แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาปรารภเหตุ บำเพ็ญทักษิณานุประทานกิจ แด่บุรพการีบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว การบำเพ็ญกุศลในโอกาสเช่นนี้มีธรรมเทศนาเป็นเครื่องให้เกิดบุญกิริยา ในส่วนธัมมัสสวนมัย สมควรแก่โอกาสด้วยเหตุที่ว่า ทุกคนกำลังมีจิตใจประกอบอยู่ด้วยความไม่ประมาท หรือความสลดสังเวชในความไม่เที่ยงของสังขาร เป็นต้น นับว่าเป็นจิตใจที่จะเหมาะ ที่เหมาะสมแก่การที่จะฟังธรรมเทศนาใน อนิจจา ถิกถา เป็นอาทิ
ตามธรรมดาคนเรามีธุระการงานมาก มีความเพลิดเพลินอย่างอื่นมาก จึงไม่มีจิตใจที่เหมาะสมที่จะฟังธรรมเทศนา อันประกอบด้วยสุญญตาเป็นต้น เมื่อมีสิ่งใดกระทำให้เกิดความสลดสังเวช ความไม่ประมาทพอสมควรแล้ว ย่อมสมควรแก่การฟังธรรมเทศนานั้น ดังนั้น จึงได้ยกเอาพระพุทธภาษิตอันกล่าวเนื่องเฉพาะด้วยสุญญตามาแสดงในโอกาสนี้
ในข้อแรกนี้ ควรจะทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า พระธรรมเทศนาหรือคำสั่งสอนซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตนั้น ต้องเนื่องเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา คือ ความว่าง ถ้าเป็นธรรมเทศนาของคนเหล่าอื่นหรือท่านหลัง ก็ไม่เนื่องเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อใดมีการละเลยในการศึกษาเรื่องสุญญตา เมื่อนั้นถือว่าเป็นอนาคตภัยในพระพุทธศาสนา คือ บุคคลพากันละเลยเรื่องซึ่งเป็นตถาคตภาษิตหรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นเอง ดังมีข้อความที่ตรัสไว้อย่างที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อเทศนาข้างต้นนั้น มีใจความเต็ม ๆ ว่า ปุน จ ปรํ ภิกฺขเว ภวิสฺสนฺติ ภิกฺขู อนาคตมทฺธานํ เป็นต้น ซึ่งมีใจความว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลอันเป็นอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ผู้มีกายอันไม่เจริญแล้ว ผู้มีศีลอันไม่เจริญแล้ว ผู้มีจิตอันไม่เจริญแล้ว ผู้มีปัญญาอันไม่เจริญแล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ เย เต สุตฺตนฺตา ตถาคตภาสิตา สุตตันตะเหล่าใด เป็นภาษิตของตถาคต เป็นของลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง แสดงความยิ่ง กว่าโลก เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา เตสุ ภญฺญมาเนสุ เมื่อคนทั้งหลายกล่าวถึงสุตตันตะเหล่านั้นอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ฟัง ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่เงี่ยหูฟัง ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ตั้งจิตไว้เฉพาะต่อธรรมเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นย่อมสำคัญ ย่อมไม่สำคัญว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรศึกษาและเล่าเรียน
เย เต ปน สุตฺตนฺตา ส่วนสุตตันตะเหล่าใด กวิกตา อันเป็นสิ่งที่กวีในชั้นหลังกระทำขึ้น กาเวยฺยา เป็นคำกาพย์กลอน จิตฺตกฺขรา มีอักษรอย่างวิจิตร จิตฺตพฺยญฺชนา มีพยัญชนะอันวิจิตร พาหิรกถา เป็นข้อความอย่างอื่นนอกจากสุญญตา กถา สาวกภาสิตา เพราะเป็นสาวกของ เพราะเป็นภาษิตของสาวกทั้งหลาย เตสุ ภญฺญมาเนสุ เมื่อมีคนนำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมตั้งใจฟัง ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมส่งจิตเพื่อจะฟัง และถือว่านี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน
อิติ โข ภิกฺขเว ธมฺมสนฺโทสา วินยสนฺโทโส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่แหละ คือ โทษแห่งธรรมะ นี่แหละ คือ โทษแห่งวินัย อิทํ ภิกฺขเว จตุตฺถํ อนาคตภยํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงรู้ว่า นี้เป็นอนาคตภัยประการที่ ๔ ในพระพุทธศาสนานี้ เอตรหิ อสมุปฺปนฺนํ ยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ อายตึ สมุปฺปชฺชิสฺสติ แต่จะเกิดขึ้นในกาลภายหน้า ตํ โว ปฏิพุชฺฌิตพฺพํ เธอทั้งหลายจงรู้ไว้ ปฏิพุชฺฌิตฺวา จ ตสฺส ปหานาย วายมิตพฺพํ ครั้นรู้แล้ว จงพยายามที่จะละเสีย ดังนี้
อธิบายความแห่งพระพุทธภาษิตข้อนี้ว่า สิ่งซึ่งเป็นอนาคตภัยอันจะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนานั้น คือ ข้อที่ภิกษุทั้งหลายผู้มีกายมีจิตอันไม่เจริญแล้ว ไม่สนใจสุตตันตะทั้งหลายที่กล่าวถึงสุญญตา อันเป็นของลึกซึ้งซึ่งพระตถาคตกล่าวไว้ แต่จะไปสนใจสุตตันตะทั้งหลายที่วิจิตรไพเราะด้วยอักษร ด้วยพยัญชนะ เป็นของที่กวีกระทำขึ้น ดังนี้ โดยทั่วไปเราจะเห็นได้ว่า ไม่ค่อยมีบุคคลจะสนใจธรรมเทศนาอันกล่าวถึงเรื่องสุญญตา ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่านั่นเป็นภาษิตของพระตถาคต แต่คนทั่วไปไปสนใจเรื่องอื่นนอกจากเรื่องสุญญตา ซึ่งเป็นคำกล่าวของพระสาวกชั้นหลัง ดังนั้น จึงเป็นอันว่า ไม่ถือเอาสิ่งซึ่งเป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา มีการเฉออกไปนอกทาง จึงได้ถือว่า เป็นอนาคตภัย เป็น สนฺโทสา ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในพระธรรมวินัยนี้ จึงให้ภิกษุทั้งหลายช่วยกันป้องกันไว้ และหมายความถึงพุทธบริษัททั้งหลายด้วย จะต้องช่วยกันป้องกันไว้ อย่าให้เกิดภัยอันนี้ขึ้นแก่พระพุทธศาสนา ถ้ากล่าวอย่างสั้น ๆ ที่สุดว่า ก็ว่า จงช่วยกันสนใจในสิ่งซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ อย่าได้ไปสนใจสิ่งซึ่งเป็นของไกลออกไป หรือเป็นของชั้นหลังที่กระทำขึ้นเพื่อความวิจิตร ความไพเราะทางอักษร ทางพยัญชนะ เป็นต้น
บัดนี้จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า สุญญตา นั้นต่อไป คำว่า สุญญตา แปลว่า ความว่าง แต่คนทั้งหลายซึ่งเคยชินกันแต่เรื่องทางวัตถุ เมื่อได้ยินคำว่า ความว่าง ก็เข้าใจไปว่า ความไม่มีอะไร ดังนั้นควรจะต้องเข้าใจกันเสียใหม่ว่า คำว่า ความว่าง ในพระพุทธศาสนานี้ เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะต่างหาก มิได้หมายถึง ว่าง อย่างไม่มีอะไรเลย มีหลักอยู่ว่า ถ้าจะกล่าวว่าโลกว่าง เราก็ควรจะนึกดูว่า ทำไมจึงกล่าวว่าโลกนี้ว่าง ทั้ง ๆ ที่โลกนี้มีอะไรเต็มไปหมดทั้งโลก แต่ทำไมพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า โลกนี้ว่าง ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสถูกต้อง ก็ต้องหมายความว่า คำว่า ว่าง นั้นมีความหมายเป็นอย่างอื่น มิได้มีความหมายว่าไม่มีอะไรเสียเลย เพราะฉะนั้น จึงมีกล่าวไว้ว่า คำที่กล่าวว่าโลกว่างนั้น ก็เพราะว่าว่างจากตัวตน และว่างจากของตน นี้เรียกว่า นาทีที่ 0.10.11ทวิโกฏิกาสุญญตา คือ สุญญตาที่มียอดสุด ๒ ประการ ความว่างมียอดสุด ๒ ประการอยู่ตรงที่ว่างจากตัวตนอย่างหนึ่ง ว่างจากของ ๆ ตนอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในโลกนี้จะมีอะไรมากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีความหมายที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงได้ ไม่มีความหมายที่จะเป็นของ ๆ ตน หรือของใครโดยแท้จริงได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ใครจะไปนึกว่าเป็นของตนก็นึกได้ แต่ความจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้นนั่นเอง
เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกว่าง นั้น ก็เพราะว่างจากสาระ หรือจากความหมายที่ใคร ๆ ควรจะไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน หรือของตน แต่ทีนี้มิได้หมายความว่า คนทุกคนจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น หมายความว่า ใครจะเกี่ยวข้องกับสิ่งอะไรตามที่ควรจะเกี่ยวข้องก็ได้ทั้งนั้น แต่อย่าได้ไปเกี่ยวข้องด้วยจิตใจที่ไปยึดมั่น สำคัญมั่นหมายเอาว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่าพอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าเท่านั้น ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที
ไม่จำเป็นจะต้องยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้น ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นได้ จะแสวงหาก็ได้ จะบริโภคใช้สอยก็ได้ จะเก็บไว้ก็ได้ จะทำให้มากขึ้นไปก็ได้ ขอแต่อย่าได้เข้าใจผิดไปว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน เมื่อไม่มีความยึดถือว่า ตัวตน หรือของตน ก็ไม่มีความทุกข์เลย ดังนั้น คนเราอาจจะเสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติ หรือสิ่งใดก็ได้ มีไว้ก็ได้ ใช้จ่ายก็ได้ ทำอะไรได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี้คือ ประโยชน์อันใหญ่หลวงของคำสอนของพระพุทธเจ้า คือทรง พระพุทธองค์ทรงหวังว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นอยู่โดยไม่ต้องมีความทุกข์ จะทำอะไรทุก ๆ อย่างได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ จะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องมีการถูกเสียบแทงให้เจ็บปวดด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะไม่ยึดถือ สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย
เช่นเดียวกับว่าเราจะบริโภคปลา เราก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้โดยไม่บริโภคก้างปลา แต่บริโภคส่วนที่ไม่เป็นอันตรายแก่เรา ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีความรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว อาจจะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องไปผูกเข้ากับส่วนที่เป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์แต่ประการใด ก็อาจจะเอาชนะโลกนี้ได้ เอาชนะโลกอื่นได้ กระทั่งอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวงได้ นี้คือข้อที่มีความรู้เรื่องโลกถูกต้องว่า โลกนี้เป็นของว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านผู้ใดได้ฟังว่า โลกว่าง ก็จงเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายอย่างนี้ ไม่ได้ทรงมุ่งหมายว่า โลกนี้ไม่มีอะไร
ทีนี้ พอมาถึงคำว่า จิตว่าง มีคำอธิบายว่า ราคโทสโมเหหิ สุญฺญตตฺตา สุญฺญโต เป็นของว่าง เพราะว่าว่างจากราคะ โทสะ โมหะ จิตนี้เป็นจิตว่าง เพราะว่าว่างจากราคะ โทสะ โมหะ สรุปใจความข้อนี้ก็ว่า ถ้าเมื่อใดจิตไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นเรียกว่า จิตว่าง ทำไมจึงเรียกจิตชนิดนั้นว่าจิตว่าง เพราะว่าจิตในขณะที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะนั้น เป็นจิตที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน คือ จิตในขณะนั้นจะไม่ไปสำคัญเอาอะไรว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นของตน จิตนั้นจึงว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน หรือของตน แต่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า จิตว่าง คือ จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความว่าง สำหรับความว่างนั้น คือ ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ
ข้อนี้เข้าใจได้ง่ายตรงที่เราจะต้อง เราสังเกตดูเอาเองว่า ในขณะใดที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะรบกวนจิตใจ ขณะนั้นเรามีความเป็น มีความว่าง คือ เป็นสุขที่สุดนั่นเอง ขณะใดมีราคะ หรือโทสะ หรือโมหะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจ เป็นจิตวุ่นวายแล้ว ขณะนั้นเราก็มีทุกข์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นอบายขึ้นมาทีเดียว เช่นว่า
เป็นอบายข้อแรก เรียกว่า นิริยะ หรือนรก ก็คือ ความร้อนใจ หรือว่าเป็นอบายข้อถัดไป คือ เป็น ติรัจฉานโยนิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็คือ ขณะที่มีความโง่ ในขณะใดมีความหิวไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะนั้นก็เป็น เปรตวิสัย เรียกกันสั้น ๆ ว่า เป็นเปรต ขณะใดมีความขลาดจนทรมานจิตใจ ขณะนั้นเรียกว่า เป็นอสุรกาย นี่ก็คือ ความที่จิตไม่ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ จึงมีความวุ่นวาย เป็นการตกอบายไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
แม้ในเรื่องอบายทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกัน ขอให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องกันเสียก่อนว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายใจความสำคัญอย่างนี้ คือ นรก หมายถึง ความร้อนใจ เดรัจฉาน หมายถึง ความโง่ เปรต หมายถึง ความทะเยอทะยานไม่มีหยุด ไม่มีที่สิ้นสุด อสุรกาย หมายถึง ความขี้ขลาด เมื่อใดมีความร้อนใจ เมื่อนั้นเป็นนรก เวลาใดมีความโง่เขลา เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เวลาใดหิวกระหายวุ่นวายในทางจิตใจ เมื่อนั้นเป็นเปรต และเมื่อใดมีความขลาดไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ ก็เกิดจมลงไปในอบายได้หลายครั้ง ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี
สำหรับอบายที่จะถึงต่อเมื่อตายแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ศาสนาอื่นก็ได้กล่าวไว้ และกล่าวก่อนแต่พระพุทธเจ้ากล่าวเสียด้วยซ้ำไป ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องกล่าวเหมือนกันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายสิ่งที่เป็นใจความ หรือเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ได้กำหนดว่าที่ไหน หรือเมื่อไร หรือหลังจากตายแล้ว เป็นต้น แต่กำหนดว่าเมื่อใดก็ตามถ้ามีความร้อนใจแล้วก็เป็นนรก มีความโง่เขลาแล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีความทะเยอทะยานไม่สิ้นสุดแล้วก็เป็นเปรต มีความขี้ขลาดแล้วก็เป็นอสุรกาย และหมายความว่า ถ้าผู้ใดไม่ตกอบาย ๔ อย่างนี้ ในที่ ในโลกนี้ ในขณะนี้ ในเวลานี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า แม้จะตายไปอีกสักกี่ครั้ง ก็ไม่ต้องตกอบายเป็นแน่นอน คือ อบายในโลกหน้า หรือชาติหน้านั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ถ้าไม่ตกอบายที่นี่ ในชาตินี้ ดังที่กล่าวมาแล้ว
การที่เราจะไม่มีความวุ่นวายซึ่งเป็นอบาย เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนี้ ก็มีมูลมาจากการมีจิตใจผ่องใส คือ ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเมื่อใดเผลอไป สิ่งที่เรียกว่าอบายนั้นก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงจะ ต้องระวังจิตนี้ให้ว่างจากราคะ โทสะ โมหะไว้เสมอ เรียกว่า เป็นจิตว่าง คือ จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความว่าง ว่างจากตัวตน ของตน คือ ว่างจากความสำคัญผิดว่าอะไรเป็นตัวตน หรือเป็นของตน เมื่อว่างจากความสำคัญว่าตัวตน หรือของ ของตนแล้ว ก็ต้องว่างจากราคะ โทสะ โมหะอยู่เอง เพราะเหตุว่าราคะ หรือโทสะ หรือโมหะนั้น จะเกิดมาจากความรู้สึกที่ไปยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตนเข้าเสมอไป ถ้ามีความฉลาดพอที่จะไป ไม่ไปหลงคิดว่า อะไรเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตนแล้ว ราคะ หรือโทสะ หรือโมหะก็เกิดไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นจิตที่ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ หรือว่างจากตัวตน
ทีนี้ อาจจะมีผู้สงสัยว่า จิตชนิดนี้ คือ จิตที่เรียกว่าจิตว่างนี้จะทำอะไรไม่ได้ หรือคิดอะไรไม่ได้เสียแล้วกระมัง ข้อนี้ต้องสังเกตดูให้ดี ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่าจิตว่างนี้ หมายถึง ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เมื่อว่างจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว มันจะเป็นอย่างไร มันก็จะต้องสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา ไม่มีความโง่ความเขลาเหลืออยู่เลย จิตที่สมบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญานี้ ทำไมจะคิดอะไรไม่ได้ หรือทำไมจะทำอะไรไม่ได้ในทางจิต กลับจะทำได้ดีกว่าเสียอีก ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจกันต่อไปว่า ความเป็นไปของจิตของคนเรานี้ มีอยู่ ๒ สายด้วยกัน คือ สายหนึ่ง เป็นไปด้วยอำนาจของอวิชชา คือ ความโง่ ความหลง สายหนึ่ง เป็นไปด้วยอำนาจของวิชชา คือ ความรู้ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องทำอะไร ต้องคิดอะไร ต้องพูดอะไรก็ตาม เราจะต้องทำด้วยความรู้ ความเข้าใจที่เป็นสติปัญญาเสมอไป เราจะต้องเข้าใจไว้ด้วยว่า ในปัจจุบันนี้มีคำสอนที่สอนกันผิด ๆ ตัวอย่างเช่นสอนว่า ถ้ามีความอยากความต้องการอะไรแล้ว ก็เป็นกิเลสไปทั้งนั้น นี้เป็นคำสอนที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
คือ พระพุทธเจ้าท่านมีหลักว่าคนเราจะต้อง ต้องการด้วยวิชชา หรือด้วยสติปัญญา อย่าไปต้องการด้วยอวิชชา หรือกิเลสตัณหา เช่นว่า เราอยากจะได้อะไร ก็ต้องให้ความอยากนั้นเป็นความอยากที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา หรือวิชชา ความอยากอย่างนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหา เช่นว่า ต้องการจะพ้นจากความทุกข์ มีความต้องการอย่างยิ่ง ก็ให้ประกอบอยู่ด้วยปัญญา ด้วยวิชชา คือ รู้ว่าความพ้นทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ความทุกข์เกิดมาจากอะไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไรให้รู้แจ้ง แล้วก็อยากจะพ้นทุกข์ แล้วก็พยายามไป ความอยากความต้องการอย่างนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหา
แต่ถ้าอยากจะดับทุกข์โดยไม่รู้ว่าทุกข์เป็นอะไร ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำตามเขาเพ้อ ๆ ไป เห่อทำตามกันไปทั้งที่ไม่รู้ เป็นความต้องการที่เกิดมาจากความไม่รู้อย่างนี้แล้ว แม้แต่ความอยากจะดับทุกข์นั้นก็ต้องเป็นกิเลสตัณหาโดยแน่นอน ซึ่งจะทำความทุกข์ให้แก่บุคคลนั้นเอง หรือที่ใกล้เข้ามาที่คนทั้งหลายเกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำก็คือว่า ความอยากที่จะหาทรัพย์สมบัติ มีความต้องการที่จะได้ทรัพย์สมบัติ อย่างนี้เราจะต้องพิจารณาดูก่อนว่า ความต้องการนั้นเกิดมาจากสติปัญญา หรือว่าเกิดมาจากอวิชชา ความโง่ ความหลง ถ้าความต้องการจะได้ทรัพย์สมบัติเกิดมาจากอวิชชา ความโง่ ความหลงแล้ว จะต้องเป็นกิเลสตัณหาโดยแน่นอน และจะต้องสุมเผาบุคคลนั้นให้เร่าร้อนตั้งแต่ต้นไปทีเดียว เป็นการตกนรกทั้งเป็นจนตลอดเวลา แต่ถ้าหากว่าบุคคลมีความต้องการด้วยอำนาจของวิชชา คือ ความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงแล้ว ความต้องการอันนั้นไม่เป็นกิเลสตัณหา แต่กลายเป็นการปฏิบัติธรรมะไปทันที
ความรู้แจ้งในเรื่องนี้ ก็หมายความว่า เป็นผู้รู้แจ้งอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าคนเรานี้เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาทำไม เป็นผู้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในข้อนี้เสียก่อน จึงจะเข้าใจถูกต้องในข้ออื่น ๆ อีกต่อไป จนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งหมด ว่าคนเราเกิดมานี้เพื่ออะไร และจะต้องทำอย่างไร ในที่สุดก็จะรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งว่า คนเราเกิดมาเพื่อจะต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ การหาทรัพย์สมบัตินี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของสัตว์ที่มีชีวิต เพราะว่าเราจะต้องการให้ชีวิตเป็นอยู่ เราจึงต้องหาปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตนั้น เมื่อมีปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตนั้นแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ก็คือ มีชีวิตอยู่เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็ลองคิดดูกันไปตามลำพังตน แต่ละคน ๆ เพราะว่าจิตใจยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อได้รับความสุขจากทรัพย์สมบัติแล้ว ก็แสวงหาความสุขอันอื่นที่สูงไปกว่าทรัพย์สมบัติ เมื่อได้รับความสุขจากเกียรติยศชื่อเสียงแล้ว ก็แสวงหาความสุขอย่างอื่นซึ่งสูงไปกว่า ความสุขชั้นสูงสุดนั้น ก็คือ ความสุขที่ไม่มีความเร่าร้อนเจืออยู่ ไม่แผดเผาบุคคลใด ก็คือ ความสุขที่เกิดมาจากการมีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน นั่นเอง
เราเกิดมาไม่ได้มีความยึดมั่นอะไรโดยความเป็นตัวตนของตน ก็หมายความว่า เพื่อจะทำหน้าที่ของมนุษย์ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่า เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำที่เป็นการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัวเอง อยู่ในตัวการงาน การประกอบอาชีพนั่นเอง อย่างน้อยที่สุดจะต้องมองกันดูให้ดี ๆ ว่า การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพนั้น จะต้องประกอบไปด้วยธรรมะอะไรบ้าง คนที่ผ่านการงานมามากแล้ว ย่อมจะทราบได้เองว่า ผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วยธรรมะหลายประการด้วยกัน นับตั้งต้นตั้งแต่ว่ามีปัญญา การมีปัญญานี้ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เพราะว่าเป็นความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ และยังจะต้องมีธรรมะ เช่น ความอดกลั้นอดทน เช่นขันตี รอได้คอยได้ และยังจะต้องมีสติสัมปชัญญะ คือ ความสุขุมรอบคอบ และยังจะต้องมีธรรมะ เช่น วิริยะ คือ ความพากเพียร ยังจะต้องมีธรรมะ เช่น สมาธิ คือ ความตั้งใจไว้เหมาะสมมั่นคงในสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่การงาน ยังจะต้องมีความเฉลียวฉลาดในการปฏิบัติต่อผู้อื่น และธรรมะอย่างอื่น ๆ อีกมากมาย จนกล่าวได้ว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นจะต้องมีธรรมะ หรือว่าผู้ที่มีธรรมะในหน้าที่การงานนั้น ก็คือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา มีความระลึกนึกอยู่เสมอว่า มนุษย์มีหน้าที่การงานสำหรับจะเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่มนุษย์จะเดินไปได้อย่างไร
ทีนี้ เราก็ถือเอาการงานนั้น เป็นการเดิน คือ มีจิตใจที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เพราะว่าธรรมะ เพราะว่าการงานนั้นสอนธรรมะให้อยู่ในตัว ยิ่งทำไปก็จะยิ่งรู้เองว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ยึดมั่นถือมั่นเข้าเมื่อใด เป็นมีความทุกข์เมื่อนั้น และยิ่งกระทำไป ๆ ก็ยิ่งเห็นได้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรยึดมั่น นี้เรียกว่า หน้าที่การงานนั่นแหละสอนธรรมะให้ หรือตัวชีวิตนั่นเองเป็นสิ่งที่สอนธรรมะให้แก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ล่วงกาลผ่านวัยมาตามลำดับ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความสังเกตสักหน่อย ก็จะได้รับความรู้ความเข้าใจจากการงาน จากชีวิต จนเกิดความ วางเฉยในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ คือ มีจิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เป็นอยู่ด้วยสติปัญญา ทำการงานก็เป็นสุข พักผ่อนก็เป็นสุข เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้โดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน
นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือของพระธรรมทั้งหมดที่ทุกคนจะต้องมี จะต้องใช้ และที่พระพุทธเจ้าท่านทรงหวังไว้ว่า ทุกคนจะต้องมีและต้องใช้ คือ เคล็ดลับที่สำคัญที่สุดเพียงข้อเดียวว่า จงเป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น เท่านั้นเอง และจะทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องมีความทุกข์ และแถมจะกลายเป็นของสนุกอย่างเป็นของเล่นไปก็ได้ ลองไปสังเกตดูด้วยกันทุกคนเถิด ว่าในขณะที่ประกอบการงานนั้น ถ้าจิตวุ่นวายเสียแล้ว การงานนั้นก็เป็นทุกข์เปรียบเหมือนตกนรก แต่ถ้าจิตว่าง คือ โปร่งใส สงบเย็นแล้ว การทำการงาน หรือการงานนั้น ก็กลายเป็นของสนุก เป็นเครื่องเล่นที่สนุก กระทำการงานอย่างสนุกมือทีเดียว สังเกตดูว่า บางคราว บางวัน ทำไมจึงรู้สึกไม่สนุกในการทำการงาน และบางวัน บางคราว ทำไมจึงรู้สึกสนุก บางคนก็ไปเชื่อโชค เชื่อลาง เชื่อภูตผีปีศาจ ยกไปให้เป็นเรื่องของโชคลางภูตผีปีศาจ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของธรรมชาติ คือว่าในขณะที่มีจิตว่างแล้ว การงานจะสนุก ในขณะที่มีจิตวุ่นแล้ว การงานจะเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ถ้ามีสิ่งใดเกิดขึ้นที่จะทำให้จิตของเราวุ่นวายแล้ว จงระมัดระวังให้มาก จงกำจัดออกไป สำรวมจิตใจให้เป็นจิตที่ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เรียกรวม ๆ กันว่า ราคะ โทสะ โมหะเหล่านี้ พอเป็นจิตว่างขึ้นมาเท่านั้น ไอ้งานที่เบื่อหน่ายก็จะเป็นงานที่สนุกขึ้นมาทันที ไอ้งานที่ยากเย็นก็จะกลายเป็นงานที่ง่ายขึ้นมาทันที งานที่ดูแล้วระอาไม่อยากจะทำก็นึกสนุกมืออยากจะทำขึ้นมาทันที นี่เพราะผลของการประพฤติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรียกว่า ถูกต้องตามธรรมะ
ถ้าท่านทั้งหลายอยากจะเข้าใจคำว่า ธรรมะ ให้สมบูรณ์แล้ว มีหนทางที่จะทำได้โดยง่าย คือ จดจำหลักในพระพุทธศาสนาไว้ ว่าทุกสิ่งเรียกว่าธรรมะ นับตั้งแต่ธรรมชาติทั้งปวง ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ก็เรียกว่า ธรรมะ เป็นรูปธรรม นามธรรม เป็นต้น
ที่ถัดมาก็คือ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มีประจำอยู่ในธรรมชาตินั้น ๆ นี้ก็เรียกว่า ธรรมะ จงสังเกตดูให้ดี แยกกันเป็นพวก ๆ ไปว่า ตัวธรรมชาติ ก็เรียกว่า ธรรมะ ตัวกฎของธรรมชาติ ก็เรียกว่า ธรรมะ ทีนี้ ก็มาถึงหน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องกระทำไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น อันนี้ก็เรียกว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ เรารู้จักตัวธรรมชาติ แล้วเราต้องรู้จักกฎของธรรมชาติ แล้วเราต้องรู้จักหน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องทำตามกฎของธรรมชาตินั้น ถ้าใครรู้อย่างนี้แล้ว เรียกว่า คนนั้นรู้ธรรมะ คือรู้ตามที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง ไม่มีทางที่จะผิดพลาดได้ในธรรมชาติเหล่านั้น รู้หน้าที่นี้ ก็คือ รู้เฉพาะเราว่า เราจะต้องจัดต้องทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้นไม่ว่าสิ่งใด ๆ แม้หน้าที่การงานนี้ก็รวมอยู่ในคำนี้ การทำมาหากินก็รวมอยู่ในคำ ๆ นี้ คือ หน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ แต่คำว่าธรรม ธรรมะในที่นี้ เราประสงค์เอาแต่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์จริง ๆ เราจะไม่ต้องเล็งถึงตัวธรรมชาติแท้ ๆ หรือตัวกฎธรรมชาติแท้ ๆ ก็ได้ ถ้าเรารู้หน้าที่อย่างถูกต้อง
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ นักศึกษาในสมัยปัจจุบันนี้กลุ่มหนึ่ง ได้ชวนกันพิจารณาความหมายของคำว่า ธรรมะ กันเป็นอย่างมากแล้ว ในที่สุดก็พบความหมาย หรือคำนิยามที่เหมาะสมที่สุดว่า ธรรมะนั้น คือ การปฏิบัติระบอบหนึ่ง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะนั้น คือ ระบอบการปฏิบัติระบอบหนึ่ง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ข้อแรก จะต้องสังเกตดูให้ดีว่า ระบอบของการปฏิบัติหนึ่ง ๆ นี้ หมายถึง ตัวการปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึงความรู้เฉย ๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ตัวปฏิบัตินี้ ก็คือ ตัวกระทำหน้าที่ จึงกล่าวได้ว่า การกระทำหน้าที่ระบอบใดระบอบหนึ่งนี่คือตัวธรรมะ
ไม่ใช่เพียงแต่รู้ หรือเพียงแต่พูด แต่ต้องเป็นการกระทำลงไปจริง ๆ เรียกว่า ธรรมะ และการกระทำนั้นเหมาะสมสำหรับมนุษย์ ถูกต้องสำหรับมนุษย์ ตรงตามธรรมชาติของมนุษย์ และยังมีระบุว่า ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการ คือ ไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย นับตั้งแต่คลอดออกมาเป็นเด็ก เป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เป็นคนสูงอายุ เป็นพ่อบ้านแม่เรือน กระทั่งเป็นคนแก่ชรา และยิ่งกว่านั้นยังมีวิวัฒนาการที่ซอยละเอียดลงไปว่า ในขณะที่เป็นเด็ก หรือเป็นหนุ่มเป็นสาวอะไรก็ตาม ก็ยังมีหน้าที่การงานต่างกัน เป็นคนค้าขายก็มี ทำราชการก็มี กระทั่งเป็นบรรพชิต ภิกษุสามเณรก็มี ล้วนแต่ต่างกัน ล้วนแต่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จึงต้องมีการกระทำที่ถูกต้อง ตรงตามขั้นและตอนแห่งวิวัฒนาการของตน เป็นอันว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีการกระทำอะไรที่ผิดพลาดเลย เป็นการกระทำที่ถูกต้องหมดตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว นั่นแหละ คือ ตัวธรรมะ
เมื่อมีการกระทำถูกต้องอยู่ตลอดเวลาดังนี้ ความทุกข์ก็ไม่มีโอกาสจะแทรกแซง เราจึงได้เป็นมนุษย์ชนิดที่สมตามความหมายของคำว่ามนุษย์ คือ คำว่ามนุษย์นี้ แปลว่า มีใจสูง มน แปลว่า ใจ อุษย แปลว่า สูง มีใจสูงอยู่เหนือการท่วมทับของความทุกข์ สูง ก็หมายความว่า น้ำไม่ท่วม น้ำในที่นี้คือ ความทุกข์ ดังนั้น เราจะต้องประคับประคองระวังรักษาจิตใจของเราไว้ให้อยู่สูงเหนือน้ำ คือ ความทุกข์ อยู่เสมอไป จะทำได้ก็ด้วยอาศัยการเข้าถึงหัวใจแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง สุญญตา ดังที่กล่าวแล้ว
ถ้าพูดว่าว่าง ก็ขอให้ว่างจากสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน หรือของตน เรียกสั้น ๆ ว่า ตน ก็แล้วกัน ตน ในที่นี้ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จริงจังอะไร เป็นเพียงความนึกคิดเอาอย่างสำคัญผิด ด้วยอำนาจของอวิชชาความไม่รู้ จึงเกิดความรู้สึกว่า ตน ขึ้นมา พอมีความรู้ถูกต้องเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่า ตน นี้ก็หายไป เหลืออยู่แต่ธรรมหรือธรรมชาติ ธรรมชาติบริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น ไม่เป็นตนอะไร เป็นเพียงธรรมชาติ แต่พอเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมา ก็เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เป็นเพียงธรรมชาตินั้นมาเป็นตัวตน จึงเกิดตนขึ้นมา แล้วก็เกิดความเห็นแก่ตนขึ้นมา เราจึงเห็นได้ทันทีว่า สิ่งที่เรียกว่า ตน กับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั้นเป็นข้าศึกแก่กัน เป็นของตรงกันข้าม เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อใดคำว่า ตน เข้ามา เมื่อนั้นธรรมะก็หายไป เมื่อใดธรรมะเข้ามา เมื่อนั้นสิ่งที่เรียกว่า ตน ก็หายไป เป็นข้าศึกแก่กันและกันอยู่ดังนี้ เรามีหน้าที่ ๆ จะต้องกระทำให้สิ่งที่เรียกว่า ตน นั้นหายไป จิตนั้นก็เป็นจิตว่างจากตน แต่เป็นจิตที่เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ดังนั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้ นี้คือวิธีปฏิบัติที่เป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุด เป็นใจความสำคัญของพระพุทธวจนะ เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันไว้โดยบทว่า สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา คือ เนื่องเฉพาะอยู่กับความว่าง ความรู้ หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่เนื่องเฉพาะกันอยู่กับความว่างนี้ คือ คำสอนของตถาคต
แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะได้สอนเรื่องราวต่าง ๆ มากมายจนเรากล่าวกันว่า ตั้ง นาทีที่ 0.38.53 ๔๘,๐๐๐ เรื่อง คือ ๔๘,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น แต่ว่าทุกเรื่องทั้งหมดนั้นสรุปรวมอยู่ในหัวใจสั้น ๆ ว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ โดยมีคนไปทูลถามท่าน ว่า ธรรมะมากมายนั้นจำไม่ไหว ปฏิบัติไม่ไหว จะสรุปให้สั้นเพียงข้อเดียวจะได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านว่า ได้ แล้วก็ท่านตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวตน หรือว่าของตน นี้คือ ธรรมะข้อเดียวซึ่งเป็นใจความของธรรมะทั้งหมด เมื่อเราปฏิบัติธรรมะข้อเดียวนี้ ก็เป็นอันว่า ปฏิบัติธรรมะทั้งหมด ทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ เพราะว่าธรรมะทุก ๆ ข้อมุ่งหมายแต่ที่จะให้สลัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนี้ออกไป ในที่นี้เราเรียกสั้น ๆ ว่า ความว่าง เราพยายามกระทำจิตให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เป็นจิตว่างอยู่ ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมะทุกข้อในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยาก เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยสำหรับบุคคลทุกคนในการที่จะระวังจิตในลักษณะนี้
และถ้ามองให้ละเอียดลงไปจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใครไม่อาศัยข้อปฏิบัตินี้แล้ว จะมีลักษณะเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ในลักษณะต่าง ๆ กัน ไม่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นการทนทรมานทั้งนั้น ทนทรมานอย่างนั้น ทนทรมานอย่างนี้ มีมากมายหลายร้อยหลายพันอย่างเหมือนกัน รวมความแล้วเป็นความทนทรมาน นี้เรียกว่า เป็นการตกนรกทั้งเป็น แต่ถ้าสลัดออกไปเสียด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็กลายเป็นภาวะที่ตรงกันข้าม คือ มีความสะอาด มีความสว่าง และมีความสงบ มีความสงบเย็น เป็นจิตใจที่สมบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง อย่างนี้แหละเรียกว่า โลกุตตระ คือ อยู่เหนือโลก เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกุตตระ เหนือโลก คนที่ไม่รู้อะไรก็เข้าใจว่า กระเด็นออกไปจากโลกนี้ ไปอยู่ที่เหนือโลก สุดโลก นอกจักรวาลที่ไหนแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นแน่นอน นี้มันก็เรื่องอย่างเดียวกันกับเรื่องความว่าง พอได้ยินว่าความว่าง แล้วก็หมายความว่า ไม่มีอะไรเลย นั้นเป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้ธรรมะ รู้แต่เรื่องทางวัตถุอย่างเดียว เรื่องความว่างทางจิตใจนี้ ไม่ได้หมายถึงตัววัตถุ แต่หมายถึงการที่เราไม่มีจิตใจยึดมั่นในวัตถุ เพราะฉะนั้น วัตถุจะมีมากมายเท่าไร มันก็เท่ากับว่าง หรือไม่มี คือ ไม่มาทำความเป็นทุกข์ ยุ่งยาก ลำบากให้แก่เราได้ การไม่ยึดมั่นถือมั่นมีลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ เมื่อพูดถึงว่า เหนือโลก ก็เหมือนกันอีก เมื่อจิตใจดำรงไว้ในลักษณะที่เป็นของว่าง แล้วโลกนี้ก็ท่วมทับเราไม่ได้ สิ่งใด ๆ ที่มีอยู่ในโลกที่เป็นปัญหาแก่คนทั้งปวงนั้น ก็ไม่มาครอบงำย่ำยีจิตใจของคน ๆ นั้นได้ จึงเรียกว่า คนนั้นมีจิตใจอยู่เหนือโลก ทั้ง ๆ ที่ร่างกายก็อยู่ในโลกนี้ ยังกินอาหาร ยังประกอบการงาน ยังกระทำทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโลกนี้ แต่ว่ามีจิตใจอยู่เหนือโลก ไม่ยอมให้โลกนี้ครอบงำย่ำยีจนให้เป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลกนี้ว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน นั่นเอง
ดังนั้น การอยู่เหนือโลกก็อยู่ได้ง่าย ๆ ด้วยการทำจิตให้ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ๆ ว่า เป็นตัวตน หรือของตน หลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่เพียงเท่านี้ แต่ว่าคำอธิบายจะอธิบายให้มากมายสักเท่าไรก็ได้ ทุกคนอาจจะไปคิดนึกพิจารณาเอาเอง ให้เหมาะแก่กรณีของตน ให้เหมาะแก่อุปนิสัยจิตใจของตน ๆ เป็นคน ๆ ไปในรายละเอียด หรือข้อปลีกย่อย แต่ส่วนใจความแล้วก็จะเหมือนกันหมด คือว่า จะไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าว่า เป็นตัวตน ของตนนี้ ไม่ได้โดยประการทั้งปวง พอไปยึดมั่นอะไรว่า เป็นของตนเข้าเท่านั้น โลกนี้ทั้งโลกก็จะมาสุมทับอยู่บนบุคคลนั้นทันที บุคคลนั้นก็อยู่ใต้โลก ถูกบีบ ถูกทรมานให้เป็นทุกข์ในโลก แต่พอมีจิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ก็จะกลายเป็นผู้อยู่เหนือโลก เลยไม่ถูกทับ ถูกบีบให้เป็นทุกข์
นี้เป็นเคล็ดเป็นอุบายที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางไว้ ทรงสอนให้ในฐานะเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดสำหรับมนุษย์เรา ความเมตตากรุณาของพระพุทธเจ้ามีเท่าไร ก็มารวมอยู่ที่ตรงนี้ คือ ท่านรักเรา ท่านหวังดีต่อเราทั้งหมด ตรงที่ไม่ต้องการจะให้ความทุกข์ท่วมทับเรา ไม่ต้องการจะให้โลกนี้ท่วมทับเรา โลกนี้ถ้ายึดมั่นถือมั่นเมื่อไร ก็เป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่มีการยึดมั่นถือมั่น โลกนี้ก็เป็นเพียงธรรมชาติ
คำว่า โลก นี้หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สัมผัสด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย และด้วยจิตใจ มีเพียงเท่านี้เอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ โลกนี้จะใหญ่โตกว้างขวาง จะมีอะไรมากมาย กี่ล้านกี่ร้อยล้านอย่างก็ตามใจ แต่โดยธรรมะนั้น ถือว่าเป็นเพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เพียง ๖ อย่างเท่านั้น
อย่างแรก คือพวกที่เรา คือจำพวกที่เรารู้สึกได้ทางตา อย่างที่สอง คือ พวกที่เรารู้สึกได้ทางหู อย่างที่สาม คือ พวกที่เรารู้สึกได้ทางจมูก อย่างที่สี่ คือ พวกที่เรารู้สึกได้ทางลิ้น พวกที่ห้า คือ พวกที่เรารู้สึกได้ด้วยการสัมผัสทางผิวหนังทั่ว ๆ ตัว พวกที่หก คือรู้ได้ คือพวกที่เรารู้ได้ด้วยการคิดนึกด้วยใจ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ นี่คือ โลก เพราะฉะนั้น โลกจึงรวมอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เรารู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งทั้งหมดนี้ คือ โลก สิ่งทั้งหมดนี้ ไปยึดถือเข้าเมื่อใด เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ยึดถือเมื่อใด ก็ไม่เป็นทุกข์เมื่อนั้น ดังนั้นเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความไม่ยึดถือ เรามองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย แต่เราจะไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นอยู่ที่เนื้อที่ตัว
ดังนั้น เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยวิธีที่ฉลาดที่สุด ไม่มีอะไรจะฉลาดกว่านี้แล้ว เหมือนกับเราจะไปจับเสือ จับงูที่มีพิษ เพราะเรามีความต้องการ เราก็ต้องมีอุบายที่ฉลาดที่สุดที่จะไปจับเสือ หรือจับงูมาให้ได้ตามความต้องการ ถ้ามันเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการจับงู จับเสือ ถ้าเรามีสติปัญญาเพียงพอก็ปลอดภัย โลกนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน การงานนี้ก็เหมือนกัน ทรัพย์สมบัตินี้ก็เหมือนกัน เกียรติยศชื่อเสียงนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องผิดวิธีแล้ว มันจะเหมือนกับเสือ หรืองูร้าย เป็นอันตรายอย่างยิ่งขึ้นมาทันที คือเหมือนกับตบหน้าเราด้วยความทนทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไปเกี่ยวข้องด้วยวิธีที่ฉลาดที่สุดแล้ว มันกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งไปทันที ไม่มีอันตรายอะไร เป็นสิ่งรับใช้ เป็นสิ่งให้ความสะดวก แล้วแต่เราจะปรารถนา
ทีนี้ อุบายที่ฉลาดที่สุดที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ให้เราเป็นฝ่ายชนะได้นั้น ก็คือ ธรรมเทศนาที่เป็นหัวใจอันแท้จริงของพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ได้กล่าวแล้วว่า คือ เรื่องสุญญตา ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด โดยความเป็นของของตน แล้วจัดไป กระทำไป ควบคุมไป ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามความประสงค์ หรือความต้องการของเรา ที่ต้องการด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ต้องการด้วยความโง่เขลา เลยเป็นอันว่าปลอดภัยโดยทุกอย่างทุกประการ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาแก่บุคคลนี้ จึงเรียกว่า เป็นผู้หมดปัญหา หมดความทุกข์ เป็นผู้อยู่เหนือโลกได้
สำหรับการปฏิบัตินั้นก็มีหลัก หลักเดียวกัน อย่างเดียวกัน หรือเพียงข้อเดียว คือมีความระมัดระวังด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้เผลอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าว่า เป็นตัวตน เท่านั้น หลักปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั้น สรุปรวมลงในคำสั้น ๆ ว่า สติปัญญา แต่ถ้ากล่าวอย่างนี้ดูจะไม่มีใครสนใจ เพราะเป็นการกล่าวอย่างธรรมดา แต่ที่แท้แล้วเป็นอย่างนั้น
คำว่า สติปัญญา นี้ สติ ก็คือ ระลึกได้ ปัญญา ก็คือ ความรู้ ปัญญานั้นมีอยู่ ๒ อย่าง ถ้ากล่าวอย่างภาษาไทย ปัญญามีอยู่ ๒ อย่าง คือ ปัญญาในทางที่ไม่ประกอบด้วยธรรมะนั้น ก็เรียกว่า ปัญญา แต่ภาษาบาลีไม่เรียกปัญญาชนิดนี้ว่า ปัญญา แต่เรียกว่า เฉโก คำว่า เฉโก แปลว่า ความฉลาด หรือปัญญาเหมือนกัน แต่ไม่ประกอบด้วยธรรมะ ส่วนปัญญาที่ประกอบด้วยธรรมะ รู้ธรรมะ สามารถปฏิบัติธรรมะนั้น เรียกว่า ปัญญา เฉย ๆ ภาษาไทยเราทำความลำบากให้แก่เราในข้อนี้ เพราะมองดูเป็นปัญญาไปเสียหมด แม้ในทางที่ไม่ประกอบด้วยธรรมะ เราจึงต้องรู้จักคัดออกไปเสีย คงมีไว้แต่ปัญญาที่ประกอบด้วยธรรมะ รู้ตามที่เป็นจริงว่า ความทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร
ความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวตน ของตน นี้เรียกว่า รู้อย่างถูกต้องที่สุด เป็นปัญญาที่แท้จริง ทีนี้เมื่อมีความรู้แล้ว ความรู้นี้มักจะไม่ค่อยมา มาไม่ทันแก่เหตุการณ์ คือความรู้อยู่ลึกเกินไปบ้าง ช้าเกินไปบ้าง มาไม่ทันแก่เหตุการณ์ เราก็ไปโกรธ หรือว่าไปรัก หรือว่าไปหลง ไปมีราคะ โทสะ โมหะเสียแล้ว นี่เพราะปัญญามาช่วยไม่ทัน แม้จะฉลาดอย่างไร แต่ถ้านึกได้ช้าแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้น จึงต้องมีสติด้วย สติ คือสิ่งที่จะลากเอาปัญญามาใช้ให้ทันท่วงทีกับเหตุการณ์ เพราะว่าจิตนี้เป็นสิ่งที่ไวมาก ไม่มีอะไรจะไวไปกว่าสิ่งที่เรียกว่า จิต นี้ จะไปทำช้า ๆ งุ่มง่ามอยู่ไม่ได้ จึงต้องมีสติที่เพียงพอกัน ให้ระลึกได้ทันควันว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงยึดมั่นไม่ได้ ถือมั่นไม่ได้
ความรู้ที่ว่า ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นี้เป็นปัญญา ความระลึกได้ทันท่วงที นี้เรียกว่า เป็นสติ ถ้าเรามีทั้งสติปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการปฏิบัติที่ครบถ้วนอยู่ในตัว ส่วนที่จะมีความพากเพียร หรือมีความปักใจมั่นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญก็คือ ปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ให้จำง่าย ๆ ว่า บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้เพราะปัญญา ส่วนธรรมะข้ออื่น ๆ นั้นเป็นบริวารของปัญญา เช่นเดียวกับดวงดาวทั้งหลายเป็นบริวารของดวงจันทร์ในสายตาของคนทั่วไป ให้ถือว่าปัญญานั้นต้องเด่นเท่าดวงจันทร์ ส่วนธรรมะอื่น ๆ นั้นเป็นบริวารของปัญญา เหมือนกับดวงดาวทั้งหลาย เรามีปัญญานำหน้าอย่างนี้แล้ว การกระทำก็จะเดินไปถูกทาง ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะเดินผิดทาง เช่น ความเชื่อก็เชื่อผิดทาง ความเพียรก็เพียรผิดทาง อะไรก็ล้วนแต่เป็นไปในการที่เดินผิดทาง จึงเป็นการเดินเข้าไปหาความทุกข์ สติปัญญานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความรู้อย่างถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ารู้ว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ จะเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ก็ได้ มีพระพุทธภาษิตตรัสว่า เราล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ
แต่ทีนี้มีปัญหาอยู่หน่อยเดียวว่า ปัญญาก็ตาม สัมมาทิฏฐิก็ตาม ต้องมีกันจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ได้ยินได้ฟังเขาว่า แล้วเอามาท่องจำไว้ อย่างนี้ไม่พอ เพราะว่าความท่องจำนั้นไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง ธรรมะที่แท้จริงนั้น คือ การกระทำให้ได้ ปฏิบัติอยู่จริง ๆ คือ มีสติที่จะเกิดปัญญา หรือเกิดสัมมาทิฏฐิอยู่จริง ๆ ดังนั้น เราจึงมีหลักในการปฏิบัติของเราว่า ตามธรรมดา หรือตามปรกตินั้น เราศึกษาให้รู้ ให้เกิดปัญญาอยู่เสมอ แล้วเราฝึกฝนสติที่จะระลึกได้ทันท่วงที ให้ปัญญามาช่วยทันท่วงทีอยู่เสมอ อยู่เป็นประจำ เมื่อเราจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยทำให้เราเกิดกิเลส เช่น เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ พอเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอีก เราก็ต้องมีสติปัญญาอย่างสมบูรณ์ เข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนกับเรามีอาวุธ มีโล่ป้องกันตัวครบถ้วนบริบูรณ์ดี เราก็กล้าเดินเข้าไปหาเสือ
เมื่อเรามีธรรมะชนิดสติปัญญาอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว ก็เหมือนกับมีอาวุธ จะมีเกราะป้องกันตัวไม่ให้กิเลสครอบงำย่ำยีเรา จิตนี้ก็ยังคงว่าง คงปรกติ ผ่องใสสงบเย็นอยู่เสมอ นี้อย่างหนึ่ง เรียกว่า ตามปรกติเรามีสติปัญญา นั่นแหละ เป็นตัวหลักปฏิบัติ ทีนี้ ถ้าเรามักจะเผลอเก่ง โดยทั่วไปก็ปรากฏว่า คนโดยมากนั้นเผลอเก่ง ที่ได้ลงเผลอลงไปแล้ว มีธรรมะอีก ๒ ข้อที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ธรรมะนั้น คือ หิริ และโอตตัปปะ
หิริ คือ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ คือ ความกลัว เราต้องมีความละอายแก่ใจอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ว่าต้องให้คนอื่นมาเห็นจึงจะละอาย ถ้าเราทำพลาดในเรื่องนี้ ในเรื่องการปฏิบัติธรรมะนี้ แม้ไม่มีใครเห็น เราก็เอามาละอายอย่างยิ่ง และก็มีความกลัวว่า ความทำพลาดในสิ่งนี้ที่ทำให้เราเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งกว่าสิ่งใดหมด น่ากลัวยิ่งกว่าความตาย น่ากลัวยิ่งกว่าความวิบัติ ความเสื่อมเสียอย่างอื่นอย่างใดที่เป็นเรื่องทางวัตถุ ความเสื่อมเสียทางจิตใจนี้เป็นเรื่องน่ากลัวกว่าความเสื่อมเสียทางวัตถุ อย่างนี้เรียกว่า มี โอตตัปปะ คือ ความกลัว ถ้ามีความละอาย มีความกลัวเพียงพอกันแล้ว เราจะไม่เผลอ จะต้องเปรียบเทียบด้วยเรื่องทางวัตถุว่า ทำไมเราไม่เผลอ ทำเครื่องนุ่งห่มหลุดลุ่ยกลางถนนหนทางให้เป็นที่น่าละอาย นี่ก็เพราะว่าเราละอายมาก ละอายล่วงหน้าไว้มาก ๆ และกลัวอย่างมาก เราจึงไม่เผลอที่จะทำสิ่งที่น่าละอายตามถนนหนทาง
แต่เรื่องในทางธรรมะ ทางจิตทางใจนี้ เราไม่ได้ละอายมากเหมือนอย่างนั้น เราไม่ได้กลัวมากเหมือนอย่างนั้น มันจึงเผลอเรื่อย เพราะไม่มีความละอายพอ ไม่มีความกลัวพอ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีความละอายที่เพียงพอ มีความกลัวที่เพียงพอแล้ว คนเราจะไม่เผลอในเรื่องทางจิตใจ คือ ในเรื่องของธรรมะ
อีกอย่างหนึ่ง เราควรจะพิจารณาดูให้ดีว่า เราไม่ควรจะโทษธรรมะนี้ว่า เป็นของยาก เพราะว่าโดยที่แท้แล้ว เราเอาใจใส่ต่อธรรมะน้อยเกินไป ไม่เหมือนกับที่เราเอาใจใส่ต่อเรื่องทางวัตถุ คิดดูเถิดว่า เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราสนใจธรรมะกันกี่ชั่วโมง และเราสนใจเรื่องอื่นกันกี่ชั่วโมง เราไปสนใจในเรื่องที่ตรงกันข้ามจากธรรมะแทบทั้งหมด แล้วเราจะนึกถึงธรรมะต่อเมื่อจนตรอก อย่างนี้แล้วจะมาช่วยได้อย่างไร ก็ให้ความสนใจหรือความยุติธรรมแก่ธรรมะน้อยเกินไป ถ้าเราให้ความเอาใจใส่แก่ธรรมะ เหมือนกับที่เราให้ความเอาใจใส่แก่การงาน การประกอบอาชีพแล้ว มันก็จะง่ายดายที่สุดในการที่จะมีธรรมะ เข้าใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มีสติปัญญา มี หิริ มี โอตตัปปะครบถ้วน ธรรมะก็เลยกลายเป็นของไม่ยาก และเราประสบความสำเร็จได้เหมือนกับที่เราประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ หน้าที่การงาน ทางวัตถุนั้นเหมือนกัน
แต่ทีนี้ อาตมาอยากจะแนะว่า ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั้น ท่านไม่ได้มุ่งหมายว่า เราจะต้องเหน็ดเหนื่อยมาก เปลืองมาก ลงทุนมากในการปฏิบัติธรรมะ เหมือนประกอบอาชีพ หน้าที่การงาน เพราะในทางธรรมะนี้มันตรงกันข้าม ไม่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทอง เป็นของให้เปล่า คือธรรมะนี้เป็นของให้เปล่า ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหา การปฏิบัตินั้นก็ไม่ต้องปฏิบัติด้วยการลงทุนที่เป็นเงินเป็นทอง ธรรมเนียมเพิ่งเกิดขึ้นครั้งหลัง สำหรับคนที่ไม่มีปัญญาเข้าใจไปว่า จะหาธรรมะได้ด้วยการบริจาคเงิน บริจาคทอง จะไปลุ่มหลงในการบำเพ็ญทาน ด้วยการบริจาคสิ่งของเพื่อจะให้หลุดพ้นจากความทุกข์ โดยที่แท้การปฏิบัติธรรมะเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นไม่เกี่ยวกับการสละเงินทองเลย การสละเงินทองนั้นเป็นเรื่องของการช่วยเผยแผ่ธรรมะที่มีอยู่แล้ว ให้แพร่หลายไปถึงคนอื่นมากกว่า เช่น เรื่องการให้ทาน สร้างวัด สร้างวา บำรุงศาสนานี้ ก็เพื่อจะให้ธรรมะนี้มีอยู่และแพร่หลายไปถึงคนอื่น
ส่วนธรรมะที่เราจะใช้แก่ตัวเราเองนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเงินทองเหล่านั้น มันเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติเอา ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจโดยตรง และธรรมะนี้ไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องเรียนมากทั้งเดือนทั้งปี ฟังกันเพียง ๑๕ นาทีก็ปฏิบัติได้ จนตายก็ไม่หมด ขอแต่ว่าต้องเอาไปคิดพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ให้เข้าใจยิ่งขึ้นไปทุกที ให้มีความระมัดระวังมากขึ้นทุกที เราไม่ต้องอ่านพระไตรปิฎก หรือไม่ต้องจำหนังสือมากมายหลายสิบหน้า จำเพียงหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านสรุปให้ไว้เองว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวตน ของตน เท่านี้ก็พอแล้ว กินเวลาไม่ถึง ๕ นาที แต่ว่าการปฏิบัตินั้นปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด
จึงต้องคิดนึกอยู่เสมอ คิดบัญชีอยู่เสมอ ทุกวันทุกเวลาว่า วันนี้ได้เผลอ ได้พลั้ง ได้พลาดอะไรลงไปบ้าง และจะต้องแก้ไขอย่างไรต่อไป อย่าให้เกิดขึ้นซ้ำในพรุ่งนี้มะรืนนี้ อย่างนี้มากกว่า แล้วถ้าพลั้งเผลอลงไปแล้ว ก็จะมีความละอาย และความกลัวให้มากขึ้น ในที่สุดธรรมะนี้ก็จะเจริญงอกงามก้าวหน้าไปได้ตามลำดับ โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก เป็นการปฏิบัติธรรมะพร้อมกันไปในตัวกับการทำหน้าที่การงานที่เป็นการอาชีพ ถ้าฉลาดแล้ว ไม่ต้องทำสิ่งใดเป็นสองเรื่องสามเรื่อง ทำการงานในหน้าที่อาชีพอย่างเดียวนั้น จะเป็นการปฏิบัติเพื่อนิพพานไปในตัว พร้อมกันไปทีเดียว เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การทำการงานให้ดีต้องประกอบด้วยธรรมะหลายอย่าง และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วจะสอนให้ทราบได้เองว่า ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นให้เป็นทุกข์
ดังนั้น ความประสบสำเร็จในการงานนั้น จะช่วยให้เกิดความสว่างแจ่มแจ้งในทางที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น คือ วางเฉยได้ต่อสิ่งทั้งปวง เป็นการบรรลุธรรมะอยู่ในตัวการงาน ปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัวการงาน ซึ่งกล่าวได้โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า การทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ นั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรมะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดมีหน้าที่การงานอย่างไร ก็จงปฏิบัติหน้าที่การงานนั้นให้สมบูรณ์ ให้ถูกต้องเถิด จะเป็นการปฏิบัติธรรมะที่เพียงพออยู่แล้ว ขอแต่ว่าให้ถูกต้องจริง ให้สมบูรณ์จริง ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องให้กิเลสเข้ามาครอบงำ ทำหน้าที่เพื่อธรรมะ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ก็คือ ทำหน้าที่เพื่อธรรมะ ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่หน่อยก็ว่า ทำงานเพื่องาน ถ้าผู้ใดทำงานเพื่องาน งานของผู้นั้นจะเป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว ถ้าผู้ใดทำงานเพื่อเงิน เป็นต้น งานของผู้นั้นจะไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว แต่จะเฉออกไปนอกทางของธรรมะ ฉะนั้นถ้าถือหลักว่าทำงานเพื่องานแล้ว ก็คือ ทำงานเพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่อธรรมะโดยตรง ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่น เราก็เลยสบาย สะดวก ไม่ต้องพะว้าพะวง หลายเรื่องหลายราว ที่นั่น ที่นี่ ต้องไปหาธรรมะที่วัด หรือที่เมืองไหน ที่ต่างประเทศ หรืออะไรทำนองนี้ แต่ว่าธรรมะมีอยู่ในตัวการงาน มีอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่เคลื่อนไหวไปทุกอิริยาบถในการทำงาน ด้วยมีสติสัมปชัญญะ และหิริโอตตัปปะ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา รวมความอยู่ในคำพูดสั้น ๆ ว่า การทำจิตให้ว่าง คือ อย่าให้มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน ทำโลกนี้ให้ว่าง คือ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เรายึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวตน และของตน อย่างนี้เรียกว่า เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เป็น สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา คือ เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตา เป็นตถาคตภาษิต คือเป็นคำที่พระพุทธองค์กล่าวเอง ไม่ใช่คำร้อยกรองไพเราะสละสลวยยืดยาว เพื่อความเป็นนักปราชญ์ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับคำสอนในชั้นหลัง ๆ
หวังว่าท่านทั้งหลายทั้งปวงจะได้ถือเอาประโยชน์จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอันเกี่ยวกับความว่างนี้ สำเร็จประโยชน์อย่างไรแล้ว ขอจงอุทิศส่วนกุศลนี้แด่คุณโยมผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อความสำเร็จประโยชน์โดยสมควรแก่คติวิสัยทุก ๆ ประการ และสมกับที่คุณโยมมีความสนใจอยู่ในเรื่องของความว่างนี้เป็นทุนอยู่แล้วตลอดเวลา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา - เทศน์งานศพ มารดา คุณเรียม