แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ จะพูดถึงรายละเอียดขององค์มรรคที่เหลืออยู่อีก ๓ องค์ ซึ่งเป็นพวกสมาธิทั้งนั้น ขยายความของหัวข้อตามที่จะทำได้ ที่จริงนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้กันอยู่ก่อนแล้ว ทุกท่าน และยิ่งกว่านั้น ก็คือขอให้จับใจความของหัวข้อนั้น ๆ ว่ามันมีความหมายตรงกับชื่อหมวด ชื่อองค์มรรคอย่างไร นี่สำคัญ ข้อนี้มีความหมาย หรือความมุ่งหมายออกมาจากสัมมาวายามะ เป็นต้นได้อย่างไร ขอให้สนใจ ให้คิด หรือฝึกในส่วนนี้ให้มาก ทีนี้ก็จะได้กล่าวพอเป็นตัวอย่าง พอเป็นตัวอย่าง จะไปเพิ่มเติมอะไรให้ดีเต็มที่ได้
หมวดที่ 6 สัมมาวายามะ คำว่า วายามะ นั้นก็เป็นรูปบาลี ถ้าเป็นสันสกฤต มันเป็น ยายามะ ที่มาเป็นคำว่า พยายาม ในภาษาไทย จงถือเอาความหมายของคำว่าพยายามในภาษาไทยก็แล้วกัน แต่ในภาษาไทยมักจะเรียกลุ่น ๆ ว่าความเพียร ในเมื่อในที่นี้เรียกว่า วายามะ ในภาษาไทยเราก็มักจะเรียกกันว่า ความเพียร ทีนี้ความเพียรนี้ ท่านให้ไวพจน์ คือคำแทนกันได้เยอะแยะไปหมดเลย ฐิติ ความมั่นคง ยืนหยัด สู้อยู่ได้ เรียกว่า ฐิติ นี้ก็เป็นแทนชื่อของความเพียร เพราะว่าความเพียรมันต้องยืนหยัด สู้อยู่ได้ ปะรักกะ ปรากรม ปรักมะ นี่คือก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหน้า แล้วก็ อัปปฏิวาณี, อัปปฏิวาณี ไม่ยอมถอยหลังกลับ ไม่ยอมถอยหลังกลับ ชื่อแทนกันได้อย่างนี้มีมาก ซึ่งเราอาจจะมองดูได้เอง เก็บขึ้นมาได้เองจากภาษาไทยเรา ความพยายาม คือการกระทำอย่างเข้มแข็งทรหดอดทน เรื่อยไป เรื่อยไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ นี่เรียก วายามะ
ข้อที่ ๑ ความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ หัวข้อ หรือตัวบท ความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ เธอตั้งเป็นบทอธิษฐาน ก็ว่าข้าพเจ้าจะต้องเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ นี่เป็นตัวบทสำหรับอ่าน เรียกว่าความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ ที่นี้พูดถึงหน้าที่ ๆ โดย โดยเนื้อแท้ของคำว่าหน้าที่ คือคำว่าธรรมะนั่นเอง ปทานุกรมอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของภาษานี้ คำว่า ธรรมะก็แปลว่า duty ธรรมะแปลว่า duty ไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอนของศาสดาองค์นั้นองค์นี้ ธรรมะแปลว่า duty ที่นี้ในภาษาไทยเราแปลกันว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทีนี้มันก็ขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ไอ้คำว่าธรรมะ ๆ นี่เขาใช้พูดกันอยู่แล้วในอินเดีย ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด หรือก่อนศาสดาหลาย ๆ องค์เกิด นั่นเพราะเขาหมายถึงหน้าที่ แปลว่าคนฉลาดคนแรกที่พ้นมาจากความเป็นคนป่าน่ะเป็นคนฉลาด ได้สังเกตมองเห็นว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด แล้วก็ออกชื่อเรียกสิ่งนั้นว่าธรรมะ คือหน้าที่ ว่าหน้าที่ก็ได้ ถ้าเป็นภาษาไทยก็ว่าหน้าที่ เป็นภาษาอินเดียโบราณนั้นก็ว่าธรรมะ ธรรมะจึงหมายถึงสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย และมนุษย์ได้มองเห็นสิ่งนี้มาตั้งแต่นมนานแล้ว ในขั้นต้น ๆ ในขั้นต่ำ ๆ ก็เกิดคำว่าหน้าที่ ๆ แต่ในภาษาอินเดียก็ว่าธรรมะ ๆ ขึ้นมา ก็มีผู้สอนธรรมะ ๆ ตามความสามารถของตน แล้วก็สูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น ถ่ายทอดกันมาด้วยชื่อเดียวกันนี้แหละว่าธรรมะๆ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเกิด ท่านก็ใช้คำว่าธรรมะ เพียงแต่สอนให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนถึงหน้าที่สูงสุดที่ทำให้บรรลุพระนิพพานได้ แต่ละศาสดา แต่ละองค์ศาสดานั้นใช้คำว่าธรรมะ ๆ จนประชาชนนั้นเรียกว่า ธรรมะของพระสมณโคดม ธรรมะของนิครนถ์ นาฏบุตร ธรรมะของมักขลิ โคศาล ธรรมะใช้เรียกกันอย่างนี้ ไม่ได้ใช้คำว่าศาสนา หรือลัทธิอย่างในประเทศไทยเรา เรียนธรรมะ ก็คือเรียนศาสนาอย่างที่เรียกกันในประเทศไทย เขาใช้คำว่าธรรมะดั้งเดิม แปลว่าหน้าที่ ได้สังเกตเห็นว่ามนุษย์มีหน้าที่ มีสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ ไม่ทำไม่ได้ ไม่ทำจะต้องตาย หรือจะหาความอยู่เป็นผาสุกไม่ได้ ฉะนั้นธรรมะจึงคู่กันมากับคำว่าช่วยให้รอด คือความรอด เมื่อทำหน้าที่เบื้องต้นก็รอดชีวิตอยู่ได้ คือไม่ตาย ทำหน้าที่เบื้องสูงขึ้นไปก็ทำให้อยู่เป็นผาสุก รอดจากการรบกวนบีบคั้นของกิเลส อันนี้ก็คือความรอดที่มุ่งหมายในพระศาสนา รอดตายรู้จักทำมาหากินนั้นไม่จัดเป็นตัวศาสนา เป็นส่วนความรู้ประกอบซึ่งก็สอนกันเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสบ้างที่เรียกว่า คิหิปฏิบัติ แต่ว่ารอดของท่าน ก็คือรอดจากการเบียดเบียนของกิเลส ทำให้กิเลสหมดอำนาจไม่อาจจะเบียดเบียนนี่เรียกว่าวิมุตติ วิมุตติคือหลุดพ้นจากอิทธิพลของกิเลส ในฝ่ายฮินดูทั่วไปก็เรียกว่า (นาทีที่ 9.40)มุกติ เป็นรูปสันสกฤต ซึ่งก็เป็นคำเดียวกันแหละ แปลว่าความหลุดพ้น
ทีนี้ศาสนาไหนก็ขอให้พิจารณาดู พลิกดูคัมภีร์ของศาสนานั้น ๆ นะ จะมีพูดถึงความรอดเป็นหลักสำคัญทั้งนั้น เป็นจุดหมายปลายทาง ฉะนั้นหน้าที่ ก็คือสิ่งที่ทำให้รอด หรือช่วยให้รอดในฐานะเป็นพระเจ้า นี่พูดอย่างนี้มันก็เป็นวัตถุไปหน่อย ไอ้สิ่งที่จะช่วยให้เรารอดนั้นน่ะคือหน้าที่นั่นเอง เราทำหน้าที่แล้วก็มีการได้มาซึ่งวัตถุปัจจัยดำรงชีวิตอยู่แล้วก็รอด ถือหน้าที่ว่าเป็นพระเจ้านั่นล่ะถูกต้องที่สุด ทีนี้ถ้าแจกออกไป ก็มีอยู่สัก ๒ พวก หน้าที่ในการที่จะต้องละเว้นสิ่งที่ควรละเว้น แล้วก็หน้าที่ที่จะต้องทำในสิ่งในส่วนที่จะต้องทำ นี่วางหลักกันง่าย ๆ ในพระศาสนาวางหลักกันง่าย ๆ ว่า หน้าที่นี่ ธรรมะนี่ คือพวกที่ควรเว้นอะไรควรเว้น ความไม่ดีไม่งาม หรือว่าปัจจัยแห่งกิเลส หรือตัวกิเลสเองนี่ก็ต้องละ ทีนี้สิ่งที่ตรงกันข้าม ที่ความเกิดความเจริญขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาทางกายทางวาจาทางใจนี่ เป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งไปคิดเอาเองก็ได้ อยากจะขยายความหมายออกไปอย่างไรก็ได้ แต่มันมีหลักว่าอย่างนี้ ปหานะ แปลว่าการละ ภาวนาแปลว่าการทำให้เจริญ คือทำให้มีขึ้นมา หน้าที่จึงมีเพียง ๒ คำว่า ปหานะ หรือภาวนา เรื่องมันจบ มันละสิ่งที่ไม่ควรจะมีออกไปหมด มันก็เลยทำสิ่งที่ควรจะมีขึ้นมาโดยสมบูรณ์ ทีนี้เรามีความรู้ว่าจะต้องทำอะไรก็พยายาม หรือจะวางหลักเป็นสายยาวยืดว่า ยังไม่บรรลุพระอรหันต์อยู่เพียงใดก็จะพยายามในหน้าที่นี้อยู่เพียงนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าหน้าที่มันจึงมิได้หมายเพียงการงานอาชีพอย่างเดียว มันหมายถึงการกระทำให้รอดในระดับสุดท้ายด้วย คือความหมดกิเลส ถ้าพูดเป็นภาษาง่าย ๆ หน่อยก็คือหน้าที่ ที่จะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า ที่เปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นมนุษย์ประเสริฐ คือพระอริยเจ้า ก็มียอดสุดอยู่ที่เป็นพระอรหันต์ นี่ข้อหนึ่ง ความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ ขอให้ช่วยขยายความออกไปเต็มความหมายอย่างที่ว่านี้
ข้อ ๒ การพยายามหาดู และทำตามตัวอย่างที่ดี นี่ก็แยกออกไปส่วนหนึ่งว่า พยายามสอดส่อง หาดู เอามาทำตามซึ่งตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างที่ดีในสมัยโบราณก็เล็งถึงพระสมณะ พระอริยเจ้านั่นเอง พระอริยเจ้านั่นน่ะเป็นตัวอย่างที่ดี แล้วก็มีลักษณะเป็นผู้สงบโดยเรียกว่าสมณะ จึงมีภาษิตสั้น ๆ ลุ่น ๆ ว่า การได้เห็นสมณะนั้นเป็นความดี หรือยังประโยชน์ให้สำเร็จ แม้แต่เพียงเห็นสักแวบหนึ่งก็ ก็ยังดีนะ แต่ในที่นี้ไม่ได้เพียง ไม่ได้หมายเพียงเห็นด้วยตาสักแวบหนึ่ง เห็นพระสมณะ หรือเห็นพระอริยะ เห็นจนรู้เรื่องของท่านดี แต่แม้การเห็นด้วยตาสักแวบหนึ่งก็ยังมีอิทธิพลมาก เพราะว่าพระสมณะเหล่านั้นแสดงความสงบเย็นให้เห็นอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่กายที่วาจา ที่อิริยาบถ ที่สีสันวรรณะอะไรทุกอย่าง ทำให้เกิดความสนใจอย่างแรงในเบื้องต้น เช่น พระสิทธัตถะได้เห็นสมณะก่อนออกบวช หรือว่าพระสารีบุตรก่อนบวช ก็ได้เห็นพระสมณะ คือพระอัสสชิ เป็นต้น คำพูดของฝรั่งชาวตะวันตกก็มีประโยคคล้าย ๆ กันนี้ ได้เห็นผู้ออกความรู้อันนั้น ผู้เจ้าของทฤษฎีอันนั้น ตัวจริงน่ะ ได้เห็นคนนั้นสักแวบหนึ่งก็ยังดีกว่าอ่านหนังสือของเขาทั้งหมด อย่างนี้ก็ยังมีพูด
ทีนี้มันก็มีปัญหาอยู่ที่ตัวอย่างที่ดี ที่นักเรียนยุวชนของเราจะดูที่ไหน ส่วนใหญ่มันก็ต้องมุ่งมาที่ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ต้องเป็นผู้ทำตัวอย่างที่ดีอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลาในสายตาของศิษย์ นี่เป็นความหมายพื้นฐาน หรือประจำหัวข้อนี้ ทีนี้ถ้านักเรียนยุวชนเหล่านั้นไปได้เห็นพระ เห็นพระอริยะ หรือเห็นผู้สงบ ที่จะเรียกว่าผู้มีความเย็น สงบเย็นให้ดู มันก็ยิ่งเป็นการดี แต่ว่าตัวอย่างขั้นแรกที่จะต้องนึกถึงกันก่อนก็คือครูบาอาจารย์ ส่วนบิดามารดานั้น เด็กได้เห็น และได้ถือเอาเป็นตัวอย่างโดยไม่รู้สึกตัว โดยไม่มีการสำนึกมาแล้ว ฉะนั้นในบ้านเรือนไหนมีบุคคลอย่างไร เด็กทารกที่เกิดมาก็จะมีลักษณะ มีมรรยาท มีความประพฤติ มีอะไรกันตามที่มันมีให้ดู ฉะนั้นการได้เกิดในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฏฐินั้นนับว่าเป็นกุศลอย่างยิ่ง ทารกที่ได้เกิดมาในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับว่าเป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะมันจะแวดล้อมเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว รับเอาไว้โดยไม่รู้สึกตัว มันก็กลายเป็นมีจิตใจดี มีมรรยาทดี มีบุคลิกลักษณะดี มันง่ายที่จะส่งมอบให้ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน ครั้นเขามาอยู่กับครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน เขาก็ได้ถือเอาตัวอย่างที่ดีจากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เดี๋ยวนี้มันก็มีปัญหาน่าหัวเราะ ที่ว่าครูสอนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่ครูสูบให้เห็น อย่างนี้ มันก็เลยเป็นการลบล้างหมด เลิกล้างกันหมด ฉะนั้นอะไรที่ต้องการให้ลูกศิษย์ทำ ครูต้องทำเป็นตัวอย่างเสมอ จะเป็นธรรมะข้อไหนกี่ข้อกี่สิบข้อ เพราะฉะนั้นครูสามารถที่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้เสมอ มันก็เป็นการง่ายที่เด็ก ๆ เขาจะมีตัวอย่างที่ดี แล้วก็ทำตามได้โดยง่าย
ข้อ ๓ พยายามในการแก้ไขข้อบกพร่อง ที่ควรแก้อยู่ตลอดเวลา สอนให้ยุวชนมีความพยายามในการแก้ไขข้อบกพร่อง ใช้คำว่าที่ควรแก้ หรืออยู่ในวิสัยที่ควรแก้ คือแก้ได้ อยู่ตลอดเวลา ในการเล่าเรียน อะไรเป็นข้อบกพร่อง มันก็ต้องแก้ไขส่วนนั้น ถือหลักมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ว่า สุ จิ ปุ ลิ การฟัง การคิด การถาม การจำ เป็นเสาหลักของการศึกษา ซึ่งจะบกพร่องไม่ได้ ทีนี้ถ้าออกไปเป็นผู้ครองเรือน เป็นพ่อบ้านแม่เรือนไม่ใช่ศึกษาแล้ว มันก็มีเรื่องที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ควรจะเกิด เช่นว่ามีทรัพย์สมบัติพอตัว มีชื่อเสียงเกียรติยศพอตัว มีมิตรสหายชาวเกลอที่ดีพอตัว นี่เป็นเครื่องวัดความสมบูรณ์ของฆราวาส ได้อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเต็มตามความหมายของความเป็นฆราวาส แต่เราอาจจะจำแนกแจกออกไปให้มันง่าย ๆ ขึ้นว่า ในการแสวงหาก็ดี ในการได้มาก็ดี ในการมีไว้ก็ดี ในการใช้จ่ายก็ดี นี่เรื่องเกี่ยวกับหาทรัพย์ หาเกียรติ หาอะไรต่าง ๆ อย่าให้มีการบกพร่องในการที่จะแสวงหาอย่างถูกต้อง แสวงหาอย่างผิด ๆ เขาเรียกว่าเป็นการบกพร่องอยู่อย่างเต็มที่แล้ว แล้วมันก็ล้มละลายอยู่ในตัว แสวงหาอย่างผิด ๆ นี่ก็มีอยู่ในข้อต้น ๆ บ้างแล้ว คือแสวงหาอย่างถูกต้องในการดำรงชีพ ได้มาก็ต้องได้มาอย่างถูกต้อง ที่จะมีไว้เก็บไว้ ยึดครองไว้ก็ต้องในลักษณะที่ถูกต้อง แล้วกินใช้บริโภคก็ต้องในลักษณะที่ถูกต้อง บาลีใช้คำว่า ธรรมิก ธรรมิก ถูกต้องคือประกอบด้วยธรรมะ การแสวงหาก็เป็นธรรมิก การได้มาก็เป็นธรรมิก การเก็บไว้ก็เป็นธรรมิก การกินการใช้บริโภคก็เป็นธรรมิก แปลว่าประกอบอยู่ด้วยธรรม เป็นความนิยมว่าจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำที่เป็นธรรมิก ในคำถวายทานบางชนิด บางแห่ง ผู้ถวายจะระบุว่าปัจจัยเหล่านี้ข้าพเจ้าได้มาโดยธรรม แสวงหามาโดยธรรม ได้มาโดยธรรม ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าอย่างนี้เป็นต้น กลัวว่าพระผู้รับทานนั้นจะสงสัยว่ามันไม่ถูกต้อง ไปขโมยเขามา หรืออะไรมา เป็นต้น คำว่าธรรมิก ธรรมิก คำนี้แหละจะแก้ปัญหาได้หมด ขอให้ช่วยจำไว้เถิด ธรรมิกประกอบอยู่ด้วยธรรม ถ้าอะไรมันประกอบอยู่ด้วยธรรมแล้วมันก็จะวิเศษน่ะ จะเป็นลัทธิการเมืองก็ดี เป็นลัทธิเศรษฐกิจ ลัทธิอะไรสุดแท้ ถ้ามันประกอบด้วยธรรมแล้วมันจะไม่มีปัญหา มีการแก้ไขข้อบกพร่องให้มันถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เป็นธรรมิกแล้วมันก็เดินไปเอง เดินไปเอง
นี่สามหัวข้อนี้เรียกว่า หมวดสัมมาวายามะ ถ้าเข้าใจวิธีสังเกตแล้ว อาจจะไปหาได้เอง เติมขึ้นอีกก็ได้ เติมอีกกี่ข้อก็ได้ ถ้ามันมีความหมายเป็นความพยายาม หรือต้องใช้ความพยายามแล้วก็เรียกว่าบรรจุลงในหมวดนี้ได้ ขอให้พยายามคิดนึกกันต่อไป
ทีนี้ก็หมวดที่ 7 สัมมาสติ พูดถึงคำว่า สติ สตินี่อย่าเข้าใจว่ามันมีแต่เรื่องของธรรมะในวัด หรือฝึกกรรมฐานแล้วจึงจะมีสติ ตามธรรมดาสัตว์แม้สัตว์เดรัจฉาน หรือทั้งหมด มันก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสติ มันจำได้ และมันระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นคนธรรมดานี่ เด็กทารกโตขึ้นมา โตขึ้นมาแล้วมันก็จำอะไรได้ แล้วมันก็ระลึกไอ้สิ่งที่จำได้นั่นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่มาใหม่ ก็เป็นเหตุให้ไม่ทำอะไรผิด ๆ สติสมประดี สติสมประดี ก็คือคำว่าสตินั่น มันคำเดียวกัน แต่มันเป็นรูปอีกภาษาหนึ่งเป็น สัมปะติ ภาษาสันสกฤต สติ เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยนิยมถอดเอาภาษาสันสกฤตมาใช้ ก็เรียกว่าสมประดี ถ้าไม่สมประดีก็คือบ้า และเมา เมื่อเราไม่ได้บ้า และเราไม่ได้เมา เราก็มีสมประดีอยู่ตามสมควร ตามธรรมชาติ หรือเท่าที่ธรรมชาติมันจะมีให้ มิฉะนั้นเราก็จะจำอะไรไม่ได้ จะควบคุมอะไรไม่ได้ เดี๋ยวก็จะป้อนข้าวทางจมูกให้ตนเอง หรือว่าเดินมันก็สะดุด มันก็อะไรไปหมด มันมันเป็น มันรอดชีวิตไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าสติความระลึกได้นี่มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เท่าที่จะทำให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ทีนี้มันไม่พอ มันไม่พอที่จะดับความทุกข์ด้วย เราจึงต้องเพิ่มสติ เพิ่มสติด้วยการฝึกสติ ที่เรียกกันว่าฝึกกรรมฐานน่ะ ไม่ว่ากรรมฐานแบบไหน เป็นการฝึกสติทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องว่าแบบนั้นผิด แบบนี้ถูก ขอให้ทำอย่างแบบที่วางไว้เถิด คือมันจะมีการกำหนดอารมณ์ด้วยสติ ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่มีการกำหนดอารมณ์ มันก็มีอารมณ์มาให้กำหนดมันก็ต้องใช้สติ นั่นน่ะมันคือการฝึกสติในเบื้องต้น แล้วก็ฝึกให้มากเข้า ให้นานเข้า ให้ไกลออกไป ให้เร็วเข้า คำว่าสติ แปลว่าระลึกได้ คือรากศัพท์จริง ๆ มันแปลว่า แล่นไป แล่นไปเหมือนกับลูกศร หรือลูกปืน (นาทีที่27.05)กละ กละ มันแปลว่าแล่นไป เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู เป็นต้น จิตมันแล่นไปสู่ปัญญาความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ที่มีอยู่ในความจำ ที่เคยเรียน เคยฝึกฝน เคยอบรมมาแล้วอยู่ในรูปของปัญญา ทีนี้สติมันระลึกได้ ก็หมายความว่าระลึกได้ถึงปัญญาเหล่านั้น แล้วไปอย่างเร็วเหมือนกันลูกศร หรือลูกปืน แล้วก็พากลับมาทันเวลาในขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดพลาดขึ้นมาในการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น เป็นต้น
ตัวสตินั้นเป็นเหมือนกับเครื่องขนส่ง สิ่งขนส่งไม่ใช่ตัวความรู้นะ แต่มันไปพาเอาปัญญา คือความรู้มา ในภาษาไทยเรานี้ เท่าที่อยู่ที่เอามาควบกันเรียกว่า สติปัญญา ในภาษาบาลีไม่เคยพบคำว่า สติปัญญา หรือแปลกันอยู่ ในภาษาไทยนี่ดีมากที่ใช้ควบกันอยู่กับสติปัญญาเป็นคำเดียวกัน ถ้าสติมันขนปัญญาเอามา มันก็มีปัญญาอยู่ด้วย ถ้าปัญญามีอยู่ในหน้าที่นั้นนานพอก็เรียกว่า สัมปชัญญะ สติผู้ขนส่งเอาปัญญามาแล้ว แล้วปัญญานั้นถูกควบคุมให้อยู่ให้นานพอกับในกรณีนั้น ๆ ก็เรียกว่า สัมปชัญญะ ใครจะแปลสติว่าความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ก็ตามใจเถอะ แต่ขอให้รู้ข้อเท็จจริงที่มันกระทำหน้าที่คืออย่างนี้
ดังนั้นจะต้องมีการสะสมปัญญา พอกพูนปัญญาอยู่เป็นประจำ สำหรับให้สติขนออกมาให้ทันท่วงทีเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ แล้วก็เฝ้าแจอยู่นั่นแหละ ก็เป็นสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เราจะเผชิญกับอารมณ์ที่มากระทบ ถ้าจะให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องไม่เป็นอันตรายแล้วก็ต้องมีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ แต่รวมเรียกกันเสียคราวเดียวว่ามีสติก็ได้ เรียกว่ามีสติก็ได้ สติที่อยู่เฉย ๆ ไม่ไปขนเอาอะไรมาน่ะ ไม่เรียกว่าสติหรอก แล้วยังไม่มีด้วยซ้ำ สติจะมีเป็นตัวสติขึ้นมาต่อเมื่อมันทำหน้าที่ไปขนเอาอะไรมา ฉะนั้นถ้ามีสติ ก็ต้องมีการขนอะไรมาด้วย แล้วมันจึงมีปัญญาติดมาให้สติ รวมอยู่ในสติ เพราะสติเป็นสิ่งที่เร็ว ขนมาเร็ว ๆ ดังนั้นผู้ที่มีแต่ปัญญา ไม่มีสติ จึงเป็นบุคคลล้มละลาย จะไม่สามารถใช้วิชาความรู้ของตนให้ทันท่วงทีได้ มันกลายเป็นความรู้ท่วมหัว แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่มีสติที่จะเอาปัญญามาใช้ให้ทันท่วงที นี่เรียกหมวดนี้ว่าสัมมาสติ คือมีสติถูกต้อง หรือมีสติชอบ มีความรำลึกชอบ คำว่าถูกต้องก็เหมือนกันทุกข้อ อย่างที่อธิบายมาแล้ว คำว่าถูกต้องนั้นไม่ต้องใช้พิสูจน์วิเคราะห์ด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ ใช้วิธีของพุทธศาสนา คือว่ามันไม่ทำอันตรายใคร และมันทำประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั้นน่ะคือถูกต้อง ไม่ต้องอ้างหลัก Logic Philosophy หรืออะไรให้มันยุ่ง ถูกต้องคือมันไม่ทำอันตรายแก่ฝ่ายใด และมันมอบประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย ถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าถูกต้อง เดี๋ยวนี้มีสติถูกต้อง มันก็คือว่ามันมีสติเมื่อไร ก็ได้รับประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้เป็นเจ้ากี้เจ้าการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เรียกว่าชอบ หรือถูกต้อง แจกเป็น ๔ ข้อ หัวข้อที่มีอยู่
ความเป็นผู้มีสติในการควบคุมตนเอง มีสติในการควบคุมตนเอง ทีนี้มันก็มีปัญหาว่าตนเองคืออะไร เพราะว่าหลักธรรมะสอนว่าทุก ๆ สิ่งไม่ใช่ตน นี่ดันมีตนเองขึ้นมาอีก มันเป็นการพูดตามภาษาชาวบ้าน หรือภาษาคนพูดต้องมีตัวเอง มีตน มีตนเอง ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตนแล้วมันจะไม่ทำอะไรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของตน ฉะนั้นตามสัญชาติญาณจะต้องมีความรู้สึกว่าตน ๆๆ หรือของตน ของตนนี้อยู่ มันก็ได้เห็นแก่สิ่งนั้น แล้วก็จะพยายามทำเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น ทีนี้ตนนี่ไม่ใช่จะดี หรือถูกต้องมาแต่กำเนิด มันจะเป็นตนที่ค่อยผิด ๆๆ เข้าก็ได้ เพราะว่าเด็กทารกคลอดออกมาไม่ได้มีสติปัญญาความรู้อะไรติดมาจากในท้อง พอรู้กิน รู้เล่น รู้อะไรมันก็เริ่มมีความรู้สึกชอบใจ ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจ มันก็เกิดความอยากในสิ่งที่ชอบใจ หรือว่าเกิดความไม่อยาก คืออยากจะไม่ให้มี ไม่ให้เป็นในสิ่งที่ไม่ชอบใจ ถ้าเมื่อเกิดความรู้สึกที่เรียกกันว่าความอยากแล้วมันจะก่อให้เกิดความรู้สึกต่อมา คือความรู้สึกว่ากูอยาก กูอยาก กูอยากได้ กูอยากกิน กูอยากเอา ทีนี้เด็ก ๆ จะมีพฤติอย่างนี้ในจิตใจเรื่อย ๆ มาไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้งจนกว่าจะเติบโต ดังนั้นทุกคน ๆ จึงมีความรู้สึกว่าตนนั้นน่ะยืนอยู่เป็นพื้นฐาน นี่คนทั่วไปปุถุชน ก็คือผู้ที่มีตัวตนเป็นพื้นฐาน นี่ถ้าจะให้เลยไปกว่านั้นก็ต้องกลับไม่มีตัวตน ระบายตัวตนออก ระบายตัวตนออก ทีละชั้น ทีละขั้นจนหมดตัวตนก็เป็นพระอรหันต์ คำสอนจึงมีแบ่งไว้เป็น ๒ ฝ่ายเสมอ คำสอนฝ่ายโลกียะไว้สอนพวกที่ยังต้องมีตัวตนอยู่ และคำสอนฝ่ายโลกุตระจะใช้สอนพวกที่ต้องการจะหมดตัวตน แม้แต่คำว่าสัมมาทิฏฐิน่ะ ก็ยังมีเป็น ๒ ฝ่าย สัมมาทิฏฐิสำหรับผู้มีตัวตนนั้น พูดกล่าวไว้ในลักษณะที่มีตัวตน เช่นว่า บิดามารดามี นรกมีสวรรค์มี การบูชายัญมี โลกหน้ามี โลกอื่นมี มันพูดในฝ่ายมี อย่างนี้เรียกว่าสำหรับคนทั่วไป ในระดับชาวโลกทั่วไป สอนอย่างมีตัวตนก็สอนว่าอย่างนั้น พอถึงขั้นที่จะเป็นโลกุตระ ก็สอนว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ที่จะสมมติว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันเรียนพร้อมกันคราวเดียวไม่ได้หรอก ถ้าการเตรียมมาสอนพร้อมกันคราวเดียวมันทำให้ยุ่ง จะต้องแยกก่อนว่าเดี๋ยวนี้เราพูดกันอย่างภาษาคนมีตัวตน เราก็ทำตัวตนให้ดี ถ้าพูดภาษาธรรมก็ละความยึดถือว่าตัวตนเสีย ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน ที่เรียกว่าไม่ใช่ตน หรือว่างจากตน กระทั่งว่าเป็นเช่นนั้นเอง อย่างนี้เป็นต้น
ควบคุมตนเอง ก็คือควบคุมตนที่ยังไม่มีการศึกษา หรือไม่จบการศึกษา ตัวตนที่มันรู้สึกขึ้นมาในใจว่าเป็น “ตัวกู” นี่จะต้องควบคุม ถ้าพูดให้เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านั้นก็คือควบคุมกิเลส กิเลสทั้งหลายเป็นเครื่องแสดงออกของตัวตนทั้งนั้นแหละ ไม่ว่ากิเลสตัวไหน ข้อไหน แขนงไหน เพราะฉะนั้นควบคุมตัวตน ตนเองก็คือควบคุมกิเลส แล้วที่จะต้องควบคุมอย่างยิ่ง แปลว่าที่รีบด่วนจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือเมื่อรับอารมณ์ เมื่อรับอารมณ์ทางตา รับอารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางใจเอง เมื่อมีการรับอารมณ์ทางอายตนะเช่นนี้จะต้องมีการควบคุมกิเลส ควบคุมตนเอง หรือควบคุมกิเลส ก็คือมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาในการรับอารมณ์นั้นก็เรียกว่าควบคุมตนเองได้ มีสติควบคุมตนเองอย่าให้ทำอะไรผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรับอารมณ์ คำว่าอารมณ์นี่ภาษาวัดนี่ก็หมายถึง สิ่งที่มากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก ไม่ใช่หมายถึงพื้นอารมณ์ ปนกันยุ่ง บางคนเอาคำว่า Object มาใช้กับคำว่าอารมณ์ชนิดนี้ หรือบางคนเอาคำว่า emotion มาใช้กับอารมณ์ชนิดนี้ อารมณ์อีกคำในภาษาไทยนั้นน่ะไม่มีในภาษาบาลี คือได้แก่ความรู้สึกร้ายดีในจิตใจ อารมณ์ดี อารมณ์เสีย อารมณ์โกรธ อารมณ์นี้ นั่นคนละอัน แล้วก็ไม่มี ไม่ ๆ เรียกในภาษาบาลี มัน มันเป็น emotion แต่ถ้าอารมณ์ที่จะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เขาเรียก sense object, sense object สิ่งที่จะมากระทบความรู้สึก มีสติทันท่วงที ควบคุมสิ่งที่มากระทบความรู้สึกให้อยู่ในความถูกต้อง และต้องรวดเร็ว เล็งถึงความเร็วถึงได้เปรียบ จึงได้เปรียบกับลูกศร คำว่าสติ กับคำว่าลูกศรน่ะมันรากศัพท์เดียวกันแหละ มันมาเร็วเหมือนลูกศร ลูกปืน การปรุงแต่งเพื่อเกิดกิเลสนั่นมันก็เร็วเหมือนกับลูกศรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการจะป้องกันแก้ไขด้วยสติก็ต้องมาเร็วเหมือนกับลูกศรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสติทันเวลา คำสอนสากลก็มีว่า “ฉลาดให้ทันเวลา” พวกฝรั่งเขาพูด ๆ กันอยู่ก็อย่างเดียวกัน ต้องฉลาดให้ทันเวลา คือมีสติสัมปชัญญะปัญญาทันเวลาที่เรื่องมันเกิด คำว่าเรื่องมันเกิดน่ะ คือเรื่องเกิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่ว่าอาจจะไปใช้ขยายไกลออกไปถึงเรื่องที่เกิดช้า ๆ ก็ได้เหมือนกัน แล้วให้มันมาทันในเวลาที่มันเกิดเรื่องก็แล้วกัน
๒ อะ, ๓ เป็นผู้มีสติยับยั้งชั่งใจทันต่อเหตุการณ์ ข้อนี้เกือบ ๆ จะซ้ำกับข้อบนน่ะ แต่ว่าเราแยกเพ่งดูไปอีกทางหนึ่ง ระบุชัดลงไปว่ายับยั้งชั่งใจ ที่จริงถ้ามีสติมาทำหน้าที่อย่างที่ว่าแล้ว มันก็เกิดการยับยั้งชั่งใจอย่างหนึ่งด้วย แล้วเกิดอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เมื่อเกิดการยับยั้งชั่งใจ ฉะนั้นเราเปลี่ยนเป็นว่าให้มีสติยับยั้งชั่งใจ ให้เป็นผู้มีสติยับยั้งชั่งใจทันต่อเหตุการณ์ แล้วอธิบายไปในทำนองว่า มีสติรู้สึกตัวก่อนแต่ที่จะทำอะไร ก่อนแต่ที่จะทำอะไร ก่อนที่จะรับอารมณ์ หรือก่อนจะตัดสินใจ ก่อนจะคิด จะนึก จะพูด จะกระทำทางกาย ก่อนแต่จะกระทำสิ่งใด ๆ มีสติก่อน พูดเป็นอุปมาก็ว่า ยับยั้งการกระทำนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะมีสติถูกต้องครบถ้วนแล้วจึงจะกระทำ ฟังดูมันคล้าย ๆ กับจะปฏิบัติไม่ได้ถ้าเป็นเรื่องที่รวดเร็ว เช่น เสือวิ่งเข้ามาจะกัดนี่จะทำสติยังไง มันต้องใช้เวลาที่รวดเร็วมาก มันก็ต้องยังมีสติ ก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติมันก็จะล้มลงให้เสือกินเท่านั้นเอง การที่มันจะคิดว่าขึ้นต้นไม้ก็ได้ วิ่งหนีก็ได้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ มันมีระยะที่จะคิด จะนึก จะศึกษาอย่างเร็วเหมือนกัน เพราะว่าสติมันเร็วอย่างว่า มันเร็วอย่างฟ้าแลบ บางทีมันจะตัดสินใจสู้เสือก็ได้ แล้วแต่ว่าอันไหนมันจะเหมาะสม เพียงแต่ว่าเรามีสติก่อนแต่ที่จะทำอะไร ยับยั้งไว้นิดหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แห่งสติปัญญา
หนังสือแบบเรียนสอนเด็กสมัยก่อน ก็มีเรื่องนับสิบก่อน คือมันถ่ายมาจากฝรั่ง ไอ้เด็ก ๆ พี่น้องสองคนนั้น คนน้องผู้ชายมันได้รับคำสั่งสอนจากพ่อแม่ว่า จะพูดอะไรต้องนับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน แล้ววันนั้นเขาไปปลูกเมล็ดพืชกัน พี่สาวทำกระป๋องหก เด็กนิ่ง น้องชายนิ่งอึ้งอยู่นานพอ แล้วจึงค่อยพูด พี่สาวถามว่านั่นแกทำอะไร ก็บอกว่าฉันนับสิบอยู่ นับหนึ่งถึงสิบอยู่ แล้วก็มันหายโกรธพี่แล้ว ถ้าให้ฉันพูดไปทันทีฉันอาจจะพูดคำหยาบกับพี่ก็ได้ ก็นับหนึ่งถึงสิบก่อน มันเป็นหลักเกณฑ์อันเดียวกันกับความมีสติ เกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีขึ้นมาว่าทำอะไรตั้งนะโมก่อน ตั้งนะโมก่อน ไม่ใช่ว่าเพ้อ ๆ ไป มันเตรียมเนื้อเตรียมตัวสำหรับระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง อย่างนั้นอย่างนี้ เด็ก ๆ สมัยอาตมา เด็กสมัยนี้ไม่ทราบนะไม่ค่อยได้เห็น จะขึ้นต้นไม้นี่ ยกมือไหว้ ยกมือไหว้แล้วว่างุบงับ ๆๆ แล้วจึงค่อยขึ้นไป คือมันสำรวมสติ มันสำรวมสติระบบประสาทให้มันเหมาะสม ให้มันถูกต้อง แล้วมันจึงค่อยขึ้นไป มันตกยาก แม้แต่มันจะกระโจนลงไปอาบน้ำในหนแรกมันก็ยกมือไหว้ก่อน ก็ว่าอะไรงุบงับ ๆ อาตมาก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยทำ แต่เห็นเพื่อนเขาทำ อันนี้พอที่จะถอดรูปออกมาเป็นหลักเกณฑ์ว่า ทำอะไรนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน การที่จะตัดสินใจอย่างนั้น อย่างนี้ จะหย่าผัว หย่าเมีย จะทำอะไรก็ตามแหละขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน มันจะมีส่วนที่ถูก กระทำไปอย่างถูกต้อง นี่อาการที่เรียกว่ายับยั้งเสียก่อน ยับยั้งให้สติสมบูรณ์เสียก่อน
แม้ในกรณีที่ได้ของเป็นที่ถูกใจก็ต้องยับยั้งให้มีสติเสียก่อน แล้วได้ของไม่ถูกใจก็ยิ่งต้องยับยั้งให้มีสติเสียก่อน ไม่ฉะนั้นมันจะทำความหยาบคายอะไรออกไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีใจถูกใจก็รู้ไว้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเองอะ ไอ้ดีวิเศษน่ะไม่มีอะ มันมันเช่นนั้นเอง มันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราได้รับของพอใจถูกใจอะไรก็ต้อนรับด้วยคำว่าเช่นนั้นเองอะ เท่านั้นเองตามธรรมชาตินั้นอะ นี่มันก็ไม่หลงรักในสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ หรือว่าถ้าไปเกิดหลงรัก หลงพอใจเข้าแล้ว ก็เรียกว่าโง่แล้ว เช่นว่าประสบความสำเร็จในการงานในหน้าที่การงานอันมีเกียรติอะไรก็ตามแล้วก็พอใจยินดี อย่างนี้ตามระเบียบของการฝึกจิตของพวกสวามี ต้องแสดงอาบัติ เช่น ไปทำงานที่เมืองฝรั่งประสบความสำเร็จแล้วดีอกดีใจอยู่ในใจ กลับมาถึงก็ต้องตำหนิตัวเองว่าไม่มีสติ ดีใจไปหลงใหลในความสำเร็จ แล้วมันก็เสียใจร้องไห้ก็มี นี่อาตมาเคยอ่านประวัติของสวามีบางคน หลักอันนี้มันใช้ได้ทั่วไปหมดไม่ว่าเรื่องอะไร ในพระคัมภีร์บาลีก็มีคำว่าสตินี่ต้องใช้ในทุกกรณี สติสัมพัตถะปัตถิยา สติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ ต้องมีมาใช้ สัมพัตถะ มันใน ๆ ทุก ๆ กรณี ไปพยายามคิดดูเองก็ได้ ในกรณีเช่นไรแยกไว้เป็นอย่าง ๆ ไป ไม่ทำอะไรผลุนผลัน คือเรายั้งไว้ ยั้งเวลาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อจะคิดดูให้รอบคอบ แล้วก็ตัดสินใจทำให้มันถูกต้อง
ข้อ ๓ ความเป็นผู้มีสติในการแสวงหา และบริโภคปัจจัย ชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยของชีวิต คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยใช้สอย และวิธีการบำบัดโรค นี่ปัจจัย ๔ อย่าง เป็นปัจจัยเพื่อชีวิตอยู่ มีสติในการแสวงหาปัจจัย มีสติในการบริโภคปัจจัย นี่ก็เป็นระเบียบวิธีที่ภิกษุสามเณรจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ วันแรกบวช วันเข้ามาอยู่วัดจะบวชเขาก็ให้เรียนอันนี้ เรียนวิธีพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ อย่างนั้น จนกระทั่งพิจารณาถึงความไม่ใช่ตนแห่งปัจจัยนั้น ๆ ความไม่ใช่ตนแห่งบุคคลผู้บริโภคปัจจัยนั้น ๆ นี่เรียนสูง แล้วจึงบวช แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าสักว่าท่อง ๆ กันเท่านั้นไม่ได้อธิบายอะไรกันให้เป็นที่เข้าใจ นี่การมีสติในการแสวงหาปัจจัย และการบริโภคปัจจัย เช่น จะไปบิณฑบาตอย่างนี้ก็ไปด้วยสติตลอดเวลา รู้สึกว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ตลอดเวลา ได้บิณฑบาตมา หรือรับบิณฑบาต หรือได้บิณฑบาตมาก็บริโภคบิณฑบาต ด้วยความมีสติว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ตลอดเวลา หลักสูงสุดก็คือว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัวตน รู้แจ้งในความไม่ใช่ตัวตนอยู่ตลอดเวลา นี่มันป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสในปัจจัยเหล่านั้น ถ้ามันไม่มีสติ มันกลายเป็นยาพิษขึ้นมา ปัจจัย ๔ ที่บริโภคโดยไม่มีสติแล้วมันจะกลายเป็นยาพิษ คือทำอันตรายผู้นั้นขึ้นมา ก็หมายถึงมันทำให้เกิดกิเลส บริโภคอาหาร ฉันอาหารโดยไม่มีสติก็เกิดกิเลสชนิดหนึ่ง บริโภคเครื่องนุ่งห่มโดยไม่มีสติมันก็เกิดกิเลสชนิดหนึ่ง บริโภคที่อยู่อาศัยใช้สอยโดยไม่มีสติมันก็เกิดกิเลสขึ้นมาอย่างหนึ่ง แม้ที่สุดแต่การบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ มันก็เกิดกิเลสขึ้นมา จึงมีการย้ำอย่างยิ่งให้มีสติในการแสวงหา และการบริโภคปัจจัย ปัจจัยมันก็เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิต ทีนี้ถ้าบริโภคโดยไม่มีสติปัญญาความรู้ ปัจจัยนั้นจะกลายเป็นยาพิษ แต่ท่านเรียกมัน(นาทีที่ 50.17)เกลา หน่อย เรียกว่าอามิส อามิส แปลว่าเหยื่อ หรือเหยื่อล่อ อาหารที่ถูกต้องจะกลายเป็นเหยื่อล่อ ฉะนั้นแทนที่คนนั้นจะกินอาหาร มันกลายเป็นว่ากินเหยื่อ กินเหยื่อของกิเลส กินเหยื่อของมาร กินเหยื่อของใครก็สุดแท้ ทีนี้ถ้าไม่มีสติในการบริโภคปัจจัย แล้วปัจจัยจะกลายเป็นอามิส เป็นอามิส คือเป็นเหยื่อล่อให้มันหลง ๆ ๆ ๆ ไปจนวินาศ สี่ข้อนี้มันก็เรียกว่า สัมมาสติ เราไปใช้ความคิดนึกเอง อะไร ๆ ที่มันจะนำมาสงเคราะห์ลงในชุดนี้ได้ก็เพิ่มเติมก็ได้ ถ้าไม่กลัวมาก ถ้าไม่กลัวมันจะมากข้อ
ที่นี้หมวดที่ ๘ สัมมาสมาธิ มี ๘ หัวข้อ
ข้อ ๑ การทำจิตให้สงบ คือมีสมาธิ มีอารมณ์อันแจ่มใส มีอารมณ์อันแจ่มใส ข้อนี้ก็เหมือนกันเหมือนกับสติ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสมาธิ สมาธินี่แปลความที่จิตตั้งมั่น หมายถึงกิริยาอาการ มีได้โดยสัญชาติตามธรรมชาติ ระบบประสาทที่ธรรมชาติจัดมาให้นั้นมีสมาธิตามธรรมชาติ พอต้องการสมาธิเข้า มันก็ทำให้เกิดขึ้นมาเอง เช่น เด็กเล็ก ๆ ไม่ได้ฝึกสมาธิอะไร ถ้าเขาจะเล่นหยอดหลุม โยนให้ลงหลุมอย่างนี้สมาธิตามธรรมชาติก็เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ว่ามันเป็นของแปลกประหลาดมาแต่ไหน ไม่ใช่ คือมันมีอยู่ตามธรรมชาติ แต่มันไม่พอใช้ในกรณีที่สูง ๆ ขึ้นไป จึงต้องฝึกเพิ่มเติม เช่นว่าเราจะยิงหนังสติ๊ก เด็ก ๆ จะยิงหนังสติ๊กนี้ มันต้องเรียกร้องสมาธิตามธรรมชาติขึ้นมาอย่างเพียงพอ แล้วมันก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำสมาธิหรอก แต่มันตั้งใจยิงให้ถูกเป้านั่นน่ะคือการทำสมาธิ ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายมันก็มีสมาธิตามธรรมชาติพอให้รอดชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่พอที่จะดับทุกข์โดยประการทั้งปวง ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสมาธิ ทีนี้ความหมายของคำว่าสมาธินี่มันกว้าง ไกลกว่าที่เรารู้จักกันแต่เพียงว่าทำให้มันหยุด ให้มันสงบ ให้มันนิ่ง คำว่าสมาธิตามที่มีบทนิยามไว้ในบาลีนั้นมีว่า เอกัคคตาจิต ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิต คือจิตที่คิดเพียงสิ่งเดียว แล้วก็มีนิพพานเป็นอารมณ์แห่งการคิด การกำหนด การรู้สึก เขาพูดไว้มันสูง มันไพเราะมากแหละ แต่มันก็อยู่ในระดับสูงกว่าที่ธรรมดาจะรู้จัก เอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เช่นว่ามาตั้งต้นทำสมาธิวันนี้ง่าย ๆ ต่ำ ๆ อย่างนี้ เขาก็ต้องมุ่งหมายว่าจะดับทุกข์ มุ่งหมายจะมีการดับทุกข์ หรือนิพพานเป็น เป็นผลสุดท้าย นี่ก็สงเคราะห์ได้ เพิ่งลงมือทำสมาธิเดี๋ยวนี้ มันก็ยังมีจิตที่มุ่งหมายจะได้ผลของการทำสมาธิเป็นความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นยิ่งทำเข้าไป ๆ บรรลุฌาน พวกรูปฌานแล้วอย่างนี้มันก็ยิ่งใกล้ต่ออารมณ์ คือพระนิพพานมากขึ้น บางแห่งก็เอาไอ้ความสงบในฌานนั้นน่ะ เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ ตทังคนิพพาน ก็ยังมี
ทีนี้พอทำไป เลยไปอีกเป็นรูปฌาน เป็นอรูปฌาน มันก็ยิ่งใกล้พระนิพพาน ทีนี้หมดกิเลสเลยมันก็ถึงนิพพาน ฉะนั้นสมาธิน่ะ คือการบำเพ็ญจิตให้เหมาะสม มีนิพพานเป็นวัตถุประสงค์ นี่จึงจะเรียกว่าระบบสมาธิทั้งระบบ ซึ่งมักจะเรียกว่าสมาธิภาวนา สมาธิภาวนาเป็นคำเดียวกัน แปลว่าการทำความเจริญด้วยสมาธิ ใช้สมาธิเป็นเครื่องมือทำความเจริญในระบบสูงขึ้นไปตามลำดับ ในระบบศีล ระบบสมาธิ ระบบปัญญา แล้วระบบมรรคผลนิพพาน การที่จะทำจิตให้เจริญได้นั้นไม่มีอื่นนอกจากโดยสมาธิ มีสมาธิเป็นเครื่องมือ สำหรับพัฒนาจิตให้เจริญ นี่สมาธิมีขอบเขตถึงอย่างนี้ แล้วผลที่เหลืออยู่ใช้ต่อไปอีกก็คือว่า อาจจะมีจิตเข้มแข็ง จะมีจิตบริสุทธิ์ จะมีจิตว่องไวในหน้าที่ ที่เรียกกันว่า active ว่องไวในหน้าที่ เมื่อจิตมีสมาธิแล้วจะมีความว่องไวในหน้าที่ คุณสมบัติเหล่านี้ยังอยู่กระทั่งว่าออกจากสมาธิ ออกจากนั่งสมาธิ ออกจากฌานแล้วเป็นต้น คุณสมบัติ คือความบริสุทธิ์แห่งจิตก็มีอยู่ ความเข้มแข็งแห่งจิตก็มีอยู่ ความว่องไวในหน้าที่ก็มีอยู่ ดังนั้นจึงพิจารณาเรื่องที่ลึก ๆ ยากขึ้นไป เช่น เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะบรรลุธรรมสูง ๆ ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่านั่งอยู่ในฌานแล้วจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ถ้าอยู่ในฌาน ในสมาธิโดยตรงนั้นมันไม่ได้คิดนึกรู้สึกอะไรได้ มันต้องออกจากฌานนั้น แต่ว่าอิทธิพล หรือลักษณะของสมาธิยังคงอยู่ มันจึงมาทำการพิจารณาสิ่งที่ควรพิจารณาได้ คิดนึกอะไรได้ ตัดสินใจอะไรได้
ทีนี้ที่ควรจะดูก็คือว่าไอ้สภาพจิตที่ไม่มีกิเลสรบกวนน่ะเป็นสมาธิที่แท้จริง และถูกต้อง เราทุกคนเลยเวลาไหนไม่มีกิเลสรบกวน เวลานั้นมันก็มีความหมายแห่งสมาธิอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ ขอให้นึกถึงเวลาที่ไม่มีกิเลสรบกวนให้มาก มักจะมองข้ามกันเสีย แล้วก็ไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้ธรรมะที่ควรจะรู้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเวลาที่กิเลสไม่รบกวนนั่น มันก็มีน่ะไม่ใช่ไม่มี แล้วบางทีจะมากกว่าเสียด้วย เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นในใจ เผาให้ร้อนเป็นไฟนี่น่ะมันมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น ถ้าอย่ามีกิเลสมารบกวนจิตนี้ก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่ามีสมาธิ หรือมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาด้วยก็ได้ โดยที่ไม่ต้องคิดนึกอะไร ช่วยสังเกตให้มากว่า เมื่อไม่มีอะไรไม่มีกิเลสอะไรเกิดขึ้นรบกวนจิต เราอยู่ด้วยสมาธิตามธรรมชาติ แล้วเราก็รู้สึกสบายใช่ไหม ตั้งปัญหาขึ้นมาว่าเวลาไหนที่เรารู้สึกสบายมากที่สุด เราอาจจะตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่า เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนจิต เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนจิต เวลาที่สบายที่สุด รู้สึกเป็นสุขพอใจที่สุด ก็คือเวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนจิต ไอ้สิ่งรบกวนจิตก็คือกิเลส ก็ได้ความว่าเมื่อไม่มีกิเลสรบกวนจิต เราก็สบาย เรียกกันว่า เรียกกันง่าย ๆ ว่าจิตมันโปร่ง จิตมันเย็น จิตมันเป็นที่พอใจทุกอย่างแหละ ทีนี้จิตชนิดนั้นน่ะมันอยู่ไม่ได้นาน มันเกิดมีจิตที่มีอะไรรบกวน คือมีนิวรณ์ หรือกิเลสเกิดขึ้นรบกวน กลายเป็นจิตที่ยุ่ง ที่มืดมัว เร่าร้อน หงุดหงิด งุ่นง่านกันไปตามเรื่อง ก็จะต้องดูให้รู้ว่าสิ่งที่จะมารบกวนจิตให้สูญเสียปกตินั้นมีอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่สุดที่ต้องรู้จักก็คือพวกนิวรณ์ทั้ง ๕ แต่เราไม่ค่อยสนใจกัน ต่อจะไปทำสมาธิ จะไปฝึกสมาธิจึงจะสอนกันเรื่องนิวรณ์ และละนิวรณ์ ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น อยู่ที่บ้านนั่นแหละ ขอให้รู้จักนิวรณ์ที่เข้ามาเยี่ยมทุก ๆ ครั้ง เดี๋ยวก็มาในรูปของความรู้สึกทางเพศ มากวนจิต จิตไม่โปร่ง จิตไม่เย็น แล้วก็มาในรูปของการไม่ชอบอะไร ขัดใจอะไร หงุดหงิดอะไรนี่เขาเรียกว่าพยาบาท เดี๋ยวก็มาในรูปของห่อเหี่ยว แฟบไม่มีกำลัง เปลี้ยมึนงงนี่ก็ไม่ ไม่โปร่ง จิตไม่โปร่ง เดี๋ยวก็มาอย่างฟุ้งซ่าน ๆ จนคิดอะไรไม่ได้ นี่ก็จิตไม่โปร่งไม่สงบไม่เย็น ไม่ อันสุดท้ายก็คือลังเล เรียกว่าวิจิกิจฉา ความลังเลด้วยความสงสัย สงสัยลังเลคือความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นี้แน่แล้ว ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว มักจะระแวงสงสัยว่าจะยังไม่ดีอยู่เสมอไป นี่เรามันลังเลในชีวิตในความปลอดภัยของตัวว่ายังไม่ปลอดภัย มันยังรบกวนอยู่ แล้วจะสอบไล่ได้ หรือไม่ คราวนี้ที่อุตส่าห์เรียนกันทั้งปี มันก็อยู่ด้วยความลังเลสงสัยว่าจะไม่เป็นไปตามที่เราหวัง นั่นน่ะความลังเลนี่ดูจะรบกวนมากกว่านิวรณ์อื่น ๆ ความไม่แน่ใจว่าปลอดภัย หรือถูกต้องแล้ว มันรบกวน ขอให้สังเกตดูเถอะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องธรรมะ หรือศาสนาเลยก็ได้ มันเป็นเรื่องของคนแต่ละคน คนทุกคน ทุกคนน่ะมันมีอาการอย่างนี้ เด็กทารกโตขึ้นมาก็เริ่มรู้จักนิวรณ์ เริ่มมีนิวรณ์ แต่มันไม่รู้จัก แล้วก็ไม่มีใครสอน จนเป็นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันก็ยังไม่รู้จักนิวรณ์
ฉะนั้นถ้าจะศึกษาเรื่องสมาธิ สิ่งแรกที่จะต้องรู้จักที่สุดก็คือ นิวรณ์ในชีวิตประจำวันซึ่งเกิดขึ้นแล้วจิตสูญเสียภาวะปกติ ลำบากมาก นี่พยายามหาวิธีกำจัดนิวรณ์ไปตามมีตามได้ และโดยหลักก็กำจัดได้ด้วยสมาธิ พอลงมือทำสมาธินิวรณ์ก็หายไป ไม่หายก็ทำให้หนักขึ้นไปอีกจนกระทั่งนิวรณ์มันหายไป ได้จิตใหม่ที่เข้มแข็ง ที่บริสุทธิ์ ที่ว่องไวในหน้าที่ นิวรณ์แท้ ๆ เป็นของรบกวนใน ใน ในขั้นต่ำ หรือขั้นธรรมดาที่สุดก็ยังไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้จักกิเลสซึ่งรุนแรงมากนั้นมัน มันก็ ก็ลำบากแหละ ถ้าเราอยากจะมีจิตในชีวิตประจำวันชนิดที่ไม่มีนิวรณ์รบกวนกันก่อน คือจิตโปร่ง ใช้คำว่าโปร่งในภาษาไทยนี่ดูจะพอแล้ว จิตโปร่งนี่มันสงบ มันเย็น มันเป็นที่น่าพอใจไปทุกอย่างแหละ ถ้าจิตไม่โปร่งนี่มันทำอะไรไม่ได้ ทำได้ก็ไม่ดี จะเขียนจดหมายสักฉบับหนึ่งก็ไม่เป็นที่พอใจ ถ้าว่าจิตของเราไม่โปร่ง เพราะมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งรบกวน แล้วมันก็ส่วนมากเป็นความลังเลไม่แน่ใจในสิ่งที่กระทำ ฉะนั้นการฝึกสมาธิก็กำจัดนิวรณ์เป็นสิ่งแรก แล้วก็ทำให้เกิดปัญญา และมีสติมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ยิ่งได้ประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปถึงขนาดที่จะกำจัดตัวกิเลสโดยตรง นิวรณ์มันก็เป็นสิ่งที่เนื่องมาจากความเคยชินแห่งกิเลส หรืออนุสัย คือกิเลสที่เป็นความเคยชินน่ะ มันส่งเหมือนกับไอกรุ่น ๆ หรือควันไฟอะไรเข้ามา ไม่ใช่เป็นตัวไฟแท้ ในสันดานมันมีอนุสัยแห่งราคะ แห่งปฏิฆะ แห่งอวิชชา จากคลังนั้นแหละ มันส่งขึ้นมาโดยไม่ต้องเจตนา โดยไม่ต้องมีอารมณ์มากระทบ ไม่มีอะไรมายั่ว มากระทบ มันก็เกิดนิวรณ์ได้ เพราะว่ามันมีอัดอยู่ในส่วนลึก ถ้ามันมีอะไรมากระทบแล้วปรุงกัน แล้วเกิดกัน มันกลายเป็นกิเลสไป คือมันรุนแรงเข้มข้นไป ถ้ามันเนือย ๆ มันก็เป็นนิวรณ์ มันมาจากต้นตอเดียวกัน นิวรณ์ คือกิเลสซึ่งยังไม่เต็มรูปแบบ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เก็บกักความเคยชินแห่งกิเลสไว้ในสันดาน แล้วมันก็ต้องออกมาเป็นนิวรณ์โดยไม่เจตนา รู้จักไล่นิวรณ์ ขับไล่นิวรณ์ ก็จะเป็นสมาธิ หรือเจริญสมาธิมันก็จะขับไล่นิวรณ์อยู่โดยอัตโนมัติ เช่นความคิดนึกเรื่องเพศ กลุ้มอยู่ในใจ เปลี่ยนเป็นคิดนึกเรื่องอื่น ให้มันเปลี่ยนเสีย นี่ก็จะกำจัดไป ให้ไปกำหนดอารมณ์อะไรก็ได้ หรือจะไปกำหนดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องกำจัดนิวรณ์ นี่เรื่องของสมาธิ เป็นเหตุให้มีจิตเหมาะสมที่จะทำความเจริญทุก ๆ อย่างให้แก่ตน
ข้อที่ ๑ ทำจิตให้สงบมีสมาธิอารมณ์แจ่มใส ยกตัวอย่างที่ว่ามาแล้ว รักษาจิตไว้ในภาวะที่สงบ คือวิเวก คือเดี่ยวไม่ถูกรบกวนด้วยกิเลส และนิวรณ์ และจิตก็แจ่มใส นี่เราใช้คำว่าอารมณ์แจ่มใส เป็นภาษาธรรมดา ภาษาที่ใช้กันอย่างธรรมดา ถ้าภาษาในวัดละก็ไม่ใช้คำว่าอารมณ์ แปลว่าจิตใจแจ่มใสดีกว่า คำว่าอารมณ์แจ่มใสนี่มัน มันไม่ถูกต้องตามภาษาบาลี อารมณ์แปลว่าสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นน่ะ นี่คือจิตใจแจ่มใส
ข้อ ๒ ความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่มากระทบ ข้อนี้เป็นได้เมื่อมีสมาธิแล้ว เมื่อฝึกสมาธิจนมีความชำนาญเพียงพอแล้วมันจึงจะมีผลเป็นว่า เมื่ออารมณ์มากระทบไม่หวั่นไหว ดำรงจิตอยู่ด้วยสติปัญญา มีอะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหว เกือบคล้ายกับข้อ ๑ แหละ แต่มาเล็ง มาเพ่งเล็งเอาที่กิริยาหวั่นไหว ปุถุชนตามธรรมดามีต้องมีจิตหวั่นไหว ถ้ามีจิตไม่หวั่นไหวโดยประการทั้งปวงแล้วก็เป็นพระอรหันต์ นี่ข้อความนี้ความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่มากระทบนี่หมายความว่าชั่วคราว หรือว่ายังต้องควบคุมอยู่ ยังมีปัญหารบกวนอยู่ ถ้ามันไม่หวั่นไหวโดยเด็ดขาดโดยแท้จริงไปแล้ว มันก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว
ข้อ ๓ มีความอดกลั้นอดทน มีความอดทนอดกลั้น นี่ก็ง่าย เข้าใจว่ารู้จักกันดี แต่ควรจะทราบถึงการที่อาจจะแบ่งให้สังเกตได้ง่าย อดทนอดกลั้นต่อสิ่งภายนอก แล้วก็อดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นภายใน ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน อดทนกันภายนอก อดทนความลำบากในการเจ็บไข้ได้ป่วย ความตรากตรำเหน็ดเหนื่อยในการทำการงาน อดทนต่อการสบประมาทนินทาว่าร้ายอะไรของผู้อื่น เรียกว่าทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจที่คนภายนอกเขาด่าเอา หรือดูหมิ่น ดูถูกเอา นี่อดทนต่อสิ่งภายนอก ทีนี้มันก็มีสิ่งภายในที่ร้ายกาจกว่า คือความบีบคั้นของกิเลส ถ้าเราอดทนไม่ได้ต่อการบีบคั้นของกิเลส เราก็ไปทำชั่ว ไปทำที่ไม่ควรทำทั้งนั้นแหละ การบีบคั้นของกิเลสนี่ไม่ใช่เล่นนะ มันจะบีบคั้นขนาดเจียนตายก็ได้ ถ้าเรายิ่งต่อสู้ ๆ ๆ มันก็ยิ่งมีผลไอ้เป็นความเจ็บปวด กิเลสเรื่องรักเรื่องกามารมณ์นี่ จะอดทน หรือบังคับ หรือต่อสู้กันอย่างไร ถ้าต่อสู้ไม่ได้มันก็พ่ายแพ้ มันก็ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้ที่สุดแต่ แม้ที่สุดแต่กิเลสมันต้องการจะให้ไปดูหนัง ดูละคร ไปเที่ยวกลางคืนอย่างนี้ ถ้าเราไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสเราก็ไปเท่านั้น ฉะนั้นถ้าเราอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสได้แล้วมันจะอดทนได้หมดทุกอย่าง แม้ที่เป็นภายนอก ถ้าอดทนการบีบคั้นในภายใน คือกิเลสได้แล้วมันจะอดทนได้ทุกอย่างแม้ในภายนอก ที่จะต้องลำบากตรากตรำในการทำการงาน หรือว่าจะถูกเขาดูหมิ่นนินทา ซึ่งเป็นของธรรมดาที่สุด ภาษาบาลีเรียกว่า ขันตี, ขันตีที่เป็นอย่างยิ่ง อย่างสูงสุดก็เรียก อธิวาสนขันตี ที่เป็นธรรมดาก็เรียกว่า ขันตี
ข้อ ๔ ความเป็นผู้มีเมตตา กรุณา เติมมุทิตา อุเบกขาไปด้วยดีกว่า คือมีพรหมวิหาร ให้มันครบจะดีกว่า มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เรื่องพรหมวิหาร๔ ที่เชื่อว่าทุกคนผ่านแล้ว และเคยสอนมาแล้วด้วย ข้อ๔ นี้มันครบพรหมวิหาร ๔ เสียเลย ก็เป็นที่เข้าใจ หรือสอนกันอยู่แล้วเป็นประจำ ก็ตามนั้นน่ะ แม้จะไม่อธิบายอะไรอีก แต่อยากจะพูดสักนิดหนึ่งในข้อสุดท้าย อุเบกขาน่ะ เมตตารักใคร่ กรุณาช่วยเหลือ มุทิตายินดีด้วย พออุเบกขาแปลว่าวางเฉย เมื่อช่วยไม่ได้ก็วางเฉยเสีย นี่มันไม่ถูกตามตัวหนังสือ เมื่อช่วยไม่ได้ก็มีอุเบกขา อุเบกขานี่แปลว่าจ้องดู คือจ้องดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ นั่นน่ะคืออุเบกขา อุเบกขาในกรณีนี้น่ะ ซึ่งผู้ใหญ่ บิดามารดาจะประพฤติต่อผู้น้อยลูกเล็กเด็กแดงอะไร มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในกรณีที่ยังช่วยไม่ได้ก็จ้องดูอยู่ว่าเมื่อไหร่จะช่วยได้ อุเบกขาในที่อื่นมีความหมายอย่างอื่น อุเบกขาในที่นี้มีความหมายว่าคอยดูอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะช่วยได้แล้วก็จะช่วย อย่างนี้เป็นพรหมวิหารที่ครบถ้วนที่สมบูรณ์ ถ้าอุเบกขาเฉยเสียไม่รู้ไม่ชี้ไม่ถูกหรอก ไม่ถูกตามเรื่องนี้ แต่มันดูคล้ายกับว่าเฉยเสียเหมือนกัน มันจ้องดูอยู่เฉย ๆ มันทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ละทิ้งความคิดที่จะช่วย
ข้อ ๕ ความเป็นผู้มีจิตไม่มีสิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่น่ารังเกียจนั้นน่ะตรงกับคำว่ากิเลส คำว่ากิเลสน่ะตามตัวหนังสือแปลว่าของสกปรก แปลว่าสิ่งสกปรก เพราะฉะนั้นใช้คำพูดว่า สิ่งที่น่ารังเกียจ ก็คือของสกปรก ก็คือกิเลส แต่พูดอย่างนี้มันกลายเป็นพูดกว้างเกินไป หรือครอบคลุมหมด และมันยังทำไม่ได้ ก็ลดลงมาถึงสิ่งที่น่ารังเกียจพื้นฐาน พื้นฐาน ถ้ากิเลสก็เป็นกิเลสหยาบ ๆ เป็นกิเลสแรก ๆ เป็นกิเลสพื้นฐาน การประพฤติกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิใช่ธรรม มิใช่ธรรมะ มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น ข้อนี้ก็ไล่ดูเองว่า อะไรบ้างที่เขารังเกียจกัน ตามความรู้สึกของวิญญูชนจะตรงกันหมด อะไรมันน่ารังเกียจ ความเกียจคร้าน ความไม่ซื่อตรง ความไม่อดทน ความไม่บังคับตน ความเนรคุณอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มีกี่อย่างก็ตามใจ เรียกว่าสิ่งที่น่ารังเกียจในพื้นฐานทั่วไป ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไป ในที่สุดก็ไปถึงโลภะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มักจะเป็นแต่ชื่อที่เรียก ไม่ค่อยศึกษาให้รู้จักตัวอันแท้จริง
กิเลสประเภทที่ ๑ เรียกว่า โลภะ หรือราคะก็ได้ คือกิเลสที่จะเอา กิเลสหมวดที่ ๒ เรียกว่า โทสะก็ได้ โกธะก็ได้ คือกิเลสพวกที่จะทำลาย ทีนี้กิเลสที่ ๓ เรียกว่า โมหะ คือจะหลงวนเวียนมัวเมาหลงใหลอยู่รอบ ๆ ถ้าจะเปรียบอย่างวัตถุ กิเลสที่ ๑ จะเอาเข้ามาหาตัวให้ได้แก่ตัว กิเลสที่ ๒ จะผลักออกไม่ให้มาหาตัว ถึงกับคิดจะฆ่าเสีย กิเลสที่ ๓ ก็วิ่งอยู่รอบ ๆ อารมณ์นั้น ๆ เพราะความโง่ เพราะความไม่รู้ว่าอะไร ก็ยังสงสัยอยู่นั่นแหละ ยังยึดติดอยู่ในอารมณ์นั้น นี่เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ มีพระบาลีตรัสไว้ชัดว่า ปริญญา, ปริญญามี ๓ ปริญญา ๓ คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี่ปริญญาของพระพุทธเจ้า ลองสนใจกันบ้าง สนใจปริญญาของพระพุทธเจ้า ถ้าจะมองกันในแง่ของความรู้นะ ไม่มีความรู้อะไรจะประเสริฐไปกว่าความรู้ว่า อันนี้มันสิ้นกิเลส ความรู้ว่าสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ มันเป็นความรู้อย่างเลิศ อย่างยอด ท่านจึงตรัสไว้อย่างน่าสนใจ แม้ในเวลานี้ มหาวิทยาลัยไหนให้ปริญญานี้กันบ้าง ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะนี่คือปริญญา ๓ ก็คือสิ้นกิเลส ๓ ประการนั่นแหละ เมื่อกิเลสทั้งหลายไม่มีอยู่ใน ในตนมันก็กลายเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าจะวางระดับไว้อย่างนั้นมันก็สูง สูงเกินไปจนไม่มีที่ ไม่มีอะไรจะใช้กับระดับต่ำ ๆ ลูกเล็กเด็กแดง เป็นอันว่าใช้คำว่าบาปก็แล้วกัน สิ่งที่เรียกว่าบาปนั่นมันเป็นข้าศึกของความสงบสุข เป็นของตรงกันข้ามจากบุญ บุญนั้นล้างกิเลส แต่บาปนั้นคือตัวกิเลส หรือตัวส่งเสริมกิเลส บุญเป็นชื่อแห่งความสุข บาปเป็นชื่อแห่งความทุกข์ ไม่มีสิ่งที่น่ารังเกียจในที่นี้รวมความแล้วก็เรียกว่าไม่มีบาปในความหมายไหน ทุกความหมาย
ทีนี้ข้อ ๖ ความเป็นผู้มีจิตไร้โศก นี่เราจำเป็นที่จะต้องใช้คำนี้ แม้มันจะซ้ำกับคำบางคำทีนี้ทีนี้ แต่จะถือหลักที่ทีแรกก็ไปอาศัยหลักมงคลสูตร ก็เลยเอาไว้ ความเป็นผู้มีจิตที่ไร้โศก ความโศกเศร้า คือโรคทางจิต ความโศกนี้เป็นเครื่องเสียดแทงจิต เหมือนกับโรคที่เกิดทางกายทำให้กายเจ็บปวด ความโศกเป็นโรคทางจิตเกิดขึ้นทำจิตให้เจ็บปวด ดำรงตนอยู่ดี ดำรงชีวิตดี มีจิตใจชนิดที่ไม่มีโรคทางใจ คือไม่มีกิเลสรบกวน เพราะรู้จักขับไล่โรคเหล่านี้ออกไปเสียด้วยคาถาว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ตถตา, ตถตา ก็เป็นคำที่เพิ่งจะนำมาใช้ ก็ควรสนใจกันไว้ มันมีความหมายกว้างเหลือเกิน มันจะแก้ปัญหาได้หมด ตถตา แปลว่าเช่นนั้นเอง คือตามที่ธรรมชาติมันเป็นเช่นนั้นเอง คือเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ทยอยกันอย่างนี้เรื่อยไปนั้นน่ะ คือความเป็นเช่นนั้นเอง แต่อาการที่ปรุงแต่งนั้น เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ลักษณะของ อิทัปปัจจยตา นั้นก็ไม่ถือว่าเป็นของแปลก หรือมีอำนาจอะไรที่ไหน มันจะขจัดออกไปเสียได้ด้วยความรู้เรื่องตถตา, ตถาตา ว่าเช่นนั้นเอง ถ้ามีความรู้ว่านี่เช่นนั้นเอง แล้วมัน มันจะไม่มีความรักในที่น่ารัก ไม่มีความโกรธในที่น่าโกรธ ไม่เกลียดในสิ่งที่น่าเกลียด ไม่กลัวในสิ่งที่น่ากลัว ไม่วิตกกังวลในสิ่งเป็นที่ตั้งความกังวล ไม่อาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่เป็นที่ตั้งความอาลัยอาวรณ์ เพราะมันเห็นตถตา ตถตาแก้โรคทางจิตทุกชนิด นับตั้งแต่นอนไม่หลับ นอนไม่ค่อยหลับ ถ้าเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของกรณีที่เกิดขึ้นรบกวนแล้วมันก็จะนอนหลับ มีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงทุกชนิด พระพุทธเจ้าท่านมียาอะไร มียาอะไร ก็มียาอิทัปปัจจยตา, ตถตานี่สำหรับแก้โรคทุกชนิดเลย ตถตา แปลว่าความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา ความไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตาไม่มีโดยประการอื่นนอกไปจากอย่างนั้น อิทัปปัจจยตา คือความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น นี่เรียกว่า ตถตา หมดเลย เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองอ่ะ คือคำพูด ๔-๕ คำนี้มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น ไม่มีโดยประการอื่นไปจากความเป็นอย่างนั้น คือความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยแล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นปัจจัยแล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้น จะว่าสักกี่ร้อยครั้ง พันครั้งมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะมันสืบเนื่องกันไปแหละ สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วมันก็กลายเป็นเหตุอีก ไปสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาอีกเป็นผล แล้วผลมันก็กลายเป็นเหตุอีก จะสร้างผลใหม่อีก ผลกลายเป็นเหตุก็สร้างผลใหม่อีก อย่างนี้เรื่อยไป ถ้ามองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง เราจะไม่เกิดเครื่องเสียดแทงจิต หรือว่าโรคของจิต เลยไม่ต้องโศกไม่ต้องเศร้าโศก หรือไม่ต้องมีอะไร ๆ ที่มันเนื่องกันอยู่กับความโศก กี่อย่างก็ได้
ข้อ ๗ ความเป็นผู้มีจิตเกษม แค่นี้ก็พอความเป็นผู้มีจิตเกษมถ้าเป็นตัวบทแค่นี้ก็พอ นี่ขยายความสดชื่นแจ่มใสอิสระสงบเย็นอะไรก็ว่าไปหมด เพราะคำว่าเกษมนี่มันพอ คำว่าเกษมในภาษาสันสกฤต หรือ เขมะในภาษาบาลีน่ะ เขามีความหมายว่าไม่มีอะไรรบกวน ปราศจากสิ่งรบกวนเรียกว่า เกษม แต่ในภาษาไทยเรามันใช้ความหมายชอบกล คือว่าสนุกสนาน สำราญเบิกบาน ทีนี้ขอให้มองดูให้ดี ไอ้ความสนุกสนานสำราญก็เป็นเครื่องรบกวนจิตให้ยุ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไอ้ความสนุกสนานสำเริงสำราญจะมาเรียกว่าเกษมน่ะมันไม่ถูกตามหลักธรรมะ คือความยินดียินร้าย ทั้งยินดี และยินร้ายไม่มารบกวน ไม่มีลักษณะเป็น positive หรือเป็น negative มันจึงจะเกษม แปลว่าไม่มีอะไรรบกวน เกษมจากสิ่งรบกวนนี่ชื่อว่าจิตเกษม มันก็มีลักษณะสดใส แจ่มใส สดชื่น มีเสรีภาพ มีอิสรภาพเต็มที่อยู่ในจิตชนิดนั้น นั่นน่ะคือเกษม ในหัวข้อนี้ก็เอาเพียงว่าเป็นผู้มีจิตเกษมก็พอแล้ว แล้วขยายความเป็นอะไรออกไปตามที่จะทำได้
๘. ความเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่น ว่องไวในหน้าที่ นี่ก็คล้ายกับข้อต้น ๆ แต่จะแยกออกมาอีกข้อหนึ่งก็ได้เหมือนกัน มีจิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่นว่องไว นั่นคือบทนิยามในบาลี ซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิ เป็นตัวสมาธิเต็มที่เลย จิตบริสุทธิ์ไม่มีนิวรณ์รบกวน เพียงแต่นิวรณ์ก็ไม่รบกวนแล้วก็ไม่มีกิเลสไหนจะรบกวน เรียกว่าจิตว่างจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง บริสุทธิ์ เมื่อไม่ถูกรบกวนโดยกิเลสใด ๆ จิตก็มั่นคง คงเป็นตัวเอง มั่นคง แข็งแกร่งมั่นคง แล้วก็จิตชนิดนี้ ไวในหน้าที่ ว่องไวในหน้าที่ เรียกตามบาลีก็ ปริสุทโธ บริสุทธิ์ สมาหิโต ตั้งมั่น กัมมนีโย ว่องไวในหน้าที่การงาน ตามตัวหนังสือคล้าย ๆ กับแปลว่า เหมาะสมที่จะทำการงาน นี่เรื่องของสมาธิ เพราะฉะนั้นเราอย่าทำให้เรื่องให้มันมาก เมื่อเรายังไม่ได้ศึกษามากเรื่องสมาธิแบบนั้นแบบนี้ เราก็มุ่งดูจิต พยายามตกแต่งมันให้มันมีความว่างจากสิ่งรบกวน ให้มันตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องกำหนด แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้ได้ มันก็ว่องไวในหน้าที่การงานเอง อย่างในบาลีก็ว่าเมื่อจิตควรแก่การงาน ว่องไวการงาน แล้วก็น้อมจิตไปเพื่อญาณนั้น เพื่อญาณโน้นเป็นลำดับ ๆ ไปจนกว่าจะถึงญาณสุดท้าย หมายความว่า ก่อนแต่จะทำอะไรทางใจ ที่ยุ่งยากที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อน นี่เรื่องสมาธิ เป็นอันว่าจบหมวดสัมมาสมาธิ
ทีนี้ก็อยากจะพูดว่าไอ้ ๓ องค์นี่คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่เขาจัดไว้ในกลุ่มสมาธิทั้งนั้น เพราะคำว่าสมาธิที่เป็นชื่อของหมวดนี่มันมีความหมายกว้าง มีลักษณะคือการที่จิตรวมกำลัง เพื่อการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นความมีสมาธินี่มีได้หลายชนิด หลายแง่หลายมุม ขอให้จิตรวมกำลัง เพื่อจะทำสิ่งที่ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สัมมาวายามะ มันรวมกำลังสำหรับทำหน้าที่ขับไล่กิเลส เป็นต้น แล้วก็มีความแข็ง คือมีกำลังมากพอ เพราะความเป็นอิสระ แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ใช้คิดนึกอะไรได้ดี นี่หมวดสมาธิ สติ วายามะก็รวมกำลังที่จะพยายามทำอะไร สติก็รวมกำลังสำหรับจะระลึกรู้สึกตัวได้รวดเร็ว และตลอดเวลา ทีนี้สมาธิก็อย่างที่ว่าแหละ มีจิตตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่พร้อมที่จะทำการงานทางจิตทุกชนิด นี่เรียกว่าสมาธิ ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นั่งขัดสมาธิตัวแข็ง
เมื่อสองสามวันนี้เห็นการ์ตูนรูปหนึ่ง รูปกบแล้วก็นั่งอยู่ปากรู แล้วก็มีตัวหนังสือเขียนว่า ถ้าการนั่งทำให้เป็นสมาธิแล้ว ข้าพเจ้าก็คงเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะว่านั่งอย่างนี้มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่แรกเกิดเลย กบเขาว่า เป็นการ์ตูนที่เขียนล้อคนที่ยึดถือท่านั่ง หรือวิธีนั่งอะไรมากเกินไป นั่นน่ะคำว่าสมาธิ ไม่ได้หมายความว่านั่งขัดสมาธิหลับตานิ่งอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ จิตที่มีคุณสมบัติแห่งสมาธิน่ะไม่ใช่อยู่ในฌานนะ แต่ก็เรียกว่าจิตมีสมาธิ ไม่มีวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขาก็ได้ แต่ไม่ต้องนั่งนิ่ง เดินอยู่ก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ยืนอยู่ก็ได้ นี่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ คนมีจิตเป็นสมาธิ ไปยืนอยู่ที่ไหน ที่ตรงนั้นก็เป็นที่ยืนอันเป็นทิพย์ ไปเดินอยู่ที่ไหน ตรงนั้นก็เป็นที่เดินอันเป็นทิพย์ ไปนั่งอยู่ที่ตรงไหน ที่นั่นที่นั่งนั้นก็เป็นทิพย์ ไปนอนอยู่ตรงไหน ที่นั่นก็เป็นที่นอนอันเป็นทิพย์ ใช้คำว่าทิพย์ คือดีที่สุด เท่าที่จะใช้คำพูดเรียกได้ มีสมาธิเมื่อนั่งนอนยืนเดินได้ มันก็สบายสิ มันมีสมาธิได้เมื่อเราเดินคิดอะไรอยู่ตามเฉลียง ตามระเบียง ตามสนามหญ้า เดินคิดอะไรอยู่มันก็เรียกว่ามีสมาธิที่ใช้อยู่อย่างเต็มที่ สมาธิเป็นการเตรียมจิตให้มีความรู้ออกมา แม้ความรู้ที่เป็นสัญชาตญาณก็จะออกมาได้ดี เมื่อจิตเป็นสมาธิ ทีนี้ไอ้ความรู้ที่เป็นภาวิตญาณ ก็จะต้อง จะต้องปรับปรุง จะต้องพัฒนาอะไร มันก็จะออกมาได้ดีเมื่อจิตเป็นสมาธิ จึงมีคำกล่าวว่า ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง บางทีเป็นเรื่องไม่เจตนาก็ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่วแน่แล้วมัน มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าอนิจจัง ๆๆ อย่างไร หรืออนัตตา ๆๆ อย่างไร มันจะแสดงความรู้สึกออกมาเมื่อจิตเป็นสมาธิ ดังนั้นการที่บุคคลมีจิตเป็นสมาธิอยู่เสมอนั้นน่ะ นับว่าเป็นโชคดีที่สุด ไม่ใช่นั่งสมาธิเข้าฌานเหมือนกบอยู่เสมอ แต่ว่ามีชีวิตอยู่ด้วยความโปร่งใจ แจ่มใส เยือกเย็น เป็นจิตที่ไม่มีอะไรรบกวน มีสมาธิอยู่อย่างนี้ ไอ้ธรรมะอันลึก ความจริงอันลึกก็ปรากฏแก่เขาเรื่อย ๆ ไป เรื่อย ๆ ไปโดยง่าย สักวันหนึ่งมันก็จะถึงที่สุด แต่พูดอย่างนี้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เรื่องพระเจ้าอะไรมาเกี่ยวข้องด้วย ขอให้ทำจิตให้เป็นสมาธิเถิด แล้วจิตมันก็จะปรับปรุงตัวมันเอง ออกมาเป็นความรู้อย่างนั้น ความรู้อย่างนี้ตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ นี่หมวดของสมาธิ มีอยู่คือสติ เอ้ย, วายามะ แล้วก็สติ แล้วก็สมาธิ
เป็นอันว่าจบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อธรรมะที่เราแยกออกมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ จากองค์ ๘ น่ะเอามาแยกได้ตั้ง ๕๐ กว่าข้อ และยังจะแยกได้อีกถ้าต้องการ หลาย ๆ สิบข้อนั้น ถ้าจะย่นกลับมันก็เหลือเพียง ๘, ๘ องค์ ๘ องค์นี้ จะย่นอีกก็เหลือเพียง ๓ คือคำว่า ศีล สมาธิ และปัญญา เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นหนทางแห่งการเดิน ชีวิตเป็นการเดินอยู่ตลอดเวลา ก็เลือกทางเดินที่ดี ที่เหมาะ ที่ตรงให้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ เลือกทางที่ดีที่สุดให้ชีวิตมันเดิน เพราะว่าชีวิตมันอยู่ไม่ได้นิ่ง ๆ มันต้องเดินอยู่ตลอดเวลา เดินโดยจิตใจโดยที่ตัวไม่ต้องเคลื่อนไหวก็ได้ ตัวไม่ต้องกระดุกระดิกก็ได้ แต่การวางจิตใจไว้ถูกต้องน่ะมันจะเป็นการเดินอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าชีวิตด้านใน หรือภายในน่ะเป็นการเดินอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจากท้องมารดากว่าจะเข้าโลง มันก็เดินอยู่ตลอดเวลา หรือแม้ไม่เรื่องหนึ่ง กรณีหนึ่งเป็นการชีวิตเดิน หรือวิ่งอยู่ด้วยซ้ำไป ถ้าพูดทางชีววิทยา ในทางวัตถุแล้วมันก็เดินมาตั้งแต่มีสัตว์เซลล์เดียว ดีขึ้น ๆ มีสัตว์หลายเซลล์ มีสัตว์น้ำ มีสัตว์บก มีสัตว์อะไรจนกระทั่งเกิดมนุษย์ ชีวิตวิวัฒนาการ มันก็เป็นการเดินทางอยู่ตลอดเวลา ถ้ามองดูกันในแง่นี้แล้ว พวกเราทุกคนก็กำลังจะเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่อย่างนี้ในอนาคต ถ้าว่าชีวิตมันเป็นการเดินอยู่ตลอดเวลา การบรรยายในวันนี้ก็จบรายละเอียดของมรรคมีองค์ ๘ สมควรแก่เวลาที่ยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้