แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาและท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย เราจะได้พูดกันถึงเรื่องต้อนรับปีใหม่ แต่ว่าอยากจะพูดเรื่องพิเศษสักเล็กน้อย เป็นการนำหน้าว่า ขอให้รู้จักใช้โลกเวลา ๕ น. เวลานี้เป็นเวลา ๕ น. ณ โลกเวลา ๕ น. ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ มันมีประโยชน์มาก โลกเวลา ๕ น. อย่าให้เสียเปล่า อย่าให้สูญเปล่า อย่าให้ผ่านไปเปล่า เพราะมันเป็นเวลาที่จะใช้ประโยชน์ได้มาก ถ้าท่านยังนอนหลับสบายอยู่ ก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ใช้โลก ๕ น. แต่ถ้าเรามาทำการศึกษา หรือทำอะไรกันให้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ ก็เรียกว่ารู้จักใช้โลกเวลา ๕ น. ถ้าท่านไม่เคยใช้จนเป็นนิสัย มันก็ไม่ใช้ได้ง่ายนัก เพราะมันอยากจะนอนมากกว่า มันกำลังนอนสบายด้วย ถ้ารู้จักใช้บ่อยเข้า ๆ ก็จะชอบ มันเป็นเวลาพิเศษในการที่จะรับเข้าก็ดี ในการที่จะถ่ายออกไปก็ดี ในการที่จะรับเข้านั้นหมายความว่า ท่านจะรับการศึกษาใหม่ ๆ เข้ามา นี่รับเข้า คือศึกษาอะไรนี่แหละ หรือจะถ่ายออก คือจะพูด จะคิด จะเขียน จะเขียนเอาไปพูดอะไรก็ตาม นี่เรียกว่าถ่ายออกไป ในการรับเข้ามาก็ดี ถ่ายออกไปก็ดี ทำได้ดี ๆ อาตมาใช้มันอยู่เป็นประจำ เวลา ๕ น. อย่างนี้ จะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเวลาที่จะเบิกบาน ดอกไม้ในป่าทั้งหลายพร้อมที่จะบาน เริ่มเบิกบาน เริ่มแย้มบานเป็นส่วนมาก คือเป็นเวลาที่จะบานของดอกไม้ ดอกบัว ดอกอะไรนี่เตรียมบาน มันได้รับการพักผ่อนตลอดเวลามา ตื่นขึ้นมามันสดชื่น ยังใหม่ยังไม่ได้ใส่อะไรลงไป จิตใจยังใหม่ ไม่ได้ใส่อะไรลงไป ถ้าเราไปถึงเวลาสาย เวลาสายเวลาบ่ายเลย เย็นไปโน่นแล้วก็มันใส่อะไรลงไปมาก ยุ่งหมด จะใส่อะไรลงไปอีกก็ลำบาก ก็เปรียบ ล้อ ๆ กันว่า เหมือนกับน้ำชาที่มันเต็มถ้วย จะเติมอะไรลงไปอีกก็ลำบาก ในเวลาที่น้ำชายังไม่มีอะไรในถ้วย ริน เติมลงไปได้โดยง่าย น้ำชามันยังไม่ล้นถ้วย โลกในเวลา ๕ น. นี่มันเหมาะสมที่จะรับ มันยังไม่มีอะไรในถ้วย ก็รับได้โดยง่าย ปรากฏตามที่เรารู้กันมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาหัวรุ่ง คือเวลาอย่างนี้ โลกเวลา ๕ น. นี่ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นความเหมาะสม เข้าใจว่าศาสดาองค์อื่น ๆ ก็ยังคงมีอีก ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ที่มีความเป็นพระศาสดา รู้แจ้งแทงตลอดถึงที่สุด เมื่อเวลาโลก ๕ น. มันจะรับเข้าได้ดีมาก หรือมันจะถ่ายออกไป อย่างอาตมาพูดอย่างนี้ มันก็คิดได้ดีอีก คิดได้สุขุมรอบคอบเพราะว่ามันยังใหม่ คือจิตใจมันยังสดชื่น ยังใหม่ จะเขียนจะพูดอะไร มันก็ต้องทำได้ดี เพราะยังมีความสดชื่น แต่ถ้านอนเสียมันก็สบาย ไม่ได้ทำอะไรมันก็สบาย ก็ทำเป็นนิสัยแล้ว ไม่อยากจะมาพูดกันเวลา ๕ น. มันคงจะมีบางคนยังงัวเงีย ยังไม่พร้อม เพราะไม่เคยชิน ดังนั้นขอให้ทำไปจนเคยชิน อยู่ที่บ้านนั่นแหละ เคยชิน มันจะอ่านหนังสืออะไร ก็จะอ่านได้ดี จะคิดจะเขียน ไปพูดไปอะไรที่ไหน หรือแม้แต่จะเขียนจดหมายสักฉบับ ลองดู มันก็เขียนได้ดี นี่เรียกว่าเรามารู้จักใช้โลกเวลา ๕ น. กันเป็นพิเศษ เป็นผลดีทั้งเรื่องรับเข้าและถ่ายออก หัดเป็นนิสัยมันก็กลายเป็นสนุก เหมือนกับว่าเป็นนิสัย หัดนอนเวลานี้ เวลา ๕ น. สบายที่สุดก็ได้เหมือนกัน แต่ผลมันต่างกันลิบ จึงอยากจะขอร้องว่า ลองทำให้เป็นนิสัยดู มันก็จะมีโลกเวลา ๕ น. เป็นพิเศษสำหรับเรา ถ้าไม่อย่างนั้นก็เท่าเดิม เหมือนเดิม ไม่มีโลกเวลา ๕ น. ถ้าคิดจะทำอะไรด้วยความสดชื่นแจ่มใสของวันใหม่ วันใหม่แต่ละวัน ๆ นี่เรื่องพิเศษ ถ้าใครยังไม่เคยมี ขอให้ลองดู พยายามลองดู มันจะมี แล้วมันจะง่าย แล้วมันจะพอใจ มันจะสะดวก ในการที่จะมี จะเล่าเรียน จะศึกษาจะท่องจะบ่น จะซ้อมความจำ จะคิดนึกเป็นการซ้อมความจำอะไร ก็ดีทั้งนั้นแหละในโลกเวลา ๕ น. นี้ ไม่อยากจะลืมอะไร ก็มานึกคิดไว้เวลานี้ จะเป็นเรื่องสิ่งของ เรื่องชื่อคน เรื่องบ้านเมือง เรื่องเหตุการณ์ เอามานึกอยู่เวลานี้ มันก็จะฝังลึกฝังแน่น จะแจ่มใสลงไปในความคิดความจำ ความอะไรต่าง ๆ เอาละ, เรื่องเวลา ๕ น. ขอ.. จะเรียกว่าแนะนำก็ได้ สำเนา(นาทีที่ 0:08:50)อย่างนี้เอง จะได้มีประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยได้รับเป็นอันมาก แล้วมันก็จะรวมอยู่ในชุดที่เรียกว่าปีใหม่ ถ้าเรามีวันใหม่ ๆ อย่างนี้ วันใหม่ที่สดชื่นแจ่มใส สมบูรณ์อย่างนี้ทุกวัน ๆ มันก็เป็นปีใหม่ ปีเก่านอนขี้เกียจอยู่ ปีใหม่นี้สดชื่นร่าเริงแจ่มใส ในแต่ละวัน ๆ นี่ก็สงเคราะห์ว่าเป็นปีใหม่ได้ ชีวิตนี้ใหม่ขึ้นมาได้ เป็นปีใหม่ ขอให้ลองคิดดูให้ดี ทีนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องปีใหม่ มีอะไรใหม่ ปีใหม่ต้องมีอะไรใหม่ คือดีกว่าปีเก่า ในทางวัตถุก็มีอะไรถูกต้องดีกว่า ในทางร่างกายก็มีอะไรถูกต้องดีกว่า ในทางจิตใจก็มีอะไรถูกต้องดีกว่า ในทางสติปัญญามันก็มีอะไรถูกต้องดีกว่า เมื่อท่านได้รับฟัง ได้รับการจัดการทำให้มันถูกต้อง ในทางวัตถุสิ่งของ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ทิฐิ ความคิดความเห็น มันก็ดีกว่ากันมากเลย ลองคิดดู ดีกว่ากันมากทุกทาง มันใหม่ขึ้น ๆ ดีขึ้น ขอให้สนใจ ทีนี้ก็อยากจะพูดถึง “เครื่องมือ” เอาอะไรมาเป็นเครื่องมือ ที่มาทำให้มันใหม่ เอาอะไรมาเป็นเครื่องมือ นี่เราก็คุยโตหน่อยว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เราเข้าใจแจ่มแจ้ง ฝึกฝนอยู่ได้สำเร็จแล้ว นั่นแหละจะเป็นเครื่องมือ ปฏิจจสมุปบาทที่ปล่อยไปตามความโง่ หรืออวิชชา คือเป็นปฏิจจสมุปบาทอวิชชา มันก็ไปดิ่วไปทางอวิชชา แต่ถ้าปฏิจจสมุปบาทที่ตรงกันข้ามล่ะ มันถูกควบคุมอยู่ด้วยวิชชา ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันนี้มันก็ไปอีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามอยู่ นี่เรามีปฏิจจสมุปบาทพร้อมสำหรับจะใช้อย่างนี้ มันไปตามธรรมชาติของมัน มันก็ไปอย่างหนึ่ง มันมาในทางที่เราควบคุมจัดสรรให้มัน มันก็เป็นอีกอย่าง จะพูดอย่างที่เคยพูดหน่อยหนึ่งนะว่า ชีวิตนี้มันมีนาฬิกาที่มันเดินอยู่โดยไม่รู้สึก, มันเดินอยู่โดยไม่รู้สึก มันก็ไปตามเรื่องตามราวของมัน ท่านลองสังเกตดูให้ดี ๆ มันมีกระแสอะไรที่มันจะไหลไปตามธรรมชาติ ตามเรื่องของมัน ตั้งต้นวันใหม่กันที่เวลา ๑ น. เที่ยงคืนแล้ว ๑ น. มันก็ไหล ๆ ไปในทางหลับ หลับแล้วมันก็ไหลไปในทางที่มันจะตื่น ถ้าไปถึงตี ๓ ตี ๔ มันก็จะเริ่มตื่น ตี ๕ มันก็ไหลไปทางที่จะตื่น อย่างที่เราเอามาใช้อยู่เวลานี้ พอตี ๖ เช้า ก็ไหลไปในทางที่มันอยากจะทำอะไร มันก็ต้องทำอะไร นับตั้งแต่ว่ามันจะล้างหน้า แล้วมันจะทำอะไรไปตามที่มันเคยชิน ก็นาฬิกานี่มันไหล มันเดินอยู่ทุกวัน ๆ เมื่อตี ๗ ขึ้นมาจะตี ๘ มันไหล ๆ ไปทางที่จะหาอะไรกิน มันจะต้องการอะไรกินขึ้นมาโดยความรู้สึกของมัน ก็ตามธรรมชาติ ๘ น. มันจะกินอาหาร เติมพลัง มันก็ไหลไปตามนั้น ทีนี้ ๙ น. มันก็ไหลไปในทางที่จะทำอะไร ให้สนุก อยู่เฉย ๆ มันไม่ได้ มันต้องหาอะไรทำของมันเอง ๑๑ น. มันก็เริ่มไหลไปทางเหนื่อย ทางอ่อนเพลีย ทางอยากจะพักผ่อน หรืออยากจะกินอาหารอยากจะเติมอาหาร บ่ายโมง สองโมง ไหลไปทางที่จะทำอะไรเล่น ทำอะไรเล่นตอนบ่าย บ่าย ๔ โมง ๕ โมง ๖ โมง มันก็ไหลไปตามที่จะกินอาหาร พอค่ำลงมันก็ไหลไปทางจะเตรียมพักผ่อน มันก็จะเตรียมพักผ่อน ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม มันก็ไหลไปทางพักผ่อน ยี่สิบสองคือว่ายี่สิบสอง จะเที่ยงคืนแล้วก็มันง่วงเอง มันง่วงเองละ ไม่มีใครต้องใช้มัน นาฬิกามันเดิน ๒๔ น. ยังไงมันก็หลับของมันเอง มันก็ไหลต่อไปครบรอบ รอบวันหลัง เป็นวัน ๆ เป็นอย่างนี้ นาฬิกาซ่อนอยู่ในชีวิต มันเดิน อันนี้มันปรับปรุงแก้ไขได้ ให้มันเดินดีขึ้น คือให้มันใหม่ขึ้น ๆ แปลกขึ้น สูงขึ้นดีขึ้นได้ จะเรียกว่าแต่ละวัน ๆ ก็ได้ หรือว่าแต่ละครึ่งวัน เสี้ยววัน หรือจะแต่ละชั่วโมง ๆ ทำให้มันดีได้ ทำให้มันดีขึ้นได้ ท่านอย่าทำเล่น ๆ กับมัน ถ้าทำอย่างหยาบ ๆ มันก็เหมือนกับละเมอเพ้อฝัน มันก็ไม่มีทางที่จะดีขึ้นได้ แต่ถ้าจัดให้มันถูกต้องทุก ๆ ชั่วโมง หรือทุก ๆ ๒ ชั่วโมงก็สุดแท้ มันก็ดี ใหม่ขึ้นมาเสมอไป นี่เราจะมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ให้มันเป็นไปทางที่มันตรงกันข้ามจากที่มันเป็นตามธรรมชาติ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ คือตามบุญตามกรรม มันเป็นไปในทางอวิชชา คือไม่รู้ทั้งนั้น มันไม่รู้ แต่ถ้ามาควบคุม ๆ มันต้องเป็นในทางวิชชา คือมันรู้ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตลอดวัน ครบวัน มันก็เป็นวันที่เต็มไปด้วยความรู้ ถ้าในทางฝ่ายที่ไม่ได้ควบคุม ฝ่ายผิด ฝ่ายธรรมชาติที่มันผิด ๆ มันมีอวิชชา ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสอะไรก็ตาม มันเป็นไปตามอวิชชา ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญาที่จะมาควบคุม มันก็มีอายตนะ อวิชชา ถึงกันเข้าเป็นวิญญาณ ทางตา เป็นต้น มันก็อวิชชา ลงกันเป็นผัสสะ มันก็ผัสสะอวิชชา เวทนาออกมาก็เป็นเวทนาโง่ เวทนาอวิชชา มีตัณหา มีความอยากที่โง่เขลา มุ่งเป็นอวิชชา มีอุปาทาน ตัวกู-ของกู ตัวกูขึ้นมามันก็อวิชชา แล้วก็แก่ออกมาเป็นชาติ ๆ ตรงนี้ช่วยจำไว้ให้ดี ชาติ มีอุปาทานแล้วก็มีภพ คือเข้มข้นไอ้ตัวกู แล้วก็ออกมาเป็นชาติ ในเมื่อทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสมบูรณ์ก็เป็นชาติ ก็โง่อีกตามเดิม เป็นชาติโง่ ก็รวบรวมอะไรต่าง ๆ มาเป็นทุกข์ เป็นของกูมาเป็นทุกข์หมด คว้ามาเป็นของกูหมด ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู อะไร ๆ ที่เข้ามากระทบ ยึดมั่นเป็นตัวกูไปหมด อะไรก็เป็นตัวกู มันเกิดความคิดเป็นตัวกูไปหมด เงินทองข้าวของ บุตรภรรยาสามี มันก็เข้มข้นเป็นทางเป็นตัวกู มันโง่ตลอดสาย นี่ปฏิจจสมุปบาทโง่ ให้ผลออกมาเป็นชาติ ความเกิด โง่ ให้เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู-ของกู อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องครึคระของคนพันปีมาแล้ว เป็นเรื่องของยายแก่ศาลาวัด จะขอยืนยันว่าแม้นักปราชญ์หัวฉลาดแห่งมหาวิทยาลัยในโลกก็ยังโง่เรื่องนี้ คือไม่รู้จักความฉลาดของพระพุทธเจ้าที่พัน ๆ ปีมาแล้ว อวิชชา ปัจจะยา สังขารา ภาวะอันปราศจากความรู้ทำให้เกิดอำนาจการปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้เกิดของใหม่ เรียกว่าสังขาร อวิชชาให้เกิดสังขาร อำนาจการปรุงแต่ง-สังขารน่ะ สังขาระ ปัจจะยา วิญญาณัง สังขารทำให้เกิดวิญญาณ สังขารแปลว่าปรุงแต่ง ก็ไปปรุงไอ้วิญญาณธาตุตามธรรมชาติที่ยังไม่มาเกี่ยวข้องกับคน วิญญาณธาตุที่มันอยู่ตามธรรมชาติ มันเอามาปรุงแต่ง ให้เป็นวิญญาณธาตุที่จะทำอะไรได้ในจิตใจของคน ก็ได้วิญญาณธาตุชนิดที่จะมาประกอบกันเป็นชีวิตนี้มา ได้เรียกว่าสังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง เมื่อวิญญาณอย่างนี้มาแล้วมันก็หาคู่จับของมันคือร่างกาย มันได้มาเป็นคู่กัน คือกายกับใจมาเป็นคู่กัน นี่เรียกว่านามรูป คืออัตภาพร่างกายที่ครบทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายกายและฝ่ายใจ นามะรูปะ ปัจจะยา สะฬายะตะนัง ก็มีกายกับใจเป็นคู่กันเหมาะสมอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดอายตนะที่จะทำหน้าที่ ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่อายตนะเกิดกันตรงนี้ อายตนะเป็นปัจจัยเกิดผัสสะ นี่พูดรวบรัดหน่อยว่า อายตนะปัจจัยเกิดผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา มีผัสสะกระทบอารมณ์แล้วก็เกิดเวทนา รู้สึกขึ้นตามอารมณ์ที่มากระทบ ถ้าโง่ก็โง่ ถ้าฉลาดก็ฉลาด เวทนา ปัจจะยา ตัณหา เวทนาเกิดตัณหา รู้สึกเวทนาอย่างไร มันก็เกิดความอยากไปทางตามนั้นแหละ เวทนาเป็นบวกมันก็อยากไปทางบวก เวทนาเป็นลบมันก็อยากไปทางลบ ยินดี-บวก ก็เกิดไปตามแบบกิเลสยินดี ยินร้ายมันลบ มันก็เกิดไปตามแบบกิเลสลบ มันอยากจะฆ่า มันอยากจะทำลาย นี่เวทนาให้เกิดตัณหา ฉลาดก็ฉลาด ถ้าโง่ก็โง่ ก็แล้วแต่เรื่อง ตัณหา ปัจจะยา อุปาทานัง เกิดความอยาก แล้วมันก็เกิดรวมกันเป็นตัวกู กูอยาก รู้สึกเป็นตัวกู กูอยาก จะโง่หรือจะฉลาดก็แล้วแต่ว่าอะไรเข้ามาปรุงแต่ง อุปาทานะ ปัจจะยา ภะโว เป็นภพ เกิดเป็นความมีแห่งตัวตน ผีหลอกน่ะ ขึ้นมาแล้ว ตั้งต้นแล้ว แก่รอบเข้า แก่เข้า ๆ เหมือนกับครรภ์แก่ ภวะ ปัจจะยา ชาติ ภพเป็นปัจจัยมันก็เกิดชาติ ทอดลงมา เป็นตัวกู แสดงบทบาทเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นเทวดา เป็นคนอันธพาล เป็นคนสัตบุรุษ อะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้ามันไปตามภาวะไม่รู้ อันนั้นก็เกิดเป็นโง่ มันก็มีความทุกข์ เอานั่นเอานี่ คว้านั่นคว้านี่เอามาเป็นตัวกู เป็นของกูได้เป็นทุกข์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนโง่ ไม่ใช่เรื่องของคนครึคระทำศาลาวัด มันฉลาดสูงสุดของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่านตรัสรู้เรื่องนี้ ท่านตรัสรู้ไปตามลำดับ ๆ เมื่อสมบูรณ์แล้วสรุปรวมเป็น เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เรื่องทางดับทุกข์ สรุปเรียกสั้น ๆ ว่า อริยสัจ ๔ แต่แท้จริงมันมีรายละเอียดเป็น ๑๒ อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นเอง เรามันมีชาติ มีชาติทุกทีที่มีการกระทบทางอายตนะ ชาตินี้แปลว่า ความเกิด แต่ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงเกิดจากท้องแม่ เกิดจากท้องแม่มันเสร็จเรื่องไปแล้ว มันเกิดมาแล้ว ที่มันมีชีวิตอยู่ด้วยอายตนะ อายตนะทำงานมีผัสสะมีเวทนา นี่เกิด ๆ ทุก ๆ คราว เกิดเป็นความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ ถ้ารู้จักให้ดี ๆ เข้าใจดี ๆ ถ้ามันมีการกระทบทางอายตนะ ตาก็ได้ หูก็ได้ จมูกก็ได้ ทางใดทางหนึ่งก็แล้วกันน่ะ มันจะมีไหลไปอย่างนี้ เป็นกระแสปฏิจจสมุปบาท ไหลไปจนถึงความเกิด ไปเกิดเป็นตัวกู ผีหลอกบ้า ๆ บอ ๆ ขึ้นมาโลด ๆ เต้น ๆ อยู่ทุกคราวไป ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ ถ้าในวันหนึ่งมันมีการกระทบทางอายตนะสิบครั้ง มันก็เกิดสิบชาติ ร้อยครั้งก็ร้อยชาติ เป็นพันครั้งก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยจะสังเกต ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่ามันได้นะ วันหนึ่งเป็นร้อยครั้ง มันกระทบเรื่อย ไม่ตาก็หู ไม่หูก็จมูก ไม่จมูกก็ลิ้น ไม่ลิ้นก็ผิวหนัง ไม่ผิวหนังก็จิตใจ มันมีการเกิดอยู่อย่างนี้ ถ้าด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา มันก็ไปสู่ความทุกข์เต็มที่ ถ้ามันไม่โง่ด้วยวิชชา คราวนี้มันก็ไม่ทุกข์ แล้วมันก็ได้ประโยชน์ มีประโยชน์และมีความสุข เราจงควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ให้เป็นไปแต่ในทางที่ไม่โง่ มันก็ฉลาดตลอดสาย ก็ได้รับผลดี ที่เป็นตัวตน ผีหลอกก็สุดแท้แต่ แต่มันไม่เป็นทุกข์น่ะ มันไม่เป็นทุกข์ นี่เราจะถือเอาสิ่งนี้เป็นเรื่องเกิด เกิดใหม่ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ ให้เฉียวเฉลียวฉลาดให้ถูกต้อง ไม่มีความทุกข์ทุกคราวที่มีอายตนะเกิดขึ้น อย่าเห็นเป็นของครึ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักให้ดี ๆ เหมือนจะรู้จักใหม่ รู้จักเครื่องแต่งตัวสวย ๆ รู้จักเครื่องทาให้หอม เรื่องกินให้อร่อย ทำไมรู้จักดี แต่ทีอย่างนี้สำคัญที่เป็นความตาย ความอะไรของชีวิตจิตใจเราก็ไม่ค่อยจะรู้จัก เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันปล่อยไว้จนเคยชิน เคยไป ก็ไม่ค่อยจะสนใจ มันก็ไม่รู้จักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอให้รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าความเกิดความตายมันอยู่ที่นี่ จะฉิบหายก็อยู่ที่นี่ จะเจริญก็อยู่ที่นี่ นี่คือกระแสแห่งทางปรุงแต่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันควบคุมได้มันก็มีแต่ในทางถูกต้อง คือมีแต่ทางสงบสุขไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราจะควบคุมให้ดีกว่าปีเก่า มันก็ปีใหม่มีขึ้นมาทันที ควบคุมให้ดีกว่าเดือนก่อน มันก็เดือนใหม่ก็มีขึ้นมาทันที ควบคุมให้ดีกว่าวันก่อน มันก็วันใหม่ก็มีขึ้นมาทันที เป็นของใหม่ ไม่เก่า ไม่เหมือนเดิม จงเปรียบเทียบดูให้ดี ๆ ของเดิมนี่มันไม่มีความรู้ มันปล่อยมาตามธรรมชาติ มันไม่มีความรู้ มันเป็นไปในทางให้เกิดความทุกข์ ยินดี-ยินร้าย หัวเราะ-ร้องไห้ ดีใจ-เสียใจ อย่างนี้มันเก่าเต็มทีแล้ว ทำให้มันใหม่คือไม่ให้มันร้อน ไม่ให้มันเป็นทุกข์ ไม่ให้มันขบกัดอย่างที่พูดมาแล้ว เมื่อตอนที่แล้วมาว่า อย่าให้กัดเจ้าของ นี่ชีวิตนี้กัดเจ้าของ ชีวิตอัตภาพนี้มีอยู่ทั้งร่างกายและจิตใจ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวชีวิต ถ้าทำไม่ดีมันกัดเจ้าของ กัดด้วยความรัก กัดด้วยความโกรธ กัดด้วยความเกลียด กัดด้วยความกลัว กัดด้วยความตื่นเต้น กัดด้วยความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา ความหวงและความหึง นี่มันกัด ทำไมมองข้ามไปเสีย ทำไมเห็นเป็นเรื่องไม่มีความหมายไป ไม่สนใจไร้สาระ มันก็กัดเอา ๆ จนเป็นคนถูกกัด ฉิบหายหมดแล้ว มีแต่ความโง่ด้วยการถูกกัด ถ้าไม่ยอมให้ถูกกัด มันก็เปลี่ยนทันที มันก็เปลี่ยนจากสภาวะเดิม ๆ ที่เคยชินมาแต่หนหลัง เดี๋ยวนี้มันก็มีชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่คือชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ขอให้ท่านมีชีวิตใหม่ อะไรก็จะใหม่หมด ปีใหม่ วันใหม่ เดือนใหม่ มันก็เกิดขึ้น เพียงแต่มีชีวิตใหม่ที่มันไม่กัดเจ้าของ มีชีวิตใหม่นี่แล้วก็จะมีวันที่เราเรียกกันว่าปีใหม่ ปีใหม่นี้ขอให้มันเป็นปีใหม่ ชีวิตนี้มันไม่กัดเจ้าของ ใหม่จริงหรือไม่ใหม่จริงก็ลองคิดดู ก่อนนี้มันมีแต่กัดเจ้าของ เดี๋ยวนี้ไม่กัดเจ้าของ กลับส่งเสริมให้เกิดความสุข สะอาด สว่าง สงบ สงบเย็นเป็นอิสระและมีประโยชน์ด้วย ถ้าจะให้สรุปให้สั้น เอาแต่เพียงว่า สงบเย็น ไม่มีไฟ-ความร้อน กิเลสน่ะไฟร้อน ไม่มีมันก็สงบเย็น ใช้คำว่า “เย็น” ความหมายมันพิเศษสักหน่อยนะ ไม่ใช่หนาว ถ้าหนาวไม่ไหว ถ้าหนาวมันก็เดือดร้อน ถ้าร้อนก็ไม่ไหว ถ้าหนาวไม่ไหว ร้อนไม่ไหว ไม่เอา เอาแต่ที่มันไม่หนาวและไม่ร้อน นี่เขาเรียกว่า สงบเย็น เย็นนี่พิเศษ คือไม่คู่กันกับร้อน เย็นอย่างนี้เป็นเย็นอย่างความหมายของนิพพาน ตัวนิพพานแปลว่าเย็น มันไม่ใช่เรื่องหนาว และมันก็ไม่ใช่เรื่องร้อน มันก็เย็น สงบเย็น ชีวิตนี้สงบเย็น มันก็เข้ารูปที่ว่ามันไม่กัดเจ้าของ ตลอดเวลามันไม่กัดเจ้าของ มันก็เย็น เย็นนี้ให้ได้ก็เรียกว่าได้นิพพานในชาตินี้ ถ้าได้เต็มที่ก็เป็นพระอรหันต์ ได้รอง ๆ มาก็รองลงมา ได้น้อยไปหน่อยก็เป็นปุถุชนที่ดี เป็นคนที่ดียังมีความสงบเย็นอยู่บ้าง ถ้าเป็นอันธพาลเป็นคนโง่ มันก็ร้อนไปเสียทั้งหมด ให้สงบเย็น ๆ ขึ้นมา เรียกว่า นิพพุติ สงบเย็นแบบชั่วคราวไม่ถึงที่สุด นี่เรียกว่า นิพพุติ ก็เย็นน่าชื่นใจเหมือนกันนะ ถ้ามันสมบูรณ์เด็ดขาดไม่กลับร้อนอีกก็เรียกว่า นิพพาน นิพพานะ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดก็ยังเรียกนิพพุติ ขอให้มีนิพพุติ คือมีชีวิตที่สงบเย็น มีความเยือกเย็นแห่งชีวิต นี่เรียกว่าสงบเย็น ๆ ขอให้มีความสงบเย็นตลอดเวลา ถ้าได้อย่างนี้ ปีใหม่ที่สุด ปีใหม่ที่ดีที่สุดที่มันจะเกิดขึ้นมา นี่ได้อย่างแล้ว ได้สงบเย็น ก็ขออีกอย่าง ช่วยจำไว้ด้วย ขออีกอย่างให้มันได้เป็นคู่ ๒ อย่าง อย่างหลังคือ “เป็นประโยชน์” อย่างแรกคือสงบเย็น ระยะที่สองเรียกว่า เป็นประโยชน์ สงบเย็นอยู่คนเดียวมันก็ดีอยู่คนเดียว มันยังไม่ถึงที่สุด ต้องเป็นประโยชน์ออกไปถึงผู้อื่นด้วย ให้ความสงบเย็นของเรานี่มันออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย พอแล้ว ตัวเองสงบเย็นไม่มีความทุกข์ เมื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นทุกผู้ทุกนาม นี่มันก็พอแล้ว พอหรือไม่พอลองคิดดู อาตมาคิดว่ามันพอแล้วนะ ตัวเองสงบเย็นไม่มีความทุกข์ และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นพอแล้ว มากกว่านี้มันจะบ้า ถ้าเกินนี้มันจะบ้า สงบเย็นแล้วเป็นประโยชน์แก่ทุกคนแล้วจะเอาอะไรกันอีก ถ้าเอามันก็จะเฟ้อ หรือจะเกินจะบ้าแล้ว เอาเพียง ๒ อย่างก็จะพอ สงบเย็น สงบเย็น ไปทุกอิริยาบถ ทุกเวลานาที ทุกสถานที่ ทุกหนทุกแห่ง และเป็นประโยชน์ ทีนี้คำว่าประโยชน์ ประโยชน์นี้ ขอให้ใจกว้างสักหน่อย อย่าเป็นแต่เพียงประโยชน์ของตัวกู พระพุทธเจ้าตรัสประโยชน์ไว้ ๓ ประโยชน์ ๑) ประโยชน์ตนเอง เรียกว่า อัตตัตถประโยชน์ ๒) ประโยชน์ให้ผู้อื่นเรียกว่า ปรัตถประโยชน์ ๓) ถ้าประโยชน์ ๒ ฝ่ายเกี่ยวข้องกัน เกี่ยวพันกันเรียกว่า อุภยัตถประโยชน์ อัตตัตถประโยชน์-ประโยชน์ตน ปรัตถประโยชน์-ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถประโยชน์-ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันเป็น ๒ ฝ่าย เมื่อทำเต็มอย่างนี้แล้วมันก็ถูกต้องที่สุด เดี๋ยวนี้มันรู้จักกันแต่ประโยชน์ตน ประโยชน์ตัวเอง ไม่รู้จักประโยชน์ผู้อื่น ความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดขึ้น เรียกเป็นบาลีว่า อัตตัตถปัญญา ปัญญาที่รู้จักแต่ประโยชน์ตนเท่านั้นแหละ รู้จักแต่ประโยชน์ตน เลยกลายเป็นของเลว ของโง่ เห็นแก่ตน เพราะว่าเขามีแต่ปัญญาชนิดที่ว่ามองเห็นแต่ประโยชน์ของตน เรียกว่า อัตตัตถปัญญา มีศัพท์เติมท้ายว่า อสุจี มนุสสา คือเป็นมนุษย์อสุจิ อัตตัตถปัญญา ผู้มีปัญญาแต่เพียงประโยชน์ของตน อสุจี มนุสสา เป็นมนุษย์อสุจิ มนุษย์สกปรก นี่ความเห็นแก่ตน มีความรู้แต่เรื่องประโยชน์ของตน ก็ทำแต่เพื่อประโยชน์ของตน เห็นแก่ตน เป็นมนุษย์สกปรก ไม่มีประโยชน์กับใครแล้วยังสกปรก น่าขยะแขยงไปเสียทั้งหมดอีก อย่าเอากับมันเลย ความเห็นแก่ตน นี่มันโง่มาตลอดสายของปฏิจจสมุปบาท ก็มีอาการอย่างนี้ มองเห็นแต่ประโยชน์ตน มองเห็นแต่ประโยชน์ตน ชีวิตนี้ก็ไม่ใหม่ คือเก่าไปตามเดิม เคยเห็นแต่ประโยชน์ตนมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องมารดา มันก็เห็นแต่ประโยชน์ตนเรื่อย ๆ มา จนเป็นนิสัยชนิดหนึ่ง ต้องล้างออก ๆ ให้เกิดการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นด้วย และประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันด้วย อัปปะมาเทนะ สัมปาเทตัพพัง จงทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท สัมปาเทตัพพัง คือทำให้สำเร็จประโยชน์ อัปปะมาเทนะ-ด้วยความไม่ประมาท จงทำประโยชน์ตัวเองให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ทำประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทั้ง ๒ ฝ่ายให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท จะมีอะไรอีกล่ะ มันก็หมด ประโยชน์ทั้ง ๓ อย่างครบถ้วน นี่เรียกว่าเป็นประโยชน์ สงบเย็นและเป็นประโยชน์ เกินนี้บ้า จริงไม่จริงไปคิดดู มันบ้าจนยุ่ง จนไม่รู้จะทำอะไรให้มันมีประโยชน์ มันกลับเป็นยุ่ง เป็นทุกข์ไปเสียอีก เอาเพียงว่าเราก็สงบเย็น และก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย จุดหมายสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้มันมีแต่ฉลาด ๆ แล้วยังเห็นแก่ตัว เรียนให้ฉลาดจบมหาวิทยาลัยทั้งโลกมันก็ยิ่งเห็นแก่ตัว มันไม่มีประโยชน์ด้วย และมันไม่สงบเย็นด้วย ผู้เห็นแก่ตัวไม่มีทางจะเย็น เพราะว่าความเห็นแก่ตัวมันเป็นกิเลส ขึ้นชื่อว่าเป็นกิเลสมันร้อน ร้อนเป็นไฟ มันก็ไม่สงบเย็น มันจะจบปริญญามาทั้งโลก ปริญญาเป็นหางยาวเป็นกิโล มันไม่เย็นน่ะ มันมีแต่ความเห็นแก่ตัว มันต้องสงบเย็นเพราะไม่มีไฟ และการเคลื่อนไหวทุกกระเบียดนิ้วเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น นี่ผู้ประสบความสำเร็จในการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะได้พบพระพุทธศาสนา ถ้ามันจะถามกันง่าย ๆ ตื้น ๆ ประสาเด็ก ๆ ว่า เกิดมาทำไม ก็เกิดมาเพื่อเป็นผู้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ เท่านี้ก็ไม่เสียชาติเกิด ถ้ามันมีแต่ร้อน ๆ แล้วไม่มีประโยชน์อะไร มันเสียชาติเกิด มันควรจะจับให้ได้อย่างน้อยง่าย ๆ เบื้องต้นว่าเกิดมาเพื่อสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ธรรมชาติจัดให้มาสำหรับเป็นได้ เป็นได้ไม่เหลือวิสัย ธรรมชาติจัดมาให้ ให้ดินน้ำลมไฟ อากาศ วิญญาณธาตุทั้งหลายเหล่านี้ เสมือนหนึ่งให้ยืมมา ธรรมชาติให้ยืมมา มาประกอบกันขึ้นเป็นอัตภาพนี้ มีร่างกายมีจิตใจ บำเพ็ญตนให้เป็นผู้เยือกเย็นและเป็นประโยชน์ เดี๋ยวนี้ไอ้ชาติอกตัญญูไม่รู้คุณของธรรมชาติ แล้วก็ยังมาเอาเป็นตัวกู-ของกูเสียอีก ธรรมชาติให้ยืมมา ยังมาโง่เอาเป็นตัวกู-ของกูเสียอีก นี่มันคนพาล อันธพาล ขอท่านทั้งหลายจงเป็นคนซื่อตรงต่อธรรมชาติ ธรรมชาติให้ยืมมา ไม่คิดดอกเบี้ยนะ ให้ยืมอย่างไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าสึกหรอ ไม่คิดอะไรหมด ให้ยืมมา เอ้า, แกเอาไป พัฒนาเอาเองตามชอบใจ ธรรมชาตินี้ แกเอาไปพัฒนาตามชอบใจ ให้เกิดความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ถึงที่สุดของแก แต่แกอย่าปล้น อย่าโกงเอาไปเป็นของแก ให้มันเป็นของธรรมชาติ เมื่อเสร็จเรื่องเสร็จราวแล้ว ควรจะคืนเจ้าของ ตลอดเวลาที่ยังไม่คืนเจ้าของก็อย่าโกงว่าเป็นของกู มันคงเป็นของธรรมชาติ นี่คือความลับที่สุดของพระธรรม ที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ว่าเป็นตัวตน ของตน ไม่มีอะไรเป็นตัวตนของตน เป็นของธรรมชาติโดยถูกต้อง อย่างกับว่าให้ยืม เขาให้ยืมไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดอะไรหมด เอามาพัฒนา พัฒนาให้ท่วมฟ้าก็ได้ พัฒนาเถิด เมื่อไรเอามาเป็นตัวตนของตน มันเป็นขโมยเป็นโกง มันเป็นคนสกปรกเป็นคนโกงไปแล้ว มันก็ถูกตบหน้า ธรรมชาติก็ตบหน้าเอา เกิดความร้อน ความทุกข์ ความสกปรกอะไรไปทุกอย่างทุกประการ เป็นชีวิตที่ดูไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นคนโกง อย่าโง่เอามาเป็นตัวกู เป็นของกู มันเป็นของธรรมชาติยืมใช้ ใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดเท่าใดก็ได้ ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าสึกหรอ นี่ศิลปะหรือเคล็ด หรืออะไรก็ตามแต่ จะเรียกมันอย่างไรก็ได้ ของชีวิต ท่านทั้งหลายจงกระทำให้สำเร็จประโยชน์ ด้วยความรู้ที่เฉลียวฉลาดลึกซึ้ง มีชีวิตอยู่โดยไม่คดโกงธรรมชาติ เรียกว่า อนัตตา-ไม่ใช่ตัวตน มีตัวตนซึ่งมิใช่ของตน คนโง่ฟังไม่ถูก ขอรับรองว่าคนโง่ฟังไม่ถูก เมื่อพูดว่ามีตัวตนซึ่งมิใช่ของตน ท่านจงมีชีวิตอยู่ด้วยตัวตนซึ่งมิใช่ของตน You are you, which is not the real you พวกฝรั่งฟังถูกแล้วเดี๋ยวนี้ ก็พูดกันมาประจำ แล้วก็หัวเราะฮาเลย พอใจ คุณเป็นตัวคุณ ซึ่งมิใช่ตัวคุณอันแท้จริง มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนอันแท้จริง มันคือตัวตนที่ยืมของธรรมชาติมา ไม่เป็นคนโกง ไม่เป็นคนตระบัดยักยอกอะไรหมด ซื่อ ๆ ซื่อตรงและบริสุทธิ์ ข้อนี้เรียกว่า อนัตตา ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนของเรา ตัวตนซึ่งเป็นของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนั้น มันจะตัวกู-ของกูเสียหมด มันก็ปล้นธรรมชาติ ก็โกงธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็ตบหน้าเอาด้วยความร้อน ร้อนอย่างราคะ ร้อนอย่างโทสะ โมหะ กิเลสนานาชนิด เป็นลักษณะที่ว่าธรรมชาติมันตบหน้าเอา ขอให้เราช่วยจำคำ ๑๐ คำนั้นไว้ให้ดี ๆ มันเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ความรักเป็นไฟ ถ้ามันเคยรักกันมาแล้วเป็นไฟอย่างไรดูเอาเอง เบื้องต้นตอนต้น ความรักเป็นของหวาน มันก็มีไฟอยู่ในความหวาน นั่งไม่ติด นี่กัด กัดด้วยความรัก โกรธ โกรธขึ้นมาก็เป็นไฟชนิดหนึ่ง ความรักเป็นไฟเปียก ๆ ไฟแฉะ ๆ ความโกรธเป็นไฟแห้ง ๆ ไฟลุกโพลง มันก็กัดแบบความโกรธ ความเกลียดมันทำให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ นี้ก็เกลียด นั้นก็เกลียด โน้นก็เกลียด จะอยู่ที่ไหน มันทำให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ มันเดือดร้อนเท่าไรลองคิดดู เกิดความเกลียดขึ้นมาเท่านั้นแหละ มันจะไม่มีแผ่นดินอยู่ มันจะถึงกับว่าเกลียดน้ำหน้าตัวเอง คนเลวคนพาลคนโง่ถึงไม่รู้จัก ถ้ามันรู้สึก รู้จักกับมันนะ จะเกลียดน้ำหน้าตัวเอง แล้วมันจะอยู่ที่ไหน มันไม่มีแผ่นดินจะอยู่ นี่เรียกว่ามันกัดเหลือประมาณ ไอ้ความเกลียด ความกลัว กลัวนี่เป็นความโง่ เป็นความบรมโง่ชนิดหนึ่ง มันไม่ต้องกลัวนี่ มันทำไปโดยไม่ต้องกลัว แม้แต่วิ่งหนีก็ไม่ต้องกลัวนี่ ถ้าสู้ไม่ได้เราวิ่งหนีนั้นก็เป็นการต่อสู้ที่ดี การวิ่งหนีเป็นการต่อสู้ที่ดีเพื่อมันพ้นภัย แต่อย่าด้วยความกลัว ถ้าความกลัวเกิดแล้วหนีไม่เป็น หนีไม่รอด จะหนีเสือขึ้นต้นไม้ มันก็ขึ้นไม่รอด เพราะมันมีความกลัว หมดกำลัง ถ้ามันไม่กลัวก็แข็งแรง ก็ขึ้นต้นไม้ได้ หนีไปได้โดยไม่ต้องมีความกลัว จะวิ่งหนีอะไรก็ต้องไม่ต้องกลัวหรอก ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็แก้ไขไปโดยไม่ต้องกลัว ความกลัวก็ไม่กัด ที่นี้มาของถึงความตื่นเต้น ธรรมชาติ, สัญชาตญาณน่ะ มันต้องการให้มีอะไรมากระตุ้นอยู่เสมอ ระบบประสาทโดยสัญชาตญาณนี้ ต้องการให้มีอะไรมากระตุ้น ๆ อยู่เสมอ มันก็ไปหาความตื่นเต้นจากสิ่งนั้น ตื่นเต้นจากสิ่งนี้ ไปพบของดีเข้า เช่นบุหรี่ เช่นเหล้า เช่นของเล่น ที่ให้เกิดความตื่นเต้นอย่างโง่เขลา มันจึงไปหลงกีฬา หลงเล่นกีฬา มายุใจให้ตื่นเต้น ไปดูมวย ไปดูอะไร ๆ ต่าง ๆ ที่มันทำให้เกิดความตื่นเต้น บางทีตื่นเต้นเหมือนกับว่าจะขาดใจตายน่ะ อย่างไปดูกายกรรมที่ดีเลิศที่สุดในโลก กายกรรมอะไรที่เขามาแสดงกันบ่อย ๆ คล้าย ๆ กับเราไม่คิดว่ามันจะทำได้นะ มีความตื่นเต้นจนจะพลอยขาดใจตายไปด้วย กายกรรมอะไรที่เข้าไปดูครั้งละ ๓๐๐ บาท อาตมาไม่เคยไปดูแต่เขาเอาทีวีมาให้ดู คนไปแสวงหาความตื่นเต้น จากการดูมวย ดูกีฬา ดูกายกรรม ความตื่นเต้นนั้นไม่ใช่ความสงบสุข มันเป็นความเขย่า ปลุกให้มันตื่นเต้น ความตื่นเต้นมันก็กัด จนต้องไปดูมวย ต้องไปดูกีฬา หาความตื่นเต้น หรือหาเหล้ามากินให้กระตุ้นให้มันตื่นเต้น ให้มันสบายด้วยการถูกกระตุ้นให้มันตื่นเต้น นี่ความโง่มันกัด ทีนี้วิตกกังวลอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร วิตกกังวลน่ะมันโง่ มันไม่ต้องวิตกกังวล คิดให้ออก คิดให้ถูกว่าจะทำอะไรก็ทำไป อย่าไปวิตกกังวลให้มันกัดหัวใจ ป่วยการ มีสติปัญญาถูกต้องแล้วก็ทำไปสิ อย่าไปเห่อตามก้นฝรั่งที่มันสอนให้มีความหวัง ชีวิตนี้มีความหวัง ลูกเด็ก ๆ บ้าหมดแล้ว ถ้าทางพุทธศาสนา ไม่ได้สอนว่าให้ความหวัง อย่าอยู่ด้วยความหวัง อยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ต้องหวัง คิดดีถูกต้องอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ก็ทำไปโดยไม่ต้องหวังให้มันกัดหัวใจ ถ้าหวังน่ะหิวอยู่ตลอดเวลา มันเป็นเปรต สัตว์ประเภทที่เรียกว่าเปรตน่ะ หิวอยู่ตลอดเวลา หวังอยู่ตลอดเวลา เราอย่าเป็นน่ะ อย่าเป็นเปรตเลย ไม่อยู่ด้วยความหวัง มันกัดหัวใจ แต่อยู่ด้วยความรู้อย่างถูกต้อง ด้วยสติปัญญา ทำไปตามสบาย สนุกสนานด้วยการทำ ฉันไม่อยู่ด้วยความหวัง ไม่วิตกกังวลด้วยอนาคต เพราะรู้ดีว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ทำไป ๆ เดินทางไปโดยไม่ต้องร้อนใจ แล้วก็ไม่อาลัยอาวรณ์อดีตที่ล่วงไปแล้ว ความรักก็ดี ความอะไรก็ดี ที่มันเคยจับใจ จับอะไร อย่าไปอาลัยกับมันเลย แล้วก็แล้วไปดีกว่า มันตายไปแล้ว มันก็ตายไปแล้ว ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ก็ได้ คำสอนสูงสุดในพระพุทธศาสนาก็มีว่า อชิตังนังวาธัมมายะ.... เสนากัตตัง คำบาลี(นาทีที่ 0:49:18) อย่าไปอาลัยอดีต อย่าไปหวังอนาคต อยู่อย่างเป็นอิสระ อิสระที่ไม่เหลิง เราก็ไม่อาลัยอาวรณ์ในอดีต ก็สบายดี ทีนี้ก็ว่าถ้าอิจฉาริษยากัด กัดผู้นั้นทันที คุณลองอิจฉาริษยาใครดูสิ มันกัดคุณก่อนที่จะไปกัดผู้โน้นที่เราคิดอิจฉา ที่เราคิดริษยาเขามันไม่กัด เขาไม่รู้ด้วยซ้ำไป นอนหลับไม่รู้เรื่อง แต่คนไปริษยาเขามันถูกกัด ๆ ด้วยความริษยาของตนเอง ริษยาทำเล่นกับมันสิ เราไม่ริษยาไม่อิจฉา อย่าริษยา ไม่มีความอยาก อย่าริษยาอิจฉา เราอย่าริษยา เราไม่ริษยาใคร ไม่อิจฉาไม่ริษยาใครก็สบายดี เป็นเพื่อนกันหมด รักใคร่เป็นเพื่อนเป็นมิตรสหายชาวเกลอหมด ไม่ริษยาใคร ทีนี้ก็ไม่หวง เพราะว่าถ้าหวง มันเอามาตั้งไว้บนหัวใจน่ะ มาไว้บนหัวใจ มันหนักหัวใจ มันไม่หวง พิจารณาดู ควรให้แล้วก็ให้ เรียกว่ามองเห็นความจริงที่ว่า ให้ไปนั่นแหละมันกลับเป็นของเรามากกว่าที่จะเก็บไว้เองนะ จะโง่หรือจะบ้าคุณก็ลองคิดดูเถอะ ให้ไปนั่นแหละมันไปเป็นของเราชนิดที่เราไม่ต้องเก็บ ไม่ต้องอะไรให้มันหนักอกหนักใจ ไม่รกรุงรัง ให้เขากินนั่นแหละมันอิ่มนาน เรากินเองอิ่มสองสามชั่วโมงก็หมดแล้ว ก็ถ่ายออกมาแล้ว แต่ถ้าเราให้ผู้อื่นกิน มันอิ่มกันตลอดชีวิต มันรู้สึกพอใจยินดีจนตลอดชีวิต ให้ผู้อื่นกิน-อิ่มตลอดชีวิต กินเองวันเดียวหมดถ่ายอุจจาระออก ให้ผู้อื่นกินก็หมายความไม่หวง ให้ไปเท่าไรจะเป็นของเราเท่านั้น แต่มันไปอยู่ในมือคนอื่น ช่วยเก็บช่วยรักษาไว้ให้ สบายดี บ้านเราไม่ต้องรกรุงรัง คนอื่นช่วยเก็บช่วยรักษาไว้ให้ เพราะเราให้เขาไป ส่วนความหึงมันไม่ต้องพูด มันก็คือความหวงนั่นแหละ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องทางเพศตรงกันข้าม ไปเรียกว่าความหึง ความหวงอย่างรุนแรงทางเพศ เรียกว่าความหึง ฆ่ากันตายไม่รู้กี่สิบราย กี่ร้อยราย ด้วยเรื่องของความหึง แล้วมันอยู่กันอย่างไฟลน ให้ไหม้ให้ร้อนอยู่ด้วยความหึง ผัวหึงเมีย เมียหึงผัว แล้วแต่เถอะ ความหึงชนิดไหนร้อนทั้งนั้นละ กัดทั้งนั้นแหละ นี่ตัวอย่าง ๑๐ อย่างนี้ช่วยจำไว้ให้ดีเถอะ มันกัด ๆ กัดที่คนโง่ไม่รู้สึก ถ้ามีสติปัญญาก็พอจะรู้สึก แล้วก็ให้มันเลิกกัด ชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่ไม่มีอะไรกัด ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อิจฉาริษยา อาลัยอาวรณ์ หวงหึง ๑๐ อย่าง เป็นตัวอย่างก่อน ที่จริงมันมีมากกว่านั้น แต่ว่า ๑๐ อย่างนี้มันก็เหลือแล้ว เหลือที่จะมาคิดให้ศึกษาว่าอย่าให้มันมี มันก็ไม่มีอะไรกัดเจ้าของ ชีวิตนี้ไม่ถูกกัดเจ้าของ ชีวิตนี้ก็เยือกเย็น แล้วก็ให้เป็นประโยชน์อย่างที่ว่ามาแล้ว นี่เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา คุณไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนที่มันสอนอย่างนี้ คุณไปเรียนทั่วโลกมันก็ไม่สอนอย่างนี้ มันมีสอนอย่างนี้แต่ในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า ในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละที่มันสอนอย่างนี้ และสอนเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเกิดมาทั้งทีขอให้ได้เข้าในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า และศึกษาเรื่องลึกซึ้งที่สุด เรื่องความจริงสูงสุดของชีวิต แล้วก็จัดการกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตให้ได้รับประโยชน์สูงสุด อย่าให้มันกัดตัวเอง แล้วพัฒนา พัฒนาสิ่งที่ชีวิตให้ยืมมานั่นแหละ ให้ดีที่สุด ให้จำเป็นด้วยภาวะที่น่าพอใจ ถูกต้องพอใจไปเสียทั้งหมด ทุกเวลาและทุกสถานที่ time and space นั่นมันมีเครื่องกำหนดอยู่ ๒ อย่าง ทุก ๆ เวลา และทุก ๆ สถานที่ มันก็เป็นทุกกรณีนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ขอให้เรามีความถูกต้อง ทุกกาละทุกเทศะ มันไม่มีอะไรกัดชีวิต นี่ธรรมชาติให้ยืมมา มาพัฒนาจนมีแต่ความเย็น ความเยือกเย็น สงบเย็นเป็นประโยชน์, สงบเย็นเป็นประโยชน์, สงบเย็นเป็นประโยชน์ อย่างเดียวตะพึด นี่เรียกว่า ดีสุด ถูกต้องที่สุด ตรงนี้อยากจะขอแนะนำว่า ถ้าจะพูดอะไรให้เป็นหลักพระธรรมแล้ว ขอให้ใช้คำว่าถูกต้อง อย่าใช้คำว่าว่าดี เพราะว่าดีนี่มันบ้าได้ เมาได้ ลืมตัวได้ คำว่าดี บ้าดี เมาดี หลงดี ก็วินาศเหมือนกันแหละ แต่ถ้าใช้คำว่าถูกต้อง มันไม่บ้า ถ้าถูกต้องมันไม่บ้า ถ้าบ้ามันไม่ถูกต้อง ให้ใช้คำว่าถูกต้อง ถูกต้องคืออะไร คือเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ให้โทษแก่สิ่งใด ไม่มีอะไรกัดสิ่งใด ให้เรียกว่าถูกต้อง อย่าบ้าดี มันจะแย่ ให้มีแต่ความถูกต้อง เหนือดีเหนือชั่ว ถ้าถูกต้องมันเหนือดีเหนือชั่ว ชั่วมันก็ไม่ไหว ก็รู้กันอยู่แล้ว มันไม่ไหว แต่ดีมันก็ระวังนะ ถ้าไปหลงไปบ้า มันก็กัดเอา บุญก็เหมือนกันน่ะ ไปบ้าบุญ-เมาบุญ ก็กัดวินาศเหมือนกัน บ้าบาป-เมาบาปนี่ก็ไม่ไหวอยู่แล้ว จึงมีแต่ความถูกต้อง จัดชีวิตนี้ให้มีความถูกต้อง ปีใหม่นี้ให้มันถูกต้องกว่าปีเก่า แล้วปีใหม่มันก็มีละ ถ้ามันไม่ถูกต้องกว่าปีเก่า มันไม่มีปีใหม่ ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจคำว่าถูกต้อง ภาษาบาลีเรียกว่า “สัมมา” เอาไปเติมเข้าข้างหน้า ให้สิ่งนั้นมันมีความถูกต้อง ดีที่ไม่ถูกต้อง-มันใช้ไม่ได้ มันต้องดีอย่างถูกต้อง ทีนี้คุณจะทำอะไรขอให้มีคำว่าสัมมา ๆ เติมเข้าไปข้างหน้า มันแปลว่าถูกต้อง ถ้าจะมีศีล ก็ให้เป็นศีลที่ถูกต้อง เพราะว่าศีล สักว่าศีล มันไม่ถูกต้องก็มี คือมันไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน แล้วมันไม่ถูกต้อง จะมากไปไหมถ้าจะพูดเรื่องนี้ให้เข้าใจกัน คำว่าถูกต้อง สัมมาแปลว่าถูกต้อง หรือชอบ, โดยชอบ มันประกอบอยู่ด้วย ๔ ความหมาย ๑) วิเวกะนิสสิตัง เป็นไปหรืออาศัยความวิเวก วิเวกคือไม่มีอะไรรบกวน ๒) วิราคะนิสสิตัง เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง ความคลาย ความคลายออก จางออก ไม่ยึดมั่นถือมั่น ๓) นิโรธะนิสสิตัง เป็นไปเพื่อความดับ ดับสิ่งที่ควรดับ คือความทุกข์ ๔) โวสสัคคะปรินามิง เป็นไปเพื่อสละ สละออก เป็นไปเพื่อวิเวกคือไม่มีอะไรรบกวน ถ้ามีอะไรรบกวนแม้แต่เรื่องที่สอง เป็นบุคคลที่สอง ก็เรียกว่าไม่วิเวก ถ้าถูกต้อง ต้องเป็นไปเพื่อวิเวก และก็เป็นไปเพื่อวิราคะ ไปคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู-ของกู คลายออก ๆ แล้วก็นิโรธะ ดับลงแห่งความทุกข์ ดับลงแห่งความร้อน ดับลงแห่งสิ่งที่ไม่ควรจะมี โวสสัคคะปรินามิง น้อมเอียงไปในทางสลัดออกไป เพราะเหตุไร เพราะเหตุเราตั้งแต่เกิดมาจากท้องมารดา มันมีแต่เอา ๆ ๆ ๆ ๆ เอาเข้ามายึดไว้ เป็นตัวกู-ของกู ท่วมหัวท่วมหู ยิ่งกว่าภูเขาเลากาไปเสียอีก ถ้ามันเป็นความถูกต้อง มันก็เป็นไปเพื่อสลัดออก คือระบายออกอยู่เสมอ เป็นหลักพระธรรมชั้นสูง ธรรมมันก็สูง มันก็เป็นคำบาลีด้วย แต่เอามาใช้ได้ ถ้าคุณจะทำอะไรถูกต้อง ทำนา ทำสวน ค้าขาย ไม่ต้องอาชีพอะไร เป็นกรรมกร ขอทานก็ได้ ขอให้มีความถูกต้อง ๔ อย่างนี้แหละ มันเป็นไปเพื่อความวิเวก ไม่มีอะไรรบกวน คลายกำหนัดเป็นวิราคะ นิโรธะ ดับแห่งความทุกข์หรือสิ่งที่ควรจะดับหรือดับไฟ โวสสัคคะ ระบายออก ระบายออกจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าศีลของคุณไม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่เป็นศีลที่ถูกต้อง จะไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าสมาธิของคุณไม่เป็นอย่างนี้ สมาธินี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าปัญญาของคุณไม่เป็นไปเพื่อ ๔ อย่างนี้ ปัญญานั้นก็ปัญญาใช้ไม่ได้ ปัญญานั้นปัญญาที่โง่ คราวนี้ศรัทธา ง่าย เบื้องต้นเข้ามาอีก ศรัทธาความเชื่อนี้ต้องมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงจะเป็นศรัทธาแท้จริงในพระพุทธศาสนา ศรัทธาโง่ ๆ ไม่เป็นไปเพื่อวิเวก เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธะหรอก หรือจะให้ทาน คุณจะให้ทาน มันต้องเป็นไปเพื่อ ๔ อย่างนี้ ไม่เช่นนั้นมันเป็นให้ทานโง่ ให้ทานอย่างโง่ จะยกอะไรมาก็ตาม จะเป็นสติ ถ้ามีสติที่ถูกต้อง มันต้องเป็นสติที่มีลักษณะ ๔ อย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีอะไรก็ตามเถอะ มันต้องประกอบอยู่ด้วย ๔ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นองค์แห่งมรรคจึงมีคำว่า สัมมา วางอยู่ข้างหน้าทั้ง ๘ องค์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ถ้าเอาคำว่าสัมมาออกเสีย ทั้งหมดนั้นไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ใช่อริยมรรคเพื่อนิพพาน จงเอาสัมมา ๆ ถูกต้อง เข้ามาติดไว้ข้างหน้าให้มันเป็นสัมมา มันจึงจะเป็นไปเพื่อนิพพาน สติล้วน ๆ ไม่มีสัมมา มันก็ไปไหนก็ไม่รู้ คือมันไม่ถูกต้อง แม้ทิฏฐิ ความคิดความเห็นก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่สัมมา มันไปที่ไหนก็ไม่รู้ สัมมาทิฏฐินะ มันไม่ใช่ทิฏฐิเฉย ๆ ถ้าทิฏฐิเฉย ๆ มันไม่สัมมา มันไม่ปลอดภัย มันไม่แน่นอนว่าจะดับทุกข์ สัมมาสังกัปปะ ปรารถนาถูกต้อง ปรารถนาเฉย ๆ มันก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ต้องปรารถนาถูกต้อง วาจาเฉย ๆ มันก็ใช้ไม่ได้ มันต้องสัมมาวาจา วาจามันถูกต้อง กัมมันตะ-การกระทำ อาชีวะ-การดำรงชีวิต ก็ต้องมีสัมมานำหน้า เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นสัมมาอาชีวะ ทีนี้ก็มาถึงสัมมาวายามะ พากเพียรต้องเป็นสัมมาที่ถูกต้อง สัมมาสติ-สติถูกต้อง สัมมาสมาธิ-สมาธิถูกต้อง มีคำว่าถูกต้อง ถูกต้อง เพราะฉะนั้นท่านจงดู จงจัด จงระมัดระวัง ให้เป็นสัมมา จะกินจะนอน จะอาบจะถ่าย จะอะไรก็ตาม ขอให้เป็นสัมมา ๆ พูดให้กันลืม ลืมยากก็ต้องให้ว่า สัมมามันคุ้มกระบาลหัวอยู่ทุกเวลา พูดหยาบคายไม่น่าฟังใช่ไหม แต่เพื่อให้มันลืมยาก ลืมไม่ได้ ขอให้ความเป็นสัมมา ๆ ถูกต้องนี้ คุ้มกระบาลหัวอยู่ทุกเวลา ไม่ว่าจะหลับจะตื่น จะยืนจะเดิน จะนั่งจะนอน จะทุกอย่างทุกประการ ให้เป็นสัมมา ๆ สัมมานี่มันเป็นคุณศัพท์ แปลว่า ซึ่งถูกต้อง แต่ถ้าเป็นนาม-เป็นความ ก็สัมมัตตะ, ตะ คือความ, สัมมัตตะแปลว่าความถูกต้อง สัมมา-ซึ่งมีความถูกต้อง ขอให้เป็นสัมมา จะเดินจะยืน จะนั่งจะนอน ขอให้มันมีสัมมา แล้วมันไม่กัดเจ้าของ พอไม่มีสัมมามันกัดเจ้าของ ลองกินอย่างไม่มีสัมมาสิ มันก็ให้โทษ มันกินมากมันกินดีอยู่ดีอย่างไร มันก็กัดเจ้าของอย่างนั้นเพราะมันไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้องมันกินอยู่แต่พอดี กินดีอยู่ดีมันบ้า มันไม่มีขอบเขต ถ้ากินดีอยู่ดีมันมีขอบเขต มันก็มีความถูกต้อง ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังว่า เรามีชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิต อาหารก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี สิ่งบำบัดโรคก็ดี ๔ ประการนี้เรียกว่าปัจจัยสำคัญที่สุด ขาดไม่ได้ แต่มันต้องมีความเป็นสัมมา-ความถูกต้อง อยู่ในปัจจัยทั้ง ๔ นั้น มันจึงจะเป็นปัจจัย พอผิดก็เป็นยาพิษ ไอ้ปัจจัย ๔ พอใช้ผิดก็เป็นยาพิษ พอใช้หลงก็เป็นเหยื่อล่อ ๆ ให้โง่ให้หลงไปในทางเป็นเหยื่อล่อ อีกทางหนึ่งก็ตรงกันข้ามเป็นยาพิษ ตายเลย แต่ถ้ามีสัมมา มันถูกต้องอยู่ที่ตรงกลาง นั่นถูกต้อง ให้การเป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ มีสัมมา คือมีสัมมัตตะ พูดให้ถูกตามภาษาบาลี ก็ต้องให้มีสัมมัตตะ คือความถูกต้อง ขอให้เรามีความถูกต้องของปีใหม่นี้ ยิ่งกว่าปีเก่าที่แล้วมา ก็เรียกว่ามีปีใหม่ ใหม่ขึ้นมาจริง ๆ จะต้องควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้เป็นมาอย่างถูกต้อง มีสติปัญญา หรือวิชชา แล้วแต่จะเรียก ควบคุมตั้งแต่ อายตนะถูกต้อง วิญญาณถูกต้อง ผัสสะถูกต้อง เวทนาถูกต้อง ตัณหาคือความต้องการถูกต้อง ตรงนี้ขอบอกเป็นพิเศษว่า ถ้าว่าตัณหาแล้วโง่ ผิด ถ้าว่าถูกต้อง-ไม่เรียกว่าตัณหา มันมีลักษณะหยาบ ประสงค์ ต้องการ หรือปรารถนาเหมือนกัน แต่ถ้ามันผิด คือมันโง่แล้วก็เรียกว่าตัณหาบ้าง เรียกว่าโลภะบ้าง แต่ถ้ามันถูกต้อง มันมีสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าไปเรียกมันว่าตัณหา ไอ้ที่มันสอนกันอยู่ตามศาลาวัดนั่นมันโง่ จะพวกไหนก็ตามใจ อาตมาขออภัยใช้คำหยาบคาย พวกศาลาวัดนั่นมันสอนว่า ถ้าอยากแล้วก็เรียกว่าโลภะทั้งนั้น ถ้ามีความอยากแล้ว ก็เรียกว่าโลภะ เรียกว่าตัณหากันทั้งนั้น มันผิด มันต้องอยากด้วยความโง่ จึงจะเรียกว่าโลภะ หรือตัณหา ถ้ามันประสงค์ด้วยสติปัญญา อย่าไปเรียกมันว่าโลภะหรือตัณหา ให้เรียกเสียใหม่ว่า สังกัปปะ สังกัปโป หรือสังกัปปะ พระเขาให้พร เมื่อมาให้พรที่ไหนก็ได้ ปูเรนตุ สังกัปปา ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา ขอให้สังกัปปะของท่านทั้งหลายสมบูรณ์เหมือนพระจันทร์เต็มดวง เรียกว่าสังกัปปะ ไม่ใช่เรียกว่าตัณหา ไม่ใช่เรียกว่าโลภะ พระไม่เคยให้พรว่า ให้ตัณหาของท่านสมบูรณ์ ให้โลภะของท่านสมบูรณ์ ไม่ มันบ้า ต้องใช้คำว่า สังกัปปะ มีสังกัปปะสมบูรณ์ เหมือนพระจันทร์เต็มดวง เหมือนแก้วมณีโชติเพชรพลอย จงมีสังกัปปะ เมื่อมีความอยากมีความปรารถนา อย่าอยากด้วยความโง่ ถ้าอยากด้วยความโง่ มันก็เป็นของเลว ของผิด เรียกว่าตัณหาก็ได้ เรียกว่าความโลภก็ได้ เรียกทุกชื่อเลว ๆ อย่างอื่นอีกก็ได้มากมาย มันต่างกันแต่เพียงว่าอยากหรือปรารถนาด้วยสติปัญญา วิชชา ความถูกต้อง หรือว่าอยากด้วยความโง่ ภาษาบาลีเป็นอย่างนี้ ภาษาไทยก็ควรจะเป็นอย่างนี้ แม้ภาษาอังกฤษก็มีอย่างนี้ มีหลักอย่างนี้ เขาเรียกว่า craving หรือ desire แล้วมันโง่มันเลว มันเต็มไปด้วยความทุกข์ desire ถ้ามันไม่โง่ มันเป็นฉลาด มันเป็น aspire ก็เรียกว่า aspiration นี่มันต้องการให้ดีในทางถูกต้องยิ่งขึ้นไป ถ้ามันต้องการอย่างโง่เขลาก็เรียกว่า desire หรือ craving นี่เลวมาก มันอยากอย่างสกปรก ขอให้รักษาระวังให้ดีว่า ตัณหานี้มันต้องเป็นเรื่องของความโง่ ถ้าจะยืมมาใช้เป็นเรื่องของความถูกต้องก็ได้เหมือนกันแหละ แต่ระวังว่าให้รู้ว่ามันมีความฉลาดอยู่ในความต้องการ ทีนี้มันก็มาถึง อุปาทาน-ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ เรียกว่าอุปาทาน ยึดถือด้วย อวิชชา กิเลสตัณหา เรียกว่า อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น แต่ทีนี้ถ้ามันด้วยสติปัญญาเล่า มันยึดมั่นถือมั่นด้วยสติปัญญา มันเรียกว่า สมาทาน กริยาศัพท์นี้ คำเดียวกันแหละ ยึดถือด้วยความโง่เรียกว่าอุปาทาน บ้า ยึดถือด้วยสติปัญญาเรียกว่า สมาทาน ยึดถือดี อุ แปลว่าขึ้น ขึ้นนี่แปลว่าบ้า, สะ แปลว่าถูกต้อง แปลว่าดี แปลว่างาม สมาทาน ท่านจะมีอะไรหรือว่าจะใช้คำว่ายึดครองอะไร ก็ทำด้วยสติปัญญา เรียกว่าสมาทาน จะมีเงินก็ต้องมีลักษณะสมาทาน อย่าไปเป็นอุปาทานมันจะกัดเอา บุตรภรรยาสามี ทรัพย์สมบัติ วาสนาบารมีอะไรก็ตามเถิด ถ้าจะมีถ้าจะเกี่ยวข้อง ก็จงกระทำอย่างสมาทาน ตัวหนังสือก็แปลว่าถือเอาอย่างดี ถือไว้อย่างดี เรียกว่าสมาทาน พอเป็นอุปาทานมันก็โง่ ก็กัดเอา หลงรักหลงอะไรไปมันก็กัดเอา นี่คำว่าอุปาทาน ในปฏิจจสมุปบาทนี่ก็หมายถึงในฝ่ายโง่ คือไปยึดถือเอามาเป็นตัวกู-เป็นของกู แล้วก็กัดเจ้าของอยู่ร่ำไป จัดรูปร่างกันเสียใหม่ให้เป็นสมาทาน ลืมหูลืมตาสว่างแจ่มแจ้ง แจ่มใสงดงาม ถือเอาอย่างดี ไม่มีผิดพลาด ชีวิตนี้จะต้องถือเอาอย่างดีด้วยสมาทาน อย่าถือเอาด้วยความโง่เขลาคืออุปาทาน ถ้าถือเอาอย่างดีแล้วมันไม่กัด เราจะไปลูบของมีคม ถ้าเราลูบอย่างดีอย่างถูกต้องแล้ว มันไม่บาดมือ ถ้าไปจับเอาอย่างโง่ ๆ มันก็บาดมือ เพราะฉะนั้นเราจะดัดหยาบหญ้าคมบาง ดึงมาได้โดยไม่ต้องบาดมือ ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าเราโง่เขลาพรวดพราดไปจับเอามา มันก็บาดมือ แม้แต่หญ้าคาหนา ๆ ก็บาดมือ ถ้ามีสติปัญญาแล้ว ไปทำกับหญ้าคมบางที่ละเอียดที่คม ก็ไม่บาดมือ นี่จะต้องทำกับชีวิตให้ลักษณะอย่างนี้ ด้วยสติปัญญาแล้วมันก็ไม่บาด ไม่ขบไม่กัด นี่ขอให้มีสมาทาน แทนคำว่าอุปาทานเถิด ปีใหม่นี้ให้สมาทานมีมากขึ้น อุปาทานลดลงไป ๆ มันก็จะเป็นปีใหม่ที่ถูกต้อง พอมีสมาทาน ไม่ใช่อุปาทานนะ สิ่งที่เรียกว่าภพ ว่าชาติ มันก็จะเป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง จะไม่กัดเจ้าของ จะเป็นชาติที่ไม่กัดเจ้าของ เพราะมีปัญญาควบคุมอยู่ จะเป็นชาติที่ถูกต้องขึ้นมา เรามีความเป็นมนุษย์ หรือเป็นชาตินี่ แต่ละวัน ๆ มันผิดอยู่ มันจึงกัดเอา จัดเสียใหม่ให้มันถูกต้อง มันไม่กัด นี่ชีวิตใหม่จะมีปีใหม่สมตามความปรารถนา เรียกว่ามีชีวิตใหม่ มีชีวิตที่ถูกต้องยิ่งกว่าชีวิตเก่า ๆ ที่แล้วมา ที่แล้วมา หรือกำลังเป็นอยู่ก็ตาม มันยังไม่ถูกต้อง ถ้ามันยังกัดเจ้าของแม้แต่นิดเดียว ก็ถือว่ามันไม่ถูกต้อง ต้องจัดการให้มันไม่มีการกัดเจ้าของเลย ก็เรียกว่าถูกต้อง ขอให้ท่านทั้งหลาย มีความถูกต้องเพิ่มขึ้น สัมมาในพระพุทธศาสนานี้ ขอให้มาอยู่ที่เรา จะมีทรัพย์สมบัติก็ให้มีอย่างสัมมา คือถูกต้อง ถ้ามีอย่างมิจฉามันกัดเอา ขอว่าจะมีบุตร มีภรรยามีสามี ก็ให้มีอย่างถูกต้อง มีอย่างสมาทานแล้วมันจะไม่กัด ถ้ามันมีอย่างไม่ถูกต้องแล้วมันก็กัด ถ้าไม่ถูกต้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันก็กัดกัน ๆ ระหว่างสามีภรรยานั่นแหละ มันไม่มีความถูกต้อง มีสัมมาถูกต้อง มันไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ได้ ถ้ามันเป็นมิจฉา มันไม่ถูกต้อง แล้วมันจะเต็มไปด้วยปัญหา ชีวิตแต่ละวัน ๆ มันจะเต็มไปด้วยปัญหา มันไม่มีความถูกต้อง ดังนั้นพอเราศึกษาเรื่องความถูกต้อง ความรู้เรื่องความถูกต้องมีขึ้นมาเท่าไร เราเรียกว่าปัญญา สะสมไว้มากพอ คือมันครบทุกชนิด ปัญญาชนิดที่ควรมี ที่ควรมีกี่ชนิดสะสมไว้ให้ครบ จะได้หยิบใช้ทันเวลาทันท่วงทีและถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจึงเรียนหลาย ๆ แขนง ให้มีปัญญาความถูกต้องหลายแขนง เมื่อไรจะต้องใช้ชีวิตรูปไหนชนิดไหน ใช้ปัญญาชนิดไหนจะได้ถูกต้อง เหมือนกับว่าเรามีอาวุธ นี่เครื่องมือเรามีทุกชนิดเลย ไปใช้มันได้ทุกอย่างที่เราต้องการ แต่เราไม่ได้ใช้คราวเดียวทั้งหมดหรอก เราจะใช้แต่อย่างเดียวด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง หรือจะมียาแก้โรคเราก็มีไว้ครบ ในตู้ยามีครบ แต่เวลากินยาไม่ได้กินทั้งตู้ มันหยิบมากินอย่างเดียว หยิบที่มันจะตรงกับโรคที่มันกำลังมีอยู่ เราก็มียาครบ มีอาวุธครบ มีเครื่องมือครบ มีธรรมะครบ ก็ใช้ให้มันถูกต้อง จะใช้ให้ถูกต้องนี่ต้องมีสติ มีสติจึงจะหยิบมาใช้ถูกต้อง และก็ทันแก่เวลา ถ้าไม่มีสติมันจะใช้ผิด และไม่ทันแก่เวลา ไม่มีประโยชน์อะไร เครื่องมือก็ดี อาวุธก็ดี อะไรก็ดี ที่ใช้ไม่ทันแก่เวลา ไม่ถูกต้องแก่เวลา มันก็ใช้ไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ เหมือนเอาปืนมา มันขโมยไปเสียแล้ว มันก็ไม่ได้ยิง นี่ถ้าเรามีสติ เร็ว เพียงพอ และถูกต้อง เอาปัญญามา ปัญญามีไว้ครบทุกอย่าง สติไปเอามาเฉพาะว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ ๆ สติมันเลือกเอามาเฉพาะที่จะแก้เหตุการณ์นี้ เอาปัญญามาส่วนนั้น ปัญญาส่วนนั้นมาเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็คือปัญญานั่นเอง แต่ปัญญาที่เหมาะสมแก่หน้าที่ พร้อมจะใช้กับหน้าที่อันนี้ ปัญญาเฉพาะหน้าที่ เรียกว่าสัมปชัญญะ สติไปเอามาจากคลังแห่งปัญญา มาเฉพาะที่จำเป็นที่จะใช้ในกรณีนี้ เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี่ก็ต่อต้านกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ปัญหาที่มันเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าจิตมันอ่อนแอ จิตมันไม่มีแรงก็ต้องเอาสมาธิมา สมาธิมามีน้ำหนัก จิตก็มีกำลังต่อสู้เหตุการณ์ก็ตัดปัญหาได้ ปัญญาวิเศษอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นแต่เพียงความคม คมกริบอย่างไร ถ้าไม่มีน้ำหนัก-ไม่ตัด ให้มันคมเหนือคม มันก็ไม่ตัดถ้ามันไม่มีน้ำหนัก มันต้องมีน้ำหนักมาทำให้ความคมถูกกดลงไป มันจึงจะตัด เราจึงต้องมีสมาธิ มีปัญญาเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์ มันคมเฉย ๆ ต้องมีสมาธิ มาทำให้ความคมมันตัดลงไป เลยได้เป็น ๔ อย่างจำเป็นแก่ชีวิต เป็นคู่ชีวิต เป็นเพื่อนเกลอแก่ชีวิต คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ช่วยจำไว้เรียงอย่างนี้มันศึกษาง่าย สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ สติก็ฝึก ๆ ไว้ให้เร็ว ให้มาก ปัญญาก็สะสมไว้ให้มาก สัมปชัญญะก็ใช้ให้ทัน ทันเวลาถูกต้องแก่เหตุการณ์ สมาธิก็เป็นน้ำหนักที่ปัญญามันจะฟาดฟันลงไปอย่างเต็มที่ มันก็ตัดปัญหาทุกอย่างทุกประการได้ เพราะว่าเรามีธรรมะ ๔ เกลอ เป็นเพื่อนคู่ชีวิต สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ จะเรียงลำดับอย่างอื่นก็ได้ ที่นี่เรียงตามที่ว่ามันจะทำหน้าที่ ที่มันจะสู่สนามรบ จะทำหน้าที่ เมื่อเราจะเรียงลำดับมันอย่างนี้ว่า สติระลึกได้ทันทีทันควัน ไปค้นเอาปัญญามา แล้วปัญญามากลายรูปเป็นสัมปชัญญะ เฉพาะหน้าเฉพาะเหตุการณ์ แล้วก็มีสมาธิคือกำลังทุ่มเทปัญญานั้น ให้ความคมนั้นน่ะมันตัดปัญหา ท่านทั้งหลายจงมีธรรมะ ๔ เกลอนี้ ให้มากกว่าปีเก่า เดี๋ยวนี้มีกี่เกลอ มีครบ ๔ เกลอหรือยัง ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ครบ ๔ เกลอหรือเปล่า ดูจะไม่มีสักเกลอเดียวก็ได้มั้ง-แย่มาก, ๔ เกลอ สติสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ สัมปชัญญะถูกต้องแคล่วคล่องว่องไว สมาธิกำลังมหาศาล เพราะฉะนั้นก็มาฝึกสิ เรามีที่ฝึก ที่ฝึกสิบวันน่ะ ฝรั่งมากันเอง มาทุก ๆ เดือนนะ สิบวัน มาฝึก ก็ฝึกอันนี้ละ ฝึกอานาปานสติ แล้วมันก็ได้ ๔ เกลอนี้ จงฝึก ๔ เกลอนี้ให้มี ไม่มาที่นี่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ได้มีการฝึกที่ที่ให้มี ๔ เกลอ ให้ครบไว้ จะเรียกว่ามีของกายสิทธิ์ ของศักดิ์สิทธิ์ เป็นคู่ชีวิต ช่วยได้โดยประการทั้งปวง ขอให้มีมากกว่าปีเก่า มีเพื่อน ๔ เกลอ ชีวิตนี้ต้องได้รับการพัฒนา ๆ ไม่มีความผิดพลาด มีแต่ความถูกต้อง เรามีหน้าที่อย่างไร ก็ใช้ธรรมะ ๔ เกลอทั้งนั้นเลย คุณจะเป็นชาวนาชาวสวน ทำนาทำสวนอยู่ก็ต้องมีธรรมะ ๔ เกลอ จะเป็นพ่อค้าเป็นคนค้าขายก็ต้องมีธรรมะ ๔ เกลอ จะเป็นข้าราชการก็มีธรรมะ ๔ เกลอ เป็นกรรมกรก็ธรรมะ ๔ เกลอ เป็นศิลปินก็มีธรรมะ ๔ เกลอ เป็นทนายความก็มีธรรมะ ๔ เกลอ ซึ่งมันเป็นความสมบูรณ์ เป็นความถูกต้อง เป็นความเฉลียวฉลาดครบถ้วนอยู่ในธรรมะ ๔ เกลอ เราขอพูดเป็นคำสุดท้ายว่าแม้คุณจะเป็นขอทาน เป็นคนขอทานนั่งขอทานอยู่ ก็ขอให้มีธรรมะ ๔ เกลอเถิด มีธรรมะ ๔ เกลอครบถ้วนแล้วไม่เท่าไรละ คนอยากทำเป็นคนขอทาน ธรรมะ ๔ เกลอมันช่วยได้อย่างนี้ มีความทุกข์อยู่ ธรรมะ ๔ เกลอเข้ามาก็ดับทุกข์ ถ้าไม่มีธรรมะ ๔ เกลอต่อให้เป็นเศรษฐีก็มีความทุกข์ ต่อให้เป็นเทวดาในเมืองสวรรค์มันก็มีความทุกข์น่ะสิ มีเทวดาโง่อยู่มาก ๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะพ้นทุกข์ เป็นพวกมัวเมาในกามารมณ์ ในของทิพย์ มันก็ยังโง่ จะไม่มีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เหมือนพวกเราในโลกมนุษย์ก็ได้ อย่างเทวดาไม่ใช่จะดีไปหมด มันกำลังหลงของทิพย์ของสวรรค์ มันก็ยิ่งโง่ โง่ตามแบบชาวสวรรค์น่ะ มันไม่ดับทุกข์หรอก นี่ขอให้สนใจ ๔ อย่างนี้ ฝึก ๆ ให้มีสติ ให้มากให้เร็ว เร็วเป็นสายฟ้าแลบ แต่ว่าสติคำนี้ มันแปลว่าลูกศรซึ่งมีความเร็ว ครั้งสมัยโบราณเขาไม่มีปืน เขาไม่รู้จักปืน เขารู้จักอาวุธที่เร็วที่สุดก็เพียงว่าลูกศร คำว่าสตินี่เป็นศัพท์เดียวกับคำว่าลูกศร คือแล่นเร็ว สติต้องเป็นของแล่นเร็ว ทันเวลา ถ้าไม่ทันเวลาไม่ใช่สติ ต้องทันเวลาจึงจะเรียกว่าสติ คือความคิดนึกรู้สึก ให้เร็ว ให้สุขุมรอบคอบ นี่จุดตั้งต้นที่สำคัญ มีสติ แล้วมันก็สามารถทำหน้าที่ไปขนเอาปัญญามาทำเป็นสัมปชัญญะ มีสมาธิ แล้วคำว่าสมาธิ สมาธินี่อีกคำหนึ่งก็ขอให้เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่นั่งทื่อหลับตาแข็งเป็นท่อนไม้แล้วเรียกว่ามีสมาธิ สมาธิของคนโง่ สมาธิของคนบ้า ยิ่งเป็นสมาธิยิ่งมีการเคลื่อนไหว ยิ่งเป็นไดนามิค เป็นไดนามิค ไม่ใช่นั่งท่อนแข็งท่อนไม้ด้วย เป็น static มันใช้ไม่ได้ เป็นไดนามิค แล้วก็เป็น activeness มีความเป็น active ว่องไวในหน้าที่ ว่องไวในหน้าที่ จึงจะเรียกว่าสมาธิ สมาธิที่นั่งหลับตาแข็งทื่อนั่นไม่ใช่สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิของพระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่ามีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือจิตมีสมาธิมันประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ประการที่ ๑ สะอาด ปริสุทโธ สะอาด เวลานั้นไม่มีกิเลสไม่มีนิวรณ์อยู่กับจิต จิตสะอาด นี่เป็นข้อที่ ๑ เรียกว่า ปริสุทโธ เมื่อจิตตั้งมั่นเข้มแข็งรวมเป็นกำลังเป็นอันเดียวกันเรียกว่า สมาหิโต ตั้งมั่นเข้มแข็งรวมกำลัง เหมือนกับว่ารวมแสงแดดลุกเป็นไฟ กระจกโค้ง ๆ นูน ๆ เอาไปส่องกับแสงแดด รวมแสงเข้มข้นอยู่ตรงกลางลุกเป็นไฟเลย เพราะมันรวมมาหมด กำลังจิตถูกรวมมาหมดเป็นจุดกลางนี่ เข้มแข็งมีอำนาจเหลือประมาณ นั่นเรียกว่า สมาหิโต ตั้งมั่น เมื่อได้อย่างนี้แล้ว มันมีลักษณะว่องไวในหน้าที่เรียกว่า กัมมนีโย ตัวหนังสือแปลว่า สมควรแก่การงาน กัมมนีโย สมควรแก่การงาน ที่เขาเรียกกันในโลกเวลานี้ทั่ว ๆ ไป active ไม่งุ่มง่าม ว่องไว activeness ก็ความว่องไว มันมีความว่องไว เรียกว่ามีกัมมนียภาวะ ภาวะแห่งความว่องไวสมควรแก่การงาน เคลื่อนไหวเร็ว ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนถูกต้อง นี่จึงจะเรียกว่ามีสมาธิ ข้อที่ ๑ สะอาด ข้อที่ ๒ ตั้งมั่น ข้อที่ ๓ ว่องไวในหน้าที่ จะมานั่งแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ได้อย่างไรล่ะ มันมีทั้งความสะอาดที่รวมกำลังกันมั่นคง และมีว่องไวในหน้าที่ เมื่อท่านฝึกสมาธิดีแล้ว มันจะมีประโยชน์หมด ไปทำอะไรก็ได้ ไปทำนาก็ได้ คนที่มีสมาธิตามความหมายนี้จะทำนาก็ได้ ล้างส้วมก็ได้ เป็นกรรมกรขนถ่ายก็ได้ ถ้ามันมีสมาธิแล้วมันสำเร็จน่ะ อย่างที่พูดมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ถ้ามีแต่ปัญญา ปัญญามันคมเท่านั้นมันตัดไม่ได้ มันต้องมีสมาธินี่ ให้ความคมมันกดลงไป ถูกกดลงไปมันก็ตัด ถึงต้องมีทั้งสมาธิและปัญญา นี่พระบาลีตรัสไว้ว่า ปัญญาไม่มีแก่คนที่ไม่มีฌานหรือสมาธิ และฌานก็ไม่มีแก่คนที่ไม่มีปัญญา มันต้องมีปัญญาแก่คนที่มีสมาธิ และสมาธิก็จะมีได้แก่คนที่มีปัญญา ส่วนศีลนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ในนั้นน่ะ เป็นที่ตั้ง เป็นที่เหยียบ เป็นที่รองรับ เมื่อเราได้ที่เหยียบที่ยืนที่มั่นคงแล้ว ปัญญาหรือสมาธิก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี ดังนั้นต้องมีครบ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ขอให้ท่านทั้งหลายมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ให้มากกว่าปีเก่าที่แล้วมา ความเป็นปีใหม่ของท่านก็จะแน่นอนและถูกต้อง พอตื่น อย่าลืมมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิ นี่คู่ชีวิต ถ้ามีอันนี้แล้วชีวิตนี้จะพัฒนาอย่างถูกต้อง ได้อย่างอกอย่างใจ ถ้าไม่มีคู่ชีวิตชนิดนี้แล้ว จะไม่สำเร็จประโยชน์อะไร สติไม่มีมันก็งุ่มง่ามไม่ทันแก่เวลา ปัญญาไม่มีก็ผิดหมด สัมปชัญญะไม่มี ก็ไม่เหมาะสมแก่เหตุการณ์ สมาธิไม่มี ก็ไม่มีแรง เหมือนคนไม่มีแรงอะไรเลย เหมือนกับนุ่นเบาหวิวลอยไปในอากาศ ไม่มีน้ำหนักที่จะกด มันไม่มีสมาธิ ถ้ามีสมาธิมันเข้มแข็ง มันหนักแน่น มันจะตัดลงไปด้วยความคมของปัญญา เอาล่ะ เป็นอันว่าเราจะอบรมให้สิ่งทั้ง ๔ นี้ให้มากกว่าปีเก่า อบรมที่ไหนก็ตามใจแต่ขอให้มันสำเร็จผล เป็นว่ามันมีธรรมะ ๔ เกลอนี้มากกว่าปีเก่า แล้วความเยือกเย็นและเป็นประโยชน์จะไม่ไปไหนเสีย จะมามีแก่ชีวิตนี้ จะเยือกเย็น และก็เป็นประโยชน์ ทุกอิริยาบถ ทุกเวลาและทุกสถานที่ มันประกอบอยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ตื่นอยู่ด้วยปัญญา อย่าเป็นชีวิตหลับ ชีวิตหลับทำอะไรไม่ได้ แล้วทำไม่ถูกหรอก ละเมอออกมาผิด จงเป็นชีวิตที่ตื่นอยู่ด้วยปัญญา เพราะว่ามีสตินำมาซึ่งปัญญา สติเอาปัญญามาใช้ทันเวลาเสมอ ชีวิตนี้ก็เป็นเสมือนหนึ่งชีวิตที่ตื่นอยู่ ตื่นอยู่ด้วยอำนาจของสติและปัญญา สติกับปัญญาเป็นเพื่อนเกลอ เป็นเพื่อนคู่หูกัน ถ้าแยกกันแล้วมันจะไม่ทำประโยชน์อะไรได้ แต่ถ้ารวมกำลังกันแล้วมันก็พลิกโลกก็ได้ กลิ้งโลกนี้ไปก็ได้ ถ้ามันได้รวมกำลังกันทั้งของสติและปัญญา เป็นอันว่าเราจะมีชาติ ความเกิด ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถูกต้องยิ่งขึ้น ๆ สำหรับปีใหม่นี้ ให้กระแสปฏิจจสมุปบาทของเรา ถูกควบคุมอยู่ด้วยสติและปัญญา ท่านไม่สนใจ ท่านเห็นว่าของครึคระ ก็จำสติ จำปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ ก็ท่านเห็นว่ามันของโง่ ของคนศาลาวัดโง่ ๆ ท่านก็ไม่จำ แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุดของชีวิตจิตใจของธรรมชาติ อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิด(นาทีที่ 1:31:22 ท่านพูดไม่ครบตัวที่hilight)ภพ ภพให้เกิดชาติ นับอย่างนี้แล้วมันจะได้ ๑๒ ชื่อ มันเรียกว่าอาการ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท จัดให้มันฉลาดหมดเลยทั้ง ๑๒ ไม่มีความโง่ที่ไหนเหลืออยู่ อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ฉลาด เมื่ออายตนะข้างนอก รูป เสียง กลิ่น รส เข้ามากระทบมันก็พลอยฉลาด อายตนะกระทบกันก็เกิดวิญญาณที่ฉลาด สามอย่างนี้ฉลาด ผัสสะมันก็ฉลาด ผัสสะฉลาดเวทนามันก็ฉลาด เวทนาฉลาดความต้องการมันก็ฉลาด ไม่เรียกว่าตัณหา เรียกว่าสังกัปปะ ถ้าไม่ฉลาดก็เรียกว่าตัณหา ยึดมั่นถือมั่นอย่างถูกต้องก็เรียกว่าสมาทาน ไม่เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาไม่เกิดอุปาทานของเรา แต่สังกัปปะให้เกิดสมาทาน ถ้าเป็นตัณหามันก็เกิดอุปาทาน ถ้าเป็นสังกัปปะมันก็เกิดสมาทาน จับฉวยเอาอย่างถูกต้อง มันก็มีการตั้งต้นสักแห่ง ตัวกู ภพ คือถูกต้อง เป็นตัวกูฉลาด ไม่ใช่ตัวกู มันก็เป็นชาติที่ฉลาดออกมาเป็นความฉลาด มันไม่คว้าอะไรมายึดมั่นถือมั่น ความทุกข์มันก็ไม่มี นี่ชาติที่ถูกต้อง ชาติที่ฉลาดมันเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันเกิดวันหนึ่ง ๆ ไม่รู้กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้ง ขอให้ชาติทุกชาติในแต่ละวันละ วันนี้ ฉลาดอยู่ในวิชชาและถูกต้องอย่างนี้ ชีวิตนี้ก็จะใหม่อย่างยิ่ง คือไม่เป็นอย่างเดิม ซึ่งโง่ แล้วขบกัดตัวเอง ก็คือขบกัดเจ้าของนั่นแหละ มันเป็นตัวกูที่โง่แล้วมันก็กัดตัวเอง สิ่งที่กัดตัวเองล้วนแต่ของเลวทั้งนั้น เช่น สนิมเหล็ก เกิดจากเหล็กก็กัดเหล็ก ทีนี้ความโง่ที่เกิดจากตัวกู มันก็กัดตัวกู ๆ ชีวิตที่กัดเจ้าของนี่น่าเศร้า อย่ามีเลย อย่าได้มีเลย ชีวิตที่กัดตัวกู มีชีวิตที่สดชื่นแจ่มใส มีสติปัญญา มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ แล้วมันก็ไม่กัดตัวกู เอาอันนี้เป็นหลักว่าปีใหม่นี้ชีวิตจะไม่กัดตัวกู กัดน้อยลงไป ๆ มีแต่ความเยือกเย็นและความเป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ๆ ก็ไม่เสียทีที่เกิดมา เกิดมาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ นี่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ของชาวเราผู้เป็นพุทธบริษัท มีระบบปฏิบัติคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้อง ให้กลายเป็นฝ่ายฉลาด เพื่อจะดับทุกข์ นี่ชีวิตใหม่ ปีใหม่ของเราจะเป็นอย่างนี้ ถ้าคุณจะไม่ถือพุทธศาสนา จะถือศาสนาอื่นก็ได้ คุณก็ปฏิบัติอันนี้ได้ เพราะข้อนี้เป็นความรู้ของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่มีศาสนาไหน ธรรมชาติไม่มีการแบ่งแยก เป็นแขก เป็นจีน เป็นไทย เป็นฝรั่ง เป็นไม่มี ธรรมชาติก็เหมือน ๆ กันหมด ดังนั้นความรู้ที่เป็นกฎของธรรมชาติ จึงใช้ได้แก่คนทุกชาติทุกภาษา ไม่ว่าเขาจะเป็นแขก เป็นฝรั่ง เป็นจีน เป็นอะไรเข้ามาก็ตาม เพราะฉะนั้นควรจึงมาศึกษากันที่นี่ ที่เรียกว่าพวกฝรั่งมีทุกชาติทุกภาษา เพราะว่าธรรมชาติไม่มีแจกเป็นชาติ เป็นภาษานั่นนี่ เป็นภาษาเดียวกันหมด ผิดก็ผิดเหมือนกันหมด ถูกก็ถูกเหมือนกันหมด เราจึงเรียนรู้ความรู้ของธรรมชาติ จะเรียนที่ไหน เรียนจะอย่างไรก็ตามใจละ ถ้ามันดับทุกข์ได้แล้วก็ถูกต้อง จะเรียนที่สำนักไหนก็ได้ ถ้ามันถูกต้องแล้วก็ดับทุกข์ได้ ถ้ามันไม่ดับทุกข์มันก็ไม่ถูกต้อง อย่าไปเอากับมันเลย จงมองเห็นว่ามันสามารถที่จะดับทุกข์ได้ ท่านจงถือว่ามันเป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งขึ้น ถ้าพูดอย่างนี้พวกศาลาวัดมันด่าให้ มันหาว่าอาตมาจ้วงจาบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้งสิ่งนี้ขึ้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไปอย่างนั้น ท่านเป็นผู้บอกให้รู้เท่านั้น ท่านค้นพบแล้วนำมาบอก พระธรรมคือสิ่งที่นำมาบอก เป็นเรื่องของธรรมชาติ จึงใช้ได้แก่คนทุกชาติทุกภาษา พระพุทธเจ้าค้นพบความจริงของธรรมชาติ ปฏิบัติ ดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง แล้วก็มาสอนผู้อื่นให้รู้ด้วย นั่นคือพระธรรม และผู้ที่ได้รับคำสั่งสอน และปฏิบัติดับทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้านั่นคือพระสงฆ์ ดังนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงประเสริฐวิเศษ ล้วนแต่เป็นเรื่องดับทุกข์ พระพุทธก็ดับทุกข์ตามแบบของพระพุทธ พระธรรมก็ดับทุกข์ตามแบบของพระธรรม พระสงฆ์ก็ดับทุกข์ตามแบบของพระสงฆ์ ขอให้เรามี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ถูกต้องกว่าปีเก่า ขอให้มีพระรัตนตรัยที่ถูกต้อง ขอให้ปีใหม่ดียิ่งขึ้นกว่าปีเก่า ยิ่งขึ้นกว่าปีเก่า ดีไหม มีพระรัตนตรัยถูกต้องดียิ่งขึ้นกว่าปีเก่า นี่เรียกว่ามันเบื้องต้นที่สุดแล้ว มีพระพุทธรู้เรื่องดับทุกข์ดีกว่าปีเก่า มีพระธรรม ศีล สมาธิ ปัญญาดีกว่าปีเก่า มีความเป็นพระสงฆ์คือปฏิบัติได้จริงกว่าปีเก่า มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากกว่าปีเก่า ก็คือเป็นอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจสุดความสามารถ ชำระสะสางทุกอย่างของตนรวมทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ถือไว้อย่างผิด ๆ ไม่ถูกหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปถูกเปลือกนอกเสียหมด ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นองค์จริง แต่เป็นองค์เปลือก ถือเอาด้วยอุปาทาน กิเลสตัณหา อุปาทาน ต้องถือเอาด้วยสมาทานจึงจะได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ชำระสะสางกัน ให้ถือให้ถูกต้อง ให้เป็นสมาทาน อย่าให้เป็นอุปาทานเลย เราก็จะมีความเป็นพุทธบริษัท ถูกต้องสมบูรณ์ จนเต็ม มีความพุทธบริษัทที่เต็มตามความหมาย ทีนี้ถ้าจะไม่ถือพุทธศาสนา จะใช้หลักสากลของธรรมชาติก็ยังใช้ตรงนี้ หลักจริยาธรรมสากลน่ะ ก็ขึ้นต้นด้วยมีความสุข สงบเย็น เต็มตามความหมายของความสุข แล้วก็มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เพราะว่าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่เพื่อตัวกู แล้วมีความรัก สากล รักเพื่อน มีชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ไม่แบ่งแยก นี่จริยธรรมสากล มันเข้ากับหลักพระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ ถ้าคุณรังเกียจที่ว่าจะไม่ถือพุทธศาสนา หรือไม่ยอมมีศาสนานั่นนี่ผูกมัด ก็ถือจริยธรรมสากลของธรรมชาติก็ได้ นักจริยธรรมสากลเขาสนใจ เขาค้นคว้ารวบรวม ค้นคว้ากันมาเป็นสิบปีเป็นร้อยปี เดี๋ยวนี้ยุติเป็นหลักจริยธรรมสากลว่าอย่างนี้ จริยธรรมก็เรียกว่า ethic ศีลธรรมเรียกว่า morality หลักของศีลธรรมนั่นแหละคือจริยธรรมสากล มีความสุขเพราะปฏิบัติถูกต้อง ได้รับความสุขความพอใจ อย่างเดียวกับที่อาตมาว่ามาแล้วว่า เยือกเย็นและเป็นประโยชน์ จึงจะถูกต้องตามหลักมุ่งหมายของจริยธรรมสากล มันก็มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ the man perfected เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่เต็ม อย่าเป็นมนุษย์ที่บกพร่องเลย ปีนี้จงเป็นมนุษย์ให้เต็มกว่าปีที่แล้วมา แล้วก็มีการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เพื่อธรรมชาติ ไม่โกงธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่าให้เพื่อตัวกู แล้วมันไม่ไปไหนเสีย ให้อัตภาพนี้ ชีวิตร่างกายนี้ ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง มันก็ได้แบบเปล่าๆ นี้ นี่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ถ้าเพื่อตัวกู มันเพื่อกิเลสที่เกิดทีหลัง เห็นแก่ตัว ยุ่งไปหมด เห็นแก่ตัวมันก็ทำแต่เห็นแก่ตัว เดือดร้อนกันทั้งโลก duty for duty’s sake หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ จริยธรรมสากล ก็ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาที่มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวกู ไม่มีตัวกู จงทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ให้มันเป็นอนัตตา ตนซึ่งไม่ใช่ตน มันก็เป็นประโยชน์แก่ตน ที่ไม่ใช่ตนนั่นแหละ ตนที่ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของตน มันก็ยังเป็นตนชนิดนั้น เรียกว่าอนัตตา ตรงนี้อยากจะขอย้ำ ให้จำให้มั่น ให้แน่นอนไว้สัก ๓ คำ แล้วมันจะไม่ฟั่นเฝือ อย่าเห็นเป็นของเล่น ๆ นะสำคัญที่สุด โง่สุดโต่งฝ่ายนี้เป็น อัตตา มีอัตตา มีตัวกู มีของกู เป็นอัตตาสุดโต่งที่โง่ฝ่ายนี้ ตรงกันข้ามมันเป็น นิรัตตา ไม่มีอัตตา ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันโง่สุดโต่งเป็นฝ่ายไม่มี ทีนี้เป็นฝ่ายมีที่อยู่ตรงกลาง ตรงกลางมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คือเป็น อนัตตา ได้แก่ อัตตาที่มิใช่อัตตา เรียกว่าอนัตตา นี่อยู่ตรงกลาง นี่ละคือถูกต้อง ท่านจงมีหรือเป็นสิ่งที่เรียกว่าอนัตตา อย่าเป็นอัตตา อย่าเป็นนิรัตตา ไม่สุดโต่งซ้ายหรือขวา แต่อยู่ตรงกลางคือเป็นอนัตตา เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องอนัตตา นี่จึงเรียกว่าอย่าเพื่อตัวกู อย่าเป็นของกู อย่าปล้นธรรมชาติ อย่าโกงธรรมชาติ เอามาเป็นของกู คงเป็นของธรรมชาติอยู่ อัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คือมีตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู มีตัวตนซึ่งเป็นของธรรมชาติ ยืมมาพัฒนา เสร็จเรื่องแล้วคืนเจ้าของ หรือทิ้งไว้เฉย ๆ มันก็กลับไปหาเจ้าของ เมื่อความตายเกิดขึ้น ทุกอย่างมันกลับไปหาธรรมชาติของมันเอง เอาละเป็นอันว่าในปีใหม่ วารดิถีปีใหม่นี้ จงมีอนัตตาให้มากขึ้น มีตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกูมากขึ้น แล้วความทุกข์ก็ไม่รู้จะกัดอะไร ความทุกข์ก็ไม่รู้จะเป็นความทุกข์ที่ไหน เพราะมันไม่มีตัวกูสำหรับจะรับความทุกข์ มีตัวกูแต่โดยสมมุติ เราจะพูดกันรู้เรื่องตามธรรมดาในโลก ต้องพูดกันด้วยภาษาตัวตน ภาษาตัวกู แต่หัวใจอย่าเป็น ในจิตใจอย่ามีตัวกู แม้ปากมันจะพูดว่าตัวกู หรือของกู จะพูดว่าบ้านเรือนของกู ทรัพย์สมบัติของกู ภรรยาสามีของกู ก็ให้พูดแต่ปาก ใจอย่าเป็น ก็ใช้เป็นประโยชน์ตามที่มันควรจะมีจะได้ อย่าหมายมั่นเป็นตัวกู-ของกู นี่ก็สรุปความว่าปีใหม่นี้ ลดตัวกูที่โง่เขลาลงไปเสีย ให้เป็นตัวกูที่ฉลาด คือตัวกูซึ่งมิได้ยึดถือว่าเป็นของกู ตัวกูที่ไม่ได้ยึดถือหมายมั่นว่าเป็นตัวกู มันก็จะสะอาด มันจะสว่าง มันจะสงบกว่าปีเก่าเป็นแน่นอน พอมาถึงนี่ก็สรุปว่าปีใหม่นี้ มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนมากขึ้น มีตัวตนของธรรมชาติ ยืมมาใช้มาพัฒนาได้ตามพอใจ เสวยความสุขสูงสุดเป็นสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ผลิตประโยชน์เหมือนเครื่องจักรเลย เหมือนเครื่องจักรอุตสาหกรรมผลิตของบ้า ๆ บอ ๆ ไว้หลอกคนเต็มบ้านเต็มเมือง เดี๋ยวนี้เราเป็นเครื่องจักรที่ผลิตประโยชน์ ผลิตความเยือกเย็น ผลิตความถูกต้อง จัดให้ชีวิตร่างกายนี้เป็นเครื่องจักร ผลิตออกมาแต่ประโยชน์ หรือความเยือกเย็น หรือความถูกต้อง ให้เป็นมากกว่าปีเก่า ก็จะเป็นปีใหม่สมตามความปรารถนา ในที่สุดนี้ก็ขอแสดงความหวังฝากไว้กับท่านทั้งหลายว่า ท่านจงได้มีความเข้าใจถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ในข้อนี้สัมมาทิฏฐิดำเนินไปรับใช้สมาธิ ตัดกิเลสด้วยสติปัญญา ทำงานร่วมกันหมดแหละ ศีล สมาธิ ปัญญา สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ ทำงานร่วมกัน ให้เป็นธรรมะสมังคี ความสามัคคีแห่งธรรมะ เรียกว่า ธรรมะสมังคี ปีใหม่นี้ขอให้มากกว่าปีเก่า มีความสามัคคีแห่งธรรมะ เกิดขึ้นในชีวิตมากกว่าปีเก่า ชีวิตก็เยือกเย็นและเป็นประโยชน์มากกว่าปีเก่า ขอให้ความหวังอันนี้ เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายรับเอาไปคิดนึกศึกษา พินิจพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง ให้มันเป็นสัมมา ตลอดไป ประสบความสุขสวัสดีอยู่ตลอดทุกทิวาราตรีกันเทอญ ขอยุติการบรรยาย