แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ ก็จะเป็นการอธิบายขยายความแห่งหัวข้อนั้น ๆ ต่อไปตามเดิม ซึ่งได้แก่หมวดสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะตามลำดับ หมวดสัมมาสังกัปปะ ก็ควรจะทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำว่าสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะ แปลกันว่า ความดำริชอบ แต่ความดำริในที่นี้หมายถึงความดำริที่จะได้ ที่จะได้รับ ก็คือความต้องการ หรือความประสงค์อันหนึ่งนั่นเอง เรียกว่าสังกัปปะ เป็นความต้องการที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส แต่ประกอบด้วยสติปัญญาธรรมดา ถ้าความต้องการนั้นประกอบด้วยกิเลส ความต้องการนั้นมีชื่อว่าตัญหา หรือโลภะ เป็นต้น ซึ่งเป็นชื่อของกิเลส แต่ความต้องการที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส เป็นคำกลาง เรียกว่า สังกัปปะ เป็นคำหนึ่งที่ใช้ในการให้พร ว่าขอให้สังกัปปะของท่านมีผลเต็มตามที่ประสงค์อย่างนี้ เป็นต้น เรียกว่าความต้องการ หรือความประสงค์ หรือความมุ่งหมาย อย่างที่เป็นกลาง เป็นธรรมดา ไม่เป็นกิเลส
แบ่งเป็นหัวข้อย่อยได้ ๗ หัวข้อ
๑. คือ การมีสัจจะ ความจริงใจ นี่หมายถึงสัจจะในการที่จะมี เนกขัมมะ มีอัพยาบาท และมีอวิหิงสา เนกขัมมะ คือการหลีกออกมาเสียจากอิทธิพลของกาม มาสู่วิเวก สำหรับเด็กที่ยังไม่เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ ก็พอจะอนุโลมได้ว่า มีจิตที่ไม่หลงใหลพัวพันในของที่ทำให้หลงใหล มีจิตเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหลงใหลชนิดนั้น ที่เรียกว่า อัพยาบาท ก็คือ ความมุ่งร้าย ความไม่มุ่งร้าย อัพยาบาท มีสัจจะความจริงใจในความที่จะไม่มุ่งร้ายต่อสิ่งใด ๆ โดยประการทั้งปวง อวิหิงสา ก็คือไม่กระทำชนิดที่เป็นการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนโดยเจตนา หรือไม่เจตนา พยาบาทนั้นเจตนา วิหิงสา แม้ไม่เจตนาก็เป็นได้
ข้อที่ ๒. ความละอาย หมายถึงความละอาย ความเกรงกลัวต่อสิ่งที่เรียกว่า ความชั่ว หรือบาป นี่ก็เข้าใจได้ง่าย เกือบจะไม่ต้องอธิบายอะไร แต่ว่าวิธีปฏิบัตินั้น มันก็มีความลำบากบ้าง เพราะมันฝืนความรู้สึกตามธรรมดา
ข้อ ๓. ความกล้าหาญ ความกล้าหาญในที่นี้หมายถึงไม่ใช่บ้าบิ่น กล้าหาญด้วยสติปัญญาสัมมาทิฐิ ในรูปแบบของธรรมะนั้น ความกล้าหาญ เช่น มีอิทธิบาท ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็อยู่ในรูปแบบของความกล้าหาญ ไอ้กล้าอย่างบ้าบิ่นนั้นไม่เกี่ยวกับสติปัญญา ไม่มีสัมมาทิฐิ
ข้อที่ ๔. ความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคล จะเรียกว่าทุกคนก็ว่าได้ หลักธรรมะที่กว้างขวางนี้ต้องการให้รับว่าทุกคนมันมีประโยชน์แก่กันและกัน มีบุญคุณแก่กันและกันในฐานะที่อยู่ร่วมโลกกันก็ดี หรือในฐานะที่เขาได้ทำอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่ โดยอาจจะคิดนึกไปถึงว่า แม้ตัวเขาไม่ได้ทำ บิดามารดาของเขาก็เคยทำ นี่เป็นความรู้สึกกตัญญูว่าผู้นั้นผู้นี้ หรือทุกคนนี่มันมีบุญคุณแก่เรา แล้วก็แสดงออกให้ปรากฏว่าเรายอมรับรู้ข้อนี้ ด้วยการแสดงออก หรือมีการกระทำที่ตอบแทน
ทีนี้ข้อ ๕. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่เข้าใจว่าเป็นที่รู้กันดีมากที่สุดแล้ว เพราะว่าสอนอยู่อย่างยิ่งในโรงเรียน ในสถานศึกษาต่าง ๆ แต่บางคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญ ต้องพูดแต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้ามีข้อสงสัยอย่างนี้ก็อาจจะตอบว่า เอารัฐธรรมนูญไปรวมไว้ในคำว่าศาสนาก็ยังได้ กฎ หรือระเบียบที่จะเกิดความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความเหมาะสมอะไรต่าง ๆ นี้มันก็มีความหมาย แห่งความเป็นศาสนา อย่างน้อยก็ในปริยายหนึ่ง
ทีนี้ข้อ ๖. ความเอื้อเฟื้อ ความเอื้อเฟื้อ หมายถึงความเผื่อแผ่ และเสียสละ โดยอาศัยหลักพรหมวิหารเป็นส่วนสำคัญ พรหมวิหาร คือ เมตตารักใคร่ กรุณา ช่วย มุทิตา ยินดีช่วย อุเบกขาคอยเพ่งจ้องที่จะช่วย ในเมื่อเดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้ นี่เป็นอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง นอกจากจะเอื้อเฟื้อแล้วยังมีการเสียสละช่วยเหลือ
ข้อที่ ๗. เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ซึ่งก็พอจะจำกัดขอบเขตไว้บ้างว่า ต่อคำสั่งสอนที่พิสูจน์ความมีเหตุผล หรือความถูกต้อง เป็นคำสั่งสอนที่พิสูจน์ความถูกต้องอยู่ในตัวพิสูจน์ว่า มีเหตุผลที่จะต้องทำเช่นนั้นอยู่ในตัว นี่เป็นกลุ่ม สัมมาสังกัปปะ
ทีนี้ก็อยากจะให้รู้จักสังเกตเอาเอง ความหมายของเรื่องนั้นมันเล็งไปทางไหนอย่างไร จึงมาจัดเข้าไว้ในกลุ่มนั้น ๆ เช่นข้อ ๑. มีสัจจะ มีความจริงใจที่จะออกไปจากกามารมณ์ ที่ออกไปจากความพยาบาท และการเบียดเบียน นี่มันมีเจตนาที่จะกระทำ หรือต้องการเช่นนั้น ความต้องการนั้นก็เป็นสังกัปปะ เราจึงจัดหลักธรรมข้อนี้ไว้ในหมวดสังกัปปะ
ความละอายในความเกรงกลัวต่อการกระทำชั่ว มันเป็นความคิดที่แล่นไปถูกต้อง ค่อนข้างจะเข้าใจยากข้อนี้ว่าทำไมจึงเป็นสังกัปปะ แต่เมื่อเล็งถึงว่า ความละอาย ความกลัวต่อความชั่ว ก็นับว่าเป็นความประสงค์ที่ถูกต้อง เพื่อจะออกไปเสียจากความชั่ว หรือจากบาป ดังนั้นจึงจัดไว้ในสัมมาสังกัปปะ
ความกล้าหาญนั้นย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการที่จะเป็นผู้กล้าหาญ และปฏิบัติหน้าที่ เล็งถึงส่วนนี้มีลักษณะเป็นสังกัปปะ เป็นสัมมาสังกัปปะ
ความกตัญญูกตเวทีต่อทุกคน เมื่อเล็งถึงจิตใจ ก็เป็นผู้ตั้งใจที่จะทำในลักษณะที่เป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมความดี รู้บุญคุณแล้ว และตอบแทน เป็นพฤติของจิตที่แล่นไปถูกทาง ดังนั้นจึงจัดไว้ในหมวดสัมมาสังกัปปะ
ความจงรักภัคดีต่อสิ่งที่ควรจงรักภัคดี นี่เห็นได้ชัดแล้ว มีความตั้งใจ มีความมุ่งหมาย มีความอยากที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ความจงรักภัคดี นี่เราจึงจัดไว้ในหมวดสังกัปปะ
ทีนี้ความเอื้อเฟื้อ มีการแสดงออกเป็นความช่วยเหลือเสียสละ ก็เป็นจิตที่แล่นไปในทางดี ทางถูก กระทั่งว่ามันเป็นนิสัยสันดานแห่งบุคคลผู้เอื้อเฟื้อ
ทีนี้ข้อสุดท้ายว่าความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย มีความคิดถูกต้อง แล้วก็เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ก็มีลักษณะแห่งสังกัปปะอยู่ หรือเหมาะสมที่จะบรรจุลงไปในหมวดนี้
ทีนี้หมวดสังกัปปะ ก็จะต้องมีวิธีอบรมสั่งสอนอย่างเดียวกัน พูดอีกครั้งหนึ่งก็ได้ แล้วต่อไปขอว่า ใช้กับทุกหมวด คือให้มีตัวบทที่ชัดเจน เป็นบท ๆ อย่างที่ว่า ตัวบทนี้เพื่อให้นักเรียนได้ท่องไว้อย่างคล่องปากคล่องใจ นี่อย่างหนึ่ง และมีเหตุผลที่อธิบายไว้ชัดเจนว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น แต่ละข้อ ๆ และก็มีบทสำหรับสวดอธิษฐานตามหัวข้อนั้น ๆ เฉพาะข้อ การมีสัจจะ มีความจริงใจ เช่นจะมีการปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าจะต้องเป็นผู้มีความจริงใจในการออกจากอำนาจของกาม ในการที่จะไม่คิด ประทุษร้าย และไม่เบียดเบียนอย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ก็ยอมให้เพื่อนตักเตือนเมื่อมีอะไรผิดไปแล้ว หรือน่ารังเกียจ หรือเพียงแต่ได้เห็นวี่แวว ก็ยอมให้ตักเตือน ทำนองเดียวกับการปวารณาของพระ คำว่าตักเตือนในที่นี้ หมายถึงตักเตือนด้วยความหวังดี ไม่ใช่เรื่องตำหนิติเตียน หรือด่าทออะไร เป็นการตักเตือนในฐานะที่ว่าเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนร่วมหมู่ ร่วมคณะ มีการเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ทำนองนี้เป็นต้น แล้วก็มีการสารภาพบาป เมื่อได้ทำบาป คือทำผิดระเบียบวินัย จริยธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ให้มีการสารภาพบาปเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ หรือจะมีตามโอกาส อย่างเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นพิธี เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ได้ทำเล่น ๆ การสารภาพบาปนั้นเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ในการที่จะรักษาระเบียบวินัย หรือแม้แต่ธรรมะไว้ให้ได้ การปิดบาป จะช่วยให้เฉออกไปนอกทาง การเปิดเผย ทำให้คงอยู่ในทาง แล้วก็เป็นผู้ที่ได้รับความพอใจตัวเอง นึกแล้วก็ไม่เกลียดชังตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น
ข้อสุดท้ายประพฤติธรรมะนั้น ๆ แต่ละข้อนั้นให้เกิดความรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า มันมีความถูกต้อง แล้วก็เป็นที่พอใจ นี่เรียกว่าทุกเวลา ทุกวินาที ทุกสถานที่ ทุกกระเบียดนิ้ว ผู้ปฏิบัตินั้นรู้สึกต่อตัวเองว่า ทั้งหมดนั้นถูกต้อง และพอใจ ถูกต้อง และพอใจ วิธีอบรม ๖ ประการนี้ ใช้แก่องค์มรรคทุกหมวด ซึ่งต่อไปจะไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว
ทีนี้ก็มาถึงหมวดสัมมาวาจา แปลว่าการพูดจาชอบ จะหมายถึงคำพูดที่ใช้พูดก็ชอบ วิธีพูดก็ชอบ สำนวนพูดก็ชอบ รวมกันทั้งระบบของการพูดจา
ข้อที่ ๑. ไม่พูดร้าย ไม่พูดร้าย ใช้คำรวมกันว่าไม่พูดร้าย คือไม่พูดปด อำพรางความจริง แล้วก็ไม่ยุยงให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ คำว่าพูดปด พูดเท็จนั้ นมีปริยายมากมาย ดูเอาเองก็รู้เอาเองได้ว่า เป็นการปทุษร้ายความเป็นธรรม หรือความถูกต้องของผู้อื่น ด้วยการพูดจาของตน เรียกว่าพูดปด ไม่ยุแหย่ให้เกิดความแตกแยก คำพูดบางคำบางประเภท ของบางคนนั้นทำให้เกิดความแตกแยก ไปพูดข้างนี้ที มาพูดข้างนี้ที พูดข้างโน้นที ข้างนี้ที สลับกันจนเกิดความแตกแยก
ไม่พูดคำหยาบ นี่ก็เป็นจริยา หรือจรรยาบรรณทั่วไป ๆ พูดคำหยาบ ทำลายประโยชน์ ในอรรถกถามีเรื่องเล่าไว้น่าสังเกต คือว่าลูกของเศรษฐีออกไปเที่ยวริมป่า พบนายพรานบรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียน ก็ตกลงกันว่าจะขอทดลองความสามารถว่าใครจะขอได้เท่าไร คนที่หนึ่ง เข้าไปขอว่า “เฮ้ย, ไอ้พราน ให้เนื้อกูบ้าง” นายพรานก็ให้พังผืดทั้งนั้นเลย แก่คนที่พูดอย่างนั้น คนที่สองใช้คำว่า “พี่พราน ให้เนื้อฉันบ้าง” เขาก็ให้เนื้อที่เป็นเนื้อ พอสมกันแก่ความหมายของคำว่าพี่ คนที่สามบอกว่า “พ่อพราน ให้เนื้อฉันบ้าง” นายพรานเขาเอาส่วนที่เป็นหัวใจ เนื้อหัวใจของสัตว์ตัวนั้นน่ะให้ คนสุดท้าย คนที่สี่ว่า “เพื่อนเอ๋ย ให้เนื้อฉันบ้าง” นายพรานให้หมดเลย รวมทั้งให้ตัวเองด้วย ในอรรถกถามีตัวอย่างแสดงไว้อย่างนี้ เป็นที่น่าสนใจเอาไปคิดดู ไอ้พราน นี่มันหยาบคาย พี่พรานมันแสดงความเป็นพี่น้อง ไอ้คำว่าพ่อมันสูงสุด มันจับจิตใจ ก็เลยได้หัวใจ แต่พูดว่าเพื่อน เพื่อน กลายเป็นได้หมด คำหยาบ ทำให้เกิดความรู้สึกเสียดแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องไม่พูด
ทีนี้ ทีนี้ก็มาถึงพูดเพ้อเจ้อ ทำให้เสียเวลา ทำให้เสียประโยชน์ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ไปแปลกันว่าเป็นคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย ทั้งฝ่ายผู้พูดและทั้งฝ่ายผู้ฟัง อย่างนี้เรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ ทั้งสี่ประการนี้เรารวมเรียกว่าพูดร้าย ต้องไม่พูดร้ายโดยสี่ประการนี้ ถึงจะเรียกว่าสัมมาวาจา มีความหมายแห่งสัมมาวาจา
ข้อที่ ๒. วาจาที่ชวนฟัง และมีประโยชน์ นี่ก็แสดงชัดอยู่แล้วว่า ไม่ว่าวาจานั้นจะน่าฟังหรือว่าจะเป็นคำจริง แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ควรพูด จริงด้วย น่าฟังด้วย มีประโยชน์ด้วยนี่อย่างนี้ถือว่าเป็นวาจาที่ควรพูด แม้กระนั้นก็ยังต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ สถานะของผู้ฟัง กาลเวลาแล้วก็สถานที่ แล้วก็สถานะของผู้ฟังที่ต่าง ๆๆ กัน ต้องให้ถูกต้องแก่กาลเทศะ สถานะ อย่างนี้เรียกว่าเป็นวาจาที่สูงสุดในบรรดาวาจาที่ควรพูด จริงด้วย มีประโยชน์ด้วย น่าฟังด้วย ถูกต้องกาลเทศะสถานะนั้น ๆ ด้วย
หมวดนี้มีเพียงสองข้อ เห็นชัดว่าการไม่พูดร้ายนั้นมันมีลักษณะแห่งวาจาที่ถูกต้อง จึงมาจัดไว้ในหมวดนี้ พูดวาจาที่ชวนฟัง ที่มีประโยชน์ ที่จริง ที่เหมาะสมแก่กาลเทศะ สถานะ ได้รับประโยชน์แห่งการพูดนั้นถึงที่สุด นี่ก็ยิ่งเป็นสัมมาวาจา ที่จะต้องตั้งบท ตัวบท ตั้งบทคำอธิษฐานอะไรขึ้นให้เหมาะสมอย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ สำหรับหมวดนี้ด้วย
ทีนี้หมวดที่สี่ สัมมากัมมันตะ แปลว่าการกระทำทางกายชอบ หมวดที่แล้วมาเป็นการกระทำทางวาจาชอบ เรียกว่าสัมมาวาจา แต่นี่มีการกระทำทางกายชอบ เรียกว่าสัมมากัมมันตะ ตามธรรมดาก็แจกกันไว้โดยหลักศีล ๕ หรือหมวดกายกรรมในกุศลกรรมบถ ในที่นี้อยากจะพูดเรียบเรียงถ้อยคำให้มีความหมายกะทัดรัดว่า
ข้อ ๑. การไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายของผู้อื่นโดยทุกวิถี วิถีทุก ๆ วิธี หรือวิถี การประทุษร้ายนั้น ชีวิต คือตาย ประทุษร้ายร่างกายเจ็บปวด แล้วก็มีวิธีประทุษร้ายต่าง ๆ นา ๆ แม้ที่สุดแต่ว่าขุดหลุมพรางไว้ให้คนไปตกตาย ก็มีผลเท่ากับการฆ่าเขาให้ตาย จึงไม่มีการประทุษร้ายโดยวิธีใด ซึ่งทำให้เขาตาย หรือบาดเจ็บ
ข้อ ๒. การไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สมบัติของผู้ใด หมายความว่าโดยทุกวิธีที่ทำให้ทรัพย์สมบัติของเขาเป็นอันตรายไป ไม่ว่าตนจะต้องการประโยชน์ หรือไม่ต้องการประโยชน์ ที่ไม่ต้องการประโยชน์ เช่นแก้แค้น หรือมีเรื่องที่จะต้องทำลายล้างกันไม่มีใครได้รับประโยชน์
ข้อที่ ๓. ไม่ประทุษร้าย ต่อของรักของชอบใจของผู้อื่น คนทุกวัย มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นที่รัก เป็นที่พอใจด้วยกันทั้งนั้น แม้ลูกเด็ก ๆ เขาก็มีสิ่งที่เป็นรักที่พอใจ ไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย ไม่ให้ลูบคลำ นี่เรียกว่าในวัยเด็กยังไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็ยังต้องถือศีลข้อนี้เหมือนกัน แม้ที่สุดแต่จะเป็นตุ๊กตา หรือของเล่นที่เขารักมากจนไม่อยากให้ใครแตะต้อง ก็ไม่ควรจะไปแตะต้อง ไม่ควรจะกระทำชนิดที่เรียกว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจกัน นี่ไม่ใช่ประทุษร้ายสิ่งของ ถ้าประทุษร้ายสิ่งของมันเป็นการลักการขโมย ทีนี้ก็ไม่เอา เพียงแต่ทำให้มันเจ็บใจเล่น ก็ไม่ได้เสียแล้ว ยิ่งต้องการแย่งชิงด้วยล่ะก็ยิ่งเป็นการไม่ดีเต็มที่
นี้ข้อ ๔. ไม่มีการกระทำที่ประทุษร้ายต่อสติสมประดีของตนเอง คือพวกน้ำเมา น้ำเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ไอ้คำว่าประมาท หมายความว่าสูญเสียสมประดี หรือสติสัมปชัญญะ อย่าดื่ม หรือเสพ หรือสูดดม หรือลูบทา หรืออะไรก็ตามแหละที่มันจะเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียสัมประดี คือ ความเมา ทีนี้ควรจะกินความรวมไปถึงทางจิตใจด้วยก็ได้ เช่น มัวเมาในการเที่ยว ในการดูหนัง ดูละคร อย่างที่เรียกกันว่าติด อย่างนี้ก็เป็นการเมาในด้านจิตใจ ถ้ามารวมไว้ในที่นี้ก็ยังได้ เพราะว่าเมื่อเมาหนัง เมาละคร เมาอะไรเหล่านี้ แล้วก็ประทุษร้ายสติสมประดีของตนได้ลึกซึ้งกว่า ถึงกับมีเรื่องเล่าว่าหนีสามีตามพระเอกยี่เกไป อย่างนี้ก็ยังเป็นได้
๕. ความมีระเบียบวินัย ซื่อตรงต่อเวลา ตั้งใจรักษาระเบียบวินัยนี่ คือไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งขึ้นมาแก่ฝ่ายใดก็ไม่มี ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งใคร การซื่อตรงต่อเวลานี่เมื่อสงเคราะห์รวมกันเข้าในข้อนี้ ถ้าต้องการ ควรจะแยก อาจจะแยกไปได้เป็นข้ออีกข้อหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อดูแล้วมันก็มีลักษณะเป็นระเบียบเป็นวินัยด้วยเหมือนกัน คงไว้ในข้อนี้ก็ได้
๖. ความมีมารยาท และนิสัยสำหรับสุภาพชน ขยายความออกไปในการกิน การนอน การแต่งกาย เป็นต้น คำว่ามารยาท คำว่านิสัย มีความหมายตามที่จะรู้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป มารยาทแสดงออกเป็นภาพ จนเป็นบุคลิกภาพสำหรับคนนั้น นิสัย หรืออุปนิสัยเป็นเรื่องทางใจ เป็นความคิด รู้สึกในใจที่กระทำบ่อยจนชินเป็นนิสัย ทีนี้มารยาทก็ดี นิสัยก็ดี ให้มีลักษณะแห่งสุภาพชน คือเรียบร้อย ไม่น่าเกลียดไม่หยาบคาย ไม่กระทบกระทั่งผู้ใด
ข้อ ๗. การมีมารยาทอันแสดงลักษณะแห่งความเคารพ เลยไปถึงความเอื้อเฟื้อ เลยไปถึงความอ่อนโยน มีมารยาทอันแสดงอยู่ว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพตามที่ควรจะเคารพ ข้อนี้ก็ต้องขยายความให้กว้างว่ามันมีการแสดงความเคารพได้แก่ทุกคน แม้เขาเป็นเด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ ก็เคารพได้ในฐานะที่ว่าเขาเป็นเด็กคนหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความเป็นตัวเองเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยเหมือนกัน แต่ว่าไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเหมือนกัน เช่นถ้าพบคนแก่ ๆ ไหว้ พบเด็ก ๆ ก็ต้องแสดงอาการอะไรที่เหมาะสม ที่เป็นการยกย่องในฐานะว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องภายในตัว ก็คือการกระทำที่ถูกต้องในการกินอาหาร ในการนอน ในการแต่งเนื้อแต่งตัว เป็นต้น ขอให้นึกดูเอาเอง แม้จะกินอาหารก็ต้องกินด้วยความเคารพ แม้แต่จะนอนก็นอนด้วยกิริยาอาการที่เคารพ แต่งกายก็ต้องด้วยกิริยาอาการที่เคารพ เคารพอะไร เคารพระเบียบ เคารพวินัยสำหรับจะทำอย่างนั้น
ทีนี้ข้อ ๘. ความเป็นผู้มีวัฒนธรรมทุกสาขา คำว่าทุกสาขานี้ขอให้ขยายออกไปเป็นทุกขั้นตอนแห่งวัย หรือว่าทุกสถานะลำดับขั้นในชีวิต เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันอยู่เป็นประจำ ไม่ลึกซึ้งอะไร คำว่าวัฒนธรรมในที่นี้หมายถึงการทำให้เจริญ หรือให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่าพัฒนากันโดยมาก แต่ถ้าถือเอาตามภาษาบาลี คำว่าวัฒนะ วัฒนะนี่เขาหมายถึงมันมากขึ้น มันมากขึ้น แม้เส้นผมงอกรกก็เรียกว่าวัฒนะ หญ้ารกก็เรียกว่าวัฒนะ อะไร ๆ ที่มันมากขึ้นแล้วก็เรียกว่าวัฒนะ แต่ในภาษาจริยธรรม คำนี้คงเหลืออยู่แต่ความมากขึ้นของสิ่งที่ควรจะมี แม้คำว่ารกโลก รกโลกก็ใช้คำนี้ โลก วฑฺฒโน เป็นคนทำโลกให้วัฒนา คือเป็นคนทำโลกให้รกไปเสีย เพราะมีบทปริบท คำแวดล้อมอย่างอื่นแสดงให้เห็นว่า ในทีนี้ท่านหมายถึงเป็นคนรกโลก หรือทำโลกให้รก ไม่ได้หมายความว่าทำโลกให้เจริญ
บาลีประโยคนี้แปลกดี ควรจะสนใจศึกษาไว้ว่า นสิยา โลก วฑฺฒโน คือไม่พึงเป็นคนยังทำโลกให้วัฒนา ไม่เป็นคนทำโลกให้วัฒนา ให้พัฒนา เพราะว่าพัฒนาในประโยคนี้ ในหลักเกณฑ์อันนี้หมายถึงรกไปหมด เต็มไปหมด เป็นคนสำหรับทำโลกให้รกนี่ใช้ไม่ได้ ทุกขั้นตอนแห่งวัย คือ มีธรรมะสำหรับที่จะประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งนั้น จะต้องดูให้ถูกขั้นตอน เช่น วัย เป็นต้น
๙. มีความประพฤติ กระทำที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม คำนี้จำไว้สั้น ๆ ว่า ธรรมิกะ ธรรมิกะ เป็นคำที่ใช้มากในบาลี เรียกว่า ธรรมิกะ แปลว่าประกอบอยู่ด้วยธรรม คำว่าประกอบอยู่ด้วยธรรม ก็มีความหมายคล้าย ๆ กับความถูกต้อง หรือสัมมา ประกอบด้วยธรรม หมายความไม่ทำร้ายใคร คือไม่ทำใครให้เสียหาย แต่มีผลแก่ทุกคน หรือทุกฝ่าย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า ประกอบอยู่ด้วยธรรม
ข้อ ๑๐. การทำความดีอย่างติดต่อ ตลอดเวลา หมายความว่าพยายามทำความดี รักษาความดี ทำความดีเพิ่มขึ้น อย่าให้ขาดตอน ยิ่งโตขึ้นมา ก็ยิ่งทำดีได้ดีกว่า สูงกว่า มากกว่า เมื่อทำอย่างไม่ขาดตอน มันก็เต็มไปด้วยความดีได้
ข้อ ๑๑. มีกิจกรรมอันประกอบด้วยสุนทรียภาพ นี่เป็นคำสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ผิดหลักหรือไม่ค้านกับหลักโบร่ําโบราณว่า ถ้าจะทำอะไรก็ขอทำให้มันงดงาม คือ น่าดูจับใจผู้ดูผู้เห็น แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังทรงกำชับว่า จงแสดงธรรมให้งดงาม คือ กัลยาณ กัลยาณ แปลว่า งดงาม ในเบื้องต้นก็ให้งาม ตรงกลางก็ให้งาม สุดท้ายก็ให้งามในการแสดงธรรม ประกาศพระศาสนา มีการกระทำที่ประกอบด้วยสุนทรียภาพ หมายถึงเรื่องทางจิตใจไม่ใช่ถึงงานฝีมือ แม้แต่การดำรงชีวิต ก็ดำรงไว้อย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น สามารถจะชักจูงผู้อื่นให้ทำตาม เดี๋ยวนี้มักจะเรียกกันว่าศิลปะ คือมีศิลป์
ข้อ ๑๒. มีการกระทำทุกสิ่งด้วยความประณีต ละเอียดถี่ถ้วน เติมเข้าไปได้ สุขุมรอบคอบ แนบเนียน แล้วแต่จะต้องการ ใจความสำคัญว่าไม่ให้ผิดได้ ให้ละเอียดลออ ให้มันครบทุก ๆ แง่ ทุก ๆ มุม การกระทำทุกอย่างด้วยสติสัมปชัญญะอันเพียงพอนั่นเอง ทีนี้ดูลักษณะที่ว่าจะเป็น สัมมากัมมันตะได้อย่างไร โดยมากที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน ให้สัมมากัมมันตะนี่ก็เพียงแต่ไม่ ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ล่วงประเวณี แม้คำตรัสอธิบายเรื่องสัมมามากัมมัตตะ ที่ตรัสไว้เป็นหลักทั่วไป รวมทั้งภิกษุ ก็ได้ใช้คำ ๆ เดียวกันน่ะ คือเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ดังนั้นจึงให้ถือเอาความหมายที่กว้าง ไม่เฉพาะเรื่องเพศโดยตรงก็ได้ (นาทีที่47.34) เอ๊ะ, นี่ ๒. การไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สมบัติของผู้ใด การไม่ประทุษร้ายต่อของรักของผู้อื่น การกระทำเป็นที่ไม่เป็นการประทุษร้ายสมประดีตนเอง นี้มีเงื่อนความหมายของการกระทำที่ถูกต้อง ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกาย ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ ไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่น นี่ก็เป็นหลัก ดูจะทุกศาสนา สามข้อนี้จะมี เป็นการกระทำที่ถูกต้อง คือ มีเจตนาจะดำรงอยู่ในความถูกต้อง ก็มีการกระทำที่ถูกต้อง ก็เลยเรียกว่าสัมมากัมมันตะ
ส่วนข้อปลีกย่อย เช่น ความมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลานี้ เรียกว่าโดยอ้อม เป็นสัมมาสังกัปปะโดยปริยาย ลักษณะแห่งความเคารพ ก็มีความหมายของสัมมากัมมันตะ น่าดู น่ารัก น่าพอใจแก่ผู้ได้เห็น และความมีวัฒนธรรมที่แสดงทางรูปธรรม มันก็ต้องเป็นการกระทำ จึงเรียกว่าสัมมากัมมันตะ ทีนี้ความประพฤติ การประพฤติกระทำที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมก็ยิ่งเป็นสัมมากัมมันตะ การกระทำติดต่อกันในการทำความดี ก็ยิ่งเป็นสัมมากัมมันตะ มีความหมายแห่งสัมมากัมมันตะชัดแจ้งอยู่แล้ว มีกิจกรรมอันประกอบด้วยสุนทรียภาพ คือ ความงาม อยู่ที่การแสดงออกหรือการเคลื่อนไหว การมีมารยาทต่อสังคม เป็นต้น เจตนาจะให้งามนั่นแหละ เป็นสัมมากัมมันตะ
(นาทีที่50.28 สับสนลำดับข้อ)ข้อ ๑๖. มีการกระทำที่ประณีตละเอียดถี่ถ้วน นี่ก็แยกออกมา คือไม่ใช่ทั่วไป แต่ต้องการให้ประณีต ละเอียด สุขุม รอบคอบและถี่ถ้วน เป็นการแสดงออกทางการกระทำทางกาย ดังนั้นจึงจัดเป็นสัมมากัมมันตะ เป็นอันว่ามีสัมมากัมมันตะ ๑๒ ข้อ ซึ่งจะต้องมีวิธีปฏิบัติ หรืออบรมอย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้
ทีนี้ก็มาถึงหมวดสัมมาอาชีวะ มักจะแปลกันว่าเลี้ยงชีพชอบ ความมันก็แคบไป อาชีวะนี่ เราดำรงชีพดีกว่า อาชีวะ อาชีพในภาษาไทย หมายถึงการประกอบอาชีพ แต่ความมุ่งหมายของธรรมะข้อนี้ หมายถึงการที่ดำรงชีพอยู่ชอบทุกอย่าง ไม่ได้หมายถึงการทำมาหากิน หรืออาชีพโดยตรง เพราะฉะนั้นเราถือเอาใจความของคำ ๆ นี้ว่า ดำรงชีพชอบ ชีวะ แปลว่าชีพ อา ก็แปลว่าทรงไว้ได้ มีความหมายเป็นการทรงไว้ดำรงไว้ได้ นี่เป็นการดำรงชีพชอบ
ข้อ ๑ ให้ความหมายไว้กว้าง ๆ ว่าการแสวงหา และมีใช้ปัจจัยที่ประกอบด้วยธรรม ได้มาอย่างประกอบด้วยธรรม มีไว้อย่างประกอบด้วยธรรม ใช้จ่ายอย่างประกอบด้วยธรรม ก็เรียกว่าเป็นสัมมาชีพ เป็นสัมมาอาชีพ การดำรงชีวิตไว้อย่างถูกต้อง หรือโดยชอบ
ข้อ ๒ มีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการงาน อันนี้กำกวม จะอยู่ในสัมมากัมมันตะก็ยังได้ แต่โดยเหตุที่เรามุ่งให้เป็นการดำรงชีวิต และการงานนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอด การงาน หรือหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้รอด ทุกคนต้องการความรอด จึงต้องประกอบการงานให้ตรง ให้ถูกและตามที่ควรจะเป็น ธรรมะข้อ ๒ นี้ใช้คำว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ได้เหมือนกัน
ข้อ ๓ การคบบัณฑิต ขยายความออกไปว่า บัณฑิต คืออะไร บัณฑิต แปลตามตัวหนังสือก็ว่า ผู้มีปัญญา ที่เรียกว่าปัณฑา ปัณฑิตตะ คือ ผู้มีปัณฑา ทีนี้ปัณฑา คืออะไร ก็คือปัญญาที่ช่วยให้เกิดความรอด จะเป็นเรื่องรอดตาย หรือรอดจากความทุกข์ลำบากอันตรายทั้งหลาย ก็ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องช่วย ผู้ที่มีปัญญาชนิดนี้เรียกว่าบัณฑิต พบบัณฑิตแล้วก็พบหนทางที่จะช่วยให้รอด การดำรงชีวิตชนิดที่ปลอดภัย ก็คือการคบบัณฑิตอยู่เป็นปกติ มีที่ปรึกษาหารือเป็นบัณฑิต มีอะไรก็จะได้ปรึกษาขอคำแนะนำ
ข้อ ๔ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ หรือวิสัยของคนพาล ข้อนี้ขยายความออกไปจากคำว่าคบคนพาล ไม่คบพาล ไม่คบคนพาลนี่เป็นหลัก แต่ใช้คำให้มันรุนแรงกว่านั้น คือว่าไม่ตกอยู่ใต้อำนาจวิสัยของคนพาล หมายความว่าตัวเองอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนพาล เพราะความชอบใจ หรือเพราะอะไรก็ตามเถิด ตกอยู่ใต้อำนาจของคนพาล ซึ่งคนพาลเขาก็จะใช้วิธีต่าง ๆ กัน จะใช้ของหลอก ล่อลวง หลอกหลอน หรือไปใช้อาวุธ ใช้อำนาจ ใช้อะไรก็จนกระทั่งว่าตกอยู่ภายใต้วิสัยของคนพาล ไอ้คำว่าพาล หรือพาละในภาษาบาลีนั้น แปลว่าอ่อน แม้อ่อนด้วยวัยนี่ เช่น ทารกแรกเกิด ก็เรียกว่าพาละเหมือนกัน ภาษาบาลีก็หมายถึงอ่อน ยังอ่อน คนที่อ่อนด้วยวิชาความรู้ ไม่รู้สิ่งที่ควรกระทำไม่ควรกระทำ แล้วก็ทำไปอย่างนั้น ก็เลยเรียกว่าคนอ่อน หรือคนพาล คือคนอ่อนด้วยสติปัญญานั่นเอง คนมีสมรรถภาพน้อย ก็เรียกว่าคนพาลได้เหมือนกัน
ข้อ ๕ ในความสุภาพ ขยายออกไปเป็นไม่หยิ่งยโส โอ้อวด ความสุภาพนี่เป็นที่ยอมรับนับถือต้องการกันทุกพวก ทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกลัทธิศาสนา หรือมิใช่ศาสนา ความสุภาพแสดงถึงความมีความเจริญ ไม่หยิ่งยโสนั่นน่ะ นั่นหนักขึ้นไปอีก มันเป็นเรื่องของกิเลสโดยตรง จนผู้อื่นไม่อยากจะเห็นหน้า ไม่อยากจะสมาคมด้วย
คำว่าโอ้อวด โอ้อวดนี่ก็หมายความหมายว่าไม่ควรจะอวด ถ้าอวดเฉย ๆ มันยังมีปัญหาว่ามันมีสิ่งที่ควรอวด แต่ถ้าตามคำว่าโอ้อวดเข้ามาแล้วก็หมายถึงผิดหมด คือไปโอ้อวด อวดในสิ่งที่ไม่ควรจะอวด ถ้ามีความดีอะไรอยู่ในตน มีคุณสมบัติอะไรอยู่ในตน ไม่เจตนาจะโอ้อวด แต่ทำให้ผู้อื่นเห็น เป็นการช่วยให้เขาทำตาม มันเลยไม่กลายเป็นการโอ้อวด แต่กลายเป็นการประกาศ ๆ สิ่งที่ควรประกาศ หรือควรทำ แต่ถ้าโอ้อวดมันทำในสิ่งที่ไม่ควรจะอวด ทุกคนชังน้ำหน้า นี่เรียกว่าความสุภาพ ไม่หยิ่งยโสโอ้อวด นี่หัวข้อของสัมมาอาชีวะ มีอยู่อย่างนี้ คือมีอยู่ ๕ ข้อ เลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง ด้วยปัจจัยที่ได้มาอย่างถูกต้อง โดยวิธีที่ถูกต้อง นี่เป็นการดำรงชีวิตถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการงาน อันนี้เป็นเหตุให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยง่าย โดยสะดวก เพราะได้รับความไว้วางใจจากทุกคนที่อยู่รอบข้าง รอบด้าน ดังนั้นจึงจัดว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ดำรงชีพชอบ นี่บอกกันแล้วว่าไม่ได้ใช้คำว่าเลี้ยงชีพชอบ แต่ใช้คำว่าดำรงชีพชอบ
ทีนี้การคบบัณฑิต มีโอกาสให้ได้รับแสงสว่าง หรือธรรมะยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เรียกว่าดำรงชีพชอบ ดำรงชีพให้ไหลไปในทางของบัณฑิต จึงเป็นการดำรงชีพชอบ การไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ หรือวิสัยของคนพาล ถ้าว่าตกอยู่ใต้อำนาจวิสัยของคนพาล เขาบีบบังคับอย่างไร เขาจะให้ทำอะไรก็ต้องทำตาม อย่างนี้เรียกว่าหมด ๆ หมดสิทธิ หมดอิสระเสรี จึงต้องระวังตนไม่ให้พลัดตกเข้าไปอยู่ภายใต้วิสัยของคนพาล ซึ่งเขาจะรีดนาทาเร้นอย่างไรก็ได้ การที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของคนพาลนั้นน่ะ เป็นการดำรงชีพชอบ
ข้อสุดท้าย ความสุภาพ เป็นการดำรงชีพชอบอยู่ในตัว คำว่าสุ แปลว่าดี คำว่าภาพ แปลว่าความเป็นหรือความมี ดังนั้นสุภาพคำนี้จึงเป็นคำมีลักษณะแห่งการดำรงชีพชอบอยู่อย่างเต็มที่
นี่คือคำขยายความของหมวดสัมมาอาชีวะ ซึ่งมีอยู่ ๕ ข้อ อาตมาคิดว่าเป็นการสมควรแล้วสำหรับวันนี้ เหลือไว้อีก ๓ หมวดพูดอีกวันหนึ่งก็จบ พูดอีกครั้งหนึ่งก็จบ ขอซ้อมความเข้าใจว่าไอ้หลักการอะไรที่มันใช้ได้แก่ทุกข้อน่ะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดทุกข้อ มันจะเสียเวลาในการอ่านในการกระทำน่ะมันมาก แต่พึงรู้เอาเองว่าข้อนั้น ๆ ข้อนั้น ๆ ก็มีหลักแห่งการอบรม เป็นต้น เหมือนกันทุกข้อ ทีนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องขยายความอีกแล้ว สำหรับวันนี้สิ้นสุดลงเพียงสัมมาอาชีวะ และขอเน้นว่าให้แปลว่าดำรงชีพชอบ ซึ่งอาจจะหาหลักปฏิบัติอย่างอื่นมาใส่อีกก็ได้ แต่นี่ดูกลัวว่า กลัวว่ามันจะมากไป มากเกินไป วันนี้ก็พูดวินิจฉัยรายละเอียดกันเพียงเท่านี้ ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้
พูดเรื่องจิตตะสิกขามีองค์มรรค ๓ องค์ ก็จบ