แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในการพัฒนาชีวิตทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้จะกล่าวโดยหัวข้อว่า ส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต เพื่อประกอบการบรรยายครั้งที่แล้วมาให้เข้าใจได้ครบถ้วนเพียงพอยิ่งขึ้น สิ่งที่เรียกว่าชีวิตมันก็มีส่วนประกอบเป็นเครื่องประกอบและก็มีรูปโครงที่สร้างขึ้นมาอย่างไร เหมือนกับสิ่งทั้งหลายด้วยเหมือนกัน ถ้าเรารู้เรื่องนี้ดีก็จะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นดี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต เพราะว่าชีวิตไม่ได้ ... (เสียงชำรุด นาทีที่ 1:44-1:45) ขึ้นด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวล้วนๆในลักษณะง่ายๆเหมือนตุ๊กตาที่ปั้นขึ้นด้วยดินเหนียวกับน้ำ นี่เราจึงต้องสนใจหรือยอมอดทนศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีส่วนซับซ้อนทั้งฝ่ายรูปธรรมและฝ่ายนามธรรม และก็อย่างน่าประหลาดมหัศจรรย์ด้วย
การที่จะรู้เรื่องชีวิตและส่วนประกอบของชีวิตนั้น มันต้องพิจารณากันที่ส่วนประกอบ หรือส่วนผสม หรือสิ่งที่จะมาประกอบกันเป็นชีวิตนั่นเอง หลักทางพุทธศาสนาหรืออีกหลายๆศาสนาในอินเดีย มีกล่าวตรงกันอยู่อย่างหนึ่งคือว่า สิ่งต่างๆจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนประกอบขึ้นด้วยสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธา-ตุ หรือธาตุ คำว่าธาตุเป็นคำสุดท้ายสำหรับการที่จะแยก แยกส่วนออกไปๆ แล้วก็ไปสิ้นสุด สิ้นสุดกันลงเพียงสิ่งที่เรียกว่าธาตุ แล้วก็พอ เพราะอุปกรณ์การศึกษาแยกแยะในสมัยโบราณไม่ได้ละเอียดลออมากเหมือนเดี๋ยวนี้ การศึกษาแยกแยะจึงไปสิ้นสุดลงที่คำว่าธาตุ แล้วก็ตรงๆกันเกี่ยวกับจำนวนของธาตุ ลักษณะของธาตุ ถือว่ามีธาตุอยู่ ๖ ธาตุ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และก็ธาตุวิญญาณ รวมเป็น ๖ ธาตุ หกธาตุนี้ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านี้พอสมควร คือคำว่าธาตุนี้หมายถึงคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆในการทำหน้าที่ประกอบกันเป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้หมายถึงไอ้ปรากฏการณ์ภายนอกที่เห็นๆกันอยู่ แล้วก็เรียกกันอยู่อย่างนั้น เช่นว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุดินหมายถึงดิน ธาตุน้ำหมายถึงน้ำ ธาตุไฟหมายถึงไฟ ธาตุลมหมายถึงลม ธาตุอากาศก็หมายถึงอากาศ เหล่านี้ก็หาไม่ ที่ควรจะรู้ก่อนคือ ๔ ธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ธาตุดินหมายถึงคุณสมบัติที่กินเนื้อที่ มันจึงกลายเป็นของแข็ง เพราะมันกินเนื้อที่ มันรุกเนื้อที่ สำหรับจะยึดกันเป็นโครงสร้างขึ้นมาได้ ธาตุน้ำหมายถึงคุณสมบัติที่ยึดเกาะให้ติดกัน ที่จะเห็นได้ในลักษณะของน้ำ น้ำพยายามจะรวมตัวเป็นสิ่งเดียวกัน จะเกาะเป็นก้อนเดียวกัน จะเกาะเป็นก้อนเดียวกันอยู่เสมอ แต่แล้วมันก็มีลักษณะเป็นของเหลวไหลได้ แต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมันก็คือ การยึดเกาะให้ติดกัน นี่เรียกว่าคุณสมบัติของธาตุน้ำ แล้วก็ธาตุลม ธาตุไฟหมายถึงคุณสมบัติที่ร้อน แสดงความร้อนและแสดงการเผาไหม้ ธาตุลมก็หมายถึงการเคลื่อนไหว แก๊ส มีอาการเคลื่อนไหวลอยไปมาอยู่เป็นปกติ เราจะเห็นได้ง่ายๆเช่นว่า ในเนื้อของคนเรา ตัดเนื้อมาสักท่อนหนึ่ง ก้อนหนึ่ง ก็จะเห็นว่าส่วนที่เป็นของแข็ง เป็นใยเนื้อเกาะยึดกันอยู่นั้นก็มี แล้วส่วนที่เป็นของเหลว คือเลือด เป็นต้น ก็มี ความอบอุ่นหรืออุณหภูมิมันก็มีอยู่ระดับหนึ่ง ในอาการที่เป็นแก๊ส สิ่งที่เป็นแก๊ส มันละเอียด ระเหยอยู่เป็นปรกติ นี่ก็มี นั้นมันกำลังรวมกันอยู่เป็นเนื้อก้อนหนึ่ง แต่ถ้าแยกออกเป็นส่วนๆก็คือไอ้ธาตุทั้งสี่ ดังนั้นคำว่าธาตุดินไม่ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงแผ่นดินหรือก้อนดิน จะหมายถึงสิ่งที่มีคุณสมบัติกินเนื้อที่เป็นของแข็ง ธาตุน้ำก็หมายถึงไอ้คุณสมบัติที่ทำให้เกิดการเกาะยึดกัน ธาตุไฟก็คืออุณหภูมิตามมากตามน้อย ถ้ามันมากมันก็มีการเผาไหม้ ทีนี้ก็ธาตุลม คือการระเหยของแก๊สซึ่งมีอยู่ตามมากตามน้อย ถ้ามันใหญ่โตมันก็เป็นพายุได้ สี่ธาตุนี้เป็นธาตุฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายรูปธรรม เป็นส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นส่วนรูปธรรมคือร่างกาย มีอยู่ ๔ ธาตุ
ทีนี้ธาตุที่ ๕ เรียกว่าอากาศธาตุ แปลว่าที่ว่างสำหรับจะให้สิ่งต่างๆเหล่านั้นอาศัยอยู่ สิ่งที่มีคุณสมบัติว่างให้สิ่งอื่นเข้าอาศัยได้ นั้นน่ะคือธาตุอากาศหรือธาตุว่าง ต้องมี ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆก็มีไม่ได้เพราะไม่มีที่อาศัย นี่ก็เป็นธาตุ นับเป็นธาตุๆหนึ่งด้วยเหมือนกัน มีคุณสมบัติเป็นที่รองรับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้ตั้งอาศัยอยู่ได้
นี่ธาตุสุดท้ายคือธาตุวิญญาณ หรือธาตุจิต ธาตุใจ นี่เป็นการกล่าวตามหลักวิชาความรู้ร่วมกันในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย เรียกว่าธาตุจิต หรือธาตุใจ หรือธาตุวิญญาณ ไม่เหมือนกับไอ้ ๕ ธาตุข้างต้น เพราะมันเป็นธาตุฝ่ายนาม ฝ่ายนามคือน้อมไปได้ คือหมายถึงคิดนึกรู้สึกได้นั่นเอง ไม่ใช่วัตถุ ไม่มีวัตถุ ไม่มีตัววัตถุ แต่เป็นคุณสมบัติที่รู้สึกอะไรได้ น้อมไปได้ น้อมไปได้ตามอารมณ์ที่มากระทบ นี่ถือว่าเป็นธาตุสำคัญที่ทำให้เกิดมีสิ่งที่มีชีวิตซึ่งมีความรู้สึก ส่วนอากาศธาตุนั้น จะเรียกว่าสำคัญก็ได้ ไม่สำคัญก็ได้ แต่มันก็สำคัญที่ว่า ถ้าไม่มีธาตุอากาศ ธาตุว่างแล้ว ก็ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้ ไม่มีที่ให้ตั้ง ธาตุที่เป็นฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกาย ดิน น้ำ ไฟ ลมนี่ก็ตั้งอาศัยอยู่บนที่ว่าง ทีนี้ธาตุที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นฝ่ายร่างกายนี้ก็เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งธาตุจิต ธาตุวิญญาณนั้นอีกทีหนึ่ง แปลว่าทั้ง ๖ ธาตุเมื่อสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว อาศัยกันถึงที่สุดแล้ว มันก็เกิดมีสิ่งที่มีชีวิต ดังนั้นชีวิตคนๆหนึ่งจึงประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ธาตุเป็นพื้นฐาน ทำความเข้าใจให้ชัดเจนในข้อนี้ ว่าพวกที่เป็นรูปหรือเป็นวัตถุนั้นมีอยู่ ๔ ธาตุ ที่เป็นนามหรือเป็นจิตมี ๑ ธาตุ ส่วนที่เป็นเพียงที่ว่าง ที่ตั้งอาศัยให้ๆๆไอ้ของอื่นตั้งอาศัยอยู่ได้นั้น ๑ ธาตุ นี่ก็น่าสนใจหรือน่าอัศจรรย์ที่ท่านจัดสิ่งที่มีคุณสมบัติเป็นที่ว่างให้สิ่งอื่นได้อาศัยนั้นก็จัดเป็นธาตุๆหนึ่งด้วยเหมือนกัน เราก็เลยได้ธาตุเป็น ๖ ธาตุขึ้นมา ทีนี้ใน ๖ ธาตุนั้น เป็นเรื่องของวัตถุคือรูปธรรมเสีย ๔ ธาตุ เป็นเรื่องของจิตหรือวิญญาณเสีย ๑ ธาตุ และเป็นกลางๆเป็นที่ตั้งที่อาศัยของธาตุอื่นๆเสีย ๑ ธาตุ นี่ก็จะได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของคนเรา คือถือว่าเมื่อร่างกายได้เกิดมามีชีวิต เป็นชีวิต เป็นคนขึ้นมาแล้ว ย่อมสมบูรณ์อยู่ด้วยธาตุทั้งหก และพร้อมที่จะทำหน้าที่ของแต่ละธาตุ
ทีนี้ธาตุที่เป็นวัตถุ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี่ ก่อให้เกิดอายตนะส่วนที่เป็นวัตถุ คือไม่ใช่จิต ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี่ ให้เกิดอายตนะที่เป็นวัตถุ ที่เป็นภายในก็คือ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่แท้มันเป็นระบบหนึ่ง เป็นระบบหนึ่งๆ ระบบตา ระบบหู ระบบจมูก ระบบลิ้น ระบบกาย และเป็นอายตนะอยู่ภายนอกตัวคนอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าอายตนะภายนอก ได้แก่รูป รูปที่จะมากระทบตา เสียงที่จะมากระทบหู กลิ่นที่จะมากระทบจมูก รสที่จะมากระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่จะมากระทบผิวหนัง เป็นความรู้สึกทางผิวหนัง มันได้เป็นอายตนะประเภทที่เป็นวัตถุขึ้นมาครบ ๕ คู่ ๕ คู่ ทีนี้ส่วนที่เป็นวิญญาณธาตุนั้นน่ะ มันก่อให้เกิดอายตนะภายใน คือจิตหรือมโนขึ้นมา และก็มีของคู่กันเป็นอายตนะภายนอก คือธรรมารมณ์ต่างๆ ที่จะเข้าไปกระทบจิตให้จิตรู้สึกได้ มันจึงเป็นคู่ คู่เดียวฝ่ายจิต ๕ คู่ฝ่ายวัตถุ
คำว่าอายตนะ อายตนะนี่แปลว่าสิ่งที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ สามารถทำการสัมผัสได้ และสามารถจะรู้สึกได้ นั่นคือตารู้จักรูป หูรู้จักเสียง จมูกรู้จักกลิ่น เป็นต้น ถ้าว่าคนเราไม่มีอายตนะเหล่านี้ คือไม่มีระบบตา ระบบหู ระบบจมูก ระบบลิ้น ระบบผิวหนังแล้ว มันก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นวัตถุ โลกก็เลยไม่มี ที่โลกมันปรากฏว่ามีอยู่อย่างที่เรารู้สึกอยู่นี้ก็เพราะว่าเรามีระบบตา หู จมูก ลิ้น กาย และถึงกันเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในภายนอกเหล่านั้น คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทีนี้ส่วนฝ่ายระบบจิตนั่นก็มี อายตนะภายในที่เรียกว่าจิตก็ได้ เรียกว่ามโน โดยทั่วไปเรียกว่ามโน มีคู่กระทบก็คือความรู้สึกต่างๆที่ได้เคยรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กายมาแต่ก่อน เหลืออยู่เป็นสัญญาในอดีต สัญญาในอดีตนี้ทำให้เกิดความรู้สึก เป็นความคิดเป็นอะไรขึ้นมาสำหรับจะกระทบจิต เมื่อเรามีที เรามีระบบร่างกาย ระบบจิตใจ ระบบร่างกายก็มีแยกได้เป็น ๕ ส่วน ระบบจิตใจก็มีอยู่เพียง ๑ ส่วน ทั้งหมดล้วนแต่อาศัยระบบที่ว่างคืออากาศให้ตั้งอยู่ได้
ทีนี้พิจารณาดูโดยละเอียดอีกนิดหนึ่ง ก็เช่นว่า ตา หู เป็นต้นนี้ มันต้องมีส่วนที่เป็นเนื้อ เป็นเนื้อ เป็นธาตุดินน่ะ เป็นก้อนลูกตา แล้วก็มีที่ละเอียด ชั้นละเอียดประณีตเป็นประสาท เรียกว่าประสาทตา ประสาท ประสาทตาได้อาศัยลูกตารวมกันเป็น ๑ ระบบ เรียกว่าระบบตา หูก็มีประสาทหูรวมกันกับไอ้ตัวหู เป็นระบบหูที่จะได้ยินอะไรได้ จมูกก็มีประสาทสำหรับจะรู้กลิ่น แล้วก็มีเนื้อจมูกเป็นที่ตั้ง ลิ้นก็มีประสาทที่ลิ้น และก็รู้รสที่ลิ้น ทางลิ้น ผิวหนังนี่ก็มีประสาทอยู่ทั่วไป จึงรู้ความรู้สึกทางผิวหนังได้ นี่เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุ ไม่ใช่เรื่องฝ่ายจิตใจ แม้จะเป็นเรื่องระบบประสาทมันก็ยังเป็นเรื่องฝ่ายวัตถุ ที่ให้ความสะดวกความพร้อมที่ให้จิต ให้ฝ่ายจิตมาทำหน้าที่รู้สึก ดังนั้นไอ้พวกกาย พวกรูปทั้งหลายก็เป็นเสมือนหนึ่งที่ตั้งที่อาศัย ที่ทำงานเหมือนกับออฟฟิศสำหรับทำงานของพวกจิตหรือพวกระบบจิต ระบบจิตตั้งอาศัยเป็นที่ทำงานอยู่ที่ระบบวัตถุ หรือรูปหรือกาย รวมเข้าเป็นคนเดียวกัน เป็นคนๆหนึ่งซึ่งจะต้องมีสิ่งเหล่านี้อย่างครบถ้วน ครบถ้วนสำหรับจะรู้จักสิ่งต่างๆในโลก อันนี้มันพูดยากว่าถ้าเราจะมีให้เกิน ๖ จะได้หรือไม่ มันก็ ก็พอจะได้เหมือนกัน แล้วมันก็จะได้รู้สึกอะไรอีกบางอย่าง ซึ่งเดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกเพราะเรามีเพียง ๖ มีเครื่องมือจะรู้สึกเพียง ๖ มันก็รู้สึกได้เพียง ๖ ถ้าเรามีเครื่องมือลดลงมาเพียง ๕ เพียง ๔ เราก็จะรู้จักสิ่งต่างๆในโลกเพียง ๕ หรือเพียง ๔ หรือลดมาเพียง ๓ เพียง ๒ เช่นมีแต่ระบบตากับระบบหู ไม่มีระบบอื่นๆ มันก็เหลืออยู่แค่ ๒ ระบบ แต่เดี๋ยวนี้มันได้เป็นมาอย่างนี้แล้ว เป็นธรรมดาสามัญในสิ่งที่มีชีวิตมี ๖ ระบบ เป็นฝ่ายร่างกาย ๕ ระบบ เป็นฝ่ายจิต ๑ ระบบ ก็ทำงานประสานกันอย่างดีที่สุด ที่มันเป็นส่วนกายหรือส่วนรูปนั้นก็เรียกพวกรูป จัดเป็นพวกรูป ที่เป็นส่วนจิตวิญญาณนั้น เรียกว่าเป็นส่วนนาม จึงมีกลุ่มรูปอยู่ ๕ ๕ ส่วนประกอบ แล้วก็มีกลุ่มนามอยู่ ๑ ส่วน
คำว่ารูปนี่มีความหมาย ๒ ชนิด ทำให้กำกวมได้ รูปในความหมายหนึ่งก็คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา คือสิ่งที่เราจะเห็นได้ด้วยตาก็เรียกว่ารูป เช่นคำว่า Form คำว่า Sight นี่ก็คือรูป ภาษาบาลีก็เรียกว่ารูป อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของวัตถุ ไม่เกี่ยวกับเห็นด้วยตา หรือไม่เกี่ยวกับตาอย่างเดียว เกี่ยวกับอย่างอื่นก็ได้ เป็นฝ่ายวัตถุก็เรียกว่ารูป เพื่อจะแยกกันให้ชัดสักหน่อย รูป รูปในความหมายที่ว่ารู้สึกได้ด้วยตานั้นน่ะ เราใช้ความว่า Form Form ทีนี้ส่วนรูปที่เหมือนกับเป็นวัตถุที่ไม่ใช่จิตใจ เป็นรูปอะไรก็ได้ ก็เรียกว่า Corporeality Corporeality ทั้ง Form และทั้ง Corporeality เรียกเป็นบาลีว่ารูปด้วยกันทั้งนั้น แต่มันก็ต่างกันมาก คำว่า Form สำหรับตาอย่างเดียว คำว่า Corporeality หมายถึงหู จมูก ลิ้น กายอะไรด้วยก็ได้เป็น ๕ อย่าง คือเป็นฝ่ายรูปธรรม มีลักษณะเป็นรูปธรรม ทีนี้น่าจะเรียกให้มัน ให้มันชัดเจนสักหน่อยว่า รูปเรียกว่า Form รูปธรรมเรียกว่า Corporeality แต่ไอ้รูปที่เรียกว่า Form มันก็เป็น Corporeality ด้วยเหมือนกัน นี่มันๆๆลำบากในการที่จะพูดจา แต่เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็พูดได้ เราเข้าใจได้ เมื่อมันมีกลุ่มรูป เป็นพวก Corporeality มีกลุ่มนามหรือจิตเป็น Mentality หมายถึงนาม นามทั่วไป จะจิต หรือจะมิใช่จิต หรือจะเป็นเจตสิกอะไรก็ตาม เรียกว่าเป็นนาม เป็นนาม ถ้าพูดว่าจิตมันหมายถึงแต่จิตที่รู้สึกอะไรได้ ไม่หมายถึงส่วนประกอบของจิต นี่ก็จึงใช้คำว่านาม ให้ความหมายมันกว้างออกไป หมายถึงที่เป็นจิตก็ได้ ที่เป็นเจตสิก คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตก็ได้ เรียกว่านาม
นี้เรายังมองเห็นได้ว่า คนเราคนหนึ่งประกอบอยู่ด้วยรูปและนาม คนๆหนึ่งมีส่วนที่จะเป็นรูป ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นนาม ๑ คือธาตุวิญญาณ และมีอากาศธาตุหรือที่ว่างเป็นสื่อสำหรับให้ตั้งอาศัย ให้สัมพันธ์ ให้อะไรกันได้ เข้าใจคำว่านามและรูปให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่มีรูป ไอ้นามหรือใจก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีใจ รูปหรือนามก็ไม่มีอะไรจะชัก จะชักให้ ให้เคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่จึงต้องประกอบอยู่ด้วย รูปและนาม คือส่วนร่างกายและส่วนจิตใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียว อันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป เพราะพอแยกออกจากกันเข้ามันก็ตาย ถ้ามันเข้ามาถึงกันเข้า อาศัยกันอยู่ มันก็ไม่ตาย มันทำอะไรได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่ารูปนาม หรือนามรูป ในภาษาบาลีก็เรียกว่า นามรูป ทั้งสองอย่างรวมกันเป็นสิ่งเดียว คำพูดนี้เป็น เอกวจนะ เป็นสิ่งเดียว เรียกว่านามและรูป เพราะเหตุที่ว่าแยกกันไม่ได้ สิ่งเดียวจึงมี ๒ ซีก ซึ่งรวมกันอยู่เป็นสิ่งเดียว เราก็เรียกว่านามรูป นามรูป หรือที่เราจะเรียกกันโดยสมมติ โดยสมมติว่าเป็นคนๆหนึ่ง เป็นคนๆหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่ง ก็เรียกโดยสมมติว่ามนุษย์คนหนึ่ง แต่ถ้าเรียกดามตามความเป็นจริงของมันก็คือนามและรูปที่ประกอบกันอยู่
ทีนี้จะต้องรู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ไปตามลำดับที่มันจะทำให้มีเรื่อง เป็นเรื่องเป็นราว หรือมีหน้าที่การงาน หรือมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาได้ ฉะนั้นจะดูกันในส่วนที่เป็นฝ่ายรูป ฝ่ายกาย ฝ่ายร่างกายนี้ก่อน เรามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อย่างที่กล่าวแล้ว ผสมกัน ร่วมมือกันอย่างถูกสัดส่วน มันก็เกิดอายตนะที่เป็นภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ที่เป็นภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ เป็นคู่ๆกัน ๕ คู่
ทีนี้ที่เป็นรูปนี่ก็เพราะว่ามันเป็นรูปธรรม เรียกว่ารูปธรรมหมดทั้ง ๕ คู่ ทั้ง ๕ คู่นี้เรียกว่ารูปธรรมหมด ไม่ใช่รูปเพียงสิ่งเดียวที่คู่กันกับตา มันก็รูปและก็เป็นรูปธรรมด้วยเหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ นี้ก็เป็นรูปธรรม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ นี้ก็เป็นรูปธรรม เป็น ๕ คู่ ซึ่งมีธรรมชาติของมันว่า ถ้าถึงกันเข้าเมื่อไรก็จะเกิดวิญญาณ คือวิญญาณธาตุมาทำหน้าที่ เกิดวิญญาณปรากฏ คือเมื่อตากระทบกันเข้ากับรูป ก็เกิดวิญญาณทางตา เมื่อหูกระทบกันเข้ากับเสียง ก็เกิดวิญญาณทางหู จมูกกระทบกันเข้ากับกลิ่น ก็เกิดวิญญาณทางจมูก ลิ้นกระทบกันกับรส ก็เกิดวิญญาณทางลิ้น ผิวหนัง ผิวกายหรือกายนี่กระทบกับโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบผิวหนัง ก็เกิดวิญญาณทางกายหรือทางผิวหนัง นี่เราก็มีวิญญาณ ๕ ไปตามจำนวนของอายตนะที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องจับใจความที่สำคัญที่สุดให้ได้ว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเมื่อใด ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณขึ้นที่อายตนะนั้นๆ คือที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายน่ะ อายตนะภายในคือสื่อที่อยู่ภายใน อายตนะภายนอกคือสื่อที่อยู่ภายนอก พอทบ กระทบถึงกันเข้าแล้ว ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ จากวิญญาณธาตุ จากวิญญาณธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาทำหน้าที่ปรากฏขึ้นที่อายตนะเหล่านี้ นี่เป็นวิญญาณ ๕ ชนิดที่เนื่องกันอยู่กับวัตถุหรือร่างกาย
เอ้า, ทีนี้ไปดูฝ่ายจิตใจบ้าง อายตนะภายในคือมโนหรือใจนั้นน่ะ ได้กระทบกันเข้ากับธรรมารมณ์ คือสิ่งที่เป็นความรู้สึกทางใจ มันก็เกิดวิญญาณ คือมโนวิญญาณขึ้นมาเป็นฝ่ายใจ เอามารวมกันเข้ากับวิญญาณฝ่ายกายที่อยู่มี ๕ ก็เลยได้เป็น ๖ วิญญาณ ๖ วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ และทางใจ เป็นวิญญาณ ๖ อายตนะก็ได้เป็น ๖ ที่อยู่ข้างในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะที่อยู่ข้างนอกก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเลยเป็นเรื่อง ๖ ทั้งนั้น ถ้าเอามารวมกันเข้า ทั้งฝ่ายนามและฝ่ายรูป ถ้าแยกกันอยู่ฝ่ายรูป มันจะได้ ๕ ๕ ระบบ ฝ่ายนามหรือฝ่ายจิตมันจะได้ ๑ ระบบอย่างนี้เสมอไป
ทีนี้ก็ดูพฤติต่อไป ว่าเมื่ออายตนะภายนอก อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ถึงกันเข้าแล้วก็เกิดวิญญาณตามชื่อของอายตนะนั้นๆ นี่เกิดวิญญาณ มันเลยได้เป็น ๓ เส้า เป็น ๓ เส้าขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ตากระทบรูป เกิดวิญญาณทางตา มันได้เป็น ๓ สิ่งขึ้นมา คือตากับรูป และวิญญาณทางตา เป็น ๓ อย่างนะ ปนกันไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่สิ่งเดียวกันด้วย ส่วนที่เป็นระบบตา ที่เป็นระบบรูปข้างนอก พอถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณทางตา นี่เป็นนาม เป็นฝ่ายนาม ๓ อย่างนี้ ทำงานด้วยกันอยู่คือถึงกันอยู่ หรือว่าวิญญาณทางตารู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่ารูปโดยอาศัยตา นี่ก็เรียกว่าผัสสะ ผัสสะ คำนี้สำคัญมาก เป็นเงื่อนต้น เป็นต้นตอ เป็นที่รวบรวมแห่งเรื่องทั้งหลายทั้งปวง คำว่าผัสสะ ผัสสะ หรือบางทีก็เรียกว่าสัมผัส สัมผัส ก็เหมือนกัน จะเรียกว่าผัสสะ หรือจะเรียกว่าสัมผัส มันก็คือการกระทบของสิ่งทั้ง ๓ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ถ้าเข้าใจไอ้กลไกของสิ่งเหล่านี้ให้ดีแล้วก็จะง่าย นี่มันมาถึงว่า อายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอกเกิดวิญญาณ เมื่อ ๓ ประการนี้ยังถึงกันอยู่ ยังไม่แยกจากกัน นี่เรียกว่าผัสสะ ทีนี้ครั้นมีผัสสะแล้ว ก็เป็นเหตุให้มีเวทนา คือรู้สึกเป็นเวทนาขึ้นที่อายตนะ ที่ระบบประสาท ที่ทำให้รู้สึกได้เป็นเวทนา เวทนาที่เป็นสุข เวทนาที่เป็นทุกข์ เวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ครั้นเวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสัญญา คือความมั่นหมายในเวทนานั้น ว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร เป็นเวทนาดีชั่ว เวทนาสุขทุกข์ เวทนาหญิง เวทนาชาย เวทนาอะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้เรียกว่าสัญญา ความมั่นหมายก็ได้เกิดขึ้นในสิ่งนั้น ครั้นสัญญามั่นหมายเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังขาร คือความคิดนานาชนิดเกี่ยวกับสัญญานั้น สัญญาหมายมั่นว่าอย่างไรมันก็จะเกิดความคิดอนุโลมกันกับสัญญานั้นเสมอ นี้ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังขาร ทีนี้เมื่อมีสังขารอย่างนี้เราก็ได้ครบ ได้วิญญาณ ที่เมื่ออายตนะนอกในกระทบกัน ก็ได้เวทนา ได้สัญญา ได้สังขาร ก็รวมเป็น ๕
วิญญาณนี้ทำหน้าที่ได้หลายระยะ แรกกระทบของอายตนะก็เกิดวิญญาณทางอายตนะ ครั้นเกิดเวทนาเป็นต้นแล้ว มโนก็สัมผัสเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ก็เกิดวิญญาณทางมโน ฉะนั้นวิญญาณจึงเกิดได้ขั้นทั้งข้างต้น ทั้งตรงกลาง ทั้งข้างปลาย เรียงลำดับจึงเรียงเอามาไว้สุดท้าย เรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทบทวนให้เข้าใจอย่าให้ฟั่นเฝือได้ ว่าเมื่อตา ยกตัวอย่างกรณีของตา เมื่อตากับรูปกระทบกันก็จะเกิดวิญญาณทางตา สามอย่างนี้กำลังทำงานด้วยกันอยู่ก็เรียกว่าผัสสะ เพราะมีผัสสะก็ต้องเกิดเวทนา คือรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกยินดียินร้าย ถูกใจไม่ถูกใจ เกิดเวทนาแล้วก็ต้องเกิดสัญญา สำคัญมั่นหมายลงที่เวทนานั้นว่าเป็นอย่างไรต่อไป ครั้นมีสำคัญมั่นหมายอย่างไรแล้วก็เกิดความคิด ความนึกที่จะกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้น นี่เรียกว่าสังขาร เราเลยได้ครบ ๕ เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ คือส่วนที่เป็นรูป เป็นระบบรูป เรียกว่ารูปขันธ์ ส่วนที่เป็นเวทนาก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ ส่วนที่เป็นสัญญาเรียกสัญญาขันธ์ ที่เป็นสังขารเรียกสังขารขันธ์ ที่เป็นวิญญาณทุกขณะไม่ว่าตอนไหน รวมเรียกว่าวิญญาณขันธ์ นี่ในชีวิตคนเราแต่ละวันๆ มันจึงมีการเกิดขันธ์ ๕ นี่ รอบแล้วรอบเล่า รอบแล้วรอบเล่า จนจะนับไม่ไหว เรียกว่าเกิดรูปขันธ์ เกิดเวทนาขันธ์ เกิดสัญญาขันธ์ เกิดสังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นี่ก็คือปกติภาวะของชีวิต ย่อมเกิดขันธ์ทั้ง ๕ อยู่อย่างนี้
ทีนี้มันยังมีเรื่องที่สำคัญกว่านั้น หมายความว่าถ้าเกิดขันธ์แต่ละขันธ์ ขันธ์ใดขึ้นมาแล้ว มีจิตไปหมายมั่นด้วยอวิชชาว่าขันธ์นั้นเป็นตัวกู หรือว่าขันธ์นั้นเป็นของกูขึ้นมาอย่างนี้ ไอ้ขันธ์เฉยๆก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ กัดเจ้าของ คือกัดจิตที่เข้าไปยึดถือเอาเป็นของตนนั่นน่ะ ขันธ์เฉยๆเราเรียกว่าขันธ์ ถ้ามีอุปาทาน เข้าไปยึดเอาขันธ์นั่นเข้าแล้วก็กลาย ได้ชื่อใหม่ว่าอุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง ขันธ์เฉยๆไม่ทำอะไรใคร ไม่หนัก ไม่เบา ไม่เผ็ด ไม่ร้อนไม่อะไรแก่ใคร เป็นขันธ์เท่านั้น แต่ถ้าขันธ์นั้นมีการยึดมั่นโดยอุปาทานโง่มาจากอวิชชา จิตยึดมั่นขันธ์เป็นตัวกู เป็นของกู หรือเป็นตัวตนเป็นของตน มันก็เกิดความทุกข์ เป็นอาการแห่งความทุกข์ เช่นร้อนบ้าง เผารนบ้าง หนักบ้าง ผูกมัด ครอบงำ ย่ำยี ทิ่มแทงบ้าง นี่มันจึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ขันธ์กับอุปาทานขันธ์ต่างกันอย่างนี้ ไอ้ขันธ์คือไอ้ขันธ์ที่ไม่ ไม่ได้ยึดถือ จิตไม่ได้ยึดถือ อุปาทานขันธ์คือขันธ์ที่จิตยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ นี่เรารู้เรื่องขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่มีความยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ รู้เรื่องขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานเข้าไปยึดแล้วก็เป็นทุกข์ อุปาทานนี่คือความเข้า เข้าใจผิดให้เป็นตัวเป็นตน เกิดมาจากอวิชชาความโง่ของบุคคลนั่นเอง นี่เราจึงมีทุกข์ เรื่องมาจบลงที่ความทุกข์ นับตั้งแต่ว่ามีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ปรุงกันขึ้นเป็นอายตนะภายนอก ภายใน มาสัมพันธ์กัน เกิดวิญญาณ และเกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา อ๊ะ, เกิดเวทนา เกิดสัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ ๕ ถ้าไม่เกิดการยึดมั่นถือมั่นก็ดีไป ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไปเผลอไปเกิดยึดมั่นถือมั่นเพราะด้วยเหตุใดก็ตามมันก็เป็นทุกข์ นี่มันมาจบลงที่ความทุกข์อย่างนี้ นี่ชีวิตธรรมดาสามัญของคนธรรมดาสามัญ
ที่กล่าวอย่างนี้ เรียกว่าเราดูกันในแง่ของขันธ์ ๕ เกิดเป็นขันธ์ ๕ แต่มีแง่อื่น วิถีทางอื่นที่จะดูอีก เรียกว่าในแง่ของปฏิจจสมุปบาท มันก็ไปเป็นเรื่องดำเนินไปจนถึงเป็นทุกข์เหมือนกัน แต่คำกล่าวหรือวิธีพูดน่ะ มันอาศัยหลักอีกอย่างหนึ่ง ตอนต้นเหมือนกัน คอยฟังให้ดี จะว่ามาตั้งแต่ต้นที่สุดว่า มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันขึ้นเป็นอายตนะภายในภายนอก อายตนะภายในภายนอกถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ แล้วทั้ง ๓ อย่างนี้ ทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ พอเกิดผัสสะแล้วก็ต้องเกิดเวทนา เกิดเวทนา จึงเหมือนกันกับเรื่องขันธ์ พอเกิดเวทนาแล้วไอ้แนวนี้จะๆๆนับไปเป็นเกิดตัณหา พอเกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็เกิดตัณหาคือความอยากโดยสมควรแก่เวทนานั้น เวทนาเป็นสุขก็อยากได้อยากเอา เวทนาเป็นทุกข์ก็อยากทำลายอยากผลักไส เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์ก็โง่หลงใหลต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอะไร นี่เรียกว่าเกิดตัณหาคือความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น ครั้นเกิดตัณหาคือความอยากแล้ว มันก็เป็นธรรมดาธรรมชาติที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก เรียกว่าอุปาทาน และก็อยากเอามาเป็นของกู นี่ตัณหาให้เกิดอุปาทานอย่างนี้ เกิดอุปาทานแล้วก็เกิดภพ คือความมีแห่งบุคคลนั้นก็ลุกขึ้นมา มันก็มีความรู้สึกเป็นชาติ เป็นบุคคลนั้นในความรู้สึก เป็นตัวกูเป็นของกูเต็มความหมาย พอมีชาติ เป็นตัวกูของกู แล้วก็เอาอะไรทุกๆอย่างมาเป็นตัวกูมาเป็นของกู มันก็เกิดทุกข์ทุกชนิด แปลว่าจบลงด้วยความทุกข์เหมือนกัน
ในแนวที่มองดูเป็นขันธ์ทั้ง ๕ มันก็เกิดเป็นขันธ์ทั้ง ๕ แล้วก็ยึดถือเป็นตัวตนหรือของตนมันก็เป็นทุกข์ ในแนวที่เป็นปฏิจจสมุปบาทก็เกิดมาตามลำดับๆๆ เป็นอันสุดท้ายเกิดภพเกิดชาติ เกิดตัวกูเต็มที่แล้วก็เกิดทุกข์ ทุกข์เหมือนกัน นี่ทุกข์ทั้งปวง
นี่ทีนี้ฝ่ายๆ ฝ่ายวิญญาณธาตุ ดูฝ่ายวิญญาณธาตุซึ่งก็มีอาการคล้ายกันน่ะ นี่มัน ๕ คู่ ไปตามคู่ ๕ คู่ๆ จนเกิดอุปาทานและเกิดทุกข์ ทีนี้ทางฝ่ายนามหรือฝ่ายจิตมันคู่เดียวเท่านั้น คือมโนกับธรรมารมณ์ จิตเกิดมาจากวิญญาณธาตุ เหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว วิญญาณธาตุซึ่งเป็นธาตุตามธรรมชาติก็ปรุงตัวเองได้เป็นจิตเป็นมโนขึ้นมา เมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน วิญญาณธาตุทำให้เกิดอายตนะภายในคือใจ และเกิดอายตนะภายนอกที่จะมากระทบใจ ใจกับอารมณ์ของใจกระทบกันแล้ว มันก็เกิดเป็นวิญญาณทางใจ มันก็เลยได้ ๓ อย่างอีกเหมือนกันหมดแหละ ๓ อย่าง คือตัวอายตนะภายใน ตัวอายตนะภายนอกและตัววิญญาณ ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่ก็เรียกว่าผัสสะ
ในกรณีของขันธ์ ๕ มันก็เกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างเดียวกันแหละ แต่ด้าน ฝ่ายด้านจิตใจเกิดมาทางภายในจากต้นเหตุคือจิตใจ มันก็เลยเป็นที่ตั้งความยึดถือ เป็นเว เป็นๆอุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์อย่างเดียวกับเรื่องของฝ่ายวัตถุ เรื่องของฝ่ายวัตถุ ๕ คู่ เป็นขันธ์ล้วนๆไม่เป็นทุกข์ พอยึดถือเป็นอุปาทานขันธ์ก็เป็นทุกข์ ข้อนี้เป็นอย่างไร ฝ่ายคู่จิตหรือคู่นามนั้นก็เหมือนกัน มันก็เกิดอายตนะภายนอกภายใน เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดสังขาร สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำนองเดียวกันน่ะ พอยึดถือก็เป็นทุกข์ ถ้า นี่เป็นเรื่องธรรมดาก็คือไม่มีสติ เพราะฉะนั้นมันก็เกิดในแง่ของปฏิจจสมุปบาท ถ้าจะเหลือบไปใน ดูในสายปฏิจจสมุปบาท มันก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ อย่างเดียวกันกับที่เป็นเรื่องทางฝ่ายวัตถุ
ทีนี้มีเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้ ตอนที่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะน่ะ ผัสสะของไอ้ของ ๕ คู่ หรือของ ๑ คู่ตอนท้ายนี้ก็ตาม พอถึงผัสสะ เกิดผัสสะแล้วนั้น มันมีทางแยก คือเป็นผัสสะที่มีสติกับผัสสะที่ไม่มีสติ คือถ้าผัสสะตามธรรมชาติตามธรรมดาไม่มีสติ คุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นไปตามธรรมดา มันก็เกิดเป็นตามธรรมดา เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติจนเป็นทุกข์ เพราะผัสสะมันโง่ ผัสสะนั้นมันโง่ไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะเกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นผัสสะโง่ ก็เลยเกิดไปตามลำดับๆๆ จนกระทั่งเป็นทุกข์ถึงที่สุด
ทีนี้ในกรณีพิเศษคือของบุคคลที่ได้ศึกษาอบรมธรรมะแล้ว ฝึกฝนจิตใจคล่องแคล่วอยู่ในการควบคุมจิตแล้ว มันกลายเป็นเวทนาที่ เป็นผัสสะที่มีสติ พอมีอะไรมาผัสสะ มีผัสสะเกิดขึ้นแล้วก็มีสติเกิดขึ้นด้วย ติดตามมาด้วยพร้อมกัน สตินี้เป็นเหตุให้ระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรคืออะไร อะไรเพื่ออะไร สตินี้ทำให้ผัสสะนั้นฉลาด ผัสสะนั้นไม่โง่ มันก็ไม่ไม่เกิดผลอย่างเดียวกับในกรณีของผัสสะโง่ ในกรณีของผัสสะฉลาดจะไม่เกิดผลอย่างเดียวกับในกรณีของผัสสะโง่ ในกรณีของผัสสะโง่มันก็เกิดอุปาทานขันธ์ หรือเกิดปฏิจจสมุปบาทชนิดที่เป็นทุกข์ ถ้าในกรณีที่ผัสสะมันฉลาด มันก็เกิดเพียงเวท เกิดเพียงขันธ์ล้วนๆ ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ มันก็ไม่เป็นทุกข์ และในๆสายของปฏิจจสมุปบาท มันก็ไม่ ไม่เดินไปตามสายนั้น มันหยุดชะงักที่สติมีในผัสสะ ไม่เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานจนเป็นทุกข์ แต่มีสติเต็มที่ในขณะของผัสสะ สตินั้นเป็นเหตุให้รู้ว่า นี่คืออะไร นี่คืออย่างไร นี่เพื่ออะไร มันก็มีความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับผัสสะอันนี้ จะเกิดเวทนาหรือไม่เกิดเวทนามันก็รู้เสียแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วก็ทำไปตามที่สมควร เป็นกิจที่ทำไปตามสมควรอย่างถูกต้อง มันก็สำเร็จกิจแล้วก็ไม่มีทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทไม่ได้เดินไปในรูปที่เป็นทุกข์ กลายเป็นเดินไปในรูปที่ว่ามีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ คือรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรก็ทำไปอย่างถูกต้อง ก็เลยไม่มีทุกข์
นี่คือเค้าโครงของพฤติของชีวิต ว่าชีวิตมันมีเค้าโครงอยู่อย่างนี้ มีส่วนประกอบต่างๆๆๆกันอย่างที่ว่ามาแล้ว
ที่เป็นธาตุก็เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ แล้วมันปรุงกันขึ้นเป็นอายตนะภายในภายนอก ก็ทำให้เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานแล้วแต่กรณี เราจึงรู้ให้ รู้ รู้จักให้ดีในขณะที่เรียกว่าผัสสะ เมื่ออายตนะภายในภายนอกและวิญญาณทำหน้าที่กันนั้นเกิดผัสสะ ต้องมีสติ คือมีความรู้ที่ถูกต้อง ทีนี้ตามธรรมดาเราไม่ได้มีความรู้มาแต่ในท้อง เราก็เลยไม่รู้ เพราะฉะนั้นเด็กทารกหรือเด็กทั้งหลาย มันก็เดินมาตามธรรมชาติธรรมดาที่ไม่รู้ มันก็เลยมีอุปาทาน มีปฏิจจสมุปบาท และได้เป็นทุกข์ นี่ในบาลีกล่าวไว้อย่างน่าขบ น่าขันที่สุดว่าเด็กนั้นไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เด็กนั้นก็ยินดียินร้ายตามเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน เป็นทุกข์ อย่างนี้ซ้ำๆซากๆจนเคยชินเป็นนิสัย นี่คือเรื่องของคน
ทีนี้พอจะเติบโตพอ มาได้ๆๆๆรับคำสั่งสอนเรื่องนี้ เข้าใจเรื่องนี้มา หลักนี่ มามีหลักเกณฑ์กันเสียมา จะมีสติ ในขณะผัสสะ จะมีสติ ในขณะแห่งผัสสะ อย่าให้ผัสสะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ทีนี้มันก็ไม่มี เพราะมันมียาก มันมีได้ยาก ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสมาธิ ที่เรียกว่าฝึกกัมมัฏฐาน ฝึกวิปัสสนานี่ เพื่อให้มีสติมากเพียงพอ ให้มีสมาธิมากเพียงพอ เพื่อเราจะได้มีสติในขณะแห่งผัสสะ ปัญหาใหญ่มันมีอยู่ที่ว่า มันไม่มีสติในขณะแห่งผัสสะ การปรุงแต่งของจิตก็ปรุงแต่งไปในทางที่จะเป็นทุกข์ ทีนี้เราจะต้องมีสติให้ทันให้พอในขณะแห่งผัสสะ ถ้าไม่พอไม่ทันเราก็ต้องพัฒนา คือทำให้มันมีขึ้นมา นี่นี่คือการฝึกที่เรียกว่าฝึกทำวิปัสสนา ทำกัมมัฏฐาน ทำสมาธิ ทำสมถะ อะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก ความมุ่งหมายอันแท้จริงก็คือจะได้มีสติเพียงพอ เร็ว ทันด้วย เพียงพอด้วย ทันควันด้วย ในขณะแห่งผัสสะนั้นเอง ถ้าปล่อยให้งุ่มง่ามไปตามธรรมชาติของคนตามธรรมชาติ มันไม่ทัน มันไม่มากพอและมันก็ไม่ทัน พฤติในจิตก็เป็นไปในทางผิด เป็นทุกข์ทุกทีไป เป็นทุกข์ทุกทีไป เดี๋ยวนี้จะเอาตัวรอดกันแล้ว ก็จะต้องฝึกให้มีสติมากพอ และเร็วทันท่วงที พอมีอะไรมากระทบในขณะแห่งผัสสะนั้น ก็มีสติเสีย สติก็กลายเป็นสัมปชัญญะ ควบคุมผัสสะนั้นด้วยปัญญาอย่างถูกต้องว่าทำอย่างไรๆ ผัสสะนั้นก็ไม่เดินไปในทางที่จะเป็นทุกข์ เพราะประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะต้องทำอย่างไรมันก็ทำถูกต้องเสียหมด ไม่ทำผิดก็ไม่เป็นทุกข์ นี่อานิสงส์ของการที่มี ของการฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนาน่ะ มีความมุ่งหมายส่วนใหญ่อยู่ที่ตรงนี้ คือตามธรรมชาติตามธรรมดาคนเราไม่มีสติ ต้องฝึกให้มีให้มากและให้เร็ว เรียกว่าอบรมปัญญาให้รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความรู้ที่เพียงพอ แล้วก็สติ เอามาใช้ จะพิจารณาเวทนา สัญญาอะไรก็ พิจารณาเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็เลยไม่ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ ขันธ์ทั้งหลายก็เป็นขันธ์ธรรมดา ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์
นี่ขอให้มองเห็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่งของการฝึกจิตตภาวนา เพื่อว่าเราจะได้มีสติมากและเร็วทันในขณะแห่งผัสสะ และเราจะมีปัญญามากพอที่จะพิจารณาผัสสะและเวทนาเป็นต้น ก็เลยรอดตัว ไม่ต้องมีความทุกข์ ถ้าเป็นผู้คล่องแคล่วในการฝึกจิตอย่างนี้แล้ว วันหนึ่งมันจะกระทบอารมณ์กี่ครั้ง กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง ก็ไม่เป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นไปตามกรณีที่ควรจะเป็น ว่ามันจะต้องทำอะไรไหม จะต้องทำอะไรอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ทำ ถ้าไม่เกี่ยวกับจะต้องทำอะไร ก็ปล่อยให้เลิกไป เลิกไปเอง แปลว่ามีแต่สิ่งที่ มีแต่ทำสิ่งที่ควรทำให้สำเร็จประโยชน์ สิ่งที่ไม่ควรทำ ไปทำเข้าแล้วเป็นทุกข์นั้น ไม่ต้องมี มีไม่ได้ นี่เรียกว่า จะเรียกว่าความลับที่สุดของธรรมชาติของมนุษย์ก็ได้เหมือนกัน ความลับที่สุดของมนุษย์จะเป็นทุกข์หรือจะไม่เป็นทุกข์ มันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าเข้าใจเสียให้ดีให้ถูกต้องแล้ว มันก็ไม่ ไม่เหลือวิสัยที่จะควบคุมให้ระบบจิตนี่เป็นไปแต่ในทางถูกต้อง ไม่มีความทุกข์เลย นี่คือจิตตภาวนาในพุทธศาสนามีความมุ่งหมายอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อย่างนี้ เพื่อให้มนุษย์ได้รับอานิสงส์อย่างนี้ จึงมีอยู่และก็สอนสืบๆกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในวันนี้อาตมาก็ได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบและโครงสร้างของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต สิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็คือที่สมมติกันว่าคนๆๆ นี่สมมุติ โดยแท้จริงก็เป็นชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนประกอบของมันก็คือธาตุทั้ง ๔ อายตนะทั้ง ๖ ขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านั้นน่ะเป็นส่วนประกอบ ทีนี้โครงสร้างของมันก็คือเกี่ยวเนื่องกันอย่างที่ว่ามานี้ เกี่ยวเนื่องโยงใยกันอย่างนี้ มีการกระทำผิด เพราะไม่มีสติ ก็เป็นทุกข์ เป็นโครงที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทุกข์ ถ้าเผอิญมีสติมากและพอมันก็ไม่มีความทุกข์ เป็นโครงที่สร้างขึ้นมาสำหรับไม่เป็นทุกข์ และได้รับประโยชน์ในการที่จะมีชีวิต
หวังว่าผู้ที่สนใจ หรือว่ามองเห็นประโยชน์คงจะได้สนใจ รู้จักมันตามที่เป็นจริงในเรื่องของส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต ดังที่กล่าวมานี้ทุกๆประการ ควรจะไต่ถามหาความรู้ความเข้าใจให้ชัดเจน ถ้ายังไม่เข้าใจส่วนไหน โปรดศึกษาให้เข้าใจชัดเจน ให้เข้าใจในโครงสร้างอันเป็นความลับที่สุดของธรรมชาตินี้ให้จนได้ และจะไม่กระทำผิดอีกต่อไป กลายเป็นมนุษย์ที่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เป็นลำดับไปไม่มีความทุกข์เลย เป็นเด็กอยู่ในท้องมารดา เกิดออกมาไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันก็ต้องเป็นไปทุกข์ ต้องไปทุกข์ ต้องเป็นไปอย่างเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้โตถึงเท่านี้แล้ว พอให้ศึกษาได้แล้ว ก็ศึกษารู้แล้ว ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่ทุกข์ การบรรยายนี้สมควรแก่เวลา เพราะฉะนั้นขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.