แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์และท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันสุดท้ายนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องทางเดินของชีวิต นั่นคืออริยมรรค ขอทบทวนถึงเรื่องที่พูดมาแล้วว่า มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตทุกเรื่อง ทุกอย่างเรียกว่าธรรมใน ๔ ความหมาย เป็นธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ เป็นผลตามกฎของธรรมชาติ ทุกอย่างมันเป็นธรรม ชีวิตมันก็รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมในความหมายหนึ่ง ชีวิตมันจึงคืออันเดียวกันกับธรรมะ นิพพานก็เป็นธรรมอันหนึ่ง แต่เป็นประเภทที่เป็นผลของการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติและตั้งอยู่ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตและก็ที่นี่เอง เรารู้จักธรรมะในฐานะที่เป็นชีวิต รู้จักนิพพานในฐานะเป็นจุดปลายทางของชีวิต แล้วเราก็ควรจะรู้จักไอ้วิธีเดินของชีวิตให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง สิ่งที่ใช้เดินนั่นก็เรียกว่าทางคือมรรค อริยมรรค หนทางอันประเสริฐสำหรับชีวิตเดินและก็ไปถึงปลายทางคือนิพพาน ปลายทางของชีวิต มรรคแปลว่าทาง ถนนหนทางนี่ก็เรียกว่าทาง ภาษาชาวบ้านเรียกว่าทางเดิน ยืมไปใช้ในทางฝ่ายศาสนาก็เป็นคำศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไป มันกลายเป็นหนทางแห่งจิตเดิน หนทางแห่งวิญญาณเดิน หนทางแห่งชีวิตเดิน นี่เรียกว่าอริยมรรค ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแนะไว้เป็นหนทางประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ที่เราเรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค นี่ประเสริฐกว่าทางทั้งปวงในบรรดาทางมีกี่อย่าง มีกี่ชนิด กี่โวหาร ทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐนั้นเลิศกว่าทางทั้งหลาย ทำไมจึงเลิศกว่าทางทั้งหลาย เพราะว่าทางใดอื่นๆ นั้นมันก็ไปที่นั่นที่นี่ตามแบบของมัน แต่ทางคืออริยมรรคอัฏฐังคิกมรรคนั้นมันเดินไปนิพพานอยู่โดยธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าแม่น้ำทุกสายเดินไปทะเล โดยเฉพาะแม่น้ำในประเทศอินเดียกี่สายๆ มันก็เดินไปทะเลไปมหาสมุทร อัฏฐังคิกมรรคนี่ก็เดินไปนิพพาน เพราะเหตุใด เพราะว่ามันมีลักษณะเอียงไปทางนิพพาน เช่นเดียวกับแผ่นดินนี่มันมีลักษณะเอียงไปทางทะเล น้ำมันจึงไหลไปทางทะเลโดยง่ายโดยสะดวกตามธรรมชาติ เพราะมันมีความลาดเอียงไปทางทะเล อัฏฐังคิกมรรคที่กำลังพูดนี้ก็มีความลาดเอียงไปทางนิพพาน มันจึงสะดวกคือมันไม่ใช่กลิ้งครกขึ้นภูเขา มันจะเหมือนกับกลิ้งครกลงภูเขา ดังนั้นขอให้เดินลงไปในทางนั้น ให้หยั่งให้ก้าวขาให้หยั่งลงไปในทางนั้น คือทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ นิพพานถึงจุดหมายปลายทางของทางนั้น แล้วมันก็แปลกว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้นะในร่างกายนี้นะ ไม่ใช่ว่าเดินกันจนเข้าโลงแล้วเข้าโลงอีก ไม่ใช่ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ และจะเดินถึงนิพพานโดยที่ขาไม่ต้องก้าวแม้แต่ก้าวเดียว มีพระบาลีว่า ช่วยจำหน่อยนะ อัสมิมานะ สมุคฆาตัง ทิฏเฐวะธัมเม นิพพานัง บาลีจำยากก็ไม่ต้องจำก็ได้ เป็นไทยๆ ว่า การถอนอัสมิมานะจะได้คือนิพพานในทิฏฐธรรม การถอนอัสมิมานะจะได้นั่นคือนิพพานในทิฏฐธรรม บาลีว่า อัสมิมานะ สมุคฆาตัง ทิฏเฐวะธัมเม นิพพานัง วันก่อนก็พูดกันมากแล้ว เรื่องอัสมิมานะ คือเรื่องตัวกูของกู ความรู้สึกยึดถือเป็นตัวกูของกู นั่นแหละคืออัสมิมานะ อัสมิมานะแปลว่าความสำคัญมั่นหมายว่าตัวฉันมีอยู่ ตัวกูมีอยู่ ทุกคนลองสังเกตดูตัวเองเรามีอัสมิมานะว่าตัวฉันๆ มีอยู่ แต่ว่าความรู้สึกนี้ไม่ใช่เกิดอยู่ได้เองตลอดไป มันเกิดเป็นคราวๆ เมื่อทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อไรก็จะปรุงกันขึ้นในจิตใจจนเกิดเป็นว่าตัวกูของกูๆ นั่นคืออัสมิมานะ ถอนอัสมิมานะนี้เสียได้นั้นเป็นนิพพานเย็นสนิทในทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรมแปลว่าในธรรมที่ตนเห็นแล้ว ก็คือยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ ยังรู้สึกอยู่ ตนรู้สึกอยู่ เรียกว่าตนเห็นแล้ว ถ้าตายแล้วไม่เรียกว่าทิฏฐธรรม โดยไม่ต้องตายหรือยังไม่ทันตายและก็เห็นได้ด้วยความรู้สึกนี่เรียกว่าในทิฏฐธรรม นิพพานนี้มีได้ในทิฏฐธรรมเมื่อมีการถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ ดังนั้นก็พูดได้เลยว่าเมื่อใดอัสมิมานะไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้ปรากฏขึ้น เมื่อนั้นก็ไม่มีอัสมิมานะ เราก็มีนิพพานช่วงสั้นๆ เป็นระยะๆ เท่าที่อัสมิมานะไม่ได้เกิดขึ้น ทุกคนสนใจให้ดีเป็นพิเศษ เวลาจิตที่ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกมั่นหมายเป็นตัวกูเป็นของกู เมื่อนั้นจิตมันว่างไปจากอัสมิมานะ เราก็มีนิพพานสั้นๆ ชั่วระยะในทิฏฐธรรม เดี๋ยวนี้รู้สึกอยู่ ทีนี้พอเราถอนอัสมิมานะนั้นได้หมด หมดรากหมดเหง้าสิ้นเชิงจะเป็นนิพพาน ทำสมบูรณ์และก็ในทิฏฐธรรม นี่เรียกว่าหนทางเพื่อจะถอนอัสมิมานะ เรียกว่าทาง แต่เพื่อให้ปฏิบัติง่ายก็แจกออกไปเป็นข้อๆๆๆ ให้สังเกตง่าย ให้เรียนง่าย ให้ปฏิบัติได้ แล้วก็การเดินทางนี้ต้องทำด้วยความไม่ประมาท นี่ก็เป็นคำอีกคำซึ่งต้องจำไว้ให้ดีว่าไม่ประมาท พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเอาความไม่ประมาทเป็นธรรมเลิศกว่าธรรมทั้งปวง เปรียบเหมือนรอยช้างมันใหญ่จนใส่รอยเท้าอื่นๆ ลงไปได้ ความไม่ประมาทก็ใหญ่สำหรับใส่ธรรมะทั้งหลายลงไปได้ ใครๆ ก็มองเห็นแต่ว่ามันวินาศๆ ฉิบหายกันมา เพราะความประมาททั้งนั้น แต่ว่าคำว่าประมาทในภาษาบาลีมันมีใจความกว้างขวางแยบคายแนบเนียนกว่าคำว่าประมาทในภาษาไทย ความประมาทในภาษาไทยมีความหมายแคบๆ สั้นๆ ว่าอวดดี ว่าอวดดี ถ้าไม่อวดดีก็คือไม่ประมาท เท่านี้มันแคบไป ไม่ประมาทคือไม่อวดดี นี่มันแคบไป เพราะว่าไม่ประมาทในทางธรรมะมันกินความกว้างกว่านั้น ลึกกว่านั้น ประกอบอยู่ด้วยธรรมะหลายอย่างจะรวมกันเป็นความไม่ประมาท แล้วก็หมายถึงการที่กำลังกระทำอยู่ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่คิดนึกหรือรู้สึกเฉยๆ ความไม่ประมาทๆ คือความเพียรบวกกันอยู่กับสติและปัญญา ถ้าพูดถึงสติก็ขอให้ถือว่ามีปัญญารวมอยู่ด้วยก็แล้วกัน เมื่อสติมาบวกรวมกันอยู่กับความเพียร นั่นแหละคือความไม่ประมาท ดังนั้นเมื่อใดไม่ประมาท เมื่อนั้นก็ยังมีความเพียรขยันขันแข็งรวมขึ้นอยู่กับสติคือความรู้สึกระลึกได้ ควบคุมความขยันขันแข็งนั้นไว้ไม่ให้ผิดไม่ให้เดินผิด ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่ไม่ประมาทกำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ กำลังทำอะไรที่เป็นหน้าที่อยู่อย่างขยันขันแข็ง และก็เต็มไปด้วยสติความรู้สึกตัวไม่มีผิดพลาด แล้วในสตินั้นมีปัญญารวมอยู่ด้วยเป็นธรรมดา เพราะว่าการที่จะทำอะไรได้ไม่ผิดพลาดนั้นมีปัญญารวมอยู่ด้วย แต่ว่าไม่ออกชื่อ ออกชื่อแต่ว่าสติก็พอ ดังนั้นขอให้ทุกคนมันมีสติบวกกันอยู่กับความเพียร ไอ้ความเพียรคือไม่ได้อยู่นิ่งนะ ต้องทำอะไรอยู่นะ และบวกอยู่กับสติก็ทำไปเถอะ อะไรเป็นหน้าที่ก็ทำไปเถอะ จะเป็นความไม่ประมาท จะเป็นเรื่องอยู่ในโลกทำมาหากินก็ทำไป เรื่องที่เป็นหน้าที่ของการทำมาหากิน ถ้าเป็นเรื่องของธรรมะจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะเห็นการปฏิบัติธรรมะอยู่อย่างขยันขันแข็งแล้วก็เต็มไปด้วยสติ ในเมื่อไม่ประมาทถูกต้องอย่างนี้แล้ว นิพพานก็ไม่ไปไหนเสียก็จะอยู่ในกำมือคือจะลุถึงได้ ดังนั้นเรามารู้จักนิพพานในฐานะเป็นจุดหมายปลายทาง และก็มีทางที่จะต้องเดินคืออริยมรรคมีองค์ ๘ และก็ต้องเดินด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาทเดินไปตามหนทางแห่งอริยมรรค แล้วก็จะถึงนิพพาน ทีนี้คำว่าเดินในภาษาธรรมะมันจิตใจเดิน ร่างกายไม่ต้องเดินไม่ต้องก้าวเท้าสักก้าวหนึ่งก็ได้ แต่จิตใจมันเดิน มันแปลกดี เหมือนกับอะไรเดินเหมือนกับนาฬิกาเดิน นี่ไอ้เรือนนาฬิกาไม่ต้องเคลื่อนไปแต่ข้างในมันเดิน ขอให้ร่างกายของเรานี่มีการเดินอยู่ในภายในอย่างนั้น คือจิตใจมันเดินเพราะนิพพานถึงได้ด้วยการไม่เดินไม่ต้องเดิน เด็กๆ อย่าเพิ่งหัวเราะนะว่านิพพานถึงได้โดยที่ไม่มีการเดิน ไม่ต้องเดิน
เรื่องมีเล่าไว้ในพระบาลีว่า เทวดาตนหนึ่งมีฤทธิ์มาก มีเรี่ยวแรงมาก มีความไวมาก ไวยิ่งกว่าสิ่งใดที่เราเรียกกันว่าไวในการเคลื่อน บาลีเขาอุปมาว่าเหมือนกับว่าลูกศรหรือลูกปืนที่ยิงผ่านเงาต้นตาล เงาต้นไม้ที่มีอยู่ตามพื้นดิน มันวิ่งผ่านเงาต้นไม้ เหมือนกับว่ามันผ่านทะลุต้นไม้ว่าอย่างนั้นเถอะ ก็จะคำนวณไอ้ความเร็วความแรงของมัน มันมีความเร็วขนาดนี้มันแข็งแรงมาก มันมีอายุอยู่ร้อยปี มันก็วิ่งไปเรื่อยวิ่งด้วยความเร็วอย่างนี้เรื่อยร้อยปี มันก็ไม่พบที่สุดแห่งโลก เทวดาตัวนี้มันอยากจะไปถึงที่สุดแห่งโลก มันก็วิ่งด้วยความเร็วอย่างนี้ ร้อยปีมันก็ไม่พบ ไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เขาก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้าว่าทำอย่างไรอยากจะไปถึงที่สุดแห่งโลก แล้วก็ทำอยู่อย่างนี้ยังไม่ถึงสักที ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า เอ้า, มันผิดไปแล้ว โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ว่า มีอยู่ในร่างกายนี้ที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่มีทั้งสัญญาและใจ คือในร่างกายคนหนึ่งที่ยาวประมาณวาหนึ่งยังเป็นๆ ยังไม่ตาย ในนั้นมีโลก มีที่สุดแห่งโลก มีหนทางให้ถึงที่สุดแห่งโลก ก็คือเรื่องที่เรากำลังพูด ทุกข์หรือความดับทุกข์ หรือนิพพาน มันมีอยู่ได้ในร่างกายที่ยังเป็นๆ ทางเดินก็มีอยู่ในนั้น ก็เดินในร่างกายที่ยาวสักวาหนึ่งยังเป็นๆ ก็เดินได้ คือมีการปฏิบัติที่มันเลื่อนระดับของจิตใจเรื่อยไปๆ นี่เรียกว่าเดินโดยไม่ต้องเคลื่อนไหว นิพพานถึงได้โดยไม่ต้องเดิน แต่มันมีการเดินอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เดินด้วยเท้า ถ้าเราพูดว่าถึงได้โดยการไม่ต้องเดินนี่หมายถึงเดินด้วยเท้า ไอ้เดินด้วยเท้านี่ไม่มีทางจะถึงนิพพาน เพราะนิพพานถึงได้โดยที่เท้าไม่ต้องเดิน ขอให้จิตใจมันเดิน ทีนี้ก็ดูว่าเดินน่ะคือทางเดินน่ะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกมันว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละคือการเดิน อริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าใจว่านักเรียนนักศึกษารู้แล้วทั้งนั้นว่าอะไรนะ ถ้ายังไม่รู้ก็จะแย่มากนะ รีบไปรู้ว่า ๘ นั้นคืออะไร สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เอามาใส่ไว้ในบทสวดมนต์ให้รู้กันโดยสวดไว้ก่อน โดยการสวด การจำ การอะไรไว้ก่อน แล้วก็มีความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเหมือนกันฟั่นเชือก ๘ เกลียว ๘ เส้น ๘ เกลียวให้เป็นเชือกเส้นหนึ่งจึงได้เรียกว่ามีองค์ ๘ ช่วยจำไว้ให้ดีว่าท่านใช้คำว่ามีองค์ ๘ อย่าว่า ๘ เฉยๆ ที่ในโรงเรียนมักจะพูดผิดกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านเขาเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ที่กรุงเทพฯ จะเรียกง่ายๆ ว่ามรรค ๘ เรียกว่ามรรค ๘ นั้นมันผิด เพราะมรรคมันไม่ได้ ๘ มันมีทั้งนั้น แต่มันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ดังนั้นขอร้องนักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายว่า อย่าได้พูดผิดเกี่ยวกับคำๆ นี้อีกต่อไป คือจะไม่พูดว่ามรรค ๘ พูดว่ามรรค ๘ นั้นมันผิด ต้องพูดว่ามรรคมีองค์ ๘ น่ะที่ถูก ถ้ามรรค ๘ มันก็ต้อง ๘ มรรค มรรค ๘ ทาง แล้วจะเดินอย่างไรเล่า หนทางมันมีทางเดียว แต่ว่ามันประกอบไปด้วยองค์ ๘ เดินไปถูกใน ๘ องค์ ในทางเดียวนั้นแหละ เป็นเหมือนกับเชือก ๘ เกลียว แต่ละเกลียวก็มีแรงของตนและก็รวมกัน ๘ เกลียวเป็น ๑ เส้น เส้นๆ เดียวมันก็แรงมาก มีคุณสมบัติมาก และไอ้ความถูก ๘ ประการนี้ต้องรวมเป็นอันเดียวกันโดยการทำหน้าที่ร่วมกัน มีสัดส่วนพอดีในหน้าที่ของตนและรวมกันทำหน้าที่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ อะไรก็ชอบ นี่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ นี่องค์หนึ่ง สัมมาสังกัปโป ต้องความปรารถนามุ่งหมาย ใฝ่ฝัน ตริตรึกอะไรก็ตามก็ชอบนี่ก็องค์หนึ่งสัมมาวาจา พูดจาหรือการพูดจา คำพูด วิธีพูด อะไรที่จะเกี่ยวกับการพูดมันถูกต้องไปหมด นี่ก็องค์หนึ่ง สัมมากัมมันโต การงานถูกต้อง การกระทำทางกายที่มันถูกต้อง สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตดำรงชีวิตถูกต้อง สัมมาวายาโม พากเพียรพยายามถูกต้อง สัมมาสติ ระลึกอยู่ในใจอย่างถูกต้อง สัมมาสมาธิ จิตใจปักมั่น เข้มแข็ง มั่นคงอย่างถูกต้อง ออกชื่อออกแต่ชื่อกันก่อน พอให้ได้ระลึกได้ว่ามันมีอยู่ ๘ ชนิด ๘ ส่วน ๘ องค์ เป็นความถูกต้อง ๘องค์ เอามาปั้นเกลียวกันเป็นความถูกต้องสายใหญ่สายเดียวแล้วก็เดินไป แต่ละองค์ๆ ไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน แล้วร่วมกำลังกันกับองค์อื่นๆ ไม่แยกกัน นี่เรียกว่าสมังคี ทำหน้าที่พร้อมกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แม้จะมีหน้าที่หรือ๓ารถต่างกันแต่เอามาทำพร้อมกัน นี่เรียกว่าสมังคี แปลว่ามีองค์เสมอกัน เหมือนทำแกงสักแกงหนึ่ง มีเครื่องประกอบของแกงนั้นหลายๆ อย่าง แต่ทุกๆ อย่าง ถูกต้องตามสัดส่วนตามหน้าที่ เช่น เกลือก็เค็ม พริกก็เผ็ด อย่างนี้เป็นต้น แล้วพอมารวมกันก็เป็นหนึ่งแกงที่มีรสดีสำเร็จประโยชน์ องค์แห่งมรรคทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ ร่วมกันทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันจะมีความถูกต้องไปถึงกับว่าเป็นกลาง อยู่ตรงกลางไม่เอียงไปฝ่ายไหนหมด ไม่เอียงไปฝ่ายขาด ไม่เอียงไปฝ่ายเกิน นี่เป็นส่วนใหญ่ ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทำตนให้ลำบาก ไม่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เป็นการปล่อยตัวในความสำเริงสำราญมากไป นี่มันไม่ถูกทั้ง ๒ ฝ่าย อยู่ตรงกลางถูก บางทีก็เรียกว่าไม่เปียกคือไม่จมกามารมณ์ ไม่แห้งคือไม่แห้งแล้งจนหาความผาสุกอะไรก็ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น มีคำอธิบายมากที่ว่าอยู่ตรงกลางๆ ค่อยศึกษาต่อไปข้างหน้า แต่เดี๋ยวนี้เอาแต่ว่าอย่าเอียงไปในทางต่ำ เปียก อย่าเอียงไปในทางที่มันแห้ง มันสูง มันแผดเผาเกินไป ก็เรียกว่ากลาง มรรคมีองค์ ๘ กลาง มีความถูกต้อง รวมกันเป็นความถูกต้องของทุกสิ่งที่จะต้องรวมกัน เรียกว่าถูกต้องๆ นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่ามันทำลายกิเลสได้เรียกว่าถูกต้อง มันดับทุกข์ได้ก็เรียกว่าถูกต้อง เพราะมันมีหน้าที่ทำลายกิเลสและทำลายความทุกข์ ต่อเมื่อมันทำลายกิเลสและความทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าถูกต้องหรือสัมมาๆๆ จะเห็นว่ามีคำว่าสัมมากำกับอยู่ข้างหน้าทุกข้อเลย จำคำว่าสัมมาไว้ให้ดีๆ ว่าถูกต้องน่ะคือมันดับกิเลสหรือดับความทุกข์ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ถูกต้อง ที่เป็นบาลีมันก็มีเหมือนกันแสดงความหมายนี้ แต่มันจะรุงรังหรือจะจำยากสำหรับท่านผู้ฟัง ธรรมะใดๆ มีชื่ออยู่ตามชื่อของธรรมะนั้นๆ แต่ถ้าจะเอามาข้อคิดอัฏฐังคิกมรรคแล้ว ท่านจะเติมคุณศัพท์เรียกว่าคำวิเสสนะประกอบเข้าข้างหน้าว่า มันจะต้องเป็นวิเวกนิสสิตัง วิราคะนิสสิตัง นิโรธะนิสสิตัง โวสสัคคะปริณามิง นี่อาศัยวิเวกที่สงัดจากกิเลส วิราคะนิสสิตัง อาศัยวิราคะคือความจาง ความคลายออกของกิเลส นิโรธะนิสสิตัง มันจะอาศัยนิโรธคือความดับลงแห่งกิเลส โวสสัคคะปริณามิง มันจะน้อมไปเพื่อสลัดออกซึ่งกิเลส ถ้ามันมีอาการอย่างนี้เรียกว่าสัมมาๆ ธรรมะนั้นเป็นสัมมา เอามาเข้าในองค์แห่งมรรคสำหรับจะดับทุกข์ได้ แต่เราเอาเป็นภาษาไทยง่ายๆ สัมมาๆ ถูกต้อง ถูกต้องที่มันดับกิเลสก็แล้วกัน ดับกิเลสทุกขั้นตอน กิเลสก็ดี อนุสัยก็ดี อาสวะก็ดี กิเลสขั้นตอนหลายๆ ขั้นตอนนี้มันดับได้ทั้งนั้น คือสัมมาที่ถูกต้อง ทีนี้ก็มี ๘ องค์ ล้วนแต่มีลักษณะถูกต้องทั้งนั้น สัมมาทิฏฐิก็ดี สังกัปโปก็ดี ทั้ง ๘ องค์มันถูกต้องเป็นสัมมา คือทั้ง ๘ องค์นั้นจะเป็นวิเวกนิสสิตัง วิราคะนิสสิตัง นิโรธะนิสสิตัง โวสสัคคะปริณามิง ดังนั้นเราจะดูได้ว่ามันถูกต้องหรือยัง ไอ้การประพฤติกระทำของเราแต่ละอย่างๆ ๘ อย่างนี้ ดูกันที่ตรงนี้ ทีนี้ท่านพูดให้ชัดออกไปว่าถูกต้อง ๘ ประการนี้ มรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ใน ๘ องค์นี้ ยกเอาองค์สุดท้ายคือสัมมาสมาธินั่นแหละเป็นสำคัญที่สุด องค์สุดท้ายสัมมาสมาธิสำคัญที่สุด ไอ้ ๗ องค์ข้างหน้านั่นให้เป็นบริวารของสัมมาสมาธิ แม้ว่าทุกคนจะสามารถจะทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุดก็ต้องมีหัวหน้า หัวหน้าคนหนึ่งที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้มันรวมกันได้ ให้มันทำหน้าที่ดีที่สุด เราเปรียบเทียบกับกองทัพก็แล้วกัน เมื่อจะยกกองทัพไปรบไปทำอะไรตามหน้าที่ของกองทัพ มันต้อง มีอะไรหลายอย่างในกองทัพนั้นครบ กองทัพนั้นจะสามารถทำหน้าที่ของกองทัพได้ ข้อแรกเราก็จะต้องมีกองทัพหลวงๆ กองหลวงกองสำคัญ พูดอย่างนี้มันโบราณหน่อยนะ แต่มันยังใช้ได้ มันมีกองทัพหลวง แล้วมันยังมีกองทัพหน้าที่ไปก่อน ทีนี้มันต้องมีไอ้กองสอดแนม เป็นต้น ที่ไปก่อนกองทัพหน้าเสียอีก มีกองทัพหลวง มีกองทัพหน้า มีกองสอดแนม แล้วมันยังต้องมีกองทัพหนุนอีกเพราะมันอยู่รั้งท้าย แล้วมันยังต้องมีกองเสบียงอาหารที่ครบถ้วนถูกต้องว่องไว แล้วมันต้องมีกองช่างทหารช่าง กองช่างที่จะแก้ปัญหาขึ้นมา การใครการอะไรก็ตามมันมีกองช่าง แล้วมันยังต้องมีระเบียบดีในกองทัพนี้ จะต้องมีความกล้าหาญพอ จะต้องมีความสามัคคีกันดีในกองทัพทั้งหมดทุกๆ แขนงนั้น ต้องมีอาวุธดี อย่างนี้เป็นต้น และรวมหมดนี้ด้วยกันเรียกว่าเป็นกองทัพที่สำเร็จประโยชน์ อริยมรรคมีองค์ ๘ หนึ่งเดียวเท่านั้น แต่มัน ๘ องค์ประกอบ ถ้าเปรียบเทียบด้วยกองทัพแล้วก็ต้องเอาไอ้สัมมาสมาธิเป็นกองทัพหลวง สัมมาทิฏฐิเป็นกองทัพหน้า แล้วก็มีกองทัพหนุน กองทัพรอง กองช่าง กองเสบียง อะไรต่ออะไร คิดเอาดูเองก็ได้ดีกว่าให้เขาบอก ถ้าเกี่ยวกับกองทัพอย่างนี้แล้ว องค์มรรคทั้ง ๘ องค์ไหนควรจะเป็นส่วนไหน ไปคิดเอาเองบ้างดีกว่า ก็อย่างน้อยมันก็ต้องมีกองทัพหลวงคือสัมมาสมาธิอันสุดท้ายเป็นกองทัพหลวง และมีสัมมาทิฏฐิเป็นกองทัพหน้า หรืออะไรๆ ก็ตามที่มันเนื่องกันอยู่ไปข้างหน้า อยู่ตรงกลาง อยู่ข้างหลัง มันก็สำเร็จประโยชน์ ก็เป็นอริยมรรค อริยะหมายถึงสำคัญว่าเป็นอริยะ ถ้าไม่อริยะมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ถึงขนาดนี้ อริยมรรค มรรคทางเดินที่เป็นอริยะ อริยะแปลว่าไปจากข้าศึก พ้นจากข้าศึก อริยะพ้นจากข้าศึก นี่เป็นความหมายทีแรก อริยมรรคก็คือหนทางที่จะพ้นจากข้าศึก แล้วอริยะแปลว่าประเสริฐ ประเสริฐเพราะดับทุกข์ได้ แล้วก็ว่าประเสริฐเพราะว่ามีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด เพราะมันไปจากข้าศึก ข้าศึกนั้นคือกิเลส เมื่อไปจากกิเลส พ้นจากกิเลส มันก็ดับทุกข์ได้ นี่ก็เรียกว่าอริยะเหมือนกัน แล้วก็มีค่ายิ่งก็เพราะให้ถึงนิพพาน นี่คำว่าอริยะ อริยะมีความหมายอย่างนี้ ดับทุกข์ได้ พ้นจากข้าศึกคือกิเลสและความทุกข์ ก็เลยมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ถ้าพูดว่าอริยมรรค ก็เท่ากับประกอบด้วยองค์อย่างนี้ จะเรียกว่าอริยบุคคลเพราะบุคคลนั้นมันประกอบด้วยองค์อย่างนี้ ก็เรียกว่าอริยบุคคล หรือจะเรียกอริยะอะไรก็ตามเถอะ มันจะมีความหมายอย่างนี้ทั้งนั้น ทีนี้ก็ดูทีละองค์เพื่อเข้าใจดีขึ้น มาพูดกันทีละองค์ๆ ตั้งแต่องค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๘
สัมมาทิฏฐิ ช่วยจำให้ดี ช่วยจดไว้ให้ดี สัมมาทิฏฐิตัวนี้แปลว่ามีความเห็นชอบ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น สัมมาแปลว่าชอบ แต่คำว่าทิฏฐินั้นไม่ใช่จะระบุเฉพาะความคิดเห็นอย่างเดียว เพราะว่าความคิดเห็นนั้นมันเนื่องอยู่กับความรู้ด้วย ความเชื่อด้วย อุดมคติอะไรก็ตามรวมอยู่ในคำนี้ว่าทิฏฐิ ดังนั้นทิฏฐินี้จะต้องถูกต้องเป็นสัมมา คือให้มันรู้ มันเห็น มันเป็นไปในทางที่จะดับทุกข์ได้ สัมมาทิฏฐิถ้ามีแล้วเราก็ไม่มีทางจะคิดผิดจะเห็นผิด ไม่มีทางจะทำผิดในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ที่เราเชื่ออยู่ทุกวันนี้ถ้าถูกต้องก็เป็นสัมมาทิฎฐิ แต่ถ้าเราเชื่อผิดๆ ก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ไปทดสอบดูให้ดีๆ ว่าความคิดเห็น ความรู้ หรือความเชื่อของเรามันถูกหรือยัง แล้วทำให้มันถูก ถ้าว่าจะเอาเป็นหลักสั้นๆ ก็ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้คือถูก คือสัมมา ทีนี้เอามาจากไหนสัมมาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ชัดว่ามีที่มา ๒ อย่าง ปรโตโฆโสและโยนิโสมนสิการ ๒ คำนี้น่าสนใจแหละ ปรโตโฆโสก็แปลว่าการโฆษณาของผู้อื่น คือว่าการศึกษาเล่าเรียนที่เราได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่นเรียกว่าปรโตโฆโส ก็โฆษณาของผู้อื่น ดังนั้นที่เราเรียนในโรงเรียนก็ดี ฟังพระเทศน์ก็ดี อ่านหนังสือก็ดี อะไรก็ดี นี่มันรวมอยู่ในคำว่าปรโตโฆโส จะช่วยให้เรามีสัมมาทิฏฐิในขั้นต้น เช่น เรียน เช่น ฟัง กำลังพูดอย่างนี้ก็เป็นปรโตโฆโส จะช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ทีนี้อันที่ ๒ เรียกว่าโยนิโสมนสิการ นี้แปลว่ากระทำในใจโดยแยบคาย หลังจากที่ได้ยินได้ฟังอะไรมาแล้วเอาไปทำในใจ แยบคาย ไปคิด ไปนึก ไปพิจารณา ไปสอบสวนอย่างลึกซึ้ง ทำในใจแยบคาย และทิฏฐินั้นจะเป็นสัมมายิ่งขึ้นหรือสัมมาถึงที่สุด นี่จะต้องเห็นคือยอมรับว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสแต่ว่าไปทำสมาธิวิปัสสนาอย่างเดียวนะ นั่นคือทำในใจโดยแยบคาย แต่ว่าท่านยังตรัสปรโตโฆโส ปรโตโฆโส โฆษณาของผู้อื่น เพราะฟังสิแล้วก็รับเอามาโดยไม่ให้ผิดหลักกาลามสูตร ๑๐ ประการนั้น คืออย่าฟังอย่างงมงาย อย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ไปศึกษาเรื่องกาลามสูตร ๑๐ ประการกันบ้าง แล้วปรโตโฆโสของใครๆ ก็ตามจะไม่ทำให้เราหลงทางได้ ถ้าเราจะไม่มีหลัก ๑๐ ประการแห่งกาลามสูตรมาเป็นเครื่องรับประกันเสียเลยเราอาจจะเดินผิดทางได้เพราะปรโตโฆโส เหมือนใครมาทำโฆษณาชวนเชื่ออะไรอยู่ เราอาจจะรับผิด ฟังผิด เชื่อผิด หลงไปก็ได้ แต่ถ้าเรามีหลัก ๑๐ประการของกาลามสูตรแล้วมันไม่มีทางจะหลง ก็ควรจะศึกษาไว้สำหรับจะรับเอาซึ่งปรโตโฆโส ที่ไหน เมื่อใด ก็ได้เอามาใช้ เพื่อเป็นสัมมาทิฏฐิตั้งต้น ก็แปลว่าได้ยิน ได้ฟัง ได้เล่า ได้เรียน ได้อ่าน ได้อะไรมาเป็นอย่างดี ใช้เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นได้ เสร็จแล้วก็มาศึกษาแยบคายโดยสมถะสมาธิวิปัสสนา ทีนี้ก็จะสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้นไปอีก ก็เป็นอันว่าได้สัมมาทิฏฐิพอที่จะดับทุกข์ได้ มีบาลีว่าดับทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ นี่ก็ควรจะรู้กันไว้ว่าดับทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ คือมีสัมมาทิฏฐิที่ถือไว้เป็นอย่างดีโดยกิริยาที่เรียกว่าสมาทาน อย่าไปอุปาทานนะ อย่าไปอุปาทาน จะผิดหมด ต้องสมาทานเท่านั้น อุปาทานนั้นทำด้วยอวิชชา ตัณหา โง่เง่า อุปาทานยึดมั่นถือมั่น หลับหูหลับตา อย่างนั้นเป็นอุปาทาน ใช้ไม่ได้ แต่ต้องได้สมาทานถือไว้เป็นอย่างดี กอดรัดไว้ด้วยความโง่เรียกว่าอุปาทาน ถือไว้เป็นอย่างดีด้วยสติปัญญาเรียกว่าสมาทาน ถ้าจะมีศีลก็มีด้วยสมาทาน อย่ามีด้วยอุปาทาน เอาพระเครื่องมาแขวนคอก็อย่าทำด้วยอุปาทาน แต่ทำด้วยสมาทาน จะมีธรรมะอะไรขึ้นไปก็เหมือนกันแหละอย่ามีด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชา แต่ให้มีด้วยสมาทาน คือถือไว้เป็นอย่างดีด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ด้วยแสงสว่าง เรามีสัมมาทิฏฐิด้วยสมาทาน ไม่ใช่ด้วยอุปาทาน แล้วก็จะดับทุกข์ได้ ทีนี้ถ้าเป็นขั้นต่ำๆ สำหรับคนชั้นต้น ปุถุชนชั้นต้น สัมมาทิฏฐินั้นก็มีอยู่พวกหนึ่งให้ทำให้ถูกต้องอย่างที่ว่ามันมีตัวมีตนชั้นดี มีตัวมีตนอย่างดี แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิชั้นสูงสุดเลิกตัวเลิกตนกันเสียเลย สัมมาทิฏฐิชั้นแรกๆ เรียกว่าปุญฺญภาคิยา มีส่วนแห่งบุญ สตวา เป็นไปกับด้วยอาสวะนี่ สัมมาทิฏฐิเพื่อชาวบ้านทั่วไป คือเขาถือว่าบาปมีบุญมี ผลบุญผลบาปมี การบูชายัญมี บิดามารดามี โลกหน้ามี โลกอื่นมี นรกสวรรค์มี อะไรทำนองนี้ อย่างนี้สัมมาทิฏฐิขั้นต้น ขั้นปุถุชน ขั้นโลกียะ อยู่กันในโลกด้วยความคิดอย่างนี้ มีตัวตนที่ดีให้ได้ก็แล้วกัน อย่าไปมีตัวตนที่เลวเข้า ที่นี้พอถึงสัมมาทิฏฐิชั้นสูงก็กลายเป็นว่า รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร นี่ไม่มีตัวตน ไม่ต้องพูดเรื่องตัวตน มีแต่ความทุกข์เท่านั้นเป็นปัญหาอยู่และดับมันให้ได้เสีย กระทั่งรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในขั้นสูงด้วยเหมือนกัน จะไม่มีความคิดเห็นไปในทางมีตัวมีตน มีนั่นมีนี่ มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป จะเลิกหมดจะอยู่เหนือไปหมด สัมมาทิฏฐิชั้นต้นมีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสัตว์มีคน มีนรกมีสวรรค์ ก็มีไปอย่างสัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐาน พอสัมมาทิฏฐิขั้นสูงกว่าเป็นโลกุตตระเป็นอานาตวา ไม่เป็นอุปธิ ไม่มีอุปธิ แล้วก็เลิกไอ้สิ่งเหล่านั้นหมด ไปเป็นว่างจากตัวตนแบบปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ไม่ต้องมีตัวตน มีแต่การปรุงแต่งของธรรมชาติ แล้วจิตก็ไม่ยึดถืออะไร ก็เป็นนิพพาน นี่สัมมาทิฏฐิชั้นสูงเป็นอย่างนี้ แล้วสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์ของอริยมรรคก็คือสัมมาทิฏฐิชั้นสูง สัมมาทิฏฐิอย่างชาวบ้านนั้นไม่เอามารวมอยู่ในสัมมาทิฏฐินี้ สัมมาทิฏฐิในองค์อริยมรรคนี้เป็นชั้นสูง รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์ เรารู้กันไว้ว่าแม้แต่สัมมาทิฏฐิเห็นชอบนี้ก็ยังมี ๒ อย่าง ๒ ขั้น สัมมาทิฏฐิพวกแรกนี่เรื่องมีตัวมีตน มีบุญมีบาป มีดีมีชั่ว บุญบาป อย่างนี้ไม่ใช่ๆ องค์แห่งอริยมรรคหรอก เพราะมันยังมีตัวมีตน ยังไม่มุ่งต่อนิพพานโดยตรง คือไม่เป็นวิเวกนิสสิตัง วิราคะนิสสิตัง ไม่เป็นนิโรธะนิสสิตัง ไม่เป็นโวสสัคคะปริณามิง ยังไม่ได้ ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิที่เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นดับทุกข์ เห็นทางแห่งความดับทุกข์ จึงจะเป็นอย่างนี้ นี่เรื่องสัมมาทิฏฐิ ถ้ายังต่ำเป็นโลกิยะ มีอาสวะ นี่ก็ใช้แก้ปัญหาในโลก เมื่อสูงเป็นโลกุตตระ ไม่มีอาสวะมันก็จะไปนิพพาน นี่เรื่องของสัมมาทิฏฐิโดยย่อ
ทีนี้สัมมาสังกัปโป สังกัปปะนี้แปลว่าความปรารถนา ความต้องการ ความใฝ่ฝัน ความตริตรึกคิดนึก สังกัปโป อย่างพระเขาให้พรเมื่อทำบุญทำทานแล้ว สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา สังกัปปะของท่านจงเต็มเปี่ยมเหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญ คือความปรารถนานั่นเอง เราก็รู้จักปรารถนาให้ถูกต้อง ดำริ ปรารถนาให้ถูกต้อง อย่าให้ความปรารถนานั้นมันเป็นไปในทางจมไปในกาม หรือว่าเป็นไปในทางพยาบาทเบียดเบียนโดยเจตนา หรือว่าอย่าทำใครให้ลำบากด้วยความโง่เขลา การสร้างความยุ่งยากลำบากนี่ถ้าทำโดยเจตนาก็เรียกว่าพยาบาท โกธะ โทสะ แต่ถ้าทำไปด้วยความโง่เขลาก็เรียกว่าวิหิงสา เบียดเบียนด้วยโมหะ ระวังอย่าให้ความคิด ความปรารถนา ความต้องการของเรา มันพลัดไปในทางนี้คือทางกามารมณ์ ทางเจตนาเบียดเบียนและทางทำให้ผู้อื่นลำบากโดยไม่เจตนา นี่เรียกว่าเนกขัมมะสังกัปโป อัพยาปาทสังกัปโป อวิหิงสาสังกัปโป ท่องกันได้อยู่แล้วนะ
ที่นี้ก็มาถึงสัมมาวาจา วาจาถูกต้อง มีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาอยู่บ้างเหมือนกัน อย่าเอาง่ายๆๆ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ นี่มันก็ยังไม่พอหรอก เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ดังนั้นเรารู้เรื่องวาจาให้ดี ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น วาจานั้นมีที่จริงหรือไม่จริง นี่คู่หนึ่งนะ วาจาที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ นี่อย่างหนึ่ง วาจาที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ อีกคู่หนึ่ง และอีกคู่หนึ่งก็วาจาที่เหมาะแก่เวลาหรือไม่เหมาะแก่เวลา วาจาที่ไม่จริงเอาล่ะไม่พูด พูดแต่วาจาที่จริง จะพูดแต่วาจาที่จริง แต่ถ้ามันไม่มีประโยชน์ทำให้เขารำคาญ นั่งฟังเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์ใครจะฟังได้เท่าไร ใครจะทนฟังได้เท่าไร ดังนั้นถ้ามันจริงมันต้องมีประโยชน์ด้วย แล้วที่มันจะน่าฟังคือไพเราะหรือไม่ไพเราะนี่ก็ไม่แน่ บางทีมันไม่อาจจะไพเราะก็ได้ เรื่องจริงและมีประโยชน์มันไม่อาจจะไพเราะก็มีนะ เราก็ต้องดู ถ้าเราทำให้มันจริงด้วย มีประโยชน์ด้วย ไพเราะด้วยแล้ว วาจานี้ดีที่สุดเลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังดูให้เหมาะกับเวลา แม้ว่าดี ว่าจริง ว่าไพเราะ ว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าไม่เหมาะกับเวลาแล้วก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน ไปพูดในเวลาที่ไม่ควรจะพูด ไม่เหมาะแก่สถานการณ์ก็ไม่ควรจะพูด แม้ว่ามันจะจริง แล้วมันจะน่าฟัง หรือไพเราะ หรือว่ามันจะมีประโยชน์ แต่ถ้ามันไม่เหมาะแก่สถานการณ์แล้วก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ดังนั้นจึงมีส่วนที่จะต้องระมัดระวังอยู่ ๔ หัวข้อ ว่าจริง ว่าน่าฟังหรือไพเราะ แล้วก็มีประโยชน์ และก็ถูกแก่สถานการณ์แก่เวลา ถ้าทำได้อย่างนี้เรียกว่ามีสัมมาวาจา ที่แล้วๆ มาดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้ระวังให้ครบทั้ง ๔ ความหมายนี้ ไปสังเกตย้อนหลังดู ถ้ามันไม่ครบ ๔ ความหมายนี้แล้วก็ไปทำเสียใหม่ ถ้าเราสังเกตเห็นไอ้พูดในเวลาที่ไม่ควรพูดมันก็มีบ่อยนัก เพราะมันเป็นเรื่องของคนโม้ คนที่มันโม้มันก็พูดในเวลาที่ไม่ควรพูดแม้เรื่องนั้นจะจริงจะไพเราะจะมีประโยชน์
นี้ข้อถัดไปที่ว่าสัมมากัมมันโต มีการงานชอบ การงาน การกระทำทางกายถูกต้อง นี่ที่ระบุไว้ในพระบาลีก็ว่ามันไม่ประทุษร้ายการงาน การกระทำทางกายที่มันชอบ คือมันไม่ประทุษร้าย ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกายของใคร นี่ศีลข้อ ๑ ศีล ๕ ข้อ ๑ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของใคร นี่ศีล ๕ ข้อที่ ๒ ไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ของใคร นี่ศีล ๕ ข้อที่ ๓ อย่าประทุษร้ายชีวิตร่างกายใคร การงานนั้นชอบส่วนหนึ่งแล้ว อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของใคร อย่าประทุษร้ายของรักของใคร่ของใคร นี่เล็งในความหมายที่ว่าเป็นของรักของใคร่ ไม่ใช่เล็งไปในทรัพย์สมบัติ แต่ว่าทรัพย์สมบัติโดยมากบางอย่างมันก็เป็นของรักของใคร่ด้วยเหมือนกัน แต่ข้อ ๓ ที่ว่าของรักของใคร่นี้เล็งถึงไอ้เรื่องทางจิตใจทางกามารมณ์เรื่องเพศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการล่วงละเมิดของรักใคร่ชนิดนี้จับแยกออกมาจากล่วงละเมิดทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติเป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์ก็จริง แต่ว่ามันคนละอัน ถ้าไปล่วงละเมิดทรัพย์สมบัติก็ผิดศีลข้อ ๒ ถ้าไปล่วงละเมิดสิ่งเป็นที่รักทางกามารมณ์ก็เป็นข้อที่ ๓ ดังนั้นระวังการกระทำของเราอย่าให้ไปประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายหนึ่ง ต่อทรัพย์สมบัติหนึ่ง ต่อของรักใคร่ของผู้อื่นหนึ่ง ไม่ประทุษร้ายทางกายเรียกว่าสัมมากัมมันโต
ทีนี้สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ ดำรงชีวิตชอบ แต่ไปตามฐานะแห่งตนว่าเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวช เพราะว่าเขามีอาชีพกันคนละอย่างคนละระดับ นักบวชทำให้ถูกต้องอย่างนักบวช ซึ่งอาจจะไม่ผิดสำหรับชาวบ้านแต่ผิดสำหรับนักบวชอย่างนี้ก็มี เช่น ทำการค้าขาย อย่างนี้ชาวบ้านไม่ผิดอะไรหรอก แต่อย่าไปทำการค้าขายให้มันชนิดโกงก็แล้วกัน แต่นักบวชนี่ทำไม่ได้ ทำการค้าขายชนิดโกงหรือชนิดไม่โกงนี่ทำไม่ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะมันอยู่กันคนละชั้น ดังนั้นคำว่าอาชีพนี้จงกระทำให้ถูกต้องตามฐานะของตน ว่าเป็นฆราวาสหรือว่าเป็นนักบวช รายละเอียดมันมาก อาตมาจะไม่ต้องอธิบาย ถ้าเป็นชาวบ้านก็อย่าไปค้าขายชนิดที่มันเป็นบาปเป็นอกุศล ไปขายของที่ไม่ควรขาย หรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามเพื่อเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ถูกไม่ควร สรุปแล้วเป็นเรื่องคดโกงทั้งนั้น ไม่เลี้ยงชีพด้วยความคดโกง
ทีนี้สัมมาวายาโมคือพยายามชอบ วายามะก็คือคำว่าพยายามในภาษาไทย พยายามในภาษาไทยก็เรียกว่าวายามะในภาษาบาลี ก็เป็นอันว่าพยายามให้ถูกต้องอยู่เสมอในการละความชั่ว ในการป้องกันไม่ให้เกิดความชั่ว ละความชั่วที่เกิดแล้ว ทำให้ความดีเกิดขึ้น รักษาความดีที่เกิดแล้วนี้เป็นหลักใหญ่ ทั้งหมดนั้นให้เป็นไปเพื่อนิพพาน ไอ้ความเพียรอย่างนี้ต้องเป็นไปเพื่อนิพพานถึงจะมาอยู่ในองค์มรรค ธรรมดาๆ ยังไม่ถึงขนาด พยายามอยู่ที่จะละอกุศล ป้องกันไม่ให้เกิด แล้วก็สร้างกุศล และก็รักษาไว้ให้ดี ให้มันเป็นไปเพื่อนิพพาน เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธะ เพื่อวิราคะ วิเวกะ นิโรธะ เพื่อสละ
ทีนี้ก็สัมมาสติ คนเราต้องอยู่ด้วยสติ มีภาษาไทยคำหนึ่งซึ่งเป็นคำเดียวกับสติ แต่ออกเสียงมันจนฟังกันคนละคำไปเลยคือสมปฤดี ที่เป็นภาษาบาลีก็เรียกว่าสติ แต่ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตเขาเรียกสัมฤาติ ไอ้คำว่าสัมฤาติในภาษาสันสกฤตมันเป็นภาษาไทยว่าสมปฤดี ก็คือสตินั่นเอง เราต้องมีสมปฤดีหรือสติชอบที่ถูกต้อง ถ้าสติหรือสมปฤดีผิดเสียแล้วมันก็ผิด ก็ยุ่ง ก็เสียหาย ดังนั้นให้มีสติหรือสัมฤาติถูก คำว่าถูกในทีนี้ก็คือถูกต้องในการกระทำทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องต้องมีสติกระทำ หรือแม้ว่ามันไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มันอยู่ในฐานะที่ต้องเกี่ยวข้อง คือมีอยู่ทั่วๆ ไปก็ต้องมีสติเข้าไปเกี่ยวข้องให้มันถูกต้อง ในบาลีแท้ๆ ก็ระบุเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย อะไรๆ ที่เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายก็ดี ลมหายใจก็ดี นี้เรียกว่าร่างกาย เราต้องมีสติ ทำอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายให้ถูกต้องไว้เสมอ แล้วมีสติเกี่ยวข้องกับเวทนาคือรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอุเบกขา อย่างถูกต้อง แล้วก็มีสติเกี่ยวข้องกับจิต จิตจะเปลี่ยนแปลงจะปรุงแต่งอย่างไรก็มีสติเกี่ยวกับจิตให้ถูกต้อง และมีสติเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงหรือธรรมนั้นอย่างถูกต้อง นี่เขาเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นชั้นสูงก็มันก็จะมีรูปแบบที่เป็นไปเพื่อละกิเลสไปนิพพานโดยตรง แต่ถ้าเป็นเรื่องของชาวบ้านนี่ก็เรื่องของร่างกายก็ดี เรื่องของเวทนาเกิดขึ้นในใจก็ดี เรื่องตัวจิตนั้นเองก็ดี เรื่องสิ่งต่างๆ รอบตัวเราก็ดี มีสติเกี่ยวข้องกับมันให้ถูกต้อง อย่าให้เราเป็นฝ่ายโง่ อย่าให้เราเป็นฝ่ายหลงใหล เข้าไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว นี่สติถูกต้องมันก็เป็นอย่างนี้ ที่ละเอียดกว่านี้ก็เป็นเรื่องในภายในล้วน มีเวทนาเกิดขึ้น มีสัญญาเกิดขึ้น มีวิตกเกิดขึ้น มีวิจารณ์เกิดขึ้นในใจนี่ มีสติจัดการกับมันให้ถูกต้องอย่าให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ก็จะเรียกว่าสัมมาสติ มีสติอยู่อย่างถูกต้อง มีสมปฤดีถูกต้อง รู้ได้โดยเยือกเย็นอยู่เสมอ พอไม่ถูกต้องร้อนเป็นไฟทันที
นี่ข้อสุดท้ายสัมมาสมาธิ พระพุทธภาษิตจำกัดความไว้ดีมาก แต่คงจะเข้าใจยากสำหรับชาวบ้าน ลองจำดูทีไหมว่าเอกัคคตาจิต เอกัคคตาจิต ฟังไม่ถูกแล้วใช่ไหม ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านพูดสั้นๆ เท่านี้แหละ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ นั่นคือสัมมาสมาธิ เอกัคคตาจิตแปลว่าจิตที่มีจุดสูงสุดอยู่จุดเดียว เอกะแปลว่าหนึ่ง อัคคะแปลว่ายอด ตาแปลว่าความ จิตแปลว่าจิต จิตมีความสุดยอดอยู่ที่สิ่งเดียว อะไรเอามาสำหรับจิตกำหนดไว้สิ่งเดียวและกำหนดได้แล้วจิตนั้นเรียกว่าเอกัคคตาจิต คือจิตเอาพระนิพพานมากำหนดเป็นอารมณ์ของจิต ก็มีนิพพานสิ่งเดียวเป็นอารมณ์ของจิต เป็นเอกัคคตาจิต มีธรรมะสิ่งเดียวเป็นอารมณ์และก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ นี่คือสัมมาสมาธิที่เป็นองค์ประกอบของอัฏฐังคิกมรรค ทีนี้สมาธิที่ต่ำลงไปกว่านั้นก็มีมาก มีมากเหมือนกันเป็นเรื่องปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน คือแม้แต่พอเริ่มทำสมาธิกำหนดอะไรก็ได้ก็เรียกว่าสมาธิเหมือนกัน แต่ถ้าเราดูไม่เป็นเราจะดูไม่ออก จะเห็นไปว่ามีอย่างนั้นมีอย่างนี้มีอารมณ์ต่างๆ แปลกๆ กันไป แต่ถ้าดูเป็นเราจะเห็นว่าไอ้ที่ทำไปนี้กำหนดหมายปลายทางเป็นพระนิพพานกันทั้งนั้น ถ้าจะเป็นสมาธิจริงแม้ในขั้นต่ำๆ ยังไม่เป็นสัมมาสมาธิ ก็ต้องว่าให้มันมีนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง จะทำสมาธิชนิดไหน ต่ำอย่างไร ก็ขอให้มันได้ความว่าต่อไปนี้มันมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่นิพพาน เมื่อทำสมาธิสำเร็จสูงขึ้นมาๆๆ ไอ้ความมีนิพพานเป็นอารมณ์มันเข้มข้นขึ้น ชัดเจนขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น จนเห็นได้ชัดว่ามุ่งต่อพระนิพพานคือความว่างไปจากกิเลส เอกัคคตาจิตนั้นมุ่งต่อความว่างจากกิเลสเป็นอารมณ์ ดังนั้นลองไปมุ่งความว่างจากกิเลสเป็นอารมณ์ ทำจิตให้แน่วแน่อยู่ที่นั่น นั่นแหละคือสัมมาสมาธิโดยสมบูรณ์ ทำไปได้ถึงขั้นหนึ่งก็เรียกว่าปฐมฌาน ทำไปได้ถึงขั้นหนึ่งก็เรียกว่าทุติยฌาน ทำสูงขึ้นไปเรียกว่าตติยฌาน ทำสูงขึ้นไปเรียกว่าจตุตถฌาน สูงขึ้นไปเป็นอรูปฌาน นั้นก็มีอีก ๔ กว่าจะถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ล้วนแต่เป็นเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ทั้งนั้น เรามีความว่างจากกิเลสเป็นจุดหมาย กำหนดสติให้เกาะอยู่ที่นั่น ให้จับฉวยอยู่ที่นั่น นั่นเรียกว่าเอกัคคตาจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ อันนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ นี่จะตัดกิเลสจะเป็นเหมือนกองทัพหลวงที่จะฟาดฟันข้าศึกด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิชนิดนี้ นอกนั้นเป็นอุปกรณ์ เป็นบริวาร ก็เลยเรียกว่าสัมมาสมาธิมีบริฐาน ๗ มีบริวาร ๗ สัมมาสมาธิมีบริวาร ๗ คือตัวสัมมาสมาธิแสดงบทบาทเต็มที่ และสัมมาๆๆ อะไรอีก ๗ อันข้างต้นนั้นเป็นบริวารประกอบ แต่แล้วเขาก็ทำงานร่วมกันแหละ เหมือนกับที่ว่ามาเมื่อสักครู่นี้ เราต้องมีทัพหลวง ทัพหน้า กองสอดแนม ทัพหนุน กองเสบียง กองช่าง กองอะไรก็ตาม มันเป็นบริวารของไอ้ทัพหลวงที่จะทำลายข้าศึก ซึ่งในที่นี้ได้แก่สัมมาสมาธิ
นี่เรียกว่าเรารู้จักองค์แห่งมรรค ๘ องค์โดยใจความแล้ว ให้ทั้ง ๘ องค์รวมเข้าเป็นอันเดียวกันก็เป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ต่อเมื่อมันถูกต้องอย่างนี้นะ แล้วมันรวมกันอย่างนี้นะ จึงจะได้ชื่ออันไพเราะว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ อัฏฐังคิกมรรค อัฏฐังคิกมรรคหรือว่าอัษฎางคิกมรรค ถ้าเราชอบภาษาสันสกฤต เราใช้ชื่อว่า อัษฎางคิกมรรค คัมภีร์เทศน์เก่าๆ จะเรียกว่าอัษฎางคิกมรรค เขียนเป็นแบบสันสกฤต เป็นบาลีตรงๆ ก็เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค เป็นไทยก็ว่ามรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐ เอาองค์ ๘ เหล่านี้ไปพิจารณาดู ทำให้ดีเต็มที่และทำงานพร้อมกันร่วมกัน เพื่อจะฆ่าข้าศึกคือกิเลสเสีย ทำพระนิพพานให้ปรากฏออกมา นี่คืออัฏฐังคิกมรรค เป็นทางเดินของชีวิต เดินอยู่ข้างในโดยขาไม่ต้องก้าว คงจะฟังออกแล้วกระมังว่าเดินโดยขาไม่ต้องก้าว เหมือนนาฬิกาเดิน เรือนไม่ต้องเคลื่อน แต่ข้างในมันก็เดินเรื่อยไป อริยะแปลว่าประเสริฐ เพราะว่าสิ้นข้าศึกคือกิเลส มีค่าสูงสุด ได้ความหรือยังว่าชีวิตเป็นการเดินทาง ชีวิตที่ถูกต้องเป็นการเดินทางไปยังพระนิพพาน ชีวิตที่ไม่ถูกต้องก็เดินไปหาอะไรตามใจเถอะของความที่มันไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามันมีความถูกต้องมันจะเดินไปหานิพพาน ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่โดยธรรมชาตินะ คุณอย่ามองข้ามในขั้นพื้นฐาน evolution ชีวิตหรือ evolution มันเป็นการเปลี่ยนเรื่อยเคลื่อนเรื่อย เป็นการเดินทางอยู่เรื่อยเลย แต่มันไม่รับประกันว่าจะเดินถูกนะ ถึงเจ้าของชีวิตนั่นแหละจะต้องช่วยทำให้มันเดินถูก ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องนี้ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติไอ้วิวัฒนาการมันก็ไม่แน่ว่าจะถูกอย่างจะถูกที่สุด ถูกที่สุดอย่างนี้แล้วก็เพียงว่ารอดชีวิตอยู่ได้ แล้วก็ไม่รับรองว่าจะเป็นทุกข์หรือเป็นสุข จะมีชีวิตรอดอยู่ได้เหมือนตกนรกทั้งเป็นมันก็ได้ เพราะโดยวิวัฒนาการให้มีหน้าที่เพียงทำให้รอด แต่โดยธรรมะแล้วเราต้องให้รอดอยู่ด้วยการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้ กระแสวิวัฒนาการล้วนๆ ก็เท่ากับการปล่อยไปตามบุญตามกรรมโดยที่มันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีจนบัดนี้ ครูบาอาจารย์ก็เคยเรียน biology เรียนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว แล้วมันมาอย่างไร มันจากความไม่มีอะไรมาเป็นสัตว์เซลล์เดียว มาเป็นสัตว์ สัตว์เป็นมนุษย์ เป็นอะไรขึ้นมานี่ มันก็ได้เท่านี้มันไม่มากไปกว่านี้ ไปตามบุญตามกรรม เดี๋ยวนี้ไอ้สัตว์ที่มีสติปัญญาแบบมนุษย์นี่ควรจะได้ดีกว่านั้น คือเมื่อรู้ว่าเมื่อรอดชีวิตอยู่ได้แล้วควรจะได้อะไรบ้าง ก็ได้พระนิพพานไง ได้จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน วิวัฒนาการตามธรรมชาติมันเพียงแต่รอดอยู่ได้ มันอาจจะรอดอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานก็ได้คือไม่มีนิพพาน หรือว่าจะมีนิพพานตามธรรมชาติสลับอยู่บ้างก็ยังดี นั่นแหละมันจึงรอดอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นมันตายหมดแล้วแหละ ไอ้คนที่ไม่มีความว่างจากกิเลสเข้ามาแทรกแซงเลยมันเป็นโรคประสาทหรือมันตายหมดแล้ว นี่พระนิพพานตามธรรมชาติก็เข้าไปแทรกแซงอยู่ตามสมควร เราจึงรอดอยู่ได้ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นโรคจิต ไม่ต้องตาย ดังนั้นทางจิตนี่ การเดินทางในทางจิตนี่ต้องช่วย ต้องช่วยธรรมชาติ และก็โดยวิชาธรรมชาติชั้นสูงเรื่องพระนิพพานมาจัดให้ชีวิตนี้เดินถูกทางด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี่พูดอย่างเทศน์ คำเทศน์ก็ต้องว่าอย่างนี้ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เป็นอาทิ มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือลักษณะอย่างนี้ เป็นทางเดินของชีวิตและก็เดิน ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ควรจะถามตัวเองให้มันแน่เสียก่อนว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าดีที่สุดของมนุษย์นั้นคืออะไร พวกพุทธบริษัททั้งหลายเขาถือว่านิพพาน เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรามีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กลับไปคิดดูให้ดี เราควรจะเห็นด้วยในเรื่องที่มันถูกต้อง แล้วเราก็จะได้ไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้าเรามีความโง่เขลาขัดแย้ง ไม่มีโอกาสที่จะมาเดินให้ถูกทาง หรือได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ดังนั้นเราต้องมีการเดินทางที่ถูกต้อง ไม่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ต้องบิดพลิ้ว ใครอยากจะหลีกเลี่ยงใครอยากจะบิดพลิ้ว เอาประชาธิปไตยก็ยอมให้ได้ ใครจะไปบังคับใครได้ ใครอยากจะหลีกเลี่ยง อยากจะบิดพลิ้ว ไม่อยากจะเดินไปทางนิพพานก็ได้เหมือนกัน สมัยนี้ไม่มีการบังคับ ปล่อยตามพอใจ เขาถือว่าเขามีเสรีภาพ มีอิสรภาพ เขาชอบอย่างไรเขาก็จะเอาอย่างนั้น ก็ได้เหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าไอ้การที่จะเอาอย่างนั้นมันเอาด้วยความโง่หรือเอาด้วยความฉลาด เอาด้วยวิชชาหรือเอาด้วยอวิชชา เอาด้วยสัมมาทิฏฐิหรือเอาด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไปคิดดูให้ดี ในที่สุดจะต้องให้มันเป็นการเอาหรือกระทำด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยปัญญา ด้วยวิชชาที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐินั่นเอง นี่เรียกว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน อริยอัฏฐังคิกมรรคคือการเดินทาง เราพูดกันมา ๓ คราวน่าจะได้ความว่าอย่างนี้ ครั้งแรกให้เห็นว่าชีวิตหรือธรรมะนั้นมันเป็นสิ่งที่เดินทางแล้วก็นิพพานเป็นปลายทาง แล้ววันนี้พูดถึงหนทางที่จะเดินไปสู่นิพพานนั้นเป็นอย่างไร ก็จะเห็นได้แล้วว่ามันเป็นเรื่องชีวิตไปทุกกระเบียดนิ้ว ไอ้ธรรมะนี่เป็นเรื่องชีวิตไปทุกกระเบียดนิ้ว ขอให้มองเห็น ขอให้มองเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่าไปเหมือนกับคนส่วนมาก ไม่เกี่ยวอะไรกับเราๆ ธรรมะไม่เกี่ยวอะไรกับเรา เราอยู่ในโลกนี้เราได้สิ่งที่เราต้องการก็พอแล้ว นี่เขาถือเสียอย่างนั้น เขาจึงไม่สนใจธรรมะ ไม่อยากจะสนใจ และเห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของเขา บางคนเขาจะถือว่าธรรมะเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของเขา เขาตัดออกไปเสีย เขาทำไปตามที่เขาต้องการ ในที่สุดโดยมากก็ไปนั่งร้องไห้อยู่ หรือว่าไปเป็นโรคประสาทให้อายแมวอยู่ทั่วไปหมด จนยานอนหลับขายไม่พอ ถ้ามันทิ้งธรรมะกันอย่างนี้ ขอให้จดจำหัวข้อไปให้ได้นะว่าชีวิตเป็นการเดินทาง พระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นการเดินทางหรือเป็นตัวหนทางเอียงลาดไปสู่พระนิพพานอยู่โดยธรรมชาติแล้ว หวังว่านักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย คงจะมีความรู้เรื่องนี้พอสมควรที่จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติส่วนตนหรือการสั่งสอนอบรมนักเรียน นักศึกษา ต่อไป
เอ้า, ขอบอกเป็นการแถมพกอีกข้อหนึ่ง พูดอย่างกระซิบๆ นะว่า เป็นการต่อหมาหางด้วน ต่อการศึกษาหมาหางด้วนให้สมบูรณ์ การศึกษามีแต่ให้เรียนหนังสือกับเรียนวิชชาชีพ เหมือนกับการศึกษาหมาหางด้วน แล้วความรู้เหล่านี้เป็นการต่อหางให้แก่การศึกษาให้มันหายหางด้วน ก็ได้เรียนกันทั้งหนังสือเรียน ทั้งอาชีพ แล้วเรียนทั้งธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจเพื่อให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ การศึกษามีลักษณะเหมือนหมาหางด้วนนี่น่าเกลียด หรือการศึกษามีลักษณะเหมือนพระเจดีย์ยอดด้วนก็ยังไม่สวยอยู่นั่นเอง ดังนั้นให้มันอย่าด้วนดีกว่า ก็ธรรมะนี่ ความรู้เรื่องธรรมะนี่จะช่วยให้หมดข้อบกพร่องเหล่านั้น ขอให้สนใจเอาเรื่องนี้ไปแจกจ่ายสั่งสอน การเป็นครูก็จะเป็นการทำบุญกุศลพร้อมกันไปในตัว ถ้าไม่ให้เรื่องนี้แล้วการเป็นครูมันก็ไม่มีความสูงสุดศักดิ์สิทธิ์อะไร มันจะกลายเป็นว่าหากินด้วยการสอนหนังสือไปวันหนึ่งๆ อย่างนี้ไม่น่าชื่นใจ การเป็นครูนี้เป็นการยกฐานะทางวิญญาณของคนในโลกให้สูงขึ้นๆ จนไม่มีใครมาให้เงินเดือนไหว เพราะว่าเราทำให้มันสูงเกินไป ก็ได้บุญ ได้กุศล ได้ความเป็นปูชนียบุคคลมาสู่ตน นี่ความเป็นครูอย่างนี้เรียกว่าเป็นครูเอาบุญ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาบุญ แต่ท่านไม่ต้องการบุญ ก็ทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ไอ้เรานี่จะเอาบุญเสียก่อนก็ได้ เป็นครูเอาบุญเอากุศลยิ่งไปกว่าที่จะเอาเพียงเงินเดือน เพราะเงินเดือนนั้นไว้ใจไม่ได้แหละ พาไปถลุงในอบายมุขกันหมดแหละ อย่าไปฝากไว้กับเงินเดือนเดี๋ยวมันไม่พอใช้ เป็นครูเอาบุญมันก็สนุกอยู่ที่การอบรมสั่งสอน ไม่ต้องใช้เงินเลยก็ได้ ชีวิตเป็นอยู่โดยไม่ต้องใช้เงินอะไรมากมาย มีความสุขดีกว่าชีวิตที่ใช้เงินมากมายในกองอบายมุข แล้วเป็นอันว่าการบรรยายในวันนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายด้วยความหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเดินทางกันทุกคน ขอยุติการบรรยาย