แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กระผมขอแสดงความยินดีสูงสุด เมื่อได้ทราบถึงกิจการที่ได้กระทำไปแล้วอย่างไร ขออนุโมทนาในการจัดการกระทำครั้งนี้แด่ท่านคณะกรรมการด้วยเป็นอย่างยิ่ง สำหรับโอวาทแก่ท่านราชภัฎทั้งหลายนั้นก็จะขอกล่าวตามที่เห็นสมควร ก็ต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ได้มาฝึกอานาปานสติโดยเฉพาะนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผลควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โดยใจความสำคัญก็คือว่า เป็นปฏิบัติบูชาแด่สมเด็จพระบรมศาสดาตามพระพุทธประสงค์ พระองค์ทรงพระประสงค์ให้บูชาด้วยปฏิบัติบูชา โดยไม่คำนึงถึงอามิสบูชา จึงขอแสดงความยินดีเป็นพิเศษที่เราได้ทำการบูชา
บูชาในที่นี้มีความหมายเฉพาะ มีความหมายพิเศษ บูชาด้วยการปฏิบัติ เดิน ยืน นั่ง นอน แม้แต่ฉันอาหาร ก็กระทำให้เรียบร้อยงดงามเป็นการบูชา อยากจะระบุลงไปในที่สุดว่า แม้แต่จะนอน จะจำวัดก็ขอให้เป็นการบูชา ก็คือนอนลงไปด้วยท่าทางแห่งสีหไสยาอันสงบระงับ วางอวัยวะไว้เป็นอย่างดี เป็นการแสดงความเคารพบูชาแม้ด้วยอิริยาบถนอนนั่นเอง อย่าได้นอนตามสบายแกว่งเท้าแกว่งขา ยกแข้งยกขาคว่ำหน้าคว่ำหลัง มันไม่เป็นการบูชา มันไม่มีความอดกลั้นอดทน แต่ถ้าว่าได้ตั้งอกตั้งใจบูชาแม้ด้วยอิริยาบถนอนอย่างนี้ก็เป็นการบูชาที่สูงสุดด้วยเหมือนกัน ตลอดเวลาที่นอนหลับก็เป็นการบูชา ถ้านอนอย่างสีหไสยา ปฏิบัติเต็มที่ตามความหมายของการเจริญภาวนานี้ นี่แหละคือการบูชา เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงการที่ปฏิบัติอย่างอื่นๆ ทั่วไป ตลอดถึงทรงสืบพระศาสนา ทรงจำพระศาสนา เผยแผ่พระศาสนานั่นก็ยิ่งเป็นการบูชาสูงสุด เป็นอันว่าให้เป็นการบูชาโดยกาย วาจา ใจ ครบถ้วนทั้งสามทวารแด่สมเด็จพระบรมศาสดา นี้เป็นการบูชา ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหน้าที่ก็ได้ จะเรียกว่าเป็นวัตรทั่วๆ ไปก็ได้ แต่ขอให้มันมีเช่นนี้ แม้ว่าเลิกจากการปฏิบัติในสถานที่อันจำกัดอย่างนั้นแล้ว ก็ยังรักษาไว้ แม้เดี๋ยวนี้ ออกไปนี้ ต่อไปนี้ ก็อย่าทำอะไรชนิดที่กล่าวได้ว่าเป็นการบูชาแด่สมเด็จพระบรมศาสดาเสมอไป คือด้วยการสังวรระวังเป็นอย่างดี ให้มีความงดงามแห่งสมณะภาวะอยู่ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนทั้งหลับทั้งตื่น เพื่อจะเป็นการบูชาสูงสุด และความเจริญนั้นจะมีรอบด้าน มีแก่ตัวเอง มีแก่ประชาชนชาวโลก และเป็นการถวายแด่พระบรมศาสดาด้วยเป็นอย่างยิ่ง นี่กลายเป็นการบูชาที่ถูกต้อง ที่ดีที่งามยิ่งๆ ขึ้นไปจนตลอดชีวิต ดังนั้นจึงขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่ง
ทีนี้ก็อยากจะกล่าวถึงประโยชน์อานิสงส์ส่วนตัวที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับ ขอให้ทราบไว้ด้วยว่าการทำสติ ทำสตินั่นน่ะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จนถึงกับมีคำตรัสว่า สติ สัพพัตถ ปฏิญญา สติเป็นสิ่งที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง คำว่าในที่ทั้งปวงนั่นมันทั้งปวงจริงๆ จะเป็นการศึกษาเล่าเรียน จะเป็นการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการละก็ดี การปฏิบัติในลักษณะที่ทำให้เจริญมากมายยิ่งขึ้นก็ดี และทำความก้าวหน้าในญานทัสสนะต่างๆ สูงยิ่งขึ้นไปก็ดี ล้วนแต่ต้องอาศัยสติเป็นปัจจัยสำคัญ ขาดไม่ได้ แม้แต่ว่าจะอยู่ด้วยอิริยาบถทั้งสี่ เดิน ยืน นั่ง นอน ถ้าปราศจากสติมันก็ไม่เป็นอิริยาบถที่ถูกต้องหรือใช้ได้ จะรักษาศีลก็ต้องมีสติ ไม่มีสติก็ทำศีลขาดไปแล้วจึงค่อยรู้ตัว ยิ่งต้องมีสติ มีสติแม้แต่ว่าจะรักษาศีล แม้แต่ว่าจะทำสมาธิ แม้แต่ว่าจะทำวิปัสสนา มีสติ มีสติ ขอให้จำไว้ว่าเป็นคำสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คำว่าไม่ประมาทก็มารวมอยู่ที่คำว่าสติ และมนุษย์เราก็เลยได้รอดชีวิตมาด้วยการมีสติ รักษาความถูกต้องของการดำเนินชีวิตไว้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วก็เหลือที่จะกล่าวได้ มนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสติมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ว่าจะเป็นไปในภูมิต่ำ แต่แล้วมันก็ค่อยสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น จนมีความเจริญงอกงามก้าวหน้าเป็นมนุษย์อย่างในยุคปัจจุบัน ซึ่งเทียบกันไม่ได้ว่ามนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์นู้น, กับมนุษย์ยุคดึกดำ...ยุคสมัยนี้ ความเจริญทั้งหลายที่เป็น เป็นมาได้อย่างนี้ก็ด้วยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าสติ สติ คอยกำหนดกระทำให้ดี ดีมีผลถูกต้อง นี่ก็กำหนดจดจำไว้แล้ว ก็ทำให้มากยิ่งขึ้นด้วยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าสติ สติ
เนื่องจากว่าสิ่งที่สะดวกที่สุดในการทำสตินี้ก็คือลมหายใจ ดังนั้นจึงได้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องปฏิบัติฝึกฝนกำหนดสติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ก็รู้จักควบคุมลมหายใจให้ถูกต้องให้มีกำลัง เรื่อยๆ มา เรื่อยๆ มาแล้วก็ค่อยดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น จนมาเป็นสติกรรมฐานอย่างที่เรียกว่าอานาปานสตินี้นับว่าสูงสุดแล้วในการบำเพ็ญภาวนาเกี่ยวด้วยสติ เราจึงสามารถที่มีสติกำจัดข้าศึกคือกิเลสได้ อย่างน่า น่าประหลาดก็คือ อย่างสูงสุด นี่สติ เราเคยอ่านเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องยักษ์ๆ มารๆ เขารบราฆ่าฟันกัน ถูกตีถูกทุบลงไปนอนสลบอยู่ก็สำรวมสติแล้วก็ลุกขึ้นมารบได้ใหม่ นี่ นั่นมันแสดงว่าแม้แต่คนป่า ยังเป็นคนป่า เป็นยักษ์ เป็นมาร ก็ยังรู้จักใช้สติ ลุก ขึ้นลุก ลุก เป่าสามทีก็ ลุกขึ้นรบได้ต่อไป อย่างในบทกลอนต่างๆของหนังสือเรื่องจักรๆ ยักษ์ๆ วงศ์ๆ นี่ก็หมายความว่าสมัยคนป่านู้น, รู้จักใช้สติกันถึงขนาดนี้ ถ้าคนสมัยนี้ไม่รู้จักใช้ก็นับว่าเป็นที่น่าละอาย ดังนั้นจึงขอให้พยายามฝึกฝนความมีสติให้มีจริง ให้สำเร็จประโยชน์จริง อย่าสักว่าพอเป็นพิธี แล้วก็จะได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดอยู่กับเนื้อกับตัว จะอยู่เป็นบรรพชิตต่อไปก็ต้องอาศัยสติอย่างยิ่ง แม้จะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสก็ยังต้องอาศัยสติอย่างยิ่ง เป็นทั้งเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องพิทักษ์รักษา เป็นเครื่องทำความเจริญก้าวหน้าพร้อมกันไปในตัว ถ้าจะเจริญงอกงามในพรหมจรรย์ก็ต้องระวังเรื่องสติ ให้มีสติให้มากขึ้นมากขึ้น แล้วความผิดพลาดก็จะน้อยลง ความเจริญงอกงามก้าวหน้าก็จะมียิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าจะสึกออกไปเป็นฆราวาสก็จะต้องมีสติควบคุมจิตใจ อย่าให้พ่ายแพ้แก่กิเลสถึงความวินาศดังที่ปรากฏอยู่มากมาย เพราะว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตจิตใจนั่นแหล่ะ เพราะมันไม่มีสติ มันจึงเป็นผู้ประมาทโดยประการทั้งปวงแล้วประสบความวินาศ ยิ่งเป็นฆราวาสยิ่งต้องมีสติ เพราะว่าสิ่งที่ยั่วยวนให้เสียสตินั้นมันมีมาก ฆราวาสจึงต้องอาศัยสติมากยิ่งกว่าบรรพชิตเสียด้วยซ้ำ มิเช่นนั้นก็จะเป็นฆราวาสที่ไม่เป็นฆราวาส เป็นฆราวาสชนิดที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เต็มไปด้วยปัญหาและมันก็จะมีกิเลสนาๆ สารพัดอย่างมาครอบงำในรูปแบบของความเห็นแก่ตัว แล้วก็โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ดังที่เราก็เห็นๆกันอยู่ พวกที่ไปเป็นทาสของอบายมุขก็เพราะมันเสียสติ มันไม่มีสติควบคุม ไปเป็นทาสยาเสพย์ติดก็เพราะเสียสติ ไม่มีสติควบคุม ไปทำอะไรเลวร้ายหลายๆ อย่างหลายๆ สิบอย่างก็เพราะไม่มีสติควบคุม ถ้ามีสติควบคุมสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มี ก็ได้รับผลดีอย่างยิ่งในชีวิตจิตใจ ได้รับชีวิตที่สดชื่นแจ่มใสบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีปัญหา ใช้คำว่าไม่มีปัญหาคำเดียวก็จะพอเสียแล้ว ไม่มีปัญหาทั้งความสุข ทั้งเกี่ยวกับความทุกข์ ทั้งเกี่ยวกับความสุข คือทั้งบวกและทั้งลบ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องหัวเราะ มันเป็นเรื่องยุ่งทั้งนั้นน่ะ ดีใจก็ยุ่ง เสียใจก็ยุ่ง ไม่ดีใจไม่เสียใจนั่นแหล่ะคือมันหมดปัญหา มีแต่ความสงบเยือกเย็นและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทุกๆประการ ขอให้เชื่อแน่ว่ายิ่งได้ออกไปเป็นฆราวาสยิ่งจำเป็นจะต้องพึ่งพาธรรมะที่มีชื่อว่าสตินี้ยิ่งๆขึ้นไป คือมีสติระลึกได้ถึงปัญญาที่ได้สะสมไว้ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สติระลึกได้ถึงปัญญา ไอ้ความรู้ที่มันจะแก้ไขข้อนี้ได้ แล้วก็ไปเอามา เอาปัญญาเฉพาะส่วนนั้นมา ไม่ต้องเอามาทั้งหมด ครั้นเอามาแล้วก็ทำให้เป็นสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าว่ามันอ่อนกำลังก็เพิ่มกำลังด้วยสมาธิ ด้วยสมาธิ สัมปชัญญะก็จัดการกับปัญหานั้นๆ สิ้นสุดไป คือดับทุกข์ได้ หรือว่าไม่เกิดทุกข์เลยแล้วแต่ที่ว่าจะกระทำ ทำงานร่วมกันทั้งสี่อย่างคือ สติไปเอาปัญญามา มาแล้วก็เป็นสัมปชัญญะเผชิญกับเหตุการณ์ที่กำลังมีอยู่ แล้วก็สมาธิเพิ่มกำลัง เพิ่มกำลัง เพิ่มกำลังมากมายให้แก่สัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็จะขจัดกิเลสบ้าง ขจัดอนุสัยบ้าง ให้สูญสิ้นไป นี่ได้รับประโยชน์ทางธรรมะอันสูงสุด
ในการเจริญอานาปานสติแบบที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้นี้ จะนำให้เกิดคุณธรรมทั้งสี่ประการนี้อย่างครบถ้วน และเกิดคุณธรรมอย่างอื่นนอกจากสี่ประการนี้อีกมากมาย ที่อ้างเอาสี่ประการนี้ ก็เพราะเป็น ...เป็นสิ่งที่สำคัญต้องมีอย่างชนิดที่เรียกว่าเพียงพอ ถูกต้อง คล่องแคล่ว มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ แล้วก็มีสมาธิ นอกนั้นก็เป็นบริวาร เช่น ความพากเพียร ความเชื่อ ความอะไรต่างๆ นั้นก็เข้าผสมโรงกัน แต่ที่มันทำงานแล้วเผชิญกิเลสข้าศึกโดย...โดยตรงนั้นมันมีสี่ประการ นั่นก็คือสติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ เป็นเรื่องที่ควรจะกำหนดจดจำไว้แม่นยำ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือพระธรรมก็ยังมีลักษณะทำงานร่วมกัน ร่วมกัน ทำงานร่วมกันที่เขาเรียกว่าTeam Work Team Work อย่างเดียวไม่สำเร็จ มันต้องสี่อย่าง อย่างที่ว่ามานี่เป็นอย่างน้อย ยังมีอย่างอื่นอีกมาร่วมกัน สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ที่เราศึกษา ศึกษานี้เป็นสะสมปัญญาไว้ให้มากมาย ครบทุกอย่างๆ แต่พอเวลาที่มาต่อสู้กับกิเลส มาเพียงอย่างเดียวให้สมกับกิเลสที่เกิดขึ้น หรืออารมณ์ที่มันเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องอย่างไรก็ไปเอาปัญญาชนิดนั้นมา ทำเป็นสัมปชัญญะคือปัญญาที่ทำการรบพุ่ง สัมปชัญญะก็คือปัญญาเหมือนกันแหละ สัม ปรัช ญา (นาทีที่17.41)ความรู้ที่ครบถ้วนถูกต้องมันก็ทำหน้าที่จัดการกับปัญหานั้นๆ ที่นี้สมาธิก็เพิ่มกำลังให้ จงรู้จักความเป็นสหกรณ์ หรือ Team Work ของธรรมทั้งสี่นี้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
สติและปัญญามาทันเวลา ปัญญามาอย่างถูกต้องก็มาเป็นสัมปชัญญะตรงกับเรื่องที่จะต่อสู้ และสมาธิก็เป็นกำลัง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่าถ้ามันไม่ ถ้ามันแยกกันมันทำไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ ปัญญานั้นถ้าไม่มีน้ำหนักมันไม่ตัดหรอก แม้จะคมกริบยิ่งกว่ามีดโกนแต่ถ้าไม่มีน้ำหนักสำหรับจะกดลงไปมันก็ไม่ตัด มันคม คมเป็นหมันซะงั้นนะ มันต้องมีน้ำหนักกดความคมลงไปมันจึงจะตัด มันจึงต้องมีสมาธิ สตินั้นเป็นผู้ไปค้นเอามาเร็ว เป็นผู้ไปเลือกมาอย่างถูกต้อง ปัญญามีมากมายหลายอย่าง สติไปเลือกเอามาอย่างถูกต้องกับเหตุการณ์เฉพาะหน้านี่ว่าต้องใช้ปัญญาอะไร ถ้าได้มาแล้วก็กลายรูปจากปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ คือปัญญาที่กำลังทำหน้าที่ ปัญญาเฉยๆ ก็เรียกว่าปัญญา แต่ปัญญาเฉพาะเหตุการณ์มันทำหน้าที่อย่างนี้เราเรียกว่าสัมปชัญญะ ก็ทำหน้าที่ต่อสู้หรือทำลายล้างสิ่งเลวร้าย สมาธิก็ช่วยเพิ่มกำลังให้ มันก็สำเร็จ ธรรมะนอกนั้นจะมาเป็นเครื่องช่วย เครื่องอุปกรณ์ตามสมควรแก่กรณี แต่ว่าที่มันจะทำลายข้าศึกอันเลวร้ายได้แท้จริงนั่นก็คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ขอให้พยายามสนใจอย่างยิ่ง สนใจอย่างยิ่งที่จะมีให้ครบถ้วน ให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ แม้ว่าจะออกไปเป็นฆราวาสก็ยังใช้หลักการอันนี้ได้ดี ปัญญา สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ แม้จะอยู่เป็นบรรพชิตต่อไปก็ยังใช้หลักการอันนี้ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ
ในการฝึกอานาปานสตินั้น เรื่องทั้งหมดมันกินตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ศีลขึ้นไปจนถึงบรรลุมรรคผลนิพพานเลยรู้ว่าบรรลุแล้ว จึงแบ่งออกเป็นสี่หมวด หมวดละสี่ขึ้น เป็นสิบหกขั้น ตั้งแต่ ก ไปจนถึง ฮ คือหมวดร่างกายสี่ขั้น ก็รู้เรื่องร่างกายจนชนะร่างกายยังไง หรือร่างกายอยากมีความสงบทางกายขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น นี่เรียกว่าขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ ถึงขนาดว่าอยากมีความสุขเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น ทีนี้เรื่องเวทนาก็เหมือนกัน เวทนานี่ร้ายกาจเป็นของหลอกลวงอย่างยิ่ง สัตว์มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงทั้งมนุษย์และเดรัจฉานตกอยู่ใต้อำนาจของเวทนา ถ้าไม่ควบคุมมันไว้ มันก็จะพาไปสู่กิเลสสารพัดอย่างแล้วก็ยุ่งยากจนวินาศไปในที่สุด แต่นี่เราควบคุมเวทนาได้ ให้เราควบคุมเวทนาได้ตามต้องการ ไม่ให้เกิดก็ไม่เกิด ให้เกิดก็เกิดแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมแก่จิต ส่งเสริมแก่สมาธิ ปัญญาก็ใช้ได้เป็น...เวทนาก็ใช้ได้เป็นประโยชน์อย่างนี้ หมวดที่สามอันเรื่องจิต ต้องรู้จักจิตทุกชนิดแล้วจึงจะรู้จักปรารถนาว่าจิตสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร เรายังไม่หลุดพ้น แต่เราเทียบเอากับการที่ไม่หลุดพ้นที่เป็นทุกข์ยากลำบากทรมานนี้ให้มาก แล้วก็จะเทียบได้ว่าถ้าหากตรงข้ามมันจะเป็นอย่างไร นั่นแหละเป็นเหตุให้รู้จักโลกุตระจิตได้ทั้งที่ยังไม่บรรลุ แล้วจะมองเห็นเป็นที่พอใจอยากจะได้ อยากจะมี การปฏิบัติมันก็เข้มงวดกวดขัน จนสามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้ นี่เกี่ยวกับจิต ฝึกจิตให้รู้จัก หยั่งทราบทุกชนิด แล้วบังคับให้บันเทิงรื่นเริงพอใจในชีวิตเมื่อไรก็ได้ มันฝึกให้เข้มแข็ง แข็งโก้กเป็นกำลังสูงสุดก็ได้ หรือบังคับให้ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ปล่อย ปล่อย ปล่อยก็ได้นี่ ทำอย่างนี้ก็เรียกว่าสมบูรณ์ในหมวดจิต คือหมวดที่สาม
พอมาถึงหมวดที่สี่ ก็เอาไอ้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันหลอกให้ยึดถือ ที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตน ว่าของตนเอามาทุกหมวดที่มันปรากฏอยู่แก่ใจ หรือกำลังเป็นปัญหาแก่เราอยู่ มาพิจารณาเห็น โอ้ว, มันไม่เที่ยง ไอ้สิ่งเหล่านี้ที่มาหลอกให้เรายึดมั่นถือมั่น มันไม่เที่ยง มันมีเหตุมีปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ มันไม่เที่ยง การจะต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ ทั้งไม่เที่ยงและทั้งเป็นทุกข์มันก็ต้องเป็นอนัตตา อนัตตา เห็นอนัตตา นี่เรียกว่าเห็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง เห็นทุกขตา ความเป็นทุกข์ เห็นอนัตตตา ความเป็นอนัตตา พร้อมกันนั้นก็จะเห็นว่าธัมมัฏฐิตตา ตามธรรมชาตินั้นเป็นอย่างนี้เองโว้ย แล้วก็จะเห็นธัมมนิยามตา คือธรรมชาติมีกฏเกณฑ์อันเฉียบขาดบังคับอยู่นี่คือธรรมนิยามตา แล้วก็จะเห็นสรุปยอดว่ามีแต่อิทัปปัจจยตา คือมีเหตุมีปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ไม่ว่าอะไร ในบรรดาที่เป็นสังขารธรรมทั้งปวงไม่ยกเว้นอะไร ก็เห็นมาถึงอิทัปปัจจยตาว่าเป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างนี้เอง มาบัญญัติว่าดีว่าชั่ว ว่าบุญว่าบาป ว่าสุขว่าทุกข์ นี่บัญญัติเอาทีหลัง ตัวธรรมะแท้ๆเป็นตามกฎตามปัจ... เหตุตามปัจจัยของมัน ไม่ๆๆ เป็นตัวดีตัวชั่วตัวอะไร แต่มนุษย์นี่บัญญัติ ส่วนที่ประสงค์ ตามต้องตามประสงค์ว่าดีไม่ประสงค์เรียกว่าชั่ว บัญญัติเป็นนรกบ้าง บัญญัติเป็นสวรรค์บ้าง แล้วแต่จะบัญญัติ ถ้าเราเห็นว่าโอ้ว, ง่าย ทั้งหมดนั่นแหละเป็นอิทัปปัจจยตา มีปัจจัยแล้วก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เห็นอิทัปปัจจยตานี่สำคัญมาก เป็นเหตุให้ไม่ยึดถือว่าตัวตน ไม่หลงว่าเป็นตัวตน ในที่สุดก็เห็นสุญญตาๆ ว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตน มีแต่สิ่งที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นตัวตน ก็จะเห็นสูงขึ้นไปจนว่าโอ้, มันเป็น ตถาตาๆ เช่นนี้เอง ตถาตาเช่นนี้เอง ตถาคตเวลาพูดถึงซึ่งตถา หรือ ตถาตา เรียกว่าตถาคต ก็ถึงญาณอันสุดท้ายเรียกว่า อตัมมยตาไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตนี้ได้ ไม่มีอะไรมาดึงไว้ได้ ไม่มีอะไรมาสร้างสรรค์อะไรได้ เป็นความหลุดพ้นโดยประการทั้งปวงเรียกว่าอตัมมยตา คือเป็นพระอรหันต์ นี่อานิสงส์ของอานาปานสติหมวดที่สี่เป็นอย่างนี้ สูงสุดมาก เห็นไม่เที่ยง เห็นเป็นทุกข์ เห็นเป็นอนัตตาเรื่อยไปจนถึงว่าถึงอนัต... เห็นไม่ ไม่ๆๆ ไม่มีตัวตน มันก็คลายสิ เมื่อเห็นอย่างนี้มันก็คลายความยึดมั่น คลายความยึดมั่น เห็นวิราคะ คลายความยึดมั่น คลายๆๆ มันก็หมดสิ เป็นธรรมชาติให้มันคลาย ให้มัน ให้มันจางเดี๋ยวก็หมดแหละ ถ้ามันจางอยู่เรื่อยมันก็ต้องหมดแหละ เห็นวิราคะ คลายอยู่เรื่อย จางอยู่เรื่อย ในที่สุดก็เห็นนิโรธะ โอ้ว, ดับหมดสิ้นแล้วโว้ย และอันสุดท้ายคือที่เห็นว่า โอ้ว, หมดเรื่อง หมดเรื่อง หมดปัญหา หมดไป กูหมดจบกิจพรหมจรรย์แล้วโว้ย
ทั้งหมดนี้เรียกว่าอานาปานสติระบบสิบหกขั้น เป็นระบบที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำว่าเมื่อตถาคตอยู่ด้วยพรหมวิหารคืออานาปานสตินี้ ก็ได้ตรัสรู้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เรื่องมันถึงขนาดนั้น อยู่ด้วย อยู่ด้วยวิหารธรรม วิหารธรรมคืออานาปานสติ ก็ได้บรรลุ อรหัตต สัมมาสัมโพธิญาณ งั้นเราก็พยายามศึกษาให้รู้ เข้าใจไว้ มันทำไม่เสร็จภายในห้าวันสิบวัน แต่ทำเรื่อยไป ทำเรื่อยไปๆ มีเวลาว่าง สักวันหนึ่ง สักครึ่งวัน สักชั่วโมง สักสิบห้านาทีก็อุตส่าห์ทำ กำหนดจดจำไว้ดีๆ อุตส่าห์ทำเรื่อยไปก็จะก้าวหน้า แม้เป็นฆราวาสก็ทำได้ ตามมีตามเกิดของฆราวาส เป็นพระก็ทำได้ดีถึงที่สุด ดังนั้นจึงขออนุโมทนา ว่าท่านทั้งหลายได้ฝึกฝนในอานาปานสติ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นการได้ฝึกชีวิต โดยระบบการฝึกที่ดีที่สุดไม่ว่าจะอยู่เป็นฆราวาส ออกไปเป็นฆราวาส หรือไม่ว่าจะอยู่เป็นบรรพชิตสืบต่อไปก็จะเป็นผลดีที่สุดโดยประการทั้งปวง จึงขอให้ถือว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ส่วนตัวแล้ว แล้วก็อย่าลืมว่าทุกอย่างให้เป็นพุทธบูชา ให้เป็นพุทธบูชา ทำกาย ทำวาจา ทำจิต ทำชีวิตให้งดงามให้ถูกต้อง ให้งดงามเป็นเครื่องบูชาสักการะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแนะไว้อย่างนั้น ทรงประสงค์อย่างนั้นว่าจงบูชาด้วยปฏิบัติบูชา ธรรมานุธรรมปฏิบัติ บูชาด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่ยกเว้น เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่ยกเว้น แก่ผู้ทำ แก่ผู้รับการกระทำ แก่พระศาสนา แก่สัตว์โลกทั้งปวง เพราะการปฏิบัติธรรมะอย่างนี้ เมื่อได้รู้ธรรมะอย่างนี้ จึงถือว่าเป็นการรู้ที่ประเสริฐที่สุดเป็นอนุตริยะ เป็นการรู้ เป็นการปฏิบัติ เป็นการได้รับผลของการปฏิบัติที่เป็นอนุตริยะ
ผมจึงขอแสดงความยินดีและขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ท่านราชภัฏทั้งหลายได้มีโอกาสมาฝึกฝนระบบธรรมะสูงสุดที่เรียกว่าอานาปานสติในลักษณะอย่างนี้ ขอให้ถือว่าเป็นยอดสุดของสิ่งที่มีค่าในการประพฤติปฏิบัติ รักษาไว้อยู่กับเนื้อกับตัวตลอดไป อย่างที่กล่าวแล้วว่าแม้จะลาสิกขาออกไปก็ยังอยู่กับเนื้อกับตัว แม้จะยังอยู่ในพรหมจรรย์นี้ก็อยู่กับเนื้อกับตัว มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในตามทางของพระธรรมะนี้เรื่อยๆ ไปไม่รู้จักหยุดหย่อนจนได้รับประโยชน์ในที่สุดว่าประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ ประโยชน์ที่ผูกพันกันอยู่ก็ได้ ประโยชน์มีอยู่สามประโยชน์ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ที่ผูกพันกันอย่างแยกกันไม่ได้ จะเรียกว่าอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูงก็ได้แล้วแต่จะเรียก แต่ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มีสามอย่าง อัตตะประโยชน์ประโยชน์ตน ปรัตถะประโยชน์ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะ ประโยชน์ประโยชน์ที่ผูกพันกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ขอให้ได้รับประโยชน์เหล่านี้เต็มเปี่ยมตามที่ควรจะได้รับ เพราะมีความตั้งจิตเป็นอย่างดียิ่ง มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่เรียกว่าอิทธิบาทที่เคยเรียนมาแล้ว ให้เป็นอย่างสูงสุด แล้วก็จะมีอินทรีย์ มีพละ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วก็จะมีโภชฌงค์ จะมีมรรคมีองค์แปดประการครบถ้วน หมดปัญหา หมดพรหมจรรย์ นี่จึงขอแสดงความยินดีแด่ท่านทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นการได้ที่ดีแล้วที่ได้ทำอย่างนี้ คือการศึกษาอานาปานสติแล้วปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็ได้รับผลแห่งอานาปานสติจนพอควรแก่การดำเนินชีวิต ขอให้ประสบความสุขสวัสดีเจริญงอกงามในหน้าที่การงานตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ