แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คือมันมีเรื่องที่ว่าเป็นห่วง เป็นห่วงนี่อยู่ 2 อย่าง คือว่า จะเข้าใจมันด้วยตนเอง ก็ไม่ถูกต้องชัดเจน และก็ไม่สามารถจะตอบคำถามหรือแก้ข้อสงสัย ข้อข้องใจ ของผู้ที่เขาจะมาถาม ไอ้เรื่องต่างๆ ที่เราได้พูดไม่ได้เอามาเปิดเผยแสดง อย่างในเรื่องอรรถานุกรม มันไม่เคยมีใครพูด บางเรื่องมันไม่เคยมีใครพูดมาก่อน มีหลายเรื่องที่เราเอามาพูดชนิดที่ไม่มีใครเคยพูดมาก่อน เช่น เรื่องกาลามสูตร เรื่องอตัมมยตา เรื่องนิพพานเย็น ก็ไม่ได้พูดกันมาก่อน ก็ต้องทำความเข้าใจ
ในเมื่อตนเองก็เข้าใจถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน และเมื่อผู้ที่เขาไม่หวังดี เขาจะค้าน เขาจะถาม เขาจะไล่ต้อนหรืออะไรก็ตาม มันก็จะต้องพูดจาได้ถูกต้อง ให้มันยึดติดกันไป คือเรื่อง ที่พูดมาแล้วสังเกตดูซิ ที่พูดกันเมื่อคืนเมื่อวาน คือเรื่องทำนองนั้น เป็นหัวข้อสั้นๆ ที่จะต้องจำไว้แม่นยำเป็นหลัก ไม่ว่าจะพูดเท่าไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ให้มันถูกต้องอยู่เสมอ เอนี่ก็ชักจะสงสัยแล้วว่าไอ้เรื่องนี่ ค่อยๆฟังนะไม่ใช่ที่สาธารณะ ที่กรุงเทพฯน่ะเราออกชื่อคนนั้น เราวิพากษ์วิจารณ์คนนี้มันไม่ควรเอาไปพูด เพราะมันไม่ควรเอาไปทำเป็นสาธารณะให้ใครฟังหรือไปจิ้มขึ้นมา ไม่ต้องจิ้มขึ้นมา ไอ้เรื่องที่พูดพิเศษที่นี่อย่างนี้ มันจะเสียมรรยาทและมันจะไม่ถูกต้อง ก็เก็บไว้เป็นเรื่องศึกษาส่วนตัว เราไม่กลัวหรอกไม่มีกลัวว่าจะผิดหรือจะไม่ แต่ว่ามันไม่ใช่มรรยาทที่ดีไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ออกชื่อคนนั้นออกชื่อคนนี้มันไม่ใช่มรรยาทที่ดี เก็บไว้ฟังกันเองอย่าเอาไปเผยแผ่
ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงเรื่องที่ควรจะพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง กาลามสูตร เราใช้กาลามสูตรเป็นหลักในการเชื่อ แต่แล้วก็จะมีคำพูดยืนยันขึ้นมาว่า เราก็ไม่เชื่อแม้แต่กาลามสูตร เข้าใจไหมตอนนี้ มันมีอยู่ข้อหนึ่งในกาลามสูตร มา ปิฏกสมฺปทาเนน ไม่เชื่อเพราะมันมีที่อ้างในปิฎก กาลามสูตรมันก็มีอยู่ในปิฎก มีที่อ้างในปิฎก เราก็ไม่ ไม่บังคับใครให้เชื่อเพราะมีที่อ้างในปิฎก ไหนลองถามดูหน่อยว่าใครจำได้ทั้ง 10 ข้อบ้างที่นั่งอยู่ในนี้ ใครจำได้ทั้ง 10 ข้อบ้าง ไปรีบจำให้ได้แม่นยำทั้ง 10 ข้อ และก็อยากจะทำเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย เพราะเอามาเผยแผ่ก็มีคนด่า เพราะว่ามันมีพื้นเพแห่งความไม่หวังดีอยู่ก่อนแล้ว ว่าไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเผยแผ่ แล้วคนด่านั่นเขาถือว่า กาลามสูตรนี่ พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะพวกนั้นเท่านั้นแหละ พวกที่ฟังอยู่ที่หมู่บ้านกาลาม ไม่ได้ตรัสแก่คนทั้งโลก อันนี้ก็ตีความหมายผิดว่า เป็นการสอนไม่ให้เชื่ออะไร ไม่ให้เชื่ออะไรด้วยประการทั้งปวง ไปตีความอย่างนั้น ที่จริงท่านสอนเพียงไม่ใช่ไม่ให้เชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น คำเนี่ยสำคัญมาก ไม่ให้เชื่อด้วยเหตุเพียง 10 ข้อนั้น ไม่ให้เชื่อด้วยเหตุเพียงเท่านั้น
มันก็น่าเห็นใจนะ เมื่อเขาฟังไม่ถูกเขาก็เข้าใจไปว่าสูตรนี้ห้ามไม่ให้เชื่ออะไร ไม่ให้เชื่ออะไรเลย และร้ายไปกว่านั้นอีก ที่ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ไอ้เด็กๆ มันจะไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ มันก็ฉิบหายกันใหญ่ อันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นและก็ไม่ใช่สอนเด็กๆ เด็กๆยังไม่อาจจะถือได้โดยกาลามสูตรอย่างสมบูรณ์ เด็กก็ถือได้ตามประสาเด็ก แต่ต้องไม่ขัดข้องกัน ถ้ายังไม่เข้าใจมันก็ยังเป็นเด็ก ถึงอายุมากเท่าไรก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังเป็นเด็กสำหรับเรื่องนั้น
ไม่เชื่อด้วยเหตุเพียง 10 ประการ แต่ละประการนั้น แต่จะเชื่อในสิ่งที่มันจริงกว่านั้น สำคัญกว่านั้น มั่นคงกว่านั้น ใครจำ 10 ประการนี้ไม่ได้ มันก็ยากเหมือนกันที่จะแยกออกไปว่าจะให้เชื่ออะไร เอาเรื่อง 10 ประการกันก่อน วันหลังไปท่องจำเสียให้ได้ มันดีจริงๆ มันสำคัญวิเศษจริงๆ 10 ข้อนั้นเราทำเป็นพวกๆ แล้วก็จำง่าย
สามข้อแรกนั้น มันเกี่ยวกับ ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง
ข้อ 1 มา อนุสฺสเวน ถ้าเขียนต้องเขียนให้ถูกนะ ถ้าเขียนไม่ถูกก็ไม่ต้องเขียนดีกว่า มา อนุสฺสเวน มาล่ะว่ะ อนุสฺสเวน อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงว่าได้ฟังกันตามๆ กันมา และ
ข้อที่ 2 ก็ มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อด้วยเหตุที่ว่าสิ่งนี้เขาปฏิบัติตามๆ กันมา คือ ปฏิบัติตามๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อที่ 3 ก็ มา อิติกิราย มา นั้นแปลว่า อย่า อิติกิราย เสียงเล่าลือ เสียงเล่าลือ เล่าลือกันอยู่อย่างนี้ๆ เสียงเล่าลือ
สามข้อแรกมันเกี่ยวกับการได้ยิน ได้ฟัง คือ ที่เขาทำกันอยู่ก่อน คือบอกสอนต่อๆ กันมา พอได้รับคำสั่งสอนนั้น ก็ยังไม่เชื่อตามนั้น แต่ไม่ใช่ไม่ฟัง ฟังแล้วมาคิดดูกัน แต่ยังไม่เชื่อ เห็นเขาทำกันอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติกันอยู่อย่างนี้สืบๆ กันมา ก็ไม่เชื่อว่ามันจะถูกต้องตามนั้น ขอรับฟัง รับรู้ รับเห็น แต่ยังไม่เชื่อ คือไม่เชื่อเพราะเหตุเพียงเท่านั้น ใช้คำอย่างนั้นดีกว่า จะไม่เชื่อเพราะเหตุเพียงเท่านั้น ไม่เชื่อเพราะเขาลือกันอยู่ทั่วๆไป ทั้งโลกก็ตามใจเถอะ เราต้องได้ยิน ได้ฟัง เราต้องได้เห็น แล้วก็ต้องได้ยินที่เขาเล่าลือกันอยู่ อย่าเพริดอย่าเผลอ เดี๋ยวก็จะไปรู้เองตอนหลังว่าทำไม
ทีนี้ข้อที่ 4 มันเกี่ยวกับปิฎก เกี่ยวกับตำรา มา ปิฎกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อเพราะข้อนี้มีที่อ้างในปิฎก อย่าเชื่อเพราะว่าคำพูดนี้มีที่อ้างในปิฎก บรรดาสูตรทั้งหลายก็มีที่อ้างในปิฎกทั้งนั้น
ทีนี้ ข้อ5 กับ ข้อ6 เอามาเป็นพวกเดียวกัน มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อเพราะเป็นผลของความคิดทางตรรกะ ตรรกะเป็นชื่อของวิธีคิดชนิดหนึ่งในอินเดีย เขาเรียกว่า ตรรกะ ตรรกศาสตร์ ต้องเรียน ตรรกศาสตร์ แล้วก็จะมีวิธีคิดตามแบบตรรกศาสตร์ และก็ข้อที่5กับ6นี่ มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อด้วยเหตุผลทางตรรกศาสตร์ แล้วก็ มา นยเหตุ อย่าเชื่อด้วยเหตุผลทาง นัยยายะ หรือ นัยยะ ก็ได้ นัยยายะก็ได้ ทางนัยยายะ
เมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้ว ไอ้ตรรกะนั่นก็ถือ logic คำว่า ตรรกะแปลว่า logic ก็ถือตรงตัวที่สุด วิธีคิดแบบ logic ผลออกมาแบบ logic เรียกว่า ตรรกะ คิดทบทวน คำนวณ ตั้งสมมติฐานอะไร อย่าง philosophy คิดอย่าง philosophy ตามวิธีของ philosophy นั่นแหละคือ นัยยะ อย่าเชื่อด้วยเหตุผลที่เอามาจากวิธีคิดอย่างนัยยายะ หรือ นัยยะ ถือเอาตามตัวหนังสือตรงๆ ก็ว่า อย่าเชื่อโดยวิธีคิดอย่าง logic อย่าเชื่อโดยวิธีคิดอย่าง philosophy แต่น่าหัวที่สุด พระไตรปิฎกแปล แต่ก่อนก็ดีเดี๋ยวนี้ก็ดี เขาแปลว่า อย่าเชื่อโดยความคาดคะเน อย่าเชื่อโดยการเดา อย่าเชื่อโดยการคาดคะเน อย่างนี้มันแย่มาก ที่ไปแปลคำสองคำนั้นว่า เดา แปลว่า คาดคะเน คุณไปดูเอาเถอะคำแปลของกาลามสูตรที่อื่นเขาแปลกัน ข้อ5ข้อ6นี่ เขาแปลว่า เดาหรือคาดคะเนทั้งนั้น เอาตามตัวหนังสือซิ เอาตามตัวหนังสือที่มีอยู่ในตัวบาลีก็คือ ตรรกะกับนัยยะ ตรรกะ คือ logic นัยยะ คือ philosophy แม้จะมีผลของความคิดทางตรรกะออกมาอย่างนี้ ก็เก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อมันร้อยเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวจะเชื่อยังไงค่อยพูดกัน น่าจะคิดตามวิธี philosophy มีสมมติฐานออกมาเทียบเคียง ตั้งสูตรขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ ใส่ไปหาไอ้ผลสุดท้ายออกมาได้ใจความว่าอย่างไร นี่มันก็เป็นการคิดอย่าง philosophy ยังไม่เอาทั้งสองอย่างอย่าไปแปลง่ายๆว่า อย่าเชื่อด้วยการเดา อย่าเชื่อด้วยการคาดคะเน นั่นมันเด็กอมมือที่สุดที่เขาพูดอย่างนี้ ไอ้ตรรกศาสตร์ในอินเดียเป็นเรื่องสำคัญที่นักศึกษา พวกที่เป็นนักศึกษาจะต้องเรียนวิธีคิดอย่างตรรกศาสตร์ วิธีคิดอย่างนัยยายะ อย่างนัยยะศาสตร์ คือวิธี logic วิธี philosophy นั่นเอง
ห้ากับหกเอาไว้พวกเดียวกันสองเรื่อง ทีนี่หกแล้ว มันเหลือสี่แล้วทีนี้ เจ็ดแปดนี่เกี่ยวกับ ทิฐิ ทิฐิหรือความเห็น 7กับ8 มันเกี่ยวกับทิฐิ หรือความเห็น มา อาการปริวิตกฺเกน
มา อาการปริวิตกฺเกน ปริวิตกตามอาการ ตามอาการเงียบๆ อย่างที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า common sense common sense มันเกิดง่าย มันเกิดเอง มันนำไปคิดอย่างไร นั่นเรียกว่า common sense และปริวิตกตามอาการก็คือ common sense นั่นเอง คือ อย่าเชื่อหรืออย่าถือเอาตามที่ common sense มันบอกออกมาเดี๋ยวนั้น
ทีนี้ข้อ8ก็ มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา
มา วรรค ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา นี่คำเดียวยาวเฟื้อยเลย อย่าเชื่อเพราะว่ามันพ้นต่อทิฐิของเรา เมื่อเราเพ่งด้วยความคิดของเรา เพ่งด้วยทิฐิของเรา ความคิดเห็นของเราอย่างไร เราไปเพ่งมันเข้าแล้วมันทนได้ ไอ้สิ่งนั้นน่ะ ข้อความนั้นมันทนได้ ทนได้ต่อความเพ่งพินิจด้วยความคิดหรือความรู้ของเรา ก็อย่าเพริดอย่าเผลอ เหมือนกันล่ะคืออย่าเพริดทั้งนั้นแหละ เพราะว่าความคิดของเรามันผิดได้นี่ ถ้ามันทนได้กับความคิดของเรา มันก็ผิดได้ถ้าความคิดของเรามันผิด อันนี้มันจะไปขัดกับที่เขาพูดว่า เชื่อตนเอง เชื่อตนเอง นี่ไม่เอาล่ะ เชื่อตนเองก็ยังไม่เชื่อ ถ้าสิ่งนั้นมันทนได้ต่อการพิสูจน์ด้วยความคิดความเห็นของเราก็ยังไม่เอา สองข้อนี้มันเกี่ยวด้วยการพิสูจน์ด้วยทิฐิความคิดความเห็น ทีนี้ก็เหลือสองข้อสุดท้าย เกี่ยวกับบุคคลที่มาเกี่ยวข้อง
ข้อก็ 9 มา ภพฺพรูปตาย
มา แล้วก็วรรค ภพฺพรูปตาย ภ พพ รูปตาย เขียนตรงๆ อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดน่ะมันมีลักษณะควรเชื่อ เขามีลักษณะควรเชื่อ ท่าทาง นิสัยใจคอ การพูดจาอะไรตาม มีลักษณะควรเชื่อ อย่าเพิ่ง ถึงแม้อยากก็อย่าเพิ่ง
แล้วข้อสุดท้าย ข้อ 10 มา แล้วก็วรรค สมโณ วรคค ครู มา สมโณ ณ แล้วก็วรรค โน ครูติ มาสมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดเป็นครูของเรา ของข้าพเจ้า สมโณ สมณะ คือ ผู้นี้เป็นครูของข้าพเจ้า เพราะสมณะผู้พูดเป็นครูของข้าพเจ้า ว่าอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ ทบทวนดูดีๆ
สามข้อแรกมันเกี่ยวกับได้ยินได้ฟังทางหูทางตา ไม่เชื่อเพราะฟังตามกันมา ไม่เชื่อเพราะเห็นเขาทำตามๆ กันอยู่ ไม่เชื่อเพราะได้ยินเสียงเล่าลือกระฉ่อนไป นี่สามข้อแรก ข้อสี่ไม่เชื่อเพราะมีที่อ้างในปิฎก ข้อห้าข้อหก ไม่เชื่อโดยวิธี logic ไม่เชื่อโดยวิธี philosophy ไม่เชื่อโดยที่มันเป็นผลของการคิดอย่าง logic เป็นผลของการคิดอย่าง philosophy เจ็ดแปด สองข้อนี้เกี่ยวกับความคิดที่เรียกว่า ทิฐิ
ทิฐิ common sense ออกมาก็อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วก็มันทนได้ต่อการพิสูจน์ด้วยความรู้ของเรา เรามีความรู้อย่างไร เอาไปพิสูจน์มัน มันก็ทนได้ นี่ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ข้อนี้อธิบายยากนะ มันขัดหลักบางอย่างที่ให้เชื่อเหตุผล มันต้องเหตุผลอย่างอื่น แล้วข้อสุดท้ายสองข้อนั้นเกี่ยวกับบุคคล ผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ สมณะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา มันก็เท่ากับพระพุทธเจ้าปฏิเสธพระองค์เอง พระองค์เป็นสมณะแล้วก็สอนอยู่ แล้วก็ไม่ให้เชื่อด้วยเหตุว่าสมณะนั้นเป็นครูของเรา
ข้อ10นี่วิเศษ ที่มันเป็นประชาธิปไตยเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปดูในศาสนาอื่น ลัทธิอื่นซิไม่มีพูดอย่างนี้ ถ้าเป็นคริสเตียนแล้ว กับไอ้ dogmatic system ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ต้องเชื่ออย่าง อย่างบันทึกเสียง dogma dogma มีอยู่อย่างไร คุณต้องเชื่ออย่างนั้นๆ เหมือนฝังไปด้วยเครื่องบันทึกเสียง มันตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้าว่า อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา ถ้าเราจะเอาไปใช้กับประชาธิปไตยแล้วก็เอาข้อสุดท้ายข้อ10นี่ๆไปยืนยันความเป็นประชาธิปไตยของพระพุทธศาสนา
ทบทวนให้เข้าใจ สามข้อแรกเป็นอะไร ข้อถัดมาเป็นอะไร สองข้อถัดมาเป็นอะไรๆ แล้วสองข้อถัดมาเป็นอะไรๆ ดูให้ดีๆ สามข้อแรกเกี่ยวกับฟัง ยิน ภายนอก แล้วข้อสี่ ข้อเดียวอ้างปิฎก ห้าหก อย่าตรรกะ อย่านัยยะ คือ อย่าเป็นทาสของ logic อย่าเป็นทาสของ philosophy เจ็ดแปดไม่เชื่อโดย common sense ไม่เชื่อโดยเหตุว่าคำพูดนั้นมันทนได้ต่อการพิสูจน์ด้วยความรู้ ความคิด ความเห็นของเรา ข้อนี้ยากมากนะ เพราะใครๆก็ต้องเชื่อทั้งนั้น เพราะมันถูกกับความคิดของเรา แล้วสองข้อสุดท้ายเกี่ยวกับคนพูด คนพูดเขามีลักษณะน่าเชื่อ กิริยา ท่าทาง พูดจา น้ำเสียง ให้มันน่าเชื่อ และอีกที่หนึ่งก็ว่า ท่านเป็นครูของเรา มันวิเศษเกินวิเศษนะสูตรนี้
ที่นี่ยังไงว่ายังไง ก็ข้อสี่ว่ายังไง ข้อสี่ อย่าเชื่อเพราะมีที่อ้างในปิฎก นี่กาลามสูตรเองก็มีที่อ้างในปิฎก งั้นฉันก็ไม่เชื่อกาลามสูตร เอากันอย่างนี้ดีกว่า ก็กาลามสูตรก็มีที่อ้างในปิฎก หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าสมณะนี้เป็นครูของเรา ตรัสกาลามสูตร เราก็ไม่เชื่อเอาซิ เราคุณอธิบายได้ไหมว่าเชื่ออะไร ตอนสุดท้ายหลังจากนั้นไปมันก็เชื่อ สิ่งที่มันเห็นชัดอยู่ว่ามันมีเหตุผลในตัวเองอย่างไร
ฉันยกตัวอย่างแค่เพียงว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันทำให้เกิดความทุกข์ ความฉิบหาย ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ก็หมายความว่า เอาไอ้สิบข้อนี้ เว้นเสียแต่จะไม่เอามาพูด แล้วก็มาดูที่ตัวโลภะ ตัวโทสะ ตัวโมหะ ที่มันมีอยู่ในจิต ในใจ ในความรู้สึก เท่าที่เราได้ผ่านมาแล้ว โลภะ โทสะ โมหะ มันก็ฟ้องตัวเองๆ กูตัดมึงตลอดเวลา ถ้ามึงมี มึงก็ไม่มีสุขคติทั้งโลกนี้และโลกหน้า ไม่ต้องเชื่อคนอื่น เนี่ยมันมีตัวเองที่แสดงอยู่อย่างนั้น เอากันง่ายๆ ว่าอย่าโลภมันจะเป็นทุกข์ มันก็เคยโลภอยู่แล้ว เลยเป็นทุกข์อยู่แล้ว จะไปเชื่อใครอีก อย่าโกรธจะเป็นทุกข์ ไม่ต้องเชื่อใคร เพราะมันเคยโกรธแล้ว เป็นทุกข์แล้ว อย่าโง่ อย่าหลง อย่าสะเพร่า อย่าขาดสติ มันก็ไม่ต้องเชื่อใคร เพราะมันเคยมาว่า แล้วมันก็ได้รับทุกข์มาแล้ว นี่เรียกอะไร คุณจะเรียกว่าอะไร ขอให้คำว่า ถ้าคิดไม่ออกนะ อาตมาขอใช้คำว่า เหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง
วลีนี้สำคัญมาก เหตุผลที่มันแสดงอยู่แล้วที่ตัวมันเอง ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือข้อไหนก็ตาม ธรรมะข้อไหน มันก็มีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวมันเอง หรือมันฟ้องตัวเองอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับความโลภไม่ดี ความโกรธไม่ดี ความหลงไม่ดี มันแสดงอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก หรือไปเชื่อใครพูดที่ไหน แล้วทีนี้มันก็มีปัญหาไปถึงผู้พูด ถ้าผู้พูดเป็นพระพุทธเจ้า เป็นอะไร ท่านก็พูดแบบของท่าน ถ้าคนพาลคนโง่มันก็พูดตามแบบของเขา เสร็จแล้วมันจะมีเหตุผลในตัวมันเอง แสดงให้เราเห็นได้ทั้งนั้นแหละว่าเป็นอย่างไร ฉันใช้คำๆนี้ หรือใครจะมีคำที่ดีกว่านี้ก็ตามใจ อาตมารู้เพียงแต่ว่าเหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง
ประโยคไหนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ทุกๆ ประโยค แทบจะทุก 84,000 ข้อก็ได้ ทุกข้อมันมีเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเองว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ เช่น พูดอย่างเด็กๆ ว่าพ้นทุกข์เพราะความเพียร พ้นทุกข์เพราะความเพียร เด็กๆ มันก็รู้ได้ว่าเรามันพ้นทุกข์อยู่เพราะความพยายามของเรา ไม่ต้องเชื่อใครบอก ไม่ต้องเชื่อเทวดาผีสาง ไม่ต้องหวังให้ใครมาช่วยเราพ้นทุกข์ด้วยความเพียร เราเห็นอยู่เอง นี่ล่ะเหตุผลในตัวมันเอง แต่ถ้าว่ามันโตแล้วมันฉลาดแล้ว มันสามารถจะฟังมากกว่านั้น เราก็บอกว่า พ้นทุกข์เพราะสัมมาทิฐิ พ้นทุกข์เพราะสมาทานสัมมาทิฐิ นี่ประโยคนี้ก็สำคัญเหมือนกัน สมาทิฐิ ความรู้ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถือเป็นหลักอยู่ก็พ้นทุกข์ได้ นี้ขอถือโอกาสพูดเรื่องนี้อีกทีว่า ถ้าคนมันฟังไม่ดีหรือคนมันเกลียดอยู่ก่อนแล้ว มันก็จะค้านทันทีว่า พระพุทธเจ้าพูดอะไรไม่คงที่ ที่นี่พูดอย่าง ที่โน่นพูดอย่าง เรียกว่าพูดไม่คงที่ ไม่คงเส้นไม่คงวา ตรงนี้พูดว่าพ้นทุกข์เพราะความเพียร ตรงนี้พูดว่าพ้นทุกข์เพราะสัมมาทิฐิ มันก็ถูกทั้งสองอย่าง
ฉะนั้นมันมีที่น่ากลัว เช่นเรื่อง ชาติ
ชาติ ในอริยสัจ 4 ตรัสว่า ชาติเป็นตัวทุกข์ ท่านตรัสว่า อธิปเวทุขฺขัง ประชาปิติทุขฺขา (30:25:02) ชาติเป็นตัวทุกข์เลย พอในเรื่อง ปฏิจจสมุทปบาท ชาติปัจจะยา ชะรานะ โสกา (30:40:06) ชาติเป็นปัจจัยแห่งทุกข์ ทีนี้คนที่มันเป็นข้าศึก นี่ พูดตลบแตลงนี่ เดี๋ยวว่าชาติเป็นทุกข์ เดี๋ยวว่าชาติเป็นปัจจัยแห่งทุกข์ คุณต้องเข้าใจซิว่าพระพุทธเจ้าตรัส ท่านก็ตรัสไปตามเรื่องที่มันมีสิ่งแวดล้อมอยู่เดี๋ยวนั้น ไม่ใช่ชี้ที่ตัวชาติว่าเป็นตัวความทุกข์ มันก็ถูกเหมือนกัน มันเกิดตัวกูมันก็เป็นทุกข์ ที่มองอย่างนี้อีกแง่หนึ่ง เพราะมีชาติเป็นตัวกู มันจึงมีความทุกข์ เพราะมีชาติจึงมีทุกข์ อันแรกพูดว่าชาติเป็นตัวทุกข์เสียเอง อันที่สองพูดว่า เพราะมีชาติจึงมีทุกข์ อย่างนี้อย่าไปเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสไม่คงเส้นคงวา เพราะมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็ตรัสอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ตรัสอย่างหนึ่ง
ถ้าว่า ชาติ เป็นทุกข์ ถ้าคนมันรู้จัก สิ่งที่เรียกว่า ชาติ ดีอยู่แล้ว มันก็ไม่ต้องใครบอก มันเห็นอยู่แล้วว่าชาติเป็นทุกข์ หรือว่าชาติเป็นปัจจัยแห่งทุกข์ มันก็เห็นอยู่แล้วว่า เพราะมันเกิดขึ้นมา มันจึงเอานั่นเอานี่มาเป็นของกู มันก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน มันเห็นอยู่ว่าชาติเป็นอย่างนั้น มันก็เห็นเองว่าเป็นทุกข์ มันเห็นว่าชาติเป็นที่ตั้งแห่งอะไร มันก็เห็นเองว่าชาติเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์
สรุปว่า ที่ตัวมันๆ มันมีเหตุผลแสดงอยู่ มันบอกตัวมันเอง มันฟ้องตัวมันเอง งั้นเราก็ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ 10 ประการนั้น ก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านมาอย่างนี้ ท่านทรงมุ่งหมายอย่างนี้ เราไม่ต้องเชื่อโดยอำนาจ 10 ประการนั้น เพราะว่าเราเห็นอยู่ที่ตัวมันนั่นแหละ เหตุผลมันแสดงอยู่ แต่หมายความว่าเรารู้จักสิ่งเหล่านั้นดีนะ การรู้จักสิ่งเหล่านั้นดี มันอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่เกี่ยวกับว่าเป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านั้นดี เราก็บอกได้เอง ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ อะไรๆ เป็นทุกข์ก็เห็นได้เอง
โลภ โทสะ โมหะ เป็นความทุกข์ เป็นความเสียหายทั้งโลกนี้และโลกหน้า ถ้าคนมันรู้จักโลภะ โทสะ โมหะ เดี๋ยวก็เห็นทันที ไม่ต้องเชื่อผู้พูด มันก็เห็นเหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวโลภะ ตัวโทสะ ตัวโมหะนี่ ถ้ามันเป็นคำพูดของอันธพาล มันพูดออกไป มันก็มีเหตุผลแสดงอยู่แล้วว่ามันผิด มันไม่สมจริง มันไม่สมจริงอยู่ในตัวคำพูดนั้น ถ้าเป็นคำพูดของพระอริยเจ้า มันมีเหตุผลแสดงอยู่ที่ตัวมันเองว่า มันอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราจึงมีหลักที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า เหตุผล อันนี้ก็สำคัญ ต้องจดไว้เป็นอีกแผนกหนึ่งว่า
เหตุผล มี 2 ชนิด
ข้อ 1 เหตุผลเพราะคิดเอา เหตุผลเพราะคิดเอาๆ คิดเอาๆ เป็นเหตุผลของการคิดเอาๆ
ข้อ 2 เป็นเหตุผลจากประสบการณ์โดยตรง ไม่ต้องคิดเอา ประสบการณ์นั้นแสดงอยู่ในตัวมันเอง
เหตุผลมี 2 ชนิด ระวังอันไหนจะพึ่งได้ อันไหนจะพึ่งไม่ได้ เหตุผลจากคิดเอาๆ คิดเอา ยิ่งคิดอย่างวิธี philosophy ด้วยนะ ไม่มีจุดจบ ถ้าคิดอย่างวิธี philosophy ไม่มีจุดจบ เหตุผลออกไปเรื่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ แล้วก็จะไม่ถูกซะด้วย เหตุผลจากการคิดเอาๆ ถ้าเหตุผลจากประสบการณ์ คือมันได้เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นโดยตรง ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส กับสิ่งนั้นโดยตรง นี่เหตุผลจากประสบการณ์ต่อสิ่งนั้นเนี่ยใช้ได้ นี่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้
นักเหตุผลก็รู้นะว่าเหตุผลชนิดไหนจะพึ่งได้ เหตุผลชนิดไหนจะพึ่งไม่ได้ แม้ว่าเราจะพูดให้คนอื่นฟังก็เหมือนกันแหละ ขอให้เราใช้เหตุผลจากประสบการณ์ หรือขอให้ผู้ฟัง ผู้ฟังคุณฟังด้วยเหตุผลจากประสบการณ์ อย่าได้ฟังด้วยเหตุผลจากคิดเอาๆ คิดเอาเป็นบ้าไปเลย ใครจะพูดฉันก็ลืมชื่อแล้ว ฉันจำขี้ปากของคนนั้นมาพูดว่า วิธีคิดอย่าง philosophy เขาจะเปรียบว่าเหมือนกับทางรถไฟสายหนึ่ง มีสองราง สองรางนี้ไม่เคยพบกันเลย สองรางนี้ไม่เคยรวมเป็นรางเดียวกันเลย มันคู่กันออกไปๆ ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่เขาเรียกว่า คิดอย่าง philosophy มันได้ผลที่ออกจริงจังอะไรไม่ได้ มีแต่ออกไปๆ ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าคิดอย่างประสบการณ์มันแสดงอยู่ที่ตรงนี้ ยุติอยู่ที่ตรงนี้ว่าเอากันอย่างนี้ๆ
เอาทีนี้มันอีกข้อหนึ่งนะว่า พูดจาให้มีเหตุผลอย่างพระพุทธเจ้าตรัส พูดจาให้มีเหตุผลอย่างเดียวอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส นี่หมายความว่า จะพูดอะไรออกไป ให้มันมีเหตุผลแสดงอยู่ในคำพูดโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องเอาเหตุผลอื่นมา ไม่ต้องเชื่อตามกาลามสูตร เหตุผลมันอยู่ในตัวคำพูดแล้วโดยสมบูรณ์ เช่น พูดว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นโทษเป็นภัยให้เกิดความทุกข์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า มันมีเหตุผลอยู่ในตัวมันเองไม่ต้องเชื่อใคร ทีนี้ขอพูดให้แนวมันกว้างออกไปนะในข้อนี้ เผื่อว่าจะไปเป็นพระศาสดากับเขาบ้าง ถ้าพูดอย่างพระพุทธเจ้า
พูดอย่างพระพุทธเจ้ามันต้องประกอบด้วยองค์ 3 คำพูดนั้นประกอบด้วยองค์ 3
องค์ที่หนึ่ง มีลักษณะเป็นของใหม่ น่าสนใจ น่าอัศจรรย์ ข้อที่สอง มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง รัฐมีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง สาม มีปาฏิหาริย์ คือ ปฏิบัติให้สำเร็จได้ตามนั้น ปาฏิหาริย์ในที่นี้ หมายความว่า ทำให้สำเร็จได้ตามนั้น ไม่ใช่พูดเฉยๆ ไม่พูดเปล่าๆปลี้ๆ ปาฏิหาริย์ แปลว่า มีวิธีปฏิบัติให้สำเร็จได้ตามนั้น
ข้อหนึ่ง พูดในลักษณะที่ผู้ฟังรู้สึกเป็นของแปลก ของใหม่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ มันสะดุดใจผู้ฟัง เขาจะรู้สึกว่าเขาได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยิน นี่ข้อหนึ่ง ข้อที่สอง คำพูดนั้นมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูดแล้วอย่างที่เราพูดเมื่อตะกี้ และข้อที่สาม มีปาฏิหาริย์ ที่พูดแล้วปฏิบัติให้สำเร็จได้ ไม่ใช่พูดแล้วปฏิบัติไม่ได้ อย่างนั้นไม่มีปาฏิหาริย์ คำพูดบางอย่าง คำสอนบางอย่างปฏิบัติตามไม่ได้ อย่างนั้นเรียกว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ให้สำเร็จประโยชน์ นี่ก็สมมติว่าจะไปเป็นผู้สั่งสอนอะไรที่ไหน จะไปเทศน์ จะไปแสดงปาฐกถา บรรยาย หรือเขียนบทความที่ไหน ก็ขอให้มีลักษณะ 3 อย่างนี้ พอคนได้ยินได้ฟังแล้วก็สะดุดตื่นเต้น โอ้นี่ใหม่ นี่น่าอัศจรรย์ นี่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
เทปหายไป (41:26:05)
แสดงอยู่ที่ตัวมันเองไม่ต้องอาศัยอะไรข้างนอกก็เข้าใจได้ คือ มันมีเหตุผล ข้อที่สาม คือ มันมีปาฏิหาริย์ มีวิธีปฏิบัติให้สำเร็จได้
คุณดวงเดือนเขียนสั้นๆ 3 คำ คุณจะเขียนว่าอย่างไร
เท่านี้พอไหม 3 คำสั้นๆ ก็พอ
ถ้าจะพูดอะไร ให้มันสำเร็จประโยชน์ล่ะก็ ขอให้มันครบ 3 อย่างนี้ และนี่คือ วิธีการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสและท่านก็สอนไว้อย่างนี้ สูตรที่สอนไว้อย่างนี้ มันไม่มีใครเอามาพูดกัน มันพูดภาษาใหม่ บ้าน้ำลายของตัวเอง
คุณดวงเดือนเป็นหมอ เราก็จะถามว่า ยาใหม่ออกมาใหม่ สูตรตลาดออกมาใหม่ ไม่มีใครรู้จัก แล้วคุณมีเหตุผลอะไรที่จะไปกินยานั้น จะไปลองกินยานั้น ยาใหม่ไม่เคยออกมา ไม่เคยมีมาในโลก เขาคิดขึ้นใหม่ ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แล้วออกมาขาย แล้วมีวิธีตัดสินใจยังไง ที่ว่าควรจะลองกินยานี้ อย่าไปเชื่อคำโฆษณา ดูลักษณะของยา ดูเหตุผลข้างเคียง แล้วก็ดูปาฏิหาริย์ที่มันจะทำปฏิกิริยาอะไรได้บ้าง
ทีนี้ก็จะพอเห็นอะไรได้บ้างว่า กาลามสูตร เนี่ยไม่ได้ห้ามว่า อย่าเชื่ออะไรโดยประการทั้งปวง เพียงแต่อย่าเชื่อทันทีโดยหลัก 10 ประการนี้ อย่าเชื่อทันทีโดยหลัก 10 ประการนี้ ว่าดูๆ ดูๆ ดูๆ แล้วจะเห็นเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในคำพูดนั้น พระพุทธภาษิตทุกข้อ 84,000 ข้อ ทุกข้อมันจะมีเหตุผลที่แสดงให้เห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น งั้นเราจึงไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าผู้พูด ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎกที่บันทึกไว้ และไม่ต้องเชื่อความคิดชนิดใดหมด เพราะเหตุผลที่แท้จริงมันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง
นี่ถ้าจะใช้เหตุผลอย่างพุทธบริษัทต้องใช้เหตุผลนี้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ชาวโลกเขาไม่ใช้เหตุผลนี้ เขาใช้เหตุผลทาง logic บ้าง ทาง philosophy บ้าง เช่นเดียวกับที่ครั้งพุทธกาล ครั้งโบราณ ครั้งพุทธกาลประชาชนเชื่ออย่างวิธีตรรกะบ้าง นัยยายะบ้าง ก็คือ อย่างที่คนเดี๋ยวนี้เชื่ออย่างวิธี logic บ้าง อย่างวิธี philosophy บ้าง เหมือนกันเลย ไม่มีผิด แม้คนครั้งพุทธกาลโบราณโน้น ก็บ้าตรรกะ บ้านัยยายะ คือบ้า logic บ้า philosophy เหมือนกัน แต่ตามแบบของเขา งั้นเราเก็บไว้ ยังไม่เชื่อทันที แล้วก็ดูเหตุผล ดูเหตุผล ดูลักษณะของตัวเอง ก็พอจะรู้ได้ เหมือนกับปลาไหล มันลื่น ไม่ต้องไปคลำดู ดูลักษณะท่าทางบางอย่างก็จะเห็นว่ามันลื่น แต่นี่มันยังเป็นการคิดอยู่ แต่ถ้าไปคลำดู แล้วก็รู้ว่ามันลื่น มันไม่ต้องไปเชื่อใคร นี่แหละเหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ทุกอย่างมีเหตุผลแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง มันมีอยู่ตลอด เราจะเห็น หรือไม่เห็นเท่านั้น
นี่อย่าเข้าใจว่า กาลามสูตรห้ามไม่ให้เชื่ออะไร ไม่ให้ฟังอะไร ไม่ให้คิดอะไร คุณเชื่อได้ ฟังได้ คิดได้ คำนวณได้ ดูอะไรได้ แต่คุณยังไม่เชื่อทันที คุณจะเชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง หรือว่าทั้ง 10 ประการนั้น ฟังมาแล้วทั้ง 10 ประการนั้น ดูมาแล้ว คิดมาแล้ว แล้วก็เอามาสรุปเป็นเหตุผลในตัวมันเอง มันว่าอย่างไร นั้นกาลามสูตรจึงมีประโยชน์มาก ประโยชน์สูงสุดจนพูดไม่ออกจนกล่าวไม่ได้ ไม่ใช่คำสอนที่ห้ามไม่ให้ใครเชื่ออะไรทั้งหมด แล้วจะทำให้เด็กๆ ดื้อบิดามารดา ดื้อครูบาอาจารย์ นั้นมันไม่เข้าใจเอง แล้วมันก็พูดส่งเดชไปตามความคิด คือ พวกที่ค้านว่าไม่ควรเอากาลามสูตรมาเปิดเผย มีอยู่ที่กรุงเทพฯ มีแยะเลย บอกว่าไม่ควรเอากาลามสูตรมาเปิดเผย และบางคนก็ว่า เขาตรัสเฉพาะชาวบ้านหมู่นั้น ที่นั่น เท่านั้นแหละ เฉพาะที่นั่นเท่านั้นแหละ ที่อื่นไม่ใช่ ยุคอื่นไม่ใช่ ก็มี
กาลามสูตรมันมีอยู่ในอรรถานุกรม มีในหมวดธรรม เรื่องที่เป็นหัวใจอย่างหนึ่ง แนวหนึ่ง ด้านหนึ่งของพระพุทธศาสนา ช่วยไปตอบคำถามเขาให้ถูกว่า สูตรนี้ไม่ได้ห้ามว่า อย่าดู อย่าฟัง อย่าคิด อย่าคำนวณ เพียงแต่ว่ายังไม่เชื่อทันทีเพราะ 10 ประการนั้น จนกว่าจะเห็นเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง ศีลมีประโยชน์ สมาธิมีประโยชน์ ปัญญามีประโยชน์ อย่าเชื่อผู้พูด ไปดูที่ตัวศีล ตัวสมาธิ ตัวปัญญา จะเห็นว่ามันมีประโยชน์แสดงอยู่ที่ตัวมันเอง เหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ไม่อย่างนั้น มันก็จะเป็นความงมงาย เป็นไสยศาสตร์ไปหมด รักษาศีล ทั้งที่ไม่รู้ว่าศีลคืออะไร ทำสมาธิ ทั้งที่ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ทำวิปัสสนา ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันก็ไม่ได้เหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง เพราะมันไม่รู้ แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เป็นเด็กแล้วนะ เดี๋ยวนี้มันผ่านมาขนาดนี้แล้ว มันจะเห็นได้ทันทีว่า ศีลมันมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวมันเอง ว่ามันทำอะไรได้บ้าง มันมีประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ว่าทุศีล ทุศีลมันมีโทษอย่างไร มันก็แสดงอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องเชื่อใคร
ธรรมะทุกข้อมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวมันเองทุกข้อ หาให้พบสิ่งนั้น ไอ้ข้อแม้เบ็ดเตล็ดเล็กน้อยพิเศษนั้น มันก็ต้องมีเป็นธรรมดา เพราะบางทีก็คิดไม่เห็น บางทีมันก็อยู่นอกแนวแห่งความคิด แต่ถ้าเป็นสิ่งธรรมดา มันอยู่ในแนวแห่งความคิด จะมองเห็นเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้นจะมาตัดสินกันว่า นี้ดีนี้ชั่ว นี้ดีนี้ชั่ว ให้ดูที่เหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง อย่าเอาตามคนอื่นเขาว่า หรือว่าอย่าสรุปความให้เร็วนัก common sense ตัดสินดีชั่วให้เร็วนัก มันก็ไม่ได้ มันจะคำนวณให้ยุ่งยากลำบากมากไป มันก็ไม่ได้ ดูที่เหตุผลลักษณะที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง มันดับทุกข์ได้ มันจะฟ้องตัวมันเองว่าดับทุกข์ได้ ก็เอากับมัน ถ้ามันตรงกันข้าม ก็อย่าเอากับมัน
มันแปลกดีไหม กาลามสูตรว่าอย่าเชื่อโดย 10 อย่าง แต่กูก็ไม่เชื่อกาลามสูตร อย่างนี้ดีไหม กูไม่เชื่อกาลามสูตร ไปคิดดูตามเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง แล้วก็เชื่อนั้น อย่าไปเชื่อกาลามสูตร ถ้าไปเชื่อกาลามสูตรก็ผิดข้อ 4 คือมีที่อ้างในปิฎก หรือผิดข้อ 9 ที่ว่า สมณะผู้พูดนี้เป็นครูของเรา อย่าเชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวกาลามสูตรนั้นน่ะ คือ การใช้กาลามสูตรถูกต้องและเป็นประโยชน์ ต้องตอบเขาอย่างนี้ว่า ฉันก็ไมได้เชื่ออะไร กาลามสูตรฉันก็ไม่ได้เชื่อ แต่ว่ากาลามสูตรสอนให้ฉันหาเหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ให้หาเหตุผลที่แสดงอยู่ตัวมันเอง ฉันก็พบเอง มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวาง รู้ไว้ก็ดี ในฐานะที่มันเป็นสูตรที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แต่กลับถูกคนเข้าใจผิดว่า อย่าเอามาสอนๆ อย่าเอามาสอน จะทำให้เด็กดื้อไปหมด ให้คนไม่เชื่ออะไรไปหมด เป็นวิชาไม่ดีไปหมด ก็มีแบบนี้
เมื่อหลายสิบปีมาแล้วกรมพระยาวชริรญาณ ท่านตั้งคณะมหามกุฏราชวิทยาลัย ออกหนังสือธรรมะสมบัติ นั่นแหละเริ่มเอามาพูด พูดนิดๆหน่อยๆ ไม่ได้จริงจังอะไร และเมื่อท่านแต่งหลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก ท่านก็ไม่ได้เอามาใส่ หลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก ไม่มีกาลามสูตร มาถึงสมัยนี้ ลูกศิษย์ของท่านก็ว่า นี่อย่าเอามาสอน จะทำให้เด็กดื้อหมด ไม่เชื่อใครหมด ไม่ให้เชื่ออะไรเสียโดยประการทั้งปวง แล้วมันจะอยู่ได้อย่างไร เพียงแต่ไม่เชื่อตามวิธี 10 อย่างนั้น แล้วก็อาศัยวิธี 10 อย่างนั้น มาค้นหาเหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ไปเชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง แล้วก็ไม่ต้องเชื่อใคร แล้วก็ไม่ต้องเชื่อตาม 10 อย่างนั้น สำคัญมาก จำเป็นมาก จำเป็นที่สุด แต่ก็ไม่มีใครสนใจ หรือเอามาใช้ ถ้ารู้จักใช้กาลามสูตรกันมาแต่แรกๆ เนิ่นๆ โน้น เราก็คงจะดีกว่านี้
เรื่องที่สองก็คือ เรื่องนิพพาน เรื่องนี้มันมีปัญหา มองเห็นไหมว่ามีปัญหาอย่างไร ปัญหามากมาย สิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน แต่ผู้มีปัญญา มีอำนาจวาสนาในเมืองไทย ยังรังเกียจนิพพาน เกลียดนิพพาน ห้ามไม่ให้เอามาสอน จะทำให้คนเฉื่อยชา ไม่ก้าวหน้า นี่เพราะเข้าใจนิพพานผิด เพราะมันเกิดเข้าใจผิดกันมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ว่านิพพานจะได้ต่อตายแล้ว ข้อแรกนี่มันคือผิดมาก ก็คือ นิพพานจะพบกันต่อตายแล้ว แล้วก็ต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติถึงจะพบกับนิพพาน แล้วจะมีประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้ก็เป็นหมันไปหมด ก็ต้องต่อตายแล้วอีกหมื่นชาติแสนชาติ นี่เราก็เล่าให้ฟังถึงประวัติของคำๆ นี้
คำๆ นี้มีประวัติเป็นมาอย่างไร ในทีแรกมนุษย์มีคำว่า นิพพานะ นิพานะใช้อยู่ตามบ้านเรือน อยู่ทั่วไปตามบ้านเรือน ในคนทั่วไป ว่ามันมีความหมายถึงว่า ดับแห่งความร้อน ก็คือ เย็น แล้วเมื่อเย็น เย็น ชาวบ้านก็พูดว่า นิพพาน เย็น เย็น หมายความว่า ตอนนี้ยังไม่มีพุทธศาสนาหรือศาสนาไหน ชาวบ้านก็มีคำว่านิพพาน นิพพานพูดอยู่แล้ว ในที่ทั่วไปตามบ้านเรือน หมายถึงว่า มันเย็น มันไม่มีความร้อน มันจึงมีปรากฎอยู่ในบาลี หรือไม่ในอรรถกถา ที่บ้านเรือน ในครอบในครัว ก็พูดคำนี้ ว่า นิพพานแล้วมากินได้ ข้าวต้มนิพพานแล้วมากินได้ ถ่านไฟนิพพานแล้ว อย่างนี้เป็นต้น
ก็คือว่า เย็น คือ ปราศจากความร้อน ถ้าทำให้ของที่ร้อนๆ อยู่ให้มันเย็นลงๆ ก็เรียกว่า ทำให้มันนิพพาน ความร้อนมันคือ ปัญหา คือ อันตราย แล้วก็ทำให้มันไม่ร้อน ให้มันเย็น ก็เรียกว่า นิพพาน ในบาลีมีข้อความที่พูดถึงคำๆ นี้ว่า ช่างทองหลอมทองในเบ้าร้อนมันละลาย ทีนี้เขาก็ทำให้มันเย็นลงเพื่อจะจัดสวยได้ แล้วไปทำต่อไป ทำให้ทองที่ร้อนอยู่เย็นโดยเอาน้ำรด ก็เรียกว่า นิพพาปะยะ คือ ทำให้มันนิพพาน
การทำสิ่งที่ร้อนให้เย็นลง ก็คือ ทำให้มันนิพพาน ความร้อนนี่ยังหมายไปถึง ความดุร้าย หรือ อันตราย การทำสิ่งที่มีอันตรายให้หมดอันตราย ก็เรียกว่า ทำให้มันนิพพานได้เหมือนกัน ฝึกสัตว์ที่ดุร้ายเป็นอันตราย ให้หมดอันตราย สัตว์ป่าอันตราย เป็นช้าง เป็นควาย เป็นลิง เป็นค่างอะไร เอามาฝึกจนมันหมดอันตราย ก็เรียกว่า ไอ้สัตว์ตัวนี้ก็นิพพานแล้ว อย่างนี้ก็มี ก็หมดความร้อนที่เป็นอันตราย ก็ใช้กันมาอย่างนี้
ก็แปลว่า ทุกคน ประชาชน สัตว์ มนุษย์ทุกคน มีความรู้เป็นเดิมพันอยู่ก่อนแล้วว่าเย็น เย็น คือ พึงประสงค์ ที่ต้องพึงประสงค์ ก็คือ เย็น ทีนี้ความรู้ของมนุษย์มันสูงขึ้นมา มันไม่หยุดที่เดียวนี่ มันมีปัญหาไปถึงด้านจิตใจ มันไม่ได้หยุดอยู่แค่ด้านวัตถุ ทีนี้มันสูงถึงด้านจิตใจ ว่าจิตใจร้อนจะทำให้เย็นได้อย่างไร ก็ยืมเอาคำว่านิพพาน นิพพาน ในด้านวัตถุไปใช้ในด้านจิตใจ ทำให้จิตใจเย็นได้อย่างไร ก็เรียกว่า ทำให้มันนิพพาน ที่ไม่มีความรู้เรื่องกิเลส ไม่มีความรู้เรื่องอะไรหมด ก็เหมาเอาว่า การได้ตามต้องการทำให้เย็นเป็นนิพพาน ก็คือ ทำให้มันได้ตามต้องการเป็นนิพพาน ก็มีความคิดอุตริแหวกแนวไปถึงว่า ได้กามารมณ์สมตามความประสงค์ก็เรียกว่า นิพพาน ดังนั้นยุคหนึ่งสมัยหนึ่งในที่แห่งหนึ่ง ในประเทศอินเดียเนี่ย ก็เอาการได้กามารมณ์ตามประสงค์ว่าเป็นนิพพาน ข้อนี้ก็มีเหลือเป็นซากอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ ลัทธิที่ถือเอากามารมณ์เป็นความดับทุกข์ ก็ยังเหลือเป็นซากอยู่ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มันจึงมีอยู่ในบาลีพรหมจารสูตรในตัวพระไตรปิฎกเอง ว่าพวกหนึ่งเอากามารมณ์เป็นนิพพาน
ต่อมาอีกๆ มันฉลาดขึ้น ความรู้มันสูงขึ้น มันก็รู้ ไม่ได้ๆ ไม่ใช่แล้วๆ เอาความสงบแห่งจิตใจเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นยุคนี้เอาสมาธิเป็นนิพพาน เอาฌาณ เอาสมาบัติเป็นนิพพาน เอาความสงบแห่งจิตใจเป็นนิพพาน แต่ยังไม่หมดกิเลส มันยังพอใจในสิ่งที่ให้ความพอใจ จนกว่าจะมาถึงยุคพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าตรัสออกมาว่า หมดกิเลส นั่นแหละเป็นนิพพาน เหนือกามคุณ เหนือฌาณสมาบัติ สมาธิใดๆ ขึ้นไปจนหมดกิเลส นั่นคือ นิพพาน ทุกขั้นตอน หมายถึง ความเย็น เย็นที่สูงขึ้นไปๆ สูงขึ้นไป
นี่เรื่องของนิพพานเป็นอย่างนี้ แต่มันมีคำสอนในภาษาคน หรืออะไรบ้าๆ บอๆ เต็มบ้านเต็มเมือง อยู่ที่ไหนๆ ตายแล้วไปเกิดที่นั่น ตายแล้วไปเกิดที่นั่น คือ ในเมืองนิพพาน อย่างนี้ก็มี เขาไม่ได้หมายความว่าเย็น อยู่ที่นี่ที่ตรงนี้เป็นนิพพานที่ตรงนี้ เขาหมายถึง การไปเกิดที่เมืองโลกอุดร เมืองพระนิพพาน เมืองอะไรก็ไม่รู้ เป็นนิพพานนี่ไม่ใช่พุทธศาสนา มันไปปนเปยุ่งกับลัทธิอื่น ลัทธิอื่นที่สอนอย่างอื่น จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า นิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง ไปถึงก็ตายแล้ว รอกันอีกหลายหมื่นชาติ
สรุปคำว่า นิพพาน นี่มันเย็น ตั้งแต่เย็นของวัตถุ เย็นทางวัตถุ แล้วก็เย็นด้วยการได้ตามต้องการ เช่น กามารมณ์ เป็นต้น แล้วก็เย็นด้วยจิตสงบ คือ สมาธิ ฌาณสมาบัติอะไรต่างๆ แต่พระพุทธเจ้ามาสรุปท้ายว่า ต้องสิ้นกิเลสจึงจะเป็นการเย็นที่แท้จริง นั้นลำพังสมาธิแม้ชั้นอรูปฌาณอันสูงสุด มันก็ยังมีตัวตนสำหรับไปยึดถือ ยึดถือกูมีสมาบัติมีเย็น อย่างนี้มันก็ยังร้อนอยู่ จึงตรัสว่า สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นั่นคือนิพพาน ก็ดูเองซิ มันเป็นสายยาวเฟื้อยสูงขึ้นๆ สูงขึ้นไปๆ เย็นเพราะหมดไฟอันแท้จริง คือ นิพพาน ไฟแท้จริงไม่ใช่ไฟในเตา ไฟ คือ กิเลส ไฟ คือ ราคะ ไฟ คือ โทสะ ไฟ คือ โมหะ พระสูตร พระพุทธภาษิตนี้ไม่เคยเอามาพูดกัน มันมีชัดเจนเลย ราคะ คโย โทสะ คโย โมหะ คโย นิพพานัง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี่คือ นิพพาน มีคนเขียนค้านในทำนอง เขียนด่าอาตมาในหนังสือสมาธิรายเดือน ที่พูดออกมาสอนเอาเองว่า นิพพานแปลว่า เย็น เขาก็มีการสนับสนุนไปตามเรื่อง คัดค้านนิพพานแปลว่า เย็น บางคนเขียนไปรษณียบัตรมาด่าถึงที่นี่ก็มี เที่ยวมาสอนว่า นิพพานแปลว่า เย็น รู้กันหน่อย
นิพ วา นะ ก็แปลว่า มันไปไม่เหลือ ออกไปไม่เหลือ ไม่มีเหลือ วา-นะ แปลว่า ไปๆ ก็ได้ ไปจนไม่มีเหลือเลย ตัวหนังสือมันคืออย่างนี้ ไปแห่งอะไร ไปแห่งความร้อน ความทุกข์ หรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไปๆ ออกไปจนไม่มีเหลือ นั่นแหละคือ นิพพาน งั้นเรารวมความหมายทั้งหมดมาเป็นคำพูดสั้นๆ ให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่าเย็น เย็นเพราะไม่ร้อน เย็นเพราะหมดร้อน เพราะไม่มีร้อน คือ ไม่มีความทุกข์นั่นแหละ เย็นชนิดไม่มีความทุกข์นั่นแหละ คือ นิพพาน แต่คำพูดมันเป็นภาษา ทำให้เกิดปัญหาเสมอ ภาษาเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเสมอ เพราะว่าถ้าเย็นจนตายล่ะว่ายังไง นั่นมันหนาวต่างหากล่ะ มันไม่หนาว มันไม่ร้อน และมันเย็นในระดับหนึ่งที่สบายที่สุด คือ นิพพาน แต่อย่าไปเอาความหมายแบบนั้น เอาความหมายลดลงแห่งความร้อน ลดลงแห่งความร้อน น้อยลง ลดลงแห่งความร้อน นั่นคือ นิพพาน จนกว่าจะถึงที่สุดๆ ที่สุด คือ นิพพานที่สมบูรณ์
มันก็น่าเศร้าที่ว่าในโรงเรียนเมื่ออาตมาเรียน หรือเดี๋ยวนี้ก็ได้ยินว่ายังสอนอยู่อย่างนั้นว่า นิพพาน คือ การตายของพระอรหันต์ ก็เรียนราชาศัพท์กันตอนนั้นน่ะ ตายของสัตว์เดรัจฉานเรียกอย่างนั้น ตายของพระเรียกอย่างนั้น ตายของพระเจ้าแผ่นดินเรียกอย่างนั้น ตายของคุณนายชั้นสูงเรียกอย่างนั้น เรียกคำว่า ตาย แล้วก็เอานิพพานเป็นการตายของพระอรหันต์ เด็กๆ มันก็รับไว้อย่างนั้น มันก็ตั้งต้นผิด ตั้งต้นเข้าใจนิพพานผิด ในเมื่อมารู้ว่า โอ้นิพพานมันไม่ตาย นิพพานไม่ใช่ความตาย และพระอรหันต์แท้ๆ ก็ไม่ตาย ที่มันจะตายได้ ก็คือ เปลือกหรือร่างกายของพระอรหันต์ เพราะคำว่า นิพพาน มันแปลว่า ลดลงแห่งความร้อนจนหมดสิ้น ไม่ใช่ตาย ไม่ใช่ความตาย ไม่ต้องตายอยู่ที่นี่ ไฟลดไปตามลำดับ ทุกไฟๆ ทุกไฟ จนถึงไฟสุดท้าย คือ กิเลส นั่นนิพพาน
พูดกับพวกฝรั่ง ใคร่ครวญดูแล้ว พูดกับพวกฝรั่งใช้คำว่า quenching ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด quench หมายความว่า ลดลงแห่งความทุกข์ ลดลงแห่งความร้อน ลดลงแห่งปัญหา มัน quench คือ มันเย็นลงๆ นิพพาน คือ quenching ของความร้อนก็ได้ ของความทุกข์ก็ได้ ของปัญหาก็ได้ ของอะไรก็ได้ จนไม่มีเหลือเลย นั่นคือ นิพพาน อย่าไปแปลว่าตาย อย่าไปแปลว่าไม่มีอะไร หมดแล้วๆ นั่นมันอีกความหมายหนึ่ง
นิพพาน กับคำว่า ว่าง มันแทนกันได้ เป็นไวพจน์ของกันและกันได้ หมายถึง ว่างจากสิ่งไม่พึงปรารถนา หมดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ก็คือ ว่าง นิพพาน คือ ว่าง คือ สุญญตา นี่เขาต้องการจะให้ทราบไว้ว่า นิพพาน ที่แปลว่าเย็น อธิบายอย่างนี้ บางทีจะได้อธิบายไว้บ้างแล้วในอรรถานุกรม คำว่า เย็น ของนิพพาน ถ้ามันถูกถามถูกซัก ก็ให้พูดกันเสียใหม่ ให้เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร ถึงเย็นอะไร เย็นที่ไม่คู่กับร้อน เย็นที่ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน คือ ไม่หนาว ไม่ร้อน แล้วก็เมื่อไรไฟดับ เมื่อนั้นก็มีนิพพาน เวลาที่เราไม่มีไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นเราอยู่กับพระนิพพานในระดับใดระดับหนึ่งที่นี่และเดี๋ยวนี้
นิพพานระดับใดระดับหนึ่งที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่างนี้ไม่ใช่นิพพานสมบูรณ์ คือที่สุด มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นิพพุติ นิพพุติ นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วคราว นิพพานมีที่นี่และเดี๋ยวนี้ มีได้แม้โดยบังเอิญ ไม่ได้ปฏิบัติอะไร โดยบังเอิญก็มี ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า นิพพุติ คนๆ นั้นมันเย็นแล้ว เป็นผู้ชาย เรียกว่า นิพพุโต เป็นผู้หญิง เรียกว่า นิพพุตา ถ้าเป็นตัวความเย็น เรียกว่า นิพพุติ
จำไว้ซัก 3 คำ นิพพุติ คือ ตัวความเย็น นิพพุโต เป็นผู้ชาย นิพพุตา เป็นผู้หญิง คงจะเข้าใจกันดี และรู้จักกันดีในยุคพุทธกาล เพราะมันพูดกันมาก พูดกันมาก พูดกันเป็นทำนองพูดที่ชาวบ้านๆ ก็มี ในอรรถกถาก็มีเรื่องว่า มีประกวดผู้หญิง เจ้าหญิงทั้งหลายให้พระสิทธัตถะเลือก พอเจ้าชายสิทธัตถะผ่านมา เจ้าหญิงคนหนึ่ง องค์หนึ่งที่มันมีความรู้เรื่องนี้ ก็ร้องตะโกนขึ้นว่า นิพพุตา นูนะ สามาตา นิพพุโต นูนะ โสปีตา นิพพุตา นูนะ สาภรรยา (1:14:28) ยาวไปอย่างนี้ บุรุษนี้เป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็นิพพุตา เป็นลูกของใคร พ่อของเขาก็เป็น นิพพุโต เป็นภัสดาของหญิงใด หญิงนั้นก็ นิพพุตา อย่างนี้ ใช้คำอย่างนี้ ไม่ใช่คำพิเศษ ใช้ที่วัดที่ศาสนา ใช้กลางบ้าน ในอย่างพูดกันอย่างธรรมดา นั้นหมายถึง เย็นอกเย็นใจๆ อย่างที่ชาวบ้านจะเย็นได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่คือคำว่า นิพพุติ
จะเรียกว่า นิพพาน ก็ได้ จะต้องว่า นิพพานน้อยๆ นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วขณะ นิพพานโดยบังเอิญ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นก็เป็นนิพพานอยู่ตลอดเวลา บางเวลา หรือโดยมากเราก็ไม่ได้มีกิเลส เพราะฉะนั้นเราอยู่กับนิพพานชนิดนี้เป็นส่วนมาก กิเลสมาเยี่ยมเป็นคราวๆ ถ้ากิเลสยังไม่มาเยี่ยมก็อยู่กับนิพพุติ นิพพุตินี่ เราจึงไม่เป็นบ้า เราจึงไม่ตาย เพราะมีนิพพุติหล่อเลี้ยงไว้ รักษาไว้ ควรจะขอบใจๆ นิพพุติ ถ้าจิตใจเยือกเย็น สงบเย็น มันจะต้องมีความสุข ทำการทำงานได้ดีกว่า แม้จะทำไร่ทำนา ถ้าจิตใจมันเยือกเย็นก็จะทำงานได้ดี แต่ผู้มีปัญญา ผู้นำบางหมู่บางคณะในเมืองไทย ประเทศไทยนี่ รังเกียจนิพพานไม่เอามาใช้ ไม่เอามาสอนก็มีอยู่เหมือนกัน นี่เรียกว่าเป็นเรื่องของ นิพพาน มันมีหลายชั้นอย่างที่ว่ามาแล้ว ตั้งต้นตั้งแต่ว่าถ่านไฟก็นิพพานได้ ข้าวต้ม ข้าว อาหาร ก็นิพพานได้ เป็นโลหะก็นิพพานได้ สัตว์เดรัจฉานก็นิพพานได้ จนกระทั่งว่า มีกามารมณ์ มีสิ่งที่ให้สมใจอยาก ได้ตามใจอยากก็เป็นนิพพาน จนกระทั่งว่าต้องมีฌาณ ต้องมีสมาธิ จึงจะเป็นนิพพาน
พระพุทธเจ้าสรุปรวบยอดว่า สิ้นไฟ ดับไฟหมด คือ นิพพาน ไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อใดไฟนี้ไม่เกิดเวลานั้น เราอยู่กับนิพพานชั่วคราว ชนิดชั่วคราว ชนิดที่มีโดยบังเอิญก็ได้ เพราะว่ากิเลสไม่ได้เกิดโดยบังเอิญก็มี เมื่อได้รับอารมณ์ทางกายานะ มันโง่ไป กิเลสมันจึงจะเกิด เพราะฉะนั้นกิเลสไม่ได้เกิดตลอดเวลา อย่าพูดนะว่าพวกไหน เดี๋ยวคุณจะเอาเทปนี่ไปเปิดให้เขาฟัง เขาจะด่าอาตมา ในเมืองไทยนี่ มันยังมีคนที่ว่ากิเลสเกิดตลอดเวลา กิเลสเกิดอยู่ในจิตตลอดเวลา
กิเลส ไฟ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดเมื่อมีเหตุ เมื่อมีปัจจัย มันจึงเกิด แล้วมันก็จะดับไป เมื่อหมดเหตุ หมดปัจจัย มันไม่ได้อยู่ตลอดวันตลอดคืน ระยะเวลาที่มันไม่เกิด โดยบังเอิญก็ดี หรือโดยเราทำสมาธิก็ดี ก็เรียกว่า นิพพานชั่วคราว นิพพานเป็นเองโดยบังเอิญก็มี นิพพานโดยเราบังคับจิตก็มี แล้วก็นิพพานเพราะสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงก็มี
ไอ้ 3 คำนี้มีสอนอยู่ในหลักสูตรนักธรรม
ตทังควิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราวเป็นเอง ก็คือ นิพพานชนิดเป็นเอง
วิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นเพราะการบังคับไว้ อย่างเช่น ทำสมาธิ เช่น ทำอะไรเสีย ก็บังคับไว้
แล้วก็ สมุจเฉทวิมุตติ วิมุตติเพราะสิ้นกิเลสเด็ดขาด
เมื่อมันไม่เกิด มันไม่เกิด มันก็เป็น ตทังควิมุตติ หรือ ตทังคนิพพาน วันหนึ่งก็มีพอสมควรเหมือนกัน แต่จะต้องพูดว่า บางทีหมาหรือแมวมีมากกว่าคน ความเป็นโดยบังเอิญ โดยธรรมชาติ เพราะว่าสัตว์มีเรื่องยุยวนกิเลสน้อย คนมีเรื่องยวนยุกิเลสมาก เพราะฉะนั้น สัตว์มีนิพพานชนิดนี้มากกว่าคนก็ได้ งั้นบางเวลาเราข่มจิต ระวังสังวรณ์โดยสติไว้ โดยทำสมาธิไว้ มันก็ยังพอมีนิพพานชนิดนี้ แต่ถ้าสิ้นราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง ก็มีนิพพานนี้โดยสมบูรณ์
นิพพานมีให้เลือกได้ 3 ระดับ หรือ 3 ขั้นตอน แล้วก็ต้องเข้าใจเดี๋ยวนี้ คือ นิพพานตามหลักพระพุทธศาสนา นิพพานตามหลักลัทธิอื่นศาสนาอื่น แม้ในอินเดียก็ยังมีอีก มีอย่างอื่น เป็นอย่างอื่น เช่น เราจะมีบางพวกว่า นิพพาน คือ ตายไม่มาเกิดอีกก็มี ไม่ใช่พุทธศาสนา และนิพพานชนิดนั้นอาจจะมาสอนที่นี่ สอนในเมืองสุวรรณภูมินี้ก่อนพุทธศาสนา เรื่องนั้นมันยังเหลืออยู่ที่คนไทยสอนๆ สืบกันมา นิพพาน คือ ตายแล้วไม่มาเกิดอีก คือว่าตายของพระอรหันต์ก็เป็นอย่างนี้ เพราะมันสับสนกันมากในทางภาษา ลัทธิ ศาสนา มันก็มากมายหลายลัทธิ มันปนกันยุ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องจำกัดความชัดๆ ลงไปว่า นิพพานแท้ตามหลักพระพุทธศานา คือ เย็นลงแห่งไฟ เย็นลงแห่งไฟทุกชนิดๆ สูงขึ้นไปๆ จนถึงไฟ คือ กิเลส สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง ไม่กลับเกิดอีก นั้นนะ นิพพานสมบูรณ์ ถ้ามันระงับไปชั่วคราว ก็เป็นนิพพานชั่วคราว
มันก็มีคนเป็นอันมากที่พอเขาได้ยินอย่างนี้ เขาไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมฟัง แล้วหาว่าหลอกคน แล้วหาว่าพูดเอาเอง ก็รู้ไว้ก็แล้วกัน เขาจึงค้านเสียงแข็ง นิพพานมีไม่ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วพอมันเป็นเองเสียด้วย มีเองเสียด้วย ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นความประจวบเหมาะที่กิเลสมันไม่เกิด มันมีนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ งั้นคุณไม่เชื่อ คุณไม่ยอมรับ ก็ตามใจคุณซิ เราไม่บังคับคุณ เราไม่เถียงกับคุณ เราไม่ว่าคุณผิดฉันถูก แค่บอกให้รู้ว่า อย่างนี้มันมีได้ อย่างนี้มันมีได้ แล้วมันก็ดีกว่าไม่มี ถ้าไม่มีนิพพานที่หยุดกิเลสซะบ้างเลย มันเป็นบ้าหมดล่ะ คนจะเป็นบ้า จะเครียดๆ แล้วก็เป็นบ้าๆ และจะต้องตายเสียด้วย ถ้าไม่มีนิพพานชนิดนี้หล่อเลี้ยงอยู่ นี่ใจความของนิพพานสั้นๆ
โดยสรุปสั้นๆ มันมีอย่างนี้ มันแปลว่า เย็น แปลว่า เย็น มันมีได้โดยบังเอิญก็ได้ โดยการกระทำก็ได้ โดยหมดกิเลสก็ได้ ที่ไหนไม่มีกิเลสที่นั่นมีนิพพาน เมื่อไรไม่มีกิเลสเมื่อนั้นมีนิพพาน จึงใช้คำว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้ามีการปฏิบัติธรรมะถูกต้องดี ก็สามารถจะให้มีนิพพานขึ้นมาได้ตามต้องการ แม้จะชั่วคราว แม้จะชั่วการบังคับ ก็ยังดีกว่าไม่มี ถ้าทำอานาปานสติสำเร็จก็จะต้องเรียกร้องนิพพานมาได้ตามต้องการ แต่ว่าไม่ใช่นิพพานที่ถาวร แต่มันก็ได้ตามที่เราต้องการ ขณะหนึ่งๆ ขณะหนึ่ง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้พวกอื่นเขาไม่ยอมรับ เขาต้องตายแล้ว และหมื่นชาติแสนชาติมันจึงจะมาถึง พอพูดอย่างนี้เขาก็ว่าหลอกคนๆ หลอกลวงคน โฆษณานิพพาน หลอกลวงคน
นั้นคำอธิบายนิพพานบางอย่างที่พูดไปแล้วในอรรถานุกรมนั้น ก็ต้องอธิบายให้ถูกต้อง ถ้ามีใครมาถามหรือมาค้าน ก็ต้องตอบให้มันถูกต้อง และก็เผยแผ่ต่อไปๆ ให้ธรรมะมันมีประโยชน์ ไม่อย่างนั้นพระธรรมไม่มีประโยชน์ ก็ต้องมาใช้กันได้อย่าง สันทิฏฐิโก อกาลิโก ธรรมคุณใช้กับพระนิพพานก็ได้ พระนิพพานจะเป็น สันทิฏฐิกัง อกาลิกัง เอหิปัสสิกัง อะไรก็ตาม ใช้ตามรูปศัพท์ที่มันเป็น นิพพานไม่จำกัดเวลา ไม่เกิดกิเลสเมื่อใด ก็เป็นเมื่อนั้น มันเป็นอกาลิกัง นิพพานเป็น สันทิฏฐิกัง รู้เฉพาะตน รู้ด้วยเองที่นี่ในจิตใจ ก็เป็น สันทิฏฐิกัง
ทั้ง 6 บท ของพระธรรม มาใช้กับพระนิพพานได้ เรียกว่า สวาขาตัง ภควตา นิพพานัง นี่ สวาขาตัง(1:26:30) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิกัง เห็นได้ด้วยเอง อกาลิกัง ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิกัง เรียกมาดูได้ โอปนายิกัง ควรน้อมให้มีในตน ปัจจัตตัง วิญญูหิต เวทิตัพพัง วิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตน
ในฐานะที่นิพพานเป็นพระธรรม เป็นตัวพระธรรม มาใช้คุณบทของพระธรรมคุณได้ ถ้ารู้เรื่องอย่างนี้ รู้ความจริงข้อนี้ให้มากพอสมควร ก็เรียกว่า มันอยู่ใกล้พระนิพพาน หรืออยู่ใกล้ประตูพระนิพพาน ขอให้รู้ธรรมะเหล่านี้ไว้ จะอยู่ใกล้พระนิพพาน จะอยู่ใกล้ประตูของพระนิพพาน นิพพานะ เต วสันติเต (1:27:47) อยู่ใกล้พระนิพพาน นี่เรื่องนิพพาน
เรื่องที่หนึ่ง กาลามสูตร เหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวมันเอง เหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวมันเองวิเศษสำคัญที่สุด เชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวมันเอง ก็ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อครูบาอาจารย์ ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก ไม่ต้องเชื่ออย่างที่เขาพูดๆ กันมา เสียงเล่าลือกันมาหมด ทีนี้ก็นิพพานก็มีหลายชั้นอยู่ในวิสัยที่จะเรียกมาได้โดยการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ว่าชั่วขณะ
ทีนี้เรื่องต่อไปก็อยากจะพูดเรื่อง ชาติ ชา-ติ ชาติ เรื่องนี้ก็ทำยุ่งที่สุด เพราะมันหลายความหมายและมันซับซ้อน ที่ใช้อยู่เดิมในหมู่มนุษย์ที่ยังไม่รู้ธรรมะ ก็หมายถึง การเกิดจากท้องแม่ เกิดจากท้องแม่คือธรรมชาติ ในหมู่มนุษย์ที่ยังไม่รู้เรื่องธรรมะ ยังไม่รู้เรื่องจิตใจ
พอมาถึงยุคที่รู้ธรรมะ คือ พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นแล้ว มันก็มีความหมายในทางภาษาธรรมเกิดขึ้นมา ภาษาคนเกิดมาจากท้องแม่ ภาษาธรรมเกิดมาจากตัณหาอุปาทาน เมื่อใดมีตัณหาอุปาทานมันก็มีชาติ ที่เป็นการเกิดทางจิตใจ ชาติที่เกิดจากท้องแม่นั้นเป็นภาษาคน รู้จักกันมาแต่เดิม ต่อมารู้สูงขึ้นมา โอ้ยังมีชาติโดยทางจิตใจอีกชนิดหนึ่ง ก็เกิดจากตัณหาอุปาทาน หรืออวิชชาก็ได้ แล้วแต่จะระบุ เมื่อใดมีอวิชชา ตัณหาอุปาทาน เมื่อนั้นก็มีชาติ ว่าตัวกูอย่างนั้น ตัวกูอย่างนี้เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ชาติโดยทางจิตใจ มาจากตัณหาอุปาทาน ชาติโดยทางวัตถุเกิดจากท้องแม่
แล้วก็มันต่างกันตรงที่ว่า เกิดจากท้องแม่มันมีคราวเดียว คราวเดียวอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะเข้าโลง ส่วนชาติทางจิตใจโดยตัณหาอุปาทานนั้น วันหนึ่งเท่านั้นแหละ มีไม่รู้กี่ชาติ ไม่รู้กี่สิบชาติ ไม่รู้กี่ร้อยชาติ คิดว่าตัวกูมีอย่างไร ตัวกูเป็นอย่างไร ตัวกูครั้งหนึ่งก็ชาติหนึ่ง เดี๋ยวดับไปก็เกิดตัวกูอีก ดับไปเกิดตัวกูอีก เกิดตัวกูกี่ครั้ง ก็มีชาติทางจิตใจเท่านั้นครั้ง คนที่ฟุ้งซ่านมาก หรือกิเลสตัณหาแก่กล้าก็ขยันเกิดได้มาก หลายร้อยครั้งหรือพันครั้ง ในวันเดียวนะ นี่กว่าจะตายก็มีชาติทางจิตใจเป็นหมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้งก็ไม่รู้
นี่เราไม่ต้องเถียงกันเรื่องชาติ ถ้าแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย ที่เกิดทางฝ่ายวัตถุหรือร่างกาย อันหนึ่งเกิดทางฝ่ายวัตถุ หรือ จิตใจ เกิดจากท้องแม่ยังไม่เป็นการเกิดที่สมบูรณ์ เพราะมันไม่มีปัญหานี่ เกิดจากท้องแม่ยังไม่มีปัญหาอะไร การเกิดนั้นยังไม่สมบูรณ์ จนฝ่ายทารกนั้นจะมีกิเลสตัณหาขึ้นในจิตใจ เกิดตัวกู ตัวกู มาตามลำดับ นี่เรียกว่า เกิดสมบูรณ์ มีการเกิดทางจิตใจ เพราะฉะนั้นการเกิดทางกายก็สมบูรณ์ขึ้นมา งั้นเพียงแต่เกิดจากท้องแม่ การเกิดยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเกิดทางกิเลส ทางจิตใจเนี่ย ก็เรียกว่า ชาติที่สมบูรณ์และเป็นปัญหา แล้วก็มีการเกิดอีกหลายอย่าง อีกบางอย่างก็ไม่เรียกว่า ชาติ แต่มีความหมายว่าเกิดเหมือนกัน เช่นว่า เหตุการณ์มันเกิดความเลวร้าย มันเกิด สถานการณ์มันเกิด อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิด แต่บาลีเขาไม่เรียกว่า ชาติ เขาเรียกว่า อุปัติ (อุ-ปัต-ติ) คือ อุบัติ อุปัตตินั้นก็เรียกว่าเกิด ก็แปลว่า เกิด ในความหมายอื่น
พระสิทธัตถะเกิดจากท้องแม่ ก็เรียกว่า ชาติ เกิดอย่างธรรมดา เกิดจากท้องแม่ พอพระสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นี้เรียกว่า เกิดใน อุปัตติ ไม่ได้ใช้คำว่า ชาติ ใช้คำว่า อุปัตติ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ใช้คำว่า อุปันโน นี่ก็คือ ความเกิดเหมือนกัน ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับท้องแม่ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับตัณหาอุปาทานอะไร มันเป็นอุปัตติ ตามกฎอิทัปปัจยตา อย่างอื่น ชุดอื่น ไม่ใช่ชุดเดียวกับที่เกิดทุกข์
ถ้าจะพูดว่าพระพุทธเจ้าเกิด พูดให้ถูกใช้คำว่า อุปัตติ ไม่ใช้คำว่า ชาติ ทีนี้ในเมืองไทยเรามันพูดกันแต่เรื่องชาติทางวัตถุ ชาติจากท้องแม่ แม้แต่พวกอภิธรรมเขาก็ไม่เคยสนใจ เรื่องชาติที่เกิดทางจิตใจ ตัณหาอุปาทาน นอกจากน้อมไปเกิดจากท้องแม่กันเสียหมด เพราะฉะนั้นมันก็แคบ ทีนี้พวกอธิบาย ปฏิจสมุทบาท บางพวก บางกลุ่ม บางคณะ เขาจะไม่สนใจคำว่า ชาติ จากตัณหาอุปาทาน เอาเป็นชาติจากท้องแม่ ชาติที่พูดถึงตอนสุดท้ายของปฏิจสมุทบาทก็วกไปหาเกิดจากท้องแม่อีก ว่าเกิดจากท้องแม่นี่เป็นทุกข์ เกิด ตาย เจ็บ ตาย ตามธรรมดานี่เป็นทุกข์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องทางจิตใจ มันก็เลยเถียงกันขึ้น คำว่า ชาติ ชาติ
แต่ถ้าเราจัดให้มันเป็น 2 ชนิด คือ เกิดทางร่างกาย ทางวัตถุอย่างหนึ่ง เกิดทางจิตใจด้วยกิเลส ตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่ง แล้วก็ใช้มันถูกต้องตามเรื่องของมัน ก็ไม่มีปัญหาไม่ต้องเถียงกัน จะไม่ต้องเถียงกัน บวชเป็นพระนี่ก็ใช้คำว่า เกิด อีกแบบเหมือนกัน เมื่อพระสึกไปเป็นฆราวาสมันก็เกิดอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เกิดเป็นครูบาอาจารย์ เกิดเป็นนายทหาร เกิดเป็นอะไรมันก็เรียกว่า เกิด เหมือนกันแต่ความหมายอื่น มีความหมายในทางอุปัตติ เสียมากกว่า ใจความสำคัญมันมีอยู่ว่า ชาติชนิดไหนที่เป็นปัญหา ชาติชนิดไหนที่เป็นปัญหา ชาติที่เกิดจากท้องแม่มันไม่มีปัญหาอะไรนี่ มันไม่มีความทุกข์อะไรหนักหนา เสร็จไปแล้ว เรื่องมันเสร็จไปแล้ว หมดปัญหาไปแล้ว