PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
  • บรรยายแก่ข้าราชการครูจากสำนักงานศึกษาธิการ เขต 4 เรื่อง วินัยและคุณธรรมสำหรับพัฒนาคน
บรรยายแก่ข้าราชการครูจากสำนักงานศึกษาธิการ เขต 4 เรื่อง วินั ... รูปภาพ 1
  • Title
    บรรยายแก่ข้าราชการครูจากสำนักงานศึกษาธิการ เขต 4 เรื่อง วินัยและคุณธรรมสำหรับพัฒนาคน
  • เสียง
  • 1754 บรรยายแก่ข้าราชการครูจากสำนักงานศึกษาธิการ เขต 4 เรื่อง วินัยและคุณธรรมสำหรับพัฒนาคน /buddhadasa/4-13.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอังคาร, 24 มีนาคม 2563
ชุด
อบรมครูบาอาจารย์ , นักเรียนฝึกหัดครู
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

    • ท่านผู้ทำหน้าที่ครูบาอาจารย์และท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ คือแสวงหาความรู้ทางธรรมะเพื่อนำไปประกอบในหน้าที่การงานของตนให้มีผลดี เป็นสิ่งที่มีเหตุผลควรแก่การอนุโมทนา อาตมาขออนุโมทนาและสนองความประสงค์อันนั้น ตามที่จะทำได้..เพียงไร แต่ขอทำความเข้าใจบางอย่างเล็กน้อยว่าทำไมจึงมาพูดกันเวลาอย่างนี้ เพราะเหตุว่าเวลาอย่างนี้คือ ๕.๐๐ น.นี่เป็นเวลาที่ร่างกาย จิตใจ ยังใหม่ พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ ถ้าสายไปหรือกลางวันแล้วมันก็เหมือนกับของที่บรรจุ เออภาชนะที่บรรจุอะไรมากแล้วเติมลงไปยาก จิตใจยังว่างอยู่อย่างนี้มันเติมง่าย ขอให้รู้จักใช้เวลาอย่างนี้ เป็นการประจำ ตลอดเวลา ไม่ ๆ ว่าอยู่ที่ไหนลองใช้เวลา ๕.๐๐ น.ให้เป็นประโยชน์เถอะจะเป็นการเพิ่มอายุให้ตนเอง ให้มากออกไปอย่างน้อยวันละชั่วโมงสองชั่วโมง เป็นเวลาพิเศษ ที่จะเรียกกันว่าเป็นนาทีทอง หรืออะไรทำนองนั้นก็ได้ กับเพื่อนของเรายังกำลังหลับอยู่ กับใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ให้มีค่าที่สุด มันก็เท่ากับเพิ่มชีวิตให้ยาวออกไปอีกนั่นเอง จะได้ใช้ ใช้โลกเวลา ๕.๐๐ น.ให้เป็นประโยชน์อยู่จนเป็นนิสัย เวลาพิเศษนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ดอกไม้ป่าเริ่มบานเวลาอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายก็ตื่นจากหลับ ไก่ก็ขัน อย่างนี้เป็นต้น และพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้เวลาอย่างนี้ เป็นที่คาดคะเนได้ว่าแม้พระศาสดาแห่งศาสนาอื่นก็ได้ใช้เวลาอย่างนี้ เป็นเวลาตรัสรู้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะศาสดาของหมู่ชนที่เป็นผู้เคลื่อนที่อยู่เสมอ จึงขอเสนอให้สนใจแก่เวลา ๕.๐๐ น.นี้เป็นพิเศษและลองใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่มีอะไรตื่นขึ้นมาก็บันทึกความคิดนึกที่ใหม่ ๆ แล้วก็บันทึกเอาไว้ หรือรวบรวมความรู้เก่า ๆ บันทึกเอาไว้ หรือจะคิดนึกพิเศษออกไปก็เห็นผลดีทั้งนั้น เรียกว่าเพิ่มอายุให้แก่ชีวิต ซึ่งมีค่ามาก ส่วนตัวอาตมานั้นมันไม่มีเรื่องอะไร เนื่อง ๆ จาก ๆ ว่าเวลาอื่น ๆ น่ะไม่มีแรง ไม่มีเรี่ยวแรง เรี่ยวแรงลดลง ๆ มันตั้ง ๑๐ ปีมาแล้วที่เรี่ยวแรงเริ่มลดลง เยียวยาแก้ไขอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล เลยถือเสียว่ามันเป็นบาปเพราะมีอายุเกินกว่าพระพุทธเจ้ามาห้าหกปีแล้วมันจะรักษาอะไรไหวละ ก็ต้องไปตามเรื่องของมัน ฉะนั้นเวลาที่พอจะมีแรงบ้างก็คือเวลาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครมาขอให้พูดจาอะไรบ้างก็ใช้พูดเวลาอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีความลึกลับ ละเอียดซับซ้อนก็ยิ่งต้องใช้เวลาอย่างนี้ กลางวันใช้ไม่ได้ ไม่มีแรง บังคับมัน มันก็วิงเวียนหรือจะเป็นลมเป็นแล้ง ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะพูดจากัน ทีแรกก็ไม่ทราบว่าจะพูดเรื่องอะไรดี เห็นพระบันทึกไว้ว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ขวนขวายทำหน้าที่แสวงหาวินัยและคุณธรรมเพื่อการพัฒนาตน หรือแสวงหาธรรมะเพื่อพัฒนาตน ก็เลยถือเอาคำนี้เป็นหัวข้อสำหรับการบรรยาย คือบรรยายธรรมะในฐานะเป็นวินัยก็มี เป็นคุณธรรมก็มี สำหรับการพัฒนาตน เมื่อมีหัวข้ออย่างนี้ก็พยายามทำความเข้าใจกันไปตั้งแต่ต้นว่าพัฒนาตน พัฒนาตนนะ ว่าตนนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน ลองเอามาดูสิ ถ้าเอามาให้ดูไม่ได้ มันก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาตน จึงต้องทำความเข้าใจกันกับคำว่าตน ๆ นั่นแหละให้เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียก่อน อันนี้ ตน ๆ นี่มันเป็นปัญหายืดเยื้อมาแต่ครั้งพุทธกาลเป็นพัน ๆ ปี มากระทั่งเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไม่ใช่ตน คือสิ่งที่คนทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่า ตน ๆ ๆ นั้นน่ะ ท่านก็บอกว่ามันไม่ใช่ตน ทว่าจะพูดว่าตน มันก็ตนตามความหมายของคนเหล่านั้น หรือว่าถ้าพระพุทธเจ้าเองจะต้องตรัสกับคนเหล่านั้นในคำพูดภาษาพูดของคนเหล่านั้นท่านก็ใช้คำว่าตนด้วยเหมือนกัน มันจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่าทำไมบางเวลาพระพุทธเจ้าปฏิเสธว่ามีแต่สิ่งที่มิใช่ตน ในบางเวลาพระองค์เองก็ต้องตรัสว่าตน ๆ รักษาตน เป็นที่พึ่งแก่ตน พัฒนาตน ให้เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องสำหรับพูดจากับคนธรรมดาที่ยังมีตน เมื่อคนธรรมดาเขาไม่รู้หรือโง่มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว เพิ่งจะมาพูดคำอื่นเขาก็ไม่ฟังถูก มันก็ต้องพูดในแบบที่แจกแบ่งแยกออกไปจากกันให้รู้ว่าไอ้ตนนั้นมันคืออะไร ถ้าเราจะพูดกันให้สั้นที่สุด มันพูดว่าพัฒนาชีวิต นี่มองเห็นง่ายกว่าสิ่งที่เรียกว่าตน แม้แต่ชีวิตก็ยังไม่ใช่เห็นได้ง่าย ๆ นัก ตามหลักทางธรรมะ จึงระบุไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นไปยังขันธ์ทั้งห้า ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั่นน่ะ พอเราพูดว่าขันธ์ ๕ เด็ก ๆ สมัยนี้ก็แลบลิ้นหลอกให้เป็นคำ ครึคระ ของคุณยาย เออคนแก่วัด ก็ไม่อยากจะสนใจ เรื่องมันก็จบกันก็ไม่ต้องพูดกัน ฉะนั้นเราสังเกตดูไอ้ปัญหาเหล่านี้ บางพวกถือว่าชีวิตคือตน บางพวกถือปว่าจิตนั้นคือตน บางพวกหรือโดยมากหรือทั้งหมดก็ว่าได้ที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็ว่ารู้แล้วก็คือขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวตน คือร่างกาย ๑ ระบบจิตที่รู้สึกกับเวทนา ๑ ระบบจิตที่สำคัญมั่นหมายต่อไปจากนั้น ๑ ระบบจิตที่คิดนึกลงไปอย่างไรสำคัญมั่นหมายลงไปอย่างไรต่อจากสัญญานั้นอีก ๑ แล้วก็วิญญาณคือรู้ เอออคือสิ่งที่รู้จักรู้แจ้งสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบได้ ไอ้รูปนั้นเป็นเพียงเหมือนกับเปลือก ไอ้สี่อย่างที่เป็นจิตใจนั้นเป็นเหมือนกับเครื่องข้างใน รวมกันเป็น ๕ ส่วน แล้วก็เรียกว่าขันธ์ ๕ เมื่อเราจะเรียกว่าชีวิตก็หมายถึงว่าทั้ง ๆ ทั้ง ๕ นั้นน่ะทำงานร่วมกัน และทั้งหมดนั้นจิตมันเป็นใหญ่เป็นประธานเหนือสิ่งเหล่านั้นก็มักจะพูดเอาจิตเป็นคำเดียวว่าเป็นที่รับความหมายของ คำ ๆ ว่าชีวิต แล้วชีวิตก็หมายถึงไอ้การที่สิ่งเหล่านั้นนะยังเป็นอยู่ ยังไม่ตาย ยังทำหน้าที่ได้ นี่คือชีวิตในทางธรรมะ ในกรณีอย่างนี้จะเอาคำว่าชีวิตในภาษาวิทยาศาสตร์หรือภาษาอะไรเป็นต้นมาใช้นั้นไม่ได้ ต้องเอาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตในภาษาธรรมะ ก็คือการดำรงชีวิตนั่นเอง วิทยาศาสตร์ให้ความหมายแก่คำว่าชีวิตไปในทางวัตถุอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับจิตใจ เมื่อ เยื่อวุ้นหรือ POTOPLAS ในเซลล์ ๆ หนึ่งยังสดอยู่ยังไม่เน่าไม่ตาย ก็เรียกสิ่งนั้นว่าชีวิต มันเป็นเรื่องวัตถุเกินไป จนไม่ได้ความหมายอะไร เราไม่เอามาใช้กับภาษาธรรมะ จะใช้คำว่า เป็นอยู่ เป็นอยู่ มันก็ยังไม่รู้ว่าอะไร สิ่งที่ระบุลงไปที่การดำรงชีวิตให้รอดอยู่นั่นแหละคือชีวิต การดำรงชีวิตนั่นแหละคือชีวิต ถ้ามันเอาชีวิตเป็นตนก็หมายถึงการดำรงตน แต่เดี๋ยวนี้ก็อยากจะพูดคำที่จริงกว่านั้นตามหลักธรรมะ เออของพระพุทธองค์ว่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นตนโดยแท้จริง มีแต่สมมติให้ ก็สมมติกันมาก่อนหน้านั้นก่อนพระพุทธเจ้าเกิดอีก ใช้เป็นภาษาพูดธรรมดาสามัญไปแล้วเรียกว่า โปลี(นาทีที่ 13.27) ภาษาชาวบ้าน โลกียวิญญัติ (นาทีที่ 13.32) เป็นภาษาพูดของโลกเรียกว่า ตน ตน ตน แต่โดยเนื้อแท้สิ่งที่จะเป็นตน ๆ นั้นหาได้มีไม่ เพียงแต่เอาความหมายของคำ ๆ นี้มาเป็นตนในความรู้สึกเท่าที่จะรู้สึกได้ โดย เออสัญชาตญาณที่เด็กทารกก็รู้สึกได้แล้วก็พูดออกมาอย่างนั้นว่า ตน เช่นเด็กทารกอยู่ในท้องก็ไม่มีตนน่ะ พอออกจากท้องมารดา ก็เริ่มทำหน้าที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่เรียกว่าอายตนะ และเมื่อทำหน้าที่ทางอายตนะแล้วมันก็มีผลแก่ความรู้สึก เป็นความรู้สึกอร่อยในบางคราว อร่อย ๆ มันก็มีความเข้าใจหลงใหลยึดมั่นในความอร่อย แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าตนอร่อยขึ้นมาเอง คำนั้นน่ะใช้สมมติแทนทั้งหมดว่า กูอร่อย ถ้าไม่อร่อยก็ กูไม่อร่อย คำว่ากูในภาษาธรรมดาหรือค่อนข้างหยาบคายนั่นก็คือตนในที่นี้ มาจากความรู้สึกอันเกิดมาจากการเสวยอารมณ์เต็มที่ ในความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ถ้าเป็นบวกกูก็ชอบ ถ้าเป็นลบกูก็ไม่ชอบ นะอย่างนี้ นี่คือที่มาของคำว่าตน เมื่อระบบประสาทมันทำงานตามหน้าที่ของมัน ไอ้ความโง่ของเราก็ไปแย่งเอามาว่า เป็นหน้าที่ของตัวกู ว่าตน เช่นตาเห็นรูป นี่มันก็ระบบของตาเห็นรูปแล้วมันก็รู้สึกต่อสิ่งเหล่านั้น นับตั้งแต่รู้จักไอ้สีหรือมิติอะไรต่าง ๆ จนกระทั่งรู้จักว่าไอ้รูปนั้นเป็นรูปของอะไร เป็นรูปของไอ้ขี้หมาหรือดอกกุหลาบนี่ รู้จักอย่างนี้ระบบตาเป็นผู้รู้จัก แต่คนก็ว่ากูรู้จัก หูระบบหูได้ยินเสียงก็ว่ากูได้ยินเสียง ระบบจมูกได้กลิ่นก็ว่ากูได้กลิ่น มัน ๆ มันเข้ามาสิ ยึดเอาไปทุก ๆ ระบบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจคิดหรือจิตคิดมันก็ว่ากูคิด นี่คือว่าเอามา เอา ๆ ไอ้ธรรมชาตินะซึ่งไม่ใช่ตนมาเป็นของตน แล้วก็ลอง ๆ คิดดูเองว่ามันจะต่างกันกี่มากน้อยที่การรู้สึกว่า ตาเห็นรูปกับกูเห็นรูป มันจะต่างกันมากถ้าเป็นว่าระบบตาเห็นรูปก็จัดการไปตามสมควร แต่ถ้ากูเห็นรูปนะมันเลยไปถึงเกิดความยินดีหรือความไม่ยินดี มันก็เกิดการกระทำไปตามนั้น โดยเฉพาะอย่างลิ้นนี่ ถ้าลิ้นไม่อร่อยมันก็แก้ไขเติมนั่นเติมนี่ได้ แต่ถ้ากูไม่อร่อยมันก็ไล่แม่ครัวออก มันก็เป็นต่างกันมาก ดังนั้นจงรู้จักให้มันแน่ชัดลงไป ที่ว่าภาษาพูดที่เราพูดกันอยู่นี้มันเป็นภาษาสมมติ เป็นภาษาสมมติ ดังนั้นสมมติตามความรู้สึกของสัญชาตญาณไอ้ความรู้ที่ยังไม่ ๆ รู้ ความรู้ที่ยังไม่มีวิชชาความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้สึกไปตามสัญชาตญาณตามธรรมดาที่รู้สึกเป็นตน แล้วก็ยังรู้สึกมีความหมายเป็นคู่ ๆ สวยไม่สวย ไพเราะไม่ไพเราะ หอมเหม็น เป็นคู่ ๆ คู่ ๆ แต่ถ้าเอาธรรมะเป็นหลักแล้วมันเป็นเพียงปฏิกิริยาของสิ่งเหล่านั้นส่งเป็นทอด ๆ กันมาหาใช่ตัว หาใช่ตนที่ไหนไม่ นี่เป็นสิ่งที่ควรจะรู้ว่าเราจะพูดกันใน ๆ ใน ๆ แง่ไหน ในภาษาไหน คือพูดกันในแง่ของชาวบ้านปุถุชนธรรมดาว่ามีตน หรือจะพูดกันในแง่ของธรรมะอันลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา ว่าไม่มีตน มีแต่สิ่งปรุงแต่งตามธรรมชาติเป็นระบบ ๆ ไป คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความรู้สึกอย่างไรก็ปรุงแต่งส่งต่อ ๆ กันไปจนเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ก็แล้วแต่เรื่อง ดังนั้นในการพูดว่าพัฒนาตนมันจึงพัฒนาชีวิต พัฒนาจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาขันธ์ทั้งห้า ที่เป็นที่รองรับของสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิต อาตมาขอยืนยันว่า ถ้าไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา หัวใจของพระพุทธศาสนาก็คือบอกให้รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตนแต่ละขันธ์ ๆ ไม่ใช่ตน จะเป็นพุทธศาสนาอย่างเถรวาทอย่างพวกเรานี้ก็ดี หรืออย่างมหายาน เออ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือขึ้นไปถึงอินเดียครั้งโบราณโน่นก็ดี เขาเรียก มหายาน มันก็ย้ำข้อนี้ที่ว่าขันธ์ทั้งห้าไม่ใช่ตน แม้จะได้พูดเรื่องอื่นเสียยืดยาว ๆ มันก็ในที่สุดต้องจบลงด้วยการรู้ว่าขันธ์ ๕ มิใช่ตน มหายานอย่างใหม่ในจีน ในทิเบตก็มีก็เขาพูดไปเถอะอยากจะพูดอย่างไรก็พูดไป แต่แล้วในที่สุดมันก็ต้องมาสิ้นสุด สูงสุดที่ว่าขันธ์ ๕ มิใช่ตน เมื่อมิใช่ตนน่ะมันจะ ทำไปอย่างถูกต้องต่อธรรมชาติซึ่งมิใช่ตน ถ้าเห็นว่าตนมันก็ทำลงไปผิดจากธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งมิใช่ตน มันเลยกลายเป็นความยากลำบากที่ตรงนี้ที่คนจะรู้จักพระพุทธศาสนา หรือไม่ก็อยู่ที่ว่ารู้จักชีวิตหรือขันธ์ ๕ นี่เป็นตนหรือมิใช่ตน ดังนี้ถ้าเราจะพัฒนาตนให้มันหลงยิ่งขึ้นไปจนเป็นตนยิ่ง ๆ ขึ้นไปมันก็เป็นการพัฒนาที่จะไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าพัฒนาไอ้ชีวิตในฐานะที่เป็นชีวิตหรือเป็นขันธ์ทั้งห้าให้เจริญ ๆ สูงยิ่งขึ้นไปมันก็เป็นประโยชน์ ฉะนั้นคำว่าพัฒนาตนนี่เป็นคำที่ควรจะสนใจว่าในความหมายไหน พูดกันอย่างชาวบ้านกลางถนน หรือจะพูดกันอย่างเป็นผู้รู้ หรือเป็นนักศึกษา หรือเป็นพระอริยเจ้าท่านพูดกันอย่างไร เดี๋ยวนี้อาตมาก็พูดไปตามหลักของพระพุทธศาสนาว่า พัฒนาตนมันก็คือพัฒนา เออขันธ์ทั้งห้า หรือว่าจะเรียกไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นคำแทนอันนี้ก็ได้ ที่เรียกว่าเป็นขันธ์ ๕ โดยตรงนั่น ก็อย่างที่พูดมาแล้วโดยย่อ ว่าชีวิตของคนแบ่งออกเป็น ๒ ซีก ซีกวัตถุร่างกายซีกหนึ่ง และซีกจิตใจอีกซีกหนึ่ง วัตถุร่างกายเป็นเหมือนเปลือกเป็นเหมือนโครงนอกเป็นที่ตั้งอาศัยของสิ่งที่สำคัญกว่าที่อยู่ข้างใน ถ้าเปรียบกับรถยนต์สักคันหนึ่ง ระบบโครงสร้างเป็นคันรถนั่นแหละคือรูป ไอ้ส่วนระบบเครื่องยนต์ ระบบความร้อน ระบบหล่อลื่นอีกหลาย ๆ ระบบนั้น นั่นน่ะมันเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ ทางธรรมะก็คล้าย ๆ กันน่ะคือส่วนระบบวัตถุหรือกายมีหนึ่งเท่านั้นนะ ระบบจิตใจมีถึงสี่ รวมกันเป็นห้า ขอให้สังเกตศึกษาจากตัวจริง เพราะถ้าไปมัวศึกษาจากหนังสือหรือคำสอนในโรงเรียนก็ไม่อาจจะรู้ ไม่อาจจะรู้ ตัวจริงก็คือดูสิว่ามันมีระบบร่างกาย สำหรับพร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ต่างๆของจิตใจ ทีนี้ระบบจิตใจมันก็มีได้หลายแง่หลายมุม สิ่งที่เรียกว่าใจ ๆ หรือมะโน ๆ นั้นถ้ามันทำหน้าที่คิดก็เรียกมันว่าจิต ถ้ามีหน้าที่รู้จักอารมณ์ที่มากระทบก็เรียกมันว่าวิญญาณ ถ้ามันทำหน้าที่รู้แจ้งสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบจากภายนอกหรือเกิดขึ้นในภายในก็ดีก็เรียกมันว่ามะโน ฉะนั้นคำ ๓ คำว่า จิตก็ดี ใจก็ดี มะโนก็ดี มันหมายถึงสิ่งเดียวกันที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน และมันทำหน้าที่รู้สึกต่อเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ก็เรียกว่าระบบเวทนา ครั้นมีเวทนาแล้วจิตมันก็สำคัญมั่นหมายลงไปที่เวทนานั้นว่าเป็นอะไร เป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไรแล้วก็จนกระทั่งมันเกิดความยึดมั่นถือมั่น ระบบที่สำคัญมั่นหมายสิ่งที่เข้ามากระทบว่าเป็นอะไรนี่เรียกว่าสัญญา ถ้ามีสัญญาในสิ่งที่มากระทบมาก รู้ทุก ๆ เรื่องก็ได้ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เข้ามากระทบมันก็เกิดความอยากความต้องการไปตามสมควรแก่สัญญานั้น ถ้าเป็นบวกก็อยากจะเอา อยากจะได้ อยากจะมี ถ้าเป็นลบก็อยากจะฆ่า อยากจะทำลายอย่างนี้เรียกว่าสังขาร สังขารคือการปรุงแต่งความคิดนึกออกมาใหม่ แล้วความคิดนี้นึกก็ปรุงแต่งต่อไปจนเป็นการกระทำกรรม กรรมก็เรียกว่าสังขารในที่นี้ ส่วนที่มันทำหน้าที่เพียงรู้จักว่าอะไร ๆ ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระบบนี้เรียกว่าวิญญาณ เลยเรียงลำดับเอาไปไว้สุดโต่งเพราะว่าไอ้วิญญาณ ๆ นี่มันทำหน้าที่หลายหน ก็เลยได้เป็น ๕ ประการ ระบบกายเรียกว่ารูป ระบบจิตทั้งสี่คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีอยู่แก่คนทุกคนทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาถ้าไม่รู้จักมันก็ไม่รู้จะพูดกันอย่างไรแล้ว ไม่มีความสนใจพอที่จะรู้จักไอ้ขันธ์ทั้งห้า มันก็พูดไปตามภาษาไม่รู้ เป็นตัวตน เป็นตัวกูเป็นอย่างนั้นนะ กูเห็น กูได้ยิน กูอะไรต่าง ๆ กูเสวยเวทนา กูคิดนึก กูสำคัญมั่นหมาย เป็นตัวตนไปทั้งนั้น แม้แต่รูปร่างกายก็กู ยึดถือว่าเป็นตัวตน เออร่างกายเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ถือเสียว่าไอ้ร่างกายนั้นมันก็รู้สึกอะไรได้คือเริ่มมีตัวมีตนอยู่ที่ร่างกาย ๆ จึงรู้สึกอะไรได้ ก็เกิดความยึดมั่น ถือมั่นที่เรียกว่าอุปาทานนั้นนะ ในสิ่งทั้ง ๕ นี้ คือร่างกายนี้เป็นตัวกูก็ได้ เพราะมันทำอะไรได้มากเหมือนกัน หรือออย่างน้อยก็เป็นที่ตั้งแห่งชีวิต ไอ้เวทนามันรู้สึกได้ ปัญญามันสำคัญมั่นหมายได้ สังขารมันคิดนึกอะไรได้ วิญญาณรับอารมณ์ได้เป็นตัวกูกันไปหมด นี่เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวตน เข้าใจอย่างนั้น เชื่อถืออย่างนั้น พูดจากันอย่างนั้น มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนู่น จะก่อนเท่าไรกี่พันปีก็บอกไม่ได้หรอก แต่ว่าก่อน ๆ มนุษย์สมัยนู้นน่ะได้สำคัญเอาขันธ์ทั้งห้านี้ว่าเป็นตัวตน ตัวตน ตัวตนตลอดมา และก็มีคำสอนในลักษณะที่ว่ามันเป็นตัวตนจะต้องทำอย่างไร พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านก็สอนในทางตรงกันข้ามว่าขันธ์ทั้งห้านี้ไม่ใช่ตัวตน นี่ท่านเริ่มสอนเป็นเรื่องที่ ๒ หลังจากการตรัสรู้แล้วแสดงธรรมจักรฯ แล้วก็แสดงอนัตตลักขณสูตรที่ว่าขันธ์ ๕ มิใช่ตน ในความประสงค์อย่างเดียวก็คือว่าอย่าได้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตใจ เอาอะไรเป็นตัวตนมันก็เกิดความหนักใจขึ้นเพราะสิ่งนั้นแหละ เอาร่างกายเป็นตัวตนมันก็มีความหนักมีปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกาย เอาเวทนาเป็นตัวตนมันก็เป็นทาสของเวทนาเหมือนที่คนทั้งโลกกำลังเป็นอยู่ เหมือนคนทั้งโลกกำลังเป็นทาสของเวทนา ขวนขวายทุกอย่างทุกประการ ศึกษาเล่าเรียนประกอบการงานได้เงินได้ปัจจัยมาเพื่อไปซื้อหาเวทนาอันเป็นสุข จะหาอย่างจริง ๆ จัง ๆ มีครอบครัวมีอะไรเป็นหลักฐานหรือว่าเที่ยวหาอย่างคนโง่ก็สุดแท้เถอะ มันก็เป็นทาสของเวทนาทั้งนั้น เรียกว่าเป็นทาสกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกอีกภาเออภาษาหนึ่งก็ว่ามัน ๆ หลงบวก บ้าบวก อะไร ๆ ก็ให้เป็น positive ให้พร ให้พร ให้เป็น positive หมดทุก ๆ ทุกกระเบียดนิ้วไปเลย นี่เรียกว่ามันหลงบวก มันหลงเวทนาบวก หลงสิ่งที่เป็นปัจจัยแก่เวทนาบวกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเมื่อพูดตรง ๆ มันก็หิว ๆ ในเวทนาบวกอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำอะไรไปตามความหิวความต้องการที่เรียกว่าตัณหา เลยทำผิด ๆ ไม่มี ไม่ดับทุกข์ได้ไปตามอำนาจของอวิชชา นี่จึงเรียกว่ามันหลงบวก ทีนี้อีกทางหนึ่งตรงกันข้ามมันก็ให้ความหมายแก่ความเป็นของลบ เป็นลบ เป็น negative นั้นน่ะมันก็เกลียด มันก็กลัว มันก็มีจิตประทุษร้าย เอามาโกรธ เอามาแค้น เอามาแก้แค้น เอามาอะไรต่าง ๆ นี่ แล้วมันให้ความสำคัญมั่นหมายแก่ความเป็นบวก มันให้อภัยแก่ใครไม่ได้ มันถ่อมตัวไม่ได้มันอะไรไม่ได้ เพราะมันหลงลบ หลงบวกก็ไปทางบวก หลงลบก็ไปทางลบ ถ้าไม่เป็นบวกหรือไม่เป็นลบมันก็โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิมวนเวียนสงสัยอยู่ที่ไหน ๆ เวทนาบวกให้กิเลสเกิดกิเลสบวกคือโลภะ ราคะ โลภที่จะเอาราคะกำหนัดยินดี และชื่ออื่น ๆ อีกมากนะ กิเลสประเภทบวกก็หลงบวก กิเลสประเภทลบหลงลบก็เกิดกิเลสที่ชื่อว่าโทสะ ประทุษร้าย โกธะให้ความโกรธ ชื่ออื่น ๆ อีกมาก ถ้ามันไม่บวกไม่ลบมันก็โง่เท่าเดิม ก็คือว่าโมหะ โมหะ ไม่ได้รู้อะไรอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง แต่มันก็ยืดมั่นถือมั่นว่าจะต้องมีอะไรดี มีอะไรวิเศษ มีอะไรประเสริฐหรือมันยืดมั่นในสิ่งที่มันไม่รู้จักนั่นแหละ นี่เรียกว่าแบบกิเลสประเภทโมหะ แล้วก็ตกอยู่ภายใต้การบีบคั้น ของกิเลส ๓ ประเภทคือราคะ โทสะ โมหะ แล้วมันจะมีความถูกต้องได้อย่างไร เมื่อไม่มีความถูกต้องมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาทันที คือเดือดร้อนแก่ผู้ที่มีปัญหา สิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทนอยู่ไม่ได้นี่เราเรียกว่าปัญหา มีอยู่แก่ใครคนนั้นก็ดิ้นรนเพื่อจะแก้ปัญหาเพื่อจะให้หมดปัญหา เป็นปัญหาอย่างถาม ๆ เป็น question ก็มี เป็นปัญหาอย่างรบกวนคือเป็น problem ก็มี มันเป็นปัญหาไปเสียทั้งนั้น อย่าไปเข้าใจผิดว่าความสุขไม่ใช่ปัญหาไม่เป็นปัญหา นั่นแหละตัวปัญหาแหละ ความยุ่งยากลำบากเกิดมาจากความสุขนี่จะยุ่งยากลำบากกว้างขวางกว่าความทุกข์เสียด้วยซ้ำไป เพราะมันมีได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันขยายตัวออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันรัก มันหวง มันวิตกกังวล มันอาลัยอาวรณ์ สารพัดอย่าง แล้วความสุขนี้ไม่เท่าไหร่ก็กลายเป็นความทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง ก็เลยเป็นปัญหาซ้ำเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นเราจึงมีปัญหา ความเป็นบวกก็เป็นปัญหา ความเป็นลบก็เป็นปัญหา ความไม่แน่ว่าบวกว่าลบมันก็เป็นปัญหา ผู้ใดแก้ปัญหาได้ ผู้นั้นเป็นมนุษย์ประเสริฐเป็นอริยบุคคล ในความหมายของทุก ๆ ศาสนา อริยบุคคลก็คือผู้ที่ชนะความเป็นปัญหานะทั้งบวกและลบ ทั้งไม่บวกไม่ลบ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นการพัฒนาชีวิตได้จริงถึงที่สุด หรือเรียกอย่างภาษาคนไม่รู้ก็ว่าพัฒนาตัวเอง พัฒนาตนเอง พัฒนากูเองได้ถึงที่สุด แต่ถ้ายังมีความเห็นว่าตัวกูอยู่เท่าไรเพียงไรมันก็ยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นของกู แล้วมันก็แบกของกู มันก็หนักของ เออหนักแก่ตัวกู เป็นธรรมดาถ้ารู้สึกว่าเป็นตัวตน อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็เอามาเป็นของตนน่ะ เออที่แบบที่มันเดือดจัดก็เป็นตัวกู ตัวกู อะไรมาเกี่ยวข้องกันก็เรียกว่าของกู บุตรภรรยาของกู มิตรสหายของกู ศัตรูของกู ความแก่ เจ็บ ตายของกู มันก็เป็นพลอยเป็นของกู เรื่องของตัวกูและของกูมันมากมายมหาศาล ก็เป็นทุกข์ทรมานกันไป เมื่อใครไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะดับทุกข์ก็ได้ ก็เชิญตามสบาย แต่ถ้าใครอยากจะรู้ อยากจะเข้าใจก็ต้องศึกษาธรรมะ คือพัฒนาให้เกิดความรู้ ให้เกิดการกระทำอันถูกต้อง หรือจะเรียกว่าอะไรดี เรียกว่าพัฒนาตัวกูก็ได้เหมือนกัน พัฒนาจนรู้ ๆ ๆ จนหมดตัวกู ถ้าพัฒนาตัวตนก็คือพัฒนาให้มันหมดตัวตน ถ้าไม่ใช่ตนมีชีวิตมีขันธ์ ๕ ก็พัฒนาชีวิตพัฒนาขันธ์ ๕ ให้จนหมดปัญหา ให้หมดความทุกข์ ก็เรียกว่ามันไม่มีตัวตนอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีตัวตนอยู่ก็พัฒนาให้หมดตัวตนเสียก่อนมันจะได้รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยความเป็นธรรมชาติหรือว่าเป็นธาตุ ธา-ตุ นะถ้าเป็นธาตุตามธรรมชาตินั่นน่ะให้ความสำคัญ รู้จักสิ่งที่เป็นธรรมชาติใน ๔ ความหมาย ความหมายที่ ๑ เป็นธรรมชาติเป็นตัวธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ พวกนักวิทยาศาสตร์มันจะว่ามีสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ก็ตามใจมันเถอะ เพราะมันเรียนรู้แต่เรื่องฝ่ายวัตถุ มันเอาเรื่องฝ่ายจิตใจเป็นเหนือธรรมชาติไปเสีย ทางธรรม ทางพุทธศาสนานี่จะเป็นวัตถุหรือเป็นจิตใจ มันก็เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติไม่ยกเว้นให้เป็นเหนือธรรมชาตินั้นมันไม่มี นี่รู้จักธรรมชาติในความหมายที่หนึ่ง แล้วก็รู้จักกฎของธรรมชาติ ว่าในธรรมชาติทั้งหลายต้องมีกฎต้องมีกฎ กฎของธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่ ๒ มีอำนาจเฉียบขาดหรือว่าตรงไปตรงมา เออทำนองพระเป็นเจ้านั่นแหละเฉียบขาดสูงสุด ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะต้องเชื่อฟังแต่อ้อนวอนไม่ได้เพราะไม่รับสินบน เพราะไม่มีความรู้สึกอย่างบุคคล เออกฎของธรรมชาติไม่ได้มีความรู้ เฉียบขาดอำนาจเฉียบขาดแต่ก็อ้อนวอนไม่ได้ ถ้าจะอ้อนวอนให้ได้โดยเรียกว่าอ้อนวอนก็ต้องรู้ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ การที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติให้ถูกต้องนั่นแหละเป็นการอ้อนวอนที่แท้จริง ไม่ใช่นั่งอ้อนวอนแต่ปากขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เป็นอย่างนี้ นั่นก็เป็นเรื่องอ้อนวอนไปอีกแบบหนึ่ง คล้าย ๆ ว่าพระเจ้าเป็นบุคคล แต่เดี๋ยวนี้เราถือว่าถ้ากฎของธรรมชาติไม่ใช่บุคคล เป็นพระเจ้าก็ได้แต่ไม่ใช่อย่างบุคคล จึงอ้อนวอนไม่ได้ด้วยการเซ่นสรวงบูชาอะไรนอกจากว่าบูชาด้วยการทำหน้าที่ ทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมนั่นแหละคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วความหมายที่ ๔ ก็คือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ เพราะว่าถ้าทำหน้าที่แล้วมันก็ต้องมีผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ผิดมันก็ผลออกมาผิด ทำหน้าที่ถูกผลก็ออกมาถูก แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เป็นกฎของธรรมชาติตายตัว จึงได้หลักที่จะเป็นความรู้อย่างสำคัญว่า ๔ ประการ ๑ ตัวธรรมชาติแท้ ๆ , ๒ ตัวกฎของธรรมชาติซึ่งบังคับ สิงสถิตบังคับอยู่ในสิ่งทั้งปวง , ๓ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องโดยทุกประการ อันที่ ๔ ก็คือผลที่จะมาเกิดมาจากหน้าที่ นี่ก็คือหลักพื้นฐานที่ถ้าเข้าใจแล้วจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ ตัวธรรมชาติภาษาบาลีก็เรียกธรรมหรือธรรมะ กฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมหรือธรรมะ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมหรือธรรมะ ผลเกิดจากหน้าที่ก็เรียกว่าธรรมหรือธรรมะ คำว่าธรรมเพียงคำเดียวน่ะในภาษาไทยน่ะ ในภาษาบาลีว่าธรรมะ มีสี่ความหมาย มีสี่ความหมายจะต้องรู้ทั้งสี่ความหมายและจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ทั้งสี่ความหมายที่เป็นภายนอกเป็นสากลจักรวาลก็ดูเอาเองเถอะตามที่เรียนมา...มี ในดวงอาทิตย์มีดวงดาวต่าง ๆ ดาวพระเคราะห์เป็นบริวารและไม่รู้จะกี่ระบบ ๆ สุริยจักรวาล ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมชาติตามธรรมชาติเป็นไปตามธรรมชาติ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งของธรรมชาติปรุงธรรมชาติแล้วก็เกิดขึ้น นี่เรียกว่าธรรมชาติ แล้วก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมสิ่งเหล่านั้นอยู่สิ่งเหล่านั้นต้องเป็นไปตามกฎ แม้จะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเคลื่อนที่อย่างไรก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้โดยกฎของธรรมชาติมันจึงยังอยู่ หรือว่ามันไม่ชนกันแหลกลาญไปหมด และก็มีผลปฏิกิริยาออกมาเป็นเออเป็นฟ้า เป็นฝน เป็นฤดูกาล เป็นอะไรที่เนื่องมาถึงโลกเรา ที่โลกอื่นก็เป็นไปในโลกอื่นอย่างอื่นนี่เป็นผลของมัน แล้วอะไรจะไปต่อต้านมันได้เล่ามันเป็นครอบงำจักรวาลอย่างนี้ แต่ว่านั้นมันไม่สำคัญคือมันยังไม่เกี่ยวกับตัวเราโดยเฉพาะ เรามาดูกันที่เกี่ยวกับตัวเราโดยเฉพาะในอัตภาพหนึ่ง ๆ ในร่างกายของคน ๆ หนึ่งเรียกว่าอัตภาพหนึ่ง ๆ นั้นมันก็มีธรรมะ ๔ ความหมายนี้อย่างครบถ้วน มีตัวธรรมชาติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เอ็น เนื้อ ตับ ไต ไส้ พุง ซึ่งเป็นตัวกายล้วน ๆ นี่ก็เรียกว่าเป็นธรรมชาติ แล้วมันก็มีกฎเกณฑ์บังคับควบคุมสิ่งเหล่านี้อยู่มันจึงทำหน้าที่ มันจึงเคลื่อนไหว มันจึงเปลี่ยนแปลง มันจึงสร้างสรรได้ในตัวมันเอง แล้วมันก็มีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติเช่นหัวใจก็ต้องมีหน้าที่สูบฉีดโลหิต ปอดก็ทำหน้าที่สูบฉีดอากาศมันก็เป็นหน้าที่ ๆ มันทำของมันตามธรรมชาติก็มากมายมหาศาล แล้วเหลือไว้ให้เป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะก็ไม่น้อยเหมือนกัน รู้จักหาอาหาร รู้จักกินอาหาร รู้จักบริหารทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการจะอาบ จะถ่าย จะกิน จะอะไรก็ต้องมีหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ซ้อน ๆ ๆ กันอยู่เพราะมันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ถ้าทำหน้าที่เหล่านี้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหา ถ้าทำหน้าที่เหล่านี้ผิดมันก็เกิดปัญหาขึ้นมาคือความทุกข์ พูดได้อีกคำหนึ่งว่าชีวิตมันก็จะกัดเจ้าของ ชีวิตที่ประกอบอยู่ในธรรมชาติ ๔ ความหมายนี่ลองทำกับมันไม่ถูกเหอะมันไม่มันไม่เรียกว่าพัฒนานะถ้าทำกับมันไม่ถูกนะมันกลับตรงกันข้าม มันก็จะมีผลเกิดขึ้นมาเป็นชีวิตที่กัดเจ้าของ ไม่ต้องมีอะไรที่ไหนมาไอ้ตัวชีวิตนั่นแหละมันจะกัดเจ้าของ เพราะว่าทำผิดแล้วมันก็มีตัวกู ของกู มีกิเลสตัณหาสารพัดอย่างมากมาย ความรักกัดทั้งสองชนิดแหละ จะรักกามารมณ์หรือรักโดยธรรมะมันก็กัด ความโกรธมันก็กัด ความเกลียดมันก็กัด ความกลัวมันก็กัด ความตื่นเต้นมันก็กัด ความวิตกกังวลมันก็กัด ความอาลัยอาวรณ์มันก็กัด ความอิจฉาริษยามันก็กัด ความหวงมันก็กัด เออความหึงมันก็กัดถึงขนาดฆ่าล้างโคตรกันเลยนี่ ๆ ชีวิตมันกัดเจ้าของ ถ้าสนใจได้อย่างนี้ เข้าใจได้ถึงอย่างนี้ก็เรียกว่ารู้จักปัญหาอันแท้จริง รู้จักเหตุผลของการพัฒนาและก็จะสามารถทำการพัฒนาได้จริง พัฒนา ๆ ๆ มีความถูกต้อง ถูกต้องจนชีวิตไม่กัดเจ้าของเออคนนั้นก็รอดตัวไป เกิดมาทั้งทีชีวิตไม่กัดเจ้าของ ไอ้ชีวิตที่กัดเจ้าของมันเลวกว่าสุนัขนะ ชีวิตที่เลวกว่าสุนัขนะ เพราะว่าสุนัขมันยังไม่เคยกัดเจ้าของนี่ ชีวิตที่กัดเจ้าของมันเป็นชีวิตของคนโง่ ไม่รู้จักตัวชีวิตตามที่เป็นจริง อย่าว่าแต่จะพัฒนาเลย เพียงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเลวร้ายเหล่านี้มันก็ป้องกันไม่ได้เพราะมันไม่รู้ธรรมะ เพราะมันอวดดีเห็นธรรมะเป็นของ ครึคระ สำหรับคนโง่ มันไม่รู้ว่าธรรมะนั่นแหละคือตัวปัจจุบัน ปัจจุบันที่ไม่เคยเปลี่ยนเป็นอดีตคือมีความเป็นอย่างนี้ มีกฎเกณฑ์อย่างนี้ มีหน้าที่อย่างนี้ ไปทำกับมันไม่ถูกมันก็กัดเอา นี่ใช้คำง่าย ๆ อย่างนี้ ก็คือเป็นทุกข์นั่นแหละ เออพวกฝรั่งที่เข้ามากันที่นี่ทุกเดือน ๆ ละร้อยกว่าคนนี่มันชอบใจคำนี้มากที่สุด ถ้าเขามาขอบใจอาตมาเป็นส่วนตัวเขาก็จะยกคำนี้ขึ้นพูดว่าเขาได้พบชีวิตใหม่ หรือวิถีแห่งชีวิตอันใหม่สามารถทำให้ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ท่านลองไปคิดดูใคร่ครวญดูว่าความหมายของคำ ๆ นี้เออมันมีความหมายอย่างไร ชีวิตธรรมะก็คือรู้จักตัวชีวิต รู้จักชีวิตมันก็ปฏิบัติถูกต่อชีวิต ชีวิตก็ไม่กัดเจ้าของ แต่เป็นที่น่าขันที่ว่าคนสนใจธรรมะน้อยที่สุด คนในโลกนี่มันสนใจธรรมะน้อยที่สุด ๒๔ ชั่วโมงสนใจธรรมะสัก ๕ นาทีก็จะแทบจะไม่มี อย่างเช่นให้เวลาพูด ๑ ชั่วโมงมันคุ้มกับเรื่องของธรรมะอันมหาศาลไหม นี่มันก็แสดงว่าอยู่ในจำพวกที่ให้ความสนใจแก่ธรรมะน้อยเหมือนกันนะ ฉะนั้นอาตมาจึงคิดว่าเราจะต้องพูดกันทุกวัน และวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จัดการศึกษาให้ถูกต้องก็ต้องให้ถูกต้องตามระบบของธรรมชาติ ฉะนั้นให้ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาปรึกษาหารือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ครูก็ช่วย พ่อแม่ก็ช่วย ใครก็ช่วย ให้ลูกเด็ก ๆ มันรู้ธรรมะแล้วมันปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องแล้วมันก็จะหมดปัญหา มันจะปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมะโดยใจความสำคัญก็คือมันไม่หลงโง่ว่าตัวกู ไม่หลงโง่ว่าของกู นั่นนะปัญหาสำคัญในโลกทั้งโลกนี้มันอยู่ที่นี่ มันมีความเข้าใจว่าตัวกู ว่าของกู แล้วมันก็เห็นแก่ตัว ถ้ารู้สึกว่ามีตัวเฉย ๆ นั้นไม่เท่าไหร่อะไม่กัดอะแต่พอว่าเห็นแก่ตัวนั่นนะมันจะเริ่มกัดละ รู้สึกว่าเป็นตัวตนเป็น self เฉย ๆ ตามสัญชาตญาณมันยังไม่กัด พอมันกลายเป็น selfish selfish ขึ้นมามันกัดทันที รู้จักป้องกันไอ้ self ที่อย่าให้กลายเป็น selfish เดี๋ยวนี้คนพอออกจากท้องแม่ก็เริ่มมีการกลายของ self เฉย ๆ ว่าตัวกูเฉย ๆ เป็นเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ไอ้ลูกเด็ก ๆ มันยังรู้จักจะเอาเปรียบ รู้จักจะเอาให้มาก มันรู้จักอิจฉาน้อง สารพัดอย่างละที่เป็นความเห็นแก่ตัวและมันก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นจนเห็นแก่ตัวจนเป็นปัญหาในโลก ดูเอาเองปัญหาในโลกมาจากความเห็นแก่ตัว ประเทศมหาอำนาจนั้นมันก็เห็นแก่ตัว ประเทศเล็ก ๆ กระจ้อยร่อยก็พลอยเห็นแก่ตัวตามก้นเขาไปด้วย เศรษฐีก็เห็นแก่ตัว ขอทานก็เห็นแก่ตัว คนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัวแล้วมันจะเกิดอะไร ต่างฝ่ายต่างต่อสู้ต่างฝ่ายต้องการจะเอาประโยชน์มากมาย เมื่อไม่มาเป็นลูกจ้างนายจ้างกันมันก็ไม่มีข้อขัดแย้งยังไม่เกิดความเห็นแก่ตัว พอได้เกิดมาจับคู่กันเป็นลูกจ้างเป็นนายจ้างแก่กันและกันเท่านั้นแหละ ฝ่ายนายจ้างก็จะเอาเปรียบและประโยชน์ให้มาก ไอ้ลูกจ้างก็จะเปรียบเอาเปรียบเอาประโยชน์ให้มาก มันก็เลยขัดแย้งกัน เป็นปัญหาโลกแตกไม่สามารถจะขจัดไปได้จนกระทั่งบัดนี้ ปัญหาทางการเมืองนั้นดูให้ดี ปัญหาทางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั่นสำคัญที่สุด ไม่เป็นเหตุให้ยุติปัญหาใด ๆ ได้เพราะทุกคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วมันก็ขี้เกียจทำงานแต่มันจะเอาประโยชน์มันก็อิจฉาริษยา มันก็จองหอง มันก็ไม่สามัคคี มันก็ขบถทรยศอะไรต่าง ๆ กระทั่งมันรับจ้างเลือกผู้แทนนะ มันเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว มันไม่อยากจะทำอะไรมันก็เลยคิดรวยลัดปล้นจี้ดีกว่าไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย มันก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นด้วยความเห็นแก่ตัวมันก็ทำลายความปกติ สร้างมลภาวะ สร้างมลภาวะนานาชนิดที่เป็นปัญหาจนเหลือความสามารถ สร้างปัญหายาเสพติดจนเหลือความสามารถจะขจัดป้องกัน ทำลายป่าทำลายธรรมชาติจนเหลือที่จะป้องกัน ทำลายสิ่งที่เขาสร้างไว้ดีแล้วจนเหลือที่จะป้องกัน เห็นแก่ตัวมันก็ไปลองไอ้ความสุขที่ไม่เคยลองอย่างโง่เขลา มันก็ได้เป็นโรคเพราะไอ้กามารมณ์ ลำพ่าย (นาทีที่ 50.57.9) นั่นแหละ ได้เป็นโรคเอดส์ที่หมาก็ไม่เป็น คิดดูเถอะคนต้องไปเป็นโรคที่หมาก็ไม่เป็น โรคเอดส์ ซิฟิลิส โกโนเรียอะไรก็ตามที่หมาไม่เป็นน่ะแล้วคนไปรับมาเป็น เลยสมน้ำหน้าพวกเห็นแก่ตัวนั้นนะ ถ้าครูเห็นแก่ตัวอะไรจะเกิดขึ้นลองคิดดู จะทำนาบนหลังลูกศิษย์สบายไปเลย ถ้าหมอเห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังคนเจ็บ ถ้าตุลาการเห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังจำเลย ถ้าพระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังทายกทายิกา จะไม่มีอะไรที่ไม่เป็นการเอาเปรียบ มันจะมีการเอาเปรียบแล้วก็เกิดปัญหา แล้วตัวเองก็วินาศ คนเห็นแก่ตัวหนักเข้า หนักเข้า หนักเข้ามันจะตกไปเป็นบ้าไปอยู่โรงพยาบาลบ้า อีกทางหนึ่งมันเดือดจัดไปในทางหนึ่งมันก็ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าลูกฆ่าเมีย ฆ่าตัวเองตายตามไปในที่สุดเพราะความเห็นแก่ตัว มหาเศรษฐีก็ยังเห็นแก่ตัวฆ่าตัวเองตายเพราะความเห็นแก่ตัวมันหลงทาง เดี๋ยวนี้เราก็เห็นแก่ตัวบำรุงบำเรอตัวซื้อหาของใหม่มาสับเปลี่ยนของเก่าจนเต็มไปด้วยของเกินเต็มไปในบ้านในเรือนไปสำรวจดูในบ้านของคุณอะไรเกินเอาทิ้ง อะไรเกินเอาทิ้งจะเหลือไม่กี่อย่างหละ เดี๋ยวนี้ยังพร้อมที่จะเตรียมเงินไว้หาซื้อของที่ออกมาใหม่ทั้งที่ของเก่ามันใช้ได้ รถยนต์ก็จะเปลี่ยนใหม่ ตู้เย็นก็จะเปลี่ยนใหม่ ทีวีก็จะเปลี่ยนใหม่พร้อมอยู่เสมอ ในระบบอุตสาหกรรมจึงรุ่งเรือง ๆ เพราะคนพร้อมที่จะเปลี่ยนของใหม่อยู่เสมอ หมดความเห็นแก่ตัวเมื่อไรไม่เกิดความเลวร้ายเหล่านี้ ช่วยคิดข้อนี้หน่อย ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวใครจะทำผิดกฎหมาย มันจะไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครขโมยของใคร ไม่มีใครทำกาเมต่อใคร ไม่มีใครโกหกหลอกลวงใคร ไม่ประทุษร้ายผู้อื่นด้วยความเมาของตัวนี่เรียกว่าไม่เกิดคดีอาชญา ถ้าใครด่ามันก็ยกให้ ๆ มันได้บุญเลยให้มันได้สบาย ใครเอาเปรียบมันก็ยกให้อภัยให้มันไม่ไปฟ้องทางแพ่ง คดีทางแพ่งทุกอย่างมันก็ไม่เกิดนะถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว มันก็ไม่เกิดคดีทางแพ่ง ในทางอาญา เอากฎหมายไปทิ้งทะเลเสียก็ได้ เอาศาลไปทิ้งทะเล เอาคุกเอาเรือนจำไปทิ้งทะเลเสียก็ได้ถ้าคนมันไม่เห็นแก่ตัวนะ ถ้ามันเห็นแก่ตัวแล้วมันก็เพิ่มขึ้น ๆ กระทั่งว่าพระศาสนาก็ไม่ต้องมีหรอกเพราะพระศาสนาก็เกิดขึ้นมีขึ้นเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์มาแต่ดึกดำ
    • บรรพ์ ดังนี้ถ้าคนมันหมดความเห็นแก่ตัวเสียแล้ว ศาสนามันก็ว่างงานไม่ต้องใช้หรอกก็เป็นอันระงับไป ถ้าไม่เห็นแก่ตัวแล้วกฎหมายก็ต้องไม่ต้องมี ศาสนาก็ไม่ต้องมี ก็อยู่กันเยือกเย็นเป็นสุขอย่างศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย ศาสนาพระศรีอารย์ไม่มีใครเห็นแก่ตัว มีแต่คนคอยช่วยเหลือผู้อื่นมีความเป็นเพื่อนสูงสุด “เมตไตรยะ” มันเกื้อแปลว่าเกื้อกูลแก่ความเป็นมิตร “ศรี” นั้นชั้นเลิศ “อริย” แปลว่าชั้นประเสริฐ ศรีอริย - เมตไตรยนี่ “ศรีอริยเมตไตรย” ความเป็นมิตรสูงสุด มันก็เกิดเพราะความไม่เห็นแก่ตัวไม่มีความเห็นแก่ตัว มีแต่ผู้ที่คอยจะช่วยเหลือ ถ้าระบบอุดมคติโพธิสัตว์มันก็ช่วยเหลือผู้อื่นจนไม่เห็นแก่ชีวิตของตัวเองนี่แหละธรรมะมันสูงสุด เมื่อจะพัฒนาตัวก็จงพัฒนาไปในทางทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความเห็นแก่ตัวคือปฏิบัติทาง เออ กรรมฐานภาวนา ซึ่งมีเทคนิคเฉพาะอธิบายจบในชั่วโมงไม่ได้ล่ะ ค่อยแสวงหาขวนขวายเอาศึกษาเอาปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ ไป มันก็จะเจริญก้าวหน้าไปในทางพัฒนาตัวให้หมดตัว พัฒนาตัวให้หมดความเห็นแก่ตัว พัฒนาชีวิตเออขันธ์ทั้งห้าให้หมดความยืดมั่นถือมั่น แล้วมันก็ไม่มีกิเลสใด ๆ ไม่มีกิเลสใด ๆ ไม่มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความอิจฉาริษยา วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ เออถ้าไม่มีปัญหานี่มนุษย์ประเสริฐอริยมนุษย์ ถ้าสูงสุดถึงที่สุดก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นมนุษย์ผู้มีความเต็มแก่ความเป็นมนุษย์เพราะสามารถพัฒนา ๆ ได้โดยแท้จริง พัฒนาตัวจนหมดตัว พัฒนาระบบทุกระบบให้มันถูกต้อง ระบบวัตถุในบ้านเรือนถูกต้อง ระบบร่างกายถูกต้อง ระบบจิตใจถูกต้อง ระบบสติปัญญาของจิตใจถูกต้อง เอาทั้ง ๔ ระบบเถิด วัตถุมันต้องมี บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอย อาหารมันก็ต้องมี ร่างกายก็ต้องถูกต้องสุขภาพอนามัยดี จิตก็ถูกต้องมีสุขภาพอนามัยดี สติปัญญาก็ถูกต้องรู้แต่ในความจริงความถูกต้องพัฒนาไปได้ ดังนั้นมันก็หมดปัญหาไม่มีความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ทั้งโลกล่ะ มันยิ่งเห็นแก่ตัวยิ่งศึกษามากยิ่งเห็นแก่ตัวลึก เพราะไม่มีศาสนาควบคุม คนก็มีโอกาสเห็นแก่ตัวลึก ๆ ๆ ยิ่งขึ้นไป ยิ่งเรียนยิ่งเห็นแก่ตัวลึกนี่ในการศาสนามันจึงหมดเข้าไปเกี่ยวข้องเขาแยกศาสนาออกไปจากการศึกษา การศึกษาก็ฟรียิ่งเรียนมากยิ่งฉลาดมากก็ยิ่งเห็นแก่ตัวลึกบนโลกนี้จะต้องมีปัญหาด้วยความเห็นแก่ตัวไม่มีที่สิ้นสุด มีสงครามเย็นอยู่เป็นประจำตลอดเวลา มีสงครามร้อนอยู่เป็นคราว ๆ เพราะความเห็นแก่ตัวซึ่งไปดูเอาเอง เห็นได้เอง เข้าใจได้เอง ขอให้ท่านทั้งหลายพัฒนาให้เกิดความถูกต้อง ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของพระศาสนา ให้ถูกต้องทาง philosophy ถูกต้องทาง logic นั้นอย่าเอามาใช้เลยใช้กันไม่ได้นั่น ๆ เพราะมันไม่ใช่ความถูกต้อง แท้จริงมันเป็นเรื่องอ้างเหตุผลอ้างอะไรกันตามความคิดของตัวมีข้อขัดแย้งตลอดเวลา ขอให้ความถูกต้องทางหลักของพระพุทธศาสนาคือไม่มีใครเดือดร้อน มีแต่ผู้ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายผู้อื่น นี่เรียกว่าความถูกต้องตามหลักแห่งพระศาสนา ขอให้การพัฒนานำมาสู่ผลอันนี้อยู่ตลอดเวลา ยิ่งศึกษามากยิ่งลดความเห็นแก่ตัว ยิ่งศึกษามากยิ่งลดความเห็นแก่ตัว ปัญหาในโลกก็หมดไป เวลาที่ท่านกำหนดให้ ๑ ชั่วโมงก็หมดแล้ว ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ด้วยการฝึกฝนจิตใจอบรมจิตใจตลอดเวลา ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มีความก้าวหน้า เออในทางจิตใจโดยลดความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัว ให้ลูกเด็ก ๆ นักเรียนที่จะตามมาทีหลังลดความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัว มันก็จะได้รับผลสูงสุดดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งในการมาที่นี่เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะ ขออนุโมทนาให้ท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จประโยชน์ในความประสงค์อันนั้น มีความสุขสวัสดีก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service