แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามหมายกำหนดการให้มีกล่าวปัจฉิมโอวาท อาตมาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล คำว่าปัจฉิมโอวาทนี่ ไม่มีอะไรดีไปกว่าปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาท เป็นเหมือนพินัยกรรมคำสุดท้าย เพราะว่าได้ตรัสข้อความนั้นแล้ว แล้วก็ไม่ตรัสอะไรอีก แล้วก็นิพพาน ข้อความที่ตรัสนั้นมีความหมายลึกซึ้ง แม้จะไม่กี่คำ แต่เราอาจจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ เป็นอย่างดีที่จะคิด จะนึก จะพูด จะซักซ้อมกันในการประชุมเสร็จลงไปครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง
ถ้อยคำนั้นมีว่า “สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นไป หรือเสื่อมไปอยู่เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” เราเอามาเป็นคติว่า ทุกสิ่งที่เป็นสิ่งปรุงแต่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตของเรา ภายในตัวเรา กระทั่งสิ่งภายนอกตัวเรา ทั้งตลอดสากลจักรวาล ล้วนแต่เป็นสิ่งปรุงแต่ง แล้วก็สิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา หน้าที่ของเราก็คือ ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม พระบาลีนี้ เอาความหมายได้ 2 ชนิด คือ ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมนี่ชนิดหนึ่ง ทำประโยชน์ของทุกคน ทุกฝ่าย ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้ก็มีการแปล กระชับกว่าอย่างแรกที่ว่า ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
เราได้มาประชุมกันเพื่ออบรม คือ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ช่วยกันทำให้ธรรมะได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ ธรรมะเมื่อบุคคลปฏิบัติแล้ว ย่อมช่วยให้หมดปัญหา ช่วยให้รอดจากปัญหาทั้งปวง นี่เป็นประโยชน์ที่ประสงค์จะได้รับ ประโยชน์อันนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท จึงขอร้องท่านทั้งหลาย ให้ช่วยกระทำในใจถึงความไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสนี้
คำว่าความไม่ประมาท หรือ อัปมาโท ในภาษาบาลีนั้นมีความหมายกว้าง ไม่แคบๆ อย่างในภาษาไทย ภาษาไทยใช้ว่า ไม่ประมาท ก็จะหมายความแต่เพียงว่า ไม่ทำอะไรลวกๆ ไม่สะเพร่า ก็พอแล้ว แต่ถ้าความไม่ประมาทในภาษาบาลีดูเหมือนจะหมายถึง คุณธรรมที่ควรปรารถนาทุกอย่างเลย นับตั้งแต่ว่า ไม่เกียจคร้าน มีสติสัมปชัญญะ สุขุม รอบคอบ หรือจะพูดได้ว่า มีความไม่ประมาทอย่างเดียวนั่นแหละ เกือบหมดธรรมะที่จำเป็นจะต้องมี ก็ขอให้ถือความหมายอย่างนี้ก็แล้วกัน
ในการที่เราจะไปปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับการอบรมไป อะไรจะทำให้เกิดการปฏิบัติประสบความสำเร็จในหน้าที่ ก็ทำทุกอย่างทุกประการ ก็เรียกว่า ความไม่ประมาท คำว่าประโยชน์ ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีประโยชน์อยู่ ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ของตนเองนี่อย่างหนึ่ง ประโยชน์ของผู้อื่นอย่างหนึ่ง และประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันทั้งของตนเองและผู้อื่น รวมเป็น ๓ ชนิด
ประโยชน์ทั้ง ๓ ชนิดนี้ จะทำสำเร็จได้ด้วยความไม่ประมาท จึงขอให้ไปพิจารณาใคร่ครวญ แยกแยะดูเองว่าประโยชน์ชนิดไหนบ้าง ชนิดไหนบ้าง และประโยชน์ทุกชนิดนั้น จะทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยความไม่ประมาท แต่มีความละเอียด สุขุมในความหมาย เช่นว่า ประโยชน์ตน ถ้าเข้าใจไม่ดี เข้าใจไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตนไปเสีย ถ้ามีความเห็นแก่ตนแล้ว ไม่ใช่ประโยชน์ตนแล้ว แต่กลายเป็นความวินาศแก่ตน และแก่ผู้อื่นด้วย
การทำประโยชน์ตน ต้องทำอย่างถูกต้อง ที่ว่าถูกต้องนั้นคือไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด มีแต่คุณประโยชน์อย่างเดียว นี่ทำประโยชน์ตนเพื่อว่าชีวิตนี้จะได้ก้าวไป ก้าวไปอย่างถูกต้องถึงจุดหมายปลายทาง
ที่นี้ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ผู้อื่นไม่ค่อยจะมีใครสนใจจะทำ เพราะมันมีความเห็นแก่ตน เราจะต้องทำประโยชน์ผู้อื่นให้เต็มที่ด้วยความไม่ประมาทด้วยเหมือนกัน ประโยชน์ผู้อื่นนี่มักจะไม่ค่อยทำ ถ้าไม่มุ่งหมายจะทำประโยชน์ผู้อื่นแล้ว ก็ยากที่ว่าวิชาความรู้ที่อบรมไปนั้น จะได้แสดงผล จะต้องไปทำชนิดที่เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตนและแก่ผู้อื่น
ที่ว่าประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย นั้นเป็นความหมายที่ลึกหรือไกลมาก คือ ประโยชน์ทั้งโลก ประโยชน์ทั้งโลกเป็นความรอดของโลก ให้เราทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ของทุกฝ่าย ด้วยความไม่ประมาท มีจิตใจกว้างขวางตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อุดมคติของพระโพธิสัตว์
อยากจะขอร้องว่า อย่าได้มองคำว่าโพธิสัตว์นี่เป็นของครึคระ (นาทีที่ 21:05 ไม่แน่ใจว่าหมายถึง อุปโลก ไม่น่าเชื่อถือหรืออะไร) ไปเสีย อุดมคติของโพธิสัตว์ คือ การเห็นแก่ผู้อื่น หรือเห็นแก่ทั้งหมด ถ้าเราเห็นแก่ทั้งหมดก็ทำโดยมาก แล้วตนเองก็ยังได้ ข้อสำคัญอยู่อย่างนั้น เราทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ประโยชน์แก่ผู้อื่นแต่กลับเป็นการทำประโยชน์แก่ตนอย่างยิ่งอยู่ในการทำประโยชน์ผู้อื่น ถ้าทำประโยชน์ผู้อื่น ต้องทำชนิดที่ทำลายความเห็นแก่ตัวตน ก็ทำลายกิเลสที่เห็นแก่ตัวตน กระทั่งกิเลสอันสุดท้าย ที่เรียกว่า อัสมิมานะ อัสมิมานะ ความเห็นแก่ตนอย่างแรงกล้า ซึ่งถ้าหมดไปแล้วก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าลอง ใครจะลองทำประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์นั้นจะวกกลับมาหาตนอย่างยิ่ง และก่อนกว่าด้วยซ้ำไป
จึงขอร้องให้ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะนักศึกษาที่ตั้งใจมารับการอบรมช่วยจดจำในข้อความนี้ไว้ให้ดีๆ ให้เป็นการทำประโยชน์ทั้ง ๓ อย่าง ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทุกๆ คน ทุกฝ่าย ทำลายความเห็นแก่ตนเท่าไหร่ ก็ใกล้พระนิพพานเข้าไปเท่านั้น แต่บางคนได้ฟังคำเหล่านี้แล้วก็ไม่เข้าใจ แม้แต่คำว่านิพพาน ก็ยังมีคนรังเกียจ หาว่าเป็นเรื่องของครึคระ (นาทีที่ 23:24) พ้นสมัยใหม่ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกันในสมัยนี้ ขอให้มองให้ถูกต้องตามตัวหนังสือของคำนี้ ถ้านิพพาน แปลว่า เย็น ถ้าเป็นบุคคลก็ชีวิตเย็น ถ้าเป็นโลกก็โลกเย็น นั่นคือ นิพพาน
คำว่าโพธิสัตว์ แปลว่า สัตว์ที่กำลังเพาะโพธิปัญญา เพาะเลี้ยงโพธิปัญญาให้เจริญงอกงามเต็มที่ขึ้นมาทุกอย่างทุกประการ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นนั้น ทำอย่างไรเสียก็ไม่พ้นจากอุดมคติของโพธิสัตว์ ถ้าใครตั้งใจจะทำประโยชน์ผู้อื่นแล้ว ก็เป็นอุดมคติของโพธิสัตว์ขึ้นมา แม้ว่าเขาจะรังเกียจคำๆ นั้นว่า ครึคระ (นาทีที่ 24:40) แล้วก็ไม่รู้ว่าการที่มีความรู้สึกรักคนทั้งโลก หรือทุกคนที่เกี่ยวข้องนี่ ก็เป็นหนทางนำมาแห่งสันติสุข สันติภาพของมนุษย์เรานั่นเอง การกระทำอย่างนั้น ใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกที ใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกที
ข้อสุดท้าย ที่จะขอพูดสักนิดหนึ่งว่า สิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาทนั้น เป็นธรรมะชั้นลึก ธรรมะที่จะต้องว่ากันในชั้นลึก อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สังขารทั้งหลาย คือสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นร่างกาย เป็นจิตใจ เป็นวัตถุสิ่งของ ทั้งสากลจักรวาล รวมเรียกว่าสังขารทั้งหลาย มันไม่เที่ยง อยู่ในอาการที่เป็นทุกข์ มีลักษณะแห่งความทุกข์ ถ้ามองเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยก็คงจะคิดจะทำให้ชีวิตนี้เป็นประโยชน์ทันแก่เวลา ทันแก่ชีวิตนี้ เพราะถ้าไม่มองถึงข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาแล้ว จะไม่เกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นความไม่ประมาท จึงขอให้นึกกันอยู่เป็นประจำ แม้จะทำประโยชน์ตน ก็นึกถึงความที่ไม่เที่ยงของสังขารเถอะ ก็จะทำมาก ทำดี ทำเลว จะนึกถึงประโยชน์ผู้อื่น จะต้องมีความไม่ประมาท ทำดี ทำเลว ถ้านึกถึงประโยชน์แก่ทุกคนในโลกแล้วยิ่งจะต้องทำมากเป็นพิเศษ มองเห็นอยู่ว่า ชีวิตที่ประมาท ชีวิตที่ประมาท เหมือนชีวิตที่มียักษ์หรือมีผีกัดกินอยู่เสมอ ชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่มียักษ์ร้ายหรือผีร้าย แล้วแต่จะเรียก กัดกินอยู่เสมอ เพราะความประมาททำหน้าที่อย่างนั้น ให้เรามองเห็นข้อนี้
พูดอย่างเด็กๆ ถ้าประมาทแล้วก็มีแต่ตายลูกเดียว ภาษาสนุกหน่อย มีแต่ตายลูกเดียว ไม่มีทางที่จะรอดไปทางไหนได้ อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาทแล้วก็เหมือนผู้ที่ตายแล้ว อย่างนี้เป็นต้น อยู่ด้วยความประมาท เหมือนจม จม จมอยู่ในกองทุกข์ จมอยู่ในวัฏสงสาร ไม่รู้จักสิ้นสุด เป็นชีวิตจม จม จมลงไปในกองกิเลสและกองทุกข์ ถ้าไม่ประมาท มันขึ้นมาได้ รู้วิธีหนทางที่จะขึ้นมาได้
วัฏสงสาร มีความประมาทเป็นสมบัติ นิพพานมีความไม่ประมาทเป็นสมบัติ เดี๋ยวนี้เมื่อเราจะเรียกว่าทั้งโลกก็ได้ จมอยู่ในปัญหาเหล่านี้ มีวิกฤตการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ยิ่งเจริญด้วยวัตถุมากขึ้นเท่าไร ความเลวร้ายก็มากขึ้น เพราะว่าวัตถุนั้นเจริญขึ้นเพื่อเป็นเหยื่อของกิเลส ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้มีแต่เพื่อเป็นเหยื่อของกิเลส คือก้าวหน้าก็สร้างเหยื่อของกิเลส สร้างความเห็นแก่ตัว แล้วก็ต้องฆ่าฟันกัน เบียดเบียนกัน
เป็นอันว่าอาตมาได้อัญเชิญพระพุทธภาษิต ปัจฉิมโอวาทมากล่าวแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ซึ่งขอร้องให้ยึดมั่น จำติดไปฝังอยู่ในใจ เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ทุกเมื่อ และเรื่องเล็กน้อยส่วนตัว ก็อยากจะพูดบ้างตามธรรมเนียมว่าในการช่วยเหลือต้อนรับนี้ ถ้ามีอะไรบกพร่อง ก็ขอให้อภัยด้วย เพราะว่าไม่ค่อยเชี่ยวชาญหรือชำนาญ หรือบางอย่างก็ไม่พร้อม ไม่ได้รับความสะดวกร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างนี้ เป็นต้น ถ้ามีอย่างนี้ก็ขออภัยด้วย
ในที่สุดนี้ ขออ้างคุณพระรัตนตรัย เป็นบุญอดิศัย สะสมซึ่งความสุข จงได้เจริญงอกงามปรามาส แก่ท่านทั้งหลายที่มาประชุมด้วยกันทุกท่าน และในที่สุด ควรระลึกนึกถึง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อุทิศส่วนกุศลนี้ไปด้วย และอุทิศแก่สรรพสัตว์ตลอดทั้งจักรวาลด้วย ด้วยการตั้งจิตไว้อย่างมั่นคง ก็จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลเท่าที่จะเป็นได้ ขอให้ความหวังอันนี้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จอยู่เพราะการที่เราทั้งหลาย มีความเชื่อมีความเลื่อมในพระรัตนตรัยไม่เสื่อมคลาย และอยู่ด้วยความ ไม่ประมาทตลอดกาลนานเทอญ ...