แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : ปัญหาคนไม่เกลียดกิเลสไม่กลัวกิเลส เราสอนเรื่องละกิเลสเขาก็อุดหูเสีย ผมพยายามอย่างยิ่งแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะให้ผู้ฟังนั้นเกลียดกิเลสหรือกลัวกิเลส เดี๋ยวนี้ชักว่าจะหมดปัญญาอยู่แล้วที่จะพูดเรื่องนี้/ นิมนต์อาจารย์เสมอ,อาจารย์เสมอ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะเกลียดกิเลสยิ่งกว่าอะไร กลัวกิเลสยิ่งกว่าอะไร//
พระอาจารย์เสมอ : ญาติโยมหลายคนยังสู้อยู่ แสดงว่าปักหลักสู้ สู้ไม่ถอยก้าวเดียวแต่ว่าไปหลายก้าวเลยบางคน ในปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนกลัวกิเลส มีวิธีการใด เรื่องนี้เราต้องเท้าความหน่อยหนึ่ง เมื่อตะกี้ก็พูดเรื่องข้อความเบื้องต้นนี้ ก็ยังเข้าจับจุดกันไม่ค่อยได้ ต้องยอมรับ,คือเราต้องยอมรับว่านักเผยแผ่นั้นอาจจะยังหาวิธีการเหมือนหมอยังไม่สามารถค้นวิธีการรักษาโรค อย่างมะเร็งในขณะนี้ หมอก็ยังยอมจำนนเหมือนกันว่าไม่มียาที่จะรักษาอยู่ถ้าเป็นเข้าแล้ว ถ้าเอาต้นๆ ก็คือว่าตัดไฟแต่ต้นลม ถ้ารู้ว่าเป็นแน่แล้วก็ตัดทิ้งไปเลย ถ้าฉะนั้นเรื่องเหล่านี้นั้นก็เหมือนกันนะครับว่า เราต้องเอากันตั้งแต่ต้น หมายความว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ถ้าเราจะต้องการเรื่องนี้ เราจะมาอบรมคนอยู่ในวัยสูงอายุนั้นรู้สึกว่าทำยาก แต่ถ้าเรามาเริ่มต้นกันตั้งแต่เด็กๆ อันนี้ผมก็ได้ทำมาตั้งแต่เป็นพระหนุ่มมา ตั้งแต่บวชพระได้พรรษาเดียว คือพ.ศ.๒๔๙๔ บวชพระ พ.ศ.๒๔๙๕ ก็เป็นครู ทำหน้าที่สอนศีลธรรมในโรงเรียนมาจนถึงปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าเด็กๆ ที่เราต้องการจะให้กลัวเรื่องกิเลสนี้หรือความชั่วนี้ เราต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ แต่มาโตเป็นผู้ใหญ่แล้วรู้สึกว่าไม้แก่ดัดยาก ไปเทศน์ทุกวันพระรู้สึกว่าได้ผลไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เทศน์ทุกวันพระไม่ค่อยได้ผล แต่ถ้าสอนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วรู้สึกว่าได้ผล ฉะนั้นนักเผยแผ่เราต้องหาวิธีการเผยแผ่ในเรื่องนี้ด้วย
ต่อไปเรื่องของผู้รับฟังก็เหมือนกัน อย่างที่เราไม่สามารถจะใช้ภาษาให้คนในระดับต่างๆ เข้าใจ เพราะธรรมะนี้อธิบายออกไป พูดธรรมะให้เขาฟังนี้ ส่วนมากคนแล้วฟังหลับ มีส่วนมาก คนฟังแล้วไม่หลับนั้นมีน้อย นั่นเริ่มพูดธรรมะแล้ว พอตั้งนะโม,วิทยุประเทศไทย พอตั้งนะโม คนปิดไม่ฟัง ไปฟังลิเกดีกว่า รู้เรื่องดี อย่างนี้ คือแสดงว่าคนเรานี้พยายามจะหนีธรรมะอยู่ กลัวธรรมะกัน บางคนพอได้ยินธรรมะแล้วกลัวนักหนา อุดหูเสียเลย คือบางคนเสียดายกิเลส บางคนยังสงสารกิเลส เหมือนรักกิเลส กิเลสอยู่กับใครไม่รู้นะ ก็เลยห่วง ห่วงกิเลสกันอยู่ เพราะฉะนั้นคนก็ยังเป็นห่วงกิเลสกัน เขานึกว่าถ้าหมดกิเลสแล้วก็จะหมดสนุก ว่าอย่างนั้นเถอะ ฉะนั้นคนเราก็เลยไม่ค่อยจะละกิเลสกัน รักกิเลสกัน อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้คนเรารู้จักกลัวกิเลสนี้ เท่าที่กระผมได้ทำมาก็คืออบรมเด็ก แล้วก็ให้เด็กท่องจำเป็นคำง่ายๆ กระผมพยายามเปลี่ยนคำบางคำใช้ให้เด็กท่องจำจากคำขวัญที่เขาให้ไว้กับยาเสพติดให้โทษ เช่นว่า สุราเป็นยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม นี่ กระผมก็เปลี่ยนเสียใหม่ว่า โลภะคือความอยากได้ เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม แล้วอธิบายให้เด็กฟังว่าถ้าคนมันมีความโกรธแล้ว ความโลภแล้ว มันเป็นอย่างนั้น มันลัก มันฉ้อ มันโกง นักเรียนนะ,ถ้าเขาอยากได้ เธอระวังนะ ของมันจะสูญมันจะหายนะ เมื่อเร็วๆ นี้ที่วัดมีเด็กคนหนึ่งเอากล้องถ่ายรูปมา มาตั้งไว้ เด็กข้างวัดไปขโมย จับได้ในวันนี้ ก็ส่งคืนให้วันนี้แหละ ก็เลยเอามาให้อบรม ให้รู้จักว่านี่แหละเพราะโลภะความอยากได้ของเพื่อน ตัวเองไม่มีสตางค์ซื้อ ตัวเองถ้าทำอย่างนี้ ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ ดีไหม,ไม่ดี ถ้าเธอทำไม่ดีนี้ โตขึ้นไปเป็นอย่างไร อันตรายๆ ครับ ต่อไปติดคุกติดตะรางก็เพราะอันนี้ กลัวไหมล่ะ,กลัว ถ้ากลัว ทำไหม ไม่ควรทำ แล้วให้ท่องคาถานี้ ต่อไปท่องคาถาเสีย ท่องคาถาว่า ความโลภ โลภะคือความอยากได้ เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องไว้ เป็นคาถา ให้แกได้ยินอยู่บ่อยๆ
ทีนี้ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธนี้คือความดุร้ายของจิตใจ ทำลายมิตรสร้างศัตรู คือคนเราถ้ามีความโกรธกัน พี่น้องก็ทะเลาะกัน แต่นั่นแหละคือคนเราบางคนถ้าไม่มีความดุร้ายบ้างบังคับบัญชาคนไม่อยู่ อย่างพระผู้ใหญ่บางองค์ยังพูดว่า เออ,ความดุร้ายมันก็ดีเหมือนกันเวลาปกครอง เวลาใช้คำพูดดีๆ พูดอ๋อยๆ นี่ ไม่สำเร็จ ถ้าบอกว่าใช้ พอท่านชี้แล้วก็รู้สึกว่าเป็นที่เกรงกลัว เขาเรียกว่าใช้อำนาจ นี่ถ้าใช้พูดอ๋อยๆ ก็ไม่ได้ผล คือชอบบังคับ นี่คนเราก็แปลกเหมือนกัน จากพูดดีๆ พูดเรื่อยๆ บอกว่า ข้าพเจ้ารับผิดแต่ผู้เดียว นั่นถ้าพูดอย่างนี้รู้สึกว่าคนจะกลุ้มกลัว ทำให้คนนึกว่าท่าจะเอาจริงกระมัง เลยกลัวๆ กันหน่อย มันคล้ายๆ กับว่าคนเรามันมีสันดานแบบเผด็จการ อยู่เมืองไทยเราสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานาน ถ้าพูดบอกว่า ทุกคนละเสียนะ อย่างนั้นอย่างนี้ คนก็เฉยๆ แต่พอพูดขบฟันเข้าแล้วว่า คราวนี้ท่าหัวจะกระเด็น ตัวไม่อยู่ด้วยกันแล้วคราวนี้ ท่าจะต้องยอมเสียที,เลิก สมัยหนึ่งการปกครองเราใช้ระบบนี้รู้สึกว่าเมืองไทยพวกต่างๆ ที่ว่านี้มันหายไป ถ้าพูดอ่อยๆ ป่านนี้เต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว,เห็นไหม นี่มันยากเหมือนกันแหละคนไทยเรา ฉะนั้นเขาก็เห็นว่าต้องใช้ระบบนี้ไว้ นี่ทั้งหมดมันเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้คนยังเข้าใจผิดอยู่ ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าความโกรธมันทำลาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าสนิมเกิดขึ้นที่ไหน เกิดกับเหล็ก เมื่อเกิดแล้วมันกัดเหล็ก คนที่มีความโกรธย่อมไร้ยศศักดิ์ คนไร้ยศศักดิ์อัครฐานต่างๆ ถ้ามีความโกรธครอบงำแล้วมันก็เสียศักดิ์ศรี ขนาดโกรธคนแล้ว ลืมหมดแล้ว,ลืม ลืมภาวะของตัว จะทำอะไรด้วยอำนาจของความเสียหายได้ แต่ถ้าเราชี้แจงให้เด็กๆ ฟัง ให้เขาพยายามท่องจำอย่างนี้เหมือนกัน ความโกรธคือความดุร้าย เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องจำอย่างนี้ ส่วนความหลงผิด คือคนเราที่ทำอะไรๆ นี้เพราะความหลงผิด ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิด ที่เวียนแล้ว เกิดแล้วเกิดเล่าทำอะไรผิดอยู่นี้ ก็เพราะเราหลงผิดนั่นเอง เราเดินทางผิด เราเดินทางผิดแล้วเป็นศัตรูกับตนเองแล้วและเป็นศัตรูกับคนอื่นด้วย ทำให้เสียเวลา ที่เราเสียเวลาต่างๆ เพราะทำงาน ทำแล้วทำอีกทำแล้วเพราะเราทำผิด เราทำอะไรไม่ถูก อย่างเราทำอะไรไม่ถูกต้องนี้เพราะเรามีความหลงผิด ถ้าเราทำถูกเสียทีเดียวแล้วเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ตัวมิจฉาทิฏฐิก็หมดไป ก็สามารถเข้าสู่องค์มรรคไปพระนิพพานได้ คือประโยชน์ในปัจจุบันก็ไม่เสีย ประโยชน์ในภายหน้าก็ไม่เสีย ประโยชน์อย่างยิ่งก็ไม่เสีย ประโยชน์ตนก็ไม่เสีย ประโยชน์ท่านก็ไม่เสีย ที่เราเสียประโยชน์กันอยู่ขัดกันอยู่ขณะนี้ จนเรามีเรียกว่าสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเมืองเรานี้ต้องล่มจมเพราะว่าการบริหาร รัฐบาลต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เพราะอะไร เพราะเราบริหารผิด ก็ต้องยุบสภากันบ่อยๆ นี่เราใช้กันผิด นี่เพราะโทษของเราที่เข้าใจผิด เพราะเราตกอยู่ในอำนาจของกิเลส แต่ถ้าเราพยายามช่วยชี้แจงบอกว่าที่เราทำผิดทำถูกอยู่นี้ เพราะอะไร เพราะเราหลงผิด เราพยายามชี้ให้เห็นโทษของความหลงผิดและทำเราเสียเวลาเสียการ แล้วก็อาจจะมีทางหนึ่งที่อาจจะทำให้คนเราสะดุ้งกลัวขึ้นมาบ้าง
สำหรับเด็กๆ เราก็พยายามจะให้ท่องว่า ความหลงคือความเห็นผิด เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องอย่างนี้บ่อยๆ ขึ้น แล้วก็คอยอธิบายไป คอยอธิบายไปแบบพร่ำสอน คิดว่าคงจะเป็นทางหนึ่งที่จะให้เด็กและเยาวชนกลัวกิเลสได้ คอยชี้โทษไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ใหญ่นั้นก็คอยให้เหตุผลไป คิดว่าคงจะเข้าใจได้เหมือนกัน และนอกนั้นก็มีหลักธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนาของเรานี้ก็มีอยู่ แต่อย่างว่านั่นแหละ คือคนเราบางคนนั้นเดี๋ยวก็เข้าใจผิด ยกตัวอย่างเรื่องความโลภนี้ คนบางคนว่าโลภลาภไปไหน ทำอะไรนี่ คำว่าโลภนี้บางคนยังเข้าใจผิดอยู่ คือคนที่ทำอะไรด้วยความขยันขันแข็งนี้ ก็หาว่าโลภ แต่ถ้าคนที่ขี้คร้าน หาว่าสันโดษไป ยังเข้าใจผิดกันอยู่ อย่างธรรมะบางข้อยังเข้าใจผิดอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คิดว่านักเผยแผ่เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้รับคำสอนด้วย จึงจะสามารถไปรอด กระผมก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ครับผม//
ท่านพุทธทาส : พอหรือยัง/ เอ้า,ข้อสุดท้าย ประชาชนติดบุคคล ติดแบบ ติดสำนัก ติดตัวหนังสือ ติดการนำสืบปรัมปรา ประชาชนติดบุคคลคือติดอาจารย์ อาจารย์ของเราเท่านั้นสอนถูก อาจารย์คนอื่นไม่เอา หรือว่าติดสำนัก สำนักนี้เท่านั้นสอนถูก สำนักอื่นไม่เอา บางทีก็ติดแบบ ว่าต้องแบบนั้นแบบนี้จึงเรียกชื่อต่างๆ กัน แล้วบางทีก็ว่ามันติดกระทั่งตัวหนังสือบางคำ ติดพิธีรีตอง อันนี้เป็นเหตุให้ประชาชนเหล่านั้นไม่สามารถที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่สามารถจะเลือกเอาธรรมะที่ถูกต้อง เพราะว่าเขาติดบุคคลติดแบบติดอะไรเหมือนกับติดฝิ่น ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับฟังคำพูดของสำนักอื่นนอกจากสำนักอาจารย์ตนหรือแบบของตน ทำให้คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าในพระบาลีนั้นเป็นหมันไป เพราะว่าประชาชนติดบุคคลหรือติดแบบ อยากจะขอฟังความคิดเห็นของผู้เผยแผ่ทั้งหลายว่าทำอย่างไร จะแก้ไขไม่ให้ประชาชนติดบุคคล ติดสำนัก ติดแบบ ติดหนังสือติดตัวหนังสือ เข้าใจว่าประสบปัญหานี้กันอยู่ทั้งนั้นทุกหนทุกแห่ง ประชาชนติดบุคคล ติดแบบ ติดตัวหนังสือ ติดสำนัก
ผมอยากจะขอฟังความคิดเห็นและวิธีแก้เพื่อช่วยกันแก้ ผมเองพยายามที่สุดที่จะไม่ให้บุคคลมาติดผม พอใครใช้คำว่าแบบของท่านอาจารย์ บอกว่า ไม่ๆ มันแบบของพระพุทธเจ้า แบบที่มีดูได้หาดูได้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่แบบของอาตมา แม้ว่าอาตมาจะเอาแบบนี้มาเผยแผ่ไม่เหมือนใคร ก็ขอให้รู้เถิดว่าไม่ใช่แบบของอาตมา แบบของพระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ในพระพุทธวจนะนั่นแหละ แต่ไม่มีใครเอามาพูดมาสอนเอง แต่ว่าบุคคลเหล่านั้นเขาก็ติดแบบ ติดสำนัก ติดบุคคลของเขาอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ นี้ก็เป็นปัญหาชะงักงันอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเลวร้ายมาก เอาล่ะ,ขอให้อภิปรายเป็นข้อสุดท้าย แล้วก็จะได้ปิดการอภิปรายในคืนนี้/ นิมนต์อาจารย์ทองล้วนเป็นคนแรก หรือไปไหนเสียแล้ว/ นิมนต์อาจารย์ทองล้วนเป็นคนแรก/ ทำอย่างไรจะให้บุคคลเลิกติดบุคคล ให้ประชาชนเลิกติดบุคคล เลิกติดแบบ เลิกติดสำนัก เลิกติดอาจารย์หรือปรัมปราทั้งหลาย นิมนต์//
พระอาจารย์ทองล้วน: ความจริงปัญหาอันนี้ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้เสนอหรือว่าได้แสดงให้เราท่านทั้งหลายฟังนี้ เท่าที่อาตมานั่งฟังดูอยู่หรือว่ากระผมนั่งฟังดูอยู่ คือเริ่มตั้งแต่ปัญหาศาสนาต่างศาสนาทำความเข้าใจกัน แล้วก็ปัญหาว่าทำอย่างไรคนจึงจะเกลียดกิเลส แล้วก็ปัญหาสุดท้ายก็คือว่าทำอย่างไรคนจึงจะไม่ติดหนังสือ ไม่ติดวิธีการรูปแบบ ไม่ติดครูบาอาจารย์สำนัก จนปัญหาทั้งโลกเลยแหละทีนี้ ปัญหาทั้งหมดเลยในโลกเลยแหละ มันก็จะมารวมลงอยู่ที่ตัวเรา คือตัวเรานี้แหละ เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกัน เรื่องศาสนาก็ดี เรื่องกิเลสก็ดี หรือว่าเรื่องคนติดสำนักก็ดีหรือติดครูบาอาจารย์ แม้กระทั่งว่าติดตัวเราเอง ติดพ่อติดแม่ติดครูบาอาจารย์ คือเนื่องจากว่าผู้นั้นหรือว่าผู้เผยแผ่ธรรมะนั้นไปไม่รอดเอง ติดเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายถึงอย่างที่พระเดชพระคุณท่านว่าแม้แต่ตัวท่านเอง ญาติโยมหรือว่าพุทธบริษัทหรือว่าพระภิกษุสามเณรก็ยังพยายามที่จะติดจะยึด อันนี้เป็นประสบการณ์ของกระผมเอง ซึ่งกระผมได้ปฏิบัติมา เมื่อเราไม่เข้าใจตัวเราเอง ไม่เข้าใจแก้ไขปัญหาที่จิตที่ใจหรือว่าในตัวเราเองในชีวิตของเราเอง ก็เป็นเรื่องยากที่จะไปทำความเข้าใจกับคนอื่น จนตลอดถึงว่าในเมื่อเราเองก็ยังไปติดไปยึดอยู่ ยังไปยินดียินร้ายกับสิ่งแวดล้อมหรือว่ากับโลกธรรมอยู่ ก็แน่นอน,โลกธรรมก็ต้องมายินดียินร้ายกับเราหรือว่ามาติดที่ตัวเรามายึดรูปแบบวิธีการอะไรต่างๆ
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะไม่ให้ติดหรือว่าไม่ให้ยึดไม่ให้หลงครูบาอาจารย์หรือสำนักหรือตำรับตำรา กระผมเสนอความคิดเห็นหรือประสบการณ์เท่าที่ประสบมาก็คือทำตัวของเรานี่แหละ ไม่ว่าญาติโยมก็เหมือนกัน ไม่ว่าเรื่องศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าเรามีน้ำใจเราเข้าใจชีวิตของเรา เข้าใจพุทธศาสนาของเราที่เราเคารพนับถือจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ แล้วเรื่องศาสนาอื่นบุคคลอื่นนั้น มันทำความเข้าใจกันได้ เพราะคำว่าความเข้าใจกันนี้มันลึกซึ้งมาก ไม่ใช่คำพูด คำว่าเข้าใจนี้หมายถึงว่าใจมันเข้ากันได้ เรียกว่าใจที่มันไม่มีโกรธ มันรักกัน มันมีเมตตากันอย่างนี้ มันก็เข้ากันได้ อันนั้นใจที่มีธรรมะมันเข้ากันได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด โดยไม่ต้องใช้คำพูดว่านับถือศาสนานั้น รักษาศีลห้า รักษาศีลแปดหรืออะไรก็ตามอันนั้น อันนี้มันเป็นส่วนที่เรียกว่าลึกซึ้งหรือว่าเป็นส่วนของศาสนาจริงๆ หรือของธรรมะจริงๆ ในทุกรูปแบบทุกวิธีการ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่เข้าใจส่วนนี้ ไม่เข้าใจส่วนลึกซึ้ง ส่วนปลีกย่อยต่างๆ มันก็ทำไปไม่ได้ มันก็ขรุขระ ยังติดอยู่นั่นเอง พอออกจากอันนี้ก็ไปเข้าอันนั้น ออกจากการไหว้ผีก็ไปไหว้เทวดา ออกจากการไหว้เทวดาก็ไปไหว้พระพรหมเจ้าที่อะไรต่างๆ ก็ทำไปตามเรื่องอยู่นั่นเอง แต่ถ้าเมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นที่ถูกต้องเข้าใจถูกต้องในชีวิตในธรรมชาติที่ชีวิตจิตใจของตัวเองแล้ว คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน ศาสนาอื่นๆ ก็เหมือนกัน เพราะมันเรื่องจิตเรื่องใจ แล้วธรรมชาติทั้งหมดทั้งโลกนี้มันก็เหมือนกัน คือมีกฎตายตัวของมันเป็นอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าถ้าหากว่าเราท่านทั้งหลายที่อยู่ที่นี่หรือว่าที่เป็นพุทธบริษัทได้มาทำความเข้าใจอย่างนี้ศึกษาอย่างนี้ กระผมเองคิดว่าจะเป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้าใจธรรมะหรือว่าสนใจธรรมะ ละหรือว่าพยายามที่จะปฏิบัติที่จะพึ่งตัวเองได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นข้อคิดในเรื่องที่จะให้บุคคลไม่ติดในสำนักในครูบาอาจารย์จนตลอดถึงรูปแบบวิธีการอะไรต่างๆ ก็คือชี้จุดความเป็นจริงในชีวิตของเขาให้เขาเข้าใจตัวเขาเองชีวิตของเขาเองนั่นเอง//
ท่านพุทธทาส:...ได้แสดงถึงเหตุที่ทำให้ติด ขอให้พูดว่า เหตุที่ทำให้ติดคืออย่างไร//
อาจารย์ทองล้วน:เหตุที่ทำให้ติด กระผมจะเล่าในเรื่องการที่ทำให้ญาติโยมติด เท่าที่กระผมได้ประสบมาในบางเรื่องบางสิ่งหรือว่าบางกาลบางเวลา ในสมัยนั้นคือเราเองไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างไร ธรรมะคืออะไร แต่ว่าพูดไปตามครูบาอาจารย์ พูดไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี พูดไปตามตำรับตำรา ว่าทำอย่างไรญาติโยมนี้จึงจะมาศรัทธาเรา แล้วเราจะมีชื่อเสียง แล้วมีคนชมอยู่เสมอ ไม่มีคนติ ไปเทศน์ที่ไหนก็ทำอย่างไรโยมจึงจะมายกย่องสรรเสริญเยินยอเรา ทีนี้เราก็พยายามทำสิ่งนั้นสิ มันทำเอาได้นี่ เราก็พยายามพูดดีๆ พูดหวานๆ พูดเพราะๆ สิ พูดตามที่ว่าเลียนแบบครูบาอาจารย์ไหนท่านมีรูปแบบอย่างนั้น อันนี้หมายถึงการเผยแผ่ธรรมะที่จะให้คนติด แล้วส่วนคนติดวิธีอื่นๆ นั้นก็เยอะแยะ เครื่องรางของขลังบ้างอะไรต่ออะไรนั่น คือผู้นั้นสร้างขึ้นมาเองทำขึ้นมาเอง เพราะเหตุที่ว่าไม่มีสัมมาทิฏฐินี่เอง ไม่มีความเข้าใจความรู้ที่ถูกต้องในหลักธรรมะในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ หรือถ้าพูดอย่างกำปั้นทุบดินเรียกว่ามันไม่ผิดเลยก็คืออวิชชานั่นเอง ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าตัวโลภะหรือตัวความยินดีทำให้คนมาสรรเสริญชอบอกชอบใจติดเรานั้นมันคือตัวอันตรายของศาสนาของธรรมะ มันเป็นตัวยึดมั่นถือมั่น ไม่รู้สาเหตุอย่างนี้มาก่อน ก็เลยนึกว่าสิ่งนั้นมันดี มันก็เลยสงเคราะห์เข้ากับข้อที่ว่าทำไมคนไม่กลัวกิเลส ก็จะกลัวกิเลสอย่างไรในเมื่อผู้เผยแผ่ธรรมะเองก็ยังประกาศที่จะเอากิเลสเข้ามาเพิ่มอีกให้มากขึ้นๆ อย่างเช่นพูดแล้วให้ญาติโยมชอบอกชอบใจ หรือว่าผู้ได้ยินได้ฟังแล้วชอบอกชอบใจหลงใหลในสุ้มเสียงสำนวนธรรมะอะไรต่างๆ นั้น สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้แก่ตัวเอง ฉะนั้นเมื่อเพิ่มกิเลสให้แก่ตัวเอง เมื่อกิเลสมันมีอยู่ในจิตใจ ก็เอากิเลสนี้แหละไปให้โยมหรือให้ผู้ฟังต่อๆ กัน มันเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ อันนี้เป็นประสบการณ์ของกระผมหรือสาเหตุที่ว่าทำอย่างไร,ทำไม,เหตุอะไร คนจึงจะมาติดเรา จึงมายึดมาถือ สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือเราขาดสัมมาทิฏฐิ ขาดความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็ขาดหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือหมายถึงว่าผลหรือตัวอย่าง
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าในสังคมเราชาวพุทธก็ดี หรือครูบาอาจารย์ก็ดี นักเผยแผ่ธรรมะก็ดี ถ้าหากว่าทำได้พูดได้ เข้าทำนองที่เรียกว่า ดีแต่ปากวาดวอนสอนเขาอื่น มีดาษดื่นเหลือรับนับไม่ไหว ตัวเองพูดอย่างไรแล้วทำได้หรือเปล่า ถ้าตัวเองพูดได้ทำได้ นั่นแหละดี อันนี้กระผมได้ยินมาอย่างนั้นแล้วก็จำไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ แต่มาคิดดูแล้ว โอ,มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ในสังคมมนุษย์นี่ ส่วนมากก็มีแต่สอนกันพูดกัน ยกตัวอย่างกระผมนี้แหละ ตัวสำคัญที่สุด ที่พูดนี้ไม่พูดคนอื่นเลย พูดตัวเองนี่ เพราะตัวเองมันโง่เหลือเกิน โง่จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงมีฉายาว่าภิกษุโง่มานาน แล้วก็ยังอาจจะโง่อีกไปอีกนาน เพราะฉะนั้นจึงได้ว่าถ้าหากว่าทุกคนมาทำความเข้าใจและปฏิบัติได้พอสมควร รู้แนวทาง มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองศึกษาและปฏิบัตินั้นได้รับผลบ้างตามสมควร แล้วก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง อย่างนี้กระผมคิดว่าศีลธรรมหรือธรรมะก็จะกลับคืนมา แล้วจะทำให้ญาติโยมหรือว่าพุทธบริษัทนั้นเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวเนื่องกันกับผู้นำนี้แหละสำคัญ จึงมีคำที่ว่าตัวอย่างดีกว่าคำสอน ถ้าตัวอย่างแล้วไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องสอนอะไรก็ได้ แต่ต้องอาศัยกาลเวลาหรืออาศัยธรรมชาติที่มันจะต้องเป็นไปเอง แต่ทีนี้ตัวอย่างมันไม่มีนี่ ตัวอย่างเดี๋ยวนี้ก็อย่างเห็นพระเดชพระคุณอยู่สวนโมกข์นี้ก็มีองค์เดียวเท่านั้นเอง ก็ทำมาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้ว แล้วพวกกระผมก็เรียกว่าเป็นหางแถว ก็เพิ่งจะได้ยินได้ฟังหรือว่าเพิ่งจะศึกษาก็ยังไม่มีอะไรที่จะลึกซึ้ง แต่ถึงกระนั้นก็พยายาม,มีความพยายามกระทำที่เรียกว่าตามอย่างของครูบาอาจารย์ที่เราเห็นว่ามันถูกต้องหรือตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้ต้องถือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นถ้าหากว่าไม่มีตัวอย่างหรือว่าไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง อันนี้แหละเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้อื่นพลอยรู้ผิดหรือหลงผิดหรือพลอยติดพลอยตามไปด้วย มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกัน ครับผม//
ท่านพุทธทาส: ในกรุงเทพฯ แห่งเดียวก็มี มีหลายแบบหรือบางทีจะหลายสิบแบบ แล้วก็มีผู้ยึดถือแบบแห่งอาจารย์ตนแห่งสำนักตนจนไม่ยอมฟังสำนักอื่น นี่เป็นตัวอย่างของการติดแบบ ติดบุคคล ติดสำนัก มันมีส่วนดีหรือไม่/ มันมีส่วนดีและส่วนเสียหักลบกันได้หรือไม่ หรือว่ามีแต่ส่วนเสียโดยส่วนเดียว/ อาจารย์เสมอ ผมคิดว่าจะวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ อย่ามองแต่แง่ร้าย เอ้า,มองแง่ดีกันบ้าง ว่าการติดแบบติดคนนี้มันมีส่วนดีไหม//
พระอาจารย์เสมอ: ข้อสุดท้าย,โยม คิดว่าคงจะ...คนหลับก็ตื่นกันได้แล้ว เดี๋ยวๆ นอนหลับจะปล่อยให้หลับอยู่ตรงนี้แหละ/ ในปัญหาประเด็นสุดท้ายข้อสุดท้ายที่พระเดชพระคุณท่านบอกว่ามีประชาชนติดบุคคล ติดสำนัก ติดแบบ ติด ตัวหนังสือบางคำ ติดพิธีรีตอง ปรัมปราต่างๆ อย่างถอนไม่ขึ้น อันนี้สาเหตุและวิธีแก้อย่างไร กระผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปฟังพระผู้ใหญ่บ้างบางโอกาส ได้มีส่วนร่วมบ้างเป็นบางครั้ง เท่าที่กระผมทราบสาเหตุ คือเรื่องสาเหตุของการติดบุคคลนี้ ในยุคใหม่นี้ เอาในแง่ปฏิบัติกรรมฐานกันก่อน คือว่ามีการถวายตัวต่ออาจารย์ อันนี้วันที่จะขอกรรมฐานนี้ ต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวกับพระอาจารย์นั้น ทีนี้เมื่อถวายตัวต่ออาจารย์แล้ว อาจารย์ก็ให้กรรมฐานตามแบบสำนักที่ตนสอน ตามแบบอย่างที่ตนสอน แล้วตีความหมายต่างๆ ตามหนังสือที่อาจารย์นั้นสอน แล้วมีวิธีที่จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้เสร็จ เท่ากับว่ามีหลักสูตรให้ปฏิบัติตามนั้น จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน จากเดือนเป็นหลายๆ เดือน นานๆ ก็กลายเป็นกิจเป็นนิสัย ทำอะไรก็เป็นนิสัย นานๆ หลายๆ ปีเข้าก็เป็นสันดาน เลยละได้ยาก โบราณว่าสันดอนขุดง่าย แต่สันดานนั้นมันละยาก หรือว่าเป็นวาสนา กิเลสละได้แต่วาสนาละไม่ได้ คือทำอะไรมันกลายเป็นนิสัยไป ทีนี้เมื่อได้เห็นสิ่งอื่นนั้น ก็ให้แปลกไป เพราะตนเคยเห็นแต่แบบเดียวอย่างเดียว ก็เลยนึกว่าเป็นอย่างนั้นๆ พอไปเห็นอย่างอื่นผิดออกไป ก็เลยไปติดในเรื่องนี้ อันนี้สาเหตุทำให้ติด กระผมก็เคยติดมาเหมือนกันอย่างที่อาจารย์ทองล้วนว่า ผมก็เคยติดมาเหมือนกัน แต่เรื่องการติดนี้ มีทั้งแง่ดีและไม่ดี ในแง่ดีก็คือว่าทำให้เราได้จำแบบฉบับได้ถูกต้องถ้าแบบนั้นมันดีมีประโยชน์ แต่ถ้าแบบมันผิดแล้วก็ว่าเรานี้ฝังตัวจนตายอย่างเดียวกับอาจารย์ของพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ