แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์เป็นเจ้าหน้าที่ที่จะทำหลักสูตรจริยธรรมเพื่อกิจกรรมพลศึกษาทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๓ นี้ อาตมาก็บรรยายไปตามหัวข้อที่ท่านกำหนดให้ว่า ธรรมะภาคปฏิบัติ อาตมาเข้าใจว่าท่านทั้งหลายต้องการให้บรรยายลักษณะของการปฏิบัติเป็นหัวข้อๆ ไป จึงจะได้บรรยายไปตามนี้
ที่จริงหัวข้อนี้ก็ดีอยู่ คือว่าจะได้พูดเรื่องลักษณะของการปฏิบัติกันเสียที แล้วก็จะพูดกันอย่างธรรมดาสามัญ ด้วยคำสามัญที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะภาคปฏิบัติก็คือธรรมะในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ ธรรมะนั้นในส่วนที่เป็นปริยัติก็มี เป็นปฏิบัติก็มี เป็นปฏิเวธก็มี คือเรื่องการเรียนก็มี เรื่องการกระทำก็มี เรื่องผลของการกระทำก็มี เดี๋ยวนี้ท่านกำหนดให้พูดเรื่องธรรมะในภาคปฏิบัติ ฉะนั้นก็จะได้พูดกันในเรื่องของการปฏิบัติวิธีการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ การปฏิบัติธรรมะนั้นก็คือปฏิบัติพรหมจรรย์ พูดภาษาวัดวาสักหน่อยก็เรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิบัติธรรมะนั้นคือการประพฤติพรหมจรรย์ ในความหมายทั่วไปนั้นก็คือทำหน้าที่ของมนุษย์ คำว่าธรรมะนั้นตามภาษาบาลีในอินเดียแท้ๆ เขาแปลว่าหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ มนุษย์มีหน้าที่จะทำให้ดีที่สุดอย่างไรก็เรียกว่าธรรมะ จะมีข้อปฏิบัติโดยรายละเอียดอย่างไรนั้นก็ค่อยว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในชั้นนี้ขอให้รู้ว่า คำว่าธรรมะแปลว่าหน้าที่ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมะก็คือการทำหน้าที่ของมนุษย์
ทีนี้ก็ดูถึงการปฏิบัติ ท่านจะเห็นความสำคัญของคำว่าการปฏิบัติ จะเป็นธรรมะก็ดี หรืออะไรอื่นก็ดี ถ้าไม่มีการปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะมีความรู้ไปถึงไหน มันก็ไม่มีผลอะไร ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ดังนั้นท่านจึงถือว่าการปฏิบัตินั่นแหละเป็นส่วนที่สำคัญ เหมือนอย่างว่าการทำนา เราก็มีนา มีวัว มีควาย มีน้ำ มีท่า มีเมล็ดข้าวกล้า อะไรก็มีหมดแล้ว นี้ก็เรียกว่ากินอะไรไม่ได้ ยังกินอะไรไม่ได้ ต้องมีการทำนา ตอนที่เป็นการทำนานั่นแหละเท่ากับการปฏิบัติ จะทำกันกี่อย่างๆ ก็เข้าใจว่าทุกคนพอจะมองเห็นได้ นับตั้งแต่ไถนา คราดนา ดำนา ไขน้ำเข้านา รักษาข้าวให้ดีจนกว่ามันจะออกรวง นี่เรียกว่าปฏิบัติ ครั้นแล้วเราก็ได้ข้าวเปลือก ถ้าไม่ทำนาก็คือไม่มีการปฏิบัติ มันก็ไม่รู้จะกินอะไร จึงเรียกว่ามีความรู้เรื่องทำนา แล้วก็ทำนา แล้วก็ได้ผลคือข้าว การทำนานี้เป็นของที่รู้จักกันดีอยู่ทุกคน แต่ยังมีความหมายอีกภาษาหนึ่งคือภาษาธรรมะ การทำนาในทางธรรมะในทางจิตทางใจ ก็มีคำกล่าวไว้ในพระบาลี มีพระพุทธภาษิตด้วยว่าทำนาอมตะ ทำนาอมตะคือนาที่ทำแล้วมีอมตะเป็นผลคือความไม่ตาย มีผลเป็นความไม่ตาย คำว่าทำนาอมตะนี้ไม่ค่อยได้ยิน ก็รู้เสียเถิดว่า คือการปฏิบัติธรรมะนั่นเอง การปฏิบัติธรรมะนั่นแหละคือการทำนาอมตะ ทำนาเพื่ออมตะ
เดี๋ยวนี้เราเข้าใจหรือคุ้นเคยกับคำพูดแต่เพียงว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แล้วก็คุ้นเคยถึงกับว่าปริยัติก็มี ๓ คือ เรียนพระวินัย พระสุตตันตะ พระอภิธรรม ปฏิบัติก็มี ๓ คือ ปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธได้รับผลก็มี ๓ คือได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน นี่เป็นคำที่คุ้นปากกันดีอยู่แล้ว อยากจะให้เข้าใจแจ่มแจ้งในส่วนที่สองคือเรื่องการปฏิบัติ แม้จะมีคำบัญญัติไว้เฉพาะว่าศีล สมาธิ ปัญญา แต่ก็มีรายละเอียดมาก แล้วรวมกันทั้งหมดนั่นแหละเรียกว่าการปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ท่านทั้งหลายกำหนดให้อาตมาบรรยายในวันนี้
ทีนี้ก็อยากจะขอให้ดูคร่าวๆ ทั่วๆ ไปทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยดูโดยรายละเอียดโดยเฉพาะข้อ หัวข้อที่เราจะต้องดูนี้มันก็มีว่า อันที่หนึ่งคือความรู้ทางปริยัติหรือทางหลักวิชาที่เรารวบรวมไว้เพื่อการปฏิบัติ ก็ดูว่าความรู้ทางปริยัติหรือหลักวิชานี้มันมีอะไรบ้าง ในวันนี้ไม่ต้องพูดเพราะไม่ได้ขอให้พูด ข้อถัดไปก็คือตัวการปฏิบัติตามความรู้นั้น มันก็มีเรื่องที่จะดูหรือแยกออกดูให้เห็นได้ว่าคือตัวธรรมะที่จะปฏิบัตินั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง กิริยาอาการที่จะปฏิบัติลงไปอย่างไร นี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง วิธีหรือเทคนิค เรียกสมัยใหม่หน่อยว่าเทคนิคหรือเคล็ดลับที่จะให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ในการปฏิบัตินี้มันก็มีอยู่
ทีนี้รากฐานหรือปัจจัยที่จะช่วยเหลือในการปฏิบัตินั้นก็มี นี้เรียกว่าโครงของการปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอะไรก็ต้องรู้ มีกิริยาอาการปฏิบัติอย่างไรก็ต้องรู้ มีเทคนิคหรือมีเคล็ดที่จะปฏิบัติได้อย่างไรก็ต้องรู้ แล้วมันมีรากฐานหรือปัจจัยที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นก็มี โดยเฉพาะเจาะจงก็คือ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่เป็นธรรมสโมธาน เป็นรากฐานซ่อนอยู่ในการปฏิบัติทุกชนิด ไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องจัดให้อินทรีย์หรือพละ ๕ นี้ให้ถูกต้องพอดี การปฏิบัตินั้นๆ ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย ถ้าอินทรีย์ ๕ ไม่ถูกต้อง เช่น ศรัทธามากไป วิริยะน้อยไป อะไรมันไม่สมส่วนกันในอินทรีย์แล้ว การปฏิบัติที่ตั้งใจจะปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนนี้เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันนัก เพราะเราสอนกันง่ายๆ ตรงๆ ว่าปฏิบัติอย่างไร,ปฏิบัติอย่างไร ไม่ได้สอนถึงว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้นั้นซึ่งจะต้องขยับขยายปรับปรุง ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องมีศรัทธาที่ถูกต้อง มีวิริยะคือความพากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ปัญญาถูกต้องในสิ่งที่เราจะกระทำ ถ้ามันทำขัดข้องไม่สำเร็จ ก็ตรวจดูสิ่งทั้งห้านี้ แล้วปรับปรุงเสียให้ถูกต้อง การกระทำนั้นจะได้ผล นี้ก็ต้องมารวมไว้ในสิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติ ในฐานะเป็นรากฐานหรือปัจจัยของการปฏิบัติ ฉะนั้นก็ควรจะรู้ด้วยเหมือนกัน แม้ท่านจะเป็นครูหรือจะสอนเด็กให้ทำอะไร ถ้าสอนให้เขารู้จักใช้รู้จักควบคุมอินทรีย์ ๕ พละ ๕ มันก็ทำสำเร็จได้โดยง่าย
ทีนี้ผลของการปฏิบัติ มันก็เนื่องอยู่กับการปฏิบัติจนถึงกับว่าไม่ต้องสนใจก็ได้ ถ้าเราปฏิบัติแล้วผลมันก็มีแหละ ไม่ต้องขอร้องให้มี ไม่ต้องเจตนาให้มี ผลมันก็จะต้องมี เพราะว่าเราไปทำในส่วนที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลอยู่ตามธรรมชาติ ฉะนั้นจึงต้องมีผล มันก็เนื่องอยู่กับการปฏิบัตินั่นเอง ฉะนั้นเมื่อพูดถึงการปฏิบัติ ถึงตัวการปฏิบัติ แล้วก็มองดูข้างบนข้างต้น จะพบว่าปริยัติต้องมีอยู่ด้วย จึงจะปฏิบัติถูกต้อง แล้วมองดูข้างล่างลงไปก็จะพบว่า โอ้,มันมีผลที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นแน่นอน คล้ายๆ กับว่ารออยู่ เดี๋ยวนี้เราปฏิบัติลงไปเท่านั้น ปฏิบัตินั้นจะถูกต้องก็เพราะมีความรู้ทางปริยัติ
ผลของการปฏิบัตินี้มันก็เพื่อส่วนตน เพื่อบุคคลส่วนตนแต่ละคนๆ ได้รับความสุขก็มี เพื่อสังคมคือคนทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลกจะพลอยได้รับก็มี เพราะว่าพระศาสดาทุกๆ ศาสนาไม่เคยละเลยในข้อนี้ ไปค้นดูเถิด ในศาสนาไหนก็ตาม มีการเพ่งเล็งถึงประโยชน์ของคนทั้งโลกหรือว่าคนทั้งหมดอยู่ด้วยส่วนหนึ่งเสมอ นี้เรียกว่าผลส่วนบุคคลผู้นั้นก็มีอยู่ ผลเพื่อโลกทั้งหมดก็มีอยู่ ทีนี้ผลส่วนบุคคลนั้นมันแยกออกไปได้เป็นสองชั้นอย่างน้อย คือผลตามธรรมดาสามัญที่จะได้รับอย่างคนอยู่ในโลก มีความสุขสบายอยู่ในโลก นี้ก็ผลส่วนบุคคลนั้น ทีนี้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลนั้นเขาต้องการประพฤติปฏิบัติเพื่อเหนือโลก คือธรรมะสูงสุดที่อยู่เหนือปัญหาของโลกทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประการ นั่นก็ทำได้ ถ้าสูงขนาดนั้นเราเรียกว่าบรรลุมรรคผลหรือนิพพาน นี่ผลของการปฏิบัติ มันก็เป็นได้อย่างนี้
จะดูกันให้ละเอียดอีกสักหน่อยก็ได้ ข้อที่เรียกว่าความรู้สำหรับการปฏิบัตินั้นเป็นหลักทั่วไปที่เราจะต้องศึกษา เราจะต้องรวบรวมประมวลมาให้พอเสียก่อน คือระลึกเอามาให้หมด แล้วก็มาเลือกว่าจะเอาอันไหน จะทำอย่างไรโดยประสงค์ แล้วก็จะต้องมีการเตรียมที่เพียงพอ แม้การปฏิบัติธรรมะมันก็ต้องมีการตระเตรียมด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะการประพฤติทางจิตทางใจ ก็มีตระเตรียมออกมาถึงภายนอกคือร่างกาย จะปฏิบัติที่ไหน อย่างไร จะอบรมร่างกายอย่างไร จะมีร่างกายเหมาะสมอย่างไร นี้มันก็ต้องตระเตรียม ต้องมีความตระเตรียม มีการตระเตรียมที่ถูกต้อง แล้วก็ต้องมากพอ คือให้ครบเรื่องของมัน จึงจะสะดวกและได้ผลดี
ทีนี้ธรรมะที่จะปฏิบัตินี้ ควรจะรู้จักกันให้ดีๆ ว่า ธรรมะทั้งหลายนั้นแม้จะต้องปฏิบัติเหมือนกัน มันก็ยังมีอยู่เป็นสองพวก คือธรรมมะประเภทหนึ่งปฏิบัติแล้วเพื่อจะให้เกิดธรรมะอีกพวกหนึ่ง ธรรมะพวกนี้มันเหมือนกับเครื่องมือ ธรรมะประเภทเครื่องมือ ไปใช้ปฏิบัติลงไปแล้วจะได้เกิดผลคือธรรมะตัวจริงที่เราต้องการ ครูบาอาจารย์เคยอ่านหนังสือเรื่องธรรมะหรือมีอยู่ในหลักสูตร ธรรมะเครื่องมือก็เอาไปปนกันหมดกับธรรมะที่ต้องการ จะได้ผลมันก็ชักจะยุ่งแล้ว เช่น อิทธิบาท ๔ นี้ คุณรู้เถิดว่า มันเป็นธรรมะเครื่องมือ เพื่อทำให้เกิดธรรมะอื่นอีกทีหนึ่ง สัมมัปปธาน ๔ ความพากเพียรสี่ประการนี้ก็เหมือนกัน ปฏิบัติแล้วมันทำให้เกิดธรรมะอันอื่น เพราะว่าความเพียรทั้ง ๔ นี้ เอาไปใช้กับธรรมะอะไรก็เพื่อทำให้ธรรมะนั้นเกิดขึ้น แต่โดยปรกติก็หมายถึงการทำให้ความดีหรือบุญกุศลก้าวหน้าในทางพระธรรมะนั่นแหละ แม้ที่สุดแต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาวาจา เป็นต้นนั้น ก็เป็นธรรมะเครื่องมือ คือจะทำให้เกิดทุกขนิโรธ ความดับไปแห่งความทุกข์ หรือธรรมะฆราวาสธรรมที่กำหนดไว้ในหัวข้อว่าจะต้องพูดในครั้งต่อไปนั้น ฆราวาสธรรมนี้ก็เป็นธรรมะเครื่องมือ แต่ไม่ค่อยมีใครจะมองในธรรมะเครื่องมือ มันก็เลยไม่ได้เอาไปใช้ให้ถูกต้อง ก็เลยได้ผลนิดเดียว อย่างนี้ก็ขอให้ดูให้ดี ให้เข้าใจดีว่า ธรรมะประเภทเครื่องมือ อิทธิบาท หรือความเพียร หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือฆราวาสธรรมเป็นต้น แม้แต่ธรรมะสูงสุดคือโพชฌงค์ ๗ ประการ มันก็เอามาใช้อย่างธรรมะเครื่องมือก็ได้ องค์แห่งโพธิก็หมายความว่าทำให้เกิดโพธิ เป็นเครื่องมือทำให้เกิดโพธิ เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ ประการ อาตมาเคยอธิบายเป็นธรรมะเครื่องมือใช้ได้แม้แต่ในการทำนา มีคนด่า มีคนเอาไปเยาะเย้ย ก็ช่างหัวเขาสิ เขาไม่รู้ว่าธรรมะเครื่องมือนั้นคืออย่างไร บอกให้ได้เลยก็ได้ โพชฌงค์ ๗ ประการ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา เจ็ดประการนั้นทำไปเถิด แล้วก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ส่วนที่เราต้องการจะได้นั้นคือมรรคผลนิพพาน นี่สูงอย่างนี้เอามาใช้ทำนาอย่างไร
ข้อที่ ๑ สติ คนทำนาก็ต้องมีสติ จะเลือกที่ดิน จะนึกหาว่าจะทำนากันอย่างไรนี้ แล้วก็ธัมมวิจยะ มันก็ต้องเลือก เลือกธรรมะ ก็เลือกที่ดิน เลือกข้าวกล้า เลือกฤดูกาลหรืออะไรต่างๆ มันก็ต้องเลือก เมื่อเลือกแล้ว มันก็ทำแหละ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะคือใช้เรี่ยวแรง ทำลงไปเถิด แล้วก็ปีติ ต้องพอใจหรือสันโดษพอใจอยู่ตลอดเวลา ขุดดินครั้งหนึ่งก็พอใจครั้งหนึ่ง ขุดดินครั้งหนึ่งก็พอใจครั้งหนึ่ง อู้,ขุดดินได้ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ด้วยความพอใจ ความปีติเป็นไปอย่านี้ มันก็มีความสงบแห่งจิตใจหรือแห่งการกระทำ เรียกว่ามันเขารูปเข้ารอย เขาเรียกว่าปัสสัทธิ มันสงบระงับลง เข้ารูปเข้ารอย ทีนี้สมาธิ ก็เพ่งกำลังทั้งหมดเต็มที่ แล้วอุเบกขา คอยดูความถูกต้อง ที่ทำไปถูกต้องแล้ว ก็คอยดูอยู่เฉยๆ ว่าเมื่อไหร่รวงข้าวมันจะออกมา มันคงจะไม่ถึงกับว่าต้องอ้อนวอนให้รวงข้าวออกมาหรือว่าขวนขวายทำพิธีรีตองอย่างนั้นอย่างนี้จนเป็นไสยศาสตร์ไป ก็เหลวเปล่าๆ ฉะนั้นทำให้ถูกต้องมาตามลำดับๆ แล้วมันก็ดูอยู่จนกว่ามันจะออกผลมา อย่างนี้
นี่ดูเถิดว่า ธรรมะสูงสุดเพื่อบรรลุโพธิหรือนิพพานนั้น เอามาใช้เป็นเครื่องมืออะไรก็ได้ เครื่องมือไปนิพพานก็ได้ จะเอามาเป็นเครื่องมือทำไร่ ทำนา ค้าขาย หรือกิจการอะไรก็ได้ ลองคิดดูเถิด ถ้าครูบาอาจารย์ทั้งหลายเข้าใจเรื่องนี้จะดีมาก คือจะเอาธรรมะที่เป็นเครื่องมือสูงสุดในพระพุทธศาสนามาใช้ได้เต็มที่ เรียกว่าเต็มที่ อย่าเอาไปปนกันเสีย ธรรมะเครื่องมือกับธรรมะที่ต้องการหรือประสงค์ ทีนี้ก็ว่ามันจะได้ผลตามที่ประสงค์อย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ ส่วนบุคคลก็ได้ ส่วนสังคมก็ได้ จะไปนิพพานก็ได้ ถ้าใช้ธรรมะถูก ถูกต้องกับเรื่อง ธรรมะเครื่องมือใช้อย่างเครื่องมือ ก็ทำให้เกิดธรรมะที่ตัวต้องการ มันก็เกิดธรรมะที่ตัวต้องการ นี่ฟังดูมันก็เป็นเรื่องเทคนิคหรือเป็นเทคโนโลยีอยู่เหมือนกัน ที่จะมีธรรมะข้อหนึ่งๆ แล้วก็ใช้มันถูกเรื่องถูกราวของมัน
ทีนี้ข้อต่อไปที่ว่า กิริยาอาการ หรือโครงของการกระทำหรือการปฏิบัตินั้น มันกระทำลงไปที่กาย ที่วาจา ที่ใจ เราจึงเรียกว่ามันมีการกระทำที่ถูกต้อง มีการพูดจาที่ถูกต้อง มีการนึกคิดที่ถูกต้อง มีการรู้แจ้งด้วยปัญญาอันถูกต้อง ทำให้มันถูกต้องที่ร่างกาย ทำให้มันถูกต้องที่วาจา ทำให้มันถูกต้องที่จิต ทำให้มันถูกต้องที่สติปัญญา นี่โครงเรื่องของการปฏิบัตินี้ ดูทีเดียวหมดมันก็เป็นอย่างนี้ จะปฏิบัติอะไร เท่าไหร่ ทั้งหมด และมันก็มีอย่างนี้ มันต้องปฏิบัติให้ถูกต้องที่กาย ที่วาจา ที่จิตและที่สติปัญญา
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่า มันมีวิธีปฏิบัติเฉพาะลงไปแต่ละอย่างๆ อย่างไร นี่คือรายละเอียดที่อาตมาจะพูดตามหัวข้อที่ท่านกำหนดให้ว่าภาคปฏิบัติ ก็หมายความว่าจะระบุให้เห็นการปฏิบัติอย่างหนึ่งๆ ซึ่งจะมีอยู่หลายสิบอย่าง คงจะเบื่อ คงจะหลับไปแล้วก็ได้ ถ้าไม่สนใจ แต่ถ้าสนใจแล้วก็จะมีประโยชน์มาก อาตมาจะขอร้องให้ช่วยกำหนดจดจำไว้ให้ดีๆ แต่ละคำๆ ที่จะพูดด้วยภาษาธรรมดา ภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ ภาษาไทยธรรมดาๆ ไม่อยากจะใช้ภาษาบาลี ก็เพราะว่าให้เข้าใจได้ง่าย ให้เป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยโดยภาษาไทย นี่จึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายขอให้กำหนดจดจำคำไทยๆ ภาษาไทยๆ เหล่านี้เอาไว้ให้ดี เราจะไม่ต้องพูดกันโดยภาษาบาลี เว้นไว้แต่จำเป็น มันก็มีบางคำเหมือนกันแหละ จะพูดเป็นภาษาไทยไม่ไหว ก็ต้องพูดด้วยภาษาบาลี แต่อาตมาพบว่าอาจจะพูดได้โดยภาษาไทย ภาษาไทยธรรมดาเกือบจะทั้งหมด นี่ก็จะพูดเรื่องภาคปฏิบัติ ข้อหนึ่ง,ข้อหนึ่ง,ข้อหนึ่ง หรือว่า ชนิดหนึ่ง,ชนิดหนึ่ง,ชนิดหนึ่ง ด้วยภาษาไทย
คำแรก ก็คือว่า หลีก หลีกนี้มันภาษาไทยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว,ใช่ไหม ว่าหลีก การปฏิบัติที่เป็นการหลีก หลีกจากที่ที่ไม่ควรจะอยู่ ที่ที่ไม่เป็นโคจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุสามเณรไม่เข้าไปในสถานที่อโคจร คือไม่ควรจะเข้าไป อโคจรหมายความว่าเข้าไปแล้วเป็นอันตราย เช่นว่าสัตว์ไปหากินในที่อโคจรก็ตาย เช่นวัวไปหากินในที่อโคจรก็ถูกเสือกัดตายอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเขาก็หลีกเสีย การปฏิบัตินี้ก็หลีกเสียจากที่ควรจะหลีก เช่นอโคจร หลีกไปหาวิเวก หลีกไปหาที่สงบสงัดที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ และหลีกอันใหญ่ที่สุดก็คือเนกขัมมะ หลีกออกจากเรือน เป็นผู้ไปอยู่อย่างไม่มีเรือน แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องบรรพชิต ถ้าเป็นชาวบ้านมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น มันอยู่ที่บ้านที่เรือนนั่นแหละ แต่ก็หลีกสิ่งที่มันรบกวนจิตใจ เป็นข้าศึกแก่การปฏิบัติเสียตามสมควร หรือบางครั้งบางคราวก็ทำเหมือนกับคนไม่มีเรือน เช่น ถืออุโบสถศีลอย่างนี้ บางคราว อย่างนี้มันก็เหมือนเป็นเนกขัมมะ มันเป็นเนกขัมมะด้วยเหมือนกัน ในชั่ววัน ชั่วสองวัน นี่คือคำว่าหลีก ในการปฏิบัติ
คำถัดไปก็ เว้น เว้นก็เป็นภาษาไทยที่สุดแล้ว,เว้น ก็เว้นในที่ควรเว้น เว้นทุจริต ๓ ทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เว้นตามสิกขาบทต้องห้าม เช่น ถือศีล ๕ ถือศีล ๘ ถืออะไรที่เป็นสิกขาบทต้องห้ามก็เว้น นี่ก็เรียกว่าเว้น ที่เป็นชั้นต่ำลงไป เว้นอบายมุขเสีย ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน อบายมุข ปากทางแห่งความฉิบหาย ก็เว้นเสีย เว้นมิจฉาชีพ การหากินโดยทุจริตก็เว้นเสีย นี่ตัวอย่าง สรุปได้เพียงคำเดียวว่าเว้น การปฏิบัตินี้สรุปได้เพียงคำเดียวว่า เว้น
ทีนี้คำถัดไปก็ว่า ต้องทำ หรือควรทำ หรือจะเรียกสั้นๆ ว่าทำก็ได้ กระทำก็ได้ การกระทำที่มันเป็นสุจริต และที่มันน่าดูมันงดงาม มีอาจาระมีการประพฤติปฏิบัติที่งดงามที่น่าดู ประกอบกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าศีล อย่างนี้เรียกว่าทำ กระทำลงไป
ทีนี้คำถัดไปจะเรียกว่า อบรม คำว่าอบรมนี้ก็ภาษาไทย อบรมจิต อบรมสติ อบรมจิตก็คือกระทำอยู่ตลอดเวลาให้จิตเจริญ เช่นให้จิตสงบ ให้จิตเห็นแจ้ง จิตตามธรรมดานั้นไม่อาจจะทำหน้าที่ชั้นสูงได้ ต้องอบรมเสียก่อน เมื่อจิตนั้นอบรมแล้วก็จะทำหน้าที่ในชั้นสูงได้ นี้ก็เรียกว่าอบรม สติเหมือนกัน เราไม่ค่อยจะมี เราเป็นคนขาดสติ มันก็ต้องฝึกฝนอบรมให้สติมันมี คำว่าอบรมนี้มีความหมายว่าทำให้มันถูกต้อง แล้วทำซ้ำๆ อยู่นั่นแหละ อย่าให้มันขาดตอนได้ อย่างนี้เรียกว่าอบรม จะทำเล็กๆ น้อยๆ ทำนิดๆ หน่อยๆ ทำคราวเดียวเลิก อันนี้ไม่เป็นการอบรม ต้องทำให้ถูกต้อง แล้วก็ติดต่อกันไปไม่มีว่างเว้น นี่จึงเรียกว่าอบรม
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ทำให้มาก ถ้า พหุลีกตา เป็นบาลีนั้นคงจะทำความรำคาญ จึงไม่เอาคำว่าพหุลีกตา มาพูดให้คุณรำคาญ พูดเป็นไทยๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ทำให้มาก นี้ท่านหมายความว่ามันต้องทำให้มากจนชำนาญ มันจะตรงกับคำว่าทักขะหรือทักษะที่ใช้กันอยู่แล้วในภาษาไทย เจริญพรหมวิหารอย่างนี้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้ ทำให้มากจนเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นจิตเป็นใจไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุเบกขานี้ รู้จักทำให้เข้มแข็ง พอเห็นความจริงแล้วเพ่งเฉยอยู่ อย่างไม่ว่างเว้น ทำติดต่อกันไปเรื่อย เมื่อวางเฉยได้ในสิ่งใดก็เห็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันจะวางเฉยไปจนถึงที่สุดคือเด็ดขาด ไม่กลับยึดถือ เพียงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานี้จะมีระเบียบกระทำทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลาที่จะทำได้ อย่างเราจะแผ่เมตตาสามัคคี สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ก็ทำมากที่สุด เรียกว่าทำให้มาก
ทีนี้ ทำให้มันสงบ คือทำสมาธิ ทำจิตให้สงบ ตั้งจิต ดำรงจิตไว้ให้ดี อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นมารบกวนจิตใจ หรือแม้แต่เพียงนิวรณ์ ๕ ประการ ก็ดำรงจิตไว้ให้ดีอย่าให้นิวรณ์เกิดได้ คือทำให้มันสงบจากนิวรณ์ แล้วโลภะโทสะโมหะ มันก็ไม่เกิด ถ้าเราทำให้สงบอยู่ ทำอย่างถูกต้องนี้ เมื่อโลภะโทสะโมหะไม่เกิด จิตนี้ก็สบาย ชีวิตนี้ก็เย็นเป็นสุขอยู่ได้ ไม่ต้องเป็นโรคประสาท เหมือนที่เขาเป็นๆ กัน ถ้ากิเลสมารบกวนจิตอยู่เรื่อย ไม่เท่าไหร่ก็ต้องเป็นโรคประสาท ไม่เท่าไหร่ก็ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องสงสัยหรอก ฉะนั้นทำให้มันสงบ รู้จักทำให้มันสงบให้มากที่สุดตามที่เวลามันจะอำนวย มีเวลาเมื่อไหร่ก็ทำให้มันสงบ จะเป็นนิวรณ์ก็ดี จะเป็นกิเลสก็ดี
ทีนี้ต่อไปก็ ทำให้เห็นแจ้ง จิตนี้ถ้าสงบแล้วมันจะเห็นแจ้งในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องทำให้สงบก่อน ครั้นสงบแล้วมันเป็นจิตที่มันมีความสามารถมาก จะเห็นแจ้งในอะไรก็ได้ มันคล้ายๆ กับเช็ดแว่นตานั่นแหละ แว่นตาสกปรกมองอะไรไม่เห็น พอเราเช็ดให้ใส มันก็เห็น ดูอะไรก็เห็น เมื่อจิตมันกลุ้มอยู่ด้วยนิวรณ์หรือด้วยกิเลสก็ดี จิตนั้นจะไม่แจ่มใสไม่ผ่องใสจนเห็นความจริงของธรรมะได้ ฉะนั้นจึงทำให้เป็นสมาธิ ให้มันเป็นจิตแจ่มใส เห็นแจ๋วไปในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในสังขารทั้งปวง อย่างนี้เรียกว่าทำให้เห็นแจ้ง
ทีนี้คำถัดไปจะใช้คำว่า ทำให้เข้าใจ นี่มันลดต่ำลงไปนะ ทำให้เห็นแจ้งนั้นสูงกว่ามากทีเดียว ทำให้เข้าใจนี้มันไปคิดนึกคำนวณ ใช้วิธีคิดนึกคำนวณ ทำให้เข้าใจ โดยใช้เหตุผลสอบสวน หรือการคิดนึกอย่างมีวิธีการที่จะคิดนึก มันก็เข้าใจ ไม่รู้ มันก็ถามให้ได้รับความรู้ แล้วมาทำให้เป็นความเข้าใจ
ทีนี้ถัดจากทำให้เข้าใจต่ำลงไปอีก ก็ว่า ทำให้รู้ นี้เป็นของธรรมดามาก คือเล่าเรียนธรรมดาสามัญ เช่น เรียนในโรงเรียนนี้มันเพียงทำให้รู้ มันต้องจำได้ ได้ยินได้ฟังแล้วจำได้ และจำไว้ได้มากๆ แล้วขยันถาม ขยันจด ขยันจำ ในเรื่องของธรรมะก็ทำอย่างนั้นแหละ เรียกว่าทำให้มันรู้ ธรรมดาสามัญนี้
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า สมาทาน อันนี้จนใจที่ไม่ใช้คำไทย ใช้คำบาลีว่า สมาทาน แต่ถ้าคุณจะคัดค้านว่าเมื่อตะกี้สัญญากันว่าจะใช้คำไทยล้วน ก็ได้เหมือนกัน คำว่าสมาทานแปลว่าถือเอาไว้อย่างดี นั่นมันรุงรัง,เห็นไหม สมาทานนี้แปลว่าถือเอาไว้อย่างดีอย่างทั่วถึง เช่นว่า สมาทานศีลอย่างนี้ ก็ถือศีลเอาไว้อย่างดีอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ว่าแต่ปากอย่างนกแก้วนกขุนทอง เหมือนลูกเด็กๆ เขารับศีลนี้ ก็จำเป็นแหละที่เขาจะต้องว่าแต่ปากอย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่ถ้าคนตัวโตแล้วทำอย่างนั้นไม่ได้ สมาทานศีลคือถือเอาไว้อย่างดี ก็หมายความว่าปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้องเสมอไป นั่นคือสมาทาน การปฏิบัติธรรมะในชื่อนี้เรียกว่าสมาทาน
ทีนี้คำต่อไปใช้คำว่า ศึกษา โดยภาษาบาลี สิกฺขา โดยภาษาไทย ศึกษา คำนี้เดาเอาเองว่า ดูแล้วเห็นหมดเห็นทั่วถึง จึงจะเป็นแก่นแท้ของคำว่าศึกษาหรือสิกขา ตามหลักให้หัวข้อไว้ว่าเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ทำให้สำเร็จจนมองเห็นชัดว่ามันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คำว่าสิกขาหรือศึกษาชนิดนี้ไม่ได้หมายถึงการเรียนที่โรงเรียน แต่หมายถึงการปฏิบัติ อยู่ในที่ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้ แม้แต่ปฏิบัติอานาปานสตินี้ตามบทสวดนั้นก็ใช้คำว่าสิกขา ทำในบทศึกษา เจริญสมาธิ ทำสมาธิอานาปานสติอยู่นั่นแหละคือตัวการศึกษาในทางธรรม มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีสติสัมปชัญญะอะไรครบอยู่ในตัวการกระทำนั้น แม้ที่สุดแต่ว่ากำหนดลมหายใจสั้นลมหายใจยาวนี้มันก็เป็นการมีศีลอยู่ คือมันล่วงศีลไม่ได้ จิตเป็นสมาธิอยู่ เพราะกำหนดลมหายใจอยู่ แม้ที่สุดแต่ว่ารู้ว่าสั้นรู้ว่ายาว รู้ว่าเมื่อลมหายใจสั้นมีผลอย่างไร เมื่อลมหายใจยาวมีผลอย่างไร อันนี้ก็เป็นปัญญา ฉะนั้นเพียงแต่กำหนดลมหายใจสั้นยาวในขั้นแรกของอานาปานสตินี้ก็เป็นการก่อรูปของการสิกขา,ศึกษาครบแล้ว นี้เรียกว่าศึกษา ซึ่งควรใช้คำบาลีว่าสิกขา คำนี้คุณจะเห็นได้ว่าแปลเป็นไทยไม่ไหว จะใช้คำไทยพูดแทนมันไม่พอ มันต้องใช้คำว่าสิกขา ตามภาษาบาลีต่อไปตามเดิม
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า กรรม คำนี้ต้องขอใช้คำบาลีอีกแหละว่า กมฺม แต่ว่าการกระทำนั้นมันพูดมาแล้ว ทีนี้กรรมเป็นการกระทำที่มีความหมายพิเศษเฉพาะ คือทำด้วยเจตนา ถ้าไม่ได้ทำด้วยเจตนาไม่เรียกว่ากรรม กรรมนี้ต้องทำด้วยเจตนา ทำดีก็ตาม ทำชั่วก็ตาม ภาษาฝรั่งเขาก็ยอมแพ้ เขาไม่แปลคำว่ากรรมไปเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น เขาใช้คำเดิมคำบาลีว่ากรรมเหมือนกัน เพราะมันไม่อาจจะแปลให้ได้ความตามนั้นได้ กรรมคือการกระทำที่ประกอบไปด้วยเจตนานี้เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือต้องทำให้ถูกต้อง อย่าให้มันผิด เราจะต้องมีเจตนาที่จัดไว้ดี แล้วก็ทำตามเจตนาให้เต็มที่ และให้เป็นไปในทางดี เรื่องกรรมนี้อยากจะบอกให้รู้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างที่ประหลาดที่เราไม่ค่อยจะสนใจกัน ท่านตรัสเป็น ๔ ชนิด กรรมเป็น ๔ ชนิด กรรมดำคือทำชั่ว กรรมขาวคือทำดี กรรมดำขาวปนกันอยู่ และก็กรรมไม่ดำไม่ขาวอยู่เหนือกรรมทั้งปวง เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง อย่างนี้เข้าใจว่าไม่มีในหลักสูตรที่กระทรวงทำขึ้นให้นักเรียนเรียนหรอก กรรมดำคือกรรมชั่ว ก็ทำชั่วล้วนๆ ทีนี้กรรมขาวก็คือทำดีล้วนๆ แต่ต้องด้วยเจตนา มีเจตนาเท่าไหร่จะเป็นกรรมเท่านั้น มีเจตนาน้อยก็เป็นกรรมน้อย เอาตัวเจตนาเป็นหลัก จะชั่วหรือดี มากหรือน้อย เอาที่เจตนาเป็นหลัก เพราะว่าการกระทำนั้นมันกระทำเท่าๆ เจตนา กรรมดำขาวเจือกัน จะไปสอนเด็กว่าอย่างไรครูทั้งหลาย มันไปยิงนกมาแกงถวายพระ บอกอย่างนี้ก็คือว่ากรรมดำกับขาว กรรมดำกับขาวมันเจือกันแล้ว มันก็มีการกระทำกันอยู่ทั่วๆ ไปเหมือนกันแหละ กรรมดำกรรมขาวที่เจือกันนี้ ส่วนกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว อยู่เหนือดำเหนือขาว เป็นที่จบสิ้นแห่งกรรมดำกรรมขาวนั้นคือกรรมที่จะไปนิพพาน ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ที่เราสวดศึกษากันอยู่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ อย่าไปจัดว่าเป็นกุศลหรือเป็นกรรมขาวอะไรไปเลย จัดว่าเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาวที่จะพาขึ้นเหนือกรรมทั้งปวง นี่เราสอนให้เด็กๆ ของเรารู้ว่า ทำชั่วก็มี ทำดีก็มี ปนกันอยู่ก็มี และอยู่เหนือนั้นเลยก็มี นี่เรียกว่ากรรม,เรื่องกรรม การปฏิบัติเรื่องกรรมมีอย่างนี้
ทีนี้มีคำว่า ธุดงค์ ต้องขอใช้คำบาลีอีกแล้ว ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไร ถ้าจะแปลเป็นไทยมันก็ยาวแหละ คือวิธีปฏิบัติเพื่อจะกำจัดความมักมาก ความไม่สันโดษ คนทั่วไปมันอยู่ดีกินดีเกินไปนั้น มันไม่สันโดษ มันไม่พอดี เราจัดเสียให้พอดีให้สันโดษ นั่นแหละเขาเรียกว่าธุดงค์ ในภาษาไทยที่ชาวบ้านเขาพูดกันนั้นก็ว่าพระธุดงค์ หมายความว่าพระป่าห่มจีวรดำๆ นั้นมันถูกนิดเดียว เพราะว่าคำว่าธุดงค์นี้ มันที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติอยู่กับอะไรก็ได้ ขอแต่ให้มันกำจัดความมักมาก ความไม่สันโดษก็แล้วกัน ฉะนั้นเรื่องอาหารการกินก็ให้มันไม่มักมาก เรื่องนุ่งเรื่องห่มก็ไม่ต้องมักมาก เรื่องเครื่องใช้ไม้สอยที่อยู่อาศัยก็ไม่ต้องมักมาก และยังมีแถมว่าให้อยู่โดยอิริยาบถที่ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส เช่นถือธุดงค์ข้อที่ว่าไม่นอนเป็นต้นบางคราว นี้ต้องใช้คำบาลีแล้ว เพราะว่าคำไทยไม่รู้จะว่าอะไร คืออยู่โดยการควบคุม กำจัดความมักมากความไม่สันโดษ นั่นแหละคือธุดงค์ ไม่ต้องใส่เสื้อที่สวยที่แพง ไม่ต้องกินของที่มันอร่อยที่แพง หรือไม่ต้องมีบ้านเรือนเครื่องใช้ไม้สอยที่มันแพง แล้วก็อย่าตามใจกิเลส นอนมาก สบายด้วยการนอน มักมากในการนอน นี่ก็เรียกว่าธุดงค์ คำนี้แปลว่ากำจัด ถ้าถามว่ากำจัดอะไร ก็คือกำจัดสิ่งที่มันไม่ควรจะมีหรือมันเกินไป ลดเสีย นี่เรียกว่าธุดงค์
ทีนี้คำว่า ความเชื่อ การทำให้ความเชื่อถูกต้องนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมะเหมือนกันแหละ ความเชื่อของเรามันมักจะมากเกิน น้อยเกิน ไขว้เขว งมงาย งมงายนั่นแหละเป็นความเชื่อที่ใช้ไม่ได้ ถ้าจะเอาจริงกันแล้วในเรื่องความเชื่อนี้ให้ถือตามหลักกาลามสูตร เรื่องศรัทธา ๔ ความเชื่อที่เชื่อกรรม เชื่อผลกรรม เชื่อได้รับผลกรรม เชื่อการตรัสรู้ของตถาคตนี้ก็ไม่ค่อยแน่นอนหรอก ถ้ามันไม่มีปัญญาเห็นก่อน มันเป็นความเชื่อที่จะงมงายเมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้นเราต้องเป็นเชื่อที่มาทีหลังปัญญา มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้ว พิสูจน์แล้ว ปฏิบัติดูแล้ว แล้วจึงเชื่อ นั่นแหละจึงจะเป็นศรัทธาที่ถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องตามหลักกาลามสูตร นี้จะมีในหลักสูตรของกระทรวงหรือไม่ คือว่าอย่าเชื่อทันทีเมื่อได้ฟังเขาพูดตามๆ กันมา อย่าเชื่อทันทีเมื่อเห็นเขาปฏิบัติตามๆ กันมา อย่าเชื่อทันทีเมื่อเขาลือกันอยู่กระฉ่อนทั้งบ้านทั้งเมือง ก็เชื่อตามเขาที่เขาลือกันนี่ อย่าเชื่อว่าเพราะมันมีอ้างอยู่ในตำรา ตำรานั้นมีคนเขียน เขียนผิดก็ได้ คัดลอกผิดก็ได้ อะไรผิดก็ได้ ผิดมาแต่ต้นก็ได้ และก็อย่าเชื่อโดยตรรกะคือวิธีคิดตามแบบตรรกะ ตรรกวิทยานั่นแหละ และอย่าเชื่อโดยวิธีคิดแบบนัยยะคือวิธีปรัชญานั่นแหละ และอย่าเชื่อโดยความคิดนึกชั่วขณะตามธรรมดา หรือว่าตรึกไปตามอาการ และก็อย่าเชื่อโดยเหตุว่าคำพูดนี้มันเข้ากับความคิดเห็นของเรา และก็อย่าเชื่อว่าผู้พูดอยู่ในฐานะน่าเชื่อ และก็อย่าเชื่อว่าเพราะเหตุว่าผู้พูดนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา อันนี้ถ้าคุณไปสอนไม่ดี เด็กๆ กระด้างหมดแหละ แต่ในบาลีมันมีอยู่อย่างนั้นจริงๆ เพราะเขาพูดถึงความเชื่อชั้นสูงที่จะปฏิบัติธรรมะ แต่ถ้าในเรื่องชาวบ้านเรื่องเด็กๆ นี้ยังจะต้องขอว่าเชื่อครูบาอาจารย์ก็ได้ไม่เป็นอะไร แต่ในการปฏิบัติที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นไม่ต้อง มันจะกลายเป็นงมงายไปไม่ทันรู้ ต้องพิสูจน์ ทดลอง ปฏิบัติดู จนรู้แจ้งประจักษ์แล้วจึงค่อยเชื่อ คือมันเชื่อทีหลังความทดลองการรู้แจ้งหรือปัญญาเสมอ นี่การปฏิบัติที่เรียกว่าศรัทธา
ทีนี้ ความละอายบาปหรือกลัวบาป เรียกเป็นบาลีว่า หิริ,โอตฺตปฺป นี่แพร่หลายมาก แต่ดูเขาอธิบายกันสำหรับเด็กๆ มากเกินไป ในโรงเรียนนักธรรมก็อธิบายกันเป็นเด็กๆ มากเกินไปว่าละอายบาป ละอายความชั่ว เกลียดกลัวความชั่ว ก็ถูก ไม่ใช่ผิด แต่คำว่าหิริโอตตัปปะนี้ พบในบาลีเขาไปไกลว่านั้น คือว่าคนปุถุชนนี้มันไม่ละอายในการที่มันทนเป็นปุถุชนอยู่อย่างนี้ มันไม่ละอายการที่มันยังโง่อยู่อย่างนี้ ยังเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอย่างนี้ มันยังไม่ละอาย มันยังไม่กลัว หรือว่าการที่กิเลสอุปาทานเที่ยวกัดอยู่อย่างนี้ มันก็ยังไม่ละอาย มันก็ยังไม่กลัว ต่อเมื่อมันละอายในการที่จะจมอยู่ในกิเลสในความทุกข์แล้วกลัว นั่นแหละเป็นหิริโอตตัปปะในชั้นพระอริยเจ้า ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนก็คือให้ละอายบาป ให้กลัวบาป เล็กๆ นี้ มันไม่ถึงขนาดหรอก
ทีนี้ก็มี ขันติ โสรัจจะ ความอดทนปรกติ อดทนอยู่อย่างปรกติ อดทนอยู่ร้องโวยวายนี้มันก็ไม่ถูก อดทนๆ ขันติ โสรัจจะนี้ ทนอยู่อย่างงดงามเหมือนเดิม อะไรเกิดขึ้นที่ทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อดทนได้ เราจะพูดถึงคำว่าอดทนกันก่อนก็ได้ว่าอดทนอะไรบ้าง อดทนต่อหนาวร้อนนี้ อดทนต่อบรรยากาศในโลกที่มันหนาวร้อนเป็นต้น อดทนต่อคำด่าที่เขาด่า และอดทนต่อทุกขเวทนาที่เจ็บปวด อดทนเมื่อกิเลสบีบคั้น กิเลสราคะโทสะมันบีบคั้นใจให้ตามกิเลส มันก็อดทน ทนได้ ไม่ทำ และอันสุดท้ายที่อยากจะให้ครูทั้งหลายจำไปบอกนักเรียน นั่นคืออดทนต่อกฎและระเบียบ เพราะโรงเรียนของเราต้องมีกฎและระเบียบ ถ้านักเรียนเขาไม่อดทนต่อกฎระเบียบ เขาก็ฝืนกฎระเบียบ โรงเรียนทั้งหลายก็ไม่น่าดู เพราะว่าเด็กๆ ไม่อดทนต่อกฎและระเบียบ คือไม่รักษากฎระเบียบ แม้ว่าจะได้วางระเบียบไว้ดีแล้ว เด็กๆ เขาก็ยังไม่อดกลั้นอดทน นี่เขามักจะพูดกันแต่ว่า อดทนคนด่าคนว่า อดทนเจ็บไข้ นี้มันยังไม่พอหรอก มันอดทนเรื่อยไปจนถึงว่าอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสหรืออะไรก็เรียกเอาเองก็แล้วกัน เช่นว่าเสพยาเสพติด แล้วมันก็ติดยาเสพติด และมันอดทนไม่ได้ จะละยาเสพติดไม่ได้ มันก็ต้องเสพยาเสพติดเรื่อยไป อย่างนี้เราเรียกว่าไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ฉะนั้นครูจึงสูบบุหรี่กันเป็นฝูงๆ เลย เพราะมันไม่มีความอดทนอะไรสักนิดหนึ่งในข้อนี้ เดี๋ยวนี้ครูก็ชักจะสูบบุหรี่ในห้องเรียนกันมากขึ้นแล้ว เพราะไม่อดทนอย่างไรล่ะ ไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ทีนี้นักเรียนก็สวนตอบขึ้นมา เขาไม่อดทนต่อระเบียบข้อบังคับกฎของโรงเรียนบ้าง แล้วมันจะอยู่ได้อย่างไร นี่คำว่าอดกลั้นอดทน มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างนี้ในการปฏิบัติธรรมะ
เอ้า,ทีนี้ก็จะพูดถึงว่า พอดี ปฏิบัติเพราะรู้ความพอดี ปฏิบัติให้พอดี อันนี้สำคัญมากนะ เดี๋ยวนี้เราอยู่ไม่พอดี มากบ้าง น้อยบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง ไปศึกษาเสียใหม่ให้รู้พอดี ในหมวดธรรมะเขาเรียกว่าสัปปุริสธรรม คือให้รู้ประมาณ มัตตัญญู ถ้าเรียกเป็นบาลีก็ต้องใช้คำว่า มตฺตญฺญู พูดเป็นไทยๆ ก็ว่ารู้ความพอดี รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักเวลา รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล เหตุเท่าไหร่พอดี ผลเท่าไหร่พอดี ตัวเองอยู่ในฐานะอย่างไร ประมาณมากน้อยเท่าไหร่พอดีสำหรับเรื่องนี้วัตถุนี้ เวลาเท่าไหร่พอดี บริษัทนี้เขามีมาตรฐานมาตรการกันอย่างไร หรือบุคคลคนนี้เขามีมาตรฐานมาตรการของเขาอย่างไร รู้ความพอดีความถูกต้อง เราก็ประพฤติต่อบุคคลนั้นๆ หรือสังคมนั้นๆ อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอดีในเรื่องกินเรื่องอยู่นั่นแหละสำคัญมาก ให้รู้จักพอดีในเรื่องกินเรื่องอยู่ โภชเน มตฺตญฺญุตา พอดีในการกินอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเป็นหลักเป็นประธานของคำสอนข้อหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ สิ่งควรเสพหรือสิ่งควรเว้น ไม่เสพ พูดพร้อมกันไปเลยก็ได้ ปัจจัย ๔ นั้น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หยูกยาแก้ไข้ ปัจจัย ๔ นี้ ต้องรู้ว่าชนิดไหนควรเสพ ชนิดไหนไม่ควรเสพ ธรรมะก็เหมือนกัน รู้ว่าชนิดไหนควรแก่เรา ชนิดไหนไม่ควรแก่เรา ควรแก่เราจึงจะถือว่าควรเสพ ไม่ควรก็ไม่ควรเสพ บุคคลก็เหมือนกัน บุคคลไหนที่ควรคบหาสมาคม บุคคลไหนไม่ควรคบหาสมาคม แม้แต่มิตรสหาย มิตรสหายชนิดไหนควรคบหาสมาคม มิตรสหายชนิดไหนไม่ควรคบหาสมาคม ถ้าควรก็คบ ไม่ควรก็ไม่คบ โดยเฉพาะที่ควรเว้นก็พวกทุจริตทั้งหลายนั่นแหละ ธรรมะที่ทุจริตทั้งหลายไม่ควรเสพ ควรเสพแต่ธรรมะที่สุจริต ควรเสพแต่ที่ไม่มีโทษ ควรเว้นที่มีโทษ
และก็ยังมีคำว่า ควรบรรเทา นี่ขอให้พวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายสนใจนะว่า ภาษาบาลีไม่ใช่เล่นนะ ท่านใช้คำชนิดที่มีความหมายกะทัดรัด เฉพาะเจาะจง มันจึงได้คำมาก เช่นว่าควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี ควรเว้นเสียเลยก็มี แต่ไม่ถึงนั้นเพียงแต่ควรบรรเทาเท่านั้นก็ยังมี ท่านจึงมีคำว่าควรบรรเทา คือลดลงๆ ได้แก่อกุศลวิตกทั้งหลายนั่นแหละ ความคิดนึกที่เป็นไปในทางกามทางพยาบาททางเบียดเบียน หรือว่าอนุสัยที่เราสะสมไว้ในใจนั้น ควรจะลด คงจะไม่เข้าใจว่า ถ้าเราเกิดกิเลสทีหนึ่ง แล้วมันก็สะสมเป็นอนุสัยไปทีหนึ่ง เกิดกิเลสอีกทีหนึ่ง สะสมเป็นอนุสัยสำหรับจะเกิดกิเลสอย่างนั้นอีกไว้ทีหนึ่ง เกิดกิเลสหลายที อนุสัยก็เยอะแยะหมด แล้วอนุสัยเหล่านั้นบรรเทาได้โดยที่อย่าทำผิด อย่าเกิดกิเลสอีก เมื่อมีอารมณ์มาสำหรับจะเกิดกิเลส ต่อสู้กันอย่างสุดเหวี่ยงแล้ว ไม่กระทำลงไป ชนะอารมณ์นั้นได้ และอย่างนี้อนุสัยนั้นจะลด อนุสัยในสันดานจะลด ฉะนั้นเราบรรเทาอนุสัยไว้ได้ทุกทีที่เราต่อสู้กับกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ นี่เรียกว่าบรรเทาอนุสัย
คำต่อไป ปหาน แปลว่าละ ถ้าจะให้แปลว่าละ ต้อง น.หนู สะกด ถ้าไป ร.เรือ สะกด มันแปลว่าฆ่าให้ตาย คำว่าประหาร ที่ ร.เรือ สะกดนั้นแปลว่าฆ่าให้ตาย ถ้า น.หนู สะกด ก็ละ,ละไปเสีย ละกิเลส ละอาสวะ ละชั่วคราวก็มี ละด้วยการข่มไว้ตลอดเวลาก็มี ละด้วยการตัดรากให้ขาดเสียก็มี นี่การละมีหลายแบบอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติเป็นระดับ ฉะนั้นจงรู้ไว้ว่า เรามีทางที่จะเลือก มีทางที่จะทำได้ไปตามลำดับ เราทำไปโดยข้างต้นนั้น ถือเอาข้างต้นเป็นหลัก แล้วก็ทำมากขึ้นๆ ในที่สุดก็ละได้หมด เช่นว่า การหลีกเลี่ยงเสียมันก็ละได้เหมือนกัน ด้วยองค์นั้นๆ เรียกว่าตทังคปหาน หรือว่าทำความคิดอย่างอื่นเสียก็ละได้เหมือนกัน ก็เป็นตทังคปหาน ถ้าทำสมาธิข่มไว้ กิเลสนั้นมันถูกข่มด้วยวิกขัมภนปหาน การละด้วยการข่มไว้ ถ้าปฏิบัติถึงที่สุด กิเลสขาดรากเหง้า รากเหง้าถูกตัดขาด ก็เป็นสมุทเฉทปหาน การละความชั่วนั้นมีได้ถึง ๓ ระดับอย่างนี้
เอ้า,ทีนี้มาถึงคำว่า รอบรู้ จะบอกให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ บางทีมันก็มีปริญญา คนที่มีปริญญานั้นฟังให้ดีๆ คำว่าปริญญาในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่าปริญญาคืออะไร ปริญญาคือความสิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่าปริญญา นี่เทียบกับปริญญาที่คุณมีอยู่ดูสิ ปริญญาที่คุณมีๆ กันอยู่นั้นคืออย่างไร การทำ,พยายามทำให้ราคะสิ้นไป พยายามทำให้โทสะสิ้นไป พยายามทำให้โมหะสิ้นไปนั่นแหละคือทำเพื่อรับปริญญา คำนี้ในบาลีมีใช้อย่างนี้ ปริญญา แปลว่าความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ และกระทำเพื่อให้เป็นอย่างนั้นนั่นแหละคือว่าทำเพื่อจะรับปริญญา
เอ้า,ทีนี้คำว่า ทำให้เจริญ พัฒนาทำให้เจริญ นี่บาลีเรียกว่าภาวนา ขอเอาคำว่าภาวนามาใช้อีกทีหนึ่งนะ แม้ว่าจะเป็นคำบาลี เพราะว่ามันเป็นคำที่คุ้นหูท่านทั้งหลาย ภาวนาๆ นั่งว่าอะไรงึมงำๆ อยู่นี่ ตรงไหนก็ได้นี่ นั่นมักจะรู้กันอย่างนั้น แต่คำว่าภาวนาในธรรมะในพุทธศาสนานี้เขาแปลว่าทำให้มันเจริญ คือความหมายของคำว่าพัฒนานั่นเอง เรียกว่าทำจิตให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นแหละ เรียกว่า จิตตาโยค,จิตตาโยคะ ประกอบความเพียร ทำจิตให้ยิ่งให้ดีกว่าเดิมนี้ก็เรียกว่าภาวนา มรรคภาวนา อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้เกิดขึ้นมา ก็เรียกว่าภาวนา ปัจจเวกขณ์ข้อที่ควรปัจจเวกขณ์ สำหรับภิกษุ สำหรับอุบาสกอุบาสิกาปัจจเวกขณ์ใดๆ อยู่ ด้วยจิตด้วย ก็เรียกว่าภาวนา ทำอนุสสติ พุทธานุสสติเป็นต้นก็เรียกว่าภาวนา เพราะล้วนแต่ทำจิตให้เจริญๆ ทั้งนั้น
ทีนี้ก็จะมาถึงคำว่า แสวงหา การปฏิบัติที่ถูกต้องจะแสวงหาแต่ที่ควร ไม่โง่ไปแสวงหาสิ่งที่ไม่ควร คำบาลีระบุก็ว่า แสวงหาสิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หรือสิ่งที่จะให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แสวงหาอย่างนั้นถูกต้อง ไปแสวงหาเอาสิ่งที่ทำให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตายนั้น มันทรมานตัว ไม่ถูกต้อง เป็นการแสวงหาที่ไม่ถูต้อง เดี๋ยวนี้คนเรานั้นมันไปแสวงหาสิ่งที่เอามาทำตัวเองให้ลำบาก ให้หมดเปลือง ให้ยุ่งยากกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ นี่เขาปฏิบัติผิดแล้วในข้อที่ว่า แสวงหา หรือปริเยสนา
ทีนี้คำว่า ทรัพย์,ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์นี้มันแปลว่าเครื่องยินดีแห่งจิต คำว่าทรัพย์มันแปลว่าเครื่องยินดีแห่งจิต ที่เรามีทรัพย์สมบัติกันก็เพราะมันเป็นเครื่องยินดีแห่งจิต แต่ว่าถ้าทำผิดแล้วมันก็ไม่ยินดีได้หรอก มันกลับเป็นอันตรายแก่จิตก็มี ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องรู้ทรัพย์ต่ำๆ สำหรับคนธรรมดาปุถุชนนี้ก็มี แล้วทรัพย์ที่สูงขึ้นไปสำหรับพระอริยเจ้าก็มี หรือว่าสูงกว่าธรรมดาก็มี มีพระบาลีตรัสไว้ว่า บุรุษควรจะมีได้ทั้งสองทรัพย์นั่นแหละ มีทรัพย์ธรรมดาคือวัว ควาย ไร่นา บุตร ภรรยา สามี เงินทอง ข้าวของ บริวาร นี้ก็เรียกว่าทรัพย์ แล้วก็มีศรัทธา มีศีล มีหิริโอตตัปปะ มีจาคะ ปัญญาอะไร ก็เรียกว่าทรัพย์เหมือนกัน นี้ท่านตรัสว่า คนเรามีได้สองทรัพย์พร้อมกัน ฉะนั้นมีทรัพย์สมบัติอย่างชาวบ้านก็ได้ มีทรัพย์สมบัติอย่างพระอริยเจ้ามีคือธรรมะเหล่านี้ก็ได้ มันจะช่วยเป็นที่ยินดีแห่งจิตใจเพิ่มขึ้น แม้อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ฟังดูให้ดี มีทรัพย์ให้ถูกต้องก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
ทีนี้มาถึงคำว่า เคารพบูชาที่ควรเคารพบูชา เดี๋ยวนี้เด็กๆ ของเราไม่เคารพบูชาสิ่งหรือผู้ที่ควรเคารพบูชา มีปัญหาในโรงเรียนทุกโรงเรียน โดยเฉพาะก็คือเด็กเขาไม่เชื่อฟังครู ไม่เคารพบูชาบิดามารดาครูบาอาจารย์คนเฒ่าคนแก่พระเจ้าพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้นะ,เด็กเดี๋ยวนี้นะ เพราะเขาไม่ปฏิบัติธรรมะข้อนี้
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ต้อนรับ,รับแขก การรับแขกนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ถ้ายังไม่ทราบก็ขอให้ทราบเสียเถิดว่าการรับแขกนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ต้องรับแขก ถ้าไม่รับแขกจะมีความเสื่อมเสียหลายอย่างหลายประการเข้ามาหา จนถึงกับเขาพูดเป็นอุปมาว่า ถ้าให้แขกกลับไปด้วยความผิดหวังร้อนใจแล้ว มันก็คือว่าแขกเขาพาสวัสดีมงคลไปหมดเหลือแต่เสนียดจัญไรทิ้งไว้ให้เจ้าของบ้านนั้น ฉะนั้นการรับแขกก็เป็นการปฏิบัติธรรมชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ ของกินของอะไรนี้ ก็เรียกว่าต้อนรับ เขาเรียกว่าอามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยอามิส ทีนี้ต้อนรับด้วยธรรมะ คือต้อนรับด้วยถ้อยคำที่ทำให้เขาสบายใจหรือได้รับประโยชน์ เราพูดจาหรือว่าแล้วแต่ ส่วนมากก็คือพูดจาให้เขาได้รับความสบายใจ ได้รับความรู้ความเข้าใจสิ่งที่เป็นประโยชน์ ปรับทุกข์ได้ นี่ก็เรียกว่าต้อนรับ ฉะนั้นแขกเขามา ควรให้เขาได้รับความพอใจทั้งสองอย่าง ของต้อนรับด้วยวัตถุก็มี และต้อนรับด้วยธรรมะอย่างนี้ก็มี นี้เราไม่ค่อยสนใจที่จะต้อนรับด้วยธรรมะ มันก็จะต้อนรับด้วยขวดแม่โขง หรือว่าอย่างดีก็เอาน้ำส้มมา มันจะต้อนรับกันแต่อย่างนี้ มันไม่ต้อนรับด้วยสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ดีขึ้น
เอ้า,ทีนี้มาถึงคำว่า สันโดษ ใช้คำไทยยาก ใช้คำบาลีก็ดีแล้ว และเดี๋ยวนี้ก็เป็นคำไทยไปแล้ว คำว่าสันโดษนี้มันกลายเป็นคำในภาษาไทยไปแล้ว ว่ายินดีด้วยของมีอยู่ อันนี้สำคัญมาก ถ้าว่าเราไม่รู้จักยินดีด้วยของที่มีอยู่ เราก็จะหิว หิวเป็นเปรตอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นอะไรเป็นความดีความถูกต้องที่เราทำได้มีได้หาได้ เราควรจะยินดี มันจะทำให้นอนหลับ ไม่หิว ไม่หิวกระหายจนนอนไม่หลับ ถ้าไม่มีอะไรเป็นที่ยินดีพอใจปลอดภัย มันก็นอนไม่หลับ มันก็เป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตเป็นบ้า สิ่งที่ได้ทำแล้วก็ควรจะยินดี แต่ว่าไม่ใช่หยุดทำ ยินดีสำหรับเป็นกำลังใจเพื่อจะทำต่อไปให้มากขึ้นนั่นแหละ สันโดษที่มีความหมายถูกต้องเป็นอย่างนี้ มีใครสอนผิดๆ ว่าสันโดษแล้วมันก็ไม่ต้องทำอะไร เราไปเทศน์ไปปาฐกถาเรื่องสันโดษที่กรุงเทพฯ ถูกเขาตำหนิว่าสอนขัดขวางความเจริญของประเทศ นี่เป็นอย่างนี้มาแล้ว
ทีนี้ การงาน หรือ กิจฺจ กิจฺจ-การงาน การทำงานในหน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ เพราะว่าธรรมะคือหน้าที่ มนุษย์ต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ ควรทำหน้าที่ของมนุษย์ ก็คือการปฏิบัติธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอริยสัจ ๔ ดีมาก มีกิจที่มนุษย์จะต้องทำ คือรู้เรื่องอริยสัจ รู้เรื่องทุกข์ รู้เรื่องทุกข์แล้วก็ละ ทำกิจละเหตุแห่งทุกข์เสีย แล้วก็ทำกิจทำให้เกิดทุกขนิโรธคือดับตัณหาได้ แล้วก็ทำกิจคืออริยมรรค เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือทำกิจที่เป็นหนทางให้ถึงความดับทุกข์ เขาเข้าใจกันแต่ว่าเป็นเรื่องไปนิพพานเสียเรื่อย เรื่องอริยสัจ ๔ นี้เป็นเรื่องนิพพานเสียเรื่อย เราถูกนักปราชญ์ที่กรุงเทพฯด่ามาหลายหนแล้ว ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาก็ได้ เป็นความทุกข์อะไรก็ได้ ขอให้รู้จักมันเถิด ความทุกข์กลางบ้าน กลางถนนหนทางอะไรก็ได้ ก็รู้เหตุแห่งความทุกข์ของมัน แล้วก็ทำให้สิ้นทุกข์ ให้ปรากฏเป็นความไม่มีทุกข์ ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องกับเรื่องนั้นๆ อย่างนี้แหละประพฤติอริยสัจ ๔ อยู่ที่ไหนก็ได้ ที่บ้าน ที่เรือน ถนนหนทางที่ไหนก็ได้ ไม่เฉพาะแต่ที่จะไปนิพพานหรอก ฉะนั้นให้ถือว่าเป็นกิจของมนุษย์ด้วยที่จะรู้อริยสัจ ๔ นี้ รู้อะไรเรื่องไหนก็ได้ ขอให้รู้โดยอริยสัจ ๔ จะเป็นการปฏิบัติธรรมะ แม้ในโรงเรียนของเด็กๆ ก็ได้ ให้เขารู้เรื่องตัวปัญหา รู้เรื่องเหตุให้เกิดปัญหา รู้ภาวะความหมดสิ้นแห่งปัญหา รู้วิถีทางที่จะให้ถึงความสิ้นแห่งปัญหา ปัญหาคือความยุ่งยากทุกชนิด นี้ก็คืออริยสัจ ใครทำอย่างนี้ คนนั้นปฏิบัติธรรมะ
ทีนี้ก็ สังวร เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยแปลว่าสำรวมระวัง การระวังให้ถูกต้องนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ สังวร ระวัง รักษาความถูกต้องเอาไว้อย่าให้ผิดพลาดได้ เช่น สังวรศีลนี่ ศีลที่รับๆ ไปนี่ สังวรคือรักษาไว้ให้ยังคงมีอยู่อย่างถูกต้อง เรียกว่าสังวรศีล ทีนี้ก็ระวังรักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าสังวรอินทรีย์ สังวรอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดความผิดพลาดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า นรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เหมือนพวกเราที่ว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า พระพุทธเจ้าว่านรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทางที่จะออกไปสู่นิพพานมันก็ต้องผ่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นสังวร ระวัง รักษา สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ให้ดี นั่นแหละคือยอดของการปฏิบัติธรรมะ มันก็จะได้รับผล ทีนี้แม้แต่ว่ากฎระเบียบกฎหมายหรือกฎระเบียบอะไรแม้แต่กฎของโรงเรียนอย่างนี้ ก็ควรฝึกฝนให้นักเรียนของเรานั้นระวังสังวรให้ดี แม้แต่กฎระเบียบของโรงเรียน ครูก็อย่าทำผิดกฎ นักเรียนก็อย่าทำผิดกฎ นี่เป็นอย่างต่ำแล้ว เรียกว่าเรื่องสังวร
ทีนี้จะพูดถึง ความถูกต้อง เรามักจะพูดกันว่าผิดชอบชั่วดี ผิดถูก หรือผิดชอบชั่วดี มันมีความสำคัญอยู่ที่ความถูกต้อง ถ้ามีความถูกต้องแล้วก็ไม่เป็นอะไร แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยจะมีความถูกต้อง อะไรๆ มันไม่ค่อยจะมีความถูกต้อง ไปดูเอาเองก็แล้วกัน ที่บ้าน ที่โรงเรียน กลางถนนหนทาง ที่ไหนมันก็ไม่ค่อยจะมีความถูกต้อง ฉะนั้นไปจัดเสียให้มันมีความถูกต้อง คำว่าถูกต้องนั้นไม่ยุ่งยากลำบากอะไรหรอก มันหมายความว่าไม่ให้โทษแก่ใคร มีประโยชน์แก่ทุกคน นั่นแหละคือความถูกต้อง อย่าไปมัวเถียงกันอย่างหลักปรัชญา ป่วยการ มัวเถียงกัน ดีคืออย่างไรถูกต้องคืออย่างไร ผิดพลาดคืออย่างไร นักปรัชญาพูดกันจนตายก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่เคยประพฤติได้ว่าถูกต้องนั้นมีผลขึ้นมา ฉะนั้นเราเอาตามภาษาธรรมดาความรู้สึกของเราว่าถูกต้อง ถูกต้องคือไม่ให้เป็นอันตรายแก่ใคร แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี้คือความถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ถ้าไม่อยากคิดเอาเอง ไม่อยากคิดมาก ก็ถือหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐินี้เป็นต้น นั่นแหละคือความถูกต้อง
ทีนี้ก็ องค์แห่งโพธิ เมื่อตะกี้พูดครั้งหนึ่งแล้ว องค์แห่งโพธิคือโพชฌงค์นั่นแหละ เป็นหลักปฏิบัติในฐานะเป็นธรรมะเครื่องมือ เอามาใช้เถิด ใช้อย่างทำนาก็ได้ เหมือนที่อธิบายมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ เรียกว่าองค์แห่งโพธิ ถ้าเด็กๆ เขารู้จักใช้แล้ว เด็กคนนั้นจะเก่ง ในการเรียนก็ดี ในการทำงานก็ดี อะไรก็ดี มันจะเก่งที่สุดแหละถ้ามันรู้จักใช้โพชฌงค์ แต่คนเดี๋ยวนี้เขาไม่มองเห็นอย่างนี้ แล้วเขาว่าเป็นไปไม่ได้ จะเอาธรรมะสูงของนิพพานมาใช้กับคนธรรมดาไม่ได้ นั่นคือมันไม่รู้ว่า ธรรมะชื่อเดียวกันนั้นใช้ได้ทุกระดับ แล้วธรรมะเครื่องมืออย่างนี้แล้วก็ใช้ได้ทุกระดับ ต่ำสุดจนถึงนิพพานใช้ธรรมะชื่อนั้นๆ เรียกว่าธรรมะเครื่องมือ
ทีนี้คำว่า สติโดยเฉพาะ จะพูดแยกออกมาจากโพชฌงค์ มาพูดถึงสติโดยเฉพาะ คือความระลึกได้ นี้คือจิตที่ทำหน้าที่ระลึกถึงวิชาความรู้ที่ถูกต้องที่ได้รับเล่าเรียนมา เราทุกคนศึกษาความรู้มากมาย แต่ถ้าไม่มีสติ ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร สติต้องเอาความรู้ที่เราเรียนไว้มาใช้ให้ทันเวลาที่มันเกิดเรื่องเกิดราว มันเกิดอะไรขึ้น สติต้องไปเอาความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ในกรณีนั้นๆ ทันแก่เวลา อย่างนี้เรียกว่าสติ โดยมากเราก็ไม่ค่อยมีสติ ไม่มีสติเสียเลย มันก็ไม่นึกได้เสียเลย หรือสติมันช้าไปมันก็ไม่ทันแก่เวลา มันก็ไม่ได้อะไรอีกเหมือนกัน ฉะนั้นสติต้องมาทันแก่เวลา มีประโยชน์ขนเอาปัญญามาใช้ทันแก่เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ สติต้องมาทันเวลา เอาความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไรก็ตามมาทันเวลา ควบคุมผัสสะไว้อย่าให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทีนี้เกลอของมันคือสัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะนี้ สัมปชัญญะก็คือรู้สึกด้วยปัญญาอยู่ตลอดเวลาที่มันจำเป็น สติมันไปเอาปัญญามา แล้วสัมปชัญญะนั่นคือมันรักษาความถูกต้องหรือความรู้นั้นได้อยู่ได้ตลอดเวลาที่จำเป็นที่เราจะต้องมีความรู้ คือมีสัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะนี้มันไม่แยกกัน สติขนเอาปัญญามา สัมปชัญญะรักษาเอาไว้ จนกว่าเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้นจะผ่านพ้นไป
ทีนี้ก็จะมาถึงคำสูงสุดที่คนสั่นหัว คือ บารมี ๑๐ ซึ่งเราก็เคยถูกด่าว่าเอามาใช้ในเรื่องของธรรมดา เพราะเขายกไว้ให้เป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วเป็นพระพุทธเจ้า แต่ทีนี้เราเอามาใช้ได้ ไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ถึงกับเป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่าสำเร็จประโยชน์ ดีที่สุดที่จะเป็นคนที่ดีที่สุดและตามหลังพระพุทธเจ้าไป บารมีคำนี้ มันเถียงกันอยู่ แต่อยากจะยุติว่า คำว่าบารมีนี้ มันแปลว่าเครื่องมือสำหรับทำให้เต็ม เป็นธรรมะประเภทเครื่องมือเหมือนกัน ถ้าเราบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้ว ความดีความงามความก้าวหน้ามันจะเต็ม เช่น จะเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่เราจะต้องการ เราจะเป็นสาวกที่ดี ก็บำเพ็ญบารมีได้ตามแบบของสาวก หรือแม้แต่จะเป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีก็ขอให้บำเพ็ญบารมี ๑๐ อย่างนี้ ลองดูเถิด มันจะเป็นได้เหมือนกัน นี้คำว่าบารมี
เอ้า,ทีนี้คำว่า ความจริง หรือสัจจะ ความจริง เรามีความจริงใจ ตั้งใจในความจริง,อธิษฐานสัจจะ ความจริงจะเรียกว่าสัจจะก็ได้ จะเรียกว่าอธิษฐานะก็ได้ คือให้มันจริงต่อธรรมะ จริงต่อความจริง จริงต่อบุคคล จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่อตัวเอง เดี๋ยวนี้คนมันไม่จริงต่อตัวเอง มันเรียกตัวเองว่ามนุษย์แต่มันไม่ได้เป็นมนุษย์ อย่างนี้มันไม่จริงต่อตัวเอง มันล้มเหลวหมด ฉะนั้นจะเป็นจริงแล้วก็ขอให้จริงตามที่ว่ามันจะจริงกันอย่างไร จริงต่อเพื่อนฝูงก็ขอให้จริงเถิด จริงต่อตัวเองก็ขอให้จริงเถิด จริงต่อเวลาก็ให้จริงเถิด จริงต่อฐานะของตน เป็นพระเป็นเณรเป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา ก็ขอให้มันจริงต่อสถานะอย่างนั้น นี่เรียกว่ามีสัจจะ เป็นการปฏิบัติธรรมะ รวมอยู่ในที่หลายๆ แห่ง เช่นในบารมี ๑๐ นี้ก็มีคำว่าสัจจะ
ทีนี้มาถึงคำว่า รู้บุญคุณ กตัญญู รู้บุญคุณ เดี๋ยวนี้มันบกพร่องมาก เขาไม่รู้แม้แต่ว่าธรรมชาตินี้มันก็บุญคุณ เพราะทำลายธรรมชาติกันเสียหมดจนเดือดร้อนเอง ไม่รู้บุญคุณของบิดามารดาครูบาอาจารย์อะไรหมด แล้วมันจะไปรู้บุญคุณของคนทั่วไปหรือของธรรมชาติอย่างไรได้ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะต้องสนใจเป็นอย่างมากที่จะอบรมนักเรียนนักศึกษาให้มันเป็นสัตว์กตัญญูรู้บุญคุณ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นคนทำลายโลก มันเป็นสัตว์อกตัญญูแล้วมันก็จะทำลายโลก
คำต่อไปก็คือคำว่า การให้ หรือทาน,ทานะ การให้ มนุษย์จะต้องมีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่น เพราะว่าตามธรรมชาตินั้นมนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ ธรรมชาติมันจัดมาอย่างนั้น ฉะนั้นมนุษย์จะต้องผูกพันกันเป็นหมู่ จะต้องมีการให้หรือให้ทาน นี่ผูกพันกันไว้เรียกว่าผูกมิตร นี่ประโยชน์อันแรกของการให้ทาน คือผูกมิตรสัมพันธ์กับทุกคน นี้เป็นส่วนหนึ่งนะ อีกส่วนหนึ่งเขาจะให้ทานนี้ก็เพื่อว่าทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้ามันเห็นแก่ตัวมันผูกมิตรกับใครไม่ได้ มันต้องหมดความเห็นแก่ตัว มันจึงจะผูกมิตรกับใครได้ หรือถ้าเห็นแก่ตัวแล้วมันเต็มไปด้วยกิเลส มันต้องทำลายความเห็นแก่ตัว มันจึงจะหมดกิเลส หมดความโลภ หมดความโกรธ หมดความหลงได้ เพราะไม่เห็นแก่ตัว นี่การให้ทานนี้ทำให้ไม่เห็นแก่ตัว จึงต้องทำ คำที่คล้ายกันคือจาคะ นี้บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน อะไรที่เป็นความเลวร้ายที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนนี้ ขอให้บริจาคออกไป
ทีนี้มาถึงคำว่า ศีล ศีละเป็นไทยแล้ว ศีละนี้เป็นภาษาไทยแล้ว แปลว่าปรกติ ภาวะปรกติก็เรียกว่าศีล การทำให้ปรกติก็เรียกว่าศีล เรารับศีลนี้รับสิ่งที่จะทำให้เกิดภาวะปรกติไปปฏิบัติ ครั้นเราไปปฏิบัติศีลตามที่เรารับไป เราก็มีภาวะปรกติคือสงบเย็น และยังเป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันโดยไม่กระทบกระทั่งกัน คนมีศีลนั้นไม่มีทางกระทบกระทั่งกัน ถ้ามีการกระทบกระทั่งกัน เป็นคนไม่ศีล แม้จะนุ่งขาวนุ่งเหลืองอย่างไรมันก็ไม่มีศีลไปได้ถ้ามันยังมีการกระทบกระทั่งกันคือมันไม่ปรกติ ฉะนั้นต้องมีภาวะปรกติ เครื่องทำให้เกิดภาวะปรกติเรียกว่าศีล ไม่ใช่ว่าจะถือกันแต่พวกอยู่วัด เด็กๆ ในชั้นอนุบาลนั้นมันก็ต้องมีศีล เด็กประถมมัธยมมันก็ต้องมีศีล มันจึงจะมีภาวะปรกติ
เอ้า,ทีนี้คือคำว่า เจริญ เครื่องเจริญ เครื่องทำความเจริญ เรียกเป็นบาลีว่าวุฑฺฒิ แปลว่าความเจริญหรือเครื่องทำความเจริญ นี่ก็ต้องเป็นการปฏิบัติ เพราะว่าการทำให้เจริญนั้นมันเป็นการปฏิบัติอยู่ในตัว คือให้เลือกอยู่ในที่ที่มีโอกาสคบคนดี ให้เลือกอยู่ในที่ที่มีโอกาสจะได้คบหรือพบปะกับคนดี แล้วก็เข้าไปคบกันกับคนดี แล้วก็ไปฟัง ไปถาม ไปศึกษาเล่าเรียนมาใคร่ครวญดูให้ดีๆ แล้วปฏิบัติตามที่ควรจะปฏิบัติ มันจะพบความเจริญแน่ นี่หลักมันมีอยู่อย่างนี้นะ เด็กๆ ก็จะต้องทำได้ เพราะเขาทำไม่ได้เขาจึงไม่พบกันกับความเจริญ เขาไปสู่อบายมุขกันหมด
ทีนี้คำว่า สังคม มันเป็นภาษาการเมืองหน่อยนะ แต่เราไม่พูดการเมือง สังคมนี้มันแปลว่ามาอยู่ด้วยกัน มาพร้อมๆ กัน มาร่วมกันทำอะไรนี้ ภาษาบาลีเรียกว่าสังคม เรื่องสังคมนี้สำคัญมาก คือว่าจะต้องประพฤติให้ถูกต้องต่อสิ่งที่เป็นที่สองไปจากเรา นับตัวเราเป็นหนึ่ง แล้วอะไรที่มันออกไปจากเราเป็นสิ่งที่สองแล้ว ก็เรียกว่าผู้อื่นแหละ และผู้อื่นนี้ก็คือสังคม ฉะนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสังคมที่อยู่รอบตัวเราเสียก่อน ไปอ่านเรื่องทิศ ๖ เอาเอง ในหนังสือ เช่น นวโกวาทเป็นต้นก็มี ข้างหน้า-บิดามารดา ข้างหลัง-บุตรภรรยา ข้างซ้าย-เพื่อนฝูง ข้างขวา-ครูบาอาจารย์ ข้างบนคือพระเจ้าพระสงฆ์ ข้างล่างคือบ่าวไพร่กรรมกรหรือคนใต้บังคับบัญชา ท่านแยกไว้เป็น ๖ ทิศทาง ทำผิดไม่ได้ ใครทำผิด ผลร้ายย่อมเกิดแก่คนนั้น ฉะนั้นประพฤติต่อทิศทั้ง ๖ นี้ให้ถูกต้องเรียกว่าสังคมถูกต้อง เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่ง จำเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ว่าจะอยู่ในฐานะอย่างไรก็จะต้องมีทิศทั้ง ๖ ที่ตนจะต้องรับผิดชอบ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันกระทำกันไม่ถูกต้อง มันเกิดปัญหา แล้วความคิดเห็นก็ถเลไถลไกลไปจนเกิดเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นชนกรรมาชีพ เป็นนายทุน เป็นจักรวรรดินิยม นี่สังคมกำลังบ้าที่สุด แล้วโลกมันก็หาความสงบสุขไม่ได้ ถ้าเราทำถูกต้องกันตั้งแต่ต้นๆ แล้วมันไม่มีปัญหาอย่างนี้ เรียกว่าอย่าทำผิดในเรื่องของสังคม อาตมาคิดคำว่าธัมมิกสังคมนิยม เอาตามหลักของศาสนา คือให้ชีวิตทุกชีวิตนั้นร่วมกันเป็นสุข พวกคอมมิวนิสต์พวกสังคมนิยมอะไรก็ตามเขาคล้ายๆ กับถือว่าในโลกนี้มีคนสองพวก คือพวกนายทุนกับชนกรรมาชีพ เขาทำเหมือนกับว่าในโลกนี้มีคนเพียงสองพวก คือพวกนายทุนกับพวกชนกรรมาชีพ แล้วก็ทำไปอย่างเพื่อประโยชน์ของตนๆ มันก็ฟัดกันเรื่อยไป มันก็กัดกันเรื่อยไป ไม่มีทางที่จะสงบสุขได้ ฉะนั้นเราเปลี่ยนหลักเกณฑ์เสียใหม่ ในโลกนี้ไม่ใช่มีแต่คนสองพวกนี้ ให้มีคนทุกพวกชีวิตทุกระดับ นับตั้งแต่มด แมลงตัวเล็กๆ ขึ้นไปถึงสัตว์ตัวโต ถึงคน คนยากจน คนขอทาน คนอะไรก็ตาม มันรวมอยู่ในคำว่าสังคมนี้ กระทั่งคนมั่งมี คนเศรษฐี ราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ์ ดึงเอาเทวดามาด้วยก็ได้ ให้มาอยู่ในสังคมเดียวกันหมด แล้วมันก็ไม่มีปัญหา ทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีปัญหา เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง รวมสิ่งที่มีชีวิตเป็นสังคมเดียวกัน ทุกคนทำหน้าที่ของตน เพราะว่าหน้าที่นั้นเป็นธรรมะ ทำหน้าที่ก็คือปฏิบัติธรรมะแล้วก็พอใจก็ทำมาก ปฏิบัติหน้าที่มาก คือทำงานสนุกไปเลย ยิ่งเหงื่อออกยิ่งสนุก เพราะมันเป็นหน้าที่ที่เป็นธรรมะ เมื่อสนุกในการทำงานอย่างนี้แล้วมันก็หมดปัญหาแหละ ไม่ต้องไปขโมย ไม่ต้องไปคอยปล้นจี้กลางถนน ไม่ต้องมีอาชญากรเหมือนที่เต็มอยู่ทั้งเมือง เพราะว่าคนมันสนุกในการทำงานตามหน้าที่ที่อยู่ในสังคมนี้ ได้ผลงานมากแล้ว อย่ากินอย่าใช้ให้มันเกินไป กินแต่พอดี มันก็จะเหลือสำหรับช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่ขอฝากไว้สักประโยคหนึ่งว่าทำให้มาก เพราะมันเป็นธรรมะ ทำให้มาก แล้วกินใช้หรือเก็บไว้แต่พอดี แล้วก็เหลือไปช่วยผู้อื่นเถิด ถ้าทุกคนปฏิบัติกันอย่างนี้แล้ว โลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอาริยเมตตรัยขึ้นมาทันที
เอ้า,ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่า/ ก็จะจบแล้วนะ เพราะดูจะมีคนง่วงนอนกันบ้างแล้ว/ คือว่า หัวข้อคำสอน เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์,หัวข้อคำสอน เป็นที่สรุปการปฏิบัติทั้งหลาย หัวข้อคำสอน เว้นบาป ทำบุญ แล้วจิตใจอยู่เหนือบาปเหนือบุญ คือไม่ยึดถือ บาปคือสกปรก บุญคือล้างบาปให้สะอาด แต่แล้วก็ไม่ยึดถือเอาไว้ให้หนักอกหนักใจ เรียกว่าจิตต้องผ่องใส ไม่พัวพันกับบุญและบาป นี่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ไกลอย่างนี้นะ ไม่ใช่หยุดอยู่แค่บุญนะ ถ้าหยุดอยู่แค่บุญมันก็อยู่กับบุญนั่นแหละ มันก็ตายอยู่กับบุญ มันก็ไม่ออกไปจากโลกนี้ได้ ฉะนั้นหลักรวมคำสอนทั้งหมดก็ว่าเว้นบาปแล้วก็ทำบุญกุศล แล้วก็มีจิตไม่ติดมั่นอยู่ในบาปและในบุญนั้น นั่นแหละหัวข้อคำสอนทั้งหมดก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้มันรู้จักคำว่าบุญว่าบาปในแบบที่ว่าไม่รู้ว่าอะไรกันเสียหมด ยึดถือบุญบาปเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ต้องควบคุมอะไรกัน ความชั่วนั่นแหละคือบาป บุญนั้นคือสิ่งที่จะกำจัดความชั่ว ครั้นแล้วก็มีจิตใจอยู่เหนือทุกสิ่ง นั่นเขาเรียกว่าความหลุดพ้น วิมุตติหลุดพ้น เป็นโลกุตตระ นี้ประมวลคำสอนทั้งหมดๆ มันอยู่ที่ว่าไม่ทำบาป แล้วก็ทำบุญ แล้วก็มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง
เอ้า,คำสุดท้าย จบแล้ว คือ ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทเป็นที่รวมแห่งการปฏิบัติหรือธรรมะทั้งปวง ไม่ประมาทๆ นี้ความหมายมันกว้างเหลือเกินจนไม่รู้ว่า อะไร เท่าไหร่ ขอให้ใช้คำบาลีต่อไปเถิด อย่าไปแปล แปลแล้วก็จะผิดทั้งนั้นแหละ จะโง่เอง อย่าไปแปลเข้า คำบางคำ ภาษาบาลีบางคำอย่าไปแปลเข้า ไม่ประมาท ก็ใช้คำว่าไม่ประมาทไปตามเดิมเถิด ไม่ประมาทนี้มันมีครบทุกอย่างที่มันจะรอดได้ มีความรู้ไม่โง่ มีสติสัมปชัญญะ นี้ก็ไม่ประมาท มีหิริโอตตัปปะเกลียดบาปกลัวบาป นี้ก็ไม่ประมาท ก็มีการกระทำที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละจะเป็นคำบัญญัติข้อความที่มันถูกต้องหรือสมบูรณ์ คล้ายๆ กับจะเอาเปรียบ พูดว่าทำไม่ผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือความไม่ประมาท ฉะนั้นมีความรู้ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีหิริ มีโอตตัปปะ ที่มันจะต้องมีก็ครบหมดแหละ นี่ก็เรียกว่าผู้ไม่ประมาท แล้วก็ไม่ตายคือไม่เป็นทุกข์ไม่เสียหาย ความไม่ประมาทเป็นที่รวบรวมแห่งธรรมทั้งปวงที่จะต้องปฏิบัติ ท่านตรัสเปรียบเหมือนกับว่า ในบรรดาสัตว์ในโลกนี้ รอยเท้าช้างนี้ใหญ่กว่ารอยเท้าใดๆ รอยเท้าอื่นมาใส่ลงไปในรอยเท้าช้างได้ และรอยเท้าช้างนั่นแหละเปรียบเหมือนกับความไม่ประมาท เป็นธรรมะใหญ่ ธรรมะใดๆ เอามาใส่ลงไปได้ในความไม่ประมาท นี่คือความไม่ประมาท มันละเอียดอ่อนมาก มันคงปฏิบัติยากบ้างแหละ เพราะมันละเอียดอ่อนมาก แต่ก็ต้องปฏิบัติ และอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้
นี่ขอจบลงด้วยคำๆ นี้ ที่อาตมาพูดนี้เอาตามความสะดวก เพราะว่ามันไม่สามารถจะจัดลำดับได้คำเหล่านี้ หลายสิบชื่อนี้ ถ้าจะจัดให้เป็นลำดับสูงต่ำ มันจัดไม่ได้ เพราะว่าบางทีมันอยู่ที่ต่ำ บางทีมันกระโดดไปอยู่ที่สูง ฉะนั้นพูดไปตามสะดวก อะไรมันจะมาถึงก่อนหรือสะดวกที่จะก็พูดก่อนก็พูด จึงได้พูดเรื่องคำ ดูเหมือนสัก ๔๕ คำ ที่เป็นชื่อของการปฏิบัติ ตั้งแต่คำแรกที่สุดว่า หลีก หลีกอย่าให้มันเกิดเรื่อง จนมาถึงคำสุดท้ายว่า ไม่ประมาท
นี่ท่านทั้งหลายขอร้องให้อาตมาพูดด้วยหัวข้อว่า ธรรมะภาคปฏิบัติ มันก็ต้องพูดกันอย่างนี้ ทีนี้ลองปฏิบัติเถิด มันจะมีเกิดผลดี เกิดผลดีทุกประการแหละ ดีในโลกนี้ ดีในโลกอื่น ดีเหนือโลก หรือว่าดีส่วนบุคคล ดีส่วนสังคม แม้ที่สุดในแง่ของการเมืองก็จะดี จนถึงกับว่าโลกนี้จะมีสันติภาพ
สรุปความว่าการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งนั้นแหละ รู้เฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนมีแต่นา วัว ควาย แล้วก็ไม่ได้ทำนา มันก็ไม่ได้กินข้าว ฉะนั้นขอให้ความรู้นั้นลงไปเป็นการปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติ มันก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นปัญหาให้มนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมาน นี่การพูดบรรยายนี้มันเกินกว่าความสมควรแก่เวลาแล้ว เพราะมันอยากจะพูดเสียให้หมด ก็เป็นอันว่ายุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ท่านทั้งหลายเอาไปใคร่ครวญเถิด อยากจะจัดหมวดหมู่อย่างไรก็จัดได้เอง ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้