบาทของคนไม่รู้ ในบางครั้งบางคราวเพื่อผู้อื่น มันก็ต้องทำได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นผู้ที่ไม่งมงาย ถือไอ้เถรตรงบ้าง ขวานผ่าซากบ้างอย่างนั้น อย่าได้มี มันไม่ใช่เรื่องของคนที่บวชเรียนแล้ว เรื่องพิธีรีตองยังจำเป็นอยู่ในโลกนี้ มัน มันสำหรับคนที่แรกเกิดมายังไม่รู้อะไร เดี๋ยวเรา อย่าไปรู้ว่าเรารู้เรื่องปรมัตถ์ รู้เรื่องอะไรมากแล้ว จะไปเล่นงานคนที่เขายังจะต้องพึ่งพาพิธีรีตอง อย่างนี้ยังไม่ใช่หน้าที่ของเรา มันเป็นหน้าที่คนอื่นที่ต้องดูแลให้มันมีความเหมาะสมแก่โอกาส แล้วจะช่วยแก้ไขเพื่อนมนุษย์ ให้หลุดพ้นขึ้นมาจากพิธีรีตอง ด้วยอุบายที่มันแนบเนียนสุขุม ไม่ต้องไปทำให้กระทบกระทั่ง ให้มันเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นมา มิฉะนั้นจะอยู่ในโลกนี้ลำบาก เพราะมันเป็นโลกของคนโง่ มีคนโง่มาก เราสู้เขาไม่ไหว นี้ก็เป็นเรื่องที่บัณฑิต ผู้บวชแล้วจะต้องรู้ด้วยเหมือนกัน เอาล่ะ, เรื่องมันก็ไม่มีอะไรมาก เรื่องสุดท้ายก็เรื่องให้ศีล ให้พร ที่เขานิยมกันต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ต้องเอาน้ำมนต์มา ต้องชยันโตคนสึกกันอีกทีหนึ่ง นี้มันเป็นเรื่องน่าหัว แต่มันก็เป็นเรื่องพิธีรีตองอย่างว่า แล้วอย่าไปว่าเขานะ เขาจะรดน้ำมนต์กันกี่โอ่ง ชยันโตอีกกี่ครั้ง ก็ตามใจเขา ไอ้เรามันมีอะไรที่ดีกว่านั้น รดน้ำมนต์ ก็รดน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้า คือธรรมะที่เราเรารู้อยู่ในจิตในใจนี้ นี้มันเป็นรดน้ำมนต์ เดี๋ยวนี้จะเอาน้ำพรมก็ได้น้ำก็มีอยู่ที่นี่ มันก็เย็นที่ผิวหนังวูบวาบบ้าง แต่มันไม่ถึงจิตใจ ถ้ามันไปยึดถือมันก็จะโง่เสียอีก ฉะนั้นไอ้คำพูดที่พูดอยู่นี้ รวมทั้งที่ได้พูดมาก่อน ๆ ตลอดเวลานี้ นั่นมันเหมือนเป็นกับน้ำมนต์ คือมันเป็นเครื่องทำความเย็น ดับทุกข์ มันเป็นแสงสว่าง เป็นไอ้สิ่งชำระชะล้างสิ่งที่ไม่สะอาด นั่นคือน้ำมนต์ แล้วนอกนั้นมัน ก็ว่าเอาเอง น้ำมนต์น้ำอะไรกันนี่ มันมีคนสึกตามพิธีรีตอง รดน้ำมนต์ชยันโต โห่กันใหญ่ สึกแล้วค่ำลงมันไปดูหนัง กลับมา มันถูกตีศีรษะแตก คิดดูสิ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก มัน มันทำไม่ถูกวิธี มันไม่รดน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้า มันเหลือกลั้น มันเหลืออด มันผ้าเหลืองร้อนจนจะระเบิด มันก็สึกออกไป มันก็รดน้ำมนต์ ค่ำลงไปดูหนัง กบมาบ้านถูกตีศีรษะกลางทางนี่ มันเป็นเรื่องที่น่าหัวที่สุด ฉะนั้นขอให้รดน้ำมนต์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า คือธรรมะที่ทำความสะอาด สว่าง สงบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลานี้รับเอาไปมาก ๆ คือความเข้าใจเรื่องนี้ นี่ก็เรียกว่าให้ศีล ให้พรตามแบบของพระพุทธเจ้าแก่คนที่ลาสิกขา ศีลก็ให้แล้ว พรก็ให้แล้ว นั่นคือน้ำมนต์ที่แท้จริงกว่า อย่าเข้าใจว่าไม่ได้ทำพิธีรีตอง ไม่ได้รดน้ำมนต์ เมื่อลาสิกขาแล้วก็กลัว นั่นมันคนโง่ มันมีคนกลัวจริง ๆ ด้วย ถ้าไม่ได้ทำพิธีอย่างนั้นเขาก็กลัว ทีนี้เรามีอะไรที่มากกว่านั้น หรือจริงกว่านั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องกลัว มันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ มันเป็นว่าหมดปัญหา ไม่ต้องทำอะไรที่มันเป็นเรื่องของไอ้ลูกเด็ก ๆ เขาทำกัน ถ้าไม่ได้บวชก็อาจจะทำอย่างนั้น ก็ยินดีจะทำอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันบวชแล้ว แล้วมันก็เรียนแล้ว มันก็พูดกันทุกวันด้วย มันก็มีของที่จริงกว่า ดีกว่า ใช้ประโยชน์ได้จริงกว่า นี้เรียกว่ามันมีการรดน้ำมนต์ ให้ศีล ให้พร ครบถ้วนทุกประการแล้ว ก็ถือศีล ๘ จนกว่าจะไปถือศีล ๕ หรืออยากจะถือศีล ๘ ให้นานที่สุดเท่าไร ก็ถือไป ไม่ต้องละอายใคร ไม่ต้องกลัวใคร มีอยู่ในเหตุผลที่แท้จริงของตัวเอง มันก็มีความเจริญรุ่งเรืองในทางจิตใจ ในทางวิญญาณ นี่ประโยชน์ของการบวช คือแสงสว่างที่มันเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเพณีนั้นมันยังดีกว่าพิธีรีตอง เพราะประเพณีเขาจะทำไว้ดี ไอ้พิธีรีตองมันมักจะเฟ้อ หรือเกินไปสำหรับคนที่ไม่รู้อะไร ฉะนั้นเราศึกษาประเพณี แล้วก็กลั่นกรองให้ดี ให้มันเหลือแต่ที่มันมีประโยชน์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เขาไปใส่ไว้ในรูปของไสยศาสตร์นี้มีมาก เป็นวิทยาศาสตร์มันไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเป็นไสยศาสตร์มันขลัง มันศักดิ์สิทธิ์ ไอ้เหตุผลหรือวิทยาศาสตร์ในบางประการ เขาไปทำให้มันเป็นรูปไสยศาสตร์ หรือให้ขลัง นั้นมันก็ดี มันก็ถูก แต่นี้มันขลังเตลิดเปิดเปิง ไปเป็นพิธีรีตอง มันก็กลับโง่ก็ได้อีก เรามีปัญญาก็ระวังให้ดีในข้อนี้ อย่าให้มันตกหลุมไอ้ความงมงาย ก็ไม่เสียทีที่ได้บวช ได้เรียน กำลังที่จะ กำลังจะก้าวหน้าไปตามวิถีทางของมนุษย์ที่มีสติปัญญา แล้วเรื่องสำคัญที่จะพูดสำหรับคนสึก เพื่อเป็นการเตือนสติกันอีกครั้งหนึ่งก็ มันก็อย่างนี้ รายละเอียดมากกว่านี้ก็มีอยู่แล้ว ในคำพูด คำสอน ในหนังสือหนังหาที่เขียนไว้แล้ว ก็มีการพิมพ์กันขึ้นมาเรื่อย ๆ นี้สิ่งสุดท้ายก็ว่าอะไรที่จะกันลืม จะช่วยให้กันลืมในการที่ได้บวชแล้ว มันก็ต้องมีเหมือนกันเพราะว่าเรามันยังหนุ่ม ชีพจรมันยังเต้นเร็ว มันรัวได้ มันอาจจะลืมได้ ควรจะมีอะไรที่ช่วยไว้บ้าง อย่าให้มันลืม ไอ้รูปถ่ายเมื่อเป็นพระไว้ดูก็ได้ แต่รู้สึกว่ามันไม่ขลังเท่ากับวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า เช่น บาตรและจีวร เป็นต้น บาตรและจีวรนี้ แม้ว่าเราลาสิกขาไปแล้ว มันก็ยังเป็นของเราอยู่นั่นแหละ โดยกฎหมายก็ดี โดยวินัยของพระพุทธเจ้าก็ดี บาตรและจีวรนี้ยังเป็นของบุคคลนั้น เราจะให้ใครก็ได้ จะถวายใคร ทำบุญก็ได้ แล้วแต่จะชอบ แต่ถ้าจะถวายใคร จะให้ใคร ต้องทำให้สะอาด แต่เห็นว่าทางที่ดีที่สุดควรจะเก็บไว้เป็นอนุสาวรีย์แก่ตัวเอง เมื่อคราวหนึ่งไปที่วังของกรมพระยาดำรงฯ ไปเห็นในตู้กระจก ท่านหญิงฯ ทูลว่านี้เป็นผ้าไตร เป็นบาตรเมื่อเสด็จพ่อท่านบวช เอาไว้ให้ลูกหลานไหว้ และพูดอันนี้เราก็นึกได้ มันก็สะดุ้งว่าคนทั้งหลายนี่มันโง่ เอาบาตร จีวร ไปให้เขาเสียหมด ไม่ไว้ให้ลูกหลานไหว้ เรายังไม่มีลูกหลานก็เอาไว้ขู่ตัวเอง อย่าให้มันประมาท อย่าให้มันเผลอ เห็นบาตร เห็นจีวรที่บวชนี้ยิ่งกว่าเห็นรูปภาพที่ถ่ายไว้เมื่อบวช มันมีอะไรก็ไม่รู้ มีอิทธิพลในทางจิตใจมากกว่ากันมาก ฉะนั้นจะเอาบาตรและจีวรไว้สำหรับขู่ตัวเองก็ได้ อย่าให้มันลืมเรื่องบวช เก็บไว้ในที่ ๆ มันจะขู่ตัวเองได้บ่อย ๆ นั่นแหละดี เพราะฉะนั้นจึงคืนให้เธอ ในที่สุดนี้ขอให้มีสติสัมปชัญญะเต็มที่ เข้าใจในสิ่งที่พูดให้ฟังนี้ แล้วก็มีการตั้งจิตอธิษฐานในการที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ตามความมุ่งหมายของการเป็นพุทธบริษัท ได้บวช ได้เรียน ได้สิ่งที่จะช่วยให้ตัวรอด แล้วจงมีความสุข ความเจริญงอกงามไปตามทางของพระพุทธศาสนา ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ กราบ