แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์หรือที่เป็นเจ้าหน้าที่สัมมนาทำหลักสูตรจริยธรรมเพื่อกิจกรรมพลศึกษาทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ อาตมาก็จะได้บรรยายตามหัวข้อที่ท่านได้กำหนดให้ว่าด้วยเรื่อง ฆราวาสธรรม
คำว่า ฆราวาสธรรม อยู่ในจำพวกธรรมะของฆราวาส แล้วก็ได้เรียกชื่อกันอย่างนั้น เป็นคำตายตัวไปแล้วว่า ธรรมะชุดนี้เรียกว่าฆราวาสธรรม เป็นธรรมสำหรับฆราวาส แล้วคำว่าฆราวาสในภาษาไทย ก็หมายถึงผู้ครองเรือน คือ ผู้มีครอบครัว มีบุตร ภรรยา สามี ครองบ้านครองเรือนอย่างที่เขารู้กันทั่วไปว่าฆราวาสนั้นเป็นอย่างไร และทุกคนก็เข้าใจว่าธรรมะ ๔ ประการนี้สำหรับฆราวาสชนิดนั้น แต่อาตมาไม่เห็นด้วย คือยังเห็นว่าผิดด้วย ถ้าเอาใจความอย่างนั้นยังจะผิดด้วย เพราะบาลีนี้ไม่ได้ว่าฆราวาส ว่าฆรเมสิโน ฟังบาลีเสียกันก่อนว่า ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา, สทฺธสฺส ฆรเมสิโน, สจฺจํ ทโม ธิติ จาโค, ส เว เปจฺจ น โสจติ ธรรมะ ๔ ประการคือ สัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ นี้ มีอยู่ แก่ ฆรเมสี,ฆรเอสี,ฆรเมสี ผู้มีศรัทธาแล้ว ครั้นเสร็จแล้ว สำเร็จกิจแล้ว เขาจะไม่เศร้าโศก เปจฺจ ก็เป็นคำคำหนึ่งที่เป็นปัญหา แล้วคำว่า ฆรเมสิโน อีกคำหนึ่ง ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น มีคำที่เป็นปัญหาอยู่ ๒ คำ
ธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ มีอยู่แก่บุคคลใดที่เป็นผู้มีศรัทธาแล้วเป็นฆรเมสี แสวงหาซึ่งเรือน ถ้า ฆราวาสี ก็ผู้ครองเรือน,ผู้อยู่เรือน เดี๋ยวนี้บาลีมันว่า ฆรเมสี, ฆรเมสิโน, ฆรํ เอสิโน, ฆรเมสี ผู้แสวงหาซึ่งเรือน เอสี นี้คำเดียวกับ ฤาษี นั่นแหละ ฤาษี-อิสิ ฤาษี แล้วแสวงหาซึ่งเรือน
ธรรมะ ๔ ประการนี้ สำหรับผู้แสวงหาซึ่งเรือน แต่เรามาเรียกกันว่าฆราวาสธรรม แปลว่าผู้ครองเรือน อาตมา เห็นว่าไม่ถูก แล้วก็ทำให้เข้าใจผิดกันว่าใช้แก่ผู้ครองเรือนมีครอบครัวเท่านั้น ใช้กับพวกอื่นไม่ได้ อาตมาบอกว่าใช้ได้ทั่วไปไม่ว่าใครถ้าเขาต้องการจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้วก็ให้ใช้ธรรม ๔ ประการนี้ แม้เป็นบรรพชิต เป็นนักบวช เป็นภิกษุสามเณร ก็ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ได้ ถ้าเขาประสบความสำเร็จแล้ว เขาจะไม่เศร้าโศก ก็เลยถือว่าเป็นธรรมะเครื่องมือใช้แก่คนทุกประเภททุกจำพวก อธิบายอย่างนี้เสมอมา
ทีนี้ก็มีนักพูดที่สถานีวิทยุแห่งหนึ่งเป็นของทหาร เขาพูดทำนองด่าอาตมาว่า เอาธรรมสำหรับฆราวาสโดยเฉพาะนี้ไปใช้กับคนทั่วไปทุกจำพวก เขาว่าอย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปทะเลาะกับเขา แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังจะยืนยันอยู่ว่า ธรรม ๔ ประการนี้ สำหรับพวกฆรเมสี คือผู้แสวงหาซึ่งเรือน ฆรํ เรือน เอสี แสวงหา ฆรเมสิโน แก่ผู้แสวงหาซึ่งเรือนทั้งหลาย ถ้าธรรม ๔ ประการนี้มีแก่ผู้แสวงหาซึ่งเรือนทั้งหลาย เสร็จแล้วเขาจะไม่เศร้าโศก นี่ตอนหนึ่งนะ ช่วยจำไว้ให้ดีว่า ไม่ใช่ ฆราวาสิโน นะ ฆรเมสิโน นะ ผู้แสวงซึ่งเรือนนะ
ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่า เรือน เรือนนั้นมันคืออะไร ฆรํ เอสิโน แสวงหาซึ่งเรือน ไม่ได้อยู่เรือน เที่ยวแสวงหาซึ่งเรือน นี่ขอให้เข้าใจว่า คำว่า ฆรํ,ฆร ในกรณีเช่นนี้ มันก็หมายถึงที่อยู่ที่อาศัยสำหรับจะคุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มความดุร้าย ของธรรมชาติ นั่นสถานที่อย่างนั้นแหละเรียกว่าฆระ หรือ เรือน ถ้าเป็นนกเป็นหนู อยู่รู อยู่เรี้ยว หรือคนป่าสมัยโบราณอยู่ถ้ำอยู่โคนไม้อยู่อะไรไปตามธรรมชาติ เรียกว่ายังไม่ได้อยู่เรือน ต่อเมื่อเขาหาพบสิ่งที่จะคุ้มครองเขาได้ดีกว่านั้น นั่นจึงจะใช้คำว่าเรือนขึ้นมา ฉะนั้นต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นเต็มตามความหมายว่ามันจะคุ้มครอง หรือถ้ามันจะมีอยู่โดยธรรมชาติ มันก็ได้เหมือนกันแหละ ถ้ามันมีเหมือนกับเรือน คือว่าคุ้มครองได้เต็มที่ คุ้มครองแดดลมฝนสัตว์ร้ายอันตรายอะไรได้เต็มที่ ก็เรียกว่าฆระ คือที่อยู่อย่างปลอดภัย ใช้คำว่าที่อยู่อย่างปลอดภัยนั่นแหละคือฆระหรือเรือน ถ้าจะพูดให้หยาบคายสักหน่อยก็ว่าที่คุ้มกะลาหัว ที่คุ้มหัวนั่นแหละ ถ้าเราไม่มีเรือน มันก็ไม่มีที่คุ้มหัว ฝนตกลงมาก็หัวเปียกหรืออะไรเปียก ถ้าที่คุ้มหัวก็หมายความว่ามันคุ้มได้หมดแหละ คุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มลม คุ้มอะไร คุ้มหัว ที่มันคุ้มหัวได้นั่นแหละคือเรือน สูงไปกว่าธรรมชาติ ฉะนั้นคำๆ นี้ มันมีความหมายอย่างนี้ ว่าที่ที่คุ้มภัยจากธรรมชาติ อยู่ได้เป็นผาสุกก็เรียกว่าเรือน
สังเกตดูในบาลีบางแห่ง หมายถึงภพก็ได้ ภวภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพ คำว่าภพนั้นหมายถึงเรือนก็ได้ เที่ยวแสวงหาเรือนด้วยกิเลสตัณหา ก็คือแสวงหาภพนั่นเอง เพราะฉะนั้นขอให้ถือเอาความหมายของคำว่าเรือนนี้ แสวงหาเรือนนี้ คือแสวงหาที่คุ้มกะลาหัวให้ปลอดภัยจากธรรมชาติ จากอันตรายหรือภัยร้ายจากธรรมชาติโดยประการทั้งปวง ในภาษาธรรม คำธรรมดาๆ อย่างนี้ มีความหมายทางภาษาธรรมสูงขึ้นไปกว่าที่เราใช้พูดกัน เช่น คำว่าที่ซ่อน ที่หลีก ที่ซ่อน ที่ซ่อนตัวนั้น หมายถึงพระนิพพาน ที่ที่ซ่อนตัวเมื่อเรามีอันตรายแล้วเราไปหลบซ่อนที่ไหน ซ่อนพ้นอันตราย นั่นก็เรียกว่าที่ซ่อน คำว่าที่ซ่อนธรรมดาก็คือที่ซ่อน แต่ภาษาธรรมะชั้นสูงหมายถึงพระนิพพาน ตาณา เลณา จ ปาณีนํ ที่คุ้มครองและที่ซ่อนที่ต้านทาน อะไรมันต้านทานอันตรายได้ก็เรียกว่าตาณะ อะไรช่วยซ่อนให้มิด ข้าศึกตามไม่พบก็เรียกว่าเลณะ ตาณะ เลณะ นี้หมายถึงพระนิพพาน แต่ถ้าธรรมดาก็หมายถึงที่ซ่อนที่เร้น เหมือนนกหนูมันซ่อน หรือคนป่ามันซ่อนตัว นี่อยากจะให้เปรียบเทียบกับคำว่า ตาณะ เลณะ หมายถึงที่ซ่อนที่ต้านทาน คำว่าฆระ คือเรือนนี้ หมายถึงที่คุ้มครองให้อยู่อย่างสบายก็แล้วกัน ฉะนั้นคำนี้จึงหมายไปได้ถึงแม้บรรพชิตหรือคนทุกคนสัตว์ทุกชนิดก็ได้ เพราะมันต้องการที่คุ้มครองหรือที่อยู่อาศัยที่สบาย เป็นอันว่าธรรม ๔ ประการนี้คือสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สี่ประการนี้ หากัน มีกัน สำหรับที่จะเป็นที่อยู่อาศัยให้สบาย ไม่เฉพาะบรรพชิตหรอก
ทีนี้บาลีอีกคำหนึ่ง บาทที่ ๔ ที่ว่า ส เว เปจฺจ น โสจติ นี้ ท่านไม่เคยสนใจกับบาลี คงจะลำบากใจหน่อย จะว่าให้ฟังอีกเที่ยวหนึ่งว่า พระบาลีนั้นว่า ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา, สทฺธสฺส ฆรเมสิโน, สจฺจํ ทโม ธิติ จาโค, ส เว เปจฺจ น โสจติ ที่เขาแปลกันมาแต่ก่อนๆ เขาแปลว่าครั้นละโลกนี้ไปแล้ว จะไม่เศร้าโศก โส เว บุคคลนั้น,เว้ย เปจฺจ ละโลกนี้ไปแล้ว น โสจติ จะไม่เศร้าโศก ต่อตายแล้วนู่นจึงจะไม่เศร้าโศก ดูจะเป็นเรื่องบ้าเต็มที เราจะทำกันที่นี่และจะเป็นสุขที่นี่ แล้วทำไมต้องให้กันต่อตายแล้ว มันก็ไม่เป็นสันทิฏฐิโก อะกาลิโก,สิ มันต้องได้ผลปรากฏแก่เราที่นี่และไม่จำกัดเวลาว่าต่อตายแล้ว ต้องเดี๋ยวนี้สิ มันจึงจะเป็นธรรมะ เป็นสันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก ได้ ฉะนั้น เปจฺจ ที่แปลว่าละไปแล้ว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไม่เศร้าโศกนั้น ไม่ถูกแน่
คำว่า เปจฺจ แปลอย่างนั้นก็ได้ เปจฺจ แปลว่าละไปแล้ว คือตายไปแล้วนั้นก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะผิด มันไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันไม่ตรงเรื่อง คำว่า เปจฺจ นี้ควรจะแปลว่าเสร็จเรื่องแล้ว ครั้นเสร็จเรื่องแล้วเขาจะไม่เศร้าโศก ส เว เปจฺจ น โสจติ แทนที่จะแปลว่าเขานั้นครั้นละโลกนี้ไปแล้ว จะไม่เศร้าโศก แปลเสียใหม่เถิดว่า เขานั้นครั้นเสร็จเรื่องแล้วจะไม่เศร้าโศก คือเมื่อเขาหาเรือนพบเรือนแล้วด้วยธรรมะ ๔ ประการนี้ เสร็จเรื่องหาแล้ว เขาจะไม่เศร้าโศกที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในโลกนี้
นี่บาลีของที่มาของฆราวาสธรรมนั้นมันกำกวมอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาก็ถือกันว่าละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก มัวสวดอยู่อย่างนั้น แปลอยู่อย่างนั้น และใช้คำว่าฆราวาสี คือผู้อยู่ครองเรือน ทั้งที่ตัวบาลีมันว่าผู้แสวงซึ่งเรือน ฉะนั้นเราแปลเสียใหม่ ตามที่เราเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ธรรม ๔ ประการนี้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะนั้น มีแก่คนใดที่มีศรัทธา แสวงซึ่งเรือน เขาสำเร็จการแสวงแล้ว เขาจะไม่เศร้าโศก คือเป็นสุข แสวงเรือนคือแสวงที่คุ้มครองให้อยู่เป็นสุขเหมือนเราได้มีเรือนอยู่แล้วก็เป็นสุข ถ้าพระเณร ก็ได้อยู่กุฏิ วิหาร ศาลา เหมือนกับเรือนเหมือนกันแหละ นั่นแหละคำว่าเรือนในที่นี้ หมายถึงที่คุ้มครอง ถ้ายอมให้พูดหยาบคาย ก็พูดว่าที่คุ้มกะลาหัวนั่นแหละ คือฆระนั่นแหละ มันจะคุ้ม คุ้มทุกอย่าง คุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มลม คุ้มอันตราย เสือสางอะไรต่างๆ มันคุ้มชีวิตได้ นั่นแหละคือเรือน มันเป็นคำที่เกิดต่อมาจากพวกคนป่า เมื่อเขาอยู่ตามธรรมชาติ เขาก็ไม่มีเรือน ครั้นเขารู้จักทำอะไร ทำเหมือนกับรังก็ได้ ให้มันเป็นที่คุ้มครองมากไปกว่าตามธรรมชาติ มันก็เลยเรียกว่าเรือน ฆระๆ จำไว้ว่า แปลว่าเรือน และ ฆรเมสี ก็กำลัง แสวงหาซึ่งเรือน ฉะนั้นพูดกันตรงๆ ก็ว่าผู้ที่ต้องการจะแสวงหาเครื่องคุ้มครองกะลาหัว มีศรัทธาแน่ใจแล้ว จงประพฤติธรรมะ ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เถิด ครั้นเสร็จแล้วจะไม่เศร้าโศกเลย เปจฺจ นั้นแปลว่าครั้นเสร็จแล้ว ครั้นเสร็จการแสวงแล้วจะไม่เศร้าโศกเลย อย่าแปลว่า ครั้นละโลกนี้ไปแล้วจะไม่เศร้าโศกเลย นั่นมันจะมีประโยชน์อะไรต่อตายแล้ว
เอาล่ะ,เป็นอันว่า ฆราวาสธรรมนี้ ก็คือธรรมะสำหรับผู้ที่จะต้องการที่พึ่งแก่ชีวิตอยู่ในโลกนี้ ใครก็ได้ เมื่อเขาต้องการจะอยู่ที่อยู่อย่างสะดวกสบาย ให้ความสุขความสะดวกสบาย ทางกายก็ได้ ทางจิตก็ได้ ฉะนั้นคำว่าเรือนนี้ ใช้ทางกายก็ได้ ใช้ทางจิตใจก็ได้ จิตใจมันก็ต้องการเรือนเหมือนกันแหละ เรือนข้างนอกสำหรับร่างกาย เรือนข้างในสำหรับจิตใจ เมื่อแสวงหาเรือนกันแล้ว ขอให้ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ความจริง ทมะ การบังคับตน ธิติ บาลีคาถาแรกใช้คำว่าธิติ แปลว่าอดทนเหมือนกัน แทนคำว่าขันติ แล้วก็ จาคะ คือสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงว่าให้ทานให้ของให้สิ่งของให้ทานหรอก คำว่า จาคะ นี้ มันกว้างกว่าคำว่า ทานะ ให้ทานให้ของ จาคะนี้มันบริจาคทุกสิ่งที่ไม่ควรจะเอาไว้ อะไรที่ไม่ควรจะเอาไว้กับตน ไว้แล้วเป็นทุกข์เป็นอันตรายนั้นสละมันไปเสีย นั่นคือจาคะ คาถาที่ ๑ นี้ว่า สัจจะ ทมะ ธิติ จาคะ
ทีนี้คาถาที่ ๒ ใช้คำว่า ขันติ โดยตรง แทนที่จะใช้ว่า ธิติ คาถาที่ ๒ บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ เพราะเขาไม่ค่อยเอามาพูด คาถาที่ ๒ นั้นว่า อิงฺฆ อญฺเญปิ ปุจฺฉสฺสุ, ปุถู สมณพฺราหฺมเณ, ยทิ สจฺจา ทมา จาคา, ขนฺตยา ภิยฺโยธ วิชฺชติ คาถานี้เป็นคำท้าทาย พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ท่านท้าทายว่า ถ้าแกไม่เชื่อ ก็ไปถามสมณะพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิด เป็นอันมากดูเถิด อิงฺฆ อญฺเญปิ/ อิงฺฆ เอาเถิด,เชิญเถิด อญฺเญปิ ปุจฺฉสฺสุ จงไปถามสมณะพราหมณ์เหล่าอื่น ปุถู สมณพฺราหฺมเณ ซึ่งเป็นสมณะพราหมณ์เป็นอันมาก ยทิ สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตยา ภิยฺโยธ วิชฺชติ ถ้ามันจะมีอะไร ภิยฺโย ยิ่งไปกว่า สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตยา ที่มันดียิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ ท่านท้าว่า ไปถามสมณะพราหมณ์ลัทธิต่างๆ เป็นอันมากดูเถิดว่า ยังมีธรรมะไหน มันยิ่งไปกว่าธรรมะ ๔ อย่างนี้ สำหรับผู้ที่แสวงหาซึ่งเรือน สำหรับผู้แสวงหาซึ่งเรือน ในคาถานี้ใช้คำว่าขนฺติ หรือ ขนฺตฺยา ภิยฺโย ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าสัจจะ ยิ่งกว่าทมะ ยิ่งกว่าจาคะ ยิ่งกว่าขันติ นั้น มีไหม
ฉะนั้นให้เป็นอันว่า มีคำที่เขาถือกันอย่างหนึ่ง เราไม่อยากจะถืออย่างนั้น คือคำว่า ฆรเมสิโน ผู้แสวงซึ่งเรือน ไม่ใช่ผู้อยู่ครองเรือน เรือนในที่นี้คือที่พึ่งที่คุ้มครองสำหรับคนที่ดีกว่าสัตว์ ที่ท้าให้ไปถามดูว่า มันมีธรรมะอื่นไหม ที่เหมาะกว่าสี่อย่างนี้สำหรับผู้ที่จะแสวงหาซึ่งเรือน
เอาล่ะ,เป็นอันว่า ใจความสำคัญมันอยู่ที่ธรรม ๔ ประการ เอามาใช้สำหรับผู้ที่จะแสวงหาที่พึ่ง เหมือนกับเรือนเป็นที่พึ่งแก่กาย ถ้ามีเรือนเป็นที่พึ่งแก่ใจ ก็ให้อีกความหมายหนึ่ง มันจะเป็นเรือนชนิดไหน ก็แสวงหาได้ด้วยธรรมะ ๔ ประการนี้ ทีนี้สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันก็คือว่า ธรรมะ ๔ ประการนั้น สัจจะ ทมะ ธิติ หรือ ขันติ ตรงนี้ต้องใช้สองชื่อ แล้วก็จาคะ, สัจจะ ทะมะ ธิติหรือขันติ แล้วก็จาคะ
สัจจะ แปลว่าความจริง ความจริงในที่นี้ ความหมายธรรมดาๆ คือความตั้งใจจริง เราจะมีความตั้งใจจริง แล้วก็ประพฤติให้มันจริงลงไป จริงต่ออะไรบ้าง ก็ใช้สติปัญญาของครูบาอาจารย์เองก็ได้ เพราะมันกล่าวไว้เป็นคำกลาง เพียงแต่ว่าขอให้มันจริง,จริงใจ ให้มันจริงต่ออะไร มันก็มีหลายอย่าง เดี๋ยวนี้เราก็พูดกันแต่ว่าจริงต่อเวลาที่นัดหมายกันไว้ จริงต่อหน้าที่การงาน อย่าขบถในหน้าที่การงาน จริงต่อผู้อื่น มิตรสหาย ชาวเกลอ บุตร ภรรยา สามี เราก็ต้องซื่อตรงหรือจริง อย่างนี้มันจริงปลีกย่อย ถ้าจริงให้จริงๆ เป็นที่รวมของความจริงแล้ว ก็จริงต่อตัวเองนั่นแหละ ให้มันจริงต่อตัวเอง คือมันซื่อตรงต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อตัวเอง ก็ถามตัวเองดูว่าเราเป็นอะไร เราก็เป็นมนุษย์ เรามีความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นเราจึงจริง ตรง ต่อความเป็นมนุษย์ของเรา อย่าเป็นแต่เพียงคน เกิดมาก็เป็นคน แล้วก็ไม่ขวนขวายให้เป็นมนุษย์ คือไม่ดีไปกว่าธรรมดา ถ้าเป็นมนุษย์ต้องดีกว่าธรรมดา คือดีกว่าที่เป็นสักว่าคน แล้วเกิดมาก็เป็นคน แล้วก็ไม่มีอะไรดีไปกว่านั้น ฉะนั้นเรามีความเป็นมนุษย์ เราก็ต้องจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเรา คำว่ามนุษย์มีความหมายอย่างไร เราต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ อย่างนี้เรียกว่าจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเรา อย่าให้มีใครมาตราหน้าได้ว่าคนนี้มันไม่ถึงขนาดที่จะเป็นมนุษย์ ความมนุษย์เป็นอย่างไร ซื่อตรงต่อความเป็นมนุษย์นั้นแล้ว ประพฤติปฏิบัติให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ นี่จริงต่อความเป็นมนุษย์ เมื่อมันจริงต่อความเป็นมนุษย์ของมันเอง มันก็จริงต่อลูก เมีย บุตร ภรรยา สามี เพื่อนฝูง มิตรสหาย มันก็จริงได้ และมันก็จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่อทุกอย่างที่เกี่ยวกับคน ฉะนั้นเราจะแจกเป็นจริง จริงต่ออะไรสักกี่อย่างก็ได้ แต่ขอให้มันสรุปรวมอยู่ที่คำว่าจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเขา จะใช้คำว่าคนก็ได้ จริงต่อความเป็นคนของเขา แต่ต้องให้คำว่าคนนั้นมีความหมายที่สมบูรณ์สักหน่อย เช่น กีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน คำว่าคนคำนี้ ไม่ใช่คนอย่างธรรมดาหรอก ถ้าเป็นคนอย่างธรรมดา ก็ไม่ต้องพูดให้เสียเวลา จะเป็นคนกันทำไมอีกเมื่อมันเป็นอยู่แล้ว จะพูดให้บ้าทำไมเล่า ฉะนั้นเมื่อพูดว่าแก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน คำนี้มันต้องเป็นคนชนิดที่ยิ่งกว่าที่มันเป็นอยู่แล้วตามธรรมดา มันก็คือเป็นมนุษย์นั่นเอง มีธรรมะของคน ก็เรียกว่าเขาก็เป็นคนที่ถูกต้องสมบูรณ์ คือเป็นมนุษย์
ทีนี้ดูไปอีกทีหนึ่งว่า จริงต่อความเป็นคนนั้น มันจริงต่ออะไรยิ่งขึ้นไปอีก ให้มีความหมายยิ่งขึ้นไปอีก หรือว่าอะไรมันจะทำให้จริงต่อความเป็นคน อย่างนี้มันตอบเลื่อนขึ้นไปได้อีกชั้นว่าจริงต่อธรรมะ,จริงต่อธรรมะ จริงต่อความเป็นมนุษย์นี้มันยังไม่ดีเท่ากับจริงต่อธรรมะหรอก เพราะว่าถ้าจริงต่อธรรมะแล้ว มันก็เป็นมนุษย์หรือเป็นอะไรได้หมดแหละ ฉะนั้นขอให้เราทำตนให้มันจริงต่อธรรมะ ธรรมะนั้นเคยขอร้องให้ช่วยกันจำไว้ว่าเอากันสัก ๔ ความหมายเถิด ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ นี้คือธรรมะ ถ้าเราจริงต่อธรรมะ เราก็จริงต่อสิ่งทั้งสี่นี้ จริงต่อธรรมชาติ จริงต่อกฎของธรรมชาติ จริงต่อหน้าที่ของกฎธรรมชาติ แล้วก็จริงหรือตรงต่อผลที่จะได้รับตามสมควรแก่หน้าที่ นี้คือจริงต่อธรรมะ มีธรรมะเป็นจุดประสงค์ที่เราจะต้องจริง อย่างนี้ก็ได้ ไม่ใช่จะไม่ได้ แต่ดูว่ามันยังพร่าไป
ในสี่ความหมายนั้น ธรรมะสี่ความหมายนั้น ความหมายไหนสำคัญที่สุดที่เราจะจริงต่อด้วย ถ้าดูที่ต้นเหตุ ธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาตินั้นสำคัญที่สุดที่เราจะจริงหรือตรงต่อ หรือถ้าเอาผลตอนหลังกันแล้วก็หน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เราต้องตรงต่อหรือจริงต่อ ตรงต่อจริงต่อหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เราก็ทำงานสนุกไปเลย มีผลล้นเหลือจนกินไม่หมด แต่ถ้าจะให้ละเอียดอ่อนให้สูงขึ้นไปกว่านั้นแล้ว ก็ตรง จริง ต่อกฎของธรรมชาติ เพราะกฎของธรรมชาติมันก็ยิ่งกว่าหรือสูงกว่าหน้าที่ เพราะหน้าที่มันต้องทำตามกฎของธรรมชาติ เมื่อเราจริงหรือตรงต่อกฎของธรรมชาติแล้วมันก็ถึงหน้าที่หรือจริงต่อหน้าที่หรือทำหน้าที่อยู่เอง
ทีนี้คำว่ากฎของธรรมชาตินั้นมีความหมายมาก เท่ากับพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้าทีเดียว พุทธศาสนามีกฎของธรรมชาติเป็นเหมือนกับพระเจ้าในศาสนาอื่นที่เขามีพระเจ้ากัน ศาสนาอื่นเขามีพระเจ้าอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคลก็มี เพราะว่าพระเจ้าของเขาไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงจิตเพียงวิญญาณ ไม่ใช่อย่างบุคคลก็มี แต่มีความรู้สึกอย่างบุคคลอยู่นั่นแหละ มันยังเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกได้อยู่นั่นแหละ ส่วนพุทธศาสนานี้เรามีพระเจ้าชนิดที่เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึกอย่างคน แต่มีความเฉียบขาด ทำหน้าที่เฉียบขาดตามแบบของกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติในที่นี้ ก็เช่น กฎแห่งกรรม กฎแห่งอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งสุญญตา อนัตตา ตถาตา อะไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นมันรวมกันเข้าแล้วเป็นกฎของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ถ้าท่านศึกษามาอย่างถูกต้อง ท่านจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ไปอ่านพุทธประวัติที่ทรงเล่าเองตอนตรัสรู้เถิด จะพบว่า ท่านไล่มาจากทุกข์ แล้วมายังชาติ มายังชรามรณะ มายังภพ มายังอุปาทาน มายังตัณหา มายังเวทนา มายังผัสสะ อายตนะ นามรูปเหล่านี้ ท่านรู้มาตามลำดับอย่างนี้ ว่าถามอะไร นี้มาจากอะไร นี้มาจากอะไร นี้มาจากอะไร พอครบหมดก็คือตรัสรู้ ที่จริงปฏิจจสมุปบาทก็คืออริยสัจนั่นเอง ปฏิจจสมุปบาทนั้นคืออริยสัจที่ขยายออกให้มันมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนๆ มาก กว่าทุกข์จะเกิดนี้ถึง ๑๑ ขั้นตอน กว่าทุกข์จะดับก็ถึง ๑๑ ขั้นตอน ความทุกข์ก็แจกเหมือนกัน หนทางดับทุกข์ก็แจกเหมือนกัน
ฉะนั้นกฎแห่งอิทัปปัจจยตาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นแหละคือธรรมะ ในฐานะที่เป็นกฎที่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วท่านเคารพทันทีเลย พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ คือตรัสรู้กฎอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท พอท่านตรัสรู้และรู้ว่าตรัสรู้แล้ว ท่านถามตัวเองว่าเป็นผู้ตรัสรู้แล้วจะเคารพอะไร เพราะว่าการอยู่โดยไม่มีที่เคารพนั้นไม่ควร ท่านก็ตอบตัวเองว่าเคารพธรรมะ แล้วก็ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าในอดีตก็เคารพธรรมะ พระพุทธเจ้าในอนาคตถ้าจะมาอีกก็เคารพธรรมะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ก็เคารพธรรมะ เห็นทีเรื่องมันต้องยกให้ว่าพระคัมภีร์มันก็ต้องมีเรื่องแทรกแซงทำนองนิยาย ซึ่งมันฝืนความรู้สึกของคนสมัยนี้ คือมีเรื่องเขียนไว้ต่อไปว่า ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาทีเดียว ท้าวสหับดีพรหมมาจากพรหมโลก มาในขณะนั้นแหละ มาในขณะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรมนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม มา,มาเชียร์ ถูกแล้วๆ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรม นี้เราไม่ค่อยสนใจหรอกเรื่องอย่างนี้ มันไม่เชื่อว่าของเดิม มันเขียนทีหลังก็ได้ แต่มันก็มีในพระไตรปิฎกเหมือนกัน ท้าวสหัมบดีพรหม มาช่วยรับรองว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรมในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ธรรมที่ตรัสรู้นั่นแหละ ธรรมที่ตรัสรู้เองนั่นแหละเอามาเคารพยกขึ้นเป็นสิ่งสูงสุดเหมือนกับพระเจ้า ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราก็มีสิ่งสูงสุดที่เคารพคือธรรม,ธรรมะเหมือนกับพระเจ้า แล้วเผอิญธรรมะที่ตรัสรู้นั้นก็คือกฎของธรรมชาติ กฎอิทัปปัจจยตาของธรรมชาติ ท่านเรียกว่าธรรม แล้วท่านก็เคารพ ก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าเคารพกฎของธรรมชาตินั่นแหละว่าเป็นพระเจ้าสูงสุดคือที่เคารพ จะพูดโดยสมมติก็ว่า มีธรรมะที่ตรัสรู้คือกฎของธรรมชาตินั่นแหละเป็นพระเจ้าที่ท่านเคารพ
พุทธบริษัทที่ไม่โง่ ไม่โง่ตามที่คนสมัยใหม่ที่เขามาเขียนกันว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า จัดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภท atheism ไม่มีพระเจ้า นั้นมันโง่ไปคนเดียวก็แล้วกัน อย่าไปเชื่อมัน พุทธศาสนามีพระเจ้า และพระเจ้าจริงกว่า สูงกว่า พระเจ้าสูงสุด คือกฎของธรรมชาติเป็นพระเจ้า นี่เราเรียกว่ากฎธรรมชาติ กฎธรรมะของธรรมชาตินี้เป็นยอดสุดของสัจจะ ศาสนาไหนก็มีคำพูดว่าพระเจ้าเป็นสูงสุดของสัจจะทั้งนั้นแหละ ทุกศาสนาแหละ แม้แต่ศาสนาในอินเดีย ศาสนาปาเลสไตน์ ศาสนาแถวนั้นก็มีแต่พระเจ้าเป็นสัจจะด้วยกันทั้งนั้น เราก็มีพระเจ้าเป็นสัจจะ มีสัจจะเป็นพระเจ้า ทีนี้มันก็แล้วแต่ว่าอันไหนมันจะสูงกว่า สัจจะอันไหนมันสูงกว่าจริงกว่า แล้วก็สัจจะคือกฎของธรรมชาติมีอยู่สิงสถิตอยู่ในทุกๆ ปรมาณูของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล พระเจ้าของใครที่มันเป็นอย่างบุคคลไปสิงสถิตอยู่ทุกๆ ปรมาณูในทุกจักรวาลได้ แล้วมีพระเจ้าคือกฎของธรรมชาติที่อาจเข้าไปอยู่ในทุกๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล เพราะฉะนั้นพระเจ้าของเราจริงกว่าสิ เป็น omnipresent กว่า omnipotent เสียกว่า เป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง มีอยู่ในทุกสิ่ง
นี่ธรรมะที่เป็นสัจจะสูงสุด ถ้าเราจะมีสัจจะต่อธรรมะสูงสุดก็ขอให้มีสัจจะต่อกฎของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้แล้วนับถือเป็นสิ่งสูงสุดคือธรรมะ ฉะนั้นถ้าเราเป็นพุทธบริษัทจะมีสิ่งสูงสุดสำหรับยึดถือสำหรับภักดี จงรักภักดีต่อก็คือธรรมะ สัจจะสูงสุดก็คือกฎของธรรมชาติ เรียกว่าธรรมะ จงซื่อตรงต่อธรรมะอันนี้นะ แล้วก็จะซื่อตรงต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อตัวเองแล้วก็ซื่อตรงต่อเพื่อนฝูงบุตรภรรยาสามี ตรงต่อการงานหน้าที่ ตรงต่อเวลา ตรงต่ออะไรตามที่ชาวโลกเขาต้องการว่าให้มันตรงต่ออะไรบ้าง
นี่ข้อที่ ๑ ของธรรมะทั้งสี่ ถ้าให้อาตมาเรียก อาตมาก็เรียกว่า ฆรเมสิธรรม,ฆรเอสิธรรม ท่านทั้งหลายเรียกว่า ฆราวาสธรรม ก็ตามใจสิ เขาเรียกกันทั้งเมืองว่าฆราวาสธรรม แต่ตัวบาลีไม่ใช่ฆราวาสธรรม เป็นฆรเมสิโน เป็นฆรเอสิธรรม ฆรเอสี ฆรเอสิธรรม มีอยู่สี่ข้อ นี่ข้อที่ ๑ คือสัจจะ จริงเถิด เป็นจุดตั้งต้น เป็นข้อต้น เป็นเรื่องตั้งต้น ของการที่จะแสวงหาที่พึ่ง
ทีนี้ข้อที่ ๒ ถัดไป เรียกว่า ทมะ เขียนให้ถูก ท.ทหาร ม.ม้า ไม่ใช่ ธรรมะ แล้วก็ไม่ใช่ ธ.ธง ด้วย ทะ ท.หาร ม.ม้า ทมะ แปลว่า บังคับก็ได้ ฝึกก็ได้ ข่มขี่ก็ได้ คำนี้ในภาษาบาลี มันแปลได้หลายๆ คำ แล้วแต่กรณี ในบางกรณีเราแปลว่าข่มขี่ ไม่ใช่ข่มขี่ให้ตาย คือข่มขี่ให้เขาอยู่ในความถูกต้อง บีบบังคับให้เขาอยู่ในความถูกต้อง ถ้าว่าสุภาพหน่อย ก็คือฝึก,การฝึก เช่น ฝึกสัตว์นี้ เรียกว่าทมะ หรือบังคับเมื่อเราจะต้องกระทำแก่ตัวเรา เราก็ใช้คำว่าบังคับตัวเรา เราต้องมีการบังคับตัวเรา เป็นข้อที่ ๒ บังคับตัวเรานี้ ถ้าจะพูดไปตั้งแต่ภายนอก มันก็บังคับที่กาย ที่วาจา แล้วก็ที่จิต ถ้าจะพูดมาจากข้างใน ก็บังคับที่จิต แล้วบังคับที่วาจา แล้วก็บังคับที่กาย นี้คือเรียกว่าบังคับตัวเรา แต่ถ้าอนุญาตให้พูดเพียงสิ่งเดียว เราก็จะพูดว่าบังคับจิต แต่ถ้ายอมให้พูดได้หลายคำก็บังคับจิต บังคับวาจา บังคับกาย ฉะนั้นคำว่าบังคับในที่นี้ คือบังคับตน บังคับตัวเองก่อนแล้วค่อยบังคับจิต ถ้าบังคับจิตได้ก็คือบังคับตัวเองได้ อะไรบังคับจิต มันก็น่าหัวเราะที่ว่าจิตนั้นบังคับจิต สติปัญญาของจิตบังคับความโง่ ความเขลา ความเหลวไหลของจิต จิตบังคับจิต นี่มันเป็นอย่างนี้ มันก็ฟังยากหน่อย เพราะว่าตัวตนนั้นมันไม่มี มันมีแต่จิตที่มันรู้สึกอย่างไรได้ ฉะนั้นจิตฝ่ายดีฝ่ายสูงก็บังคับจิตฝ่ายเลวฝ่ายต่ำ ดูเหมือนกับมีคำพูดกันว่า ความรู้สึกฝ่ายสูงบังคับความรู้สึกฝ่ายต่ำ นี่คือจิตบังคับจิต แล้วเราก็มาเรียกเสียสั้นๆ ว่าบังคับตน บังคับตนคือให้ความรู้สึกฝ่ายสูงธรรมชาติฝ่ายสูงบังคับธรรมชาติฝ่ายต่ำหรือความรู้สึกฝ่ายต่ำ ก็เป็นอันว่า ความรู้นั้นบังคับความไม่รู้ ความถูกต้องนั้นบังคับความผิดพลาด ความดีมันบังคับความชั่ว ให้ฝ่ายสูงบังคับฝ่ายต่ำก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้มาเป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องบังคับตัวเองก็คือบังคับจิต จิตฝ่ายถูกต้องก็มีระเบียบเป็นอย่างนั้นๆ บังคับจิตฝ่ายผิดอย่าให้มันเกิดขึ้น ให้กลับมาสู่ความถูกต้อง ซึ่งมีระเบียบตายตัวอยู่แล้ว
ทีนี้ ปัญหามันก็มีอยู่ว่า มันยากที่จะบังคับได้ เพราะว่าคนเรามันเลวเสียมากแล้ว นี่พูดหยาบคายก็ต้องพูดอย่างนี้ ว่าคนเรานี้มันเลวเสียมากแล้ว ที่จะดึงมาหาดีนี้มันยาก วันก่อนเราก็พูดถึงเรื่องเด็กน้อยละทิ้งพ่อแม่ตามโจรไปนั้น เข้าใจว่าท่านทั้งหลายยังคงจำได้ ชีวิตคนเรานี้มันอยู่ในสภาพเหมือนกับเด็กน้อยทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป ไปอยู่กับโจร โจรมันทำอย่างไร มันก็ทำอย่างโจร มันก็เดือดร้อนวุ่นวายนั่งร้องไห้อยู่ นี่มันจะหนีมาก็ได้ หรือมันจะคิดฆ่าโจรนั้นเสียก็ได้ แต่ให้รู้ว่าจิตของคนเรานี้มันเหมือนกับเด็กน้อยทิ้งพ่อแม่วิ่งตามโจรไป นั้นก็คือว่าเด็กทารกอยู่ในครรภ์มันทำผิดอะไรไม่ได้ มันยังไม่รู้จักอะไร มันยังไม่รู้สึกอะไร มันก็อยู่ตามธรรมชาติ อยู่ตรงกลางตามธรรมชาติ เรียกว่าอยู่กับธรรมะ อยู่กับพ่อแม่ตามกฎของธรรมชาติธรรมดา ไม่มีได้ ไม่มีเสีย ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีอร่อย ไม่มีไม่อร่อย คือไม่มี มันอยู่กับธรรมชาติ นี่มันยังเป็นเด็กอยู่
ทีนี้มันก็คลอดออกมาท้องมารดา ทีนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของมันก็ทำหน้าที่ แล้วมันก็ไปพบอร่อย อร่อยทางตา เด็กทารกนั้นเขาเอาของสวยๆ มาแขวนให้ดู เขาขับกล่อมทางหูให้เด็กทารกได้ฟังเพลงเพราะๆ ให้มันได้กลิ่นหอม ให้มันได้กินนม กินอาหารอร่อยๆ ให้มันนิ่มนวลด้วยการประคบประหงม รู้สึกนิ่มนวลแล้วมันก็ขับกล่อมจิตใจ อันนี้แหละคือสิ่งที่โจรเขาเอามาล่อ เด็กน้อยคนนี้มันก็ชอบเหยื่อที่โจรเอามาล่อ เอร็ดอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ทิ้งสภาพเดิม วิ่งหนีตามโจรไป ไปหาแต่สิ่งที่จะเกิดความเอร็ดอร่อย ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ได้ไปอยู่กับโจร และอารมณ์เหล่านั้นที่ว่าเอร็ดอร่อย สวยงาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เล่นงานเอา เด็กคนนี้ต้องร้องไห้อยู่ จะคิดอย่างไร จะฆ่าโจรหรือจะหนีโจร ก็แล้วแต่เถอะ
นี่พูดนี้เพียงให้รู้ว่า คนเรานี้พอเกิดมา มันก็ละทิ้งความปรกติไปชอบเอร็ดอร่อย นี่คือตามโจรไป มันก็ลงไปชอบกิเลสนั่นแหละ ไปชอบกิเลส ไปคลุกคลีอยู่กับกิเลส จนมีกิเลสเป็นนิสัย มันจึงยาก ยากเหลือยากที่จะบังคับกิเลส จะละกิเลสออกไปอยู่กับความถูกต้องที่ตรงกลางอีก ฉะนั้นจึงพูดว่าการบังคับตนมันนี้มันยาก เพราะตนมันเลวมากเสียแล้วตั้งแต่เกิดมานี้ มันเลวมากเสียแล้ว มันไปหลงในความเอร็ดอร่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากเสียแล้ว การที่จะบังคับตนให้มาอยู่ในความถูกต้องนี้มันยาก ทีนี้มันไม่ได้ ยากก็ยากสิ มันไม่ยอม คือมันไม่ยอมให้เหลวไหล มันต้องบังคับให้ได้ มิฉะนั้นมันตาย ซึ่งมันก็ต้องบังคับให้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงบังคับจิตของเราให้ได้ ฉะนั้นจะยากที่สุดอย่างไร มันก็ต้องบังคับให้ได้ เพราะเราต้องเข้มแข็งพอ ถ้าบังคับไม่ได้แล้ว มันก็สูบบุหรี่กันทั้งครูทั้งนักเรียนแหละ เห็นไหมล่ะ เพราะมันบังคับไม่ได้ ควันโขมงอยู่ในห้องเรียน ครูมันก็สูบบุหรี่ให้นักเรียนดู เพราะมันบังคับจิตไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องอะไรอื่นเลย แม้แต่เรื่องบุหรี่มันก็บังคับไม่ได้ เราก็ต้องตั้งหน้า ตั้งใจจริงบังคับกันให้ได้
ในข้อนี้ มีพระบาลีกล่าวว่า จงบังคับจิตนะ จงบังคับจิตให้เหมือนควาญช้างบังคับช้างที่ตกมัน พระบาลีมีว่าอย่างนี้ จงบังคับจิตในอัตราเทียบส่วนเท่ากับที่ควาญช้างบังคับช้างที่ตกมัน เราอาจจะไม่เคยเห็น แต่เราคำนวณดูได้ว่าช้างที่ตกมันนั้นบังคับยากอย่างไร อย่างเช่น มีคำว่าฉลาด ควาญช้างที่ฉลาดสามารถบังคับช้างที่ตกมัน ช้างที่ตกมันบังคับยาก ควาญช้างตายไปหลายคนแล้ว จะต้องเป็นควาญช้างที่ฉลาด ช้างมันจะอาละวาดจะร้ายกาจจะตกมันอย่างไร ควาญช้างที่ฉลาดมันก็สามารถบังคับช้างที่ตกมันได้ มีตรัสไว้ในบาลีไพเราะมากคำนี้ ทีนี้เราจะบังคับจิตที่บังคับยาก เหมือนช้างตกมัน เราฉลาดเก่งทุกประการพอ มันจึงจะสามารถบังคับจิตหรือมีธรรมะนี้ได้ เราก็บังคับจิตได้คือ บังคับตนได้ เรียกว่ามีธรรมะ
ทีนี้คำถัดไปที่ ๓ ก็คือ ขันติ หรือ ธิติ คำว่า ธิติ แปลว่า ดำรงมั่นอยู่ ธิติ แปลว่าอดกลั้นอดทน หมายความว่ามันต้องเจ็บปวด การต่อสู้นี้มันต้องเจ็บปวด จะบังคับช้างหรือบังคับจิตก็สุดแท้แหละ มันทั้งเหน็ดเหนื่อย มันทั้งเจ็บปวด มันทั้งลำบากเหลือประมาณ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความอดทนที่เพียงพอ ถ้าความอดทนไม่เพียงพอ มันก็ทิ้งงานหนี มันก็หนีแหละ มีความอดทนไม่เพียงพอ มันก็ไม่ทนสู้ มันก็ทิ้งงานหนีไป มันก็เลิกกัน ฉะนั้นจึงต้องอดทนๆ อดทนต่อการเจ็บปวดที่เกิดมาจากการบีบคั้นของกิเลส พอเราไปบีบคั้นกิเลส กิเลสมันก็บีบคั้นจิต มันก็เจ็บปวดเพราะการบีบคั้นของกิเลส มันจึงต้องมีอดทน อดทนเหลือประมาณ อดทนเลือดตาไหล จะไม่ยอมแพ้ จะอดทน สู้ให้จนได้ คือว่าจะมีการบังคับ มีสัจจะ แล้วมีการบังคับ แล้วก็มีความอดทน รักษาสัจจะธรรมะไว้ให้ได้
คำว่าอดทนนี้ คนสมัยนี้ไม่ชอบ คนสมัยนี้เขาบ้าประชาธิปไตย เขาว่าถ้าต้องอดทนแล้วสูญเสียความเป็นประชาธิปไตย นั้นมันยิ่งบ้าใหญ่ขึ้นไปอีก มันไม่ยอมอดทน แล้วมันจะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ฉะนั้นต้องยินดีอดทน ลูกเด็กๆ ต้องยินดีอดทน คนยากจนต้องอดทน คนใต้บังคับบัญชาต้องอดทน ยินดีที่จะอดทน อย่าไปถือว่ามันสูญเสียประชาธิปไตย กูไม่อยากจะอดทน กูจะเสมอกัน กูจะสบายเหมือนกัน อย่างนี้มันไม่อดทน ฉะนั้นเราจะต้องยินดีที่จะอดทน มันจึงจะทำสำเร็จ ถ้ามันไม่อดทนแล้ว มันก็กลับไปสูบบุหรี่อีกแหละ มันเพิ่งทิ้งบุหรี่ได้วันหนึ่ง แล้วมันเงี่ยน เงี่ยนมันเหลือทน มันก็ไม่อดทน มันก็กลับไปสูบบุหรี่อีกนั่นแหละ คนที่อยากจะทิ้งบุหรี่ ระวังให้ดีเถอะ ต้องมีความอดทนพอ มีความจริงใจ มีการบังคับจิตและมีความอดทนพอ แม้แต่เรื่องสูบบุหรี่แล้วจะเลิกบุหรี่นี้ มันก็ต้องมีความอดทนพอ
ทีนี้อันสุดท้าย เรียกว่าจาคะ บริจาค,บริจาคออกไป ฉะนั้นสิ่งใดที่เป็นข้าศึกของความสำเร็จ ทุกสิ่งที่มันเป็นอุปสรรคเป็นข้าศึกของความสำเร็จ เราต้องยอมสละมัน ยอมสละมัน อย่าเอาไว้เลย ความสนุกสนานเอร็ดอร่อยเหลวไหล ความเหลวไหล ความเกียจคร้าน อะไรก็ตามที่มันเป็นข้าศึกต่อความสำเร็จนี้ ต้องบริจาคออกไป บริจาคออกไป เป็นข้อสุดท้ายคือว่าสละสิ่งที่เป็นข้าศึกของความสำเร็จออกไปๆ เรียกว่าจาคะ
สัจจะ ความจริง,ตั้งใจจริง แล้วก็ทมะ บังคับให้ทำอย่างนั้น พอทำอย่างนั้นมันเจ็บปวด ก็ต้องอดทน เพื่อให้อดทนได้ พอจะอดทนได้ ความกดดันทั้งหลายที่จะระบายออกไปได้ทางอื่นนั้น ก็ระบายออกไปเสีย มิฉะนั้นมันจะกดดันมากจนเหลือทน ฉะนั้นเราประพฤติความถูกต้องอย่างอื่นๆ ช่วยเข้าไว้ๆ ให้ความเลวความผิดนั้นมันลด ลดลงบ้าง แล้วเราก็จะอดทนได้ ฉะนั้นเราประพฤติความดีอย่างอื่น ทำบุญสุนทานหรือความดีอย่างอื่นๆ เป็นรูรั่ว ระบายความเลวร้ายออกไปเสียอยู่เป็นประจำ ทีนี้ความกดดันมันก็เหลือน้อยพอที่เราจะทนได้ นี้เป็นเป็นอุบาย เพราะเราต้องอดทน ถ้ามันมาก มากเกินอดทน มันก็อดทนไม่ได้ มันก็ล้มละลาย ฉะนั้นอะไรที่จะทำให้รั่วออกไปเสีย รั่วออกไปเสีย ให้มันมีกดดันน้อย อดทนได้นั่นแหละเป็นความถูกต้อง
นี่ขอให้สังเกตดูว่า สี่ประการนี้มันเป็นเทคนิคนะ มันเป็นเทคนิคที่ตายตัวของธรรมชาติ ใช้เทคนิคนี้ให้ถูกตามธรรมชาติ อาตมาว่า เทคโนโลยีเอามาใช้กับธรรมะก็ได้ ทุกอย่างมันมีเทคนิค การที่ใช้เทคนิคให้ถูกเรื่องนั้นคือเทคโนโลยี เทคโนโลยีคือการใช้เทคนิคให้มันถูกกับเรื่องของมัน ฉะนั้นเทคโนโลยีนี้เอาไปทำลายโลกก็ได้ เทคโนโลยีนี้เอาไปเลี้ยงโลกรักษาโลกคุ้มครองโลกก็ได้ ฉะนั้นคำว่าเทคโนโลยีนี้เอามาใช้กับธรรมะได้ คือใช้เทคนิคของธรรมะให้ถูกต้องกับเรื่องของมัน
นี้ก็เป็นตัวอย่างแห่งเทคนิคชุดหนึ่งแล้ว ข้อที่ ๑ มีสัจจะ มีความจริง ข้อที่ ๒ ก็ทมะ การบังคับตามความจริงให้ตรงกับความจริง ข้อที่ ๓ ต้องทนได้เมื่อมีการบังคับ และข้อที่๔ ระบายของที่ควรจะระบายออกอยู่เรื่อยๆ แล้วมันจะทนได้ มันจะทำให้ทนได้ ไม่เหลือทน ทั้งสี่นี้ ต้องเนื่องกันร่วมกัน ถูกต้อง,มีความถูกต้องทั้งสี่หัวข้อร่วมกัน แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จในการหาเรือน หาที่พึ่ง หาพระธรรมมาคุ้มกะลาหัว ต้องขอโทษนะ ถ้าพูดคำหยาบๆ อย่างนี้ เพราะมันจำง่ายดี มันไม่รู้จักลืม ในการที่จะหาฆระคือเรือนมาคุ้มกะลาหัว ขอให้ใช้เทคนิคนี้ คือธรรมะ ๔ ประการนี้ กลมกลืนๆ กัน แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จ
ขอให้ครูบาอาจารย์ไปนึกเอาเองว่า สัจจะอย่างไร ทมะอย่างไร ขันติอย่างไร จาคะอย่างไร ครั้นเรามีการกระทำสี่อย่างนี้ ก็แปลว่าเสร็จการกระทำแล้ว นี่คือความหมายของคำว่าเปจฺจ ไม่ใช่ตายเข้าโลงไปรอโลกหน้า,ไม่ใช่ เปจฺจ คือว่าทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว ส เว เปจฺจ น โสจติ เขาผู้นั้น ครั้นกระทำเสร็จแล้วย่อมไม่เศร้าโศกเลย คือจะไม่มีความทุกข์เลย หลังการจากประพฤติธรรมะสี่อย่างนี้ เสร็จแล้ว,เสร็จเรื่องแล้ว เขาจะไม่เศร้าโศกเลย เขาจะไม่มีความทุกข์เลย
ทีนี้ที่ควรจะเข้าใจให้ชัดก็ว่า ธรรมะทั้งหลาย หลักธรรมะทั้งหลายแบ่งเป็นสองพวก ธรรมะพวกหนึ่งเป็นเครื่องมือ เป็น core เป็น means เป็น instrument แล้วแต่จะเรียก เรียกว่ามันเป็นเครื่องมือ ธรรมะอีกพวกหนึ่งมันเป็นตัวเรื่องที่เราต้องการผลของมัน เช่นเดี๋ยวนี้เรามีเครื่องมือ แล้วเราก็สร้างบ้านสร้างเรือนอยู่ได้ บ้านเรือนนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่เราต้องมีเครื่องมือ หรือเครื่องมือสร้างบ้านสร้างเรือน ธรรมะทั้งหลายก็เหมือนกัน ธรรมะพวกหนึ่งมันทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องมือ แล้วเราก็ใช้เครื่องมือ แล้วเราก็ได้ผลธรรมะเป็นสิ่งที่เราต้องการ ทีนี้ถ้าว่าเราใช้ธรรมะทั้งสี่นี้เป็นเครื่องมือ เราต้องการอะไรล่ะ เราเป็นฆราวาส เราต้องการเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ เราก็ใช้สี่อย่างนี้หามาได้ โดยการกระทำสี่อย่างนี้ เราต้องการเงินก็ได้เงิน เราต้องการชื่อเสียงก็ได้ชื่อเสียง เราต้องการทรัพย์สมบัติก็ได้ ทรัพย์สมบัติ มันเป็นเครื่องมือ
ฉะนั้นถ้าเราต้องการจะไปนิพพาน ก็ลองใช้สี่อย่างนี้สิ มีผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ มีสัจจะต่อการไปนิพพาน ปรับปรุงร่างกายจิตใจ บังคับจิตให้มันละกิเลส แล้วก็อดทน อดทนประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาหมายความว่าอดทนน้ำตาไหลก็ไม่เลิก และอะไรที่มันจะช่วยให้ไปได้โดยสะดวก ก็ประพฤติด้วยเพิ่มเติม แล้วก็จาคะ สละเหยื่อของกิเลส สละกิเลสปลีกย่อยทั้งหลาย เพื่อจะทอนกำลังของกิเลสทั้งหลายอันใหญ่หลวง ใช้ธรรมะสี่ประการนี้เพื่อไปนิพพานก็ได้ ฉะนั้นอย่าไปเชื่อคนที่ด่าอาตมาทางวิทยุว่าเอาธรรมะไปสอนผิดๆ ว่าธรรมะนี้ใช้แต่ฆราวาสเท่านั้นแหละ เราไม่เชื่อ เราเอาธรรมะนี้ใช้ทุกอย่างที่มนุษย์จะใช้เพื่อความสำเร็จอะไรก็ได้ แล้วจึงแนะให้แปลคำว่า ฆรเมสิโน เสียใหม่ อย่าแปลว่า ฆราวาสผู้ครองเรือนเลย ให้แปลว่าผู้กำลังแสวงหาเรือน คือ ที่อยู่ที่สบาย ที่อยู่ที่สบายนั่นคือเรือน เรือนกายก็ได้ เรือนใจก็ได้ เรือนใจก็คือนิพพาน เรือนกายก็คือบ้านเรือนธรรมดานี่ เมื่อเราต้องการเรือนเป็นที่สบายแล้ว ก็ใช้ธรรมะสี่ประการนี้เถิด เรียกว่าเป็นธรรมะสำหรับผู้แสวงหาเรือนคือที่พึ่งสำหรับจะอยู่เป็นสุข เอาความหมายของเรือนว่าเป็นที่อยู่สบาย,เรือน ไม่ใช่เป็นชาวบ้านครองเรือนมีลูกมีเมียแต่อย่างเดียว ถูกแล้วคำว่าฆระ หรือ เคหะนี้หมายความอย่างนั้นก็มี แต่เขาหมายถึงฝ่ายจิตใจ ด้านจิตใจ เรื่องของจิตใจมันก็มีเหมือนกัน เราให้ใช้ทั้งสองอย่าง ถ้าเราต้องการที่อยู่สบายทั้งทางกายและทางจิต ขอให้ใช้ธรรมะสี่ประการนี้
แล้วพระคาถาที่ ๒ ที่ว่า ให้ไปถามใครในโลก เป็นอันมากดู คือว่าให้ไปแสวงหาผู้รู้ในลัทธิอื่นในศาสนาอื่น ศาสนาใดก็ได้ว่า มีธรรมะไหนไหมที่มันดีกว่านี้สำหรับผู้ที่จะแสวงหาเรือน จะแสวงหาที่พึ่งให้แก่ตนเพื่ออยู่สบาย มีธรรมะอื่นไหนไหมที่มันดีกว่านี้ คล้ายๆ กับว่าพระพุทธเจ้าท่านแน่พระหฤทัยว่าไม่มี อย่างดีก็เสมอกัน ที่ดีกว่านี้ไม่มี แน่ ที่จะเอามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแสวงหาที่อยู่สบายคือเรือนนั่นแหละ มันสู้สี่อย่างนี้ไม่ได้ จึงมีคำท้าไว้อย่างนี้
ฉะนั้นขอให้เราพุทธบริษัทรู้จักสิ่งที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าฆราวาสธรรมนั้นเสียให้ถูกต้อง อย่าเป็นฆราวาสอยู่เรือนอย่างเดียว เอาตามพระบาลีก็ว่าผู้แสวงหาเรือน เรือนชนิดไหนก็ได้ ต้องใช้ธรรมะสี่อย่างนี้ ถ้าจะใช้ให้มันฟังง่ายก็ว่าประสบความสำเร็จนั่นแหละ ถ้าท่านต้องการจะประสบความสำเร็จในอะไร ของอะไร ระดับไหนก็ตามใจ ในโลกหรือเหนือโลกก็ตามใจ จงใช้ธรรมะเครื่องมือสี่อย่างนี้ และให้รู้ว่าใช้อย่างเครื่องมือนะ เช่นถ้าว่าเราจะมีธรรมะตัวจริง เช่นว่าจะมีสติปัฏฐาน ๔ จะปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ก็ลองใช้เครื่องมือสี่นี้สิ มีสัจจะ มีทมะ มีขันตี จาคะ ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็จะได้แหละ หรือว่าเราจะมีศีล สมาธิ ปัญญา ลองใช้สี่อย่างนี้สิ มันก็ได้แหละ ธรรมะโดยตรงที่มีผลเป็นดับทุกข์นั่นแหละ ลองใช้สี่อย่างนี้เป็นเครื่องมือแสวงหาสิ พบแหละ เป็นเครื่องมือแสวงหาก็จะพบผลที่เราต้องการ
ฉะนั้นถ้าจะไปบอกลูกศิษย์ให้ทิ้งบุหรี่ ครูต้องทำถูกต้องเองนะ ครูต้องมีสัจจะที่ว่าจะทิ้งมันนะ และครูต้องบีบบังคับจิตให้ทิ้งนะ พอเงี่ยนมา ต้องขันติอดทนนะ แล้วอะไรที่จะมาล่อให้เพลินๆ ลืมบุหรี่ก็ทำเข้าด้วย มันก็ทิ้งบุหรี่ได้ นี่เรื่องนิดเดียว เพียงเรื่องทิ้งบุหรี่ก็ยังต้องอาศัยสี่อย่างนี้ ถ้าเรื่องมันมากกว่านี้หนักกว่านี้ก็เอาไปใช้เถิด สำเร็จทุกเรื่องแหละในสี่ประการนี้ มันจึงสมควรที่จะเรียกว่าเป็นธรรมะสำหรับผู้แสวงหาที่พึ่งสบาย ถ้าใครมันจะใช้แคบๆ ในความหมายแคบๆ ว่าสำหรับผู้อยู่ครองเรือน นั้นก็ได้ ก็ทำไปสิ ถ้าเมื่อทำประโยชน์ในชั้นอยู่บ้านเรือนเสร็จ,เสร็จแล้ว มันก็ต้องเลื่อนชั้น มันก็ต้องเลื่อนชั้นที่ธรรมะสูงๆ ขึ้นไป มันก็ต้องใช้สี่อย่างนี้อีก ถ้าเราจะเล่นตลก ให้ถือว่าคำว่าฆราวาสๆ นี้ให้เป็นพื้นฐานทั่วไปก็แล้วกัน เมื่อเราทำพื้นฐานทั่วไปสำเร็จ ที่มันสูงไปกว่านั้นก็สำเร็จอีกโดยใช้เครื่องมือเดียวกัน ฉะนั้นถ้าจะเรียกว่าเป็นธรรมของฆราวาส ก็ให้ใช้คำว่าเป็นธรรมของผู้ที่จะสร้างพื้นฐาน เพราะว่าในโลกนี้ในโลกมนุษย์นี้ ความเป็นฆราวาสนั่นแหละคือพื้นฐาน พื้นฐานทั่วไปคือความเป็นฆราวาส เป็นจุดตั้งต้น พื้นฐาน สร้างเสร็จแล้วก็เลื่อนขึ้นไป,เลื่อนขึ้นไป,เลื่อนขึ้นไป เป็นครึ่งพระครึ่งฆราวาส ก็ต้องอันนี้แหละ เป็นพระก็ต้องอันนี้แหละ ประพฤติธรรมะสูงขึ้นไป ละกิเลสได้ ก็ต้องอันนี้ ฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าฆราวาส ก็ขอให้ใช้คำที่มีความหมายว่ามันเป็นพื้นฐานของชีวิตจิตใจ ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเอาตามพระบาลีแล้วก็ว่าผู้แสวงเรือนคือที่อยู่ที่อาศัยที่สบาย ใช้ธรรมะสี่ประการนี้ทุกขั้นตอนจนกว่าจะได้เรือนที่สบายที่สุดคือพระนิพพาน เป็นที่ซ่อนเร้น เป็นที่ต้านทานต่อความทุกข์ทั้งปวง คือนิพพาน
เอาล่ะ,แล้วท่านจะใช้มันอย่างไรก็ไปคิดเอาเอง ครูบาอาจารย์คงจะลำบากใจบ้าง เพราะว่ามันกว้าง ความหมายมันกว้าง จะไปใช้ฝ่ายโน้นก็ได้ ฝ่ายนี้ก็ได้ ฝ่ายไหนก็ได้ ฉะนั้นคงจะลำบากใจบ้างที่จะอธิบายธรรมะหมดนี้ ภาพที่ยึดถือแคบๆ ว่าใช้สำหรับผู้ครองเรือนแล้ว มันคงจะลำบาก เพราะมันว่าเป็นผู้แสวงหาเรือนต้องการเรือน คำว่าเรือนนี้ ใช้หมายถึงภพก็ได้ อย่างที่พูดแล้วข้างต้น ภพคือความเป็นอย่างนั้นความเป็นอย่างนี้ ถ้าเราต้องการความเป็นอย่างนี้ที่ควรจะพอใจ ก็ใช้สี่อย่างนี้ ถ้าต้องการความเป็นที่สูงขึ้นไปอีก ก็ใช้สี่อย่างนี้ ต้องการภพคือความเป็นที่สูงขึ้นไปอีก ก็ใช้สี่อย่างนี้แหละ จนกระทั่งสิ้นสุดแห่งภพคือนิพพาน มันก็ต้องใช้สี่อย่างนี้เป็นเครื่องมือ
เอ้า,ทีนี้ก็บอกให้เลยว่า เครื่องมือยังมีอีกนะ เช่น อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ อริยมรรคมีองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ อีกหลายหมวด ล้วนแต่เป็นเครื่องมือได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้เรามานึกถึงว่าเอาเครื่องมือสร้างเครื่องมือ เพราะว่าเราต้องเอาเครื่องมือสร้างเครื่องมืออยู่บ่อยๆ นะ เช่นว่า เราจะมีมีด มีขวานนี้ เราก็ต้องมีเครื่องมืออื่นที่จะสร้างมีดสร้างขวาน เครื่องมือจะสร้างเครื่องมือทุกขั้นตอน ต้องใช้ธรรมะสี่ประการนี้สร้างกันขึ้นมาตามลำดับ ฉะนั้นธรรมะก็เป็นเครื่องมือต่อกันและกันขึ้นไปได้เป็นลำดับจนถึงอันดับสุดท้ายได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นั่นแหละคือไม่ใช่เครื่องมือ คือจุดประสงค์อันสุดท้าย
ฉะนั้นให้มองดูว่า ธรรมะทั้งหลายแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่เป็นเครื่องมือ ฝ่ายที่เป็นผลที่เราต้องการ ฆราวาสธรรมนี้หรือฆรเอสิธรรม,ฆรเมสิธรรมนี้ เป็นพวกเครื่องมือ ขึ้นชื่อว่าเครื่องมือแล้ว เอาไปใช้ได้ร้อยแปด เช่นเรามีมีดนี้ เอาไปฆ่าคนก็ได้ เรามีมีดนี้เอาไปทำข้าวปลาอาหาร ทำสิ่งของก็ได้ สร้างบ้านสร้างเรือนก็ได้ ทำอะไรก็ได้แล้วแต่จะใช้ เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือ แล้วแต่จะใช้
เอาล่ะ,เป็นอันว่า ได้พูดกันถึงฆราวาสธรรม ตามชื่อที่ท่านกำหนดให้พอสมควรแก่เรื่องพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติการบรรยายเรื่องฆราวาสธรรมไว้เพียงเท่านี้ ฆรเมสิธรรม,ถ้าเชื่ออาตมาเปลี่ยนชื่อมันเสียว่าฆรเมสิธรรม ถ้าฆราวาสธรรม มันก็จะจมอยู่ในบ้านเรือน ถ้าฆรเมสิธรรมแล้ว เรือนนี้เลยไปถึงนิพพานก็ได้ เอาพระนิพพานมาเป็นเรือนใจ แต่เขาไม่มีใครยอมหรอก เขาเขียนตายตัวลงไปในหนังสือตำราเรียน แบบเรียนเขียนอย่างนั้นหมดแล้วว่า ฆราวาสธรรม แล้วขบถ ขบถต่อพระบาลี พระบาลีไม่ได้ว่าฆราวาสธรรม พระบาลีว่า ฆรเมสิธรรม