แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หรือที่กำลังจะเป็นครูทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่สองของเรานี้จะกล่าวโดยหัวข้อที่ติดต่อกันไปกับหัวข้อในครั้งที่แล้วมา ในครั้งที่แล้วมาเราพูดกันถึงเรื่องหลักธรรมที่ช่วยความเป็นครู เรียกว่า ครุธรรมปริทัศน์ คือดูกันตรงนี้ดูกันคร่าว ๆ ถึงสิ่งที่จะช่วยทำความเป็นครูให้แก่เรา มันก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่นแหละ ทีนี้เราจะดูให้ชัดยิ่งขึ้นไป เรามีหัวข้อในวันนี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียว ข้อนี้เป็นความรู้แม่บทหรือรากฐานของความรู้ทั้งหลายคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียวพยางค์เดียวด้วยซ้ำ ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เพียงพยางค์เดียวนี้ให้มากเพราะว่าที่เรารู้มาแล้วนั้นมันน้อยนักแล้วเราก็จะไปสอนคนอื่นด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรม
เท่าที่สังเกตเห็นในโรงเรียน ในวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย พอพูดขึ้นว่า ธรรมคืออะไร ก็จะเล็งถึงแต่ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเรียกว่า ธรรม ที่จริงก็มีความหมายกว้างแล้วแต่มันยังไม่หมดแล้วมันก็นิดเดียว ในเมื่อเอาไปเทียบกันเข้ากับความหมายของคำว่า ธรรม ในทุกความหมาย ถ้ามันจะแปลกไปบ้างหรือมันมากเกินไปบ้างก็ขอให้ทนศึกษาเกี่ยวกับคำ ๆ นี้เป็นเรื่องแรกเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ถึงกับต้องบอกว่าขอให้ทนศึกษานี้ก็เพราะว่ามันกว้างขวางมันยืดยาว บางทีจะเลยขอบเขตของความสนใจไปก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นนักเรียนจริงเป็นนักศึกษาจริงจะรู้สึกสนุกในการที่จะได้ศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับคำว่า ธรรม นี้ให้สมบูรณ์ มันมีความสำคัญมากถึงกับเราควรจะยอมเสียเวลาพิจารณาแล้วก็ทนเหน็ดเหนื่อยที่จะทำการพิจารณา
ภาษาไทยเราเรียกว่า ธรรม เขียน ทอ-รอหัน-มอ นี้มันถอดมาจากภาษาสันสกฤตที่เรียกว่า ธรฺมะ ธ ธง ร เรือ จุดใต้ แล้ว ม ม้า ออกเสียงเป็นภาษาไทยก็ไม่ค่อยถูกว่า ทา-รา-มะ (ธรมะ) มันเป็นภาษาสันสกฤต ภาษาไทยเราออกจากภาษาสันสกฤตเพราะว่าไอ้พวกครูที่มาเป็นครูบาอาจารย์รุ่นแรกมันเป็นพวกพราหมณ์ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต นี้ภาษาไทยของเราจะอยู่ในรูปสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่หรือว่าทั้งหมดก็ได้ในยุคที่แล้วมา เพิ่งจะมานิยมใช้คำบาลีกันขึ้นบ้างก็ตอนหลัง สำหรับคำว่า ธรรม ที่เป็นภาษาบาลีนั้นจะต้องเขียน ธ ธง แล้ว มอ จุดใต้ แล้วมออีกตัวหนึ่ง (ธมฺม) ไปเทียบกันดู จะเป็นสันสกฤตก็ ธ ธง ร เรือ จุดใต้ แล้วก็ม ม้า (ธรฺม) แล้วเป็นภาษาบาลี ธ ธง มอจุดใต้ แล้วมออีกตัวหนึ่ง (ธมฺม) นี่พอมาเป็นภาษาไทยเราเขียน ธ ธง รอหัน มอม้า (ธรรม) ก็อ่านว่า ทำ สันสกฤตเขาออกเสียงเป็น ทำ-ระ-มะ ภาษาบาลีออกเสียงเป็น ทำ-มะ แม้เสียงจะต่างกันความหมายคือสิ่งเดียวกัน จำไว้เป็นความรู้เบ็ดเตล็ดนอกเรื่องสักอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ไอ้พวกรอหัน (รร) มันมาจากไอ้รอจุดใต้ (รฺ) ในภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ถ้าในรูปสันสกฤตมันเป็นตัวรอจุดอยู่ข้างใต้ (รฺ) แล้วพอมาเป็นภาษาไทยเขียนเป็นรอหัน (รร) หมด เช่นคำว่า สรรค์ เช่นคำว่า มรรคา เช่นคำเหล่านี้มันมาจากไอ้รอจุดใต้ (รฺ) ของภาษาสันสกฤต นี่คือธรรมะ (ทำ-มะ) ในภาษาบาลีหรือธรฺม (ทำ-ระ-มะ) ในภาษาสันสกฤต มาเป็นธรรมเฉย ๆ ในภาษาไทย นี้ตัวหนังสือ
ทีนี้เราก็ถามต่อไปว่า ไอ้ตัวหนังสือตัวนี้มันมีรากศัพท์มี Root ของศัพท์ว่าอย่างไร ไอ้รากศัพท์หรือธาตุของศัพท์ตัวนี้มันมีความหมายว่า ทรงไว้หรือดำรงไว้ เรียกว่า ทรง เฉย ๆ ก็แล้วกัน คำว่า ทรง ในภาษาไทยคือรากศัพท์ของคำว่า ธรรม ในภาษาบาลี ทรงตัว ทรงรูป ทรงลักษณะ ทรงอะไรก็ได้ เรียกว่าทรง เฉย ๆ ก็แล้วกัน คือคำว่า ธรรม แปลว่าทรง ทรงไว้ นี้เรียกว่าโดยพยัญชนะคือโดยตัวหนังสือแปลว่า ทรง
ทีนี้โดยอรรถะคือโดยความหมาย มันก็ต้องพูดกันว่า ทรงอะไร ทรงตัวมันเองก็ได้ ทรงสิ่งอื่นก็ได้ ทรงมนุษย์ ทรงคนนี้ก็ได้ โดยกฎแห่งเหตุผลมันทรงไว้ซึ่งตัวมันเอง แล้วทรงสิ่งต่าง ๆ ทรงตัวมันเองก็หมายความมันอยู่ได้มันอยู่กัน ก้อนหินอยู่ได้ เป็นต้นไม้อยู่ได้ เป็นสัตว์อยู่ได้ เป็นคนอยู่ได้นี้ มันทรงอยู่ได้ ลักษณะอย่างนี้ ทรงตัวมันเองเป็นตัวมันเองอยู่ แล้วที่ดีกว่านั้นมันค่อยไปทรงสิ่งอื่นเป็นปัจจัยแก่สิ่งอื่น ให้สิ่งอื่นทรงตัวอยู่ได้ที่เรียกว่า ทรงสิ่งต่าง ๆ ไว้ เราจึงอธิบายกันว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว อย่างนี้มันทรงสิ่งอื่นนะ ถ้าทรงตัวมันเองมันก็ทรงสักว่าให้มีตัวมันเองอยู่
สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ๒ ประเภท คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง กับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ๒ ชนิดเท่านั้น ไม่มีมากกว่านี้ สิ่งใดมีความเปลี่ยนแปลงมันก็ทรงตัวความเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ได้ คือมันยังคงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามลักษณะของมัน มันทรงความเปลี่ยนแปลงอันนี้ไว้ได้มันก็มีตัวมันอยู่ นี่คือสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏแก่เรานี้มันเปลี่ยนแปลง เสร็จแล้วตัวความเปลี่ยนแปลงนั้นมันทรงตัวมันอยู่ได้ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป มันก็มีอยู่ให้เราเห็นเรื่อยไป ทีนี้สิ่งอีกสิ่งหนึ่งมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความที่มันไม่เปลี่ยนแปลงมันทรงตัวมันอยู่ได้ สิ่งนี้เข้าใจยาก ครูไม่เคยสอนในโรงเรียน เขาเรียกกันในภาษาบาลีว่า “อสังขตะ หรือนิพพาน” เข้าใจยาก ไอ้ภาษาวิทยาศาสตร์หรือปรัชญามันก็มีอยู่ phenomena คำนี้เป็นพหูพจน์ หมายถึง ทุกสิ่งที่มันปรากฏแก่เรา เรียกว่า phenomena แล้วมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามแล้วมีอยู่สิ่งเดียวอย่างเดียวเรียกว่า nominal คือมันตรงกันข้ามกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่มีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลง มันไม่มีอะไรที่มันตรงกันข้ามไปหมด ฝรั่งเองก็ไม่ค่อยรู้จักแต่รู้ว่ามันมี มีสิ่งนั้นที่ตรงกันข้ามกับ phenomena นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง มันมีตัวของมันอยู่ได้โดยความที่มันไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงกล่าวได้ว่าไม่ว่าสิ่งไหนทุกสิ่งน่ะมันต้องมีการทรงตัวมันอยู่ ไอ้สภาพที่มันทรงตัวอยู่นี้คือความหมายของคำว่า ธรรม หรือธรรมะ ค้นคว้าดูในทางศัพทศาสตร์มีเค้าเงื่อนให้เห็นว่ามันตรงกับในคำว่า form f-o-r-m ซึ่งแปลว่ารูปร่าง รูปโครง หรือรูปทรง แต่คำว่า form ในภาษาปัจจุบันนี้ความหมายมันแคบเสียแล้ว ต้องเอาความหมายคำว่า form ในสมัยตั้งพันปีมาแล้วในสมัยที่ใช้ภาษาละตินเขาเขียนว่า forma ก็ไปเปิดดูไอ้ root ของคำว่า forma ก็กลายเป็นทรง คำว่าทรง uphold ทรงขึ้นไว้ คำว่า form รากศัพท์ของมัน ทรงขึ้นไว้หรือทรงอยู่ก็คือทำให้สิ่งต่าง ๆ ปรากฏอยู่ คำว่า form หมายความอย่างนั้น ไม่ใช่หมายความแต่เพียงรูปหรือแบบ หรือยูนิฟอร์มอย่างเดียว ดังนั้นดูความหมายอันลึกซึ้งของคำว่าทรงไว้ หรือธรรมะ มันเป็นอย่างนี้ มันจึงลึกซึ้งมันจึงลึกหมดกว้างขวางทั่วไปซึ่งเราไม่เคยรู้จักใช่ไหม จึงต้องขอร้องช่วยทนหน่อยถ้าจะศึกษาความหมายของคำว่า ธรรม ธรรมะ มันมากอย่างนี้ นี้เรียกว่าโดยอรรถะหรือความหมาย หมายถึง ทรงตัวมันไว้แล้วมันก็พลอยทรงสิ่งอื่นไว้ด้วย ธรรมะจะทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ดังนั้น ธรรมะมันก็มีรูปมีแบบมีฟอร์มของมันอย่างหนึ่ง ทรงตัวมันเองไว้ได้แล้วมันก็จะทรงสัตว์ทั้งหลายไว้ได้อยู่ถ้าปฏิบัติธรรมะ
ทีนี้สิ่งทั้งหมดที่มันทรงตัวมันได้อย่างนี้มันมีมาก ธรรมะมันมีมากมีหลายประเภท เราจะเอากันแต่เพียง ๔ ประเภท เรียกว่า ธรรมะใน ๔ ความหมาย ๆ
ธรรมะในความหมายที่หนึ่งเราเรียกว่า สัจธรรมะ หรือสัจธรรม ธรรมะ คือ ความจริงในฐานะที่เป็นกฎ ดังนั้น ธรรมะในความหมายนี้หมายถึง กฎของธรรมชาติหรือกฎของความจริง หมายถึงตัวกฎนะและกฎนั้นต้องเป็นความจริง ถ้าไม่จริงไม่ใช่กฎ กฎนั้นต้องไม่หลอกด้วยก็เลยเรียกว่าไม่มุสา อโมสธรรมะ แปลว่า สิ่งที่ไม่มุสา สิ่งนั้นคือสัจจะ สิ่งไรเป็นสัจจะสิ่งนั้นเป็นกฎ แล้วสิ่งนั้นต้องเป็นอสังขต นี่แปลกหูแล้วใช่ไหม อสังขต แปลว่า ไอ้สิ่งซึ่งสิ่งใดแตะต้องมันไม่ได้ สิ่งซึ่งสิ่งใดไปแตะต้องไป treat ไปอะไรมันไม่ได้ มันไม่เปลี่ยนแปลงหมดสิ่งนี้ก็เรียกว่า อสังขต ดังนั้น กฎต้องเป็นอย่างนี้เสมอจะเป็นกฎวิทยาศาสตร์ กฎธรรมชาติ กฎอะไรก็ตามต้องมีลักษณะอย่างนี้ ต้องเป็นสัจจะที่จริงด้วย ต้องเป็นอมุสะคือไม่หลอกด้วย และต้องเป็นอสังขตคือไม่มีอะไรไปทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เราเรียกว่า กฎ หรือสัจจะ ในทางศาสนาเราก็จะเรียกว่า สัจธรรม คือ กฎของธรรมชาติ แล้วก็มีอยู่ทั้งนอกตัวเราและในตัวเรา หาให้พบ กฎธรรมชาติที่มันมีอยู่ในตัวเราคือที่มันควบคุมอะไรอยู่ในตัวเรา มันควบคุมสิ่งต่าง ๆ อยู่นอกตัวเรานี้ ดังนั้น กฎธรรมชาตินี้เราจะหาดูได้พบได้ทั้งในตัวเราและนอกตัวเรา ธรรมะในความหมายที่หนึ่งเรียกว่า สัจธรรม คือ กฎของธรรมชาติ
ความหมายที่สองก็จะเรียกว่า สภาวธรรม คล้าย ๆ จะสอนบาลีกันสักหน่อย แต่มันมีประโยชน์มาก จดจำไว้ สภาวธรรม แปลว่า สิ่งที่เป็นอยู่เอง ส (สะ) แปลว่า เอง ภาวะ แปลว่า เป็น สภาวะ แปลว่า เป็นอยู่เอง สภาวธรรม แปลว่า สิ่งที่เป็นอยู่เอง อันนี้คือตัวปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกฎนะอย่าไปปนกัน กฎมันคือกฎของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้มันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎ ดังนั้น ปรากฏการณ์ก็คือ phenomena ทั้งหลายปรากฏแก่เราทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหลียวไปที่นั่นก็มี ข้างในที่คิดนึกมันก็มีเขาเรียกว่า ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น กายข้างนอกก็ได้ ปรากฏแก่จิตใจข้างในก็ได้มาจากความคิดนึกรู้สึก มันก็เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่ปรากฏแก่จิตใจ นี่เป็นหลักทางธรรมทางพุทธศาสนา แต่ทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้เขาเรียนกันเขาคงไม่เอาสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ก็ได้ ถ้ามันเกิดไปตีกันเข้าแล้วมันก็ต้องแบ่งแยกกันทันทีว่า เขาจะพูดตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่หรือจะพูดตามหลักของพุทธศาสนา หลักธรรมะที่มันไปไกลและไปลึกกว่าไอ้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ดังนั้น อันที่สอง คือ สภาวธรรม คือปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติทั้งที่มีอยู่ในตัวเราและทั้งที่มีอยู่นอกตัวเรา
ความหมายที่สามจะเรียกว่า ปฏิปัตติธรรมะ ปฏิปัตติธรรม ใช้คำว่าธรรม ก็ธรรมไปให้หมด ปฏิปัตติธรรมนี้คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกที่มีชีวิต ทั้งต้นไม้ทั้งสัตว์เดรัจฉานทั้งคนนี้ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องมีหน้าที่ที่ จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่อันนั้นเราเรียกว่า ปฏิปัตติธรรม แปลว่า หน้าที่ที่ต้องทำ แล้วการที่ต้องทำนี้ต้องทำต่อตัวเองด้วย ต้องทำต่อสิ่งอื่น ๆ นอกตัวเองด้วย มันมีทั้งข้างในและข้างนอก รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ หรือ duty ก็แล้วกัน ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยปราศจากหน้าที่ เดี๋ยวค่อยพูดกันโดยละเอียดกว่านี้
อันที่สี่อันสุดท้าย เรียกว่า ปฏิเวธธรรม ธะนี้ ธ ธง นี้คำแปลกสำหรับผู้ศึกษาอย่างธรรมดา มันเป็นภาษาวัดโดยเฉพาะ ปฏิเวธธรรมนี้ผลที่เรารู้สึก ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่แล้วก็ที่เรารู้สึกแก่จิตใจของเราก็เรียกว่า ปฏิเวธ ปฏิเวธ แปลว่า รู้แจ้งแทงตลอดต่อสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ในใจ กำลังมีอยู่ในใจ เป็นปฏิกิริยาก็ได้ เป็นวิบากกรรมก็ได้ อะไรก็ได้ ผลเกิดขึ้นตามหน้าที่จะตรงตามหน้าที่คือเกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ ผลไม่เกิดได้อย่างผิดกฎธรรมชาติ ต้องเกิดตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็เกิดแก่เราก็ได้เกิดแก่สิ่งนอกตัวเรา เช่น เกิดแก่สังคมก็ได้ นี้มันจะมีเหตุในตัวเราและนอกตัวเราเป็นคู่กันไปทุกอย่าง อย่างนี้เราเรียกว่า ผล
ครบสี่ความหมายแล้ว ขอร้องให้พยายามที่จะเข้าใจสิ่งทั้งสี่นี้ให้มากที่สุด มันจะเข้าใจสากลจักรวาล มันจะเข้าใจทั้งเรื่องรูปธรรม นามธรรม เข้าใจศาสนา เข้าใจวิทยาศาสตร์ เข้าใจปรัชญาได้โดยง่าย ถ้าเรารู้จักสิ่งทั้งสี่นี้ ก็ทบทวนดูเอาแต่ชื่อสั้น ๆ ข้อ ๑. กฎของธรรมชาติ ๒. ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ๓. หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ๔. ผลที่จะเกิดขึ้นมาตามกฎของธรรมชาติ ตัวกฎ ตัวปรากฏการณ์ แล้วก็ตัวหน้าที่ แล้วก็ตัวผล สี่อย่างนี้จำให้แม่นแล้วคอยสังเกตดูในทุกกรณีที่อะไรมันเกิดขึ้นแก่เรา เราจะได้รู้ว่ามันเป็นกฎธรรมชาติอย่างไร เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติอย่างไร เราได้ทำอย่างไรลงไป มันมีผลอย่างไรขึ้นมา ทั้ง ๔ อย่างนี้มันเรียกว่า ธรรม เพียงคำเดียว สัจธรรมก็เรียกว่า ธรรม สภาวธรรมก็เรียกว่า ธรรม ปฎิปัตติธรรมก็เรียกว่า ธรรม ปฏิเวธธรรมก็เรียกว่า ธรรม เลยเหลือธรรมเพียงคำเดียว ทุกอย่างคือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เพียงคำเดียว ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้เพียงสิ่งเดียวคือหัวข้อที่เราจะต้องพูด
ทีนี้ดูสัจธรรม และกฎ ในโรงเรียนก็เรียนในวิทยาลัยก็เรียนสิ่งที่เรียกว่า กฎ กฎนี้ กฎที่ธรรมชาติกำหนดไว้กับกฎที่มนุษย์บัญญัติขึ้น อันไหนมันจริงกว่า ก็เข้าใจที่ว่าถ้ามนุษย์ตั้งขึ้นมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงได้ มนุษย์ตั้งขึ้นก็ตั้งตามความคิดความเห็นความรู้สึกของมนุษย์นั้นไม่ใช่กฎธรรมชาติแล้วก็ไม่จริงด้วย ไม่สัจจะ ไม่อมุสะ ไม่อสังขตะเหมือนอย่างที่กฎธรรมชาติ ถ้าลงธรรมชาติตั้งแล้วมันผิดไม่ได้มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ได้ตั้งให้ใครด้วยมันเป็นกฎของมันเอง ใครไม่รู้มันก็เดือดร้อนเอง ที่เรียกว่ากฎวิทยาศาสตร์นี้ไปดูให้ดีว่า ธรรมชาติตั้งหรือมนุษย์ตั้ง ๆ มนุษย์ตั้ง ไม่ถูก ธรรมชาติตั้ง แต่ว่ามนุษย์ไปรู้ รู้เท่าไรก็ว่าเอาเองเท่านั้น ศาสตราจารย์บัญญัติกฎวิทยาศาสตร์ในแบบเรียนวิทยาศาสตร์นั้นก็มันก็เท่าที่อาจารย์คนนั้นรู้หรือนักวิทยาศาสตร์คนนั้นรู้ แต่กฎนั้นเป็นกฎธรรมชาติจริง กฎธรรมชาติทั้งหลายเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์อย่างนี้มันก็กฎธรรมชาติแท้ ๆ แต่รู้ไม่หมด มันรู้เท่าไหร่มันตั้งเท่านั้น ดังนั้น ที่เอามาให้เราเรียนมันเป็นบัญญัติตามที่นักวิทยาศาสตร์เขารู้ บางอย่างก็จริง จริงหมดเหมือนกันแต่บางอย่างก็ยังไม่หมดมันยังไม่จริง เราต้องดูให้ดี ถ้ากฎวิทยาศาสตร์ กฎปรัชญา กฎอะไรที่มนุษย์บัญญัตินี่ยังไม่สมบูรณ์ยังไม่จริงถึงที่สุด แต่ถ้าของธรรมชาติมันจริงถึงที่สุดแล้วรู้ไม่หมดแล้วเอามาพูดเท่าที่รู้ ดังนั้น ยังไม่จริงโดยสมบูรณ์ เราจะเรียนวิทยาศาสตร์ก็ได้ก็จะเชื่อกฎวิทยาศาสตร์เท่าที่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริงก็ได้แต่ยังไม่ได้หมด แล้วให้รู้ว่ากฎนั้นธรรมชาติตั้ง แล้วผู้ค้นคว้าพบเอามาบัญญัติพูดสอนเรา ดังนั้น เท่าที่เราเรียนในหนังสือนั้นเราเรียนเท่าที่คนบัญญัติคนแต่งตั้ง จะพูดว่าธรรมชาติตั้งก็ถูกแล้วแต่คนเอามาไม่หมด นี่รู้จักสัจธรรมของพุทธศาสนาให้ไกลกว่านั้น ให้ไกลกว่ากฎวิทยาศาสตร์หรือกฎอะไรที่มนุษย์ตั้ง ถ้าเป็นธรรมชาติตั้งแล้วพระพุทธเจ้าค้นพบแล้วพบหมดเท่าที่จำเป็นแก่มนุษย์สำหรับจะดับความทุกข์ ดังนั้น สัจธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาประกาศนั้นมันก็เป็นกฎธรรมชาติแต่ท่านไม่เอามาทั้งหมด ท่านเอามาเท่าที่จะดับทุกข์ได้เอามาสอน ท่านก็เลยให้คำเปรียบข้อนี้ไว้จำไว้ง่าย ๆ ว่า เอามาสอนกำมือเดียวเท่าที่มันมีอยู่หมดทั้งป่า ใบไม้หมดทั้งป่านี้มันมากเท่าไร แล้วพระพุทธเจ้าท่านว่าท่านเอามาสอนให้กำมือเดียวเท่านั้น คือเท่าที่จำเป็นที่สุดเพราะว่าเราจะเรียนให้หมดไม่ไหว เราก็เรียนแล้วก็ปฏิบัติเท่ากับว่าเท่าที่จำเป็นอย่างไรเท่าไร นี้ก็เลยเท่ากับใบไม้กำมือเดียว มนุษย์จะรู้จักกฎของธรรมชาติก็เพียงเท่าใบไม้กำมือเดียวเพราะทั้งหมดมันยังอีกมากนัก มันไม่อาจจะรู้หรือว่ารู้แล้วมันก็เอามาทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นที่มันจะเป็นประโยชน์ได้จริงและจำเป็นนี้เปรียบเทียบกันแล้วมันเท่ากับว่าใบไม้กำมือเดียวไปเทียบกับใบไม้หมดทั้งป่าทั้งประเทศทั้งโลกนี่ สัจธรรมจะอยู่ในสภาพอย่างนี้
ทีนี้ดูในตัวเราและนอกตัวเรา ในตัวเรามันมีกฎธรรมชาติอยู่ที่ไหน ทำไมเราต้องกินข้าว ทำไมเราต้องไปถานไปส้วม นี้มันเห็นง่าย ๆ เลย มันมีกฎอะไรอันหนึ่งมันบังคับอยู่ในตัวเรา เราต่อสู้มันไม่ได้หรอก ได้แต่ต้องทำให้มันถูกเรื่องถูกราวของมัน อะไรทำให้เราหายใจ อะไรทำให้โลหิตไหลเวียน อะไรทำอะไรเหลือที่จะอัศจรรย์นะ นั่นแหละกฎธรรมชาติที่มันบีบบังคับหรือมีอยู่ในตัวเรา ดูให้เห็นส่วนนี้ส่วนที่มันเป็นกฎในตัวเราก็มี แล้วข้างนอกตัวเราหรือของคนอื่นของสัตว์อื่นของต้นไม้ของอะไรมันก็มี มันมีตัวกฎอยู่ในตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ แยกดูให้ละเอียดให้พบในส่วนที่มันเป็นกฎก่อนทั้งข้างในเราและนอกเรา
ทีนี้ก็ดูส่วนที่ ๒ ที่มันเป็นตัวผล ตัวปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ตัวกฎแต่เป็นตัวปรากฏการณ์ เช่น เนื้อหนัง เลือด อะไรของเรา กระดูกของเรา อะไรของเรานี้ มันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติซึ่งมีกฎอันหนึ่งควบคุมอยู่ควบคุมไว้ ถ้าเราเห็นทีเดียวพร้อมกันเลยก็ได้ เช่นเราดูเนื้อหนังของเรานี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วในนี้มีกฎเกณฑ์ที่เนื้อหนังของเราจะต้องเป็นอย่างไร นั้นน่ะเป็นส่วนที่เป็นกฎ ดูให้เห็นว่าในเราเป็นอย่างไร ผู้อื่นนอกตัวเรามันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าเห็น phenomena ภายในเรา เห็น phenomena ภายนอกตัวเราทั้งหมดทั้งสิ้น มันมีอยู่อย่างนั้นและกำลังเป็นเป็นไปตามกฎ ดังนั้น ในที่ใดมี phenomena ในนั้นก็มีกฎของ phenomena คือกฎของธรรมชาติที่อยู่กับตัวธรรมชาติ คิดดูหน้าที่ที่มันจะต้องทำ มันต้องทำไปหมด ไอ้เนื้อหนังของเราประกอบอยู่ด้วยส่วนเล็กที่สุดที่เรียกว่า เซลล์ เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเรากำลังทำหน้าที่ มันอยู่ไม่ได้ถ้ามันไม่ทำหน้าที่มันจะตายมันจะสลาย แล้วมันยังทำหน้าที่รวมกันทั้งหมดให้ชีวิตนี้อยู่ได้ ถ้าเซลล์ ทั้งหลาย tissue ของเซลล์กลุ่มหนึ่งมันไม่ทำหน้าที่ คนก็ตายแล้วเซลล์มันก็ตาย ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ คือ สิ่งที่เฉียบขาดที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำ กระทั่งหน้าที่ออกมาข้างนอกหยาบ ๆ ว่าต้องกินข้าว ต้องอาบน้ำ ต้องไปส้วม ต้องทำให้ทุกอย่างที่ทำให้คนเราอยู่ได้ จนกระทั่งว่าต้องทำความสะอาดบริหารร่างกายทุกอย่างไปหมดนั้นมันเป็นหน้าที่ หน้าที่สูงสุด คือ ทำหน้าที่กำจัดความทุกข์ให้มันหมดไป อย่าให้ความทุกข์มันมีอยู่ นั้นน่ะคือยอดสุดของหน้าที่ เราเรียกว่าการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม คือ การทำหน้าที่เพื่อให้ความทุกข์หมดไป ก็หมายถึงความทุกข์ที่แท้จริง คือ ทุกข์ทางจิตใจที่แท้จริง ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รวมอยู่ในนั้น มันก็เป็นหน้าที่น้อย ๆ ไปอีก หน้าที่ที่จะต้องทำน้อย ๆ หาอาหารกินอะไรกินก็ทำไป หน้าที่ส่วนใหญ่ส่วนลึกก็คือว่า ดับความทุกข์อันใหญ่หลวงทั้งทางกาย ทางใจ ทางวิญญาณ นี่เราเรียกว่าหน้าที่ ดูตั้งแต่หน้าที่ของเซลล์ ๆ หนึ่งจนมาประกอบกันเข้าเป็นมือ ก็หน้าที่ของมือ หน้าที่ของขา หน้าที่ของทั้งเนื้อทั้งตัว หน้าที่ของโลหิต หน้าที่ของระบบการขับถ่ายอะไรต่าง ๆ มันหลายระบบเหลือเกินในร่างกายนี้ นี้ก็ไปดูเอาเองจากหนังสือประเภทนั้น พอเป็นคนขึ้นมาแล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องต่อสู้จนกว่าจะได้รับผลจนตลอดชีวิต เราเกิดมา เราเล่าเรียน เราทำการงาน เรามีชีวิตเป็นประโยชน์แก่สังคมแก่โลกนี้เป็นหน้าที่ทั้งนั้นก็เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม เรียกว่า หน้าที่ สั้น ๆ
ถ้าจะเอาความหมายของคำว่า ธรรม ที่ดีที่จำเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คำว่า ธรรม นี้แปลว่า หน้าที่ ดังนั้น ในตำราศัพทศาสตร์ของอินเดียของเจ้าของคำ ๆ นี้คือประเทศอินเดีย เขาแปลคำว่า ธรรม แปลว่า หน้าที่ ก่อนคำอื่นแล้วจึงค่อยแปลเป็นคำอื่นต่อ ๆ ไปอีก คำว่า ธรรม ต้องแปลว่า หน้าที่ ไว้ก่อนเพราะมันจำเป็นที่สุด เราต้องรู้หน้าที่ก็คือรู้ธรรม รู้ธรรมจึงรู้หน้าที่แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ดังนั้น คำว่า ธรรม ในความหมายที่เรียกว่า Practical ที่สุดหรือ applicable ที่สุด ก็คือหน้าที่ เขียนไว้ธรรมเท่ากับหน้าที่ ทีนี้ความหมายนี้มันก็ดูว่า หน้าที่ต่อตัวเรา หน้าที่นอกตัวเรา หน้าที่ต่อสังคม หน้าที่ต่อโลกทั้งหมด ก็เรียกหน้าที่ภายในหน้าที่ภายนอก ดูให้เห็นสิ อย่าเพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังแล้วจดไว้แล้วก็ลืมไป มันต้องมองเห็นเหมือนกับเรารู้จักสิ่งที่มันอยู่กับเราแต่บางสิ่งมันลึกมันซ่อนอยู่ลึก เรารู้จักแต่เครื่องวิทยุ รู้จักแต่โทรทัศน์นี้มันง่ายมันอยู่ข้างนอก เราต้องรู้จักอะไรข้างในที่มันสำคัญกว่านั้นมาก
ความหมายที่สี่ ผลที่มันจะเกิดขึ้น มันมีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมาจากกิริยาอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่เราหายใจเข้าออก ก็เรียกว่าผล กิริยาคือการกระทำ ปฏิกิริยาคือผลที่มันออกมา มันเป็นอย่างไม่มีความหมายอะไรแก่เราก็มี มีความหมายที่สุดก็มี ถ้าเกี่ยวกับเรื่องทางศาสนาทางจิตทางใจเขาก็เรียกว่า กรรม เรียกว่า ผลกรรม ผลกรรมนี้มันร้ายยิ่งกว่าสักว่าปฏิกิริยา ที่แท้มันก็เป็นปฏิกิริยาแต่มันเป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิดที่จะทำ ถ้ามันเป็นของสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็เป็นปฏิกิริยาเฉย ๆ เช่นว่าไม้มันหักลงมามันก็ถูกแผ่นดินเป็นบ่อเป็นหลุมลงไป หรือว่าเมื่อไอน้ำมันผลักดันไอ้เครื่องจักรมันก็หมุนไป มันก็เป็นปฏิกิริยาของสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่เดี๋ยวนี้คนมันเป็นสิ่งที่มีชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น มันก็เลยมีกิริยาและปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง เขาถึงยักไปเรียกว่า กรรม และผลของกรรม เรามีกรรมก็เป็นไปตามผลของกรรม เราได้รับผลของกรรมนั่นแหละคือผล ผลที่เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแก่เราก็เต็มที่ เราก็ได้รับผลนี้อยู่ตลอดเวลาไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ไม่อย่างโน้นก็พร้อม ๆ กันหลายอย่างทางกายทางใจ แล้วผลที่เราหลาย ๆ คนกระทำกันขึ้นมานี้มันก็ไปมีแก่สังคมทั้งหมดแก่โลกทำโลกให้เปลี่ยนแปลงได้ เพียง ๔ อย่างเท่านี้มันก็มีอะไรมากมายอย่างนี้ หรือจะดูความสำคัญ ความสำคัญตามลำดับหรือว่าลำดับของความสำคัญที่เราจะต้องดูก่อนหลังเกี่ยวกับสิ่งทั้งสี่นี้
ถ้าจะดูพระเจ้าคือความหมายที่หนึ่งที่ว่ากฎ กฎของธรรมชาตินี่ ดูให้ดีจะรู้สึกว่าเหมือนกับพระเจ้า ธรรมะในความหมายที่หนึ่ง คือ กฎของธรรมชาติหรือสัจจะของธรรมชาติที่มีลักษณะเหมือนกับพระเจ้า พระเจ้าในที่นี้ก็หมายความว่า มันสูงสุด มันบังคับสิ่งอื่นได้ ไม่มีใครต่อสู้มันได้เราเรียกว่าพระเจ้า พระเจ้าก็มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งไม่มีใครเล่นตลกกับพระเจ้าได้ พระเจ้าเป็นทุกสิ่งรู้ทุกสิ่ง ไม่มีอะไรที่จะไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของพระเจ้า รู้ไอ้ธรรมะในความหมายที่หนึ่ง คือสัจธรรม หรือกฎของธรรมชาตินี้ว่าเป็นพระเจ้าก็แล้วกัน เราก็ชอบเรียกหาพระเจ้าช่วย เราก็หวังในสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้าช่วยทั้งที่เราไม่รู้ว่าพระเจ้าคืออะไร เดี๋ยวนี้มารู้เสียทีว่าพระเจ้าคือสิ่งนี้ คือสิ่งที่มันตายตัวเด็ดขาดอย่างนี้ คือธรรมหรือพระธรรม ในกฎในความหมายที่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นพระเจ้าที่ทุกคนจะต้องเชื่อฟัง เดี๋ยวนี้ไม่เชื่อฟังเสียแล้ว ไม่เชื่อฟังสิ่งที่เรียกว่าธรรม ไปเชื่อกลางคืนแล้วเกิดเรื่องอะไรขึ้นจำไว้เป็นอนุสรณ์ ไปกระทำในที่ที่ไม่ควรทำ ในเวลาที่ไม่ควรทำ ในกิริยาอาการที่ไม่ควรทำ มันก็เกิดผลอย่างนั้นขึ้น นี้คือไม่เชื่อฟังพระเจ้าแล้วพระเจ้าก็ลงโทษให้ ตบหน้าให้หกคะเมนไปเลย เสียชื่อเสียง เสียไอ้ชีวิต เสียอะไรกันในที่สุด รู้จักสิ่งนี้ในฐานะที่เป็นพระเจ้าที่เด็ดขาดที่สูงสุดที่ต้องเชื่อฟัง พระเจ้านี่สร้างเราขึ้นมา ควบคุมเราอยู่แล้วจะยุบเราเมื่อถึงเวลาที่ควรจะยุบ พระเจ้าน่ากลัวขนาดนี้ นี่คือสัจธรรม กฎของธรรมชาติ
ความสำคัญอันที่สองที่เราจะต้องรู้จักก็คือไอ้ตัวสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นไปตามกฎก็คือสภาวธรรม เนื้อตัวของเรา จิตใจของเรา อะไรของเรา เราต้องรู้จักดีที่สุดซะก่อนเพราะว่าเราจะต้องบริหารมันจะต้องกระทำให้ถูกต้อง เราต้องรู้ว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาตินี้มันคือตัวเราแล้วมันก็เกี่ยวข้องกับเราอย่างที่แยกกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราหลีกไม่พ้นในการที่จะต้องบริหาร ธรรมในความหมายที่สองคือสภาวธรรม คือตัวเรา เราจะต้องรู้จักมัน
ที่รองลงไปก็คือว่าในความหมายที่สามคือการปฏิบัติ พูดเสียเลยว่าให้มีชีวิตอย่างถูกต้อง เราทุกคนจะต้องมีชีวิตอย่างถูกต้อง พูดอย่างนี้กว้างมาก คำว่าถูกต้องในความหมายอย่างนี้มันกว้างมาก คือเราก็ต้องพูดอย่างนี้ว่าพวกเธอจะต้องมีชีวิตอย่างถูกต้อง พระเจ้าเขาบังคับไว้เด็ดขาด ถูกต้องนี้คือถูกต้องตามกฎของพระเจ้า
ความหมายที่สี่ ผลที่เกิดขึ้น เราจะต้องบริโภคมันด้วยสติ เราเคยชินแต่การบริโภคโดยไม่ต้องมีสติ เรากินข้าวกินปลากินขนมกินโดยไม่มีสติ นี่เป็นประจำเป็นนิสัยไปแล้ว จะมาทำอย่างนี้ไม่ได้ในสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ความหมายที่มันลึกกว่านี้ ถ้าเรากินข้าวไม่มีสติปราศจากสติ มันมีก้างติดคอบ่อย ๆ ท่านก็ดูเอาที่ท่านก็แล้วกัน ไอ้สิ่งที่เรากินนั้นน่ะถ้าเรากินโดยไม่มีสติมันจะเกิดอันตรายขึ้นมา เช่น ก้างติดคอ อย่าเข้าใจว่าผล ๆ ๆ แล้วเราจะไม่ต้องระมัดระวังอะไร กินเข้าไป ๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด จะต้องบริโภคผลนั้นโดยความมีสติ ทำงานได้ผลตามที่เราต้องการ พอทีจะบริโภคผลนั้นก็ยังต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เมื่อทำงานเหมือนกัน ถ้าบริโภคอย่างผลีผลามจะกลายเป็นอันตราย ไม่ใช่ผลแล้วทีนี้จะมีอันตรายละเพราะการบริโภคนั่นเอง บริโภคด้วยมีความมีสติ
คราวนี้ก็ดูทั้ง ๔ อย่างพร้อม ๆ กัน ดูให้ดี อย่าประมาท แล้วจะพบว่าโอ้, ไม่มีอะไรที่จะทำเล่น ๆ กับมันได้ ๆ ตัวกฎของธรรมชาติก็ดี ตัวปรากฏการณ์ของธรรมชาติก็ดี หน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อมันก็ดี ผลจะเกิดขึ้นก็ดี อย่าทำเล่นกับมัน ถ้าทำเล่นในทางธรรมะเขาเรียกว่าความประมาท ความประมาทก็คือความตาย ก็ไปดูตัวอย่างคนที่มันตายไปแล้ว มันตายโดยทางร่ายกายก็ได้ ตายทางจิตใจทางวิญญาณทางชื่อเสียงเกียรติยศก็ได้ มันตาย เรียกมันตายเพราะความประมาท ความประมาทนี้คือการทำเล่น ๆ กับไอ้สิ่งทั้งสี่นี้ เรารู้จักสิ่งทั้งสี่นี้ในฐานะเป็นสิ่งที่ทำเล่น ๆ ไม่ได้ ศึกษาธรรมะใน ๔ ความหมายให้มันมีประโยชน์กันอย่างนี้ แม้ที่สุดแต่การบริโภคผลของมันแล้วเรียกว่าได้มาแล้วมาอยู่ในมือของเราแล้วยังแต่จะกินเท่านั้นก็อย่าทำเล่น ๆ จะต้องระมัดระวังตั้งแต่ทีแรกเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งที่เรียกว่า สาม ก. นี้เรื่องกินหนึ่ง เรื่องกามหนึ่ง เรื่องเกียรติหนึ่ง ก็เรียกว่า สาม ก. นี่คนเคยวินาศฉิบหายเพราะทำเล่น ๆ กับสิ่งทั้งสามนี้มานับไม่ถ้วนแล้วและก็กำลังวินาศฉิบหายอยู่เพราะกำลังทำเล่น ๆ กับสิ่งทั้งสามนี้นั้นระวังมันให้ดีไอ้สาม ก. มันจะกัดเอา มันมีตัว ก. ด้วยกันทั้งนั้นแหละ มันจะกัดเอามันจะลำบากแล้วจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดมีธรรมะแล้วเมื่อนั้นจะปลอดภัยขึ้น หัวข้อนี้เป็นหัวสำคัญถ้ามีธรรมะแล้วจะปลอดภัย นี่เราต้องเรียนสิ่งที่เรียกว่าธรรมะให้หมดแล้วก็เอาสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีต้องใช้นั้นมา แล้วก็ธรรมะนั้นมีแล้วก็จะปลอดภัย
ในการปลอดภัยนี้เราก็ดูเอาสิ เราก็มีอายุถึงขนาดนี้แล้วก็ผ่านโลกผ่านชีวิตมาพอสมควรแล้ว เราก็พอจะสรุปไอ้สิ่งเหล่านี้ได้เป็น ๓ ส่วนหรือ ๓ ตอนว่า ในการเรียนในการศึกษาเล่าเรียนนี้ตอนหนึ่ง ในการทำการทำงานทำหน้าที่นี้ก็ตอนหนึ่ง แล้วก็ในตอนที่บริโภคผลงานนี้ก็อีกตอนหนึ่ง เพราะเราก็เรียนนี่กำลังจะเป็นครูแล้วเราก็ทำงานคือเป็นครูแล้วเราก็จะได้รับผลของการงานนี้ ถ้าเอากันยาว ๆ เป็นเรื่องของชีวิตยาว ๆ นี้มันก็เด็ก ๆ นี้ก็เรียนแล้วก็เป็นผู้ใหญ่ก็ทำงานนั้นพอเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็บริโภคผลของการงานที่ทำมาจนตลอดชีวิต ถ้ามีธรรมะแล้วก็จะปลอดภัยทั้ง ๓ ระยะนี้ เมื่อเรียนก็เรียนมาได้โดยปลอดภัยก็มีธรรมะช่วยอยู่ แต่ไม่ค่อยมองเห็นแล้วก็ไม่ได้ขอบใจธรรมะใช่ไหม ไม่รู้ไม่ชี้ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่ช่วยให้เรียนสำเร็จแล้วก็ไม่ได้ขอบใจธรรมะ นี้ไปดูเสียใหม่แล้วก็จะมองเห็นจะขอบใจก็จะนับถือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่เรียนสำเร็จ
ต่อไปก็ยังมีอีกสองด่านสองชั้นที่ว่า จะต้องทำงานด้วยการมีธรรมะประกอบอยู่ด้วยธรรมะให้มันช่วยเรา อย่างที่เราเรียนมาสำเร็จต่อไปเราจะทำการงานสำเร็จ ดังนั้น ในขั้นสุดท้ายแล้วก็จะมีการบริโภคผลของงานนี้ด้วยธรรมะอีกเหมือนกัน พอมีธรรมะมันก็ปลอดภัยอย่างนี้ เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติอะไรมันก็ปลอดภัยไปหมด เมื่อมีธรรมะ ก็กินอย่างมีธรรมะ เกี่ยวข้องกับกามอย่างมีธรรมะ เกี่ยวข้องกับเกียรติอย่างมีธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เว้นสิ่งเหล่านี้เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องมีต้องเกี่ยวข้องกับคน แต่ว่าต้องให้มันประกอบอยู่ด้วยธรรมะ การกินนี้ประกอบด้วยธรรมะ การเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ากามหรือการบริโภคกามเราต้องประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ประกอบกับธรรมะ คือ ไม่ทำผิดในการที่บริโภคกามคุณหรือบริโภคกามเป็นเรื่องระหว่างเพศที่มันหลีกไม่ได้ไม่มีใครหลีกได้ มันมีอยู่แต่ว่าทำให้ถูกต้องเท่านั้นเอง อย่าให้มีผิดพลาดขึ้นมาได้ เรื่องเกียรติ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้ามว่าอย่าแสวงหาเกียรติ ทุกคนแสวงหาเกียรติเป็นเครื่องวัดความสามารถของตน แต่ว่าเกี่ยวข้องกับเกียรติในลักษณะที่ถูกต้องอีกเหมือนกัน อย่าให้มันกัดเอา ให้มันเป็นเครื่องสนับสนุนให้ส่งเสริมเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติ สาม ก.นี้อย่าให้มันกัดเอาเพราะว่าธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง
จะดูกันให้กว้างให้เป็นแบบแผนเป็นแบบฉบับเป็นหลักฐานก็จะเรียกชื่อตามแบบฉบับเดิมของเขาว่า ชีวิตคนเรานี้เขาแบ่งเป็น ๔ ส่วนหรือ ๔ หมู่ ส่วนทีแรกก็เป็นพรหมจารี ตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่จนบัดนี้จนก่อนชีวิตสมรสนี้เขาเรียกว่า พรหมจารี ทีนี้อันดับที่สองก็เรียกว่า คฤหัสถ์ ก็หมายถึงสมรสแล้วก็มีเหย้าเรือนเรียกว่า คฤหัสถ์ ทีนี้ถ้ามันอยู่ไปได้ผ่านโลกไปด้วยดี มันก็จะเบื่อและจะเลื่อนชั้นมันก็ไปอยู่ในระบบของวนปรัสถ์ วน (วะ-นะ) ที่แปลว่า ป่า ปรัสถะ แปลว่า อยู่ วนปรัสถ์ อยู่ป่า คือ อยู่ในความสงบ ไม่ชอบยุ่งด้วยเรื่องโลกเรื่องยุ่งเวียนหัวนั่นจะไปอยู่ในมุมสงบ วนปรัสถ์ก็คือมุมสงบ นี่ก็มีอีกแบบอีกชั้นหนึ่ง นี้ถ้าเรายังไม่ตายต่อไปได้อีก ทีนี้ก็จะออกไปอยู่ในแบบที่เรียกว่า สันยาสี ท่องเที่ยวไปหรือว่าอยู่มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ทีนี้เราเรียกกันว่า แจกของส่องตะเกียง คนเฒ่าคนแก่ที่เชี่ยวชาญแก่ชีวิตแก่โลกมาสมควรแล้วมีประโยชน์มาก คำพูดของเขาคำหนึ่งจะมีประโยชน์มากเพราะเป็นแสงสว่าง มันมาจากประสบการณ์ที่เขาผ่านมาแล้วตั้งแต่เกิดจนแก่ ดังนั้น คนแก่ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นี้จะมีประโยชน์มาก เขาจะเป็นแสงสว่างให้แก่เด็ก ๆ แล้วอยู่มีชีวิตอยู่ทำหน้าที่นี้ต่อไปอีกทีหนึ่ง แล้วก็เสียสละเที่ยวไปเดินสอนไป ๆ อย่างพระพุทธเจ้านี้ก็เรียกว่า สันยาสี ยากที่คนจะทำได้ครบทั้งสี่แต่ก็มีส่วนที่ทำได้ พวกเรานี้เป็นพรหมจารีที่ดีตลอดเวลาไม่มีความทุกข์ในวัยพรหมจารี ก็เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีแล้วต่อไปเราก็เป็นคนเฒ่าคนแก่ บางเวลาก็หลีกไปหามุมสงบตามวัดตามวาตามกอกล้วยกอไผ่ริมบ้านก็ยังได้ นี้มันก็อยู่ในมุมสงบ เมื่อแก่มากจริง ๆ ก็นั่งควบคุมลูกหลานให้มันทำถูกให้มันประพฤติถูก คนแก่ ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นแหละตามมากตามน้อย แม้ว่าจะไม่ได้ท่องเที่ยวไปตามประเทศต่าง ๆ ก็อยู่ในบ้านในเรือนนั้น ลูกหลานในบ้านในเรือนมันกระทำผิดก็ห้ามเสียก็บอกเสีย ลูกหลานของคนบ้านใกล้เรือนเคียงมาคุยด้วยก็สอนมันให้ดี ก็ทำหน้าที่อย่างพระพุทธเจ้าได้น้อย ๆ ที่มุมสงบในบ้านในเรือนอย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเขาไปได้ครบ ๔ อาศรม
คำว่า อาศรม นั้นก็แปลว่า หมู่หนึ่งที่อยู่กันทำอะไรเหมือน ๆ กัน ทีนี้เรากำลังอยู่ในอาศรมพรหมจารี ทุกคนนี้ อาศรมพรหมจารี คือ หมู่หนึ่งคณะหนึ่งที่ปฏิบัติอยู่อย่างดีที่สุด เคร่งครัดในการศึกษาในการประพฤติตามระเบียบตามกฎเกณฑ์ตามวินัยที่ว่าพรหมจารีจะต้องประพฤติอย่างไร ขอให้อดกลั้นอดทนทำหน้าที่ของอาศรมนี้ให้ดีที่สุดจนวินาทีสุดท้ายที่จะเปลี่ยนไปเป็นอาศรมคฤหัสถ์ครองเรือน ธรรมะเท่านั้นช่วยได้ที่จะเป็นพรหมจารีสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ธรรมะเท่านั้นช่วย พอไม่มีธรรมะก็เสียหมดแหละ มันก็จะมีความทุกข์นับตั้งแต่ไม่ชอบตัวเองแล้ว รังเกียจตัวเองแล้ว ไม่นับถือตัวเองแล้ว มันก็ไม่มีความสบายแล้ว ถ้ามันมีความถูกต้องอยู่ในตัวเรามากพอเราก็ไหว้ตัวเองได้ ชอบใจตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ มีความสุขอยู่ได้โดยไม่ต้องมองไม่ต้องนึกถึงสิ่งอื่น นึกแต่ตัวเราก็ยังพอใจในตัวเรามีความสุขได้ นี่คืออานิสงส์ของธรรมะ
ส่วนคฤหัสถ์ พ่อบ้านแม่เรือนนี้เขาเปรียบเหมือนกับว่าวัวหรือควายลากแอกลากไถลากเกวียนลากรถ หนัก แต่ถ้าอาศัยธรรมะมันก็ทำได้ดีแล้วมันก็ไม่หนัก ไม่หนักมากเหมือนกับคนที่ไม่มีธรรมะ เพราะธรรมะมันช่วยให้รู้จักทำถูกแล้วให้ช่วยให้รู้จักทำจิตใจให้ถูก ความทุกข์เลยกลายเป็นไม่ทุกข์ เพราะว่ามันปลงตกเพราะมันพิจารณาเห็น มันตั้งใจไว้ถูก มันไม่เกิดความคิดไปในทางที่จะทำให้เกิดความทุกข์ มันเกิดความคิดที่จะให้ปล่อยระบายออกไปไม่ให้เป็นความทุกข์มาก ดังนั้น คฤหัสถ์ที่ดีมันก็มีความทุกข์น้อยกว่าคฤหัสถ์ที่เลว ที่เลวเขาเรียกว่า ปุถุชน ที่ดีเขาเรียกว่า พระอริยะ พระอริยะเป็นฆราวาสครองเรือนก็มี เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกิทาคามีก็มี เป็นฆราวาสเป็นอนาคามีก็มี มันเป็นชั้น ๆ พวกนี้มีความทุกข์น้อยมากแทบจะไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้พวกปุถุชนมีกิเลสหนามันก็แส่ไปหาความทุกข์มีความทุกข์มาก นี่เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ธรรมะช่วยก็มีความทุกข์น้อยแล้วเป็นการศึกษาที่ดีพร้อมกันไปในตัว
เราเกิดมาแล้วเราก็เติบโตขึ้นมาแล้วเราก็ทำการงานกันไปแล้วเราก็เจ็บไข้แล้วก็ชราแล้วเราก็ตาย จากเกิดถึงตายมันมีอยู่อย่างนี้ มีเป็นชั้น ๆ ขั้น ๆ ทำให้มันถูกทุกชั้นทุกขั้นโดยอาศัยธรรมะเป็นเครื่องมือ เว้นธรรมะเสียแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นความทุกข์อย่างมหาศาลและตลอดเวลา มีธรรมะแล้วไอ้สิ่งเหล่านี้จะถูกแก้ไขให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่เป็นไปด้วยดีแล้วก็ไม่มีความทุกข์ ขอให้เป็นอยู่อย่างที่เรียกว่ามีธรรมะ ทำอย่างไรเรียกว่ามีธรรมะ นี่ก็พอจะเข้าใจกันได้เพราะมันเคยได้ยินได้ฟังมาไม่น้อยอยู่แล้ว ให้มีธรรมะให้ประกอบอยู่ด้วยธรรมะให้ทุกอย่างมันประกอบอยู่ด้วยธรรมะ การกินการนอนการทำทุกอย่าง เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติก็ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เกิดขึ้นมาเติบโตอยู่เจ็บไข้อยู่ก็ประกอบด้วยธรรมะ แก่ชราตายลงก็ให้มันตายลงด้วยอาการที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เกิดดีอยู่ดีตายดี ดีในที่นี้หมายถึงประกอบอยู่ด้วยธรรมะ นี่ถ้าจะหาอะไรมาก็หาโดยธรรมะ จะได้อะไรมาก็ได้โดยธรรมะ จะกินจะใช้อะไรก็ให้มันประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ถ้าเรามาสรุปความเสียใหม่ก็ว่ามีลมหายใจอยู่ด้วยธรรมะ อย่าให้ลมหายใจสกปรก ถ้ามันทำผิดอยู่ที่กายวาจาใจก็เรียกว่า เรามีลมหายใจอยู่อย่างสกปรกน่ารังเกียจอย่างยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ขอให้จัดหรือปรับปรุงทุกอย่างทุกวิถีทางให้ลมหายใจสะอาด มีธรรมะอยู่ทุกครั้งที่หายใจ พูดอีกโวหารหนึ่งก็พูดว่า มีธรรมะอาบรดอยู่ที่กายวาจาใจ ฟังดูแล้วน่านับถือใช่ไหม ที่มีธรรมะน่ะมันอาบรดลูบไล้อยู่ที่กายของเรา ที่วาจาของเรา ที่ใจของเรา อย่างนี้เขาเรียกว่าประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ดังนั้น ทุกคนจะต้องเสียสละอดทน อดทนที่สุดที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ต้องศึกษาต้องทดลองค้นคว้าให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ จึงจะมีธรรมะอาบรดอยู่ที่กายที่ใจ มันก็เป็นเครื่องหุ้มเครื่องคุ้มครองไม่ให้ความทุกข์มาแตะต้อง ธรรมะนั่นแหละเป็นเครื่องราง เอาพระมาแขวนคอไว้ก็ได้แต่เพื่อให้ระลึกถึงธรรมะแล้วมีธรรมะ แล้วธรรมะก็คุ้มครอง อย่างนี้เราก็เรียกว่าพระเครื่องนั้นคุ้มครอง อย่างนี้ถูก แต่ถ้ามาแขวนไว้แล้วนึกว่าคุ้มครองเฉย ๆ อย่างนี้มันโง่ จะไม่เรียกว่าว่าผิด มันเรียกว่าโง่ มันก็อยู่ในพวกที่ผิดนั่นแหละ เรามีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะมาเตือนใจอยู่เสมอ อย่างพระพุทธรูปองค์นี้เห็นแล้วก็นึกถึงธรรมะ โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ ผ้าเหลืองอะไรก็ตาม พอเหลือบตาไปเห็นก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงธรรมะ ที่บางทีมันไม่สะดวกเอามาแขวนไว้ที่คอสักชิ้นหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะจะได้คุ้มครอง โดยทำให้มีธรรมะแล้วก็คุ้มครอง ถ้าเรามีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะคอยเตือนคอยตักเตือนใจไว้เสมออย่างนี้ก็ดี ที่ในห้องเรียนก็มีในห้องทำงานก็มีที่ไหนก็มีที่เนื้อที่ตัวก็มี อย่างนี้จะเรียกว่าประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีลมหายใจอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวคือที่กายที่วาจาที่ใจ
ความประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี้จะเรียกว่า การปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา ถ้าโดยหลักในพุทธศาสนาก็เรียกว่า ตั้งตนอยู่ในหนทางอันชอบ คือ หนทางที่เรียกว่าอริยมรรค ถ้าคำว่า อริยมรรค มันแปลกหูเราแล้วเราไม่ค่อยชอบแล้วเราชักจะเกลียดเอาด้วย เราก็เข้าใจเสียใหม่ว่า อริยมรรค คือ หนทางแห่งความถูกต้องที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่ของครึ ไม่ใช่คำครึ ไม่ใช่เรื่องที่วัด แต่เป็นเรื่องที่จะอยู่ที่ในเนื้อในตัวของทุกคน ในทุกคนจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า อริยมรรค คือ การเดินที่ถูกต้อง ชีวิตเป็นของเดินเป็นการเดินอยู่เสมอ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่มันเดินโดยจิตใจอยู่เสมอ มันต้องเดินตามหนทางที่ถูกต้อง หนทางที่ถูกต้องนี้เรียกว่า อริยมรรค เราต้องเดินมาถูกต้องไม่มากก็น้อยเราจึงรอดตัวมานั่งอยู่ที่นี่ได้ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนมาเป็นอย่างนี้ มันมีการเดินที่ถูกต้องที่เรียกว่า อริยมรรค อยู่ระดับใดระดับหนึ่งมันจึงรอดมาถึงขนาดนี้ แล้วมันจะต้องเดินต่อไปอีก มันก็เป็นอริยมรรคที่ยิ่งขึ้นไปสูงขึ้นไป เดินไปถึงประสบความสำเร็จในเรื่องโลก ๆ นี้แล้วมันยังไม่ยอมหยุดมันอยากจะเดินอีก มันจะต้องเดินไปสู่มรรคผลนิพพาน นั่นแหละคือตัวอริยมรรคอย่างสมบูรณ์ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไอ้สิ่งที่เรียกว่า อริยมรรค ไว้ในฐานะที่ครอบคลุมได้หมดกว้างขวางได้หมด เด็ก ๆ ก็ปฏิบัติได้ คนหนุ่มคนสาวก็ปฏิบัติได้ ผู้ใหญ่ครองบ้านครองเรือนบิดามารดาก็ปฏิบัติได้คนแก่คนเฒ่าก็ปฏิบัติได้ ด้วยหลักอันเดียวกันที่เรียกว่า อริยมรรค บางทีก็เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค เพราะมันประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ อย่างเป็นความถูกต้อง ๘ ประการนี้เรียกว่า อริยมรรค คือ ตัวธรรมะแท้ที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ทุกคนมันรอดไปได้ มันเป็นเรื่องที่จะเรียกว่าใหญ่โตก็ได้ มันมีรายละเอียดมาก ดังนั้น เราไว้พูดกันในวันต่อไป
วันนี้จะหยุดไว้แต่เพียงความหวังว่า เราจะต้องมีอริยมรรค คือ ความถูกต้อง ๘ ประการ ขอย้ำในที่สุดว่า ให้ดูให้ดี ๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะเพียงคำเดียวหรือพยางค์เดียว ออกเสียงทีเดียวว่า ธรรมเฉย ๆ เวลาที่กำหนดไว้สำหรับการบรรยายก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปเหลืออีก ๓๐ นาทีก็ถามปัญหาตอบปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็จะซักไซ้เข้าใจไอ้สิ่งที่ได้พูดไปแล้ว ๑ ชั่วโมงนี้ ดังนั้น ใครมีปัญหาอะไร ถ้าไม่มีปัญหาก็เป็นพระอรหันต์ มันมีอย่างนั้นมันไม่ต้องหัวนี่ ไม่ต้องหัวเราะ ถ้าใครหมดปัญหาก็เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์จะยังมีปัญหา แม้แต่พระโสดาบัน สกิทาคามี เกือบจะเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาก็คือไม่รู้จักตัวเอง น่าหัวไม่รู้จักตัวเองไม่มีปัญหาที่ตัวเองจะต้องสะสางจะต้องแก้ไข เดี๋ยวนี้ก็ได้พูดให้ฟังมาตั้งชั่วโมงแล้วมันควรจะมีแง่เงื่อนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าใจแล้วจะต้องสงสัย หรือนั่งหลับเสียหมดไม่มีปัญหา แต่ก่อนหัวหน้ามีโปรแกรมไว้อย่างไร วันนี้ก็เลี้ยงพระใช่ไหม เวลาเท่าไร ตามเวลานี้หรือ ต้อง ๒ ต้อง ๘ โมง นี้เรายังมีเวลาเหลือราวครึ่งชั่วโมง แล้วคุณจะไปรับประทานกันตอนไหน ๙ โมงครึ่ง เอาสิก็รีบให้มันเสียให้มันตอนนี้ ใครมีปัญหาก็ถาม แล้วจะไปรับประทานที่ไหน ใกล้ ๆ แถวนี้ก็ดีแล้วก็มาเลี้ยงพระ จะเก็บอันนั้นไว้รับประทานตอนเลี้ยงพระเสร็จมันก็จะหิวเกินไปนะเพราะเรามันรับประทานแต่เช้า เอ้า, มีปัญหาอะไรว่าไป ช่วยตั้งปัญหาแทนนี้ก็ตั้งไม่ถูก ดังนั้น ทุกคนต้องมีปัญหาจริงของตัวเอง ก็ถามออกมา อ้าว นี่ว่าไร…
(นาทีที่ 58:27) เดี๋ยวนี้ดีกว่าแล้วอย่าตก นี้สวรรค์ก็เหมือนกันอีกแหละ สวรรค์แต่ตายแล้วมันเรื่องโคมลอยก็ได้ สวรรค์ที่แท้จริง คือ ทำให้ดีให้ถูกต้องให้ไหว้ตัวเองได้ ความหมายที่จำง่าย ๆ คือ ไหว้ตัวเองได้ มันพอใจนับถือตัวเองได้นี้จะสบายใจไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าแหละสำหรับความสุข ส่วนนอกนั้นมันเป็นเรื่องประกอบ เรื่องสรรค์วิมานนางฟ้าเทวบุตรเทวธิดานั้นเขาเป็นภาพพจน์ของไอ้ความที่น่าปรารถนา จะต้องมีสัมมาทิฐิแล้วก็จะต้องถือว่าเชื่อว่าเห็นว่า นรกมีสวรรค์มี นี้พูดถัดไปมันก็มีโลกนี้และโลกหน้า พูดว่าโลกนี้โลกหน้านี้มันฟังยาก เปลี่ยนเป็นโลกนี้และโลกอื่น โลกนี้ คือ ที่เรารู้สึกอย่างเดี๋ยวนี้เวลานี้เรียกว่า โลกนี้ แล้วโลกอื่น คือ โลกที่เรายังไม่รู้สึกแต่จะรู้สึกในโอกาสหน้าในนาทีหน้าในชั่วโมงหน้าหรือว่าปีหน้าก็ตามใจ คือมันอื่นไปจากอย่างนี้ก็เรียกว่า โลกหน้า อย่างนี้เป็นอย่างมนุษย์แล้วก็โลกหน้าเป็นอย่างเทวดาเป็นอย่างนรกก็ได้เรียกว่า โลกหน้าเหมือนกัน คือมันโลกอื่นจากโลกนี้ ที่ผิดไปจากโลกนี้ก็ต้องมีอยู่ อย่าไปเข้าใจว่ามีแต่อย่างนี้อย่างเดียว ให้ยอมรับแล้วก็มองเห็นว่าโลกนี้ก็มีโลกอื่นก็มี ให้ระวังให้ดี ทีนี้ให้ (ชั่วโมงที่ 1.00.24) บิดามารดามี ที่นั่นที่นี่ก็มีบิดามารดาทั้งนั้น แล้วทำไมต้องพูดอีกว่าบิดามารดามี เพราะว่าถ้าไม่นับถือบิดามารดาแล้วมันก็เท่ากับบิดามารดาไม่มี นี่เกือบจะไม่ต้องอธิบายแล้ว ไอ้คนที่ไม่นับถือบิดามารดาก็เท่ากับบิดามารดาไม่มี เราต้องเห็นพระเดชพระคุณของบิดามารดาเป็นสถาบันอันหนึ่งของบิดามารดาต้องยอมรับรองต้องนับถือ ถ้ามีความเห็นอย่างนี้มีความเชื่ออย่างนี้เขาก็พูดว่าคนนั้นมีบิดามารดา แต่พอเราเหยียบย่ำความหมายของบิดามารดาเมื่อไรแล้วเราก็เป็นคนไม่มีบิดามารดา ไม่มีพ่อแม่ ทั้งที่เราก็เกิดมาจากบิดามารดา ภาษาธรรมะเขาพูดอย่างนี้ ถ้าคนไหนมันเกิดรู้สึกว่าบิดามารดาไม่มีบุญคุณไม่มีความหมายอะไรแล้วคนนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าใครยอมรับคุณค่าหรือความมีอยู่แห่งบิดามารดาคนนั้นเป็นสัมมาทิฐิ เรียกว่า บิดามารดามีแล้วมันก็ตลอดไปถึงครูบาอาจารย์มี เด็ก ๆ สมัยนี้มันจะไม่มีครูบาอาจารย์ไม่มีบิดามารดามากขึ้น มันก็เลยลำบาก อย่าพยายามเขา บิดามารดามีครูบาอาจารย์มี ต้องเทิดทูนสถาบันนี้อย่างเคร่งครัดอย่างสูงสุด
เชื่อว่าโอปปาติกะมี นี่คำแปลกล่ะ โอปปาติกะ จะเติมสัตว์เข้าไปอีกตัวก็ได้ โอปปาติกะสัตว์ ตัวหนังสือแปลว่า เกิดขลุงขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ ไม่ต้องค่อย ๆ โต ค่อย ๆ โต ต้องกินนมกินข้าวค่อย ๆ โตอย่างนั้นไม่ต้อง เกิดเป็นอะไรขลุงขึ้นมาเต็มรูปทันทีอย่างนั้นก็เรียกว่า โอปปาติกะสัตว์ นี่ผีเกิดเทวดาเกิดเปรตเกิดนรกเกิดอะไรนี่เกิดขลุงขึ้นมาทันทีอย่างนั้น นี่เราต้องมองให้เห็นต้องยอมรับว่ามันมีอีกวิธีหนึ่ง พอเราคิดอย่างอะไรดีล่ะ พอคิดอย่างสัตว์เราเกิดเป็นสัตว์ พอคิดอย่างโจรเราเกิดเป็นโจร พอเราคิดอย่างบัณฑิตเราเกิดเป็นบัณฑิต นี่มันจริงหรือไม่จริง คนนี้นั่งอยู่ที่นี้เป็นอย่างนี้พอมีความคิดอย่างสัตว์ก็ถือว่าเกิดเป็นสัตว์แล้ว ก็ขลุงทีเดียวเป็นสัตว์เลย ไม่ต้องรอเกิดจากท้องทีละนิด ๆ กินอาหารโตทีละนิด จำไว้เลยว่า คิดอย่างโจรเกิดเป็นโจร คิดอย่างคนพาลเกิดเป็นคนพาล คิดอย่างบัณฑิตเกิดเป็นบัณฑิต คิดอย่างมนุษย์เป็นมนุษย์ คิดอย่างพระเป็นพระ คิดอย่างเณรเป็นเณร คิดอย่างชาวบ้านเป็นชาวบ้าน คิดอย่างลูกศิษย์เป็นลูกศิษย์ คิดอย่างครูเป็นครูนี่ เกิดขลุงขึ้นมาอย่างนี้กี่อย่างก็ตามใจ เรียกว่า โอปปาติกะที่น่าสนใจ ทีนี้คนอื่นเขาอธิบายอย่างอื่นก็มีที่ว่าตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา ตายแล้วไปเกิดเป็นเปรตเป็นผีก็เกิดขลุงขลังขึ้นมาอย่างนั้นก็มี เราก็ไม่ค้านเขาแต่เราก็ไม่พูดสิ่งที่ยังมองไม่เห็น แล้วว่าเราจะพูดแต่สิ่งที่มองเห็นและเป็นอันตรายน่ากลัว นี่ยอมรับเสียว่าไอ้การเกิดชนิดนั้นมี มีอยู่แล้วมีได้ ระวัง เกิดให้ดี ๆ อย่าไปเกิดที่เกิดเป็นทุคติคือเลว
นี้อันสุดท้ายที่ว่ากรรม ผลกรรม ผู้รับกรรม มี กรรม คือ การกระทำด้วยเจตนา ไอ้กรรมนี้ทำแล้วจะต้องมีผลกรรมเขาเรียกว่า วิบาก ผลกรรมมีแล้วจะมีผู้รับผลกรรมคือผู้ทำนั่นเอง ถ้าพูดว่ากรรมแล้วจำไว้ ๓ คำ กรรม คำหนึ่ง ผลกรรม คำหนึ่ง ผู้รับผลกรรม อีกคำหนึ่ง เราเชื่อว่ามี เรามองเห็นว่ามี แล้วเราก็มองเห็นเองด้วย เมื่อทำอะไรลงไปมันก็เป็นกรรมถ้าทำด้วยเจตนา แล้วก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งนี่เรียกว่า ผลกรรม แล้วคนที่ได้รับโดยแน่นอนโดยตรงก็คือผู้ทำนั่นแหละ อย่างนี้เรียกว่ากรรมมี ผลกรรมมี วิบากกรรมมี ผู้รับกรรมมี เห็นอย่างนี้เขาเรียกว่า สัมมาทิฐิ ทีนี้คนบางคนมันไม่เอามันไม่ยอมเชื่อมันไม่เห็นก็เป็นมิจฉาทิฐิ ทีนี้ความเห็นถูกอย่างที่ว่ามาแล้วนี้เขาเรียกว่า สัมมาทิฐิ ทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นอย่างขั้นแรกเป็นอย่างขั้นต่ำ จำไว้ว่าสัมมาทิฐิอย่างขั้นต่ำ ๆ มีอยู่อย่างนี้
ทีนี้สัมมาทิฐินั่นแหละแต่ว่าสูงขึ้นไปก็มีความเห็นเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ สัมมาทิฐิในระดับอริยสัจ ๔ รู้เห็นเข้าใจอย่างถูกต้องว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ ความทุกข์ก่อนนะ รู้เห็นว่าเหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ แล้วรู้เห็นชัดว่าความไม่มีทุกข์เลยเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วรู้ไอ้ความวิถีทางที่จะได้มาซึ่งความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ เขาเรียกมีอยู่ ๔ อย่าง ๔ อย่างนี้เรียกว่าอริยสัจ ทุกข์ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์ แล้วก็ทางแห่งความดับทุกข์ เรียกเป็นบาลีเขาเรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คงจะชินหูกระมัง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือทุกข์ สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธคือความดับทุกข์ มรรคคือหนทางที่เรากำลังพูดที่จะให้ถึงความดับทุกข์ ถ้ารู้แจ่มแจ้งชัดเจนใน ๔ อย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิขั้นสูง สูงขึ้นมาอีก
ทีนี้สัมมาทิฐิที่สูงไปกว่านั้นแต่มันเป็นไปในรูปปรัชญาหรือหลักวิชาก็ยังมีอีกจะยกตัวอย่างมาให้สักอันหนึ่ง คือ สัมมาทิฐิในระดับกฎของอิทัปปัจจยตา สัมมาทิฐิในระดับอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา คือ กฎของธรรมชาติ ธรรมะความหมายที่หนึ่ง คือ กฎของธรรมชาติ กฎอันนี้เอามาเรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา แปลกหู ฟังยากแล้วก็จำยาก แต่ขอร้องว่าช่วยจำเพราะนี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านชอบพระพุทธเจ้าท่านเอามาฮัมเพลงเล่นอยู่เสมอเรื่องอิทัปปัจจยตานี่ มันมีความหมายอย่างสั้น ๆ ก็ว่า เมื่อสิ่งนี้ ๆ มี สิ่งนี้ ๆ ย่อมมี เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น เอาอย่างนี้ดีกว่านะ เมื่อสิ่งนี้ ๆ เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น เท่านี้ก็พอเขาเรียกว่า กฎแห่งเหตุผล เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมันก็เกิดขึ้น เมื่อไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมันก็ไม่เกิดขึ้น แล้วเมื่อเหตุเมื่อปัจจัยดับไปสิ่งนี้มันก็ดับไป บางทีก็เรียกว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา อย่างนี้ก็มี ไอ้หลักเกณฑ์ที่ว่าเมื่อมีสิ่งที่เป็นเหตุแล้วสิ่งที่เป็นผลจะเกิดขึ้น นี่คือเรียกว่าอิทัปปัจจยตา เป็นกฎธรรมชาติ แต่ว่าอยู่ในรูปของปรัชญามากไปหน่อย แต่ในทางของการปฏิบัติก็มีนี่ ๓ อย่างเท่านี้ก็พอแล้ว สัมมาทิฐิอย่างแรกรู้ว่าบุญบาปมีนรกมีสวรรค์มีโลกหน้ามี นี้ก็เป็นสัมมาทิฐิทั่วไปพื้นฐานทุกคนจะต้องยึดถือเป็นขั้นศีลธรรม นี้สัมมาทิฐิที่สองที่สามนี้เป็นขั้นที่สูงขึ้นมาเป็นสัจธรรมเป็นปรมัตถธรรม เห็นเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วก็เห็นเรื่องอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาก็คือกฎเกณฑ์ของอริยสัจ ๔ แต่เขาไปพูดในอีกรูปหนึ่ง นี่สัมมาทิฐิมีอยู่อย่างนี้รวมความแล้วก็เป็นความเห็นชอบความเห็นถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น
อัฎฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ นี่มันแล้วแต่สัมมาทิฐิ ถ้าสัมมาทิฐิต่ำมันก็เป็นอย่างต่ำ ถ้าสัมมาทิฐิสูงมันก็เป็นอย่างสูง ดังนั้น มรรคมีองค์ ๘ นี้ใช้ได้แก่คนทุกคนทั้งคนต่ำคนกลางคนสูง ชาวไร่ชาวนาชาวบ้านก็ต้องใช้ต้องมีสัมมาทิฐิแล้วก็มีมรรคมีองค์ ๘ ไปตามแบบของตน ๆ
เอ้า, ทีนี้มันก็ต่อไปในองค์ที่ ๒ สิ ให้รู้ว่าสัมมาทิฐิมันยืดหยุ่นได้ไปตามแบบตามระดับของมัน พอมีสัมมาทิฐิแล้วก็จะต้องมีสัมมาสังกัปโป องค์ที่ ๒ เรียกว่า ความดำริชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบนี้เพ่งมองลงไปที่ความดำริ ความดำริ คือ ความต้องการ ความใฝ่ฝัน ความปรารถนา ความดำริของคนเราจะต้องไปตามความคิดเห็นใช่ไหม เราเห็นอย่างไร เราเชื่อ อย่างไร มีทิฎฐิอย่างไร เราจะตริรองไปหรือว่าต้องการหรือว่าปรารถนาไปตามนั้น เพราะฉะนั้นไอ้สัมมาสังกะโปนี้มันเดินตามหางเดินตามสัมมาทิฐิแหละ ถ้าสัมมาทิฐิมันถูกสัมมาสังกัปโปมันก็ถูก หมายความว่าเรารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ดี เราก็ต้องปรารถนาสิ่งต่าง ๆ โดยถูกต้อง รู้จักปรารถนาให้ถูกต้อง สัมมาสังกัปโปความดำริ ความใฝ่ฝัน ความต้องการ ความหวัง ความปรารถนา ความประสงค์อะไรก็ตามนี่เรียกว่าสังกัปโปทั้งนั้นแหละ ต้องถูกต้องจึงจะเป็นสัมมาสังกัปโป ดังนั้น เราจะหวัง ๆ ให้เรียนดี หวังให้สอบได้ หวังอะไรก็ตามให้มันถูกต้องตามเรื่องของสัมมาทิฐิ มันจึงจะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นมา
เมื่อสัมมาสังกัปโป ความปรารถนา หรือความหวังหรือความดำริมันถูกต้องแล้ว มันก็เดินต่อไปถึงองค์ที่ ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมาวาจามันก็ต้องถูกต้อง สัมมาวาจานี่ตรงกันหมดเลยระดับไหนก็ต้องถูกต้องอย่างสูงอย่างกลางอย่างต่ำก็เหมือน ๆ กัน ไม่เหมือนสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิแบ่งระดับได้ต่างกันมาก แต่สัมมาวาจานี่ถือว่าเหมือนกันตรงกันทุกระดับและทุกเพศ เพศหญิงเพศชายก็ตาม เพศบรรพชิตก็ตาม เพศฆราวาสคฤหัสถ์ ก็ตาม ทุก ๆ เพศนี่จะมีหลักเกณฑ์เรื่องสัมมาวาจาตรงกันไปหมด คือ ไม่พูดให้มันเป็นเท็จ ไม่พูดให้หยาบคาย ไม่ให้ยุยงให้คนแตกกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ
สัมมาวาจาแล้วก็ถึงสัมมากัมมันโต สัมมากัมมันตะ แปลว่า การกระทำชอบ องค์ที่ ๓ พูดจาชอบ องค์ที่ ๔ การกระทำชอบ บางทีก็เรียกว่าการงานชอบ การกระทำชอบนี้ต้องระบุชัดไปเลย พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องไม่ฆ่า แล้วก็ไม่ขโมย คือ ปาณาติปาตาเวระมณี อทินนาทานาเวระมณี กาเมสุมิจฉาจาราเวระมณี เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อตรัสถึงสัมมากัมมันโต ท่านระบุกาม กาเมสุมิจฉาจาราเวระมณี ไม่เคยพบที่ระบุ อพรหม (ชั่วโมงที่ 01:14:40) สูตรไหนก็มีระบุแต่กาเมสุมิจฉาจาราเวระมณี ดังนั้นจึงเชื่อเด็ดขาดเลยว่าเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านตรัสสำหรับชาวบ้านด้วย จึงได้ตรัสบัญญัติเป็น กาเมสุมิจฉาจาราเวระมณี ถ้าจะบัญญัติแต่เฉพาะพระจะพูดว่า อพรหมจริยาเวระมณี นี้ไม่เคยเห็น ก็แปลว่าท่านจะตรัสให้เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปแม้แต่ฆราวาส อย่าไปเชื่อใครที่พูดว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่มีแต่สำหรับพระไว้ให้พระปฏิบัติเท่านั้น ชาวบ้านไม่ต้องปฏิบัตินี้ไม่จริงก็เพราะบาลีมีชัดอยู่อย่างนี้ว่า กาเมสุมิจฉาจาราเวระมณี ในข้อสัมมากัมมันโต มันระบุชาวบ้านชัด ๆ
สัมมาถัดไปเป็นองค์ที่ ๕ ก็สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ เกือบไม่ต้องอธิบายกระมัง หากินชอบ เป็นอยู่ชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ แต่อันนี้ยืดหยุ่นได้ตามระดับหรือตามเพศ เพศบรรพชิตก็อย่างเพศฆราวาสก็อย่าง ในที่เพศฆราวาสทำได้เพศบรรพชิตทำไม่ได้ เช่น จะไปทำนา ฆราวาสทำได้แต่พระทำไม่ได้ นี่ก็เรียกว่าเป็นสัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบนี้ต้องมีการปรับปรุงได้ตามระดับหรือตามเพศบรรพชิต คฤหัสถ์ เป็นต้น
สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ พยายามชอบ นี้มันก็ยืดหยุ่นได้ตามระดับของสัมมาทิฐิหรือสัมมาสังกัปโป ถ้าสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโปมันต้องการสูง ไอ้สัมมาวายาโมมันก็ต้องสูงตามด้วย แต่สัมมาสังกัปโปมันต้องการต่ำไอ้วายาโมมันก็ต่ำได้ ดังนั้น จึงเรียกว่ายืดหยุ่นตามระดับของสัมมาทิฐิหรือว่าตามเพศบรรพชิตหรือเพศคฤหัสถ์ ต่อไปมันเป็นสัมมาสติ อ้อ, เดี๋ยวก่อนขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า สัมมาวายาโม ความพยายามชอบนี้ วางเป็นหลักกลาง ๆ ไว้ใช้ได้แก่ทุกเพศก็มี คือ พยายามที่จะไม่ให้เกิดความชั่ว ๑.พยายามไม่ให้เกิดความชั่ว ๒.พยายามละความชั่วที่เกิดแล้ว ๓.พยายามให้เกิดความดี ๔.พยายามรักษาความดีที่เกิดแล้ว นั่นแหละเป็นหลักกลาง ๆ สำหรับ สัมมาวายาโม อย่าให้เกิดความชั่ว และทำลายความชั่วที่เกิดแล้วคือที่เกิดอยู่เป็นปกติ แล้วก็ทำให้เกิดความดี และก็ให้รักษาความดีที่เกิดแล้ว นี่เป็นความหมายสำคัญของคำว่า สัมมาวายาโม ที่จะทำมากทำน้อยทำได้เท่าไรก็แล้วแต่เพศหรือว่าแล้วแต่ระดับ
สัมมาสติต่อไป เป็นองค์ที่ ๗ แล้ว คำว่า สติ นี้คือความระลึกรู้สึกตัวอยู่ จะเรียกว่าสัญญา จะเรียกว่าสมปฤดี จะเรียกว่าอะไรก็ได้แต่ในที่นี้เขาเรียกว่า สติ คือเราจะต้องมีความรู้สึกคิดนึกที่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไรนี่ให้มันถูกต้องอยู่เสมอ อย่าให้ความระลึกหมดไปหรือเผลอไปซึ่งจะทำให้เกิดความชั่วขึ้นมา ถ้ามีสติมันก็ป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าเป็นชั้นสูงก็เจริญสติปัฎฐานไม่ให้กิเลสเกิดได้แล้วกิเลสร่อยหรอไปแล้วก็เป็นนิพพาน แต่ถ้าชั้นชาวบ้านอย่างนี้ก็มีสติที่จะไม่ให้บาปเกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้บาปเกิดขึ้นไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น เรียกที่เรียกกันโดยมากก็คือไม่สะเพร่า พอใครสะเพร่าในความหมายไหนก็ตามนั้นเรียกว่า ขาดสติ ที่น่ากลัวกว่านั้นก็เรียกว่าเป็นคนประมาทแล้วจะต้องตาย คนประมาทจะต้องตาย ไม่ตายทางกายก็ตายทางใจ ที่มันขาดสติมันประมาท มันตกสะพานตาย มันรถชนตาย มันก็ตายปางตาย ทีนี้มันขาดสติในเรื่องของกิเลส ความคิดชั่วร้ายมันก็เกิดขึ้นในใจ มันก็ทำชั่ว มันก็ตายทางใจ นี่เขาเรียกว่าถ้าประมาทแล้วก็ต้องตาย ถ้าขาดสติแล้วก็ต้องประมาท เราก็ต้องมีสติแล้วก็เป็นอย่างดีด้วยเรียกว่า สัมมาสติ อันนี้ก็ยืดหยุ่นได้ ตามอำนาจของสัมมาทิฐิ ยืดหยุ่นได้ตามระดับของเพศของอะไร พระก็ทำอย่างสูง ฆราวาสก็ทำอย่างต่ำลงมา
อันสุดท้ายองค์ที่ ๘ เรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่น จิตใจตั้งมั่น ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ อย่าเข้าใจว่าแล้วแข็งเป็นท่อนไม้ คนไม่รู้ว่าเอาเอง จิตเป็นสมาธิแล้วตัวแข็งเป็นท่อนไม้นั้นมันว่าเอาเอง จิตเป็นสมาธิ คือ จิตตั้งมั่น อย่างชนิดที่ควรปรารถนาอย่างยิ่งนี้จะประกันความผิดพลาดนะ เอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสดีกว่า ที่ว่าเป็นสมาธิน่ะคือมันบริสุทธิ์ก่อน เวลานั้นมันบริสุทธิ์ไม่มีกิเลส จิตเป็นสมาธิแล้วจิตมันตั้งมั่นแน่วแน่ แล้วจิตว่องไวในหน้าที่ของจิต เราต้องการความกระปรี้กระเปร่าว่องไวของจิต เราต้องทำจิตให้สะอาดแล้วทำจิตให้ตั้งมั่น สะอาดก็คือบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส ตั้งมั่นก็แน่วแน่บึกบึนแล้วก็ว่องไวนี้ก็ active คำที่เรียกว่า active เอามาใช้กันได้กับคำว่า ว่องไวของจิต ถ้าจิตเป็นครบ ๓ ประการนี้เรียกว่ามีสมาธิ สมาธิจะมีประโยชน์มากเท่าไรก็ลองคิดดู มันทั้งสะอาดทั้งตั้งมั่นทั้งว่องไว ดังนั้น จิตนี้ก็ทำหน้าที่การงานของมันได้ดี ถ้าเรียนหนังสือก็เรียนเก่ง จำเก่ง คิดเก่ง ตัดสินใจเก่ง ถ้าปฏิบัติจนละกิเลสมันก็ละกิเลสได้แล้วทำได้ถึงขนาดสูงสุดก็เป็นฌานเป็นสมาบัติ สูงขึ้นไปเป็นปัญญาเป็นนิพพานไปเลย ๘ ประการนี้เรียกว่า องค์หนึ่ง ๆ ๆ ของมรรค มรรคมี ๘ องค์จึงได้เรียกว่า อัษฎางคิกมรรค มรรคมี ๘ องค์ ทีนี้มันจะเป็นทางขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมันรวมเป็นอันเดียวกันทั้ง ๘ องค์เป็นของสิ่งเดียวขึ้นมาเป็นหนทาง ถ้ามันแยกกันอยู่เป็น ๘ อย่าง ใครจะเดินไหวจะเดินไปทางไหนกัน มันต้องมาฟั่นกันเป็นอันเดียวเหมือนกับเชือกมันมี ๘ เกลียว เชือกเส้นนั้นก็มีคุณภาพมาก ความถูกต้อง ๘ ประการนี้มารวมกันเป็นหนทางหรือเป็นการปฏิบัติอันหนึ่งมันก็เป็นความถูกต้องสูงสุด ความที่ต้องรวมกันทุกองค์นี้เขาเรียกว่า อัฎฐังคิก (ชั่วโมงที่ 01:23:50) อังคิกะมันก็รวมมีองค์ที่รวมกัน ๘ องค์ การที่รวมกันนี้ต้องเป็นอย่างการรวมกันอย่างถูกต้องสม่ำเสมอในหน้าที่ในสัดส่วนนี้เขาเรียกว่า สมังคี สมังคี แปลว่า มีองค์เสมอกัน คือ ไม่ผิดสัดส่วน เรียกว่ามีองค์เสมอกัน ความถูกต้อง ๘ ประการนี้มีอยู่ ๘ องค์ต้องมีสัดส่วนเสมอกันที่มันจะเข้ากันได้ แล้วมันก็มารวมกันเป็นเส้นทางสายเดียวที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ต้องจำคำว่า สมังคีไว้ด้วย มีองค์เสมอกัน คือ มีสัดส่วนเสมอกันตามหน้าที่ที่มันจะต้องมี ยกตัวอย่างเพื่อกันลืมเหมือนว่า แกง ๆ หนึ่งที่เราจะกินน่ะมันประกอบด้วยของหลายอย่าง เช่นพริกบ้าง เช่นตะไคร้บ้าง อะไรก็ตามใครก็เห็น ๆ กันอยู่ไม่ต้องบอก ถ้ามันแยกกันอยู่เป็นอย่าง ๆ กินได้ คิดดูสิ ต่อเมื่อมันทำให้มันกลมกลืนเป็นสิ่งเดียวแล้วก็เรียกว่าแกง จะแกงเนื้อแกงปลามันจึงจะกินได้ ไอ้มรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เหมือนกันถ้ามันเกิดแยกกันอยู่เป็นองค์ ๆ ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมและรวมเป็นอันเดียวกันเรียกว่า มรรค แล้วประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ถ้าพูดถึงกำลังมันก็เหมือนกับเชือก ๘ เกลียว ถ้าพูดถึงในลักษณะหน้าที่มันก็มีหลาย ๆ หน้าที่อย่างว่าหนทางนี้จะเดินไปสงขลา มันก็ต้องอะไรหลาย ๆ อย่างที่ครบถ้วนอย่างคนจึงจะเดินไปได้ อย่างเดินเท้าสมัยโบราณนี้อย่างน้อยต้องมีแนวทางมีกรุยทางก็จะเดินไปทางไหนชิดทางไหนจะต้องมีไอ้ความปลอดภัยในทางนั้น ไม่เสือกัดอย่าให้เสือกัดตาย อย่าให้โจรจับไปฆ่าเสีย ดังนั้น จะต้องมีไอ้หาอาหารกินได้กว่ามันจะถึงมันหลายวันหลายเดือน มันก็ต้องมีสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเมื่อไปถึงคลองไปถึงแม่น้ำมันจะข้ามไปอย่างไรได้ มันต้องมีอย่างอื่นหลาย ๆ อย่างรวมกันให้คนนั้นมันรอด อยู่ได้แล้วมันเดินไป ๆ มันก็ถึง ในมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้าท่านใส่ไว้ครบแล้วล่ะ ไปท่องดูไปแยกดูใน ๘ องค์นั้นนะมันครบซึ่งทำให้คนถึงนิพพานได้ เรียกว่า หนทางประกอบอยู่ด้วยองค์ แล้วก็เรียกสั้นว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็ขอร้องทุกคนอย่าสะเพร่าไปเรียกมันสั้น ๆ ดุ้น ๆ ว่ามรรค ๘ ซึ่งชอบเรียกกันมากนักและผิดทั้งนั้น ถ้าผู้รู้เขาหัวเราะเขาพูดว่ามรรค ๘ เขาหัวเราะ มรรค ๘ คือ ทางมี ๘ แล้วเดินอย่างไร ทีนี้มันต้องพูดว่ามรรคมีองค์ ๘ ทางนี้เส้นเดียวประกอบไปด้วยส่วนประกอบสำคัญ ๆ ๘ อย่างก็คนเดินไปได้
ทีนี้อันสุดท้ายที่จะบอกก็คือว่าให้ชีวิตทุกชีวิตกำลังเดินทาง ไปอธิบายเอาเองก็ได้ เคยอ่านหนังสืออ่านเล่นมากมายรู้ว่า ชีวิตเป็นการเดินทาง มันไม่หยุดอยู่กับที่ มันวิวัฒนาการเรื่อย ๆ ไป มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป มันพยายามศึกษามันกระทำ มันได้รับผลของการกระทำ มันไม่หยุด นี่ชีวิตเป็นการเดินทาง เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่เรื่อย ถ้าเราไม่รู้เราจะลำบาก ดังนั้น ต้องรับผิดชอบเอาเอง ถ้าไม่รู้ก็ต้องรับโทษรับทุกข์ เราต้องรับผิดชอบให้การเดินทางของชีวิตนี้มันเป็นไปอย่างถูกต้องเพราะชีวิตมันจะเป็นการเดินทางเสมอ มันไม่ยอมหยุด ดังนั้น เราจะต้องมีการเดินทางที่ปลอดภัย อย่างน้อยเราก็ต้องมีความรู้เรื่องการเดินทาง คือ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้คือความรู้เรื่องการเดินทาง แม้ว่าเรายังไปไม่ถึง ๆ แม้แต่ครึ่งทางด้วยซ้ำไปแต่เราก็ต้องรู้จักหนทาง ถ้าไม่อย่างนั้นเราเดินหลงไม่รู้แวะไปทางไหน เราต้องรู้แน่นอนว่าเป็นทางนี้ตรงแน่วไปทางนิพพานหรือไปยังจุดหมายปลายทางที่เราประสงค์ นี่เราอยู่ที่ไหน เราอยู่ต้นทางหรือว่าเราเดินได้บ้างแล้ว เดินได้ครึ่งหนึ่งแล้ว เดินได้ค่อนแล้ว ต้องรู้ทั้งนั้นแหละนี่เรียกว่ารู้จักตัวเอง คนมันไม่รู้จักตัวเองไม่รู้ว่ากำลังเป็นอย่างไร ดีชั่วบุญบาปก็ไม่รู้ทั้งนั้น ต้องมีกรุยทาง คือ ไอ้แนวของทางนี้ต้องถูกต้องแล้วก็ต้องเหมาะแก่ตัวเอง ถูกต้องตามระดับความเป็นอยู่ฐานะอะไรของตัวเอง รู้จักตัวเองว่าเราเป็นอย่างไร เราจะต้องทำอย่างไร นี่แหละคือรู้ไอ้เรื่องการเดินทาง แล้วอย่าให้ใครต้องบอกเลยทางนี้ อย่าให้ใครต้องคอยบอกเมื่อจะตาย คนจะตายเขาบอกหนทางว่าไปสวรรค์นะไปอย่างนั้นอย่างนี้นะ เราอย่าเอาอย่างนั้นเลย เรารู้กันเสียเดี๋ยวนี้แหละ อย่าให้ใครคอยบอกต่อเมื่อจะตาย มันน่าหัว มันหนวกหู รู้เสียเดี๋ยวนี้เข้าใจอย่างถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแนะไว้ดีที่สุดแล้ว เรารับมาทดลองดูปฏิบัติดู เรารู้แล้วเราก็เดินดูตั้งแต่เวลานี้ให้มันถูกต้อง ชีวิตมันเดินทางเรื่อยเหมือนกับเวลา เวลาไม่มีหยุดไม่มีถอยหลัง ไอ้ชีวิตมันก็เดินทางเรื่อย นี้เราก็เหลือแต่ว่าจะถือหางเสือให้มันถูกต้องวิธีไหนไม่ดีเท่ากับความรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ในความหมายที่ว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ทั้งหมดนี้มาสรุปเรียกสั้น ๆ ด้วยคำพูดเพียงคำเดียวว่า หนทางหรือการเดินทาง
การบรรยายในวันนี้เราพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ทาง และหน้าที่ของคนทุกคน คือ การเดินทาง การเดินทาง คือ การปฏิบัติ ก็ต้องเดินให้ถูกต้อง ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ต้องรู้ทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องกันกับการที่เราจะต้องเดินทาง ก็คิดดูว่าเดี๋ยวนี้เราก็มีอายุเท่านี้แล้วเดินทางมาเท่าไรแล้ว มีการศึกษาเล่าเรียนอะไรแล้ว มาถึงนี้แล้วจะเป็นอะไรต่อไป ที่เฉพาะหน้าอยู่ก็ที่ว่าจะเป็นครู จะเดินไปตามทางของบุคคลที่จะเป็นผู้นำในทางจิตใจในทางความรู้สติปัญญาของคนในโลกนี้ สถาบันครูเขามอบหมายหน้าที่ให้อย่างนี้แล้วก็เดินไปตามทางนี้ในฐานะที่เป็นครู อีกส่วนหนึ่งก็ในฐานะที่เป็นมนุษย์เดินทางไปให้ถูกต้องอย่าได้มีความทุกข์ แล้วก็เอาความชำนาญเรื่องที่ไม่มีความทุกข์นี้ไปสอนคนอื่นต่อไป เรียกว่า เป็นครูที่แท้จริง แล้วอย่าลืมนึกถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบรมครู ก็ปลอดภัย พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู พระธรรม คือ คำที่ท่านสอน พระสงฆ์ คือ ผู้ที่เดินตามท่านตามทางที่ท่านสอน รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็รู้จักหนทางแน่ เอาล่ะ เวลาของเราก็พอดีสำหรับที่กำหนดไว้ ยุติเรื่องหนทางไว้เพียงเท่านี้ก่อน