แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ที่เป็นธรรมจารีและธรรมจาริณีย์ทั้งหลาย เราทุกคนเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยมุ่งหมายจะเพื่อดับทุกข์ มาบวชนั้นเพื่อความสะดวกยิ่งกว่าที่จะอยู่ที่บ้านเรือน ไม่ใช่ว่าอยู่ที่บ้านเรือนแล้วจะประพฤติไม่ได้ มันประพฤติได้แต่ไม่สะดวก แต่ที่มันยิ่งกว่านั้นก็คือว่ามีความทุกข์ที่ไหนต้องประพฤติธรรมที่นั่นหรือเวลานั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัด รวมความว่าเมื่อมันมีชีวิตอยู่ มันเกิดความทุกข์ก็ต้องปฏิบัติเพื่อขจัดความทุกข์นั้นออกไป ใจความสำคัญอยู่ที่ว่าปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์เราก็เรียกว่าประพฤติธรรม พูดกันมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าธรรมะคือความถูกต้องสำหรับที่จะอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราก็ เราส่วนใหญ่ที่นี่ก็ต้องการจะประพฤติโดยเร็วโดยสะดวก จึงได้พากันบวช คำว่าบวชมันก็แปลว่าไปเสียให้พ้นจากอุปสรรคแห่งการประพฤติธรรมคือบ้านเรือน ไปให้เว้นจากความเป็นบ้านเรือน มันก็ง่ายขึ้น มันจะเกินครึ่งตัวด้วยซ้ำไป อีกทีหนึ่งคำว่าบวชก็แปลว่าเว้นหมด คือเว้นจากสิ่งที่ควรจะเว้น จะอยู่ที่บ้านเรือนก็เว้น ที่มาอยู่ที่วัดก็เว้น ถ้ามันเป็นการเว้นจากไอ้สิ่งที่จะให้เกิดความทุกข์ละก็เรียกว่าบวชทั้งนั้น คำว่าบวชนี่แปลได้อย่างนี้ ไปหมดก็คือไปเสียจากบ้านเรือนที่ยุ่งยากและเป็นปัญหาสำหรับจะดับทุกข์ ถ้าเว้นหมด ถ้าแปลว่าเว้นหมดก็คือว่าเว้นเสียจากไอ้สิ่งที่มันเป็นปัญหาหรือจะเป็นทุกข์ เอาเป็นว่าจะอยู่ที่บ้านเรือนหรืออยู่ที่วัด ที่ในป่าที่ไหนก็ตาม ถ้าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือทำให้มันเว้นเสียจากความทุกข์ ในป่าสะดวกก็มาฝึกกันในป่า ผู้ที่มีความสามารถแตกฉานเชี่ยวชาญชำนาญแล้วไปอยู่บ้านก็ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่เรียกว่าการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม
ทีนี้เรามาพูดกันถึงไอ้ตัวการสำคัญในการปฏิบัติธรรมว่ามันคืออะไรและมันจะต้องทำอย่างไร ข้อนี้มีความสำคัญหรือเร้นลับอยู่อย่างหนึ่งคือความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับการพูดจาสั่งสอนอะไรกันนี่มันอยู่ที่ภาษา เพราะว่าภาษาอย่างที่เราใช้พูดกันอยู่นั้นนะมันมีหลายชนิด ภาษาคนไม่รู้ธรรมะพูดก็อย่างหนึ่ง ภาษาคนที่รู้ธรรมะพูดก็อย่างหนึ่ง พอเราเกิดมาในโลกนี้ตั้งแต่อ้อนแต่ออกนี่เราก็พูด พูดไปตามภาษาที่เขาใช้พูดกันอยู่ แล้วแต่ว่าบิดามารดาคนผู้เลี้ยงดูมาเขาสอนให้พูดอย่างไหนก็พูดอย่างนั้น ให้มีความหมายอย่างไหนก็มีความหมายอย่างนั้น แล้วก็พูดภาษานี้ภาษาคนอย่างนี้เรื่อยๆมา ซึ่งมันไม่ตรงกับภาษาธรรม บางทีไอ้คำนั้นก็ไม่ตรง บางทีความหมายก็ไม่ตรง คำตรงความหมายไม่ตรง แม้แต่คำมันก็ไม่ตรง แล้วมันยังเล่นตลกมากทีเดียว คือเราสอน เราได้รับการสั่งสอนให้พูดอย่างยึดถือ อย่างสมมติ คำว่าสมมตินั่นนะ ฟังกันเสียให้เข้าใจว่าไอ้คนธรรมดาในความรู้สึกธรรมดาก็สมมติเรียกนั่นนี่อย่างนั้นอย่างนี้ การกระทำนั่นนี่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วแต่จะสมมติ สมมติกันมาตั้งแต่ครั้งไหนไม่มีใครรู้ว่าสมัย... (เสียงชำรุด นาทีที่ 6:20-6:22) เป็นมนุษย์มันก็รู้จักพูด เพราะมันพูดได้ ถ้ามันไม่พูดได้มันก็เหมือนสัตว์ที่มันก็ถ่ายทอดอะไรกันไม่ได้ มันก็ตายด้านเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน มันตายด้านเพราะมันพูดกันไม่ได้ มันถ่ายทอดความรู้... (เสียงชำรุด นาทีที่ 6:41-6:43) ก็รู้อยู่อย่างตายตัวจำกัดที่ธรรมชาติมันรู้อย่างไร คนเรานี้มันดีที่ว่ามันพูดได้ มันพูดกันได้ ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 6:56-7:13) เพราะมันได้รับการถ่ายทอดกันทุกชั้นๆๆแล้วมาถึงชั้นของมันเองมันก็คิดนึกได้อีก รวมกันแล้วมันก็มากขึ้นๆ ภาษาหรือคำพูดหรือความหมายอะไรมันก็เพิ่มหรือก็เปลี่ยน เช่นเค้าเรียกแต่ละคนๆนี้ว่าคนหรือว่ามนุษย์ก็ตาม แล้วก็ให้ความหมายว่ามันเป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเราคือฝ่ายนี้ เป็นตัวเขาคือฝ่ายนู้น มันก็พูดด้วยคำนั้นและรู้สึกอย่างนั้น แล้วมันก็ยังมีแตกแยกเป็นย่อยๆออกไปอีกเยอะว่า สมมติว่าเป็นคน มันก็ภาวะคนอย่างนี้สมมติเรียกว่าหญิง ภาษาภาวะคนอย่างนี้เรียกว่าชาย ภาวะอย่างนั้นเรียกว่าแม่ อย่างนั้นเรียกว่าพ่อ อย่างนั้นเรียกว่าลูกว่าหลานว่าเหลนอะไรเยอะแยะไปหมด กระทั่งที่สมมติกันอย่างมากที่สุดก็คือว่ามันชื่ออะไร ชื่อนาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. เรียกว่าเป็นสมมติ คนก็รู้แค่สมมติ ไม่รู้ตามความจริงว่าที่แท้นั้นมันเป็นธรรมชาติ ที่ปรุงแต่งกันมาอย่างนั้นๆๆๆ ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาเป็นมาตามเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆๆ ก็เลยสมมติหมดว่าดีว่าชั่วว่าได้ว่าเสียว่าแพ้ว่าชนะว่าขาดทุนว่ากำไร เต็มไปหมด ซึ่งทำไปด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นตัวเราหรือมันเป็นของเรา ไม่มีใครเคยรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ แล้วก็ไม่ต้องเป็นเราเป็นเขา ไม่ต้องเป็นดีไม่ต้องเป็นชั่ว แม้ว่ามันเจ็บปวดหรือมันสบาย หรือเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็เช่นนั้นเองแหละ มันเป็นอาการของธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เราก็สมมติชื่อให้มันว่าที่เราไม่ต้องการมันเจ็บปวดก็เรียกว่าความทุกข์ ที่เราพอใจเรียกว่าความสุข แล้วก็เกิดแบ่งแยกเป็นคู่ๆๆๆๆ กันไม่รู้จักกี่ร้อยคู่สำหรับยึดถือกันนั้นแหละ ถ้าพูดให้หยาบคายหน่อยก็ว่าสำหรับให้โง่ สำหรับให้ไม่รู้ สำหรับให้ไม่รู้ว่าที่แท้มันเป็นธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ มันมาแยกออกเป็นของธรรมชาติและของที่มนุษย์ ตัวตนเป็นตัวเป็นตน
เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกมันก็ยังโง่ที่ว่าอันหนึ่งเป็นธรรมชาติ เรียกว่าเป็นไปตามธรรมชาติ อันหนึ่งเรียกว่าเป็นของมนุษย์ทำขึ้นประดิษฐ์ขึ้นของแปลกของใหม่ แต่ถ้าธรรมะนั้นนะเขาถือว่ามันเป็นธรรมชาติทั้งนั้น แปลว่าไอ้จิตที่มันคิดอะไรนั่นมันก็เป็นธรรมชาติ มันอยากอะไรมันก็คือธรรมชาติ แล้วมันทำขึ้นมามันก็คือธรรมชาติด้วยธรรมชาติโดยธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ นักศึกษาทั้งหลายรู้ไว้ว่าคำว่าธรรมชาตินะในภาษาธรรมะนะ มันกว้างครอบหมดไม่เหลืออะไร ที่ภาษาคนหรือภาษาที่ถูกจำกัดไว้ด้วยความโง่ความฉลาดนี่มันก็แยกออกไปว่าไอ้ที่อยู่ๆชนิดที่มนุษย์ไม่เคยไปแตะต้องนั้นนะเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามนุษย์ไปแตะต้องเข้าแล้วมันก็เรียกว่าไม่ใช่ธรรมชาติ ถ้ายิ่งทำให้ไกลไปจากที่มันอยู่อย่างเดิมก็เรียกเป็นของใหม่ เป็นผลิตผล เป็นไอ้วิทยาศาสตร์หรือโดยวิทยาศาสตร์อะไรไป ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ถ้าทางธรรมะนั้นนะ มันไม่เป็นอย่างนั้นนะ มันยังคงเป็นธรรมชาติ เพราะว่าไอ้ตัวคนนั้นเองมันก็เป็นธรรมชาติ อะไรๆที่มีอยู่ในโลกนี้ก็คือธรรมชาติ แล้วกฎที่มันจะเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นกฎของธรรมชาติ ตัวคนเป็นธรรมชาติ จิตใจของคนเป็นธรรมชาติ เนื้อหนังร่างกายของคนก็เป็นธรรมชาติ มันก็พูดได้เลยว่าธรรมชาติกับธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติ ตามธรรมชาติ นี่เรารู้เสียทีหนึ่งก่อนว่าภาษานั่นนะทำพิษ ภาษาทำให้เราเข้าใจธรรมะไม่ได้ เพราะว่าผู้รู้ธรรมะท่านก็พูดไปตามไอ้ความรู้ธรรมะ ใช้คำพูดไปตามความรู้ธรรมะ ไอ้พวกที่มันไม่รู้ธรรมะมาแต่เดิม มันก็พูดไปตามความรู้อย่างเดิม ตามที่อบรมกันมา เพราะฉะนั้นมันจึงเข้าใจกันไม่ได้ บางอย่างมันถึงกับทะเลาะกันนะ เช่นว่าตามธรรมดาเราก็ต้องพูดไปตามความรู้สึกว่ามีตัวฉัน มีของฉัน ในภาษาธรรมะมาบอกว่าไม่มีตัวฉัน ไม่มีของฉัน ก็ตรงกันข้ามจนเข้าใจไม่ได้ และพอบอกให้ทำลายตัวฉัน ให้ละตัวฉันเสีย มันก็รู้สึกเหมือนกับว่าชวนให้ฆ่าตัวตายเอง นี่มันก็ไม่มีใครอยากจะทำอยากจะได้ ก็อยากจะมีตัวฉันอยู่เพื่อเสวยสุขตามแบบของฉัน อันนั้นมันก็พูดหนักเข้าไปอีกว่าไอ้มีตัวฉันนั่นแหละคือตัวความทุกข์แหละ ทำลายตัวฉันเสียนั่นแหละจะมีความสุข ก็เลยเข้าใจไม่ได้หนักขึ้นไปอีก แล้วจะประพฤติกันอย่างไรล่ะ พวกเรานี่ ที่นี่เดี๋ยวนี้จะประพฤติกันอย่างไร จะประพฤติธรรมะเพื่อดับทุกข์ ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 14:19-14:23) โดยหลักอันลึกซึ้งมันจะดับทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อดับความยึดถือว่าตัวตนหรือตัวฉันเสีย เท่ากับทำให้ตาย เราก็เคยพูดไอ้เรื่องความว่าตายเสียก่อนตายจะเป็นสุขอย่างยิ่ง เขาก็ว่าบ้า อย่างนี้มันผลัดกันบ้า ไอ้คนที่มันรู้อย่างนั้นมันก็บ้าไปอย่างหนึ่ง ไอ้คนที่รู้อย่างนี้มันก็หาว่าบ้าไปอีกอย่างหนึ่ง ตกลงว่าไม่ต้องทะเลาะกัน เอาเป็นว่าอย่างไหนมันไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ แล้วก็เอาอย่างนั้นไปเลย แม้ว่ามันจะเป็นของแปลกของใหม่ ก็ขอให้สนใจในหลักเกณฑ์คือว่ามันจะดับทุกข์ได้หรือไม่ ได้ยินคำพูดคำสอนที่แปลกประหลาดให้สนใจในข้อที่ว่ามันจะดับทุกข์ได้หรือไม่ ในครั้งแรกนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไร ฟังดูว่าเขาสอนให้ปฏิบัติอย่างไร ถ้าปฏิบัติอย่างนั้นมันจะมีผลอย่างไร ถ้าเห็นวี่แววว่ามันจะดับทุกข์ได้ก็ไปลองดู ลองดูเท่านั้นนะ ยังไม่เชื่อ แต่เมื่อลองดูแล้วมันดับทุกข์ได้ก็เออเอาทีนี้ จะเชื่อและก็จะทำต่อไป และก็จะลองดูต่อไป ลองดูต่อไป และก็จะรู้เพิ่มขึ้น รู้เพิ่มขึ้น และก็จะเป็นเพียงพอ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 16:06-16:27)
ทีนี้เข้ามาใคร่ครวญดูที่เขาบอกว่าไม่มีตัวตนนั้น มีแต่ธาตุตามธรรมชาติ ธรรมชาติคือเป็นธาตุทั้งหลาย มีธาตุที่เป็นส่วนวัตถุก็ทำให้เกิดร่างกาย ธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมทำให้เกิดร่างกาย วิญญาณธาตุ ธาตุทางวิญญาณทำให้เกิดจิตใจ มาถึงกันเข้าทั้งสองหมู่นี้ก็เลยทำอะไรได้ เดินได้พูดได้คิดได้อะไรได้ สุดแท้แต่ว่าความคิดนั้นมันเป็นอย่างไร ทีนี้จิตใจมันเป็นตัวคิด มันคิดได้ มันก็สั่งหรือบังคับให้ร่างกายทำไปตามนั้น ผลเกิดขึ้นแก่ร่างกาย... (เสียงชำรุด นาทีที่ 17:32-17:40) ร่างกายทำตามคำสั่งของจิตใจผลเกิดขึ้นร่างกายเป็น... (เสียงชำรุด นาทีที่ 17:45-17:49) แม้จิตใจก็พลอยรู้สึกไปด้วย ถ้าว่าเราสามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างร่างกายกับจิตใจ ไอ้ความทุกข์ก็จะแบ่งแยกได้เป็นสองส่วน ความทุกข์กายก็กายเอาไป ความทุกข์ใจก็ใจเอาไป แต่โดยเหตุที่มันไม่แยกกันได้ เพราะว่าพอแยกกันเมื่อไรมันล้มละลายหมด ไม่มีเหลือเลย... (เสียงชำรุด นาทีที่ 18:24-18:41) ไม่มีทางจะสัมผัสอะไรได้ ทีนี้กายไม่มีใจ มันก็เคลื่อนไหวไม่ได้ มันจะกลายเป็นก้อนหินหรือท่อนไม้ไป ถ้ามันไม่มีใจ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 18:56-18:59) ธรรมชาติของกายและใจกันซะบ้างก่อน แม้ว่าไม่ทั้งหมด เขาเปรียบไว้ดีนะว่าไอ้ร่างกายนี่ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงสบายดี สมบูรณ์ดี แต่ตาบอด ทีนี้ไอ้ใจนี่มันเหมือนกับคนตัวนิดเดียว ตัวเล็กแคระแกรนแต่ตามันดี ตามันยังดี วันหนึ่งมันพบเข้า พบกันเข้าแล้วก็มันมา... (เสียงชำรุด นาทีที่ 19:44-19:45) รวมกัน คือรวมกันเป็นคนเดียวกัน คนตาบอดคนแคระนั้นนะ ตัวเล็กขี่คอคนตัวโตคนแข็งแรงตัวใหญ่ ไปด้วยกันแล้วแต่ว่าคนตาดีบนคอมันจะสั่งไอ้คนใหญ่ข้างล่างให้ทำอย่างไร มันก็ไปกันได้ ไปทางไหนไปกันได้ นี่เรียกว่าอุปมาของร่างกายกับจิตใจ
ทีนี้ก็ลองคิดดูเถอะว่าไอ้คนไหนสำคัญกว่า พูดกันแท้จริงแล้วก็มันก็สำคัญเท่าๆกันแหละ สำคัญพอๆกัน ลองไม่มีไอ้คนข้างบนที่ตาดี คนข้างล่างก็เดินไม่ถูก ไม่มีคนข้างล่างมันก็ไปไหนไม่ได้ เรียกว่ามันมีความสำคัญหรือมีคุณค่าต่อกัน แต่ถ้าถามว่าจะให้อันไหนเป็นนำอันไหน ฝ่ายไหนเป็นคนนำฝ่ายไหน นี่มันจะเห็นเด่นชัดขึ้นมาทันทีว่า ไอ้คนตาดีตัวเล็กบนคอนั่นนะมันเป็นผู้นำ หรือถ้าจะพูดกันภาษาประโยชน์มันก็ต้องว่าไอ้คนบนคอเป็นคนรับผิดชอบ มันจะผิดจะถูกจะ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 21:25-21:31) ที่เป็นผู้สั่ง มันเป็นผู้รับผิดชอบ ฉะนั้นจึงเห็นว่าใจนี่มันจะต้องฉลาดรอบรู้... (เสียงชำรุด นาทีที่ 21:44-21:53) เราจึงสนใจกันที่ใจ ผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็พบและมองเห็นอย่างเดียวกันนะว่าไอ้ใจนี่มันสำคัญ อบรมจิตใจให้มันถูกต้อง มันทำถูกต้องแล้วร่างกายมันก็ไปตามเองแล้วมันก็ถูกต้องและปลอดภัย ฉะนั้นระบบปฏิบัติโดยหลักใหญ่ทั้งหมด แทบทั้งหมดก็ว่าได้มันจึงมุ่งไปที่ใจ มันจึงเกิดการอบรมใจฝึกฝนใจอะไร พัฒนาจิตใจ เค้าเรียกว่าภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้มันเจริญ จิตตภาวนาก็ทำจิตให้มันเจริญ สมาธิภาวนาก็ทำสมาธิให้เจริญ ปัญญาภาวนาก็ทำปัญญาให้มันเจริญ นี่เราจึงศึกษากันในส่วนที่ระบบที่มันจะทำให้เจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตใจ
เอ้า ทีนี้ก็มาดูกันให้เฉพาะเจาะจงลงไปที่คำว่าใจนี้ เรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่าใจ คือกายกับใจ เป็นภาษาไทยเรียกว่ากายกับใจ ภาษาบาลีก็คงยังเรียกสองสิ่งนี้แหละแต่ใช้คำบาลีที่ใช้อยู่โดยมากใช้คำว่ารูปและนาม รูปคือกาย นามคือใจ จะพูดว่ากายกับจิตก็ได้เหมือนกัน จิตเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราเรียกว่าใจ มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่ไหนกันนะ อันนี้จับมาให้ดูไม่ได้ แต่รู้สึกได้ว่าจิตของเรานี่คิดนึกได้ แต่ทว่ามีสิ่งหนึ่งๆที่ทำหน้าที่อันนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ นี่ก็เป็นคำที่เข้าใจยาก ที่ว่าเป็นธาตุ ธาตุคือมีอยู่ตามธรรมชาติเป็นอันดับสุดท้ายที่เราจะแบ่ง จะไม่แบ่งแยกกันอีก คำว่าธาตุๆนี่แบ่งออกไปจนถึงขั้นที่แบ่งไม่ได้และยุติอยู่ที่ตรงไหนก็ให้ชื่อตรงนั้นว่าธาตุ เป็นธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย แบ่งเป็นธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งอีก แบ่งก็อาจจะแบ่งไม่ได้ ถึงแบ่งได้ก็ไม่จำเป็นก็เลยไม่แบ่ง เรียกว่าธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม ทีนี้ไอ้พวกที่มีความรู้สึกที่เป็นนามธรรมที่ไม่มีตัวตนนี่เขาเรียกว่าวิญญาณธาตุ คือธาตุวิญญาณ วิญญาณแปลว่ารู้แจ้ง... (เสียงชำรุด นาทีที่ 25:35-25:38) ทีนี้ก็ได้มาอาศัยร่างกายประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์ทุกธาตุแล้ว ธาตุวิญญาณ ธาตุใจนี่มันก็ทำหน้าที่ของมัน ความยุ่งยากมันอยู่ตรงที่ว่ามันมีชื่อหลายชื่อ เช่นธาตุใจ หรือธาตุวิญญาณเรามาเรียกกันว่าธาตุใจ มันทำหน้าที่หลายอย่าง มันมีชื่อหลายชื่อ ถ้าถือเอาตามที่บัญญัติใช้กันอยู่ในเวลานี้ ในพระบาลี หรือนอกพระบาลี ก็ใช้ไปตามพระบาลี เอาตามพระบาลี ตามหลักในพระบาลีก็แล้วกันว่า ถ้ามันทำหน้าที่คิด หรือเมื่อมันทำหน้าที่คิด เราเรียกมันว่าจิต ถ้ามันทำหน้าที่รู้สึก รู้สึก เราเรียกชื่อมันว่ามโน มโน มโนแปลว่ารู้ รู้สึก จิตแปลว่าคิด ถ้ามันทำหน้าที่รู้แจ้ง ตามอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายนี่เราเรียกมันว่าวิญญาณ ถ้ามันทำหน้าที่รู้สึกละเอียดลงไป ก็คือรู้สึก... (เสียงชำรุด นาทีที่ 27:16-27:23) ใจที่มีเวทนาที่เป็นเวทนา ถ้ามันทำหน้าที่จำแม่นสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไรนี่ เรียกมันว่าสัญญา สัญญา ถ้าทำหน้าที่คิดอย่างละเอียด คิดที่เป็นการปรุงแต่ง เราเรียกว่าสังขาร นั่นล่ะมันจึงมีคำเรียกว่า ใจบ้างมโนบ้างวิญญาณบ้างเวทนาบ้างสัญญาบ้างสังขารบ้าง อุตส่าห์สังเกตและก็จำเอาเอง
ทีนี้นอกพุทธศาสนาออกไป เค้ายังมีคำอื่นอีกนะ เช่นว่าวิญญาณนี่ เป็นดวงวิญญาณ เป็นเจตภูตที่ไม่รู้จักตาย วิ่งเข้าวิ่งออกจากร่างกายนี้ ก็มาทำหน้าที่ปฏิสนธิในท้องแม่ มันเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้มาทำหน้าที่ปฏิสนธิในท้องแม่ หรือจะไปที่ไหนก็ได้นี่ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าวิญญาณในความหมายอื่น ถ้ามันทำหน้าที่เข้ามาท้องแม่ เข้ามาในท้องแม่ก็เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ พอมันจะออกจากร่างนี้ไปก็เรียกว่าจุติวิญญาณ พูดอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนาล่ะ เพราะมันเป็นตัวเป็นตนเกินไป แต่ก็มีคนเอามาสอนว่าเป็นพุทธศาสนา มีคนเอามาสอนว่านี่ก็เป็นพุทธศาสนา เป็นอภิธรรม เป็นอะไรไปเลย เราไม่เอา คือเราไม่ยอมรับว่ามีลักษณะเป็นตัวเป็นตน เป็นเที่ยงแท้ถาวรอย่างนั้น เจ้าวิญญาณก็เพียงแต่ว่ามันรู้ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันไม่มีตัวตนอย่างนั้นที่จะลอยเกิดมาเกิดไปเกิด บางคนก็ไปไกลจนถึงกับว่าพอเรานอนหลับ ไอ้วิญญาณนี่ก็ออกไปเที่ยวเหมือนกับเด็กหนีเที่ยว พอเราตื่นขึ้นวิญญาณก็กลับมาสิงร่างกายนี้ทำหน้าที่อะไรต่อไป บางทีวิญญาณไปเที่ยวเมืองนรก ไปเที่ยวเมืองสวรรค์ แล้วกลับมาเล่าให้ใครต่อใครฟังยุ่งไปหมดอย่างนี้ก็มี แต่แบบนี้ แบบที่เป็นตัวเป็นตนอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่าเป็นตัวตน ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 30:06-30:09) แต่ก็มีคนเอามาสอนว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ตามใจเขาสิ ถ้ามันเป็นเรื่องดับทุกข์ได้ ก็ได้ก็ยอมได้ แต่ถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้ เราก็ไม่เอา แล้วเราก็เอาเท่าที่มันจะดับทุกข์ได้ จิตเกี่ยวกับมโน เกี่ยวกับวิญญาณ เกี่ยวกับสังขาร เกี่ยวกับคำเหล่านี้ รู้อย่างไรตรงตามความจริงแล้วควบคุมได้ แล้วดับทุกข์ได้ เราก็มีความสุข เอาเป็นอย่างนั้นดีกว่า
ทีนี้ก็ดูที่ว่ามันจะมีกี่ชื่อหรือกี่หน้าที่ก็ตามเถอะ เรามาเรียกรวมเป็นคำๆเดียวว่าใจก็ได้ ว่าจิตก็ได้ จะเรียกเป็นใจก็เป็นภาษาไทย ถ้าเรียกว่าจิตก็จะเป็นภาษาบาลี เมื่อจะต้องศึกษาอบรมฝึกฝน เราใช้คำว่าจิต ไม่ได้ใช้คำว่ามโน เราไม่ได้ใช้คำว่ามโนภาวนา แต่เราใช้คำว่าจิตตภาวนา คือการทำจิตให้เจริญนี่ขอให้เรารู้ไว้ คำว่าจิตในความหมายนี้ รวมหมดเลย รวมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต จิตเองและทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต เรามารวมเรียกว่าเรื่องจิตทั้งหมดเลย ทีนี้เราก็จัดการกับไอ้เรื่องเหล่านี้ทั้งหมด มันก็เรียกว่าเป็นการอบรมจิต เป็นไปในทางที่จะไม่เกิดทุกข์แก่จิตนี่อีกนั่นเอง ตรงนี้มันมีคำเล่นตลกอยู่ อย่างที่พูดมาแล้วว่ามันไม่มีตัวตน แต่เอามาเรียกว่าตัวตน มันมีแต่กายกับจิต เอามาเรียกว่าตัวตน มันก็กลายเป็นว่าไอ้ตัวตนนั่นแหละมันช่วยตัวตน มันอบรมตัวตน ตัวตนช่วยตัวตน จนถึงกับเกิดเป็นคำหลักขึ้นมาว่าตนพึ่งตน มันกลายเป็นตนช่วยตนเอง แล้วมันก็น่าหัวที่สุด ที่เป็นว่าตนนั้นมันมีตัวเดียวตนเดียว แล้วตัวไหนมันจะช่วยตัวไหนล่ะ เพราะตนก็คือจิต และจิตมันก็ดวงเดียวแล้วมันเกิดได้ทีละดวง ทีละชนิดนะ ไอ้จิตไหนจะช่วยจิตไหน เช่นเดียวกับว่าเดี๋ยวนี้เรา เราที่เป็นคนๆที่นั่งอยู่ที่นี้ เมื่อมีคำพูดขึ้นมาว่าตัวตนช่วยตัวตน ตนไหนช่วยตนไหน มันก็มีคนเดียวโดดๆนั่งอยู่ที่นี่ ตนไหนช่วยตนไหน กระโดดไปนั่งทางขวาที ตัวตนนี้เป็นทุกข์ แล้วกระโดดมานั่งทางซ้ายที ก็ตัวนี้จะช่วยอย่างนั้นหรือ มันบ้าเลย นี่ดูให้รู้เถอะว่าไอ้ตัวตนไหนมันช่วยตัวตนไหน คือทว่าตัวตนนั้นก็คือจิต มันก็ต้องมีปัญหาจิตไหนมันจะช่วยจิตไหนเพราะมันมีจิตเดียว ทีนี้ทางออกของมันก็คือว่าจิตนั้นนะ มันมีความรู้สึกได้หลายอย่าง
เป็นความรู้ เป็นความรู้ เป็นปัญญา เป็นเจตสิกกระทำ คือสมบัติของจิตนะมันมีหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจิตมันกำลังมีสมบัติตัวไหน ถ้าจิตมันมีตัว มันมีสมบัติตัวที่ชื่อว่าโง่ มันก็โง่ คือมันมีอวิชชา มีโมหะมีอะไรตามเรื่อง แต่ถ้าจิตมันมีสมบัติฝ่ายไม่โง่ ฝ่ายปัญญาฝ่ายวิชชา มันก็ไม่โง่ ก็เป็นจิตไม่โง่ เพราะฉะนั้นจิตมันจึงเปลี่ยนแปลงได้ เป็นจิตอย่างนั้นเป็นจิตอย่างนี้ แล้วมันก็รู้จักทุกอย่างเพราะมันเคยผ่านมาทุกอย่าง มันก็คือการเปลี่ยนแปลงของจิตอันฉับไวในเหตุการณ์นั้นๆ ก็จิตนี้เป็นทุกข์ จิตที่เคยรู้เรื่องทุกข์ เคยทุกข์มาแล้ว พ้นทุกข์มาแล้วมันก็เข้ามาแทนที่ แล้วมันก็ทำหน้าที่จิตที่รู้จักทุกข์ รู้จักดับทุกข์ ขจัดจิตโง่ออกไป ตัวอย่างอย่างง่ายๆที่เธอควรจะเข้าใจแล้ว เช่นว่ามันเหยียบไฟ เหยียบก้นบุหรี่หรือเหยียบอะไรก็ตาม มันร้อน ไอ้จิตชนิดที่มันเคยรู้สึกร้อนมาแล้วมันก็รู้ว่าร้อน แล้วจิตที่มันรู้ว่ายก ยกเสียนี่ มันก็เข้ามาแทนที่จิตนั้น มันก็บอกให้ยกเสีย ยกตีนเสีย มันก็แล้วแต่ว่าจิตนั้นกำลังมีอะไรเป็นสมบัติของมันในขณะนั้น จิตดวงเดียวเปลี่ยนได้ตามสิ่งที่ประกอบจิต สิ่งที่ประกอบจิตก็เรียกว่าเจตสิก คำนี้จำยากหน่อยถ้าจำได้ก็ดีเหมือนกัน เจตสิกก็แปลว่าประกอบกันอยู่กับจิต เป็นไปกับด้วยจิต จิตนี้มันเกิดดับเกิดดับ จะเกิดขึ้นมาในรูปแบบไหน ก็แล้วแต่ว่าเจตสิกตัวไหนมันประกอบอยู่กับจิตนั้นแล้วเกิดขึ้นมา จิตเกิดดับอยู่เสมอ มันจึงเปลี่ยนเป็นจิตอย่างนั้น เป็นจิตอย่างนี้ ชนิดที่ว่าจิตอย่างนี้จะช่วยจิตอย่างนั้น จิตที่ประกอบด้วยความรู้นี่มันจะช่วยจิตที่โง่นี้เป็นต้น มันจะเปลี่ยนได้อย่างนั้นก็ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์อย่างอื่นอีกหลายอย่าง เช่นสติเป็นต้น สติก็เป็นคุณสมบัติอันหนึ่งของจิต ซึ่งมันจะช่วยให้จิตนี่เปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสม คือมันนึกได้ มันรู้สึกได้ตามไอ้คุณสมบัติของสติ มันก็เข้ามานึก เข้าแทรกแซง เข้ามานึกว่าจะต้องเป็นอย่างไร มันก็เปลี่ยน เช่นว่าเหยียบไฟ มันก็มีความรู้สึกนึกได้ว่าไฟ แล้วก็ว่ายกขึ้นเสีย แต่ธรรมชาติเขาสร้างมาเร็วมากจนกระทั่งว่าเหยียบก็ยกเลย ไม่ต้องรอคิดเป็นจังหวะๆอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวมันก็พองหมด นี่จะต้องเข้าใจคำว่าตนเองช่วยตนเองในภาษาคน แล้วก็จิตจะต้องช่วยจิตในภาษาธรรมะลึกซึ้งฉะนั้นเราจะต้องรู้กันถึงข้อนี้ ว่าจิตจะช่วยจิตนี่ จะอบรมจิตชนิดที่มันจะเป็นฝ่ายช่วย ฝ่ายแก้ปัญหาให้เจริญอย่างไร เท่าไร มันจะได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทันทีถูกต้องเพียงพอ นี่เราจึงมาฝึกสติและปัญญา คือความรู้อย่างเพียงพอ
ถ้าจะฝึกกันจริงๆแล้วก็ต้องฝึกสติให้เพียงพอกับปัญญาที่จะทำงานร่วมกับสตินั้นให้เพียงพอ และฝึกให้มีกำลังจิต คือสมาธิอย่างเพียงพอด้วย เช่นเราฝึกอานาปานสติ พอเริ่มเข้าก็ฝึกสติกำหนดลมหายใจนี่มันฝึกสติเต็มที่ แล้วมันก็ค่อยมีสมาธิคือกำหนดได้ มีสมาธิเพิ่มขึ้นๆ แล้วมันไปกำหนดความจริงของสิ่งเหล่านั้นจนรู้ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาเป็นต้นของสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่ามีปัญญา อานาปานสติเป็นระบบจิตตภาวนาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทรงใช้เองจนตรัสรู้ แล้วต่อมาก็ทรงสอนทรงแนะว่าอันนี้ดีกว่าอันอื่น สะดวกง่ายดายกว่าอันอื่น คืออานาปานสติภาวนา ไปลองทำเข้าเถอะมันจะฝึกทั้งสติ จะฝึกทั้งสมาธิ และฝึกทั้งปัญญา และอื่นๆที่เป็นเบ็ดเตล็ดอีกถ้าจะต้องมียังมีอีก แต่เอาที่สำคัญๆเพียงสามอย่างนี้ก็พอแล้ว สติสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ พอเกิดเรื่องอะไรขึ้น สติก็ระลึกได้ ระลึกถึงปัญญาที่ว่ามีอยู่อย่างไร ปัญญานั้นมาด้วยกำลังที่เข้มแข็งของสมาธิ มันก็เปลี่ยนสภาพจิตที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความถูกต้อง กลายเป็นจิตที่พึงประสงค์ มันก็แก้ปัญหาได้ นี่เรียกว่า จิตตภาวนาที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ขอให้ทุกคนรู้จักไว้ว่าหลักเกณฑ์มันมีอยู่อย่างนี้ โดยรายละเอียดยังมีมากกว่านี้ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป ไม่อาจจะเอามาพูดได้ในเวลาอันเล็กน้อย ถ้าเธอฝึกก็ได้รู้เอง
การเรียนธรรมะแท้จริงนั้นต้องเรียนด้วยการกระทำคือความจริง ไม่ใช่เรียนด้วยการฟังทางหูหรืออ่านทางตาแล้วจดไว้ในสมุด เป็นความรู้ในสมุดสุดขัดสน คนยากจนไม่มีความรู้ก็เพราะว่าความรู้ไปอยู่ในสมุดซะหมด แต่ทว่าความรู้มันอยู่ที่การกระทำ มันก็มีความรู้ที่แท้จริงเพียงพอ ไม่ขัดสน คนโบราณเค้าพูดว่าความรู้ในสมุดสุดขัดสน มันเท่ากับไม่มี มันไม่ออกมาช่วยเพราะมันเก็บไว้ในสมุด ฉะนั้นอย่าเก็บไว้ในสมุดสิ ถ้าจะจดไว้กันลืมนี้ก็มีประโยชน์ แต่ว่าอย่าให้มันนอนตายอยู่ในสมุด ให้มันออกมาช่วยเรา สำหรับจะประพฤติปฏิบัติ ตอนสติก็ให้มีสติ ตอนสมาธิก็ให้มีสมาธิ ตอนปัญญาก็ให้มีปัญญา
อานาปานสติสิบหกขั้นนะ สี่หมวดๆละสี่ขั้น เป็นสิบหกขั้นนั้นนะ ทุกๆขั้นนะมันจะมีความมุ่งหมายอย่างหนึ่งอย่างหนึ่ง ไปศึกษารู้ว่าเป็นอย่างไรแล้วลองปฏิบัติดู พอลองปฏิบัติดูมันจะให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันให้รู้คือมันจะสอนให้รู้ ชนิดที่เรียกว่ารู้จริง อ่านแต่หนังสือนะมันรู้แต่รู้จำ มันยังไม่รู้จริง พอปฏิบัติมันก็ปรากฏขึ้นในความรู้สึก นี่เรียกว่ารู้จริง เราจะต้องศึกษานี่ ศึกษาความรู้ รู้จำนี่ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วมันจะรู้จริง แล้วก็ศึกษารู้จำเพิ่มขึ้น แล้วก็ปฏิบัติอีก มันก็รู้จริงเพิ่มขึ้น มันเป็นคู่ๆกันไป รู้จริง รู้จำ รู้จริง รู้จำ รู้จริง รู้จนมันพอแหละ จนกว่ามันจะพอ จำไว้ว่าการเรียนที่แท้จริงนั้น มันต้องเรียนด้วยการทำ คือการปฏิบัติ แล้วเราก็จะรู้
แม้เรื่องวัตถุภายนอกมันก็อย่างนั้นนะ เรารู้เรื่องกรุงเทพฯเพราะเราอ่านหนังสือแล้วเราก็รู้อย่างหนึ่งล่ะ แต่มันไม่เท่ากันกับที่ว่าเราไปกรุงเทพฯเองซะเลย มันก็รู้มากกว่า รู้จริงกว่า มันเป็นเรื่องรู้สองชั้น รู้จากคนอื่นบอกเล่ามันอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยชั้นแรก รู้จากที่ทำให้มีขึ้นมาในจิตเอง ด้วยจิตเอง ของตนเอง นี่เป็นรู้จริง ชั้นๆ อันที่สองที่สำเร็จประโยชน์ รู้จากคนอื่นบอกวิธีไหนก็ตามมันเป็นความรู้ที่คนอื่นบอก เป็นการโฆษณาของคนอื่น เค้าเรียกว่าปรโตโฆโส นี่เรารู้กันมากแล้วบางทีจะเฟ้อแล้วก็ได้ เอามาคิดในใจของตนเอง ในใจของตนเองในเรื่องนั้นๆนะเรียกว่าโยนิโสมนสิการนี่ ทีนี้จะรู้จริง มันเป็นคู่กันมา รู้ข้างนอกแล้วมารู้ข้างใน รู้ข้างนอกแล้วมารู้ข้างใน รู้ข้างนอกแล้วมารู้ข้างใน อย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงที่สุด รู้ข้างในนั้นเราก็จะต้องเรียกชื่อว่าญาณหรือทัศนะ แต่ถ้ารู้ข้างนอกนี่ เราไม่อาจจะเรียกว่าญาณหรือทัศนะล่ะ แม้ในภาษาบาลีเค้าก็ไม่เรียกว่าญาณหรือทัศนะถ้ารู้ข้างนอก เค้าเรียกว่าสุตตะหรือพหุสุจจะ พหุสัจจะอะไรไปตามเรื่อง ถ้ามันรู้ มันรู้อย่างข้างนอก เหมือนที่เราเรียนหนังสือรู้นั่นแหละ เป็นความรู้ เป็นความรู้นั้นๆ ไม่ใช่ญาณ ไม่ใช่ทัศนะ ต่อปฏิบัติแล้วเกิดความรู้สึกเป็นข้างในก็เรียกว่าญาณบ้าง ทัศนะบ้าง ควบกันว่าญาณทัศนะบ้างแล้วแต่ ทีนี้เราก็ถือเป็นโอกาสระหว่างบวชนี่ ทำความรู้ที่เป็นเพียงรู้อย่างข้างนอก รู้อย่างปริยัติให้กลายเป็นปฏิบัติแล้วก็จะรู้ข้างใน อย่างที่เรียกว่ามันเป็นปฏิเวธ ให้ทุกคนใช้เวลาให้จริงจังนะ ทำให้มันกลายเป็นความรู้ที่แท้จริง ที่เป็นประโยชน์แก่จิตนะ ทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร แต่ข้าวสารก็ยังกินไม่ได้ มันต้องทำข้าวสารให้เป็นข้าวสุก มันจึงจะกินได้ นี่เรียกว่ามันเป็นขั้นตอนที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน แล้วก็จะเกิดผลตามที่ต้องการ นี่ขอให้เรารู้ไอ้ข้อเท็จจริงของสิ่งเหล่านี้ แล้วอบรมจิตให้มีผลตามที่เราต้องการคือดับทุกข์ ที่พูดว่าเรา เราต้องการ เราทำ เราได้ผลนี้ก็พูดอย่างภาษาชาวบ้าน พูดเรียกว่าภาษาสมมติ ภาษาคน มันก็คนเดียวกันนั่นแหละ มันรู้แล้วมันทำแล้วมันได้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน พูดภาษาวัด ภาษาธรรมะหน่อยก็จิตนั่น จิตดวงเดียวนั่นแหละ มันเป็นทุกข์แล้วมันอยากจะดับทุกข์แล้วมันปฏิบัติแล้วมันก็ได้ดับทุกข์แล้วมันก็เสวยไอ้ความดับทุกข์ด้วยจิตนั้นแหละไม่มีอะไรอื่น
คนที่เรียกว่าคนนี่มันมีกายและจิตรวมกันอยู่ เมื่อกายของเขาฝึกฝนดี ให้จิตอาศัยได้ดี แล้วจิตของเขาก็ได้รับการฝึกฝนดี มันก็รู้เรื่องที่ควรจะรู้ดี มันก็แก้ปัญหาได้ทั้งทางกายและทางจิต สองอย่างนี้มันแยกกันไม่ได้ เราไม่รู้ชัดถึงขนาดว่าจิตนั้นคืออะไร แต่เรารู้วิธีที่จะจัดการกับมันให้ได้ผลประโยชน์ตามที่เราต้องการ มันเป็นสิ่งละเอียด จนเราไม่อาจจะจับคลำตัวมันหรือรู้จักตัวมันโดยประจักษ์ แต่เรารู้สึกโดยปรากฏการณ์ที่มันมากระทำแก่ร่างกายหรือแก่ตัวมันเองก็ได้ แล้วมีความทุกข์อย่างไรมันก็รู้สึกได้ ผู้มีปัญญาพระศาสดาเขารู้แต่เพียงว่าถ้าทำอย่างนี้ๆจิตจะไม่รู้สึกอย่างนั้น แล้วเค้าก็ทำได้ จิตไม่รู้สึกอย่างนั้นมันก็ไม่มีทุกข์ นี่เรื่องจิตมันเป็นเรื่องไม่ใช่วัตถุ แล้วมันไม่มีกฎเกณฑ์ทางวัตถุ มันมีกฎเกณฑ์ของมันเอง ถ้าเป็นเรื่องวัตถุ มันก็มีกฎเกณฑ์ตามแบบวัตถุที่เคยเรียนวิทยาศาสตร์มาแล้วก็รู้ว่าเราเรียกรวมๆกันว่าเป็นเรื่องทางฟิสิกส์ ไอ้วิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ ก็ไปรู้เรื่องทางวัตถุ เรื่องทางจิตไม่มีในฟิสิกส์ มันไปมีในพวกที่ไม่ได้เรียนนะ คือพวกที่เป็นเมตาฟิสิกส์ ในความหมายหนึ่งโดยเฉพาะ นี่เราก็รู้เรื่องจิตซึ่งไม่ใช่เรื่องฟิสิกส์ ในเท่าที่มันจะต้องรู้ มันจะรู้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะว่าแม้แต่เรื่องฟิสิกส์แท้ๆเราก็รู้ไม่หมด เช่นเราไม่รู้ว่าไฟฟ้าตัวแท้นั้นคืออะไร แต่เราทำทุกอย่างที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ จนเดี๋ยวนี้มาทำหม้อหุงข้าวก็ยังได้ โดยที่รู้ไม่ได้ว่าไอ้ตัวไฟฟ้าแท้ๆนั้นคืออะไร เหมือนกับผีชนิดหนึ่ง แต่แล้วมันก็ใช้ประโยชน์ได้ นี่แม้แต่เรื่องฟิสิกส์แท้ๆเรายังเข้าถึงตัวมันไม่ได้ แล้วจะไปเข้าถึงตัวไอ้เรื่องที่เป็นเมตาฟิสิกส์ เหนือฟิสิกส์ นอกจากฟิสิกส์ หรือตรงกันข้ามกับฟิสิกส์ไม่ได้ แต่เราเอามาประพฤติ กระทำให้สำเร็จประโยชน์ ก็แก้ปัญหาเท่าที่มันมีอยู่จริงได้ คือความทุกข์ เราทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นแล้วจิตจะไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกที่กำลังเป็นทุกข์อยู่จะสลายไปทันทีถ้าเราทำถูก เหมือนกับที่เราใช้เครื่องไฟฟ้าตามความประสงค์ของเรา แต่เราก็ไม่รู้จักหน้าตาดั้งเดิมแท้จริงของมันว่าอะไรอยู่ทางไหน อยู่ที่ไหน ไฟฟ้าที่เกิดทางเคมี เช่นหม้อแบตเตอรี่ก็ดี ไฟฟ้าที่เกิดทาง Mechanic เช่น Generator ก็ดี ตัวไฟฟ้าอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่รู้ คืออะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพอทำอย่างนั้นแล้วมันจะมีกระแสอะไรอันหนึ่งออกมาซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วเอาไปใช้อย่างนั้น ใช้อย่างนี้สารพัดอย่างไม่รู้จนจาระไนไม่ไหว เราไม่ต้องรู้เกินไป รู้เท่าที่ว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรก็พอแล้ว ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ส่วนที่ไม่ต้องรู้ก็มีอยู่มาก มันไม่จำเป็นนี่ ไปรู้ไอ้ส่วนที่จำเป็นก่อนสิแล้วใช้เป็นประโยชน์ให้ได้สิ ถ้าไปตั้งพิธีให้รู้ทั้งหมดเดี๋ยวมันตายซะก่อน ตายเปล่าตายก่อนเลย ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร นี่เธอจงรู้แต่ว่าทำอย่างไรจะมีสติ ทำอย่างไรจะมีสมาธิ ทำอย่างไรจะมีปัญญา รายละเอียดของสามเรื่องนี้มันมีมาก จะมาพูดกันสองสามนาทีจบนั้นมันไม่ได้ ไปหาศึกษา การทำให้จิตระลึกได้เร็ว รู้สึกได้เร็วนี่เรียกว่าสติ การทำให้จิตมีกำลังมาก แรง แหลม เรียกว่าสมาธิ การทำให้จิตรู้ๆๆๆที่ควรจะรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องอิทัปปัจจยตานี่ นี่เรียกว่าปัญญา เวลาไหนจะฝึกสติ เวลาไหนจะฝึกสมาธิ เวลาไหนจะฝึกปัญญาให้แรงโดยเฉพาะ แต่ถ้าฝึกอานาปานสติทั้งระบบพร้อมกันไปแล้วมันจะมีทั้งสติ สมาธิ และปัญญา ให้ครูบาอาจารย์เขาเคยแนะนำสั่งสอนต่อไปว่าจะฝึกกันอย่างไร ให้มีสติมีสมาธิ มีปัญญา แล้วมันจะใช้ได้ทันเวลา เช่นว่ามันมีอะไรเข้ามาตกกระทบตาหรือหูหรือจมูกอะไรก็ตาม เราจะมีสติไวมารับการกระทบนั่น ให้มีสติปัญญา มีสมาธิที่ผัสสะนั้น เราก็ควบคุมผัสสะนั้นให้เป็นไปแต่ในทางของปัญญา ไม่โง่ไม่เขลา มันไม่เป็นผัสสะโง่ มันไม่เป็นเวทนาโง่ มันก็ไม่เกิดกิเลส กิเลสก็ไม่เกิดในการที่กระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่มีสติ มันไม่มีสมาธิ มันไม่มีปัญญา มีอะไรมากระทบอายตนะแล้วเป็นผัสสะโง่ ผัสสะรับอารมณ์มันโง่ เกิดเวทนาโง่ เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาจากเวทนานั้นแล้วก็ได้เป็นทุกข์เพราะกิเลสนั้น มันมีเท่านี้ ใจความของมันมีเท่านี้ ทีนี้ถ้าว่าเรามันมีสติพอเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ อะไรมากระทบตาก็สติรู้สึกทันทีว่าอะไรมากระทบตา เอากำลังใจที่เข้มแข็งบังคับไว้ให้มันปกติ เอาปัญญาว่าโอ้มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาตามธรรมชาติ เช่นนั้นเอง เกิดความรู้สึกเป็นเวทนาขึ้นมา โอ้มันสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น จะสุขก็ตาม จะทุกข์ก็ตาม สักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น เราจะไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน ทำสำเร็จได้อย่างนี้ภายในรวดเร็ว เวลาอันรวดเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ นี่ธรรมะคุ้มครอง ธรรมะมาในรูปของสติสมาธิและปัญญาคุ้มครองไว้ไม่ให้ต้องทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่เป็นทุกข์ ลองไปหารายละเอียดศึกษาเกี่ยวกับผัสสะ
ของสองอย่างคือของข้างในได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ของข้างนอกได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ จับคู่กันแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นที่นั่นก็เรียกว่าผัสสะ ผัสสะนั้นต้องฉลาดคือมีสติปัญญามาควบคุมอยู่แล้วก็ไม่เกิดทุกข์ ถ้าผัสสะโง่ไม่มีสติปัญญามาควบคุมอยู่ ผัสสะนั้นก็เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาคือความไม่รู้อันเป็นสภาพที่มีอยู่ตามธรรมดาคือความไม่รู้ การอบรมทำให้รู้ว่านี่มันเป็นธรรมชาติที่สูงไปกว่าธรรมดา คือมันได้รับการอบรมแล้ว ไอ้เราไม่ได้รับการอบรมเราก็เป็นเกลอกับอวิชชาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คนธรรมดาจึงต้อนรับผัสสะด้วยอวิชชา แล้วก็ได้เกิดทุกข์ในทุกกรณี เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง นั่นนะก็เรียกว่ามันเป็นทุกข์ ถ้ามันควบคุมไว้ได้ปกติไม่หวั่นไหวไปตามนี้แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ ก็เรียกว่าปกติ ปกติมันก็เย็นเพราะมันไม่มีกิเลสเกิดขึ้นมันก็ไม่ร้อน เราก็ได้ชีวิตเย็น มีชีวิตอยู่อย่างชีวิตเย็น ดำเนินไปด้วยชีวิตเย็น จนกว่ามันจะสิ้นสุดแห่งปัจจัยคือร่างกายมันตายมันเน่าเข้าโลงไปก็เลิกกัน มันไม่มีตัณหาเหลืออยู่แล้ว ไม่มีความรู้สึก ไม่มีจิตแล้วไม่มีความรู้สึกอะไรแล้วมันก็ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ถ้ามันยังมีจิตอยู่ยังมีความรู้สึกอยู่เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ควบคุมไว้ให้ได้อย่าให้มีความทุกข์เลย นี่ก็คือความสำคัญของจิตตภาวนา วันนี้เราพูดกันโดยหัวข้อว่าความสำคัญของจิตตภาวนา จิตตภาวนาแปลว่าทำจิตให้เจริญ เจริญคือสูงเหนือปัญหาเหนือความทุกข์ รายละเอียดอย่างอื่นก็ค่อยว่ากันต่อไป แต่ให้รู้ว่าไอ้โครงเรื่องทั้งหมดมันมีอยู่อย่างนี้ การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม หรือธรรมจารีย์ ธรรมจาริณีย์ แล้วก็ได้ผลคุ้มค่า ไม่เสียผ้าเหลืองเปล่าไม่เสียผ้าขาวเปล่า แต่ได้ผลคุ้มค่าก็แล้วกัน
เวลาที่กำหนดไว้มันหมดแล้ว ขอให้สรุปใจความสั้นๆดีๆเอาไป เผื่อไว้สำหรับศึกษาและปฏิบัติ ว่าทุกอย่างมันรวมอยู่ที่สิ่งๆเดียวคือจิต จะผิดจะถูกจะสุขจะทุกข์จะอยู่หรือจะตายหรืออะไรก็มันก็สำคัญอยู่ที่สิ่งๆเดียวคือจิต มีความรู้จัดการกับสิ่งนี้ให้ถูกต้องคือเป็นไปในทางที่จะไม่มีความทุกข์ อย่าไปมัวตั้งคำถามว่าจิตอะไร จิตคืออะไร วิญญาณคืออะไร มโนคืออะไร ซึ่งชอบถามกันนัก ถ้ารู้ก็รู้อย่างที่ว่ามานี่พอแล้ว แล้วมันมีจิต มีสิ่งที่เราจะเรียกรวมๆกันว่าจิต ถ้ามันคิดเรียกว่าจิต ถ้ามันรู้สึกเรียกว่ามโน ถ้ามันรู้แจ้งทางอายตนะเรียกว่าวิญญาณ ถ้ามันรู้สึกต่อเวทนาก็เรียกว่าเวทนา ถ้ามันสำคัญมั่นหมายอะไรเราก็เรียกว่าสัญญา ถ้ามันคิดอะไรด้วยเจตนาเราก็เรียกว่าสังขาร รู้จักไอ้ตัวการของปัญหาคือความทำผิดในเรื่องเกี่ยวกับจิต แล้วมาทำเสียให้ถูกในเรื่องเกี่ยวกับจิต นั่นแหละเรียกว่าเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ตนเองเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ตนเองต้องช่วยตนเอง เป็นหลักธรรมะของพุทธศาสนาในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องเอาพระเจ้าที่ไหนมาช่วย จิตที่มันมีความรู้ถูกต้องมันก็ช่วยสลัดจิตที่กำลังไม่รู้สึกถูกต้องออกไปเสีย จิตที่มีความรู้สึกถูกต้องมันก็ยึดครองอาณาจักรกายนี้แทน ก็ทำให้เป็นไปในทางที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วเธอก็จงพยายามทำให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ควร ตามที่ได้เสียสละเวลาบวชเพื่อเป็นโอกาสศึกษาและอบรมให้มากกว่าธรรมดาที่บ้านที่เรือน เอ้า ขอแสดงความยินดีในเรื่องนี้ด้วยอีกครั้งหนึ่ง ขออนุโมทนาในการกระทำ ขอให้การกระทำของเธอเป็นผลสำเร็จ มีผลสมตามความมุ่งหมายได้ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ยุติการบรรยาย.
ปิดประชุมก็กลับได้ เอามือข้างขวาไว้ทางนี้ก่อนแล้วเดินออกไปเป็นแถวแล้วลงไปข้างล่างค่อยแยกกัน เอามือขวามาทางฝ่ายนี้แล้วเดินไปเป็นแถว ยืนขึ้นเอามือขวาไว้ทางฝ่ายนี้แล้วเดินไปอย่างเป็นระเบียบ พ้นเขตที่นั่นแล้วจึงค่อยแยกกัน เขาเรียกว่าประทักษิณ เดินไปข้างล่าง เดินลงไปทางล่างนะแล้วก็ไปแยกกันตามที่จะต้องการ ให้พ้นเขต เรียงสี่เรียงห้าก็ได้แต่ขอให้เดินไปทางนั้นละกัน มักจะลุกขึ้นสะบัดก้นใส่แล้วก็ไปอย่างไม่มีระเบียบ