แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์นิสิตนักศึกษา เอ่อ, ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๓ นี้ จะพูดกันโดยหัวข้อว่า พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์ คือพูดถึงศาสนา ๒ ชนิด หรือจะกล่าวอีกทีหนึ่งก็คือ ศาสนาทั้งหมดนั่นแหละ ศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นน่ะ มันพอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ พวก เป็นพวกพุทธศาสตร์, พวกไสยศาสตร์
เราต้องการจะมี อ่า, ธรรมะ อ่า, กันทุกอิริยาบท มีความสุขกันทุกอิริยาบท มันก็มีปัญหาว่า จะมีได้อย่างไร จึงต้องเข้าใจ เอ่อ, ถึงสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ศาสนา กันเสียให้ทั่วถึง ให้ทั่วถึง ให้ละเอียดลออทั่วถึง ขอให้สนใจ ตั้งใจฟัง เพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ศาสนา อย่างทั่วถึง เรามักจะพูดกันว่าศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่ในเมืองไทยที่ถือพุทธศาสนาก็พูดกันอย่างนี้ แม้ที่เมืองอื่น ก็คงจะเอาความหมายอย่างเดียวกัน ว่าศาสนาคือคำสั่งสอนของพระศาสดา ถ้าอย่างนี้มันเด็ก เด็กมากทีเดียว เด็กมากทีเดียว ที่จะเอาศาสนาคือคำสั่งสอน เพราะว่าไอ้ตัวศาสนาแท้ๆนั่นมันไม่ใช่ตัวคำสั่งสอน มันตัวการปฏิบัติ ถ้าพูดภาษาพระพุทธเจ้า ท่านก็เรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ นั่นคือตัวศาสนา ไอ้พรหมจรรย์คือตัวการปฏิบัติโดยเฉพาะ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติเข้าแล้วนั่นเป็นตัวพรหมจรรย์ นั่นล่ะคือ ตัวศาสนา ไอ้ตัวคำสั่งสอนน่ะมันเป็นเปลือกนอก อยู่ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษ์อักษร มันก็เป็นไอ้เปลือกนอก ที่จะหุ้มห่อรักษาไว้ เราจงเข้าถึงหัวใจ ของคำว่า ศาสนา กันให้ดีๆ ว่าคือระบบการปฏิบัติ เป็นตัวหลัก แต่มันก็ต้องประกอบด้วย ไอ้, ความรู้หรือคำสั่งสอนที่เป็นความรู้ในเบื้องต้น มันจึงจะปฏิบัติถูก แล้วมันก็ประกอบไปด้วย ผลของการปฏิบัติ ในเบื้องปลาย ที่อยู่ตอนท้าย คือผลของการปฏิบัติ ก็มารวมเข้าด้วยกัน แต่ตัวเนื้อแท้ ตัวจริงของมันก็คือ ตัวการปฏิบัติ ดังนั้นจึงเกิดมีคำพูดขึ้นในเมืองไทยนี้ว่า มีศาสนาอยู่ ๓ ชั้น คือ ปริยัติศาสนา ศาสนาเรื่องเรียน ทางปริยัติ, ปฏิบัติศาสนา ก็เรียกว่าปฏิบัติโดยตรง, ปฏิเวทศาสนา คือผลของการปฏิบัติ อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ที่แท้มันสำคัญอยู่ที่ตรงกลาง คือตัวการปฏิบัติ ถ้ามันมีการปฏิบัติ แล้วก็จะเป็นตัวศาสนาขึ้นมา ถ้ามีแต่ตัวปริยัติมันก็ยังเหมือนกับ ข้าวเปลือกที่กินไม่ได้ ยังจะต้องทำกันอีกทีหนึ่ง ให้เป็นข้าวสาร ให้เป็นข้าวสุก ให้เป็นข้าวที่กินได้
ศาสนาคือตัวการปฏิบัติ เพื่อเกิดผลคือ การดับทุกข์ เราเรียนเรื่องการดับทุกข์ แล้วเราก็ปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์ แล้วเราก็ได้ผล อ่า, เป็น ความดับทุกข์
ทีนี้ก็ว่าจะไม่พูดกันแต่เฉพาะในภาษาไทย หรือในเมืองไทย เพราะว่าศาสนามีทั่วโลก ในความหมายไหน ในศาสนาทุกศาสนาในโลกเขามีในความหมายไหน มันก็บัญญัติต่างๆกันไป เอ่อ, ตาม ความต้องการ หรือหลักการของเขา แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีเท่าที่พิจารณามาตลอดเวลานานนี้ ไอ้คำว่า Religion, Religion เป็นภาษาฝรั่งที่ใช้หมายถึงศาสนานั่น คำนั้นใช้ได้ แต่ต้องตีความกันให้ถูกต้อง คือให้เพียงพอ เดี๋ยวนี้มันน่าหัว ที่ว่าพวกนักศึกษาฝรั่งนักปราชญ์ฝรั่งมาหาว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ Religion ไม่เป็น Religion ไม่อาจจะเป็น Religion เพราะว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า เขาว่าอย่างนั้น คำพูดอย่างนี้น่าหัวเราะมาก ถือเอาคำนี้เป็นหลักศึกษากันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ดีเหมือนกัน คำว่า Religion นั้นมันแปลว่าอะไร รากศัพท์มันอยู่ที่ คำว่า Leg, Leg หรือ Lig บางพวก แปลรากศัพท์ว่า ผูกพัน บางพวกว่า ปฏิบัติ ที่นี้บางพวกก็ถือเอาเสียทั้ง ๒ คำ ทั้ง ๒ ความหมายว่า การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด นี่ความหมายนี้ดีมากนะ จำให้ดีๆเถอะ ถ้าจะเข้าใจคำว่าศาสนา ในความหมายทั่วไปที่จะใช้กันทั้งโลก ระบบการปฏิบัติเพื่อให้เกิด การผูกพัน ระหว่างสิ่งสูง... ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด มนุษย์คือเรานี่ แล้วสิ่งสูงสุดน่ะ คืออะไร พวกที่มีพระเจ้าเขาก็ว่า พระเจ้า นี่ พวกนั้นเขายึดถือตามนั้นเกินไป ก็เลยว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Religion เพราะไม่มีพระเจ้า แต่ตามความหมายมันไม่ได้บอกว่าพระเจ้า มันบอกว่าสิ่งสูงสุด สิ่งสูงสุด เราก็มีสิ่งสูงสุด ความดับทุกข์สิ้นเชิงคือนิพพานน่ะสิ่งสูงสุด การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการผูกพันกัน คือถึงกันเข้า ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คือนิพพาน เมื่อถือความหมายอย่างนี้แล้ว พุทธศาสนานี่ก็เป็น Religion กับเขาด้วยเหมือนกัน หรืออีกความหมายหนึ่ง ถ้าจะเอาพระเจ้า เอาพระเจ้า กันก็เอ้า เอาสิ เราก็มีพระเจ้า เราก็มีพระเจ้าตามแบบของชาวพุทธ ซึ่งมิใช่บุคคล อืม, เป็นกฏของธรรมชาติสูงสุด สามารถสร้างจักรวาล ควบคุมจักรวาล เลิกล้างจักรวาล อย่างเดียวกับพระเจ้าของเขาแหละ แต่เรามิเป็นบุคคล มิได้เป็นบุคคล เป็นพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล ฉะนั้นขอให้ถือเป็นหลักไว้เลยว่า พระเจ้า พระเจ้า นั่นมี ๒ อย่าง พระเจ้าอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคล กับพระเจ้าที่มิได้เป็นบุคคล มิใช่สิ่งที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล แต่ว่าเป็นกฏของธรรมชาติ พระเจ้าอย่างบุคคลหรือมิใช่อย่างบุคคลนี้สามารถสร้างโลก สามารถควบคุมโลก สามารถเพิกถอนทำลายล้างโลก อย่างเดียวกัน ตามความหมายของคำว่า พระเจ้า พระเจ้าชนิดไหนก็ตาม พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม หรือว่าพระยะโฮวาห์ พระอะไรก็สุดแท้
เราเลยมีพระเจ้ากัน ๒ ชนิด ว่าอย่างบุคคล และมิใช่บุคคลเป็น Personal God กับ Impersonal God เรามีอย่าง Impersonal God ถ้า ถ้าพุทธศาสนาอยากจะมีพระเจ้ากับเขาบ้าง หรือเขาหาว่า ไม่มีพระเจ้าไม่ใช่ศาสนา เอ้า, เราก็มี เรามีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล ให้คำนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปตามเดิม ว่าระบบการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุดคือพระเจ้า แต่ว่าพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล
นี่มันออกจะวนเวียน แต่มันก็ไม่วนเวียนล่ะ ถ้าจับหลักได้มันก็ไม่วนเวียน ถ้าจับหลักไม่ได้ มันก็คงจะวนเวียน เดี๋ยวนี้ทำไมต้องไปพึ่งคำว่า Religion ล่ะ เพราะเป็นคำสากล ที่มันใช้กันทั่วโลก จะใช้คำว่าศาสนามันก็ใช้กันอยู่แต่ในเมืองไทย เอาคำว่า Religion เป็นหลักก็แล้วกัน Religion คือ การปฏิบัติ ที่ทำให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คือมนุษย์ได้ถึงสิ่งสูงสุด เพ่งเล็งถึงผลก็คือ ความสุข ในความหมายที่ชอบๆ ที่พอใจกันทุกคนน่ะ แต่ถ้าพุทธศาสนาเรามีสำนวนพูดว่า สิ้นสุดแห่งความทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เราจะไม่พูดว่า ความสุขหรอก เพราะความสุขนี้มันเป็นเหยื่อล่อ มันไม่ว่าง มันยังดึงดูด มันยังยั่วยวน มันยังมีปัญหา อย่าเอากับมันเลย ไอ้ความสุข เอา สิ้นสุดแห่งความทุกข์ดีกว่า คือนิพพาน นี่ศาสนาจะทำให้ เป็นอย่างนี้ ให้ได้รับผลอย่างนี้
ที่นี้พุทธศาสนาก็เป็น Religion กับเขาเหมือนกันสิ จะมองกันในแง่พระเจ้า ก็มีพระเจ้า หรือมองในแง่ความหมายกลางๆไม่เกี่ยวกับพระเจ้า มันก็ผูกพันกับสิ่งสูงสุด พุทธศาสนาก็เป็น Religion หรือเป็นศาสนา ในภาษาไทยของเราเรียกกันในภาษาไทยของเราก็ได้ แต่อย่าหมายเอาเพียงคำสั่งสอน ให้หมายถึงระบบการปฏิบัติ หรือตัวการปฏิบัติ เอ้า, ทีนี้มันก็มีหลายศาสนา หลายๆศาสนา มีระบอบการปฏิบัติต่างกันตามแบบของตน ของตน
ที่นี้เราดูพุทธศาสนามีระบบการปฏิบัติอย่างไร อ่า, สิ่งแรกที่สุด ที่ควรจะสนใจ หรือควรจะทำไว้ในใจ ให้แม่นยำก็ว่า พุทธศาสนา มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จะทะเยอเห่อ ไม่ใช่จะเห่อวิทยาศาสตร์ หรือจะอวดอะไรก็ไม่ใช่ บอกตามความเป็นจริงว่า พุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ และอันนี้จะรู้ไปถึง ความที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์ กำหนดไว้ให้ดีๆ ว่าพุทธศาสนามันเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็คือ ทำลงไปบนของจริง มีตัวจริง มีปัญหาจริงๆ มีวัตถุที่เป็นปัญหาจริงๆ เอามา แล้วก็จัดการลงไปบนสิ่งนั้น แยกแยะชำแรกแยกแยะอะไรกันไปให้มันถึงที่สุด ให้มันรู้ความจริง ให้มันรู้ต้นเหตุ แล้วมันก็แก้ไขที่ต้นเหตุ แล้วก็ได้ผลตามที่ต้องการ แล้วก็ทนต่อการพิสูจน์ทุกเมื่อ นี่ต้องๆๆ อ่า, ต้องพูดถึงด้วย ว่าจัดการลงไปกับสิ่งที่มีตัวตนจริง ไม่ใช่ไปจัดการกับ Hypothesis ซึ่งเป็นสมมติฐาน ซึ่งเป็นหลักทาง ไอ้ Philosophy ทาง Logic อย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเอามาใช้กับพุทธศาสนาก็บ้าเลย ไม่มีสมมติฐาน ไม่มีเรื่องสมมติฐาน มีเรื่องตัวจริงเอาตัวจริงมาจัดการลงไปที่นั่น ตามวิถีทางเหตุผล แล้วก็พิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้ จากทุกทิศทุกทาง นี่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ขอพูดซะเลยว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ Philosophy อืม, ไม่ใช่ Philosophy แต่เขาไปแปล Philosophy ว่าปรัชญามันลำบาก ตรงนี้ทำความเข้าใจกันเสียด้วยว่า ไอ้ Philosophy นั้นมันไม่ใช่ปรัชญา แต่เมืองไทยใช้คำนี้เป็นคำแปลของ Philosophy มาเสียแล้ว มันแก้ไม่ได้แล้ว ชาวอินเดียเขาต่อว่า ว่าโง่ คำว่าปรัชญานั่น แปลว่า ปัญญาที่ถึงขีดสุดสูงสุด Philosophy นั้นมันเป็นเพียงทัศนะ ทัศนะเท่านั้น Philosophy เป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆเท่านั้น ไม่อาจจะใช้คำว่า ปรัชญา นี่ถ้าถือตามหลักภาษาอินเดียน่ะมันเป็นอย่างนี้ ปรัชญาน่ะ คือรู้แจ้งแทงตลอดเห็นจริงเช่นเดียวกับ ปัญญาในพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าจะพูด ก็ต้องพูดว่า ปรัชญาอย่าง Philosophy ยุ่งยากรุงรัง ไม่ใช่ปรัชญาอย่างถูกต้องตามความหมายแท้จริงของคำว่า ปรัชญา ในที่นี้ก็ต้องขอใช้คำว่า Philosophy พุทธศาสนาไม่ใช่ Philosophy ไม่อาศัยสมมติฐาน ไม่คำนวณโดยวิธีอย่างนั้น ไม่ใช่ Logic แต่มันเป็นเรื่องที่ ใช้เหตุผลกันด้วยกันแหละ แต่มันไม่ใช่วิธีอย่าง Logic มันเหมือนกับผ่าตัด ผ่าแล่งลงไปบนของจริง มันไม่ใช่ Logic นี่พุทธศาสนาไม่ใช่ Philosophy แต่ว่าจะเอาไปพูดอย่าง Philosophy ก็ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ได้ เอาไปพูดอย่างให้มันเป็น Philosophy ก็ได้ เดี๋ยวนี้พวกฝรั่งเขาก็ชอบ ชอบให้พุทธศาสนาเป็น Philosophy พวกไทยไปตามก้นเขา ก็ใช้คำพุทธศาสนาเป็น Philosophy เรียน Philosophy ในพุทธศาสนา นี่มันไปตามก้นฝรั่งที่ไม่รู้ว่า ไอ้พุทธศาสนานั้นเป็นอะไร มันไม่อาจจะเป็น Philosophy ไม่อาจจะเป็น Logic หรือไม่อาจจะเป็นอะไรทำนองนั้น แต่ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ หรือจะพูดอีกทีหนึ่ง ใกล้เข้ามาหน่อย ก็คือว่า ตลอดเวลาที่มันยังไม่เห็นแจ้งเห็นจริงในตัวธรรมะ ในหลักธรรมะนั้นๆ ถูกแล้ว หลักธรรมะนั้นๆจะมีลักษณะเหมือนวิทยา...อ้า, เหมือนกับ Philosophy เหมือนกับทัศนะหนึ่งๆ เหมือนคุณมาแรกเรียนพุทธศาสนานี่ ไม่ ไม่เข้าถึงตัวจริงของมัน มันก็เคลิ้มๆคลับคล้ายคลับคลา ตั้งอยู่บนเหตุผล สมมติฐานทั้งนั้น ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่า ปรัชญา ก็ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท อันลึกซึ้ง ถ้าเพียงแต่ไปเรียนมันเข้ายังไม่เห็นแจ้งแทงตลอด ไม่ปฏิบัติได้แล้ว มันจะมีลักณะเป็น Philosophy ได้ แต่ถ้ามันเห็นแจ้งแทงตลอดบรรลุผล เช่นเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีความเป็น Philosophy เลย มันเป็นวิทยาศาสตร์โดยตรง ประสบผลของวิทยาศาตร์ เป็นปัญญาโดยประจักษ์ ชัดลงไปที่ตัวของมันและผลที่ได้รับ จากการปฏิบัตินั้น อย่างนี้ก็ควรจะ ควรจะรู้ไว้ด้วย ตลอดเวลาที่เรายังไม่เข้าถึงตัวธรรมะ มันจะมีลักษณะเหมือนกับ Philosophy มีลักษณะเป็นทัศนะหนึ่งๆๆๆ ถ้าว่ามันเข้าถึงตัวจริงแล้ว รู้แจ้งแทงตลอดจริงแล้ว มันจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นความรู้ ที่สมบูรณ์ คือเป็นปรัชญาหรือเป็นปัญญา ขึ้นมาได้ แต่ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วมันพ้นความเป็น Philosophy แล้ว
ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ชอบๆ คำว่า Philosophy เอ่อ, นั่นก็ระวังให้ดี อย่าได้ทำลายพุทธศาสนาเสียเลย Philosophy เป็นเพียงทัศนะที่ยังจะต้องเป็นไปตาม ไอ้ความโต้แย้ง เปลี่ยนแปลงอะไร มันไม่ใช่ปรัชญา อันเด็ดขาดดอก เอาละเป็นอันว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ Philosophy เมื่อยังเข้าไม่ถึง จึงจะมีลักษณะเป็น Philosophy ต้องใช้วิธี Philosophy ใช้วิธี Logic อะไรไปตามเรื่อง แต่พอเข้าถึงแล้วมัน มันเปลี่ยนเป็นปัญญา อันสมบูรณ์เห็นจริงประจักษ์ ในลักษณะที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราจะเห็นได้ง่ายถ้าศึกษาไอ้ตัวการปฏิบัตินั้นๆ โดยเฉพาะเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ไอ้เรื่อง อัฎฐังคิกมรรค ก็ดี จะเห็นลักษณะแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์โดยชัดแจ้ง
เอ้า, ทีนี้ก็จะดูกันต่อไปบาง...บางแง่บางมุม ว่าเป็น ปะ...เป็นจิตวิทยาไหม มันก็ตอบได้ทันทีว่า มันก็เป็นซิ เพราะมันเกี่ยวกับจิตนี่ มันเข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต แต่คำว่า จิตวิทยา นั้นมันมีความหมายกำกวม มันเรื่องจิตทั่วๆไป พุทธศาสนามันก็เกี่ยวกับจิตเหมือนกัน ก็เป็นจิตวิทยาได้ แต่มันไม่ใช่จิตวิทยาอย่างที่ เขามีๆกัน ไอ้จิตวิทยาท่ีเขามีๆกันในโลกนั่นน่ะ มันเป็นจิตวิทยาสำหรับจะล้วงกระเป๋าคนอื่น มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ของตน แต่ถ้าว่าเป็นจิตวิทยาของทางศาสนาแล้ว มันไม่ล้วงกระเป๋าใคร แต่มันจะให้ๆๆๆ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์และดับทุกข์ได้ นี่ดูเถิด คำว่าจิตวิทยานี่ มัน มันตลกอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเรียนจิตวิทยากันแต่จะล้วงกระเป๋าคนอื่นทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าดูกันอย่างบริสุทธิ์นะ คำว่า จิตวิทยา มันก็เกี่ยวกับพุทธศาสนาแหละ คือคำว่า จิตวิทยา นี้เราควรจะแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน จิตวิทยาตอนแรก ก็คือ รู้เรื่องจิต รู้เรื่องธรรมชาติของจิต ลักษณะของจิต อะไรๆๆทุกอย่างที่เกี่ยวกับจิต ว่ามีธรรมชาติเป็นอย่างไร อันนี้ตอนหนึ่ง ที่นี้ก็มาถึงตอนที่ว่าจะใช้จิตนั้น ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร นี่เราก็ใช้จิตนั้นให้เป็นประโยชน์ ในการที่จะดับทุกข์นี่ พุทธศาสนาก็มีเรียน เรียนจิตวิทยา ในลักษณะอย่างนี้ เรียนเรื่องจิต ว่าจิตเป็นอย่างไรๆๆ จะบังคับมันอย่างไร อะไรมันอย่างไร แล้วก็มาเรียนว่า มันจะใช้จิตให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร คือว่าจะให้มัน สลัดความทุกข์ออกไป ทำจิตให้เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกที่เป็นสุข นี่อีกตอนหนึ่ง ถ้าอย่างนี้ก็พุทธศาสนา ก็เป็นจิตวิทยาได้ แต่ไม่ใช่เป็นจิตวิทยาชนิดที่พร้อมจะล้วงกระเป๋าใคร นี่ ก็จำกันไว้อย่างนี้ ถ้าอยากให้พุทธศาสนาเป็นจิตวิทยา
เอาล่ะทีนี้ก็มาดูกันให้กว้างให้ทั่วๆไป ว่ามันเป็น ตัวพุทธศาสนาที่ตรงไหน กลัวว่าจะไปถูกเปลือกเข้า เปลือกของศาสนา โดยมากเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่า พูดหยาบคาย ย่ำยี ดูถูกดูหมิ่นใคร ก็คือว่าโดยมากน่ะ มันไปจับเอาเปลือก ของศาสนา ไม่ถูกตัวของศาสนา ในโรงเรียนของพวกคุณน่ะ มันก็สอนกันแต่เรื่อง ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล เข้าไปอยู่ในหลักสูตร นั่นเปลือกทั้งนั้นแหละ มันเปลือกของศาสนาทั้งนั้นแหละ ไอ้ตัวศาสนามันตัวการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้โดยตรง พิธีต่างๆทางศาสนามันเป็นเปลือก เปลือกนอก หุ้มห่อรักษา และบุคคล ศาสนบุคคลอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นตัวบุคคล เป็นเจ้าหน้าที่เป็นอะไรไปตามเรื่อง เป็นผู้ทำพิธีมากกว่า แล้วศาสนสถาน ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เช่น วัดวาอาราม เช่นอะไรต่างๆ เป็นศาสนวัตถุ เป็นศาสนสถาน นี้มันก็เป็นเปลือก ของศาสนาเพราะว่าไอ้ตัวแท้ของศาสนา คือระบบการปฏิบัติ ที่ดับทุกข์ได้โดยตรง
ดีไหม ที่เราเรียนกันแต่เรื่องเปลือก แล้วก็สนใจกันแต่เรื่องเปลือก กวดขันกันแต่เรื่องเปลือก ไม่สนใจที่จะเข้าไปถึงหัวใจตัวแท้ของศาสนา คือตัวการปฏิบัติลงไปตรงๆ ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ให้มันเกิดการเปลื่ยนแปลง จากความมืด ความหลง ความโง่ มาเป็นแสงสว่าง ดับทุกข์ได้ นี่เป็นตัวแท้ของศาสนา การดับทุกข์ได้ นั่นน่ะ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็น มีตัวแท้ของศาสนา เรียกว่า วิมุติ หลุดพ้น ดับทุกข์ได้นั่น เป็นเครื่องพิสูจน์ศาสนาตัวแท้ ได้มีแล้ว ได้มีจริงๆแล้ว ไม่ใช่เปลือกแล้ว ถ้ามันมีผลทางความดับทุกข์ได้ ฉะนั้นก็ขอให้สนใจกันที่ตรงนี้สิ ก็จะพบไอ้ตัวแท้ของศาสนา คือตัวการดับทุกข์
ที่นี้เพื่อจะให้มันง่ายขึ้น เราก็จะลอง เหลือบตามองดูกันไปให้ทั่วถึง ถึง เอ่อ, วิวัฒนาการ ของสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ศาสนา มันมีขึ้นมาอย่างไร เมื่อมนุษย์ยังโง่เง่า ยังเหมือน ยังเป็นคนป่าไม่รู้อะไร มันก็ไม่มีอะไร มันก็ไม่มีความเจริญอะไร ที่เรียกว่า ไม่มีวัฒนธรรม ไอ้ความรู้เรื่องศาสนา ก็เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่ง อันหนึ่งในวัฒนธรรมทั้งหลายของมนุษย์ มนุษย์เริ่มรู้สึกคิดนึก เพื่อทำจิตใจให้สบาย เพราะว่าเขามีความหวาดกลัว คนป่า ป่ามากๆ อย่างนั้นน่ะ มันมีความหวาดกลัว แล้วมันก็มีความคิดว่า ทำอย่างไร จะบรรเทาความกลัว จะหายความกลัว ไอ้คนที่มีสติปัญญาคิดนึกได้บ้าง ไม่โง่ซะทีเดียว มันก็คิดไป คิดไป มันก็พบ พบไปตามที่มันจะคิดได้ มันก็เกิดความคิด เห็นว่ามีสิ่งพิเศษศักดิ์สิทธ์น่ะ ที่เราควรจะกลัว เราควรจะขอร้องบูชาอ้อนวอน ไอ้สิ่งแรกที่สุดก็คือ ธรรมชาติที่น่ากลัว เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าฝ่า คลื่นลมพายุ อะไรต่างๆนี่ อันนี้มันน่ากลัว ถือกันไว้ทีก่อน แล้วมันก็เลื่อนไป จนถึงไอ้ที่ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหญ้าบอนอันศักดิ์สืทธิ์ ถ้าอ่านเรื่องเก่าๆ แล้วจะพบไอ้ต้นหญ้า ต้นบอน เช่น ต้นตุลสิ ต้นกะเพรา อย่างนี้ เคยตั้งอยู่ในฐานะเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ บูชาอ้อนวอนให้ช่วยเหลือเหมือนกันน่ะ ลองไปอ่าน อ่านเรื่อง เวสสันดรชาดก ไอ้ตอนที่ชาลีกัณหา ถูกชูชกพาไป บนบานอ้อนวอนขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ในนั้นมีคำว่า ต้นกะเพรารวมอยู่ด้วย นั้นสะดุดตาเป็นที่สุดเลย ก็แปลว่าถือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งหญ้าบอน แล้วกระทั่งสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และอะไรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเข้าใจไม่ได้ กระทั่งว่ามีผี อยู่ในสิ่งเหล่านั้น กระทั่งว่ามี เทวดาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น กระทั่งวิวัฒนาการเป็นจอมเทวดา เป็นพระเป็นเจ้าอะไรขึ้นมา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่วัฒนะ...วิวัฒนาการของศาสนา ในวัฒนธรรมของมนุษย์น่ะมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ จนกว่าจะมาถึงพุทธศาสนา ที่มีการค้นคว้าในภายใน ถือเหตุปัจจัยในภายใน รู้จักปัญญาชนิดที่รู้แจ้งแทงตลอดสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ดับความกลัวเหล่านั้นได้สิ้นเชิง ดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง มาอยู่ในรูปของพุทธศาสนา อย่างที่เรามีๆกันอยู่นี่ มันจะเป็นยอดสุดแล้ว รู้ไว้เป็นแนว ทีเดียวตลอดตั้งแต่ต่ำสุดขึ้นมาจนถึงสูงสุด ก็จะเข้าใจไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ได้ดีขึ้น
เอ้า, ทีนี้ก็ดูกันในเง่ต่อไปว่า ประเภท ประเภทหรือชนิด ของศาสนาน่ะ มันมีอย่างไร เท่าที่มันจะยุติกันได้ ในปัจจุบันนี้โดยหลักวิชา เป็นหลักวิชาเป็นวิชาการ หรือหลักวิชาการยุติ ว่าศาสนาในโลกปัจจุบันนี้ พอที่จะบอก...แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท มันจะมีกี่ศาสนา กี่สิบศาสนาก็ตามใจ มันมาสรุปรวมกันเข้าได้แล้วก็จะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท
ศาสนาประเภทที่ ๑ นั้นมีหลักว่า มีผู้สร้าง คือพระเจ้า มีผู้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา สิ่งต่างๆเป็นไปตามอำนาจผู้สร้าง แล้วเคารพผู้สร้าง บูชาผู้สร้าง อ้อนวอนผู้สร้าง บวงสรวงผู้สร้าง พิธีปฏิบัติมันจึงเป็นเรื่องอ้อนวอนบวงสรวงไป นี่ศาสนาที่ถือว่ามีผู้สร้าง ถ้าเรียกเป็นภาษา อ่า, วิชาการว่า Creationist , Creation Creation นี่คือการสร้าง Creationist คือผู้ที่เชื่อหรือถือว่ามีการสร้าง ศาสนาประเภทนี้จะมีกี่ศาสนาก็จัดเป็นพวก Creationist ทั้งนั้น
ที่นี้อีกพวกหนึ่งไม่เชื่ออย่างนั้นเด็ดขาด ถือว่ามันเป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ เป็นการวิวัฒนาการมาโดยธรรมชาติ ตามกฏของธรรมชาติ คือสากลจักรวาลน่ะไม่มีใครสร้าง ไม่มีมนุษย์สร้าง ไม่มีคนผู้สร้าง แต่มันเป็นวิวัฒนาการมาตามกฏของธรรมชาติ พวกนี้ก็ได้ชื่อในทางวิชาการว่า Evolutionist Evolution , Evolution ก็คือวิวัฒนาการ พวกที่เชื่อว่า สิ่งทั้งปวงจักรวาลทั้งปวง เป็นเพียงวิวัฒนาการ ของธรรมชาติ นี่ก็มีอยู่พวกนี้ เรียกว่า Evolutionist
ศาสนาเลย จึงมี ๒ ประเภทเท่านั้นแหละ ทั้งโลกเลย ประเภทที่เชื่อว่ามีผู้สร้างเป็น Creationist ประเภทว่าวิวัฒนาการโดยธรรมชาติเป็น Evolutionist พุทธศาสนาเราอยู่ในประเภทหลัง ประเภท Evolutionist ไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง แต่ถ้าจะเกณฑ์ให้กฎของธรรมชาติหรือวิ...วิวัฒนาการ มี...มีอยู่ใต้อำนาจของอะไร ก็เราก็จะพูดว่าอยู่ใต้อำนาจของ กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติบันดาลให้เกิดขึ้นหรือเป็นไป ไม่ใช่พระเจ้าอย่างบุคคล นี่มาพูดกันตรงๆแล้ว พุทธศานาก็เป็น Evolutionist ไม่อาจจะเป็น Creationist เว้นไว้แต่เราจะ อธิบายให้มันญาติดีกันเป็นเกลอกัน เราก็ว่ากฎของธรรมชาติน่ะสร้าง ไม่ใช่พระเจ้าอย่างบุคคลสร้าง นี้รู้กันไว้ ถ้าใครยังเชื่อว่า มันมีอะไรสร้างจักรวาลนี้ แล้วก็ คนนั้นไม่ได้พุทธศาสนาแล้ว เป็น เป็นถือศาสนาอื่น ศาสนาที่เป็นมีพระเจ้าสร้างเป็น Creationist ถ้าจะเป็นพุทธกันโดยถูกต้องแล้ว ก็เป็นวิวัฒนาการที่เป็นมาเอง นี่เป็นมาเอง เรามีหลักง่ายๆอย่างนี้ ก็จำไว้เป็นหลักง่ายๆอย่างนี้ ก็ใช้ตัดสินได้ อ่า, ทุกเมื่อเป็น Creationist หรือ เป็น Evolutionist พวกหนึ่งว่าพระเจ้าสร้าง, พวกหนึ่งว่าวิวัฒนาการของธรรมชาติ
เอ้า, ทีนี้ก็อยากดูกันในแง่อื่นบ้าง นั่นเราดูกันในแง่ผู้สร้าง ที่เขาจัดศึกษากันในโลก ทีนี้จะมาดูในภายใน ศาสนาโดยเฉพาะในเอเซียในอินเเดียนี่ มันยังจะมีกล่าวได้ว่า มีศาสนาอยู่ ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ เชื่อว่ารอดได้เพราะ ศรัทธา ประเภทที่ ๒ เชื่อว่ารอดได้เพราะ วิริยะ ประเภทที่ ๓ ว่ารอดได้เพราะ ปัญญา รอดได้เพราะ ศรัทธานั้น เชื่อๆๆๆ มันก็รอดไปตามแบบความเชื่อ เช่นว่าเป็นทุกข์ขึ้นมา มีความทุกข์ขึ้นมา ก็มีศรัทธาเชื่อแน่ว่า พระเจ้าต้องการให้เป็นอย่างนั้น ก็ดีแล้ว เป็นเรื่องของพระเจ้า ก็เลยไม่เป็นทุกข์ เพราะศรัทธาในพระเจ้า เอาศรัทธาความเชื่อนั้นมากลบเกลื่อนความทุกข์เสีย เชื่อเสียว่า มันเป็นอย่างนั้น โดยอำนาจของพระเจ้า เป็นความประสงค์ของพระเจ้า ศรัทธาในพระเจ้า กลบเกลื่อนความทุกข์ไว้โดยศรัทธา หรือว่ามันเชื่อๆๆอย่างยิ่งกว่าหลับหูหลับตาล่ะ มันเชื่อว่า ยิ่งถึงที่สุด ไอ้ความเชื่อมันก็ปกปิด ไอ้, ความคิดอื่นๆหมด เลยไม่กลัว ไม่เป็นทุกข์ ไม่อะไรได้เหมือนกัน พวกนี้เขามีอยู่พวกหนึ่ง ที่นี้พวกหนึ่ง อ่า, ใช้ วิริยะ วิริยะคำนี้แปลว่า กำลังงาน อ่า, ของจิต เขาก็ใช้กำลังของจิตน่ะ กลบเกลื่อนความทุกข์เสีย เช่นว่า บังคับจิตให้คิดอย่างนี้เสีย ไม่ให้คิดอย่างนั้น ซึ่งเป็นทุกข์ เช่นว่า มาอยู่ในสมาธิเสีย มาอยู่ในรูปฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน พวกฌานก็แล้วกัน เข้าฌานเสีย บังคับไว้ด้วยฌาน ความทุกข์ก็ปรากฎไม่ได้ สูงหรือละเอียดไปกว่านั้นอีกเป็น อรูปฌาน อรูปฌาน เอาสิ่งที่ไม่มา...ไม่มีรูป มาเป็นอารมณ์ของสมาธิ มันยิ่งละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก มันยิ่งข่มขี่ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก เป็นอรูปฌาน เป็น อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิจจัญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่สูงสุดเพียงแค่นั้น พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้เคยไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ คนที่สอน เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำจิตเข้าไปอยู่ในสภาพ ที่เหมือนกับว่าตายก็ไม่ใช่ ไม่ตายก็ไม่ใช่ คือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อยู่ในสภาพอย่างนั้นเสีย ก็ปิดกั้นความรู้สึกที่เป็นทุกข์หมด แล้วเขาก็เชื่อว่าเท่านั้นเอง มีเท่านั้นเอง นี่พวกสูงสุดของไอ้พวก วิริยาธิกะ พระพุทธเจ้าเคยไปศึกษาแล้วสั่นพระเศียรไม่เอาไม่เอา ไปหาของพระองค์ จึงไปพบ ไอ้ชนิดที่ว่า มันเป็นปัญญาธิกะ ตามแบบของพระองค์เอง มีปัญญารู้แจ้งว่าอะไรเป็นอย่างไร เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะปรุงแต่งคิดนึกกันอย่างไร โง่เท่าไร โง่อย่างไร มันจึงจะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ไม่โง่อย่างนั้นโดยเด็ดขาดเลย มันก็ไม่เกิดความทุกข์ได้ นี่เป็นเรื่องปัญญา เป็น เอ่อ, ที่พึ่ง พวกที่ ๑ เป็นศรัทธา มีศรัทธาเป็นที่พึ่ง พวกที่ ๒ มีวิริยะกำลังจิตเป็นที่พึ่ง พวกที่ ๓ มีปัญญาความรู้แจ้งแทงตลอด อ่า, เป็นที่พึ่ง มีอยู่ ๓ พวก แจกได้เป็น ๓ พวก ๓ ประเภท ศาสนาไหนเป็นอย่างไรก็ไปดูเอาเอง เราจะไม่ออกชื่อ ให้มันกระทบกระเทือน ไม่ต้องออกชื่อในศาสนา ศาสนาปัจจุบันแล้ว แต่บอกไว้โดยหลัก โดยใจความของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่าพุทธศาสนาที่เราถือนั้นเป็น วิริยาธิกะ มีปัญญาเป็นเบื้องหน้า รู้แจ้งตามที่เป็นจริง เรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ที่เรียกกันว่า อริยสัจ ๔ คือปัญญาสูงสุด รู้ว่าดับทุกข์อย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้น แล้วก็ดับทุกข์ได้ นี้ก็ให้กำหนดไว้อย่างนี้
แต่ที่นี้เราทำมากกว่านั้น คือเราอะลุ่มอล่วย กันได้ เอาทั้งหมดนั้นแหละมาไว้ในพระพุทธศาสนา เช่นว่า เอาศรัทธามาไว้ในพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่เรื่องที่สุด เอาเป็นเรื่องเบื้องต้น อ่า, เพื่อ เพื่อจะได้มีความเชื่อ ในการที่จะปฏิบัติ แต่ว่าไอ้ศรัทธาของเรานี้ไม่เหมือนศรัทธาของพวกโน้น ซึ่งหลับหูหลับตา ศรัทธาในพุทธศาสนา มาทีหลังปัญญา หรือสัมมาทิฎฐิ ศรัทธาอย่างโน้นไม่...ไม่มีปัญญา ไม่มีอะไร มีแต่เชื่อๆๆๆๆ ก่อน ก่อนความรู้ เชื่อก่อนปัญญา ถ้าเชื่ออย่างนี้ไม่ใช่เชื่อในพุทธศาสนา ถ้าจะเชื่อในพุทธศาสนาต้องมีสัมมาทิฎฐิพอสมควร แม้ว่าไม่ถึงที่สุด แต่ว่าพอสมควรมีเหตุผล อ่า, พอที่จะให้เชื่ออย่างนั้นก็เชื่อ ก็มาใช้ได้เหมือนกัน ไม่เสียหลาย ที่นี้เอาวิริยะมา เช่น เอาเรื่องสมาธิต่างๆมา เป็นอุปกรณ์เบื้องต้น สำหรับจะให้เกิดปัญญา เรื่องฌาน เรื่องรูปฌาน เรื่องอรูปฌาน ก็ถูกนำมาใช้เป็น บุพภาคของปัญญา เพราะว่าจิตที่มี ไอ้, ลักษณะอย่างนั้นมันเหมาะสมที่จะเป็น เบื้องต้นเป็นรากฐานของปัญญา ก็เอามาไว้ใช้ด้วย ดังนั้นในพุทธศาสนา จึงมีเรืองฌาน ทั้งรูปฌาน ทั้งอรูปฌาน แล้วก็ในที่สุด ก็เกิดปัญญาสูงสุด เป็นวิปัสสนา เห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา ถึงที่สุดเลย เป็นปัญญา เอาไอ้ ๒ อย่างนั้นมาเป็นบุพภาค หรือมาเป็นรากฐาน หรือมาเป็นไอ้พื้นฐาน เป็นกำลังในเบื้องต้น ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าว่ามันเป็นศรัทธาล้วนๆ ก็เป็นศาสนาหนึ่ง ถ้าเป็นวิริยะล้วนๆ ก็เป็นศาสนาหนึ่ง เป็นปัญญาล้วนๆ มันก็เป็นศาสนาหนึ่ง พุทธศาสนาเป็นเรื่องปัญญา เป็นศาสนาปัญญา ก็สามารถจะเอาไอ้สิ่งเหล่านั้น มาใช้เป็นบริวารได้ นี่เป็นเครื่องพิสูจน์แยกแยะให้เห็นว่า มันมีได้ถึง ๓ ประเภทอย่างนี้ คือสิ่งที่จะทำจิตใจให้เบาสบายหายกลัวและหายทุกข์ มีได้ถึง ๓ วิธีอย่างนี้ ศรัทธาก็ได้ วิริยะก็ได้ ปัญญาก็ได้ เรียกว่ามี ๓ ชนิด
ที่นี้ก็มาดูว่า มันจะแบ่งกันได้ง่ายๆอย่างไร ว่ามันมีความต่างกันโดยหลักใหญ่อย่างไร ไอ้พวกที่ว่าไม่ๆ ไม่ใช้ปัญญานะ เขาก็ใช้ หลักถือที่พึ่ง ในภายนอก พวกที่ใช้ปัญญาก็ถือเหตุ เอ่อ, ถือที่พึ่งในภายใน ใช้คำว่าอย่างนี้ก็ได้ คือว่าไม่มีปัญญา ก็มายึดถือสิ่งภายนอก ซึ่งมันยึดถือได้ง่ายกว่า ลูกเด็กๆมันก็ยึดถือได้ ถ้ามีปัญญามันก็จะยึดถือหลักเกณฑ์และเหตุปัจจัยในภายใน นี่มันจึงเกิดเป็นสองๆ ๒ ชนิดขึ้นมา ถ้าคือเหตุปัจจัยภายนอก พึ่งผู้อื่นแล้วก็เป็น ไสยศาสตร์ ถ้าถือเหตุปัจจัยภายใน พึ่งตัวเองก็เป็น พุทธศาสตร์ รู้จักความแตกต่างระหว่าง พุทธศาสตร์ กับไสยศาสตร์ รึยัง อาจจะเป็นไสยศาสตร์อยู่โดยไม่รู้ตัว ทั้งที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท ถ้าถือปัจจัยภายนอกเอาสิ่งภายนอกมาเป็นที่พึ่ง แล้วก็ไม่ได้คิดพึ่งตัวเอง แล้วก็ไม่ได้เชื่อกรรม เชื่อปัจจัจภายนอกจะดีจะร้ายก็เพราะเหตุปัจจัยภายนอก พระเจ้าเทวดาอะไรก็ตาม อย่างนี้ก็เป็น ไสยศาสตร์ ง่ายๆเป็นเบื้องต้นเลย ง่าย ถ้ามีปัญญาเห็นเหตุปัจจัยในภายใน พึ่งเหตุ อ่า, พึ่งตัวเอง พึ่งตัวเอง มีความรู้เรื่องกรรม อย่างนี้ก็เป็น พุทธศาสตร์ มันต่างกันอย่างมาก ตามชื่อ ตามชื่อของมันหละ ไสยศาสตร์ กับพุทธศาสตร์ ต่างกัน ตรงกันข้าม ไสยะ ไสยะ แปลว่า หลับ ไสยศาสตร์ คือศาสตร์ของคนหลับ ส่วนพุทธศาสตร์ พุทธะ แปลว่าตื่น พุทธศาสตร์เลยเป็น ศาสตร์ของคนตื่น ต่างกันเท่าไร ไอ้คนหนึ่งหลับ คนหนึ่งตื่น ไสยศาสตร์หลับ มันไม่รู้อะไร มันก็กลัวมันก็ขลาด มันก็ทำไปอย่างหลับๆ ถือเหตุปัจจัยภายนอกที่เห็นได้ง่ายๆที่เด็กๆมันก็จะคิดนึกเอาได้ มันจึงถือเหตุปัจจัยภายนอก อย่างที่ว่ามาแล้วน่ะ แรกเริ่มเดิมที คนป่าเหล่านั้น ก็กลัว กลัวธรรมชาติ อันมีปรากฎการณ์น่า...น่าหวาดกลัว ก็เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งผีศักดิ์สิทธิ์เทวดาศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้น นี่เป็น ไสยศาสตร์ เป็นศาสตร์สำหรับคนที่ยังหลับอยู่ ยังไม่เรียกว่า ตื่น ครั้นล่วงมา จนไม่ต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว มันเริ่มมีความคิดนึกมองเข้าไปในภายในค้นพบ สิ่งที่จริงกว่าในภายใน เรียกว่า ตื่นๆ พุทธะ แปลว่าตื่น ตื่นจากหลับ ก็เลยมีความรู้เรื่องภายใน เรื่องเหตุปัจจัยภายใน เรื่องการปรุงแต่งของจิตให้เกิดทุกข์อย่างไร เรื่องการไม่ปรุงแต่งของจิตไม่ให้เกิดทุกข์ได้อย่างไร ก็จัดการกับเรื่องเหล่านี้ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ได้ ตามที่ต้องการ มันก็เกิดเป็น ไสยศาสตร์ และพุทธศาสตร์ แยกทางกันเดิน คำว่าหลับอยู่ ก็คือยังไม่รู้อะไร ยังไม่รู้อะไรเหมือนกับคนยังหลับอยู่ นี่ก็มีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า ศรัทธา ศรัทธาอย่างบอกไม่ถูกล่ะ ศรัทธาอย่าง ยิ่งกว่าหลับหูหลับตาน่ะ มันจึงจะถือไสยศาสตร์ได้ และถ้ามีความตื่นแล้วมันก็ มันก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น มันก็จัดการได้ถูกต้อง มันก็ดับทุกข์ได้ ไอ้คำว่าศาสตร์ ไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ คำว่า ศาสตร์นี่ มันคำเดียวกับคำว่า ศาสตรา ศาสตรา ของมีคม ตัดอะไรได้ เรียกว่า ศาสตรา คำว่า ศาสตรา หรือของมีคม คำนี้เป็นภาษาชาวบ้านยืมมาใช้ เป็นชื่อของ ไอ้, ความรู้ ว่าเป็นความรู้ที่สามารถจะตัด ไอ้, ปัญหา ตัดสิ่งที่ต้องการจะตัด มันเป็นศาสตร์ ศาสตร์มีคมตัดปัญหาด้วยกัน แต่อย่างหนึ่งมันเป็นของคนที่ยังหลับอยู่ อย่างหนึ่งมันเป็นของคนที่ตื่นแล้ว นี่ไสยศาสตร์ กับพุทธศาสตร์ มันต่างกันอย่างนี้
ไสยศาสตร์ก็ถือสิ่งภายนอก ไม่มีความรู้เรื่องภายใน แล้วก็ให้ผู้อื่นช่วย มันรู้จักแต่ให้ผู้อื่นช่วย เหมือนกับลูกเด็กๆเกิดมามันไม่รู้จักช่วยตัวเอง มันมีแต่พ่อแม่ช่วย ใครช่วย มันก็พึ่งไอ้ที่พึ่งภายนอกให้ผู้อื่นช่วย มันก็เลยไม่ต้องรู้เรื่อง กรรม ทำกรรมดีๆ ทำกรรมชั่วๆไม่ต้องรู้
ถ้ามันเป็นพุทธศาสตร์มันตื่นแล้ว มันรู้แล้ว มันรู้เรื่องภายในลึกซึ้ง ว่าอะไรมันไปสำคัญอยู่ที่จิตใจ ถ้าไม่มีจิตใจอย่างเดียวมันก็เหมือนกับไม่มีอะไรโลกนี้มันก็ไม่มีล่ะ เพราะมีจิตใจนั่นแหละ มันก็มีอะไรทุกอย่าง มีปัญหาขึ้นมา มันต้องจัดการกับภายใน แล้วก็ต้องช่วยตัวเอง เพราะว่ามันเกิดจากจิตใจ โง่หรือฉลาด ทำผิดหรือทำถูก ทั้งนั้น มันจะไปโทษใครพึ่งใครไม่ได้ มันก็ต้องช่วยตัวเอง มันก็เกิดกฎแห่งกรรมขึ้นมา ทำดีๆ ทำชั่วๆนี่ นี่เป็นพุทธศาสตร์ แม้กระทั่งสามารถเอาชนะกรรมทั้งปวงได้ในที่สุด ก็ยิ่งเป็นพุทธศาสตร์สูงสุด ยิ่งขึ้นไปอีก
นี่รู้เรื่องไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ ศาสนาทั้งหลายจะมีกี่สิบศาสนาก็จะจัดได้เป็น ๒ ประเภท อย่างนี้ ล่ะ ถ้ามันพึ่งผู้อื่นพึ่งภายนอกจากตัว ไม่มีกรรม ไม่มีกฎแห่งกรรม ไม่ช่วยตัวเอง ต้องให้คนอื่นช่วย แล้วมันเป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้น มันจะเป็นศาสนาที่มีชื่อเสียง เรียงนามอย่างไร ไพเราะอย่างไรก็เป็น ไสยศาสตร์ทั้งนั้น แล้วก็ ถ้ามันรู้จักตรงกันข้าม มันหันมาภายในรู้จักกรรม รู้จักอะไร แล้วมันก็เป็นพุทธศาสตร์ ขึ้นมาทันที
ทีนี้เราก็มาดูกันถึงพุทธศาสนาว่า ตื่นอย่างไร เป็นพุทธศาสตร์อย่างไร จะขอยกตัวอย่าง เรื่องสั้นๆสักเรื่อง ยกมาแต่โดยสั้นๆนะ เรื่องยาวมากนะ คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าเราจะรู้จักภายในอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องนี้สำคัญมาก โดยอาศัยหลักว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นอย่างไร คือเห็นว่าความทุกข์นี่มันก่อขึ้นมาในจิตใจของคนอย่างไร อย่างไร ปฏิจจสมุปบาท คำนี้แปลว่า อาศัยกันเกิดขึ้น คือต้องมีเหตุมีปัจจัย สิ่งต่างๆต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ต้องมีเหตุมีปัจจัย จะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมันไม่มีได้ มันมีไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ อาศัยเหตุปัจจัยอย่างใด แล้วเกิดขึ้น อาศัยเหตุปัจจัยอย่างใดแล้วเกิดขึ้น นี้เรียกว่า อาการของปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นเรื่องที่เรา มีอยู่กันทุกวัน ทุกคนแต่เราไม่รู้ เอ่อ, จะพูดถึงเรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์โดยตรง เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักกันเสียให้ดี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีระบบประสาท สำหรับจะรู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย และที่ใจ ด้วยมีอีกแบบหนึ่ง แต่มันรู้สึกได้ ที่นี้ก็มี ของเป็นคู่กัน ที่จะเข้ามาพบกันน่ะ คือว่า รูป เสียง กลื่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูปคู่กับตา เข้ามาจับกันกับตา เสียงคู่กับหู มีปัญหาทางหู กลิ่นมากับจมูก มีปัญหาทางจมูก ลิ้น รส รสคู่กับลิ้น ก็มีปัญหาเกี่ยวกับลิ้น ของที่มาถูกผิวหนังทุกๆอย่างเรียกว่าโผฏฐัพพะ นี่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับร่างกาย แล้วก็ความคิดนึกความรู้สึกใดๆที่มันเกิดขึ้น ที่จะมากระทบจิต มากระทบใจ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับใจ ข้างในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วก็เอามาจับคู่กัน แล้วก็จะเกิดเรื่อง ยกตัวอย่างคู่แรก ตา พอรูปมากระทบตา ก็เกิดวิญญาณทางตา รู้แจ้งทางตา ว่าเป็นรูปอะไร ลักษณะอย่างไร เขียวขาวดำแดงอย่างไร สัณฐาน อย่างไรอะไรอย่างไร นี้เรียกว่า วิญญาณทางตามันเกิดขึ้น เมื่อวิญญาณทางตาเกิดขึ้น อาศัยตาเป็นที่ตั้ง แล้วก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่า รูป อยู่ด้วยวิญญาณอันนั้น นี้เรียกว่า ผัสสะ คือสิ่งทั้ง ๓ นั้น กำลังทำงานสัมพันธ์กันอยู่ คือตาอย่างหนึ่ง รูปที่มากระทบตาอย่างหนึ่ง แล้วจักษุวิญญาณ ที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง เป็น ๓ อย่างกำลังทำงานร่วมกันอยู่ คือจักษุวิญญาณ รู้แจ้งไอ้รูป โดยอาศัยตา นี่ ทำงานร่วมกันอยู่ อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้นก็เหมือนกันแหละ ข้างในกับข้างนอกพบกันเกิดวิญญาณ ทำงานรู้สึกอยู่ เรียกว่า ผัสสะ มี ๓ ส่วนนะ ผัสสะ ไม่ใช่เพียงแต่ตากับรูป เหมือนที่พูดๆกันอยู่อย่างสะเพร่า ต้อง ๓ นะ ต้อง ตากับรูป และจักษุวิญญาณ ทำงานร่วมกันอยู่ เรียกว่า ผัสสะ ครั้นมีผัสสะอย่างนี้แล้ว ก็มีเวทนา คือมีความรู้สึกขึ้นที่นั่น ว่าสวยไม่สวย สบายแก่ตา หรือไม่สบายแก่ตา มีความหมายน่ารัก น่าอะไรหรือไม่ นี้เรียกว่าความรู้สึกนี้เป็น เวทนา พอเวทนา รู้สึกอย่างไร แล้วมันก็ให้เกิด ตัณหา คือความอยาก ความต้องการ ถ้าสวยน่ารักน่าพอใจ มันก็อยากจะได้ ถ้าไม่สวยไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันก็อยากจะไปเสียให้พ้น หรือถึงกับทำลายเสียก็ได้ เป็นความรู้สึก ๒ ฝ่าย ขึ้นมาเป็น Possitive เป็น Negative ขึ้นมา เรียกว่า ตัณหา เพราะเวทนาน่ารักก็เกิดอยากได้ เวทนาไม่น่ารักก็เกิดอยากทำลาย ตัณหานี่คืออย่างนี้ ไม่ใช่ตัณหาในภาษาไทยเรื่องกามารมณ์ อย่างนั้นก็ยัง ยังไม่ใช่ ตัณหานี้เป็นเพียงความต้องการด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้มันมี อวิชชา มันยังไม่มีปัญญา เมื่อน่ารักมามันก็โง่ที่จะรัก น่าเกลียดมามันก็โง่ที่จะเกลียด น่ากลัวมามันก็โง่ที่จะกลัว น่าโกรธมามันก็โง่ที่จะโกรธ นี่ความ...ความต้องการ ด้วยความโง่ ตามความโง่นี้เรียกว่า ตัณหา ตัณหาเกิดอย่างนี้แล้ว มันเป็นความอยากๆๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง อยากๆๆๆ อย่างยิ่งแล้ว มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่ามีตัวฉัน มีตัวกูเป็นผู้อยาก นี้เรียกว่า อุปาทาน เกิดแล้ว มันก็มีการรวมกันพอที่จะเรียกได้ว่า มีตัวกู เป็น เอ่อ, เป็น เอ่อ, เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ในความโง่นั่นน่ะ เขาเรียกว่า ภพ เป็นความมี ขึ้นอย่างลมๆแล้งๆของบุคคลนั้น แล้วก็มาสมบูรณ์เป็นชาติ เป็นตัวกู ตัวกู ตัวกู อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เรียกว่า ชาติ ตัณหาให้เกิด อุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ ความรู้สึกเป็นตัวกูอย่างเต็มที่แล้ว มันก็โง่ต่อไปล่ะ มีตัวกูอย่างเต็มที่แล้ว เป็นชาติ แล้วมันก็ไปเอาอะไรมาเป็นของกู เอาสิ่งต่างๆที่เข้ามาถูกต้อง มากระทบเป็นของกู เช่น เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาเป็นของกูของกู เอาความ อ่า, โศกเศร้า ร่ำไรรำพัน คร่ำครวญอะไรมาเป็นของกู ไอ้ความที่ไม่ได้ตามที่ต้องการ ความเดือดร้อนในใจอะไรน่ะ ประสบกับไม่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ มันก็มาเป็นของกู แล้วก็มาเอาเบญขันธ์ เนื้อหนังชีวิต เป็นของกูอะไรทุกๆส่วนเป็นของกู ความไม่ได้ตามที่ต้องการก็เป็นของกู ความได้ตามที่ต้องการก็เป็นของกู ทั้งหมดนี้เป็นปัญหา เป็นความทุกข์ เป็นความหนัก ความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะเหตุอย่างนี้ ในภายในแท้ๆ ปรุงกันขึ้นในภายในแท้ๆ มีปัญญารู้แจ้งในสิ่งเหล่านี้ ก็ควบคุมไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่า ดับทุกข์ได้ด้วยปัญญา คำว่า ชาติ ชาติในกรณีอย่างนี้ไม่ใช่ ชาติเกิดจากท้องแม่ มันเป็นชาติเกิดจากความคิด มีความคิดเป็นตัวกูขึ้นมา จึงจะสมบูรณ์ เพียงแต่เกิดจากท้องแม่นั้นมันเป็นเกิดอย่างเปลือก เนื้อในจะเกิดสมบูรณ์ต่อเมื่อมันรู้จักคิดจักนึกว่าเป็นตัวกู ทารกคลอดออกมาจากท้องแม่เดี๋ยวนั้น ยังไม่เป็นชาติที่สมบูรณ์ เป็นชาติทางร่างกายเท่านั้น ต่อเมื่อทารกนั้นมีความคิดลึกซึ้งถึงกับว่ามีชาติแห่งตัวกู ตัวกู ตัวกู นี้จึงจะว่าชาตินั้นได้สมบูรณ์แล้ว เพราะมีชาติเนี่ยมันจะไปเอาอะไรมาเป็นของกู ก็จะได้เกิดทุกข์ ตามบาลี ปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรียกว่า ชาติ นี้เป็นปัจจัยแห่งทุกข์ แต่คำกล่าวใน อริยสัจ ระบุชาติ เป็นตัวความทุกข์เสียเอง ข้อนี้ต้องการคำอธิบายมาก ไม่พอที่จะอธิบายในเวลาสั้นๆอย่างนี้ แต่จำไว้เถิดว่าสิ่งที่เรียกว่า ชาตินั้นน่ะ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดทุกข์ หรืออาจจะพูดอย่างหนึ่งว่าชาติเป็นตัวทุกข์ ชราเป็นตัวทุกข์ มรณาเป็นตัวทุกข์ อย่างนี้ก็ได้ มันมีอะไรที่ ที่ ที่มีความหมาย อ่า, ซับซ้อนอยู่ เอาเป็นว่าถ้ามันมีตัวกู แล้วมันก็ต้องมีของกู ถ้ามีของกู แล้วขออภัยใช้คำหยาบว่า มันก็หนักอยู่บนหัวกบาลมัน ขอโทษนะที่ใช้คำหยาบๆอย่างนี้ เพื่อให้จำง่ายมันลืมยาก มันมีตัวกู แล้วมันก็มีของกู แล้วมันก็ไปหนักอยู่บนกบาลของมัน นั่นล่ะคือความทุกข์ รู้จักความทุกข์ให้มันถูกต้องอย่างนี้สิ เป็นภายในแก้ไขภายในด้วยสติปัญญา นี่เรียกว่า ปัญญาธิกะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภท ปัญญา ทุกข์ สุขและทุกข์ไม่ได้มาจากพระเป็นเจ้า สุขและทุกข์ไม่ได้มาจากกรรมเก่า สุขและทุกข์ไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้เหตุไร้ปัจจัย มันมีเหตุมีปัจจัย คือกระทำผิด ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท คือในชีวิตประจำวัน ที่เป็น ปฏิจจสมุปบาท มันทำผิดไปแล้ว มันก็เกิดทุกข์ ไม่ควรจะยกไปเป็นกรรมเก่า ถ้าว่ากรรมเก่ามี เอ้า, มาสิ ฉันต้อนรับด้วยปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้อง กรรมเก่าก็หงายหลังไปเลย ไม่ให้โทษไม่ให้อะไรได้ ไม่สำคัญอยู่ที่กรรมเก่า มันสำคัญอยู่ที่กรรมเดี๋ยวนี้ คือ ปฏิจจสมุปบาทมันผิดหรือมันถูก ถ้ามันถูกมันก็ไม่เกิดทุกข์ ถ้ามันผิดมันก็ต้องเกิดทุกข์ จึงเรียกว่า ทำผิด หรือทำถูก อยู่ในเรื่องของ อิทัปปัจจยตาที่นี่ และเดี๋ยวนี้นั่นแหละ คือทุกข์หรือไม่ทุกข์ ทุกข์หรือสุข นี้เป็นความรู้อย่างสูงสุดที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วสอน แล้วก็ไม่มีใครมาสอนให้ดีกว่านี้ได้ มาสอนให้สูงยิ่งไปกว่านี้ได้ เรื่องมันก็จบนั่นแหละ เป็นสูงสุดของปัญญา เป็นพุทธศาสนา เป็นศาสตร์ของคน ตื่น เรียกว่า พุทธศาสตร์ ไม่เป็นศาสตร์ของคนหลับ หรือไสยศาสตร์เลย ไม่เป็นไสยศาสตร์อีกต่อไป เพราะว่ามัน ตื่นเสียแล้ว นี่คือศาสนาอย่างพุทธศาสตร์ ตรงกันข้ามจากศาสนาอย่างไสยศาสตร์ ท่านกำลังถือศาสนาไหนอยู่ดูให้ดีๆ ถ้าไม่รู้เรื่องภายใน ไม่ถือเหตุปัจจัยภายใน ไม่พึ่งตัวเอง ไม่มีเรื่องกรรมแล้วก็ เป็นไสยศาสตร์ เป็นไสยศาสตร์อย่างช่วยไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งโดยประจักษ์ถูกต้องในภายใน มันก็เป็นพุทธศาสตร์ สามารถจะมีพุทธศาสนา
ทีนี้เราก็มามองดูว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไร จึงจะ มันจึงจะเป็นการตื่นอยู่ด้วยความถูกต้อง ถูกต้องทุกประการ ถูกต้องทุกประการ ความรู้ถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง ผลที่ได้รับออกมาก็ถูกต้อง มันก็มีความรู้ถูกต้อง เรื่องที่เป็นภายในที่เกี่ยวกับจิตอย่างที่กล่าวมาแล้ว ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เมื่อตะกี้นั่นแหละ นั่นน่ะคือวิทยาศาสตร์ หรือยอดวิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนา ไม่ต้องมีการสมมติฐานว่าถ้า ว่าอย่างนั้น ถ้าว่าอย่างนี้ หรือว่าอะไร ก็ไม่รู้เอามาคำนวณ คำนึงคำนวณสมมุติ มันเป็นความจริงอย่างนี้ อย่างที่เรียก เห็นว่าเหมือนวิทยาศาสตร์ มีของจริงมาอยู่เฉพาะหน้า แล้วก็แยกแยะออกไป แล้วก็พิสูจน์ได้ตามลำดับ ตามลำดับ ของข้างนอกมากระทบของข้างใน เกิดวิญญาณ แล้วเกิดผัสสะ แล้วก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจมันก็เป็นเรื่องปรัชญา เป็นทัศนะหนึ่งๆที่ยังไม่เห็นแจ้ง แต่ถ้าว่าได้เข้าใจเรื่องนี้ ปฏิบัติเรื่องนี้สกัดกั้น กระแสแห่งปฏิจจ..สมุปบาทได้ เป็นพระอรหันต์ดับทุกข์สิ้นเชิง อย่างนี้พ้นความเป็น ปรัช... อ่า, พ้นความเป็น Philosophy พ้นจากความเป็นปรัชญาอย่าง Philosophy มันเป็นปัญญาอย่าง อย่างแท้ อย่างพุทธศาสนา เป็นปรัชญาแท้จริงขึ้นมา นี้จึงเป็นศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คืออย่างนี้ ขอให้ช่วย จดจำไว้ให้ดี แล้วเราจะต้องดำเนินชีวิตชนิดที่เป็นพุทธศาสตร์ มีพุทธศาสตร์คือตื่นไม่ใช่หลับ ความทุกข์มันเกิดมาจาก อุปาทานยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวตน เพราะโง่ เพราะไม่รู้ อะไรก็มาเกิดแก่ จิตก็เป็นตัวตน ถือว่าเป็นของๆตนขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่า อุปาทาน หมายมั่นด้วยความโง่ ต้องการด้วยความโง่ เรียกว่า อุปาทาน ถ้าทำไปด้วยปัญญา ขนาดถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า สมาทาน ท่านจงมีอะไร ทำอะไร ถืออะไร ด้วย สมาทาน อย่าถือโดย อุปาทาน แม้ที่สุดแต่จะถือระเบียบวินัยในการทำงาน ในการดำเนินงาน ในการปฏิบัติงาน อะไรก็ตาม จะถือศีล ถือธรรมะ ถืออะไรก็ตาม จงถือด้วยสิ่งที่เรียกว่า สมาทาน คือถือเอาอย่างดีด้วยสติปัญญา อย่าถือเอาด้วยความโง่ด้วยอวิชชา ที่เรียกว่า อุปาทาน อุปาทาน หมายมั่นอย่างโง่เขลา ถ้าถือศีลด้วยอุปาทาน ก็เป็นศีลบ้า ทำสมาธิด้วยอุปาทาน เป็นสมาธิบ้า รู้อะไรด้วยอุปาทาน เรียกว่าเป็นความรู้ที่บ้า คือไม่ถูกน่ะ มีแต่เรื่องยุ่ง โกลาหลวุ่นวายเป็นทุกข์ไปหมดเลย ช่วยจำไว้ให้ดีๆมีอยู่ ๒ คำ สมาทาน ถือเอาด้วยปัญญา, อุปาทาน ถือเอาด้วยอวิชชาคือความโง่ จะทำอะไร จะคิดอะไร จะถืออะไร จะหวังอะไร จะอะไรก็ตาม ขอให้ทำอย่างที่ว่า สมาทาน คือทำเอา ถือเอา ด้วยสติปัญญา ถ้าไปถือเอาด้วยอวิชชา ไอ้ความโง่ มันเป็นอุปาทาน นั่นน่ะคือตัวทุกข์ มันจะมาอยู่ ขออภัย บนกบาล มีเงิน มีของ มีเกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนา ถือเอาไว้ด้วย อุปาทาน มันมาอยู่บนกบาล มันหนักเท่าไร ถ้าถือเอาด้วยสมาทาน ด้วยสติปัญญา มันไปอยู่ใต้ฝ่าเท้า มันไม่หนักเลย จะเรียกขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้ เดี๋ยวนี้มันมาอยู่บนศีรษะ มันไม่เป็นทาสน่ะ มันเป็นนาย มันข่มขี่มันข่มเหงมันไสหัว ก็ได้แต่ความทุกข์ทั้งนั้น ตื่นอยู่ไม่หลับ แล้วก็ทำไป หรือถือเอาด้วยสมาทาน คือ ทำด้วยปัญญา ถ้าหลับแล้วมันโง่ มันก็ถือเอาด้วยอวิชชา มันก็ทำด้วยอุปาทาน มันก็เป็นหนัก เรียกว่าของหนักแห่งชีวิต ภาระหนักแห่งชีวิต เต็มไปหมด นั่นน่ะคือ ความทุกข์
เดี๋ยวนี้มันมีเรื่องของปัญญา ก็จะรู้อะไรจะเห็นอะไร ช่วยจำคำที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่เห็นว่าเป็นของ ครึ นะ อาตมาคิดอย่างนี้จริงๆว่าท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้แล้ว แต่เห็นว่าเป็นของครึ แล้วก็ไม่สนใจ คือคำว่า อนิจจัง คำว่า ทุกขัง คำว่า อนัตตา คำว่า อิทัปปัจจยตา คำว่า สุญญตา คำว่า ตถตา เป็นต้น เพียงแต่ได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็สั่นหัวแล้วเป็นเรื่องครึ เป็นเรื่องของยายแก่งุ่มง่ามอยู่ตามวัด ฉันไม่สนใจ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะไม่สนใจ จะเห็นว่าเป็นคำครึ ที่จริงมันไม่ใช่คำครึ มันเป็น คำบอกความจริงของธรรมชาติ อย่างยิ่งที่สุดเลย อนิจจัง คือบอกความจริงว่า สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนไป ตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ไม่ว่าอะไร ที่มันมีปัจจัย แล้วมันก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ แม้ก้อนหินที่เห็นว่าแข็งโป๊กอยู่ตรงนี้ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในภายในของมัน ของที่อ่อนยิ่งเห็นได้ง่าย มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วมันก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง อาการอย่างนี้เรียกว่า ทุกข์ คือว่าน่าเกลียด คือต้องทนและทนยาก ถ้าไปถือเอาแล้วต้องทนและทนยาก หรือเรียกว่าน่าเกลียด เพราะมันเป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยงเพราะมันไหลเรื่อย เพราะมันเปลี่ยนแปลงเรื่อย และมันเป็น อนัตตา คือเอาเป็นตัวตนที่ไหนไม่ได้ เพราะมันไหลเรื่อย เพราะมันเปลี่ยนเรื่อย เพราะมันมีอาการที่น่าเกลียด นี่คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความจริงสูงสุด ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขาร สังขาร คือสิ่งที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง แล้วก็ปรุงแต่งสิ่งอื่นด้วย แล้วอาการปรุงแต่งนั้น ก็เรียกว่า สังขาร ขอให้นักศึกษาทั้งหลายรู้จักคำว่า สังขารกันเสียเดี๋ยวนี้ เคยโง่ว่าสังขารคือร่างกาย สิ้นสังขารก็คือตาย อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่าสังขาร สังขาร แปลว่าปรุงแต่ง สิ่งนั้นจะมีหน้าที่ สำหรับปรุงแต่งสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น ก็เรียกว่าสังขาร สิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็เรียกว่าสังขาร กิริยาอาการที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็เรียกว่าสังขาร สังขารเลยมี ๓ ความหมาย ผู้ปรุงแต่ง ถูกปรุงแต่ง และการปรุงแต่ง ผู้ปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร ผู้ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร การปรุงแต่งก็เรียกว่า สังขาร นี่ล้วนแต่ไม่เที่ยง เพราะมีการปรุงแต่ง เปลี่ยนไปตามการปรุงแต่ง โดยเหตุโดยปัจจัย ที่เป็นสิ่งปรุงแต่ง นี่สังขาร สังขารคืออย่างนี้
เห็นว่าสังขารเป็นอย่างนี้แล้ว จะไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงอะไรกับมันทำไม มันเป็นเช่นนั้นเอง นะการที่มันปรุงแต่งกันเช่นนั้น เรียกว่า อิทัปปัจจยตา การที่มันไม่มีตัวตน ตายตัวแน่นอนถาวรอะไร เรียกว่า สุญญตา ว่างจากตัวตน แล้วสรุปแล้วมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเห็นไอ้สิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่มีความทุกข์เลย คือจะไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยาหึงหวงอะไรเลย มันเฉยได้ มันปกติได้ มันไม่หลงรัก หลงโกรธ ไม่หลงเป็นคู่ๆ ไม่หลงทุกคู่เลย เดี๋ยวนี้มันหลงทุกคู่ รักก็รัก โกรธก็โกรธ ดีก็หลง ชั่วก็หลง บาปก็หลงบุญก็หลง สุขก็หลงทุกข์ก็หลง ชนะก็หลงแพ้ก็หลง กำไรก็หลง ขาดทุนก็หลง หลงของเป็นคู่ๆ ไม่รู้กี่สิบคู่ในโลกนี้ คนโง่ก็หลงไป คนเห็นความจริงด้วยปัญญาแล้ว ไม่หลงอะไร ไม่หลงอะไร ที่น่ารักมาก็ไม่รัก ที่น่า..น่าเกลียดมาก็ไม่เกลียด ที่น่าโกรธมาก็ไม่โกรธ ทีน่ากลัวมาก็ไม่กลัว มัน...มันปกติอยู่ตรงกลาง มันขึ้นมาเสียพ้นจากความหมายแห่งความเป็นของคู่ Dualism ,Dualism ของเป็นคู่ๆ มีความหมายตรงกันข้าม ทุกคู่ไม่มีอิทธิพลแก่จิตใจ ของผู้ถึงพุทธศาสตร์ มีปัญญาอย่างนี้ ก็สบายเท่าไร คนธรรมดาสามัญทุกคนมันเป็นทาส เป็นบ่าวเป็นขี้ข้า ของสิ่งที่เป็นคู่ เดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวดีใจเดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะ มันเป็นผู้ที่ยึดถือในเง่ของ Positive บ้างในแง่ของ Negative บ้าง ถ้ามันรู้ว่าทั้ง Positive และทั้ง Negaitve เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว มันก็ไม่ยึดถือ มันอยู่พ้นบน ข้างบน บน Positive บน Negative อย่างนี้เรียกว่าหลุดพ้น เป็นโลกุตตระอยู่เหนือโลก ความหมายแห่ง Positivelism Negativelism ในโลกนี้ ไม่ทำอะไรแก่จิตใจของบุคคลผู้หลุดพ้นแล้วได้ คือพระอรหันต์ เรียกว่าท่านอยู่เหนือโลก
จึงขอสรุปว่าต่อไปนี้ขออย่าได้ดูหมิ่นดูถูกคำครึคระเหล่านี้เลย คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา อิทัปปัจจยตานี้ ไม่ใช่คำครึคระ เป็นคำที่ฉลาดที่สุด ที่มนุษย์ควรจะรู้ไว้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถึงสิ่งที่รู้แล้วและดับทุกข์ได้ ขออย่าได้ดูหมิ่นคำวัดคำวาอย่างนี้อีกต่อไป ขอให้สนใจศึกษาให้รู้แจ้งโดยประจักษ์ แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย นี่เรียกว่าเป็นปัญญา จิตอยู่ในสภาพที่อะไรจะปรุงแต่งไม่ได้ ก็เรียกจิตหลุดพ้น ถ้าจิตของคุณยังอยู่ที่ในลักษณะที่อะไรมากระตุ้นได้ มาปรุงแต่งได้ มาแล้วแต่จะใช้คำไหน มากระตุ้นก็ได้ มาปรุงแต่งก็ได้ มาครอบงำก็ได้ มา Condition ,Condition คำกลางๆอย่างใดอย่างหนึ่งได้ คือปรุงแต่งได้แล้วก็ต้องเป็นทุกข์แหละ ต่อเมื่อจิตมันอยู่ในวิสัยที่จะมีอะไรปรุงแต่งไม่ได้นั่นแหละ เรียกว่าหลุดพ้น หลุดพ้น อยู่เหนือโลก เหนืออะไรไม่ต้องตายหรอก และไม่ต้องไปที่ไหน อยู่ที่นี่นั่งอยู่ที่นี่อยู่ตรงนี้ในโลกนี้ แต่ว่าอยู่เหนือโลก อยู่ในโลกอย่างเหนือโลก อย่างชนะโลก นั้นคือผลดีที่สุดของพุทธศาสนา ที่เป็นศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ ทั้งเนื้อทั้งตัวอาศัยปัญญา เป็นเครื่องดำเนินตลอดสาย อย่างนี้เป็นพุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์ของคนตื่น ไม่เป็นศาสตร์ของคนหลับ พวกเราพุทธบริษัท มีความตื่นอย่างนี้จริงหรือไม่ พุทธะ แปลว่าตื่น พุทธะ แปลว่าตื่น และขยายความออกไปว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตื่นด้วยความรู้ ไม่ใช่ว่าตื่นตกใจนะ ตื่นคือตื่นจากหลับ เพราะมีความรู้จึงตื่น ครั้นตื่นแล้วก็เบิกบาน คือไม่เป็นทุกข์ นี่พุทธบริษัทต้องเป็นอย่างนี้
เดี๋ยวนี้คุณมีจิตใจเป็นไสยศาสตร์หรือเป็นพุทธศาสตร์ เราอาจจะทดสอบกันได้ง่ายๆว่า คุณแขวนพระเครื่องด้วยความคิดว่าอย่างไร ใครมีพระเครื่องแขวนอยู่ที่คอบ้าง จงทดสอบตัวเองเดี๋ยวนี้ ว่าเอาพระเครื่องมาแขวนไว้ด้วยความมุ่งหมายอย่างไร ถ้ามาแขวนไว้ด้วยความมุ่งหมายว่า พระเครื่องจะช่วยคุ้มครอง หรือจะช่วยให้ร่ำรวยสวยงาม นี้เป็นไสยศาสตร์ เอาพระพุทธรูปพระเครื่องเล็กๆมาแขวนคอ แต่เป็นไสยศาสตร์ แต่ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอ เป็นอนุสติ กันลืมพระพุทธเจ้า กันลืมหลักธรรมะที่ว่าดับทุกข์อย่างไร เตือนให้ทำตนให้เป็นผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบานอยู่เสมอ อย่างนี้เป็นไสย..อ่า, พุทธศาสตร์ ที่แขวนพระเครื่องกันอยู่ในบ้านเรา มากมายมหาศาลนั่นน่ะ ถ้าแขวนอย่างให้มันช่วยให้ อย่างแบบขี้ขลาดไม่รู้อะไร ให้เจริญด้วยพระเครื่องมาแขวนคอ อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ เขาถือไสยศาสตร์ เขาไม่ได้ถือพุทธศาสนา แม้ว่าเอารูปของพระพุทธเจ้ามาแขวนคอ แต่ถ้าเขาเอามาแขวนคอว่ากันลืมพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ลืม...ไม่ให้ลืมธรรมะ ว่าปฏิบัติอย่างนี้ หรือเตือนว่าให้มีสติสัมปัชชัญญะอยู่อย่าเผลอได้ ให้ดำเนินอยู่ในความถูกต้องเสมอ อย่างนี้ก็แขวนพระพุทธรูป แขวนพระเครื่องนั้น เป็นพุทธศาสตร์ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นขอให้ทำเสียให้ถูกต้อง และก็ได้พูดกันมาแล้วเรื่องพุทธศาสตร์ เรื่องไสยศาสตร์ก็เพื่อ ประโยชน์อันนี้แหละ ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินไปอย่างถูกต้อง ตามทางของพุทธศาสตร์ ตื่นจากหลับ คือกิเลส แล้วก็ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ถึงจุดหมายปลายทาง คืออยู่เหนือความทุกข์ทุกชนิดโดยประการทั้งปวง นี่คือความหมายของคำว่าพุทธศาสตร์
รวมความว่าเมื่อเราถึงที่สุด ของการมีพุทธศาสตร์ ก็คือถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือไม่มีทุกข์ ดับความทุกข์สิ้นเชิง ความทุกข์สิ้นสุดลงไป นั่นล่ะคือเป็นผลของ ไอ้, พุทธศาสตร์ พูดให้น่าฟังออกไปว่า ก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ พุทโธ พุทโธ ความหมายเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน มีชีวิตอยู่อย่างเย็นๆๆเป็นนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย ครูบาอาจารย์สอนกันผิดๆ ลูกเด็กๆก็โง่ว่า นิพพานแปลว่าตายของพระอรหันต์ นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย นิพพานแปลว่าเย็น และตัวพระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ล่ะ ร่างกายของท่านตายได้ แต่ตัวพระอรหันต์ตายไม่ได้ องค์พระอรหันต์ตายไม่ได้ นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย แต่แปลว่าเย็น เย็นเพราะไม่มีความร้อน ร้อนของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะไม่มี มันก็เย็น ชีวิตนี้ก็เย็น นี่เรียกว่าอยู่กับนิพพาน เวลาที่เราไม่มีกิเลสใดๆเลยน่ะ เย็นอย่างนั้นแหละ แต่ไม่มีใครสนใจ อวดดีเพ้อเจ้อ ไม่ๆๆสังเกตดูว่าเวลาที่ไม่มีกิเลสเย็นสบาย ไม่มีใครสนใจ และไม่มีใครคอยตั้งปัญหาถามดูตัวเองว่า เวลาไหนเราสบายที่สุด เวลาไหนเราสบายที่สุดเหลือที่จะกล่าว ถ้าว่าเขาจะสังเกตสักหน่อย เขาจะพบว่าเวลาที่เราไม่มีความคิดเรื่องตัวตนของตนอยู่ในใจนั่นน่ะ ไม่มีปัญหาภาระหนักใดๆว่าตัวตนว่าของตนอยู่ในใจ เวลานั้นเราสบายที่สุด สบายที่สุด แม้ว่าจะชั่วขณะ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอีก ก็ตามใจเถอะ แต่เวลาที่ไม่มีความคิดว่าตัวตนของตนอยู่ในใจนั้นสบายที่สุด เพราะว่าเวลานั้นเราอยู่กับนิพพาน แต่คนโง่ไม่สนใจ มันก็ไม่มีเหมือนกัน มันก็เหมือนกับไม่มีเหมือนกัน ไอ้เวลาที่มันพักผ่อนจากกิเลสนี่เป็นนิพพาน นี่มันช่วยให้ไม่เป็นโรคประสาท ช่วยให้ไม่เป็นบ้าวิกลจริต เดี๋ยวนี้คนมันไม่พักผ่อนกันเสียเลย มันอยู่ด้วยกิเลสตลอดไป ไม่ถึง ไม่ถึงตาย แต่มันก็เป็นโรคประสาท มันนอนไม่หลับ มันเป็นวิกลจริตมากเข้า มันก็ตายเหมือนกัน ความที่ว่างจากกิเลสอยู่นั่นน่ะ มันช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ คำนวณกันได้ง่ายๆ ถ้ามันมีกิเลสร้อนทั้ง ๒๔ ชั่วโมง วันเดียวมันก็ตายแล้ว แต่นี้ใน ๒๔ ชั่วโมงมันมีตั้งหลายชั่วโมง ที่มันไม่ได้ร้อนอยู่ด้วยกิเลส เป็นการพักผ่อนจากกิเลส จากไฟคือกิเลส นี้มันก็พอดีกัน อย่างน้อยเราก็นอนหลับเสียตั้งแปดชั่วโมง ใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ นี้ไฟกิเลสไม่ได้เผาเรา เราก็อยู่กับความว่างจากกิเลส ให้ชีวิตมันรอดอยู่ได้
ฉะนั้นความที่ว่างจากกิเลสเป็นนิพพานมันมีอยู่พอสมควร เราจึงไม่ตาย คือเราจึงไม่เป็นโรคประสาท เดี๋ยวนี้มันเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นๆ ก็เพราะว่าชีวิตของมันพักผ่อนไม่พอ คือเวลาที่มันอยู่กับพระนิพพานมันน้อยเกินไป มันก็ต้องเป็นโรคประสาท มากเข้ามันก็วิกลจริต มากเข้ามันก็ต้องตาย นี่ ขอบใจพระนิพพานชนิดนี้กันเสียบ้าง มิฉะนั้นจะเป็นสัตว์เนรคุณ เอ้า, ขออภัยอีกแล้ว ใช้คำหยาบอีกแล้ว เป็นสัตว์เนรคุณต่อพระนิพพาน ซึ่งเข้ามาแทรกแซงอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่เป็นระยะๆ ให้ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ให้ไม่ต้องเป็นบ้า ให้ไม่ต้องตาย ขอบคุณพระนิพพานชนิดนี้กันไว้ทุกคน มิฉะนั้นจะเป็นอะไร เป็นสัตว์เนรคุณ นี่มันต้องพูดอย่างนี้ เพราะมันพูดอย่างอื่นมันก็ไม่ตรงกับความหมายนี่ อย่าเป็นสัตว์เนรคุณต่อพระนิพพาน ที่ช่วยประคับประคองชีวิตไว้ในชีวิตประจำวันอยู่ทุกวันๆทั้งเดือนทั้งปี ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นบ้าไม่ตาย
ฉะนั้นวิธีการที่พุทธศาสนาจะช่วยได้ หรือธรรมะในพระพุทธศาสนาจะช่วยได้ ให้มีความเยือกเย็นแห่งชีวิต หล่อเลี้ยงชีวิตไว้อย่างเพียงพอ ไม่แห้งตายไป นี่เรียกว่า มีอะไรดีกว่านี้ มีอะไรที่ดีกว่านี้ ลองหามาดู มีอะไรที่ดีกว่านี้ แล้วจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่มีปัญหา ไม่มีภาระ ไม่มีความทุกข์ ชีวิตนี้เยือกเย็นไม่มีปัญหา ที่ผูกพันยุ่งยากลำบากไปหมด ไม่มีภาระไม่มีอะไรหนักอกหนักใจสุมทับอยู่บนจิตใจ ไม่มีความทุกข์ คือไม่มีสิ่งใดทรมานจิตใจ ไม่มีปัญหา ไม่มีภาระ ไม่มีความทุกข์ แล้วจะเอาอะไรกันอีก มันก็เรียกว่าดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ชีวิตเย็น ชีวิตเย็น ปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ต้องใช้เงินสักสตางต์เดียว จะได้ชีวิตเย็น ช่วยจำไว้ว่าถ้ามันเป็นความสุขที่แท้จริงที่ถูกต้องแล้ว ไม่ต้องใช้เงินเลย ที่มันต้องใช้เงินมากๆ เงินเดือนไม่พอใช้นั้น มันเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ที่ท่านทั้งหลายบูชากันนัก จนเงินเดือนไม่พอใช้ นั้นน่ะ มันเป็นความเพลิดเพลิน ที่หลอกลวง ส่วนความสุขที่แท้จริงนี้มันไม่ต้องใช้เงินเลย แต่มันต้องการการปฏิบัติที่ถูกต้องในภายใน ในภายใน อย่างพุทธศาสตร์ อย่างมิใช่ไสยศาสตร์ แล้วก็ได้รับความเย็นอกเย็นใจ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ จนกว่าร่างกายมันจะสู้ไม่ไหว มันจะแตกตายทำลายไป มันก็เลิกกัน แต่ว่าตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจะต้อง อยู่ด้วยพระนิพพาน คือความเย็นแห่งชีวิต ไม่มีปัญหารบกวนใจ ไม่มีภาระหนักกดทับใจ ไม่มีความทุกข์ เบียดเบียนใจ เรื่องมันก็จบแหละ เป็นผลดีที่สุดของความมีพุทธศาสตร์ แต่ไสยศาสตร์ไม่ให้ผลอย่างนี้เลย ให้โง่ ให้หลง ให้กลัวอยู่ตลอดไป อยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัวตลอดไป เพราะความโง่ นี่คือผลของไสยศาสตร์ ยังจะต้องกลัวอีกต่อไป
ยังมี อ่า, การถือพุทธศาสนาอย่างไสยศาสตร์ เพราะเอาความโง่ เข้ามาเป็นหลัก ถือพุทธศาสนา อย่างไสยศาสตร์ ถือพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ถือพระพุทธรูปอย่างที่สิงสถิตย์แห่งวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ บวงสรวงอ้อนวอนอย่างเทพเจ้า อย่างพระเจ้าอย่างนี้มันเป็นไสยศาสตร์ ถือพุทธศาสตร์อย่างไสยศาสตร์ มีอยู่ทั่วไป ขออภัย อย่าพูดมากเดี๋ยวจะถูกด่า หยุดไว้แค่นี้พอ เพียงแต่บอกให้รู้ว่า มันยังมีการถือพุทธศาสตร์ อย่างไสยศาสตร์อยู่ในที่ทั่วไป ไปดูเอาเอง ถ้ากลัวก็อย่าทำ อย่าทำก็แล้วกัน ถือพุทธศาสตร์ให้เป็นพุทธศาสตร์ อย่าให้เป็นไสยศาสตร์เลย ชำระเสียให้หมดจากความโง่เขลาชนิดนี้ ให้โลกคือหัวใจสว่างไสว ให้โลกสว่างไสว คือให้หัวใจของเราสว่างไสว เป็นพุทธศาสตร์ ตื่นจากหลับคือกิเลส มีความเป็นมนุษย์ที่ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา
การบรรยายเรื่องไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ก็พอสมควรแก่เวลา พอที่จะ ท่านทั้งหลายจะได้เอาไปคิด ไปนึกได้เป็นหลักเกณฑ์ที่พอจะจดจำเอาไปได้ ไปคิดไปนึกได้ และปรับปรุงความถูกต้องแห่งการถือศาสนา การมีศาสนา การใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์ ของท่านทั้งหลายนี้ ให้ถูกตรงตามความถูกต้อง ตามความจริงแท้ ได้รับประโยชน์เป็นความเยือกเย็นในชีวิต มีชีวิตเย็นเป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.
สาธุ (เสียงผู้ฟังกล่าวพร้อมกัน)