แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจในธรรม ทั้งหลาย พูดกันในวันนี้ ด้วยหัวข้อ ที่ค่อนข้างจะประหลาดสักหน่อย ที่จะฟังดูประหลาดสักหน่อย โดย โดยหัวข้อ ว่า สหกรณ์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย จะพูดถึงภาวะ ของการสหกรณ์กันและกัน แห่งศาสตร์ทั้งหลาย เพราะรู้สึกว่าไม่มีใคร ค่อยจะคิดถึงกันนัก ในข้อนี้ ที่จริงนั้นน่ะ ไอ้ศาสตร์ทั้งหลาย คือความรู้ ทั้งหลาย แต่ละแขนง ธรรมชาติ กำหนดมาให้ใช้ร่วมกัน คือเจือกัน ปนกัน สัมพันธ์กัน เอ่อ, ตามสมควร เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆโดยทั่วๆไป มันไม่ได้มีสิ่งใดอยู่โดดเดี่ยว มันย่อมสัมพันธ์กันกับหลายๆสิ่ง อย่างว่าร่างกายของเราอย่างนี้ มันต้องประกอบขึ้นด้วยหลายๆสิ่ง หลายๆส่วน หลายๆหน้าที่ และประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย อ่า, ของคนๆหนึ่ง ส่วน แต่ละส่วน อวัยวะ แต่อวัย...แต่ละอวัยวะเหล่านั้น ต้องสัมพันธ์กันกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำงานร่วมกัน ในลักษณะที่เรียกว่า สหกรณ์ ขอให้พิจารณาดูให้ดี ในตัวเรานี้ มีอวัยวะต่างๆ หลายอย่าง จะพูดอย่างชาวบ้านพูดก็ อาการ ๓๒ ก็ล้วนแต่ต้องทำงานสัมพันธ์กัน เหมือนกับสหกรณ์ ชีวิตจึงจะรอดอยู่ได้ นับตั้งแต่ว่า ปาก คอ ท้อง ลำไส้ อะไรเหล่านี้ มันมีการร่วมกันทำงาน ชีวิตจึงรอดอยู่ได้ ศาสตร์ ศาสตระ ศาสตระ คือความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก อันมากมายนี่หลายสิบอย่างนี่ ก็มีลักษณะที่จะต้อง สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แล้วก็ทำงานร่วมกันตามหน้าที่ของตน กิจการนั้นๆก็จะสำเร็จได้ด้วยดี
คำว่า ศาสตร์ ศาสตร์นี่ ใครจะเข้าใจอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่อาตมาเข้าใจว่า มีความหมายเหมือนกับ ตัวหนังสือนั่นแหละ ศาสตระ ศาสตระ ก็คือศาสตรา ศาสตราเป็นของมีคม เป็นเครื่องมือสำหรับตัด ถ้า อาวุธ เป็นของที่ว่าไม่ต้องมีคมก็ได้ แล้วก็ใช้ในที่ไกลด้วย ถ้าศาสตรานี่ ของมีคมที่จะฟันหรือตัดลงไป เรียกว่ามันสำหรับจะตัดโดยตรง นี่เราเรียกว่า ศาสตรา มันมีหน้าที่ที่จะแก้ปัญหา ด้วยการตัด ตัดปัญหาให้ขาดออกไป แล้วก็แก้ปัญหาต่างๆ เอ่อ, ตามชื่อของมัน เช่นว่า มนุษยศาสตร์ ศาสตร์สำหรับมนุษย์ ก็จะต้องแก้ปัญหาของมนุษย์ตามชื่อของมัน และก็ได้ผลมา ตรงตามชื่อของมัน คือได้ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ได้ความเป็นมนุษย์ที่ดี มนุษยศาสตร์ หรือจะว่าสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็ต้องเพื่อสังคม แก้ปัญหาของสังคม ได้ผลมาเป็นสังคมที่ดี แม้แต่สิ่งที่เรียกกันอย่าง ค่อนข้างจะโตกกะโดก ว่ากามศาสตร์ มันก็ยังมี สำหรับจะได้มีความรู้ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า กามะ และก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในสิ่งนั้นๆ อย่าให้เกิดพิษ เกิดโทษ เกิดอันตรายใดๆ ขึ้นมา และก็ให้ได้รับผลตามที่ควรจะได้ ไม่เป็นอันตราย นี่เรียกว่า ชื่อศาสตร์ ก็คือศาสตรา และก็จะตัดปัญหา ตามชื่อนั้นๆ ที่เราบัญญัติขึ้น และก็นำผลมา ตรงตามชื่อนั้นๆ ที่เราบัญญัติไว้ ว่ามันจะให้ผลอะไร แต่เดี๋ยวนี้ มันน่าหัว มันน่าหัว ที่ว่า มันเปลี่ยนแปลงไป ในมือ อ่า, ของคนที่ใช้มัน และก็ทำให้เกิดผลไม่ตรงกันกับความมุ่งหมายเดิม ซึ่งถูกต้อง ที่บริสุทธิ์ จะยกตัวอย่างเช่นคำว่า วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันก็เป็นศาสตร์ที่ดีมีหลักมีเกณฑ์แก้ปัญหาต่างๆได้ดี แต่พอมาเดี๋ยวนี้ ไอ้คำว่าวิทยาศาสตร์นั่น ทำไมมันจึงกลายเป็นคำที่เลวร้ายไป เลวร้ายไป กลายเป็นชื่อของปลอมไป อย่างทองวิทยาศาสตร์ ก็คือไม่ใช่ทองแท้ ชาวบ้านก็พูดอย่างนั้น ถ้าทองวิทยาศาสตร์ก็ทองปลอม วิทยาศาสตร์ถูกเอาไปใช้ในลักษณะนี้
กระทั่งมาถึงคน คน น่าหัวล่ะเรื่องนี้ อยากจะเล่าไว้ เดี๋ยวมันจะหายไปเสีย อาจารย์แก่ๆองค์หนึ่ง ดุพระหนุ่มๆองค์หนึ่ง ดุ “ออกไป ออกไป แกมันพระนักวิทยาศาสตร์ ออกไป ออกไป แกมันเป็นพระวิทยาศาสตร์ เป็นพระวิทยาศาสตร์ ชั้นเป็นพระตามธรรมชาติ พูดกันไม่รู้เรื่อง ออกไป ออกไป ไอ้พระวิทยาศาสตร์” หมายความว่าพระที่มัน มันเห่อสมัยหรือว่ามันอะไร ไม่ถูกต้อง ตามที่ความเป็นพระควรจะมี เลยเรียกพระองค์นั้นว่า พระวิทยาศาสตร์ไปเสียอย่างนี้ก็มี ดูสิ คำที่ว่ามันใช้ มันไม่แน่น่ะ มันเอาอะไรไปเป็นที่แน่นอนไม่ได้ .
แม้ที่สุดแต่คำว่า จิตวิทยา จิตวิทยาก็เป็นวิทยาที่ดี ที่ให้รู้เรื่องของจิต และก็สามารถจะใช้จิต ให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่แล้วเดี๋ยวนี้ไอ้คำว่า จิตวิทยามันเสียชื่อ มันกลายเป็นไอ้เครื่องมือสำหรับ หลอกลวง ล่อลวง เช่นพูดกันอยู่เสมอๆว่า เอ้า, ใช้ไซโคอีกแล้ว แกนี่ใช้ไซโคอีกแล้ว ที่จะหลอกลวง หรือว่าจะต้มตุ๋นอะไร ไอ้จิตวิทยาก็เลยกลายเป็นเสียชื่อ นี่มันก็มีอยู่นะ ข้อเท็จจริงอันนี้มันก็มีอยู่ มันจะเป็นเจตนาของใคร รึก็ไม่ใช่ทั้งนั้นนะ แต่มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดา เพราะว่าเราได้เอาไอ้สิ่งเหล่านั้นไปใช้กันอย่างผิดๆ ไม่ถูกต้อง ไม่บริสุทธิ์ ตามความหมายเดิม ตามความหมายเดิมโดยมันเสียชื่อทางศาสตร์นั้นๆไป
ไอ้ศาสตร์แต่ละศาสตร์น่ะ ศาสตร์หนึ่งๆนี่ เราอาจจะตีความออกไปได้ทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า ทั้งซ้ายทั้งขวาก็แล้วกัน คือทั้งแง่ดีและแง่ร้าย อย่างเรื่องจิตศาสตร์ จิตศาสตร์นั้น ที่ถูกมันก็เป็นเรื่องความรู้เกี่ยวกับจิต ที่ใช้จิตให้ทำประโยชน์ ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น จะได้รับประโยชน์เป็นที่น่าพอใจ เดี๋ยวนี้คำว่า จิตศาสตร์ ในอีกแง่หนึ่ง ในอีกความหมายหนึ่ง มันหมายถึงวิชาที่จะทำร้ายผู้อื่น อย่างดุร้ายที่สุด คือทำร้ายกันด้วยจิต ด้วยจิตศาสตร์ นี่ความหมายของคำว่าจิตศาสตร์มันขยายออกไปสองข้าง ที่ดีก็ไปทาง ที่ร้ายก็ไปอีกทางนึง นี่ศาสตร์ทั้งหลายมันอาจจะทำได้อย่างนี้ทั้งนั้น
โดยเฉพาะ เศรษฐศาสตร์ น่าหัวที่สุด แทนที่จะเป็น ไอ้, เครื่องทำให้เกิดประโยชน์อันน่าชื่นใจ ตามความหมาย คือทำสิ่งที่ไม่มีค่า ให้มีค่าขึ้นมา หรือว่าทำสิ่งที่มีค่าน้อย ให้มีค่ามากขึ้นมา เป็นตามความหมายของเศรษฐศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้มันถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือที่จะครอบงำผู้อื่น ที่จะทำลายล้างผู้อื่น จะเอาเปรียบผู้อื่น หรือว่าจะยึดครองเขาก็มี มันใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอย่างนั้นไป ไปเป็นเศรษฐศาสตร์สำหรับที่จะทำร้ายผู้อื่นไป
มันจะต้องสนใจกันไว้บ้างว่า ปัญหามันกำลังมีอยู่อย่างไร เอาละ เป็นอันว่าเมื่อเรารู้จัก ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่า ศาสตร์ ศาสตร์ แต่ละศาสตร์พอสมควรแล้ว ก็จะต้องมองกันต่อไปว่า ไอ้ศาสตร์แต่ละศาสตร์ หลายสิบศาสตร์นั่น ธรรมชาติมันกำหนดมา รึมันกำหนดไว้โดยที่เราไม่รู้สึกก็ได้ ให้ใช้ร่วมๆ ให้ใช้รวมกัน ให้ใช้ร่วมกัน อย่างกับว่าเป็นสหกรณ์กัน จึงจะได้ผล อ่า, สมบูรณ์ เกี่ยวกับ ความเป็นอยู่ของคนๆหนึ่งนี่ ต้องมีความรู้หลายๆศาสตร์ หลายๆศาสตร์ เช่นว่า สาธารณสุขศาสตร์ เคหะศาสตร์ หลายๆศาสตร์ทีเดียว มันจีงจะเป็นอยู่ได้อย่างผาสุก ไอ้เราก็ตั้งหรือกำหนดกันไป ตามความรู้ หรือตามความเห็น หรือตามความต้องการ เฉพาะเป็นอย่างๆๆๆไป คล้ายๆกับว่า มันแยกกันโดยเด็ดขาดได้ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ไอ้ชีวิตๆหนึ่ง ต้องประกอบขึ้นด้วยความถูกต้องของหลายๆศาสตร์ จึงจะรอดชีวิตอยู่ได้
เราจะมองดู ว่ามันเป็นอย่างไร เช่นคำว่า สังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือ Social science ซึ่งแปลกันว่า สังคมศาสตร์ น่ะ มันไม่ใช่วิชาแขนงหนึ่งแขนงใดเท่านั้นโดยเฉพาะ มันได้แก่ ศาสตร์ทุกแขนง ที่มันจำเป็นสำหรับสังคม ดูจะ เกือบจะไม่ยกเว้นศาสตร์อะไรท่ีไม่ใช่สังคมศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่สังคมต้องมี ต้องรู้ ต้องใช้ จะเป็นเรื่องกินอยู่ จะเป็นเรื่อง ไอ้, ก่อสร้าง จะเป็นเรื่องกฎหมาย จะเป็นเรื่อง อ่า, เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ละศาสตร์ ละศาสตร์ จัดอยู่ในพวก สังคมศาสตร์ทั้งนั้น คำว่าสังคมศาสตร์เพียงคำเดียวนั้น มันๆๆ อ่า, มันรวบเอาศาสตร์ต่างๆไว้ตั้ง ตั้งหลายๆๆ ศาสตร์ สิบศาสตร์ ยี่สิบศาสตร์ ด้วยซ้ำไป ก็เรียกว่า สังคมศาสตร์ ศาสตร์ที่ต้องนำมาใช้ในสังคม ให้สังคมเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ ลองคิดดูว่าศาสตร์อะไร ที่ ที่ไม่่ ที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ หรือไม่เกี่ยวกับสังคม ดูมันจะหาไม่ได้ มันจะมีกี่สิบศาสตร์ ก็สังคมมันจะต้องใช้ทั้งนั้นเลย มันเป็นสังคมศาสตร์ไปหมดอย่างนี้
เอ้า, ที่นี่ก็มาดูถึงพุทธศาสตร์กันบ้าง คือ พุทธศาสนานี่ มันมีขอบเขตแค่ไหน ศาสตร์แห่งการดับทุกข์ ก็เหมือนกันแหละ พุทธศาสตร์คือศาสตร์แห่งการดับทุกข์ มันต้องรู้อะไรครบถ้วนทุกอย่าง ที่มันเกี่ยวกับการดับทุกข์ ในแง่ใดแง่หนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง พุทธศาสตร์จะดับทุกข์ ดูในตัวพุทธศาสนาเองก็รู้ เช่นว่า มรรค อ่า, อริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องมีความรู้เรื่อง ทิฐิ ต้องมีความรู้เรื่อง ความดำริ ต้องมีความรู้เรื่อง วาจา ต้องมีความรู้เรื่อง การงาน มีความรู้เรื่อง อาชีพ มีความรู้เรื่อง ความพากเพียร มีความรู้เรื่อง สติ มีความรู้เรื่อง สมาธิ นี่หัวข้อใหญ่ๆนะ และยังแยกออกไปได้ไม่รู้จักกี่หัวข้อ พุทธศาสตร์เท่านั้นน่ะ มันรวบเอา ศาสตร์ทั้งหลายเข้ามาไว้ พูดแล้วก็ไม่น่าเชื่อ มันจะรวบเอาไว้หมดทุกศาสตร์ที่มนุษย์มีน่ะ แต่ แต่มัน มันไม่ๆ ไม่ดูกัน หรือ ไม่สังเกตกัน ไม่มองกัน บรรดาศาสตร์ทั้งหลายที่มีประโยชน์ เป็นประโยชน์ แก่มนุษย์ได้นั้น มันจะต้องมารวมอยู่ในพุทธศาสตร์ได้ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวจะค่อยพิจารณากันดูก็ได้
แต่ว่าจะต้องใช้ศาสตร์แต่ละศาสตร์ให้ถูกต้องตามความหมายของแต่ละศาสตร์ ให้สำเร็จประโยชน์ อ่า, ในการดับทุกข์ หรือในการสร้างสันติสุข เหมือนกับว่าเราต้องใช้มืออย่างมือ จะเอามือใช้อย่างเท้าก็ไม่ได้ จะเอาเท้ามาใช้อย่างมือก็ไม่ได้ จะเอาจมูกไปใช้อย่างปากก็ไม่ได้ จะเอาปากไปใช้อย่างจมูกก็ไม่ได้ มันต้อง มันต้องใช้ถูกตรง ไอ้, ตามเรื่องของมัน ศาสตร์แต่ละศาสตร์ก็จะเป็นอย่างนั้น เราเรียนรู้กันหลายๆศาสตร์ แล้วก็จะต้องใช้ แต่ละศาสตร์ให้ถูกต้อง ตามความหมาย บางทีก็จะต้องผนวกเข้าด้วยกัน ก็มี เช่นว่า เราจะต้องรู้เรื่องร่างกายและจิตใจ สรีระศาสตร์หรือจิตศาสตร์ก็ตาม ต้องเอามาผนวกกันเข้า เช่นเดียวกับที่ว่า ไอ้ร่างกายกับจิตใจนี่มันแยกกันไม่ได้น่ะ ในภาษาบาลีน่ะ เขานับเป็นหนึ่งนะ ร่างกายกับจิตนี่ เรียกว่า นามรูป นับเป็น ๑ ไม่ได้นับเป็น ๒ หรอก ใช้คำเป็น เอกวจนะ ว่า นามะรูปัง เป็น เอกวจนะ คือไม่แยกกัน ทั้งที่ในนั้นนะมันมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ร่างกายกับจิตใจ นี่ศาสตร์ทั้งหลายก็เหมือนกันแหละ บางอย่างมันต้องมาผนวกกันเหมือนกับ จิตศาสตร์กับสรีระศาสตร์ คือร่างกายกับจิตใจนี่ต้องมาผนวกอย่างสนิทกัน มันจึงจะเอามาใช้กับสิ่งที่มันผนวกกันอยู่อย่างสนิท คือร่างกายกับใจ นี่เราจะต้องรู้จักว่าจะต้องใช้ให้มันถูกต้องตามเรื่องของมัน ใช้ทุกศาสตร์
ที่นี้เราจะใช้ทุกศาสตร์ให้ถูกต้องตามหน้าที่ของมัน รวมกันเป็นบริวารแห่งการดับทุกข์ เป็นบริวารแห่งศาสตร์แห่งการดับทุกข์ ศาสตร์แห่งการดับทุกข์ เป็นหลัก เพราะเราต้องการ ศาสตร์ทั้งหลายมีกี่ศาสตร์ กี่ศาสตร์ กี่ศาสตร์ ดึงเอามาเป็นบริวารแห่งศาสตร์ของการดับทุกข์ ให้ทุกศาสตร์เป็นบริวารของศาสตร์แห่งการดับทุกข์ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราก็จะยกเอาพุทธศาสตร์ ขึ้นมาเป็นหลัก ให้ศาสตร์ทุกศาสตร์มาเป็นบริวาร แห่งพุทธศาสตร์ ที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ พุทธศาสตร์มันมีหน้าที่จะดับทุกข์ มุ่งหมายจะดับทุกข์
แต่เรื่องของความทุกข์มีเรื่องมาก หลายแขนง มีปัญหามากเป็นเรื่องๆไป ทางกาย ทางใจ ทาง เอ่อ, ทางวาจา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรก็ตาม มันก็จะต้องรู้ รอบรู้ครบถ้วน อันหัวหน้าหรือประธานมันก็คือ ไอ้ตัวพุทธศาสตร์ ที่จะต้องรู้เพื่อจะดับทุกข์ได้ จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็เช่น พูดว่าพุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ เพื่อความเป็นพุทธะ ศาสตร์เพื่อความเป็นพุทธะ ที่นี่ก็พุทธะ พุทธะ นี่มันมีความหมายธรรมดาสามัญ ที่สุดก็ต้องพูดว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน ท่านทั้งหลายช่วยจำไว้ด้วย ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทน่ะ หากใครรู้จักคำว่าพุทธะ พุทธะไว้ ดีว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เหมือนกับบทสวดมนต์ที่เราสวดกันนั่นแหละ มันต้องรู้สิ่งที่ควรจะรู้ ไม่ได้รู้ทั้งหมด แต่รู้ทั้งหมดของสิ่งที่ควรจะรู้ ช่วยจำกันไว้ด้วย ไม่ต้องรู้ไปทั้งหมดหรอก ป่วยการ แต่ว่าจะรู้ทั้งหมดของสิ่งที่ควรรู้ บรรดาสิ่งที่ควรรู้และรู้ทั้งหมด แม้ความเป็นสัพพัญญู ของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนกันแหละ ท่านรู้ทุกสิ่ง ทุกสิ่งที่ดับทุกข์ได้ ที่ควรจะรู้ นอกนั้นท่านก็ไม่สนใจ แล้วก็ไม่ต้องเกณฑ์ให้ท่านรู้ มันไม่ต้องใช้ประโยชน์อะไร ทีนี้คนบางคนคิด วู้, ท่านรู้ไปหมด ไปๆๆ ไปเอามาขับรถยนต์เดี๋ยวนี้ ท่านก็ทำได้ อย่างนี้ มาพูดจีน พูด เอ่อ, ฝรั่ง หรือ พูดไทยเดี๋ยวนี้ท่านก็ทำได้ อย่างนี้ก็มีน่ะ มันเกินไป อย่าเกณฑ์พระพุทธเจ้ามาเป็นอะไรมากถึงขนาดนั้น ความเป็นสัพพัญญู รู้ทุกอย่างนั้น หมายความว่า รู้ส่วนที่มันควรจะรู้ คือที่มันดับทุกข์ได้ ท่านทั้งหลายก็ได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ แต่กลัวว่าจะเข้าใจผิดน่ะ จึงมาพูดเสียว่า เป็นผู้รู้ รู้อะไร ก็รู้ทุกอย่างที่ควรจะรู้ แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ไปทั้งหมด เสียเวลาเปล่า มันเหนื่อยเปล่า รู้เรื่องที่จะดับทุกข์ได้ แล้วก็สอนเรื่องที่จะดับทุกข์ได้ เรื่องอื่นไม่ต้องสอน ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับไม่เหลือแห่งทุกข์” เท่านั้นแหละ เรื่องอื่นไม่ต้องพูด
ที่นี่ก็เป็นผู้ตื่น อ่า, ท่านรู้แล้ว ก็เป็นผู้ตื่นจากความไม่รู้ ตื่นจากความหลับ ก็คือความโง่ หรือความไม่รู้ หรืออวิชชา ความไม่รู้ อวิชชาเปรียบเสมือนหลับ นี่ตื่นแล้วไม่หลับแล้ว เพราะรู้ว่าตื่น ท่านตื่น แล้วก็ทำได้อะไรสิ เพราะ เพราะไม่ใช่หลับนี่ ทำถูกต้อง เพราะมันตื่นแล้วนี่ ก็เลยเป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส สดชื่น ไม่มีความทุกข์ ถ้าถึงที่สุดก็ไม่มีความทุกข์กันอีกต่อไปละ อ่า, เป็นดอกไม้ที่บานแล้ว ไม่รู้จักโรยนะ รึเป็นยิ้มนิรันดร มีความสุขความพอใจเป็นนิรันดร เป็นยิ้มนิรันดร มีความสุข นิรันดร นี่เบิกบานคืออย่างนั้น
พุทธศาสตร์ ศาสตร์สำหรับเป็นพุทธะ พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อ่า, ขอให้เรา เอาความหมายนี้กันไว้ให้ดีๆ แล้วก็จะได้เลือกศาสตร์ทั้งหลายมาเป็นบริวารของพุทธศาสตร์ให้ถูกต้อง แก่กรณี แก่เวลา แก่สถานที่ แก่สถานการณ์ ก็จะสำเร็จประโยชน์ในความเป็นพุทธะ เอามาเป็นบริวารของพุทธศาสตร์ นี่ก็เรียกอย่าง ที่ว่าแบ่ง แบ่งศาสนากัน แต่ถ้าพูดให้มันดีกว่านี้ มันก็น่าจะพูดว่า เป็นบริวารแห่งการบรรลุนิพพาน เรียกว่านิพพานศาสตร์ก็ได้ แต่ยังไม่มีใครเคยเรียกน่ะ เรียกก็เรียกได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระนิพพานทั้งหมดก็เรียกว่านิพพานศาสตร์
นิพพานนี้ก็เหมือนกัน อ่า, ไม่เกี่ยวกับความตาย ไม่เกี่ยวกับความตาย นี่เรามันรู้กันมาผิดๆ สอนกันมาผิดๆ ลูกเด็กๆได้ยินคำว่านิพพานแล้ว ก็หมายถึงความตาย เพราะในโรงเรียนเขาสอนอย่างนั้น เดี๋ยวนี้บอกให้รู้เสียทีว่า เลิกๆ เลิกคิดอย่างนั้น เลิกรู้อย่างนั้น นิพพาน นิพพาน นี่มันแปลว่า เย็น ไม่ใช่ตาย เย็นเพราะไฟไม่มี ไฟเป็นของร้อน คือกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ หรือกิเลสใดก็ตาม เป็นของร้อน ไม่มีกิเลสมันก็เย็น เป็นภาวะแห่งความเย็น เรียกว่า นิพพาน ไม่ ไม่ใช่เรื่องตาย ตัวนิพพานแท้ๆ ก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ เรียกว่า นิพพานธาตุ แต่เป็นธาตุประเภท อสังขตะ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นนิพพานธาตุ แล้วจะตายได้อย่างไรเล่า ถ้าเป็นธาตุ จิตสามารถที่จะรู้สึกต่อนิพพานได้ ถ้าว่าได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและตามหลักเกณฑ์ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น จิตก็สัมผัสกับความเย็น ความเย็นของนิพพานธาตุ ไอ้ที่มันตาย ตาย มันคือร่างกาย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้นิพพาน เอ้อ, ก็ไม่ได้ตายหรอก แต่บรรลุนิพพานก็โดยไม่ต้องตาย คือ เย็นๆๆ พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหมือนกันแหละ บรรลุนิพพานก็คือว่า ไม่มีกิเลส ไม่มีไฟ แล้วก็เย็นๆๆ แต่ว่าร่างกายของท่านน่ะ ยังตายได้ นี่ก็เรียกว่าดับขันธ์ ดับขันธ์ อันเป็นการดับของบุคคล ผู้บรรลุนิพพานแล้ว เป็นการดับขันธ์ร่างกาย ของบุคคลที่ได้บรรลุนิพพาน คือความเย็นแล้ว อันจะไม่มีปัญหาอะไร บรรลุนิพพานคือบรรลุตั้งแต่เมื่อตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้ เป็นบรรลุมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็บรรลุนิพพานในระดับใดระดับหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ก็บรรลุนิพพานสมบูรณ์ ก็บรรลุนิพพานธาตุ เป็นความเย็นถึงที่สุด ต่อมาร่างกายนี่มันไม่อยู่ มันจะแตกดับเอา มันก็ตายสิ ก็เรียกว่า เรียกคนนี้ว่า อ่า, เขาดับขันธ์ด้วยนิพพานธาตุ นิพพานไม่ใช่ความตาย นิพพานตายไม่ได้ แต่ว่าร่างกายตายได้ และก็ตายในขณะที่บรรลุนิพพานธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเย็น ไม่มีความร้อน ที่เราพูดกันว่าอยู่เย็นเป็นสุขนั่นแหละ เย็นอย่างนั้นก็สงเคราะห์เข้าในนิพพานด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะยังละกิเลสไม่ได้สิ้นเชิง มันก็ยังมีความหมายเป็นนิพพานคือเย็น
อะไรก็ตามถ้าเย็นละก็ เรียกว่านิพพานได้ทั้งนั้น ในภาษาบาลีมันเป็นอย่างนั้น ท่านทั้งหลายไม่เคยเรียนภาษาบาลี จึงบอกให้ว่า เราได้สังเกตดู ค้นคว้าดู พบว่าคำว่านิพพาน นิพพาน นี่แปลว่าเย็น ถ่านไฟแดงๆ คีบ เอาคีมคีบมาจากเตามันก็เริ่มดำ เรียกว่ามันนิพพาน ถ่านไฟมันนิพพาน ยังไม่ๆ ไม่เย็นถึงที่สุด แม้ว่าดำแล้วก็ยังจับไม่ได้ มันต้องรอถึงเย็นถึงที่สุด มันจึงเป็นนิพพานเป็นชั้นๆ หรือว่าข้าว ข้าวต้มโดยเฉพาะ ร้อนอยู่ กินไม่ได้ ก็ต้องรอให้มันนิพพาน เย็นพอสมควรได้ จึงกินได้ นี่ก็เรียกว่าข้าวนั่นน่ะนิพพาน มันหมดความร้อน หรือว่าไอ้โลหะหลอมในเบ้า โดยเฉพาะทองคำ ที่ช่างทองเขาหลอมในเบ้าน่ะ ร้อนถึงที่สุดแล้ว เขาต้องทำให้มันเย็น เขาเอาน้ำรด รด ให้มันเย็น ทำให้มันเย็นอย่างนี้ คำบาลีก็เรียกว่านิพพาน ทำให้มันนิพพาน ทำให้โลหะที่เหลวคว้างนั้น นิพพาน โดยกะทันหัน นี่วัตถุสิ่งของก็นิพพาน คือมันเย็นลงก็แล้วกัน ที่นี้ว่าสัตว์เดรัจฉาน จับมาแต่ป่า เป็นควายป่า ช้างป่า อะไรป่า ดุร้ายเหลือประมาณ เอามาฝึกจนเชื่อง เชื่องเหมือนกับแมว ไม่มีอันตรายอีกต่อไป ก็เรียกว่าสัตว์ตัวนั้นมันนิพพานแล้วเหมือนกัน มันเรื่องของสัตว์
นี้คน แต่โบราณกาลโน่นน่ะ เขาพบความเย็นอกเย็นใจอะไร เขาก็เรียกมันว่านิพพาน ไปตามความรู้สึกของเขาทีหนึ่งก่อน เป็นยุคเป็นสมัยมาทีเดียว ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งคนยังไม่รู้อะไรนัก เอากามารมณ์ เรื่องกามนี่ เรื่องกามารมณ์นี่เป็นนิพพาน เป็นเรื่องสูงสุดถึงกับเป็นนิพพานกันมาพักหนึ่ง ตามความรู้เท่า มันมีเท่านั้น เพราะว่ากามารมณ์เมื่อสำเร็จความใคร่ไปแล้วมันเย็น ชนิดหนึ่ง เย็นชนิดที่ความใคร่ที่ลุกเป็นไฟมันระงับไป เลยเรียกกามารมณ์ว่า นิพพาน นี้ก็มีอยู่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แล้วต่อมา คนต่อมามันฉลาดกว่านั้น มันก็ไม่เอาสิ มันเอา ไอ้เข้าสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ กิเลสเป็นไฟลุกขึ้นมาไม่ได้มันก็เย็น ก็เย็นกว่ากามารมณ์น่ะ ก็เอาเป็นนิพพานกันมาพักหนึ่ง เอาฌาน เอาสมาธิเป็นนิพพานกันมาพักนึง เรื่องเหล่านี้ปรากฏอยู่ในบาลี พรหมชาลสูตรโดยเฉพาะ จนถึงกับเอาๆๆ สมาธิชั้นสูงสุดคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ น่ะเป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าก็เคยเข้าไปศึกษาในสำนักนี้ เรียกว่าสำนักอาฬา... อ่า, สำนัก อ่า, อุทกดาบส รามบุตร จบแล้ว จบแล้ว อาจารย์บอกว่าจบแล้ว แต่ท่านว่ายังไม่จบ ถ้าเพียงเท่านี้ยังไม่ ไม่ถือว่าเป็นนิพพาน ก็ขอลาออกจากสำนักอาจารย์มาค้นหาของพระองค์เอง จึงมาพบนิพพานที่แท้จริง คือความสิ้นไฟแห่งกิเลส ดับกิเลสพร้อมทั้งราก ทั้งเหตุ ทั้งปัจจัยของมันนี่ ดับไฟกิเลสสิ้นเชิงอย่างนี้ จึงจะเรียกว่านิพพาน
นี่คำว่านิพพาน นิพพาน นี่มันหมายถึงความเย็น ไม่มีความร้อน ก็คือไม่มีความทุกข์ แม้แต่สักนิดเดียว มันก็ควรจะจัดเป็นศาสตร์ สักศาสตร์ ศาสตร์หนึ่งซึ่งสำคัญมากสำหรับมนุษย์ เพื่อเราจะได้มีชีวิตอยู่อย่างเยือกเย็น ไม่ร้อนเป็นไฟ เหมือนที่เป็นอยู่กันในขณะนี้ ร้อนระอุไปทั้งโลก นี่เพราะว่ามันขาดนิพพานศาสตร์ ขาดนิพพานศาสตร์คือศาสตร์แห่งความเย็น นี้รู้จักกันไว้อย่างนี้ แล้วมันมีอะไรดีกว่านี้ล่ะ มันมีอะไรดีกว่านี้ล่ะ ศาสตร์ทั้งหลายมันไม่ได้ให้ผลถึงขนาดนี้ ฉะนั้นเอาศาสตร์ทั้งหลายกี่สิบศาสตร์ก็ตามมา มาเป็นบริวารของนิพพานศาสตร์เสียดีกว่า จะได้สำเร็จประโยชน์โดยแท้จริง เป็น เอ่อ, การรวมศาสตร์ทั้งหลาย เอามาใช้ เราจะเอาคำไหนขึ้นมา ใช้เป็นหลัก นั้นก็คงจะเลือกได้ตามพอใจ หรือตามเหตุผลที่จะแย้งยันกันไปได้
บางคนอาจจะคิดว่าเราเอาคำว่า สังคมศาสตร์เป็นหลัก ก็ได้เหมือนกัน ตื้นๆง่ายๆ แต่ขอให้รู้ถึงขนาดที่เรียกว่าสังคมไม่มีความทุกข์เลย ก็ได้ สังคมศาสตร์ต้องเป็นอย่างนั้น อืม, แต่ถ้าจะใช้คำว่า พุทธ อ่า, มนุษยศาสตร์ก็ยังได้ ฟังดูก็น่าหัว ถ้ามันเป็นมนุษย์จริง ตามความหมายคำว่ามนุษย์ มันต้องไม่มีความร้อน ต้องไม่มีความทุกข์ ต้องไม่มีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้คำว่า มนุษย์ มนุษย์ศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้ มันไม่ถึงอย่างนั้น เป็นแต่เพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น นึกว่าไปเรียนเรื่องมนุษย์ที่ ที่ไร้สาระ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ซึ่งว่าบันทึกไว้มากมาย ก็ไม่ต้องเรียนก็ได้ เพราะมันยังไม่ใช่มนุษย์ที่ถึงที่สุด แห่งความเป็นมนุษย์ มันยังร้อน มันยังรบราฆ่าฟันกัน มันยังมีความทุกข์ประมาณ ถ้าให้มันเป็นสมกับความเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีจิตใจสูงๆๆๆ จนไม่มีความทุกข์ความร้อนเหลืออยู่ เพราะว่าจิตใจมันสูงเสียแล้ว ถ้ามีความหมายอย่างนี้ เอาคำว่ามนุษย์ศาสตร์มาเป็นหลักเป็นประธานของศาสตร์ทั้งหลาย ก็ได้เหมือนกัน
ที่นี้ก็จะเอาคำว่าพุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอ้า, เอาศาสตร์ทั้งหลายมาเป็นบริวารของพุทธศาสตร์ มันก็ยิ่งเห็นได้ง่าย เห็นได้ชัด หรือจะเอาคำว่า ธรรมศาสตร์มาเป็นหลัก ก็มีทาง มีหนทาง อาตมาก็ชอบคำว่า ธรรมศาสตร์ที่สุด ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นี่ ชอบคำนี้มากกว่าไอ้คำอื่นๆ ที่ ที่พูดมาแล้วว่า สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ พุทธศาสตร์ อะไรศาสตร์ก็สุดแท้แหละ รู้สึกว่าไอ้คำว่า ธรรมศาสตร์นี่ จะเหมาะสมที่สุด อ่า, แต่เดี๋ยวก็จะไปเข้าใจ ธรรมศาสตร์การเมืองไปเสียอีก นี้ก็หมดเลย ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมือง คำว่าธรรมศาสตร์ ศาสตร์เกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ไอ้ธรรมะนี่มันมีเรื่องมาก และก็มีส่วนที่สูงสุดรวมอยู่ในนั้นด้วย เราพูดกันมาหลายหนแล้ว บางคนก็คงเคยได้ยินแล้วว่า ธรรมะ ธรรมะ มี ๔ ความหมาย ธรรมะ คือ ธรรมชาติ, ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ, ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ผลอันเกิดมาจาก การทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลนั้นก็เรียกว่าธรรมะ คือธรรมเฉยๆก็ได้ แล้วแต่ใช้ภาษาไทยหรือใช้ภาษาบาลี ธรรม ธรรม หรือธรรมะนี่ ๔ ความหมาย ธรรมชาติรู้เรื่องธรรมชาติทุกอย่าง ทุกชนิดของธรรมชาติ จะธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอะไรก็ตามใจ แต่จำไว้ ว่าจะเป็นธาตุที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สูงขึ้นไปถึงนิพพานธาตุ มันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติ นี่ภาษาบาลีก็ธรรมะเฉยๆ แต่ขอบอกกล่าวให้ท่านทั้งหลายได้รู้ว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้น ให้เราไปเอาคำบัญญัติของ ไอ้การศึกษาของพวกฝรั่งหรือพวกที่เอาถือกันว่าเป็นผู้นำ ถ้าอย่างนี้ละธรรมชาติ ไม่ ไม่เท่าไหร่ละ คำว่าธรรมชาติ ตามที่มันเป็นตามธรรมชาติ แล้วมันก็มี อ่า, สิ่งที่เหนือธรรมชาติ Supra-nature , Supranatural อ่า, เหนือธรรมชาติ เขาไม่เรียกว่าธรรมชาติเสียแล้ว แต่ในพุทธศาสนานี่ ไม่ๆๆ มันเป็นธรรมชาติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าเหนือธรรมชาตินั้น ไม่มีในพุทธศาสนา คำๆนี้ ไม่มีในพุทธศาสนา ที่จะพูดว่า เหนือธรรมชาติ เพราะว่า มันไม่เหนือธรรมชาติไปได้ เช่น นิพพาน นี่ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ
ฝรั่งเขามีคำพูดว่า Phenomena คือสิ่งที่มีเหตุ มีปัจจัย มีปรากฏการณ์ และที่รู้จักกันทั่วไป และก็มีอีกคำหนึ่งเรียก Noumenon เป็นเอกพจน์คำนี้ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามจาก Phenomenon หรือ Phenomena เขาก็เลยไม่ให้มันเป็นธรรมชาติ ให้มันผิดธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ เราบอกว่าทั้ง Phenomena และ Noumenon ทั้งสองอย่างนั้นน่ะ มันเป็นธรรมชาติ ในภาษานี้ ในภาษาธรรมะ ภาษาบาลี ภาษาอินเดียนี่ นี่ก็ว่าธรรมชาติ ธรรมชาติ ในภาษาธรรมะ หรือภาษาบาลีมันกว้างขวางอย่างนี้ มันไม่ยกเว้นอะไร มันจะรวบเอามาหมด ทั้งพระเจ้าผู้สร้างโลกหรืออะไรก็สุดแท้แต่ มันเป็นธรรมชาติไปหมด ไม่มีที่ ที่เหนือธรรมชาติ เราใช้คำว่าธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ หมายถึงทุกสิ่งนะ
เอ่า, ทีนี้มาในความหมายที่ ๒ ก็ว่า ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ในบรรดาธรรมชาติทั้งหลาย มีกฎกำกับอยู่ สิงสถิตยู่ มันจึงต้องเป็นไปตามกฎ ไอ้ธรรมชาติทั้งหลายที่มัน มันอยู่ภายใต้กฎ แม้ธรรมชาติที่อยู่เหนือกฎหรือเป็นตัวกฎเสียเอง มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ มันก็มีกฎเกณฑ์ของมัน แต่เดี๋ยวนี้เราเอามา เรามาดูกันธรรมชาติที่มันปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ มันมีกฎเกณฑ์ให้ปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลง มันจึงปรุงแต่ง ปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกกันว่า ว่า Evolution เป็นวิวัฒนาการ ไปเรื่อยๆ เพราะกฎของธรรมชาติ มันบังคับให้เป็นเช่นนั้น
ที่นี้เมื่อมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนั้นนะ ตายตัวอย่างนั้นนะ มันก็เกิดหน้าที่ หน้าที่ขึ้นมา หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเหล่านั้น ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ตรง ตามกฎของธรรมชาติ ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางร้าย คือตาย เช่นกับคนเรานี้ มีหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนั้น เหมือนแต่ละส่วน ละส่วนของร่างกาย ต้องทำหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนั้น ไม่งั้นมันตาย ฉะนั้นจึงเกิดหน้าที่ หน้าที่ ขึ้นมา คำนี้พิเศษที่สุด สำคัญที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมชาติคือหน้าที่ มันจะเป็นที่พึ่งกันได้ ก็ด้วยไอ้สิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ นี่
เอ้า, พูดให้จบเสียก่อนว่าอันที่ ๔ ก็คือผลที่เกิดจากหน้าที่ ผลต่างๆที่เกิดมาจาก การปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นทางสุข ทางทุกข์ ดีร้ายอะไรก็ตาม แต่ถ้าเป็นผลเกิดมาจากหน้าที่นั้นก็ยังคงเรียกว่า ธรรมชาติ จะผลดี ผลร้าย หรือกระทั่งว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ช่วยจำคำ ๔ คำนี้ หรือความหมายทั้ง ๔ ความหมายนี้ไว้ให้ดีๆ และท่านทั้งหลายจะสะดวกที่สุด ในการที่จะศึกษาธรรมะ อันมากมาย อันลึกซึ้ง อันมหาศาล ถ้าจับหัวข้อ ๔ หัวข้อนี้ไว้ให้ได้เถอะ จะศึกษาธรรมะได้หมด ไม่มีเหลือ เข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้ดี ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลอันเกิดจากหน้าที่
ตั้งต้นแต่ว่าศึกษาไอ้ ๔ ความหมายนี้ ธรรมะ ๔ ความหมายหรือ ธรรมชาติ ๔ ชนิดนี่ โดยดูที่ตัวเรา ที่ชีวิตของเรา ศึกษาจากภายใน นี่เป็นหลักเกณฑ์ในพุทธศาสนา ศึกษาจากภายใน เพราะมันเป็นตัวจริง ว่าในเราคนหนึ่ง คนหนึ่งนี้ มีธรรมชาติ ๔ ชนิดนี้ หรือธรรมะ ๔ ความหมายนี้ เนื้อตัว ร่างกายทุกส่วน กระทั่งจิตใจ นี่ ก็เป็นตัวธรรมชาติ มีอยู่ใน อัตภาพนี้ ที่นี้ธรรมชาติเหล่านี้ที่ประกอบกันขึ้นเป็นอัตภาพนี้ มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ทุกๆเซลล์ก็ว่าได้ ทุกๆเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี้ ก็มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ให้เซลล์นั้นๆเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น เป็นกลุ่มแห่งเซลล์ แล้วก็มีกฎธรรมชาติบังคับว่าต้องเป็นอย่างนั้น มาเป็นอวัยวะร่างกายอย่างใดขึ้นมา เพราะธรรมชาติบังคับว่าต้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นมันก็ต้องทำหน้าที่ ตับ ปอด หัวใจ ไส้ พุง ก็ทำหน้าที่ แม้แต่เนื้อหนัง เล็บ ฟัน ผม ขน นี้ก็ต้องทำหน้าที่ ตามหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อ่า, กฎของธรรมชาติบังคับอยู่ทุกเซลล์ นี้ในภายใน ถ้าดูไปถึงภายนอกก็ว่าทุกๆเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลน่ะ เป็นสากลจักรวาล ทุกเซลล์ก็อยู่ภายใต้อำนาจกฎของธรรมชาติ
นี่ดูกันภายในว่าทุกๆเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายเรานี้ มีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ ให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ถ้ามันไม่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติมันเกิดเรื่อง คือจะต้องตาย หรือจะต้องเจ็บไข้ หรือจะต้องอะไรตามใจ ในที่สุดมันก็ต้องตาย ร่างกายเรา เมื่อมีหน้าที่ตามธรรมชาติ ปฏิบัติถูกต้องแล้วมันก็เกิดผลขึ้นมา ดี คือรอดอยู่ ตลอดเวลาที่ยังจะต้องมีชีวิตนี้ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ผิด ก็เกิดผลร้ายขึ้นมา เป็นโรคภัยไข้เจ็บเป็นความทุกข์ทรมาน นี่ธรรมะ ๔ ความหมาย อ่า, มีอยู่พร้อมชัดเจนอยู่ในร่างกายนี้ ที่เรียกกันว่าคน คนหนึ่งนี้
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ไอ้ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดความทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี อ่า, ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังเป็นๆ คือเป็น มีสัญญาและใจ ใช้คำว่ายังเป็นๆ ถ้าตายแล้ว ไม่ๆๆๆๆๆ ไม่ครบ หาไม่พบ ยังเป็นๆอยู่นี่ ร่างกายยังเป็นๆอยู่นี่ หาเถอะก็จะพบ ทุกอย่าง ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับสนิทแห่งทุกข์ก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ก็ดี หาพบในร่างกายที่ยาววา เป็นๆนี่ เช่นเดียวกับที่เราจะหา ไอ้คำความหมาย ๔ ความหมายนี้ พบได้ในร่างกาย ที่ยังเป็นๆอยู่นี้ ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัว อ่า, ผลที่เกิดจากหน้าที่ และ ๔ ความหมาย นี้ดูเถอะ เอาเป็นแยกออกเป็นศาสตร์ๆ ทั้งหลายได้หลายสิบศาสตร์ทีเดียว ใน ๔ ความหมาย นี้ทั้งนั้นแหละ เอาไปแยกเป็นศาสตร์ทั้งหลาย หลายสิบศาสตร์ ที่มนุษย์เรียกชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน เราใช้คำว่า ธรรมะคำเดียว ๔ ความหมาย แล้วก็เอาไปแยกเป็นศาสตร์ได้กี่สิบศาสตร์ กี่ร้อยศาสตร์ก็ตามใจ ที่มันจะแยกออกไปได้ แล้วแต่ว่าพบอะไรเข้าก็บัญญัติ พบอะไรเข้าก็บัญญัติ มันก็เป็นศาสตร์ ศาสตร์อันหนึ่งขึ้นมา
นี่ว่า ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมือง ธรรมศาสตร์คือความจริงของธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมชาติคือผลแห่งหน้าที่ นี่ ธรรมะ คืออย่างนี้ ใน ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ หน้าที่น่ะคือธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ในภาษาอินเดียคำว่า ธรรมะ เขาแปลว่าหน้าที่ อืม, ปทานุกรม สำหรับลูกเด็กๆเรียน ธรรมะเขาก็แปลว่าหน้าที่ แต่ในเมืองไทยยังไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าว่าฉลาดสักหน่อยก็ติดตามไปว่าสอนเรื่องอะไร ก็สอนเรื่องหน้าที่ คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่างสอนเรื่องหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติทั้งนั้น ธรรมะคือหน้าที่ พระพุทธเจ้าก็ทำหน้าที่ พระพุทธเจ้าเคารพหน้าที่ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องหน้าที่ พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่าเคารพธรรมะ คือหน้าที่
นี่เรามาสนใจคำว่า ธรรมะ กันบ้าง แปลว่าหน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตมีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ จะต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง มันก็มีหน้าที่เพื่อจะรอดนั้นแหละ ทำให้มันถูกทุกหน้าที่เถอะ เดี๋ยวนี้เราก็ทำ ทำไปตามที่ไม่รู้นะ เผอิญมันถูกเข้า มันจึงรอดอยู่ หรือว่ามันทำตามๆกันมา ลูกเด็กๆคลอดออกมา พ่อแม่ก็สอนให้ทำหน้าที่ ที่ให้ทำอย่างนั้นก็แล้วกัน แล้วมันก็รอดชีวิต มันไม่รู้จักเรียกว่าหน้าที่ มันไม่รู้จักเรียกว่าธรรมะอะไร แต่แล้วมันก็ได้รอดชีวิต หน้าที่ ทำแล้วรอด คำว่า ธรรมะ ธรรมะ ก็แปลว่า สิ่งที่ช่วยให้รอด คำว่า หน้าที่ หน้าที่ ก็มีความหมายว่าช่วยให้รอด มันจึงเป็นสิ่งเดียวกัน คนในโลก อ่า, ครั้งแรกที่จะ ที่จะมีความรู้ ค่อยๆมีความรู้ขึ้นมา มันมีคนสังเกตเห็นว่า ไอ้หน้าที่นี่ หน้าที่ หน้าที่น่ะ ที่เราเรียกว่าหน้าที่ โอ้, มีอยู่อย่างสำคัญ ละเลยไม่ได้ ต้องสนใจที่สุด เคารพที่สุด แล้วมันก็เรียกสิ่งนั้นที่มองเห็น อ่า, สังเกตเห็นเป็นครั้งแรกว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็ว่าหน้าที่ หน้าที่ เรียกเป็นภาษาอินเดียโบราณสมัยโน้น ว่าธรรมะ ธรรมะนี่ คำว่าธรรมะมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นู่น เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนู่น ฉะนั้นจะมาพูดว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น มันก็ถูกนิดเดียวสิ เพราะเขาได้สังเกตเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ แล้วก็เรียกชื่อมันโดยภาษาครั้งกระนั้น ที่นั้น ตั้งแต่นั้น และที่นั่น ว่า ธรรมะ ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ ก็สอนกันมาเรื่อย สอนกันมาเรื่อย หน้าที่อย่างนั้น หน้าที่อย่างนี้ เกิดครูบาอาจารย์สอนกัน สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา เป็นลัทธิ เป็นนิกายต่างๆ ล้วนแต่สอนเรื่องหน้าที่ ที่จะให้ได้รับผลดีกว่าที่เขาสอนอยู่แต่เดิม มันก็เกิดเป็นหลายครูบาอาจารย์เป็นลัทธิ ลัทธิ ลัทธิไป สอนเรื่องหน้าที่ทั้งนั้น จนกระทั่งเกิดพระพุทธเจ้า ท่านก็สอนเรื่องหน้าที่อันสูงสุด บรรลุนิพพาน อยู่เหนือความทุกข์ โดยประการทั้งปวง ธรรมะก็คือหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมศาสตร์ดีกว่า ก็จะเรียกว่าพุทธศาสตร์ หรืออะไรศาสตร์ มันก็รวมอยู่ในความหมายนี้ มันทำหน้าที่ถูกต้อง พุทธะ ก็เป็นผู้รู้หน้าท่ี หน้าที่ก็คือธรรมะ พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติหน้าที่ คำว่าพุทธะก็ดี ธรรมะก็ดี สังฆะก็ดี ก็รวมอยู่ในคำว่าหน้าที่ เป็นเรื่องของหน้าที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองในเรื่องหน้าที่ จากความลับของธรรมชาติซึ่งไม่มีใครรู้ รู้หน้าที่อันสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสรู้หน้าที่ แล้วก็นำมาสอน ตัวหน้าที่ที่นำมาสอนและปฏิบัตินั้นน่ะ คือตัวพระธรรม แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามนั้น คือผู้ปฎิบัติหน้าที่จนได้รับผลจากหน้าที่คือพระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งสามองค์ รวมอยู่ในคำ คำเพียงคำเดียวว่าหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ลองจำคำเหล่านี้ หลักเกณฑ์อย่างนี้ไว้ให้ชัดเจนสิ จะสะดวก จะสบายที่สุดในการที่จะศึกษาธรรมะอีกต่อไป ซึ่งมีอีกมากมาย ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ แต่ทุกหมด อ่า, ทั้งหมดนั้นมันรวมอยู่ในหลักเกณฑ์อันนี้แหละ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ขอให้สนใจ อาตมาได้บอก ประกาศออกมาว่า ชอบคำว่าธรรมะ ธรรมศาสตร์ ในความหมายอย่างนี้ ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมือง ศาสตร์ทั้งหลายมี่อยู่กี่สิบศาสตร์ในโลก กี่ร้อยศาสตร์ในโลกมาเป็นบริวารของธรรมะ คือหน้าที่ หน้าที่ทางกาย หน้าทางจิต หน้าที่ทางวิญญาณ หน้าที่ทางวัตถุ หน้าที่ทุกอย่างแหละ มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้เพื่อทำหน้าที่ให้ถูกต้อง มนุษย์ดีกว่าสัตว์ มันก็ต้องรู้อะไรมากกว่าสัตว์ สัตว์มันก็รู้เพียงเท่าที่ธรรมชาติจะให้รู้ได้ พอรอดชีวิตมันก็พอแล้ว แต่มนุษย์นี่มันเท่านั้นมันไม่พอ เพราะมันสูงกว่าสัตว์มาก มันต้องรู้อะไรมากกว่านั้น รอดชีวิตด้วย แล้วก็ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับด้วย คือเรื่องความดับทุกข์สิ้นเชิง สรุปรวมอยู่ในคำว่า นิพพานคือชีวิตเย็น ความลับอันนี้น่าๆ น่าจะถูกเปิดเผย และเปิดเผยต่อไปว่า ไอ้ธรรมชาติมันกำหนดมาให้ประพฤติ ปฏิบัติ กระทำให้ถูกต้องตามหน้าที่ แล้วก็จะได้มีชีวิตเย็น คือหลุดพ้นจากปัญหา คือความทุกข์ความร้อน
ไอ้, คำที่อยากจะให้ท่านทั้งหลายทราบอีกคำหนึ่งคือคำว่า ชีวิตโวหาร ชี วิ ตะ โว หา ระ , ชี วิ ตะ โว หา ระ เรียกสั้นๆว่าชีวิตโวหาร ชีวิตโวหาร นี่เป็นความลับอันหนึ่ง อ่า, ของธรรมชาติ ที่เราไม่ค่อยจะรู้ หรือไม่ค่อยจะสนใจหรือไม่ ไม่เห็นว่า สำคัญอะไร ความสำคัญอันนี้ก็มัน ก็มีว่า ไอ้ชีวิตนี่ มันเปรียบเสมือน ไอ้, เดิมพัน หรือต้นทุนที่ธรรมชาติมีให้เรามา ลงทุนทำการค้า เพื่อได้รับประโยชน์ ถึงที่สุด ร่ำรวยถึงที่สุด ให้ชีวิตนี่เป็นต้นทุนเป็นเดิมพันและใช้ทำการค้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ มีกำไร กำไร กำไร จนถึงสูงสุดคือบรรลุนิพพาน นี่จบชีวิตโวหาร จบสิ้นการค้า ด้วยชีวิต คำว่า โวหาระ นี่แปลว่า การลงทุนค้าหรือการค้า เรามักจะรู้ว่าคำว่า โวหาระ นี่เป็นแต่เพียงโวหารพูด โวหารพูดจา โวหาร ไอ้, เฉลียวฉลาดนั้นไม่ ไม่ใช่ คำว่าโวหาระโดยแท้จริง มันแปลว่าเป็นการทำการค้าเพื่อให้ได้กำไรถึงที่สุด อย่างบาลีปาฏิโมกข์ว่า ชีวิตสัง โวหารัง น่ะ ภิกษุทำ ชีวิตะสัง... เอ้ย, อ่า ว่า เอ่อ, รูปียสัง โวหารัง ทำการค้าโดย รูปียะ คือเงิน คำว่า โวหาระ นี่แปลว่าการค้า เป็นอาบัติปา...เอ่อ, นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คำว่าโวหาระอย่างนี้แปลว่าลงทุนค้า ลงทุนด้วยอะไร ลงทุนด้วยชีวิตทั้งหมด ปฏิบัติจนตลอดชีวิต พอสิ้นพอจบแล้วก็ นั่นน่ะสำเร็จประโยชน์ ในการเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เสียที่ แต่คำนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะแต่ในทางธรรมะในพุทธศาสนาหรอก ใช้ทั่วไปสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าเขาได้ใช้กันอยู่นอกพุทธศาสนา รึก่อนพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป จนชาวบ้านเขาก็มีใช้กัน เพราะว่า เอ่อ, จบสิ้นโวหาระ ชีวิตโวหาระ หมายความว่าคนๆหนึ่งเขาเกิดมา เขาได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องทุกอย่าง ตั้งแต่กระทั่งเป็นหนุ่มขึ้นมา ทำการค้าทำกิจกรรม ทำธุรกิจอะไร ทุกอย่าง ทำจนร่ำรวย จนมีหลักทรัพย์บริบูรณ์ แล้วเขาก็แก่แล้ว เขาถือว่าเขาจบสิ้นชีวิตโวหาระแล้ว คนชนิดนี่เขาก็นุ่งผ้าขาว สวมเสื้อขาว ใส่รองเท้าขาว กั้นร่มขาวและก็ไป เที่ยวเดิน เดินเล่นเฉิบๆ อยู่ตามริมแม่น้ำ ตามลานหญ้า ตามที่ปลอดโปร่งสบาย ในฐานะเป็นผู้ที่จบสิ้นการค้า อย่างนี้แล้ว ทีนี้วันหนึ่งนี่คนชนิดนี้ที่เขาถือว่าเขาจบสิ้นโวหาระแห่งชีวิตแล้วนี่ ไปพบกับพระพุทธเจ้าเข้า เขาก็คุยอวดพระพุทธเจ้าว่าเขาเป็นผู้จบสิ้นชีวิตโวหาร พระพุทธเจ้า อย่าเพ้อ อย่าเพ้อ เราจะพูด ไอ้ชีวิตโวหาระตามแบบของเราให้ท่านฟัง คือว่าถ้าจบไอ้ชีวิตโวหาระจริงๆ ต้องไม่มีกิเลส ต้องไม่มีความทุกข์ ใดใดเหลืออยู่ เดี๋ยวนี้ถ้าจะยังมีปัญหาเหลืออยู่กระมัง ว่าไอ้เงินมันจะหายไป หรือลูกเมียมันจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออะไรยังอยู่ไหม ไอ้ชายคนนั้นก็ยอมรับสารภาพว่าจริง ก็เลย เปลี่ยนมาถือชีวิตโวหาระตามแบบของพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติธรรมะให้สูงสุดให้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ที่เรียกกันว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นจึงจะจบการค้าแห่งชีวิต จบการลงทุนค้าแห่งชีวิต
นี่ธรรมะ ธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ มันจะไปไกลถึงขนาดนี้ เราจะปฏิบัติหน้าที่จนจบสุด ด้วยการเป็น ชีวิตเย็น หมดกิเลสแล้วไม่มีอะไรเป็นทุกข์ล่ะ ถ้าเพียงแต่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี เป็นฐานะหลักทรัพย์ดี ก็จะยังมีทุกข์นี่ เดี๋ยวลูกตาย เดี๋ยวเมียตายก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าหมดกิเลสแล้ว ใครจะตาย จะอะไรยังไง ไม่มีความทุกข์ ไม่มี ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ โดย โดยวิธีใดได้เลย จึงเรียกว่าเป็นผู้จบสิ้นชีวิตโวหาร ได้พัฒนาชีวิตขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุด จนไม่มีความทุกข์อีกต่อไป เย็นตลอดกาล นิรันดร นี่คือธรรมะ ธรรมะ เรื่องทั้งหมดนี้อยากจะเรียกว่าเรื่อง ธรรมศาสตร์ แต่ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมือง เป็นธรรมศาสตร์ชนิดที่ไม่มี ไม่เคยได้ยิน ถ้าได้ยินก็เข้าใจผิด เป็นธรรมศาสตร์การเมืองไปเสีย มันจะมีความหมายยิ่งกว่าพุทธศาสตร์ หรืออะไรศาสตร์ไปเสียอีก ธรรมศาสตร์ในลักษณะอย่างนี้
ที่นี้ก็ขอแถมเลยว่า ขอให้ท่านทั้งหลายนี่ ถือศาสตร์อันนี้ คือธรรมศาสตร์อย่างนี้ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ จงมีความระวังสังวรณ์ให้ดีที่สุด มีสติสัมปชัญญะ ให้ดีที่สุด ที่จะทำหน้าที่ พอทำหน้าที่ แล้วก็รู้ว่าทำหน้าที่ คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ พอรู้ว่าไอ้ที่ทำนี่คือธรรมะมันก็พอใจล่ะ เพราะธรรมะคือความถูกต้อง ทำเข้าแล้วมีความถูกต้อง ถูกต้อง แล้วก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข ก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ และทุกหน้าที่ ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ และทุกหน้าที่ เพราะมันเป็นธรรมะ ที่นี้ใครรู้จักอย่างนี้บ้าง หรือจะเปล่าเลย เพราะไม่ได้รู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่ก็โมโหโทโส กูไม่อยากทำมันเหนื่อย ก็เห็น ก็เห็นหน้าที่เป็นไอ้ของเลวทราม เป็นของน่ารังเกียจ เป็นของอะไรไปเสีย แต่ว่าความจำเป็นมันบังคับอยู่ ไม่ ไม่ทำหน้าที่มันไม่มีอะไรจะกิน มันก็ต้องทนทำหน้าที่ด้วยความไม่อยากจะทำ มันก็แทบจะว่าตกนรกไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง ตกนรกหม่นหมองใจไปพลาง ฝืนใจทำหน้าที่ไปพลาง นี่คนที่ไม่รู้เรื่องนี้มันก็แช่งชักหักกระดูก โชคชะตาราศีไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง เห็นมีอยู่มาก ในบรรดา อ่า, ไอ้คนที่ไม่ชอบทำงาน คนยากจน คนกรรมกร นั่นก็โดยมาก ไม่รู้ว่าไอ้หน้าที่คือธรรมะ และพอได้ทำหน้าที่ แล้วก็ชื่นใจ พอใจแล้วก็เป็นสุขในการทำหน้าที่ ที่จริงก็ทำอยู่แล้ว หน้าที่ก็ทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รู้ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นธรรมะ มันก็ต้องฝืนใจทำ มันก็เป็นทุกข์ ตกนรกไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง
ที่นี่ว่าคนอีกพวกหนึ่งเขารู้ว่า โอ้ย, ธรรมะมันคือหน้าที่ หน้าที่มันคือธรรมะ เอ้า, พอจะทำ หน้าที่ ก็คือได้ปฏิบัติธรรมะนั่นแหละ ก็พอใจตั้งใจทำด้วยดี มีสติสัมปชัญญะ ทำดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ยิ่งพอใจที่สุด ยิ่งพอใจที่สุดก็ยิ่งมีความสุขที่สุด เลยมีความสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ ก็ต้องพูดได้ว่า ขึ้นสวรรค์ไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง ขึ้นสวรรค์ไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง คือปฏิบัติธรรมะไปพลาง ไอ้พวกที่มันตกนรกไปพลางน่ะ มันมีความหวัง มีความอยาก มีความทะเยอทะยาน แล้วมันก็ไม่ได้ อย่างใจ มันก็โมโหโทโส โกรธแช่งชักหักกระดูกผีสางเทวดาไปตามเรื่อง ตกนรกไปพลาง ทำหน้าที่ไปพลาง โดยไม่รู้ว่าหน้าที่คือธรรมะ ถ้ารู้ว่าหน้าที่คือธรรมะ ก็พอใจ รักไอ้หน้าที่ เหมือนกับ สิ่งที่น่ารัก ยิ่งกว่าสิ่งใด ก็ทำหน้าที่ ก็พอใจ ก็เป็นสุข เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่
ฉะนั้นขอให้มีหลักเกณฑ์ตายตัวเด็ดขาดลงไปว่า ทำหน้าที่ด้วยสติสัมปชัญญะ ถูกต้องพอใจ และเป็นสุข ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ทั้งวันเป็นสุขทั้งวัน ทำหน้าที่ทั้งเดือนเป็นสุขทั้งเดือน ทำหน้าที่ทั้งปีเป็นสุขทั้งปี หน้าที่ทุกชนิดน่ะ ทุกชนิด จะใหญ่เล็กสูงต่ำ หน้าที่ทุกชนิดคือธรรมะทั้งนั้น เท่าที่เราจะเอามาพูดกันได้ ก็หน้าที่ หาเลี้ยงชีวิตให้รอดอยู่ได้ กลุ่มนี้มากมายหลายร้อยอย่าง หน้าที่ให้รอดชีวิตอยู่ได้ ทุกชนิด ทุกหน้าที่ ทุกขั้นตอน เป็นธรรมะในกลุ่มนี้ หากท่านรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว ก็มีหน้าที่ทำชีวิตนี้ให้เยือกเย็นเป็นนิพพาน นี่หน้าที่ชั้นสูง ชั้นยอด หน้าที่ชั้นพื้นฐานน่ะ ทำให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ ถ้ารอดชีวิตอยู่ได้ ทำหน้าที่ชั้นสูง ก็คือมีความสงบเย็นเป็นนิพพานตลอดไป แต่ก็ได้ชื่อว่าธรรมะทุกหน้าที่ จะไถนาอยู่เหงื่อไหลอาบตัวก็ทำ ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ทำสวนอยู่ก็ได้ ค้าขายอยู่ก็ได้ ทำราชการอยู่ก็ได้ เป็นกรรมกรก็ได้ นั่งขอทานอยู่ก็ได้ ทำหน้าที่ดีที่สุดของคนขอทาน ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นธรรมะของคนขอทาน แต่มันเป็นธรรมะในความหมายเดียวกัน ไม่ต่ำไม่สูงกว่ากัน ที่จะเป็น เอ่อ, คนร่ำรวยทำงาน กับคนขอทานทำหน้าที่ เป็นธรรมะเหมือนกันแหละ มีส่วนที่จะพอใจ ยินดีพอใจ เป็นสุขได้เท่ากัน
ฉะนั้นขอให้ทุกคนที่มีหน้าที่ มีหน้าที่แล้วก็ทำให้ดีที่สุด เป็นบท บทเรียน บทฝึกหัด ที่ทำให้ดีที่สุด แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ ทำหน้าที่นี้เป็นสุขตลอดเวลา ทำหน้าที่ แล้วไปทำหน้าที่โน้นเป็นสุข ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ ไปทำหน้าที่โน้นเป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ เลยเป็นสุขทุกอิริยาบถ ทั้งวันทั้งคืน จะขอร้องให้ ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ให้มันมีความสุข ไปเสียทุกอิริยาบถ เอ้า, ตื่นนอนขึ้นมา จะทำอะไร จะต้องล้างหน้า จะต้องถูฟัน เป็นต้น เรียกว่าระบบล้างหน้า มีสติสัมปชัญญะ รู้ว่าเป็นหน้าที่เป็นธรรมะ ตั้งใจทำดีที่สุด ถูกต้องที่สุด พอใจที่สุด เลยเป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างหน้า ล้างหน้ากี่นาที เป็นสุขตลอดเวลาที่ล้างหน้า อ่า, แล้วจะทำอะไร จะไปอาบน้ำ อย่างเดียวกันแหละ ทุกอิริยาบถ ทุกขณะที่จะทำการอาบน้ำ จะผลัดผ้า จะหยิบขันน้ำมาตักน้ำ หรือจะไขก๊อก อะไรก็แล้วแต่ สติสัมปชัญญะ ทำดีที่สุด พอใจที่สุด เป็นสุขที่สุด ตลอดเวลาที่อาบน้ำ แต่ว่าไอ้คนโง่ๆ เห็นว่าบ้าแล้วโว้ย มึงมาเป็นสุขกันตลอดเวลาที่ล้างหน้า ตลอดเวลาที่อาบน้ำ แล้วไอ้คนโง่ๆเหล่านั้นมันมีเมื่อไหร่เล่า มันมีความสุขตลอดเวลาที่ล้างหน้า และอาบน้ำเมื่อไหร่ มันมีแต่ใจลอย หม่นหมอง แช่งชักหักกระดูกอะไรไปก็ไม่รู้ ใจลอยล้างหน้า บางทีถูฟันก็ผิดๆถูกๆ แต่นี้เราได้รับความสุขที่แท้จริง นี่จะเอาอะไรกันอีก ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์เดียว ได้รับความสุขที่แท้จริงมา จากการล้างหน้า จากการอาบน้ำ อ่า, จากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นี่บางคนจะ จะนึก จะนึกคัดค้านว่า ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมะด้วยหรือ ถ้าทำหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมะหมดนะ แม้แต่การถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะ ทำให้ดี ทำให้ถูกต้องที่สุด แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข ตลอดเวลาที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มีอารมณ์สุขตลอดเวลาที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แล้วจะเอายังไง แล้วก็ไปกินข้าว ไปในครัว ไปกินข้าว ทุกอิริยาบถน่ะ จะหยิบจานจะตักข้าว เคี้ยวข้าวอะไรก็ตาม มีสติสัมปชัญญะ ทำให้ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ พอใจ เป็นสุข เป็นสุขตลอดเวลาที่กินข้าว เดี๋ยวนี้คนมันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ กินข้าวแต่ใจมันอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้มีสติสัมปชัญญะในการกินข้าว มันโกรธใครอยู่บ้าง มันรักใครอยู่บ้าง มันคิดถึงแฟนมันคิดถึงอะไร มันๆๆๆ มันเป็นจิตใจที่ว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ไม่ได้สงบเป็นความสุข ตลอดเวลาที่กินข้าว เราจัดให้มีความสุขตลอดเวลาที่กินข้าว แล้วนี่เวลาที่ล้างจาน หน้าที่ พอใจ เป็นสุขเมื่อล้างจาน ตลอดเวลาที่ล้างจานก็เป็นสุข จะกวาดบ้าน จะถูเรือน ตลอดเวลามันก็เป็นสุข
เอ้า, ตรงนี้อยากจะถามเธอว่า มันเป็นจิต จิตวิทยาไหม เป็นอย่างยิ่ง แต่มันคนละแนว กับจิตวิทยาเดี๋ยวนี้ ซึ่งใช้ล่วงกระเป๋าคนอื่น แต่นี่มันเป็นจิตวิทยาที่ปรับปรุงจิตใจให้มีความสุข เยือกเย็นถึงที่สุด เป็นสุขได้ตลอดเวลา ที่กวาดบ้าน ถูเรือน ล้างจาน ตลอดเวลามาอย่างที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ตื่นนอนน่ะ ไปทำงานที่ออฟฟิศนี่ ทุกอิริยาบถ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงานที่ออฟฟิศนะ กลับมาบ้านก็อย่างเดียวกันอีก มากินข้าว มาอาบน้ำ มาอะไร กระทั่งเวลาจะนอน ขอคิดบัญชีดูหน่อยกว่าจะนอน ตั้งแต่เช้ามาทำอะไรบ้าง ถ้าทำถูกต้องอย่างที่ว่า มันก็มีแต่ความถูกต้องเป็นสุข และพอใจ จนกระทั่งเวลานี้ โอ้, มันมีแต่ความถูกต้อง และพอใจเป็นสุข ยกมือไหว้ตัวเองนี้ที บ้าไหม ยกมือไหว้ตัวเองนั่นมันบ้าไหม แล้วใครเคยทำบ้าง มันไม่อาจจะทำหรอก ถ้าจิตใจมันไม่อยู่กับตัว มันไม่รู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ แล้วมันก็ไม่ได้พอใจอะไร แต่เดี๋ยวนี้ มันพอใจนี่ มันถูกต้องทั้งนั้นนี่ จนกระทั่งวินาทีแรกถึงวินาทีสุดท้าย ยกมือไหว้ตัวเองได้ ชื่นใจตัวเอง นั้นแหละคือ สวรรค์ที่แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทุกวัน ทุกคืน ทุกเดือน ทุกปี เป็นสวรรค์ที่แท้จริง ถ้าทำผิด เกลียดน้ำหน้าตัวเอง แช่งชักหักกระดูกตัวเอง ก็เป็น นรกที่นี่และเดี๋ยวนี้ สวรรค์หรือนรก ก็อยู่ที่นี่แหละเดี๋ยวนี้ ว่าทำผิดหรือทำถูก ต่อหน้าที่นั้นเอง ต่อธรรมะนั้นเอง แม้จะบรรลุนิพพาน คือเด็ดขาดไปเลยไม่กลับมีกิเลสกันมาอีก ก็มันก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตายแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แล้วก็นิพพานก็ไม่ใช่ความตายด้วย นิพพานคือความเยือกเย็น จะหาได้เต็มที่จากชีวิตที่เป็นๆนี่
เอาละเป็นอันว่าชีวิตนี้ธรรมชาติให้มาเป็นเดิมพันสำหรับลงทุนค้า ก็ค้าๆๆ ค้าให้ถึงจุดสูงสุด คือไม่มีความทุกข์เลย ไม่ใช่เพียงแต่มีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐาน มีหลักทรัพย์ในธนาคารแล้วก็สบายใจ ฟุ่มเฟือยอยู่ นั่นมันยังโง่อยู่ เดี๋ยวมันก็ต้องร้องไห้ เพราะลูกตาย เมียตาย ทรัพย์สมบัติพลัดพรากอะไร มันยังๆ ยังไม่ มันยังไม่ใช่ว่าถึงที่สุดแห่งการค้าของชีวิต มันต้องทำให้หมดกิเลส ไม่มีความยึดถือมั่น เป็นตัวตน เป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดกิเลส มันก็ถึงที่สุดแห่งชีวิต ไม่มีความทุกข์เลย
ขอให้ทุกคนน่ะ รู้จักสงวนสิทธิ อันนี้ว่าจะใช้ชีวิตนี้ ให้เป็นการลงทุนเพื่อการค้า ให้ได้มาซึ่งผลอันเลิศ นั่นคือชีวิตชนิดสูงสุด ไม่มีความทุกข์เลย หรือที่เราเรียกกันว่าพระนิพพาน ซึ่งคนทั้งหลายพูดถึง นิพพาน นิพพาน แต่ชื่อทั้งนั้นน่ะ ไม่รู้จักนิพพาน แต่พูดตามๆกันไป แล้วก็อยากจะไปนิพพานด้วย ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ก็อยากจะนิพพานด้วยกันทั้งนั้น ก็มันได้ยินเขาว่า เขาสรรเสริญกันนัก อยากไปนิพพาน
อ่า, จะเล่า อยากจะเล่าเรื่อง ตัวอย่างสักเรื่อง ฝากไว้ เดี๋ยวมันจะสูญหายไปเสียอีก ว่า ได้ถามผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ว่าอยากไปนิพพานไหม / อยากๆ ขอไปด้วย ขอไปนิพพาน / จริงรึ / จริง / แล้วก็บอกว่า ที่นิพพานไม่มีรำวงนะ / อู้ย, งั้นไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว อ่ะขอคืนขอคืน ไม่ ไม่ไปนิพพาน / เพราะว่าผู้หญิงคนนี้เขาชอบรำวงที่สุดเลย เป็นชีวิตจิตใจเลย ถ้าบอกว่าที่นิพพานไม่มีรำวงล่ะไม่เอาแล้ว นี่ ขอให้คิดดูให้ดี เรารู้จักคำว่านิพพานกันอย่างไร ถึงแม้ท่านทั้งหลายก็เถอะ ได้ยินนิพพาน คำว่านิพพาน ขึ้นอกขึ้นใจ แต่ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าอะไรที่แท้จริง นั่นมันเป็นจุดสุดท้าย ของการค้าขายด้วยชีวิต เป็นเดิมพัน ขึ้นถึงระดับนั้นแล้วไม่มีความทุกข์เลย นี่ เราจะเรียกว่าธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมืองนะ ธรรมศาสตร์ของธรรมชาติ ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติ เมื่อทำได้ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นอย่างนี้ นี่ขอให้ศาสตร์ทั้งหลาย มาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ชนิดนี้เถิด มันจะมีกี่ศาสตร์ก็ตามใจ สามารถเอามาเป็นบริวารของศาสตร์ สูงสุดคือธรรมศาสตร์ การปฏิบัติหน้าที่ ชนิดท่ีมีชีวิตเป็นทุน เป็นเดิมพัน ปฏิบัติให้ถึงที่สุด
เอ้า, จะออกชื่อศาสตร์ทั้งหลายกันดูบ้างนะ เวลาพอมีเหลืออยู่ มันจะมีสักกี่ศาสตร์ แล้วจะเอามาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ได้ไหม หรือว่าจะเป็นบริวารของนิพพานศาสตร์ ของพุทธศาสตร์ก็ได้แล้วแต่จะชอบ แต่อาตมาชอบคำว่าธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะเอาศาสตร์ทั้งหลายมาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ เธอลองออกชื่อไอ้ศาสตร์ ศาสตร์ทั้งหลายกันดู
พุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ ดับทุกข์สิ้นเชิง ไม่มีปัญหาทางวัตถุ ทางร่างกายทางจิต ทางวิญญาณ เอ้า, ก็ไม่ ไม่พ้นไปจากว่า ดับทุกข์สิ้นเชิง โดยทำหน้าที่สูงสุด นี่ พุทธศาสตร์นั่นเป็นศาสตร์ของคนตื่น ในนามของพระพุทธเจ้านี่ มันก็ยังมาเพื่อดับทุกข์สิ้นเชิง เพื่อธรรมะสูงสุด หน้าที่สูงสุด อ่า, เป็นการลงทุนชีวิต ในที่ขั้นสุดท้าย ไม่มีความทุกข์เลย
เอ้า, ที่นี้นึกถึงไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์นี่มันเป็นศาสตร์สำหรับ คนปัญญาอ่อน ไสยะ แปลว่าหลับ, พุทธะ แปลว่าตื่น พุทธศาสตร์ ศาสตร์สำหรับคนตื่น ไสยศาสตร์ ศาสตร์สำหรับคนหลับ มันก็จำเป็นน่ะ คนปัญญาอ่อนมันยังหลับอยู่ มันต้องพึ่งไสยศาสตร์ เพราะว่าคนปัญญาอ่อน ไม่อาจจะรู้พุทธศาสตร์ ไม่อาจจะใช้พุทธศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ คนปัญญาอ่อนก็ต้องใช้ไสยศาสตร์ ไปตามเดิมน่ะ เชื่อผีสางเทวดา บนบานศาลกล่าว อะไรกันไปตามเรื่อง มันก็มีประโยชน์ แก่คนปัญญาอ่อน ไม่เช่นนั้นมันจะปวดหัวมันจะเป็นบ้าตาย พอมันได้พึ่งไสยศาสตร์บรรเทาไอ้ความ หวาดกลัว ความปวดครวญอะไรไว้บ้าง มันก็ยังดี แม้แต่ไสยศาสตร์ ศาสตร์ของคนหลับ มันก็ยังเป็นประโยชน์แก่คนปัญญาอ่อน เราไม่อาจจะเลิกไสยศาสตร์หรอก เพราะว่าในโลกนี้ คนปัญญาอ่อนมันมีมากนัก คนปัญญาอ่อนในโลกนี้มันมีมากกว่าคนปัญญากล้าแข็ง ก็ต้องเก็บไสยศาสตร์ไว้ให้คนปัญญาอ่อนเหล่านั้น เลิกไม่ได้ แต่แล้วมันก็เป็นเบื่องต้น ต่ำที่สุด ที่จะมาเปรียบเทียบกับธรรมศาสตร์ นี่ไสยศาสตร์เมื่อมองในแง่ดี มันก็เหมาะแล้วสำหรับคนปัญญาอ่อน หรือคนพวก เอ่อ, คนป่าคนดอย Primitive ทั้งหลายนี่ ต้องใช้ไสยศาสตร์ไปก่อน จนกว่าจะแข็งกล้า จะใช้พุทธศาสตร์ได้ เอ้า, เอา เอามาเป็นบริวารของไอ้ธรรมศาสตร์ อืม, ที่นี้ตัวธรรมศาสตร์ ชนิดที่ว่าเรื่องปกครองการบ้านการเมืองนั้นน่ะ ก็เอามาเป็นบริวารด้วยก็ได้ ถ้ายัง ให้มีความหมายว่า เป็นเรื่องการเมือง
ที่จริยะศาสตร์ คือศีลธรรม ตัวศีลธรรม และปรัชญาหรือเหตุผลของศีลธรรมเรียกว่า จริยะศาสตร์ ก็มันเพื่อนี่แหละ เพื่อความถูกต้องทางหน้าที่ เพื่อเป็นอยู่สงบเรียบร้อย เป็นบริวารของไอ้ธรรมศาสตร์
อ่า, จิตศาสตร์ จิตวิทยา รู้เรื่องจิตให้เพียงพอ และใช้จิตให้เป็นประโยชน์ เขาใช้ทำไม ใช้เพื่ออะไร ก็เพื่อดับทุกข์สิ้นเชิง มันก็มาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ จะจิตวิทยาไปถึงไหนก็ตามใจเธอ มันก็เพื่อรู้จักจิต และใช้จิตให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ มัน มันไม่มีอะไรเกินไปกว่า ความดับทุกข์สิ้นเชิง คือค้าขายด้วยชีวิตถึงที่สุด นะ เดี๋ยวนี้จิตศาสตร์หรือจิตวิทยากำลังเสียชื่อ เป็นอุบายสำหรับใช้ล้วงกระเป๋าคนอื่น นี่นะ มันก็ไม่อาจจะเป็นบริวาร ที่ ที่ซื่อสัตย์ของธรรมศาสตร์ได้
สังคมศาสตร์ กล่าวมาแล้ว ทุกอย่างมันเป็นสังคมศาสตร์ จัดสังคมให้ดี จะดีไปถึงไหน ก็มันดีไปไม่ได้ นอกจากไปสู่จุดเดียวกัน คือว่าดับทุกข์สิ้นเชิง อยู่เหนือปัญหาและเหนือความทุกข์ ไอ้เล็กๆและน้อยๆ เช่น ไอ้ พัฒนบริหารศาสตร์ อย่างนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเด็กเล่นมากกว่า มันมุ่งหมายอยู่ในขอบเขตอันจำกัด ไม่ได้ละ ไม่ได้ตั้งใจจะละกิเลส ยังไกลกับความดับทุกข์สิ้นเชิง
วิทยาศาสตร์ เอ้า, อันนี้มีความหมายมาก มีปัญหามาก สำหรับคิดสำหรับค้น สำหรับประดิษฐ์ สำหรับก้าวหน้า อืม, แต่ จะก้าวหน้าไปไหนเล่า ก้าวหน้าไปไหนล่ะ ไปโลกพระจันทร์ น่ะมันเรื่องเด็กเล่น นั่นมันเรื่องเด็กอมมือ ที่ไปโลกพระจันทร์ได้น่ะ มันไม่ดับทุกข์อะไรเลย นี่มันไม่ดับทุกข์อะไรเลย มันเปลืองมากนะ ไม่คุ้มค่าน่ะ วิทยาศาสตร์ที่ใช้ให้ถูกต้องมันต้องเป็นไป ไปดับทุกข์ด้วยเหมือนกัน
เอ้า, มันมีอีกหลายอย่าง ที่เราจะจัดกันเป็นศาสตร์ๆ เช่นว่า พฤกษาศาสตร์ โลหะศาสตร์ ก็ตาม เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศอะไรต่างๆนี้ก็ จะไปที่ไหน จะไปที่ไหน จะดีไปทางไหน มันนอกจากดับทุกข์ แล้วมันดีเป็นไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันใช้เป็นเครื่องมือสำหรับก่อกวนกันเสียแล้ว
ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ รู้เรื่องดวงดาว แล้วใช้ประโยชน์ เอ่อ, รู้เรื่องดวงดาว เรียกว่า ดาราศาสตร์ รู้จักใช้ประโยชน์ของความรู้เรื่องดาราศาสตร์เรียกว่าโหราศาสตร์ มันก็จะไปไหน จะไปบ้ากันที่ไหนล่ะ จะทำนาย ทำนาย ไอ้โชคชะ...ชะตาราศีกันไปถึงไหน มันก็ต้องการที่จะ ดับทุกข์สิ้นเชิง มันก็เป็นเด็กอมมือ มันเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ เรื่องอุทกศาสตร์ เรื่องดินฟ้าอากาศ ก็เนื่องด้วยดวงดาวก็อยู่ในเครือเดียวกัน รู้ไปก็เพื่อทำ ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมันก็แค่ แค่ร่างกายเท่านั้น
อืม, สุนทรียศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ เรียกว่ารู้จักความงาม ไอ้ความงาม หรือของศิลปะนี้ ดูให้ดีๆเถิด มันต้องบ้าตามเขาให้เพียงพอนะ มันต้องยอมรับมติหรือทฤษฎีนั้นๆว่างามอย่างนั้น งามอย่างนั้น เลิศอย่างนั้น ต้องบ้าไปด้วยเขา จึงจะรองรับศิลปะอย่างนั้นได้ ไอ้ศิลปะที่นิยมกันนัก ไอ้ที่เราดูไม่รู้เรื่องเลย นั่นน่ะ มันก็ลายขีดบ้าๆบอๆ แพงมากที่สุด ถ้าเราไม่โง่เหมือนเขา ไม่อาจจะโง่เหมือนเขา ไม่อาจจะรับทฤษฎีนั้นว่าลึกอย่างนั้น งามอย่างนั้น ไอ้ภาพศิลปะที่แผ่นหนึ่งราคายี่สิบล้าน ให้เราเปล่าๆก็ไม่เอา นี่ ศิลปศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ของศิลปินเอกของโลก แผ่นหนึ่งราคายี่สิบล้าน ให้เราเปล่าๆก็ไม่เอา ถ้าว่ามันจะเป็นของที่มีประโยชน์ มันต้องเป็นเครื่องชักจูงจิตใจ น้อมน้าวจิตใจไปให้สู่ไอ้ความดับทุกข์ได้นั่นน่ะ จึงจะควรเรียกว่าศิลปะ ยอดศิลปะ ศิลปะของชาวพุทธ ศิลปะของชาวพุทธคือ ดับความทุกข์ได้ เอาชนะกิเลสได้ นี่มันงดงาม ละเอียด ประนีต ลึกซึ้ง กว่าไอ้ Modern Art อะไรของเขาที่ราคาเป็นล้านๆ พุทธศิลปะ พุทธศิลปะคือสามารถดับทุกข์ได้ ไม่ใช่พระพุทธรูปสวยๆ โบสถ์วิหารสวยๆ ไอ้ลายสลักสวยๆ อะไรสวยๆนั่น ไม่ใช่พุทธศิลปะของพระพุทธเจ้า เป็นศิลปะของคนโง่ชั้นหลัง ทำให้เปลือง ให้เสียเวลามาก ถ้าเป็นพุทธศิลป์ล่ะก็ ต้องเป็นเรื่องดับทุกข์ได้ มี เอ่อ, เพื่อนกันเป็นฝรั่งเขามาหาซื้อ เอ่อ, Buddhist Art เขาซื้อพระพุทธรูป ซื้อของเหล่านี้ไป เราบอกว่าโอ๊ย โอ๊ย, ไม่ใช่โว้ย นี่ไม่ใช่ Buddhist Art โว้ย พระพุทธเจ้าไม่รู้จัก Buddhist Art จะต้อง ความสามารถดับทุกข์ได้ อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด มีความงามในทางจิต ทางวิญญาณมากที่สุด เพราะดับทุกข์ได้ นี่ Buddhist Art แต่ คุณเอาไปได้ไหมล่ะ เขาไม่สนใจเลย Buddhist Art ของเขาก็คือพระพุทธรูป หรือว่าวัตถุศิลปะอะไรที่งามๆ
นี่ศิลปศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ อะไรศาสตร์ที่เป็นความงามนั้นนะ มันไม่มีงามหรอก มันต้องงามอยู่ที่ดับทุกข์ได้ เมื่อดับทุกข์ได้ ก็มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในท่ามปลาย เบื้องปลาย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสนั่นนะ เป็นศิลปะอันแท้จริง มีความงาม ขอให้สุนทรียศาสตร์เลื่อนความหมายกันมาถึงนี่เลย อย่าเป็นเรื่องขีดๆเขียนๆบ้าๆบอๆต้องไปโง่ถึงขนาด จึงจะรู้สึกว่างาม ชาวไร่ชาวนาไม่มีความรู้มิอาจจะงามได้ล่ะ ไอ้ในภาพศิลปะที่ราคาล้านๆ อย่างที่พูดมาแล้วว่า ให้เปล่าก็ไม่เอานั่นน่ะ นี่เรื่องศาสตร์แห่งความงาม
อืม, แล้วมันยังมีศาสตร์อะไรอีกมากมายนะ เช่นเรื่องว่า เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ เรื่องนา เรื่องป่า เรื่องสวน มันก็เป็นบริวารของ ไอ้ศาสตร์ที่จะดับทุกข์
อืม, แพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ มันก็เป็นเพียงเรื่องทางร่างกาย ยังไม่ดับทุกข์ทางจิตใจ
อืม, เรื่อง เอ่อ, เศรษฐศาสตร์นี่ อยากจะพูดอีกที เศรษฐศาสตร์คำนี้ เศรษฐะ แปลว่า ประเสริฐที่สุด เศรษฐศาสตร์ ศาสตร์ที่ประเสริฐที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องการค้า ความหมายอันแท้จริงของมันก็คือ ทำสิ่งที่ไม่มีราคาให้มีราคา มีราคาน้อย มีราคามาก วันก่อนพวก อ่า, เศรษฐศาสตร์มาประชุมกันที่นี่นิดหน่อย อาตมาได้บอกเขาว่า พระพุทธเจ้า โว้ย, เป็นยอด ของนักเศรษฐศาสตร์ พระพุทธเจ้า คือทำสิ่งที่ไม่มีค่าให้มีค่าขึ้นมา เช่นว่าร่างกายนี้ไม่มีค่า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ร่างกายนี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ดับทุกข์ได้บรรลุนิพพาน ของไม่มีค่า ให้เปล่าก็ไม่มีใครเอา ตายแล้วก็เหม็นเน่านี่ กลับไปมีค่า เพื่อบรรลุนิพพาน พระพุทธเจ้าเป็น ยอดนักเศรษฐศาสตร์ มีค่าน้อย ทำให้มีค่ามาก ไอ้เศรษฐศาสตร์ของคุณที่กำลังประชุมกันอยู่นี่ คือวิธีที่จะล้วงกระเป๋าคนอื่นน่ะ จะใช้อุบายทางการค้าทาง ทางการสิทธิ์ ทางการอะไร เพื่อล้วงกระเป๋าคนอื่นเอามาเป็นของตัว นี่มันบริสุทธิ์อยู่เมื่อไรเล่า ขอให้เป็นเรื่องลงทุนน้อย ได้ประโยชน์ใหญ่หลวง เพื่อสันติสุข เพื่อสันติภาพ ขอพูดสักนิดเถอะว่าที่คุณนั่งกันกลางดิน ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้ นี่คือเศรษฐศาสตร์ที่สุด ไม่ต้องนั่งบนตึกมหาวิทยาลัย ราคาเป็นล้านๆ พูดเรื่องเพ้อเจ้อ มานั่งกลางดิน ซึ่งไม่ต้องลงทุนอะไร มาพูดกันเรื่องนิพพาน การนั่งกลางดินนี่ เป็นการปฏิบัติ เศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดเลย ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ทำไอ้ที่มันไม่มีประโยชน์ให้มันมีประโยชน์ขึ้นมา ที่มันมีประโยชน์น้อย ให้มันมีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป นั้นแหละคือเศรษฐศาสตร์
พูดต่อไปเลยก็ได้ ถ้าไม่ง่วง เศรษฐะ แปลว่าวิเศษประเสริฐ เศรษฐี คือผู้ประเสริฐ ถ้าเศรษฐีล่ะก็ เป็นเศรษฐีจริงแล้วก็ยอดมนุษย์เลย ประเสริฐจริงๆด้วย แต่ไม่ใช่เศรษฐีอย่างเดี๋ยวนี้ เศรษฐีมีเงินมาก เศรษฐีมีอำนาจเงินมาก นั่นไม่ใช่เศรษฐี นั่นมันคือนายทุนสูบเลือด เดี๋ยวนี้จะหาพบแต่นายทุนสูบเลือด ไม่ใช่เศรษฐี ถ้าเศรษฐีก็จะต้องมีจิตที่ประเสริฐ เลี้ยงคนเลี้ยงข้าทาสบริวารเหมือนลูกเหมือนหลาน อ่า, ทำนาด้วยกัน ไปวัดด้วยกัน อะไรด้วยกัน ได้ ได้ข้าว ได้ผลมาก็แบ่งปันกัน เป็นความสุขสบายดีด้วยกัน ทุกคน ใช้กิน เลี้ยง บริบูรณ์เป็นสุขแล้ว มีเหลือ มีเหลือก็ไปตั้งโรงทาน ช่วยเหลือคนพิการโดยแท้จริง ช่วยเหลือนักบวชในศาสนา เพื่อให้นักบวชได้ทำหน้าที่ของตน เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งโลก เศรษฐีต้องมีโรงทาน แล้วก็รักข้าทาสบริวารเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่สูบเลือดใคร เศรษฐีแท้ๆไม่สูบเลือดคนยากจน จะเลี้ยงคนยากจนเหมือนลูกเหมือนหลาน ปันผลประโยชน์ให้ได้ถึงที่สุดแล้ว อ่า, ร่วมแรงร่วมใจกันทำแล้ว ไอ้ส่วนที่เหลือ เอามาตั้งโรงทาน เงินเอาไปฝังไว้ ทองเอาไปฝังไว้ เพราะไม่มีธนาคารที่จะฝาก สมัยโน้นน่ะ เพื่อจะว่า ถ้ามันเกิดขาดแคลนขึ้นมา โรงทานนี่จะได้ไปขุดเอามาใช้ อย่างนี้เรียกว่าเศรษฐี ไม่ใช่คนมั่งมี ที่จะสูบเลือดคนยากจน ไม่ใช่คนมั่งมี ที่จะทำนาบนหลังคนยากจน หรือมากขึ้นไป ก็ทำนาบนหัว คนยากจน นี่มันเลยรักกันไม่ได้ คนมั่งมีกับคนยากจน เลยรักกันไม่ได้ เกิดลัทธิปฏิบัติกันอย่าง เลวร้าย ชนกรรมชีพก็จะ ล้างผลาญนายทุน นายทุนก็จะเอาเปรียบ ไอ้, ชนกรรมชีพ ทำนาบนหลังบนหัว ชนกรรมชีพ แล้วมันจะรักกันได้อย่างไรเล่า แล้วโลกนี้ยังจะมีสันติภาพได้อย่างไร ลองมีเศรษฐีอย่างที่ว่านี่ มันก็ไม่มีชนกรรมชีพ ไม่มีนายทุนหรอก มีแต่เศรษฐีใจบุญทั้งนั้น เดี๋ยวนี้มันไม่มีเศรษฐีใจบุญนี่ หาทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ มันมีแต่นายทุนสูบเลือด นายทุนกระดาษซับ อุปมาด้วยกระดาษซับ ซับทุกหยดเลย ไม่ให้เหลือเลย นี่ นายทุนกระดาษซับนี่ไม่ใช่เศรษฐี เพราะฉะนั้นไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จ อ่า, ประโยชน์ในหน้าที่การงานของตน เศรษฐะ เศรษฐะ มันเป็นคำๆเดียวกัน แปลว่าประเสริฐ ถ้าเขาประเสริฐจริงก็ต้องประสบความสำเร็จ ในการที่ไม่ก่อความทุกข์เข็ญ ให้แก่ผู้ใด และยกคนทั้งหลายให้ขึ้นพ้นจากความทุกข์ ยากลำบากทั้งหมด โลกนี้จะไม่มีชนกรรมชีพและนายทุน แล้วมันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มันมี ๒ ลัทธินี้ ที่แย่งกันครองโลก ด้วยอาการอาฆาต มาดร้าย ลัทธิชนกรรมชีพก็จะล้างผลาญ ลัทธินายทุน ลัทธินายทุนก็จะ ข่มขี่ไอ้ลัทธิชนกรรมชีพ เลยกลายเป็นตั้งก๊กตั้งกอง อ่า, หาพรรคหาพวกต่อสู้กัน เพื่อแย่งกันครองโลก จนโลกไม่มีความสงบสุข
นี่เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์มันต้องมีผลว่า ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ขึ้นมา สิ่งที่มีประโยชน์น้อยทำให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น และให้ประโยชน์นั้นแผ่เผื่อเจือจางไปตลอดทั้งโลก นี่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์บริสุทธิ์ ตามหลักของธรรมะ เอามาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ จัดโลกให้มีสันติภาพ
เอ้า, อยากจะพูดเรื่องมนุษย์ศาสตร์อีกที มหาวิทยาลัยทั้งหลายมักจะมีคณะมนุษยศาสตร์ เรียนเรื่องประวัติของมนุษย์ แต่แล้วก็ไม่ได้เพื่อจะจัดมนุษย์ให้ดีขึ้น ยังเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวอยู่ตามเดิม มนุษย์ต้องมีใจสูง ไม่มีกิเลส ไม่เห็นแก่ตัว และคณะมนุษยศาสตร์ที่ไหนสอนอย่างนี้บ้าง มันต้องทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ มีจิตใจสูงอยู่เหนือกิเลส นั่นน่ะคือมนุษยศาสตร์ สมกับคำว่ามนุษย์ แปลว่ามีจิตใจสูง
ที่นี่ศาสตร์เช่นว่า วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น แม้จะสำเร็จ สวยสดงดงามอย่างไร มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ หรือว่าจะสร้างนครวัต สร้างทัชมาฮาล สร้างอะไรขึ้นให้เต็มโลก มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ มันก็เป็นบริวารไปตามแกนๆ เป็นบริวารทางศาสนา เป็นบริวารทางการเมือง เป็นบริวารทางอะไรไปตามเรื่อง
นิรุกติศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ นี่ก็นิยมกันมาก ภาษาศาสตร์คือรู้ภาษา ดี นิรุกติศาสตร์ คือรู้วิธีใช้ ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ อย่าเข้าใจว่า นิรุกติศาสตร์ นั้นเป็นเรื่องทางภาษา หรือความรู้ทางภาษา มันเป็นความรู้ในการจะใช้ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ ถ้ารู้ภาษา รู้ภาษามากๆนั่นเป็น ภาษาศาสตร์ แต่แล้วก็ไม่อาจจะใช้ให้สำเร็จประโยชน์ คือพูดไม่เป็น ไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้าต้องการประโยชน์เป็นลิ้น การพูดนั้นน่ะ ก็ต้องการนิรุกติศาสตร์ ใช้ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ ล่อหลอกได้เก่ง โน้มน้าวได้เก่ง นั้นนะเป็นเรื่องของนิรุกติศาสตร์ ถ้าเป็นภาษาศาสตร์ก็รู้ภาษา แล้วก็ใช้ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ นี้เป็นเรื่องของนิรุกติศาสตร์ แล้วมันช่วยอะไรได้บ้าง และเดี๋ยวนี้ที่ปรากฏอยู่ มันก็ไปใช้ในทาง ขโมยประโยชน์ของผู้อื่นด้วยปากด้วยวาจา นั่น มันเป็นเสียอย่างนั้นน่ะ มันจะมีสันติภาพได้อย่างไร ด้วยความรู้ทางภาษาศาสตร์หรือนิติศาสตร์ นี่ภาษาศาสตร์หรือนิรุกติศาสตร์
ส่วนเรื่องเล็กๆน้อยๆที่น่าหัวเช่น วารสารศาสตร์ วิชาวารศาสตร์ โฆษณานี่ มันตกเป็นทาสของการเมือง ของเศรษฐกิจ มันก็โฆษณาเพื่อประโยชน์แก่การเมืองแก่เศรษฐกิจ หาความจริงยาก เช่นหนังสือพิมพ์น่ะ เขาก็จะลงแต่เรื่องที่เขาจะขายดีเท่านั้น หนังสือพิมพ์ทั้งหลาย แม้มันจะเรียนวารสารศาสตร์มีปริญญาเป็นหางมาอย่างไร มันก็จะลงแต่เรื่องที่มันทำขายดีเท่านั้นแหละ มันไม่ใช่สื่อแห่งความจริง ไม่ใช่สื่อที่จะยกมนุษย์ให้สูงขึ้นไป ขึ้นไป ไม่ใช่ วารศาสตร์นี้ดูจะเป็นเรื่องของ ลูกเด็กๆมากกว่า ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดีล่ะก็เป็นใช้ได้ มันก็ต้องเป็นไอ้ศาสตร์ที่เป็นบริวาร ของศาสตร์ที่ถูกต้องที่บริสุทธิ์
เดี๋ยวนี้เราก็คงจะสนใจกันมาก เรื่องไอ้เทคโนโลยี เป็นศาสตร์ที่จะใช้เทคนิค ให้สำเร็จประโยชน์ เทคนิคคือวิชาที่จะสำเร็จประโยชน์ เทคโนโลยีเป็นวิธีที่จะใช้เทคนิค ให้สำเร็จประโยชน์ นี่มันก็เรื่อง อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส มันก็ใช้เพื่อเป็นบริวารของกิเลสไปหมด มันจะเทคโนโลยีไปถึงไหนกัน ไปโลกพระจันทร์ได้ก็เป็นเรื่องเด็กเล่น จะไปให้ทั่วทั้งดวงดาว ทุกๆดวงในจักรวาลก็เป็นเรื่องเด็กเล่น คือประโยชน์ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดสันติภาพแก่มนุษย์เลย ใช้เทคโนโลยีเพื่อจะกำจัดกิเลสในสันดาน ให้มันหมดไปสิ มันจะเป็นยอดของเทคโนโลยี ธรรมะเป็นเทคนิคเป็นวิชาเทคนิค ที่จะกำจัดกิเลส และก็ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ เป็นเทคโนโลยีของธรรมะ นี่เอาเทคโนโลยีมาเป็นบริวารของธรรมศาสตร์ หรือนิพพานศาสตร์ หรือพุทธศาสตร์ก็ตามใจ
นี่ว่าเรา ทำสหกรณ์ สหกรณ์ ตามหัวข้อบรรยายนี่ว่า สหกรณ์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย เอาศาสตร์ทั้งหลายมารวมทำเป็นสหกรณ์เดียว ทำหน้าที่ของตน ของตน รวมกันแล้ว มีผลคือ สันติภาพของโลก ที่เป็นส่วนบุคคลก็บรรลุชีวิตเย็นเป็นนิพพาน ที่เป็นส่วนของโลกก็มีสันติภาพในโลก นั่นแหละ จะเรียกว่าเป็นศาสตร์ที่ดีที่สุด แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ สมตามความหมายของคำว่าศาสตรา ศาสตรา ของมีคม ตัดฟันให้ขาดลงไป ตัดให้ขาดลงไปตามความหมายของคำว่าศาสตรา ตลอดเวลาที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้มันยังไม่ใช่ศาสตร์หรอก เป็นความรู้บ้าๆบอๆ อย่างเพ้อเจ้อ จนกว่าเมื่อไรมันจะตัดปัญหาของมนุษย์ได้มันจึงจะเป็นศาสตร์ขึ้นมา ศาสตร์นั้นศาสตร์นี้ กี่สิบศาสตร์ก็ตามใจ แล้วศาสตร์ที่ประเสริฐที่สุดก็คือดับทุกข์ได้ บุคคลมีสันติสุข ทั้งโลกมีสันติภาพ บุคคลมีสันติสุข ทั้งโลกมีสันติภาพ ศาสตร์ใดทำให้ได้อย่างนี้นั่นแหละคือศาสตร์ ศาสตร์ที่แท้จริงตัดปัญหาของมนุษย์ได้ ประเสริฐที่สุดควรจะยกย่องบูชา ขอสนใจศาสตร์ชนิดนี้
อาตมาก็ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า ตามความรู้สึกนั้นคือธรรมศาสตร์ ว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่พอใจ เป็นสุขทุกอิริยาบถ ตามที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่เช้าตื่นนอนขึ้นมามีแต่ความพอใจและเป็นสุข ตลอดวันจนกว่าจะถึงเวลากลับเข้านอนอีก พอถึงเวลาจะกลับเข้านอนคิดบัญชีแล้วขอบใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง นี้จะเรียกว่าศาสตร์ที่จะช่วยมนุษย์ได้ เป็นธรรมศาสตร์ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ พูดว่าหน้าที่ศาสตร์ ธรรมศาสตร์คือหน้าที่ศาสตร์ ศาสตร์เกี่ยวกับหน้าที่ ใช้หน้าที่ให้ถูกต้อง ให้สำเร็จประโยชน์ ธรรมะคือหน้าที่ ให้มีธรรมะทุกอิริยาบถให้พอใจ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด ถูกต้องและพอใจแล้วเป็นสุขไม่ต้องใช้เงินสักสตางค์เดียว ที่ใช้เงินมากๆซื้อหากันจนเงินเดือนไม่พอ นั้นน่ะ มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไม่ใช่ความสุข ความสุขไม่ทำอันตรายใคร และไม่กินเงิน ไม่ใช้สตางค์ ไอ้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนี่กินเงินหมดกระเป๋าเลย กำลังมีปัญหามากมาย ในหมู่ข้าราชการทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกครู เงินเดือนไม่พอใช้ ถึงคดโกงกันเป็นการใหญ่ นี้เรียกว่ามันไม่รู้จัก มีความสุขชนิดที่ไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว มันก็เป็นความสุขชนิดเดียวกัน ความอิ่มอกอิ่มใจนี่ นั่นนะคือความสุข เดี๋ยวนี้มันไม่เอานี่ มันไปเอาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ที่ล่อหลอกให้เหมือนกับผีสิง เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ กินเหล้า เมายา กามารมณ์ นั้นมันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ธรรมะช่วยไม่ได้ ธรรมะให้ไม่ได้ ธรรมะหน้าที่น่ะ ให้ได้แต่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งไม่ต้องใช้เงินเลย ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ พอใจในหน้าที่ เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ แล้วเงินมันก็ได้ดี ยังคงได้อยู่นั่นเอง เอาไปใช้อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องมาซื้อความสุขแล้ว เพราะฉันมีความสุขเสียทุกอิริยาบถ ตลอดทั้งวันทั้งคืนแล้ว ไม่ต้องเอาเงินมาใช้หาความสุขอะไรอีกแล้ว คือใช้เพื่อหาวัตถุจำเป็นก็ได้ แต่มันก็ยังเหลืออีกแยะน่ะ เพราะมันไม่ใช่ความเพลิดเพลิน ที่หลอกลวงนี่ มันไม่กินเงิน ไอ้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมันกินเงิน จนเงินเดือนไม่พอใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะมันไม่รู้จักหน้าที่ ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักให้หน้าที่หรือ ธรรมะช่วย ธรรมะมันก็เลยไม่ช่วย แล้วนรกมันก็ลากเอาตัวไป นี่ เรื่องมันก็มีเท่านี้เอง
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้เข้าใจคำว่าธรรมะ ธรรมะ ๔ ความหมาย ความหมายที่สำคัญที่สุด คือหน้าที่ ครั้นปฏิบัติแล้วช่วยได้ สิ่งที่มีชีวิตต้องมีหน้าที่ จะรอดชีวิต หน้าที่กับชีวิตจึงกลายเป็น สิ่งเดียวกัน ถ้ามีหน้าที่ก็มีชีวิต ถ้าไม่มีหน้าที่ก็ไม่มีชีวิต คนต้องทำหน้าที่ ต่อให้เป็นเทวดาก็ต้องทำหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ ก็มันก็หมดความเป็นเทวดา มันก็ตายเหมือนกัน คนก็ต้องทำหน้าที่ สัตว์เดรัจฉานก็ทำหน้าที่มันถึงรอดอยู่ได้ ต้นไม้ต้นไร่นี่ก็ทำหน้าที่ไม่หยุดไม่หย่อน ทั้งวันทั้งคืน มันจึงรอดอยู่ได้ ฉะนั้นหน้าที่ นั่นคือสิ่งที่ช่วยให้รอด ถ้าจะเรียกว่าพระเจ้าโดยแท้จริง ก็เรียกหน้าที่ นั่นแหละ ว่าพระเจ้า
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องหน้าที่ พระธรรมคือหน้าที่ที่ท่านสอน พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่คือพระรัตนตรัย รู้จักอย่างนี้ แล้วก็พอใจในหน้าที่ บูชาหน้าที่อย่าให้บกพร่องในหน้าที่ ถูกต้องพอใจเป็นสุข ทำหน้าที่ทั้งวันทั้งคืนทั้งหลับทั้งตื่น ใช้คำว่าทั้งหลับทั้งตื่น บางคนจะไม่เข้าใจ แม้หลับก็เป็นหน้าที่นะ ต้องพักผ่อนนะ การพักผ่อนก็เป็นหน้าที่นะ อย่าหลับตาพูดว่า เมื่อหลับนั้นเป็นการพักผ่อนหรือไม่ทำหน้าที่ ทำหน้าที่เหนื่อยแล้วไปพักผ่อน ต้องรู้ว่าไอ้พักผ่อนก็เป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่พักผ่อนมันก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงานต่อไป แล้วมันจะตายด้วย มันจะตายด้วย เรามีหน้าที่ทำงานเรามีหน้าที่พักผ่อน ทั้งการงานและการพักผ่อนเป็นหน้าที่ ต้องทำให้ถูกต้องและก็มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง นี่เรียกว่าถูกต้องที่สุดในการมีหน้าที่มีธรรมะ มีธรรมะ ตลอดเวลามีความสุขตลอดเวลา ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว ถ้าไปสูงๆ สูงๆขึ้นไปมันก็ไปถึงพระนิพพาน เย็น ไม่มีความร้อนแม้แต่ประการใด เรื่องมันก็จบ เรื่องมันก็จบ แล้วอาตมาก็ไม่ต้องพูด
ก็ขอสรุปความว่า ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทุกอิริยาบถ แม้ที่สุดแต่ว่า คันขึ้นมา จะเอื้อมมือไปเกาที่คัน ก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ว่าเป็นธรรมะเป็นหน้าที่ แล้วก็จะมีความสุขเมื่อเกา ไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่ขัดเคืองเพราะความคัน นั้นมันคนโง่ ถ้ามันคันขึ้นมา ดีแล้ว ดีแล้ว ทำหน้าที่เกา ถูกต้องแล้ว พอใจแล้วก็มีความสุข ไอ้เรื่องคันขึ้นมามันก็กลายเป็นเรื่องความสุข ทำหน้าที่ให้ถูกต้องแล้วก็มีความพอใจและเป็นสุข
หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความรู้เรื่องนี้พอสมควร ที่จะไปดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าว่า ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทุกเรื่อง ทุกราว ทุกกระเบียดนิ้วทุกเวลา ทุกสถานที่ และก็มีความสุขแท้จริง อยู่ในการทำหน้าที่ ถูกต้องแล้วพอใจ เป็นสุขอันแท้จริงไม่หลอกลวงใดๆ อยู่ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ.
สาธุ (เสียงผู้ฟังกล่าวพร้อมกัน)